เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o มี.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใกล้คนพาลมันน่าเบื่อเนอะ อยู่ใกล้คนพาลนี่น่าเบื่อมากเลย ชีวิตเรานี่น่าเบื่อมากเลย น่าเบื่อ มันว่าความเบื่อ เบื่อก็เป็นกิเลสอันหนึ่ง ทำไมไม่ละกิเลส ละกิเลสแล้วจะมีเบื่ออีกเหรอ

ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ นางอะไรที่จ้างคนให้มาด่าพระพุทธเจ้า ด่าตลอดเลย จนพระอานนท์บอกว่า “หนีเถอะๆ” พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้วนะยังโดนเขาตามด่าตามว่า นี่มันเรื่องของเวรกรรม

แต่คนที่ศรัทธานะ ดูอย่างกระโถนนี่ เราอยู่ที่บ้านตาด เขามาจากนครสวรรค์ หลวงตานี่ล้างปากบ้วนปาก ยังจับยกขึ้นมาดื่มได้เลยนะ เราเห็นกับตาเลยนะ ยกดื่มเลยน่ะคนศรัทธา ถ้าศรัทธาทำได้ขนาดนั้น น้ำล้างปาก น้ำบ้วนปากนี่ยกดื่มเลย ถ้าศรัทธา ถ้าศรัทธานี่มันจะดีไปหมดเลย

ถ้าไม่ศรัทธา แล้วมันก็เวรกรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคนศรัทธาไม่หมดเลย แล้วเราจะให้คนศรัทธานี่มันเป็นไปไม่ได้ ถึงบอกว่าเรื่องของเวรของกรรม ปล่อยให้เป็นเรื่องของเวรของกรรม มันเป็นไปตามประสานั้น ไม่ต้องไปเคลียร์ ไม่ต้องไปยุ่งหรอก ปล่อยไป เพราะมันทำไม่ได้หรอก ยิ่งไปยุ่งมันยิ่งยุ่งมาก ไอ้คนที่ไปเคลียร์ๆ ไม่ต้องยุ่งนะ มันเป็นสภาวะแบบนี้แล้วให้มันเป็นไป ถึงเวลาแล้วคนมันจะพลิกใจน่ะมันจะพลิกเอง

ถ้าคนเราไม่พลิกนี่ คนนอนหลับอยู่ เราจะเอาน้ำไปป้อน เอาอาหารไปป้อน เขานอนหลับมันจะกินได้อย่างไร ใจเขาปิด ถ้าใจเขาปิด ใจเขาไม่รับนะ มันไม่มีประโยชน์หรอก เราจะไปเคลียร์ เราเหนื่อยเปล่า แต่ให้กาลเวลานี่

อาจารย์มหาบัวท่านสอนมา “การสั่งสอนคนที่ดีที่สุดคือการทำตัวเราเอง”

เราทำตัวเราอยู่ได้ เราทำตัวเราอยู่ในศีลในธรรม อยู่ทุกวันๆ เขาเห็นของเขาเอง การสอนที่ดีที่สุดคือการไม่สอนไง การไม่สอนคือเราทำตัวเราให้ดี เราอยู่ในขอบเขตของเรา แล้วเขาเห็นคุณงามความดี ถ้าเขาเห็นนะ ถ้าเขาไม่เห็นก็เป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันเป็นแบบนั้น ต้องปล่อยมันไปตามประสากรรมของมัน ปล่อยไปตามประสากรรมมันจะชักลากขนาดไหน มันเรื่องของเวรของกรรม เราช่วยไม่ได้หรอก มันเป็นความชอบของคน

เหมือนคนบ้า ๕๐๐ จำพวก คนหนึ่งก็บ้านกเขา คนหนึ่งก็บ้าต่างๆ ไป คนถ้าบ้าขนาดไหนนะมันทำได้หมด มีความรักมีความผูกพันมากหมด เวลาวันทั้งวันเล่นอยู่กับของอย่างนั้น มันทะนุถนอมได้ แต่คนที่เขาไม่เล่น เขาก็ไม่เป็นไป นี่คนเห็นไหม คนติด นี่เป็นเพราะความชอบ

อันนี้ก็เหมือนกัน คนมันไม่พอใจ มันติดข้อง มันหมองใจ มันขัดใจของมัน มันไม่พอใจ ไปพูดขนาดไหนมันยิ่งเหมือนกับเอาน้ำมันไปเติมไฟให้มันมีปัญหาขึ้นมา

ปล่อยไปตามเรื่องของมัน เราถึงเบื่อหน่ายเรื่องโยมไง โยมมาแต่ละคนก็มาเหมือนกับเด็กอ่อนๆ มาเหมือนเด็กๆ เลยนะ มีแต่ความซื่อความบริสุทธิ์นะ เอานั่นต้องไปแจกคนนั้น เอานี่ไปแจกคนนี้ เอานี้ไปแจกคนนั้นนะ...ไอ้เราแจกเขามาเป็น ๑๖ ปีแล้ว แจกเขามาจนมีปัญหาแล้ว แจกแล้วแจกเล่า มันน่าเบื่อหน่าย แล้วเอ็งมาน่ะ มาถึงก็...มาก็เด็กใหม่มา มาก็เด็กใหม่มา ต้องมาสอนคนใหม่ตลอดเวลาเลย แล้วมีปัญหามาก ไปอย่างนั้นไปมันก็มีปัญหาไปตลอด เราทำมา ๑๖ ปีนะ อยู่ที่นี่มา ๑๖ ปี

ถึงสุดท้ายแล้วนะ เราก็แจกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถึงเวลานี่ เวลาถึงที่เหลือของสุดท้ายเราให้แจกไป แจกไปแล้วแต่ตามลำดับบ้านเลย ใครได้อย่างไร นี่คือตามธรรม เราแจกไปตามที่ว่ามันมีก็แจกไป เหมือนกับว่าคนใกล้เกลือกินด่างไง อยู่ใกล้เราแล้วไม่ได้อะไรเลย ให้คนไกลๆ เขาได้ ให้เขาได้ไป ได้แบบนี้ได้ไปตามประสาอะไร

เราไม่ต้องลงไปแจกเขา ไปแจกเขานี่ เหมือนกับคนน่ะ ศรีธนญชัยต้องการให้กษัตริย์เข้ามาทำความเคารพ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ไปสร้างกระต๊อบไว้ ว่าจะมาหาน่ะ แล้วสร้างกระต๊อบไว้ให้มันต่ำ เวลากษัตริย์จะเข้าไปต้องมุดเข้าไป หาว่าเคารพเราแล้ว เคารพศรีธนญชัยแล้ว นี่ปัญญาศรีธนญชัย

นี่ก็เหมือนกัน เอาไปแจกเขานี่ เขาต้องการให้เราไปพะเน้าพะนอเขา เขาต้องการให้เราก้มหัวให้เขา นี่มันเป็นเรื่องอย่างนั้น เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องอะไร ฉันจะกินด้วยนะ ถ้าฉันทุกข์ฉันยาก ฉันอยากได้ แต่อยากได้แล้วฉันก็ต้องมีความสำคัญด้วยนะ ฉันต้องใหญ่นะ ต้องมาให้ฉันนะ ต้องมา...มันเป็นเรื่องกิเลส ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ เราถึงว่าเราให้น่ะเราให้เด็กไปให้ ให้แล้วก็แล้วกันไป จะเอาไม่เอาก็เรื่องของเขา นั่นเป็นการให้ของเขา เราให้ของเรา

ถ้าเรื่องของกิเลสมันเป็นประสาแบบนั้น นี่ไม่ต้องไปสอนเขา เขาไม่ฟังหรอก เวลาเขาฟัง เขาจะเพ่งโทษตลอดเวลาว่าพระที่นี่เห็นแต่คนมีสตางค์ ถ้าคนไหนขับรถยนต์เข้ามา มีรถเก๋งเข้ามานี่แหม! ต้อนรับพะเน้าพะนอ แต่คนไหนคนจนเข้ามาจะไม่รับรอง

มันไม่เคยเข้ามาสัมผัส แล้วมันก็ไม่รู้จริง ใครเข้ามานี่ไม่สำคัญ สำคัญคนที่เข้ามาว่าคนนั้นพูดธรรมะไหม ยิ่งคนไหนติดธรรมะเข้ามา คนนั้นยิ่งสำคัญที่สุด เพราะอะไร เพราะเราเป็นมาก่อน เรานี่ทุกข์ยากมานะตอนภาวนานี่ เวลามันติดขึ้นมา หาครูบาอาจารย์ไม่ได้หรอก ครูบาอาจารย์น่ะ เราเป็นไปอย่างนี้ ไปตอบอาจารย์ว่า “ใจผมเป็นไปอย่างนี้ ทำอย่างไร”

“เอ๊! เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เป็น”

อาจารย์เรานี่ยังสอนเราไม่ได้ ทุกข์ยากมาก อุตส่าห์แสวงหานะ ไปทางภาคเหนือก็ไปไม่เจอ ไปอีสานไปเจอ พอไปเจอครูบาอาจารย์น่ะ “กิเลสอย่างหยาบมันสงบตัวลง กิเลสอย่างกลางในหัวใจยังไม่เจอมันเลย กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจอีกมหาศาล”

“อ้อ! นี่คืออาจารย์เรา”

พอเจออาจารย์เรานี่ มันก็พลิกแพลงใจขึ้นมาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติต่อไป

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเขาต้องการ เขาแสวงหา เหมือนกับคนไข้ เขาเป็นไข้ เขาไม่สบาย เขาต้องการหาหมอนะ เขาต้องการหาหมอ นี่เหมือนคนนอนหลับ แล้วก็จะไปป้อนเขานะ คนโน้นก็จะป้อน คนนี้ก็จะป้อน...เอ็งน่ะติงต๊อง ไอ้คนจะไปป้อนน่ะติงต๊อง เพราะอะไร เพราะไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้อะไร

เพราะเราคิดของเรานะ เราบริสุทธิ์ใจ เราว่าต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้น ไอ้คนที่มันคิด มันคิดไปอีกอย่าง เห็นไหม นานาจิตตัง เราคิดไม่ถึง ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า “กาลเทศะ ไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา ไม่ถึงเวลา ต้องปล่อยไป”

ดูอย่างอาจารย์มหาบัวท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เห็นไหม ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี นี่อยู่ด้วยกันนะ พัวพันกันมาตลอดเหมือนพ่อกับลูก อุปัฏฐากอยู่ตลอดเวลา ยกบาตร เข็นบาตร เช็ดบาตร ล้างบาตร สรงน้ำอยู่ พัวพันกันตลอดเวลา แต่ปล่อยให้ติดอยู่ ๕ ปี

พอถึงปีที่ ๖ นะ “เป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร”

“อู๋ย! สงบดีครับ สงบดีครับ”

“สงบบ้าอะไร! สงบอย่างนี้เหมือนเศษเนื้อติดฟัน มันจะสงบขึ้นมา มันจะมีความสุขขึ้นมา มันต้องมีมากกว่านั้น ต้องมีการวิปัสสนา ต้องเอาจิตออกวิปัสสนา”

คนมันถึงกาลถึงเวลานี่มันเป็นไปได้ มันทำได้ แต่ไม่ถึงกาลไม่ถึงเวลา มันเหมือนกับการพัฒนาของประเทศ แต่ละประเทศพัฒนาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันเพราะอะไร เพราะการพัฒนาของประเทศไม่เหมือนกัน การพัฒนาของใจก็ไม่เหมือนกัน วุฒิภาวะของใจไม่เท่ากัน ใจมันมีวุฒิภาวะต่างกัน มันไม่เท่ากัน มันพัฒนากันไม่ได้ แล้วมันถึงเวลา มันถึงต้องเป็นแบบนั้น ศาสนามันถึงมีอย่างนี้ไง พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตรัสรู้ไปๆ แต่ละพระองค์ๆ เราไม่ทันๆ ถ้าเราไม่ทันเราก็ไม่ได้

วันนี้วันพระ เราทำใจของเรา แล้วเราพัฒนาใจของเรา เราพยายามดูใจของเรา วันพระนะ แสนเบื่อหน่าย พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้วก็ยังโดนคฤหัสถ์เขาตามติตามฉินตามว่า แล้วโลกเป็นอย่างนี้ มันน่าเบื่อหน่าย สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายนี่เป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี่น่าเบื่อหน่าย ความเป็นอยู่น่าเบื่อหน่าย รอแต่ให้มันถึงกาลเวลาให้มันสิ้นสุดกันไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าเรามีกิเลสอยู่ด้วยนะ มันเป็นความทุกข์ มันทั้งเบื่อหน่ายด้วย แล้วทุกข์มันมาเป็นแบบนั้น ไอ้นี่รอกาลเวลาให้มันสิ้นอายุขัยไปแล้วจบไปเลย แล้วพอกันที นี่ภาระเป็นความยุ่งยากมาก

เราถึงบอก โอ้โฮ! มันสะเทือนหัวใจ

เวลาเขาพูดไปเราก็ยิ้มๆ คุยกับเขานะ “ไอ้นั่นได้ไหม อย่างนี้ได้ไหม ทำอย่างนั้นไม่ได้ เอาอย่างนี้ได้ไหม”

นี่แล้วแต่ เอาเท่าที่ได้ ได้ตรงไหนเอาแค่นั้น ไอ้ที่ไม่ได้ก็แล้วกันไป ปล่อยมันไป ไอ้ที่ไม่ได้ก็คือไม่ทำ ไม่ไปกวนให้เขาฝืน แต่ไอ้ที่ได้ เอาแค่ที่ได้ กวาดแค่นี้ได้นะ ตรงนี้ใบไม้นี้เข้าได้นะ อันนี้เข้าไม่ได้ เราจะกวาดเข้าวัดเรา ต่อไปนี้ต้องกวาดจากทางนั้นเข้ามาในปากประตูทั้งหมด กวาดให้มันต้องเหนื่อยขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง แล้วทำได้ เพราะเราทำมา ๑๐ กว่าปีไม่มีใครรู้ คนนึกว่ามันเป็นอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่ว่าเราก็ไม่เคยไปยุ่งนะ วันหนึ่งๆ นะ บิณฑบาตออกจากประตูไปแค่บิณฑบาตเท่านั้น แล้วกลับมาก็อยู่ในนี้ ไม่เคยออกไปไหนเลย ไม่ได้ไปต่อล้อต่อเถียง ไม่ได้ไปพะเน้าพะนอ ไม่ได้ไปล่อไปชนอะไร ไม่เคยเป็นนะ ไม่เคยทำเลย มันก็เป็นแบบนี้ เห็นไหม ใจของคน กิเลสมันเป็นแบบนี้ เราถึงว่าอย่าไปยุ่งกับมัน ไม่มีทางเป็นไปได้หรอก จบ เอวัง