เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อากาศ ถ้าอากาศอย่างนี้เวลาทำงานนะ เราทำงานมันเป็นอุปสรรค แต่ถ้าอากาศอย่างนี้เวลาพระภาวนานี่ อากาศอย่างนี้ดีมาก อากาศเย็น ๆ นั่งสมาธิดี แต่หนาวเกินไปก็ไม่ดี เวลามันหนาวเกินไปนี่มันทำให้เราไม่สบายใจ นี่ความสบายใจ เห็นไหม คนเราเป็นชาวพุทธน่ะ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องใจ ใจสำคัญมาก
เวลาสำคัญมากนี่ เวลาเราวัดกันทางโลก เห็นไหม สมบัติวัดกันด้วยวัตถุ วัดกันด้วยข้าวของเงินทอง แต่สมบัติที่ใช้ไม่หมด วัฒนธรรมของเรานี่ เป็นแหล่งการท่องเที่ยว เขามาเห็นวัฒนธรรมของเรานะ เวลาว่าฝ่ายตะวันออกนี่มันไม่มีความเจริญ แต่ถ้าอดีตกาล ตะวันออกเจริญมากกว่าทางตะวันตก แต่ตอนหลังนี่ทางวิทยาศาสตร์เขาเจริญ ความเจริญของเขานี่เขาเจริญเพราะต้องการให้มนุษย์เรามีความสุขพอสมควร
แล้วใฝ่หาไง พยายามใฝ่หาสิ่งนี้ แต่สุดท้ายแล้วนะ มันก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสุขต่อเมื่อคนเรานี่ ตั้งแต่เด็กเป็นผู้ใหญ่ แล้วแก่ชราไป เขาจะโหยหาเรื่องของน้ำใจเลย เพราะเวลาแก่เฒ่าขึ้นมานี่ มันจะโหยหาผู้ที่อยู่กับเรา นี่ความโหยหา ลูกหลานต่าง ๆ นี่ อยากมีความสุขอยากมีความอบอุ่น ความอบอุ่นสภาวะแบบนั้น นี่เพราะว่าเราโดนปัจจุบันนี่บังไว้ กิเลสในปัจจุบันจะบังไว้ว่า ปัจจุบันนี้เราต้องมีสภาวะแบบนี้มันถึงจะมีความสุข ความคิดของเราหาความสุขไง
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว เห็นไหม นี่วางไว้ เพราะอะไร? เพราะได้สร้างสมมา ความสุขจริง ๆ หาได้ในหัวใจของเรา คนเราจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนถ้าหัวใจมันเป็นคนดีนะ สมบัติพัสถานนั้นจะเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์มาก แต่ถ้าคนเรา ถ้าหัวใจมันไม่ดีนะ สิ่งข้างนอกนี่มันจะทำส่งเสริมให้คนคนนั้นแปรสภาพไปเป็นสภาวะแบบนั้น
นี่สิ่งที่เป็นของดี เห็นไหม อนาถบิณฑิกเศรษฐีนี่วางบุญกุศลไว้ จ้างลูกให้ไปฟังธรรม ลูกไม่สนใจทางศาสนา จ้างให้ไปนะ วันนี้ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรให้ไปก่อน ให้เงิน เงินจ้างไปก่อน กลับมาก็มาเบิกเอาตังค์ ๆ สุดท้ายแล้วพอเริ่มต้นนะ เอาวันนี้ขอให้จำว่าพระพุทธเจ้าพูดว่าอะไรสักคำหนึ่ง จะเพิ่มเงินให้
พอเพิ่มเงินให้ สุดท้ายพอจำคำพูดของพระพุทธเจ้านี่มันสะกิดใจไง มันสะกิดใจ มันสะเทือนใจ กลับมาหาพ่อ พ่อ...ตังค์ไม่เอา ไม่ต้องการตังค์นะ ตังค์ไม่เอาเพราะว่าได้ความสุขจากหัวใจไง จากพ่อนี่ พ่อจ้างให้ไปฟัง พ่อจ้างให้ต่าง ๆ สุดท้ายแล้วเป็นคนปฏิเสธพ่อเองว่า พ่อ...ไม่เอาตังค์ ตังค์ไม่ต้องเอา เพราะสมบัติอันนี้มีคุณมหาศาลมาก แล้วคิดถึงคุณของพ่อมาก
ความสุขอันนี้มันอยู่ที่หัวใจไง ถ้าหัวใจปรารถนา หัวใจมีความศรัทธา ในศาสนาถึงมีทาน มีศีล มีภาวนา ทานนี่มีศรัทธามีความเชื่อ ถ้าเรามีความเชื่อมีการสละออก ความสละออกมันจะทำให้พื้นฐานของใจมันมีที่อยู่อาศัยแล้ว ที่อยู่อาศัย ที่ปักธงไง ถ้าเรามีร่มธงนะ ธงของเราเราชูธงขึ้นไป เราจะเป็นชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธเพื่ออะไร? ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราคิดน่ะ นี่เวลาเราเป็นชาวพุทธ เราอยู่ในสังคมของพุทธนี่ เราไม่รู้หรอกพุทธคืออะไร แล้วอะไรคือเป็นชาวพุทธ
แต่เวลาไปทางตะวันตก เห็นไหม เขาถามว่า เรานับถือศาสนาอะไร แล้วเป็นชาวพุทธ พุทธสอนอะไร? นี่คนไปตะวันตก แล้วจะต้องไปศึกษาศาสนา เพื่อไปโต้ตอบกับเขา เพราะเขาก็แสวงหาของเราไง แต่ของเรานี่มันอยู่ใกล้ตัว นี่เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในดินแดนที่ว่ามันมีศาสนา มีสิ่งที่ว่าเข้ามาถึงใจ แต่เพราะเราอยู่เคยชินไง ความเคยชินของเราถ้าเราไม่ออกไปข้างนอก เราไม่ไปเห็นสิ่งต่าง ๆ เราจะไม่เห็นความสำคัญของเขาหรอก ไม่เห็นความสำคัญของหลักของศาสนา
แต่พอเราไปถึงข้างนอกนี่ มันมีความสุขขนาดไหน มีความเร่ง เห็นไหม เวลาเราดูเขาทำธุรกิจนี่ เขาต้องเร่งรีบมาก เขาต้องทำต่าง ๆ เห็นไหม นี่อาศัยกาลอาศัยเวลา อาศัยจังหวะและโอกาสจะเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ของเราก็มี ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม เศรษฐีระดับโลกจากเอเชียจะเริ่มมีมากขึ้น ๆ เพราะตลาดมันเคลื่อนไปไง แต่ก่อนการตลาดเขาสร้างขึ้นมาในตะวันตก เห็นไหม ต่อไปนี้เมืองจีนนี่ตลาดเขาจะใหญ่มาก
แล้วสิ่งต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นมานี่ วัตถุมันเกิดขึ้นนี่ มันมีเวลาไง นี่สิ่งที่ว่าเป็นจังหวะและโอกาส โอกาสของคนเกิดขึ้นมาตรงนี้ มันจะมีโอกาสของเขาขึ้นไป ถ้าเรามีทาน เห็นไหม เรามีการสละออก ใจของเรานี่มันจะเป็นว่า เวลาเศรษฐศาสตร์ต้องการยั่งยืนน่ะ ต้องให้มันคงที่ต่อไปด้วย ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ที่ว่ามันเจริญตลอดไป มันต้องต่อยอดตลอดไป จนถึงที่สุดแล้วถ้ามันไม่มีการขยายตัวนี่ มันต้องล้มแล้ว
แต่ไอ้ของเรานี่ มันมีขยายตัวขนาดไหนถ้ามันเป็นธรรมนะ ถ้ามันเป็นความพอดีนะ มันจะยาวนานไง สิ่งที่ยาวนานนี่มันมีหลักการอย่างนั้น นี่ทาน ศีล ภาวนา การให้อภัย การสิ่งต่าง ๆ นี่ มันเรื่องการทานออกมา สิ่งนี้มันจะทำให้การเริ่มต้นเกิดขึ้น ศีล ถ้าเรามีภาชนะ เห็นไหม ถ้าเรามีบาตร เรามีถ้วยชาม ถ้ามันสกปรก เวลาอาหารใส่ลงไปนี่ สิ่งนี้มันจะสกปรกไปด้วย แล้วเกิดถ้ามันมียาพิษล่ะ ถ้ามันมียาพิษนี่อาหารใส่เข้าไปนะ แล้วเรากินอาหารนั้น นี่เราจะเอาพิษใส่ร่างกายของเรา นี่ศีลมันเข้ามาทำให้ภาชนะเราสะอาดนะ
ถ้าภาชนะเราสะอาด นี่ทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีการภาวนานี่ ความดำริชอบ ความดำริของเราจะดีขึ้น นี่ต้องมีศีลก่อน ถ้าเราไม่มีศีล ความคิดขึ้นมา เวลามันสงบขึ้นมานี่มันสงบได้ มิจฉาสมาธิก็ได้ สัมมาสมาธิก็ได้ ทำไมเราทำความสงบของใจ ทำไมเราวิปัสสนากันไม่ได้ นี่ว่าชาวพุทธ ๆ ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบสนะ ไปเรียนนี่ เห็นไหม ไปเรียนความสงบของใจ ไปเรียนสมาบัติ ๘
สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วนี่ แต่ทำไมทำใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ล่ะ? ทำไมชำระกิเลสไม่ได้ล่ะ? มันต้องใช้ปัญญา แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นมานี่ เราใช้ปัญญาทางโลก ๆ เราคิดกันไง สุตมยปัญญา ปัญญาการศึกษาเล่าเรียน เราเล่าเรียนขนาดไหนเป็นสุตมยปัญญา นี่วิทยาศาสตร์เป็นจินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญานี่ มันเกิดขึ้นมาจากทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม ถ้าไม่มีทานเลย ไม่สนใจเรื่องของทานเลย ใช้แต่ปัญญาของเราตลอดไปนี่ มันก็ไปได้ถ้ามีอำนาจวาสนา
แต่ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา มันไปด้วยความแห้งแล้งนะ เวลาเตาของเรานี่ เวลาเราทำอาหาร เห็นไหม นี่มันมีสามเส้า ทาน ศีล ภาวนา แต่ที่ว่าถ้าบอกว่าทานไม่สำคัญ เพราะความคิดของเราไง พระพุทธเจ้าบอก ทานสำคัญ ธรรมวางไว้เพื่อมันจะให้มีความศรัทธาเกิดขึ้นมา ถ้ามีศรัทธาเกิดขึ้นนี่ปักธง ถ้าเราปักธงขึ้นมานะ ศรัทธาความเชื่อทำให้เราอยากประพฤติปฏิบัติ ศรัทธาความเชื่อทำให้เราหาทางออกนะ
เวลาเราจนตรอกขึ้นมานี่ เวลาเราจนตรอกจนมุมขึ้นมา นี่มันจะเกิดความทุกข์ยากตรงนั้น คนเราไม่อดไม่อยาก ไม่ทุกข์ไม่ยาก เวลาพระเรา เห็นไหม ไม่ใช่อดอยาก พระเราทำตัวให้อด เห็นไหม เวลาอดนอนผ่อนอาหารนี่ เพื่อทำไม? เพื่อทำให้เห็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะเห็นคุณเห็นโทษนะ
โลกเราปัจจุบันนี้โรคอ้วนนี่กำลังจะเป็นปัญหามาก เพราะอะไร? เพราะเด็กมันกินอาหารไม่ถูกส่วน แล้วมันจะไปเป็นโรคอ้วน เห็นไหม อาหารมันมีโทษเวลากินขึ้นมานี่ เมื่อก่อนเด็กที่ขาดสารอาหารมันก็ทำให้ทุกข์ยากเหมือนกัน แต่เด็กในประเทศที่เจริญนี่ มันก็เป็นโรคอ้วนขึ้นมา นี่อาหารมันเป็นพิษถ้าเราไม่เข้าใจกับมัน เป็นพิษนะถ้าอาหารเป็นพิษ
แต่ถ้าอาหารเราฉัน เห็นไหม พระเราอดนอนผ่อนอาหาร เพื่อให้เห็นสภาวะแบบนั้นไง ทำไมเราภาวนาไม่ได้? ทำไมเราภาวนาไม่ไป? นี่มัชฌิมาปฏิปทา แม้แต่ฉันอาหารมื้อเดียว เราออกประพฤติปฏิบัตินะ เราเคยกินข้าว ๓ มื้อแล้วจะมาลดเหลือมื้อเดียวนี่ เราจะมีความตกใจมาก มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วนี่ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยคหรือ? ไม่เป็นการทรมานตนหรือ?
แล้วทำไมเวลาไปภาวนานี่ มันเห็นสภาวะเรานั่งแล้วมันไม่สงบ มันนั่งแล้วมันเป็นไปไม่ได้ นี่ศีลสมาธิ สมาธิมันเกิดไม่ได้แล้วปัญญามันจะเกิดขึ้นมาจากไหน ปัญญาในหลักของศาสนานะ ไม่ใช่ปัญญาแบบวิทยาศาสตร์ ปัญญาแบบวิทยาศาสตร์มันเป็นแค่พิสูจน์ว่าศาสนานี้มีจริงไง ปัญญาทางหลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าสิ่งที่ศรัทธาเป็นความจริง เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อธรรมชาตินี้เป็นธรรม สภาวะธรรมชาติมันเป็นธรรมทั้งหมด แต่ธรรมชาตินี้มันเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตานี่ความสภาวะเป็นไป เห็นไหม จิตเรานี้ก็เป็นอนัตตา แต่เป็นอนัตตาในสภาวะของธรรมชาติคือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความคิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ความคิดใหม่จะเกิดตลอดไป ความรู้สึกจะเกิดขึ้นตลอดไป สิ่งนี้มันเป็นอนัตตา แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไง มันก็หมุนไปตามธรรมชาติ เราก็ไม่เห็นสภาวะของมันไง เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา
ถ้าสงบเข้ามา นี่เกิดสมาธิ ถ้าเกิดสมาธิปัญญาอันนี้ถึงจะเกิด ถ้าไม่เกิดสมาธิ ปัญญาเกิดขนาดไหนมันไม่เป็นปัญญาสามารถชำระกิเลสได้ มันจะเป็นความสูงสุดคือปัญญาที่มันเข้าใจแล้วมันปล่อยวางเฉย ๆ ถ้ามันปล่อยวางเฉย ๆ อันนี้ไม่เป็นการชำระกิเลส นี่ถึงมีศีลไง
ถ้ามีศีลขึ้นมานี่ ภาชนะเราสะอาด ถ้าภาชนะเราสะอาด เห็นไหม น้ำที่สะอาดขึ้นมา เวลามันเดือดขึ้นมาเราไปทำอาหารนี่ มันจะเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย น้ำถ้ามันสกปรกขึ้นมานี่ มันจะมีความร้อน มันจะเดือดหรือทำอะไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นประโยชน์ไหม? มันจะเป็นโทษกับเป็นโทษ
สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิไง ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ความประพฤติเราไม่บริสุทธิ์ นี่สมาธิเราไม่บริสุทธิ์ เห็นไหม ไม่เป็นสัมมา มันเป็นมิจฉา มันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน มันก็เป็นน้ำเหมือนกัน แต่น้ำพิษกับน้ำไม่พิษนะ น้ำพิษกับน้ำไม่พิษนี้ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเป็นอนัตตา มันเป็นสภาวะของมัน แล้วเราใช้ปัญญานี่ใคร่ครวญจากความเป็นพิษของมันไง สิ่งที่เป็นพิษ ธรรมชาติของมันเป็นพิษนี่ เราต้องแก้ไข น้ำมันเป็นพิษต่อเมื่อมันมีสิ่งส่วนผสมมันถึงเป็นพิษ ถ้าน้ำมันสะอาดน่ะ น้ำบริสุทธิ์มันไม่มีส่วนผสม มันไม่เป็นพิษ
แต่ใจของเรามี ใจของเรามีกิเลสเพราะเราเกิดขึ้นมา กิเลสมันเกิดมาพร้อมกับเรา ถ้าเราไม่มีกิเลสเราจะไม่มาเกิด ยางเหนียวเกิดจากใจตัวนี้มันปฏิสนธิตลอดไป เพราะมันยังต้องแปรสภาพของมันตลอดไป นี่มันมีโดยธรรมชาติของมัน มันถึงเป็นธรรมชาติอันหนึ่งไง กิเลสนี้เหมือนกับธรรมชาติอันหนึ่ง กุศลอกุศลไง ความดีนี้คือกุศล ความชั่วคือเป็นบาปอกุศล
สิ่งที่เกิดขึ้นมา แล้วความเห็นแก่ตัวนี่ ความเบียดเบียนตัวเองน่ะ เพราะอะไร? เพราะเราไม่เห็นคุณงามความดีไง เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ แล้วเราก็แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น มันก็จะเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จะหมุนไปตามธรรมชาติ มันเป็นอนัตตา มันเป็นสภาวะเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าคนไม่เห็นมันเป็นสภาวะแบบนั้น
ถ้าคนเห็น เห็นด้วยอะไร? เห็นด้วยสัมมาสมาธิ เห็นด้วยปัญญาขึ้นมานี่ เห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของมัน เห็นสภาวะต่าง ๆ เป็นอนัตตา นี่ถึงว่าเหตุไง อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นมรรคของพระอรหันต์ เห็นไหม อรหัตตมรรคต้องมีอรหัตตผล ถึงจะเป็นนิพพาน ๑ ความเป็นอนัตตาอันนี้เราต้องสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเป็นสมบัติของเราไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกชี้ทางไว้ เห็นไหม ธรรมะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แต่ผู้ที่จะเข้าไปถึงต้องไปค้นคว้าเอง คนที่หามรรคเอง เรามีเงินเราจะไปจ่ายซื้อของอย่างไรก็ได้ เราไม่มีเงิน เราคิดเราปรารถนาเอง เราคิดไปอย่างต่าง ๆ มันเป็นไปไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีมรรค เราไม่มีความเห็นของเรา เราไม่มีสัมมาสมาธิ เราไม่มีปัญญาของเราย้อนกลับเข้ามาชำระกิเลสของเรา เราจะไม่สามารถชำระกิเลสของเราได้ พ่อแม่รักลูกมาก ครูบาอาจารย์จะรักลูกศิษย์มากกว่าพ่อแม่อีก เพราะพ่อแม่เลี้ยงได้แต่ตัวนะ นี่เขาจะเป็นอย่างไรไป สุดท้ายกรรมอันนี้เราต้องยอมรับ
แต่ครูบาอาจารย์ เห็นไหม คิดอย่างไร วางตัวอย่างไร ทำอย่างไร เห็นไหม เลี้ยงทั้งกาย เลี้ยงทั้งใจ เห็นไหม พ่อแม่ครูจารย์ เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งครู เป็นทั้งอาจารย์ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องทำเอง ครูบาอาจารย์คอยชี้นำไป พยายามค้นคว้าของเราไป ถ้าใจมันเกิดขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันจะเป็นภาวนามยปัญญา เห็นไหม เกิดขึ้นจากศีล เราจะมองเห็นว่าศีลนี้ไม่จำเป็นไม่ได้
ถ้าศีลเราไม่จำเป็นนี่ มันจะเริ่มไขว้เขวตั้งแต่ตรงนี้ มันจะเบี่ยงเบนตั้งแต่ตรงนี้ ถ้าอย่างไรเราทำสภาวะของเรา เว้นไว้แต่พระอรหันต์ พระอรหันต์นี่หมดสิ้นจากเรื่องของกิเลสแล้ว เป็นสติวินัย สติวินัยนี่อยู่ในพระปาติโมกข์ สติวินัยคือว่ายกเว้นไง ยกเว้นพระอรหันต์ พระอรหันต์นี้จะไม่เป็นอาบัติ ยกเว้นขึ้นไปเลย แต่ใครจะเป็นคนยกเว้นล่ะ แต่ในพระไตรปิฎกถ้าจะเป็นสติวินัยนี้ ต้องให้สงฆ์สมมุติไง
ในสมัยพุทธกาลนะ มีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ตัวเล็ก ๆ เป็นคนแกร็น มีพระไปลูบหัวเล่นไง เห็นว่ามันน่าเอ็นดู ไปลูบหัวเล่น พระพุทธเจ้าบอก นั้นพระอรหันต์นะ พวกเธอจะเป็นบาปเป็นกรรมนะ ไปลูบหัวพระอรหันต์เล่นไม่ได้นะ เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นในหัวใจ แล้วสงฆ์องค์ไหนจะเป็นสมมุติขึ้นมาล่ะ สมมุติให้เป็นสติวินัย มันถึงเป็นธรรมชาติไง
พระฉันนะเป็นผู้ที่เอาพระพุทธเจ้าออกบวช แล้วถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นสมบัติของตัว ถือตัวถือตนมาก แล้วมีปัญหามาก มีทิฏฐิมานะไม่ยอมฟังสงฆ์ สุดท้ายพระพุทธเจ้าปรินิพพาน บอกให้พระอานนท์ไปลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ คือสังฆาทิเสส ให้ยกออกจากหมู่ ไม่ให้เข้าหมู่ เห็นไหม มีความเสียใจมาก หลีกตัวออกไปเข้าป่า ไปพิจารณาจนสิ้นกิเลส แต่เดิมเป็นผู้ที่มีทิฏฐิมานะไม่ยอมรับ พอสิ้นกิเลสนี่กลับมาหาหมู่คณะบอกว่า
จะมาปลดเปลื้องพรหมทัณฑ์นั้น
พระอานนท์บอกว่า ในเมื่อกิเลสมันขาด สิ่งที่เป็นความผิดพลาดขาดหมด
ไม่มีในหัวใจดวงนั้นเลย เห็นไหม นี่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสไปแล้ว อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ความผิดพลาด ความอะไรไปเป็นนิสัยต่าง ๆ นี่ ความผิดพลาดอันนั้นมันยกเว้นไปไง แต่เราผู้ก้าวเดินศีลนี้สำคัญมาก ความผิดของเราเราต้องปลงอาบัติ เราต้องแก้ไขของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลดี ภาชนะของเราดี สมาธินั้นก็จะไม่มีพิษมีภัย สิ่งที่ไม่มีพิษมีภัยปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญามันก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง
นี่ความคิดของเรา กิเลสของเรามันมีอยู่ในหัวใจของเรา มันก็เบี่ยงเบนไปตลอด ถึงต้องหาครูหาอาจารย์ไง หาครูหาอาจารย์เพื่อเอาความคิดของเราให้ถูกต้อง หนึ่งถูกต้อง ถ้ามีความถูกต้องขึ้นมาแล้วนี่ มันจะมีความพิสูจน์กับใจดวงนั้นตลอดไป ถึงที่สุดแล้วจะมัชฌิมาปฏิปทาไง มันจะรวมตัวลง มันจะสามัคคีกัน แล้วมันจะชำระกิเลสออกไป ตามอำนาจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ
นี่ทาน ศีล ภาวนา นี่ในหลักของศาสนา เราเกิดมาเราพบพุทธศาสนา เกิดในประเทศอันสมควร เราถึงต้องเอาเข้ามาในหัวใจของเรา เราได้ระดับไหน ทานก็ได้ ศีลก็ได้ ภาวนาก็ได้ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมานี่ มันจะเกิดสมบัติในใจของเรา เกิดขึ้นมาจากต้นขั้วนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ต่างคนต่างปฏิบัติ
ถึงที่สุดแล้วนี่เป็นคนชี้ทาง คนเดินถึงที่ปลายทางก็มี คนเดินไปถึงกึ่งทางก็มี คนเริ่มก้าวเดินแล้วไม่มีกำลังใจไม่เดินก็มี เราต้องคิดให้กำลังใจตัวเราเอง แล้วเราจะได้ประโยชน์จากทาน ศีล ภาวนา แล้วให้เกิดปัญญาในหัวใจของเรา เอวัง