เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
กรรมมันเป็นเรื่องความมหัศจรรย์นะ มันปิดบังใจไว้หมด กรรมนี่ กรรม ถ้าใจมันเปิดแล้วมันจะหมดเลยนะ โลกนี้ประกอบไปด้วยเหยื่อ เหยื่อทั้งนั้นนะ เบ็ดนี่มีแต่เหยื่อ เรากินเหยื่อ โลกนี้ประกอบไปด้วยเหยื่อเลย แล้วพอกินเหยื่อ ติดเบ็ดๆ เจ็บปวดมาก ชีวิตนี้เจ็บปวดมาก แต่เวลาปฏิบัติธรรม เห็นทั้งเหยื่อ เห็นทั้งเบ็ด เหยื่อมันก็ต้องมี เบ็ดมันก็ต้องมี มันปฏิเสธสิ่งนี้ไม่ได้
กามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นกามคุณ สิ่งที่เป็นคุณในเรื่องของโลกมันเป็นกามคุณ ๕ กามคุณนะ แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติแล้ว กามคุณ ๕ เห็นไหม อายตนะ รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบกับอะไร? กระทบกับอายตนะ กระทบกับรส รูป กลิ่น เสียงภายนอก สิ่งนี้มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เหยื่อก็มีอยู่โดยธรรมชาติ เบ็ดก็มีอยู่โดยธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นสมมุติ เหยื่อนี่เป็นสมมุติ เป็นสมมุติของโลกเขา โลกเป็นอยู่แบบนั้น แต่เบ็ดนี่เป็นบัญญัติ บัญญัติของพระพุทธเจ้าบอกว่า เบ็ดเกี่ยวนะ เกี่ยวสัตว์โลกไว้ พอสัตว์โลกยิ่งดิ้นยิ่งเกี่ยวลึกเข้าไป แล้วยิ่งเจ็บปวด
แต่ถ้าเราไม่มีตาใน เราจะไม่สามารถคลายเบ็ดอันนี้ออกมาได้ เบ็ดนี้จะเกี่ยวปากแล้วเราจะดิ้นรนตลอดไป นี่บัญญัติ สมมุติบัญญัติเป็นแบบนั้นในโลกมาตลอดไป แล้วเราก็เป็นสัตว์โลกอยู่ในความจริงอันนี้ อยู่ในสัจจะ สัจจะความจริงมันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ไง แต่ทำสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา
สิ่งที่มีอยู่นี่ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำบุญ บุญกุศลเท่านั้นจะพาออกจากโลก เรื่องของบาปอกุศลมันก็อยู่ในโลกเท่านั้น แล้วก็เวียนไปในโลกเขา แล้วมีแต่ความทุกข์ความยาก บุญกุศลก็เวียนอยู่ในโลกส่วนหนึ่ง ถ้าบุญกุศลของโลกมันก็เวียนอยู่ในโลก
อามิส เห็นไหม พระพุทธเจ้าถึงได้บอกพระอานนท์ไง อานนท์ ให้บอกญาติโยม บอกคฤหัสถ์ บอกให้ปฏิบัติบูชานี่เป็นการทำบุญบูชาอย่างประเสริฐที่สุด เพราะการปฏิบัติบูชา การประพฤติปฏิบัติมันมีโอกาสออกเห็นเหยื่อ เห็นเบ็ด แล้วออกจากโลกออกไป ถ้าการประพฤติปฏิบัติไม่อยู่ มันก็ลูบคลำเหยื่อ ลูบคลำเบ็ดออกไป การประพฤติปฏิบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติ แล้วความเห็นของเรา
ตำราอาหาร การทำอาหารจะให้เป็นเหมือนกับตำราอาหารนี่เป็นไปได้ยาก ตำราอาหาร เห็นไหม มันก็เหมือนกับบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราคิดว่าจะเป็นแบบนั้น ในความคิด ในความคาดในความหมายของเราจะไม่เป็นตามนั้นเลย มันต้องเป็นไปตามความจริงที่มันจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเราหน้าที่สร้างเหตุ หน้าที่ของเราคือการประพฤติปฏิบัติไป กำหนดพุทโธๆ ขึ้นไปให้จิตมันสงบลงไป พอจิตมันสงบลงไป มันถึงเจอกับความสงบของใจ เจอกับหลักความเป็นจริง มันจะมีความสุข มันจะไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยหรอก ไอ้ความลังเลสงสัยของเรามันเป็นการที่ว่ามันเป็นการคาดการหมาย
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมจะเข้ากับใจดวงนั้น
ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม การคาดการหมายไปเป็นว่าเป็นสภาวธรรม...ถูกต้อง เป็นสภาวธรรม แต่เป็นสภาวธรรมน่ะ อกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม จะเถียงไม่ได้เลยว่าอกุศลไม่ใช่ธรรม ธรรมส่วนหนึ่งนะ
อกุศลธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรมคือธรรมอย่างดำ ทำให้เราติดข้องไป มันก็เป็นสภาวธรรม คำว่า สภาวธรรม มันคลุมไปหมดนะ สภาวธรรมคลุมสิ่งต่างๆ ไปหมดเลย แล้วสภาวธรรมนี่เราจะว่าสิ่งใดจะเป็นที่พึ่งกับเรา ถ้าสิ่งใดไม่เป็นที่พึ่งกับเรา เราเกาะเกี่ยวสิ่งนั้นไป เป็นความคาดหมาย ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม จะไม่ได้ธรรมนี่เข้าไปถึงหัวใจเลย ปฏิบัติธรรมแล้วไม่สมควรตามหลักความเป็นจริง แต่เป็นความคาดการหมายของเราไปว่าอันนี้เป็นการปฏิบัติธรรม
ตำราอาหาร เราเห็นตำราอาหารว่าอาหารอย่างนี้ทำแล้วจะเอร็ดอร่อย จะทำได้ แต่เราไปทำแล้วไม่มีรสชาติเหมือนที่เขาทำเลย เพราะเราไม่มีความชำนาญ แต่ถ้าความชำนาญขึ้นไป เราทำอาหารบ่อยครั้งเข้าๆ ตำรานั้นจะไม่มีความหมายเลย เราจะพลิกแพลงจากนอกจากตำราไปก็ได้ ตำราบอกไว้อาหารทำได้แค่นี้ เราจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปให้รสชาติมันเปลี่ยนไปจากนั้นก็ได้ ให้ปรุงให้ถูกใจของเรา
ธรรมะส่วนบุคคล ถ้าธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะมีความเป็นไป มันจะแบ่งแยกได้ สิ่งนี้ควรจะดำเนินต่อไปอย่างไร มันจะวางเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติ เป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ในการประพฤติปฏิบัติ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้าละได้มากที่สุด นั้นคือการได้มา
การละการสละออกคือการได้มา แต่การประพฤติปฏิบัติของโลกเขา การสะสม การได้มาถึงวัตถุถึงข้าวของสิ่งต่างๆ ถึงเป็นการได้มา นี่เราก็คิดว่าการได้มาคือความรู้ความเห็นที่ได้มา ยิ่งจะรู้จะเห็นจะมากมันยิ่งเป็นการไม่ได้มา มันต้องสละออกไป สิ่งที่สละออกไปคือสละความยึดติด
นี่ที่ว่ากรรมไง ถ้าเห็นกรรมมันถึงที่สุดแล้ว มันจะเห็นสภาวะ มันจะวางได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เห็นแล้วมันสลดสังเวชนะ ถ้าย้อนกลับไป ทำไมของแค่นี้เราละไม่ได้ ทำไมของแค่นี้เราไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นโทษของมัน การประพฤติปฏิบัติจะเห็นโทษของมัน
นี่ทุกคนเห็นคุณ คุณของชีวิต ชีวิตนี้เป็นคุณแน่นอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ สมบัติของโลกเขา ศรัทธาความเชื่อนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐที่สุด ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อจะไม่ให้เราเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมได้เลย เราเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ทำไมในกาลามสูตรบอกว่า ไม่ให้เชื่อแม้แต่คำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ให้เชื่อแม้แต่สิ่งต่างๆ ไม่ให้เชื่อเพราะอะไร เพราะความเชื่อของเรามันมีกิเลสอยู่
ธรรมะนี่ไม่ขัดกันหรอก เพียงแต่ว่าเราจะเอาอะไรใช้ก่อน ศรัทธาความเชื่อเป็นสมบัติ นี้อยู่ในพระไตรปิฎก สมบัติของโลกเขาถ้าไม่มีศรัทธา ศรัทธาคือหัวรถจักร รถจักรมันจะดึงรถทั้งขบวนไปได้เลย นี้ก็เหมือนกัน มันดึงร่างกายดึงจิตใจเข้ามาให้ทำบุญกุศล ให้ได้ทาน ให้ได้ศีล ให้ได้ภาวนา เพราะมีศรัทธาความเชื่อ แต่ความเชื่อนะ ในกาลามสูตรบอกว่า ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์พูด แต่ให้เชื่อในสัจจะความจริง
สัจจะความจริงในการประพฤติปฏิบัติของเราจะเกิดขึ้นมาจากของเรา ถ้าความจริงอันนี้เกิดขึ้นมาของเรา นี้เกิดขึ้นกับเรา มันเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมา ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม อาจารย์มหาบัวเถียงหลวงปู่มั่น เวลาท่านติดในสมาธิว่า อันนี้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่สัมมาสมาธิจะเดินได้อย่างไร
แต่หลวงปู่มั่นบอกว่า สัมมาสมาธิของอาจารย์มหาบัวนี่เป็นส่วนหนึ่ง สัมมาสมาธิในพระไตรปิฎก ในความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นส่วนหนึ่ง
เห็นไหม สัมมาสมาธิมันต้องเป็นสมาธิที่ว่าเราระลึกรู้อยู่ เรามีความรู้สึกตัวอยู่ สัมมาสมาธิอันนี้มันเป็นบาทฐานทำให้เกิด เห็นไหม สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาทุกอย่าง สิ่งที่เป็นสัมมาทุกอย่างมันควบคุมได้ กับความที่ว่ามันปล่อยวาง มันว่างของเรา มันควบคุมไม่ได้ แล้วมันสิ่งต่างๆ
สิ่งต่างๆ นี้เป็นอนิจจังโดยธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นอนิจจังโดยธรรมชาติ แล้วเราปฏิบัติมาก็เป็นอนิจจังโดยธรรมชาติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่ถูกต้อง ถูกต้องว่าสรรพสิ่งต่างๆ นี่เป็นอนัตตาทั้งหมด สิ่งต่างๆ เป็นอนัตตา ธรรมะนี่ก็เป็นอนัตตา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปถึงอกุปปธรรมนั้นไม่เป็นอนัตตา
ที่ว่านิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตาก็เถียงกันไปๆ แต่ถึงที่สุดแล้วนิพพานก็คือนิพพาน มันพ้นจากอนัตตาไป สิ่งที่เป็นอัตตาคืออัตตานุทิฏฐิ ความเห็นผิดของเรา ถ้าเกิดกิเลสของเราติด ทิฏฐิของเรา มันจะเกิดขึ้นมา ทิฏฐิความเห็นของเรามันเกิดขึ้นแล้วมันยึดมั่นถือมั่น อัตตานุทิฏฐินี้ต้องละออก
โมฆราช เธอวางโลกสิ่งต่างๆ วางไว้ทั้งหมดเลย โลกนี้วางหมด ว่างหมดเลย
ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอก จิตของข้าพเจ้านี่ว่างหมดเลย ข้าพเจ้านี่ติดอะไร
เธอติดในอัตตานุทิฏฐิ ความเห็นว่าว่างไง เห็นว่าสรรพสิ่งนั้นว่าง ทุกอย่างมันว่างอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แล้วใครไปรู้ว่าสิ่งนั้นว่าง สิ่งที่รู้ว่างคืออัตตานุทิฏฐิของเรา ถอนอัตตานุทิฏฐิขึ้นมา ถอนอัตตานุทิฏฐินั้นคืออะไร? คืออนัตตา เห็นไหม
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อนัตตาคือการเคลื่อนดำเนินไป ในตัวมันเองก็เป็นอนัตตาด้วย สัจจะความจริงก็เป็นอนัตตาด้วย แต่ใครเป็นคนเห็น สิ่งที่เห็นนะ ถ้าเป็นอนัตตาทั้งหมด แล้วเรายืนขึ้นมาได้อย่างไร เราจะเอาตรงไหนเป็นเครื่องที่ดำเนิน จะเอาตรงไหนเป็นจุดเริ่มต้น? ก็เอาตรงที่ว่าสิ่งใดๆ เป็นทุกข์นะ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งที่จับต้องได้ สิ่งใดๆ เป็นทุกข์ สิ่งใดๆ ที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นที่ตั้งของทุกข์ เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นของจิต จิตยึดมั่นถือมั่นในตรงไหน จับตรงนั้น จับตรงนั้นน่ะ นี่มันก็เป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของมัน
แต่ถ้าเราจับไม่ได้ มันก็เวียนไป แล้วมันคายพิษออกมา คายพิษคือผลของมัน ผลของมันคือความทุกข์ เรานี่บ่นผลของความทุกข์ เห็นไหม วิบากกรรม กรรมวิบาก ทุกข์มากๆ แต่สาวไปหาเหตุไม่ได้ จับตัวทุกข์ไม่ได้ จับตัวทุกข์ไม่ได้ก็ไม่เห็นสมุทัย ไม่เห็นสมุทัยมันจะเป็นสมุทัยโดยความว่าอยากพ้นทุกข์ก็เป็นสมุทัย อยากไม่ให้ทุกข์เกิดก็สมุทัย แต่จับต้นเหตุมันไม่ได้ ถึงว่าไม่เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงต้องเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมเป็นที่ตั้งของทุกข์ เห็นไหม เป็นที่ตั้งของสมุทัย แล้วย้อนกลับไปดูที่สมุทัย แยกแยะสมุทัยด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคจะแยกสิ่งนี้ออกไป แยกออกๆ แยกด้วยปัญญาญาณ นั่นน่ะสัมมามันเกิดเกิดอย่างนี้ไง เกิดโดยความคิดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วปัญญามันจะหมุนเวียนออกไป มันจะเป็นอนัตตาก็ให้เป็นอนัตตาไปก่อน เริ่มต้นว่ามันจะเป็นอนัตตาแล้วทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นความอยากแล้วจะเป็นกิเลสไปทั้งหมดก็ไม่ถูกต้อง มันเพียงแต่ว่าเราพลิกแพลงไง
สิ่งที่มีอยู่ เห็นไหม เหยื่อก็มีอยู่ เบ็ดก็มีอยู่ โลกเขาก็ติดเหยื่อติดเบ็ดแล้วก็อยู่ในโลกเขาตลอดไป โลกนั่นเวลาตายไปแล้ว สมบัติพัสถาน เหยื่อที่ล่อไว้ก็ต้องอยู่ในโลก เหยื่อนี้อยู่ที่เหยื่อ แต่เบ็ดที่เกี่ยวไปก็ต้องดิ้นรนไป แต่เราประพฤติปฏิบัติ เราก็มีเหยื่อเหมือนกัน มีเบ็ดเหมือนกัน แต่เหยื่อกับเบ็ดของเรา เราย้อนกลับมาดูที่เหยื่อที่มันล่อๆ เป็นอย่างไร แล้วเราฟุ้งซ่านไหม? ล่อแล้วมันฟุ้งหมดเลย มันขึ้นมามีความอยาก มีความต้องการ มีความจินตนาการไปต่างๆ อันนี้เหยื่อของมันทั้งหมดเลย แล้วเบ็ดของมันล่ะ? เบ็ดของมันก็คือตัวธาตุตัวขันธ์ไง ตัวธาตุตัวขันธ์นั้น ถ้ากิเลสมีอยู่ สิ่งนี้เป็นที่เคลื่อนไหว
กิเลสอาศัยขันธ์เป็นเครื่องดำเนิน อาศัยความรู้สึก อาศัยความนึกคิดของเราเป็นเครื่องอาศัยเป็นเหยื่อ เป็นออกไปกินเหยื่อ สิ่งที่เป็นเบ็ดเป็นเหยื่อมันอาศัยไปกินกัน ไปเกี่ยวข้องกันเพราะอะไร เพราะมีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน
กิเลส ตัณหา อุปาทานหมุนออกไปแล้วกินเหยื่อออกไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเราใช้สติปัญญาย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม เราย้อนกลับเข้ามาเพื่อสิ่งนี้มันมีอยู่ โลกก็มีเหยื่อมีเบ็ดเหมือนกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็มีเหยื่อมีเบ็ดเหมือนกัน ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ออกหากินของกิเลสเหมือนกัน แต่เพราะเขาไม่มีสติสัมปชัญญะ เขาไม่สามารถยับยั้งได้ เขาถึงไม่เห็น แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี่ ประพฤติปฏิบัติบูชาเพื่อสิ่งนี้ไง ปฏิบัติบูชาเพื่อให้เห็นมัน พอเห็นมันคือย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา พอแยกแยะสิ่งนี้ แยกแยะสติปัฏฐาน ๔ แยกแยกออกได้ นี่สละออก
สละออกตั้งแต่เรื่องการติดการพันจากรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่ติดในรูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นสิ่งที่ออกไปกินเหยื่อ เห็นไหม เราทิ้งเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาเห็นอาการที่ว่ามันเริ่มออกไปมีความรู้สึก จะเริ่มมีความรู้สึกเมื่อไหร่ จับขันธ์อันนี้ให้ได้ ถ้าจับขันธ์อันนี้ได้ นี่เห็นเบ็ด เห็นเบ็ดเห็นเหยื่อแล้วแยกเบ็ดแยกเหยื่อออกจากกัน ถ้าแยกเบ็ดแยกเหยื่อออกจากกัน เห็นไหม นี่สมมุติบัญญัติ บัญญัตินี้เป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรม เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่เจริญขึ้น
เพราะสมาธิเจริญแล้วเสื่อม ปัญญาเจริญแล้วเสื่อม ต้องพยายามทบทวนปัญญาของตัวเองตลอดเวลา สิ่งต่างๆ นี้เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมบ่อยครั้งเข้าๆ เราพยายามทำของเราขึ้นมา เจริญขึ้นมาให้มันเจริญขึ้นมา รักษาไว้ รักษาความเจริญแล้วเสื่อมขึ้นไป รักษาสิ่งที่เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา หมุนออกไปเป็นวงรอบของปัญญาขึ้นมาจนมันสมุจเฉทปหานขาดออกไป
สิ่งนี้ขาดออกไป ขาดออกไปกิเลสขาดออกไปจากใจ ขาดออกไปจากใจเลย เบ็ดกับเหยื่อขาดออกจากกัน ขาดออกโดยธรรมชาติด้วยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการภาวนา นี่เป็นสิ่งที่การประพฤติปฏิบัติ เราจะเห็นของเราขึ้นมาในผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นสิ่งนี้ก็เห็นกรรม แล้วจะเห็นสภาวกรรมเลย อ๋อ! กรรมเกิดขึ้นอย่างนี้ มันสลดสังเวชมากนะ สลดสังเวช ปลงธรรมสังเวช เวลาธรรมสังเวชมันเกิดขึ้นมา ชีวิตทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมคนที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันไม่เข้าถึงหลักจะมีความทุกข์ขนาดไหน นี่มีความทุกข์นะ
เราวิตกกังวลในการประกอบสัมมาอาชีวะ เราประกอบสัมมาอาชีวะเราก็ทุกข์ยากพอแรงอยู่แล้ว แล้วทิ้งมาเป็นพระเป็นเจ้า บวชขึ้นมาเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็มีความวิตกกังวลเหมือนกัน วิตกกังวลว่าจะไม่ได้มรรคไม่ได้ผล จะไม่ได้ผลตามความเป็นจริง แล้วมีความอยากมีความต้องการ สิ่งที่ต้องวางไว้มันซ้อนเข้ามาๆ
คนเราไม่เคยนะ จะมีฐานะขนาดไหนในโลก พอคิดว่าเราติดสิ่งนี้ขึ้นมา บวชเข้ามาแล้วก็มาติดบริขาร ๘ สิ่งที่เป็นบริขาร ๘ เพราะกิเลสมันติด มันติดตั้งแต่สิ่งที่มันมีอยู่ มันก็ติด สิ่งที่ว่ามันสละออกมา มันก็ไปติดสิ่งที่น้อยกว่า พอมันสละเรื่องของบริขาร มันก็มาติดอารมณ์ของตัวเอง สละเรื่องอารมณ์ของตัวเองมันก็ติด ติดกิเลสไปหมด มันติดไปหมด มันเกาะเกี่ยวยาก
เหมือนกับคนทุกข์ คนทุกข์มันก็ยาก คนอยากขึ้นมามันก็ต้องการอาหาร แต่คนมีทุกอย่างอยู่ในตัวเอง สมบัติพัสถาน มันไม่หิวไม่ยากนะ มันมีพอแรง แต่ถ้าคนไม่มีสิ มันอยากไปหมด มันมีความอยาก นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันสละทิ้งต่างๆ เข้าไป ยังไม่ประพฤติออกบวช มันก็ว่ามันทำได้ๆ มันติดไปหมด พอติดอยู่นั่นน่ะ ติดเหยื่อติดเบ็ด ติดเหยื่อติดเบ็ดไปตลอดเลย ถึงที่สุดแล้วสละออกไปเป็นอกุปปธรรม เห็นสภาวกรรม เห็นสภาวะตามความเป็นจริง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา
สภาวะที่เกิดขึ้นนะเกิดดับทั้งหมดเลย เหยื่อกับเบ็ดต้องเกิดดับตลอดไป เกิดดับในสถานะของภพชาติ ผู้ใดเกิดขึ้นมาในสถานะของอะไรก็ได้ภพชาติหนึ่งๆ เห็นไหม ภพชาตินี้ต้องทำลายไปทุกภพทุกชาติ มันต้องตายทุกภพทุกชาติ เกิดแล้วต้องตาย ถ้ามีการเกิดก็ต้องตาย ถึงการประพฤติปฏิบัติคือการละการเกิดไง
เราเกิดมาแล้วเราต้องตาย ให้ตายเป็นชาติสุดท้าย ตายในชาตินี้แล้วจะไม่เกิดอีก แต่ถ้ามันอยู่ปัจจุบันนี้ พระอรหันต์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องปรินิพพานไป ต้องตาย เกิดมาสถานะของภพชาติแล้วต้องตาย มีเหยื่อมีเบ็ดแล้วต้องทำลาย มันต้องกลับไปสภาวะเดิมของมัน แต่หัวใจหลุดพ้น หลุดพ้นสิ่งนี้ หลุดพ้นจากกิเลสไปทั้งหมดเลย แล้ววางสิ่งไว้ตามความเป็นจริง ใจนี่พ้นออกไปอยู่ในร่างกายนี้
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอย่างยิ่ง ขันธมาร เรามีขันธ์ด้วย มีมารด้วย อยู่ในขันธ์ของเรา แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีขันธ์เหมือนกัน แต่ไม่มาร มารจะไม่มีในหัวใจ มารนี้ฆ่ามันตายหมดเลย เหลือแต่ขันธ์ธรรมดาของขันธ์ที่มันอยู่ตามธรรมชาติของมัน แล้วสละออกไป นี่เบ็ดกับเหยื่อเหมือนกับโลกเขา
โลกเขามีเบ็ดกับเหยื่อแล้วมีกิเลสติดพัน แต่พูดถึงมีเบ็ดกับเหยื่อในสถานะของผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วมันก็เป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา จะไม่ติดกัน สภาวะในกิริยาท่าทางเหมือนกัน แต่ความสุขความทุกข์ต่างกันมหาศาล
เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ เราถึงไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจไง เราละออกจากโลกมาแล้วมาปฏิบัตินี้เป็นส่วนหนึ่งแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติ นี้ยอดแล้ว เป็นผู้ที่มีโอกาส โอกาสของเราจะประพฤติปฏิบัติได้ถ้าเราทำความเป็นจริง จะสมตามความปรารถนาของเรา เอวัง