เทศน์เช้า วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ธรรมดาคนเรา เราหลงทางมาแล้วนะ เราถึงมาเกิด เพราะการเกิดนี่เราหลงจากสัจธรรม สัจธรรมความเป็นจริงทำให้เราไม่ต้องมาเกิด ไม่ต้องมาทุกข์มายาก ไม่ต้องมาเกิดแล้วไม่ใช่ว่ามันไม่มี เราเสียดายกัน เราอยากมีความสุข เราอยากมีความเจริญรุ่งเรือง คนที่ไม่มาเกิด เขาเจริญรุ่งเรืองกว่าเรา เขาคงที่อยู่กว่าเรา เวลาเราตายเราเกิด เราเกิดบนสวรรค์ เกิดบนพรหม มันก็เป็นชั่วคราว ถึงที่สุดมันหมดอายุขัย มันต้องเวียนมา การเวียนตายเวียนเกิดนี่เป็นการหลง ในชีวิตเราก็หลงอยู่แล้ว แต่เวลาเกิดขึ้นมาแล้ว การดำรงชีวิตนี่ไม่ใช่หลง การดำรงชีวิต สัจจะในการกระทำของเรานี้ มนุษย์นี้พิสูจน์กันด้วยการทำงาน มีผลงาน งานในการกระทำนั้นเป็นงานของโลกเขา แต่เป็นงานส่วนหนึ่ง
หลวงตาบอกประจำ เราเกิดมาต้องลืม ๒ ตา ตาหนึ่งคือทางโลก ประกอบอาชีพแล้วมีความสำเร็จในทางโลกนี้ คือเราต้องอาศัยสิ่งนี้ตลอดไป แต่อีกทางหนึ่งเราลืมกันไป เรามองข้ามสิ่งที่ว่าอีกตาหนึ่งที่จะเปิดขึ้นมา ถ้าเราหลงสิ่งนั้น หลงในชีวิตแล้วมันก็จะเป็นไปตามนั้น แล้วถ้าหลงไป คนหลงไปจะไม่เชื่อเรื่องศาสนา จะติเตียนเรื่องศาสนาว่าทำไมเราจะเสียเวลากันทั้งชีวิตไปหมกมุ่นกับสิ่งนั้นเพื่อเหตุไร คนจะคิดขนาดนั้นนะ
แต่ในมุมกลับกัน หลวงปู่ฝั้นบอกไว้ คนเราเกิดมา หายใจเข้าและหายใจออกทิ้งเปล่าๆ เขาทำการทำงานอยู่เขาก็ต้องหายใจ เราไม่มีการมีงาน เรานั่งอยู่เฉยๆ เราก็ต้องหายใจ แต่หายใจ การบังคับของเรามันหนักกว่าเขานะ เขาอยู่กับการหายใจของเขา หายใจแล้วเขาเพลินไปในโลกของเขา นี่ความหลงออกไป แล้วมาประพฤติปฏิบัติว่าจะเข้าหลักตามความเป็นจริง ประพฤติปฏิบัติ การศึกษามามันก็ศึกษามา แล้วยึดความเห็นของตัว ยึดความเห็นของตัวว่าการพิจารณากายต้องเป็นแบบนั้น ก็พิจารณากายเป็นแบบนั้น พิจารณากายด้วยความนึกเอาตลอดไป แล้วก้าวเดินไป เพราะว่าศึกษาธรรมมาแล้วกลัวจะผิด เดินตามธรรมไปแล้วต้องเป็นสันตติ ต้องสืบต่อไปตลอด การสืบต่อไปมันจะเป็นความผิด ต้องตัดมันๆ ตัดมันแล้วมันเป็นการตัดด้วยการคาดการหมาย
หลงจากข้างนอกแล้วนะ หลงจากชีวิตเรา หลงจากในวัฏฏะ หลงในการเกิดการตาย นั่นหลงมาแล้วชั้นหนึ่ง แล้วยังมาหลงในชีวิตอีกชั้นหนึ่ง ในการดำรงชีวิตอยู่ เราหลงในชีวิต เราไม่สนใจเรื่องของธรรม เราก็ลืมตาข้างเดียว จะประสบความสำเร็จขนาดไหนก็ลืมตาข้างเดียว หลงไปในโลกของสมมุติ แล้วมาประพฤติปฏิบัติธรรมก็หลงไปในความเห็นของธรรม หลงไปที่ว่ากิเลสมันพาติด มันติดเพราะกิเลสพาติด ติดอย่างนั้นไป สภาวะเหมือนกับเวลาเข้าพิจารณาไป มันจะเจอสภาวะแบบนั้น
สิ่งนั้นเป็นทางผ่านทั้งหมดเลย จิตของคนมันเป็น มันจะเป็นไป คนไม่เป็นวิปัสสนาไป คนทำความสงบของใจ มันจะสงบเฉยๆ ก็มี บางคนสงบธรรมดาก็มี บางคนสงบแบบตกเหวตกจากที่สูงก็มี เวลาสงบขึ้นไปนี่หลุดออกไปข้างนอกก็มี ความเป็นไปอันนี้มันเป็นอาการของใจทั้งหมดเลย
ถ้าเราเชื่ออาการของใจออกไปแล้ว มันจะเป็นความว่าเราเข้าใจไป เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง ใกล้จะหลุดพ้นแล้วๆ เพราะเห็นสภาวะของธรรม สภาวธรรมเกิดขึ้น...นั้นสภาวะของกิเลสมันหลอก กิเลสมันหลอกในการประพฤติปฏิบัติ สภาวะแบบนั้นมันเกิดขึ้น มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันต้องกายเห็นกาย เห็นกายก็เหมือนกัน การเห็นกายก็เห็นกายหลอกๆ เราคาดเราหมายว่าเห็นกาย เห็นกายสภาวะความเป็นจริง พิจารณาไปเห็นกาย
เขาบอกว่าเห็นกาย กายนี้หลุดออกไป หลุดออกไปหลายๆ กายเลย กายหนึ่งไปทำครัวหนึ่ง กายหนึ่งไปทำงานหนึ่ง เห็นกายอยู่ข้างนอกหมดเลย แต่ไม่เห็นกายเข้ามาภายใน นี่มันอ่านพระไตรปิฎกไง พระจูฬปันถก ที่ว่าพี่บอกว่าโง่มาก พี่บอกว่าศึกษาธรรมแล้วไม่มีความเข้าใจ จนพุทธเจ้าสอนให้ลูบผ้าขาวๆ จนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา จะทำ ๑ กายให้เป็นร้อยเป็นพันกายก็ได้ เพราะว่าไปฉันข้าวที่บ้านโยมไง แล้วบอกว่านิมนต์ ๕๐๐ องค์ ไป ๔๙๙ องค์ ขาดไปองค์หนึ่ง พอไปถึงก็บอกให้โยมมานิมนต์มาที่วัด พอมาที่วัด เห็นพระเต็มวัดเลยนะ ถามว่าองค์ไหนคือจูฬปันถก ก็บอกว่าองค์นั้นจูฬปันถก ไปถามองค์นั้นก็บอกจูฬปันถก นี่ ๑ กาย ทำให้เป็นพันกาย เป็นกี่กายก็ได้ อันนี้เพราะท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านมีฤทธิ์ของท่าน ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย ท่านมีสัมภิทาญาณด้วย ธรรมของท่านได้ขนาดนั้น อันนั้นมันเป็นผล แต่ก่อนที่จะมีสัมภิทาญาณ นี่ลูบผ้าขาว จนมันเห็นว่ากายนี้เป็นของสกปรกโสโครก มันทิ้งกายนี้
นี้ก็ต้องกลับมาพิจารณากาย ไอ้เห็นกายสภาวะแบบนั้น ที่ว่าเห็นกายหลายๆ กายออกไป มันเทียบพระไตรปิฎกไง เวลากิเลสมันหลอก เราศึกษาธรรมขึ้นมาเพื่อจะชำระกิเลส ก็หลงไปในกิเลส มันน่าสงสารนะ ปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๑๔ จนปัจจุบันนี้แก่จนผมหงอกแล้ว อายุเกือบ ๗๐ แล้ว ก็ยังพยายามอยู่ พยายามค้นคว้าหาสิ่งนี้ แต่มันก็หลงทางไปๆ ต้องกลับมาทำความสงบของใจให้ได้ ดึงไว้ไม่ให้ออกไปเห็นสิ่งนั้น สิ่งที่เห็นนั้นมันเป็นสิ่งที่เห็นโดยตามความเป็นจริงที่มันเห็นจริงๆ นั่นล่ะ แต่ทำให้เราติดข้องขนาดนั้น แล้วก็รอไง รอว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นญาณที่จะรู้ตัดกิเลส รอให้เป็นญาณ
มันจะเป็นไปไหน ในเมื่อมันออกจากเป้าหมายไป เหมือนเรารักษาไข้ ถ้าเรารักษาไข้ เรากินยาของเราขึ้นไป เรารักษา เราฉีดยาเรากินยา มันก็จะหายใช่ไหม อันนี้รักษาไข้อยู่ มียาอยู่มีเข็มอยู่ แต่ไม่ฉีดมาที่เรา ไปฉีดที่คนอื่นๆ แล้วว่าจะให้เราหาย เป็นไปไม่ได้เลย อาการของใจไม่ใช่ใจ อาการของใจคือเงาของใจ เราใช้ยา เราไปทายาที่อาการของใจ ไม่ใช่ที่ใจ พออาการของใจหมุนออกไป มันก็จะหมุนออกไปในสภาวะแบบนั้น หมุนออกไปแล้วก็เห็นเป็นความมหัศจรรย์นะ มันมหัศจรรย์สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่อง มหัศจรรย์สำหรับคนที่ไม่มีปัญญา สิ่งที่เป็นมหัศจรรย์มันจะหมุนออกไป ความรู้ต่างๆ หมุนออกไปๆ มันรู้แล้วรับรู้ มันตื่นเต้น มันทำให้ใจนี้ฟูใจนี้พองตลอดไป รับรู้สิ่งต่างๆ แล้วมันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ไง
แต่ในการประพฤติปฏิบัติ รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นโทษ เป็นโทษที่ตรงไหน? เป็นโทษที่ทำให้ใจเราเสื่อมไง เวลาเราไปเห็นสิ่งนั้น มันดีใจสิ่งนั้นนะ มันก็จะเสื่อมสิ่งนั้นไป พอใจลูบคลำสิ่งนั้นพักหนึ่ง แล้วก็ทำขึ้นมาใหม่ มันเหมือนกับสิ่งที่ทำแล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์กับตัวเองเลย
แต่การประพฤติปฏิบัติ ทำไมว่าปฏิบัติบูชานี้เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอย่างประเสริฐที่สุด ปฏิบัติบูชามันต้องถูกต้องด้วย ก็บอกว่าถ้าเราปฏิบัติแล้ว ถ้ามันดีที่สุด แล้วสัมมาทิฏฐิ ความเห็นผิดมันอยู่ที่ไหนล่ะ มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มันเห็นผิดไป สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องอยู่ที่ไหน มันมีความเห็นผิดและความเห็นถูกตลอดไป มรรคมันถึงว่ามีสัมมาอาชีวะ สัมมาความถูกต้อง กับมิจฉา มิจฉาคือความเลี้ยงชีวิตผิด ความเห็นผิด นี่เลี้ยงชีวิตผิด ให้พาเห็นสิ่งต่างๆ พาเห็นรูป เห็นกาย เห็นจากภายนอก เห็นจากความนึกคิด
แล้วเราถามว่า แล้วปัจจุบันนี้พิจารณากายเป็นอย่างไร? เป็นการนึกเอาๆ ถึงบอกว่าต้องทำความสงบ นี่เพราะเห็นว่าไม่มีการทำความสงบของใจ พอจิตมันสงบขึ้นมานี่มันส่งออก ให้รั้งไว้ รั้งสิ่งนั้นเข้ามา มีสติสัมปชัญญะรั้งใจไว้ จะให้ออกก็ได้ ไม่ให้ออกก็ได้ ต้องคนคนนั้นบังคับเองนะ
คนที่หลงเวลามันหลง เราหลงเอง แล้วเราจะแก้ เราต้องแก้เราเอง ให้คนอื่นแก้ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราแก้เราเอง เราต้องตั้งสติแล้วบังคับเหนี่ยวรั้งไว้ๆ บังคับไม่ให้ออก ถ้ามันสู้ไม่ได้ มันจะออกไปก็ให้มันออกไป แต่ทำความเข้าใจอันนั้นว่าเป็นทางที่ผิด ไม่ใช่ว่าเราจะดีใจมีการส่งเสริมไป ถ้าไม่ทำความเข้าใจไว้ มันออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ มันก็พอใจสิ่งนั้น มันก็จะไปเรื่อยๆ
ถ้าเราดึงไม่ไหว เราก็บอกว่าสิ่งนี้สุดความสามารถไป ปล่อยมันไปก่อน ก็ปล่อยไปก่อน เดี๋ยวถ้ามีกำลัง เราจะดึงกลับมา แล้วเราสร้างสติขึ้นไปเรื่อยๆ สติเราจะสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ พอมีสติ แรงเหนี่ยวรั้งเราก็จะมากขึ้น เราจะเหนี่ยวรั้งเข้าๆ จนอยู่ในอำนาจของเรา พออยู่ในอำนาจของเราเป็นสัมมาสมาธิ
สมาธิที่เป็นความรู้เห็นมันเป็นสมาธิ จะว่ามันผิดทั้งหมด มันก็เป็นสมาธิขึ้นมา แต่สมาธิส่งออก ส่งออกจะว่าผิดมันก็เป็นมิจฉาเหมือนกัน มันส่งออก มันไม่เป็นความเป็นจริง จนเราดึงกลับเข้ามาก่อน ให้มันสงบตัวเข้ามาๆ พอสงบตัวเข้ามา มันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราค่อยยกขึ้นวิปัสสนากาย ดูกาย ดูกายอีกทีหนึ่งมันจะเห็นกายจากความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นกายจากความคาดหมาย เพราะเห็นจากความคาดหมาย มันถึงว่าเห็นแล้วจิตมันรวมตัว มันเห็นกายต่างๆ กายนี้ไปทำงานอย่างหนึ่ง กายนี้ทำงานอย่างหนึ่ง มันออกไปพิจารณาข้างนอก
การพิจารณากายคือจับกายตั้งอยู่ให้เป็นวิภาคะ ให้กายนี้แปรสภาพให้เราเห็น ไม่ใช่เห็นกายออกไปทำงานต่างๆ แล้วเห็นกายออกไปมากมายอย่างนั้น แยกออกไปๆ มันฟุ้งออกไปข้างนอกแล้วมันจะเป็นไป นี่ปฏิบัติก็หลง ชีวิตนี้ก็หลง ปฏิบัติก็หลง หลงไป แต่คำว่า หลง มันมีทุกคน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีผิดพลาดไปบ้างก่อนที่จะตรัสรู้ ถ้าไม่ผิดเลย จะเอาอะไรมาสอนเขา ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันถูกต้องเลย เราจะสอนคนเลยว่าปฏิบัติแล้วถูกๆ เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยหลง
ทุกคนเคยหลงมาก่อน แต่การหลงมานี่มันก็มีครูบาอาจารย์ชี้นำ แต่สิ่งนี้เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ถึงได้ทุกยากไป แล้วชี้นำไปก็ชี้ไปในทางถูก ถึงบอกว่าครูบาอาจารย์จะเชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้ เอาความเห็นของเรานี้เทียบ ถ้าความเห็นของเรา เราพิจารณาไปแล้วจิตมันสงบ อาการสงบเรามันเป็นอย่างนี้ ท่านบอกมาว่ามันผิดมันถูก ท่านผิดหรือเราถูกเราผิด มันต้องมีคนผิดคนหนึ่งแล้ว อันนี้เป็นการยืนยันกัน
ถ้าเจอครูบาอาจารย์ อำนาจวาสนา สัปปายะ อันดับหนึ่งเลย ๑. ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ๒. หมู่คณะเป็นสัปปายะ ๓. สถานที่เป็นสัปปายะ แล้วก็อาหารเป็นสัปปายะ การเป็นสัปปายะมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าเราเองยังไม่มีพื้นฐาน ครูบาอาจารย์ก็ยังไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าเรามีพื้นฐาน เหมือนคนไม่เป็นโรคเป็นไข้ เรื่องยาเรื่องหมอไม่สำคัญเลย เขาก็เรื่องของเขา เราเรื่องของเรา มันคนละคน แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานี่สำคัญมากเลย ชีวิตเราอยู่ที่หมอนะ จะพ้นจากไข้ก็ต้องหมอ
นี่เหมือนกัน ถ้าเราหลงไป เราคลาดเคลื่อนไป เราจะฟื้นกลับมาได้ ถ้าครูบาอาจารย์ชี้กลับมาให้ถูกต้อง ดึงกลับมาๆ พอเอ่ยปากขึ้นมามันฟังรู้แล้วว่ามันหลงไปทั้งหมด แต่คนที่หลงเข้าใจว่าทางนี้ทางถูกต้อง แล้วเป็นทางที่กำลังจะสิ้น มันอุ่นใจไง มันหลอกตัวเอง นี่หลง เพราะหลงถึงไม่รู้ เพราะไม่รู้ถึงได้หลง พอหลงขึ้นไปก็ว่าอารมณ์อย่างนี้มันกำลังจะสิ้น อารมณ์อย่างนี้กำลังจะไปชำระกิเลส ทั้งๆ ที่ว่ามันส่งออกไปจนหมดเกลี้ยงเลย จนไปหาทั่วไปหมดเลย มันยังไม่รู้สึกตัวมันเองเลย มันยังว่าจะชำระกิเลสอยู่ ยิ่งทำมันก็ยิ่งหลง ยิ่งหลงมันก็ยิ่งไปใหญ่เลย
ถึงว่ากลับมา พุทโธนี่ อุ๊ย! มันเป็นของเล็กน้อยฉันทำมาขนาดนี้แล้วยังต้องมาพุทโธอีกเหรอ...นี่คำพูดอย่างนี้มันสะเทือนใจมาก สะเทือนใจ เพราะเขาหลง เขาถึงไม่รู้ตัว พอเขาไม่รู้ตัว จะย้อนกลับมานี่มันถึงว่ามันเหนื่อย เวลามันเหนื่อย มันทุกยากต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ ถึงบอกว่าเวลาจิตมันเสื่อมต้องนับตรงนี้ มันไม่ใช่เป็นการนับหนึ่งใหม่หรอก มันเหมือนกับเด็ก เด็กกินข้าวมันก็เด็กกินข้าว ผู้ใหญ่กินข้าวก็ผู้ใหญ่กินข้าว กินข้าวเหมือนกัน แต่เด็กกินข้าวแล้วร่างกายเจริญเติบโต แต่ผู้ใหญ่เจริญเติบโตมาแล้ว มีประสบการณ์มาแล้ว กลับมากินข้าวเหมือนกัน มันต้องใช้พลังงานเหมือนกัน ไม่ใช่กลับไปย้อนนับหนึ่งใหม่ เพียงแต่ดึงกลับมาให้ฐานกลับมาที่เรา
ถ้ามันมีพลังงานอันที่มันหลงเป็นพลังงานอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นประโยชน์อยู่แล้ว มันกลับมาที่ว่าดึงกลับมาไง การสร้างพลังงาน นักกีฬาแชมป์โลก ถึงเป็นแชมป์โลกเขาก็ต้องซ้อมกีฬาของเขา เขาต้องฝึกซ้อม นักกีฬาโนเนมขนาดไหนเขาก็ต้องฝึกซ้อม แล้วการฝึกซ้อมนั้นผิดเหรอ การกำหนดพุทโธนั้นผิดเหรอ? มันไม่ผิดหรอก จะแชมป์โลกก็ต้องซ้อม ถ้าแชมป์โลกไม่ซ้อม ไปเล่นกีฬาเดี๋ยวก็แพ้ เพราะไม่มีกำลัง เป็นไปไม่ได้เลย นี่แชมป์โลกก็เป็นแชมป์โลก เขาก็ยังต้องฝึกฝนอยู่เลย แล้วพุทโธ นี่จะเป็นแชมป์โลกก็ต้องพุทโธ จะเป็นอะไรก็ต้องพุทโธ
ดูอย่างหลวงตาบอกว่าพิจารณาไปแล้วมันหลงไป เวลาดึงกลับพุทโธ นี่ทิ้งหมดเลย แล้วพุทโธๆๆๆ เหมือนกับคนหัดใหม่เพื่อดึงกลับมา แล้วที่หลงนั้นมันหลงขั้นไหน? มันหลงขั้นสุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ปุถุชนหลงนะ แต่หลงในกิเลสอย่างละเอียด ก็ต้องกลับมาพุทโธ นี่แชมป์โลกเขาก็ต้องฝึกซ้อมเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อดึงกลับมาพุทโธ มันจะผิดไปไหน มันไม่ผิดหรอก แต่ทีนี้คนไม่กล้าพูด คนไม่เข้าใจว่ามันจำเป็นตรงไหน ขณะไหนที่จำเป็นต้องดึงกลับมาพุทโธ ขณะไหนที่จะกลับมาสร้างรากฐาน นี่เพราะความที่มันพลาดไป มันหลงไป มันถึงได้ทุกข์ยากไง แล้วมันจะดึงกลับมานี่ก็เพราะความหลงอีกนั่นแหละ ดึงกลับมาก็ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ๆ ดึงกลับมาจะให้มันถูก ไม่ใช่เริ่มต้นใหม่ พื้นฐานมันก็เป็นพื้นฐานอันนั้น ความที่เป็นพื้นฐานของใจมันก็มีอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่เริ่มต้นให้มันถูก ดัดแปลงให้มันถูก ตั้งสติขึ้นมาก่อน ยับยั้งขึ้นมา เหมือนขับรถ เราออกไปบนถนน เราตรงไปบนถนน เราตรงไปถูกต้อง เราขับรถ รถเราหันไปทางซ้ายทางขวา ถ้ามันออกตัวไปมันก็ตกถนนไป
นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้าปล่อยไว้อย่างนั้น มันออกตัวไป มันก็หลงไปตลอดไป ต้องกลับมาตั้งต้นแล้วตั้งสติไว้ จับพวงมาลัยให้มันตรง ตั้งตรงให้ได้ ตั้งตรงได้แล้วจะเริ่มเคลื่อนออกไปมันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง อันนี้ถึงจะเป็นประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ ถึงปฏิบัติแล้วไม่หลง เอวัง