เทศน์เช้า

กฐินวัดสันติธรรมาราม

๒๓ ต.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เดี๋ยวจะทำพิธีขอขมา ขอขมาพระรัตนตรัยเลย ระตะนัตตะเยนี่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่ามีพระมีโยมมาหาหลายคนนะ เขาบอกว่า “เขาเคารพครูบาอาจารย์มากเลย แต่เวลามันคิดไปนี่ มันจะมีอะไรขึ้นมาในหัวใจ มันคิดอะไรแปลก ๆ” แล้วก็บอกเขาควรทำอย่างไร? เขาเคารพครูบาอาจารย์มากนะ แต่เขาคิดขึ้นมานี่ เขาคิดติเตียน คิดอะไร เพราะคิดอย่างนั้น เราก็บอกให้ขอขมา ทำพิธีขอขมาเสีย ให้ขอขมาแล้วจะได้ทำใหม่ เขาบอกว่าเขาเคารพครูบาอาจารย์ แล้วมีหลายคนพูดอย่างนั้น

อันนี้จะพูดถึงว่าเรื่องของกิเลสไง เรื่องของความคิดนี่มันแบบว่าเราควบคุมมันไม่ได้ ถ้ามีอะไรผิดพลาดนี่ เราถึงว่าเราอยู่ภาคอีสานมา เวลาออกพรรษาเขาพาขอขมา เราถึงว่าเราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์เราถึงให้พาขอขมา เพื่อแก้ไขของเรา ถ้าเราคิด มันตุกติกในหัวใจขึ้นมา ไอ้สิ่งนี้มันแก้ไขไม่ได้ แล้วมันแก้ไขไม่ได้มันก็ตกผลึกในหัวใจเรา แล้วเราก็เศร้าหมองไง เราขอขมาเสีย ปลดเปลื้องสิ่งนี้ออกไป ถ้าปลดเปลื้องสิ่งนี้ออกไปแล้วมันขอขมาไป มันพ้นออกไปไง

เรื่องของกิเลสมันเป็นเรื่องของความสุดวิสัย มันเรื่องของการควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมไม่ได้แล้วจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราไม่ได้แก้ไขมันก็สะสม มันก็หมักหมมไว้ในหัวใจเรา แล้วเราก็เศร้าหมอง ๆ ไป ถึงว่าเหตุที่เราทำ เราทำเพราะเหตุนี้ เหตุว่าที่ทำขอขมา ๆ เพื่อความสบายใจของเรา เพื่อความแบบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นมาให้มันหมดสิ้นกันไป ไม่ต้องมาตกผลึกในหัวใจ นี่มโนกรรมไง

กรรมในหัวใจ กรรมอันละเอียดที่มันไม่สามารถแก้ไขได้ เราไม่สามารถแก้ไขได้ แล้วมันก็หมักหมมไปในใจ ถ้ามันแก้ไขได้ เราพยายามแก้ไขของเรา แก้ไขของเราให้มันจบสิ้นไป ฉะนั้นถึงพาทำนะ นี่เหตุผลมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าเราขอขมา ขอขมาเพื่อเหตุนี้ ขอขมาเพื่อเรา ขอขมาเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของใจ แล้วถ้ามันทำได้ก็ให้ทำ ตั้งใจนะ เดี๋ยวพาแล้วตั้งใจทำเลย ให้ตั้งนะโมก่อน

**************************************************************

มันเป็นบุญกุศลนะ พูดให้ฟังหน่อยหนึ่งว่าวันนี้เป็นวันทอดกฐิน วันทอดกฐินนี่เป็นบุญกุศล บุญกุศลนี่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา สอนเรื่องทานเป็นพื้นฐาน การทำทานการทำบุญกุศลทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ อันนั้นเป็นทานส่วนหนึ่ง ในการให้ทานนั้นให้ทานไปเพื่อบำรุงหัวใจของเรา หัวใจของเรานะต้องกินบุญเป็นอาหาร

ร่างกายกินข้าวทุกวัน แต่หัวใจของสัตว์โลกไม่ได้กินบุญเป็นอาหารเลย เราปล่อยหัวใจกันให้เศร้าหมอง ให้มีความเดือดร้อนในหัวใจ อยากจะมีความสุข คนเกิดมาทุกคนอยากจะมีความสุข ปรารถนาความสุขแต่ไม่สมความปรารถนาเพราะว่าหาความสุขไม่ถูกที่ ถ้าหาความสุขถูกที่ต้องหาลงมาที่ใจ ในหัวใจของเราถ้ามันสงบขึ้นมาแล้วนี่มันปล่อยวางทุกอย่างแล้วมันจะมีความสุข หาตรงนี้! ตรงนี้เกิดขึ้นมาเพราะเหตุไร?

ตรงนี้เกิดขึ้นมาเพราะการเจตนาให้ ผู้ให้เป็นผู้ได้รับ ผู้ได้รับนั้นจำเป็นต้องเป็นผู้ทุกข์ยาก ผู้ทุกข์ยากคือว่าต้องรับส่วนของเขา ผู้ให้ให้ของเรา เรามีบุญกุศลเราถึงมีความสามารถให้เขาได้ ถ้าเรามีความให้เขาได้นี่เขาได้รับจากเราไป เขามีความสุข เขาพอใจ เขาได้พึ่งพาอาศัยจากเรา เขามีความยินดีกับเรา เขาอนุโมทนากับเรา ผู้ให้เป็นผู้ได้รับ ได้รับบุญกุศลอันนี้เป็นพื้นฐาน นี่ใจกินอย่างนี้เป็นอาหาร

ถ้าเรามีอย่างนี้ให้หัวใจเราได้กินบ่อยครั้ง ๆ เข้า มันเป็นทาน ทานอย่างนี้ทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ มีโอกาสด้วยการทำทานตลอดไป ทานเห็นไหม ทำบุญตักบาตรพระนี่ได้ทุกวัน แต่บุญการทอดผ้าป่าเราก็ต้องรวมกัน รวมเพื่อจะได้ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนจะได้ทอดผ้าป่า ยิ่งเป็นกฐินนี้ยิ่งเป็นยากเข้าไปใหญ่ นี่บุญอยู่ตรงนี้ไง

เหตุที่จะได้ทอดกฐินเพราะต้องเป็นวินัยกรรม วินัยกรรมบัญญัติเอาไว้ว่าต้องสงฆ์จำพรรษาครบ ๕ รูปขึ้นไป ๔ รูปขึ้นไปเป็นสงฆ์แล้วแต่จะให้กฐินนี้มันสวดยกให้กันไม่ได้ เพราะในวงของสงฆ์นั้นต้องสามัคคี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกานี่ได้ส่วนร่วมในหลักของศาสนาก็วันนี้ วินัยกรรมนี่

ถ้าเป็นวินัยกรรมนะ ธรรมและวินัยนี้องค์ศาสดาฝากไว้ให้พวกเรา ธรรมและวินัยนั้นคือคำสั่งสอน คือวินัย คือข้อบัญญัติ การวินัยกรรมก็บัญญัติขึ้นมาแล้วเราได้ทำบุญกุศลร่วมกับวินัยกรรมนั้น เหมือนกับเราได้ทำบุญในเนื้อนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยังได้ทำบุญยกเว้นด้วย พระจำพรรษาแล้วรับกฐินแล้วจะไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือผ้าครอง มันเป็นยกเว้นวินัยให้ นั่นน่ะสงฆ์ได้จำพรรษาแล้วครบวินัย

แล้วมันต้องเป็นวินัยกรรม ต้องสงฆ์ทำด้วย ต้องมีการบอกกล่าว ต้องยกให้ ยกให้กับผู้ที่ฉลาด การตัดเย็บอยู่นั้นผู้ที่ได้กรานกฐิน ตั้งแต่ว่าเริ่มกะ เริ่มเนา เริ่มเย็บ เริ่มย้อม อันนี้เป็นอานิสงส์ของกฐิน เพราะเป็นความสามัคคี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ต้องมีความสามัคคีกัน หลักศาสนาถึงเจริญไง เราทำบุญทำทานกันเราก็ทำของเราตามประสาของเราไป

ทำบุญทำทานเราไม่เข้าใจเรื่องหลักของศาสนา เราไม่มีกรอบไง คนเราไม่มีกรอบไหลไปตามความเห็นของตัว ความเห็นของตัวจะคิดอย่างไรมันก็ไหลตามสิ่งนั้นไป ไหลตามว่าเราทำตามกิเลสของเรา เราเป็นคนให้ เราเป็นคนความพอใจ เราจะทำอย่างไรก็ได้ เป็นผู้ให้นะ ศรัทธาไทย ผู้ที่มีความศรัทธานั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐคือการสละออกมาให้ทาน เหมือนที่บอกเมื่อกี้นี้ว่าถ้าเราสละทานออกไปแล้วมันจะได้บุญกุศลเข้ามาในหัวใจ ในหัวใจเราได้ดื่มกินสิ่งนี้

สิ่งที่เป็นบุญกุศลของเรา เราได้ดื่มกิน แต่สิ่งที่ดื่มกิน เห็นไหม ของเรานี่ทาน ศีล ภาวนา ความหยาบ ใจของคนหยาบ ๆ ก็ทำได้หยาบ ๆ ใจของคนละเอียดก็ทำสิ่งที่ละเอียด ใจของคนละเอียดสุดก็ทำได้ละเอียดสุด บุญกุศลทุกคนแสวงหา เราทานอาหาร อาหารที่ว่าวันนี้เรากินทุกวันเราก็เบื่อ เราอยากได้อาหารที่ดีขึ้นไป

สิ่งที่เป็นอาหารดีขึ้นไปเราก็ต้องแสวงหา แสวงหาสิ่งใด โอกาสของเราอยู่ตรงนี้ การทอดกฐินปีหนึ่งได้หนเดียว การทำบุญกุศลทำได้ทุกวัน ทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่ากรานของกฐินได้ในหนึ่งเดือนนั้น แล้วในหนึ่งเดือนนั้นได้ครั้งเดียว ได้รับหนเดียว นี่มันถึงว่าเป็นสิ่งที่มันเป็นบุญกุศลตรงนี้ขึ้นมา แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำยาก เราถึงได้ทำบุญกุศลตรงนี้ เพื่อหัวใจของเรา เพื่อความเห็นของเรา

ถ้าเราทำสิ่งนี้ขึ้นมานี่มันเป็นความว่าทำได้ยาก แต่เพราะเราเป็นชาวพุทธ เหมือนกับว่าการฟังธรรมนี้เป็นการฟังได้ยาก เราเปิดวิทยุเราได้ยินทุกวัน ๆ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากบุญกุศลนะ เรามีบุญกุศลเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา มันมีถึงว่าเปิดวิทยุมันถึงได้ฟังธรรม ธรรมนี้ได้ฟังแสนยาก เพราะคนที่จะอธิบายธรรมนี่ไม่มีความรู้ในหัวใจจะเอาอะไรมาอธิบาย ความเห็นพูดไปเป็นสัญญา ความสัญญานี่เปิดเครื่องเสียง เสียงให้ฟังเสียงไพเราะยิ่งกว่านั้นอีก นั่นเครื่องเสียงเขาไม่รู้เรื่องของเรา

แต่เรื่องของธรรมคือเรื่องของหัวใจ ถ้าหัวใจของสัตว์โลกรับรู้สิ่งนี้แล้วมันเข้าถึงหัวใจ อันนั้นเป็นบุญกุศล บุญกุศลคือใจมันเปิดรับกันไง ความคว่ำไว้ หัวใจนี้คว่ำไว้นะ ไม่ยอมรับรู้สิ่งใด ๆ หัวใจคว่ำไว้ รับรู้แต่ความเห็นของตัวเอง ตัวเองคิดอย่างไรก็ว่าความเห็นของตัวเองถูก ตัวเองคิดอย่างไรก็ความเห็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ดี นั่นน่ะมันคว่ำภาชนะ ไม่ยอมเปิดภาชนะเลย

ถ้าวันไหนได้หงายภาชนะแล้วใครจะเป็นคนหงายภาชนะอันนี้ หงายหัวใจไง หงายหัวใจขึ้นมาให้ยอมรับรู้สิ่งต่าง ๆ รับรู้สิ่งต่าง ๆ ว่ามันไม่ใช่มีความคิดของเราหรอก ไม่ใช่ความคิดในกะลาที่ในหัวใจนี่ ขันธ์ ๕ นี้เป็นกะลา อาจารย์มหาบัวเป็นถังขยะ มันปิดความคิดเราไว้ มันคิดได้แค่ความคิดของเรา มันไม่มีสิ่งที่มากกว่านั้น

แต่ถ้ามันหงายภาชนะออกมา ผู้ที่หงายภาชนะขึ้นไปนี่ นั่นน่ะธรรมมันจะไหลเข้าไปในหัวใจ ถ้าไหลเข้าไปในหัวใจนี่มันพอใจธรรม เรามีโอกาส เรามีกำลัง เรามีสิ่งที่ดีกว่า คือเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนานี้สอนเรื่องบุญกุศล แล้วเราทำบุญกุศลขึ้นมาแล้ว แล้วพระบวชมาทำไม? พระบวชมาเพื่อจะหลุดพ้นออกไปจากความคิดของตัวเอง ทุกคนต้องใช้ความคิดของตัวเองนี้เป็นเรื่องการประกอบอาชีพ เป็นเรื่องการทำความเห็นต่าง ๆ

แต่ความคิดอันนี้มันหลอกลวงตัวเอง หลอกลวงตัวเองให้ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเรา พระบวชมานี่เพื่อทำความสงบของใจ เพื่อชำระกิเลส เพื่อใช้ปัญญาทำลายไอ้ความคิดนี่ ใช้ปัญญาอีกตัวหนึ่งทำลายความคิดของเราออกไป จิตอันนี้จะพ้นจะอิสระออกไป ไม่เกิดไม่วนเวียนในการเกิดและการตาย เราวนเวียนการเกิดและการตาย เราถึงต้องทอดกฐิน ต้องทำบุญกุศลของเราไป เพื่อจะให้บุญกุศลอันนี้เป็นสิ่งที่พาเราให้ใจนี้เกิดสมบูรณ์

การเกิดมาในโลกนี้ เรามองไปในโลกนี้ เห็นไหม คนเกิดมาทุกข์ยากก็มี คนเกิดมาอุดมสมบูรณ์ก็มี คนเกิดมา ทุกคนเกิดเหมือนกัน แต่เพราะบุญกุศลสร้างสมมาไม่เหมือนกัน แม้แต่ในพ่อแม่ลูก ลูกในท้องเดียวกันนิสัยวาสนาก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนะในการทำนี่พ่อแม่คนเดียวกัน ลูกต้องเหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะใจที่มาเกิดเป็นใจของเขา เลือดเนื้อเชื้อไขเป็นของเรา แต่จิตหัวใจนั้นเป็นของเขา เขาเอาจิตนั้นมาเกิด จิตดวงนี้ถึงได้บริสุทธิ์ได้ไง

เกิดนี้ต้องเกิดตามอำนาจของกรรม กรรมนี้ต้องผลักไสให้ไปเกิดเพราะเราสร้างกรรมขึ้นมาแล้ว กรรมดีต้องได้รับผลของกรรมดี กรรมชั่วต้องได้รับผลของกรรมชั่ว กรรมอันนี้ให้ผลเด็ดขาด แต่กรรมอันนี้อยู่ใต้อำนาจในการกระทำของเรา กรรมเกิดจากการกระทำ เราเป็นคนกระทำ ทำดีกรรมดีต้องให้ผล ทำชั่วความชั่วต้องให้ผล เราถึงว่าต้องเชื่อศาสนาและทำคุณงามความดีในศีล สมาธิ ปัญญา

ความคิดเกิดขึ้นต้องเทียบกันไปที่ศีลว่าถูกศีลหรือผิดศีล ถ้าผิดศีลเราจะไม่ทำสิ่งนั้น ถ้าถูกศีลเราต้องพยายามทำต้องสะสมขึ้นไป เพื่อจะให้เป็นบุญกุศลของใจ เพื่อให้ใจนี้มีหลัก หลักของอาหาร ให้มีหลักของบุญกุศลพาให้เกิดดี เกิดดีต่อไป ๆ ใจก็สมบูรณ์ขึ้น ใจสมบูรณ์ขึ้นเพราะมันเป็นความดี ความดีในหัวใจมันจะทำให้เราพอใจทำสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่พอใจมันจะขัดใจนะ

คนเราเห็นไหม อำนาจวาสนาของลูกเรานี่ มันออกมานี่จริตนิสัยไม่เหมือนเพราะตรงนี้ ถ้าเขาสะสมมาดีมันจะดีในหัวใจ ถ้าหัวใจนั้นดีเขาจะดีโดยภายใน ถ้าโดยภายในแล้วนี่อยู่ในสังคมไหนเขาก็ดี ดีเพราะความดีในหัวใจของเขา แล้วความดีอันนี้เกิดดีและชั่วก็หมุนไปในวัฏฏะ จนพ้นออกไปจากความดีและความชั่ว พ้นออกไปจากความดีความชั่วได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ

แล้วเราส่งเสริมนะ ทอดกฐินเพราะพระจำพรรษาแล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจีวรเปียกจีวรขาดไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามถึงความเป็นอยู่ แล้วถึงอนุญาตเรื่องกฐินนี้ไว้ให้ ให้พระได้เปลี่ยนผ้า ได้ถ่ายผ้ากัน เพราะคนบวช บวชโดยการประพฤติปฏิบัติ เขาไม่มีญาติโยมมาดูแลหรอก เขาก็อยู่ของเขาตามประสาอย่างนั้น

พระอยู่ในป่า อยู่ตามประสาป่าเขา ผ้ามีหรือไม่มีนี่อาศัยถ่ายกันเองในหมู่สงฆ์สงเคราะห์กัน ถ้าในหมู่สงฆ์สงเคราะห์กันมันก็เป็นที่อุ่นใจ ถ้าไม่มีการสงเคราะห์กันมันก็ไม่อุ่นใจ ในชีวิตของพระบวชตั้งแต่วันออกบวชจนถึงที่สุดของชีวิต ใช้ชีวิตไปอย่างนั้น คนที่ญาติโยมศรัทธานั้นมันก็เอาตัวรอดไป คนที่ไม่มีใครศรัทธาเขาก็อาศัยตรงนี้เป็นที่พึ่งอาศัย

ผ้าผ่อนออกมาแล้วเป็นของกลาง เดี๋ยวเวลาถวายกฐินแล้วนี่จะเป็นของกลาง แล้วอุปโลกน์ให้เป็นผู้รับ ให้เป็นผู้กราน ผู้กรานนั้นเป็นหัวหน้า หัวหน้าต้องฉลาด ถ้าหัวหน้าไม่ฉลาดไม่สามารถตัด เนา เย็บ ย้อมผ้าได้ กฐินนั้นไม่เกิด มันเป็นกฐินที่ว่าไม่ได้กราน ไม่มีอานิสงส์ อานิสงส์เกิดขึ้นจากความสามัคคี เราสามัคคีกัน เราพอใจกัน เราจรรโลงศาสนากัน ให้ถึงกุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้เห็นร่องรอยสิ่งนี้ตลอดไป

สิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งของหัวใจนะ ถ้าหัวใจเกิดมาร้อนแล้วเจอสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์ หัวใจนั้นจะมีที่พึ่งอาศัย เรารักษาเหมือนรักษายารักษาอาหารไว้ให้ใจเวียนต่อไปได้ดื่มกิน เราจะมีบุญกุศลไหม? พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์อายุเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระที่ถือธุดงค์ตลอดไป จนกว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าอายุ ๘๐ แล้วยังใช้ผ้าบังสุกุลอยู่ ถามพระกัสสปะว่า

“เธอทำเหตุนั้นเพื่อเหตุไร? เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว พ้นจากทุกข์แล้ว ทำไมต้องมาถือธุดงค์อยู่ให้เป็นความทุกข์ยากเมื่ออายุมากแล้ว”

พระกัสสปะตอบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ข้าพเจ้าถือเพื่อกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้มีที่พึ่ง จะได้มีที่ยึดเหนี่ยว จะได้เป็นที่ไว้อ้างอิงได้”

อ้างอิงพระกัสสปะว่าถือธุดงควัตรมา แล้วเราทำตามกันไป มีที่อ้างอิงมาเราทำได้ นี้คือรักษาธรรมและวินัยไว้ให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้ก้าวเดินต่อไป เราทำบุญกุศลกัน อยู่ในธรรมและวินัย ในกติกาของธรรมและวินัย เพื่อให้เป็นสิ่งที่จรรโลงศาสนา ให้ศาสนานี้สืบต่อไป ผู้ที่เข้ามาบวช ผู้ที่เข้ามาศรัทธา เห็นในเรื่องของศาสนานี้ก็มีทางดำเนิน เรามีรถนะ เราไม่มีถนนหนทางนี่รถจะวิ่งไปที่ไหน

เรามีหัวใจ ถ้าหัวใจของเรานี้มีเครื่องดำเนินไป เราจะไปของเราได้ ฉะนั้น เราถึงต้องรักษาศาสนา ธรรมและวินัยถึงเป็นศาสดาของเรา อันนี้เป็นบุญกุศล ถึงว่าวันนี้เป็นวันทอดกฐิน เหตุนี้กฐินถึงเป็นบุญไง กฐินนี้เป็นการสร้างได้ยาก ถ้าเราทำบุญกุศลแล้วพยายามคิดถึงใจ เปิดใจให้กว้าง ทำใจให้กว้างที่สุด แล้วใจอันนี้มันจะเปิดเข้ามา

ถ้าเราทำกว้างแล้ว สิ่งนี้เป็นอาหารของใจ แล้วสิ่งนี้จะไม่บูดไม่เน่า สิ่งนี้จะเป็นอริยทรัพย์ฝังไว้ในหัวใจของเราตลอดไป สิ่งนี้จะเป็นบุญกุศลของเรานะ เดี๋ยวจะพาทอดกฐิน เอ้างั้นเท่านี้ก่อน ให้ความเข้าใจของเรา จะเอาเท่านี้แหละ แล้วทอดกฐินก่อนเลย