เทศน์เช้า

เทศน์เช้า-2

๑ พ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อุตส่าห์มา เป็นผู้ฉลาดนะ ถ้าเราเป็นผู้ฉลาด เราเกิดมา คนเกิดมานี่ต่างคนต่างเกิดมาโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แต่ตามหลักธรรมว่ากรรมพาเกิด เรามีคุณสมบัติถึงได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา นี่กรรมพาเกิด กรรมตัวนี้ตัวสำคัญมากเลย เกิดมาแล้วให้เป็นเหมือนกับสัตว์มีเจ้าของ สัตว์ป่าเกิดมาอยู่ในป่า เกิดมาแล้วไม่มีเจ้าของ ปล่อยไปตามยถากรรม ไม่มีเจ้าของของเขา

แต่ถ้าเราเกิดมาแล้วเรามีเจ้าของ เจ้าของคือความตั้งใจจริง เราตั้งใจเพื่อหาบุญกุศล เราบังคับตัวเราเอง นั่นน่ะเป็นเจ้าของ เจ้าของคือเราเป็นเจ้าของตัวเราเอง ถ้าสัตว์มีเจ้าของ สัตว์ตัวนั้นจะมีประโยชน์มาก มีประโยชน์ที่ว่าเขาจะหาทางออกของเขาได้ หาทางไปของเขาได้ ถ้าสัตว์ไม่มีเจ้าของไปตามยถากรรม คนเราเกิดมาตามกระแสกรรมแล้วกรรมก็พาไป กรรมพาสัตว์นี้เกิด เกิดต่าง ๆ กันในวัฏวน เกิดไปเวียนตายเวียนเกิดแล้วมาเทียบกับในสมบัติมนุษย์นี่

ในมนุษย์สมบัติ เราได้มนุษย์สมบัติเราพอใจไหม? ถ้าเราไม่พอใจมนุษย์สมบัติของเรา เราพอใจมนุษย์สมบัติของเรา แต่เราต้องใช้มนุษย์สมบัตินี้ทำคุณงามความดีไง ใช้เป็นประโยชน์ ถ้าเราเอาชีวิตเอามนุษย์สมบัตินี้เป็นคุณประโยชน์ อย่างเช่นเรามาวันนี้ เรามาทำบุญกุศล เราทำบุญกุศลเพื่อเรานี่ เพื่อเรานะ แต่เราโดยสมมุตินี้คือว่า นาย ก. นาย ข.

แต่จริง ๆ แล้วคือเพื่อหัวใจของเรา ตัวหัวใจตัวสำคัญกว่า เพราะตัวหัวใจตัวใจนี้ไม่เคยตาย เกิดมาแล้วไม่เคยตาย จะเวียนตายเวียนเกิดไปได้ภพชาติต่าง ๆ แล้วแต่สถานะที่ได้ขึ้นมา แต่ตัวใจตัวนี้ไม่เคยตาย ถึงจะเข้ากับหลักสัจธรรมได้ไง หลักสัจธรรมเห็นไหม นิพพานคงที่ นิพพานมีอยู่ ใจดวงนี้ก็มีอยู่ ใจดวงนี้เวียนตายเวียนเกิด

แต่ขณะปัจจุบันนี้เวียนตายเวียนเกิดไป มันเป็นโอกาสไง ถ้าเราเวียนโอกาส วนมาพบพระพุทธศาสนา เวียนโอกาสมาเหมือนกับมีโอกาสที่ว่ายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก นี่มีชีวิตอยู่ ในชีวิตนี้เราจะสร้างคุณงามความดีได้ หมดจากชีวิตนี้ไปแล้วเราก็หมดโอกาส หมดโอกาสไปนี่ เราตายไปจากมนุษย์สมบัติ ตายจากมนุษย์ไป

แต่หัวใจไม่ตายก็ไปเกิดในสภาวะใหม่ เกิดสภาวะใหม่เวลาก็เปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยนไปแล้วถ้าเราไม่พบพระพุทธศาสนา ไม่พบพระพุทธศาสนานะ เพราะศาสนานี่ ๕,๐๐๐ ปี ในแต่ละหลักของศาสนามีเวลาที่ให้เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมีขึ้นมา ก็มีประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมประเพณีเราทำตามนั้น ทำเป็นบุญกุศลไป นี่บุญกุศลทางวัฒนธรรมประเพณีตามไปอย่างนั้น

ถ้าเราเกิดมาแล้ววัฒนธรรมประเพณีอันนี้ไม่มีล่ะ อันนี้ไม่มีนะประเพณี แต่สัจธรรมนี้สำคัญกว่าประเพณี ประเพณีนี้เป็นเครื่องบอกกล่าวให้เข้าถึงสัจธรรม ปฏิปทาเครื่องดำเนิน เราจะดำเนินมานี่ เรามากันนี่เรามาด้วยอะไร? เรามาด้วยรถ รถพาให้เรามาถึงที่นี่

อริยสัจก็เหมือนกัน สัจธรรมปฏิปทาเครื่องดำเนิน ประเพณีเครื่องดำเนินให้เราเข้าถึงหัวใจ การเข้าถึงหัวใจเข้าถึงได้ยากมาก เราไม่พอใจสิ่งใด ๆ เวลาใจเราไม่พอใจ เราเศร้าหมองขึ้นมาเราก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เราหมุนเวียนไปขนาดไหนมันก็หมุนเวียนไป นี่ใจของเรา เราหาใจของเราไม่เจอ ทั้ง ๆ ที่ว่ามันอยู่กับเรา มันสร้างความทุกข์ให้เรา เราก็ไม่เจอใจของเรา

เวลามันสร้างความสุขขึ้นมา อยากให้อยู่กับเรานาน ๆ มันก็อยู่กับเราไม่ได้ อยู่กับเราไม่ได้เนิ่นนาน เพราะว่ามันเป็นสัจธรรม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันต้องบุบสลายเป็นธรรมดา มันต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา” ใจดวงนี้มันแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา แต่เราอยู่สภาพกับมันแล้วมันมีความทุกข์กับเราขนาดไหน? มันให้ความสุขกับเราขนาดไหน? เราต้องเทียบเคียงเข้ามา นี่ถึงว่าสัตว์มีเจ้าของไง

ถ้าสิ่งนี้มันทำให้เราเชื่อ เราเชื่อเรื่องสัจธรรมเรื่องความสุขความทุกข์ขึ้นมา มันจะเริ่มแก้ไขสิ่งนี้ เราพยายามหาอาหาร สัตว์อาชาไนยเลือกกินแต่อาหาร สัตว์ทั่วไปกินอาหารทั่วไป สัตว์อาชาไนย...

นี่ก็เหมือนกัน สัตว์ประเสริฐ สัตว์ที่จะออกจากโลกได้ สิ่งที่จะออกจากโลกนี้ได้มันต้องเข้าใจวิธีการออกจากโลกเขา ออกจากโลกออกอย่างไร? สรรพสิ่งนี้มีเพราะมีเรา ถ้ามีเรา ถ้าไม่มีเราสรรพสิ่งนี้ก็ไม่มี ก็เลยทำร้ายตัวเองฆ่าตัวตายไป นั่นน่ะออกแบบโง่ ๆ ไง ออกแบบไม่รู้จักวิธีการไง

แต่ถ้าออกแบบวิธีการ เราต้องฟังธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ทำใจให้สงบก่อน” ถ้าทำใจให้สงบก่อนขึ้นมานี่ ใจสงบขึ้นมาแล้วถึงจะหาหลักหาเกณฑ์ได้ มีอุปกรณ์เครื่องทำงาน ถ้าใจยังไม่สงบเราจะไปทำ เอาอะไรไปทำ ไม่มีสิ่งใด ๆ ทำ ใจเราไม่สงบ เห็นไหม แต่ทำใจให้สงบนั้นก็ทำแสนยาก แล้วใจสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนานั้นอีกวิธีการหนึ่ง ยกขึ้นวิปัสสนานะ วิปัสสนาในสิ่งที่มันทำให้เราเศร้าหมอง

ใจเศร้าหมอง ใจผ่องใส มันเป็นสัจธรรมของมันโดยธรรมชาติของมัน ใจผ่องใส “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสแล้วมันเข้าถึงความผ่องใสของใจนั้นไหม? ถ้าจะเข้าถึงความผ่องใสของใจนั้นได้ มันต้องทำความสงบของใจ เพราะอะไร? เพราะถ้าเข้าถึงความผ่องใสแล้วเราควบคุมความผ่องใสนั้นได้ ความผ่องใส เวลาจิตมันสงบขึ้นมานี่ มีคนมาถามบ่อย “เวลาเขาสว่างไสวขึ้นมาในหัวใจ เขาเป็นไปได้อย่างไร?” นั่นน่ะมันเป็นไปได้โดยที่ว่ามันเป็นไปธรรมชาติของมัน

ใจของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การสร้างสมใจขึ้นมา สร้างคุณงามความดีของแต่ละใจก็ไม่เท่ากัน บางคนใจเขาสร้างคุณงามความดีมานี่ ของเขาเป็นไปโดยธรรมชาติของเขา มันเป็นไปโดยที่ว่าเขาก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร ที่มันเกิดขึ้นมานี่ แต่มันก็เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน นั่นน่ะมันเป็นการควบคุมไม่ได้ การทำความสงบของใจอย่างนี้ ทำอย่างนี้ทำความสงบของใจเพื่อจะควบคุมสิ่งนี้ได้ ควบคุมใจของตัวเราเองให้อยู่ในอำนาจของเราได้

ถ้าควบคุมใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ นี่ “จิตเดิมแท้ถึงผ่องใส จิตเดิมแท้ถึงข้ามพ้นกิเลส” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสเพราะจิตเดิมแท้นี้เราควบคุมได้ ทำความสงบของใจได้ เวลาใจมันสงบขึ้นมามันจะปล่อยวางสิ่งใด ๆ บ้างล่ะ มันปล่อยวางความข้องใจ ใจที่มันติดข้องอยู่นี่ มันจะปล่อยวางสิ่งนั้นออกไป สิ่งที่มันปล่อยวางได้ แต่ปล่อยวางนี้เหมือนกับซุกไว้ใต้พรม

ก่อนที่จะมีพุทธศาสนา อาฬารดาบสก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ทำความสงบของใจได้ ทำความสว่างไสวของใจได้ เข้าสมาบัติได้ แต่ไม่สามารถชำระกิเลสได้เพราะไม่มีมรรคา มรรคนี้เกิดขึ้นมาเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเท่านั้น ตรัสรู้ธรรมถึงจะมีมรรคนี้

ทำความสงบของใจ ลัทธิศาสนาต่าง ๆ สอนความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมานี่มันเวิ้งว้างมีความสุข นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ผ่องใสอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็ต้องเศร้าหมองไปโดยธรรมชาติของมัน ผ่องใสแล้วก็ต้องเศร้าหมอง เศร้าหมองแล้วกลับมาผ่องใส เพราะมีตัวหัวใจ ใจถึงสำคัญไง

ใจอยู่ในใจของเรานี่มันเกิดดับ ๆ เกิดดับนี่เป็นอาการของขันธ์ แต่ตัวใจตัวพลังงานนี้จะมีอยู่ตลอดไป ตลอดไปธรรมชาติของมัน มันต้องตัวนี้เราเอาความสงบของใจเข้ามาควบคุมมันได้ แล้วพยายามยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือเรื่องของกายกับใจนี้เท่านั้น สติปัฏฐาน ๔ กายกับใจนี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ามันเป็นอาการของมัน แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา บัญญัติซ้อนสมมุติขึ้นมา

สมมุตินี่มันพูดต่าง ๆ กัน ลัทธิศาสนาต่าง ๆ กัน สอนต่าง ๆ กันไป แต่บัญญัติเป็นชาวพุทธต้องพูดถึงสื่อเหมือนกัน ควบคุมก็ได้ นี่ปริยัติสำคัญตรงนี้ ปริยัติสำคัญตรงที่เราเข้าใจเรื่องของสื่อความหมายกัน เรื่องอาการของกายกับใจนี่ กายมันเกิดขึ้นมา มันแปรสภาพไป มันยังของที่จับต้องได้ อาศัยกันได้ง่าย

แต่เรื่องของใจ ใจมันไปติดทั้งใจด้วยแล้วก็มาติดกับกายของเรา กายนี้ต้องเป็นของเรา ต้องยึดสภาวะของเราให้ได้ ต้องติดของเราเข้าไป มันรู้สัจจะ รู้ตามความเป็นจริง รู้ตามบอกเล่า รู้ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า “กายนี้ไม่ใช่ของเรา” เราก็เชื่อกัน ประเพณีสอนกันมาอย่างนั้น เวลาเราตายไปซากศพต้องไปเผากัน ต้องทำลายกัน เพราะมันเป็นของเสียของเน่า ต้องให้ทำลายไป

แล้วหัวใจไปไหน? เราไปส่งกัน เวลาคนตายไปส่งกันแค่เชิงตะกอน แล้วก็บอกนะ เชิงตะกอนนี่ลัทธิศาสนาสอนไว้ เวลาเวียน ๓ รอบ ใจดวงนี้ดวงที่ตายไป ต้องไปเกิดในวัฏวน ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในวนไป ๓ รอบนี้ ตราสังเขามัดกันไว้ บ่วงหลวม ๆ ในโลกนี้มัดไว้ บ่วงบุตร บ่วงภรรยา บ่วงสามี บ่วงกรรมมันยึดไว้ นี่ตราสัง สังไว้ตราไว้อย่างนั้น แล้วให้เราหาทางออก เราก็ไม่หาทางออก

ถ้ามีทางออก ตรงนี้เป็นที่ว่าประเพณีวัฒนธรรมที่ยังมีอยู่แล้วเราเกิดมาเจอ มันมีอำนาจวาสนาไหม? เราถึงมีอำนาจวาสนา เราถึงเป็นสัตว์มีเจ้าของ ถ้าสัตว์มีเจ้าของมันต้องพยายามพาใจเราเข้าหาศาสนา ถ้าพาใจเราเข้าหาศาสนา เราถึงแสวงหากันไง เราถึงต้องมาทนทุกข์ทนยากเพื่อแสวงหาอาหารให้ใจของเรา ถ้ามีใจของเรานี่ เรารักเรา เรารักตนของเรา เราก็ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด

ปากกินคำข้าวเป็นอาหาร ใจกินบุญกุศลเป็นอาหาร กินความสุขเป็นอาหาร หัวใจของใจ เวลามันคิดถึงความสุขมันมีความสุขขึ้นมา เวลาความสุขที่มันติดกับใจนี่มันเกิดขึ้นมากับใจ ใจนี้กินบุญกุศลเป็นอาหาร บุญกุศลนั้นเป็นอาหารของใจ เราหาอาหารของใจให้ไป ทาน...มีทานแล้ว มีศีล มีภาวนา ถ้าการภาวนานี่เราอยู่ที่ไหนเราก็ทำได้ เรามีใจของเรา เรากำหนดพุทโธขึ้นมานี่ อาหารจะเกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้น

วิญญาณาหารนี้เป็นวิญญาณาหารของเทวดา กวฬิงการาหารอาหารเป็นคำข้าว นั่นน่ะวิญญาณอาหาร อาหารของใจ อาหารของใจเราก็รักษาใจของเรา ผัสสาหารนั้น อาหาร ๔ ในโลกนั้นมันเป็นสถานะของสัตว์โลกที่ไปเกิดแล้วใช้อาหารนั้น

แต่เราทำของเรา ในปัจจุบันนี้เราก็ใช้อาหารของเรา อาหารของปากเราก็หามาแล้ว ส่วนของเราหามาเพื่อร่างกายของเรา เพื่อจิตใจของเราเราก็ต้องหาของเราขึ้นมา ถ้าเราหาของเราขึ้นมาได้ หาจากว่าคนหยาบก็หาได้หยาบ ๆ คนอย่างปานกลางก็หาได้ปานกลาง คนอย่างละเอียดอยู่ที่ไหนก็หาอาหารใจได้ กำหนดพุทโธขึ้นมาจะเป็นกำหนดพุทโธขึ้นมานี่ นั่นน่ะเป็นขอบเขตของการไม่ให้หัวใจมันออกไปกว้านออกไปไกล หัวใจคิดถึงที่ไหนมันจะเป็นไปแบบนั้น คิดไกลขนาดไหนมันก็จะเป็นไปขนาดนั้น

ใจนี้มันเร็วมาก เราเคยประสบอะไรขึ้นมา เราคิดขึ้นมานี่จะเกิดขึ้นมาทันทีเลย แล้วพุทโธนี่เป็นขอบเขตไล่มันเข้ามา พุทโธ ๆ เพื่อให้จิตสงบเข้ามา ๆ ขอบเขตของใจไม่ให้ใจมันฟุ้งซ่านไปประสาของใจของมัน มันจะละเอียดเข้ามาจะลึกซึ้งเข้ามา นี่เข้าไปถึงเนื้อของใจ นี่อาหารของมัน จากอาหารที่มันกินอารมณ์ กินความฟุ้งซ่าน กินความคิดของเราที่มันยุแหย่ขึ้นมา มันกินของมันไปนั่น มันกินโดยธรรมชาติของมัน

อันนี้เราให้อาหารใหม่ เพราะเราฉลาด เราฉลาดเราถึงให้อาหารที่ไม่เป็นโทษไม่เป็นภัยกับใจของเรา แต่เดิมใจของเรามันแสวงหาโดยธรรมชาติของมัน มันแสวงหาตามสถานะของมัน แต่พอมันเข้าใจขึ้นมานี่มันแสวงหาอาหาร เราแสวงหาแล้วเราให้เอง เราฉลาดขึ้นมานี่ ปัญญาเกิดเกิดอย่างนี้ไง ปัญญาเกิดขึ้นมาจากทำความสงบของใจ แล้วปัญญายังยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาให้มีความเห็นของใจ ใจนี่ปากพูดถึงว่าเราต้องตายไป เราต้องสละทิ้งสิ่งต่าง ๆ ไป ทุกคนรู้เข้าใจเพราะประเพณีวัฒนธรรมสอนอย่างนั้น

แต่จิตใต้สำนึกมันไม่เชื่อ จิตใต้สำนึกมันติดพัน จิตใต้สำนึกถ้ามันเชื่อ มันพูดแล้วเชื่อนี่กิเลสมันต้องแก้ได้ง่าย ๆ กิเลสนี้แก้ได้แสนยาก เพราะกิเลสนี้เป็นแก่นของใจ มันเกิดมากับใจและมันอยู่กับใจมันจะไม่เชื่อ มันอยู่หลังความคิดเรา เราคิดขึ้นมาขนาดไหนน่ะเป็นขันธ์

แต่กิเลสคือความผูกมัดของใจนี่ ขันธ์ เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชามันเป็นปัจจยาการถึงออกมาเป็นความคิด เป็นขันธ์ขึ้นมา มันหมุนออกไปนั่นน่ะอาหารของมัน มันเคยกินอาหารอย่างนั้นตลอดไป มันหมุนออกไปมันทุกข์ยากขนาดไหนมันก็ทนเอา มันแก้ไขไม่เป็น เราถึงย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับความสงบของใจเข้ามา แล้วใจนี่ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาว่าทำไมสิ่งนี้มันเป็นสภาวะอย่างนั้น? ให้มันเห็นสภาวะตามความเป็นจริง

ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญ ปัญญาจะใคร่ครวญเข้ามา ใคร่ครวญในเรื่องของขันธ์ ใคร่ครวญเข้ามาตลอด สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมันเกิดดับ มันเกิดในธรรมชาติของมัน แต่มันไม่เป็นธรรมชาติ เพราะอะไร? เพราะกิเลสไปผูกมัดมัน สังโยชน์เป็นการร้อยรัด เป็นการผูกมัดระหว่างขันธ์กับใจนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มันเกิดจากธรรมชาติของมัน ถ้ากิเลสมันดับไปแล้ว พระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ขนาดว่าใน ๔๕ พรรษานี่ ก็มีความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดนี้ไม่มีสิ่งผูกมัด

สิ่งที่ผูกมัดขันธ์กับจิต แล้วกิเลสมันผูกมัด มันไม่เป็นไป พอไม่เป็นไปอะไรมากระทบ สิ่งกระทบกับใจให้วิญญาณเกิดขึ้นมานี่ มันกระทบขึ้นมาโดยที่ว่าไม่มีสิ่งผูกมัด ไม่มีความให้ค่าไง นางมาคันทิยาที่จ้างคนมาด่าพระพุทธเจ้า ด่าขนาดไหนพระพุทธเจ้าก็ไม่สะเทือน ไม่สะเทือนเพราะอะไร? เพราะว่าคำพูดทุกคำพูดมีค่าเท่ากัน มันไม่มีสิ่งที่ผูกมัดระหว่างขันธ์กับจิตให้มันมีคุณค่า กิเลสมันจะออกไป

นั่นพระอรหันต์ก็มีเหมือนกัน แต่มีโดยธรรมชาติ มีในสถานะของมนุษย์ จนกว่าพระอรหันต์ เห็นไหม พระพุทธเจ้าปรินิพพาน นี่ขันธนิพพาน ขันธ์หลุดออกไปจากใจ ใจนั้นเป็นใจล้วน ๆ ออกไปสภาวะนั้น เพราะทำได้แล้ว แต่พวกเราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้ เวลาตายไปนี่ขันธ์กับใจมันผูกมัดไปพร้อมกัน มันยังให้ค่าเหมือนกัน ใจนี้ยังคลุกเคล้าไปด้วยกิเลส คลุกเคล้าด้วยขันธ์ มันหมุนออกไป

แต่ใจพระอรหันต์ เวลาพระอรหันต์ตายขันธ์นี้ไม่ไปกับใจแล้ว เพราะขันธ์มันขาดมาแล้ว เห็นไหม กิเลสนิพพาน ฉันข้าวของนางสุชาดาถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ฉันอาหารของนายจุนทะถึงซึ่งขันธนิพพาน นิพพานขาดออกไป นิพพานออกไปจากกิเลส ใจหลุดออกไป นั่นน่ะใจเป็นประโยชน์ ใจถึงว่าใจต่างกัน นี่การศึกษาการเข้าใจธรรม

การแสวงหาธรรมมันแสวงหาเพื่อเรา ผู้ที่รักตน ผู้ที่แสวงหาประโยชน์ของตน ต้องแสวงหาอย่างนี้ แสวงหาถึงที่สุดได้ บุญกุศลสะสมไปที่ใจเป็นจริตนิสัยนะ เป็นเครื่องตอบสนองแล้วคุณงามความดีของเราเจริญรุ่งเรืองไป ถ้าเราทำความชั่วมันก็ให้ผลเป็นความชั่วไป เป็นความชั่วเป็นความทุกข์ยาก ความทุกข์ยากทุกคนปฏิเสธ แต่เราต้องปฏิเสธการกระทำด้วย ถ้าปฏิเสธผลขึ้นมามันต้องปฏิเสธที่เหตุ ถ้าปฏิเสธที่เหตุแล้วมันจะดับอยู่ตรงนั้น

แต่เวลาเราสร้างผลขึ้นมา ในการประพฤติปฏิบัติก็ต้องสร้างเหตุ ถ้ามีเหตุขึ้นมามันจะเข้ามาถึงใจ ถ้าไม่มีเหตุ เหตุอันนั้นไม่มีจะเข้ามาถึงใจไม่ได้ ต้องสร้างเหตุขึ้นมา เหตุในการประพฤติปฏิบัติที่เราทำอยู่นี่ นี่เหตุของมัน แล้วต้องให้มันเจริญงอกงามขึ้นไป จากทาน จากศีล จากภาวนา ให้หัดภาวนา เวลาเราทุกข์ยาก เวลาเราทำกันน่ะ เราจำเป็นต้องไปวัดด้วยหรือ? เราจำเป็นต้องไปทำบุญกุศลกันด้วยหรือ? จำเป็นต้องไปต่อเมื่อเหมือนกับเราไปโรงพยาบาล ถ้าเราเป็นโรคธรรมดาเราไม่ไปโรงพยาบาลเรารักษาตัวเรารักษาได้ แต่ถ้าโรคของเรา ถ้ามันเป็นรุนแรงขึ้นมานี่เราต้องไปหาหมอ

อันนี้ก็เหมือนกัน ไปหาพระก็ได้ฟังอย่างนี้ ได้ฟังธรรมอย่างนี้ ได้ฟังสิ่งที่ว่าเราข้องใจอย่างนี้ สิ่งใดที่เราข้องใจ สิ่งใดยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแล้วก็ย้ำไป ๆ นี่เป็นธรรม ธรรมอันนี้เป็นการศึกษาธรรมขึ้นมา เพื่อเราจะย้ำให้เราใกล้ชิดเข้ามา นั่นน่ะไปวัดเพื่อประโยชน์ตรงนี้ไง แล้วประโยชน์อีกชั้นหนึ่ง ประโยชน์ที่ว่า ถ้าเราภาวนาขึ้นมาเราติดขัด เราติดขัด เราข้องใจ นั่นน่ะ ครูบาอาจารย์สามารถชี้ทางให้เราได้ บอกได้ เหมือนกับคนไข้ไปหาหมอ หมอเขารักษาทุกวันจนเขาเห็นอาการเขาก็รู้แล้วเป็นโรคอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ลองใจสงบขึ้นมานี่มันมีอาการต่าง ๆ ขึ้นมา มันก็รู้แล้วอาการนี่ติดในสมาธิ อาการนี่อาการเข้าสมาธิไม่ได้ กิเลสมันบังไว้ก็มี อย่างเช่น ถ้าตกจากที่สูงลงมา จากจะเข้าสมาธิตกจากที่สูงมันไม่กล้า มันกลัว เห็นนิมิตต่าง ๆ เห็นผีต่าง ๆ ...กลัว ความกลัวอันนี้ ความกลัวเป็นอะไร? ความกลัวเป็นเวทนา เป็นขันธ์เหมือนกัน ความเห็นก็เป็นขันธ์ ขันธ์กับขันธ์มันหลอกกัน

แล้วเราก็เข้าสมาธิของเราไม่ได้ เราก็ติดสมาธิของเรา เข้าสมาธิได้แล้วก็ไปติดในสมาธิของเรา ติดในความสุขของเราอีก ไม่ยกขึ้นวิปัสสนา ยกวิปัสสนาแล้วมันก็ปล่อยวางโดยสภาวะตามความเห็นของมัน เป็นวิปัสสนึก ให้ปล่อยวางไป แต่มันไม่เป็นวิปัสสนา ไม่สมุจเฉทปหานตามความเป็นจริง มันติดเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไปทุกชั้นทุกตอนเข้าไป ครูบาอาจารย์ถึงสำคัญไง

ครูบาอาจารย์สำคัญตรงที่ชี้แนะเรา ไม่ให้เราติดเสียเวลา เรามีโอกาสตั้งแต่เกิดจนวันตายเท่านั้น เราตายไปกิเลสอยู่กับเรา เราก็ต้องตายไปพร้อมกับกิเลส ถ้าเราตายไปกิเลสหลุดออกไปจากใจ กิเลสมันก็หลุดออกไปจากใจเรา ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนั้น นี่ไปวัดถึงว่าความไปวัดไปเพื่อเหตุนั้น ไปเพื่อสะสมบารมีของเรา ไปเพื่อสะสมความเห็นเราให้ถูกต้อง

ถ้าเราสะสมความเห็นเราถูกต้อง กลัวขนาดไหน ศึกษาขนาดไหนมันก็ต้องเห็นผิด เพราะหนึ่ง เห็นเห็นจริง หลวงปู่ดูลย์บอกเวลาเห็นเราเห็นตามความเป็นจริง เห็นโดยความเป็นจริงของเราแล้วคนอื่นจะมาบอกเราว่าผิดได้อย่างไร เราเห็นจริง เห็นจริง ๆ นั้นล่ะ แต่ความจริงคือกิเลสในใจเราก็เห็นด้วย กิเลสในหัวใจเรามันก็หลอกด้วย มันเห็นจริงเห็นตามกิเลสหลอกไง มันไม่เป็นตามความเป็นจริง

พอเป็นตามความเป็นจริง เห็นวิปัสสนาตามความเป็นจริงเข้าไปนี่ มันจะเห็นฝึกใจเฉพาะดวงนั้น แล้วเฉพาะใจดวงนั้นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางไว้ “ทางนี้เราชี้ทางให้พวกเธอเดิน” ทุกคนต้องก้าวเดินไป เพราะหัวใจทุกหัวใจไปติดพันในหัวใจ หัวใจทุกหัวใจต้องปลดเปลื้องในหัวใจของตัวเอง ไม่มีใครสามารถปลดเปลื้องหัวใจคนอื่นให้ได้เลย การประพฤติปฏิบัติถึงสำคัญตรงนี้ไง สำคัญที่มันปลดเปลื้องเข้าไป

มรรค เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ มัคคะเกิดขึ้น โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นมานี่ สมุจเฉทปหานชำระใจออกไปแล้วสัมปยุตเข้าไป กลืนตัวเข้าไปแล้ววิปปยุตคลายตัวออก มรรคที่ ๑ จากโสดาปัตติมรรคเป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๔ ผล ๔ ทำลายตัวเอง แล้วคลายตัวออก สัมปยุตเข้าไปทำลายกิเลสแล้ววิปปยุตคลายตัวออก เห็นไหม ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ รู้จากใจของตัวเอง ใจนั้นรู้เอง

แล้วมรรคนี้ใช้หมดแล้วก็หมดกันไป มันไม่สามารถมรรคนี้ใช้หมดแล้วขอยืมให้ฉันใช้บ้างสิ ขอยืมให้คนอื่นใช้บ้างสิ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอาการของใจที่เกิดขึ้น มรรคเกิดขึ้นคือปัญญาที่เกิดขึ้น คือสมาธิที่มันทรงตัวอยู่แล้ว ปัญญามันเกิดขึ้น เกิดขึ้นในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เกิดขึ้นจากที่อื่นไม่ใช่ กิเลสไม่ได้อยู่ที่อื่น กิเลสอยู่ในหัวใจของมนุษย์ ใจของมนุษย์ติดในร่างกายของตัวเอง นี่มันถึงอยู่ที่กายกับจิต

กายนี้ไม่ใช่กิเลสเลย มันเป็นเนื้อหนังมังสา มันเป็นกิเลสได้อย่างไร แต่เพราะมันเกิดขึ้นมา มันเกี่ยวเนื่องกับหัวใจ เพราะหัวใจอยู่ในร่างกายนั้น จับไปที่กายไหนสะเทือนถึงใจดวงนั้น ใจดวงนั้นอยู่ที่กายนั้นพอสะเทือนกันแล้วมันก็ผูกมัดกัน

ถ้าใจไปปลดเปลื้องตรงนั้น เห็นกายตามความเป็นจริง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” สักกายทิฏฐิ ๒๐ มันจะหลุดออกไปจากใจ พระโสดาบันเกิดจากตรงนี้ เกิดขึ้นมาจากหัวใจของสัตว์โลก เกิดขึ้นมาจากหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ หัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเท่านั้นถึงจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจากใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นมีทุกดวงใจที่หายใจ มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ มันมีโอกาสทุกคน

นี่เราทำลายโอกาสของเราเอง เราปัดโอกาสของเราเอง แล้วเราไปหาสมบัติทางโลก หาสมบัติทางโลกขึ้นมาว่าเป็นสมบัติของเรา แล้วก็ต้องคืนโลกเขาไป ตายไปสมบัติทิ้งไว้ให้กับโลก หัวใจนี่ต้องตายไป แต่สิ่งที่เป็นสมบัติของเราฝังอยู่ในหัวใจไปพร้อมกับหัวใจ เราไม่แสวงหา

นี่สัตว์ที่ว่าเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์บ้าน ถ้าเราเป็นสัตว์บ้านเราฉลาดของเรา เราต้องหาสมบัติของเราในหัวใจของเรา ถ้าสมบัติหาในหัวใจของเราแล้วมันเก็บในหัวใจไปพร้อมกับเรา ไม่ต้องมีใคร มันเป็นทิพย์สมบัติ ถ้าเป็นบุญกุศล อามิสทานเป็นทิพย์สมบัติ แต่ถ้ามันเป็นเนื้อของอริยบุคคลนั้น ไม่ใช่ทิพย์สมบัติ มันเป็นเรื่องของใจ มันเป็นเนื้อของใจ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจ มันเป็นสิ่งที่ไปกับใจดวงนั้นไปตลอด

แต่ถ้าเป็นทิพย์สมบัติ ไปแล้ว หมดจากบุญกุศลแล้ว ก็ยังต้องเกิดใหม่ อันนี้มันไม่หมดเพราะมันเป็นอกุปปะ เป็นสิ่งที่คงที่กับใจดวงนั้น เป็นเนื้อของใจไปกับใจดวงนั้นเลย ใจดวงนั้นจะมีความสุขมาก จะเข้าใจเรื่องของตัวเองแล้วจะไม่หลงไปเรื่องของโลก จะอยู่กับตัวเองตลอดไป เอวัง