เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความคิดถึงโลกมันยังคิดถึงอยู่ มันยังพัวพันกันอยู่ ถ้าออกมาเก่าๆ แล้วมันก็ต้องไปข้างหน้าไง ไปข้างหน้า อย่างของเรานี่เราไม่คิดถึงอะไรเลย ไม่ได้ย้อนกลับ แต่คิดถึงเวลาเราบวชใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เวลาบวชใหม่ๆ มันจะเป็นเลยล่ะ เห็นต่างๆ เห็นอะไรมันก็คิดถึง ความอยากของเรามันเคยอยากอย่างไรมันก็อยากอยู่อย่างนั้น มันเป็นความอยากของเรา มันเก๊ แบบว่ามันเก๊ไง

วันนี้วันพระ วันพระนี่โบราณบอกว่า “วันพระไม่มีหนเดียว” เพราะวันพระไม่มีหนเดียวของเขานะ เขาทำเพื่อเขา ทำเพื่อว่าเรามีโอกาสไม่ได้มีหนเดียว มีโอกาสที่ว่าได้แก้แค้นกัน ได้ทำเพื่อตอบสนองความสะใจ วันพระไม่มีหนเดียวนะ คราวหน้าฉันมีโอกาสทำ แต่นี้ว่าวันพระไม่มีหนเดียว ให้เราได้ฟื้นกลับตัวต่างหาก ให้เราฟื้น ให้เราประพฤติปฏิบัติ วันพระเป็นวันที่เราคิดถึงบุญกุศลของเรา

เวลาธรรมดาปกติ เห็นไหม ศาสนาพุทธเรา วัฒนธรรมประเพณีของเราเป็นอย่างนี้ เป็นว่าเวลาปกติก็ทำมาหากิน เวลาวันพระในโบราณเขาจะหยุดงานทุกอย่างแล้วไปวัดไปวากัน เพื่ออะไร? เพื่อว่าเวลาอาหารของใจให้เป็นอาหารของใจ อาหารของกายให้เป็นอาหารของกาย แต่อาหารของใจ ใจของเรานี่เราคิดได้หยาบๆ เราว่าอาหารของใจ ถ้าเราหามาพอใจแล้วมันจะเป็นอาหารของใจไง

อาหารของใจถ้าเราพอใจ มีความสุขของใจ นั่นคิดแต่ว่าเราคิดได้เรื่องหยาบๆ แต่คนถ้าคิดละเอียดขึ้นไป ความสุขใจ ความพอใจจากภายใน มันจะเห็นอาการของใจเข้าไปเรื่อยๆ เห็นอาการของใจเข้าไปแล้วมันจะแก้ไขใจเข้าไปเรื่อยๆ ถึงว่าศาสนานี่เน้นเรื่องใจๆ พอเน้นเรื่องใจเราไม่ต้องทำอะไรก็ได้เพราะเรานึกว่าให้มีความสุข

นี่เวลาเราไม่ทุกข์เราจะคิดได้นะ ว่าถ้าเวลาเราทุกข์ยากเราให้คิดถึงความสุขมันก็จะเป็นความสุขไป มันคิดเอาเปรียบไง แต่เวลามันทุกข์จริงๆ ขึ้นมามันแก้ไขไม่ได้นะ เวลามันทุกข์จริงๆ ขึ้นมา มันจนตรอกจนมุมมันจะมีความทุกข์มาก มีความขัดเคืองใจมาก แล้วมันก็จะมีความเร่าร้อนเผาอยู่ในใจ อันนี้มันจะแก้ไขไม่ได้เลย มันแก้ไขไม่ได้เพราะมันประมาทไง

นี่เราประมาทเราเลินเล่อกัน ชีวิตเราประมาท เราประมาทในชีวิตของเรา วันพระวันเจ้าไม่คิดถึงตัวเราเอง วันพระวันเจ้าคือวันเปิดโอกาส เราปฏิเสธโอกาสของเรา วันพระวันเจ้า เห็นไหม ไปวัดไปวา วันพระวันเจ้าเป็นวันที่ว่าเหมือนประเพณีเปิดให้เราเลย ประเพณีเปิดให้เราแล้ว เราจะทำหรือไม่ทำ เราเมินเฉยไง เราไม่สนใจโอกาสของเรา เราปล่อยให้โอกาสของเราหมดไปวันหนึ่งๆ แล้ววันพระมันก็มีทุกวันๆ จนเรามองข้ามไป เรามองข้ามว่าวันพระไม่มีหนเดียว แล้วเราก็มองข้ามวันพระของเราไปตลอดไป

ถ้าวันพระของเราเป็นโอกาสของเรา เราทำเป็นนิสัยของเรา ถึงวันพระเราต้องภาวนา เราต้องพยายามเข้าห้องพระของเรา ถ้าเราอยู่บ้านนะ เราเข้าห้องพระของเราแล้วเราภาวนา ถ้ามีโอกาสไปวัด ไปวัดเพราะอะไร? เพราะไปวัดมันเหมือนกับว่าทำไมต้องไปวัด? เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราปวดหัวตัวร้อนเราไม่ต้องไปโรงพยาบาลหรอก แต่เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เราก็ต้องไปโรงพยาบาล

อันนี้ไปวัดก็เหมือนกัน ไปวัดมันเป็นสิ่งดึงดูดไง สิ่งแวดล้อมทำให้เราประพฤติปฏิบัติ ไปเห็นสิ่งต่างๆ สถานที่ ในการเคารพสถานที่ ทางภาคอีสานเขาไป บางแห่งผู้หญิงห้ามเข้า เขาเคารพของเขา เขาเคารพสถานที่ ถ้าได้เคารพสถานที่ขึ้นไป ใจมันจะเปิดกว้างขึ้นไป มันจะรู้ว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควร อันนี้เราไม่มีสูงไม่มีต่ำ ใจมันไม่เคยเคารพอะไรเลย มันถือความเสมอภาคๆ พอเสมอภาคไป มันก็ไม่มีสิ่งใดที่จิตใจนี้มันควรเคารพบูชา

ถ้าสิ่งที่เคารพบูชา เห็นไหม ใจมันอ่อน ใจมันควรแก่การงาน เราเคารพสิ่งนั้น เราจะไม่ทำสิ่งนั้น เราจะไม่ล่วงเกินสิ่งนั้น นั่นน่ะมันเคารพสิ่งนั้น มันเคารพตัวเองเท่ากับเคารพตัวเองนะ เราเคารพสิ่งใดคนนั้นมีศีลธรรม มีศีลธรรม มีคุณค่าขึ้นมา เพราะใจนั้นมันสูงค่าขึ้นมา พอใจสูงค่าขึ้นมา มันเท่ากับว่าเราเคารพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเท่ากับเคารพตัวเอง

ศีลธรรมประเพณีก็เหมือนกัน ถ้าเราเคารพประเพณี เวลาไหว้พระ ถ้าคิดทางวิทยาศาสตร์ เวลาไหว้พระพุทธรูปไหว้อะไร? ไหว้ทองเหลือง ไหว้อิฐไหว้ปูน เขาคิดกันอย่างนั้นนะ ไหว้อิฐไหว้ปูนไหว้ทำไม? นั่นแหละเพราะคิดได้เฉพาะเรื่องทางวิทยาศาสตร์ คิดได้แง่เดียว นี่ก็เหมือนกัน มองเห็นใจในแง่เดียว มองเห็นใจว่าถ้าเราอยากได้สิ่งใด เราหาสิ่งนั้นมาสมความปรารถนา มันก็เป็นความสุขของเรา นี่มองได้แง่เดียว มองได้ใจหยาบๆ นี่ก็เหมือนกัน มองว่าอิฐ ปูน หิน ทรายเขาสร้างขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป เรากราบก็เท่ากับกราบอิฐ ปูน หิน ทราย อันนั้นมองหยาบๆ เลย มองถ้าเทียบตากระทบต่างๆ แต่เราไม่คิดถึงเลยว่าศีลธรรมประเพณี ศีลธรรมจริยธรรม จะทำให้เป็นประเพณีของศาสนาพุทธขึ้นมา

ศาสนาพุทธ เห็นไหม นี่ศีลธรรม ประเพณี การให้อภัยกัน การให้อะไรต่างๆ มันเป็นจริยธรรม เป็นศีลธรรมขึ้นมา แล้วเราเกิดขึ้นมาในจริยธรรมศีลธรรมนั้น แล้วใครเป็นคนให้สิ่งนั้นมา? คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำรูปเคารพขึ้นมาเพื่อจะกราบถึงคุณงามความดีของท่าน กราบคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ชีวิตตั้ง ๖ ปีนะ เป็นกษัตริย์ สละออกจากกษัตริย์มาเพื่อออกแสวงหาโมกขธรรม เพราะตัวเองมีความทุกข์ในหัวใจ พอตัวเองมีความทุกข์ในหัวใจ ต้องแสวงหาสิ่งที่ว่ามันจะชำระความทุกข์ในหัวใจของเราให้ได้ แล้วพยายามชำระขึ้นมานะ เวลาแสวงหาอยู่ ๖ ปีทุกข์ยากขนาดไหน?

ในพระไตรปิฎกบอกไว้เลย ใครทำความเพียรขนาดไหน อุกฤษฏ์ขนาดไหนไม่เกินองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่โลกเขาทำมานี่ทำมาหมดแล้ว นี่แสวงหามาทุกวิธีการ แล้วมันไม่เป็นไป มันไม่เป็นไป มันเป็นไปไม่ได้ที่การชำระกิเลส ต้องย้อนกลับมาด้วยอำนาจวาสนาที่ตัวเองสร้างขึ้นมา มาอานาปานสติ สัมมาสมาธิสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิถูกต้องขึ้นมา นี่ย้อนกลับมาถึงว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ พอสมาธิมันถูกต้องมันจะเข้าหาหลักเลย เข้ามาหาหลัก เข้าหาสัญญา สัญญาความจำของเราต่างๆ

เราเกิดมา เห็นไหม ชาติหนึ่งก็ซับความคิดเกิดภพชาติไว้ในหัวใจ นี่เมื่อวานนี้เราทำอะไรไว้เราก็จำเมื่อวานนี้ได้ มะรืนนี้เราทำอะไรไว้เราก็ย้อนกลับไปๆ อดีตชาติมันย้อนอย่างนั้น ย้อนไปที่ไหน? ย้อนมาที่ใจ พอสัมมาสมาธิมันเกิดขึ้นมา มันเปิดจอกแหนในหัวใจขึ้นมามันย้อนกลับ บุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนกลับเข้าไปมันก็ไม่ใช่ทาง เพราะว่าเคยประสบต่างๆ มา เคยทำสมาบัติมาแล้วกับอาฬารดาบส มันไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทางคือมันไม่ชำระกิเลสก็ว่าอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ย้อนกลับเข้าไป จุตูปปาตญาณก็ไม่ใช่ จนเป็นอาสวักขยญาณ

นี่สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นแล้ว แล้วปัญญา เห็นไหม พุทธวิสัย พุทธวิสัยคือปัญญาของพระพุทธเจ้า พุทธวิสัย วิสัยของพระพุทธเจ้าเราจะคาดหมายไม่ได้เลย ว่าอย่าให้คาดหมายเรื่องปัญญาของพระพุทธเจ้าจะกว้างขวางขนาดไหน คาดหมายไปมันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันกว้างขวางขนาดนั้น แล้วนี่ค้นคว้ามาแล้ว แบบว่าสิ่งใดผิดก็วางไว้ว่าสิ่งนี้ผิด ศึกษาแล้วผิด ศึกษาแล้วผิดแล้ววางไว้ แล้วเราจะต้องไปศึกษาสิ่งใดอีก? เราเข้ามาประพฤติปฏิบัติของเรา มันเป็นช่องทางของเราที่เราจะทำได้อยู่แล้ว มันมีโอกาสอยู่แล้ว

นี่เป็นทฤษฎีที่ว่าวางไว้ แต่ภาคปฏิบัติเรายังไม่เกิด ถ้าภาคปฏิบัติเราเกิดขึ้นมา ปฏิบัติเกิดขึ้นจากไหน ภาคปฏิบัติเกิดขึ้นจากใจ ทรมานตนเอง ทรมานใจของเรา เราพยายามทรมานใจของเราให้สงบเข้ามาให้ได้ นี่วันพระหนึ่งทำไม่ได้ วันพระต่อไปก็พยายามทำ วันพระจะมีประโยชน์กับเราขึ้นมาขนาดนี้ สวดมนต์ทุกวันๆ ถ้าไม่สวดมันเหมือนกับเราขาดอะไรไป วันพระก็เหมือนกัน เราสร้างคุณงามความดีของเราตลอดไป ถึงวันพระมันต้องทำๆ

แล้ววันพระนี่ถึงเวลาทำจริงทำจัง พระอยู่ในป่า ถึงวันพระปั๊บนี่พระถือเนสัชชิกเลยไม่นอนตลอดไป ไม่นอนวันนี้ๆ วันพระนี้ถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระธรรม ถวายพระสงฆ์ ถวายครูบาอาจารย์ นี่มีเหตุให้เราได้ขวนขวายสร้างสมคุณงามความดีของเราขึ้นมา คุณงามความดี เห็นไหม สมบัติในโลกนี้แสวงหาในเรื่องของการตลาด ใครแสวงหาเรื่องการตลาด ใครจะได้ประโยชน์จากสมบัติของโลกเขา

สมบัติของโลกนี่เรื่องธาตุมันมีอยู่แล้ว เรื่องธาตุ เรื่องสิ่งต่างๆ เป็นประโยชน์ในโลกมันมีอยู่แล้ว แต่สมบัติของใจ ถ้าเราจะขุดเรื่องกิเลสของใจ มันต้องขุดค้นไปในหัวใจ สมบัติของธรรมค้นคว้าได้ที่ใจ ใจนี้สัมผัสขึ้นมา เราจะหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา เราต้องค้นคว้าเข้ามาที่เรา แล้วมันเป็นว่าสิ่งใด อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนสามารถชำระตนเองได้ ตนแก้ไขตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นเลย พึ่งพาแต่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางเท่านั้น แล้วเราต้องพยายามฝืนของเราขึ้นมา

ถ้าใครจะได้ธรรมขึ้นมามันต้องค้นคว้าในหัวใจของเรา ต้องพยายามดัดแปลงตนขึ้นมา พึ่งพาอาศัยกันไม่ได้ โลกนี้เป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยนะ เราหวังพึ่งพาอาศัยคนนั้น คนนั้นก็หวังพึ่งพาไป ประพฤติปฏิบัติก็หวังพึ่งพาครูบาอาจารย์ มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเริ่มต้นไปก่อน อย่างสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาก็เหมือนกัน นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันก็ต้องอาศัยกันไปก่อน ศึกษาธรรมไปก่อน นี่วันพระมันถึงศึกษาอย่างนี้ไง ศึกษาให้นับจุดเริ่มต้น เริ่มต้นว่าเราจะเริ่มต้นนับหนึ่งจากตรงนี้ แต่จริงๆ แล้วมันต้องทำที่เรา แต่เราอาศัยสิ่งนั้นเข้าไปก่อน อาศัยว่าถึงที่สุดแล้วพระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

พระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย จนเขาไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูถูกพระพุทธเจ้า “ไม่ใช่ แต่ก่อนนี่เชื่อมาก” พระสารีบุตรพูดนะ

เวลาพระพุทธเจ้าเรียกพระสารีบุตรไปถามว่า “เธอไม่เชื่อเราจริงหรือ?”

“จริง ปัจจุบันนี้ไม่เชื่อเลย”

แต่เดิมนี้เชื่อมาก แต่เดิมนี้อาศัย ประพฤติปฏิบัติไปกับสัญชัยไม่ได้ผลเลย จนสุดท้ายแล้วไปเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิบอก พระพุทธเจ้าสอนว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นล้วนมาแต่เหตุ ถ้าจะดับสิ่งนั้นให้ย้อนไปที่เหตุ”

แล้วเหตุในเรื่องของโลก เหตุคือเรื่องใจอย่างเดียวเลย ใจเกาะเกี่ยวสิ่งใด ใจมีความสุขกับสิ่งใด มันก็หลงระเริงไปกับสิ่งนั้น ใจมีความทุกข์สิ่งใด ใจมันก็ยึดมั่นสิ่งนั้นเป็นความทุกข์ แล้วมันจะสะสมลงที่ใจ ต้องปล่อยวางสิ่งที่ว่ามันพอใจ เห็นไหม ปล่อยวางความดีและความชั่ว ดีก็ต้องปล่อย ชั่วก็ต้องปล่อย ถึงที่สุดแล้วมันอิ่มตัวในตัวมันเอง

นี่ย้อนกลับมาที่ใจ เวลาอย่างนั้นถึงว่าฟังพระอัสสชิขึ้นมาเป็นพระโสดาบันขึ้นมาทันที แล้วก็พึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่ประพฤติปฏิบัติอยู่ พระโมคคัลลานะ ๗ วัน พระสารีบุตรนี่ ๑๕ วัน เพราะอะไร? เพราะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ไม่เชื่อสิ่งใดๆ ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญตลอดไป คนมีปัญญามากนี่เอาตัวรอด พยายามคิดหาเข้ามา แต่กิเลสในปัญญานั้นน่ะมันหลอก กิเลสในปัญญามันคิดใคร่ครวญไป จนถึงสุดท้ายแล้วที่บนเขาคิชฌกูฏ หลานมาต่อว่าไง พระสารีบุตรพัดให้พระพุทธเจ้าอยู่ ถวายการพัดอยู่ หลานมาต่อว่า

“ไม่พอใจสิ่งใดๆ เลย ในโลกนี้ไม่พอใจสิ่งต่างๆ” คือจะบอกว่าไม่พอใจที่เอาพระสารีบุตรมาบวชไง

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เธอต้องไม่พอใจในอารมณ์สิ่งที่เธอไม่พอใจนั้นด้วย”

ที่เราคิดไม่พอใจเขานั่นแหละมันก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง เป็นวัตถุอันหนึ่ง แต่เราหยาบ เราเห็นเป็นนามธรรม เราไม่รู้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไง สิ่งที่เราไม่พอใจเขานั้นก็เป็นสิ่งที่หนึ่ง เป็นสสารอันหนึ่งที่เราไม่พอใจ เราคิดขึ้นมาแล้วเธอต้องไม่พอใจสิ่งนั้นด้วย นี่เทศน์สอนหลานพระสารีบุตร แต่เพราะมีปัญญามากจับตรงนี้ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเพราะตรงนี้ ตรงที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนหลานพระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรมีปัญญาจับสิ่งนี้ขึ้นมา ใคร่ครวญขึ้นมา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย

ขณะที่ถวายการพัดให้พระพุทธเจ้าอยู่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่อาศัยไหม? ต้องอาศัยตลอด แต่เดิมอาศัยพระพุทธเจ้าตลอด เชื่อพระพุทธเจ้ามาก ยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเลย เพราะว่ามันทุกข์อยู่ในหัวใจ ร่ำรวยขนาดไหน เป็นคนที่ร่ำรวยมาก มีสถานะมาก แต่ก็ไม่มีความสุขมีความพอใจในหัวใจ แต่พอมาพิจารณา ประพฤติปฏิบัติเข้ามามันถึงละสิ่งต่างๆ นี้ได้หมดไง พอละขึ้นมามันเป็นการละของเราขึ้นมา

นี่อาหารกระทบลิ้นเรา น้ำตาลมันเป็นรสหวาน เราต้องถามใครว่าหวานไหม? มันไม่ต้องถามใครหรอก ไปถามเขาเขาก็บอกว่าหวานเท่านั้นแหละ แต่รสหวานที่เขาว่ามันก็เป็นที่เขาว่า แต่ถ้าน้ำตาลนี้ไม่ได้ผ่านลิ้นเรา เราจะไม่รู้ว่ารสหวานนี้มันเป็นการคาดหมาย นั้นเป็นจินตมยปัญญา สุตมยปัญญานี่ใคร่ครวญมาก่อน จินตมยปัญญาก็พิจารณาไปๆ เป็นจินตมยปัญญา แต่ขณะที่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น นั่นแหละรสหวานมันกระทบลิ้นขึ้นมาจะต้องถามใคร? ถ้าหัวใจประพฤติปฏิบัติธรรม ใจสัมผัสกับธรรมขึ้นมาจะต้องถามใคร?

ถ้ามันถามเขามันก็ไม่เป็นปัจจัตตังสิ มันไม่เป็นสิ่งที่รู้ขึ้นมาเองสิ แล้วเวลาเป็นแผล เป็นโรคนี่เป็นโรคที่ใจ เป็นแผลที่ใจ เราใช้ยารักษาที่ใจ มันถอนก็ถอนที่ใจ มันถอนออกมาทั้งหมด สิ่งที่ถอนออกมาทั้งหมดต้องถามใคร? ไม่ถามใครเลย นี่วันพระอย่ามองข้ามไป เราพยายามสร้างสม เพราะว่าวันพระเป็นวันให้มันมีปมมีตุ่มอะไรให้เราขึ้นมาได้ศึกษา วันปกติเราก็ใช้ชีวิตธรรมดากันไป วันพระเราใช้ชีวิตของเราขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ให้สมกับเป็นชาวพุทธของเรา เอวัง