เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๑๙ ก.ย. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐ พระพุทธศาสนาเกิดเป็นช่วงๆ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ เป็นช่วงๆ พระพุทธศาสนา ศาสนาของพุทธะ ศาสนาของหัวใจ ศาสนานี่สอนเข้าถึงจิตถึงหัวใจ เพราะหัวใจนั้นเป็นภาชนะที่รองรับพระพุทธศาสนา

หัวใจเป็นสิ่งที่ประเสริฐ หัวใจเป็นสิ่งที่เลอเลิศ คนจะมาเกิด หัวใจมันมีกรรมมันถึงมาเกิดเป็นคน ว่าอย่างนั้นเลย หัวใจมันมาเกิด มาปฏิสนธิ แล้วมันได้ร่างกายของมนุษย์ขึ้นมา ฉะนั้นหัวใจมันถึงประเสริฐ มันเป็นตัวนำ เป็นตัวต้นเหตุ มันละเอียดอ่อนจนไม่มีสิ่งใดๆ จะเข้าถึงมันได้ แล้วไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่ได้หรอกมันลึกลับพอสมควร แต่มรรคผลมีจริง

มรรค คือการปฏิบัติ มรรคปฏิปทา มรรคภายใน ไม่ใช่ปฏิบัติ...งานภายนอกนั้นเป็นงานของโลกเขา มรรคปฏิปทา มรรค พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมัคคา มีในศาสนาพุทธเรานี้ ยืนยันมาตั้งแต่ต้น มัคคา ในการเดินพ้นทุกข์ มัคคาปฏิปทา มรรคนี้ทำให้เราพ้นทุกข์ได้ หัวใจเป็นของที่ละเอียด สิ่งที่จะเข้าไปต้องอาศัยสิ่งนี้เข้าไป มรรคภายใน มรรคในกายนี่

ในสงครามต่างๆ ตามหลักทฤษฎีของสงครามเขา การรบ สงครามที่ได้รบชนะ รบผ่านจากสงครามนั้นมาเป็นการชนะที่ไม่ดีเลย การจะรบแล้วชนะนะ การชนะที่ดีที่สุดคือการไม่ต้องรบ คือความสงบนิ่งไง ไม่ต้องรบเลยนะ แล้วชนะ เห็นไหม นี่ใจ เราไม่ต้องขยับเลย มันนิ่งอยู่ปกติของมัน เป็นผู้ที่ชนะ เลอเลิศ ชนะถึงที่สุด พระอรหันต์เท่านั้น พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก พระอรหันต์ เป็นผู้ที่สงบภายใน ไม่มีกิริยาอีก เป็นผู้ที่ชนะประเสริฐ ไม่ต้องรบ ไม่ต้องขยับ

แต่ของเรานี่ขยับทั้งใจ แล้วขยับทั้งกาย ทุกข์ร้อนไปหมดเลย เพราะเราว่าเราเป็นชาวพุทธไง ชาวพุทธ เห็นไหม การปฏิบัติ ความสม่ำเสมอในการปฏิบัติก็ลำบากแล้ว แล้วยังขวนขวายมาอีกเพื่อการปฏิบัติ เห็นไหม การมาสม่ำเสมอแค่ช่วงติดต่อนี่ก็ทำให้เราแทบทุกข์ยากแล้ว อุปสรรคจะมากมายไปหมดเลย อุปสรรคอันนี้เกิดจากเรายังไม่เชื่อมั่นในศาสนาไง ถ้าเราเชื่อมั่น เราเห็นจริงตามศาสนา ตามคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านะ แค่เชื่อแค่ศรัทธามันจะเห็นคุณค่า พอความเห็นคุณค่า งานอย่างอื่นมันจะสามารถปล่อยวางได้ มันจะปล่อยวาง มันจะดูดดื่ม มันจะดูดดื่มมากนัก ดูดดื่มกับการที่ว่ากระเถิบหัวใจนี้เข้าไปใกล้ศาสนาพุทธ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เอาหัวใจไปเฝ้า นี่ถ้าเราเข้าใจ เราศรัทธา ความศรัทธา ความดูดดื่มของใจ จะทำให้การปฏิบัตินี้สม่ำเสมอแล้ว การขวนขวายมานี้สม่ำเสมอ การขวนขวายมานะ

ความเชื่อ ความศรัทธา ความเชื่อ ฉะนั้น พอเชื่อในศาสนาพุทธ ก็ดูโลกสิ ชาวพุทธมากมายมหาศาล มันได้แต่เอามาพูดกันเฉยๆ เวลาจะปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมา เราได้ยินมามาก มากจริงๆ ดีไปหมด รู้ไปหมด แล้วมันรู้อะไรนั่นน่ะ ความรู้นั้นเป็นความรู้ของกิเลสมันหลอกใช้นะ เพราะเราไปศึกษาเล่าเรียนมาเป็นความรู้ มันหนัก ความรู้อย่างนั้นหนักมาก เพราะมันรู้ๆ รู้แล้วอุปาทานมันยึด ยึดแล้วก็จินตนาการ เป็นธรรมะด้นเดา เดาเอานะ

สังคมที่ธรรมะด้นเดา เหมือนคนตาบอดคุยกันเลย เหมือนคนตาบอดเถียงกัน จริงๆ เพราะใจมันไม่ได้สัมผัสธรรม มันไม่ได้สัมผัสความรู้สึก มันจะเอาความรู้สึกอันไหนมาพูดกันล่ะ มันก็ต้องเอาแต่จินตนาการพูดกันใช่ไหม ตาบอดชัดๆ เลย แล้วเถียงกัน นั่นชาวพุทธเราเป็นอย่างนั้นหมดเลย ฉะนั้น แล้วพอจะมาปฏิบัตินี่มันก็เหลือน้อยลงๆ

ฉะนั้น มันถึงควรภูมิใจ ควรภูมิใจนะ ควรภูมิใจว่าเราเข้าไปถึงแก่นใน ไม้ในป่า ต้นไม้แก่นมันมีกี่ต้น หญ้าคาเอย ไม้เบญจพรรณเต็มไปหมด จะมีไม้สัก ไม้มะค่า สักกี่ต้น แล้วหัวใจเรานี่ต้องการเป็นแก่น ไม้ในป่านะ ป่าทั้งป่า ไม้ที่แก่น ไม้ที่มีค่าที่สุด เห็นไหม มันมีน้อยไหม? น้อย แล้วมันเกิดยากไหม? ยาก แล้วเวลาที่ว่ามันเจริญเติบโตมากว่าจะใช้งานได้นี่กี่ปี แต่หญ้ามันขึ้น ปั๊บก็ขึ้นๆ แต่มันไม่มีประโยชน์ หญ้านี้ไม่มีประโยชน์ มีแต่คนเขาถากทิ้ง ถางทิ้งนะ

ความเป็นอยู่ของเรานี่เป็นหญ้าหรือเป็นไม้แก่น

เป็นไม้แก่นมันเกิดยาก เกิดช้า แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว ประโยชน์มันมหาศาลเลย

ถ้าเราคิดอย่างนั้นนะ ให้หัวใจคิดแบบนั้น “ธรรมะทำไมมันยากอย่างนี้นะ กว่าจะเข้าถึงทำไมมันยากอย่างนี้ ทำไมปฏิบัติมันยากอย่างนี้ ทำไมเราอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำราพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก พระองค์นั้นบรรลุธรรมที่นั่น บรรลุที่นี่ บรรลุธรรมๆ”

เป็นไปได้ เป็นความจริง ศาสนานี้สอนเรื่องความจริง ศาสนานี้ไม่ใช่นวนิยาย ศาสนานี้เป็นปรัชญายอมรับว่าเป็นปรัชญา แต่ถ้าให้พูดถึงตามน้ำหนักแล้ว ศาสนานี้เป็นคำสอนที่จริง ตรงแน่วแน่ทั้งนั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นต้องได้ถึงธรรมแน่นอน ต้องบรรลุธรรมแน่นอน ต้องหักกิเลสได้แน่นอน ต้องชนะทุกข์ได้แน่นอน ต้องพ้นทุกข์ มันแน่นอน คำสอนนี้แน่นอน คำสอนที่พระพุทธเจ้าวางไว้นี่ มรรคปฏิปทา นี่แน่นอน

งานข้างนอก เลี้ยงชีพข้างนอก ก็เป็นเรื่องของข้างนอก เลี้ยงชีพภายใน หัวใจเห็นชัดๆ เลย เวลามันเร่าร้อนนั่นน่ะ มันกินอาหารเป็นพิษ ไม่ได้กินมันก็เป็นพิษอยู่โดยธรรมชาติของมัน ผู้ใดจะมีอำนาจอิทธิพลล้นฟ้าขนาดไหนก็เป็นผู้แพ้ ผู้แพ้กิเลสไง จะให้มีอำนาจวาสนาเท่าไรก็แล้วแต่ จะมีอิทธิพลล้นฟ้าขนาดไหนก็แล้วแต่ มันอยู่ใต้กิเลส มันไม่สามารถพ้นจากอำนาจของกิเลสไปได้ มันเป็นขี้ข้าทุกคน ไม่มีใครเลยที่มีความสุข ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเท่านั้น ไม่มี

แต่เราหลงกัน เราไปมองอย่างนั้นน่ะ มองว่าคนนั้นดี คนนี้ดี คนนี้มีความสุข แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นตัวตั้ง แล้วเราก็อยากจะมีเหมือนเขา เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ เห็นไหม นี่โลกเป็นความหลอก โลกนี้เป็นเรื่องของหลอกลวง

ดูในสภาสิ เถียงกันแต่เรื่องโกหก แล้วพูดด้วยนะ สิ่งที่พูดมันไม่เป็นความจริง อยากให้เป็นความจริงต้องมีเอกสารตามความเป็นจริง เอกสารนั้นก็ ปลอมเอกสาร เอกสารปลอม เห็นไหม ความรู้เราก็เป็นของปลอม พยายามจะให้มันเป็นความจริงขึ้นมาให้ได้ มันเอาอะไรพึ่งได้ล่ะ

เหมือนกัน เรามองผู้มีอิทธิพล ผู้ที่ล้นฟ้า ผู้ที่มีความสุข เรามองแต่เขามันก็เป็นแบบนี้ ปลอม เอกสารปลอม ปลอมเอกสาร เหมือนกัน สมบัติปลอม ปลอมสมบัติ สมบัติไม่จริง สมบัติของโลก สมบัติที่มันเป็นของโลกเขา สมบัตินี้ไม่ได้เป็นเจ้าของสักคนหนึ่ง สมบัตินี้ผลัดกันชม สมบัตินี้เป็นของประจำโลก เราเกิดมาก็เจอ เราตายไปมันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะเกิดมาไม่เกิดมา สมบัติของโลกเป็นของโลกเขา

เหมืองเพชรทั้งเหมืองนะ ใครไม่ไปขุดมัน มันก็อยู่นั่นล่ะ ขุดมาเจียระไน แต่งแล้วเป็นแก้วแหวนเงินทอง เอามาประดับไว้ เราก็ตายจากมัน ไม่ตายจากมัน มันก็หายไป เป็นของโลกอยู่ทั้งนั้น มันเป็นธาตุ ๔...ปลอมไม่ปลอม? ทางโลกว่าถูกต้องไม่ปลอม มันเป็นเพชรจริงๆ แต่ทางศาสนาเรานี่ว่าปลอม ปลอมเพราะมันเป็นสมมุติ มันให้ค่าขึ้นมากันเอง เราไปหลงตรงนั้นนะ เราไปยึดในสิ่งที่ผิด เราไปจับสิ่งที่ผิด ของปลอมเราว่าเป็นของจริง

ของจริงๆ จะเข้าแสวงหาอยู่นี่ พุทธะ คือหัวใจเป็นของจริง มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นของภายใน ความรู้ฝังลงที่หัวใจ ความรู้ต่างๆ มันฝังลงที่ใจ ความรู้นะ แล้วก็เอาความรู้นี้ไปกระทบกระทั่งกัน เพราะมันยังไม่สามารถไปชำระของมันให้สะอาดได้ มันมีตัวตนอยู่ ยังเบียดเบียนกันอยู่ จนกว่าตัวตนในหัวใจนั้นจะหมดสิ้นไป มันก็เป็นหัวใจอย่างเดิมนั่นแหละ แต่ไม่มีตัวตน มีความสุขมหาศาล นั่นน่ะผลของการปฏิบัติ ผลของการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันสืบต่อๆ กันมาจากครูบาอาจารย์ จนมาถึงมือเรานี่ วางบนมือเรา เรายังประคองสมบัติอันนี้ไว้ไม่ได้ เห็นไหม

เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าฝากไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม ฝากไหม? ฝาก อยู่ในมือไม่อยู่ในมือ เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นบริษัท ๔ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ เราเป็นผู้ที่มีของประเสริฐอยู่กับมือ แต่เราไม่ได้มอง ไปมองของข้างนอกนั่นน่ะ ไปมองสมบัติของโลกเขาว่า เป็นของปลอมหรือของจริง เห็นไหม มองของปลอมๆ เดี๋ยวก็พลัดพรากจากกัน แล้วก็ไปตื่นเต้นไปกับเขา เอามาเป็นของจริง เอามาเป็นทุกข์เป็นร้อน สมบัตินั้นก็เป็นของปลอม

การเบียดเบียนกัน การแสวงหาด้วยกิเลส ด้วยการคดโกงกัน เห็นไหม มันก็ให้โทษในความทุกข์เจ็บแสบพออยู่แล้ว ในตัวสมบัตินั้นก็มีโทษ ในการแสวงหา ในการอยากได้ก็เป็นโทษ

แล้วความอยากมันมาจากไหน

นี่ไฟเผาอยู่ข้างใน ไฟเผานะ ฟัง! ไฟ แต่เราไม่รู้

เช่น ผลไม้ลูกหนึ่ง มะม่วงก็ได้ อะไรก็ได้เป็นผลไม้ วางอยู่ข้างหน้า ผลไม้ เรามองสิ มันสดๆ แล้วเราวางไว้ข้างหน้า แล้วมองดูสิ ไว้หลายๆ วันเข้ามันก็จะเน่า มันก็จะเสียไป เรามีผลไม้ไว้ลูกหนึ่งนะ เป็นมะม่วง วางอยู่ข้างหน้าสิ เห็นไหม? เวลาเราเห็นเราก็รู้ว่ามันดี ถ้าเราได้ปอกได้กินเข้าไปนะ ไปอยู่ในท้องของเรา เราก็ว่า เออ! เรากินเข้าไป เราได้ลิ้มรส อร่อยด้วย แล้วเป็นประโยชน์ด้วย เราพอใจไหม? พอใจ ถ้าผลไม้นั้นวางอยู่ตรงหน้าเรา เราเก็บไว้แล้วเราไม่กิน ปล่อยให้มันเน่าให้มันเสียต่อหน้าไป เราเสียดายไหม? เสียดาย เพราะเราเห็น เห็นไหม เราเห็นนี่ ภาพกระทบ

ร่างกายของเรามันก็เหมือนกับผลไม้นั่นแหละ เกิดมาแล้วก็ตายเปล่า ตายเปล่าจริงๆ เหมือนผลมะม่วงที่วางไว้ต่อหน้าแล้วเน่าไปเลย เหมือนกัน เวลาผลไม้ เราเห็นเพราะมันเร็วใช่ไหม แต่ตั้งแต่เกิดจนตาย ในโลกนี้เกิดตายๆ เน่าเสียๆ ไปโดย...ได้อะไรขึ้นมา ทำความดีก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ทำความชั่วก็เกิดนรก ทำความสมควรของมนุษย์สมบัติก็ได้เกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิมเท่านั้นเอง เห็นไหม เน่าเสียไปชาติหนึ่งๆ เน่าเสียไปเฉยๆ นั่นน่ะ เป็นอนิจจัง เป็นกฎของไตรลักษณ์

ถ้าเรามองเห็นอย่างนั้น เราก็จะมองว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องไตรลักษณะ ไตรลักษณ์ สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด เป็นอนิจจังนะ แต่เราไปยึดไปมั่นให้เป็นเรา ให้เป็นของเรา “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นต้องเป็นทุกข์” ไอ้สมบัตินั้นเป็นทุกข์หรือเราเป็นทุกข์ล่ะ มันอนิจจังทั้ง ๒ ฝ่าย สมบัตินั้นก็อนิจจัง ร่างกายก็อนิจจัง หัวใจก็อนิจจัง มัน ๓ ชั้นนะ แต่หัวใจนี้สมานเป็นอันเดียวกันหมดเลย ๓ ชั้นนี้มันสมานเป็นอันเดียวกันว่าเป็นของเรา เรายึดหมด

ดูสิ ผลไม้ก็เป็นอนิจจังใช่ไหม เราก็เป็นอนิจจัง สมบัตินั้นก็เหมือนผลไม้ เป็นอนิจจัง อยู่ภายนอกเราก็เห็นแล้ว สมบัติภายนอกให้ผลเป็นทุกข์พอสมควร แต่สมบัตินั้นน่ะ เราเผอเรอ ทั้งๆ ที่เป็นของเรา เราลืมไปนะ เราทำตกหายไป มันให้ผลเราไหม

เพราะเราไปยึดใช่ไหม หัวใจไปยึดมั่นกับมัน มันถึงให้ผลความทุกข์กับเรา นี่ดูสิ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ภายนอกแท้ๆ เลย กลับมีอำนาจเหนือใจเรานะ เพราะความโง่ของกิเลส เห็นไหม กิเลสมันหลอกใช้เรา มันหลอกใช้เรานะ ไปยึดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

เช่น อาหารที่เรากินไม่ได้ มันเข้าใจว่าอาหาร แล้วไปกินเข้า สิ่งนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะมันเป็นวัตถุ มันไม่เป็นสมบัติของใจ มันไม่สามารถจะช่วยให้หัวใจนี้เวลาตายแล้วไปสวรรค์ได้ ไปในความดีได้ แล้วไปยึดมันเป็นโทษอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะเราไปเอาสิ่งที่เป็นวัตถุ เราเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมอยู่ขณะนี้ สำรวมเข้ามาๆ เห็นไหม

ให้พิจารณาข้างนอกแล้วมาพิจารณาใจนี้ อารมณ์ความนึกคิดนี้ก็เหมือนกับวัตถุอันนั้น ความทุกข์ในหัวใจก็เหมือนวัตถุอันนั้น แล้วหัวใจมันโง่ไปหยิบมัน ก็ดูมันเกิดๆ ดับๆ ที่ใจ อารมณ์อันนั้นมันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์ที่เกิดขึ้นน่ะ ความทุกข์ ความสุขเป็นวัตถุอันหนึ่ง แต่ด้วยความโง่ของใจไปคว้าเข้า มันก็เลยทุกข์ มันไปคว้าไฟเข้าไง ใจมันเสวยก็เหมือนกับเราเอามือไปหยิบ เราไปหยิบสมบัติ แก้วแหวนเงินทองไปหยิบมัน เต็มมือ แหม! อุ่นใจ สุขใจ พอใจ เพราะมันอยู่กับมือเราอุ่นๆ ดีใจ ว่าของอยู่กับมือเรา มีความสุขมาก เวลามันทุกข์ มันสุข ก็หัวใจมันเสวยอารมณ์นั่นล่ะ มันก็เหมือนกับมันไปคว้าอยู่ในมือมัน แต่มันเอาใจคว้า มันเต็มๆ ใจเลยล่ะ เสวยเข้าไปเต็มๆ เลย

นั่นน่ะเพราะความไม่รู้ เพราะความไม่รู้คิดว่ามันเป็นเรา คิดว่ามันเป็นของเรา

คำว่า “เรา” เราคิดขึ้นมา เราจะมองไม่เห็นเลย เราจะมองไม่เห็นว่า เราคิด เราๆๆ ไอ้ตัวกิเลสมันหลอกนี่ เพราะเราทำ เราจะพอใจทันที พอใจมากๆ เราก็ต้องสลัดอารมณ์ที่เป็นออกไปให้เห็นสภาพนั่นน่ะ เห็นสภาพเหมือนที่ว่า ทำไมเราเห็นผลไม้มันเน่าต่อหน้า ทำไมเราเสียดาย ทำไมเราไม่ได้มองอารมณ์ที่ว่ามันเน่า ทำไมเราไม่เสียดาย อารมณ์นี่ ร่างกายนี่

เพราะเราแยกออกๆๆ นะ การแยกออกครั้งแรกทำให้หัวใจมันสงบ การแยกออกนี้ การแยกอารมณ์ออกไปให้ใจมันพัก เพราะถ้าใจไม่พัก ใจคิดออกไปตามอารมณ์ครั้งแรกเลย ฟังนะ! กรคิดออกไปครั้งแรกเลย นี่มันเป็นโลก สังเกตได้ เราคิดเรื่องสมบัติ คิดแล้วไม่มีความเบื่อหน่าย มันจะเป็นไปไม่ได้ที่ว่าเราคิดถึงแก้วแหวนเงินทองแล้วให้เบื่อหน่าย ไม่มีทางเลย เรายิ่งคิดถึง มันยิ่งจินตนาการว่าสวยมาก มีเงินอยู่เท่าไรก็ยิ่งจะนับให้มันเพิ่มขึ้น มีล้านก็จะนับครั้งที่สองให้เป็นล้านสอง นับครั้งที่สามจะให้เป็นล้านสี่ มันมีการนับ มีการคิด มีการเพิ่มๆๆ ไม่มีทางปล่อยวาง

พระพุทธเจ้าสอนว่า ต้องให้สงบ ถึงมันสงบไม่ได้ต้องให้หยุดก่อน เห็นไหม เพราะคิดเป็นโลกแล้วมันคิดบวกคิดเพิ่ม พอคิดบวกคิดเพิ่มมันเป็นโลกไป มันหมุนไป เหนื่อยมากๆ ถึงว่าอารมณ์นี้เป็นวัตถุ ต้องหยุดยั้งมันนะ มันเป็นสมบัติภายใน เป็นความรู้สึกภายใน ต้องหยุดยั้งอันนี้ก่อน หยุดยั้ง หัดหยุดยั้ง หัดเบรก ห้ามล้อไว้ หยุดยั้งไว้

จากหัวใจที่พะรุงพะรัง หัวใจที่ทุกข์ยาก หัวใจที่กระเซอะกระเซิง ไม่เคยมีความรู้สึกว่าความสุขมันเป็นอย่างไรเลย มันจะเริ่มรู้จักตรงนี้แหละ ถ้าเห็นโทษแล้วมันจะหยุด เราเอาอารมณ์นี้มาเทียบกับวัตถุ มันเห็นโทษ เห็นโทษของแก้วแหวนเงินทอง เห็นโทษของอารมณ์ความรู้สึก ไอ้ที่ทุกข์อยู่นี้เพราะอะไร นี่หัดยับยั้งไว้ๆ มันก็จะมีการปล่อยวาง

เหมือนกับเราเอาของไปเก็บ แก้วแหวนเงินทองนี้เก็บไว้ก่อน เอาไว้ในตู้เซฟเราก็สบาย ไม่ต้องอยู่ในกำมือของเรา ถ้าเราชำระอารมณ์ความรู้สึกได้น่ะมันก็เหมือนกัน เรายับยั้งได้หรือเราสงบมันได้ เหมือนกับว่าเราก็คลายตัวออก เหมือนกัน จิตนี้ไม่เสวยอารมณ์นั้นไง นี่มันสงบ ความสงบของจิต

พอความสงบของจิต จิตมันต้องสงบก่อนนะ พอสงบมันก็หัดวิปัสสนา จิตสงบมีความสุข มีความสุขมาก ก็ถึงว่าจิตพะรุงพะรัง จิตที่ร้อน เหมือนคนกระหายมากแล้วได้ดื่มน้ำ คนหิวมากได้กินอาหารอิ่ม ความง่วงแสนง่วงได้นอนหลับตื่นแล้ว นี่มีความสุขไหม? มี เพราะมันเป็นเรื่องของใจ ความสุขภายใน ไม่ใช่ความสุขจากการไปแสวงหาจากภายนอก อันนั้นของเขา โลกียะ อารมณ์ของโลกียะอย่างหนึ่ง มันมีความสุขที่ได้แก้วแหวนเงินทองนั้นอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามีความสุขจากการปล่อยวาง จิตเป็นสมาธิ มันอีกอย่างหนึ่ง

สุขไม่ได้เจือด้วยอามิส สุขจากการใจเสวยใจ ใจเสวยความรู้สึกพอตัว เอกัคคตารมณ์ ใจนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้พักทั้งหมด นั่นล่ะคือจิตสงบ เป็นสมาธิ สัมมาสมาธิ สัมมา คือการตั้งใจไว้มั่น ตั้งใจไว้ถูกต้อง นี่สมบัติภายใน งานความจริง ที่ว่าความจริง จริงสุดส่วน จริงของเรา จริงในการนั่งอยู่เฉยๆ ก็จริง จริงล้วนๆ เป็นสมบัติของเราด้วย เกิดเป็นมนุษย์ ถึงไม่เป็นผลไม้ที่เน่าไปเปล่าๆ

เวลาเราปอกมะม่วงใส่ปาก รสชาติจะเป็นอย่างไร จิตสงบแล้วเราก็เสวยรสชาติแล้ว ทีนี้มะม่วงนี้ มันมีนะ บางทีมะม่วงมียาพิษ มะม่วงต้องล้างน้ำก่อน ต้องวิเคราะห์วิจัยว่า มะม่วงให้คุณค่ากับร่างกายอย่างไร ถ้าหมอ จะรู้ว่าสิ่งใดให้คุณค่ากับร่างกาย หมอจะรู้หลบหลีกเป็นนะว่า อาหารอันนี้จะให้โทษกับร่างกาย อาหารอันนี้จะให้ประโยชน์กับร่างกาย

ความคิดนี้เริ่มคิดแล้ว จิตนี้มันเสวยอารมณ์ใช่ไหม มันก็เหมือนกับมันกิน พอมันกินนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของหัวใจ ธรรมชาติของธาตุรู้ต้องกินอารมณ์ หัวใจนี้อยู่โดยธรรมชาติของมันเองไม่ได้ มันจะรู้ส่งออกอยู่ตลอดเวลา อาศัยความรู้สึกอันนี้ มันก็จะเห็นภาพขึ้นมา เห็นความรู้สึก ใจอยู่ที่ไหนขึ้นมา ถ้าเราปล่อยเฉยๆ มันก็จะเหม่อลอยไปโดยไม่มีสติ สติมันจับหัวใจอันนี้ไว้ มันจะเห็นนะ เพราะมันผ่านตัวนี้ ผ่านภาพ มันก็แยก เพราะมันเสวยอารมณ์ใช่ไหม ก็เหมือนกับกินอาหารเข้าไป

นี่ดู เอาตัวหัวใจไปดู เอาตัวอารมณ์ความรู้สึกนั้นมาดู มาแยกแยะ เหมือนที่ว่า เราดูผลไม้นั้นล่ะ เราดูแบบหมอเขาดูกันนะว่า อาหารนั้นมีโทษหรือไม่มีโทษ จิตนี้มันเสวยอารมณ์เข้าไป มันเป็นความรู้สึกหมด เราดูสิว่า ตรงไหนมันเป็นปากที่กิน ที่เสวยอารมณ์เข้าไป จิตนี้เสวยอารมณ์ เสวยอย่างไร ถ้าเราทำจิตสงบ เราไม่คิดเลย เราปล่อย สติเรายับยั้งไว้ กดดันไว้ เราอั้นไว้ กลั้นใจไว้พักหนึ่ง มันจะมีความรู้สึกอยู่แต่ไม่มีอารมณ์ นั่นมันไม่เสวย

แล้วถ้ามันเสวยเข้ามา มันเสวยจากอะไร

ดูนะ ดูกิริยาของการเข้าไปเสวย หมอเขาจะจับ เขาจะเอาอะไรมาดูได้ เขาต้องเอาเชื้อโรคหรือเอาอะไรมาวิเคราะห์ใช่ไหม เขาถึงจะเห็น ไอ้ปัญญาธรรมของเรา ที่ว่าจะรู้ความจริงขึ้นมาก็ต้องเอาวัตถุอันที่ว่าเป็นอารมณ์ขึ้นมาวิเคราะห์ นี่วิปัสสนาอยู่ตรงนี้ วิปัสสนาอยู่ตรงนี้ ตรงต้องวิเคราะห์วิจัย ไม่ใช่ว่าเข้าไปรู้นะ

มีอยู่มากมายเลยที่ว่า ทำใจให้สงบ แล้วจิตสงบนี้เข้าไปรู้เท่าแล้วจะปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง...ไม่ใช่หรอก ได้ยินได้ฟังมามากเลย แล้วเป็นอย่างนี้เกือบทั้งนั้น เกือบทั้งนั้นเลยนะ ให้ถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์เลย เพราะมันแปลกประหลาด จิตนี้สงบแล้วจะแปลกประหลาดมาก มันจะปล่อยวางแล้วมันจะมีความสุขมาก แล้วจะเคลิบเคลิ้มไปเลย เพราะจิตนั้นมันสงบจริงๆ แล้วสามารถอธิบายได้ด้วย

แต่มันขาดที่ว่า หมอนี้ยังไม่ได้วินิจฉัยโรค ยังไม่ได้วิเคราะห์โรค ยังไม่ได้ฉีดยาเข้าไปให้เชื้อโรคนั้นตาย ฉะนั้น การเข้าไปรู้เหตุของใจแล้วว่าอันนั้นเป็นผลแล้วนะ นี่น่าคิดมาก จะฟังรู้เลย เวลาพูดกัน ชาวพุทธพูดกันจะว่าอย่างนั้นทั้งนั้น เข้าไปรู้เท่านั้น เข้าไปรู้แล้วก็ว่าอันนี้ใช่ ก็เข้าไปรู้ ก็เข้าไปอย่างนี้ แค่เข้าไปดูใจเสวยอารมณ์เท่านั้นล่ะ ตามพระพุทธเจ้าสอน ต้องเดินมรรคตรงนี้ถึงจะถูกนะ มรรคปฏิปทา เดินมรรคตรงนี้นะ คือว่า ต้องมีการทำงานที่ชอบไง

จะเข้าไปรู้เฉยๆ มันก็เหมือนกับว่า เราเข้าไปเห็นเงินในธนาคารแล้วก็กลับมา เงินในธนาคารนั้นจะมีเป็นพันๆ ล้าน มันก็ไม่ใช่ของเรา เราเห็นอยู่ เงินน่ะ รู้ด้วยเงินมีตรงไหน วางไว้ตรงไหน รู้ แต่เงินนั้นเป็นของเราไหม ถ้าไม่ใช่ของเรา เราจะมีสิทธิใช้ไหม

จิตเข้าไปรู้ออกมาแล้ว มันก็จะเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเข้าไปเห็นแล้วมันรู้ แต่มันไม่ได้หยิบเงินนั้นออกมา ไม่ได้วิเคราะห์วิจัยแล้วหยิบผลออกมาจากตรงนั้น แล้วออกมามันก็จะเสื่อมไป คือว่า การไปจำเงินของเขามา ไปเห็นภาพนั้นมา แต่สิทธิไม่ใช่ของเรา เงินนั้นเขาก็ไปใช้ที่อื่นซะ เจ้าของเขาต้องเอาไปใช้อยู่วันยังค่ำ แล้วมันก็ต้องหมดไป เราก็ได้แค่ไปเห็นภาพนั้นมาเท่านั้น แล้วก็เข้าใจว่าเป็นของเรา แล้วเราได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

จิตที่เข้าไปเห็นสภาพนั้นออกมาแล้วมาพูด วันหนึ่งจิตนั้นต้องเสื่อม มันเป็นอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี้เป็นอนัตตา การปฏิบัติธรรมขึ้นมามันมีเสื่อมและมีเจริญ การปฏิบัติธรรมนะ จิตนี้สงบแล้วมันก็จะเสื่อมไปข้างหน้า จิตนี้สงบแล้วเราต้องพยายามทำความสงบนั้นต่อเนื่อง ให้ตั้งมั่นนะ แล้วพยายามหาจำเลยให้ได้

งานการขุดคุ้ยค้นหากิเลส ฟังนะ การขุดคุ้ยค้นหา ความสงบ ความพอใจ เรามีเงินอยู่คนละหลายๆ ล้าน แล้วไม่มีสินค้าใดๆ ขายให้เราได้เลย เราจะมีเงินไว้ทำไม เรามีสมบัติ เราทำสมาธิมา มีความสุขมหาศาลเลย แล้วเราปล่อยให้สมาธินี้เสื่อมไปโดยไม่ได้ยกขึ้นวิปัสสนาน่ะ มันเหมือนกับเรามีเงินมหาศาลเลย แล้วเราใช้เงินไม่เป็น แล้วออกมาก็มาคุยกันนะ ออกมานะ การเข้าน่ะ ใช้คำว่า “ออกมา” ว่ามันเป็นอารมณ์ภายใน จิตนี้เข้าไปในสมาธิ มันต้องเป็นการเข้าคือว่า ทำใจให้สงบมันต่อสู้กับความฟุ้งซ่านมากแล้ว นี่คือการเข้าไป

การออกมา คือการออกจากสมาธินั้นมาเป็นอารมณ์ปกติ ถ้าคนมีความชำนาญการนะ จะออกไม่ออก มันเป็นสมาธิโดยธรรมชาติเลย จะคุยจะอะไรมันเป็นสมาธิอยู่แล้ว อันนั้นยกไว้แต่ผู้ที่ชำนาญการ

แต่เราพูดถึงผู้ใหม่ พูดถึงผู้เริ่มปฏิบัติ การเข้า เห็นไหม การเข้าเหมือนกับเราดิ่งเข้าไปในจุดศูนย์กลางเลย แล้วเวลามันจะออกมาเป็นปกติ มันจะถอนออกมา ถอนออกมาเป็นอารมณ์ปกติของปุถุชนนั่นน่ะ นั่นการเข้าการออก ออกมาแล้ว เรามาใช้อยู่นี้มันเสื่อม เราถึงต้องประคองเข้าไปหาๆ อันความสงบนี้ แล้วถ้าไปหาแล้วก็เหมือนกับมีเงินแล้ว นั่นแหละคือเรามีเงิน เงินนี้ก็เป็นหนึ่งในสัมมาสมาธิ ความเห็นชอบ

ถ้าเห็นผิด มันก็ใช้สมาธินี้ผิด ความเห็นชอบ ดำริ มรรคองค์แรกเลย ดำริชอบ ดำริลงที่งาน งานวิปัสสนายกขึ้น กาย เวทนา จิต ธรรม เอาอารมณ์ความรู้สึกนั้นมาวิเคราะห์ เห็นไหม อันนี้หมายถึงว่า เราจับจำเลยได้ เราจะได้งานอีกชิ้นหนึ่ง “งานชอบ” อันนี้เป็นมรรคแล้ว เป็นมรรคเป็นผลในศาสนาเรา ศาสนาพุทธไง

ไอ้เริ่มต้นมรรคหยาบๆ เข้ามานั้น มันเป็นมรรคเป็นโลกียะ เป็นโลกเขา เราต้องอาศัยอันนั้นเดินมา ต้องมีฐานเดินขึ้นมาทั้งหมด ไม่มีอะไรลอยมาโดยไม่มีพื้นฐาน ต้องมีเหตุถึงจะมีผลขึ้นไปตลอด เราก้าวเดินขึ้นมาจากเหตุแล้วมาหาผล ก้าวเดินจากนั่นขึ้นมาๆ เห็นไหม ภูมิของใจมันยกขึ้นสูง การก้าวเดิน ใจต้องเดินไป ใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ใจอยู่เฉยๆ คือมันนอนจม จิตสงบแล้วก็นอนจมอยู่นั่น จิตสงบแล้วต้องออกทำงาน ออกทำงานภายใน

“อ้าว! ก็ไหนว่าทีแรกไม่ให้คิดไง”

ไม่ให้คิดในเมื่อมันยังเป็นเด็กน้อย มันยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ นี่ไม่ให้คิด

มันรักษาตัวมันเองจนมีความรู้ความเข้าใจพอสมควรแล้วต้องคิด

นักกีฬาฝึกซ้อมมาเพื่อขึ้นเวที นักกีฬาฝึกซ้อมมาเพื่อลงสนาม ฝึกซ้อมก็ทำให้หัวใจให้สงบนั่นน่ะ เวลาหัวใจสงบแล้วทำไมไม่เอาผลขึ้นมาล่ะ นักกีฬาซ้อมแล้วไม่ได้ขึ้นสนาม นักกีฬานั้นจะไม่ได้เหรียญทอง จะไม่มีการแพ้ไม่มีการชนะ หัวใจที่ทำสงบแล้วไม่มีการวิปัสสนาจะเอาผลมาจากไหน มันซ้อมจนมันแข็งแกร่ง แต่ไม่ยอม...แต่งานที่มันจะได้ผล มันจะผลประโยชน์ที่ได้ตอบแทนมา...ไม่ทำ

เราประกอบธุรกิจ เราทำสินค้าไปขาย การทำสินค้านั่นเราทำขึ้นมาเกือบตาย ขายได้แล้วถึงเป็นสมบัติของเรา ทำสินค้าขึ้นมาแล้วขายไม่ได้ มีแต่ขาดทุนกับขาดทุนเท่านั้น การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน ทำใจให้สงบแล้วนั่นน่ะ มันก็มีต้นทุน มันก็มีสินค้า มีพร้อมทุกอย่างเลย วิปัสสนาลงไป ยกจำเลยขึ้นมา จับเหตุให้ได้ ดู! ดู! นั่นน่ะ จับขึ้นมา มันจะได้ผลตอบแทนตรงนั้น เพราะการต่อสู้ นี่แหละคือการกำลังจะขายสินค้าแล้ว กำลังต่อรอง

มรรคมันหมุนนะ งานชอบ งานคือการพิจารณา งานชอบ งานลงที่ตรงหัวใจที่มันไปติด หัวใจนี้มันไปติด มันติดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะมันเป็นยางเหนียว เพราะมันมีกิเลสอยู่ ทีนี้มันหมุนไป ธรรมชาติของมันต้องหมุนไปเพื่อกิเลสมันใช้อยู่แล้ว พอเราตั้งใจ เราพร้อมนะ เรามีสมาธิขึ้นมา มันมีแรงต่อต้าน

จากไม่เคยการต่อสู้ จากไม่มีการต่อสู้เลย จากไม่เคยเห็นหน้า จากเป็นขี้ข้า จากเป็นใต้อำนาจ แต่เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราถึงจะทำงานความเป็นจริงภายใน เป็นที่งาน ยอดของคน ยอดของคนผู้จะหักวัฏวนออกจากโลก เป็นงานจริงๆ งานที่ได้ประโยชน์กับศูนย์กลางหัวใจตรงนั้น ศูนย์กลางของหัวใจนะ ลงที่ตรงกลางนั้นเลย ฝังลงไปตรงที่หัวใจอันนั้น มันเป็นสมบัติอันนั้น แล้วเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน อันนั้นยอดเยี่ยม เป็นผู้ที่ชนะโดยที่ไม่ต้องออกรบ ชนะทุกอย่าง เพราะมันเหนือโลก ชนะทุกอย่าง ทุกอย่างไม่ติด ไม่สามารถเข้าไปติดอันนี้ได้เลย

เพราะชาวพุทธ พุทธะ คือผู้รู้ “พุทธะ” งานลงตรงนั้นสิ งานลงตรงนั้นเพราะว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด พระพุทธเจ้าสอนนะ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ เราไม่เข้าใจนะ เราจะหาไม่เจอ มันไม่น่าเชื่อหรอกว่า ของที่มีความยอดเยี่ยม เป็นของที่ดีที่สุด มันอยู่ที่เรา ในร่างกายเรานี้เอง ใครจะพูดให้เชื่อได้ นี่พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว

ถึงว่า ลงตรงนั้น จับขึ้นมาดู ว่าใจมันเสวย เสวยอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร การวิเคราะห์มันต้องแบ่งแยกใช่ไหม ทดลองใช่ไหม เพาะเชื้อใช่ไหม นี่อารมณ์ที่มันมี มันก้าวเดินไปอย่างไร เห็นขามันไหม สัญญามันเกิดขึ้นจากอะไร เวลามันเกิดขึ้นมา สังขารมันปรุงไปอย่างไร สังขารน่ะ สังขาร คือความปรุง ความแต่ง ความคิดที่ส่งเสริม สังขาร คือความคิดที่เสริมมันขึ้นไป มันรู้อยู่เฉยๆ ธาตุนี้รู้อยู่เฉยๆ แต่พอมีภาพเสวยอารมณ์ปั๊บ มันก็ขึ้นมา นั่นสัญญาพร้อมแล้ว สังขารไง พอพร้อมขึ้นไป เพราะมันจะรู้ ต้องมีวิญญาณพร้อมใช่ไหม วิญญาณ ความรู้สึก รู้สึกในอารมณ์นั้นล่ะ เวทนารับรู้สิ แบ่งแยกดีไม่ดี สังขารหมุนไปเลย วิญญาณรับรู้พร้อมๆๆๆ ไป

ถ้ามีสมาธิ มีความมีสมาธิอยู่ จิตตั้งมั่น มันจะรู้ แล้วมันจับได้ ต้องเห็นกิริยาการก้าวเดิน เหมือนกับเพาะเชื้อแล้วมันมีขยับออก ขยับออกด้วย...อารมณ์นี้มันแปรสภาพ มันมีการแบ่งแยกให้เราเห็นร่องรอย ร่องรอยที่กิเลสมันจับหัวไว้ มันไสไว้ตรงไหนล่ะ มันไสเลยนะ เพราะธรรมชาติมันไสไปอยู่แล้ว ธรรมชาตินี่ ความคิดพุ่งออกๆๆ ถ้ามันเหนื่อย มันจะเพลียนะ มันก็ปล่อย เพลีย หยุด ก็คิดไม่ได้ อย่างเช่นเราคิดจนล้า

แต่ถ้ากิเลสนี่มันไม่ล้า ฟังนะ อย่างเช่นเวลามันทุกข์หนักๆ เราโกรธหนักๆ เราโกรธหรือเรารักมากๆ เราหลงมากๆ ว่าอย่างนั้นเลย หลงด้วย มันจะคิดไปนะ คิดอย่างมากเลย คิดอยู่อย่างนั้นน่ะ หยุดไม่ได้นะ จนเป็นบ้าเป็นหลังล่ะ นั้นน่ะกิเลส

แต่ถ้ามันยับยั้งด้วยสติ ยับยั้งๆๆ เห็นไหม พอยับยั้งก็กลับมาคิดใหม่ แต่คิดคราวนี้มันคิดด้วยปัญญา คิดด้วยธรรมพระพุทธเจ้า ปัญญาธรรมนะ ด้วยมรรค คิดค้นดู พอคิดค้นดู มันจะเปรียบเทียบอารมณ์ เวลาคิดค้นดู มันปล่อย มันเห็นสภาพใช่ไหม เห็นสภาพนี้มันจะรู้เลย จะรู้นะ

พอรู้ว่าแบบนี้ มันคิดชนะ คิดละ เวลามันคิดแบบที่มรรคมันหมุนไปนี่ มันคิดหักขา เหมือนเราคิดแล้วเราก็หักขาไปด้วย หักไม่ให้มันเดินต่อ แล้วมันหยุดนะ มันรู้โทษ เห็นคุณเห็นโทษ มันจะสุขสบายนะ โอ้! เราชนะ

มันแปลกจริงๆ แปลกที่เราสามารถหักห้ามใจได้ หักห้ามได้หมดเลย คำว่า “หักห้ามใจ” อย่าไปเทียบข้างนอกนะ เทียบข้างนอกว่า “แล้วคนที่ยับยั้งได้ เขาไม่...เขาเป็นผู้ดี เขานิ่มนวล ทำไมเขาต้องทำถูกแล้ว”...ไม่ใช่ ความนิ่มนวลก็นอนอยู่นั่นน่ะ

หักห้ามอันนี้หมายถึงว่า หักห้ามกิเลส คนนิ่มก็หักห้ามแบบนิ่มๆ คนแข็ง คนแรง ก็หักแบบรุนแรง การหักอันนี้มันพอดีกับใจของทุกๆ ดวงที่ทำมาทั้งนั้น คือว่าพอดีไง สมควรแก่ธรรม มันหยุด ใช้คำว่า “หักห้าม” หักห้ามนี้หักห้ามด้วยมรรค ไม่ใช่หักห้ามแบบกดไว้อย่างนั้น ข้างนอกเขาหักห้ามด้วยการกดไว้เฉยๆ อันนี้หักห้าม ตัดขา มันจะประหารกิเลส มันจะหักห้ามอย่างไร มันจะเหมือนกับข้างนอกได้ที่ไหน ประหารนะ ต้องประหาร

การประหารกิเลส การชำระกิเลสด้วยกระแสของธรรม ด้วยธรรมจักร จักรภายใน มันหมุนอยู่ข้างใน มันประหารสิ พอมันประหาร มันทิ้ง มันก็ได้รสน่ะ รสนะ ทิ้ง ประหาร ทิ้ง มันเป็นนามธรรม กิเลสนี้เป็นนามธรรม เวลาธรรมจักรมันเกิด มันก็เกิดจากนามธรรม เพราะอารมณ์นี้เป็นนามธรรมไหม อารมณ์ที่เราหมุนขึ้นมานั่นน่ะ มันชำระเลย มันตัดเลย นั้นล่ะประหาร นั่นล่ะ อันนั้นถึงรู้จริง เพราะประหารปั๊บ มันจะขาด

ไอ้ที่เข้าไปรู้ เข้าไปจ่อมไว้นั้น มันไปรู้เท่า การรู้เท่านี้โดนกิเลสหลอก การปฏิบัติเข้าไป การทำสมาธิเข้าไป นี่มันออกแรงมากแล้ว มันล้าแล้ว เข้าไปถึงตรงนั้นไปเห็นความสงบแล้วออกมา นั้นมันว่ามันเข้าใจ กิเลสความจริงมันสงบตัวลง มันจะชนะรอบหลังไง มันบังเงาไว้

แต่ถ้าประหารด้วยการใคร่ครวญแบบนี้ มันขาด มันตายไปเลย อันนี้ถึงว่า การตกลงสินค้าแล้วซื้อขายกันขาดออกไป เราได้ผลประโยชน์กลับมา ได้เป็นผล ได้จากผลของการใช้มรรคนั้นประหารกิเลสของเราขาดออกไป อันนี้มันเป็นผลแน่นอน ไม่มีการแปรปรวน คงที่ มันก็ไม่อยู่ในกฎของอนัตตา เห็นไหม อันนี้ไม่อยู่ในกฎของอนัตตา

กฎของอนัตตานั้นคือการก้าวเดิน กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรม อกุปปธรรม ธรรมที่ไม่เสื่อมจากตรงที่ก้าวเดินแล้วเหยียบบันไดขึ้นไป เราก้าวเดินนี้ก็เหมือนกับเราย่ำไปบนอากาศ มันไม่มีที่สามารถจะพักเท้าได้ แล้วเราไปถึงจุดหนึ่ง มันมีบันไดขั้นหนึ่งให้เรายืน มันจะตกจากบันไดขั้นนั้นมาในอวกาศอีกเหรอ

ขานี้เดินในอากาศสิ เหมือนกับเราย่ำเดินอยู่บนอากาศ นั่นล่ะขณะย่ำเดินคือการที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่นี่ หัวใจกำลังไม่มีที่พัก หมุนเข้าไปๆ นั่นน่ะ มันยังเหยียบที่ไม่ได้ พอมันวิเคราะห์วิจัยจนเข้าใจแล้วมันปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง มันปล่อยวางตามเป็นจริง ขาดออกไปเลย นั้นล่ะมันก็ไปยืนอยู่บนบันไดที่มีที่ยืนแล้ว ไม่อนัตตา อันนี้พ้นจากอนัตตาออกไป มันไม่เสื่อม พอมันไม่เสื่อมมันก็เข้าใจตามความเป็นจริง

การเข้าใจตามความเป็นจริงเพราะไปรู้จริง ไปเห็นจริง ไปสัมผัสจริงๆ ความจริงของศาสนาถึงเป็นความจริง คำสอนนี้ถึงเป็นคำสอนที่จริง แต่เรามันปลอม เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ก็เลยลังเลว่าศาสนามีหรือเปล่า มรรคผลมีหรือเปล่า ถึงเข้าไม่ถึงกันนะ เข้าไม่ถึงก็ติดอยู่อย่างนั้นล่ะ คิดว่าการกระทำอันที่ทำกันอยู่นั้นเป็นศาสนา

ศาสนาจริงๆ ศาสนธรรมนี้เป็นทางเดิน ไม่ใช่ทำกันอย่างนั้นนะ ทำกันอย่างนั้นน่ะมันเป็นศาสนาอะไร ศาสนธรรมนี่ เพราะหัวใจนี้เป็นที่รอง ที่ลิ้มรสธรรม หัวใจนี้เป็นที่ลิ้มรสของธรรม มันถึงต้องเข้าให้ถึงความจริงสิ เข้าให้ถึงความจริง

มันถึงว่า กินมะม่วงเข้าไป พอผ่านนี้แล้วมันเข้าไปอยู่เลย จะไม่ต้องให้ใครมาบอกเลยว่า รสของมะม่วงนี้เป็นแบบใด แต่ถ้าเราไม่รู้ เราศึกษาทุกข์นั้นเลย แล้วก็มาเถียงกันอยู่อย่างนั้นน่ะ ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เราได้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แล้วก็เหมือนกับเรากินมะม่วงเข้าไปนั่นน่ะ ขณะนี้มะม่วงเข้าไปอยู่ในท้องของเราแล้ว เราก็จะรู้รสของมันทั้งหมด แล้วรู้ด้วยว่ามันเป็นประโยชน์กับร่างกายขนาดไหน ไม่เป็นขนาดไหน มันต้องขับสิ่งที่เหลือเป็นกากออกไป เหลือแต่วิตามินไว้ในร่างกาย

การพิจารณาจนปล่อยวางไปแล้ว เห็นไหม มันรู้เท่า รูป รส กลิ่น เสียง มันรู้เท่าหมด มันเอามาใช้เป็นประโยชน์ต่อไปนี้ เมื่อก่อนกินไม่รู้เรื่อง ต่อไปจนจิตมันเดินบนอากาศแล้ว พักอยู่บนขั้นบันไดแล้วนี่ คนมีหลักยืน คนมีหลักยึด คนมีหลักกับคนไม่มีหลักก็ต่างกัน หลักของใจมันมั่นคงแล้ว คนหลักมั่นคงมันก็ไม่ทำตัวเหลวไหลนะ แล้วจริงจัง มันยิ่งได้กินของจริงเข้าไปแล้วนี่ ของจริงที่เข้าไปอยู่ในใจของเราแล้วมันยิ่งจริงต่อไป ขณะอย่างนั้นแล้ว คนที่ผ่านอย่างนั้นถึงเป็นคนจริง ธรรมจริงๆ เห็นผลแล้ว จากการปฏิบัติแล้วยิ่งจะเอาให้มากขึ้นไปใหญ่ มันได้ลิ้มรสไปเรื่อยล่ะ เห็นคุณค่าไปเรื่อย มันก็ย้อนกลับมาดูนะ มันต้องย้อนดูไปดูกลับๆ

การประพฤติปฏิบัติมันจะมีการประสบความสำเร็จ มีอุปสรรค จะเห็นผิดเห็นถูก การทำแล้วได้ประโยชน์ การทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ การทำแล้วมันจะได้ตามความเป็นจริงบ้าง กิเลสมันหลอกให้มันหลงทางไปบ้าง สิ่งใดที่มักมาก สิ่งใดทำแล้วให้มันเฟื่องฟู...ไม่ใช่ การชนะที่ไม่ต้องชนะเลย เห็นไหม

แต่ก่อนที่จะไม่ชนะ ชนะโดยที่ว่าไม่ต้องออกแรง ก่อนที่จะอยู่เฉยๆ ชนะโดยที่ไม่ต้องสงคราม ก็โอ้โฮ! ต้องรบก่อน กว่าเราจะสงบกาย เห็นไหม กว่าเราจะหัดสงบกายได้ นั่งเป็นชั่วโมงๆ นี่มันเจ็บปวดไหม แล้วเราสงบใจลงไปอีก มันนิ่งไหม

ก่อนที่จะไม่รบ มันต้องรบมาก่อน รบแล้วมันก็ไม่ต้องรบ เหตุไหนถึงจะเป็นเหตุควรทำก่อน ควรทำหลังล่ะ ทุกขัง อริยสัจจัง สมุทัยอริยสัจจัง นิโรธอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจัง มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม...

...มันทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำไมมรรคอยู่หลังล่ะ ทำไมมรรคนี้ไม่อยู่หน้านิโรธล่ะ ต้องมรรคก่อนถึงจะนิโรธสิ

นิโรธให้สงบก่อนไง มรรคมันถึงหมุนกลับมา มันต้องเดินเรื่อยๆ ต้องหมุนเรื่อยๆ มรรค เห็นไหม มรรคหมุนกลับมา นิโรธคือพักก่อน พอนิโรธแล้วมันเป็นนิโรธอันหนึ่ง แต่มันต้องเดินต่ออีก มรรคยังมีอีก

อนัตตาๆ ไปดูแต่ข้างนอก อนัตตา เราไม่มอง เราไม่ย้อนกลับมาดูตัวของเรา เปรียบเทียบ เวลาเราเห็นพวกผลไม้มันเสียเร็วต่อหน้า เราสลดใจ เราเสียใจเลย แล้วเราก็ใช้ร่างกาย ใช้ชีวิตเราโดยที่ว่าไม่ได้เอาแก่นสาร ดูข้างนอกแล้วก็หันมาดูข้างใน ดูจากข้างนอกเข้ามา ดูผลไม้ข้างหน้ามันเห็นชัด ก็เหมือนดูกายนอก กายใน เห็นคนข้างนอกเขาทุกข์ เขาเจ็บ เขาร้อน ก็สลดใจบ้าง ดีใจบ้างไปกับเขา แล้วเราก็ปล่อยให้เวลาเสียเปล่าไปๆ ก็เข้าใจว่างานมันเป็นงานความจริง “เข้าใจว่า” ก็กิเลสมันหลอกเอานะ “เข้าใจว่า” มันไม่เป็นตามความเป็นจริงนี่ ลองได้ลิ้มรสของความจริงสิ ไอ้ความ “เข้าใจว่า” มันจะเข้าใจอย่างไร

ผู้ปฏิบัติหรือพระ พระด้วยนะ ยิ่งผู้ปฏิบัติมีศีลน่ะ งดเว้นทั้งหมด งดเว้นนะ ศีล ๘ เห็นไหม ไม่กินข้าวเย็น ไม่ฟังการร้องรำขับเล่น ก็ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ตัดแล้วมันไม่มีเหรอ คนที่ตัดรูป รส กลิ่น เสียง มันไม่กระทบรูป รส กลิ่น เสียงเลยเหรอ?

ตัดมี เพราะรูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นของประจำโลก พระองค์ไหนบ้างที่จะพ้น ไม่มีเสียง ไม่คุยกัน ไม่ใช้เสียงเลย ตัดแล้วก็ต้องกระทบอยู่ แต่ตัดด้วยกติกา ด้วยศีล แต่ถ้าปฏิบัติไปๆ ที่ว่า ความจริงๆ มันตัดข้างใน ข้างในมันตัดแล้ว

จากเริ่มต้นก่อนจะตัดไม่ได้ ก็เอาศีลนี้มาบังคับก่อน มันตัดไม่ได้หรอก ใจมันวอกแวก เอาศีลมาบังคับไว้ไม่ให้มันตัด มันหัดตัดจนมันตัดขาดจากข้างในน่ะ จิตมันปล่อย มันว่างอยู่ มันออกมานี่มันพร้อมกับความรู้สึก สติพร้อมเป็นอัตโนมัติ เห็นไหม ปล่อยมันก็ต่อ ดึงมันก็หยุด สติทันสิ สติทัน เห็นไหม เวลาจะคิดอะไร สติมันทัน มันบอกไม่ต้องคิด หรือว่าคิดแล้วไม่มีประโยชน์ หยุดทันที

หรือถ้าคนไม่รู้เรื่อง เวลามันคิดออกไป ใครมาเตือนเข้า อันนั้นไม่ดี ถ้าเห็นตาม เรายึด เรายั้ง หยุดทันที มันก็เห็นอยู่ ถ้าทำอย่างนี้ ถ้ามีสติยับยั้ง เราลองได้ อันนี้เป็นแบบว่าไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แต่ปฏิบัติถึงความจริงภายในแล้วน่ะ มันเตือนตัวมันเอง สติอัตโนมัติ มันเตือนตัวมันเอง มันพร้อม มันจะเตือนได้ เราต้องให้ผู้อื่นเป็นผู้เตือนผู้สอนตลอด มันจะถึงยับยั้งได้บ้าง

นี่ว่างข้างใน ตัดข้างใน ตัดออก จริงภายใน เราหาของจริงนี่ มรรคมี ผลมี พระพุทธเจ้าสอนตามหลักความเป็นจริง เพราะว่าก่อนจะสอนเข้าไปเห็นจริงแล้ว รู้จริงแล้วถึงได้มาสอน ผู้ที่รู้จริงเห็นจริงมาสอน เอาของปลอมๆ จากไหนมาสอน เราเป็นผู้ฟัง ผู้ติดตาม แล้วเราฟังของจริง แต่ใจมันเป็นของปลอม มันเชื่อปลอมๆ มันก็เข้าไม่ถึงใช่ไหม เครื่องส่งกับเครื่องรับมันจูนเข้าหากันไม่ได้ มันรับรู้เรื่องไม่ได้หรอก อย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง เครื่องส่ง เครื่องรับ ถ้ามันสมควรแก่กัน มันรับได้รู้เรื่องหมด

เรานักปฏิบัติก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทุกองค์ พอสำเร็จแล้วจะเป็นพยานให้พระพุทธเจ้าว่า อ้อ! มันเป็นอย่างนี้ทุกองค์ พวกเราปฏิบัติก็เหมือนกัน จิตเข้าไปรับรู้รสชาติอย่างใดก็แล้วแต่ มันจะเป็นพยานตามหลักความจริงนั่นน่ะ ทั้งๆ ที่ความจริงก็มีอยู่แล้วนะ แต่เราไม่สามารถเข้าไปรู้จริงได้ เราไม่สามารถเป็นพยานรู้จริงได้ พอเราปฏิบัติถึงจุดแล้ว ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน แล้วพูดความจริงได้เท่าที่ความรู้เรารู้นั่นล่ะ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี่ ผู้ใดรู้ลึกรู้ละเอียดเข้าไป จะรู้ชัดเข้าไปเรื่อยๆ แล้วจะสามารถชำระใจของตัวเองได้นะ ได้ผล ๒ อย่าง ชำระใจของตัวมีความสุขแล้ว ยังสามารถ เห็นไหม

พระพุทธเจ้าถึงได้สอนไว้ว่า ต้องทำตนของตนเป็นที่พึ่งของตนให้ได้ก่อน ประโยชน์ตนไง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้เห็นประโยชน์ของคนอื่นก่อน ให้เห็นประโยชน์ของตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ แล้วยังสอนผู้อื่นได้อีก เห็นไหม

ก็เหมือนว่า ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ฟังพระพุทธเจ้าสอน แล้วประพฤติปฏิบัติ สำเร็จแล้วเป็นพยานให้พระพุทธเจ้าด้วย แล้วยังสอนผู้อื่นต่อๆ กันมา ผู้ที่ปฏิบัติจริงสมควรแก่ธรรม สมควรแก่...เราปฏิบัติก็จริง นั่งก็จริง ทำก็จริง แต่มันไม่สมควร เรายังไม่รู้ตามความเป็นจริง ถ้ามันสมควรแล้วมันต้องรู้ตามความเป็นจริงของมันเด็ดขาด เหตุมันพอ ผลมันไม่มี เอามาจากไหน เหตุมันพอ ผลต้องมี เราก็ว่าเหตุเรามากแล้ว แต่มันไม่พอ

เพราะเราว่านี่ ขึ้นชื่อว่าเรานี่กิเลสมันหลอกมาแล้วชั้นหนึ่ง ขณะปฏิบัติ ไม่ต้องมีเรามีเขา ใส่เข้าไปแต่ความเพียรอย่างเดียว ความเพียรนี้ใส่เข้าไปเลย มรรคผลรออยู่ข้างหน้า ขาดเฉพาะความเพียรของเราเท่านั้น ธงปักอยู่ข้างหน้า เราเดินเข้าไปหาธง เราหยิบธงได้ เห็นธงอยู่ลิบๆ แต่เราเดินเข้าไปไม่ถึงสักที ตำราสอนอยู่ เห็นไหม ศาสนธรรมบอกอยู่ลิบๆ แต่เราก็เดินเข้าไปไม่ถึง แล้วพอเข้าไปไม่ถึงก็เห็นธงนั้นลางเลือนลงเรื่อยๆ

เวลาเราทำงานเหนื่อยสิ ตาลาย พอเริ่มตาลายนะ การปฏิบัตินี้ พอทำแล้วเพลีย ทำแล้วเครียด ทุกอย่าง แล้วจะตั้งเป้าหมายไว้ผิดแล้ว ทำให้ปลอดโปร่ง ทำให้โล่งให้หมด ไม่ต้องหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจิตนี้มันจะเข้าลงตรงกลางของมันเท่านั้น เพราะภาชนะของธรรมไง จิตนี้มันเป็นตัวกลางอยู่แล้ว ไอ้ที่ทำให้ยุ่ง คือความคิด คืออารมณ์โลกทั้งนั้น ปล่อยออกทั้งหมด มันจะเข้าพอดี ปล่อยออกทั้งหมด

ทีนี้ปล่อยออก คำว่า “ปล่อยออก” ปล่อยออกอย่างไร ปล่อยออกมันจะพอดีอย่างไร ปล่อยออกมันก็ร่วงสิ มันเป็นนามธรรม จะร่วงไปไหน การปล่อยออกๆ ก็คือการปล่อยความรู้สึกออก ปล่อยความนึกคิดออก มันจะเป็นตัวของมัน เพราะจิตนี้มันอาศัยสิ่งที่ว่านั้นเป็นตัวแสดงตัวเท่านั้น เราไปเสวย มันไปกินเข้า มันไปอาศัยอารมณ์นั้นแสดงตัวออกมา เราปล่อยออกให้หมดๆ ให้มันเป็นตัวของมันเอง นั่นคือพุทธะ

เพราะความไม่เข้าใจ ความเลินเล่อ ความเผอเรอ ความว่าคิดว่า จับอันนั้นจะถูก จับอันนี้จะถูก ถึงว่าถ้าไม่เป็นเลยต้องใช้คำบริกรรม กลับมาที่คำบริกรรมเลย พุทโธๆๆ พุทโธไว้เลย อาศัยคำบริกรรมแทนกับไอ้สิ่งที่ว่าเสวยในใจอารมณ์ทั้งหมด เอาอันนี้มาเป็นจุดเด่น สิ่งที่มันจับปล่อยๆๆ มันพร่ำเพรื่อ มันไม่รู้เรื่อง คือว่าเอาพุทโธนี้มาเป็นจุดเด่น

ถนนมีทุกสาย เห็นไหม ซอกซอยเต็มไปหมดเลย...ไม่ไป ไปสายเมน ไปสายเมนก็กำหนดพุทโธๆ ไว้นี่แหละ มันลงตรงนั้น กำหนดสายเมนไว้เลย ต้องจับให้อยู่ด้วยนะ เรากำหนดว่าจะไปสายเมน แต่เวลาไปจริงๆ แล้ว มันไปไม่ถึง แวะลงข้างทางหมดเลย พอแวะลงข้างทางก็โทษแล้ว “ศาสนามีจริงหรือเปล่า ว่าผลมีๆ มันอยู่ตรงไหน ทำมาเกือบเป็นเกือบตายไม่เห็นเจอสักที” เห็นไหม โทษแล้ว เพราะเราแวะข้างทางต่างหาก เราไม่เดินตรงไปตรงนั้นนี่ เราทำแล้ว เราไปไม่ถึงจุดนั้น แล้วเราก็ไปโทษว่าจุดนั้นไม่มี

ความคิดของใจมันหลอก ความคิดของใจน่ะ ของจริงมันมีอยู่ แต่ความปลอมมันหลอก เห็นไหม ความปลอมในใจมันสอน ความปลอมในใจมันเสี้ยม ถ้าเราพุ่งไปถึงเป้ามันก็จะถึงเป้า มันไม่ให้ถึงล่ะสิ มันกลัวไปเห็น แล้วกลัวจะติดใจ กลัวเราจะทำอีก นี่กิเลสมันยับยั้งอย่างนั้น กิเลสมันหลอกอย่างนั้น มันเสี้ยมอย่างนั้น เพราะการปฏิบัตินี้มันเพื่อชำระกิเลส การปฏิบัติเป็นการต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันก็ต้องสอยเอาน่ะสิ กิเลส ความรู้สึกนี้มันต้องสอย มันต้องยับยั้ง มันต้องต่อต้าน

พระพุทธเจ้าถึงได้สอนว่า กิเลสเท่านั้นที่มันชนะทุกคน มันอยู่เหนือทุกๆ คน อยู่เหนือโลกทั้งหมด แล้วก็มีธรรมะเท่านั้นเหมือนกันที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะมันหักเข้ามาที่หัวใจ หักเข้ามาที่ว่ารังโจร รังของมัน รังของเจ้าวัฏจักร ธรรมดาของผู้อื่นมีแต่วิ่งออกไปหา คือว่ากลับมาให้เจ้าวัฏจักรเป็นคนไสออกไป วิ่งหาออกไป ๓ โลกธาตุ เลยหามันไม่เจอ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนว่า ให้หักกลับมาหาที่รังของมัน หาที่จุดต้นตอของการที่มันเสี้ยมออกมา มันถึงจะเห็นหน้ากิเลส มันถึงว่าไม่ให้เราเข้าไปเห็นหน้ามัน ถึงได้ไสให้เราออกนอกลู่นอกทาง มันกลัวจะไปรู้ไปเห็นมัน มันกลัวจะเห็นไปถึงจุด ถึงรากเหง้าของมัน นี่ถึงว่ามีศาสนาพุทธเท่านั้นนะ ศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะว่าเข้าไปถึง...

อย่างเช่นภูเขา มันมีถ้ำใช่ไหม ภูเขานี่ในถ้ำ ถ้ำนั้นเป็นที่อยู่ของเสือโคร่ง เสือใหญ่ กิเลสมันอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเป็นทางอื่นนะ เป็นทางศาสนาต่างๆ จะสอนว่า มีภูเขา ภูเขานั้นคือที่พักที่อาศัย ที่ยอดเยี่ยม คือทำใจสงบไง ทำใจให้สงบ ทำใจให้สบาย ทุกศาสนาสอนหมด ทำให้จิตเป็นหนึ่ง ทำให้ใจเป็นอาตมัน ทำให้ใจนี้ไปอยู่กับพระเจ้า ทำใจให้เรียบร้อย

แต่ศาสนาพุทธเรา ทำใจสงบแล้ว ต้องรื้อค้นหากิเลส ทุกคนทำใจให้สงบ ทำใจให้ถึงเป็นหนึ่ง เป็นอาตมัน นั่นล่ะเป็นภูเขา เข้าไปอยู่ที่ภูเขานั้นเท่านั้น แล้วก็ไปนอนตายกันตรงนั้นหมดเลย แต่มันต้องค้นลงไปในถ้ำนั้นอีกล่ะ แล้วเข้าไปในถ้ำ ยังจะมีเสืออยู่ในถ้ำนั้นอีก จากภูเขาทั้งภูเขา เห็นไหม มันร่มรื่น มันเย็นไปหมด เขาไปนอนกันตรงนั้นหมดเลย

แต่เราชาวพุทธเข้าไปถึงนั้นแล้วยังต้องแสวงหาว่า ถ้ำมันอยู่ที่ไหน ถ้ำเขาปิดอยู่ ปากถ้ำเขาปิด เหมือนภูเขาเป็นหินดานไปหมดเลย ไม่มีร่องรอยเลยว่าตรงไหนมันเป็นช่อง เป็นปากประตูถ้ำ นั้นมันถึงได้เพลิดเพลินกันไง...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)