ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติปัฏฐานสี่ของพระป่า

๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

สติปัฏฐานสี่ของพระป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ :อ้าว! ว่ามาเลย ปัญหาขึ้นเลย

โยม :(เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ :เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเนาะ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เพราะคนมาถามตรงนี้กันมาก เพราะห่วงสติปัฏฐาน ๔

เราถึงบอกว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ เราใช้ชื่อว่าสติปัฏฐาน ๔ แต่เราบอกว่าเนื้อหาสาระของสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ เนื้อหาสาระ ถ้าเนื้อหาสาระของสติปัฏฐาน ๔ เหมือน เช่น เราทำงาน หรือเราทำธุรกิจ ผลตอบแทนต้องเป็นเงิน ต้องเป็นผลตอบแทน ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีผลตอบแทน

สติปัฏฐาน ๔ ถ้าการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม โดยความถูกต้อง มันจะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีขึ้นไป ผลตอบแทน

แต่เราปฏิบัติกันนี่เราจะไม่มีผลตอบแทนกันเลย เพราะทุกคนปฏิบัติทั่วประเทศไทยเลย แต่คนที่ได้ผลเป็นโสดาบันโดยความเป็นจริงนะ เราว่ามี นับหัวได้เลย

แต่โดยที่ไม่ใช่เป็นตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ กันทั้งนั้นเลยที่ปฏิบัติกันอยู่ในส่วนใหญ่ของสังคมไทย ว่าปฏิบัติโดยสติปัฏฐาน ๔ แต่ปฏิบัติแล้วนะ เป็นอย่างไร ได้อะไร คือตัวเองไม่เข้าหลักไง ถ้าไม่เข้าหลักคือตัวเองสงสัย ตัวเองสงสัย ตัวเองไม่เข้าใจ ตัวเองต้องถามปัญหาอยู่ตลอดไป เหมือนเราเป็นไข้ ถ้าเรารักษาตัวเองไม่ได้เราต้องวิ่งหาหมอตลอดไป เจอหมอคนไหนก็ “หนูเป็นอย่างนี้ หนูเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้” ให้หมอรักษา แต่ถ้าเราไม่เป็นไข้ เราหายจากไข้ หมอกับเราไม่จำเป็นเลย หมอก็คือหมอ หมอจะไว้รักษาคนไข้ แต่เราหายจากไข้ เราไม่มีไข้ เราจะไปหาหมอทำไม

ถ้าคนจะปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ โดยตามความเป็นจริง ถ้ารู้สติปัฏฐาน ๔ โดยตามความเป็นจริง กาย เวทนา จิต ธรรม

เห็นกาย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย

เวทนาในเราไม่มี เราไม่มีในเวทนา

จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต

ธรรมไม่ใช่เรา ธรรมคือสภาวธรรม แต่ธรรมแท้ๆ เป็นธรรมของเรา

นี้คือผลตอบแทนของสติปัฏฐาน ๔

เราถึงบอกว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ พูดกันว่า “ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔” แต่การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั้นไม่เข้าหลักความเป็นจริงของสติปัฏฐาน ๔ เลย เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราพูดเรื่องนี้ แล้วเราอธิบายยาวมาก เพราะเราต้องการให้มันเป็นหลักฐาน

ว่า สติปัฏฐาน ๔ ผลของมัน ผลของการสติปัฏฐาน ๔ ผลของมัน อย่างเช่น เรากินข้าว ผลของมันคืออิ่ม เรากินข้าวเสร็จแล้ว ตอนนี้นั่งสบายเลย ไม่หิว ถ้าตอนเช้าไม่ได้กินข้าว นั่งคุยกันนี่ทุกคนไม่อยากฟัง จะกินข้าวก่อน ผลของการกินข้าวคือท้องอิ่ม ผลของการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ผลของมันต้องให้ผลเป็นอริยภูมิในหัวใจของเรา แต่มันไม่มี

ทีนี้ เราจะบอกว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีพื้นฐาน อย่างเช่น เราจะทำงาน เราจะทำงานกัน เรามีความรู้ไหม เรามีการศึกษาอะไรมา เราจะทำงานอะไร ก่อนจะทำงานมานี่เราต้องมีการศึกษานะ เราต้องมีวิชา เราต้องมีความรู้ของเรา เราถึงทำงานได้ใช่ไหม อย่างเช่น เราเป็นพ่อค้าแม่ค้า เราก็มีวิชาของเรา เรามีการเริ่มต้นหาสินค้ามา แล้วเราจะขายสินค้าไปอย่างไร แล้วจบแล้วเราวางบิลอย่างไร เราเก็บเงินได้อย่างไร เห็นไหม การทำงานทุกๆ อย่าง จะต้องมีปัญญา มีพื้นฐานของการทำงานนั้น

ทีนี้เวลาปฏิบัติ พอปฏิบัติตามตำรา ตามวิชาการก็อย่างนั้นน่ะ การปฏิบัติต้องมีสติปัฏฐาน ๔ ต้องกาย เวทนา จิต ธรรม ก็ว่ากันไป นั้นเป็นทางวิชาการ เราไปปฏิบัติ พื้นฐานเรามีไหม ทางวิชาการ ผลของมัน

เราบอกว่า หลวงตา กับหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่ แล้วท่านพูดเหมือนกัน “กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นได้ทั้งสมถะและเป็นได้ทั้งวิปัสสนา เป็นได้ทั้งสมถะและเป็นได้ทั้งวิปัสสนา”

กาย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นทั้งสมถะ คือคนเราถ้าไม่มีพื้นฐาน เราทำอะไรก็แล้วแต่ อย่างเช่น ทางวิชาการเราไม่รู้ แต่เรามาปฏิบัติ เรารู้จริงขึ้นมาตามข้อเท็จจริงที่เราปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัตินั้นปั๊บ ถ้ามันมีข้อเท็จจริงแล้วมีที่ครูบาอาจารย์ เช่น เราจะทำ เราลองผิดลองถูก เราฝึกงาน การฝึกงาน ผลงานนั้นเราฝึกงาน ฝึกงานเพื่อให้เราเป็นงานขึ้นมา ผลงานนั้นเป็นผลงานของที่เด็กฝึกงาน มันออกสู่ท้องตลาดไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันเป็นสมถะ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นี่เหมือนกัน แต่ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือการปล่อยวาง ผลของมันคือสมถะ คือผลของมันคือสมาธิ

แต่มันจะผิดตรงนี้ ตรงที่เราบอกว่า “ต้นคด ปลายจะคดหมด” เพราะว่าเริ่มต้นจากความรู้สึก ความนึกของเราว่าเป็นวิปัสสนา คือการทำงานแล้วได้ผลงาน เพราะเราคิดว่าเราทำสติปัฏฐาน ๔ นี่คือการวิปัสสนา แล้วพอทำไปแล้วพอมันว่าง นี่ไง วิปัสสนา คือมันไม่มีขั้นตอนต่อไปไง

แต่ถ้าคนเป็น เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่เป็น อย่างที่บอกว่า พิจารณากาย กายในกาย พิจารณาจิตในจิต ก็ว่าไป นี่การพิจารณาอย่างนี้ ถ้าเรายังไม่มีสิ่งใดเลย การพิจารณาอย่างนี้ ผลของมันก็คือสมถะ คือมันปล่อยวาง ว่างๆ สบายใจ ถ้าว่างๆ สบายขนาดนี้ เราซ้ำๆๆ ขึ้นไป

เพราะมันจะมีความต่าง มันจะมีความต่างนะ การเห็นโดยสมถะ การพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง ผลของมันเหมือนเราทำความสะอาดบ้าน ทำอย่างไร ผลของการทำความสะอาดบ้าน บ้านก็คือบ้าน บ้านทำประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่เราเอาบ้านนั้นมาทำประโยชน์ คือว่าเราทำธุรกิจในบ้านหลังนั้น ให้มันเกิดผลประโยชน์ขึ้นมาจากบ้านหลังนั้น

จิตก็เหมือนกัน บ้านของเราสกปรกโสมมเลย บ้านของเรามีแต่ของเต็มบ้านเลย เราจะเอาบ้านนั้นไปทำอะไรได้ เพราะมันมีของอยู่เต็มไปหมดเลย ไม่มีที่ว่างจะให้ใครเข้ามาอาศัยได้เลย เราจะทำธุรกิจอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะในบ้านนั้นไม่มีที่ว่างให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์ใช้สอยได้

ถ้าทำความสะอาดของมัน เราทำความสะอาดในบ้านนั้นจนสะอาดหมดเลย จะใช้ประโยชน์อะไรล่ะ ในทางธุรกิจเราใช้หลากหลาย ทำอะไรก็ได้ เพราะเรามีพื้นที่ว่าง นี่คือสมถะ

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจใช่ไหม บ้านเรา เราทำบ้านเราสะอาดหมดเลย นี่นิพพานไง

ที่บอกเมื่อกี้ตอนเช้า เราบอกว่า ผิด ๒ ประเด็น ที่เราพูด ที่ลูกศิษย์เขามาถามเรื่องที่ว่า เดี๋ยวนี้เขายอมรับสมาธิแล้ว เพราะมีสมาธิอย่างนี้แล้วถึงได้วิปัสสนากันไปแล้วไง

เราบอก ผิด ๒ ประเด็น

ประเด็น ๑. พูดถึงผลของสมาธิก็พูดไม่ถูก

มีสมาธิแล้ว มีบ้านแล้ว ทำความสะอาดบ้านแล้ว เราจะเอาบ้านไปทำอะไรกัน เราต้องเอาบ้านออกไปหาผลประโยชน์เข้ามา เราถึงได้ผลประโยชน์เข้าบ้านนั้นนะ ถ้าบ้านของเรา เราไม่ออกไปหาทำประโยชน์อะไรเลย บ้านเราก็คือบ้านเรา แล้วเราได้อะไรขึ้นมา

นี่ไง บอกว่า ที่ท่านพูด ท่านก็สอน เวลาครูบาอาจารย์พูดนะ กรณีอย่างนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนเป็น ท่านก็บอกว่า “ให้พิจารณาไปเลย ให้ใช้ปัญญาไปเลย” ถูก ถูกในขั้นของสมถะ

จะปฏิเสธว่าใช่สมถะหรือไม่ใช่สมถะ นั่นคือการปฏิเสธ แต่ผลของมันถือสมถะ

แต่เราไปเขียนชื่อมันเองว่า วิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ นี่คือผลของการปฏิบัติ เราไปเขียนชื่อ เราไปให้ชื่อมันกันเอง แต่ความจริงเนื้อหาสาระของมันคืออะไร

เราถึงบอกว่า เราพูดบ่อยว่า ในการปฏิบัติทุกแนวทาง ทุกลัทธิในการปฏิบัติ อย่างเช่น ลัทธิอื่นๆ ในศาสนาอื่นเขาก็ภาวนาของเขาเหมือนกัน

ทีนี้คำว่า “ภาวนา” เราถึงบอก วิวัฒนาการของจิต โดยธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนั้น จิต โดยธรรมชาติของจิตมันเหมือนอากาศ อากาศ เดี๋ยวก็เกิดพายุ เกิดลมแรง ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง จิตก็เหมือนกัน เดี๋ยวคิด เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวปล่อยวาง เดี๋ยวสงบ โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วจะเอาลัทธิศาสนาอะไรเข้ามาเปรียบเทียบล่ะ

ลัทธิศาสนาอะไร เราไปทำ ในศาสนาคริสต์ ศาสนาต่างๆ เขาก็ภาวนาของเขาเหมือนกันนะ โดยธรรมชาติของจิต สมาธินี้เป็นสากล คือจิต คือธรรมชาติของมัน มันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้ พอเราคิดว่า จิต พอศาสนาพุทธเราสอนถึงศาสนาแห่งปัญญา สอนถึงนิพพาน พอมันว่างๆ ก็เข้าใจว่าเป็นนิพพานกันนะ

ทีนี้ พอคำว่า “นิพพาน” ความเข้าใจกับความจริง ถ้าความจริง คนจริง คนที่ทำแล้วเป็นจริงเขาต้องทำงานของเขา

เวลาครูบาอาจารย์ที่เราคุยกัน อย่างเช่น ใครปฏิบัติมา เขาจะถาม จะคุยกัน เราใช้คำว่า “วิทยานิพนธ์” เราไปทำวิทยานิพนธ์ คือเราไปทำทางวิชาการมา ทุกคนไปทำทางวิชาการของตัวเองมา ก็มานั่งคุยกัน นี่ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ พูดทางการปฏิบัติมา ของใครมีปัญหาอะไรอย่างใดบ้าง แล้วใคร มันจะมีความขัดแย้ง คนที่ทำได้เป็นหรือทำได้ไม่เป็นมันจะมีปัญหาขึ้นมา แล้วถ้ามันลงกัน หรือมันอันเดียวกัน แล้วถ้าปฏิบัติมาหลายๆ คน มันทำมาเยอะไง คนผิดมันก็มีธรรมดา คนถูกก็มีธรรมดา

ทีนี้ คนผิด คนถูก มาคุยกัน มันต้องปรับเข้าหากัน ทีนี้การปรับเข้าหากัน นี่ถ้าคนเป็นมันจะเป็นของมัน เป็นของมันคือว่า มันเป็นสมถะมันเป็นอย่างไร คำว่า “เป็นสมถะ” นี่นะ คำว่า “จิตสงบ” พอมันสงบเข้ามา แล้วพอจิตมันออกทำงาน มันเห็นการกระทำ มันรับรู้ แล้วถ้าคนที่จะเป็นสมถะอย่างเดียวมันไม่มีอันนี้

อย่างเช่น เราทำความสะอาดบ้าน เราทำความสะอาดบ้านด้วยกัน ทุกคนทำความสะอาดบ้านหมดเลย แล้วทำความสะอาดบ้าน ผลของมันคือบ้านสะอาด ทุกคนบ้านสะอาดหมด แต่ไอ้คนที่บ้านสะอาดแล้วมันนึกว่าจบใช่ไหม แต่ไอ้คนที่เอาบ้านนี้ไปวิปัสสนาต่อไป คือเอาบ้านนั้นสร้างธุรกิจจะทำต่อไป เขาได้ทำต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ได้ทำธุรกิจของเขาใช่ไหม เขาจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องหาสินค้าเข้าบ้านเขา เขามีงานต่อไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

แต่คนทำสมถะ ทำความสะอาดแล้วก็จบไง ล้างเกลี้ยงๆๆ หมดเลย ว่างๆ ว่างๆ ไอ้นี่ก็ว่างๆ อยู่คนเดียวนะ ไอ้นั่นบอก “ใช่ ว่างๆ แล้ว ยังมีงานต่อไป” ก็ทำอีก นี่ถ้ามันคุยกันมันจะเห็นทันทีเลย ถ้าเอามาตรวจสอบกันจะเห็นทันทีเลยว่าคนหนึ่งทำความสะอาดบ้าน อีกคนหนึ่งทำความสะอาดบ้านเหมือนกัน แต่ทำเสร็จแล้วได้ทำงานอื่นต่อไปอีก แต่คนที่ทำความสะอาดบ้านมันไม่มีต่อไปอีก

แต่ว่า ว่างๆ คำว่า “ว่าง” เหมือนกัน เพราะทำต่อไปอีก แล้วถึงที่สุดแล้วผลของมันก็ทำผลประโยชน์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แล้วผลประโยชน์นั้นว่างเหมือนกันไหม? ว่าง แต่คนละว่าง ถ้าว่างแบบทำความสะอาดบ้านนี่นะ เราเอามายืนยันกับผู้ที่ปฏิบัติบ่อยครั้งมากว่าเป็นอจินไตย คำว่า “อจินไตย” ของพระพุทธเจ้านะ พุทธวิสัย กรรม โลก ฌาน ฌานคือความสงบของใจเป็นอจินไตย

คำว่า “อจินไตย” นี่มันหลากหลาย อย่างที่พูดนะ มันหลากหลาย หมายถึงว่า คนปฏิบัติมา คนเกิดมาทุกคนมีจริตนิสัย คือสร้างบุญมาต่างๆ กัน บางคนสงบเฉยๆ บางคนสงบตกวูบ บางคนสงบแล้วใหญ่โตมาก บางคน...ความว่าง เห็นไหม หลากหลายมาก

แต่ถ้าเป็นความว่างของการเราทำบ้านสะอาดแล้วนะ แล้วเราทำธุรกิจ ความว่างอย่างนั้นมันมีขอบเขตเพราะอะไร เพราะมันต้องมีการกระทำ สติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาแล้วปล่อยวาง เหมือนกับเราทำธุรกิจ เราซื้อขายแลกเปลี่ยนมันต้องมีผลตอบแทน ไอ้ผลตอบแทนนั้นน่ะมันจำกัด

โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันมีผลของมัน ความว่าง ขอบเขตของโสดาบัน พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีลึกซึ้งกว้างขวางต่างกันอย่างไร พระสกิทาคามีกับพระอนาคามี ความว่างของพระสกิทาคามีกับพระอนาคามีแตกต่างกันอย่างไร ความว่างของพระอนาคามีกับความว่างของพระอรหันต์แตกต่างกันอย่างไร มีอีกนะ

ฉะนั้นบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ” ที่ว่าใครมาก็ “ว่างๆ ว่างๆ” นั่นน่ะ ว่างแบบนี้ว่างแบบอจินไตย ไม่มีขอบเขต ไม่มีสามารถกำหนดได้ว่าของใครเท่าไร

แต่ถ้าเป็นโสดาบันปั๊บนะ มันว่างเพราะอะไร มันว่างเพราะมันชำระสักกายทิฏฐิ ความหลงผิดของจิต จิตที่มันหลงผิดสิ่งใดอยู่ แล้วมันทำลายสิ่งใดออกไป แล้วมันรับรู้ได้แค่ไหน

ความว่างของสกิทาคามี สกิทาคามีนี่กามราคะ ปฏิฆะมันอ่อนลง อ่อนลงอย่างไร กามราคะ ความปรารถนาของจิต ความฝังจิตใจมันอ่อนลงอย่างไร

ความว่างของพระอนาคามี ปฏิฆะ กามราคะขาดไปเลย มันไม่มีกามราคะ ปฏิฆะเลย ใสสว่างหมดเลยนี่มันใสสว่างอย่างไร

แล้วความว่างของพระอรหันต์ ไอ้ที่ว่าใสสว่าง มันทำลายความใสสว่างนั้นอย่างไร เพราะความใสสว่างนี้เป็นอวิชชา จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี้เป็นอวิชชา จิตเดิมแท้คือตัวพลังงานเพรียวๆ ตัวพลังงานเฉยๆ ไม่ใช่ความคิด

ปัจจุบันนี้เราจะเห็นพลังงานต่อเมื่อเรามีความคิด เพราะความคิดเป็นการแสดงออกของความรู้สึก แต่ถ้าไม่มีความคิดเลย ตัวอยู่รู้สึกเฉยๆ มันเป็นอย่างไร แล้วอย่างพวกเราเข้าไปจับต้องไม่ได้ ไม่เห็นหรอก มันโดนกลบไว้ มันโดนซุกซ่อนไว้ด้วยความคิดเรา มันอยู่ใต้ความคิด พอมันทำลายความคิดเป็นชั้นๆ เข้าไป มันถึงเป็นตัวพลังงานเพรียวๆ พลังงานที่ไม่ใช่ความคิดอะไรเลย นี่จิตเดิมแท้

ที่ว่า พระอนาคามี เรือนว่างๆ มีตัวนี้อยู่ ว่างหมดเลย แต่มีพลังงานนี้อยู่ แล้วทำลายตัวพลังงานนี้หมดไปแล้ว ตัวพลังงานโดนทำลายแล้วมันเหลืออะไร มันว่างอย่างไร นี่คือว่าบ้านว่างแล้ว

ถึงว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้นแต่ท่านไม่พูดเหมือนเรา อย่างเรานี่เราเคลียร์เลย ว่าสติปัฏฐาน ๔ มันก็เหมือนเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าคนเป็นนะ การว่าเราใช้การพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์มันก็ติดกับร่างกายกับจิตใจเรานี่แหละ แล้วเราใช้ปัญญาไล่เข้าไปๆ ไล่ความคิดของเรา ร่างกายกับจิตใจ

สุดท้ายแล้ว รถ เราเปรียบเหมือนรถ รถนี่นะ ถ้ามันอยู่ในเกียร์ เราจะติดเครื่องไม่ได้ เพราะรถมันจะออกตัว รถ เวลาเราจอดรถเราต้องปลดเกียร์ว่าง แล้วติดเครื่อง นี่ไง โดยความคิดของเรา ตั้งแต่เกิดมาเราอยู่ในเกียร์ หมายถึงว่า พลังงานคือตัวจิต กับความคิดมันอยู่ในเกียร์ มันอยู่ที่เกียร์ตลอดเลย เราใช้ปัญญาไล่เข้าไปๆ ปลดมันออกให้มันเป็นเกียร์ว่าง พอเกียร์ว่าง ถ้าไม่ใส่เกียร์ รถก็ออกไม่ได้อีก ถ้ารถอยู่ในเกียร์ ติดเครื่องไม่ได้ ติดเครื่องคือสมาธิ ติดเครื่องได้แล้วไม่ได้ใส่เกียร์ รถออกไม่ได้อีก

สติปัฏฐาน ๔ คือเราปลดเกียร์ว่าง ที่เขาให้เราใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิพอพิจารณาไป ตามความคิดไป พอทันความคิด ความคิดก็หยุด เห็นไหม หยุดนี่คือปล่อย เราจะปลดเกียร์ว่าง ถ้าใครปลดเกียร์ว่างได้นะ สุขมากนะ เฮ้อ! จิตใจนี้เป็นอิสระสักพักหนึ่ง ไม่อย่างนั้นอยู่ในเกียร์ เกียร์มันลากไปตลอดไง

ต้องกลับบ้าน คิดถึงคนโน้นคนนี้ นี่มันอยู่ในเกียร์ เกียร์มันจะลากเครื่องเราไปตลอดเลย ลากกำลังเราไปตลอดเลย มันอยู่ในโลกไง อยู่ในความคิด ความคิดมันจะสั่งเรา ต้องกลับบ้าน กลับไปแล้วต้องไปทำงานอะไรบ้าง นี่มันสั่งตั้งแต่ยังไม่ได้กลับนะ นี่มันจะลากเราไปแล้ว แล้วมันปลดไม่ได้

แต่เราใช้ปัญญาไล่ไปๆๆ ไล่ไปคือไล่ความคิดนี้ไป พอมันปลดไง สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นที่บ้านเรา ของที่เกิดที่บ้านเราที่มันเกิดปัจจุบันนี้มันก็คือข้อเท็จจริงของเขา ปัจจุบันนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ สิ่งที่เกิดที่บ้านเรามันห่างจากเราเกือบ ๒๐๐ กิโลเมตร เราจะทำอะไรไม่ได้เลย เราจะวิตกกังวลไป หรือไม่วิตกกังวลไป เราก็ทุกข์เปล่าๆ เราทุกข์เฉยๆ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นอยู่ที่บ้านของเรา แต่ความรู้สึกของเราปัจจุบันนี้มันอยู่ที่เรา

นี่ถ้าปัญญามันไล่มาอย่างนี้ปั๊บ มันก็ทำให้เราเป็นอิสรภาพ อิสรภาพไง สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่บ้านของเรา คือตามข้อเท็จจริงของเขา แต่เรารักษาใจของเราได้ เรารักษาใจของเราไม่ให้คิดไปแบกหามเรื่องที่บ้านของเราได้ชั่วคราว

แต่โดยธรรมชาติคนเรามันจะไม่วิตกกังวล มันจะไม่รับรู้ได้ไหม? มันก็ต้องรับรู้ แต่ถ้าสติปัญญาเราทัน เราบังคับจิตให้มันปล่อย นี่เกียร์ว่าง ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น ท่านบอกว่าให้ใช้ความคิดไปในสติปัฏฐาน ๔

ถ้าผลของมันนะ ผลของมันคือตั้งแต่คนที่ปฏิบัติยังไม่เป็น ยังไม่มีสมถะ ผลของมันคือสมถะ เรายังยืนยันหลักการอันนี้อยู่ แต่เพียงแต่ว่า นี่หลวงปู่ชาท่านพูด หลวงปู่ชาพูดบ่อย “ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ มันก็เกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ ในสมถะ ถ้าเราไม่มีปัญญา มันจะเกิดสมถะได้อย่างไร ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมาธิ มันจะเป็นวิปัสสนาได้อย่างไร”

นี่หลวงปู่ชาพูดอย่างนี้ หลวงปู่ชาพูดเน้นตรงนี้เยอะมาก เราฟังเทศน์หลวงปู่ชาอยู่เหมือนกัน เห็นไหม ท่านบอกว่า “ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ” แล้วท่านพูดเน้นด้วย บอกว่า “ไม่ต้องมาเถียงกันว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา”

โดยหลักการ ถ้าปฏิบัติไปโดยที่ครูบาอาจารย์สอนเมื่อกี้ ที่ว่าหลวงปู่จันทาเนาะ ท่านพิจารณาไป ผลของมันคือสมถะนั่นแหละ ผลของมันคือมันต้องปล่อยวาง ทีนี้การปล่อยวางแบบนี้ ถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะ พอเราปล่อยวางเสร็จแล้ว เราว่านี่เราปฏิบัติวิปัสสนา หรือเราทำมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าคนมีวุฒิภาวะ มันปล่อยวางแค่ไหน ต้องทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่อง เพราะการทำต่อเนื่องมันจะวิวัฒนาการของมัน จากสมถะมันจะเป็นวิปัสสนาไง

ฉะนั้น จะบอกว่าในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ตรงนี้มันแบ่งแยกโดยชัดเจนได้ยาก ได้ยากอย่างที่เราพูดเมื่อกี้ตอนเช้าว่า วุฒิภาวะของจิต ดูคนสิ บางคนจะรับผิดชอบสูงมาก บางคนเห็นอะไร เด็กบางคนจะไม่ทำความผิด เด็กบางคนไม่ยอมรับรู้อะไรเลย

จิตของคน ถ้ามันแบบว่ามันหยาบ มันจะปล่อยวางได้ยาก หรือถ้ามันปล่อยวางแล้วมันจะไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าจิตของคนทำเหมือนกัน ทำวิปัสสนาหรือว่าใช้ปัญญา ๕ รอบเหมือนกัน คนๆ หนึ่งทำความสงบได้ คนๆ หนึ่งยกเลยข้ามไปถึงวิปัสสนาได้

ฉะนั้น เวลาคนถามปัญญาไปที่หลวงตา หลวงตาท่านจะพูดอย่างนี้ประจำ ท่านจะตอบว่า ถามว่า “ปฏิบัติแล้วถูกต้องไหม”

ท่านบอกว่า “ถูก” แต่ท่านจะย้ำทันทีเลยว่า “ต้องซ้ำต่อไป”

คำว่า “ซ้ำต่อไป” คือจะให้มันพัฒนาขึ้นไปไง เพราะของอย่างนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนข้าวเปลือกกับข้าวสาร ข้าวสารมาจากข้าวเปลือก ไม่มีข้าวเปลือกก็ไม่มีข้าวสาร ไม่มีข้าวเปลือก ไม่มีข้าวสารเด็ดขาดเลย ถ้ามีข้าวเปลือกไม่มีข้าวสารก็ได้ เพราะถ้าไม่สีก็ไม่เป็นข้าวสาร แต่ถ้าจะเอาข้าวสารนะ วิปัสสนาคือข้าวสาร สมถะคือข้าวเปลือก ไม่มีข้าวเปลือก ข้าวสารไม่มี ไม่มีข้าวสาร ข้าวเปลือกหาได้

สมาธิ สมถะ มันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนทำได้ แต่ถ้าได้ข้าวเปลือกมาแล้วไม่สี เราไม่เอามาสีให้เป็นข้าวสาร เราจะไม่มีข้าวสารกินกันเลย ข้าวเปลือกกินไม่ได้ แต่ข้าวเปลือกเป็นพื้นฐานของการมีข้าวสาร นี่ไง ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ

แต่ในปัจจุบันนี้ที่เราพูดอยู่ ที่เราขัดแย้งกับสังคมอยู่ เพราะสังคมบอกว่า ข้าวเปลือกคือข้าวสาร บอกว่า ทำไปแล้วมันจะเป็นวิปัสสนา

แต่เราไม่เชื่อ แล้วเราไม่เห็นว่ามันเป็นผล เพราะข้าวเปลือกกินไม่ได้ สมาธิกินไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรามีข้าวเปลือกอยู่ในยุ้งฉางนะ อุ่นใจมากเลย โอ้โฮ! ปีนี้มีข้าวกิน ถ้ามีสมาธินี่มันมีความสุขมากเลย แต่ถ้าคนเผลอ สมาธิมันก็ทำให้เราได้แค่สมาธิไง

แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ปัญญาที่เกิดขึ้นมันเป็นตรรกะ ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ที่เขาบอกวิปัสสนากันนะ เราไม่เชื่อ มันก็เหมือนกับเรามีการศึกษามา ถ้า กพ. ไม่รับ เราทำงานไม่ได้นะ เราจะจบอะไรมา ทางการศึกษานั้น กพ. ต้องยอมรับ นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะว่ามันเป็นวิปัสสนา มันเป็นความคิดของเรา แต่เราไม่เข้าไปในข้อเท็จจริง ในสัจธรรม ไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น โยมมาถามว่า การดูจิต การพิจารณาจิตในจิต มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไหม?

สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของใคร ทุกคนว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ หมด คำว่า “สติปัฏฐาน ๔” พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้น ทีนี้ คนที่บัญญัติขึ้นท่านมีเป้าหมายถึงที่ไหน ถึงว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้มันก็อยู่ที่นักวิชาการ

ผู้ที่ปฏิบัตินะ เขารู้จริงของเขา เขารู้ว่าตรงไหนมันถึงจะเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ เพราะผลที่ให้ค่า ผลที่ให้ค่าคือจิตมันวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม โดยความเป็นจริง แล้วมันปล่อยวางได้จริง ขาด เด็ดขาดไหม นั้นเราถึงว่า ผลของสติปัฏฐาน ๔

แต่ถ้าเราทำของเรา เราเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันปล่อยของเรา มันมีความรู้สึกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ด้วยความอุ่นใจของเราไงว่า เรากลัวว่าเราจะปฏิบัติผิดทาง แต่ถ้าเราได้ทำสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นคำสั่งสอน มันเป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า มันเป็นที่พระพุทธเจ้าทดสอบแล้ว เราอุ่นใจของเรา แต่ผลตอบแทนของเรามันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

ที่เราคัดค้าน เราคัดค้านตรงนี้ เราคัดค้านที่ว่า ผลที่ออกมา ผลที่มันเป็นความจริงมันเป็นไหม เราถึงได้พูดไงว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสิ่งที่เราเข้าใจกันเอง

แต่ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง มันปฏิบัติแล้วได้ผลจริง มันต้องเป็นเหมือนครูบาอาจารย์ของเรา เพราะมันเป็นจริงนะ พอจริง มันจริงเข้ามาที่ใจ ใจมันขาดหมด พอใจมันปล่อย ปล่อยกิเลสขาดหมดแล้ว ตัวมันเองมีคุณธรรมในหัวใจ มันมีจุดยืนของมัน มันจะผิดพลาดไปได้อย่างไร

แต่ตอนนี้จุดยืนของใจของเราที่เป็นจริงของเราในใจเรายังไม่มี ไม่มี แต่จะโต้เถียงว่าเราเป็นสติปัฏฐาน ๔ นั้นมันเป็นทางวิชาการ

ฉะนั้น ถ้าในฝ่ายปฏิบัติ หรือฝ่ายกรรมฐานของเรา เราจะไม่เอาชื่อมัน หรือเอาอันนั้นมาโต้เถียงกันให้เสียเวลา เราจะปฏิบัติกันไป จะเป็นสมถะ จะเป็นวิปัสสนา ขอให้มันได้ผลมา พอได้ผลมาแล้ว แล้วครูบาอาจารย์คอยจะส่งเสริมขึ้น ให้มันดีขึ้นไป มันสำคัญมาก สำคัญที่ให้เราได้ผลมา

แล้วเอ็งคิดดูสิ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เราพูด เราก็ทำกันไปนะ เราทำกันมา ทำกันมาตลอด แล้วผลของมันล่ะ เวลาเราทดสอบ เราทดสอบถึงผล ผลลัพธ์ ผลที่มันทดสอบแล้วที่มันให้ผลนี่ เอาตรงนี้ ถ้าตรงนี้ได้ผลมันถึงจะเป็นความจริง ถ้าผลลัพธ์มันไม่มี เออ เราทำสติปัฏฐาน ๔ ทำคล่องมากเลยนะ แต่ไม่มีผลลัพธ์ ที่เราค้าน เราค้านตรงนี้

แต่ถ้าเราทำจริง สติปัฏฐาน ๔ คำว่า “ทำจริง” ทำเข้าไปเลย ให้มันสงบเข้าไป สงบเข้าไปแล้ว ถ้ามันเห็นกายจริง เห็นพิจารณาตามความเป็นจริง ให้มันเป็นจริงขึ้นไป แล้วถ้าผลลัพธ์มันยังไม่ได้ ถ้าผลลัพธ์ยังไม่ได้ อันนั้นมันก็เป็นกรรมของสัตว์นะ กรรมของสัตว์หมายถึงว่า ถ้าเราทำแล้ว วาสนาพื้นฐาน

อย่างที่ว่าในอภิธรรม บอก พระอรหันต์ต้องสร้างมาแสนกัป คำว่า “แสนกัป” กัปนั้นคือภพชาติที่ตายไปนะ แต่ผลของมัน ถ้ามันมีภาวะ คือภาวะของจิต จิตที่มันทรงตัว ที่มันจะรับอริยภูมิ ถ้าอย่างนี้ปั๊บมันถึงเกิดเชาวน์ปัญญา มันเกิดอะไร

คนนะ คนที่จะปฏิบัติมันจะมีมุมมองแปลกๆ คำว่า “มุมมองแปลกๆ” มันจะเห็นทุกอย่างเป็นธรรม แล้วมันจะไม่ฝืนไง แต่ถ้ามันเป็นภาวะของจิตเราอ่อนแอนะ “ไม่เป็นไร” ไม่เป็นไร ทำผิดพลาดไปมันก็เท่ากับทำลายตัวเอง ทำลายภพเรา หัวใจของเรามีคุณค่าที่จะรับคุณธรรม มันโดนทำลายไปเรื่อยๆ

แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ มันจะรักษาอันนี้ รักษาอันนี้ มันเหมือนแผ่นดิน เหมือนที่ดินของเรา เราจะสร้างบ้าน จะปลูกเรือน ต้องสร้างบนที่ดินของเรา แล้วถ้าเราไม่มีที่ดิน เราจะสร้างที่ไหน แล้วถ้าเราจะสร้างบ้านสร้างเรือน เราต้องดูแลผืนดินของเราใช่ไหม นี่ผืนดินก็คือภพ คือตัวใจนี่ไง

สติปัฏฐาน ๔ เราจะบอกว่า โยมนี่นะไปติดในชื่อกัน กลัวจะถูกจะผิด สติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เราอย่าไปติดในชื่อมัน เพราะเวลาเราสอนโยม เราสอนหลายแง่มุม อย่างเช่น เวลามา บางคนมาเราจะปลอบใจ บอก ไม่ต้องกลัวผิด มันมีลูกศิษย์คนหนึ่ง เขาบอกว่าเขากลัวมากเลย สีลัพพตปรามาส คือกลัวผิดพลาด

เราถึงบอกว่า การปฏิบัตินี่สีลัพพตปรามาสหมด เพราะพวกเรามีจิต เรามีความวิตกกังวล เรามีความไม่รู้จริง คือเรามีกิเลสอยู่ไง เราจะบอกว่า ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่าพวกเราเกิดมามีอวิชชา มีกิเลส มีความไม่เข้าใจ ไอ้ตัวความไม่เข้าใจมันทำให้เราผิดพลาด ฉะนั้น พอทำไป เรากลัวผิดพลาด เราก็ไปตั้งชื่อกัน แล้วไปรักษาที่ชื่อ เราเลยทิ้งข้อเท็จจริงในใจไป เราทิ้งข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้นในความเป็นจริง แต่เราไปพยายามอ้างชื่อของมันว่าให้ถูกไว้ แต่ในการกระทำเราไม่ตามเนื้อหาสาระ

แต่ถ้าในวงกรรมฐานนะ ทิ้งหมด ทิ้งทั้งชื่อ ทิ้งทั้งการนิยาม ทิ้งทุกอย่างหมดเลย แล้วใช้พุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็อย่างที่โยมว่าสติปัฏฐาน ๔ ปัญญาอบรมสมาธิคือการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยความคิด เราใช้ความคิดไล่ความคิดเราไป ในความคิดเรามันก็มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ทั้งนั้นน่ะ ธรรมคือธรรมารมณ์ ธรรมคือความรู้สึก คืออารมณ์ ถ้าเรามีสติตามไป

สติปัฏฐาน ๔ ที่เขาสอนกัน เราใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ผลของมันคือความสงบ

เอาสติ เอาความคิดไล่ความคิดไป ไล่ความคิดไป ไล่ความคิดไป ความคิดเราคิดเรื่องอะไร คิดเรื่องกาย ถ้ามันไม่พอใจคือเวทนา มันเจ็บปวดหัวใจ มันสุขใจ ทุกข์ใจ คือเวทนา เวทนาจิต ปัญญาอบรมสมาธิคือสติปัฏฐาน ๔ โดยนิยามของเรา แต่เราไม่พูดตรงๆ เท่านั้นเอง ปัญญาอบรมสมาธิก็คือที่เขาสอนสติปัฏฐาน ๔ นั่นล่ะ

แต่สติปัฏฐาน ๔ ของเขา เขาพูดสติปัฏฐาน ๔ พูดให้พวกเราเห่อเหิมว่าเราได้วิปัสสนากันไปแล้ว แต่ของเราใช้ว่าปัญญาอบรมสมาธิ ก็มันใช้ปัญญาใช่ไหม จิตดูจิตใช่ไหม ความคิดดูใช่ไหม ปัญญาอบรมสมาธินี่แหละ

หลวงตาใช้ว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

แต่ของเรา เราก็ทำ เราก็ใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เราไม่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน ๔ เพราะถ้าเราใช้คำว่า “สติปัฏฐาน ๔” คนมันจะคิดว่านี้เป็นวิปัสสนาไง ต้นคดไง มันผิดตรงนี้ไง ผิดตรงความเข้าใจผิด ผิดตรงคนเข้าใจผิดแล้วคนตั้งหลักผิดแล้วมันจะทำอะไรไปถูกล่ะ มันคิดว่ามันได้แล้วไง

อย่างเช่น เราคิดว่าเราทำงานเสร็จแล้ว เรานั่งอยู่นี่ แล้วงานมันเสร็จหรือยัง เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เราบอกว่าเราทำงานเสร็จหมดแล้ว นี่ไง ต้นมันผิด เพราะต้น เข้าใจว่านี้เป็นวิปัสสนาแล้ว ขั้นตอนของวิปัสสนา ผลของมันคืออริยภูมิ ทีนี้พอเราใช้ปัญญาไปแล้ว นี้เป็นวิปัสสนา แต่ความจริงคือสมถะ

ครูบาอาจารย์ถึงใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ปัญญาอบรมสมาธินี่คิดได้ทุกเรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม คิดได้ทุกเรื่อง เพราะความคิดนี้ไป พอความคิดมีปัญญา ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือมีสติ ขาดสติไม่ใช่ปัญญา ขาดสติ ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด กิเลสมันลากไปเลย ถ้ามีสติมันก็เป็นความคิดเหมือนกัน แต่เรามีสติควบคุม เหมือนเราควบคุมงาน

แต่ถ้าไม่มีสติ ความคิดเรามันลากเราไป คิดทุกเรื่องเลย แล้วเราไปกับเขาเลยนะ เราไปกับเขา คิดเรื่องไม่ดี โอ้โฮ! เจ็บ คิดเรื่องดี โอ้โฮ! สุข นี่เพราะจิตมันไปกับเขา แต่ถ้ามีสติ สติเกิดจากอะไร? สติเกิดจากจิต จิตมันดูความคิด ความคิดมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสัญชาตญาณที่เกิดมี

ทีนี้ ตัวจิต ตัวมีสติควบคุมมันอยู่ มันเห็นสิ่งที่เกิดมีในจิตนั้นสงบตัวลง สิ่งที่มีในจิต ความคิดเกิดจากจิต สติเกิดจากจิต ทุกอย่างเกิดจากจิตทั้งหมด พอเกิดจากจิตทั้งหมด สติปัญญามันตาม มันเห็นความคิดนั้น แล้วความคิดนั้น ความคิดที่เกิดดับ สิ่งที่เกิดดับมันเหลืออะไร? ก็เหลือจิตไง เหลือผู้ที่สติ ความคิดไป สมถะทั้งนั้นน่ะ

สิ่งที่บอกว่าวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ มันคือปัญญาอบรมสมาธิ มันคือสมถะโดยเนื้อหาสาระ แต่มันด้วยความชำนาญของครูบาอาจารย์ที่สอน เขาไม่ชำนาญ เขาไม่สามารถแยกแยะว่าเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เฟืองเกียร์มันทดกันกี่เฟือง เกียร์ ๑ กับเกียร์ ๒ เฟืองต่างกันอย่างไร เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เฟืองต่างกันอย่างไร ความคิด รอบของความคิด ความคิดที่มันทดกันไป มันเป็นอย่างไร มันทดกันไปนะ มันทดกันไปออกไปจากจิต

เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ คิดนุ่มนวล คิดเบาๆ คิดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว คิดด้วยความรุนแรง ความคิดมันเร็ว มันช้า เห็นไหม เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ แล้วปัญญามันเข้าไปปลด เข้าไปเลาะ ที่ว่าเกียร์ว่าง ถ้าปัญญาเข้าไปเลาะ เห็นไหม แยกเฟืองเกียร์ออกจากกัน ในเมื่อเกียร์มันไม่ทดกัน ต่างคนต่างหมุน เกียร์ว่าง สมถะ ไล่เข้าไป

นี่ถ้าเราอธิบายให้เห็น อธิบายว่าธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนี้ เราถึงบอกว่าเป็นสัญชาตญาณไง ถ้าเกิดว่า จิตเกิดดับนะ เรานั่งอยู่ ตั้งสติดีๆ มันก็ไม่มีความคิดเลย ก็ดับ เป็นพระอรหันต์กันหรือยัง?

ความเกิดดับ เราประชดนะ ความเกิดดับนี่เหมือนสวิตช์ไฟฟ้าเลย สวิตช์ในบ้านเรา เรากดมันก็เปิด เราปิดมันก็ดับ แล้วจิตเห็นเกิดดับอย่างนั้นเอ็งมีประโยชน์อะไร เอ็งมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเอ็งไม่มีปัญญา สวิตช์ไฟฟ้า ถ้าเราเรียนทางวิชาการ สวิตช์ไฟฟ้ามันมีตัวหน่วง เรารู้ทางวิทยาศาสตร์เขาทำอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดดับ เรามีปัญญาว่าจิตมันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะตัณหาความทะยานอยาก เราไปดึงตัณหาความทะยานอยาก ความเกิดดับนั้นมันก็ไม่มีเราบวก เห็นไหม การเกิดดับมันต้องมีปัญญาไปใคร่ครวญ ไปแยกแยะ เหมือนกับเราเข้าใจ เหมือนกับเราเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจสิ่งต่างๆ จะปล่อยวางทั้งหมด นี่คือปัญญา

แต่ถ้าเกิดดับเฉยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้สวิตช์แล้ว เขาใช้แสง พอสลัวๆ แล้วมันติดเองเลย พอสว่างมันดับ พั้บ! เลย แล้วคิดดูเราจะไปดูเกิดดับอย่างนี้เหรอ นี่เอามาเทียบให้ดูว่าถ้าคนเป็นสอนอย่างหนึ่งนะ เพราะคนเป็นสอนนี่มันเกิดดับโดยไม่มีเหตุไม่มีผลไม่ได้

มันต้องมีเหตุมีผล เห็นผลที่มันเกิด เกิดเพราะอะไร ผลที่มันจะดับ มันดับเพราะอะไร ทำไมมันถึงเกิด ทำไมมันถึงดับ แล้วใครเป็นต้นเหตุให้เกิดให้ดับ แล้วไปทำลายต้นเหตุนั้นจนหมดแล้วอะไรมันจะพาเกิด อะไรมันจะพาดับ อันนี้ถึงเป็นวิปัสสนา

แต่ถ้าตามไปอย่างนั้นมันเป็นสมถะ รั้งไว้ให้หยุด ปลดเกียร์ให้เกียร์ว่าง แต่วิปัสสนามันจะไปเห็นสิ่งเร้า อะไรเป็นตัวเร้า เห็นหมดนะ ต้องรู้ต้องเห็น

หลวงตาท่านพูดบ่อย “ไม่รู้พูดไม่ได้ ไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้หรอก”

แต่เวลาพูดก็จำตำรามาพูด แจ้วๆ แจ้วๆ เลย สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔

กูเปิดเทปก็ได้ สติปัฏฐาน ๔ กูเปิดเทปเลย กรอกหูทุกวัน สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นหรือไม่เป็นไม่รู้

สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นชื่อ เราอย่าไปติดในชื่อ แต่เอาข้อเท็จจริง ฉะนั้น คำว่า “ข้อเท็จจริง” แล้วเราก็มองสังคมไง สังคมที่ปฏิบัติมา ไม่มีใครรู้จริง ถ้ามีการรู้จริงเขาจะพูดโดยข้อเท็จจริง แต่ทีนี้คำพูดของเขามันเป็นโวหาร มันเป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า แต่ข้อเท็จจริงในใจเขาไม่รู้

ถ้าคนรู้ เรารู้ว่านี่เป็นเชื้อโรค ไข้หวัดใหญ่มานี่ เราจะไม่เข้าไปอยู่ในคนไข้เป็นไข้หวัดใหญ่ ถ้าเราเข้าไปเราต้องมีสิ่งป้องกันตัวเต็มที่ แต่ถ้าเราไม่รู้ เราบอกเขาเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วเราก็มีความองอาจกล้าหาญจะเข้าไปเผชิญโลกว่าเราจะไม่เป็น เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ ถ้าคนเป็นนะ เขาจะรู้เลยว่าอะไรเป็นเชื้อโรค อะไรเป็นโรค อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ

แล้วคุณอยู่ที่ไหน คุณอย่างที่หลวงตาสอน “คุณคือมีสติ คุณคือมีความขยันหมั่นเพียร คุณคือมีความวิริยอุตสาหะ”

สิ่งที่มีคุณจะสอนลูกศิษย์ ไอ้นี่บอกจะสอนลูกศิษย์ สิ่งที่มีคุณนะ ไม่ต้องทำ มันลำบาก เดี๋ยวนี้มีลัดสั้น นอนเฉยๆ เป็นพระอรหันต์ นั่งกันอยู่เฉยๆ ลัดสั้น คนที่ไม่รู้จักคุณจักโทษ

สิ่งที่เป็นคุณ ครูบาอาจารย์ท่านพยายามปลุกเร้าให้เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณกับจิต

เขาบอกว่าสิ่งนี้ไม่มีความจำเป็น แล้วไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องขยันหมั่นเพียร อยู่กันเฉยๆ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ มันบอกว่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดา

เราฟังอย่างนี้มันค้านในใจ ค้านในใจว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นคุณธรรมไม่สอนอย่างนี้ สอนให้ลูกศิษย์ลูกหาขยันหมั่นเพียร มีความตั้งใจ มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์สอนบอกว่า ให้ประมาทเลินเล่อ

คำว่า “ประมาทเลินเล่อ” นี่เราพูดชัดเจนนะ แต่เขาบอกไม่ใช่ อีกล่ะ เขาบอกก็เป็นการปฏิบัติเหมือนกัน

คำว่า “ปฏิบัติเหมือกัน” คนมีสังคมหนึ่งเขาทำดีอยู่แล้ว แล้วเราไปบอกว่าไม่ต้องทำ ทำสบายๆ ก็ได้ เราไม่เชื่อ

แต่เมื่อก่อนเราเคยพูด เห็นไหม ที่เขาพิจารณากามกัน แล้วเราบอกมันเกินกว่าเหตุ คำว่า “เกินกว่าเหตุ” มันขยันหมั่นเพียร มันถูกต้อง คำว่า “เกินกว่าเหตุ” หมายถึงว่า เด็ก มันวุฒิภาวะของเด็กมันยังเด็กอ่อนอยู่ มันไม่ควรไปรับภาระน้ำหนักของผู้ใหญ่ เด็กควรทำงานหน้าที่ของเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ควรทำหน้าที่ของวัยรุ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่มีประสบการณ์ในชีวิต เขาควรทำงานตามวุฒิภาวะของเขา

การวิปัสสนาครั้งแรก มันพิจารณากายไปก็ได้ เพราะมันสักกายทิฏฐิ พิจารณากาย เห็นกายตามความเป็นจริง มันเป็นพระโสดาบัน

การพิจารณากายซ้ำมันจะเป็นกายสู่สภาวะเดิม คือสู่ธาตุเดิมของเขา มันจะปล่อย กายกับจิตจะแยกออกจากกัน จิตนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่อีกขั้นหนึ่ง

พิจารณาอีกขั้นต่อไปมันถึงจะเป็นอสุภะ มันถึงจะเป็นกามราคะ

ฉะนั้น พอเราเอากามราคะไปพิจารณาครั้งแรก วุฒิภาวะของจิตมันยังอ่อนอยู่ พอพิจารณาเรื่องกามราคะนี่มันเป็นเรื่องของหัวใจ มันเป็นเรื่องของโอฆะ มันเป็นเรื่องของกำลังที่ใช้กำลังมาก แล้วเราเป็นเด็กไปทำก่อน เราสงสารเด็ก ว่าเด็กนี่มันจะแบกรับภาระที่หนักเกินไป

เราไม่ใช่บอกให้เด็กไม่ให้ขยันหมั่นเพียร นี่ให้ขยันหมั่นเพียรนะ แต่ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานของเด็ก เด็กเกิดมาแล้วต้องมีการศึกษา ให้ขยันหมั่นเพียร ไปโรงเรียน เพื่อจะได้มีวิชาความรู้ นี่เราต้องให้ต่อสู้ เด็กก็ทำหน้าที่ของเด็ก คือว่ามรรคหยาบๆ มันมีมรรคละเอียด มรรคที่เข้าไปสูงๆ ใหญ่โตแล้วมันจะมีกำลังมาก มันจะทำให้เราผิดพลาดเยอะมาก

ฉะนั้น ถ้าเราฝึกกันไปก่อน มันทำให้เด็กมันไม่ล้า ทำให้เด็กมันไม่ท้อถอย นี่เวลาเราแนะนำ แนะนำอย่างนี้ แต่ไม่ใช่แนะนำอย่างที่เขาพูด

ที่เขาพูดกันน่ะ บอกว่า เป็นความลำบาก เป็นความอะไรนี่

ลำบากเพราะเป็นคนดี จะลำบาก เห็นไหม ในวงกรรมฐานเราจะบอกเลย แบบว่า มักง่ายจะได้ยาก มักง่าย คนมักง่ายจะได้ยาก ไอ้คนทุกข์คนยากมันจะมีความสะดวกสบายตอนบั้นปลาย เราต้องมีความมุมานะอุตสาหะ ไม่อย่างนั้นมันจะไปขัดกับอริยสัจ ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันมีหลายขั้นมาก

แล้วอัตตกิลมถานุโยค กับ กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าใครปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเข้าไปลึกจะรู้ จะรู้ว่า อ๋อ! อัตตกิลมถานุโยคมันเป็นอย่างไร กามสุขัลลิกานุโยคมันเป็นอย่างไร เวลาเราไปติดสุข เวลาจิตเป็นสมาธิ จิตที่มันปล่อยวาง ถ้าเราติดสุขปั๊บนะ มันเสื่อมหมดเลย จิตเป็นวิปัสสนาเป็นครั้งคราว ถ้ามันเป็นตทังคปหาน แล้วถ้าไม่ทำต่อเนื่องนะ เราคิดว่ามันเป็นความจริง เราไปเสวยสุข

กามสุขัลลิกานุโยคนะ เวลามันเสื่อมหมดนะ โอ้โฮ! มันต้องวางพื้นฐานสมาธิขึ้นมาใหม่ แล้วมันต้องวิปัสสนาใหม่ มันทุกข์ยากมาก ไอ้คนมันจะรู้เลยว่ากามสุขัลลิกานุโยคมันให้โทษกับจิตอย่างไร อัตตกิลมถานุโยคมันให้ทุกข์กับจิตอย่างไร มันเป็นความรู้สึกของจิตทั้งหมด มันไม่เป็นการกระทำจากภายนอกหรอก เรื่องจิตนี่มันสำคัญมาก แล้วเข้าไปแล้วจะรู้จะเห็น

สติปัฏฐาน ๔ เราจะบอกว่าอย่างนี้ เราจะสรุปนะ สรุปว่า โยมทำมาไม่ผิดหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าการกระทำของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาไตร่ตรองไป ผลของมันเราก็รู้น่ะ เราไม่ต้องไปห่วงว่ามันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือไม่เป็น สติปัฏฐาน ๔ เป็นหรือไม่เป็น มันเป็นไปตามข้อเท็จจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นขึ้นมามันเป็นตามข้อเท็จจริง

แต่นี่เราไปขีดวงไว้ ที่เราพูด เห็นไหม บอกว่า ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ เพราะเราไปถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกรอบไง เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านจบมหา แล้วท่านจะประพฤติปฏิบัติ ท่านบอกเลย “ถ้ามีอาจารย์องค์ไหนชี้นำให้เราถูกต้องได้ เราจะถืออาจารย์องค์นั้นเป็นที่พึ่งเลย”

แล้วไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ที่แท้จริง ท่านจะบอกหลวงตาเลย บอกว่า “ท่านมหา มหาท่านเรียนมานี่ เรียนมาถึงเป็นมหานี่นะ มันเรียนธรรมพระพุทธเจ้ามา ธรรมพระพุทธเจ้านี่สูงส่งมาก ฉะนั้น ธรรมพระพุทธเจ้าเราควรจะเก็บไว้ก่อน เก็บไว้ในลิ้นชัก...”

คือความคิด สิ่งที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ หรือไม่สติปัฏฐาน ๔ ทางวิชาการ เก็บเอาไว้ในลิ้นชักก่อน

“...แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา ถ้าไม่ลั่นกุญแจไว้นี่มันจะสร้างภาพ”

แต่ท่านจะพูดคำนี้ ท่านใช้คำแบบว่า คำฟังเข้าใจง่ายว่า “มันจะเตะ มันจะถีบกัน” คือข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ กับทางวิชาการที่เราศึกษามานี่มันจะเตะ มันจะถีบกัน

ท่านถึงบอกว่าให้เอาทางวิชาการที่เราศึกษามานี่ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ ลั่นกุญแจเลยนะ คืออย่าให้มันแลบ อย่าให้มันคิดออกมา คือพยายามกดไว้ แล้วปฏิบัติไป ถ้าปฏิบัติตามข้อเท็จจริงมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง มันปล่อยวางจริง ข้อเท็จจริงนั้น กับทางวิชาการนั้นมันจะเป็นชิ้นเดียวกันเลย มันจะเป็นอันเดียวกันเลย

แต่ขณะที่เราทางข้อเท็จจริงเรายังไม่มี แต่เราไปรู้ทางวิชาการไว้ ทางวิชาการไว้ เวลาปฏิบัติไป มันจะเตะมันจะถีบกัน คือมันจะสร้างภาพตลอดไง พอเราปฏิบัติไป อืม! อันนี้เป็นวิปัสสนาเนาะ อืม! อันนี้เป็น...เรายังไม่ได้อะไรกันเลยนะ ทางวิชาการมันให้ชื่อ ให้ชื่อไปก่อน มันจะเตะ จะถีบกัน คือว่ามันจะแบบว่ากลายเป็นของกึ่งหมดเลย ๕๐-๕๐ กึ่งหมดเลย มันเลยไม่ได้ข้อเท็จจริง

นี่คนที่เป็นสอนนะ ฉะนั้น ไอ้ทางวิชาการที่ว่าเราจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือไม่เป็นนี่วางไว้เลย ประสาเรานะ ขุดหลุมลึกๆ เลย แล้วกลบมันไว้ แล้วอย่าให้มันขึ้นมา แล้วปฏิบัติเฉยเลยนะ เดี๋ยวมันเป็นจริงนะ ชื่อใครเขียนก็ได้ ไม่ต้องไปขุดหลุมขึ้นมาหรอก เราเขียนเองก็ได้ แล้วมันเป็นจริงเลย

แต่ทีนี้พอปฏิบัติไปมันสับสนนิดหนึ่ง สับสนที่ว่าครูบาอาจารย์เยอะ แล้วพระองค์นั้นก็ว่าอย่างนั้นถูก อันนี้ถูก เวลาผิดถูกนี่นะ เราเอาที่ผลลัพธ์ ไอ้นี่การสอนเรายังเข้าใจเลยว่าพันธุกรรมทางจิต จิตของคนมันไม่เท่ากัน บอกเหมือนกัน ทำไม่เหมือนกัน อันนี้คนทำไม่เหมือนกัน ๑ พื้นฐานก็ไม่เหมือนกัน ๑ ทำไปเถอะ ของใครของมัน ทำไป ขยันไป ถึงที่สุดแล้วผลมันเหมือนกัน ผลมันให้เหมือนกัน

แต่ตอนนี้นะ ผลยังไม่ให้ แต่เราไปเขียนชื่อให้มันก่อน กรรมฐานเขาเรียกว่า “ให้คะแนนตัวเอง” คะแนนตัวเองให้ไม่ได้นะ มันต้องธรรมะให้ เราจะให้คะแนนไม่ได้หรอก ถ้าเราให้คะแนนเราก็ให้คะแนนเรา เอ บวกๆๆ เลยเรานี่ ให้คะแนนตัวเอง เอ บวกๆ ไม่ใช่ ความจริงมัน ศูนย์ ลบๆๆ แต่เวลาให้ตัวเอง เอ บวกๆๆ เลย เราให้คะแนนตัวเองไม่ได้ มันต้องเป็นข้อเท็จจริงนั้น

ฉะนั้น เราปฏิบัติของเราไป ไม่ต้องไปให้คะแนน จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นหรือไม่เป็น จริงๆ แล้วเราไม่ติดใจเลยนะ จะบอกว่า พุทโธนี่เป็นสมถะ พุทโธนี้ไม่ใช้ปัญญา เราไม่สนใจเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะนั่นคือคำพูด แต่ที่เราโต้แย้ง เรามาพูด เราสงสารพวกโยมที่ฟังมา เราสงสารพวกโยมที่ฟังมาน่ะ

พอโยมฟังมาแล้ว โยมก็เอาทางทฤษฏีนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วพวกโยมพยายามจะปรับใจของตัวเองให้เข้ากับทฤษฏีนั้น ไม่ใช่ปฏิบัติใจนี้ให้เป็นธรรม ปฏิบัติใจ ปฏิบัติตัวความรู้สึกให้เข้ากับทฤษฏีนั้นไง คือตั้งทฤษฎีหลอกไว้ แล้วก็พยายามบังคับให้ความรู้สึกเราไปเข้ากับทฤษฎีนั้นไง ให้ปฏิบัติอีก ๕๐๐ ชาติมันก็ไม่ได้ผล ให้ปฏิบัติอีก ๕๐๐ ชาตินะ อย่าว่าแต่ชาตินี้เลย

แต่ถ้าเราไม่เอาตัวทฤษฎีนั้นมาเป็นตัวตั้งตัวหลอก เราปฏิบัติไปมันตามข้อเท็จจริงใช่ไหม ที่เราพูด ที่เราออกมาโต้แย้งเพราะเหตุผลนี้นะ เราไม่ใช่โต้แย้งว่าใครถูกใครผิดนะ แต่เราโต้แย้งว่าคนที่ปฏิบัติตามนี่ไปตั้งทฤษฎีไว้ แล้วบังคับความรู้สึกเราให้เข้าตามทฤษฎีนั้น มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะทฤษฎีอันนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา แล้วใจของพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ก่อน แล้วท่านถึงได้ตั้งทฤษฎีนี้ขึ้นมา คือบัญญัติขึ้นมา แต่ใจของเรานี่กิเลสทั้งตัว แล้วบังคับให้กิเลสอย่างนี้ให้ไปตามทฤษฎีนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ทฤษฎีนี้มันเกิดขึ้นมาต่อเมื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านถึงได้บัญญัติสิ่งนี้ออกมา “ใจที่เป็นพระอรหันต์แล้ว” ฟังสิ “ใจที่เป็นพระอรหันต์แล้ว” มันรู้จริงเห็นจริง ถึงบัญญัติทฤษฎีนี้มา แล้วพวกเราสกปรกโสโครก หัวใจอยู่ในขี้ แล้วพยายามจะบังคับให้หัวใจไปอยู่ในทฤษฎีนั้นมันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าจะทำให้เป็นไปได้ หัวใจนี่อยู่ในขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ทำให้มันสงบก่อน บอกให้ทำสมถะก่อน ก็มันปล่อยวาง มันว่าง คนที่เป็นเกียร์ว่าง จิตที่เป็นเกียร์ว่างมันมีโอกาสการกระทำใช่ไหม แต่จิตของเรามันยังไม่เกียร์ว่าง มันอยู่ในขี้ มันจะทำอะไรได้ แต่เราก็ตั้งทฤษฎีขึ้นมา แล้วก็พยายามทำให้เหมือนทฤษฎีนั้น มันก็เป็นการหลอกตัวเองไง เป็นการหลอกตัวเอง

แต่คำว่า “หลอกตัวเอง” พูดอย่างนี้แบบว่าเจ็บปวดมาก แต่ไม่ใช่ หลอกจริงๆ วิปัสสนึกไง วิปัสสนึก เพราะจิตมันมหัศจรรย์นะ มันจะทำให้ว่างอย่างไรก็ได้ อ้าว! เราสร้างห้องหนึ่งไว้ห้องหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมนะ กว้างแคบยาวเท่าไรก็แล้วแต่ สร้างไว้ แล้วเราภาวนาของเราไป บอกให้เราเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็น จิตอยู่ในห้องว่างนั้นเลย จิตนั้นจะไปอยู่ในห้องว่างนั้นเลย แล้วนี่นิพพานเหรอ มันก็สร้าง นี่ทฤษฎีไง

แต่ถ้าห้องว่างนั้นเราไม่เกี่ยว เราทำใจให้เราว่าง ทำใจให้เราเป็นความจริง มันก็คือว่างอันเดียวกันน่ะ ทำไมต้องไปสร้างห้องว่างนั้นไว้เพื่อให้จิตมันเข้าไปอยู่ในห้องว่างนั้น ถ้าเราทำจิตเราว่างแล้วมันเกี่ยวอะไรกับห้องว่างนั้น

ที่เราค้าน เราค้านตรงนี้นะ เราค้านเพราะด้วยความสงสารของเรา เราค้านเพราะอยากให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้มรรคได้ผล เพราะไม่อย่างนั้นแล้วการปฏิบัติมันจะสูญเปล่า เราจะบอกว่า การปฏิบัติมันจะสูญเปล่า แล้วเราจะเสียเวลากันเปล่าๆ ทั้งๆ ที่ว่าประสาเราเลย เราไม่ควรจะออกมาเจ็บตัวเลย ประสาเรานะ กูไม่ควรออกมาให้เขากระทืบเลย เพราะไม่ใช่เรื่องอะไรเลยนะ กูไม่ได้ดิบได้ดีกับใครเลยนะ ไม่น่าจะออกมาให้มันเปลืองตัว แต่ด้วยที่ว่าไม่อยากให้ใครสูญเปล่าไง ที่เราค้าน เราค้านเพราะเหตุนี้

ฉะนั้นจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ นี้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว เราทำตามข้อเท็จจริงของเรา

เราพูดอะไรเราจะหนักไปเรื่อย เพราะเหตุผลมันจะลงลึกไปเรื่อย ลงลึกไปเรื่อย ลงลึกไปเรื่อย แล้วประสาเรานะ เราไม่เคยคิดจะถอยหนีใครเลยนะ แต่ประสาเราว่า โทษนะ คนที่มีคุณธรรมในหัวใจจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จะมีคุณธรรมในใจ จะไม่รุกราน ไม่เบียดเบียนใคร

แต่การพูดนี้มันพูดทางวิชาการ พูดเพราะความเมตตาสงสารสังคมโลก ไม่ได้รุกราน ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ไอ้คนที่สอนแล้วมันไม่มีหลัก สอนแล้วมันไม่มีเหตุมีผล เขาก็จะคิดในมุมกลับว่าเป็นการรุกรานกัน เราไม่ได้คิดรุกรานใคร แล้วไม่ต้องการจะรุกรานใคร แต่เพียงเสนอข้อเท็จจริง เสนอข้อเท็จจริงในสัจธรรมเท่านั้น จริงๆ แล้วไม่ต้องออกมายุ่งกับใครก็ได้ ต้องไปยุ่งอะไรกับใคร มันเห็นถูกเห็นผิดของมันแล้ว ไม่ต้องยุ่งกับใครมันก็อยู่ได้

แล้วนี่ออกมาทำไม ออกมาก็เพื่อนี่ไง

๑. เพื่อศาสนา เพื่อสังคม

แต่ไม่ใช่เพื่อตัวเองนะ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง

ฉะนั้น คำว่า “สติปัฏฐาน ๔ หรือไม่สติปัฏฐาน ๔” มันเป็นโวหาร มันเป็นคำพูดไง ที่ว่า ลัดสั้นๆ ไอ้ที่เขาพูดกัน แล้วว่ามันเป็นโวหารหมด มันไม่มีหรอก คำว่า “ไม่มี” นี่นะ เพราะในศาสนาพุทธมันมีบัว ๔ เหล่าใช่ไหม ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติเร็วรู้เร็วมันมีของมันอยู่แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก มันมีของมันอยู่แล้ว

ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติยากรู้ยากนะ ให้ไปปฏิบัติลัดสั้นขนาดไหนมันก็สั้นไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ แต่ลัดสั้นนี่มันเป็นไปได้พวกขิปปาภิญญาไง คือที่เขาปฏิบัติง่ายรู้ง่ายอยู่แล้วมันมี ในข้อเท็จจริง ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ผู้ที่สร้างบุญกุศลมามันมี แต่คนที่ปฏิบัติยากรู้ยากนี่จะไปลัดสั้นน่ะ ไม่รู้เอากี่สั้นมาทบทวน เอากี่สั้นมาต่อกัน

มันเป็นไปไม่ได้หรอก คือมันเป็นตามข้อเท็จจริงของมัน เราจะพูดขนาดไหน มันเป็นคำพูด มันเป็นโวหาร มันเป็นการที่เราบัญญัติศัพท์กัน แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วมันต้องตามข้อเท็จจริงอย่างนั้น มันเป็นอื่นไปไม่ได้ เว้นไว้แต่ตามข้อเท็จจริงที่เราควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เขาไม่ทำของเขา มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย

คนที่ข้อเท็จจริงเขาต้องทำยากรู้ยาก แล้วถ้าเขาไม่มีวิริยะอุตสาหะ เขาก็จะไม่ได้อะไรเลย ถ้าเขามีวิริยะอุตสาหะของเขา เขามีโอกาสได้ แล้วถ้าคนที่ปฏิบัติยากรู้ยาก แล้วมันจะปฏิบัติให้ลัดสั้น มันก็เหมือนกับเอาช้างเข้ารูเข็ม พยายามจะเอาช้างเข้ารูเข็ม ไม่รู้เขาจะเอาเข้าได้อย่างไรไม่รู้ พยายามบังคับช้างให้เข้ารูเข็มเลยนะ เข็มเขาเอาไว้ร้อยด้าย เขาไม่ให้เอาช้างเข้าไป

พูด มันพูดได้นะ พูดได้แต่ข้อเท็จจริง นี่เพียงแต่ว่า ถ้าอย่างนี้มันเสียดายโอกาสนะ คนที่ไปมันได้ มันเคลิบเคลิ้ม ที่ว่าว่างๆ ว่างๆ โอ้! มันสร้างภาพกันนะ เหมือนเรา เราเวลาเราทุกข์ยากกัน เราสร้างสังคมที่ดีๆ เราสร้างสิ่งที่ดีๆ แล้วเราไปเที่ยวในสถานที่นั้นนะ เราจะปล่อยวางนะ เราจะมีความอารมณ์ดี

อย่างเช่นเราไปหาเจ้า คนทุกข์ยากไปหาเจ้ามันพ่นน้ำลายทีเดียว พ่วง! ดี เออ ก็ดีตาม สบายเดี๋ยวหนึ่ง ไปหาเจ้าสิ เวลาเจ้าพ่นน้ำลายเลย พ่วง! อู๋ย! หายหมดเลย ทุกข์นะ กลับบ้าน เบาหมดเลยนะ ได้ ๒ วัน ทุกข์อีกแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ไปถึงก็ว่างๆ ว่างๆ ก็ว่างๆ ว่างๆ กัน ได้ ๒ วัน แต่ไปบ่อยๆ เข้ามันก็ได้ต่อเนื่องนะ แล้วเป็นจริงไหม ถ้าว่างๆ นะ เราอยู่บนกองไฟก็ว่าง เราอยู่บนทุกข์ขนาดไหน เราไปอยู่บนวิกฤตขนาดไหนเราก็ว่าง ถ้าความว่างจริงนะ มันอยู่ในวิกฤตขนาดไหนมันก็ว่างของมัน แต่ถ้าความว่างไม่จริงนะ มันต้องสร้างภาพว่างมันถึงว่าง มันอย่างนั้นมันไม่ว่าง

แต่ถ้ามันเป็นความว่างจริงนะ ดูสิ หลวงตาท่านพูดบ่อย ลิงมันโดดเกาะกิ่งไม้ พอมันโดดเกาะกิ่งไม้แห้งมันก็ตก ลิงมันไม่ว่าง ลิงมันหลุกหลิก แต่ถ้าคนว่าง มันไม่โดดเกาะกิ่งไม้ ไม่โดดเกาะกิ่งไม้มันก็ไม่มีเวลาพลาด ถ้าลิงมันโดดเกาะกิ่งไม้ไป หัวใจเราไง มันเหมือนลิง โดดเกาะ เหมือนเกาะความคิด เกาะกิ่งที่ดีมันก็มั่นคง เกาะกิ่งที่ผุมันก็ตกเจ็บ แต่หัวใจมันว่างมันจะโดดไปเกาะกิ่งไหน

นี่หลวงตาเวลาท่านเปรียบเทียบ คนจริงเปรียบเทียบแล้วมันเห็นภาพ คนไม่จริงเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบแล้วเห็นแต่ภาพลบ มันเปรียบเทียบลงสู่ภาพลบหมดเลย แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยเตือนเมื่อไหร่เท่านั้นเอง อันนี้มันเป็นความเห็นนะ

นี้สติปัฏฐาน ๔ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็เปรียบได้เหมือนกับสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าพูดถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วคนมันจะให้ค่าตัวเองมากเกินไป พอเราใช้ปัญญาไล่ไปน่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ แต่ของเขาคิดว่านั่นคือสติปัฏฐาน ๔ ใช้ความคิดแล้ว คือปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “สมาธิ” คือจิตว่าง จิตปล่อย พอจิตว่าง จิตปล่อยแล้ว หินทับหญ้าแล้ว หญ้าไม่เกิด คือกิเลสไม่เกิด กิเลสมันไม่ออกมาฟุ้งซ่านแล้ว เราใช้ปัญญา มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา

ปัญญานี้เกิดจากธรรม เกิดจากสัจจะ เกิดจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เกิดจากการกิเลสปรุงแต่ง ถ้าหญ้านั้นคือกิเลส ถ้ามีหญ้าอยู่ หญ้ามันปรุงแต่งด้วย ของนั้นไม่สะอาดบริสุทธิ์ ความคิดเราบวกด้วยกิเลส แต่เราใช้การทำความสงบของใจเข้ามา เหมือนหินทับหญ้าไว้ หินทับหญ้าไว้ไม่มีหญ้า ไม่มีกิเลสเข้ามาปรุงแต่ง ความเกิดขึ้นนั้นจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาชำระกิเลส

ปัญญาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของเรามันเกิดขึ้นมาด้วยโลกียปัญญา คือมีหญ้า มีหญ้าปนเข้ามา ถ้ามีหญ้าปนเข้ามาเราก็ใช้ปัญญาไล่เข้าไปจนหญ้ามันไม่มี พอหญ้ามันปล่อยหมดมันก็เป็นความว่าง มันก็เป็นสัจธรรม พอสัจธรรม คำว่า “สัจธรรม” ธรรมะเกิดจากสัจธรรม แต่ความคิดเราเกิดจากโลก เกิดจากความเห็น เกิดจากของเรา ถึงเรียก โลกียปัญญา โลกียปัญญาคือเกิดจากเรา เกิดจากความเห็นของเรา

สัจธรรมมันจะเกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยสัจจะ ไม่ใช่เกิดจากเรา

คำนี้ฟังให้ดี ถ้ามีเรา มรรคสามัคคีไม่ได้ เรานี่เข้าไปขัดแย้งกับในมรรค เพราะมีเราเข้าไปมันจะไปหน่วง ไปส่งเสริมให้มรรคนั้นเป็นมรรค แต่ถ้าไม่มีเราขึ้นมานี่มันจะเป็นข้อเท็จจริงของมัน เหมือนพายุ ลมพายุมันเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของมัน อุณหภูมิได้ของมัน ความร้อนของมันมี พายุมันจะเกิด แต่ถ้าอุณหภูมิไม่มี พายุเกิดไม่ได้ จิตของเรา ถ้ามันกดทับหญ้า กดตัวตนเราไว้ อุณหภูมิมันได้ มันเป็นไป เดี๋ยวสัจจะมันเกิด สัจจะมันเกิดมันหมุนไป จักรมันหมุนไป ธรรมจักรมันหมุนไป มันจะกลับมาฆ่ากิเลสอย่างไร ชัดเจนมาก

แต่นี้ไม่รู้อะไรเลยนะ สติปัฏฐาน ๔ เอาแต่ชื่อมาแขวนคอ เหมือนห้อยพระเลยนะ นี่สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ มันจะเป็นตามข้อเท็จจริงเลย ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะเห็นจริงอย่างนี้ เห็นจริงจากมุมมอง เห็นจริงจากสัจจะ เห็นจริงหมดเลย แล้วรู้จริงหมดเลย แล้วจะเอาไปอยู่ในวิกฤตไหนมันก็จริงของมันอยู่วันยังค่ำ นี่ข้อเท็จจริง สติปัฏฐาน ๔ นะ

อย่าไปห่วงมัน ใครจะว่าถูกว่าผิด ถามคนที่บอกว่าผิดถูก เอ็งเอาค่าอะไรมาวัด

คนๆ หนึ่งบอกว่า นี่สติปัฏฐาน ๔ ชัดเจน ไปถามอีกคนหนึ่งนะ บอกนี่สติปัฏฐาน ๔ ยังไม่มั่นคง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะค่าในใจของเขา ความรู้สึกของเขามันต่างกัน สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า แต่เขาเอาค่าความรู้สึกในใจของเขาเทียบ อันไหน ค่าอันไหนมันจะแท้ ค่าอันไหนมันจะไม่มีค่า แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้ว ของเรารู้เอง มันสันทิฏฐิโกนะ รู้เฉพาะตนในหัวใจเลย

ทีนี้ อย่างพระป่า ท่านจะกลับมาที่ทำความสงบก่อน ทำใจให้สงบก่อน อย่าให้อะไรเข้ามาพะวักพะวน แล้วให้มันเกิดตามข้อเท็จจริง แล้วข้อเท็จจริงนั้น เวลาเป็นขึ้นมาแล้วก็จะมาถามครูบาอาจารย์ เพราะเราอยู่ในวงกรรมฐานเหมือนกัน มีพระเยอะมาก มาบอกว่าสิ้นกิเลสแล้วบ้าง อะไรบ้าง เรารู้อยู่ว่ามันปล่อยวาง มันมีอะไรของเขาขึ้นมา แต่เขาต้องทำต่อไปอีกไง

เหมือนเรา เจ๊กตื่นไฟ สามล้อถูกหวย พอได้เงินหน่อย ดีใจๆ สามล้อถูกหวย ได้เงินมาลอยๆ ขึ้นมา มึงบริหารเป็นเหรอ เดี๋ยวก็หมด เราถ้าเป็นสามล้อถูกหวยขึ้นมาแล้วเราต้องเอาเงินมาบริหารให้ได้ จากสามล้อถูกหวย ถูกหวยหมายถึงว่ามันได้มาโดยลาภลอย สิ่งที่รู้ขึ้นมามันลาภลอย มันยังไม่มีฐานมั่นคง เดี๋ยวก็เสื่อม แต่ถ้าเรารู้จริงเห็นจริง เราบริหารเป็นจัดการเป็น

เราพูดบ่อยนะ เราตั้งสติไว้อยู่กับพุทโธ สมาธิไม่มีเสื่อมเลย เพราะอะไร เพราะเรารักษาเหตุไว้ดี เรารักษาไฟไว้ดี ไฟเราดูแลไว้ดี เราตั้งน้ำไว้เดือดแน่นอน แต่บางคนมันไม่รักษาไฟเลย มันตั้งน้ำไว้แล้วก็เปิดแต่กา ดูแต่น้ำเดือด แต่มันไม่ดูไฟเลย เรากลับมาดูที่ไฟ พัดไฟให้ดีเลยนะ น้ำเดือดหรือไม่เดือดช่างหัวมัน ไม่เดือดเป็นไปไม่ได้

นี่เหมือนกัน กรรมฐานเราไม่ห่วงอะไรเลย กลับมาทำให้สงบให้ได้ พอสงบแล้วมันก็มีผิดมีถูกของมันไป ครูบาอาจารย์คอยเคลียร์ให้คอยแก้ไขให้ แล้วเราก็พิสูจน์ด้วย ถ้ามันไม่จริงนะ เดี๋ยวมันเสื่อมหมดไง ถ้ามันจริงขึ้นมานะ อืม! กระทบอะไรก็ อืม! ถ้าไม่จริงนะ ไม่ต้องกระทบหรอก มันวิ่งไปหาเขาเลย พอวิ่งกลับมา “หลวงพ่อ หมดแล้ว นี่หมดเลย ทุกข์มาก” ทุกข์มากก็สร้างใหม่ เป็นไรไป เพราะคนปฏิบัติแล้วไม่เสื่อมไม่มี มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ แล้วคนไม่เคยปฏิบัติมันก็ไม่รู้ใช่ไหม เวลาเสื่อมแล้วมันก็โอ๋ใหญ่เลย โอ๋ๆๆ ยิ่งโอ๋มันยิ่งเสื่อม

ไม่ต้องโอ๋ พุทโธๆๆ ปัญญา สติตั้งขึ้นมา เดี๋ยวมันก็หาย ไปโอ๋อยู่ เพราะเด็กมันไม่สร้างสติ ไม่ทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้นมา มันก็เข้มแข็งขึ้นมาไม่ได้ ถ้ามันทำเข้มแข็งขึ้นมานะ พอเด็กมันเข้มแข็งขึ้นมา ผู้ใหญ่เกี่ยวอะไร รำคาญด้วย ใครเข้ามาดูแล เพราะทุกคนต้องการอิสระ แต่ถ้าเด็กมันรักษาตนไม่ได้มันก็จะไปอาศัยเขา

ชัดเจน ชัดเจน เนาะ จบแล้วแหละ เอวัง