เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ม.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ของมันมีอยู่ ของทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว แต่เราจะทำดีหรือทำไม่ดีมันเรื่องของเรานะ เรื่องของชีวิตเหมือนกัน ต้นทุนชีวิตมันมีอยู่แล้ว เราเกิดมาเราต้องเกิด คนแปลกใจนะ ทำไมคนต้องเกิด ทำไมคนเราต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้เหรอ...มันต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น

แต่เวลาเกิดขึ้นมา เกิดเป็นคนนี่มันแสนประเสริฐ ที่ว่ามนุษย์สมบัติ อริยทรัพย์ของเรา ทรัพย์ของมนุษย์มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคืออริยทรัพย์คือเกิดเป็นมนุษย์นี่สมบัติอันหนึ่ง สอง ศรัทธาความเชื่อ ในเรื่องของศรัทธาความเชื่อ พระพุทธเจ้าสอนเลย ทรัพย์สมบัติของคนเราในโลกนี้ ศรัทธานี้อันดับหนึ่ง ถ้ามีความเชื่อ มันก็มีการกระทำ ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่มีการกระทำ

เขาแปลกใจ เขาสงสัย คนที่ทำคุณงามความดีทำได้อย่างไร ทำขึ้นไปอย่างนี้ ทำคุณงามความดี อย่างเช่นเจตนาอย่างนี้ การบวช การอุทิศส่วนกุศลเพื่อให้พ่อแม่ของเรา นี่เป็นบุญกุศลมหาศาลเลย แต่ทำดีหรือทำไม่ดี ถ้าทำดีขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าออกบวช หนีออกจากพระราชวังไป ไปกับนายฉันนะ แล้วก็ม้าตัวหนึ่ง ทีนี้ประเพณีก็ทำกันมา ทำกันมาเรื่อยๆ ทำกันมา แล้วเราก็ทำตามประเพณีกันไป ประเพณีทำอย่างนั้นเป็นประเพณีไป เป็นประเพณีแล้วมันก็เป็นความที่ว่าต้องฟุ่มเฟือย ต้องใช้จ่าย เป็นการเหนื่อยยาก

แต่ถ้าเราออกบวชโดยธรรมชาติของเรา เราออกบวชเงียบๆ บวชโดยทางประเพณี วัดป่าหลายวัดนะ ถ้ามีแตรเขาจะไม่ให้บวชเลย ไปถึงจะให้บวช ไปถึงเวียน ๓ รอบ วนกันแล้วก็บวช ให้เงียบที่สุด ให้สงบที่สุด

มันเป็นการที่ว่าเป็นบุญกุศลโดยไม่บริสุทธิ์ไง ถ้าเป็นบุญกุศล เจตนาทุกคนเป็นความดีหมด ทุกคนไม่มีเจตนา ทุกคนว่าทุกคนปรารถนาดี แต่ปรารถนาดีของใคร ปรารถนาดีของเด็กๆ มันก็เป็นความปรารถนาอันหนึ่ง เจตนาของเขา เจตนาทำคุณงามความดีอย่างหนึ่ง แต่เจตนาของผู้ใหญ่ เราสร้างคุณงามความดีกัน เราเหนื่อยยาก สร้างคุณงามความดี ทำงานนี่แสนเหนื่อยยากเลย ต้องทำคุณงามความดี

แต่เวลาองค์หลวงปู่ฝั้นสอน คุณงามความดีของศาสนาเรา ให้นั่งเฉยๆ ทำไม่ได้ ให้นั่งกำหนดสมาธิไง พุทโธๆ ให้นั่งเฉยๆ มันนั่งแสนยาก นี่มันละเอียดเข้าไปไง คุณงามความดีที่ละเอียดเข้าไปเราจะมองไม่เห็น เจตนาของเราก็เหมือนกัน เราทำเพื่อเป็นบุญเป็นกุศล

หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวออกไปธุดงค์ด้วยกัน แล้วหลวงปู่แหวนนั่งภาวนาอยู่ หลวงปู่ขาวไม่รู้ ตีตาดออกไป มันเป็นข้อวัตรอยู่ มันเป็นการตีตาดออกไป ตีตาดคือกวาดลานวัด กวาดที่อยู่อาศัย มันเป็นข้อวัตร เราต้องทำ ต้องมีการกระทำ ทำแล้วมันแบบว่ามันเป็นนโยบายในวัดปฏิบัติ

ถ้าเรามีการเคลื่อนไหว เวลาเรานั่งนานๆ มันจะมีความกดดัน เราทำข้อวัตรนี่มันจะผ่อนคลาย ผ่อนคลายออกไปทุกอย่าง มันผ่อนคลายออกไปจากการกระทำ เราเลยไม่รู้สึกตัวเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าวางทางให้เราผ่อนคลาย แล้วพอเราทำข้อวัตรเสร็จแล้ว มันมีการผ่อนคลายแล้ว แล้วเรามานั่งขึ้นมา มันจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะมันทำความสะอาดของใจขึ้นมาแล้ว

หลวงปู่ขาวก็กวาดไปโดยไม่รู้ตัว อันนี้มันเป็นคุณงามความดี แต่หลวงปู่แหวนนั่งอยู่ พอไปเจอเข้านี่รีบวางเลยนะ วางไม้กวาดแล้วกลับ กลับมานั่งภาวนา หลวงปู่แหวนนั่งอยู่ นี่ว่าคนเรานั่งปฏิบัติ อันนี้ครูบาอาจารย์เล่าต่อๆ กันมานะว่าหลวงปู่แหวนนั่งปฏิบัติอยู่ เราทำคุณงามความดี ทำไมพระอีกองค์ที่มาด้วยกัน ทำไมมากวาด ก็เลยมีความโกรธ พอหลวงปู่ขาววางไม้กวาดกลับไปนั่งภาวนา อันนี้ก็เอาไม้กวาด กวาดกลับไปเหมือนเก่า กวาดไปทำให้เหมือนที่เขาทำมา

เสร็จแล้วคืนนั้นหลวงปู่มั่นธุดงค์มาเลยนะ หลวงปู่มั่นมาสอนเลยว่า เราตั้งใจทำคุณงามความดี ออกมาปฏิบัติก็ออกมาเพื่อคุณงามความดี แล้วเราทำคุณงามความดี ความดีของแต่ละบุคคลมันเป็นจังหวะและโอกาสคนมันไม่เท่ากัน คนหนึ่งนั่งภาวนาอยู่ อีกคนตีตาดมามันก็รบกวนอีกคนหนึ่ง อีกคนก็ตีตาดกลับไป ไปรบกวนอีกคนหนึ่ง

มันเป็นการออกประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น มันต้องมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา แต่สุดท้ายแล้ว ๒ องค์นี้ท่านเป็นคู่ที่รักกันมาก เป็นเพื่อนรักกันมาก หลวงปู่ขาวเวลาลูกศิษย์พระจากถ้ำกลองเพลไปหาหลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนท่านถามว่ามาจากไหน ถ้ามาจากถ้ำกลองเพลจะถามว่าหลวงปู่ขาวความเป็นอยู่เป็นอย่างไร พระจากดอยแม่ปั๋งมาหาหลวงปู่ขาวก็เหมือนกัน

เวลาออกธุดงค์ด้วยกัน ทุกข์ยากมาด้วยกัน แล้วมันจะระลึกถึงกัน เหมือนเราเรียนมาด้วยกัน เราเรียนห้องเดียวกันมา เวลาเราศึกษามา เราปฏิบัติมา เวลาคิดถึง เวลาเจอกัน มันจะมีความสนิทสนมมาก เพราะมันมาด้วยกัน พระก็เหมือนกัน ออกประพฤติปฏิบัติ ออกธุดงค์มานะ เอาชีวิตเข้าไปแลกในป่า เวลาเข้าป่าไปเอาชีวิตเข้าไปแลกเลย ธรรมนี้จะเกิดขึ้นมาจากฟากตาย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะว่าเราจะเป็นจะตายขึ้นมา มันจะกลัวสิ่งต่างๆ แล้วความประพฤติปฏิบัติมันจะไม่ก้าวเดิน แต่ถ้าเราเอาความกลัวแลกเข้าไปเลย จะตายขนาดไหนก็ให้ตาย นี่ธรรมะอยู่ฟากตาย ความตายนี้มันเป็นกลอุบายของกิเลสหลอก

เริ่มต้นเรามีต้นทุนแล้ว เรามีหัวใจ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์ทำไมต้องเกิด เกิดมาแล้วต้องประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อให้เรามีสถานะในสังคมพอสมควร แล้วยังต้องประพฤติปฏิบัติอีกเหรอ นี่มันมีความละเอียด มันมีความดีเป็นชั้นๆ เข้าไป เราจะเข้าถึงความดีตรงไหน ถ้าเราปรารถนาตรงไหน เราก็ได้ตรงนั้น มันต้องถามตัวเราเองว่าเราปรารถนาอะไร เราต้องการสิ่งใด ถ้าเราปรารถนาบุญกุศลเพื่อเป็นเครื่องเสบียงกับเราไป อันนั้นก็เป็นเรื่องของโลกเขาทำบุญกุศล

แต่ถ้าเราจะเอาถึงที่สุด เราจะเอาของจริง เอาของที่ว่ามันเป็นความสุขจริงๆ โดยที่ว่าไม่อยู่ใต้กฎของอนิจจัง คือว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สรรพสิ่งมันต้องเป็นแบบนั้น ถ้าเราจะเอาความจริงกันอยู่ เห็นไหม ใจนี้มันต้องเกิด เพราะมันมีสสาร มันมีธาตุรู้อยู่ ธาตุรู้นี้ต้องเกิด

ชีวิตนี้คืออะไร?

พระสารีบุตรพูดไว้ในพระไตรปิฎก “ชีวิตนี้คือไออุ่น”

ไออุ่นตั้งอยู่บนอะไร? ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา คืออายุ

ชีวิตนี้สืบต่ออยู่บนกาลเวลา บนไออุ่นเท่านั้น ถ้าคิดแล้วมันก็เหมือนพลังงานถ่านไฟฉายก้อนหนึ่ง ชีวิตนี้คือพลังงานอย่างนั้นเหรอ อันนั้นเป็นวัตถุ เขาไม่มีความรู้สึก นั่นมันใช้ไม่ได้ แต่ของเรามันเป็นพลังงานอันหนึ่ง แต่เป็นพลังงานที่มีชีวิต อย่างต้นไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณครอง

แต่ของเรา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตด้วย มีวิญญาณครองด้วย วิญญาณครองคือความรู้สึก เห็นไหม ชีวิตอันนี้มันเป็นพลังงานที่ว่ามันมีความรู้สึก มันมีความสุขความทุกข์ได้ ถ้ามีความสุขความทุกข์ได้ ความสุขความทุกข์อันละเอียดคือความอาลัยอาวรณ์ เราพลัดพรากจากสิ่งใดๆ เห็นไหม อาลัยอาวรณ์คิดถึงกัน ความอาลัยอาวรณ์นี่เป็นความทุกข์อันสุดท้ายที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ความทุกข์อย่างที่ว่าความปรารถนา ความอยาก ความต้องการ มันเป็นความทุกข์อันอย่างหยาบๆ สิ่งที่หยาบๆ เราก็ต้องพยายามแก้ไขดัดแปลงขึ้นมาๆ จนจะถึงต้นทุนอันนี้ อันที่ว่าชีวิตนี้มันต้องเกิด เวลาชีวิตต้องเกิด มันมีต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ชีวิตในกระแสโลก มันเป็นความหยาบไง เราต้องการอะไร เราปรารถนาอะไร? เราปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิต

แต่การประพฤติปฏิบัติจะต้องการประสบความสุขในที่ว่าในพลังงานตัวนี้โดยที่ว่าไม่เกิดไม่ตายอีกเลย ความไม่เกิดไม่ตายอีกเลยมันจะมีความสุขตลอดไปเป็นอนันตกาล นิพพานมีอยู่เป็นอนันตกาล แต่มีอยู่แบบประสาของนิพพานนะ ไม่ได้มีอยู่แบบประสาคิดของเรา ประสาคิดไปตามคาดหมายของเรานี้มันมีอยู่ มีอยู่แล้วจับต้องได้ ความจับต้องได้นั้นเป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นที่อยู่ของใจ เป็นที่เคลื่อนไหวออกไป เป็นที่รับรองรับความสุขความทุกข์ เห็นไหม เราต้องทำลาย สิ่งที่รองรับความสุขความทุกข์ทั้งหมด ต้องทำลายทั้งหมด ทำลายทั้งหมดมันก็เป็นความว่างแบบมีอยู่ นี่มันมหัศจรรย์ตรงนี้ ถึงว่า พลังงานที่มีชีวิตมันมีชีวิตอย่างนี้ มันเป็นนามธรรม มันมีอยู่ แต่มีอยู่ประสาของมัน แต่ถ้ามีอยู่ประสาของโลก มันก็ต้องมีอยู่แบบวัตถุ เราถึงว่าเป็นประสาของโลก นี่มันเป็นความหยาบความละเอียดเหมือนกัน

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ ต้นทุนมีอยู่ แล้วเวลาใช้ต้นทุนนั้นปฏิบัติแล้วทำไมไม่เป็นความจริงล่ะ? ต้นทุนมีอยู่ ต้นทุนนี้เป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องของโลกไปก่อน เรื่องของโลกต้องให้เป็นเรื่องของโลกไปก่อน แล้วเราต้องก้าวเดินไป จนมันถึงเป็นเรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของโลก มันยังคิดเป็นเรื่องของโลก ถ้าเราไม่ก้าวเดินจากเรื่องของโลกเลย มันก็ก้าวเดินไปไม่ได้ เห็นไหม เราต้องก้าวเดินจากเรื่องของโลกไป เรื่องของโลกคือเรา คือความคิดของเรา ความคิดของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติถึงเปิดทางให้กว้างขวางมากว่า ๔๐ ห้อง การทำบุญกุศลก็เหมือนกัน แล้วแต่คนจะเลือกทำบุญกุศลชนิดใด ทำอย่างไร เราพอใจสิ่งใด เราทำอย่างนั้น

พระเจ้าพิมพิสารถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าว่า “เราควรทำบุญที่ใด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบอกว่า “เราควรทำบุญที่เธอพอใจ เธอพอใจที่ไหนควรทำบุญที่นั้น”

แต่ถ้าเอาผลล่ะ ถ้าเอาผลแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ถ้าเอาผลนี่มันเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือว่าเนื้อนาบุญที่ดี เนื้อนาที่ดีหว่านข้าวไปมันก็จะได้ผลงอกงาม ถ้าเนื้อนานั้นไม่ดี เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้รับ รับด้วยความบริสุทธิ์ รับแล้วใช้ประโยชน์อันนั้นเป็นความบริสุทธิ์ เป็นเรื่องของปฏิคาหก แล้วก็เลือกผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ เราให้แล้วเรามีความพอใจ แต่มันต้องใช้ปัญญา ปัญญาในการใคร่ครวญ

นี่ศาสนาพุทธ เวลาสอนเรื่องศาสนาพุทธว่ายุ่งยากมากเลย ศาสนาอื่นทำไปแล้วก็หมดเรื่องไปๆ นั้นมันเป็นเรื่องของเขา เรื่องของการวิงวอน เรื่องการขอเอา เราไปหาเจ้าไปสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ไปถึงแล้วไปอ้อนวอนเอา สิ่งที่อ้อนวอนเอา เราก็อาศัยพึ่งคนอื่น พึ่งคนอื่นตลอดไปเลย

ในศาสนาพุทธสอนเรื่องปฏิคาหก เรื่องปัญญา เรื่องการเลือกเฟ้น เรื่องสิ่งที่เป็นความถูกความผิด เพราะเพื่อจะแก้ไขใจของเรา เราเลือกเฟ้นนี่เราแก้ไขใจของเรา ทำไมถึงว่าเลือกเฟ้นนี้แก้ไขใจของเรา เพราะเราจะฉลาดขึ้นมา ถ้าเราไม่เลือกเฟ้น เราเป็นการอ้อนวอนเอา เราขอเอา มันก็หมักหมมความคิดเราตลอดไป ความคิดนี้จะหมักหมมในหัวใจ แล้วก็จะสร้างความเร่าร้อน มันจะมีความขัดข้องใจในหัวใจ แล้วเราก็แก้ไขไม่ถูก เราไม่พอใจอะไรทุกๆ อย่างเลย แล้วก็ไม่พอใจตัวเราเองด้วย เราขัดข้องใจเราไปทุกอย่างเลย แล้วเราแก้ไขเราไม่ได้ เห็นไหม

แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นมา การเลือกเฟ้น สิ่งนั้นเป็นความดี แล้วมันกระทบย้อนกลับเข้ามา แล้วใจเราดีไม่ดี สิ่งที่กระทบขึ้นมา ใจมันไม่พอใจ มันขัดข้องใจ มันเพราะเหตุใด สิ่งไม่พอใจเกิดจากอะไร? เกิดจากถ้าเราไม่มีธรรม เราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดมาจากไหน มันไม่มีต้นสายปลายเหตุ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าเกิดจากความทะยานอยาก เกิดจากตัณหา เกิดจากสมุทัยโดยเราไม่รู้จริง เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้ต้องการอะไร แล้วมันอยากอะไร นั่นน่ะมันย้อนกลับมา สิ่งนี้เกิดขึ้นจากไหน เราก็ต้องทำความเพียร เริ่มทำความสงบของใจถ้าเราอยากจะเห็นมัน

พระพระพุทธเจ้าสอนว่าการประพฤติปฏิบัติ การจะดัดแปลงตน นั่นน่ะมันจะฉลาดจากข้างนอก เราเลือกเฟ้นจากข้างนอกเข้ามา แล้วเราก็มาเลือกเฟ้นในหัวใจของเรา มันขัดข้องสิ่งใด มันเป็นไปเพราะสิ่งใด ถ้ามันจะขัดข้องสิ่งนี้ มันเกิดมามันต้องมีเหตุ สาวไปหาเหตุ มันต้องดับไปที่เหตุได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบอกว่า สรรพสิ่ง ปัญหาที่เกิดมาในโลกนี้แก้ไขได้หมดเลย เราย้อนกลับไปที่ต้นเหตุมัน แล้วไปแก้ไขที่เหตุมัน เหตุต่างๆ เกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ คนเกิดมา เกิดมาจากอวิชชา เหตุอวิชชาพาเกิด คือความไม่รู้พาเกิด แล้วจะทำอย่างไรจะย้อนกลับตรงไม่รู้ ดับตรงที่ไม่รู้ให้มันรู้ขึ้นมา สิ่งที่รู้ขึ้นมา เราย้อนเข้ามาหาเหตุ คือเหตุที่ใจ

สมบัติที่เป็นของเรา ถ้าพลัดพรากจากเราไป เราจะเสียดายสิ่งนั้นมาก แล้วสิ่งที่เป็นโลกเขา เขาพลัดพรากจากกันตลอดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ทำไมเราไม่เสียดายไปกับเขา? เพราะมันไม่ใช่ของเรา เห็นไหม สมบัติของโลกเขามันก็แปรสภาพไป คนเกิดมาในโลกนี้ก็ต้องล่วงไป ดับขันธ์ไปตามธรรมชาติของมัน โดยทุกๆ คนต้องเป็นสภาวะแบบนั้น เราไม่สะเทือนใจเลย แต่มาเป็นญาติของเราปั๊บ เราสะเทือนใจของเรา มาเป็นเรา เรายิ่งสะเทือนใจเข้าไปใหญ่เลย นั่นน่ะสมบัติของโลกเป็นอย่างนั้น ทำไมเราไม่เห็นสภาวะแบบนั้น? เพราะมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของของเรา มันถึงไม่สะเทือนใจเรา

อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา มันแปรสภาพอย่างนั้น เราก็ไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราทำความสงบเข้ามาหาหัวใจของเรา มันจะจับต้องเราได้ สรรพสิ่งเกิดจากเรา หัวใจเป็นเรื่องของมหาเหตุทั้งหมด หัวใจยึดมั่นทั้งหมด ทุกข์สุขมันอยู่ที่ใจของเรา ใจของเราไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ แล้วก็ยึดเข้ามาในหัวใจของเรา เราต้องพยายามทำความสงบของใจเพื่อเข้าไป ย้อนกลับเข้าไป

ศาสนาพุทธท่านสอน สอนตรงนี้ไง เหตุทุกอย่าง แล้วการทำคุณงามความดีตั้งแต่ทาน ตั้งแต่ศีล ตั้งแต่ภาวนา สุดท้ายแล้วก็ต้องไปดัดแปลงกันที่หัวใจนั้น ถ้าดัดแปลงที่หัวใจนั้นคือสิ้นสุดกระบวนการ ศาสนาพุทธถึงสอนเรื่องการดับทุกข์ ถึงที่สุด ถึงการไม่เกิด ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เราทำทานขึ้นมาก็เป็นบุญกุศลของเรา เราไปให้เขา เรามีเหตุการกระทำขึ้นมาแล้ว มันต้องให้ผลตลอด เราสละออกไปนี่เป็นผลของเราตลอด นั่นมันเป็นบุญของเราขึ้นมา

เราก็เวียนตายเวียนเกิดขึ้นไปสูงไปต่ำ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม นั่นน่ะถึงที่สุดแล้วมีทานก็มีศีลเพื่อดัดแปลงตน เพื่ออยากจะให้มันสูงขึ้นไป มันดีไปกว่านั้น ก็ขึ้นมาถึงศีล แล้วภาวนาขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วสรรพสิ่งในเรื่องศาสนาพุทธนี้ สุดท้ายแล้วไปอยู่ที่ปฏิบัติบูชาทั้งหมดเลย สุดท้ายแล้วต้องไปดัดแปลงกันที่ใจ เพื่อให้ใจนี้เป็นสมบัติของเรา

ใจนี้เป็นเรา แต่ไม่ใช่สมบัติของเรา เป็นสมบัติของกิเลสพาใช้ น่าแปลกใจไหม ของอยู่ในหัวใจของเรานะ สมบัติอยู่กับเราต้องเป็นสมบัติของเราแน่นอนเลย แล้วเวลาเราใช้ไปมันก็หมดไป แต่เราก็ต้องหาขึ้นมาใหม่ แต่ใจมันอยู่ในหัวใจของเรา มันอยู่ในร่างกายของเรา แล้วว่าเป็นเราด้วย แต่ทำไมโดนกิเลสมันขับไสไปล่ะ มันเวียนตายเวียนเกิดไปตามสถานะของมัน สถานะของมันคือสถานะถ้าคุณงามความดีให้ผล ทุกสัตว์ ทุกตัวบุคคลเคยทำคุณงามความดีมา เคยทำความผิดพลาดมาทุกคน แล้วกรรมมันให้ผลตอนไหนล่ะ? ให้ผลตอนทุกข์ยากก็ตอนทุกข์ยาก ให้ผลตอนคุณงามความดีก็คุณงามความดี

ศาสนาสอนถึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะ แล้วเราพยายามใคร่ครวญทำคุณงามความดีของเราตลอดไป แก้ไขตนของเราขึ้นมาได้ แล้วพยายามเอาใจของที่ว่ากิเลสมันพาใช้ สลัดกิเลสออกไป ให้ใจเป็นของเรา ให้ใจเป็นเรา ใจเป็นอิสรภาพทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่เป็นอิสระขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต้องพูดกันโดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า พูดกันด้วยบัญญัติ บัญญัติพูดกันขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วพ้นจากอิสระไป นั่นน่ะ พูดด้วยความรู้สึกของตัวเอง สูงสุดแล้วสู่สามัญ ยกธรรมะขึ้นมาได้ทุกข้อ ตรงไหนก็ได้เป็นธรรมะขึ้นมา แล้วอธิบายธรรมะ เพราะมันออกมาจากความรู้สึก ความรู้สึกนั้นกระทบกับสิ่งนั้นแล้วออกมา เป็นสมบัติส่วนตน ไม่เป็นสมบัติโดยที่ว่าต้องเป็นบัญญัตินั้นขึ้นมา

บัญญัติพูดตามบัญญัตินั้นไม่อิสรภาพ มันต้องเป็นตามบัญญัติไป แต่มันก็ก้าวเดินเป็นบัญญัติขึ้นมาก่อน จนถึงอิสรภาพ ใจนั้นเป็นอิสรภาพทั้งหมด ถึงใจนั้นเป็นของเรา สมบัตินี้เป็นของเรา ใจเป็นของเรา แล้วเราจะมีความสุขในหัวใจเราตามความเป็นจริงนะ

สุขจริงๆ สุขจากการอิ่มใจนี้สุขจริงๆ สุขจากสิ่งต่างๆ นั้น เห็นไหม จะปีใหม่ จะวันตรุษจีนก็แล้วแต่ มีความสุขมีความรื่นเริงกันพักหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็ต้องไปเจอสภาวะทุกข์ข้างหน้าต่อไป มันแปรสภาพตลอดเวลา สุขอันนั้นเจือด้วยอามิส อะไรพอใจก็มีความสุขชั่วคราว แล้วก็มีความเร่าร้อนตลอดไป ต้องมีการผจญภัยข้างหน้าตลอดไป แต่สุขขนาดที่ว่าเป็นอิสระแล้ว มันจะเป็นความสุขในหัวใจดวงนั้น เอวัง