เทศน์เช้า วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ศรัทธาความเชื่อไง ศาสนาอยู่ที่ความเชื่อ ถ้ามีความเชื่อมีศรัทธาๆ พาไป เวลาเราไปทำบุญกุศลเรามีศรัทธาความเชื่อพาไป เพราะเรื่องของศาสนา เรื่องของศาสนานี่มันเป็นเรื่องการตอบชีวิตไง เพราะเรามืดมนกับชีวิต เราถึงต้องเวียนตายเวียนเกิด ถ้าเราแจ้งในเรื่องของชีวิต มันจะไม่มีการเวียนตายเวียนเกิด มันจะจบสิ้น แล้วมีความสุขในวิมุตติสุขอันนั้น มันเป็นที่ว่าเข้าถึงธรรม แต่ในเมื่อศรัทธาของเรายังเข้าไม่ถึงธรรม ศรัทธานี่จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องมันยังเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ปัญหาที่ว่าศรัทธาของเราถูกต้อง มันศรัทธาความเชื่อของเรา ความเชื่อของเราขับเคลื่อนไป ความเชื่อขับเคลื่อนไปแล้วเราทำตามความเชื่อของเขา ความเชื่อของคนต่างๆ กัน แล้วความเชื่อ เห็นไหม
ชาวพุทธก็เหมือนกัน แต่ชาวพุทธทำแค่ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา มันก็ต่างกัน ความเชื่อต่างกัน แล้วก็จะมีความคิด เห็นไหม ความคิด ถ้าพูดถึงเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกเลย ฟังธรรมแล้ว เวลาเข้าถึงธรรมแล้วจะไปกราบศพของท่าน กราบศพของท่านเพราะท่านเข้าถึงธรรมแล้ว ถึงที่สุดไม่มีกำมือในเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ว่า ไม่มีกำมือในเรา ในศาสนานี้สอนถึงความสิ้นสุดกระบวนการของการประพฤติปฏิบัติ ถึงที่สุดจะไม่มีความลับในศาสนานี้เลย เพียงแต่เราเข้าไม่ถึงไง ปัญญาของเราเข้าไม่ถึง ปัญญาของเราบังไว้ เราจะได้ขนาดนั้น นั้นคือความเชื่อ เห็นไหม
ความเชื่อเราก็ขับเคลื่อนไปตามความเชื่อ ความที่บีบคั้น เวลาจิตของเราไม่สมความปรารถนามันบีบคั้นใจนะ ใจเวลาโดนความบีบคั้น มันจะมีความทุกข์มาก แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ มันก็มีความบีบคั้นเหมือนกัน เวลาเกิดเวทนา เห็นไหม เวทนาเกิดขึ้น มีความทุกข์ในหัวใจ นั้นก็เราต้องต่อสู้ เวทนาเกิดขึ้นกับการประพฤติปฏิบัติมีความเจ็บปวดขึ้นมา เห็นไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราอ่อนแอนี่มันซ้อนขึ้นมานะ ร่างกายนี่เจ็บไข้โดยธรรมชาติของมัน แต่หัวใจก็เจ็บไข้เพราะว่ากังวลไปกับร่างกายนั้น
ถ้าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายนี้เป็นเรื่องของหมอเป็นเรื่องของยา แต่หัวใจของเรา เราจะไม่เชื่อสิ่งนั้น หัวใจของเราจะเชื่อธรรม นี่สิ่งนี้มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วมันก็ต้องหายไปเป็นธรรมดา ถ้ามันหายไปมันหายไป ถ้าไม่หายไปมันก็ต้องตายเป็นธรรมดา ถึงที่สุดแล้วตายไป ร่างกายนี้เป็นเครื่องอาศัย เป็นร่างกายที่เราอาศัยมันขับเคลื่อนดำรงชีวิตนี้ไปเท่านั้น ถ้าเราพาร่างกายนี้ขับเคลื่อนชีวิต เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเราได้เรือคนละลำ อยู่ในทะเลมีเรือคนละลำ แล้วพยายามพาเรือนั้นเข้าฝั่ง
ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เข้าถึงฝั่งก็มี เข้าไม่ถึงฝั่งก็มี ถ้าเข้าถึงฝั่งมันจะทำให้เราพ้นออกไปจากวัฏวน วัฏฏะนี้เป็นที่ดำรงของชีวิตนี้ จิตนี้เวียนไปในวัฏฏะ สูงๆ ต่ำๆ แล้วแต่กรรมขับเคลื่อนไป ถ้ากรรมขับเคลื่อนดีมันจะทำให้สูงมาก ถ้าศรัทธาเราตรง เราทำความเห็นของเราตรง นั่นล่ะมันก็ต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา ถ้ามีศีล เห็นไหม ความไม่เบียดเบียนเขา ถ้าไม่เบียดเบียนเขานี่เรื่องของหยาบๆ ถ้าเราปาณาติปาตา เราฆ่าเขาตาย เราผิดศีล
แต่ถ้าเราอธิศีล เห็นไหม เราเบียดเบียนตน ถ้าเราเบียดเบียนตน เราก็เบียดเบียนผู้อื่น เพราะความคิดเรานี่เบียดเบียนตน แต่เพราะศรัทธาเราเชื่อของเรา อวิชชาปิดบังไว้ตรงนี้ไง ตรงที่ว่าเราเชื่อของเราว่าตรงนี้เป็นความจริง เราก็เชื่อศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงว่า คบมิตรดีนี้คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นออกไปจากทุกข์ เวลาขับเคลื่อนไปนะ กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันเกิดที่ใจ เวลามันขับเคลื่อนออกไปจากใจมันรู้จากใจเรา ใจเรารู้เข้าใจความขับเคลื่อนของกิเลสทั้งหมดเลย แล้วมันดับลงที่ใจของเรา แล้วใจของดวงอื่นมันก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน มันขับเคลื่อนแบบนี้ คนที่มีกิเลสอยู่ในหัวใจจะไม่เข้าใจแบบนี้ เพราะเป็นคนตาบอดไง คนตาบอดนี่ความคิดใจมันบอด พอบอดนี้มันจะคิดความเห็นของมันไป พอมันเชื่อสิ่งใดความคาดหมายของมันก็เป็นไป มันถึงไม่มัชฌิมาปฏิปทา
ถ้าคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยายามดัดเข้าธรรม สิ่งนี้มันต้องปล่อยวาง เกิดดับนี้เป็นธรรมดา แต่เกิดดับแบบหยาบมันก็มี แบบกลางก็มี แบบละเอียดก็มี มันละเอียดสุดเข้าไปในหัวใจมันก็มี เราไม่ทันมันหรอก แล้วเวลามันเกิดดับนี่ มันยึดมั่นถือมั่น ความยึดของมันมันเห็น ความเห็นของเรานี่ทิฏฐิมานะเกิดตรงนี้
นี่ความดำริชอบ ถ้ามันชอบมันจะชอบตามความเป็นจริงแล้วมันจะปล่อยวาง นี้ความดำริชอบของกิเลส กิเลสมันเห็นพร้อมไปกับเรา พอกิเลสเห็นพร้อมไปกับเรา ความเห็นชอบของความพอใจ ความเชื่อของเราเป็นแบบนั้นไป ถึงความเชื่อของเราไม่บริสุทธิ์ไง ความเชื่อของเราไม่ตามความเป็นจริงไง
ถ้าความเชื่อของเราตามความเป็นจริงนะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าเราคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เราเกิดทันนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชี้นำแบบนี้ ถ้าเราคบไม่ทัน เราก็คบธรรมวินัย ปัจจุบันนี้มีธรรมวินัยเรื่องศาสนาสอนให้เราทำเข้ามาจากภายใน ถ้าคนเราเชื่ออย่างหยาบๆ มันก็แค่ให้ทานกัน แล้วมันก็หมกมุ่นอยู่กับโลกชีวิตเขา ชีวิตนี้เราต้องดำรงชีวิต ความเป็นงานของเรา งานของโลก เห็นไหม งานของโลกไม่มีที่สิ้นสุด แต่งานของโลกมันมีสิ่งตอบแทน สิ่งตอบแทนคือเงินตรา สิ่งที่เป็นผลประโยชน์อันนั้น พออันนี้ตอบแทนขึ้นมา มันติดตรงนั้นไง พอติดตรงนั้น เห็นตรงนั้นเป็นประโยชน์
แต่ว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถึงว่าคนมั่งมีศรีสุข คนจะยากจนเข็ญใจขนาดไหน เวลามันทุกข์ใจสิ่งนั้นแก้ไขไม่ได้หรอก เวลาเราคิดว่าเงินเป็นพระเจ้านะ ทุกคนคิดว่าเงินนี้เป็นพระเจ้าจะซื้อสิ่งใดก็ได้ แต่ซื้อชีวิตไม่ได้ ซื้อความสุขความทุกข์ความจริงไม่ได้ มันจะซื้อได้เป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิสเครื่องตอบแทนกันนี้เงินซื้อได้ เพราะเงินซื้อมานี่มันความพอใจ แม้แต่ซื้อสิ่งของมาปรนเปรอตัวเอง ถ้ามันชอบใจสิ่งใดปรนเปรอมันมันก็มีความสุขไปชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันไม่มีวันที่สิ้นสุด เพราะกิเลสนี้เอาไฟเผาขนาดไหนนะ ถ้าเราเติมฟืนเข้าไป ไฟมันจะจรดเมฆ มันจะเผาไปจรดเมฆ
ใจก็เหมือนกัน ถึงต้องชักมันออก เห็นไหม สิ่งที่ชักออกนี่มันเป็นความละเอียดเข้าไป แล้วใครจะยอมชักสิ่งนี้ออก ชักสิ่งเป็นประโยชน์ของเราออก มันเป็นประโยชน์ของเราตามความเป็นจริง แต่เราไม่มีตัณหาความทะยานอยากอย่างนั้น งานอย่างนั้นไม่ใช่เป็นกิเลสหรอก งานการดำรงชีวิตมันไม่เป็นกิเลส มันต้องแสวงหา ถ้าเป็นกิเลส พระภิกขาจาร เห็นไหม บิณฑบาตไปเป็นกิเลสไหม เป็นกิเลสเพราะเลี้ยงชีวิตไป เพราะชีวิตมีความเป็นอยู่ไง สิ่งที่มีอยู่เรารักษาไว้ ไม่เป็นกิเลส
แต่สิ่งที่ว่ามันไม่เป็นตามความเป็นจริง เราต้องการและปรารถนา ไม่สมความปรารถนา อันนั้นเป็นกิเลส สิ่งนี้ไม่สมความปรารถนา นี่มันมองต่างกัน ถ้าอย่างนั้นชีวิตนี้ไม่เป็นกิเลส เห็นว่าคนความเห็นผิด เห็นไหม โลกนี้เพราะมีเรา ต้องทำลายเรา เราตายไปทุกอย่างจะจบสิ้น มันไม่จบสิ้นหรอก เพราะจิตดวงนี้ไม่เคยตาย ตายจากชาตินี้ ตายจากภพสภาวะนี้ แต่ต้องไปเกิดสถานะใหม่ แล้วก็จะต้องหมุนเวียนไปๆ หมุนเวียนไปในสภาวะของทุกข์ด้วยเพราะอะไร เพราะการทำลายตัวเอง ทำลายตัวเองนี่ทำลายผลประโยชน์ของตัวเอง เวลาทำลายคนอื่นเรายังทำลายคนอื่นได้ นี่ทำลายตน
เหมือนกันเลย ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ตนเป็นผู้ที่ว่ามีความสุขก่อน แก้ไขตนได้ก่อน ไม่เบียดเบียนตนแล้วก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น อันนี้เบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่นก็เป็นความเห็นเบียดเบียนคนอื่น ทำให้ตนเองหลงผิดไป แล้วก็ทำให้คนอื่นหลงผิดไป ความหลงผิดอันนี้ นี่คบครูบาอาจารย์ไง ถ้าครูบาอาจารย์ชี้ถึงทางได้ ถ้าเชื่อครูบาอาจารย์ได้ เราลงใจกับครูบาอาจารย์องค์ไหน เราก็จะเชื่อได้ จะชี้เรื่องความผิดความถูกในใจของเรา ถ้าชี้ไม่ได้เราก็คบธรรมวินัย ธรรมวินัยคือองค์ศาสดา เราต้องเชื่อศาสดา ยึดสิ่งนี้ไว้ก่อน พิสูจน์กัน เห็นไหม
พิสูจน์สิ่งนี้มันพิสูจน์ไม่ได้หรอก คนเรามันจะยอมกันไม่ได้ ทุกคนมีทิฏฐิมานะในหัวใจ สิ่งที่มีทิฏฐิมานะในหัวใจนี่มันจะยอมฟังกันไม่ได้ แต่ในเมื่อมันเข้าไปเผชิญความจริง เวลาปฏิบัติไปนี่เขารู้แล้วไง ครูบาอาจารย์รู้แล้ว บอกเราแล้ว เราเข้าไปประสบทีหลังนี่ มันจะอ๋อๆ ไปนะ แล้วมันจะเคารพด้วยธรรม นี่บารมีธรรมเกิดจากตรงนี้ เกิดจากความเห็นจริงอันนั้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว แล้วพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมตาม รู้ธรรมตาม เป็นศาสดา เป็นเครื่องดำเนิน เป็นพยานต่อกัน มันเข้าถึงใจแล้วมันจะเคารพกัน เคารพตามความเป็นจริงไง สิ่งนี้มีอยู่จริง เหมือนกับขุมทรัพย์ ขุมทรัพย์มีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็นขุมทรัพย์นั้นเลย พอเราไปเห็นขุมทรัพย์นั้น เราเห็นทีหลัง ครูบาอาจารย์เห็นมาก่อน ครูบาอาจารย์ชักนำชี้นำมาก่อน เราเห็นก่อน สิ่งที่เราเห็นก่อนนั้นมันจะยืนยันได้อย่างไรว่าเราจะรู้ เรารู้จริงขึ้นมานี่มันก็รู้แบบรู้ตามครูบาอาจารย์ เห็นไหม
นี่สาวกะ สาวก ผู้ได้ยินได้ฟัง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ อันนี้ถ้าเราศรัทธาๆ อย่างนี้ แล้วเราพยายามทำของเราเข้าไปนี่ มันเป็นปัจจัตตัง เห็นไหม ปัจจัตตังจากใจของเรา แล้วเวลามันขัดเคืองใจ ความที่ขัดเคืองใจ ความมันทุกข์ ความบีบคั้นใจนี่ ความบีบคั้นใจก็เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นงาน แต่ถ้าเป็นงาน เราต้องฝืนใจ ถ้าเราฝืนใจนี่เราฝืนกิเลสของเรา เราไม่เคยเห็นหน้ากิเลสของเราเลย แล้วกิเลสก็มีอำนาจเหนือเรา แล้วมีอำนาจบังคับบัญชาเรา เราจะต้องไปตามความคิดของเราตลอดไป
แต่เราฝืนความคิดขึ้นมานี่ เราให้กิเลสมันเบาตัวลง เราต้องฝืนมัน สิ่งที่ฝืนมัน มันจะเป็นไปตามความคิดนั้น เราไม่ยอม เราฝืนความคิดอันนั้น นั่นเราฝืนกิเลสมาตลอดๆ นั่นมันเป็นการดัดแปลงกิเลส เป็นการบีบคั้นกิเลส เห็นไหม กิเลสมันต้องต่อต้าน สิ่งที่ต่อต้านบางทีเราก็แพ้ ถ้าเราแพ้เราถอยกรูดๆ แพ้นะ มันถอนหายใจเลยว่าเราแพ้ ถ้าเราชนะนะ มันก็จะถอนหายใจเหมือนกัน แต่การถอนหายใจด้วยความโล่งอกไง เอาชนะขั้นตอนหนึ่งๆ กิเลสมันต้องยุบยอบตัวลงๆ ความคิดของกิเลสจะยุบยอบตัวลง แต่ความคิดของธรรมจะเกิดขึ้นมา ความดำริชอบจะเกิดขึ้นแบบนี้ ความดำริมันจะชอบขึ้นมา ชอบความถูกทาง มันจะถูกกับความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าความดำริด้วยความเห็นของกิเลส ความดำริของเรามันต้องแก้ไขอย่างนั้น มันจะขัดข้องใจ มันจะบีบคั้นขนาดไหนต้องต่อสู้
นี่เวลานั่งทุกข์ทรมาน ทุกข์เพื่อพ้นจากกิเลสนะ เวลาเราทุกข์ขึ้นมานี่ เราทุกข์แล้วเราก็ผ่อนคลายไป แล้วเราก็ทุกข์ใหม่ๆ อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด มันจะซ้ำซากอย่างนี้ตลอดไป แต่ถ้าเราฝืนกิเลส เรายอมทุกข์เสียๆ เหมือนกับเราผ่าตัด เห็นไหม มันก็เจ็บปวด การผ่าตัดเพื่อจะพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บนี่ มันต้องมีความเจ็บปวด ความเจ็บปวดนั้นทำให้เราหายไข้ พอเราหายไข้ชีวิตเราก็สุขสบายไปชั่วกาลหนึ่งๆ ตามแต่ไข้นั้นหายไป แต่มันก็ต้องไปถึงที่สุด ต้องตายเหมือนกัน
แต่ถ้าเราฝืนตน เห็นไหม เราฝืนตน เราดัดแปลงนี่มันจะเป็นความทุกข์ แต่ทุกข์อันนี้มันเป็นการผ่ากิเลส ทำลายกิเลสออกจากใจ มันทุกข์ขนาดไหนมันต้องฝืนทน เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นคนตาบอด เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อครูบาอาจารย์ ความสุขอย่างยิ่งมันมีในหัวใจของเรา ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย การดำรงชีวิตของเรานี่ดำรงชีวิตไป เพื่อให้สิ่งนี้มันเปิดเผยขึ้นมา ถ้ามันเปิดเผยขึ้นมาจากใจ เห็นไหม ใจไม่มืดบอด ใจกระจ่างแจ้งในธรรม เป็นปัจจัตตังแก้กิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันเห็นตามความจริงแล้วมันแก้มันปลดเข้าไป เป็นจริงเป็นชั้นเลยนะ มรรค ๔ ผล ๔ ปลดเข้าไปจนถึงที่สุดได้ นั่นล่ะความบีบคั้นของใจ
ถ้ามันบีบคั้นด้วยกิเลสเป็นอย่างหนึ่ง มันบีบคั้นด้วยธรรม เห็นไหม ด้วยธรรม ด้วยความทุกข์ ด้วยที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมที่เราแสวงหา เราก่อขึ้น มันเป็นงาน มันเป็นความเพียร มันไม่ใช่เบียดเบียนที่ว่าเราจะต้องทุกข์มันตลอดไป มันเบียดเบียนจนชนะกิเลสได้ กิเลสมันเบียดเบียนเอาจนตายนะ หลอกเอาจนตาย เรานี้ต้องตายคาอำนาจของมันเลย พญามารอยู่ในหัวใจของเรา
แต่เวลาทุกข์ของธรรม เห็นไหม ทุกข์ของธรรม ทุกข์ในการประพฤติปฏิบัตินี่มันมีความสุขสิ เวลามันปล่อยวางมันจะโล่ง มันจะมีความสุข ความสุข เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ แต่เวลาสุขมันควรกำหนดไหม สุขมันอยากให้อยู่กับเรานานๆ มันก็เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา จนถึงที่สุดเป็นอกุปปะ ไม่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ถึงที่สุดมันจะปล่อยขาดออกไปจากใจ มรรคสามัคคีแล้วชำระกิเลสออกไปจากใจ เกิดขึ้นมาจากที่ว่าความเบียดเบียน เห็นไหม ความคับแค้นของใจ ใจมันคับแค้นเพราะกิเลสมันมีอำนาจมากกว่า แต่มันจะมีความรื่นเริงอาจหาญ
ถ้ามีธรรมสูงขึ้นมา อาจหาญว่าสิ่งนี้เราก็ทำได้ กิเลสมันต้องอยู่ใต้อำนาจของเรา กิเลสมันต้องตายไปจากใจของเรา นี่กำลังใจมันเกิด เกิดขึ้นมาเพราะว่าเรามีความต่อสู้ ถ้าเราไม่ต่อสู้นะ เวลาเบียดเบียนนะ เวลาคับแค้นใจขึ้นมา เวลาจนตรอกขึ้นมา มันยอมแพ้มันก็ถอยนะ เราก็ต้องอยู่ในอำนาจของมัน เหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง เจ้าของจูงไปไง กิเลสมันจูงสัตว์ตัวนั้นไป เดินตามมันต้อยๆ ไป สัตว์ไม่เคยฝืน แต่ขณะนี้สัตว์นี้มันจะฝืน ฝืนกิเลส ฝืนความที่ว่าความคิดของเราคือเจ้านายของเราที่จะจูงเราไป เราไม่ไปกับสิ่งนั้น เราไปกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราแยกออกๆ แยกออกมาทำลายขึ้นมา จนถึงที่สุดไง
นั่นล่ะความเชื่อถ้ามันเชื่อถูกต้องมันก็ถึงที่สุด ความเบียดเบียน ความคับแค้นใจ ถ้าเราต่อสู้เราดัดแปลงก็ถึงที่สุด มันถึงต้องมีการดัดแปลง มันถึงจะมีความเจริญรุ่งเรือง เราไม่ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส เราฝืนขึ้นมา นั้นเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมเกิดขึ้นมาจากเรา แล้วเราเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกทางใจนี้ มันจะเข้าถึงความสุขอย่างยิ่ง เอวัง