เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม เป็นชาวพุทธ ว่าเกิดมามีวาสนาที่สุด เป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาสอนเป็นคนมีหลักมีเกณฑ์ไง เริ่มต้นจากคนวนไปวนมา คนแก้ว คนเกิดมาเป็นคนเปล่าไง เหมือนเราคนกาแฟ หมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ ไร้สาระของการเกิดเป็นคน คนนะ สัตว์เดรัจฉานมันยังรู้ผิดรู้ชั่วนะ แต่เราเป็นคน แล้วศาสนาสอนลึกเข้าไปในหัวใจของคน เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้ประเสริฐมากๆ เลย แล้วเราจะคว้าอะไรติดมือไปบ้าง เราจะคว้าอะไรติดมือติดใจเราไว้บ้างเพื่อให้ไปเกิดดีขึ้นไปอีก
แต่ใจ เป้าหมายของเราชาวพุทธนี้มันต้องนิพพานอย่างเดียว เพราะศาสนานี้สุดยอดไง สุดยอดเลยล่ะ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี่ศาสนาพุทธถึงว่าประเสริฐมาก แล้วเราเป็นชาวพุทธนะ เราเกิดเป็นคน ทีนี้ว่าการเกิดเป็นคน ไม่ใช่ว่ามีวาสนาถึงได้เกิดเป็นคน การจะเกิดเป็นคนมา เกิดมาจากอะไรคนน่ะ เราได้สร้างคุณงามความดีมาแล้ว มนุษย์สมบัติไงถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาแล้วทุกข์ไหม? ทุกข์ เกิดมาแล้ว เกิดมาตั้งแต่ปฏิสนธิจิตนะ ตั้งแต่ครรภ์มารดา ถ้าเราย้อนกลับไปดูนั่นน่ะ นรกขุมหนึ่ง ครูบาอาจารย์ว่าไว้อย่างนั้น เพราะมันอยู่ในอย่างนั้นท่าเดียว ๙ เดือน อยู่ในท่าขดตัวอย่างนั้น ๙ เดือน เราทุกข์ไหม? ทุกข์ เพราะเราไม่รู้จัก เราลืมไปไง
ขณะอยู่ในปัจจุบันธรรม อยู่ในครรภ์ของมารดา ทุกข์ขนาดไหน อาการที่ขยับไม่ได้เลย เรานอน เรานั่งอยู่นี่ เราก็ว่าเรายังปวดเมื่อย เจ็บเมื่อย เรายังขยับออกได้นะ ขดอยู่ในที่แคบๆ อย่างนั้นน่ะ ๙ เดือน แล้วบุญเลี้ยงไว้นะ ตกคลอดออกมาถึงยังมีชีวิตอยู่ ไม่เห็นเหรอ ทารกคลอดมาตายตั้งแต่ในครรภ์ก็มี ตกคลอดมาตายก็มี เกิดมาแล้วเป็นเด็กๆ ตายก็มี เราเกิดมาแล้ว ชีวิตสืบต่อมาจนป่านนี้ นี่ว่ามีบุญหรือไม่มีบุญ บุญอยู่ที่ตรงนี้ บุญไม่ได้อยู่ที่ว่าความพอใจของเราถึงจะเป็นบุญไง เราพอใจเราสุขใจ อันนั้นวิชามาร มารมันหลอก มารมันหลอกนะ เวลาทำอะไรไป ถ้าพอใจของตัว นั่นน่ะวิชามาร เดี๋ยวจะว่าเป็นคนฉลาด คนไหนเป็นคนฉลาดเอาตัวรอดได้ คนนั้นเป็นคนดี นั่นวิชามารล้วนๆ
วิชาของพระพุทธเจ้า ปัญญานี้เอาชนะกิเลส มาร เขาเรียกว่า มาร แต่ความจริงมันคือกิเลสต่างหาก จะเรียกว่า กิเลส มันกลัวจะเจ็บปวด เจ็บแสบใจมัน มันเลยบอกวิชามารไง เพราะมารฝ่ายเทพมันมีใช่ไหม เทวดาฝ่ายมาร ว่าเป็นวิชามาร เพราะมันเป็นประโยชน์ของโลกเขา มันยังช่วยกันได้ ยังเป็นประโยชน์กับเขาบ้าง เพราะว่ามันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าเอาตัวรอดไป แต่นี่เราจะสู้กับกิเลส วิชามารไง
จะนั่งก็ว่าเอาไว้ก่อน วิชามาร หมายถึงว่า มันทำให้เราล้มไปนะ มันจะต่อต้านความคิดเรา มันจะทำให้เราล้มไป วิชามาร เรามีไหม ในตัวเราน่ะ เพราะว่าเป็นปัญญาไง ฟังนะ ปัญญาคือการชนะตัวเอง แต่ถ้าเป็นวิชามาร ปัญญาเอาตัวรอดไง เอาตัวรอดไปชั่วคราวๆ ไป แต่ไม่รู้หรอกว่ามันจะไปเจอทุกข์ข้างหน้า มันไม่ได้ชำระ มันเป็นการสะสมไว้
อย่างเช่นโรค ถ้าเรารักษาโรคหาย มันก็หมดเรื่อง รักษาโรคไม่หาย โรคมันหลบใน นี่เหมือนกัน หลบไปหลบมา วิชามาร แล้วมันชนะจริงไหม? มันไม่ชนะจริง มันไม่สบายจริงหรอก แต่มันบอกว่าสบาย เราก็เชื่อมัน นั่งสมาธิอยู่ เริ่มต้นจะทำนี่แหละ มันก็ยุแหย่ให้ล้มแล้ว มีในตัวเรา นี่เขาเรียกว่า กิเลส ว่าไม่เคยเห็นกิเลส นี่ความคิดอย่างนี้เป็นกิเลส จำไว้เลย กิเลสหน้ามันเป็นอย่างไร กิเลสมันคืออยู่หลังความคิดเราไง เราคิดแล้วเราไม่รู้สึกตัว อันนั้นล่ะคือกิเลส คิดปั๊บทำเต็มที่เลย จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่เอาความสะดวกของตัว นั่นน่ะกิเลส
การฝืนใจตัว คือการฝืนกิเลสนะ การฝืนใจตัวน่ะ ได้ฝืนใจตัวบ้างไหม พอจะฝืนใจตัวนี่มันบอกว่าเป็นเรา มันไม่กล้าฝืน เป็นเรา เราจะฝืนเราได้อย่างไร เราต้องอำนวยความสะดวกให้ตัวเราเอง นั่นล่ะกิเลส แต่มันไม่บอกว่ากิเลสเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้เท่า เราเลยไม่เห็นหน้ากิเลสไง กิเลสมันอยู่หลังความคิดของเราอีกทีหนึ่ง นี่พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นนะ
พระพุทธเจ้านี้ทุกข์มาก ก่อนจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เพราะการแสวงหา กิเลสนี้มันอยู่ลึกมาก อยู่หลังฉากความคิดของเราทั้งหมดเลย แล้วไม่มีใครสามารถจะเห็นได้ ไม่มีใครสามารถจะเห็นได้หรอก มันลึกลับ มันอยู่ในหัวใจของเรานะ เราจะไปค้นหาทรัพย์สมบัติที่ไหน ค้นไปเถิด ไม่เป็นของเราหรอก มันเป็นของประจำโลกเขา
แต่ทรัพย์สมบัติภายในมีค่ามหาศาลเลย อยู่ที่ในหัวใจเรา อยู่ในหัวอกเรานี่ แล้วไม่มีใครค้นพบเพราะอะไร เพราะมันอยู่ข้างในแล้วความคิดมันอยู่เปลือกนอก ของอยู่เปลือกนอกจะเข้าไปหาของภพข้างในได้อย่างไร จะทำความสงบ จะเหาะเหินเดินฟ้าอย่างไรก็แล้วแต่ กิเลสมันซุกอยู่ใต้นั้น ซุกอยู่ใต้ความสงบ ความร่มเย็นของใจนั่นล่ะ นี่ฟังสิ ความร่มเย็นของใจ เพราะจิตสงบมันมีความร่มเย็น
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นี้ เขาสอนกันอยู่แล้วเรื่องความสงบ แล้วก็เหาะเหินเดินฟ้าด้วย ก่อนพุทธประวัติ กาฬเทวิลเหาะเหินเดินฟ้า ระลึกชาติได้ด้วย มีหลักฐานชัดๆ เลย แล้วทำไมเขาไม่สามารถเห็นกิเลสได้ล่ะ
ทีนี้ถึงว่า ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเอาสมบัตินี้มาประกาศนะ แล้ววางไว้ต่อหน้าเรานี่ ท่านค้นคว้า ทุกข์มาขนาดไหน สมบัติอันนี้มันถึงยิ่งใหญ่ เอาชีวิตเข้าแลก เอาชีวิตของท่านเข้าแลกเลยนะ แล้วแลกบ่อยๆ ด้วย แลกหลายหนเลย ตายก็แลกๆ กิเลสถึงได้ยอมแพ้ไง นี่จะพูดให้เห็นว่ากิเลสมันแก่นขนาดไหน
กิเลสของเราก็คือกิเลสของเรานะ กิเลสของคนอื่นก็เป็นกิเลสของคนอื่น ไม่ต้องไปมองเลย กิเลสของเรานี่แหละมันแก่น แก่นขนาดนั้นน่ะ ไม่มีทางจะมีอาวุธใดๆ จะต่อสู้มันได้ ไม่มี ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น กิเลสนี้มันแข็งแกร่งมาก ไม่มีทางจะสู้ได้ พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าให้ยันไว้ก่อนไง สู้ไม่ได้ให้ยันไว้ก่อน โถมเข้าไปสู้นี่หน้าหงาย เพราะเราไม่สามารถทำลายเราได้ ยับยั้งไว้ไง ยับยั้งให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น จะได้เริ่มหันหน้ากลับมามองหาไอ้ศัตรูของเราไง
จากเริ่มต้นจะไปสู้เลยนี่ไม่มีทางหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปสู้กับข้าศึกที่ใหญ่โตขนาดที่ครอบ ๓ โลกธาตุ ฟังนะ ไม่ใช่โลกธาตุเดียว ไม่ใช่โลกมนุษย์นี้โลกเดียว ๓ โลกธาตุเลย เจ้าจักรวาลเลย กิเลสนี้มันเป็นเจ้าวัฏจักร ๓ โลก ๓ ภพ เพราะจิตเรามันก็หมุนอยู่ในนี้ มันใหญ่ขนาดนั้น เราถึงต้องได้ยับยั้งมันไง กดไว้ก่อน ให้ใช้ขันติ ให้ใช้ความอดทน อยากพูดไม่พูด อยากทำความผิดไม่ทำ แต่เวลาอยากทำความเจริญรุ่งเรืองนี้ อยากจะชนะตัวเอง นี่ทำ
ความอยากที่ทำให้เราเพิ่มโทษอันนั้นเป็นวิชามาร ความอยากในการชำระ ฟังสิ ความอยากในการชำระ ในการหน่วงเหนี่ยว ในการฝึกตน ในการดัดตน อันนี้เป็นมรรค เป็นมรรคนะ เป็นอริยสัจไง ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์นี้เป็นความจริง สมุทัยอริยสัจจัง อันนี้เป็นสิ่งที่ต่อกันมาทีหลัง สมุทัย ความหลง ความเหนียวแน่นของมัน ความหยุดยั้ง นิโรธสัจ มรรคสัจ มันก็เป็นมรรค มรรคสัจ ความอยาก อยากในความเพียร อยากการชำระกิเลส อยากการต่อสู้ ต่อสู้กับกิเลสภายในใจของเรา
เราโถมเข้าไปทั้งตัว เราทำมันเต็มที่เลย แล้วเราก็ว่าเราทำงานมามหาศาล เรานี้เป็นคนฉลาด เรานี้เป็นคนดี เรานี้เป็นคนที่กล้าหาญ เรานี้เป็นคนอดทน แล้วเราก็ทำความเพียรมหาศาลเลย แล้วเราได้อะไรขึ้นมา อ้าว! ถามตัวเอง ต้องถามตัวเองนะ อย่าไปถามคนอื่น ถามตัวเอง ดูสิ มันเหมือนกับเราต้องการน้ำดื่ม แล้วเราก็เอาเหรียญไปหยอดในตู้ที่เขาขายน้ำ เหรียญหยอดเข้าไปหายไปเลย น้ำไม่ออกมา นี่การปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้ ทุ่มเข้าไปเท่าไรแล้วทำไมมันไม่ออกมาล่ะ ผลน่ะ จะฟังผลไง
โทรศัพท์ เห็นไหม หยอดเหรียญไป จะติดต่อกับธรรม ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วได้ไหม? กินเหรียญหมดเลย หยอดเข้าไปหายๆ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทำแล้วจิตไม่สงบ ทำแล้วไม่รู้ว่ากิเลสอยู่ที่ไหน หยอดเข้าไปหายๆ เลยล่ะ ไม่ได้หยอดเข้าไปแล้วมันออกมานะ น้ำนี้ไหลออกมาเลย เย็นชื่นใจ กินแล้ว โอ้โฮ! สบายใจ นั่นน่ะเวลาภาวนาไง จิตสงบ มีความพอใจ มีความสุขอิ่มเอิบ นั่นล่ะๆ น้ำออกแล้ว หยอดเหรียญเข้าไป น้ำออกแล้ว หยอดความเพียรเข้าไปไง อย่าไปหยอดที่ไหนนะ หยอดที่กลางใจของตัว หยอดลงที่กลางหัวใจ แล้วความอิ่มเอิบที่ว่า ปีติธรรมไง ปีติสุข สุข ฟังสิ สุข
สุข เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอามิส เป็นสุขภายใน เป็นสุขนะ เป็นโสมนัส ความสุขใจไง เพราะเราพยายามให้ใจมันปล่อยวาง มันก็มีความชุ่มชื่นขึ้นมา เห็นไหม แล้วเวลาใช้ปัญญา คิดสิ ใช้ปัญญา เวลามีความสุขแล้วใช้ปัญญา เช่น มันฟุ้งซ่านไป คิดไปแล้ว คิดออกไปทางโน้น คิดออกไปทางนี้ ใช้ปัญญาตัดสิ นั่นล่ะ เราก็หยอดเหรียญในโทรศัพท์ ติดต่อกับธรรมไง โทรศัพท์ โทรจิต ว่าอย่างนั้นเลย เพราะจิตมันเป็นธรรม
เวลาจิตมันสงบ จิตของคนนะ เราเป็นชาวพุทธ เรารู้ว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือความอิ่มใจ เห็นไหม ธรรมะ ธรรม มันเป็นน้ำ น้ำดับกิเลส เวลาธรรมเป็นน้ำดับกิเลส เวลาใจมันสงบลง เพราะจิตเดิมแท้ของทุกคนมันต้องการความสุข ความธรรมอันนี้ เรานี้มันเคยเกิดเคยตายมามหาศาล หัวใจนี้มันเคยผ่านความดีความชั่วมามาก การเกิดๆ ดับๆ นี้ มันเคยสูงๆ ต่ำๆ มันมีความซับอยู่ในใจ
พอจิตนี้มันสงบ จิตนี้มันปล่อยวาง ไม่มีใครไปครอบงำมันนะ นี่มันจะออกมา ธรรมมันจะเกิดไง นี่แหละติดต่อธรรม ธรรมมันจะเกิด ใจมันสงบนี่เราสงสัยนะ มันจะเกิดเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี เช่น เราสงสัยสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ พอจิตมันสงบมันจะตอบเอง
นี่อยู่ที่ไหน ครูบาอาจารย์บอกว่า เวลาอยู่ในป่านะ ฟังธรรมตลอดเวลา ฟังธรรมอย่างนี้ มันจะเกิดขึ้นจากภายใน ธรรมะมันจะเกิดตลอดเวลานะ ถ้าจิตมันสงบ ถ้าปัญญาเราได้ใช้ ปัญญา ฟังสิ ปัญญา คือการใคร่ครวญไง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี การทำอย่างนี้ถูก การทำอย่างนี้ไม่ถูก มันจะเทียบไปเอง นี่คือการฝึกฝน
การติดต่อธรรม ติดต่อธรรมในหัวใจ ศึกษาเล่าเรียนภายนอก ศึกษาไปเถิด ศึกษาเล่าเรียนภายใน ศึกษาลงที่หัวใจของตัว ศึกษาเข้ามาที่ใจของตัว มันจะมีสิ่งที่ตอบออกมา ไม่มีวันที่สิ้นสุด เพราะการสะสมมาของภพชาตินี้ยาวไกลนัก สาวเข้าไปไม่มีต้นไม่มีปลาย สาวเข้าไปเถิด ไม่มีวันที่สิ้นสุด ธรรมมันจะออกมาไม่มีวันที่สิ้นสุด แล้วมันจะให้ความรู้เรามหาศาลเลย แล้วรู้ภายในด้วย รู้แบบรู้จากต้นขั้ว ต้นรากเหง้าเลย ไม่ใช่เรียนจากภายนอก
เรียนเข้ามาจากภายนอกเข้ามานะ เพราะอะไร เพราะถ้าเราเรียนจากภายนอกเข้ามา จะใครสอนก็แล้วแต่ ความคิดในใจนี้มันมีความต่อต้านไว้ เรา เขามันจะแบ่งแยก มันจะแบ่งผิดแบ่งถูกไง มันจะดีชั่ว มันจะแบ่งเป็น ๒ มันจะลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยนี้ ความไม่แน่นอนของใจมันจับไม่เต็มไม้เต็มมือ
แต่ถ้าเรารู้จากภายใน รู้ขึ้นมาจากความเห็นของเรา นี่แหละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ มันจะเกิดขึ้นจากภายใน อันนั้นธรรมนะ ธรรมอันนี้เป็นธรรมอะไร? ธรรมอันนี้เป็นการตอบข้อสงสัย มันยังไม่ใช่ธรรมแท้ ธรรมแท้อยู่ที่ไหน? ธรรมแท้ ธรรมแท้ๆ อยู่ที่ใจ แต่ใจไม่ใช่ใจชนิดที่สงบเฉยๆ ใจสงบนี้ ธรรมอันนี้เป็นธรรมพื้นๆ พระพุทธเจ้ารู้ตรงไหน พระอรหันต์รู้ตรงไหน
พระอรหันต์นี้เรียนกายนะ และเรียนใจ เรียนกายและใจจบ เรียนตรงนี้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ สาวกทั้งหลาย เรียนกายและใจจบนะ ไม่ใช่เรียนแบบไม่จบ ถ้าเรียนกายกับใจนะ เรียนเป็นปกติแบบโลกเขา ดูสิ หมอนะ หมอมันจะผ่าตัด ผ่าทั้งตัวเลย เขาผ่าหมด ร่างกายนี้เขารู้ไปหมดเลย นี่หมอนะ แล้วพอเป็นอะไรขึ้นมา แต่งตัวโก้ด้วย มียศถาบรรดาศักดิ์ด้วย แต่หัวใจเขาก็ทุกข์ทั้งดวงนั่นน่ะ เพราะมันเป็นวิชาชีพ มันไม่สามารถกระทบถึงหัวใจ เพราะมันไม่พิจารณาแบบมรรคของเราไง ไม่พิจารณาแบบศาสนาของเรา
เรียนใจ ถ้าเรียนใจจบแบบจิตแพทย์ เขารู้หมด เรื่องใจ เรื่องโรคของหัวใจ เขารู้หมด ทำไมเขาไม่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาล่ะ เขาเรียนส่งออก เขาเรียนแบบโลกียะ เห็นไหม ต้องโลกียะ ต้องทำให้ใจนั้นสงบให้เป็นโลกุตตระ เห็นไหม ต้องทำใจให้สงบ แล้วหันใจกลับมา
ใจที่สงบแล้วนั้นเป็นแค่พื้นฐานจะเข้ามาศึกษา ศึกษาจากกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในหัวใจ จิตสงบ จิตจะใสขนาดไหนก็แล้วแต่ ธรรมที่ว่าใสๆ นั่นน่ะ อันนั้น จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ฟังสิ อุปกิเลสอยู่ที่จิตเดิมแท้ จิตที่ใสๆ นั่นล่ะ กิเลสล้วนๆ เลย เพราะเขาเรียนแบบโลก เขาเรียนศึกษามา เขาเรียนเพื่อรู้ มันไม่จบ ถ้าจะเรียนให้จบต้องเรียนแบบพระพุทธเจ้า เรียนแบบสาวกที่เรียนมา ให้จิตนั้นสงบ มันก็ไม่เอาโลกนอกมาเทียบเป็น ๒ ถ้าเราเรียนแบบนั้นก็ว่าผิดหรือถูก นักเรียนมาเรียน มันต้องผิดหรือถูก นี่เรียนนอก
เรียนใน เรียนให้จบ ว่าคนนี้เกิดมาจากอะไร? จิตปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตขนาดว่า ปฏิสนธิพร้อมกับกาละ เห็นไหม ไข่ของแม่ใช่ไหม เป็นกาละ ๓ อย่าง จนเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ นั่นจิตปฏิสนธินะกับ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จิตปฏิสนธิเกิดเป็นมนุษย์ นั่นน่ะจิตปฏิสนธิ อวิชชาความไม่รู้ถึงได้เกิด เพราะมันไม่รู้นี่ มันมาตามกรรม กรรมไสหัวมันมา ไสหัวจิตนี้แหละมา แล้วมาปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดานั่นน่ะ นั้นล่ะจิตปฏิสนธิ นั่นล่ะมนุษย์เกิดแล้ว เกิดแล้วนะ
ในวินัย พระพุทธเจ้าสอนนะ ในวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นะ การฆ่าคน ฆ่าที่ตรงไหน นั่นล่ะ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิขึ้นมานั้นน่ะ นั่นล่ะเป็นคนแล้ว การฆ่าเริ่มตั้งแต่ตรงนั้น ที่ว่า ฆ่ามนุษย์ๆ ฆ่าตั้งแต่จิตปฏิสนธิเลย นั่นเกิดเพราะความไม่รู้ของมัน เห็นไหม แล้วถ้าจะดับ ตรงนี้ พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้ามารู้ตรงนี้ไง รู้ตรงที่อวิชชามันสว่างมา มันดับปั๊บ มันจะไม่มาเกิดอีก นั่นรู้ใจไง ใจดวงนั้นแล้วกายล่ะ เรียนกายเรียนใจให้จบ แล้วเราเรียนจบไหม นี่แหละถึงว่าความสุขแท้ไง
ทุกคนจะหาความสุขๆ น่ะ แล้วเข้าใจถึงได้วางหลักศาสนาไว้นี้ นี่หันกลับมาดู ดูใจของตัว ธรรม ฟังธรรมไง เราไม่สามารถฟังธรรมของเราเองได้ ธรรมในหัวใจมันไม่เกิด นี่ธรรมข้างนอก ธรรมจากครูบาอาจารย์ แล้วมันอยู่ที่ไหน เราไม่มีกายมีใจหรอ เราก็มีกายมีใจใช่ไหม เราอยู่ในท่ามกลางของศาสนาไง ท่ามกลางเลยนะ ท่ามกลางของกึ่งพุทธกาล ท่ามกลางศาสนา กลางหมด มัชฌิมานี่ยอดเยี่ยมเลย ๒,๕๐๐ ปี ศาสนาเจริญรุ่งเรือง แล้วเราเกิดช่วงตรงพอดีเลย โอ้! วาสนามากนะ วาสนาของเรา แล้วการประพฤติปฏิบัติก็กำลังแรงเลย การประพฤติปฏิบัติ
ทีนี้มันต้องมีกำลังใจ มีแก่ใจ มีกำลังใจมันก็วางเป้าหมายถูกใช่ไหม มีกำลังใจแล้วทำลงให้เป็นสัมมาสมาธิ ให้เป็นสัมมา สัมมาคือความถูกต้อง สัมมาสมาธินะ สมาธิเนื่องด้วยศีล มีศีลนะ มีศีลแล้วทำให้เกิด...ศีลเป็นรั้ว ใจมันฟุ้งออกไปหมดใช่ไหม เอารั้วมาล่อ ศีลคือความปกติของใจ ไอ้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตข้างนอก ไอ้ลักทรัพย์นี่มันเป็นของหยาบเกินไปสำหรับผู้ปฏิบัตินะ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักขโมยมา มันเป็นกายกรรม ศีลคือจิตที่ปกติไง จิตที่ไม่ให้คิดออกไปเลย จิตที่ไม่ทุจริต จิตที่ไม่คิดเอาของใคร ไม่ลักของใคร
แม้แต่พระ เวลาพระออกไปบิณฑบาต เห็นไหม เวลาจิตมันแว็บออก สติพร้อมนะ เอ็ดเลยนะ ไอ้มหาโจร ทำไมคิดออกไปอย่างนั้น เรื่องไม่ดีน่ะ มันจะม้วนกลับมาเลยความคิด มันอาย ถ้าสติเราพร้อม เราจะไม่ให้ความคิดเราออกเลย นั่นน่ะศีล พอจิตเป็นปกติ ปกติของศีล พอศีลปกติ ใจมัน...พอมันปกติแล้วก็เริ่มทำให้จิตใจมันสงบ มันก็สงบง่าย นั่นล่ะสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ไม่เอาไปใช้ในทางที่ผิด มันเป็นศีลโดยปกติของมันแล้ว แล้วมันเป็นสมาธิลงไปอีก ถึงว่าเป็นสัมมาสมาธิไง
ถ้ามิจฉาสมาธิแล้ว พอมันสงบลงแล้ว มันไปออกนะ อย่างน้อยๆ ก็เช่น ไปดูโน่นดูนี่ อันนี้ก็ออกผิดแล้ว ขนาดผิดทางแล้วนะ แต่ที่ว่าขนาดมนต์ดำเขาเอาสมาธินี้ไปทำความผิดอีกก็มี มี ถึงว่าเป็นมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันถึงจะเกิดประโยชน์กับเราไง เกิดประโยชน์กับเรานะ เราอยู่ที่ไหน ไปเกิดประโยชน์กับคนอื่นได้อย่างไร เพราะเกิดประโยชน์กับเรา พอจิตนี้สงบนะ ความสุขนี้ ๓-๔ ชั้นตอน ๓-๔ ขั้นนะ สุขจากการไม่ฟุ้งซ่าน
คนทำงานจนเหงื่อโซมกาย พักงานก็มีความสุขแล้ว จิตสงบมันไม่ฟุ้งซ่าน ความสงบนี้ความสุขอันหนึ่งแล้ว ความร่มเย็นของใจอีกอันหนึ่ง ความได้ลิ้มรสของสมาธิธรรมนี้อีกอันหนึ่ง ฟังสิ นั่นน่ะ สัมมาสมาธิมันก็ให้สุขขนาดนี้แล้ว แล้วมันเกิดขึ้นในท่ามกลางกายกับใจเราเท่านั้น เราไปตื่นอะไรกัน ทำไมยังไม่มีแก่ใจ เห็นไหม สัมมาสมาธินะ
มรรคในองค์ ๘ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ งานชอบ ความเพียรชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ การเลี้ยงชีวิตภายนอก การเลี้ยงชีวิตภายใน การเลี้ยงชีวิต คนกินอาหารเข้าที่ปาก หัวใจกินอารมณ์เป็นอาหาร พอจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตมันสงบแล้ว เอาอะไรเลี้ยงมันอีก นี่งานมันจะก้าวเดินไปก็เพราะอย่างนี้ เพราะว่าจิตนี้มันต้องก้าวเดิน ความคิดความหมุนออกไป จิตนี้ กระแสมันจะหมุนไปตลอดเวลา มันมีภวาสวะ คือมีภพอยู่ที่ใจ จะสงบขนาดไหนมันก็มีภพอยู่ที่ใจ ฐานของความคิดมี มันส่งออกตลอดเวลา
คิดดีก็คิด คิดชั่วก็คิด คิดดีก็เป็นความสุขของตัว คิดชั่วก็เอาความร้อนมาใส่ตัว คิดชั่วคือการไปกว้านไฟเข้ามาเผาในตัวเอง คิดดีก็อุ่นใจ พอใจ เย็นใจ เห็นไหม ธรรมชาติของมันต้องคิด เราเลี้ยงชีวิตด้วยอะไร? เลี้ยงชีวิต เลี้ยงวิญญาณ เลี้ยงด้วยอารมณ์ใช่ไหม ทีนี้พออารมณ์ การประคองใจ การประคองความคิด จะประคองไว้ได้อย่างไร นี่เลี้ยงชีวิตชอบ มีสติชอบ นี่มรรคคือองค์ ๘ หมุนไปสิ หมุนไป สติระลึกไว้ การศึกษากายและใจมันจะเข้ามาตรงนี้
หมอศึกษา ศึกษากันภายนอก เพราะเขาไม่ใช่มรรคองค์ ๘ เขาศึกษาโลกียะไง
ไอ้นี่เราเป็นโลกุตตระแล้ว เพราะใจมันสงบเข้ามา มันมีศีลเข้ามา มันมีสมาธิเข้ามา มันเป็นมรรคเป็นองค์ ๘ มันเป็นมรรค มรรคปฏิปทาของพระพุทธเจ้า นี่มันจะหมุนเข้ามา นี่โลกุตตระ มันต่างกับโลกียะ ไอ้เรียนอย่างเขา เรียนไปเถิด แล้วพอเขาเรียนมา เขาก็ประดับปริญญากันนะ ๕ ใบ ๑๐ ใบ ประดับปริญญากัน
แต่ปริญญาของพระพุทธเจ้าล่ะ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล นะ อนาคามิมรรค อนาคามิผล เห็นไหม ดอกเตอร์ ๓ มหาอีกล่ะ มันยังมีอรหัตตมรรค อรหัตตผล นั่นน่ะ แล้วไม่ต้องมีใครประทานให้ ปริญญานี้ไม่ต้องรับจากใคร มันจะสมุจเฉทปหานลงที่หัวใจ ลงไปที่หัวใจเลย ธรรมะนี้ยื่นให้ เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ธรรมะนี้ต่างหากเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทปริญญาให้หัวใจเรา
พระอรหันต์จะใส่มนุษย์อวกาศมาจากไหน พระอรหันต์ก็คนนี่แหละ แต่เรียนกายกับใจจบ ไม่ใช่เข้าใจนะ จบ ถ้าเรียนเข้าใจก็เรียนแบบหมอนั่นน่ะ เรียนเข้าใจ เข้าใจคือเข้าไปรู้เฉยๆ เข้าไปรู้แล้วต้องตีให้แตก เหตุเกิดจากอะไร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ รูปนะ เกิดภพเกิดชาตินั่นน่ะ ไปเลี้ยงที่ไหน เราไปเลี้ยงที่นั่นได้อย่างไร ไอ้นั่นมันเป็นภพชาติออกไปแล้ว มันเป็นภพชาติออกไป
การชำระภพชาติไม่ใช่ชำระชาติข้างนอก ภพชาติเกิดที่ใจ ไม่ใช่ชาติไทยนะ ชาติไทย ชาติลาว ชาติพม่า นั้นเป็นสัญชาติข้างนอก เป็นสัญชาติในหนังสือ ภพชาติมันอยู่ที่หัวใจ นั่นคือตัวภพชาติแท้ การชำระภพ ชำระชาติ ต้องลงชำระที่หัวใจ ตัวที่หัวจิตนั่นน่ะ ตัวอวิชชานั่นล่ะคือตัวภพชาติใหญ่ ต้องลงที่ภพชาติตรงนี้
ถ้าใครไม่เห็นภพไม่เห็นชาติ ไม่รื้อชาติตรงกลางตรงนี้ จะไปรื้อภพชาติไม่ได้ เวลารื้อภพรื้อชาติ เห็นไหม รื้อชาติ รื้อภพ รื้อชาติ ชาติตรงไหน ชาติ...ชาติปิ ทุกฺขา นั่นน่ะอริยสัจมาลงที่ทุกข์แล้ว นั้นล่ะชาติ มีความเกิดก็มีทุกข์ มีการเกิดก็มีทุกข์ มีปฏิสนธิจิตก็อวิชชานั่นล่ะ ถ้าอวิชชาดับ ปฏิสนธิจิตก็ไม่มี อวิชชาดับนะ อวิชชาเอาอะไรไปดับมัน? ต้องวิชชาไปดับ
วิชชาคืออะไร? วิชชาในธัมมจักฯ อาโลโก อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ มีวิชชา มีญาณ ความสว่าง ความเข้าใจ วิชชาเกิดจากตรงนี้ เกิดจาการใคร่ครวญของเราอยู่นี่ ปัญญาจะเกิดขึ้นจากการเราศึกษา ศึกษาลงที่หัวใจนะ ศึกษาลงที่กายกับใจนี้ ไม่ใช่ศึกษาออกภายนอก การศึกษาออกภายนอก กิเลสมันใช้ วิชามาร การศึกษาออกเป็นวิชามาร วิชชาของธรรมะ เพราะวิชาศึกษาออกไปแล้วมันไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่การเถียงกัน น้ำลายแตกฟองเฉยๆ
ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ธมฺมสากจฺฉา ที่ตรงไหน? ธมฺมสากจฺฉา ที่กิเลส ให้ธรรมะข่มกิเลสไว้ ให้ธรรมะเถียงกับกิเลสในหัวใจของเราถึงจะเป็น ธมฺมสากจฺฉา ที่ถูกต้อง ธมฺมสากจฺฉา ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ ธมฺมสากจฺฉา ของพวกเราไง ธมฺมสากจฺฉา มีแต่จะเถียงกันเฉยๆ ไง เอาธรรมะมาฟันกันหรอ ธรรมพระพุทธเจ้ารู้ไว้เพื่อไปเถียงกันเหรอ แต่ทำไมไม่เอามาเถียงกับอวิชชาในหัวใจของตัว ต้องดับมันสิ หันกลับมาดู นั่นน่ะปัญญามันจะหมุนไป ต้องปิดให้ได้นะ ปิดการไหลออกไปของวิชามาร วิชามารมันจะยุให้ออกตลอด ยุออกไปแล้ว...
เรานะ ทำความเพียรมหาศาลเลย เหมือนเราดูดน้ำขึ้นมากักไว้ในฝาย แล้วมันพังทลายออกไปหมด น้ำไม่ได้ใช้อะไรเลย เป็นอย่างนั้นเหรอ นี่เหมือนกัน พอเราภาวนาขึ้นมาเกือบเป็นเกือบตาย อุตส่าห์นั่งกันนะ อุตส่าห์อดอาหาร อุตส่าห์ทำความเพียร ๗ วัน ๘ วัน พอได้ความสงบขึ้นมา รู้ธรรมขึ้นมานี่ ออกไปพูดกันแล้ว...หมด เก็บไว้สิ เก็บไว้ แหล่งน้ำนี่เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปข้างหน้า พอเราเก็บไว้มันก็มีความชุ่มเย็น แล้วพอเราทำต่อไปมันก็ง่ายขึ้น
แต่ถ้าเราใช้ออกไปหมดเลย เขาเรียกว่า รักษาไว้ไม่เป็น สมาธิทำขึ้นมาเกือบเป็นเกือบตายนะ แล้วก็ปล่อยให้เสื่อมไป เสื่อม ธรรมชาติของมันก็เสื่อมอยู่แล้ว ธรรมชาติของมันเป็นอนิจจังทั้งหมด สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา มันต้องเคลื่อนไปตลอดเวลา แต่เราเหนี่ยวรั้งเอาไว้ด้วยสติเท่านั้น สติของเราระลึกอยู่ แล้วควบคุมอยู่ ความควบคุมอยู่ การรักษาอยู่ นั่นมีสติ มีการระลึกรู้ มีการใคร่ครวญ ลองดูสิ ที่พื้นฐานนี้ ลองดูสิที่สมบัติที่หามาได้ ก่อนจะหามาได้เราก็ขวนขวาย ก่อนจะหามาได้ เวลาหามาได้ การรักษา การปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติมันถึงก้าวเดินไง จากสมถกรรมฐานเป็นวิปัสสนากรรมฐาน
สมถะ คือการทำใจให้สงบ ต้องสงบก่อน ต้องสุขก่อน ต้องร่มเย็นก่อน ถึงจะมาทำงานของธรรม ความทุกข์ความเร่าร้อนเอามาเป็นปัญญาของธรรมได้อย่างไร ความทุกข์ ความเร่าร้อน มันเป็นความเร่าร้อน งานของธรรมมันเป็นงานของใจ เป็นงานที่ละเอียด ประณีต เป็นงานที่ใช้ศิลปะอย่างสูง การใช้ศิลปะอย่างสูงมันต้องใช้ผู้ที่นิ่มนวล ใจที่เย็น ใจที่สงบ ใจที่มีความสุขแล้ว มันถึงจะทำวิชชานี้ได้
กิเลสนี้มันเป็นยักษ์เป็นมารนะ กิเลสมันจะให้โทษมาก จะให้ความทุกข์มาก ลองเจอกิเลสสิ ลองเจอกิเลสดู...
...แต่ที่ว่ามันหยาบ มันให้โทษเป็นความหยาบไง แต่ตัวมันละเอียด ตัวของกิเลสนี่ละเอียดมากนะ แต่มันให้โทษเป็นความหยาบช้า แต่ตัวมันละเอียด ตัวมันอ้อยสร้อยอยู่ในหัวใจ ถึงต้องใช้ความละเอียดเข้าไปหามันไง ถึงต้องสงบ เห็นไหม
การทำงานทั่วไป เขาใช้ร่างกายนี้ทำงานทั่วไป แต่การทำลายกิเลส ต้องนั่งให้ใจสงบ ให้กายสงบให้ใจสงบ แต่เดินจงกรม เวลาเดินจงกรมไป จริงอยู่ กายมันเคลื่อนไป แต่ใจมันสงบ เวลาเดินจงกรมนะ เวลากิเลสมันรุนแรง โอ้โฮ! อย่างกับวิ่งน่ะ ๗ วัน ๗ คืนนี่สู้กันได้ มี พระเคยทำมา ๗ วัน ๗ คืนนะ เดินได้ ๗ วัน ๗ คืนเลย ทำไมทำมาได้ แล้วข้างในนี้ฟันกันอย่างสงครามเกิด สงครามภายในมันเกิด มันมีงาน มีธรรม สงครามมันถึงเกิด
ความละเอียดภายในกับความละเอียดภายในมันต่อสู้กัน ไอ้ร่างกายนี้เป็นแค่สนาม เป็นชัยภูมิไง เหมือนกับสนามฟุตบอล แล้วในหัวใจนี้ ระหว่างมรรคกับกิเลส เหมือนกับนักฟุตบอลสู้กัน ๒ ทีมแข่งฟุตบอลอยู่ในจิตของเรานั่นล่ะ มันหมุนอยู่ได้ตลอดเวลาเลย มันหมุนไปตลอด ฟุตบอลลูกเดียวมันแย่งกัน มันเตะกัน อยู่อย่างนั้น ๗ วัน ๗ คืนนะ น้ำท่าไม่ต้องพูดถึง ทำไมทำได้...มี ทำมาแล้ว
นั่นน่ะ เราก็ต้องทำอย่างนั้น ก็เราเป็นชาวพุทธ
เวลาเรากล่าวถึงครูบาอาจารย์ เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ต้องเป็นที่พึ่งของเราสิ เป็นเป้าหมายใช่ไหม เป็นแบบอย่าง เนติ แบบอย่างที่เราจะเดินตามไป เราเดินตาม ครูบาอาจารย์ไปข้างหน้า มีร่องมีรอยอยู่ให้เราเดินตามไป พอเราเดินตามไปๆ มีร่องรอย เราต้องถึงจุดนั้น
ทุกคนปรารถนาความสุข ทุกคนปรารถนาถึงจุดนั้นนะ แต่การกระทำมันถึงไหม ถ้าการกระทำไม่ถึง นั่นล่ะ เราถึงต้องเอาแบบอย่าง พอมีแบบอย่าง มีร่องมีรอยไป ป่าเขามันรกชัฏ ถ้าเรามีร่องรอยเดินไป เราก็พอเดินได้ ครูบาอาจารย์เดินนำหน้าไปแล้ว มันก็มีไปใช่ไหม เรามาเดินตามนี่ ทางที่เดินตามมันง่ายกว่าทางที่เราไปบุกเบิกเอง ทางที่เราเดินตามอยู่แล้ว ฉะนั้น ท่านทุกข์มาขนาดนั้น แต่เวลาให้ความสุขล่ะ เวลากิเลสมันดับไปล่ะ เวลามันชนะตามขั้นตอนขึ้นมาล่ะ
ว่าปริญญาถึงอยากได้ไง เราอยากได้ปริญญาภายใน
เวลาสงครามมันสงบแล้วมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ สงครามสงบ สันติภาพมันต้องเกิดเอง แต่สงครามมันไม่สงบน่ะสิ มันเกิดสงครามนะ แล้วมันก็เลิก มันไม่ถึงกับรู้แพ้รู้ชนะ สงครามนี้มันถอยก่อน นี่ไงปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ไง ปฏิบัติได้ครึ่งหนึ่ง กับครึ่งๆ กลางๆ แล้วหยุดมาๆ มันไม่ถึงที่สุด สันติภาพมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ ปริญญาถึงไม่มี ปริญญาในใจมันถึงไม่เกิดไง
ถ้าสันติภาพ สงครามมันสงบ กิเลสมันแพ้ไปแล้ว ไอ้นี่กิเลสไม่เคยแพ้ กิเลสไม่เคยแพ้เลย อย่างน้อยมันก็สงบตัวลง อย่างน้อยมันก็หลบหน้า พอจิตมันโล่ง มันสบาย เราก็พอใจ เห็นไหม มันแค่หลบซ่อนอยู่ แล้วพอเราถอยมามันก็ฮึกเหิมขึ้นมาสู้อีก
แต่ถ้าสงครามมันเกิดขึ้นจนมันราบไปหมด กิเลสมันตายต่อหน้าไปเลย ปริญญามาเอง สันติภาพเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเลย นี่ปริญญาของธรรม ประสิทธิ์ประสาทให้เลย ในหัวใจของเรานั่นล่ะ มันเป็นอิสระ
ธรรมะนี้เป็นของกลางนะ แล้วแต่มือใคร แล้วแต่ความสามารถของใครจะคว้ามาประดับใจ เป็นของกลาง ธรรมะนี้เป็นของกลาง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่การเข้านี้เข้าไม่เป็นกัน พระพุทธเจ้าถึงมาวางหลักไว้ไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมะนี้เป็นของดั้งเดิม มีอยู่แล้ว เราตถาคตมารู้เท่านั้น มารู้มาเห็นตามความเป็นจริง ธรรมะนี้เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา มันมีของมันอยู่อย่างนั้น เพียงแต่คนเข้าไม่ถึง จิตคนมันหยาบ ต่อไปคนจะหยาบไปเรื่อยๆ แล้วเข้าไม่ถึงๆ พอเข้าไม่ถึงก็ว่าไม่มี เราว่าอะไรก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มี ไม่มี เพราะเราไม่เคยเห็น
เราไปเห็นกับตาใน ทำไมจะไม่มี ตาในเข้าไปสัมผัสเอง พอเข้าไปสัมผัสมันก็ต้องมี แล้วมันจะต้องมีนะ มันมีจริงๆ มันมีอยู่แล้ว นี่ความละเอียดของใจไง ถึงบอก โอ้โฮ! มันมีความสุขมากนะ สุขจากการชำระกิเลสเป็นขั้นๆ ไป อย่าว่าแต่สิ้นสุดไปเลย ขั้นๆ ไปเลย สุขจากการปล่อยวางมาเป็นขั้นๆๆ ไป สุข สุขมาก
ถ้าไม่สุขมาก พระพุทธเจ้าไม่โกหกนะ พระพุทธเจ้าโกหกเราเหรอ ครูบาอาจารย์โกหกเราเหรอ ไม่มีใครโกหก เป็นของจริง แต่กิเลสต่างหากโกหก กิเลสมันลังเลสงสัย กิเลสในใจ กิเลสในใจเรามันลังเลเอง พอลังเลมันก็ไขว้เขว นิวรณธรรมเกิดแล้ว นิวรณธรรมในใจปิดกั้นสมาธิ นิวรณธรรมนี่ มันทำให้เราเดินไปไม่ได้ เราก้าวเดินไปไม่ได้ เราจะชำระมัน เราจะฆ่ามันนะ มันขวางทางตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงที่สุด มันจะตายขนาดไหน มันจะโดนเราจะทำลายมันขนาดไหน มันจะขวางตลอด เพราะเป็นการต่อสู้ มันจะรักษาที่อยู่ของมัน มันจะรักษาบ้านของมัน มันจะรักษาจักรวาลของมันในใจไง รักษาจักรวาลเลยนะ เพราะใจมันหมุนไป
ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนักนะ อย่าชะล่าใจ
ใจ เวลามันละเอียด เวลาสู้กันนี่ละเอียด เพราะเราจะวิ่งเข้าหาธรรม เห็นไหม เป็นผู้ที่ตั้งเป้าแล้ว แต่เวลาใจมันหยาบ มันไม่เชื่อธรรมเลยน่ะ อย่าว่าแต่ปฏิบัติ มันไม่เชื่อด้วย แล้วเวลาปฏิบัติแล้ว พอปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง เวลามาปฏิบัติถึงจุดหนึ่งว่า เราก็ทำเต็มที่แล้ว เราได้ลองเต็มที่แล้ว นี่วิชามารมันจะเกิดนะ ถ้าจะไม่ได้ปฏิบัติเลยก็ว่า เราเป็นคนมีปัญญา เราเป็นคนรุ่นใหม่ ปัญญาชน ต้องเข้าไปทดลองก่อน ต้องศึกษาก่อนถึงจะเชื่อ แล้วก็ทุ่มเต็มหัวใจเลย เต็มตัวเลยนี่ ก็ว่า ลองแล้ว ไม่มีหรอก เห็นไหม มันหลอกตั้งแต่จะเข้ามา แล้วพอทำเสร็จแล้วก็หลอกซ้ำอีกชั้นหนึ่งว่าไม่มี ว่าไม่ถึง ว่าเป็นไปไม่ได้ นี่วิชามาร นี่ก็กิเลสอีกล่ะ
แล้วกิเลสอยู่ไหนล่ะ? ก็กิเลสไสหัวเรามา หัวใจนะ กิเลสมันไสหัวมาตลอด ถึงได้ไม่เห็นหน้ามันไง ใจเท่านั้น ร่างกายเวลาทุกข์ เวลามันเจ็บปวดนัก อย่างเช่นอวัยวะเขายังเปลี่ยนกันได้ ผ่าตัดหัวใจก็เป็นหัวใจก้อนเนื้อนะ แต่หัวใจถ้ามันผ่าตัดได้จริงๆ อย่างกับร่างกายนี้ เราก็จะผ่ากิเลสออกซะ ทำไมกิเลสมันผ่าไม่ได้ล่ะ เห็นไหม ถึงบอกไม่ได้ ธรรมอย่างเดียว
ในโลกนี้ไม่มี ถ้ากิเลสมันผ่ากันแบบหมอนะ ใครไม่อยากเอาหัวใจนี้ไปผ่า ผ่าให้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาไง อ้าว! กิเลสมันอยู่ตรงไหน เฉือนมันออกๆ ให้มันบริสุทธิ์ซะ ก็วิชชาธรรมนี่แหละ มรรคนีแหละ มันประหัตมันประหาร มันสมุจเฉท มันตัด ถึงว่าเรียนจบต้องตัด รู้เท่าไม่ได้ รู้เท่าเข้าไปจิ่มมันไว้เฉยๆ...ตัด ต้องประหาร ประหารออกไปเลย นั่นวิชชาธรรม วิชชาที่จะสู้กับกิเลสไง วิชชาที่จะต่อสู้ วิชชาของผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ มันมีแง่ให้เดินมากมาย มีแง่นะ มีทางที่เราจะพลิกได้ ต้องพลิก พลิกตลอด อุบายอันเดิมใช้ไม่ได้
เช่น วันนี้เราปฏิบัติได้ผลมากเลย แล้วพรุ่งนี้ก็จะมาใช้อุบายเดิม มีการนะ เราเอาของเราไปเก็บไว้ แล้วขโมยมันเข้ามาลัก แล้วเราจะเอาของนี้ไปเก็บไว้ที่เก่าอีกไหม ถึงจะเก็บไว้ที่เก่า สิ่งที่เราจะเอาภาชนะไปเก็บ เราก็ต้องซ่อมแซมให้ดีก่อนถึงจะเก็บได้
อันนี้ก็เหมือนกัน วันนี้กิเลสมันแพ้เรา มันสงบไป จิตเราถึงสงบ กิเลสนี้มันไม่ยอม ไม่มีทางหรอกที่กิเลสมันจะยอมง่ายๆ เราทำจนแบบว่ากิเลสมันสงบตัวลง ใจนี้มีความสุข แล้วพรุ่งนี้ก็ใช้อุบายอันเก่า โธ่! ก็เหมือนกับขโมยนั่นล่ะ กิเลสมันก็เปรียบเหมือนขโมย ของนี้เราจะเอาไปล่อ ไปวางให้มันเห็น มันก็เอาไปกินหมดน่ะสิ เราได้สมบัติมาชิ้นหนึ่งเราก็มีความสุข แล้วพอไปวางไว้ประเจิดประเจ้อก็หมด
เหมือนกันเลย อุบายในการปฏิบัติ ต้องพลิก ต้องใช้หลายเล่ห์หลายเหลี่ยมไง กิเลสมันฉลาดกว่าเรา แล้วมันก็ไสเรามา ทีนี้เราจะย้อนกลับไป ต้องใช้วิธีการ ใช้อุบาย ใช้วิธีการนะ ใช้วิธีการที่เราจะทำอย่างไรให้เราเพิ่มกำลังใจขึ้นมา ให้เราเพิ่มการปฏิบัติขึ้นมา ให้เพิ่มแล้วนะ เพิ่มแล้วยังต้องมีคติ มีความใคร่ครวญ สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ทำแล้วให้ความร่มเย็น สิ่งนี้ทำแล้วให้ความเร่าร้อน นั่นล่ะ ผลมันเป็นเพราะกิเลสล้วนๆ
สิ่งใดที่ทำขึ้นมาแล้วเกิดความเร่าร้อน จำไว้เลย นั่นน่ะ กิเลสมันสั่งให้ทำ แต่เวลามันทำนะ เวลาเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราเสียหน้า เรากลัวทำแล้วจะไม่ได้ผล เรากลัวไปหมด นี่เห็นไหม ทั้งๆ ที่มันยุออกมาแล้ว ไสเราไปทำ เราทำแล้วนะ ไปทำด้วยความวิตกกังวลอีกด้วย
แต่ถ้าเป็นธรรมนี่ เราปล่อยวางให้หมดเลย งานอันประเสริฐ งานของเรา งานอันประเสริฐไง งานใดๆ ในโลกนี้ไม่ประเสริฐเท่ากับงานชำระกิเลส เพราะงานในโลกนี้ คนเกิดมาตายๆ ซับๆ ซ้อนๆ อยู่นี่ ไม่เคยมีใครทำงานในโลกนี้สำเร็จเลย ไม่มี ประเทศชาติไหนสร้างเสร็จแล้วให้มันเสร็จ ไม่มี มันต้องมีการซ่อมแซมกันอยู่ตลอดเวลา ชาตินั้นเจริญแล้วเดี๋ยวก็เสื่อมไป นิจจังไปตลอด
มันเป็นอนิจจัง วัตถุมันคงที่ไม่มีหรอก แล้วใครมันจะสร้างให้สำเร็จ แม้แต่ตายไปแล้วนะ ไปเกิดเป็นเทวดา ก็ยัง ของที่เป็นทิพย์มันก็ยังเป็นอนิจจังอยู่ มันอยู่ในไตรลักษณ์ เวลาว่าเราเป็นไตรลักษณ์ สิ่งนั้นเป็นไตรลักษณ์ๆ แต่เวลาความคิดนี้มันทำไมเป็นนิจจัง ความคิดที่ฝังอยู่ในใจนี้มันไม่เห็นเป็นไตรลักษณ์เลย
เวลาเกิดขึ้นมานี่ใหม่เอี่ยมๆ ตลอดนะ เวลาเกิดขึ้นมาให้ความทุกข์นะ เวลามาเกิดให้ความสุขนี้นิดเดียว อะไรที่เป็นความสุขนี่แย็บๆ หน่อยเดียว เหมือนกับประกายไฟ แต่เวลาจิตมันเผานี้ โอ้โฮ! เร่าร้อนนะ นั่นน่ะผลของมันทั้งนั้น ผลของมันนะ ว่าผลของมันไม่ใช่ผลของเรา เพราะเราต้องการพ้นทุกข์
คำว่า พ้นทุกข์ เวลาสิ้นแล้วจิตนี้เป็นผู้พ้น จิตนี้เป็นผู้พ้น ฉะนั้น จิตนี้ถึงเป็นผู้ที่มีความสุขไง ปรมํ สุขํ สุขอย่างยิ่ง สุขไม่เจือด้วยสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่สุขในโลกสมมุติ ไม่ใช่สุขแบบว่าเรากินน้ำอิ่ม ไม่ใช่สุขที่เราพอใจ สุขแบบนี้เป็นสุขเวทนา เวทนานี้เป็นสมมุติ สุขเวทนาคือสุขที่เราเสวยกันอยู่นี่ สุขที่ว่าคนนั้นชม ยกย่องสรรเสริญ โอ้โฮ! มีความสุขมาก เขาว่าเราดี เขาว่าเราเด่น นี่สุขเวทนา
โลกนี้สรรเสริญนะ โลกนี้ยกย่อง โลกนี้ยกให้ลอยไปเลย แล้วจิตนี้มันได้ลิ้มรสอย่างนั้น นั่นน่ะสุขแบบโลก แต่สุขแบบนี้ไม่ใช่สุขแบบสุขใน ปรมํ สุขํ ไม่ใช่สุขแบบนี้ สุขแบบเมืองพอ สุขแบบมันเฉยๆ สุขแบบไม่มีใดๆ ไปเจือมันได้ไง สุขแบบอวกาศ ไม่ใช่สุขแบบอากาศ อากาศนี้ลมมันแปรปรวน สุขแบบอวกาศเลย อวกาศไง ว่างหมด ไม่มีใดๆ ทั้งสิ้น แต่ความว่างนั้นไม่มีใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทำไมจรวดมันขึ้นไปในอวกาศได้ล่ะ ความว่างนั้นมันก็เป็นประโยชน์ไง ความว่างนั้น...
หลวงปู่มั่นบอกไง เลขศูนย์เติม ๑ เข้าไปก็เป็น ๑๐ เติม ๙ ก็ ๙๐ เติมเลขข้างหน้ามากเท่าไรมันก็เป็นเท่านั้น นี่ความว่างอันนั้นมันถึงเป็นประโยชน์ไง ความว่าง ความสุขอันนั้นมันถึงได้ว่างมหาศาล เลขศูนย์เป็นเลขที่มีค่าที่สุด แต่เราไปว่าเลขอื่นมีค่าที่สุด เลขศูนย์เป็นเลขที่ไม่มี แต่ถ้าไม่มีเลขศูนย์ มันจะมาสมมุติเป็นการเพิ่มค่ากันตรงไหน แต่พวกเราไม่มีเลขศูนย์สักคนหนึ่ง มีแต่ ๑ ถึง ๙ มีแต่ฟันกัน
ความว่างนี้กดไว้ ไม่ใช่ว่างจริง ความว่างนี้กดไว้ ว่างจริง เพราะมันไม่มีกิเลส มันถึงว่างจริง ว่างกดไว้กับว่างจริงต่างกัน ว่างกดไว้ เห็นไหม สมาธินั่นล่ะกดไว้ มันเป็นความว่าง แต่มันว่าง เดี๋ยวก็ออกมารับรู้ มันก็เป็นอันเก่า เพราะเราไม่ได้ชำระกิเลส แต่ถ้าว่างจริงนี่มันขาดตั้งแต่ตอนนั้นน่ะ อย่างที่ว่าปฏิสนธิกับอวิชชานั่นล่ะ มันจบตรงนั้นแล้ว พอมันจบตรงนั้น เรารู้วิชชาเข้าไปฆ่าอวิชชาแล้ว พอมันจบแล้วไม่มีการปฏิสนธิอีก มันไม่มีการเกิดการดับ
พอไม่มีการเกิดการดับ เห็นไหม ไฟที่ไม่มีการเกิดการดับ พลังงานที่ไม่มีการเกิดการดับ เป็นพลังงานอันหนึ่ง แต่ไม่มีการเกิดการดับอีกแล้ว นั่นความว่างอันแท้มันเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเอาความว่างอะไรไปเทียบมันล่ะ
ว่างๆ ก็ว่ากันไปเรื่อย พอเราไปพูดอย่างนั้นเข้าว่าว่าง พอใจ เมืองพอ นั่นล่ะมันทำให้เราไม่ก้าวเดิน เพราะมีเราพูด เราพูดว่าว่าง มันคนละอัน เพราะเราพูด กับความว่างเป็นอันหนึ่ง เราพูดเป็นอันหนึ่ง เป็น ๒ แล้ว แต่ถ้าเป็นความว่างจริง มันไม่มีใครพูดถึงมัน มันในตัวมันเอง มันรู้ในตัวมันเอง สิ่งที่เป็นสสารนั้นมันรู้ตัวมันเองต่างหาก มันมาสมมุติในโลกนี้ไม่ได้ มันจะมาพูดในภาษาโลกนี้ ไม่มีเลย ไม่มี อ้าปากก็เป็นผิดหมด นั่นล่ะมันเกิดจาก...จิตนี่ เพราะมันเป็นความว่างที่รู้ ไอ้ที่ว่าเป็นวัตถุนั้นมันว่าง มันไม่รู้ตัวของมันเอง ถึงพิสดารอย่างนี้ไง มันถึงว่าเป็นค่าของศูนย์ ศูนย์แท้ไง เห็นไหม
ว่างไปแล้วทำไมเป็นศูนย์ล่ะ แล้วทำไมไปต่ออย่างอื่นได้ล่ะ
เพราะต่อเป็นสมมุติ เวลามาต่อนี้มาใช้ประโยชน์ไง
พระพุทธเจ้าพรรษาที่ ๖ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พอสำเร็จ พอวันวิสาขะ ตรัสรู้ นั้นล่ะอวิชชากับปฏิสนธิหักกันตรงนั้น แล้วพระพุทธเจ้าเอาอะไรมาพูดนั่นน่ะ นั่นพระไตรปิฎกทั้งตู้ พระพุทธเจ้าพูดอะไรออกมา? ขณะที่เหลือนี่ไง ถึงได้ว่าเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน กับสอุปาทิเสสนิพพานไง ใช้ขันธ์ ๕ ใช้ธาตุ ๔ คือร่างกายของเรา กับขันธ์ ๕ นี้มันยังใช้ได้ ยังเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นมนุษย์ปกติอยู่ ใช้ประโยชน์ออกมา ถึงว่าเป็นกิริยาของธรรมไง ธรรมแท้ คือหัวใจของพระพุทธเจ้าที่สำเร็จแล้ว แล้วการกล่าวแสดงออกมานี่เป็นถนนหนทางให้เราเดินตามเข้าไปไง
วางถนนไว้ วางสนามบินไว้ให้เราร่อนลง เรานี้เป็นเครื่องบิน เกิดเป็นมนุษย์นี้เหมือนเครื่องบินลำหนึ่ง แล้วหาที่จอดไม่ได้ หาที่ลงไม่เจอ พระพุทธเจ้าทำสนามบินไว้เต็ม กว้างขวางนะ แต่มองไม่เห็น เห็นแต่ยอดเขา เห็นแต่ยอดไม้ เครื่องบินก็ลงเสียบยอดไม้ทั้งนั้นล่ะ หาลานบินไม่เจอ
ดูแผนที่อยู่ ดูอยู่แผนที่ ก็นี่ไงเปิดตำราดูอยู่ ตำราคือเป็นตำรา แผนที่ในหัวใจ ถ้าใจสัมผัส เวลาใจมันสงบ เวลาใจมันเยือกเย็น นั่นล่ะแผนที่ เขาเรียกว่าเริ่มเห็นลายไง เริ่มเห็นเค้าโครงของแผนที่ เห็นเค้าโครงนะ เพราะว่าพอจิตมันสงบมันก็เหมือนกับเราจับกระดาษเปล่าขึ้นมาแผ่นหนึ่ง นั่นตัวแผนที่ จิตสงบนะ จิตนี้สงบ กระดาษเปล่า กระดาษขาวๆ คิดสิ คิด
จิตมันสงบแล้วมันมีความสุข มันขี้เกียจ มันจะนอนอยู่อย่างนั่นล่ะ ถ้าคนไม่ได้ออกพิจารณานะ ออกไปพิจารณา พิจารณาดูอะไร? ดูขันธ์ไง ขันธ์ คือความคิด ความปรุง ความแต่ง ขันธ์ คือสัญญา ความคิดนี้จะเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ ความคิดนี้ต้องมีเหตุยุมันขึ้นมา พอมันยุขึ้นมา เราก็จับมันสิ ดูตัวไหนเป็นตัวสัญญา ตัวสัญญาตัวไหนเป็นตัวสัญญา ไอ้ตัวที่คิดนี้เป็นตัวสังขาร ขันธ์ ๕ นี้จะหมุนไปได้เพราะว่ากิเลสมันเสี้ยม มีกิเลสอยู่นี่ยังมียางเหนียวอยู่ พอยางเหนียวอยู่นี้มันจะหมุนไป ๑ รอบ หมุนไป ๑ รอบ ก็เป็น ๑ อารมณ์ เห็นไหม ๑ อารมณ์ เส้นหนึ่ง แผนที่ไง
จากกระดาษเปล่าๆ มันจะเริ่มเป็นแผนที่แล้ว นี่เห็นแผนที่ เห็นแผนที่แล้วสนามบินอยู่ไหน สนามบินอยู่ที่ไหน ก็เห็นแผนที่แล้วก็เดินตามใช่ไหม เดินตามแผนที่ภายใน ใช้สิ อ่านแผนที่ให้ออก แผนที่นี้อ่านให้ออก ถ้าเราดูตัวไหนเป็นตัวปรุง ตัวที่เป็นความคิด แล้วตัวไหนเป็นตัวความรู้สึก เวทนา เวทนาในอารมณ์เดียวนี่แหละ ในอารมณ์เรา เวลาเราคิดดีคิดชั่ว มันพร้อม ขันธ์ ๕ นี้พร้อมอยู่แล้ว มันเจือด้วยขันธ์ ๕ นี้ แล้ววิญญาณรับรู้นี่มันสอดไปตลอด มันสอดไปตลอด
ขันธ์ ๕ นี้เป็นแค่ธรรมชาติของขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันเป็นธรรมชาติที่ว่าเกิดขึ้นมา มันเป็น มีอยู่แล้ว แต่ถ้าชำระกิเลสจนเกลี้ยง จนสะอาดไป ขันธ์ ๕ อย่างที่พระพุทธเจ้า ที่ว่าสำเร็จแล้ว ก็ใช้ขันธ์ ๕ นี้เป็นประโยชน์ไง ขันธ์ ๕ นี้จึงเป็น เอาขันธ์ ๕ นี้ที่สะอาดแล้วมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราก็มีขันธ์ ๕ แต่เราใช้ประโยชน์มันไม่ได้ เพราะมันมีกิเลส กิเลสเป็นเจ้าของใช้แทน กิเลสมันใช้ขันธ์ ๕ แทน แต่พระพุทธเจ้าใช้ขันธ์ ๕ เป็นประโยชน์
เราโดนกิเลสใช้ขันธ์ ๕ แล้วเราก็หมุนไป เพราะเราอยู่ใต้ขันธ์ ๕ นั้น ก็ไม่เห็นสนามบินไง เอามาใคร่ครวญกันนะ เอามาใคร่ครวญแล้วดู นี่คือวิปัสสนา
ขันธ์ ๕ นะ มันยังมีขันธ์ ๕ นอก ขันธ์ ๕ ใน ขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ เป็นซับเป็นซ้อนเข้าไปไง ถึงว่าปริญญามีหลายใบ ปริญญานี้มีหลายใบ สุขนี้มีหลายชั้นหลายตอน ถึงว่าศาสนาพุทธเรานี้ประเสริฐ ศาสนาพุทธเรานี่ วางไว้ มีหมดนะ จะเอาอะไรล่ะ จะเอาสมบัติ เอาขั้นตอนไหน จะเอาสินค้าชนิดใด ความเพียรเราขนาดไหน ความเพียรแบบเด็กๆ นี้ ความเพียรแบบเด็กๆ เล่นขายของกัน ทำหยอกๆ แหยกๆ ไง ก็ได้กิริยาธรรม ตายแล้วก็ได้เกิดบนสวรรค์ ว่าอย่างนั้นเถอะ อุตส่าห์มาทำความเพียรกัน นี่เด็กๆ เล่นขายของ
ความเพียรของผู้ชำระกิเลสสิ ครูบาอาจารย์อยู่ในป่า ๓ เดือน ๔ เดือน ไม่ต้องกินข้าว แล้วพอว่าอย่างนั้นก็ว่า โอ๋ย! รุนแรงไปๆ มันจะรุนแรงไปไหน เวลากิเลสมันรุนแรงไม่พูดถึงมันล่ะ สิ่งใดที่ไฟป่ามันลุก เอาน้ำขันเดียวไปดับมันเหรอ ไฟมันมาขนาดนั้น เดี๋ยวนี้ไฟป่ามันลุก เขาเอาเครื่องบินไปพ่นใส่เลย น้ำยาเคมีฉีดเข้าไป
กิเลสเวลามันออกมานะ อย่างพวกเรานี้พวกเริ่มต้น มันรุนแรงมากแล้วก็เอาน้ำขันหนึ่งไปดับมัน เขามา ๔-๕ คน มารังแกนะ ไม่มีอาวุธอะไรไปสู้เขาเลย นี่เวลากิเลสออกมา ให้เปรียบเทียบเป็นแบบนั้น เวลาอารมณ์รุนแรงนี่ให้คิดอย่างนั้น เราจะได้มีการต่อสู้ไง ถ้าเราไม่มีการต่อสู้เลย แล้วเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้ากิเลส เวลามันมานี่วิ่งหนีกรูดๆ เลยนะ แล้วก็ว่าเราคิดถูกเสียด้วย เรานี้เป็นปัญญาชน เรานี้รู้สึกว่า โอ้! เอาตัวรอดได้...มารทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เป็นนักหลบนะ พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นนักรบ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นผู้เข้มแข็ง เป็นผู้ต่อสู้ ไอ้นี่ว่าเป็นปัญญาชน อะไรมาหลบๆ แล้วก็ว่าฉันมีปัญญามาก ฉันสามารถเอาตัวรอดได้ ฉันเป็นคนเก่ง นักหลบไม่ใช่นักรบ ถ้าไม่ใช่นักรบแล้วจะไปชนะได้อย่างไร ก็ไม่เคยรบสักทีหนึ่ง ถ้าคนไม่เคยรบเลยจะเอาอะไรไปชนะ คนชนะต้องรบใช่ไหม
ไม่เคยลงแข่งขันกีฬาใดๆ เลย แต่บอกฉันได้เหรียญทองมา จะเอาเหรียญทองมาก็ต้อง...โอ้! กว่าจะลงแข่งขัน ฝึกซ้อมนี้ ต้องซ้อม ต้องจับเวลาให้ได้ที่แล้วถึงลงไปแข่งขัน แข่งกับอะไร? แข่งกับกิเลสไง กิเลสมันพาให้เลิก กิเลสพาให้ท้อถอย กิเลสพาให้ไม่ทำ กลัว กลัวทำไปแล้วเสียเปล่า เวลาจะมาปฏิบัตินี่สู้ไปทำมาหากินเสียดีกว่า หาเงินหาทองมาสะสมไว้ให้มันเป็นโทษต่อไป
ถ้าไม่มีธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจ
ถ้ามีธรรมในหัวใจนะ หัวใจนี้เป็นธรรม หัวใจนี้เป็นประโยชน์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้จะเป็นประโยชน์ทุกชิ้น ถ้าหัวใจนี้เป็นโทษอยู่นะ ของที่หามานี่มันให้โทษกับหัวใจ
พระไตรปิฎกว่าไว้ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เป็นจิ้งจก ตุ๊กแก เต็มไปหมดนะ มากมายเลย โตเทยยพราหมณ์ พระพุทธเจ้าบอกเลย โตเทยยพราหมณ์ เธอเกิดเป็นมนุษย์ เธอก็ไม่เคยให้ทานเลย ตายไปเกิดเป็นหมายังมาเห่าพระพุทธเจ้าอีกเหรอ นี่ในพระไตรปิฎกเปิดดูเลย จนลูกชายโกรธมาก ลองกันเลยนะ คนใช้ได้ยิน ไปบอกเจ้านายว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น มาเลย ต้องไปหาพระพุทธเจ้า พูดอย่างนั้นจริงเหรอ
จริง
แล้วลองกันนะ โตเทยยพราหมณ์เพิ่งตาย เกิดชาตินี้ เพิ่งตายไปแล้วเกิดเป็นหมา ยังนึกอยู่ พอพระพุทธเจ้าว่านี่สลดใจ จะกลับไปนอนอยู่ที่เตาไฟ ให้กลับไปเลี้ยงอาหารให้ดีแล้วปลอบเลยว่า พ่อๆ สมบัติซ่อนไว้ไหน
ทำตามพระพุทธเจ้าพูดนะ ลูกชายโตเทยยพราหมณ์ หมานี้ก็ไปคุ้ยเลยนะ มันสลดใจไง เพราะทองคำที่ฝังไว้ ความผูกของใจ มันมาเกิดตรงนั้นน่ะ นั้นล่ะหาเงิน
พอจะปฏิบัติก็ว่าจะหาเงินหาทองมา แล้วตายไปเกิดมาแล้วก็มาเฝ้า มันให้โทษถึงกับ ๒ ชาตินะ ไม่ใช่ชาติเดียว ชาติที่หามาก็ทุกข์แล้ว ตายไปยังต้องมาเกิดเป็นหมามาเฝ้ามันอีก โตเทยยพราหมณ์นั่นน่ะ แล้วเราจะเป็นอะไร
เราไม่ต้องไปทำอย่างนั้น เราเอาชาตินี้ให้สิ้น ชาติปัจจุบันนี้ ปัจจุบันที่ทำอยู่นี้ ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันจิต อดีตอนาคตให้ผลเรามา ระหว่างท่ามกลางมัชฌิมาปฏิปทาที่เกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนาแล้วก็ท่ามกลางกึ่งพุทธกาลด้วย ท่ามกลางทั้งหมดเลย ท่ามกลางในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันที่นั่งอยู่นี่ ปัจจุบันที่กำลังกำหนดจิตให้ลงอยู่นี่ ให้มันทะลุลงเดี๋ยวนี้เลย ให้มันดิ่งลงอยู่กลางหัวใจ ให้มันดิ่งลงไป พอมันดิ่งลงไปแล้ว เห็นไหม นี่แหละบัวบานไง
เห็นไหม ระเบิดนิวเคลียร์มันระเบิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดขึ้นมา หัวใจที่สงบแล้ว ความชุ่มชื่นมันจะเป็นแบบนั้นเลย มันบานกลางใจ มันบานท่ามกลางหัวใจ หัวใจหัวจิตไง หัวใจถึงมีค่า หัวใจของเราถึงมีค่า หัวใจพุทธะไง พุทธะมีอยู่ท่ามกลางของผู้ที่มีชีวิตทุกคน พุทธะคือผู้รู้ ผู้รู้คือหัวใจ พุทธะคือจิต พุทธะ ธาตุของรู้ไง ธาตุของความรู้ พุทธะ...แล้วใครไม่มี
พุทธะก็พระพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าใช่ไหม เราต้องการใฝ่หา เราอยากเห็นนัก เราอยากจะเจอพระพุทธเจ้า อุปัฏฐากหัวใจของตัวเท่ากับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ค้นหาหัวใจของตัวเจอก็ค้นพระพุทธเจ้าเจอไง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตนั่งท่ามกลางหัวใจของทุกๆ คน แต่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครเคยอุปัฏฐากหัวใจของตัวเองได้ มีแต่ให้กิเลสมันไสๆๆ ไปตลอดเวลา
มันไม่น่าไปน้อยใจกับคนอื่นเลย ไม่น่าไปน้อยใจกับใครทั้งสิ้น เพราะพุทธะที่อยู่ท่ามกลางหัวใจเรา พุทธะนี่ ถ้าเราไม่มีก็ตายสิ คนตายแล้วไม่มีพุทธะ คนตายเท่านั้นถึงจะไม่มีความรู้สึก พุทธะคือหัวใจ คือผู้รู้นี่แหละ ผู้รู้ก็คือจิตวิญญาณนี่แหละ เห็นไหม
พระพุทธเจ้าถึงบอกไง พระพุทธเจ้าว่าไว้ในพระไตรปิฎกอีกล่ะ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากมาย กัปนี้ก็ ๕ องค์ เห็นไหม มาเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าเราองค์เดียวแล้วหมด ไม่มี...
...เป็น หัวใจเราก็เป็น จิตนี้มันเป็น ถ้ามันคิดดีมันก็เป็นพุทธะ คิดไม่ดีมันก็เทวทัตนั่นล่ะ แล้วเทวทัตข้างนอกไม่เกี่ยวนะ เทวทัตในหัวใจเราน่ะ เพราะมันทำลายหัวใจเราไง พุทธะคือพระพุทธเจ้า ความคิดที่ออกไปนี่เป็นเทวทัตที่ทำลายหัวใจ
ถ้าความคิดดีล่ะ พระสารีบุตร คิดดีนี่ ช่วยพุทธะนี้ให้พ้นออกมา ช่วยพุทธะนี้ให้โผล่ขึ้นมาไง ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า นี่อุปัฏฐากใจของตัว อุปัฏฐากพุทธะขึ้นมา ด้วยปัญญาของพระสารีบุตร เทียบอย่างนั้นนะ
ในเมื่อเราไม่มีปัญญา ในเมื่อเราช่วยตัวเองไม่ได้เลย อาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยทุกๆ อย่าง เพื่อจะตะเกียกตะกายเอาตัวรอด อาศัยทั้งหมด ปัญญา อันนี้เรียกว่า ปัญญา ปัญญาในการเอาตัวรอดไง เอาตัวนี้ให้พ้นขึ้นมา พ้นจากใคร? พ้นจากเงื้อมมือกิเลส พอพ้นขึ้นมาก็นั่งอยู่ที่เก่านั่นล่ะ
คนคนเดิม คนนี้คนปกติ คนนี้คนธรรมดา เป็นคนคนเดิม แต่หัวใจที่พ้น ประเสริฐตรงนั้นนะ ประเสริฐจากข้างใน นี่ดีใน ดีแท้ พอมันเข้าใจตรงนี้ พอมันพ้นจากภายในนะ อื้อหืม! มันไม่ติดนี่ ไม่ติดในรูป ไม่ติดในรส ไม่ติดในกลิ่น ไม่ติดในเสียง ไม่ติดหมด ไอ้พวกนั้นเป็นแค่เครื่องอยู่อาศัย มันก็ไม่ติดในกายเราใช่ไหม มันจะเกิด มันจะดับ มันจะตายเมื่อไหร่ ก็สบายมาก ไม่ต้องมาทุกข์ร้อนหมด
นี่มันยึดทั้งกายเลยนะ กายนี่ ความเจ็บ ความปวดทุกอย่าง นี่เป็นเลย แต่ถ้าจิตมันมีหลักยึด สิ่งใดชำรุดก็ชำรุดไปสิ สิ่งที่ดีอยู่ทั้งตัว กลัวอะไร ถ้าใจที่มีหลักกับใจที่ไม่มีหลักมันต่างกันมหาศาลเลย ใจที่ไม่มีหลัก พอมันมีอะไรเกิดขึ้น มันจะทุกข์ร้อนไป ตามเขาไป ร่างกายนี้แค่เจ็บนิ้ว เจ็บเล็บ มันวิ่งไปแล้ว มันรับรู้แล้ว แล้วปวดทุรนทุรายนะ
แต่ถ้าใจที่มีหลักนะ สิ่งที่เจ็บปวดเล็กน้อยก็ดูมัน เพราะจิตมันหดมาได้ บ้านทั้งหลัง เห็นไหม บ้านทั้งหลังเราจะไปอยู่ตรงไหนล่ะ ชั้นบนก็อยู่ได้ ชั้นล่างก็อยู่ได้ ห้องนั้นก็อยู่ได้ ห้องครัวก็อยู่ได้ อยู่ได้หมด
นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายนี้ทั้งร่างกาย เราอยู่ได้หมด อาศัยได้หมด แขนเสียหรอ แขนเสียเปลี่ยนมันยังได้เลย นี่คือว่า มันไม่ทุกข์ไม่ร้อน มันก็ไม่เพิ่มให้ความทุกข์กับใจเรา ร่างกายนี้มันแปรสภาพตามปกติ แต่ถ้าหัวใจไปเสริม หัวใจที่ไม่มีหลักเกณฑ์มันจะเสริม มันจะทำให้ร่างกายนี้เจ็บเข้าไป ๒ เท่า มันจะเสริมให้ทุกข์ร้อน
แต่ถ้าหัวใจที่มีหลักนะ ร่างกายนี้มันก็เสื่อมสภาพตามปกตินั่นล่ะ แต่หัวใจจะไม่ให้ค่ากับมัน แล้วมันมาทับหัวใจไม่ได้ด้วย
แต่ถ้าไม่มีหลักนะ ๒ อย่างนี้มันสัมพันธ์กันไป ทั้งหัวใจก็ตื่นเต้นตกใจ ตกตื่นนะ ตื่นเต้นไปกับร่างกาย ร่างกายนี้ หัวใจนี้ ความเครียดมันไปเสริม เลือดมันฉีดรุนแรง แผลมันก็จะใหญ่โตไปเรื่อย เห็นไหม ถ้าไม่มีหลักนี่มันผิดๆๆ ให้โทษทั้งหมด ถ้ามีหลักนะ ถูกๆๆ ให้ผลทั้งหมด ฟังสิ
นี่ศาสนาของเรา เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม พระพุทธเจ้าฝากเอาไว้แล้ว ฝากให้เราด้วย แล้วเราก็เป็นคนที่ว่า หู ตา เปิดแล้วไง เป็นผู้ที่หูตาสว่าง
ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ฝากไว้ แล้วก็เป็นคนที่ขวนขวายด้วย วิ่งเข้าหาด้วย รักษาศาสนาไว้อย่างหนึ่ง แล้วจะลิ้มรสของธรรมอีกอย่างหนึ่ง รักษาศาสนาก็รักษาไว้ คำสอน แนวประเพณีวัฒนธรรม รักษาไว้ นี่ศาสนาของเรา แล้วเข้าไปลิ้มรส ใจนี้เข้าไปลิ้มรสอีกด้วย นี่ชาวพุทธแท้ ได้ทั้งอาภรณ์เครื่องอยู่อาศัย ได้ทั้งหัวใจที่เข้าไปสัมผัส สัมผัสธรรมก็มีความสุขสิ สัมผัสธรรม สัมผัสไปเรื่อย ใจสัมผัสเข้าไปเรื่อย ยกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ผลไม้เวลามันเกิดขึ้นมา มันยังเริ่มตั้งเป็นผล เริ่มอ่อน เริ่มแก่ เริ่มสุกให้ผล การปฏิบัติเราไม่อย่างนั้นบ้างเลยหรอ เริ่มจากเริ่มปฏิบัติ แล้วก็ทรงอยู่ให้ได้ ให้มันแก่ไปหน้า ให้ผลเกิดขึ้นมาจากใจไง ผลไม้ยังเป็นไปโดยธรรมชาติของมันเลย นี่หัวใจของเรา แล้วเราบีบบังคับอยู่ เราไสอยู่ เข้าไปในท่ามกลางของการประพฤติปฏิบัติ ฟังสิ ทำไมเราไม่ทำให้เป็นอย่างนั้นล่ะ หัวใจของเราเอง ก็เวลาเงินทองหามานี่ ของเรา เราจับไว้ รักษาไว้อย่างดี เงินทองข้างนอกยังต้องรักษาไว้อย่างดีกลัวจะหาย
แต่หัวใจที่เราจะทำขึ้นมาแล้วมันเป็นทิพย์ มันเป็นอริยทรัพย์ภายใน ไม่มีใครจะมาแบ่งผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นเลย ครูบาอาจารย์ก็ไม่มาแบ่งผลประโยชน์ของใคร ใครหาได้เท่าไรเป็นของคนนั้นเลย ไม่ต้องไปแบ่งมรดก ไม่ต้องไปแบ่งให้ใคร ไม่ต้อง ไม่ต้อง เป็นสมบัติของบุคคลคนที่ปฏิบัติขึ้นมาทั้งนั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ผู้นั้นได้ลิ้มรสของธรรม แล้วผู้นั้นเป็นผู้เสวยผลของธรรมนั้น เสวย ฟังสิ เสวยสุขไง ไม่ใช่เสวยทุกข์
ธรรมะที่ละเอียด เห็นไหม เสวยสุข ต้องเสวย อย่าไปคิดว่าสุขจะไม่เอา เสวยไปก่อน เพราะเป็นทางเดิน ถึงที่สุดของมันแล้วถึงไม่เสวย ไม่เสวยไง เวทนานี้ไม่เสวย เวทนานี้ไม่มีกับหัวใจ มันรู้ อันนี้ไฟ ใครจะไปเอา จับเข้าไปร้อนนี่มันไม่เสวย ถึงจุดแล้วมันสะบัดทิ้งหมดเลย เพียงแต่ว่าเหลือเศษส่วน สอุปาทิเสสนิพพาน ก็ใช้ประโยชน์กันไป ใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ เป็นประโยชน์ทั้งหมด ถ้าใช้เพื่อประโยชน์แล้วนะ แต่ถึงจุดแล้วมันสลัดเลย สลัด!
แต่เราไม่ใช่อย่างนั่นน่ะสิ เราสลัดไม่ออก เพราะมันตายไปพร้อมกับเรา ของทุกอย่างมันฝังอยู่ที่ใจ แล้วพอตาย ใจมันไปพร้อมเลย นี่กรรมดี กรรมชั่ว ถึงได้ต้องให้พยายามไง พยายามปฏิบัติอยู่นี่ไง ให้พร้อมตั้งแต่นี้ ให้พร้อมเดี๋ยวนี้ ให้ตายก่อนตาย ให้กิเลสมันตายก่อน พอกิเลสมันตายก่อน มันก็ตามหาเราไม่เจอ ถ้ามันไม่ตายก่อนนะ เราตายนี่มันหัวเราะแล้ว มันขี่ไปเลย ถ้ามันตายก่อน พอเราไปนี่ไม่มีเจ้านาย เห็นไหม ไม่มีเจ้านาย เพราะมันเป็นเศษเท่านั้นเอง มันไม่เสวยแล้ว มันไม่เสวย มันรู้ไง
แต่นี่ไม่ใช่คำว่า เสวย ไม่เสวยสิ ถ้าจิตไม่เห็น มันไม่ใช่เสวยไม่เสวยหรอก มันเป็นอันเดียวกัน น้ำที่ใส่สีแดง มันเป็นสีแดงอยู่อย่างนั้น เราก็รู้อยู่น้ำนี้เติมสี แต่เราเอาสีออกจากน้ำไม่ได้ แต่ผู้ปฏิบัติแล้ว ขันธ์ ๕ นี้มันเหมือนกับน้ำ สีแดงนั้นคือกิเลส มันแยกออกไปแล้วตั้งแต่ขณะปฏิบัติ ขณะที่มันสมุจเฉท ทำไมจะแยกไม่ได้ ฉะนั้น เวลาตายไป น้ำก็เป็นน้ำ สีแดงก็แยกออกไปสิ แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ เวลาตาย สีแดงกับน้ำนี่เป็นอันเดียวกัน แล้วก็ตายไปพร้อมกัน พร้อมกับเวรกับกรรม
แต่ถ้าผู้ที่สิ้นแล้วไม่อย่างนั้น มันแยกสีกับน้ำออกมาตั้งแต่ขณะสิ้น เวลามันสลัดออกไปแล้ว น้ำถึงได้สะอาดไง น้ำนี้ใส เป็นน้ำสะอาด ทั้งๆ ที่ว่า ปกติเป็นมนุษย์นี้ สีก็เหมือนกับร่างกายนี้แหละ เวลาเป็นมนุษย์นี่สีแดงกับน้ำก็อยู่ด้วยกัน แต่ตายตูม สลัดพรวด! น้ำนี้เป็นน้ำฝน น้ำที่ใสสะอาด สีแดงนี้ทิ้งไปแล้ว
แต่ถ้าเป็นอย่างพวกนักปฏิบัติเรานี้ โอ้! ตายไปพร้อมกัน อย่างว่าล่ะ กิเลสมันขี่หัวออกไปเลย มันไสต่อไป นี่โลกธาตุทั้ง ๓ ไง วัฏฏะไง วัฏฏะเป็นที่อยู่ต่อไป สะพานมันทอดไปข้างหน้าแล้ว หรือจะทอดลงภพไหนล่ะ สายพานทอดไปเลย มันไม่ทันตาย มันก็หมายภพไปแล้ว มันจะลงที่ไหน ถึงว่ายังน้อยก็ให้บุญพาเกิด อย่างน้อยปฏิบัตินี้ก็ได้บุญกุศล
ว่าเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนไว้ บอกพระอานนท์ไว้ด้วย การปฏิบัติบูชา เป็นบูชาอย่างยิ่ง ไม่ใช่อามิสบูชา อามิสบูชาเราก็ทำ ถึงเวลาจำเป็น ทำก็ทำเพื่อผ่อนคลาย มีบุญกุศลเป็นเครื่องอยู่อาศัย ชุ่มเย็นใช่ไหม รถยนต์มีน้ำมันเติมไปมันก็วิ่งสะดวกสบายใช่ไหม เครื่องยนต์ไม่มีน้ำมันหล่อลื่นมันก็แห้งแล้ง นี่ถึงว่าอามิสบูชา แต่ไม่ไปติดมัน
แต่ปฏิบัติบูชานี่ อันนี้สำคัญกว่า การปฏิบัติบูชา เครื่องยนต์ก็พร้อมแล้ว เพราะอามิสบูชามีแล้ว เครื่องยนต์ก็ติดเครื่องแล้ว คันเร่งเหยียบหรือยัง แล้วเหยียบก็เหยียบให้ตรงแผนที่ เห็นไหม นี่ปฏิบัติบูชา รสวิ่งได้เท่าไร ระยะทางที่วิ่งคือผลประโยชน์ของเรา รถที่วิ่งเข้าไป ระยะทางที่วิ่งแล้วถูกต้องตามถนน วิ่งไปเท่าไรนั้นเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด แล้วหัวใจเราได้วิ่งออกไปบ้างไหม
ปฏิบัติแล้วจิตนี้มันเป็นไปตามธรรมพระพุทธเจ้าบ้างไหม ไม่ต้องให้ใครมาให้คะแนนนะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม การที่ปฏิบัติถูกนั้นมันให้ผลเอง ไม่มีใครจะสามารถให้ค่าว่า คันนั้นได้กี่ไมล์ คันนี้ได้กี่ไมล์ ไม่มีทาง เพียงแต่บอกชี้ทางมาเท่านั้นเอง นี่ถนนสายนี้ไปนะ ตรงดิ่งเลย นี่อันนี้นิพพาน ตรงไปเลยนะ นิพพาน
แต่มองไปข้างหน้าสิ โอ้โฮ! โล่งไปหมดเลย ทำไมมันแห้งแล้ง ไม่สนุกเลย ดูข้างๆ สิ สีแสงมากมายไปหมด จอดแวะซะสิ จอดแวะหมดเลย เห็นไหม ใครทำเรา ใครทำเรา? เพราะความเข้าใจว่าจอดแวะข้างทาง โอ้โฮ! มันครึ้มไปหมดเลยนะ มันเย็นสบาย ข้างหน้าไปนี่มันโล่งไปหมดเลย มันไม่เห็นมีรสชาติอะไรข้างหน้านั่น
เพราะธรรมารมณ์ เพราะอารมณ์ของโลก เพราะเราเกิดตายๆ มาในโลกนี้มหาศาล มันเลยชอบไง มันชอบเพราะว่าความเคยชิน มันเป็นความเคยใจ มันชอบอารมณ์ที่มีรส มีกลิ่น มีเสียง มีรูปรสตามความพอใจของมัน
แต่นิพพาน ตรงไปนี่มันจืด แต่ของจืดนี้มันไม่ให้โทษ มันให้แต่ผลให้แต่ประโยชน์ น้ำฝน เห็นไหม น้ำฝนดื่มเข้าไป ร่างกายมีแต่ประโยชน์ น้ำที่เจือปนด้วยเชื้อโรค แต่หัวใจมันมีเชื้อโรคอยู่แล้ว มันก็อร่อยน่ะสิ เชื้อโรคกับเชื้อโรคเข้ากันได้ ว่าอย่างนั้นเลย
ปัญญานะ ปัญญาการที่เราจะเอาชนะตนเอง พูดแค่นี้มันก็ฟังได้ มันรื่นหูหน่อยหนึ่ง กิเลสมันกลัวจะว่ามันไง กิเลสไม่อยากให้ว่ามัน ว่าชนะตนได้ ปัญญาเอาชนะตนได้ แต่จริงๆ คือ ปัญญาจะเอาชนะกิเลสล่ะ กิเลสนี้ บอกว่าเราจะเอาชนะมัน มันจะต่อต้านไง ถ้าบอกว่าเอาชนะมันไม่ได้ มันบอกชนะเรา ว่าอย่างนั้นเลย เพราะกิเลสมันอยู่หลังเรา คือว่าโดนเป้าหมายที่ ๒ ไง อย่าไปโดนหัวมันเลยล่ะ ถ้าโดนหัวมันเลย มันจะยันกลับมา เราจะเลิก เราจะหงายไง
ว่ามันก็ไม่ได้ ว่าเราก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าให้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนว่าตน มันเหมือนกับว่ามันไม่ให้ใครมาแบ่งส่วนไปไง ให้ครูบาอาจารย์บอก ให้เพื่อนฝูงบอกนี่ ไม่น่าจะใช่นะ ท่านคงจะฟังผิด ท่านคงจะพูดคำนี้ผิดหรอก ถ้าท่านเข้าใจถูกท่านจะไม่พูดคำนี้หรอก เห็นไหม นี่ถึงจะพูดตรงๆ พูดดีๆ แต่กิเลสมันเบี่ยงให้ผลนั้นผิดแล้ว
พอเบี่ยงผลนั้นผิด เป้าหมายที่ผิด เราขับรถไป แผนที่มันชี้ไปผิดแล้ว เข็มทิศมันชี้ผิดแล้วเพราะอะไร เพราะว่ากิเลสมันอยู่ในใจ กิเลสนี่แหละ แล้วถ้าไปถูกแล้ว มันจะพ้นเชือกกิเลสที่มันผูกวัวไว้นะ วัววิ่งไปไกล เชือกมันจะขาด มันจะให้วิ่งไปในวงรอบของมันไง ให้เชือกผูกไว้ได้อย่างเก่า
วิชามาร มันหลอกนะ แล้วมันหลอกนี่ เวลาเราสร้างปัญญาจะให้ทันมัน สุดๆ เหนื่อยสุดๆ นะ เวลามันมาอารมณ์เดียวแล้วจะเอาชนะมัน บางทีใคร่ครวญอยู่ทั้งวันนะ ๒ วัน ๓ วัน ยังแพ้มัน กว่าจะชนะทีละปล้องๆ อื้อหืม! แต่เวลามันคิดเอง มันไสออกมานะ ทำไมมันง่ายอย่างนั้นน่ะ นี่ฟังดูสิ มันน่าท้อใจไหม เวลากิเลสมันคิดขึ้นมานี่ ง่ายเหลือเกินเนาะ มันโยนหินมาก้อนหนึ่ง หรือโยนโจทย์มาข้อหนึ่งให้เราแก้นี่ อื้อหืม! เวลามันโยนโจทย์มาข้อหนึ่งนะ โยนโจทย์มาข้อเดียวให้เราแก้ แล้วเราก็คิดไปสิ กว่าจะแก้อันนี้ เปลาะนี้พ้นนะ โอ้! สบาย ฉันชนะแล้ว! ประกาศเลยนะ ฉันชนะแล้ว! สบายอยู่พักหนึ่ง แต่นี่แหละคือการต่อสู้ เริ่มต้นจากตรงนี้แหละ
กิเลส เริ่มต้นจากลูกหลานมันนะ อันนี้แค่เหลนๆ มันนะ ไพร่พลมันมา ก่อนเราจะเข้าไปถึงขุนนะ ก่อนจะเข้าไปถึงเจ้าวัฏจักรนี้ เราผ่านจากลูกหลานเข้าไป ต้องตีเข้าไป ต้องตีๆ ตีใคร? ตีหัวใจนะ ต้องตีผ่าวงล้อมเข้าไป
เจ้าวัฏจักรอยู่ที่กลางหัวใจ เรือนยอด กิเลส เห็นไหม เรือนยอด เรือน ๓ หลัง โลภ โกรธ หลง พวกที่ผ่านโลภ โกรธ หลง นี้ยังไม่นะ เรือนสามหลังนี้รวมยอดเข้าไป ยอดของเรือนนั้นน่ะเจ้าวัฏจักร พ่อไง พ่อของโลภ ของโกรธ ของหลงไง นางราคะ นางตัณหา นางอรดี แล้วก็พ่อ นี่เรือนยอด ไอ้นี่แค่เหลน ตีเข้าไปนะ ตีเข้าไปๆ ผ่านจากโลภ โกรธ หลงเข้าไปแล้ว
ก็ว่า ชนะโลภ โกรธ หลง แล้วก็สิ้น
ยัง ชนะโลภ โกรธ หลง แล้วมันยังหลงตัวมันเองอยู่
โลภ โกรธ หลง นี้มันเป็นขันธ์ อยู่ในวงของขันธ์ ๕ ความผูกโกรธอยู่ที่สัญญานี่ ปฏิฆะอยู่ที่สัญญาหมด แต่ความหลง ความเคลิ้ม ภพ นั่นน่ะเรือนยอด มันผ่านเข้าไปที่เรือนยอดอีกชุดหนึ่ง ถึงว่านี่เหลนไง แต่เหลนก็ให้ได้ชนะบ้าง ให้ได้ชนะบ้างนะ ชนะบ้างแพ้บ้าง คนมันก็มีแก่ใจ ถึงว่าสุขนี้เอาเป็นเครื่องดำเนินไง ให้เอาสุขนี้เป็นทางเดิน
เวลาการทำงานมาเหน็ดเหนื่อย นั่นทุกข์ อันนั้นทุกข์ ถ้าเราเข้าใจนะ คนเข้าใจว่าทำงานจะได้เงิน มันตั้งใจทำ เราเข้าใจว่ามรรคผลรอเราอยู่ข้างหน้า ทุกข์อันนี้ ยอม ใครก็ยอมทุกข์ ถ้าเราว่ามรรคผลไม่มี เข่ามันอ่อน ทุกข์ไปทำไม เสียเปล่า ถ้าเราว่ามรรคผลรอเราอยู่ข้างหน้านะ ทุกข์เพื่อจะพ้นทุกข์ ฟังสิ มันน่าคิดนะ โลกเราทั้งโลกเลย ทุกข์เพื่อทุกข์ต่อไป ทุกข์เพื่ออยู่ในวัฏวน ทุกข์เพื่อเป็นขี้ข้ามันตลอดไป
ก็บ่นกันว่าทุกข์ๆๆ อยู่ อันนั้นเป็นทุกข์ของทางโลกเขา ไอ้ทุกข์ของเรามันทุกข์อริยสัจ ทุกขังอริยสัจจัง สมุทยอริยสัจจัง นิโรธอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจัง เห็นไหม มันทุกข์ในอริยมรรค ทุกข์ในอริยสัจ
ทุกข์ข้างนอกนี่มันทุกข์อริยสัจนะ ทุกข์นอกสุ่ม ทุกข์ในสุ่มทุกข์ในกายเรา ทุกข์ในสุ่ม ทุกข์ในปลา สุ่ม มันสุ่มปลาอยู่ ปลาในสุ่มนี่เราน่าจะจับได้ กับปลาในแม่น้ำนี่ไม่น่าจะไปจับมันหรอก เพราะแม่น้ำนี่เราจะดำไปจับมันได้อย่างไร แต่คนพอใจในปลานอกสุ่มกัน ไม่พอใจปลาในสุ่มของตัว
ถ้าพอใจปลาในสุ่มของตัว นี่ทุกข์อย่างนี้ ทุกข์กัดฟันตน นั่งก็เจ็บปวด นี่ก็ทน เพราะปลามันอยู่ในหัวใจ อยู่ในกายนี้ เอาสองมือเข้าไปคลำมัน เข้าไปหาให้เจอ จับปลาได้ก็นั่นล่ะจับใจได้ จับปลาได้ก็ถอดเกล็ดมัน เห็นไหม จับใจได้ก็พิจารณามัน พิจารณามันนะ จับปลาได้แล้วถอดเกล็ด จับใจได้ก็ถอดเกล็ดใจว่าอย่างนั้นเถอะ ถอดเกล็ดใจ ดูสิ ถอดเกล็ดแล้วเลือดซิบๆ มันก็ยังไปของมันได้ มันไม่ตาย ไม่ต้องกลัวว่าใจมันจะตาย หัวใจไม่ใช่ปลา เปรียบเทียบเฉยๆ
ปลาถอดเกล็ดมันอาจจะตายไป แต่ใจนี้ถอดเกล็ดมันก็ไม่ตาย ถ้ามันตาย มันควรตายมานานแล้ว มันทุกข์มาเต็มที่ เกิดมาชาตินี้ ไม่ต้องเอาชาติอื่นหรอก ชาติปัจจุบัน ตั้งแต่เกิดมาป่านนี้ มันทุกข์มากี่หน ทุกข์เอาเจียนตายๆ มากี่หนแล้ว แล้วมันเคยตายไหม? ไม่มีทาง หัวใจนี้ไม่เคยตาย มีแต่จะวนต่อไปกับนิพพานเท่านั้น นิพพานก็สิ้นสุดกัน ถ้าไม่นิพพาน มันจะวนไปเรื่อยๆ ไม่มีตาย ไม่เคยมีหัวใจอันไหนตาย พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ไม่เคยสอนว่าหัวใจมันจะสิ้นไปโดยธรรมชาติแล้วมันจะตาย ไม่มี วนอยู่นี่แหละๆ วนไปๆ นะ คิดดู วนไปแล้วมันให้ค่าอะไร วนไปแล้วมันให้ประโยชน์อะไร
แต่ถ้าพ้นไป มันไม่ต้องวน มันถึงจะเป็นประโยชน์แท้
วนไปก็ขึ้นต้นใหม่ ดูนะ ดูแบบเรานี้ก็พอ เกิดมาก็ศึกษาเล่าเรียนไปแล้วมันก็ต้องตายไป แล้วก็เกิดใหม่ เกิดใหม่อยู่อย่างนั้นน่ะ
การเกิดมันก็มีทุกข์ ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นทุกข์เกิดเดี๋ยวนั้น ฉะนั้น ถึงว่า นักปฏิบัติไม่กลัวตาย กลัวเกิด ไอ้เรากลัวตาย เกิดไม่กลัว เพราะถือว่าเกิดแล้วมันได้ไง แต่ทางศาสนาสอนว่า เกิดแล้วมันทุกข์ ไม่เกิดแล้วมันสุข นิพพานคือไม่เกิด นิพพานที่มันสุขเพราะมันไม่เกิดอีกแล้วไง คิดดูสิ คนที่ไม่เกิดแล้ว ก็เหมือนกับเรา อย่างที่ว่าเราเกิดมาแล้วเราไม่ตาย มีความสุขไหม? มีสิ แต่นี้มันไม่สุขเพราะอะไร เพราะความจริงในภพเรามันไม่สุข มนุษย์นี้มันไม่สุข มันทุกข์ๆ สุขๆ ปนกันไป แต่ทุกข์มากกว่าสุข มันเลยไม่สุขจริงไง
นิพพานเหมือนกับเรานี่ แล้วไม่ตายด้วย แล้วสุขด้วย
มันไม่ใช่สุดเอื้อมหรอก ไม่น่าจะสุดเอื้อมนะ ถ้าว่าสุดเอื้อม มันเหมือนกับดูถูกตัวเอง วาสนาไม่มีบ้าง อะไรบ้าง นี่วิชามารหมดเลย ดูในพระไตรปิฎก พระอรหันต์ในสมัยนั้นน่ะ ประวัติบางองค์ทุกข์กว่าเรานะ เป็นคนขี้ทุกข์นะ ทุกข์มากเลย ท่านก็สิ้นได้ พาหิยะ เห็นไหม มาถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตอบทีเดียวสำเร็จเลยนะ ไปหาบริขาร ๘ ยังไม่ได้เลย คิดดูสิ คนที่หาบาตร หาจีวรไม่ได้ หาไม่มี นี่ทุกข์จนขนาดไหน แต่เป็นพระอรหันต์นะ
เราถึงว่าเรารวย เราจน เราไม่มีวาสนา สมัยนั้นก็อย่างนี้ มนุษย์เรานี่แหละ ถึงว่าเราจะไม่มีวาสนา มันจะอ่อนปวกเปียกไปไง ดูถูกตัวเองไม่ได้ เรามีวาสนา ถ้าไม่มีวาสนา มานั่งอยู่นี่ได้อย่างไร คนที่มานั่งอย่างนี้ มานั่งภาวนา คนไม่มีวาสนาเหรอ คนไม่มีวาสนามันต้องอยู่ข้างนอกนู่นน่ะ ป่านนี้ยังก๊งไม่เลิก ๓ วัน ๔ วันติดกันยังว่าข้านี้แน่ เล่นไพ่ กินเหล้า ๓ วันนี่โอ้โฮ! ไม่มีใครทำได้ ฉันทำได้ นั่นล่ะ พวกนั้นมีวาสนาเหรอ แล้วเวลามานั่งอยู่นี่ว่าไม่มีวาสนา เวลาเราเพลิดเพลิน เราลืมตัวไป มันไม่เคยคิดอย่างนี้เลย แต่พอมาปฏิบัตินี่มันคิด นี่แหละวิชามาร
เสมือนเราเอาชามมา จะตักข้าวใส่ชาม ไม่มีวาสนา มือก็อ่อน ตักข้าวไม่ใส่ชามสักที ตักข้าวไม่ได้เลย ถ้ามันเข้มแข็ง มันบึกบึน ก็ตักขึ้นมาสิ ทัพพีจะหนักขนาดไหน มือก็มี ตักข้าวขึ้นมาสิ ชามก็นี่ไง ก็ใส่มาสิ มันเต็มชามขึ้นมาเราก็อิ่มใจไง หยิบชามมานี่ มือนี้ก็จะหลุดมือให้ได้ อีกมือยกทัพพีขึ้นมาก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลย ไอ้ข้าวในหม้อยังเปิดไม่เป็น นั่นน่ะวาสนาบารมี เวลามันคิด มันเป็นอย่างนั้นนะ นี่เวลาเราว่าเราคิด มันคิดว่าเราคิดแล้วก็แล้วกัน แต่เวลามันให้ผลแบบที่เรายกให้ฟังนั่นน่ะ มันให้ผลอย่างนั้น ถ้าใจอ่อนแล้วเป็นอย่างนั้น
ถ้าใจอ่อนแล้วกิเลสเข้มแข็ง ถ้าเราเข้มแข็ง กิเลสมันจะอ่อนลง ถ้าเราบึกบึน เรามั่นใจ เราทำได้ กิเลสมันจะอ่อนไปๆ ถ้าเราใจอ่อน เราคอยแต่ลิดรอนตัวเราเองนั่นน่ะ กิเลสมันจะแข็งขึ้นๆ แล้วสักวันหนึ่งก็ ไม่ไหวแล้ว เลิกเหอะ แล้วอะไรไหวล่ะ ถ้าไม่ไหว กลับไปก็ไปคลุกอยู่อย่างนั้นเหรอ ถ้าไหวก็พ้นทุกข์ว่าอย่างนั้นเลย เพราะข้างหน้ามันทางพ้นทุกข์ ถนนนี้มันชี้ไปที่นิพพาน ถ้าเราเดินไปทำไมมันไม่ถึง ฟังสิ มันเดินไปมันต้องถึงสิ
แต่เวลาปลุกใจ มันสำคัญตรงนี้ เราต้องปลุกปลอบใจเราด้วย แล้วมันต้องมีหมู่มีคณะดึง ช่วยกันดึงช่วยกันไสให้เข้าถึงตรงนั้นให้ได้ อย่างอื่นนี้เป็นส่วนประกอบนะ ทุกอย่างเป็นส่วนประกอบหมด สำคัญตรงนี้ เพราะเวลาถึง ใจมันถึง ร่างกายไม่ถึง ของที่ทำไว้ไม่ถึง มันต้องข้ามพ้นไปหมด ใจนี่ถึงเท่านั้น ใจ ใจสัมผัสเลย เห็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่ท่ามกลาง เห็นตถาคต เฝ้าพระพุทธเจ้าโดยความอิ่มเอิบใจ เราไปเฝ้าของเราเอง เราไปของเราเอง
พุทธะอยู่กลางหัวใจ ถึงว่า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ บริสุทธิ์เหมือนกัน พระพุทธเจ้านะ พระอรหันต์สาวกบริสุทธิ์เหมือนกัน แต่บารมีต่างกันอย่างฟ้ากับดิน พระพุทธเจ้าสร้างสมบารมีมามหาศาล ๔ อสงไขย แสนมหากัป ทุกข์มาขนาดนั้นนะ สละมาหมด ทั้งลูกทั้งเมียสละหมด สละมาหมด เขาไม่เชื่อกัน โลกไม่เชื่อกัน พระพุทธเจ้าทุกองค์ชาติสุดท้ายต้องเป็นอย่างนั้นล่ะ สละหมดทั้งลูกและเมีย เพราะการสละออก เรื่องของกามภพมันรุนแรงมาก การสละกามมันเรื่องของที่ว่า ใจขาดเลย
ทีนี้กว่าจะมาแสวงโพธิญาณ มันต้องสะสมมาอย่างนั้นเลยล่ะ เพราะเป็นผู้ที่ดั้นด้นไปเองนะ อย่างสาวกะ สาวก ผู้ได้ยินได้ฟัง ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เหมือนกับชุบมือเปิบนะ ฟังพระพุทธเจ้า ค้นหาอยู่ ๖ ปีนะ มาถึงอัญญาโกณฑัญญะ ฟังครั้งแรกก็โสดาบันแล้ว ฟังธัมมจักฯ ครั้งแรกก็โสดาบันแล้ว ในพรรษานั้นสำเร็จ ๕ องค์ แล้วออกมา มาได้ยสะ เห็นไหม ยสะฟังธรรมคืนนั้นสำเร็จนะ นี่เหมือนกับชุบมือเปิบ ก็เหมือนมีอาจารย์ มีคนสอนมีคนบอก แต่เวลาสำเร็จแล้วความสุขเสมอกัน แต่บารมีต่างกัน
ที่ว่าสำเร็จๆ เอตทัคคะ คือว่า ความถนัดของตัวแต่ละแขนงเห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกไว้นะ ๘๐ องค์ พระอานนท์ได้ตั้ง ๕ ประเภท เห็นไหม เป็นพหูสูต ได้ยินได้ฟังมาก เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เป็นอะไรอีกถึง ๕ แขนง
ผู้ที่จะให้ ผู้ที่จะบอกว่าคนอื่นได้ระดับนั้นนี่ต้องสูงกว่า นี่ ๘๐ ความเห็นนี่นะ หูทิพย์ ตาทิพย์ อย่างเช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ปัญญานี่รวมลงแล้ว ๘๐ ปัญญานี้ยังไม่เทียบปัญญาเดียวของพระพุทธเจ้า ฟังสิ แล้วยังมีมากกว่านั้นนะ ถึงบอกว่ามันต่างกัน ฟ้ากับดินไง เรื่องวาสนาบารมีต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ความบริสุทธิ์เฉยๆ หรอก ความเสมอกันไง
ถึงบอกว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ว่านั่งเสมอพระพุทธเจ้า พูดไปมันก็สูงไปนะ นั่งเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ความเสมอไง ใจก็ไปเสมอ ใจก็ไปสิ้นก็เสมอ เป็นพระอรหันต์เหมือนกันทั้งหมด เป้าหมายของศาสนาพุทธ พุทธะ เห็นไหม ศาสนาพุทธ ศาสนาพระพุทธเจ้า
เราเป็นสาวกนะ เราเป็นบริษัท พระพุทธเจ้าฝากไว้ด้วย แล้วยังชี้นำด้วย ฝากไว้นะ ไม่ใช่ฝากไว้แบบว่า ฝากไว้ให้เอาเข้าตู้ ฝากไว้ให้ไปปฏิบัติ แบบฝากอาหารไว้ให้กิน ไม่ใช่ฝากไว้ เอาเราไปเก็บไว้จนเสีย ฝากศาสนาไว้ก็เอาเข้าตู้ไว้ เข้าตู้ก็ขึ้นทะเบียนไง ฉันเป็นชาวพุทธ แล้วก็ไม่เคยเอามาใช้เลย นี่ฝากไว้ ขึ้นทะเบียน ฉันเป็นชาวพุทธ
แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนกับเอาอาหารนั้นมาปรุงกินด้วย มาปรุงแล้วกินเข้าไป เราก็ได้ ฝากไว้ด้วย ได้สัมผัสด้วย ได้ใช้สอยด้วย ฝากไว้เฉยๆ เก็บไว้เฉยๆ เป็นทุกข์ เก็บสมบัติเขาไว้ทำไมจะไม่เป็นทุกข์ เก็บไว้แล้วใช้ไม่เป็น คอยแต่เก็บรักษา ของเก็บรักษาเป็นภาระไหม กับเก็บรักษาแล้วใช้ไปเรื่อยๆ พอยิ่งใช้เรื่อยๆ ผลมันยิ่งเกิดขึ้น มากขึ้นๆ
ก็ดูสิ เถ้าแก่ที่เขาทำงานกัน เขาค้าขายกำไรก็เกิดขึ้น เห็นไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้สอย เราแสวงหา เราหมุนเข้าไป ทำไมจะไม่เกิดขึ้น สมบัติก็ต้องเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ สมบัติจะเกิดขึ้น อริยทรัพย์เกิดขึ้นเรื่อยๆ อริยทรัพย์เกิดขึ้นในหัวใจนั่นล่ะ นั่นล่ะชาวพุทธๆๆ เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ฉลาดจริงๆ ปัญญาของพระพุทธเจ้าใช้มาสองพันกว่าปีนี่ยังใหม่ ปัญญาของท่านนะ วางไว้ แล้วเราไม่สามารถเอาปัญญามายัดในสมองเราบ้างเลย...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)