เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ต.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดในประเทศอันสมควร เมื่อวานเราไปดู ดูสิ เวลาเขาเกิดกัน ทุกข์ให้เกิด เกิดอย่างนั้น แล้วเวลาเราสร้างบุญมา เวลาอย่างพวกนี้เขาต้องการ เขาต้องการให้ไปเกิดในป่าในเขา เกิดมาเป็นผู้ชาย จะได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเกิดมาได้ประพฤติปฏิบัติ นี่บุญกุศลนะ โอกาสของเรา โอกาสข้างนอก โอกาสของธรรมต่างกัน โอกาสของธรรมเกิดแล้วมันได้ประโยชน์ไง ประโยชน์จากการเกิดนั้น ถ้าโอกาสของเรา เราสร้างกันเอง เราพยายามสร้าง อันนี้นี่สร้างสมบารมี

ดูความเกิด เกิดในประเทศอันสมควร ถ้ามองไม่ออก มันเหมือนกับเราน้อยเนื้อต่ำใจนะว่าเราเกิด ทำไมเราไม่เกิดในที่ที่เป็นอย่างนั้น ที่ว่าเขาสะดวกสบาย...จะสะดวกสบายมาจากไหน เพราะว่าดูอย่างยุโรปนะ แล้วย้อนกลับไปสมัยในอดีต เขาเป็นเมืองหนาว เขาทุกข์ยากมาก แต่พอเทคโนโลยีเขาเจริญขึ้นมา เขามีความสะดวกสบายขึ้นมาบ้าง แต่ก็ขึ้นมาบ้างนะ ประเพณีวัฒนธรรมมันก็เป็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันก็ต้องเคลื่อนย้ายไป กาลเวลาโลกนี้เคลื่อนไปตลอด

โลกนี้เป็นอจินไตย ไม่มีสิ่งใดคงที่ แล้วใครพยากรณ์ไม่ได้ เว้นไว้แต่พระพุทธเจ้าต้องมาตรัสรู้ในชมพูทวีปตลอดไป โลกต้องปรับตัว ความปรับตัวของโลกนี้ แล้วเราหมุนไป นี่วัฏฏะมันวนอย่างนั้น จิตเราก็วนอย่างหนึ่ง โลกมันก็แปรสภาพไปอย่างหนึ่ง แล้วว่าเวลาเราเกิด เราอยากพบพระศรีอารย์ เราอยากเกิดพบพระศรีอารย์ นี่มันหมุน ๒ ชั้นนะ ชั้นหนึ่งคือความเป็นไปของสภาวะของธรรมชาติมันเป็นไปอันหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งคือความเป็นไปของหัวใจไง

จิตนี้เวลามันเกิดมันตาย สภาวะ เห็นไหม เกิดเป็นพรหม ๘๐,๐๐๐ ปีอย่างต่ำ อยู่เป็นสภาวะแบบนั้น เกิดเป็นเทวดา เกิดต่างๆ แล้วศาสนาเรา ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น สิ่งที่ว่า ๕,๐๐๐ ปี เห็นไหม ถ้าเราเกิดมาแล้วไปอยู่บนพรหม ๘๐,๐๐๐ ปี มันก็ไม่ทันกันแล้ว โอกาสจะเกิดพบพระศรีอารย์ เพราะอะไร

เพราะเราเป็นชาวพุทธนี่ เราฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมขึ้นมา แล้วเราก็คิดของเราตามสภาวะแบบนั้น ถ้าคนเชื่อเรื่องการเกิดและการตายนะ ถ้าคนไม่เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย มีชาติเดียว ยิ่งไม่สนใจสิ่งใดเลย ทำตามความพอใจของตัว ตัวคิดอย่างไรว่าเป็นคุณงามความดีก็ทำสภาวะแบบนั้น แล้วทำแบบนั้นมันจะสมความปรารถนาไม่สมความปรารถนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ อีกเรื่องหนึ่งในความปรารถนา นั่นกิเลสปรารถนา แต่ความเป็นจริง กรรมที่การกระทำนั้นให้ผลตลอดนะ ถ้าเราทำกรรมสิ่งใด สิ่งนั้นจะให้ผลตลอดไป แล้วมันก็เป็นความเชื่อ

เราเกิดมา เห็นไหม ครูบาอาจารย์พูด ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ที่เดินไปเจอคฤหัสถ์ถามว่า “เจ้าชายสิทธัตถะเป็นลูกศิษย์ของใคร ใครเป็นอาจารย์” ท่านบอกว่า “เราตรัสรู้เอง” เขายังไม่เชื่อเลย สิ่งที่เขาไม่เชื่อ ถึงเวลาเขาไม่เชื่อของเขา จิตมันไม่เปิด มันก็ไม่เชื่อ แล้วถ้าเกิดเขาเชื่อเขาล่ะ เขาเชื่อสิ่งที่ว่าเขาพูดแล้วถูกอกถูกใจเขาอันนั้นน่ะ

การสร้างสมบุญกรรมมามันต่างกัน การสร้างบุญกรรมมาสถานะนั้น แล้วมันถึงเวลาไม่ถึงเวลาด้วย บางทีมันก็ต้องปล่อยไว้นะ ให้ถึงเวลานั้น พอถึงเวลาแล้วนี่จิตมันค่อยพลิกกลับขึ้นมา ถ้าไม่ถึงเวลา จิตมันไม่พลิกกลับ ดูอย่างเราปลูกข้าวสิ ต้นข้าวงอกขึ้นมา เรายังกินไม่ได้หรอก มันยังไม่งอกเม็ดเลย ทีนี้เม็ดมันงอกออกมา ถ้าเม็ดมันอ่อนมันตายไป เราก็ไม่ได้อีก ถ้ามันแก่ขึ้นมาเราถึงเก็บผลประโยชน์ได้

ใจของเราก็เหมือนกัน โอกาสของเรา สิทธิเวลาที่มันจะพลิกใจ เห็นไหม เวลาคำว่า “พลิกใจ” นี่พลิกนิดเดียวนะ ความเห็นถ้าเราเข้าใจ เราปล่อยมันก็จบ สิ่งที่เรากังวลมันจะมีความทุกข์ใจมาก แต่พอความเข้าใจมันเกิดขึ้นมามันจะปล่อย แล้วเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเลย แต่ถ้ามันแบกไว้ มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลย นี่ทิฏฐิความเห็น ยึดมั่นถือมั่น มีความเห็นอันนี้ มันจะยึดสิ่งนั้น แล้วมันจะเป็นความทุกข์ของตัวเองมาก แต่ถ้าไม่ถึงเวลา มันเห็นไม่ได้ นี่ความยิ่งใหญ่ของมัน

ดูเด็กสิ เวลาขึ้นมา ดูอย่างโลกที่ว่าเขามีความรัก ผิดหวังจากความรัก เขาฆ่าตัวตาย ไอ้คนเราผ่านโลกมาน่ะ คิดถึงนี่มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก มันน่าหัวเราะนะ มันเรื่องของวัยรุ่น เห็นไหม แต่มันเป็นความยิ่งใหญ่ของวัยรุ่น เป็นความยิ่งใหญ่ของเขา เขาคิดว่าเขาสละชีวิตของเขาได้เลย นี่ให้ย้อนกลับมาดูใจ ถ้าใจมันไม่พลิกขึ้นมา มันจะมีสภาวะแบบนั้น ถ้าใจมันจะพลิก ถึงเวลามันจะพลิกขึ้นมานะ

เวลาพระขึ้นมาปฏิบัติ สิ่งที่ต่างๆ ประพฤติปฏิบัติมันผิดไหม? มันมีผิดและมีถูกในสถานะเวลาเราก้าวเดิน สิ่งที่เราก้าวเดินไป มันมีโอกาสผิดและโอกาสถูกตลอดไป เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ ถ้ากิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันจะขับไส มันจะพลิกแพลงในหัวใจขึ้นไป โอกาสผิดพลาดมันเป็นอย่างนั้นตลอดไป

เราไม่ต้องไปกังวลว่ามันผิดหรือมันถูก เราพยายามทำความเพียรของเรา ถ้าเราสร้างความเพียรของเราขึ้นไป เวลามันผิดขึ้นมา มันผิดไป มันจะให้ผลในความที่ว่ามันไม่ปล่อยวาง มันไม่ถึงที่สุดของมัน แต่ถ้ามันทำความถูกต้องของมันนะ มันจะปล่อยวาง มันจะเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วมันจะปล่อยวางๆ แต่อย่านอนใจ ต้องพยายามซ้ำเข้าไปๆ ถึงที่สุดนะ ถ้าถึงที่สุด มันจะเป็นปัจจัตตัง มันถึงที่สุดของมัน

ถ้าไม่ถึงที่สุดของมัน เรากำลังก้าวเดินอยู่นี่ มันปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้ สิ่งนี้มันปล่อยวาง แต่เราปล่อยวาง ปล่อยวางประสาเรา ประสากิเลสมันคิดของมันไง นี่มันไม่ถึงที่สุด ถ้าไม่ถึงที่สุด เราต้องก้าวเดินตลอดไป ก้าวเดินของเราจนถึงที่สุดของเราได้ นี่การประพฤติปฏิบัติธรรมมันเป็นสภาวะแบบนั้น ถึงเวลาจะผิดจะถูก มันมีโอกาส

แต่ถ้าพอมันถึงที่สุดของมัน เห็นไหม พอมันถึงที่สุด มันจบไปแล้ว เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมมันจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงสภาวะแบบนั้นอีกเลย มันไม่เป็นที่ว่ามันจะเสื่อมสภาวะได้ แต่ถ้าใจของเราปกติมันยังเสื่อมได้ คนที่เราก้าวเดินอยู่นี่มันจะเสื่อมได้ เสื่อมได้ ผ่านช่วงหนึ่งขึ้นไป มันก็ก้าวเดินต่อไป มันก็ไปลังเลสงสัยช่วงข้างบนต่อไป ครูบาอาจารย์ถึงต้องสำคัญตลอดไปไง

โคนำฝูงนะ คบมิตรดี ต้องคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มิตรดีที่สุด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาพ้นทุกข์ตลอดไป คนที่จะทำไม่ได้ ท่านก็ให้ทำบุญกุศลไปก่อน ถึงจะทำถึงไม่ถึงนะ มันเป็นความถึงที่ว่าคนเราวาสนาบารมีมันไม่ถึง มันเป็นสิ่งที่ว่าสุดวิสัย สิ่งที่สุดวิสัย เพราะก้าวถึงไม่ถึง สิ่งนี้ก็ให้สร้างบุญกุศลขึ้นไป เพราะการสร้าง การสะสมของเรามันจะเข้าไปถึงตรงนั้นได้ ถ้าถึงตรงนั้น มันก็เป็นไป แต่ถ้าเราออกนอกทางไป เราเสียเวลาเปล่านะ

เวลาประพฤติปฏิบัตินี่น้อยเนื้อต่ำใจ เราทำของเราไม่ได้ พอเราทำของเราไม่ได้ เราก็คิดว่าเราไม่ทำ เราจะทำอย่างอื่น ถ้าไพล่ออกจากจุดหมายนี่มันจะเป็นไป ดูสิ ครูบาอาจารย์บอก “กรรมฐานม้วนเสื่อ” คำว่า “ม้วนเสื่อ” คือเก็บเสื่อ เก็บเสื่อคือว่าเลิกการกระทำสิ่งนั้น กรรมฐานม้วนเสื่อ คือเราท้อถอยแล้วเราไม่ทำไป

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเหตุมันมี เหตุมันมีคือความเพียรของเรามี เราต้องตั้งใจของเรา ประพฤติปฏิบัติของเราไป ดูสิ ดูอย่างที่ว่าอาจารย์เล่าให้ฟัง เวลาหลวงปู่คำดีท่านสงสัยในธรรมของท่าน ท่านจุดธูปจุดเทียนเลยนะ จุดธูปจุดเทียนอธิษฐานบอกว่าให้ครูบาอาจารย์มาสอน แล้วหลวงตานี่ไป ไปสอนสิ่งนั้น

ความที่ว่าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราสามารถอธิษฐานเลย ขอให้ครูบาอาจารย์มาชี้นำ มาสอนเรา แล้วถ้าเรานั่งประพฤติปฏิบัติของเราไป เวลาพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ในอดีตมาสอน สอนจากภายใน สิ่งนั้นก็มี มันเป็นสิ่งลึกลับมหัศจรรย์มาก ถ้าพูดไปมันเหมือนกับวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็เหมือนกับพระนี้ยกย่องกันไป

เวลาแสดงธรรม เห็นไหม อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่ว่าไม่มีในโลก อวดอุตตริมนุสสธรรมไง มนุษย์ไม่เข้าใจหรอก ไม่เข้าใจสิ่งนั้น แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมในหัวใจนี้สื่อความหมายกันได้ มันไม่ได้อวดอุตริหรอก มันเป็นความจริง แต่ความจริงของผู้ที่มีธรรมสื่อถึงจะเหมือนกัน ถ้าผู้ที่ไม่มีธรรมในหัวใจสื่อออกมา มันก็สื่อแบบภาษาโลก มันจะเป็นไป ถ้าเราจะเชื่อแบบนั้น เห็นไหม

เกิดในประเทศอันสมควร หนึ่ง เกิดมาพบครูบาอาจารย์ หนึ่ง พระพุทธศาสนาเป็นของจริงอยู่แล้ว แต่ว่าในมุตโตทัยข้อหนึ่งเลย หลวงปู่มั่นบอกไว้ ทองคำในร้านค้าทองคำ ทองคำที่เขาแยกแยะสิ่งที่เป็นแร่ธาตุต่างๆ แล้ว แต่ทองคำในเหมือง เห็นไหม กิเลสของเราพบครูบาอาจารย์ไง ถ้าครูบาอาจารย์ยังมีสิ่งนี้อยู่ มันก็ตีความตามความเห็นของตัว ความเห็นของตัวอย่างไรก็ตีความอย่างนั้นไป แล้วตีความอย่างนั้นไป ผิดทั้งหมดเลย ผิดทั้งตัวเองด้วย แล้วก็ดึงหมู่ผิดด้วย

เราถึงว่า มองนะ เป็นคติ แล้วเราก็เตือนใจเรา ย้อนกลับเข้ามาสิ ถ้าเราคิดนะ เรามีอำนาจวาสนา เพราะว่าเราเห็นสภาวะแบบนั้น เห็นว่าผิดไง ถ้าเรามีวาสนา เราจะเชื่อสิ่งนั้นไปเลย แล้วเราจะตามสิ่งนั้นไป โลกจะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ต้องการไง

เวลาเราฟังหลวงตาพูดนี่ซึ้งใจมากนะ ต้องการให้เขาหันหน้ามามองอย่างเดียวก็พอ คืออยากมีชื่อเสียง อยากจะมีความเด่นดัง อะไรก็ได้ ขอให้มันเด่นให้มันดังขึ้นมา เพื่อเขาได้เหลียวมามอง แค่ให้เขาเหลียวมามอง แต่เราต้องทำงานของเรามหาศาลเลยเพื่อจะให้เขามามอง มันไร้สาระเลยนะ

พรหมจรรย์เพื่อประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่แก้ลัทธิใดๆ ไม่ใช่แก้ความเห็นของใคร พรหมจรรย์ ประพฤติปฏิบัติเพื่อแก้ความเห็นของตัว เพื่อทำความเห็นของตัวให้ถูกต้อง ความเห็นอันนั้นเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคถึงเข้าไปชำระกิเลส ถ้าความเห็นถูกต้อง ยึดความเห็นของตัวว่าถูกต้อง อันนั้นก็ยังเป็นระหว่างการก้าวเดิน ระหว่างก้าวเดินถ้าเราอยู่ตรงนั้นมันก็ยังผิดอยู่ แต่ถ้าระหว่างก้าวเดินถูก ระหว่างนี้ความเห็นมันเกิด ปัญญาเกิด นี่ถูก แต่ถ้าเรายึดไว้ ผิด ผิดเพราะอะไร เพราะเรายึดความเห็นของเรา ความเห็นนั้นเป็นมรรค เป็นระหว่างทาง เรายึดระหว่างทาง เราจะไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรู้ความเห็น เป็นปัญญา เราก็ต่องใคร่ครวญปัญญานั้นไป จนเข้าถึงเป้าหมายนั้นได้

ถ้าถึงเป้าหมายนั้นได้ จะเห็นได้ว่าความเห็นอันนั้นก็ผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะขณะที่มันเห็น มันยึดตรงนั้น แต่ถ้าความเห็นนั้นมันเป็นสมุจเฉทปหาน มันรวมตัว มันปฏิบัติ มันรวมตัวขึ้นไป มรรคนี้รวมตัว มันชำระขึ้นมา ความเห็นนั้นก็ถูก ถูกในขณะนั้น แต่ถูกแล้วต้องปล่อยมันด้วย ถูกแล้วยึด มันจะมาได้อย่างไร เรายึดตรงนั้นแล้วจะก้าวเดินได้อย่างไร มันก้าวมาไม่ได้ แต่ถ้าความเห็นอันนั้นมันเป็นระหว่างที่ก้าวเดินขึ้นไป นี่ระหว่างก้าวเดิน มรรคมันรวมตัวขึ้นไป มันต้องทำให้ลึกกว่านั้น ความเห็นมันไม่ใช่ความเห็น มันเป็นความจริง จริงที่ชำระกิเลสออกไปจากใจ สิ่งนี้ชำระออกไปจากใจ แล้วจิตนี้จะพ้นออกมาจากความเป็นจริงอันนั้น เห็นไหม เป็นอกุปปธรรม ถึงว่า ครบครูบาอาจารย์ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่ชี้นำเข้ามาสภาวะภายใน

สิ่งที่ภายนอก เห็นไหม โลกเขาเจริญขนาดไหน เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เจริญมาก เอาเงินมาเท่าไร มากองนะ จะสร้างวัดให้วิจิตรพิสดารขนาดไหนก็ได้ จะทำให้แปลกประหลาดมหัศจรรย์สิ่งไหนก็ทำได้ เทคโนโลยีมีทั้งนั้นเลย ขอให้มีเงินทำได้ทั้งนั้นเลย แล้วในหัวใจนี่ มรรคผลนิพพานใครสามารถทำได้ เงินทองสูงท่วมเท่าฟ้า ซื้อได้ไหม จ้างวานคนอื่นทำให้ไม่ได้ ทุกคนจะทำแทนกันไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทำแทนใครไม่ได้เลย สิ่งนี้เงินซื้อไม่ได้ สิ่งใดๆ ก็ซื้อไม่ได้ แล้วแสวงหาขึ้นมาจากใจดวงนั้น สิ่งนี้เป็นความสำคัญมาก

ถึงว่า สิ่งต่างๆ นั้นเป็นเครื่องอยู่อาศัย นกยังมีรวงมีรัง เราทำพอเป็นเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น อาศัยกันไปนะ เวลาที่ว่าวัดนั้นเจริญมาก เวลาผู้นำนั้นล่วงไปนะ วัดนั้นจะหงอยจะเหงานะ แล้วจะทำอย่างไร มันจะปล่อยร้างไปตลอดไปๆ มันถึงต้องเข้ามายืนในหัวใจให้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป เห็นไหม ใครเห็นพระอานนท์ พอเห็นพระอานนท์นะ คิดถึงพระพุทธเจ้าตลอด เห็นพระอานนท์ร้องไห้เลย เพราะอะไร เพราะคิดถึงพระพุทธเจ้า แต่พระอานนท์ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเหมือนกัน

ถึงบอกว่า เทศน์สอนเขานะ ปลอบประโลมเขา สอนเขา เพื่อจะให้เขามีกำลังใจขึ้นมา ถ้ามีกำลังใจขึ้นมา เราก็พึ่งตัวเราเอง เราไม่ต้องพึ่งคนอื่น เราต้องพึ่งตัวเราเอง แต่ขณะก้าวเดิน เราต้องหาผู้ชี้นำ ถึงที่สุดแล้วนะ ใจของเราเอง เราต้องประพฤติพรหมจรรย์เพื่อเรา ไม่ใช่เพื่อใครเลย ไม่ต้องการให้ใครเหลียวหน้ามามอง ไม่ต้องการสิ่งใด แต่ต้องการบำรุงน้ำใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ให้ธรรมเข้าถึงดวงใจดวงนั้น ศาสนาถึงจะเจริญรุ่งเรือง ศาสนานั้นถึงจะมีคนชี้ถูกชี้ผิดได้ ชี้ถูกชี้ผิดจากใจของเราก่อน แล้วเราจะเป็นครูบาอาจารย์เขา เห็นไหม

เรานะ ต้นไม้ที่มันเจริญงอกงาม มันจะมีสัตว์ไปอาศัย ต้นไม้นั้นมันเจริญงอกงามขึ้นมา แต่มันเป็นพิษ ทุกอย่างเป็นพิษ ใบก็เป็นพิษเป็นพิษหมดเลย มันจะไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย สิ่งใดเข้าไปอาศัย สิ่งนั้นก็จะเป็นโทษไปด้วย แต่ต้นไม้ที่มีความร่มเย็น สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับต้นไม้นั้น หนึ่ง เป็นประโยชน์กับตัวศาสนา เห็นไหม

ศาสนานี้ขับเคลื่อนไปด้วยเรื่องของหัวใจ หัวใจที่เข้าใจแล้วขับเคลื่อนอย่างนั้นไป ขับเคลื่อนอย่างนั้นไป รู้จักใจตัวเองจะสอนผู้อื่นได้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนนี้เพื่อประพฤติปฏิบัติ พรหมจรรย์เพื่อตน ตนทำลายกิเลสของตน แล้วตัวเองจะเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วจะพูดถึงว่าเป็นความสุขมากๆ มันก็พูดไปอย่างนั้นน่ะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องสมมุติ ไร้สาระ เรื่องของโลกเขา ใจดวงนั้นอิ่มพอแล้วไม่ต้องพูดสิ่งใดเลย นี่มันพอของมันในตามธรรมชาติของมัน แล้วเป็นประโยชน์กับตัวเอง เห็นไหม ถึงเป็นประโยชน์กับโลกไง นี่ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ มันจะย้อนกลับมา

ดูสิ ดูวัตรปฏิบัตินะ เข้าไปในวัดนั้นจะรู้เลย เวลาเขาให้เข้าไปดูนะ เมื่อก่อนหลวงตามา หลวงตาจะเข้าห้องน้ำก่อนเลย ตรวจในห้องน้ำห้องส้วม ตรวจในสิ่งที่ว่า ถ้ามีข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้จะสะอาด สิ่งนี้จะมีเป็นความเป็นไป ถ้าเขาทิ้งสิ่งนี้นะ แล้วไปเชิดชูสิ่งที่ว่าเรื่องของโลก นี่ออกนอกทางแล้ว ถ้าออกนอกทางแล้วจะประพฤติปฏิบัติกันได้อย่างไร แล้วออกนอกทางแล้วจะเข้ามรรคทางไหน ถ้าข้างนอกมันยังส่งออก แล้วในหัวใจมันจะไปรับรู้สิ่งใด ความกังวลนะ ความรับผิดชอบนะร้อยแปด นี่นิวรณธรรม แล้วมันจะเข้าศาสนาตรงไหน แล้วถ้ามันเข้ามาศาสนา มันจะเข้ามาตรงนี้

ถ้าเรามีหลักของใจ มองความเป็นอยู่นี่มองออก หลวงตาสอนประจำ การสอนที่ประเสริฐที่สุดคือดำรงชีวิตของเราให้ปกติ ชีวิตของเราดำรงอยู่ แล้วไม่ต้องไปสอนใคร เขาจะเห็นสิ่งนั้นเอง สอนโดยไม่สอนไง แต่เวลาสอนขึ้นมา เขาเชื่อขึ้นมาแล้ว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง คือว่าพยายามจะต้องว่าจะทำอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร มันจะสื่อกัน อันนั้นเป็นธรรมที่จะออกมา เห็นไหม

ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฟังธรรมก็เป็นมงคลอย่างหนึ่ง สนทนาธรรมก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่สนทนาธรรมด้วยความขัดแย้ง อันนั้นไม่ใช่ธรรม เราต้องหยุด เห็นไหม ถ้าเราหยุด ถ้ามีความขัดแย้ง เราจะย้อนกลับมาดูใจเราเลย ย้อนกลับมาที่เรา เราประพฤติปฏิบัติเพื่อใคร ถ้าเขาฟังเราแล้วเป็นประโยชน์ก็เรื่องของเขา เขาก็ได้ประโยชน์ไป ถ้าเขาไม่ฟังก็เรื่องของเขา นี่มันถึงเวลาไม่ถึงเวลา อินทรีย์ไม่แก่กล้า รับรู้สิ่งนี้ไม่ได้ ไม่มีใครรู้หรอก แต่ถ้าเป็นวัตถุมันรับรู้กันได้ ข้างในรับรู้ไม่ได้ เอวัง