เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ต.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันแล้วแต่ทำนะ เราประพฤติปฏิบัติธรรมกัน เราศึกษาธรรมกัน เราคิดว่าเราจะทำได้ แล้วเราตั้งเป้าหมาย ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วปฏิบัติธรรมนี่เข้าใจเลย เห็นเลยว่าช่องทางนี่จะไปได้ คิดว่าตัวเองจะไปได้ แล้วพยายามจะทำอยู่แล้วมันทำไปไม่ได้นี่ คนเราพยายามตั้งเป้าหมายไง ตั้งเป้าหมายทำคุณงามความดี แล้วพยายามก้าวให้ถึงเป้าหมายนั้น มันทำได้ยากมาก ยากมากเพราะว่าความขับไสของใจ

ดูสิ ดูอย่างพระอรหันต์นี่นะ ในพระอภิธรรมเขาบอกเลย พระอรหันต์นี่ จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องสร้างบารมีมา ๑ อสงไขย แสนกัป ทีนี้เราคิดว่าตรงนี้มันเป็นอำนาจวาสนาบารมี มันส่วนการกระทำมา เราก็ทำของเราไป ถ้ามันทำได้นะ ถ้าเราทำของเราได้ เราปฏิบัติของเราได้ มันการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันไม่สมหวังเราก็พยายามสะสมบารมีของเรา สะสมบารมีของเราเข้าไปถึงจุดหมายปลายทางได้

ถ้าเราคิดว่าทำตรงนั้นไม่ได้แล้ว ทำไมเราทำไม่ได้? แล้วเราทำแล้วไม่สมประโยชน์ มันต้องสมประโยชน์ ปัจจุบันนี่เราพยายามประพฤติปฏิบัติ มันไม่มีอะไรจะดีไปกว่าศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา สิ่งต่าง ๆ ทำบุญกุศลขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลาถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องมาจบกันที่การภาวนา ถ้าไม่จบกันที่การภาวนา ปัญญาไม่ชำระกิเลส จิตมันบริสุทธิ์ไปไม่ได้

จิตนี้จะบริสุทธิ์ไปได้ด้วยปัญญาพร้อมกับสัมมาสมาธิ เป็นมรรคอริยสัจจัง ชำระกิเลสได้มันต้องใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญาก็เราศึกษานี่แหละ เราศึกษาแล้วเรารู้กันนี่เป็นสุตะ สุตมยปัญญาคือการศึกษาจากของครูบาอาจารย์ แล้วพระไตรปิฎกนี่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันนี้เป็นความหมาย เป็นเหตุที่ให้พวกเราก้าวเดินตาม

แต่ความเป็นจริงคือว่า สิ่งที่เป็นพระไตรปิฎกนี้ทั้งหมดชี้เข้ามาที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ตรัสรู้ธรรมที่หัวใจ สรรพสิ่งนี้ชี้เข้ามาที่ใจ เราอ่านเข้ามาก็เหมือนกัน แล้วมันต้องชี้เข้ามาที่ใจ แต่พวกเราอ่านกันแล้วนี่ ธรรมดาของความคิดเราเลย อ่านแล้วเราต้องตีความ พอตีความนี่มันออกนอกหมด

สิ่งที่มันออกนอก มันไม่เข้าข้างใน ถ้ามันออกนอกไป สุตมยปัญญามันถึงเป็นอย่างนั้นไป มันถึงต้องทำความสงบ เห็นไหม จินตมยปัญญา เรามาคิดว่า “เอ๊...ทำไมเราทำแล้วมันไม่ได้ผล? มันเป็นเพราะเหตุใด?” จินตมยปัญญานี่ความใคร่ครวญ แบบนักวิทยาศาสตร์ แบบนักวิชาการ เราคิดใคร่ครวญเข้ามามันจะเป็นจินตมยปัญญา มันก็หมุนเวียนขนาดนั้น มันไม่เข้าถึงว่าถ้าเป็นภาวนามยปัญญาต้องทำความสงบของใจเข้ามา มันถึงจะเป็นใจดวงนั้น

แล้วมันละเอียดอ่อน ความที่ละเอียดอ่อนนะ ภาวนามยปัญญานี่ทุกคนไม่เคยเห็น สิ่งต่าง ๆ เราอธิบายเรื่องภาวนามยปัญญานี่คนอธิบายไม่ออก คนอธิบายไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันไม่เคยเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าใครเห็นสภาวะแบบนั้นโดยสมบูรณ์ อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน สิ่งที่เป็นพระโสดาบันเพราะว่าภาวนามยปัญญามันสมบูรณ์แบบขึ้นมา นี่มันจะสมุจเฉทปหาน มันจะเป็นสามัคคีรวมเข้าไปแล้วชำระกิเลสออกไปจากใจ สิ่งที่คนเห็นภาวนามยปัญญาอย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป จะเห็นปัญญามันหมุนเข้ามาจากภายใน แล้วชำระกิเลสออกไป นี่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมาภาวนาไง

ฉะนั้น ถ้าเราทำภาวนาขึ้นมาตั้งแต่บัดนี้ เราสร้างสมบารมีนี่มันเป็นสุดยอด สุดยอดของหลักการ สุดยอดของการสร้างบุญกุศล สร้างบุญกุศลนี่สุดยอดของมันคือการภาวนา ถ้าเราทำภาวนาแล้วนี่มันจะไม่สมประโยชน์ มันไม่สมหวังของเรา ที่มันไม่สมหวังเราก็สะสมเข้าไป เราพยายามสร้างสมของเราขึ้นมา เราพยายามภาวนาขึ้นมา ตรงนี้มันสะสมขึ้นมา

ปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ไง นี่อามิสบูชา สิ่งที่เราบูชากันนี่เป็นอามิสบูชา สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็พอทำได้ แต่การปฏิบัติบูชาอย่างนั้นประเสริฐที่สุด เพราะการปฏิบัติบูชานี่บูชาใจของเราด้วย เพราะใจของเราจะเป็นพุทธะไง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราบูชาใจของเราเอง ใจของเรานี่จะเป็นพุทธะ จะเป็นผู้ตื่นขึ้นจากกิเลส จะเบิกบานจากความสุขในหัวใจ นั่นน่ะบูชาใจเราด้วย แล้วบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เริ่มต้นเราต้องเอาตรงนั้นมาเป็นคติตัวอย่างก่อน เราทำไม่มีกำลังใจของเรา เราก็บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์ยากขนาดไหนนี่เอาเป็นคติ เอาเป็นตัวอย่าง เอาเป็นสิ่งที่เราจะก้าวเดินตาม ถ้าสิ่งนั้นเป็นก้าวเดินตามได้ เราทำตามสิ่งนั้นไปนี่บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะเป็นกุศลอย่างมาก

แล้วบุญกุศลก็ย้อนกลับมาที่เรา เห็นเหมือนกัน เห็นไหม การทางโลกเขา การทำอุทิศส่วนกุศลนี่อุทิศเพื่อคนอื่น ๆ มันเพื่อเราทั้งหมด การทำต่าง ๆ สาธารณะประโยชน์นี่เพื่ออะไร? เพื่อใจดวงนั้นจะขึ้นมาเป็นพระอินทร์ มีคนเขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไงว่า “พระอินทร์นี้มีจริงหรือเปล่า?” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อย่าว่าแต่พระอินทร์มีจริงหรือไม่มีจริงเลย แม้แต่เหตุเกิดพระอินทร์ก็ได้”

การสร้างถนนหนทาง การทำศาลาที่พักร้อน การให้น้ำให้ท่ากัน การให้เป็นสาธารณะนี่ ส่วนนี้จะสร้างให้เป็นพระอินทร์ สิ่งที่เป็นพระอินทร์นี่สร้างสมขึ้นไปเป็นเหตุ เหตุสะสมขึ้นไป นั้นคือการอามิสบูชา แล้วเราปฏิบัติบูชานี่มันยิ่งกว่าเป็นพระอินทร์นะ มันบูชาใจของเรานี่ มันขุดใจของเรา มันดึงใจของเรามา

ใจของเรานี่เวลาเราทุกข์ยากปฏิบัติก็ไม่สมความปรารถนา ทำสิ่งใดก็ไม่สมความปรารถนา มันก็กำลังท้อถอย กิเลสมันขับไส นี่มันยากมันยากตรงนี้ ยากตรงกิเลส กิเลสมันพยายามผลักออกไป แล้วมันมีเหตุมีผลของมันนะ เวลาถ้าไปเทียบเคียงเหตุผลของมันนี่ มันว่าต้องทำสิ่งนั้น วาสนาเรายังไม่ถึง เราก็สะสมบารมีไปก่อน แล้วสะสมบารมี ไปสะสมบารมีอย่างหยาบทำไม ทำไมไม่สะสมบารมีอย่างละเอียด

อย่างการปฏิบัติบูชานี่ มันทุกข์ยากขนาดไหนก็ปฏิบัติบูชา เพราะเราบังคับใจของเรา เริ่มต้นจากบังคับจากข้างนอกเข้ามา เริ่มจากความเข้าใจเข้ามา ถ้าเราไม่มีความเข้าใจของเรานะ ไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ มันจะเริ่มปฏิบัติไหม? มันจะเริ่มฝืนตัวเองไหม? ถ้ามันไม่ฝืนตัวเอง มันก็ไม่ได้ฝืนสิ่งใดเลย ถ้าฝืนสิ่งใด ฝืนเราคือว่าไม่ให้กิริยามันเป็นไปอย่างนั้น นั่งสงบ ๆ นี่นั่งสมาธิภาวนา มันไม่ต้องไปตามการประพฤติปฏิบัติของกาย

กายมันสงบเข้ามาแล้ว แต่ใจยังไม่สงบขึ้นมา เราก็พยายามดัดแปลงใจของเรา สงบขึ้นมานี่ ย้อนกลับเข้ามาที่ใจของเรา ทำใจของเราสงบเข้ามา ๆ นี่บูชาตนเองไง บูชาใจของเรา เราจะเห็นใจของเรานะ เวลาจิตสงบเข้าไปมันจะมีความสุข มีความสุขจริง ๆ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีจิตเป็นสมาธินี่มันเป็นเครื่องอยู่ มันพอใจนะ มันพอใจในการประพฤติปฏิบัติ มันจะพอใจในตัวเราเองว่า “อ้อ...เราก็ทำได้ เราก็มีเครื่องดำเนิน” เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง

รสของธรรมมันจะยึดมั่นถือมั่น มันจะยึดในหัวใจนะ สิ่งนี้ยึด กิเลสพายึด เวลาธรรมมันเกิดนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ธรรมเกิด” นี่ธรรมมันเกิด แต่ครูบาอาจารย์บอกว่า “กิเลสมันเกิด” เกิดเพราะอะไร? เพราะความยึดอันนี้ เวลาเราปฏิบัติเราก็คาดหมายสิ่งนี้ อยากได้สิ่งนี้ ตั้งใจให้ได้สิ่งนี้ นั่นน่ะกิเลสมันพาไป จนต้องปล่อยวางไง ทำสักแต่ว่าทำ ทำให้มันเป็นไป แต่ตั้งเหตุของเราขึ้นมานะ ไม่หวังผลขึ้นมา แล้วผลมันจะเป็นตามความเป็นจริง

ตามความเป็นจริงเพราะเราปฏิบัติของเราตามเหตุตามผล เหตุผลนั้นจะลงตัวกันพอดี เหตุและผลนะ ธรรมฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายผล ธรรมฝ่ายผลเกิดจากเหตุนั้น เหตุที่เราประพฤติปฏิบัติ เหตุที่เราดัดแปลงตน นั่นน่ะเหตุเราสร้างสมขึ้นมา แล้วปัญญามันก็เกิดขึ้นโดยความที่เราส่งเสริมขึ้นไป “อ๋อ...ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้เอง” เป็นอย่างที่ว่ามันใคร่ครวญในสติปัฏฐาน ๔ มันใคร่ครวญตามความเป็นจริง

สิ่งนี้เป็นอนิจจังโดยความเป็นจริง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นจริง โดยอกาลิโก จริงโดยสุดส่วน จริงโดยเมื่อไหร่ก็จริง จริงอยู่อย่างนั้นตลอดไป แต่เพราะความยึดมั่นถือมั่นของกิเลส มันถึงว่าสิ่งนั้นรู้ตามความคาดหมายไง แล้วยึดด้วยนะว่า “เรารู้จริง ๆ” มันกลัวว่าเราจะไม่รู้ ถ้ามันกลัวเราจะไม่รู้นี่ มันไม่รู้อะไรเลย มันต้องปล่อยวางสิ่งนั้น ปล่อยวาง รู้การปล่อยวางไง ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ เห็นไหม มันปล่อยวางแล้วยังมีตัวรู้อีกตัวหนึ่ง รู้ว่า “อ๋อ...มันปล่อยวางไปแล้ว”

สิ่งนี้ปล่อยวางไปแล้ว นั่นน่ะมันเป็นการปล่อยวางกิเลสออกไป อันนี้เป็นภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากภายใน สะสมขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา นี่บูชาเรา จะเห็นใจของเราหนึ่ง เห็นใจของเราปล่อยวางกิเลสออกไปหนึ่ง เห็นหมดเลยนะ เห็นใจของเราเห็นจากสมาธิ จิตมันสงบขึ้นมา มันเป็นสมาธิขึ้นมามันก็จับต้องสิ่งใดได้ มันพยายามภาวนาขึ้นมายกขึ้นวิปัสสนา แล้วมันวิปัสสนาใคร่ครวญจนเกิดภาวนามยปัญญา นั่นน่ะบูชาใจของเรา

บูชาใจของเราด้วยการประพฤติปฏิบัติ บูชาด้วยพร้อมกับชำระกิเลสไปด้วย เชือดเฉือนกิเลสออกไปจากใจ มันต้องหลุดออกไปจากใจด้วยอำนาจของธรรม นั่นน่ะปฏิบัติอย่างนั้นแล้วมันจะสมกับว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เราถึงว่าเราต้องพยายามสะสมของเรา พยายามก้าวเดินของเราขึ้นไป มันจะทุกข์ยากขนาดไหนมันเป็นเรื่องของกิเลสมันขับไส กิเลสมันไม่พอใจจะให้ทำหรอก เรื่องการจะไปชำระมันจะไปฆ่ามันน่ะ กิเลสมันต้องต่อต้านแน่นอน สิ่งที่ต่อต้านนั้นคือกิเลส

แล้วสิ่งที่ธรรมมันเกิดขึ้นมานี่ เป็นธรรมของที่เราสร้างสมขึ้นมา ธรรมอันนี้ก็ไปชำระกิเลส ชำระความเคยใจ ใจมันเป็นความสะสมขึ้นมาในหัวใจ นั้นคือปฏิบัติบูชาแล้วมันจะปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมจะได้ผลของการประพฤติปฏิบัตินั้น อย่างน้อยใจต้องสงบขึ้นมาก่อน สงบขึ้นมาแล้วพยายามฝึกฝนนะ ฝึกฝนการวิปัสสนา การเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติเท่านั้นจะรู้จักภาวนามยปัญญา แล้วจะรู้จักจากเราขึ้นมา นั่นน่ะเป็นปัจจัตตัง เป็นสมบัติของเรา

ธรรมะของเรา กิเลสก็กิเลสของเรา เวลาทุกข์นี่เราทุกข์ของเราขึ้นมา ทุกข์ยากเดือดร้อนในหัวใจ เวลาสงบเย็นขึ้นมามันก็สงบเย็นขึ้นมา คนอื่นไม่รู้อะไรกับเราหรอก เราต้องเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนชำระกิเลสในหัวใจของเราแล้วนี่ กิเลสในหัวใจสิ้นออกไปจากใจ ใจมีความสุข แล้วมันจะมีความสุขในหัวใจของเรา

ใจมันจะบูชาใจตัวนี้ไง บูชาใจที่มันสะสม มันดัดแปลงแล้ว มันจะสมความปรารถนาของมัน นั่นน่ะสมประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้ผลก็ให้ปฏิบัติไปก่อน แล้วมันจะได้ผลไปเรื่อย ๆ ได้ผลไปเรื่อย ๆ เราฝืนตนไป ถ้ากิเลสมันออกหน้านะ มันก็อย่างที่ว่าน่ะ เรายังสะสมบารมีไม่พอ แล้วทำอยู่นี่ไม่สะสมบารมีมันเป็นอะไร?

มันเป็นสะสมบารมี แต่มันคาดหมายไปไง คาดหมายไปในธรรม ไม่ได้คาดหมายในปัจจุบันนั้น นั้นเป็นเรื่องของกิเลส ถึงอย่าเชื่อมัน ให้เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะประสบผลสำเร็จตามความเป็นจริง เอวัง