เทศน์เช้า วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเราหาที่พึ่งกันน่ะ เราต้องหาที่พึ่ง แต่เวลาหาที่พึ่งมันจับคว้าสิ่งใดไม่ได้ ถ้าคว้าสิ่งใดไม่ได้ เวลาเราออกวิเวก เราว่าถ้าวิเวก ถ้าใจวิเวกนะจะมีความสุข ความสุขส่วนหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่วิเวก มันเป็นธรรมชาติของจิตอย่างนั้น แต่ถ้าจิตวิเวกออกแสวงหาความสงบสงัด ถ้าออกแสวงหาความสงบสงัด โลกเขาจะว่าอย่างนั้นนะ ว่าเราไม่จริง พวกปฏิบัตินี่ไม่จริง ถ้าจริงอยู่ในเมืองก็ต้องทำได้สิ อยู่ที่ไหนก็ต้องทำได้ ทำไมต้องไปหาที่วิเวกกัน ทำไมต้องหนีโลกกัน...
มันต้องหนีก่อน ดูอย่างเจ้าชายสิทธัตถะสิ สร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น ยังต้องไปหาที่สงบสงัด เพราะงานอย่างนี้งานชำระกิเลส งานเป็นเรื่องส่วนบุคคล เห็นไหม โลกเป็นสัตว์สังคม สังคมอาศัยกันอยู่ สัตว์สังคมต้องพึ่งพาอาศัยกัน หวังพึ่งพาอาศัยกัน แล้วก็เกาะเกี่ยวกัน นี่จิตส่งออกมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น
แต่เวลาถ้ามันไปอยู่คนเดียว อยู่ในที่สงบสงัด ความคิดของคนเรานี่มันเป็นที่ว่าเวลาอยู่คนเดียวมันจะออกโดยธรรมชาติของมัน แต่เวลามันไปอยู่กับหมู่คณะมันเป็นอีกส่วนหนึ่ง เวลาไปอยู่ในที่สงบสงัดอีกอย่างหนึ่ง เวลาเราไปอยู่ในป่าช้าสิเราจะกลัวผีมาก กลัวสิ่งต่าง ๆ มาก ความกลัวอันนั้นถ้าเป็นโลก พึ่งพาอาศัยกันมันก็หายกลัวได้ หายกลัวได้โดยที่ว่ามีที่พึ่งที่อาศัยว่าเราจะช่วยเหลือกันได้ ไปในที่คลุกคลีแล้วจะไม่มีสิ่งนั้น แต่ไปในที่สงัดจะเป็นอย่างนั้น นี่ถึงต้องออกหาที่วิเวกไง ที่วิเวกเป็นส่วนหนึ่ง
แต่ถ้าว้าเหว่ ถ้าจิตเราว้าเหว่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า แม้แต่สโมสรสันนิบาตกันอยู่ ในหัวใจลึก ๆ นี่ว้าเหว่ ในที่ว่าเราเป็นสัตว์สังคม เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน หวังพึ่งพาอาศัยกันแต่ดวงใจนั้นว้าเหว่ ว้าเหว่เพราะอะไร? เพราะจิตใต้สำนึกมันมีกิเลสซ่อนอยู่ แต่เราไม่ยอมพูดกัน เราพูดกันแต่ว่าความสุข ความสุขในโลกนี้หวังพึ่งสิ่งต่าง ๆ หวังพึ่งหาปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยนี่ หวังพึ่งมันว่าสิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งอาศัย...
มันพึ่งไม่ได้หรอก สิ่งต่าง ๆ นี้เป็นอนิจจังทั้งหมด เรื่องของโลกแล้วนี่มันมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปโดยธรรมชาติของมัน จิตนี้ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปโดยธรรมชาติของมัน แต่มันเป็นอุบายวิธีการว่าย้อนกลับมาให้เห็นสภาวะแบบนั้น นี่วันคืนล่วงไป ๆ เวลามีความสุข เวลาเรามาทำบุญกุศลกันน่ะมีความสุข ความสุขอันนี้มันก็อยู่กับเราชั่วคราว แล้วมันตกผลึก ๆ ไปจนเป็นอำนาจวาสนา เป็นบารมี
ถ้าอำนาจวาสนาบารมีของเรามีขึ้นมานี่ มันจะเริ่มลึกเข้ามาไง ความลึกนี่จิตของคนที่สละออกมาจากโลก เขาว่าไม่สู้โลก คนคนนั้นน่ะจะมีหลัก คนที่มีหลักคือคนอยู่ได้ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะวิเวกของมัน มันจะมีความสุขของมัน ถ้าเริ่มมีความสุข ความสุขของใจอันนั้นมันเห็นเป็นภาระรุงรัง แต่คนเราเวลาเมาโลก สิ่งที่ว่าเป็นสมบัติของเรานี่เรามีอยู่ แล้วเราคิดว่าเรามีอยู่ ๆ
แต่เวลาเราถึงที่สุดนะ เราว่าสิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สิ่งนี้เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเราโดยธรรมชาติของเรา โดยธรรมชาติของเขาเป็นสภาวะแบบนั้น แต่โดยอาศัยกันอยู่ก็เกาะเกี่ยวกันไป แล้วเข้าใจว่าเป็นของเรา ๆ ถึงที่สุดแล้วเวลาเราต้องไปนะ เราต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นไป นั้นช่วยไม่ได้เลย บุญกุศลต่างหากจะช่วยเหลือเรา บุญกุศลต่างหากจะทำให้เรามีที่พึ่งที่อาศัย บุญกุศล เห็นไหม ใจต้องพึ่งสิ่งนี้
แล้วสิ่งนี้เป็นนามธรรม มันไขว่คว้าไม่ได้ ซื้อเอาไม่ได้ เราซื้อเอา เราแสวงหาเอาไม่ได้ แต่เราสละเอา เราสร้างเอาได้ เห็นไหม ทาน การสละออก โลกเขาเห็นกันว่าสละออกให้กับสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นความสุขขึ้นมา สิ่งที่เขาได้รับบุญกุศลจากเรา ได้รับสิ่งของจากเรานี่เขามีความสุขของเขาขึ้นมา แล้วเนื้อนาบุญของโลกไง ผู้ที่มีปัญญา เห็นไหม จะต้องเลือกหาสิ่งนี้ เลือกหาว่ามันลงใจ ถ้าเราลงใจที่ไหน เราก็ทำบุญที่นั่น
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าบุญกุศลทำที่ไหนมันก็เป็นบุญกุศล แต่ได้มากได้น้อยส่วนหนึ่ง แล้วใจลงใจไม่ลงใจ เวลาปฏิคาหก เห็นไหม เวลาให้ให้ด้วยความแจ่มใส ให้ด้วยความพอใจ เวลาให้แล้วมีความอิ่มใจ ขณะให้ เวลาให้ไปแล้ว แต่ถ้าเราไปรู้ เวลาเรารู้สิ่งนั้น เนื้อนาบุญของเรา ถ้ามันพลิกแพลง มันเปลี่ยนไป เราก็มีความขุ่นใจ ความขุ่นใจอันนั้นเพราะอะไร? เพราะเราไม่ใช่พระอรหันต์นี่ เราเป็นคนมีกิเลสอยู่ กิเลสในหัวใจของเรานี่มันมีสภาวะแบบนั้น
แต่พระอรหันต์ เห็นไหม เวลาผู้ที่ทำบุญกุศลนะ เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก สิ่งที่เมตตาธรรมไง ให้ด้วยความเมตตาเพราะไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่สิ้นกิเลสไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ในระหว่างก้าวเดินนี่เราต้องหวังผลตอบแทนของเรา หวังผลตอบแทนให้เราปฏิบัติแล้วให้สมความปรารถนาของเรา เวลาเราสมความปรารถนาของเรา สมความปรารถนานี้เป็นความตั้งใจ เป็นอธิษฐานบารมี อธิษฐานบารมีนี่เราตั้งใจแล้วเราพยายามเข้าถึงเป้าหมายของเราให้ได้
ถ้าเราถึงเป้าหมายของเรา สิ่งวัตถุที่เราสละออกไปสิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลกเขา มันจากมือเราไปก็ไปถึงมือคนอื่น แต่เรื่องของค่าน้ำใจสิ ค่าน้ำใจที่มันสละออก สิ่งที่มันสละออกสิ่งนั้นได้ มันต้องมีคุณค่าเหนือกว่า สิ่งที่เวลามันตระหนี่ถี่เหนียว กิเลสตระหนี่ถี่เหนียวขึ้นมาในหัวใจแล้วมันสละสิ่งนั้นไม่ได้ ความคิดของเราเราก็สละไม่ได้
พอมันสละไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นสิ่งที่ว่าเหนือการควบคุมของเรา มันเกิดดับ ๆ อยู่กับใจ ขันธ์ ๕ เวลาความฟุ้งซ่านฟุ้งซ่านอย่างนี้ เวลาคำสรรเสริญ คำติฉินนินทา มันกระทบอยู่ที่ใจ แล้วมันฝังที่ใจ เวลาเราเกิดมา เรามีความฝังใจสิ่งใด สิ่งนั้นจะฝังอยู่ในหัวใจของเรา แล้วปลดเปลื้องได้ยากเพราะมันบาดหัวใจ แผลในใจจะมีตลอดไป
แล้วเราชำระกิเลสนี่ก็ชำระที่แผลของใจ แล้วแผลของใจนี่มันอยู่ลึกเข้าไปกับความคิด สิ่งที่เป็นความคิดเกิดขึ้นมา แผลนี่เวลาเราแกะสะเก็ดของแผลเลือดมันออก สิ่งที่เลือดมันออก นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราสะกิดใจขึ้นมานี่ แล้วอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วเราก็ควบคุมอารมณ์สิ่งนั้น นี่แผลมันอยู่ลึกกว่าอารมณ์ความรู้สึกอันนั้น เราถึงต้องทำความสงบของใจ
ถ้าทำความสงบของใจ เรามีคำบริกรรมขึ้นไปนี่ คำบริกรรมอันนี้สำคัญมาก ถ้ามีคำบริกรรมมันมีการเกาะเกี่ยวกัน เราทำความสงบของใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ เราใช้คำบริกรรมพอมันว่างๆ ขึ้นมานี่แล้วเราก็พอใจสิ่งที่ว่ามันว่างนั้น ความว่างอันนี้มันเป็นความว่างที่ว่ามันไม่มีสิ่งที่ส่งต่อเข้าไป มันไม่เป็นเอกัคคตารมณ์ไง
จิตสงบบ่อยครั้งเข้าถึงเป็นสมาธิ จิตสงบนี่สงบบ่อยครั้ง ถ้ามันมีความฟุ้งซ่าน ถึงที่สุดของมันมันก็ต้องปล่อยวางอารมณ์อันนั้น มันสงบในตัวมันเองก็ได้ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มันแปรสภาพตลอดไป ความคุณงามความดีมันก็มีคงอยู่ ตั้งอยู่ และดับไป เพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งนี้มันใช้หมดไป มันเป็นสมมุติไง สิ่งที่เป็นสมมุติเราเกิดบนสวรรค์ เกิดเป็นอินทร์เป็นพรหมก็แล้วแต่ มันหมดวาระมันก็ต้องเปลี่ยนสภาวะไป
ใจนี้ก็เหมือนกัน วาระปัจจุบันนี้เป็นวาระของมนุษย์ วาระของมนุษย์นี่เราศรัทธาความเชื่อในศาสนา ถ้าเราปลดเปลื้องสิ่งนี้ได้ เราปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นวาระของใจได้ ถ้าใจเป็นวาระ การเกิดดับของใจนี่ มันเป็นวาระหนึ่ง ๆ เวลาเราเกิดขึ้นมา เราเกิดเป็นมนุษย์นี่เราเป็นชาติหนึ่ง แต่อารมณ์เกิดขึ้นมานี่ เกิดดับ ความเกิดดับของใจนี่เกิดวันหนึ่งร้อยหนพันหน แต่เราไม่สามารถควบคุมสิ่งนี้ได้ นี่ให้มันเกาะเกี่ยวกับคำบริกรรมไง
ถ้ามันเกาะเกี่ยวคำบริกรรม อาการอย่างนี้มันสืบต่อ ถ้าอาการอย่างนี้มันสืบต่อ สืบต่อไปเรื่อย ๆ แล้วถ้ามันสงบในตัวมันเอง นี่มันสงบเพราะมันสืบต่อสิ่งนั้น จนถึงที่สุดสิ่งที่คำบริกรรมกับใจนี้เป็นอันเดียวกัน ต้องให้เป็นอันเดียวกัน เราพยายามนึกคำบริกรรมขนาดไหนนี่ให้มันบริกรรมไม่ได้ มันจะเป็นความรู้สึกอยู่
นี่สติสมบูรณ์ จะมีสติสมบูรณ์ แล้วก็มีความรู้สึกอันนี้ตลอดไป สงบอย่างนี้นี่ชำนาญในวสี ถ้าเราชำนาญในวสีนี่ เราสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ เวลามันปล่อยวางนี่ มันเป็นสมาธิอยู่แต่สติมันไม่สมบูรณ์ สิ่งนี้มันก็ไม่มีพลังงาน ถ้าไม่มีพลังงาน เวลาไฟฟ้า เห็นไหม เราส่งพลังงานไฟฟ้าไปเครื่องใช้ไฟฟ้านี่ ถ้าไฟอ่อนนี่เครื่องไฟฟ้านั้นเสียได้
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันไม่มีพลังงาน ไม่พอนี่ เราทำอะไรก็ไม่ได้ไง จะวิปัสสนามันก็วิปัสสนาไม่ได้ จะว่าจิตสงบนี้มันก็ไม่สงบ แล้วมันคาอยู่อย่างนั้นน่ะ ทำอะไรก็ไม่ได้นี่ แล้วทำให้จิตนี้เสื่อมถอย เห็นไหม แล้วมันก็รำคาญ มันไม่พอใจตัวมันเอง ทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วท้อถอยนะ ท้อใจว่าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วเราไม่ได้ผล ๆ
เพราะเราคาดหมายไง ถ้าเราคาดหมาย สิ่งที่คาดหมาย เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม มันไม่เป็นตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง เราต้องกำหนดคำบริกรรม พุทโธ ๆ จะเป็นอะไรก็ช่าง เราปฏิบัติด้วยความโง่ เราปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจนี่ เราจะได้ผล แต่ส่วนใหญ่แล้วนี่กิเลสมันพาปฏิบัติ เราจะคาดหมายผลไปหมดเลย เพราะเรารู้แล้วนะ จิตกำหนดพุทโธ ๆ ไปแล้วมันจะปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วจะต้องวิปัสสนา
มันก็เป็นความคิด เป็นความคิดว่ากิเลสมันพาไปก่อน แล้วมันทำให้เราคิดสภาวะแบบนั้น นี่สภาวธรรม แล้วคนที่เขาไม่ปฏิบัตินะ เวลาเขาศึกษาเล่าเรียน เขาศึกษาธรรมะนี่ เขามีความเข้าใจแล้วเขาก็มีความสุขของเขา ความสุขของเขานั้นเป็นสุตมยปัญญา เห็นไหม ว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประเสริฐมาก เราต้องศึกษาเล่าเรียน เพราะศึกษาเล่าเรียนแล้วมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นอาหารของใจ ถ้าใจมีธรรมเป็นอาหาร ใจนี้จะมีความสุขพอสมควร
ถ้าใจไม่มีอาหารนะ ใจกินแต่เรื่องของโลก มันเป็นของแสลงนะ โลกนี้เป็นของแสลงเพราะมันเข้ากับกิเลส กิเลสนี้เหมือนโลกส่วนหนึ่งในหัวใจ แล้วมันชอบสภาวะแบบนั้น เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภโลภในสิ่งต่าง ๆ โลภหวังพึ่ง หวังว่าสิ่งนั้นจะเป็นความพึ่งพาอาศัยได้...จะไม่มีสิ่งใดพึ่งพาอาศัยได้เลยเพราะมันเป็นอาหารของใจ อาหารเป็นคำข้าวส่วนหนึ่งเป็นอาหารของคำข้าว ความนึกคิดนี่เป็นอาหารของใจ อาหารที่เป็นพิษตลอดไป
แต่ธรรมะนี่เป็นอาหารที่สะอาด เป็นอาหารที่บริสุทธิ์ เป็นอาหารที่ว่าไม่มีโรคมีภัยกับหัวใจนั้น แต่มันต้องสร้างขึ้นมาไง ถ้ามันสร้างขึ้นมาพยายามสร้างของเราขึ้นมา ถ้ามันถูกทางเป็นอกาลิโก จะไม่มีกาลไม่มีเวลาเลย เราว่าเรามีกาลมีเวลา เราเกิดมาชีวิตหนึ่งแล้วเราประพฤติปฏิบัติมานี่ค่อนชีวิตแล้ว ถึงบั้นปลายของชีวิตแล้วเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่
นี่คิดคาดหมายไป แล้วก็กลัวมันจะไม่ได้ไง จะหาทางลัด หาทางที่จะเข้าถึงธรรมให้ได้ พระพุทธเจ้าสอนทางตรงไว้ ทางลัดนั้นเป็นกิเลสมันบอกลัด ถ้าทางตรงนะ ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย อันนั้นมันเป็นอำนาจวาสนาของบุคคลคนนั้น แต่อำนาจวาสนาของเรานี่ มันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันเกิดจากการประพฤติปฏิบัตินี่ นี้เป็นสุดยอดในหลักของศาสนา
ศาสนานี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ บอก ให้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชานี่บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เราก็บูชาพระพุทธเจ้า สิ่งนี้เป็นทาน ถ้าสิ่งนี้เป็นทานนี่ เพื่อจะให้จิตใจนี้อ่อนลง มันเป็นอุบายอย่างหนึ่งให้จิตใจนี้นุ่มนวล จิตใจนี้ควรแก่การงาน ควรแก่การงานเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติไป แต่ไม่ใช่ให้กิเลสมันสวมไง กิเลสมันสวมมันบังเงาขึ้นมานี่ มันบอกว่า เราทำสิ่งนั้นแล้ว ๆ
เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน ถ้าเราตั้งใจขึ้นมา เราพยายามขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นน่ะกิเลสมันหลอกไป พอมันหลอกไปเราประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นความเห็นว่า ถ้ากิเลสมันไม่มีการควบคุมมัน มันปล่อยตามสบายไปนี่มันก็พอใจของมัน ถ้าควบคุมเมื่อไรมันก็ต่อต้าน ถ้ามันต่อต้านนี่สิ่งที่มันต่อต้านนั้นคือกิเลสมันต่อต้าน ต่อต้านการประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วมันก็เป็นความฟุ้งซ่านไป นี่มันไม่เป็นการวิเวก
ถ้าเป็นการวิเวกนี่มันจะสงัดเข้ามา มันสงบสงัดเข้ามาโดยธรรมชาติของมัน ถ้าธรรมชาติของมันนี่เราก็ร้อง อ๋อ... ขึ้นไป อ๋อเพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นความจริงของมัน จิตนี่ถ้าสมควรแก่มันแล้วมันจะเป็นธรรมชาติของมัน ถ้าไม่สมควรแก่มัน เห็นไหม บังคับขู่เข็ญขนาดไหนมันก็เป็นความเครียด เป็นความที่ว่าไม่สมดุลกับมัน สิ่งที่ไม่สมดุลมันก็ไม่มัชฌิมาปฏิปทา
แล้วถ้าไม่สมดุล ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราทำความเพียรขึ้นไปนี่ มันจะไปควบคุมอย่างนั้น มันไม่เป็นการมากเกินไปเหรอ ความเพียร เห็นไหม สมาธินี่คนเข้าใจว่าสมาธิเวลาสงบขึ้นไปนี่มันจะนิ่ง ความนิ่งอันนั้นมันมีสติอยู่นะ มันเหมือนกับน้ำไหล น้ำไหลเชี่ยวเลยแต่ใสสะอาด กับที่เวลามันคิดออกไปธรรมชาติของมันนี่ น้ำนี่ขุ่นไปด้วยโคลนด้วยตมไง เวลาน้ำขุ่นด้วยโคลนด้วยตมนี่ มันจะพุ่งออกไปด้วยความสกปรก
แต่ถ้าจิตมันสงบนี่มันมีความเคลื่อนไหวอยู่ ฉะนั้นว่าเวลารำพึง จิตสงบแล้วรำพึงได้ ความคิดในสมาธินี่เราเข้าใจว่าความคิดเป็นความฟุ้งซ่าน แล้วในสมาธินี่มันจะคิดไม่ได้เลย...มันคิดได้ ถ้ามันคิดไม่ได้นี่มันจะรำพึงเกิดขึ้นมาให้เห็นกาย ความเห็นกายนี่ปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ปัญญาในสัมมาสมาธินี่เป็นปัญญา เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ว่าเหมือนน้ำไหลเชี่ยวแต่ใสสะอาด นี่สติมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น จิตสงบมันถึงจะเป็นสภาวะแบบนั้น
เราไม่ต้องห่วงหรอกว่ามันจะไม่สงบ มันจะเป็นความฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ใจนี้ฟุ้งออกมา กำหนด พุทโธ ๆ นี่ตลอดไป ทำสภาวะแบบนั้นเข้าไป แล้วตามความเป็นจริงมันจะเป็นความจริงอีกส่วนหนึ่ง แต่นี่เป็นการคาดหมายไง คาดหมายว่าความสงบนี่มันต้องนิ่ง ความสงบนี่มันต้องเป็นความไม่คิดไม่ปรุงตลอดไป...ไม่คิดไม่ปรุงในเรื่องของโลก แต่มันจะไปคิดไปปรุงในเรื่องของธรรม
แล้วถ้าเวลาธรรมมันเกิดขึ้นมานี่ เวลาธรรมจักรมันเคลื่อนไปมันจะเห็นปัญญาเราเคลื่อนไปนะ นี่จักรมันเคลื่อนเห็นสภาวะแบบนั้นเลย พอมันเคลื่อนเข้าไปนี่ มันเคลื่อนไปในอะไร? ในสิ่งที่กิเลสมันอาศัยอยู่ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งนี้เวลาเวทนามันเกิดขึ้นมานี่ เวลามันเจ็บปวดขึ้นมานี่ ถ้าปัญญามันไล่เข้าไป มันเข้าใจในเวทนา เห็นไหม เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา นี่ปัญญามันเกิดขึ้นมา แล้วมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นได้ตามความเป็นจริง
แต่ถ้าปัญญามันไม่พอ มันคิดว่าทำไมเราปวดหนอ ทำไมมันเจ็บหนอนี่ ความไม่พอใจมันขัดข้องใจ ความขัดข้องใจเวทนานี่จะเพิ่มขึ้นไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น ความปวดจะมากขึ้น เห็นไหม มันถึงว่าภาวนามยปัญญาจะเห็นปัญญาส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่เป็นภาวนามยปัญญานี่ ปัญญาของเรามีตัวตน มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ พอเราเข้าไปเป็นเจ้าของนี่กิเลสอยู่ในนั้นตลอดไป แล้วกิเลสมันก็พลิกแพลงตามอำนาจของมัน
อำนาจของมันนะ คาดหมายธรรมไง เราประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ส่วนใหญ่แล้วเราคาดหมายธรรม เราถึงไม่ได้ธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเราไม่คาดหมายเลย อะไรจะเกิดขึ้นช่างมัน หน้าที่ของเราคือดู หน้าที่ของเราคือทำความเข้าใจ มันจะเป็นสภาวะแบบไหน อันนั้นเป็นอำนาจวาสนาของเรา อันนั้นเป็นธรรมของเรา
เวลาเกิดขึ้นต่อหน้าจะเป็นสภาวธรรมของเรา แล้วมันจะเห็นตามความเป็นจริง อ๋อ...อ๋อ เลยนะ พออ๋อขึ้นมานี่มันก็จะปล่อยตามธรรมชาติของมัน ปล่อยนี่เป็นตทังคปหาน มันจะปล่อยชั่วคราว ปล่อยอย่างนี้ไม่ขาด เวลาตทังคปหานนี่เราก็วิปัสสนาต่อไป มันยังจับได้ มันยังค้นคว้าได้ สิ่งที่มันจะว่างขนาดไหนจับมันค้นคว้าอีก อย่าชะล่าใจ ถ้าชะล่าใจพอมันปล่อยวางนี่กำลังมันเกิดแล้ว มันมีพลังงานขึ้นมาแล้ว แล้วถ้าเราปล่อยขึ้นไปนี่เดี๋ยวมันก็เสื่อม เพราะมันอยู่ในกุปปธรรม เราต้องพิจารณาจับซ้ำเข้าไป ๆ จนถึงที่สุดตทังคปหานไปก่อน บ่อยครั้งเข้ากิเลสมันจะอ่อนตัวลง ๆ จนถึงที่สุดมันจะสมุจเฉทปหาน
เวลามันปล่อยวางขาดขึ้นมานี่มันขาดคนละอย่าง ถ้ามันปล่อยวางนี่มันไม่มีผลลัพธ์ แต่ถ้ามันขาดออกไป เห็นไหม สังโยชน์จะขาดออกไปอีก เห็นโดยเฉพาะหน้า ๓ ตัวสังโยชน์นี้ขาดออกไปเลย สักกายทิฏฐิความเห็นผิดของกาย ความเห็นผิดของใจ เห็นผิดมาตลอด
ถ้าความเห็นถูกขึ้นมานี่ อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา จะเป็นกลางวัน จะเป็นกลางคืน จะเป็นเที่ยงวันเที่ยงคืนขนาดไหน ขณะที่มันเป็นมันจะขาดตรงนั้น ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีกิเลสส่วนใดจะมาขัดแย้งกับตรงนี้ได้ มันจะเป็นธรรมชาติของมัน จะเป็นธรรมชาติของสิ่งที่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น นี่มันถึงจะเริ่ม เห็นไหม ถ้าเป็นวิเวก วิเวกเพราะเหตุนี้ แล้วถ้าจิตมันวิเวกนี่มันจะทำสิ่งนี้ สภาวะแบบนี้ได้
แล้วเราต้องพยายามทำขึ้นมา ให้เรามีกำลังใจของเราขึ้นมา ถ้าสิ่งนี้เราทำสมประโยชน์ของเราขึ้นมานี่ ความวิเวกนั้นมันจะเป็นความคงที่เลย มันจะเป็นความสุขคงที่ อกุปปธรรม เห็นไหม ไม่เสื่อมสภาวะแบบนั้น ไม่แบบนั้นมันจะเจริญแล้วเสื่อม ๆ แล้วความเพียรเราต้องเกิดขึ้น กำลังใจเราเกิดขึ้นมา นี่วันเวลาล่วงไป ๆ เดือนปีล่วงไป ๆ ถึงนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ก็ล่วงไป แล้วโลกเขาจะหาความสุขแบบนั้นนะ อย่าเอาโลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่จะมีมหรสพ มีความสนุกสนานครื้นเครง เพื่อความสุข เพื่อความเพลิดเพลินของมนุษย์ แต่อย่างนั้นมันเป็นความข้อง
ถ้าเราวิเวกของเราขึ้นมานี่มันจะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ เข้ามา แล้วรื้อค้นงานของเรา งานของเราต้องทำด้วยใจของเรา ทำในปัจจุบันของเรา สิ่งนี้เราค้นคว้าขึ้นมา นี่ใจวิเวกแล้วจะเกิดความสงบสงัดของใจ แล้วมันจะเป็นพื้นฐานให้ทำงานให้ได้ งานนั้นจะสมความประโยชน์ เอวัง