เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ พ.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มนุษย์เราคิดนะ คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง มารยาท วัฒนธรรม มารยาทเขาสอนคิดอะไรให้เก็บไว้ข้างใน พูดออกไปอีกอย่างหนึ่ง เวลาพระพุทธเจ้าว่านะ “คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง” แล้วทำไป อันนี้เราบอกว่าคนเรามันอยู่ที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันมืดบอด เห็นไหม ความมืดบอดของใจ

นางปฏาจารา เห็นไหม กว่าจะเห็นธรรมได้นะ เสียลูก ๒ คน ลูก ๒ คน เห็นไหม ที่ว่าข้ามน้ำนะ จมน้ำตายคนหนึ่ง เหยี่ยวคาบไปกินคนหนึ่ง เดินไปถึงพ่อตาย แม่ตาย เสียใจจนเสียสตินะ จนบ้าไปเลย แล้วผ่านไปพระพุทธเจ้า “เธอเพราะเหตุไร?” เธอเสียสติไป พระพุทธเจ้าโยนผ้าให้

นั่นย้อนกลับมา เห็นไหม เวลาจะเปิดใจแต่ละคนมันเปิดแสนยาก เปิดอย่างนี้มันเปิดยาก เวลามันมืดบอดแล้วมันไม่ฟังสิ่งใดเลย ถ้าเราคิดอย่างนั้นปั๊บ เราย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาที่เราว่าถ้าเราทำของเราได้ขนาดนี้ มันถึงว่าวัดใจได้ แต่ถ้าเราใจพอกันมันก็อย่างว่าล่ะ โต้ตอบเหมือนกัน เราจะไปโต้ตอบกับเขาเหมือนกัน แล้วมันก็จะเป็นปัญหาต่อไป ถ้าเราสูงขึ้นๆ

เวลาพูดเราพูดกันบ่อย เห็นไหม วุฒิภาวะของใจแต่ละคนไม่เท่ากัน วุฒิภาวะของใจ แต่วุฒิภาวะของใจมันก็ยังอีกว่าสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ทิฏฐิมันเกิดขึ้นมาแล้วมันยึดทิฏฐิของตัวเอง ความเห็นของตัวเองมันความเห็นผิดมันก็ยึดความเห็นผิด แต่คนเรานี่มันกลับได้หมดเลยเพราะอะไร? เพราะตัวใจมันไม่เคยตาย ตัวใจมันพลิกแพลงไปได้ มันเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่กว่าจะเปลี่ยนแปลงไปนี่ ใครจะทรมาน?

นี่ถึงว่าถ้าเราได้สร้างสมบุญญาธิการกันมา เราได้สร้างบุญสร้างเวรสร้างกรรมกันมา เวลาฟังมันจะมีโอกาสเชื่อ ถ้าไม่สร้างบุญสร้างกรรมกันมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เดินไป เห็นไหม พราหมณ์ถามว่า “พระพุทธเจ้านี่ใครเป็นอาจารย์?” พระพุทธเจ้าบอก “พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยตนเอง” ยังไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเองยังไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วเขาจะไปเชื่อใคร? เขาไม่สามารถจะเชื่อใครได้เลย แต่ในตำราบอกว่า “สุดท้ายแล้วเขาก็กลับมาบวช เพราะเขาจำของเขาได้” แต่ตอนต้นเขาไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เขาไม่เชื่อความเห็นสิ่งใดเลย นั่นความเห็นของเขา

แล้วเราอ่านพระไตรปิฎกกัน เห็นไหม เจ้าชายสิทธัตถะเวลาจะออกบวช มองไปนะ เห็นนางสนมกำนัลในนอนอยู่ เห็นเป็นโครงกระดูก ทุกคนไม่เชื่อนะ ทุกคนว่าไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ เวลาเราเห็นอสุภะขึ้นมา จิตเราพัฒนาขึ้นมา เห็นอสุภะความเป็นไป มันเป็นอย่างนั้นจริง มันเห็นสภาวะนั้น มันก็เชื่อได้ ถ้าคนปฏิบัติมันเชื่อได้

อ่านพระไตรปิฎกไป เราจะเชื่อพระไตรปิฎก แล้วเชื่อตามความจริง เพราะใจมันพัฒนาขึ้นมา ถ้าใจเราไม่พัฒนาขึ้นมา เราก็คิดความเห็นของเรา คิดแล้วก็ยึดเป็นทิฏฐิมานะขึ้นมา ทิฏฐิมานะนี้มันก็ยึดไป

ที่ว่าทำกรรมชั่ว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “การฟังธรรมบ่อยๆ มันมีประโยชน์ตรงนี้ ประโยชน์ตรงที่ว่าเราได้ฟังธรรมบ่อยๆ มันตอกย้ำไง สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มันก็ได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว แต่มันก็ตอกย้ำ มันพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไป ให้ใจเราพัฒนาขึ้นมา”

ถ้าใจเราพัฒนาขึ้นมา เราเชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรม เราทำคุณงามความดีของเรา เราสะสมของเราขึ้นมา สะสมเพื่อเป็นคลังเสบียงไปข้างหน้า ถ้ามีเสบียงไปข้างหน้า ทาน ศีล ภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา คนก็บอกพระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะพระพุทธเจ้านี่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่หรอก”

ดูในพุทธภูมิสิ สละมาขนาดไหน ชีวิตสละ สละมาเต็มที่ สละมาเต็มที่ เพราะผลของทานนะ ทำทานขึ้นมา กว่าจะให้ทานขึ้นมาได้ ใจมันก็คิดของมัน นี่เราต่อสู้กับใจของเรา ถ้าเราต่อสู้กับใจของเรา เราพัฒนาใจของเราขึ้นมาได้ เราจะพัฒนาใจของเราขึ้นมา ถ้าเราพัฒนาขึ้นมา เราจะเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะมองเห็นได้ยาก

เพราะมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว ใจเหมือนใจนะ เพราะทุกคนมีกิเลส เห็นไหม กิเลสในหัวใจมันคิดว่ามันทำเราได้ เราต้องทำเขาได้ ถ้าเราทำเราได้ เราทำเขาได้ มันก็มีการตอบโต้กัน มันก็ผูกเวรผูกกรรมกันไปได้ ในพระไตรปิฎกมีบุรุษ ๒ คน ผลัดกันฆ่ามาทุกชาติเลย ชาตินี้ก็คนนี้นอนหลับ คนนี้ก็ฆ่าคนนี้ เพื่อนที่นอนหลับ มันก็ผูกเวรผูกกรรมกันมาตลอด เวลาชาติสุดท้ายพระพุทธเจ้าไปเทศน์ เห็นไหม

“เธออย่าทำอย่างนั้นเลย ทำอย่างนี้มากี่ภพกี่ชาติ”

นี้ก็เหมือนกัน เราทำมาอย่างนี้กี่ภพกี่ชาติ ปล่อยไปๆ สิ่งใดจะเกิดขึ้นมันเรื่องของเขา มันการแสดงน้ำใจของเขา สิ่งที่น้ำใจแสดงของเขามานั้นมันพูดถึงใจของเขา แต่ใจของเรา ถ้าเราไปตอบโต้มันก็เป็นตอบโต้ แต่ความรำคาญมีอยู่ สิ่งที่เป็นความรำคาญนะ ถ้าย้อนกลับมาความรำคาญมันเห็นสภาวะแบบนั้น ทำไมมันเป็นสภาวะแบบนี้? สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้

นี่ขันธ์สักแต่ว่าขันธ์ ขันธ์มันเป็นความเห็นอย่างหนึ่ง แต่มันก็รับรู้นะ รับรู้สิ่งต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงเราไม่พัฒนาขึ้นมา เราก็มีตอบโต้ มันก็จะเป็นสภาวะกรรมอย่างนั้นตลอดไป เราจะไม่ไปสร้างกรรมอีกแล้ว ปล่อยให้กรรมมันเป็นไปตามสภาวะกรรม แล้วย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา เพียงแต่เราต้องถอยไง อย่าตบมือ ๒ ข้าง

เวลาพระพุทธเจ้าสอนในพระไตรปิฎก เห็นไหม “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธอยู่ คนนั้นโง่กว่า”

เวลาเขาโกรธขึ้นมา เขาโกรธขึ้นมามหาศาลเลย แล้วเราไปโกรธตอบเขา เราเห็นสภาวะอย่างไรเราถึงไปโกรธ มันก็เป็นการสาดน้ำใส่กัน มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น เหมือนกันเลย ถ้าเรามีสติ เรามีสัมปชัญญะ แต่มันทำได้ยาก ทำได้ยากเพราะมันต้องฝึกหัด ต้องฝึกหัดเพราะอะไร? เพราะทุกคนก็รู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เป็นคุณงามความดี แต่ทำไมมันฝืนใจตัวเองไม่ได้?

ทำได้ยากเพราะใจเรามีกิเลส เพราะเราไม่ได้ฝึก แต่ถ้าใจเราฝึก เราพยายามฝึกของเราขึ้นมา ฝึกใจของเราขึ้นมา ฝึกใจเรานี่คำบริกรรมขึ้นมา ให้มีคำบริกรรม ถ้าคำบริกรรมเข้ามาในหัวใจ มันฝึกใจขึ้นมา ฝึกใจขึ้นมาเห็นสภาวะของเราขึ้นมา เห็นสภาวะของเราขึ้นมา.. จนกว่าจะไปแก้กิเลสได้ ถึงจะทำตรงนั้นได้

ทุกคนนะ นักปฏิบัติเวลาทำความสงบขึ้นมา ใจมันดีขึ้น เวลาใจมันดีขึ้น เราข้ามพ้นกามได้แล้ว.. เราข้ามพ้นความโกรธได้แล้ว..

ยังหรอก! ยังไม่ถึงเวลา ถ้าถึงเวลามันกระทบขึ้นมา มันจะแสดงออกขึ้นมาตลอดไป มันพัฒนาขึ้นมา เวลาใจมันสงบมันจะมีความสุข มันจะมีความอิ่มเต็มของมัน อันนั้นมันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันสงบนี่มันรักษาใจไว้ แต่เวลามันเสื่อมไปล่ะ? สิ่งที่เสื่อมไปนี่มันแก้ยากยากตรงนี้

มันถึงว่าการจะพบธรรม การได้ฟังธรรมะนี่มันแสนยาก แล้วพูดถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติ มันจะยากขึ้นไปอีก ๒ ชั้น ๓ ชั้น ยากเพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก มันเป็นสิ่งที่ว่าคงที่ในหัวใจของเรา มันเป็นสิ่งที่คงที่นะ ใจนี้คงที่อยู่แล้ว คงที่สภาวะของใจ แต่มันแปรสภาพสภาวะฐานะ สถานะมันเปลี่ยนไป อารมณ์ของเราเปลี่ยนตลอดเวลา แล้วสถานะข้างนอกมันก็เปลี่ยนตลอดเวลา เกิดตายเกิดตายในภพชาติต่างๆ เปลี่ยนไปตลอดเวลา มันทุกข์ยากแสนเข็ญมากมายมหาศาล ถ้ามาคิดถึงความทุกข์ยากแสนเข็ญ

แต่มันพอใจทำ พอใจสิ่งสภาวะแบบนั้น มันพอใจเพราะอะไร? เพราะอดีตอนาคตมันผลักไสไป เมื่อนั้นจะดี เมื่อนั้นจะดี.. ตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม สิ่งนั้นจะดี สิ่งนี้จะดี ทีนี้พระพุทธเจ้าก็สอนว่า “ถ้าเราทำไม่ได้ เรามันสุดวิสัยว่าเราไม่สามารถทำให้สิ้นสุดทุกข์ได้ เราก็ต้องอาศัยบุญกุศลไปก่อน”

สิ่งที่อาศัยบุญกุศลไป เพื่อจะให้มันมีความสุขพอสมควรกับสถานะการเกิด แล้วเราเห็นโทษของมันนะ เห็นโทษของสิ่งนั้นแล้วเราย้อนกลับเข้ามาสร้างสมสิ่งนี้ สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา

จูฬปันถก เห็นไหม เกิดขึ้นมา ขนาดอยู่กับพี่ชายนะ พี่ชายจะให้สึกไปเลยเพราะว่าอะไร? เพราะว่าท่องคำหนึ่งก็ไม่ได้ ท่องคำหนึ่งก็ไม่ได้.. พระพุทธเจ้ามาดักไว้เลยนะ ดักรอไว้ว่า

“จูฬปันถก.. นี่บวชเพื่อใคร?”

“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“แล้วนี่จะไปไหน?”

“จะไปสึก”

“สึกเพราะอะไร?”

“เพราะพี่ชายให้สึก” ปัญญามันทึบไง

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เอ้า.. มานี่ อย่างนี้ไม่ต้องสึก เอาผ้าขาวนี่ไปลูบก่อน” ลูบผ้าขาวๆ

นี่ลูบผ้าขาว ลูบผ้าขาวไป เห็นผ้าขาวมันสกปรกเพราะมือลูบไป สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แล้วไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ธรรมดาด้วย มีฤทธิ์มีเดชด้วย

นี้ก็เหมือนกัน เราสร้างบุญกุศล เราหัดภาวนาก็เพื่อเหตุนั้นไง ถ้าใจเราเคยสงบขึ้นมา ใจเราเคยเป็นขึ้นไปได้ มันเหมือนจูฬปันถกไง เหตุผลนะ เหตุว่าเคยเป็นกษัตริย์ แล้วเวลาไปตรวจพลสวนสนาม เอาผ้าเช็ดหน้าสีขาวนี่เช็ดหน้าเช็ดเหงื่อ แล้วออกมามันสกปรกไง มันสลดสังเวชไงว่า “ร่างกายเราสกปรกขนาดนี้เหรอ? สิ่งสกปรก” มันฝังใจอยู่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ให้ลูบผ้าขาวๆ” สิ่งที่ลูบผ้าขาวนี่มันไปชนกัน มันไปโดนสิ่งที่เราสะสมบารมีมา

อันนี้เราภาวนาก็เหมือนกัน เราทำใจของเราสงบขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันฝังใจๆ ไป มันจะยากแสนยากขนาดไหน มันก็ฝังเป็นสมบัติของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีสมบัติขึ้นมา แล้วทำตรงขึ้นไปสมบัติอันนั้น

นี่เราปฏิบัติกัน ถ้าเราตรงกับจริตของเรา จริตของเรา เราทำของเราขึ้นมา มันตรงจริตนิสัยของเรา มันก็เป็นไปๆ เพราะมันสร้างสมขึ้นมา ภพชาตินี้มันแสนยาวนัก ความยาวของภพชาตินี่มันทุกข์ยากแสนยากมาตลอด แต่ตอนนี้เรามีสถานะ เราทำได้เพราะเราเชื่อธรรม ใจของเรายังพัฒนาขึ้นมา เราภูมิใจ ใจของเราเราภูมิใจตัวเราเองนะ ตัวเราเองเราต้องภูมิใจตัวเราเองว่าเราสามารถพัฒนาใจของเราขึ้นมา

ปฏาจารา เห็นไหม เสียลูก ๒ คน ต้องเอาลูก ๒ คน พ่อแม่ด้วยทั้งครอบครัวเลย ถึงจะได้พลิกออกมาจากโลกมาปฏิบัติไง แล้วพอมาปฏิบัติ เห็นจุดเทียน เทียนมันเผาไหม้ตัวมันเอง แล้วมันลามไปหมด เห็นสภาวะเทียนออกไป นั่นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย ใจปล่อยวางจากโลกทั้งหมด สิ่งนี้มันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เพราะว่าเห็นสภาวะของใจ ใจมันมีการกระทำแล้วมันเห็นสภาวะอย่างนั้น มันย้อนกลับมาแล้วมันปล่อยวางสิ่งนั้นได้

นี่พัฒนาใจพัฒนาอย่างนี้ เราภาวนาเราภาวนาอย่างนี้ นี่ทาน ศีล ภาวนา การทำแสนยากให้มันยากไปส่วนหนึ่ง แล้วเราพยายามมีศีลเข้ามา แล้วเราปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่ปฏิบัติมันเป็นการภาวนา ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บูชาใจเรา ใจเราเข้าถึงเนื้อของธรรม แล้วสภาวธรรมของเรามันจะเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันคุมใจเราได้ ถ้ามันคุมใจเราไม่ได้..

เราสภาวะอย่างนั้นนะ มันสนุก.. อาจารย์มหาบัวท่านบอกเลยนะ เวลาใจมันพ้นไปแล้ว ดูสิ่งนี้ ดูความเป็นไป แล้วมันสนุกดูเขา ดูเขาว่าคิดอย่างนี้ แสดงออกมาอย่างนี้ นี่กิเลสตัวไหนมันแสดงออก กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดมันแสดงออกอย่างไร ถ้ามันแสดงออกมา แล้วอยู่กับเรา มันก็เคยแสดงออกอย่างนี้ เมื่อก่อนเราไม่เห็นสภาวะแบบนี้ เราไม่เคยเห็นมันแสดงออกอย่างนี้ แต่เมื่อเราควบคุมเราได้ เรารู้ทันของเราแล้ว มันไม่แสดงออก เราดูความแสดงออกอย่างอื่น

นี่จากใจดวงหนึ่งให้อีกใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งสภาวะแบบนั้น เข้าใจสภาวะแบบนั้นแล้ว จะเข้าใจสภาวะแบบนั้นเลย แต่คนที่ว่าจิตใจต่ำนะ มันถึงว่ามันแสดงออกแล้วมันสะใจ เห็นไหม เวลาเราโกรธขึ้นมา เวลาเราโกรธ เวลามีปัญหากันไป มันถึงว่ามันสะใจแล้วมันทำได้สมใจอยาก นี่สมใจอยาก สะใจ มันไม่รู้ตัวเลยนะ เพราะสะใจแล้วทำได้สมความปรารถนาของตัว นั่นกรรมทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราเห็นสภาวะแบบนั้น เห็นสภาวะเกิดดับ มันสลดสังเวชนะ

สิ่งนี้.. โลภ โกรธ หลง นี่ทำให้สัตว์โลกหมุนเวียนหมุนตายกันตลอดไป สิ่งนี้มันเกิดดับในหัวใจของสัตว์โลก มันเหมือนกับน้ำมันสาดเข้าไปในกองไฟ ลุกโชติช่วงชัชวาลเลย คนที่เราสาดน้ำมันเข้าไปมันความร้อนถึงเรา เราจะรู้ แต่คนที่เป็นอยู่ไม่รู้

นี่สนุกดูสนุกดูอย่างนี้ ดูสภาวะว่ามันเผาไหม้ใจดวงนั้น แล้วมันแสดงออกมาอย่างนั้น แล้วเขาก็สะใจ กรรมอันนี้มันก็ต้องแนบกับใจดวงนั้นไป เพราะใจดวงนั้นเป็นผู้ทำอย่างนี้ นี่กรรม สร้างกรรมขึ้นมาแล้วกรรมต้องให้ผลแบบไง วิบากกรรม เห็นไหม วิบาก ผลของการกระทำ สิ่งที่กระทำมาทำแล้วสะใจ สิ่งที่สะใจเราทำแล้วมันเป็นประโยชน์อะไรกับใจดวงนั้น? มันต้องรับผลสิ่งนั้นไป

แต่เราทำบุญกุศลของเราขึ้นมา ใครเขาจะถากถาง ใครเขาจะว่านะ กิเลสเป็นอย่างนั้นนะ โลกนี้กิเลสมันเอาไปกิน มันเอาไปเป็นส่วนใหญ่ มันจะว่าเลยนะ คนที่ว่าบาปบุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี สิ่งใดไม่มี การกระทำนี่เป็นสิ่งที่ว่าคนที่มีปัญหา คนมาวัดเป็นคนมีปัญหา

แต่เราว่าคนที่มาวัดนี่เป็นคนที่รู้จักตัวเอง เป็นคนที่มีโรคอยู่ในหัวใจ คือกิเลสในหัวใจ แล้วสามารถรู้จักตัวเอง ยอมรับตัวเองแล้วพัฒนาตนเอง แต่คนที่ว่าไม่รู้เลย เป็นไข้นะ เป็นโรคเป็นภัยจนจะเป็นจะตายก็ไม่รู้สึกตัว สิ่งที่ไม่รู้สึกตัว นี่ดูเขาดูอย่างนั้น แล้วสลดสังเวช มองไปอย่างนั้นมันจะเป็นไป ถ้าไม่มองไปอย่างนั้น มันจะไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ

นี่ใจมันต่างกันอย่างนั้น ใจดวงหนึ่งให้อีกใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงนั้นเข้าใจสิ่งนี้แล้ว มันจะให้ดวงใจดวงนั้น แต่ให้ขนาดไหนมันก็หลุดไม้หลุดมือ เห็นไหม ใส่มือมาก็ทำหลุดมือไป หลุดมือไปเพราะความคิดของเรานะ ความหมายท่านเป็นอย่างนั้น แต่ในทิฏฐิความเห็นของเราเป็นอย่างนี้ คิดว่าท่านพูดอย่างนั้น

จนกว่าเราพัฒนาไป ทำบ่อยครั้งเข้าๆ จนเห็นตามความเป็นจริง มันจะทันกันไง ทันกัน อ๋อ.. ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้นนี่นา ท่านว่าเพื่อจะให้เราปล่อยวางต่างหาก พอเราปล่อยวาง เราก็เข้าถึงอันเดียวกัน เห็นไหม ใจของเราเข้าถึงแล้วมันจะเข้าถึงสิ่งนั้นตามสภาวะความเป็นจริง แล้วมันจะเป็นการวิปัสสนาของเราขึ้นมา

นั้นเราพัฒนาใจ ปล่อยไปตามกระแสกรรม เรามีครูบาอาจารย์ เรายึดครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเราทำความดีของเราขึ้นไป โลกให้เป็นโลกอยู่อย่างนั้น เอาโลกเป็นใหญ่ไม่ได้ คนโง่พันคนพูดก็เป็นคนโง่พันคนพูด คนฉลาดคนเดียวพูด คนนั้นมีความหมาย คนฉลาดคนเดียวติเตียนเรา คนนั้นเราต้องเอามาเป็นคติตัวอย่าง แล้วเราพัฒนาใจของเรา มันจะเป็นประโยชน์ของเรา เราต้องเอาตรงนี้ แล้วเราพัฒนาของเราขึ้นมา เป็นบุญกุศลของเราขึ้นมา เอวัง