ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อานาปานสติ

๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

อานาปานสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : พุทโธๆ ไปเรื่อย พอพุทโธไป มันก็จะกลับมาอยู่ที่ลม เพราะปกติที่ผมทำอยู่ก็จะอยู่ที่ลมอย่างเดียว พอดูลมไปเรื่อยๆ แล้วพุทโธมันก็หาย อันนี้ที่กราบเรียนหลวงพ่อนะครับ ก็คือว่าพุทโธมันหาย เราก็ต้องนึกให้มันพุทโธ อย่าให้มันหาย แล้วถ้าเกิดเรานึกได้ พอนึกไปมันเหมือนกับว่าเราไปบังคับมัน แต่ถ้าเกิดเราดูลมอย่างเดียว มันก็สบาย ลมมันก็เข้าออกตามธรรมชาติของมัน เราก็ดูมันไปเรื่อยๆ มันก็จะมีลมเบา ลมละเอียดตามสภาวะของมัน แต่พุทโธไปเรื่อยๆ บางทีมันก็เครียดเหมือนกันนะครับ

หลวงพ่อ : เครียด เพราะเรานี่ปฏิบัติมา แล้วเราออกจากวัดป่าบ้านตาดมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ พอมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะปั๊บนี่ เราพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิมาตลอด หลวงปู่เจี๊ยะไม่เชื่อเลย แล้วพอบอกว่า หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะเน้นอย่างนี้นะ เน้นให้พุทโธอย่างเดียว แล้วท่านบอกว่า เวลากำหนดลมนี่ เราก็กำหนดลมด้วย หลวงตาท่านก็สอนอานาปานสติ ในอานาปานสติอาจารย์สอนกันเยอะแยะเห็นไหม แต่ถ้าเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะจะบอกเลยว่าทำไม่ได้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดอย่างนี้ ท่านเน้น หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าทำไม่ได้หรอก ทำได้เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่ความจริงมันทำได้ทั่วไปใช่ไหม

กำหนดลมนี่ทำได้ทั่วไป เราจะพูดเอาตรงนี้ก่อนว่าทำไมถึงต้องลม ทำไมถึงต้องเป็นกำหนดพุทโธ เพราะอะไร เพราะถ้ากำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธนี่เป็นคำบริกรรม พุทโธๆๆ อย่างที่เราพูดวันนั้นนะว่าเหมือนกับรีไซเคิลน้ำ จิตมันได้มีการเปลี่ยนแปลง ประสาเราว่ามันขาวกับดำเลย มันโต้แย้งระหว่างโลก โลกคือความคิดของเรา พุทโธ เป็นพุทธานุสสติ พุทโธๆๆ นี่คือ พุทธานุสสติ มันสะอาดบริสุทธิ์แน่นอน ของมีคุณค่าแน่นอน เหมือนน้ำสะอาดกับน้ำเสียเลย อารมณ์ความคิดเราเป็นน้ำเสียตลอด แต่พุทโธนี่น้ำสะอาดแน่นอน ลองนึกพุทโธๆ สิ เรานึกถึงพระพุทธเจ้านี่สะอาดแน่นอนจริงไหม

นี่ไงเหตุผลว่าทำไมถึงเครียด ทำไมถึงยาก เพราะอะไร เพราะถ้าอารมณ์เสียนี่อารมณ์เราที่ว่าดีๆนี่เสียหมดเพราะมันเป็นอารมณ์ของกิเลส จริงไหม ความคิดเรานี้อารมณ์เสียหมด มันเป็นน้ำเสียหมด มันเป็นความคิดที่เราพอใจ เราคุ้นเคยกับมัน จะคิดเรื่องงานเรื่องครอบครัวเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องเพื่อนฝูงนี่มันเรื่องปกติ ที่มันคิดแล้วมันพอใจ มันคิดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่พอมาพุทโธๆ นี่มันจะเครียด มันจะบอกเราให้เห็นว่าขาวกับดำเลย

ทีนี้เห็นขาวกับดำเลย เวลาพุทโธๆ เห็นไหมพุทธานุสสติ พุทโธๆนี่อารมณ์เรา ก็ไม่มี ไม่มีเพราะเราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้า พุทโธๆ นี่เป็นคำบริกรรม เป็นสมถะ แน่นอน พุทโธๆ นี่เป็นน้ำดี แต่น้ำดีนะ ดูสิ อย่างงานเลี้ยง งานรื่นเริง ถ้ามีแต่น้ำเปล่าเขาจะไปงานกันไหม ถ้ามันไม่มีเหล้า เราก็เหมือนกัน อารมณ์ของใจ ถ้ามันคิดนี่มันธรรมชาติของมันนะ ความคิดของมัน มันปกติของมัน มันพอใจของมัน พอพุทโธนี่มันจะเครียด ฉะนั้นมันจะเครียดนี่มันต้องมีเหตุมีผลสิ มีเหตุมีผลว่าเราจะสู้กับอะไร เราทำกับอะไร แล้วมันเครียดนี่คืออะไรที่เป็นคนเครียด นี่พูดถึงพุทโธก่อนนะ

แล้วถ้าพูดถึงอานาปานสติกำหนดลมนี่ ถูกต้อง ดีงาม ใช้ได้ แต่ ถ้าพุทโธนี่เห็นไหม มันขาวกับดำเลย พุทโธๆๆ อานาปานสติกำหนดลมหายในนี้ใช้ได้ พระพุทธเจ้าก็กำหนดอานาปานสติเหมือนกัน แต่อานาปานสตินี้ มันไม่ขาวดำไง คืออานาปานสติมันเป็นลมใช่ไหม อยู่ที่เราให้ค่าไง เราให้ค่าว่าลมดีหรือลมไม่ดีไง นี่มันถึงสบายๆ อยู่ไง

เราจะบอกว่าอานาปานสตินี้มันละเอียดกว่าพุทโธ เราต้องมีพื้นฐาน จิตใจต้องดี มันถึงจับลมแล้ว เราเอาลมกับเรา เราเกาะกับลม เราถึงไม่เข้าข้างตัวเองไง แต่ถ้าพุทโธนี่มันชัดเจนมากเลยนะ ถ้านึกพุทโธนี้มันขาวสะอาดแน่นอน แต่ถ้ากำหนดลม เราจะบอกว่าได้ ถ้าบอกว่าได้ปั๊บ พอเราไปอยู่ที่ลมนานๆ ไป แล้วทำไมไม่เห็นเราได้ผลอะไรเลย ไม่ได้ผลก็ตรงนี้ไง มันไม่ขาวดำไง ขาวกับดำ ก็ถูกผิดไง แต่ถ้าลมนี่มันกลางๆ ใช่ไหม เราจะบอกว่าได้ แต่เวลาทำไปใครจะให้ค่าอันนี้ล่ะ เราถึงต้องชัดเจนกับมัน ลมก็ได้ ถ้าบอกลมได้ปั๊บสบายๆ คำว่าสบายๆ นี่อันตรายนะ สบายๆ หลวงตาก็บอกว่าจะล้มลงใส่หมอนไง สบายๆ ก็สบายใส่หมอนนั่นสิ

คำว่าสบายๆ ถ้าประสาเรานะ เราเห็นว่าเป็นอันตราย อันตรายในทางปฏิบัตินะ แต่ถ้าทางปกติของเรา ในการปฏิบัติของเรา ทุกคนปฏิบัติเพื่อความสุข ถ้ามันสบายๆ ก็คือความสุขแล้วใช่ไหม ถ้ามันเครียด มันตึงเครียด ในชีวิตเรานี่มันฟุ้งซ่าน ถ้าเรามาอยู่กับความสงบได้เราก็พอใจแล้วไง โลกคิดกันอย่างนั้น แต่พอโลกคิดกันอย่างนั้นปั๊บเขาก็บอกว่าการปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องดีงามหมด แต่สำหรับเรา เราเป็นพระ เราเป็นผู้สืบทอดศาสนา ศาสนามันมีคุณค่ามากกว่านี้ เราถึงเห็นว่าตรงนั้นไม่ถูกต้อง เราถึงต้องการให้มันเข้ามาให้ถูกต้องมากกว่านั้นไง

คำว่าสบายๆ นี่ ๑.นอนใจ ๒.ขี้เกียจ หลวงปู่เจี๊ยะจะพูดประจำ ถีนมิทธะมันจะเข้ามา โกสัชชะ คือความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจมันจะเข้ามาบวกตรงนั้น ตรงนี้เป็นจุดที่ว่ากิเลสมันสวมเขาได้เลย ทีนี้คำว่าใช้ได้ไหม เราว่าใช้ได้ นี่เราพูดให้ฟังก่อนว่า เหตุทำไมถึงว่าใช้ได้ แต่ว่าเราเห็นโทษของมันไง ถ้าพูดว่าใช้ได้ไหม ใช้ได้ แล้วตั้งสติให้ดี ลมก็ได้ ถ้าพุทโธแล้วมันเครียด มันไปไม่รอด กลับมาที่ลมถ้าลมมันสบาย แต่ เพราะเราทำมาหมดแล้ว

ถ้าลมนะ สติเราต้องอยู่กับมันชัดเจน ชัดเจนมากเลย แล้วลมนี่มันจะละเอียด ละเอียดแบบจะไม่มีเลย แล้วเราพูดไปคนไม่เชื่อนะ ถ้าพูดถึงว่ามันก้ำกึ่ง จิตมันไม่ลงหรอก แต่มันเห็นเป็นภาพ เห็นเป็นนิมิตขึ้นมาได้ กำหนดลมหายใจนี้นะ ลมหายใจมันเป็นแท่งเลย มันแบบว่าเราเห็นเป็นลำแสง เป็นแท่งเลย เราทำได้ขนาดนั้น แต่นี่ไม่ใช่สมาธินะ มันเป็นนิมิต นี่เราจะพูดให้ฟังก่อน แต่โยมเขาไม่เชื่อกัน เขาบอกว่าลมนี่จะเป็นแท่งได้อย่างไร

เหมือนลมนี่เราจะเห็นเป็นเหมือนแสงสปอตไลท์เลย เห็นอย่างนี้เลยนะ แต่นิสัยเราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราก็ยังกำหนดลมต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามันละเอียดไปเรื่อยๆ นะ กำหนดลมไปเรื่อยๆ สติมันพร้อมตลอดนะ ละเอียดไปๆ จนลมหายใจนี่หายใจไม่ได้ ลมหายใจเริ่มจะเบาลง ลมหายใจนี่ขาด ทีนี้ก่อนที่มันจะขาด อาการของมัน ทุกคนจะสะดุ้ง สะดุ้งนี่มันก็กระเพื่อมแล้วจริงไหม ถ้าสะดุ้งมันก็ไม่ราบเรียบไปใช่ไหม สะดุ้งนี่จิตมันก็ต้องอ่อนแล้ว

ทีนี้ถ้าสะดุ้งรับรู้ แต่สติเราดี เรากำหนดให้มันราบเรียบลงไป จากเดินจงกรมอยู่นะ ต้องยืนรำพึง ยืนอยู่นะยืนไม่ได้เลย ถ้ายืนอยู่มันก็วูบหาย มันต้องนั่งลง เรานั่งลงทางจงกรมเลย จนมันละเอียด ละเอียดจนดับหมด คำว่าดับหมดคือมันตัดขาด แต่นี้ไม่ใช่ คำว่าดับหมด คือมันดับความรู้สึกหมด แต่ตัวจิตรู้อยู่ตลอดเวลา นี่มันรวมใหญ่ด้วยกำหนดอานาปานสติ เราทำมาหมดแล้วล่ะ แต่เราเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ละเอียด มันเหมือนกับว่าคนอื่นจะทำไม่ได้เลย แต่ได้ เพียงแต่มันต้องรอบคอบ

เราบอกว่าจะต้องรอบคอบ จะต้องมีสติตลอด แล้วจะต้องชัดเจนกับมันตลอด เราสงสารนะ มีพระมาหานะ เขาบอกว่าลมหายใจมันต้องหาย โดยความปกติว่าถ้าลมหายใจมันหาย มันเป็นอัปปนา คือมันรวมหมด มันดับหมด มันต้องหายหมด เราโต้แย้งเขาเพื่อความไม่ประมาทไง เราบอกว่าดับไม่ได้ ลมไม่มีการดับ แต่จริงๆ คือมันดับโดยธรรมชาติของมันเอง แต่ถ้าเราบอกว่าลมมันดับนี่ทุกคนจะ (ฟืดฟาดๆ) แล้วจะให้มันดับไป โดยที่เราโดนกิเลสหลอก เพราะอาการมันจะต่างกัน อาการคือผลไง

อย่างแบงก์จริงกับแบงก์ปลอม เอามาวางคู่กันโดยที่มันคล้ายคลึงกันมาก คนไม่รู้เลยว่าอันไหนจริง อันไหนปลอมจริงไหม อันนี้ก็เหมือนกัน อาการมันเหมือนกัน คือคล้ายๆ กับว่ามันดับ ทุกคนจะมาหาเราจะบอกเลยนะ ว่างๆ ว่างๆ ปล่อยวางหมด เรารู้เลยอันนั้นไม่ใช่ รู้เลยว่าไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ โห หลวงพ่อมันเป็นอย่างนั้นๆ เออ อันนี้ใช่ เพราะเขารู้ไปเอง

แต่นี้เรื่องลมมันละเอียดตรงนี้ไง เราถึงบอกว่าได้หมด แต่ต้องรอบคอบ แล้วต้องมีสติดีๆ ทำได้ คือประสาเรา หลวงปู่เจี๊ยะใช้คำว่า อย่าแช่ คือจิตไปแช่อยู่ตรงนั้นไง ไปพอใจย้ำอยู่ตรงนั้น แล้วมันก็จะไม่ก้าวต่อ ถูกต้อง ได้หมด คำว่าได้หมด แต่ได้ด้วยความถูกต้อง ไม่ใช่ได้หมดเลย ได้แบบกิเลส ได้แบบกูพอใจ เราจะไม่ก้าวหน้านะ อันนี้มันเป็นความวิริยะอุตสาหะของพวกเราเอง คนปฏิบัติเอง คนทำเอง มันจะได้ผลของมันเอง เราถึงต้องตั้งสติของเรา อย่าเชื่อใคร สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง รู้เฉพาะใจเรา เรารู้เอง เราจะรู้เอง เห็นเอง ชัดเจนมาก

โยม ๑ : ทีนี้มันก็ไปแช่ พอไปแช่เสร็จแล้ว พอสักพักมันก็จะมีความคิดสอดขึ้นมา

หลวงพ่อ : นั่นเห็นไหม มันจะลงตรงนั้น ถ้าไม่มีความรอบคอบจะลงตรงนี้หมด เอ้าว่าไป

โยม ๑ : พอมีความคิดสอดขึ้นมา เราก็เอาความคิดนั้นมาพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ อะไรอย่างนี้จะได้ไหม

หลวงพ่อ : ใช่ อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิแล้ว ถ้ามีความคิดขึ้นมาปั๊บ เราไปที่ความคิด ถ้าสมมุติ ไม่สมมุติล่ะ ความจริงเลย ถ้ามีสตินะ ถ้ามีความคิดขึ้นมานะ เราก็กำหนดลมย้ำเข้าไปสิ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้ามีความคิดเข้ามาแสดงว่าเราทิ้งแล้ว เพราะจิตนี่เหมือนกับ กำมือมันหยิบได้แค่ของชิ้นเดียว อันนี้ถ้ามีความคิดขึ้นมาแสดงว่ามือนี้ไม่ได้อยู่กับลมแล้ว มันทิ้งลม มาเอาที่ความคิดแล้วเห็นไหม

โยม ๑ : เพราะว่าอย่างที่หลวงพ่อว่า มันจะว่างๆ มันก็สบาย มันก็ไปแช่อยู่ พอสักพักมันก็มาแล้ว

หลวงพ่อ : ไม่ได้หรอก เพราะอะไร ที่บอกว่าลมหายๆ ทุกคนจะไปลงตรงนี้หมดไงว่าลมหาย ทุกอย่างหาย มันไม่ได้หาย มึงไม่จับมันต่างหากเล่า! ไม่หายหรอก! ลมไม่มีหาย จิตมันสงบเข้ามาแล้วมันจะปล่อย ลมก็คือลม จิตก็คือจิต มันแยกออกจากกัน ทีนี้พอลมหายๆ คำว่าลมหายของเรา หายเพราะกูไม่รับรู้ไง เวลาทำๆ ไปนะ เอ้อ หายเลย มันคนละเรื่องกัน เราทำมาแล้วไง เราทำมาหมดแล้ว รวมอย่างนี้เราเป็นอยู่ ๒-๓ หนเท่านั้นเอง ตั้งแต่บวชมา ตั้งแต่ทำมา เราถึงเน้นเวลาเราเทศน์เห็นไหม ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา ใครๆ ก็ว่าอัปปนาสมาธิ ในพระไตรปิฎกหรือครูบาอาจารย์สอนก็บอกว่า อัปปนาสมาธิ มันพิจารณาไม่ได้ จิตมันลงลึกไง ต้องออกมาที่อุปจาระ อุปจาระก็ที่ความคิดเกิดนี่ไง

โยม ๒ : หลวงพ่อ ไม่จำเป็นจะต้องตามลมก็ได้ใช่ไหม เพราะโยมไม่เคย

หลวงพ่อ : ไม่ต้อง ก็บอกแล้วว่าถ้าโยมพุทโธๆ ไป

โยม ๒ : แค่หาที่อยู่ให้ใจใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ว่าไป

โยม ๒ : คือสิ่งที่แลดูว่าจะทำแล้วมันเหมือนกับราบรื่นแล้วมันมีการนึก อ๋อหรอ มันเป็นอย่างนี้เอง มันคือการเดิน สำหรับโยมนะเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่มันเป็นปัญญา

โยม ๒ : แล้วมันมีความคิดชั่ว ความคิดดีสู้กันเกือบจะตลอดเวลา เมื่อมันนิ่งไปสักพักหนึ่ง

หลวงพ่อ : พูดให้จบสิ

โยม ๒ : คือเรื่องบางเรื่องที่เราอยากรู้ ไม่ใช่ว่าเราอยากจะไปรู้นิมิตหรืออะไรอย่างนี้นะเจ้าคะ คือว่าอย่างเช่นมีความคิดไม่ดีขึ้นมาในใจ มันจะเป็นอะไรก็ตาม มันจะเป็นราคะ เป็นความโมโหหรือเป็นอะไรก็ตาม มันจะคิดออกเจ้าค่ะ ว่าเห็นสาเหตุ ก็อ๋อหรอ มันก็เป็นแค่นี้เอง

หลวงพ่อ : นี่คือปัญญา

โยม ๒ : มันคือการแต่ง จิตเขาจิตเรา มันเป็นอย่างนี้เจ้าค่ะ ไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็ได้ใช่ไหม

หลวงพ่อ : ได้ อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ วันที่มาวันนั้นเห็นไหม เราปูให้หมดเลย วันนั้นที่เราพูดปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม เราพูดว่า พุทโธก็ได้ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ทำจริงๆ การภาวนาทุกอย่างได้หมด แต่มันเป็นอย่างที่พูดเมื่อกี้เรื่องลม ควรจะรอบคอบละเอียดชัดเจนขนาดไหน ถ้ารอบคอบละเอียดชัดเจนขนาดไหน หลวงปู่เจี๊ยะเลย ขี้ๆๆ กำหนด ขี้ๆๆ ยังสงบได้เลย

โยม ๒ : ก็เลยคิดว่าอย่างพุทโธ แต่ก่อนเป็นคาทอลิก ให้พุทโธโยมไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เอาแค่ซ้ายก้าว ขวายก ขวาก้าว ซ้ายยก ตามเท้าตัวเองอย่างนี้ แล้วเมื่อเดินจงกรมได้ ๒ ชั่วโมงโดยประมาณนี้ มันเหมือนกับมันคลี่อะไรในใจเยอะมากเจ้าค่ะ แล้วก็เลยใช้วิธีนี้มาเกือบจะตลอดอย่างนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่มันดีไหม

หลวงพ่อ : ดี

โยม ๒ : แล้วถามว่ามันทำให้มองเห็นโลกอย่างยุติธรรมขึ้นนี้มันดี โยมดูผลลัพธ์นะคะ โยมไม่ได้ดูกระบวนการ ก็เลยไม่รู้ แล้วไม่ได้อยากอ่านมาก กลัวเบลอ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๒ : เพราะครูบาอาจารย์สั่งว่าอย่าอ่านมาก ให้ทำแล้วมากราบเรียนอย่างนี้เจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ผลลัพธ์นี่ใช่ ส่วนใหญ่แล้วเราดูผลลัพธ์ วันนั้นเราพูดถึงผลงานฟ้อง เขาพยายามพูดถึงพระองค์หนึ่งว่าปฏิบัติดีๆ แล้วผลลัพธ์มันไม่มี แต่เขาฟังกันว่ามี คนฟังไม่เป็นมันฟังมันก็ว่ามี แต่คนฟังเป็นนี่มันรู้เลย ถ้าผลลัพธ์มันมีใช่ไหม แต่ว่าเราจะพัฒนามากขึ้นขนาดไหน พัฒนาไปไหม ใช่ไหม

โยม ๒ : แล้วนี่จะทำอย่างไรเจ้าคะ โยมก็ได้แค่นี้เจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้ามันไม่พัฒนาไป ที่เราเน้นเห็นไหม พัฒนาการของจิต หรือธรรมชาติของจิต มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เหมือนเล่นกล ถ้าคนเขาเล่นกลเขาทำภาพให้เราดูได้นี่เราพอใจ มันก็แค่นั้น นี่ก็เหมือนกัน เล่นกลทางจิตไง เล่นกลทางอุปาทานไง พัฒนาการของมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว

เวลาผู้ที่สอนนะ เขาจะเขียนเป็นทฤษฎีของเขาเลย แล้วเขาก็บอกให้เราทำ พอทำเสร็จปั๊บ พอจิตเราเป็นอย่างนี้ เขาโยนทฤษฎีให้เลย บอกว่านี่จบ

โยม ๒ : อย่างนี้ไม่เหมือนกันหรอคะ

หลวงพ่อ : ฮึ มีพวกฆราวาสเขาสอนกันอย่างนี้เยอะ แล้วเขาไปทำมา แล้วพวกเพื่อนเขาพามาหาเรา เราพยายามอธิบายให้เขาฟัง เขาบอกว่า เอาแค่นี้เขาก็จบแล้ว คือประสาเรานะ เขาก็ได้ผลตอบแทนแล้วไง เพราะเขาจัดอบรมใช่ไหม จัดอบรมเสร็จแล้วคนเข้ามาอบรม เขาต้องจ่ายค่าสมาชิกใช่ไหม พอจบแล้วมันก็จบแล้ว คืองานเขาจบแล้ว

ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้กันเยอะ มันเป็นอย่างนี้กันนะ คนที่เข้ามาอบรม แล้วพวกนี้มีการศึกษาใช่ไหม เขาก็เขียนเป็นทฤษฎีของเขาเลย เป็นระบบของเขาเลย แล้วเขาก็รับสมัคร พอรับสมัครขึ้นมาแล้วก็ไปอบรมกัน อบรมแล้วก็นี่ไง โอ้ สบายๆ ว่างหมดเลย เขาก็โยนทฤษฎี พัวะ! เลย ทฤษฎีเขียนไว้แล้วใช่ไหม แล้วผลลัพธ์มันก็ตอบแล้ว นี่ไง เข้าเป้าไง พอเข้าเป้านะ พอเขาจ่ายตังค์แล้วเขาก็มีความสุขไง แต่ทีนี้เพื่อนของเขาเห็นอย่างนั้นแล้ว เขาบอกว่ามันควรจะพัฒนามากกว่านี้ เขาก็พามาหาเรา เขาเถียงทำนองนั้นล่ะ

แต่นี้ขบวนการมันเป็นอย่างนี้แล้ว คนเขาทำธุรกิจเรื่องพรรณนี้กันเยอะมาก เราถึงเศร้าใจว่าศาสนานี่มันมีเท่านี้เองหรือ แต่พอมาปฏิบัติกับพวกเรา ทั้งทุ่มเท ทั้งทุกข์ยาก แล้วไม่เห็นได้อะไรเลย มันได้อยู่แล้ว ได้อย่างที่โยมได้ นี่มันเป็นพื้นฐานอยู่แล้วไง คือเราบอกว่าพัฒนาของจิต คือจิตเอ็งจะทำหรือไม่ทำ มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่เรามาควบคุมให้มันดีขึ้น

มันสำคัญตรงนี้นะ อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ ตรงนี้มันสำคัญที่ว่า พื้นฐานของพวกเรา เราเน้น ครูบาอาจารย์ท่านเน้น ท่านปฏิบัติท่านรู้นะ ท่านเน้น ปุถุชน กัลยาณปุถุชนเห็นไหม ปุถุชนถ้ามันทำตัวมันดีขึ้น มันก็สุดยอดแล้วใช่ไหม เพราะปุถุชนถ้าทำถูกต้องนะ แต่นี่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องหมายถึงว่ามันเป็นปุถุชน แล้วมันก็ควบคุมพัฒนาการของมัน มันก็รู้เป็นปุถุชนของมัน แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนเป็นอย่างไร กัลยาณปุถุชนนี่นะ มันเห็นว่า รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นสักแต่ว่า มันเป็นของธรรมดา

โยม ๒ : มันเหมือนมาโดนเจ้าค่ะ มันเหมือนกับพอไปนานๆ มันจะเห็นว่า รูปแบบนี้ พอมาเจอแล้วมันทำให้เรามีความรู้สึกแบบนี้ หรือกลิ่นแบบนี้ หรืออารมณ์แบบนี้ มันก็แค่ตามทันนะเจ้าคะ มันตัดไม่ได้ มันก็ได้ อ๋อหรอ เออแค่นี้

หลวงพ่อ : ไม่ได้ มันตัดไม่ได้หรอก มันแค่นี้ไง เราจะบอกปุถุชน กัลยาณปุถุชนต่างกันอย่างไร กัลยาณปุถุชน มันตัดรูป รส กลิ่น เสียงได้ คนที่ตัดรูป รส กลิ่น เสียงได้ เหมือนไฟ เรามีสวิตซ์ อย่างไฟที่มันไม่มีสวิตซ์ พวกสายไฟตามสาธารณะ มันไปของมันอะไรไปโดนเข้ามันก็ช็อตทั้งนั้น แต่ในบ้านเรา เรามีสวิตซ์ใช่ไหม แล้วเราเปิดปิดได้ กัลยาณปุถุชนอยู่ตรงนี้

กัลยาณปุถุชนบอกว่ารูป รส กลิ่น เสียง รูปกระทบ คือสัญชาตญาณ ความรู้สึกของเรามันแบ่งกันได้ไง เราเท่าทันมัน พออย่างนี้ปั๊บมันจะเข้าสมาธิได้ง่าย มันจะคล่องชำนาญมากนะเรื่องสมาธิ กัลยาณปุถุชนจะเข้าสมาธิได้แบบว่าเข้า-ออกได้ชำนาญ พอชำนาญขึ้นมามันถึงยกขึ้นไปเป็นโสดาปัตติมรรค แต่นี้เราเป็นปุถุชน บ้านนี่พอเราเดินไปเสร็จไฟแม่งสว่างทั้งวันเลย ไอ้เราปิด-เปิดไม่ได้เลย แล้วบอกกูจะวิปัสสนา อะไรของมึง

ปุถุชนไง เพราะรูป รส กลิ่น เสียง มันไม่มีสวิตซ์ มันตัดตอนกันไม่ได้ไง

โยม ๒ : มันยังส่งผลให้เราได้เจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ส่งผลให้ได้สิ บ้านสว่าง เดินเข้ามา โอ้โฮสว่างโล่งเลย แล้วกูปิดอย่างไร แล้วกูแก้ไขอย่างไร นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แต่โดยปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เขาไม่เน้นตรงนี้กันแล้ว ใครก็ได้ หมาก็ได้ ปฏิบัติได้เลย แล้วหมาปฏิบัติ หมาก็วิ่งตามธรรมชาติของมัน แล้วมันได้อะไรขึ้นมา

การปฏิบัติมันก็เน้นตรงนี้ไง แต่พอเราจะเน้นให้เห็นว่า เวลาเรามาหาพระป่านี่ทำไมมันยุ่ง มันยาก มันยุ่งมันยากเพราะอะไร เพราะแรงกระทบนะ ผลกระทบจากตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็ต้องมีข้อวัตร เราก็ต้องมีข้อนี้ขึ้นมา พื้นฐานไง พื้นฐานไม่มี มันปรับพื้นฐานไม่ได้ ความคิดเวลาเรา ๔ คนนั่งคุยกัน เราก็พูดประเด็นหนึ่ง ๔ คน ๔ ความรู้สึกนะ แต่ถ้าปรับพื้นฐานแล้ว เวลาพูดมา นี่ไงที่ว่าคนภาวนาเป็น เห็นไหม เขาจะรู้นะ

เหมือนกัน ถ้าสมมุติว่าเราเป็นนักกฎหมายด้วยกัน เราพูดเรื่องกฎหมายทุกคนจะเข้าใจหมดเลย ถ้าเราเป็นวิชาชีพอะไรก็แล้วแต่ เราพูดข้อไหนปุ๊บ เราจะเข้าใจด้วยกันหมด เพราะเรามีวิชาชีพเดียวกัน แต่ถ้าคนละวิชาชีพนะ พูดประเด็นหนึ่งพูดเรื่องกฎหมายปุ๊บ ไอ้คนคิดก็ต้องคิดว่าแล้วกูจะทำอย่างไร นักกฎหมายก็ยิ้มเลย แต่ไอ้คนที่ไม่รู้เรื่องก็....

พื้นฐาน ถ้าปรับพื้นฐานขึ้นมา ปุถุชน กัลยาณปุถุชนขึ้นมา มันจะยกขึ้นเรื่องอริยสัจ ความเข้าใจมันจะง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ไปปฏิเสธกัน แล้วพูดกันดูถูกด้วยนะ ว่าทำสมถะ ทำกรรมฐานนี่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เราถึงเน้นเลย คนถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บนะ คนๆ นั้นภาวนาไม่เป็น ถ้าคนๆ นั้นภาวนาเป็น คนไม่มีพื้นฐาน ทำอะไรไม่เป็นเลย จะทำเป็นได้อย่างไร มันก็ทำเป็นแบบวิธีการของเขา เพราะเขาสร้างภาพในใจของเขาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา

คำว่าสร้างภาพอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาในหัวใจ มันจะเป็นความจริงได้อย่างไร เพราะความจริงขึ้นมาคือจะล้างใจ ไม่ใช่สร้างภาพขึ้นมาในหัวใจ ทีนี้เราจะบอกว่า เหมือนเรามีการศึกษา อนุบาลหรือพื้นฐานของเราถ้าให้มันดีขึ้นมา แน่นขึ้นมา เราไปศึกษาต่อนี่ได้หมดล่ะ แต่เริ่มต้นขึ้นมาเราจะสบายๆ กัน แล้วจะไปต่อยอด ยอดมันจะตั้งบนอะไร ยอดมันจะตั้งบนอะไร มันได้ชั่วคราว

ตอนนี้จริงๆ แล้วสังเวชมากนะ เราพูดอะไรไป คนจะว่า เหมือนกับเรามองโลกในแง่ร้าย มองโลกในแง่ลบหมด แต่เราบอกไม่ใช่ เรามองว่าต่อไปถ้าการปฏิบัติทำกันอยู่อย่างนี้ ถึงที่สุดแล้วมันจะล่มสลายกัน ที่ว่ายอดมันจะตั้งบนอะไรไง ถ้าเรายังปล่อยกันไว้อย่างนี้ หรือทำกันไปอย่างนี้นะ พอบั้นปลายแล้ว เราบอกว่ามันจะเกิดวิกฤตในศาสนาว่าอย่างนั้นเลย

แต่นี่มันเหมือนกับว่ากรรมของสัตว์ เพราะถ้าพูดไปความลำบากไม่มีใครเอา ทุกคนจะเอาสะดวกสบาย มันไม่ยอมสู้ความจริง เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็รักษาตามอาการของมันสิ ไอ้นี่บอกว่าไม่เป็นไร ไข้อย่างนี้นะ โธ่เอ๊ย ใส่ยาแดงก็หาย ก็ใส่ยาแดงกันไปหมดเลย สบายๆ สบายๆ โธ่ คนภาวนาเป็น จะสบายๆ ได้อย่างไร สบายๆ นี่โดยกิเลสมันมีอยู่แล้ว

สบายนี่หลวงปู่เจี๊ยะใช้ว่า โกสัชชะ เลยล่ะ มันคล้ายๆ ว่ามันจะขี้เกียจ ถ้าลองได้สบายๆ นะ มันจะขี้เกียจ พอมันขี้เกียจปั๊บนะนิวรณ์มันเสี้ยมเลย แล้วเราก็ เอ๊ๆ งงเลยนะ แม่งหมุนเลยนะ เอ๊ๆ ก็ปฏิบัติ เราคิดกันเหมือนเด็กส่งการบ้านไง ส่งเสร็จแล้วก็ได้คะแนน นี่เราจะคิดว่าเราทำแล้วไง แล้วผลทำไมไม่ได้ล่ะ เอ๊ๆ อยู่ แต่จิตไม่เป็นอย่างนั้น จิตมันเหมือนกับการทำอาหาร มันสุกดิบคราวนั้นเอง แล้วคราวต่อไปเราต้องทำใหม่ใช่ไหม อาหารมันจะอยู่กับเราตลอดไปไหม

จิตนี่หนหนึ่งเห็นไหม การกระทำแล้วมันก็แล้วกันไป มันไม่ใช่คะแนนสะสมนะมึง มันจะต้องทำบ่อยๆ นะเว้ย ไอ้นี่ก็คิดว่าทำแล้วไง ถ้าคนไม่เข้าใจ ทำไมมันถึงจิตเสื่อม ถ้ามีคะแนนมันสะสมอยู่แล้ว มันก็ต้องดึงคะแนนสะสมมาใช้สิ ทำไมพอมันหมด มันหมดเลยล่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างที่เขาคิดกัน เราถึงบอกว่า ถ้ายังมักง่ายกัน ยังต้องการสุขสบายกัน บั้นปลายจะรู้ แล้วถึงเวลาแล้วนะโทษนะ อย่างคนที่ไปปฏิบัติในวงการที่เขาว่าเรียบง่ายกัน ที่ว่าสบายๆ คิดดูสิว่าเขาปฏิบัติไปสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้วเขามารู้ตัวทีหลัง เขาจะคิดเสียดายเวลาเขาไหม ไอ้ที่เราทุ่มเทไปเท่าไหร่ นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ ไอ้ที่ย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ มึงจะเอาอีกไหม เราถึงบอกว่า กาลเวลาพิสูจน์กัน

เราถึงว่าสงสาร จริงๆ คือเราสงสารมากนะ เพียงแต่ว่าพูดไป เหมือนกับเขามีของเล่นใหม่กัน แล้วเราไปบอก มันโกรธเราตายเลย แม่งทำวงเขาแตกหมด ไอ้นี่เรื่องของเขานะ ขยันทำไป แล้วต้องตั้งสติอย่างที่ว่า ถ้ามันสบายๆ ว่างๆ นี่ไม่ได้เลย เหมือนมือเราว่างไม่ได้เลย เราต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา หลวงปู่ฝั้นท่านพูดไว้ตั้งแต่ทีแรกเลย ท่านบอกเลยนะ พวกเราน่ะลมหายใจทิ้งไปเปล่าๆ จะไปไหนก็แล้วแต่พุทโธๆ ไว้ หายใจเข้าพุท ออกโธ เวลาท่านพูดนะ เวลาคนมีธรรมพูดนะมันสะเทือนใจ ท่านบอกพวกเราน่ะหายใจทิ้งเปล่าๆ

แล้วการหายใจครั้งหนึ่ง มันก็เหมือนกับเราได้ใช้ชีวิตเราหมดไป คือที่เราหายใจ เราหายใจได้เท่าไหร่ ที่หายใจไปก็คือที่มันผ่านมาๆ หายใจทิ้งไปเปล่าๆ นะ แต่ถ้าเราหายใจแล้วมีสติตลอด พุทโธก็ได้หรือกำหนดลมก็ได้ อยู่อย่างนี้ นี่ของดี ท่านบอกมีเวลาทำตลอดเวลา นี่หลวงปู่ฝั้นนะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำประสบความสำเร็จมา ท่านเห็นคุณค่าของมันนะ

แต่ทีนี้พอเราปัญญาชนขึ้นมา เราว่าใช้ปัญญา ใครมาหาเราก็บอกเลย เมื่อก่อนมีลูกศิษย์มาคนหนึ่ง เขาบอกว่าหลวงพ่อนี่ทุกอย่างดีไปหมดเลย เสียอย่างเดียวขาดการบริหารจัดการ ถ้าบริหารจัดการดีๆ หลวงพ่อนี่พุ่งโลดเลย เขาว่านะ ขาดการบริหารจัดการ กูบอกว่ามึงจัดการกิเลสมึงก่อนเถอะ มึงบริหารจัดการกิเลสมึงให้ได้ก่อน คิดแบบโลกไง ไม่ได้คิดแบบธรรม

ถ้าคิดแบบธรรมนะ เราจะมีสินค้าดีแค่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเขาปฏิเสธเขาไม่รับนะ เขาไม่ต้องการนะ สินค้านั้น ของเรานี่เราว่าสุดยอดนะ แต่เขามองมันไม่มีค่าเลย ในมุมมองของเราธรรมะนี่สุดยอดเลย แต่ในมุมมองของเขานะ เหมือนกับภูเขาทั้งลูกจะไปทับเขาเลย แล้วบริหารจัดการ จะบริหารจัดการอย่างไรในเมื่อวุฒิภาวะของจิตมันคนละระดับ ความรู้ความเห็นมันคนละชั้น แล้วมึงจะจูนเข้ามาหากันได้อย่างไร เว้นไว้แต่มึงปฏิบัติขึ้นมา

พอใครปฏิบัติขึ้นไปนี่นะ ทำไมกราบพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจล่ะ คนปฏิบัติแล้วนะ อู้ฮู กราบพระพุทธเจ้านะ หลวงตาพูดประจำ พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร้ พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร มันมหัศจรรย์นะ มันมหัศจรรย์ว่าเรานี่เข้าไปรู้ได้อย่างไร ความรู้สึก ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไร แล้วมันจะรู้ได้อย่างไร อันนี้คือประสาเรา ปัญญาเหมือนกัน รู้ได้เหมือนกัน รู้ได้ด้วยสมองไง ตอนนี้รู้ด้วยสมอง รู้ด้วยการสร้างภาพขึ้นมาให้เป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เป็นอย่างนั้นไม่ได้หรอก

เวลาพูดนี่มันรู้เลย เหมือนเวลาเราเห็นภาพใช่ไหม แต่เวลาไปเห็นที่พื้นที่จริง ไอ้คนเห็นภาพมันก็พูดว่า ศาลาเป็นอย่างนั้นๆ ขนาดนั้นๆ แต่คนที่อยู่เห็นพื้นที่จริงพูดต่างกันเยอะเลย ฟังแค่พูดก็รู้แล้ว แต่เวลาพูดไปก็หาว่าอิจฉาตาร้อน มันก็พูดไม่ออก บางทีจะพูดต้องบอกเลย เฮ้ย กูไม่ตาแดงนะ กูไม่อิจฉาใครนะ แต่วันเวลามันพิสูจน์นะ วันเวลานี่ถึงเวลาแล้วมันจะพิสูจน์กันเอง

โยม ๑ : เพราะเคยไปฟังเทปของเขาเหมือนกันครับ พอฟังไปปุ๊บในจิตมันก็มีข้อสงสัย ข้อโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา ก็เลยไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ครับ

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นบุญนะ มันเป็นบุญหมายถึงว่า จิตเรามันไม่รับไง บางทีเสนอขึ้นมา บางคนรับ บางคนไม่รับนะ ถ้าไม่รับก็บุญของเรา แต่ถ้าพูดถึงของจริงเราไม่รับมันก็บาปของเราเหมือนกันนะ ถ้าเป็นของจริงแล้วเราไม่รับก็บาปของเราเหมือนกัน

โยม ๑ : หลวงพ่อนี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ วางแทบไม่มี

โยม ๒ : เพราะว่าเราฟังท่านทีเดียวเรารู้เรื่องหมดเลย

หลวงพ่อ : อันนี้มีส่วนมาก

โยม ๒ : ก็อยากฟังต่อเจ้าคะ แต่ให้เราไปอ่านหนังสืออย่างนั้นให้เยอะๆ เราไม่ไหวเหมือนกัน แล้วมันเหมือนกลับไปเรียนหนังสือปริญญาโท ซึ่งมันก็อย่างไรไม่รู้หลวงพ่อ ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมเจ้าคะ เราก็ทำของเราไปแล้วมากราบเรียนครูบาอาจารย์

หลวงพ่อ : ใช่ เราทำของเราไป มันเหมือนกับเราฝึกงาน ฝึกให้เป็นขึ้นมา เพราะเราดูอย่างหลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนเป็น ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ ถ้าคนมีการศึกษามา ท่านจะสอนไปอีกอย่าง อย่างพวกที่เรียนมาทางธรรมะ พวกนี้เหตุผลมันมีอยู่แล้ว เพราะเขามีข้อมูลอยู่แล้ว พอมีข้อมูลอยู่แล้ว ในเวลาที่จิตมันเป็นอะไรขึ้นมา มันจะเอาข้อมูลตรงนั้นมาอ้าง ฉะนั้นถ้าเราจะแก้ เราต้องมีเหตุผลเหนือกว่านั้น

เราต้องมีเหตุผลเหนือกว่านั้น เราหักมุม เวลาสอนนี่มันต้องหักมุมไง หักมุมเพราะเหตุผลแล้วเขาก็เห็น เราบอกว่านี่ไงอากาศ เขาก็บอกนี่คืออากาศเหมือนกัน แต่อากาศที่เราหายใจอยู่นี้อากาศเป็นพิษ หรืออากาศสะอาด คนเขาก็ไม่รู้ หลวงปู่มั่นท่านใช้คำนี้ คำว่ามิจฉาหรือสัมมา มันเหมือนกัน ว่างๆ เขาว่าเป็นสมาธิ ก็ใช่สมาธิอยู่ สมาธิมันมีตั้งหลายระดับ ที่ว่าว่างๆ เป็นสมาธิไหม โธ่ เราบอกถ้าสมาธิ ปัจจุบันเราก็มีสมาธิกันอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิก็โรงพยาบาลศรีธัญญาไง อันนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่มีอยู่แล้วมันไม่พอ ไม่พอหมายถึงว่า ทุนเราไม่พอถึงจะทำอย่างนั้นได้

โยม ๑ : แต่พอมีสมาธิ ซึ่งเราดูความคิด พอดูไปปุ๊บพอเรามีสมาธิมันก็ไม่คิดนะครับ มันก็หยุดของมัน

หลวงพ่อ : ใช่!

โยม ๑ : พอจะคอยจ้องมันก็ไม่มี นอกจากมันจะเผลอ

หลวงพ่อ : พออย่างนี้ปั๊บนี่มันไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ก้าวหน้านะ ถ้าเราปล่อยให้มันคิดเลย คิดแล้วจับความคิดเลย จับความคิดว่าคิดนี่คิดเพราะอะไร คิดแล้วมีผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร แล้วเวลามันปล่อย มันปล่อยด้วยปัญญา เทียบดูว่าเราจ้องไว้เฉยๆ กับเราใช้เหตุผลเข้าไปแล้วนี่ ความปล่อยวาง รสชาติต่างกัน ถ้าอย่างนี้ปั๊บมันเกิดปัญญา คำว่าปัญญา ปัญญานั้นมันจะไปลบล้างให้เหตุผลกับการที่ก่อนจะคิด ความคิดก็คือเรานี่แหละ

แต่ถ้ามันมีเหตุผลมา เหมือนกับเรารู้ เราไม่เข้าใจว่านี่เป็นของร้อน เราก็จับอยู่เรื่อย แต่ถ้าเราบอกร้อน ร้อนแล้วไปจับทำไม มันขาดกันที่ปัญญา ถ้าปัญญามันรู้เท่าแล้วใช่ไหม มันจะไปจับก็ตีมันเลย ก็มันร้อน ก็มันมี แต่ถ้ายังไม่รู้ ก็ไม่มีอะไรไปห้าม อาจจะจับ ถ้าเพ่งอยู่เฉยๆ มันก็เป็นอย่างนี้ไง ก็เพ่งอยู่นี่มันไม่มีเหตุผล เราถึงใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเหตุผลของปัญญาอันนั้น เราถึงใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิมันถึงจะเป็นสมาธิ

แต่ไปเพ่งดูมันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน เพราะการเพ่งนี่มันเป็นกสิณที่ทำสมาธิได้อยู่ แต่ถ้าเพ่งอยู่แล้ว ถ้ามันดื้อ เห็นไหม ถ้าคำว่าปัญญานี่มันแก้ไขได้ใช่ไหม ไอ้เพ่งอยู่นี่มันใช้กำลัง อย่างนั้นเขาถึงบอกว่าเหมือนกัน แต่เราว่าไม่เหมือน เพราะถ้าจะเพ่งกสิณให้เพ่งกสิณไป แต่ถ้าเพ่งจิตอย่างนั้น เหมือนเราน่ะ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย อารมณ์ความรู้สึกเรา เราจะคุมได้ตลอดเวลาไหม แต่ถ้าใช้ปัญญาเข้าไป เดี๋ยวดี ดีก็คือเหตุผล ร้ายก็คือเหตุผล เอาเหตุผลนั้นเข้าไปโต้แย้ง เข้าไปควบคุมมัน

โยม ๑ : โต้แย้งในความคิดอันนั้น ว่าความคิดอันนั้นมันกำลังเกิดขึ้นมา เป็นราคะ เกิดโทสะหรืออะไร

หลวงพ่อ : ใช่! เวลาความคิดขึ้นมา คิดขึ้นมาเพราะเหตุใด ผลของมันคืออะไร โธ่ ถ้ามันเห็นผลขึ้นมาแล้ว โทษนะ มันอายตัวเองนะ มึงน่ะบ้า มึงก็บ้าได้ทุกวันเลย แล้วมึงจะบ้าอีกไหม นี่คือปัญญาอบรมสมาธิไง

โยม ๒ : โยมเป็นอย่างนี้ หรือจริตเป็นอย่างนี้ไม่รู้ ไม่ได้นั่ง นั่งนี่มันเต็มที่ก็สบายไงเจ้าคะ ความคิดเหมือนกัน เดินนี่มันจะมีสิ่งผูกมัดให้สู้กัน แต่บางทีท้อใจนะคะ เห็นความเลวของตัวเองเยอะขึ้นเหมือนกัน ท้อใจเลยว่าโหย ยังอีกไกล

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องคิดว่านี่คือมาร ความคิดฝ่ายมารมันเป็นอย่างนี้ เวลาธรรมะมันเกิดนี่นะ มันธรรมะนี่คือการชำระกิเลสของตัวเอง ธรรมะคือการชนะตนเอง โทษนะ เราชั่วขนาดนี้ เราเลวขนาดนี้ เราภาวนาใหม่ๆ เราจะด่าอยู่ตลอดเวลา มึงชาติชั่ว เลวทราม ต่ำช้า เหตุผลมันก็แค่ที่ว่ายับยั้งอารมณ์ความรู้สึกนี้ไม่ได้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านยับยั้งได้ ถ้ายับยั้งไม่ได้ทำไมมึงคิดอย่างนี้

เมื่อก่อนด้วยความคิดของเราตอนปฏิบัติใหม่ๆ เราคิดว่าคนไม่มีความคิดคือมันจืดชืด แต่ความคิดมันเกิดแล้วมันมีอารมณ์ใช่ไหม มันมีรสชาติ มันไม่จืดชืดหรอก แล้วเราจะทำให้จิตเราจืดชืดไง ด้วยความเข้าใจผิด ตอนนั้นไม่รู้ รู้ว่าคนที่ไม่มีความคิดก็คือมันเฉยๆ มันจืดชืด ก็พยายามจะให้มันจืดชืด นี้มันไม่จืดมันมีรส มันมีความรู้สึก ความเข้าใจผิดไง เราเปรียบเทียบหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านทำไมบังคับ ทำไมดูแลใจท่านได้ แล้วทำไมเราดูแลไม่ได้ ท่านก็เป็นคน เราก็เป็นคน ก็ด่าตัวเอง ไอ้ชั่ว ไอ้สารเลว ด่าเจ็บมาก ด่าตัวเอง ในทางจงกรมนี่ล่ะ ๓-๔ วัน ๓-๔ วันนะ ๒๔ ชั่วโมงนี่ด่าตลอดเลย มันโดนต้อนเข้ามุม จิตน่ะ ปัญญามันปะทุเลย ครูบาอาจารย์มึงไม่ใช่ตะเข้นะมึง

ครูบาอาจารย์มึงรู้รสทุกคน แต่ท่านมีปัญญาตัด เข้าใจตามทันเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง ท่านควบคุมคอนโทรลได้ทั้งหมด รูป รส กลิ่น เสียงถึงไม่มีอำนาจเหนือจิตท่าน แต่เราจะให้จิตเราจืดชืด มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอมันรู้ทันพั้บ! มันตัดโช้ะ! จากนั้นมานะมันควบคุมอารมณ์ได้หมด นี่กัลยาณปุถุชน มันเป็นมากับเราเอง แล้วประสบการณ์อันนี้เราเป็นคนตั้งขึ้นมาเอง คือประสาเราว่าเทคนิคของเราเอง เทคนิคอันนี้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เราทำเอง ด่าตัวเองอยู่ ๓-๔ วัน แล้วมันลั่นเลย มันโพล้ะแตกเลย ตั้งแต่นั้นมานะ อารมณ์นี่สบายมาก อะไรมากูก็ยับยั้งได้ทัน เพราะเข้าใจมันไง

มันเข้าใจถึงว่า เพราะเราอยู่ในวงการพระนะ พระนี่หลายองค์ แล้วเห็นว่าเราทำอะไรประสบความสำเร็จแล้วครูบาอาจารย์ท่านเมตตานี่ พระองค์อื่นเขาก็ไม่ค่อยพอใจ เขาก็มีแรงเสียดสีเข้ามา เราก็รู้ทันใช่ไหม เพราะเขาทำเขามีแรงเสียดสีเขาไม่พอใจ เรารู้ทันปั๊บเราก็ปล่อย คือเราไม่ไปตอบโต้เห็นไหม เขาจะทำอะไรมา เรารับรู้แล้วเราก็ คือว่าเราไม่มีอารมณ์ร่วม เราไม่รับรู้ มึงก็ตกอยู่ที่บ้านมึงนั้นน่ะ กูไม่รับของมึง เราทำอย่างนี้ได้นะ แล้วเราก็พัฒนาของเราไปเรื่อยๆ

โยม ๑ : คล้ายๆ กับล้างจิตใต้สำนึก หรือล้างสมอง เปลี่ยนความคิดใหม่อะไรอย่างนี้หรือครับ

หลวงพ่อ : สติทัน ไม่ถึงกับล้างหรอก ถ้าล้างนะจะลึกกว่านั้นอีกเยอะ นี่ยังไม่ทำอะไรเลย นี่แค่พื้นฐานที่เราพูด เพราะมันยังไม่เข้าถึงตัวจิตหรอก พอเข้าถึงตัวจิตปั๊บ จิตเห็นอาการของจิตนี่อีกเรื่องหนึ่ง ที่เขาพูดๆ เขาพูดศัพท์ถูก แต่ความเป็นไปเขาไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเขาอธิบายผิด เขาอธิบายถึงวิธีการ หรือระดับของจิตผิด

พอจิตมันตัดรูป รส กลิ่น เสียงได้ แล้วมันสงบตัวลง แล้วมันเห็นรูป รส กลิ่น เสียง นั่นคือจิตเห็นอาการของจิต รูป รส กลิ่น เสียง ก็คืออาการของจิต คือความคิดกับจิตไงที่กระทบกัน ก็เท่านั้น แล้วพอเราจะบอกว่า ถ้าเราเห็นอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราเข้าใจตัวเรา เรามองสังคมแล้วมันน่าสงสาร น่าสงสารถึงเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของคน แล้วธรรมะนี่มันล้างได้ ธรรมะนี่ โอ้โฮ ถึงว่าสุดยอดมาก

คิดดูสิว่าในความคิดเรา ถ้าเราเป็นธรรมนะ เราจะรู้เลยว่าความคิดเรา หลวงตาจะเน้นย้ำประจำเห็นไหม ไม่ต้องดูใคร ดูใจเรา ความคิดไม่ดีไม่ต้องไปหาที่ไหน หาที่นี่ คนภาวนามันจะรู้ว่า โอ้โฮมันเยอะแยะนัก แล้วเราจะทำอย่างไร แล้วมันเป็นธรรมดาของคนทุกๆ คน โทษนะ กล้าพูดความจริงรึเปล่า กล้าพูดความจริงออกมารึเปล่าล่ะ ธรรมะเวลาเทศน์นะ คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง

โยม ๒ : รักษาฟอร์มยังไงไม่รู้

หลวงพ่อ : ไม่กล้าพูดออกมาเห็นไหม คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง มึงไม่ซื่อสัตย์กับตัวมึงเลยนะ ไม่ซื่อสัตย์เลย ถ้าซื่อสัตย์มันจะเข้ามาที่นี่แล้วสู้กับมัน

โยม ๑ : เมื่อ ๓ ปีที่แล้วมีบางที่ครับ เขาใช้ภาวนาพุทโธ แต่เขาจะให้หายใจแรงๆ นะครับ พุทแล้วก็โธออกแรงๆ เลยครับ ทำไปแล้วบางคนเขาจะมีอาการเกร็งครับ เกร็งแล้วบางทีมันก็มีเสียงร้องเสียงอะไร ผมไม่รู้ว่าโดนอะไรบ้าง แล้วผมก็ทำตามเขา เพราะตอนนั้นไปก็อยากลองว่ามันเป็นอย่างไร มันก็เกร็งเหมือนกันนะ แล้วมันก็เหมือนกับมันขาดโพล้ะไปเลย แล้วมันก็ว่างแบบนิ่งโล่ง แล้วก็บังคับคอนโทรลตัวเองอะไรไม่ได้เลย แล้วทีนี้มันก็มีความคิดเข้ามา มันมีความคิดแปลกๆ บางคนเขาก็บอกว่าเขาโดนไม้ตีหัวบ้างอะไรบ้าง ร้องห่มร้องไห้ลงไปนอนที่พื้นน่ะครับ

หลวงพ่อ : คำว่าพุทโธนี่เป็นพุทธานุสสติ

โยม ๑ : แต่เขาจะหายใจแรง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ผมก็มาคำนวณดูมันเหมือนกับคนเรามันขาดออกซิเจนรึเปล่าครับ

หลวงพ่อ : เราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดว่าพุทโธนี่มันเป็นพุทธานุสสติ แต่คนเอาไปใช้ในทำนองอะไรล่ะ เพราะพุทธานุสสติมันเป็นเหมือนกับ พระพุทธเจ้านี่เป็นสมบัติสาธารณะ ใครก็สามารถที่จะมาอ้างอิงได้ แต่พอทำอย่างนั้น เพราะเราเห็นบ่อย มีพระหลายองค์เขาสอนต่างๆ กันไป ก็ว่ากันไป เราก็ดูนะ เราดูเป็นบางองค์ บางองค์นี่ถ้ามันเข้าหลัก หมายถึงว่าเป็นจริตนิสัยของท่าน อย่างที่ว่าทางใครทางมันนี่แหละ เขาทำของเขาได้

แต่ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติแล้วเข้าถึงหลักเกณฑ์ อย่างเช่นที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า ธรรมดาของความคิดคน มันจะคิดเรื่องชั่วๆ เยอะแยะไปหมดเลย ถ้าเราเข้าถึงหลักเกณฑ์อันนี้ได้แล้ว เราก็เข้าใจถึงว่าจิตของเราเป็นอย่างนี้ปั๊บ คนอื่นเขาก็มีหลากหลาย เราจะเน้นประจำว่า ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นพระที่จริง หรือว่าใจที่เป็นพระจริงนี่ เพราะใจที่กว่าจะเป็นพระได้นี่มันต้องผ่านวิกฤตการณ์ของความคิดของใจนั้นมา แล้วกว่าเอ็งจะเอาชนะมา เอ็งจะทำลายมันได้ มันยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน แล้วเราก็เทียบกลับไปที่จิตของแต่ละดวงที่มันไม่เหมือนกัน

ทีนี้คนที่เป็นความจริงส่วนใหญ่แล้ว เราดูตั้งแต่หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์เรา ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีตายตัว ทฤษฎีตายตัวนี่คือกรอบ พระพุทธเจ้าถึงได้เปิดกว้าง ครูบาอาจารย์ที่เป็นนี่จะเปิดกว้าง เปิดกว้างเสร็จแล้วนะ คำว่าเปิดกว้าง เหมือนเรานี่มีอู่รถ เราเป็นนายช่าง ให้รถเข้ามาเถอะ กูซ่อมได้ทั้งคันเลย แล้วมันจะไปตกใจอะไร คำว่าเปิดกว้างนี่คือเข้ามาแล้วมันแก้ไขได้หมดไง ถ้าคนที่เป็นจริงมันจะแก้ไขจัดการได้หมด แต่ถ้าไม่ได้ปั๊บ แล้วถ้าเอารถเข้ามาในอู่กูนี่ กูซ่อมแต่ยางอย่างเดียว แล้วอย่างอื่นกูไม่รับรู้ นี่ไงทำเฉพาะจุด

แล้วเราเอาอย่างนี้มาเน้น แล้วอย่างเมื่อก่อนสมัยโบราณเรา เรื่องพระนี่เขาจะศักสิทธิ์มาก เขาถือสัจจะ อย่างเช่นใครถือเครื่องรางของขังนี่ห้ามลอดนู้นลอดนี้ เขาถือสัจจะ มันจริงขึ้นก็มาจากสัจจะอันนั้น สัจจะเป็นของผู้ถืออันนั้น

โยม ๑ : แล้วตัวมันจะแข็งตั้งนาน แล้วก็ต้องให้มีคนมาทำ ถึงจะออกมาได้

หลวงพ่อ : จุดขายเขานั่นไง เราอยากจะพูดว่าเป็นไสยศาสตร์เลยล่ะ ส่วนใหญ่แล้วเขาเล่นของกันมันเป็นไสยศาสตร์ แต่เขาจะอ้างว่าเป็นพุทธ ถ้าเป็นไสยศาสตร์ คำว่าไสยศาสตร์ปุ๊บ ชาวพุทธมันรู้อยู่แล้ว ศัพท์นี้คำว่าไสยศาสตร์คือสิ่งที่ไม่ดี แล้วมันจะทำให้คนเข้าไปทำได้ไหม เขาอ้างว่านี่คือปฏิบัติ นี่คืออริยสัจ อ้างไปนู้น

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เรามีพื้นฐาน มาดูตรงนี้ปั๊บนะเราไม่เชื่อเขา เราไม่เชื่อเลยนะ แล้วหลากหลายมาก ประสาเรานะ แค่เราปฏิบัติกันเองมันยังเกือบเป็นเกือบตายแล้ว ถ้าเรื่องนอกลู่นอกทางนะเราถือว่า ไม่เอา ไม่อยากรับ ไม่อยากไปยุ่งกับเขาเลย เขามาอ้างว่าเป็นพุทธ แล้วอ้างว่าเป็นการปฏิบัติ แล้วพวกเราก็เชื่อ เราถึงบอกว่า ชาวพุทธนี่บางทีติ๊งต๊องน่าดู ใครอ้างอะไรก็ไปกับเขาหมดนะ เพราะมันยังไม่เป็นอจลศรัทธา ถ้าเข้าโสดาบันแล้วนะ เรื่องอย่างนี้ขี้หมาเลย เพราะเข้าถึงโสดาบันปุ๊บ มันจะถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่เป็นหัวใจเลย แต่นี้พวกเรานี่มันยังไม่เข้าหลักใช่ไหม มันก็เลยเป็นปลาในแม่น้ำที่เขาเอาเบ็ดล่อ เยื่อไหนมันก็ฮุบหมดเลย พอเขาโยนอะไรมาก็ฮุบ เสร็จ นี่มันเลยกลายเป็นธุรกิจแขนงหนึ่งขึ้นมา

หลวงพ่อ : โยมมีอะไร

โยม ๓ : ไม่มีเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่มีเลยหรอ เวร นึกว่าไปปฏิบัติแล้วมีอะไรกลับมาบ้าง

โยม ๒ : เขาจะเป็นแนวทางมโนมยิทธิอะไรอย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่หรอก มโนมยิทธินี่นะ ตามหลักเกณฑ์ ความจริงมโนมยิทธิมันมีในพระไตรปิฎก มโนมยิทธิมันมาสายของพระโมคคัลลานะ คือเจโตวิมุตติ เพราะว่าในมโนมยิทธินี่เข้าฌานสมาบัตินะ แล้วออกมาวิปัสสนานี่มันจะไปได้ แต่คนต้องมีพื้นฐานไง เพราะเข้าฌานสมาบัตินี่มันจะว่างมีความสุข ในณานสมาบัติเห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สมาบัติ ๘ นี่พอจิตมันเข้าสมาธิ เราจะบอกว่าเป็นสมาธิ ๘ ระดับ

ทีนี้คำว่าสมาธิ ๘ ระดับ ความละเอียดของสมาธิแต่ละระดับนี่มันแตกต่างกัน มันมีความสุขขนาดไหน แล้วเราเข้าสมาธิเรายังว่าง เรายังมีความสุขเลย แล้วความว่างอีก ๘ระดับ คนที่เข้าไปนี่มันจะมีความผิดพลาดคิดว่าตัวเองเป็นนิพพานไหม ความว่าง ๘ ระดับ ความเป็นสมาธิถึง ๘ ระดับ แล้วมีความชำนาญมาก เข้าออกเชี่ยวชาญมาก เราจะบอกว่าส่วนใหญ่พอเข้าสมาบัติแล้ว จะเข้าใจว่าสมาธินี้คือนิพพาน มันถึงออกมาวิปัสสนาได้ยากมาก

แล้วเราฟังอยู่นี่จะมีพวกโยมมาหากันมาก เวลาพรรคพวกเขาบอกว่า คนนั้นได้สมาบัติ คนนี้ได้สมาบัติ แล้วมาพูดนะ เราฟังแล้วติ๊งต๊องหมดเลย คือสมาบัติที่เขาสร้างกันขึ้นมาเอง กำหนดสี กำหนดเพ่งสีแล้วเป็นสมาบัติ เราบอก โห สีนี่เป็นสมาบัติได้หรอ คือตัวเองไม่ได้เป็นสมาบัติอะไรเลย แต่เข้าใจว่าเป็นสมาบัติ เราจะบอกว่าการเข้าสมาบัติ แล้วที่ว่าติดในความว่างอันนี้มันละเอียดกว่าที่เอ็งคาดหมายกันเยอะนัก ฉะนั้นพอคนเคยเข้าสมาบัติอะไรต่างๆ แล้วมันจะติดในตัวมันเอง

ถ้ามโนมยิทธินี่มันต้องเอาตัวนี้เป็นพื้นฐาน คือคำว่าสมาบัตินี่จิตมันจะมีแรงมากเจโตวิมุตติคือจิตมันมีกำลังของมันมหาศาลเลย แล้วถ้าออกไปพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนะ ทะลุเป็นพระอรหันต์เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ออกไปพิจารณา มันจะติดตัวมันเอง มันคิดว่าตัวมันเองเป็นไง อย่างเรานี่เรามีเงินเยอะแยะเลย กูนี่เศรษฐีมหาเศรษฐีเรื่องเงินกูกองเลย กูนอนอยู่กับเงินกูนี่ กูไม่ไปไหน เพราะกูห่วงเงินกู แล้วมันได้ห่าอะไรขึ้นมา

เออถ้ากูมีเงินเยอะแยะเลยนะ กูใช้บริหารจัดการนะ กูจะทำธุรกิจนะ เดี๋ยวเงินมันก็เพิ่มมากขึ้นมา ส่วนใหญ่ติดตรงนี้ แล้วเวลาไปเห็น อย่างที่ว่าจะไปเที่ยวนิพพงนิพพาน เราพูดประชดบ่อย ถ้าไปเที่ยวนิพพาน กูไปแล้วกูไม่กลับ จะไปเที่ยวนิพพานกัน ไปแล้วกูไม่กลับ ไอ้นี่ไปนิพพานกันแล้วกลับมาเยอะแยะเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

อันนี้อย่างสิ่งที่เขาทำไปเขาก็ทำกันไปใช่ไหม นี่พูดถึงมโนมยิทธิ แล้วยิ่งอาการอย่างนั้นด้วยนะ อาการอย่างนั้นก็ว่ากันไป แต่เขาทำถึงว่าเป็นของที่มีคุณค่าขึ้นมานี่ มันก็ อืม ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่ เวลาธรรมะพูดนะ โคนำฝูง ถ้าโคนำฝูง โคหัวหน้าฝูงฉลาดจะพาฝูงโคออกจากวังน้ำวนขึ้นฝั่งหมด ถ้าโคนำฝูงโง่นะจะพาฝูงโคนั้นลงสู่วังน้ำวน วังน้ำวนก็วังน้ำวนในวัฏฏะไง โคฝูงนั้นคือศรัทธากลุ่มนั้น แล้วมันจะไปไหนกัน มันก็ลงสู่วังน้ำวนดูดลงไป

แต่ถ้าโคฉลาดเขาจะไม่เข้าไปใกล้วังน้ำวน เขาจะพาฝูงโคออกจากวังน้ำวน นี่คำของพระพุทธเจ้าสมัยโบราณยังไม่มีเทคโนโลยี ยังไม่มีอะไรเลย มันก็อาศัยเราข้ามน้ำข้ามทะเล ก็ต้องทำกันอย่างนี้ แล้วจุดน้ำวนจุดต่างๆ เรารู้เราเห็นกันอยู่ ธรรมะอย่างนี้เอามาเทียบนะ เราถึงว่า หัวหน้าคนๆ หนึ่งหรือผู้มีศักยภาพใครคนหนึ่ง แล้วสร้างขบวนการอะไรขึ้นมาแล้วมันพาให้ผู้ที่ติดร่างแหนี้ไป โอฆะแม่งน่ะ ในวัฏฏะมันจะดูดอยู่อย่างนั้น

วัฏฏะ วิวัฏฏะ ธรรมนี้ให้ออกจากวัฏฏะ ออกจากวังน้ำวน ออกจากวัฏฏะที่หมุนเวียน เราจะพาตัวเราออกกัน ไม่ใช่หมุนเข้าไปหามัน เวลาธรรมะนะ เวลาเอาธรรมมะมาตรึกนะ แล้วมาพิจารณานะ แล้วเราก็เป็นโคตัวหนึ่งจะไปตามฝูงเขา เห็นเขาไปฝูงใหญ่ อู้ย ฝูงนี้ใหญ่คนเยอะโอ๊ยดีฉิบหายเลย ฝูงใหญ่ก็ดูดไปหายหมดทั้งฝูงไง ฝูงเล็กฝูงใหญ่ก็แล้วแต่ ใช้ปัญญาเราเทียบสิ

เราก็เคยเป็น เมื่อก่อนก่อนบวชเราก็ไป มันมีที่ไหนเราไปทั้งนั้น ก่อนบวชน่ะ แล้วเราไปพิจารณา มันแปลก เราฉุกใจขึ้นมา บอกว่าพอบวชแล้วต้องบิณฑบาตกับเทวดงเทวดาอย่างนี้ เราคิดในตัวเราเองเลยว่า ถ้ากูบวชนี่กูตายแน่ๆ เลย เพราะหมาอย่างกูนี่แม่ง เทวดาไม่ใส่บาตรแน่ๆ ถ้ากูบวชแล้วนะ กูตายแน่ๆ เลย กูอยู่ไม่รอดหรอก เพราะกูจะไปบิณฑบาตกับเทวดาที่ไหน แล้วพอมาศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น เออ อย่างนี้กูทำได้

เพราะเขาพูดกันอย่างนั้น ธรรมคำสอนของเขานะ ประวัติเราอ่านหนังสือเขาอยู่ เราศึกษามาเหมือนกัน เพราะก่อนบวชเราแสวงหา พอแสวงหาไปแล้วเราใช้ตรรกะของเรา ถ้ากูบวชอย่างนี้ กูทำอย่างนี้นะ กูอดตายแน่ๆ เลย ไม่มีใครมองกูหรอก ความชั่วกูเต็มตัวใครจะมายุ่งอะไรกับกู แต่ถ้ากูอยู่กับหลวงปู่มั่น เอออย่างนี้กูไปได้ เราเลือกเองนะ เราเลือก เราใช้ตรรกะเรานี่เลือก

แล้วเรามาบวชทางนี้ เหตุที่บวชก็แบบว่า ทางบ้านทางอะไรมันก็ มันเหมือนเราต้องมาทางนี้ เพราะคนขัดขวางไม่ให้เราบวช พ่อแม่ไม่ให้บวชหรอก แม่ก็ไม่ให้บวช พ่อก็ไม่ให้บวช เพื่อนฝูงนี่แม่งค้านหัวชนฝาเลย ไม่มีใครสนับสนุนให้บวชสักคน มีแต่คนขัดขวางนะ มันก็ดันทุรังของมันไปได้ล่ะ มันเหมือนเกิดจะลองดี ลองของ ดันของเราไปเรื่อย ถ้าเล่าประวัติเราตอนจะบวช โห ทุกคนฟังแล้วเศร้าใจ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย คือไม่มีใครสนันสนุนเลย ไม่มีใครโอเค มีแต่คนขัดขวาง มีแต่คนขัดแย้งไปหมด แต่มันก็ดันของมันมาจนได้ เพราะมันอยู่ในสังคมไง

ถ้าอย่างนี้วันนี้มีเท่านี้ มีอะไรอีก วันนี้ไม่มีคนแย่งพูดนะ ถ้าเวลาคนเยอะ คนแย่งพูดแล้วอด

โยม ๑ : เราภาวนาพุทโธไปนี่นะครับ เราเดินหรือการทำงาน บางทีเราเดินๆ ไปเราก็พุทโธไปเรื่อยเลย บางทีมันก็พุทโธผุดขึ้นมาเองอย่างนี้ มันเหมือนกับเราขาดสติรึเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ไม่ ถ้าพุทโธผุดขึ้นมาเอง มันจะขาดสติได้ยังไง พุทโธผุดขึ้นมาเองนี่ของดี ก็เราอยากได้พุทโธอยู่แล้วใช่ไหม แล้วนี่มันขึ้นมาเอง เวลาอยากได้พุทโธมันไม่มานะ เวลาเผลอๆ มันโผล่มาเลย อันนี้เราจะบอกว่าของดี แต่มันเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นเรื่องของกิเลส มันมีลูกศิษย์บ่อยมากเลยจะมาถาม บอกว่าหลวงพ่อ กลางคืนตื่นเช้าขึ้นมานั่งภาวนานี่มันไม่ดีเลย ภาวนาอย่างไรก็ไม่ลงนะ แต่พอใกล้ๆ เวลาหุงข้าวใส่บาตพระนี่แหม ภาวนาดีอย่างนี้เลย มันก็เลยบอกหนูจะไปภาวนาต่อหรือจะไปหุงข้าวใส่บาตรดีล่ะ

คนจะถามอย่างนี้เยอะมากเลย เราบอกว่าก็ลุกไปใส่บาตรสิ เวลาเราภาวนานี่มันไม่ดีเลย เห็นไหม แต่พอถึงเวลาจะลุกขึ้นหุงข้าวใส่บาตร มันก็ดันดีมากเลย มันดีเพราะอะไรรู้ไหม ดีเพราะกิเลสไง ถ้าลุกไปแล้วมันต้องทำงานเหมือนกัน ต้องไปหุงข้าวใช่ไหม กว่าจะใส่บาตร อันนั้นก็เป็นความดีอันหนึ่ง ภาวนานี่มันดีกว่า แต่พอเวลากิเลสมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ ถ้ามันจะดีมันก็ต้องดีตั้งแต่ภาวนามาทีแรกสิ ภาวนามาทีแรกทุกข์เกือบเป็นเกือบตายเลย แต่พอเวลาจะต้องลุกขึ้นไปหุงข้าวนี่แหม มันกำลังดีเลย ไม่อยากลุกเลย เราถึงบอก ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปนี่กิเลสมันก็จะต่อรองกับเราได้

เวลาเราภาวนา ความชั่วของเราเองมันจะต่อรองกับเรา ถ้าจะทำความดีนะ มันก็มั่วซะให้ไม่ดี พอจะทำความดีอย่างอื่นนะ มันบอกอันนี้ดีกว่า อันนี้เหมือนกัน เวลาเราภาวนาพุทโธนี่มันไม่มาหรอก แต่เวลาอยู่ดีๆ มันเกิดพุทโธขึ้นมาเอง แต่ของมันก็ของดี พุทโธนี่มันดี ทำดีอย่างนี้อย่างนั้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาเองล่ะ มันเกิดขึ้นมาเองเพราะอะไร เพราะสัญชาตญาณของเราเรากำหนดพุทโธอยู่แล้ว เราอยากดีขึ้นมา

กิเลสนี่นะมันบังเงา มันเอาความดีมาหลอก ถ้าไม่เอาความดีมาหลอก ทำไมพระติดสมาธิ ทำไมพระติดว่านี่เป็นนิพพาน เวลามันจะหลอกเรา ถ้าเราเป็นโจร เป็นมหาโจร มันก็บอกปล้นน่ะดี แต่พอเวลาเราเป็นนักปฏิบัติ เราบอกว่านี่นิพพาน นี่ความว่าง นี่หมดสิ้นกิเลส ความจริงไม่ใช่เลย คือมันเอาความดี คิดว่าสิ่งที่ดีมาล่อเราหลอกเรา ฉะนั้นถ้ามันเป็นนิพพาน นิพพานเป็นอย่างไร ถ้ามันว่าง ว่างอย่างไร ถ้าคนมีปัญญาอย่างนี้ คนมีความคิดอย่างนี้มันเอาตัวรอดได้

คนเวลาเกิดอะไรขึ้นมา เชื่อไปหมดเลย ไม่ได้ แต่นี้คำว่าพุทโธเกิดขึ้นมานี่มันดี พอมันดีขึ้นมาเราบอก อ้าว เวลานั่งทำไมมันไม่ดีล่ะ ถ้ามันไม่มีการโต้แย้งกับการทำดีอย่างอื่นนะ อย่างที่เกิดขึ้นมานี่เราว่าดี แต่ถ้าแบบว่า เราจะทำงานอย่างอื่นต่อไปที่มีความดี มันจะเอาอย่างนี้มาล่อ กิเลสของเรามันจะขัดขาเราเอง เวลาปฏิบัติ ธรรมะไม่มีโทษภัยกับใครเลย กิเลสของเรานี่มีโทษภัยกับเราเอง มันขัดแย้งกับเราเอง

ถ้าเวลามันมีโทษนี่ก็คือว่า มาร อวิชชาที่พาเราเกิดนี่แหละ มันจะครอบงำ มันต้องการให้จิตดวงนี้อยู่ใต้อำนาจของมันตลอดไป ถ้ามันครอบงำจิตดวงนี้ได้มันก็มีที่อาศัย เหมือนบ้านเรา อย่างเราโดนคนฟ้องล้มละลายจะยึดบ้านกูไป โอ้โหยเสียดายน่าดูเลย นี่เหมือนกัน ถ้าธรรมะชนะมัน ต้องยึดบ้านมัน มันไม่มีที่อยู่ ฆ่ากิเลสตาย ภพ สถานะของจิตนี้เป็นที่อยู่ของกิเลส แล้วมันจะยอมปล่อยให้เราเป็นอิสระ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้นเราจะทำดีขนาดไหน มันเอาความดีมาล่อ แต่ไม่ใช่เนื้อแท้ของความจริง เอาความดี เอาสิ่งที่เป็นเป้าหมายเรามาล่อ

โยม ๑ : มันหลอกอีกทีหนึ่ง

โยม ๒ : แต่เราก็ต้องไปอย่างนั้นก่อนไม่ใช่หรือคะ

หลวงพ่อ : ใช่ๆ แต่นี่เราพูดถึงเทคนิคไง เราพูดถึงว่าเรารู้ทันไง ไม่งั้นมันก็กันหลอกไปอย่างนี้ มันหลอกนะ หลอกอย่างไรล่ะ ถึงเวลาแล้วทุกคนจะเจอ เล่ห์เหลี่ยมของมัน

โยม ๒ : แล้วอย่างนี้รึเปล่าเจ้าคะที่ครูบาอาจารย์บอกว่าให้เอาตัณหาละตัณหา ที่ครูบาอาจารย์ชอบสอนกันอย่างนี้รึเปล่าเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ไม่เคยได้ยินเลย

โยม ๒ : แล้วโยมก็ได้ยินมา ว่าให้เอาตัณหาละตัณหา

หลวงพ่อ : เดี๋ยวก่อน พระที่ไหนสอน

โยม ๒ : อ่านหนังสือเจ้าค่ะ สายพระป่านี่เจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่มีหรอก ถ้าเอาตัณหาละตัณหานะ เราที่มาบวชกันนี่เราถือพรหมจรรย์เพราะเราพยายามจะหลีกห่างออกจากมัน ถ้าเอาตัณหาละตัณหานี่ ประสาเราเลยนะ หลวงตาท่านเทศน์อย่างนี้ เราจะดับไฟด้วยการใส่ฝืนเข้าไป มันจะดับไหม เราจะดับไฟด้วยการโถมใส่ฝืนเข้าไป การดับไฟต้องชักฝืนออก มีแต่ชักฝืนออก ถ้ามันไม่มีเชื้อไฟ ไฟจะติดอะไร

ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นไฟของกิเลส มันเป็นเหยื่อล่อให้กิเลสมันพองตัวตลอดเวลา ถ้ามันเป็นตัณหาแก้ตัณหาได้นะ มันก็เหมือนสมัยโบราณ มันมีลัทธิหนึ่ง เสพสุข ๕๐๐ ชาติแล้วจะเป็นพระอรหันต์ เป็นไปได้ไหม มีนะ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไปเจอลัทธิเยอะแยะไปหมดเลย อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันมีไปหมดเลย ลัทธิไหนเขาก็ทำกันอย่างนั้น เสพสุขอย่างเดียว เขาบอกว่า ๕๐๐ ชาติแล้วจบ มันเป็นไปไม่ได้

ถ้าจะพูดโดยว่าเอาตัณหาแก้ตัณหา เพราะเขามีกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเกลือจิ้มเกลือ พวกเราปฏิบัตินี่เราจะไม่ไว้ใจเรื่องนี้เพราะอะไรรู้ไหม เราถึงบอกว่า ทะเลถมไม่เต็ม ถ้าตัณหาแก้ตัณหา เราไปเสพสุขกับตัณหา คิดดูว่าเราจะออกจากตัณหาไหม คือทุกคนมันติดในรส มันติดในความพอใจอันนั้น มันจะถลำตัวไปเรื่อยๆ จริงไหม แล้วมันจะถอนขึ้นมาได้อย่างไร

เหมือนเราเล่นไพ่เพื่อจะไม่เล่นไพ่ มันจะเป็นจริงไหม เราเล่นการพนันเพื่อจะหยุดการพนัน ไม่มีจริงหรอก เวลาคนสอนแล้วมันทำให้คิดนะ ถ้าใครพูดอย่างนี้ปั๊บ ทำให้คิดเลย คิดถึงว่าคนสอนนี่วุฒิภาวะมันแค่ไหน

โยม ๑ : มันดับได้ชั่วคราวแล้วมันก็เกิดขึ้นใหม่ครับ

หลวงพ่อ : ไม่ได้หรอก ก็เหมือนทางโลกไง เห็นคนกินเหล้าไหม กูไม่กินอีกแล้วล่ะกูพอแล้ว แม่งพรุ่งนี้กินอีกแล้ว นี้มันแปลกอยู่ แต่นี้เวลาเราพูด เราพูดอย่างนี้ เวลาเทศน์บ่อยนะ กุศลทำให้เกิดอกุศล อกุศลทำให้เกิดกุศล ไอ้นี่เขาไม่ใช่ว่าตัณหาแก้ตัณหา คือพระเทวทัตจ้างนายช่างธนูไปยิงพระพุทธเจ้า ๔ คน แล้วก็จ้างอีก ๔ คนไปเก็บไอ้คนที่ยิงพระพุทธเจ้ามาก่อน ทำอย่างนี่ ๔ ช่วง

ทีนี้พอวางคนเสร็จปั๊บ พระพุทธเจ้าเห็นคนจะมาฆ่า ๔ คน พระพุทธเจ้าก็เทศน์สอน เพราะพระพุทธเจ้ารู้ด้วยอนาคตังสญาณ รู้หมดแล้ว เทศน์สอน ๔ คนนั้น จน ๔ คนนั้นขอบวช และปฏิบัติพระพุทธเจ้า ไอ้ ๔ คนที่จะรอฆ่า ๔ คนนี้ มันก็ไม่มาสักที มันก็ตามไป เพราะมันรอจะตัดตอนกันไง ก็ตามไปเจอพระพุทธเจ้าก็เทศน์อีก ๑๖ คนนี้บวชหมดเลย เห็นไหมจะไปฆ่าเขา

มันเพราะจิตมันโดนเข้าไปเห็นไหม อกุศลทำให้เกิดกุศล คิดจะไปฆ่าพระพุทธเจ้า แต่ได้บวชเป็นพระหมดเลย แล้วเป็นพระที่ได้สำเร็จด้วย แล้วอย่างดูสิเวลาไปทำดีกันเห็นไหม ไปหาพระหาเจ้านี่กุศลทั้งนั้น ดูเทวทัตสิบวชเข้ามาใหม่ๆ กุศลไหม แล้วทำไมเกิดอกุศลล่ะ ใจเรานี่มันโลเล มันกลับกลอก ถ้าอย่างนี้มันกลับกลอกด้วยตัวมันเอง แต่เราต้องบังคับ แต่ถ้าบอกว่า เล่นไพ่เพื่อจะเลิกเล่นไพ่นี่เราว่ามันเป็นไปไม่ได้

ทีนี้ถ้าคนสอนอย่างนี้ปั๊บ ประสาเรานะ ถ้าคนนั้นทำได้จริง คนนั้นต้องแบบว่าคนที่มีคุณภาพมาก แล้วเวลาคิดถึงสังคมไทย มีคนมีคุณภาพอย่างนั้นไหม มันก็เหมือนเราเอาเด็กอ่อนๆ มาฝึกฝน เด็กหมายถึงว่าวุฒิภาวะของจิตนะ จิตอ่อนแออย่างนี้เข้าไปนะเสร็จหมดเลย ถ้าเข้าไปติดกับอย่างนี้เสร็จหมดเลยจริงไหม แล้วเข้าไปติดกับที่เขาสร้างภาพสร้างสังคม

มันมีนะ ลูกศิษย์คนหนึ่งเราเสียดายมาก เป็นเศรษฐีอยู่ทางใต้ แล้วเขาไปปฏิบัติกัน มันมีสำนักหนึ่ง อยากเป็นพระโสดาบันไหม ถ้าอยากเป็นพระโสดาบันก็สละออกให้หมด คือไม่ติด ใครมีสมบัติต้องสละเป็นส่วนกลางให้หมดเลย ถ้าสละหมดตัวก็เป็นพระโสดาบัน เป็นส่วนกลางแล้วไง กูดูเอง

โยม ๒ : คนดูก็ไม่ใช่โสดาบัน

หลวงพ่อ : นี่มีของจริงด้วยนะ แล้วเขาเสียสละกันนะ เสียสละเอาของเขาเป็นส่วนกลาง เขาบอกไม่ยึดติด เสียสละ โอนหมดนะ สมบัติมีเท่าไหร่โอนเป็นส่วนกลางหมด ก็เหมือนดูสิที่เขาหลอกกันเห็นไหม ที่ว่าเขาตกทองหลอกกัน ที่เงินโอนๆ มา อย่างนี้เขาก็เชื่อกัน เราสงสาร แล้วเขามาพูดให้ฟังนะ เราพยายามจะเตือนสติเขา คือเราเห็นแล้วว่าพฤติกรรมอย่างนี้มันไม่ถูกต้องหรอก แล้วต่อไปมันจะมีปัญหา สุดท้ายตอนหลังก็เห็นว่ามีปัญหาจริงๆ น่าสงสาร แต่เพราะความเชื่อของเขา เขารู้จักเราเหมือนกัน แต่ธรรมดามาหาเรามันไม่สนุก ใครจะให้มาหาเรา หลวงพ่อเบื่ออย่างเดียว ทุกคนกลัว โดนด่ากับโดนด่า โทษนะ กูก็โดนหลวงตาด่ามาก่อน กูก็โดนด่ามา โอ้โฮ เละเลยล่ะ

โยม ๒ : โดนด่านี่มีความเมตตาสูงครับ

หลวงพ่อ : กูก็โดนด่ามาก่อนไง มันจะไปโอ๋กันอยู่อย่างนั้นไม่ได้ แต่คนไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดแต่จะโอ๋กัน ถ้าโอ๋กิเลสมันก็อ้วนๆ

โยม ๒ : บางทีถ้าเกิดเราไม่มีความเพียร วันนี้ขี้เกียจนั่ง อย่างนี้เราหลอกตัวเองได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ อุบาย เราใช้อย่างนี้บ่อย เวลามันไม่เอาอย่างนี้ โธ่ บางทีมันหัวชนฝาเลยนะ แต่นี้เราคิดของเราเองไง ถ้าเราหัวชนฝานี่มันก็เหมือนกับมวยพักยก มันมีเวลาว่างนี่เดี๋ยวกิเลสมันจะอ้วน เพราะการปฏิบัติมันต้องต่อเนื่องไง เรานึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงหลวงปู่มั่น เวลาฟังหลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาหลวงปู่มั่นน่ะทุกข์อยากมาก ไปอยู่ที่ไหน เมื่อก่อนยังไม่มีศาสนา ศาสนามีอยู่ แต่คนยังไม่เข้าใจเรื่องพระป่า ไปอยู่ที่ไหนก็โดนไล่นะ

หลวงปู่มั่นนี่โดนไล่โดนรังแกมาตลอด แต่ท่านก็ดูใจท่าน ท่านเห็นเป็นความสมเพช เพราะท่านถือว่าคนที่ไล่ไม่รู้เรื่อง ท่านก็รักษาตัวท่านเอง ใครจะว่า ใครจะอย่างไรท่านก็เก็บของไป ท่านไม่สนใจกับใครนะ คิดดูสิสมัยที่ยังไม่มีใครเชื่อมั่นในเรื่องมรรคผล ไม่มีใครสนใจหรอก แล้วเห็นคนทำอย่างนี้เป็นคนบ้าด้วย แล้วคิดดูท่านต้องมุมานะของท่านเอง เรามาคิดถึงเวลาความทุกข์ยากของท่าน มันทำให้เรา เฮ้อ ความทุกข์มึงแค่นี้

ความทุกข์ของพวกเรานี่ขี้ตีน มันทำให้เราฮึด เราใช้อย่างนี้ประจำ เราใช้ครูบาอาจารย์ที่ท่านทุกข์ยากมาเป็นแบบอย่าง แล้วทำให้เราฮึกเฮิมขึ้นมา บอกเลยนะ อย่างเรานี่นะเหมือนมวยมีพี่เลี้ยง คนนู้นก็ให้น้ำ คนนี้ก็ให้น้ำ คนนู้นก็นวดเฟ้น มึงยังไม่เอาเลย เวลาหลวงปู่มั่นไม่มีพี่เลี้ยงเลย ชกกับกิเลสสดๆ ไม่มีใครช่วยสนันสนุนเลย แล้วเวลาท่านพูดขึ้นมา หลวงตาท่านบอกท่านฟังนี่บางทีน้ำตาไหลเลย นี่คนจะเอาชนะตัวเองทุกข์ขนาดนี้

แล้วศักยภาพของหลวงปู่มั่นเหมือนกับพระพุทธเจ้า ศักยภาพของพระพุทธเจ้าสร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา ยังต่อสู้ขนาดนี้ หลวงปู่มั่นท่านก็บอกท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์มาเหมือนกัน ท่านยังต้องต่อสู้ขนาดนี้ แล้วใครมาบอกเรียบง่ายๆ ทางลัดๆ คุณภาพของจิตมันไม่มี คุณภาพคือวุฒิภาวะของจิตที่สร้างมา มันไม่มีคุณภาพขนาดนั้นไง

เหมือนเพชรที่เขาขุดมาจากดินเห็นไหม ขุดมาจากเหมืองมันจะมีน้ำเพชรของมันเขาจะเอามาเจียระไน มันจะสวยอย่างนี้เลย แต่นี้คุณภาพของมันเป็นหิน แล้วบอกจะเจียให้เป็นเพชร มันจะเป็นไปได้อย่างไร กูไม่เชื่อเลยนะ เราไม่เชื่อ ไม่เชื่อ นี่พูดถึงเวลามันทุกข์มันยาก เราจะใช้อย่างนี้ปลุกเร้าเราตลอด เราพูดกับพวกพระก็เหมือนกัน สมัยที่เราอยู่กับหลวงตา หลวงตานี่ท่านจะสปาร์คตลอด ช็อตตลอด ไฟนี่มันจี้ปื้ด สะดุ้งเลยล่ะ เดินไม่มีสติท่านก็ด่า ทำอะไรท่านใส่ตลอดเวลา ทำให้เรานี่ อู้หู มันทำให้เราคึกคักนะ

ทีนี้พอเราออกมาอยู่กันเอง เราเกรงใจ เราไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก ไอ้คนไหนยังไง มันก็ทำให้เฉื่อยชา นี่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เราก็ต้องปลุกเร้าเราเอง เรานี่ปลุกเร้าเรื่องอย่างนี้ตลอด โธ่คนภาวนามามันรู้ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้นใครไม่เบื่อ มันจะบ้าหรือ ถ้าไม่เบื่อ โกหก เบื่อฉิบหายเลย แต่ต้องทำ

โยม ๑ : แต่ทางโลก สภาวะเป็นอยู่แต่ละวันมันก็ลำบากอยู่นะครับ

หลวงพ่อ : คนมาใหม่ๆ ส่วนใหญ่มันจะสดชื่น เข้ามาบวชใหม่จะสดชื่น คือว่ามันพึ่งเห็นโทษเห็นภัยมา แต่พอมาอยู่จนใจมันด้านขึ้นมา ไอ้นี่ก็เบื่อเว้ย กลับไปอย่างในอดีตดีกว่า แต่ถ้าออกจากทางนู้นมาใหม่ๆ นะ มันจะเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นถึงว่าคนมีสติ เวลาเราไปบิณฑบาต บางทีบิณฑบาตไป โทษนะเห็นครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เราบอกนี่ไงเทศน์กัณฑ์ใหญ่เลย มันมีปัญญา

เราบิณฑบาตไปนะ ถ้ามีความสุขอะไรก็เออชั่วคราว ไอ้พวกนี้เดี๋ยวมันก็อนิจจัง แต่ถ้าทะเลาะเบาะแว้งมันจะขึ้นเลยนะ นี่ดูสิอย่างนี้เอาไหม นี่คนมีปัญญา มีอะไรปั๊บมันจะน้อมกลับมาเลย มันก็เป็นอย่างนี้ สมมุติว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น คิดแล้วทุกข์ตายห่าเลย เวลาบิณฑบาตไปถ้ามีปัญญาจะเห็นนะ เห็นคนทุกข์คนยาก คนลำบากลำบน แล้วเราล่ะ ถ้าเราคิดอย่างนั้นปั๊บมันทำให้เรามั่นคง เราจะไม่ไปกับเขา ไม่มีอะไรจบแล้วนะ จบ