เทศน์บนศาลา

ธรรมะเสมือนจริง

๒๗ พ.ย. ๒๕๕๑

 

ธรรมะเสมือนจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำความสงบ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ได้ ธรรมะที่เราแสวงหา มันต้องเป็นธรรมะที่เหนือธรรมชาติ เพราะเราเกิดมาจากธรรมชาติ เราเกิดมาในวัฏฏะ เราเกิดมาเห็นไหม เพราะเราเกิดมาด้วยบุญกุศลเราถึงได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดูในโลกปัจจุบันเรานี้ คนเกิดมาในโลก ๖,๐๐๐ กว่าล้านคน แล้วเขาเจอพุทธศาสนาไหม

ดูสิ อย่างทางยุโรปเขาอยากบวชมาก เพราะเดี๋ยวนี้ทางวิชาการมันเจริญ เขาก็ได้ศึกษา เวลาเขาบวช เขาต้องแสวงหา เขาต้องมาบวชทางเอเชียเรา สุดท้ายแล้วถ้าจะปฏิบัติล่ะ ถ้าเขาจะปฏิบัตินะ ถ้าไม่มีครูอาจารย์ เขาจะปฏิบัติกับใคร เขาก็ต้องปฏิบัติไปเห็นไหม เราเกิดในประเทศอันสมควรไง เราเกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สุดประเสริฐมาก ประเสริฐเพราะทำให้คนพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากการเกิดและการตายได้

เพราะการเกิดและการตายมันเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์เพราะการเกิด ทุกข์เพราะมีเรา แต่เราจะปฏิเสธการเกิดไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ มันเกิดโดยสัจจะความจริง เพราะในเมื่อยังมีจิตอยู่ มีสสารธาตุรู้อยู่ มีปฏิสนธิจิตที่มันเวียนตายเวียนเกิด มันต้องมีเป็นธรรมชาติของมัน การปฏิเสธคือการที่เราปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่มีอยู่นั้น ถึงเราจะปฏิเสธขนาดไหน มันก็เป็นความจริงของมันอย่างนั้น เวลาเกิดขึ้นมาก็เกิดตามเวรตามกรรม

ตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน จะเกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ การเกิดเห็นไหม มันสุดวิสัยที่เราจะบังคับได้ แต่พอเกิดแล้วมาเป็นเราสิ เราถึงรู้ว่าเป็นเราไง เราถึงรู้ว่ามีความทุกข์ความสุขของเรา เราเกิดมาแล้ว แต่ขณะตายขณะเกิดนั้นใครก็ไม่มีอำนาจเหนือมัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือพญามารนะ พญามาร พญามัจจุราชทำให้เกิดให้ตายเห็นไหม

แล้วธรรมะเป็นสิ่งที่สิ่งประเสริฐ ถ้ามันไม่ได้ศึกษา มันจะไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจหรอก ถึงจะฟังธรรมก็ฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังแต่ธรรม เพราะในสามัญสำนึก การฟังเทศน์เป็นการได้บุญอย่างยิ่ง เราก็ไปนั่งสัปหงกงกงันกันฟังเทศน์ ฟังเทศน์เอาบุญไง แต่ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ ในการประพฤติปฏิบัติเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ทีหนึ่งนะ การเทศน์ทีหนึ่ง มันก็ทำให้เราได้การประพฤติปฏิบัติหนหนึ่ง การปฏิบัติโดยสายตรงนะ การปฏิบัติฟังโดยปัจจุบัน ออกจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ออกจากใจผู้รู้มาถึงใจของเรา

ใจของเรามันไม่รู้ ก็ใจเหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นมนุษย์ แล้วออกแสวงหาออกค้นคว้ามาไง มันถึงว่าเราก็เป็นมนุษย์ เราก็มีสิทธิที่เราจะประพฤติปฏิบัติ แต่มันเชื่อไหมล่ะ เราไม่เชื่อนะ เราไม่เชื่อ เราเกิดมาในโลก เราก็แสวงหาความสุขกันเห็นไหม

ความสุขที่โลกเขามีอยู่ เราก็แสวงหาความสุขแบบโลกๆ เขาไป โลกเขามีให้เราแสวงหา แต่ถามใจตัวเองไหมว่ามันสุขจริงหรือเปล่า มันสุขจริงหรือเปล่า มันสุขไม่จริง มันจริงด้วยอามิสไง พอศึกษาธรรมเข้ามา มันถึงจะเข้าใจว่านี่คืออามิส มันต้องเจือด้วยอามิส สิ่งที่เป็นอามิสนี้ เราได้เสพขึ้นมาแล้วเราก็พอใจ เราก็ว่าเป็นความสุข สุขแบบนี้สุขแบบคนเมาเหล้าเห็นไหม กินเหล้าเมาแล้วก็บอกว่า พอแล้วจะไม่กินอีก แต่แล้วก็กินอีก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นอามิส มันเป็นวัตถุ มันก็เสพวัตถุไป แล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไรล่ะ เราก็แสวงหาไปกับเขา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม โดยกิเลสโดยสามัญสำนึก ก็จะบอกว่า คนนี้ไม่สู้โลก คนนี้ไม่จริง หนีสัจจะความจริง ทั้งๆ ที่เราจะไปหาความจริงอันประเสริฐ ความจริงอันประเสริฐนี้ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ดูกล้องจุลทรรศน์สิ เชื้อโรคที่มองไม่เห็นเขาพิสูจน์ได้ทั้งนั้น ทางทฤษฎีนะ ทางวิทยาศาสตร์เห็นไหม ดีเอ็นเอนี้สามารถพิสูจน์ได้หมด

แล้วจะหาจิตที่ไหน จิตนี้หาที่ไหน รู้กันที่ไหน มันรู้ไม่ได้ มันรู้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าจิตแก้จิต ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญตรงนี้ไง เรานี่เป็นชาวพุทธนะ เราทำทาน เรารักษาศีล เราภาวนา สิ่งนี้เป็นสามัญสำนึก แล้วเราก็คิดว่ารู้ไง เห็นไหมธรรมะเสมือนจริง ธรรมะเสมือนจริงนะ เหมือนว่ารู้ แต่ไม่รู้อะไรเลย เหมือนว่ารู้นะ เหมือนว่ารู้ ถ้ามันรู้จริงมันไม่เหมือน มันพูดออกมามันจะเป็นความจริง แต่นี่เวลาพูดออกมา ทำท่าทำทางเหมือนว่ารู้

ในกึ่งกลางพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ในภาคปฏิบัติเราจะเจริญ ศาสนาเจริญนั้นเจริญที่ไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ มันเจริญที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักรฯ จักรนี้ได้เคลื่อนไปแล้ว เทวดาส่งข่าวขึ้นไปเป็นชั้นๆขึ้นไปว่าจักรนี้ได้เคลื่อนไปแล้ว จะไม่มีใครย้อนกลับได้ นั่นมันเป็นอดีตแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ มรรคญาณทำลายอวิชชาสิ้นไปจากหัวใจ ธรรมจักรมันเกิดที่นั่น เพราะธรรมจักรมันได้ทำลายอวิชชาในหัวใจ ทำลายมารออกไปจากใจหมดสิ้นแล้ว นั่นผลมันอยู่ที่นั่น แล้วเวลาแสดงธรรมจักรฯไปนี้ จักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว นี่มันเป็นกิริยาแล้ว นี่เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ฟังมาเห็นไหม ดูสิปัญจวัคคีย์ฟังอยู่ ๕ องค์ ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะถึงรู้เป็นองค์แรก แล้วอีก ๔ องค์นั้นทำไมไม่รู้ขึ้นมาด้วย

เวลาเทศน์ซ้ำไป จนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด แล้วเทศน์ อนัตตลักขณสูตร ก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทั้งหมด สิ่งนี้คือรู้จริง แต่ถ้ามันไม่จริง มันเหมือนไง ความเป็นที่มันเหมือน เหมือนเพราะอะไร เพราะว่าด้วยกิเลส ด้วยทิฏฐิมานะ ทุกคนจะคิดว่าเรานี้เป็นผู้ที่ฉลาด เราเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา เราประพฤติปฏิบัติเพราะเราสนใจในธรรมะเห็นไหม ความจริงนะกิเลสมันหลอกในหัวใจชั้นหนึ่ง แล้วเราก็ไม่มีครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง เราก็ทำเหมือนแสดง

ดูสิ การประพฤติปฏิบัตินี่ ความจริงที่มันเกิดขึ้นมา ชีวิตของคนๆหนึ่งเห็นไหม เขียนมาเป็นตำรา เขียนมาเป็นประวัติ แล้วเขาก็ไปสร้างหนังกัน เวลาเขาสร้างหนังขึ้นมา เขาทำให้เหมือนเลย เขาศึกษาหมดทุกอย่าง แล้วทำให้เหมือนเลย ทำให้เหมือนนั้นเป็นการแสดง แต่ชีวิตจริงต่างหากที่มันเป็นความจริง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่โลกเขาทำกันนั้น หนังละครเวลาเขาทำเขาสร้างหนังขึ้นมาเห็นไหม สมจริงสมจังนะ นี่เหมือนจริง

การประพฤติปฏิบัติ เราก็ไปสร้างกัน สร้างวิธีประพฤติปฏิบัติกัน มันไม่เป็นความจริง แต่เวลาครูบาอาจารย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ ค้นคว้ามา โลกเขามีอยู่ขนาดไหนก็ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆเห็นไหม ทุกรกิริยาทรมานขนาดไหน ก็ทำไปกับเขา คิดว่าไง คิดว่าเห็นไหม นี่คิดว่าเหมือนรู้ แต่ไม่รู้อะไรเลย

แต่เพราะด้วยอำนาจวาสนา ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ขนาดอาฬารดาบสนะ รับประกันเลยว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา เป็นศาสดาสอนได้ แต่เพราะอำนาจวาสนาของคนที่สร้างมา จะสอนอะไร ในเมื่อเข้าฌานสมาบัติกิเลสมันก็สงบตัวลง เวลาออกมาแล้วนี่มันก็ทุกข์เหมือนเดิม ไม่จริง ไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่มีคนประกัน มีคนยอมรับแล้ว แต่ตัวเองไม่ยอมรับ เพราะมันไม่ใช่ความจริง จนกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์จึงทิ้งไปหมดเลย

แล้วค้นคว้ากลับมาเพราะว่าสร้างบุญญาธิการมา สร้างมาเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองได้โดยชอบ จะตรัสรู้เองไม่มีใครเป็นคนสอน ตรัสรู้เอง ย้อนกลับมาในใจของตัว มันเป็นความจริงทั้งหมดเห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนเข้าไปในอดีต ข้อมูลมันมีอยู่แล้ว จุตูปปาตญาณ ถ้ายังไม่ได้กำจัด มันก็ต้องเป็นไปตามนั้น อาสวักขยญาณต่างหาก อาสวักขยญาณเห็นไหม ย้อนกลับมาทำลาย อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ทำลายการเกิดและการตาย ปฏิสนธิจิตอยู่ตรงนี้

แล้วทำลายปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตที่จะไปเกิดอีกมันไม่มี มันไม่มีมันก็สิ้นกิเลสไป นี่เห็นไหม ธรรมเหนือโลก ความจริงมันเกิดตรงนี้ แต่กิริยาเห็นไหม กิริยาที่แสดงมาในพระไตรปิฎก แล้วเราก็ศึกษากัน ศึกษากันด้วยครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ศึกษาของท่าน ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก ไม่มีตำรา เราจะเอาที่ไหนเป็นแบบอย่าง ขนาดมีแบบอย่างอยู่แล้ว การกระทำเห็นไหม ให้มันจริงมันจัง เข้าป่าเข้าเขาไป ไปเผชิญกับสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลย ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

แต่นี่พอเราประพฤติปฏิบัติกัน ก็สร้างกัน สร้างวิธีการกันขึ้นมา เหมือนแสดงหนัง เหมือนเล่นละครกัน เป็นกิริยาจากภายนอก ปฏิบัติเอาแต่เป็นพิธีกรรม เอาแต่ปฏิบัติเป็นกิริยา แล้วใจมันเป็นไหม นี่ขนาดทำอยู่ข้างนอกนะ แล้วกิริยาการเคลื่อนไหวไป มันเหมือนการแสดง เหมือนจะรู้ เหมือนการปฏิบัติธรรม สบาย มีความว่าง มีความเข้าใจ

มันก็มีความว่างสิ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเหมือน ธรรมะโอสถ เราศึกษาเข้าไป เจ็บไข้ได้ป่วย เรากินยาก็หาย เห็นไหมเรามียา เจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง กินยาเข้าไปมันก็บรรเทาเป็นธรรมดา เราไปศึกษาธรรมขึ้นมา มันก็ไปบรรเทาหัวใจเป็นธรรมดา ว่างๆ ว่างๆ นี้มันเป็นฆราวาสธรรม มันเป็นธรรมของคฤหัสถ์ มันเป็นธรรมของผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ โลกนี้เขาเกิดมา เขามีหัวใจ คนมีศีลธรรมจริยธรรม คนที่มีจิตใจเป็นสาธารณะ เขาเสียสละได้มากกว่าเราอีก เขาทำได้ดีมากกว่านั้นอีก

สิ่งนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วเราก็ทำกันแบบสบายๆ นี่เหมือนจะรู้แต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรเพราะอะไร เพราะไม่รู้จักตัวตน ไม่รู้จักเรานะ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เรานั่งหลังขดหลังแข็ง เวลานั่งกำหนดพุทโธอยู่ในที่ต่างๆ เพราะเวลาเราคลุกคลีอยู่ในหมู่ มันเหมือนการแสดง คลุกคลีกัน กิริยาก็เหมือนกัน ทำเหมือนกัน แล้วผลมันได้เหมือนกันไหม คนเกิดมานะ สูงต่ำดำขาวต่างๆ กัน

คนเกิดมานี้ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน รูปสมบัติเห็นไหม ถ้าเราสร้างบุญกุศลมา มนุษย์สมบัติ สิ่งที่เป็นมนุษย์สมบัติเกิดมาแล้วยังไม่เท่ากัน แล้วจิตมันยิ่งกว่านั้นอีกกี่ร้อยกี่พันเท่า ความรู้สึกของคน มันพลิกแพลงกว่านั้นอีกมากมายมหาศาลนัก พอเราทำแล้วจะให้เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นการแสดง เหมือนจะรู้ เหมือนจะเป็นธรรม แต่ไม่เป็น นี่ปฏิบัติโดยโลก

ถ้าปฏิบัติโดยธรรม เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามีอำนาจวาสนา เราอยากจะออกจากวัฏฏะ ในเมื่ออยากออกจากวัฏฏะ เราต้องเข้าไปเผชิญกับความจริง ความจริงคืออะไร ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาจากไหน เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ การเกิดนะ พ่อแม่เราเป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะสมบัตินี้ ดีเอ็นเอ กรรมพันธุ์ของพ่อแม่ทั้งหมดเลย แต่อำนาจวาสนาไม่ใช่

ปฏิสนธิจิตที่มาเกิดในไข่ของมารดา สิทธิของเรา หัวใจของเรา ความรู้สึกของเรา มันเป็นของเรา มันเป็นบุญเป็นกรรมของเรา แต่เพราะมีสายบุญสายกรรม เราถึงเกิดกับพ่อแม่ พ่อแม่นี้มีบุญมีคุณมาก การเกิดจากพ่อจากแม่มีคุณมาก อุปัชฌาย์อาจารย์นี่มีบุญมีคุณมาก เป็นคนชี้บอกทางเรา เป็นคนกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรามา แต่ในการประพฤติปฏิบัติ จิตมันเกิด มันเกิดอย่างไร สิ่งที่เกิด เราลังเลสงสัยทั้งนั้น

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็อยากรู้อยากเห็นไปหมด อยากรู้อยากเห็นนี่รู้เห็นโดยกิเลส เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดยโลก แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เห็นโดยธรรม รู้โดยธรรม รู้แจ้งความเป็นจริง รู้ในอริยสัจ ไม่ใช่รู้เรื่องสัญญาอารมณ์ ข้างนอกมันก็เป็นการแสดง ปฏิบัติโดยผู้ไม่รู้จริงเห็นไหม กิริยาการกระทำไปก็เหมือนการแสดงหนังแสดงละครกัน ทำกันไปอย่างนั้นสบายๆ มันสบายที่ปาก แต่ในหัวใจมันสงสัยไหม

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจเรายังไม่สงบ เราคิดออกไป มันก็คิดโดยกิเลส คิดโดยโลก ทั้งๆที่ตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้องไหม ถูกต้อง แต่มันผิดที่เรา ผิดที่ใจของเรานี้มันเป็นโลก สัตตะ เห็นไหม จิตนี้ โลกคือโลกทัศน์ โลกคือหัวใจของเรา โลกคือความรู้สึก โลกคือปฏิสนธิจิตเห็นไหม ที่มันเกิดมันตายในวัฏฏะ เวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏะ

วัฏฏะเป็นภพเป็นสถานที่ให้มันเกิด แต่จิตนี้มันหมุนไป มันซับซ้อนมาอยู่ที่หัวใจนี้ แล้วหัวใจนี้มันเป็นผู้ข้อง มันมีอวิชชาอยู่ แล้วสิ่งที่คิดออกมานั้นคิดโดยโลก คิดโดยอวิชชา ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมสาธารณะ แต่ความสุขความทุกข์มันเป็นความเจ็บปวดในหัวใจของเรา

สิ่งที่เป็นในหัวใจของเรา มันข้องในใจของมัน มันมืดบอดในใจของมัน มันเป็นอวิชชา ทางปริยัติตีความว่าอวิชชาคือความไม่รู้ อวิชชามันรู้สึกตัวของมันเอง แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง อวิชชาเห็นไหม ธาตุรู้ พลังงานนั้นมันมีความรู้ไหม มันมีความรู้ในตัวมันเอง แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง เพราะมันโดนอวิชชาครอบงำไว้ มันถึงเสวยอารมณ์ มันถึงออกมา

ตัวรู้ สิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด ตัวเองก็หลง แล้วก็ออกไปเป็นความคิด ความคิดก็เกิดจากใจ ความคิดเป็นอาการของใจ ใจกับอาการของใจ อาการของใจก็แสดงให้ใจดู เหมือนจะรู้อีก ความคิดเป็นเรา เห็นไหม เรารู้ธรรมะ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วรู้อะไร อมธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่คาปากแล้วพูดออกมา แต่หัวใจไม่รู้อะไรเลย เห็นไหม

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง เราต้องทำจิตของเราให้สงบ ความคิดทำให้เราฟุ้งซ่าน สิ่งที่ทุกข์กันอยู่นี้ คนเกิด ทุกข์ก็เกิดจากใจ ทุกข์โดยสามัญสำนึก ทุกข์มันเกิดจากอะไร ทุกข์มันเกิดมาจากความคิด เพราะมันจำความทุกข์อันนั้น สิ่งใดที่เจ็บปวดแสบร้อน จำได้ก็เป็นความทุกข์ แล้วมันก็คิดสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วใครเป็นคนคิด พลังงานเห็นไหม ตัวอวิชชา ตัวรู้ แล้วสิ่งที่ถูกรู้ล่ะ

สิ่งที่ถูกรู้คืออะไร คือความคิด พอความคิดมันคิดออกไป พอคิดออกไป นี่ไง มันก็เป็นการแสดง จิตมันแสดงไง อาการของจิตมันแสดงให้ดู เราก็เชื่อ ร้องไห้ เสียใจ ดีใจ ไปกับความคิดของตัว นี่ไง จิตมันแสดงออกไป แล้วเราก็ตามมันไป เป็นธรรมะแล้วหรือ เป็นธรรมะหรือยัง นี่ธรรมเสมือนจริง เวลาพูดธรรมะนะ พูดปากเปียกปากแฉะเลย เหมือนจะรู้ แต่ไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร เพราะมันพูดผิด

ถ้าธรรมะจริง มันจะพูดถูกต้อง ความที่มันจะถูกต้องขึ้นมา ถูกต้องเพราะอะไร เพราะมันรู้จริงเห็นจริง คนที่เคยรู้จริงเห็นจริง คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของมัน สิ่งที่ศึกษามามากมายขนาดไหน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษาก็ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่เวลาปฏิบัติต้องวางไว้

หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเป็นมหา เวลาไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรกเห็นไหม เวลาศึกษาจบแล้วก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะออกประพฤติปฏิบัติ แต่ก็ศึกษามาหมด นิพพานก็รู้เข้าใจหมด แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้อะไรเลย เวลาไปหาหลวงปู่มั่น เพราะท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านสงสารมาก สงสารผู้ประพฤติปฏิบัติ การศึกษานี้เป็นประโยชน์ไหม เป็น! เป็นประโยชน์กับเรา เพื่อเป็นแนวทาง

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ พอมันมีสิ่งนี้อยู่ เวลาปฏิบัติมันก็ชอบเทียบเคียง ท่านถึงได้บอกกับหลวงตาว่า มหาสิ่งที่เรียนมานี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชิดชูไว้บนหัว แล้วต้องเก็บทะนุถนอมไว้ก่อน ให้เก็บความรู้สึกที่ศึกษามาโดยข้อมูลเห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เก็บใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ด้วย อย่าให้มันออกมา ถ้าออกมานะ มันจะเตะ มันจะถีบกัน จะเตะจะถีบหมายถึงว่า ความคิดของเรามันมีใช่ไหม อวิชชาความที่เราไม่เข้าใจ แล้วพอศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เป็นการตีความ

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติไปนั้น มันจะเป็นข้อเท็จจริง ถ้ามันฟุ้งซ่านมันก็มีความทุกข์ ถ้ามันสงบขึ้นมามันก็เป็นสมาธิ ถ้ามีสมาธิมีฐานขึ้นมา เวลามันออกวิปัสสนา มันจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา โลกุตตรปัญญา ไม่ใช่โลกียปัญญา โลกียปัญญาคือ ปัญญาเกิดจากอวิชชา เกิดจากภพ เกิดจากความคิดของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันก็แสดงให้ดูไง ธรรมะจะเป็นอย่างนั้น สัจจะความจริงจะเป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริง ใจมันยังไม่เป็น เพราะใจมันยังไม่สงบเข้ามา มันเตะ มันถีบกันอย่างนี้ไง

ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา จะต้องรู้สัจจะความจริงข้อเท็จจริงในหัวใจ ถ้ารู้สัจจะข้อเท็จจริงในหัวใจ เราเป็นครูบาอาจารย์เขาใช่ไหม แล้วเขามาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กันไปเพื่ออะไร ก็เพื่อจะแนะนำสั่งสอน จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของลูกศิษย์ที่ปฏิบัติ มันยังไม่รู้จริงเห็นจริง มันก็ต้องคาดหมายไปเป็นธรรมดา

ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเห็น สิ่งที่เห็นเป็นนิมิต เห็นจริงไหม เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะสัตตะ สัตตะเป็นผู้ข้อง ใจมันยังไม่จริง แล้วมันแสดงออกให้เราดูเป็นธรรมะ เวลาธรรมเกิดในผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วธรรมเกิด หมายถึงปัญญามันเกิด เวลาจิตมันสงบเข้ามา ถ้าเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา มันจะผุดขึ้นมาเลย ผุดขึ้นมาเป็นบาลีเลย หรือผุดขึ้นมาเป็นสัจธรรม เป็นข้อๆ เลย นี่ไงถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็จะเข้าใจว่าธรรมเกิด คำว่าธรรมเกิด คือ สัจธรรมมันเกิด

ในเมื่อจิตสงบ จิตนี้มันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง จิตนี้มันเคยสร้างบุญกุศลมา สร้างบาปอกุศลมา ความเศร้าหมอง ความผ่องใสในใจมันมีอยู่ พอมันมีอยู่ จิตมันสงบเข้าไปถึงข้อมูลนี้มันก็แสดงออก พอมันแสดงออก เรามีอวิชชาใช่ไหม สิ่งที่เป็นข้อมูลกับตัวพลังงาน พลังงานคือตัวจิตใช่ไหม พอมันแสดงออกขึ้นมา ตัวพลังงานคือตัวจิต สิ่งที่แสดงออกนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ เป็นข้อมูล เราไปเห็นเข้าเราก็ตื่นเต้น เพราะอะไร เพราะตัวจิตมันไม่รู้จักตัวมันเอง

พอธรรมมันเกิด มันก็ตื่นเต้นไปกับธรรมนั้น ธรรมะแสดงอย่างไร มันก็ดีใจเสียใจกับธรรมะ พอเกิดขึ้นมา ก็อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นอีก นี่ไงกิเลสเกิดตรงนี้ไง สัจธรรมมันเกิด แต่สัจธรรมมันเกิดเพราะจิตเราเป็นอวิชชา จิตเราไม่รู้ มันถึงได้หลงไป เห็นไหม พอธรรมเกิดขึ้นมา สัจธรรมมันเกิด แต่ไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธะ มันเกิดแล้วมันดับไป แล้วตัวจิตมันรู้อะไร ไม่รู้อะไรเลย รู้สิ่งที่รู้เห็นไง แต่ตัวมันเองมันไม่รู้อะไร ในเมื่อตัวมันเองไม่รู้อะไร นี่ไง เหมือนว่ารู้นะ ธรรมะเกิด

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ เข้าใจหมดเลย เทศนาว่าการได้เลย แต่! แต่มันเป็นสภาวธรรม ไม่ใช่อริยสัจ นี่ไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณเท่านั้นถึงจะชำระกิเลสได้ เมื่อมรรคญาณเท่านั้นที่ชำระกิเลสได้ เราถึงต้องทำให้จิตเราสงบเข้ามาให้ได้ก่อน ถึงมันจะรู้ออกไป มันตื่นเต้นไปกับเขา พอรู้ว่ามันไหว มันก็เป็นอดีตอนาคต มันอยากได้อยากดีไปกับเขา มันก็สะสมสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟมาเผาใจตัวเอง เผาใจเรานะ

ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ควรจะเป็นคติเตือนใจ เพราะได้รู้ รู้เพราะอะไร เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตมันสงบเข้ามา จิตมันมีฐานของมัน มันมีข้อมูลของมัน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ทรัพย์ภายใน ทรัพย์จากความรู้สึกในหัวใจ เห็นไหม นี่ไง เวลาเราเสียสละกัน ทำบุญกุศลขึ้นมา ใครว่าเสียสละแล้ว แล้วเราจะไม่ได้สิ่งใด สิ่งที่เราเสียสละออกไปเป็นวัตถุ แต่หัวใจเราได้อำนาจวาสนา ได้บุญญาธิการ สิ่งนี้มันสะสมมาเห็นไหม

สิ่งที่สะสมมานั้น ถ้ามันแสดงออกมา จิตของคนมันไม่เหมือนกัน มีคุณค่าไม่เท่ากัน การกระทำถึงแตกต่างกัน การประพฤติปฏิบัติ มันถึงต้องให้เป็นตามความเป็นจริงของแต่ละดวงจิตนั้น ถ้าแต่ละดวงจิตนะ ใครชอบอะไรล่ะ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เป็นได้ทั้งสมถะ คือกรรมฐาน คือความสงบ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา เพราะโดยสัจจะความจริง จิตมันก็ติดข้อง ติดข้องที่ไหน ติดข้องที่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ของเราก่อน

ถ้าไม่มีเรา เราจะรักใคร ถ้าไม่มีเรา เราจะหวงแหนใคร เพราะมันติดในตัวเราก่อนใช่ไหม ถ้าเราทำสมถะขึ้นมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เรากำหนดเป็นคำบริกรรมก็ได้ ใช้ปัญญาใคร่ครวญก็ได้ จะใคร่ครวญขนาดไหนก็แล้วแต่ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือทำสัตตะผู้ข้องไม่ให้มันข้อง รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี่ไง จิตที่มันเป็นอวิชชาที่มันไม่เข้าใจ รูป รส กลิ่น เสียง ว่าเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันถึงบูชาอวิชชาไง

มันบูชาหัวใจ บ่วงของมารมันก็ล่อว่าเป็นพวงดอกไม้ มันก็ให้ติดให้พอใจไปหมด เสียงสรรเสริญ เสียงเขาติชม ชอบ อยากรู้ อยากเห็น อยากรู้อยากเห็นทุกอย่างเลย แต่ตัวมันเองไม่รู้จักตัวมันเองเห็นไหม สิ่งที่เป็นหัวใจมันไม่รู้จักตัวของมันเองเลย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราเปลี่ยนจากอารมณ์ความรู้สึกอันหนึ่งให้มันไปอยู่ในสัจธรรม เห็นไหม คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายเป็นยมทูตให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทิ้งชีวิตจากราชวังออกประพฤติปฏิบัติเลย คนที่มีอำนาจวาสนาเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนหัวใจนะ

เราเกิด เราแก่ เราเจ็บ เราตายซะเอง เราก็เห็นกันอยู่ตลอดเป็นเรื่องธรรมดา นี่ไง มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นความจริง มันเป็นความจริงโดยสมมุติ แต่มันมีความจริงที่เหนือกว่านี้อีก มันมีความจริงที่ว่าเราจะพ้นออกจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ในเมื่อมีมืดมันก็มีสว่าง มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็ต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ในเมื่อไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันจะมาจากศูนย์จากสิ่งที่มันไม่มีอะไรเลยหรือ มันก็มาจากเรานี่ไง มันมาจากผู้ที่เกิดแล้ว ในเมื่อจิตของเราเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีแล้ว เราศึกษาแล้ว เพราะอะไร เพราะจิตดวงนี้มันมาเกิด นี่ไง เวลาพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้วเห็นไหม ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นภารา หเว ปัญจักขันธา

แต่ของเราในปัจจุบันนี้ มันเป็นขันธมาร มันไม่ใช่เป็นภาระ เพราะอะไร เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ พระที่สิ้นกิเลสไปแล้วจะบอกว่าพญามารมันได้แต่ซาก ได้แต่กองกระดูก ได้แต่ร่างกายนี้ไง แต่หัวใจของท่านหลุดพ้นออกไปแล้ว หลุดพ้นออกไปจากพญามาร มารตามรอยนั้นไม่ได้ มันถึงเป็นภาระ ภาระเพราะอะไร เพราะพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว มันยังมีชีวิตที่เหลืออยู่เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ กับ อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไป

ในเมื่อชีวิตนี้เกิดมา ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้คือสัตตะผู้ข้อง แล้วมันได้แก้ไขของมันจนมันสิ้นกิเลสไป ในเมื่อสิ้นกิเลสไป ก็ต้องเข้าใจว่าวิธีสิ้นกิเลสมันสิ้นอย่างไร นี่ไง สิ่งนี้ถึงเป็นภาระ เป็นภาระพาขับถ่ายให้ชีวิตนี้สิ้นไป เห็นไหมพระอรหันต์ไม่อยากตายและไม่อยากอยู่ ถ้าอยากตายมันก็เป็นอยากตายไง เป็นพระอรหันต์แล้วจะพ้น จะตายไป ไม่ต้องแบกรับธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ที่มันเป็นภาระหน้าที่ แต่ถ้าทิ้งไปก็เป็น อนุปาทิเสสนิพพานคือสิ้นกันไป

การกระทำอย่างนั้นมันก็ไปตัดรอนใช่ไหม ตัดรอนเรื่องกรรม เรื่องที่มันเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน ถ้าพูดถึงว่าสิ้นไปแล้ว มันจะสะดวกสบายกว่านี้ไหม แต่ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ชีวิตที่ว่าการเกิดและการตายนี้ เกิดมาแล้วมันมีโอกาสได้แก้ไข ถ้ามีโอกาสได้แก้ไขกันที่นี่ มันถึงจะชำระล้างกันที่นี่ ถ้ามันชำระกันที่นี่เห็นไหม สิ่งที่เป็นบ่วงของมารเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ก็ทำให้เราฟุ้งซ่านออกไป คิดออกไป ยึดออกไป ก็ส่งออก

แล้วย้อนกลับมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่ว่าเป็นวิปัสสนาสายตรงๆ นั้น มันจะตรงมาจากไหนในเมื่อจิตใจมันเป็นสัตตะ จิตใจมันเป็นผู้ข้อง มันจะตรงไปไหนในเมื่อใจมันเป็นอวิชชา ในเมื่อใจมันมีสิ่งที่เป็นกิเลสบวกเข้ามา มันจะเอาวิปัสสนามาจากไหน มันเป็นปัญญาโดยสามัญสำนึกไง มันเป็นปัญญาของเราเห็นไหม

นี่ไงถึงว่าเวลาเราตรึกในธรรม ก็เหมือนเราจะเข้าใจ แล้วการตรึกในธรรมนะ ถ้าจิตมันละเอียดเข้ามา มันจะตรึกได้ลึกซึ้งกว่านั้น วันนี้เราตรึกได้ลึกซึ้งอย่างนี้ ธรรมะนี่สุดยอดแล้ว พอวันต่อไปจิตมันละเอียดเข้าไป รู้ดีกว่านี้อีก ทำไมธรรมะมันละเอียดเข้าไปได้ล่ะ อันนี้ทำไมครั้งที่แล้วเราไม่รู้ล่ะ แล้วถ้าจิตมันหยาบออกมา มันก็ไปเอาแต่สิ่งที่หยาบๆ

ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันเป็นสมถะทั้งหมด ในการประพฤติปฏิบัติทุกวิธีการ ทุกลัทธิ ผลของมันคือสมถะทั้งหมด ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา พอจิตมันสงบเห็นไหม ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา มันถึงไม่เหมือนไง ถ้ามันยังมีจิต มีผู้รู้ มีสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์ความรู้สึก มันยังยึดกันอยู่ มันเป็นสองไง มันเป็นจิตกับอารมณ์กระทบกัน มันมีจิต มีอารมณ์ ถึงจะมีความคิดขึ้นมา มันเป็นสองไม่เคยเป็นหนึ่งเลย สิ่งที่ไม่เป็นหนึ่ง มันก็เข้าไปชำระล้างสิ่งที่เป็นอวิชชาไม่ได้

เพราะอวิชชามันอยู่ที่ใจ มันถึงต้องทำความสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามานั่นคือหนึ่ง จิตเป็นสมาธิ เอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น ในเมื่อจิตที่เป็นหนึ่งแล้วจิตแก้จิต ถ้าจิตแก้จิต จิตจะออกวิปัสสนาเพื่อชำระล้างมันอย่างไร จิตมันติดในอะไร ก็ติดในตัวมันเอง ในตัวมันเองคืออะไร เพราะมันมีความเห็นผิดใช่ไหม ว่าสรรพสิ่งนี้จะต้องเป็นเรา โดยสามัญสำนึกของกิเลสจะเป็นอย่างนั้น เพราะเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เราเป็นชาวพุทธกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว บอกว่า สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่เรา ทุกสิ่งก็ไม่ใช่เรา ร่างกายก็ไม่ใช่เรา เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ก็พูดกันปากเปียกปากแฉะเลยนะ ดูเหมือนว่าเทศน์เก่งมาก แต่หัวใจมันเศร้าหมอง กลัวตาย กลัวทุกๆ อย่าง เวลาคิดถึงความตาย มรณานุสสติ ถ้าคนคิดถึงความตายตลอด ว่าเราจะต้องตายไป เราจะมีสติ เราจะไม่ประมาทกับชีวิต

แต่พอคิดถึงความตายแล้วมันก็ยังเศร้าหมอง มันกลัวเป็นกลัวตาย มันต้องปฏิเสธตลอดเวลา ก็จะคิดเรื่องอื่น อารมณ์อื่นเข้ามาทดแทน เพื่อไม่ให้คิดถึงอารมณ์อย่างนี้ กิเลสมันผลักไส กิเลสมันไม่ยอมรับ แล้วมันจะเป็นความจริงไหม คือเราอยากได้ของปลอมไง เราอยากได้สิ่งที่กิเลสมันพอใจไง สิ่งที่เราทำไปแล้วมันพอใจกิเลส เห็นไหม

เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนแล้วค่อยปฏิบัตินะ เพราะกิเลสมันต่อต้าน จะทำสิ่งใดก็เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ ก็เราจะชำระกิเลส สิ่งที่เป็นอย่างนั้น ก็จะเอามึงนั่นล่ะ เอาตัวเองนั่นล่ะ สิ่งที่เป็นตัวเองขึ้นมา มันจะขัดแย้งไปตลอดเวลา กิเลสเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา แล้วก็ขาอ่อนหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเรามีความเพียรชอบ เรามีความมุมานะอุตสาหะ เราจะตั้งใจของเรา สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมา ต้องพิสูจน์กัน

ถ้าความคิดอย่างนี้ เราใช้ปัญญาอย่างนี้ ผลของมันก็คือปล่อยวาง การปล่อยวางนี้ คนเรามันเสพสิ่งใด มันพอใจเต็มที่แล้วมันก็ปล่อยวางเหมือนกัน นี่ไงธรรมะโลกๆ แล้วก็บอกว่านิพพานเป็นความว่าง นี่ก็ว่างแล้วไง ว่างโดยที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ว่างโดยที่ไม่มีสิ่งใดเป็นคติธรรม เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่จะได้ชำระล้าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่ง ใดๆ เลย เหมือนว่าจะรู้

ที่ว่าศาสนาเจริญ เวลาเจริญก็เจริญโดยอาการ โดยความคิด โดยสิ่งภายนอก แต่ตัวเองว่างเปล่า ตัวเองเป็นโมฆบุรุษ ไม่รู้สิ่งใดๆ เลย เวลาแสดงออกมา ถึงทำสิ่งนั้นให้เป็นความเสียหาย เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ แต่ยังไปสอนคนอื่น แล้วมันจะรู้จริงได้อย่างไร แต่ถ้าเรารู้จริง เราต้องเห็นจริง เวลากิเลสขาดมันดั่งแขนขาด ดั่งแขนขาดเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา ความรู้มันต่างกัน พิจารณากายเห็นไหม เวลาเห็นกาย โลกเขามีตาเขาก็เห็นกันทุกคน เห็นนั้น มันเป็นโลก เพราะยิ่งเห็นมันยิ่งกระตุ้นกิเลสของเรา

แต่ถ้ามันเห็นโดยธรรมคือจิตเห็น เวลาจิตเห็น จิตมันสงบเข้ามา จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ถ้าน้อมไปแล้วจิตเห็นกาย มันจะสะเทือนกิเลสมาก เพราะสิ่งนี้มันซ่อนไว้ใต้พรม มันซ่อนไว้ในหัวใจ สิ่งที่เป็นสังโยชน์มันซ่อนอยู่ในหัวใจ ถึงได้บอกว่าสิ่งที่พูดกันอยู่นี้ มันพูดกันโดยผิวเผิน พูดโดยอาการ พูดโดยความรู้ที่ศึกษามา แต่ความจริงมันอยู่ที่ใจ พอจิตมันสงบเข้ามาเป็นหนึ่ง มันย้อนไปมันเห็นข้อเท็จจริง มันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจมากเพราะอะไร

เพราะสิ่งนี้เป็นสัจจะ สิ่งนี้เป็นความจริง แต่ความคิดของเรา คิดโดยสัตตะผู้ข้อง มันคิด มันยึดมั่นถือมั่นโดยความปลอม ปลอมโดยอวิชชา ปลอมโดยมารไง แค่เห็นนะมันยังสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจแล้ว ถ้าจิตไม่มีฐานมันก็จะหลุดไปเห็นไหม นี่ไง กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน จิตเป็นผู้ออกวิปัสสนา จิตที่ออกเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้ออกไปค้นคว้า ถ้าจิตเป็นผู้ออกค้นคว้านี้ถึงจะเรียกว่ามีการค้นคว้า มีการกระทำ

เหมือนเศรษฐี มหาเศรษฐี แล้วเสียสละออกไป นั่นถึงจะเป็นความจริง แต่นี่คิดว่าเราเป็นเศรษฐี เราไม่มีอะไรให้เสียสละเลย แล้วเราก็บอกว่าเราปล่อยแล้ว เราวางแล้วเห็นไหม มันเลยเหมือนจริง เพราะคิดว่าเรามีปัญญาไง เหมือนจริง คำว่าเหมือนจริง แต่เวลาอธิบายมา อธิบายเหมือนจะถูกนะ เหมือนจะถูกต่อเมื่อกับคนที่มีอวิชชาด้วยกัน คนที่ไม่รู้ด้วยกัน คนตาบอดจูงคนตาบอด ไอ้คนตาบอดที่มันให้คนตาบอดจูง มันก็คิดว่าคนจูงนั้นตาดี มันก็ยอมให้จูงไง

แต่ถ้าเป็นคนที่ลืมตา ตาที่มันเปิดแล้วนะ จะไม่ยอมเด็ดขาด เพราะคนตาบอดมันเดินไปมันจะสะเปะสะปะ เวลาเหมือนจริงมันจะเป็นอย่างนั้น เหมือนจริง แต่เพราะสังคมมันบอด พอสังคมบอดมันถึงเชื่อถือกัน แต่ถ้าสังคมมันลืมตาขึ้นมานะ จะเห็นอาการของการกระทำอย่างนั้น มันไม่ใช่ทาง เหมือนแม่ปูบอกว่า ลูกเดินให้เหมือนแม่นะ ให้ ตรงๆ เหมือนแม่ แต่แม่มันเดินคดเคี้ยวมาก

เห็นไหม ธรรมะเสมือนจริง เพราะคำว่าเสมือนมันเป็นสอง มันเป็นตัวอวิชชากับธรรมะ แต่ถ้าเป็นธรรมะจริงมันจะฆ่าอวิชชา มันจะฆ่าสิ่งที่อยู่ในหัวใจ การฆ่ากันทางโลก การทำลายกันทุกอย่างในโลกนี้ มันสร้างเวรสร้างกรรม แต่ถ้าการฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนานะ อนุโมทนากับเรา เราถึงจะต้องให้มันเป็นตามข้อเท็จจริงขึ้นมา ถึงต้องกำหนดศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมานะ ในเมื่อมีสมาธิ มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน ให้ตั้งใจทำ ถ้าเรามีความตั้งใจ มันจะเป็นความจริง คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ถ้ามีความเพียรชอบ ผลที่ตอบสนองมันจะเป็นความจริง ถ้าความจริงมันไม่ชอบ มันเศร้าหมองมันก็ไม่เป็นความจริง เราถึงต้องตั้งสติแล้วใคร่ครวญ ไม่ต้องทุกข์ใจ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเทียบเคียงกับใคร อำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนแต่ละคนมันสร้างมาแตกต่างกัน เราถึงไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร ทุกข์ก็ทุกข์ของเรา สุขก็สุขของเรา แล้วถ้าเขาประพฤติปฏิบัติ ทุกข์ก็ทุกข์ของเขา สุขก็สุขของเขา มันไม่เหมือนกัน

ในการกระทำนั้น พระอรหันต์ล้านองค์ การประพฤติปฏิบัติก็ล้านอย่าง ไม่เหมือนกัน แต่โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอริยสัจอันเดียวกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่วิธีการ การกระทำแตกต่างกัน แตกต่างกันเพราะจริตนิสัย การกระทำจะต่างกัน เราถึงพยายามทำความสงบของใจเราเข้ามา ใครจะเดินหน้าถอยหลังมันเป็นเรื่องสมบัติของเขา เราตั้งใจของเราแล้วกำหนดคำบริกรรม ถ้ามันเป็นพุทธจริต ในเมื่อมีปัญญามาก เราก็ใช้ตรึกในธรรม ตรึกในธรรมก็ตั้งสติไปด้วย ตรึกในธรรมขนาดไหน ผลก็คือปล่อยวาง

พอปล่อยวางมันก็คิดอีกโดยธรรมชาติของมัน แล้วมีสติตามไป มันปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า พอปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า มันจะเห็นโทษ เวลาเราปล่อยวางแล้วมีความสุข แต่เวลามันไม่ปล่อยวางมันมีความทุกข์ แล้วความสุขความทุกข์มันเกิดมาจากไหน มันเกิดจากจิตโง่ เพราะจิตของเราโง่เอง เราก็ตั้งสติขึ้นไป เราเปรียบเทียบนะ เวลาปล่อยมันปล่อยเพราะเหตุใด เวลามันไม่ปล่อย มันไม่ปล่อยเพราะเหตุใด

พอสติมันเข้าไปมันตามไปเห็นอาการที่ปล่อย มันออกมากับความรู้ มันรู้เพราะอะไร ตามเข้าไปเถอะ มันจะเห็น มันจะรู้เลยว่าสิ่งที่มันไม่ปล่อยนั้น ไม่ปล่อยเพราะมันไปติดใน รูป รส กลิ่น เสียง ถ้ามันไล่เข้าไปแล้ว มันจะเห็นโทษของมัน มันปล่อยบ่อยครั้งเข้า จนมันปล่อย รูป รส กลิ่น เสียงเป็นตัวของมัน จิตตั้งมั่น จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ แล้วตั้งสติให้ดี สังเกตให้ดี

การสังเกตนะ พอจิตมันตั้งเป็นเอกัคคตารมณ์ มันตั้งไว้ สมาธิเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง โดยธรรมชาติของมัน โดยสัญชาตญาณ มันต้องมีความคิดเป็นธรรมดา ขณะที่มีความคิดเป็นธรรมดา โดยสามัญสำนึกของโลกียปัญญา เราจะไม่เห็นของเรา เพราะมันเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมด แต่ถ้ามันตั้งมั่น มันมีสติ เราจะควบคุมได้ มันเป็นกัลยาณปุถุชน เวลาออกนี่ เราตั้งสติไว้ มันจะเห็นเลยนะ จิตเห็นอาการของจิต เห็นความคิด ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด ความคิดมันเกิดดับต่างๆ มันเห็นของมัน มันจับต้องได้

เหมือนกับการเห็นกาย การเห็นกายโดยจิต มันสะเทือนถึงกิเลส นี่ก็เหมือนกัน การเห็นจิต เห็นอาการของจิตโดยข้อเท็จจริงของมัน ถ้ามันจับได้ มันจะตื่นเต้นมากนะ แล้วใช้ปัญญา วิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนาเกิดเมื่อ จิตเห็นกาย จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต พอจิตเห็นจิต มันจับต้องแล้ววิปัสสนาไป นี่ไง จิตเห็นจิต มันเป็นสองใช่ไหม สิ่งที่เป็นสองนี้ ความคิดที่มันแสดงให้เราเห็นนี้ ที่มันหลอกเราอยู่ตลอดเวลานี้ มันเคยแสดงให้เราดูใช่ไหม มันหลอกอยู่ข้างในใช่ไหม

ในเมื่อจิตเราทำความสงบเข้ามานี้ จิตของสัตตะผู้ข้อง มันไม่ข้องในตัวมันเอง มันรู้จักตัวมันเอง รู้จักสมาธิ รู้จักตัวเรา รู้จักขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ปล่อยวางมา ปล่อยวางมาเห็นไหม พอปล่อยวางมามันก็เสวยอารมณ์อีก มันก็คิดอีก เดี๋ยวก็ปล่อยเข้ามา เพราะสติเราไล่เข้าไป ปัญญาอบรมสมาธิ อบรมมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะปัญญา

ถ้าปล่อยวางเพราะปัญญา สติมันทัน ปัญญาทันเห็นไหม ปัญญาทันสติทันนี้มันทันอะไร ทันสัตตะผู้ข้อง ไอ้สัตตะ ไอ้พวกติดข้อง ไอ้หลง พอมันทันนะ เอ็งไปเสวยอารมณ์ทำไม เอ็งไปคิดทำไม เอ็งทุกข์ทำไม ทุกข์สุขนี้เกิดเพราะเอ็งไม่เข้าใจทั้งหมดเลย แล้วพอสติเข้าไป มันก็เป็นหนึ่งเห็นไหม มันจะไม่มีใครมาแสดงให้ดูไง มันจะไม่มีความเหมือน ที่เหมือนเทียบเคียงกับธรรมะไง มันจะเป็นความจริงขึ้นมา เพราะมันจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเวลามันตั้งมั่นแล้วเห็นไหม พอตั้งมั่น มันเห็นอาการของมัน เห็นความคิด

ความคิดประกอบไปด้วยอะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกของเรานี้ ถ้าคนมีสตินะ คนมีจิตตั้งมั่น เราจับความรู้สึกของเรา อารมณ์ความรู้สึก มันเป็นรูป แล้วอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา เกิดจากข้อมูล เกิดจากสัญญา สัญญาข้อมูลตั้งแต่พ่อแม่สอนเราตอนเด็กๆ สีเขียว สีแดง เรื่องสี เรื่องต่างๆให้แยกแยะ พอแยกแยะ นั่นคือเป็นการสื่อสารของโลก แต่เวลามันมีข้อมูลในจิต มันมีกิเลสตัณหาเข้ามาบวก สีที่ชอบ สีที่ไม่ชอบ สิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี มันบวกเข้ามา นี่คือสัญญา

เวลาสัญญามันกระทบ มันจะเทียบเคียง พอเทียบเคียงเห็นไหม สังขารปรุง สังขารคือดีหรือไม่ดี เวทนารับรู้ วิญญาณเชื่อม เชื่อมให้อารมณ์ มันเร็วมากนะ แว้บๆๆ อารมณ์ความคิดเกิดต่อเนื่องไปตลอดเวลาเลย แต่พอเวลาจิตมันสงบเข้ามา มันเห็นความต่าง เห็นพลังงานคือตัวจิต กับเห็นสิ่งที่เป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นสัญชาตญาณ มันก็แยกแยะได้ พอมันแยกแยะ มันเป็นความมหัศจรรย์ ของที่อยู่ซึ่งๆ หน้า เหมือนกับเพชร เราใส่เพชรไว้บนหน้าผาก แล้วเราก็หาไปทั่ว แต่ไม่เคยเจอเลย

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดมันอยู่กับเรา หามาตลอดไม่เคยเจอเลย แล้วก็พูดธรรมะนะ ธรรมะเป็นอย่างนั้น อู๊ย สัจธรรมเป็นอย่างนั้น “เหมือนจะรู้ แต่ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย” แต่ถ้าเราเห็นเรารู้ของเรา เราแยกของเรา แยกเพราะอะไร เพราะมันแยกเข้าไปเพื่อให้เห็นจริง

การพิจารณากายเห็นไหม ถ้าจิตมีกำลัง จิตเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่เห็นเป็นนิมิต รู้ สิ่งที่ถูกรู้ ถ้าเป็นนิมิตตามสิ่งที่เป็นโลก สิ่งที่ถูกรู้ เห็นจริงแต่ความเห็นนั้นไม่จริง แต่ถ้ามันเป็นนิมิตที่เป็นความจริง จิตมันจริง สิ่งที่เห็นก็จริง อุคคหนิมิต วิภาคะ เห็นกายแล้วแยกส่วน เห็นเป็นอวัยวะต่างๆ ให้มันวิภาคะให้มันแยกส่วนขยายส่วน

การแยกส่วนขยายส่วนมันคืออะไร มันคือไตรลักษณ์ มันคืออนัตตา แล้วสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์มันมีอยู่ไหม อารมณ์ก็เป็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างก็เป็นไตรลักษณ์ ชีวิตเราก็เป็นไตรลักษณ์ โลกนี้เป็นไตรลักษณ์หมดเลย แต่! แต่ไม่มีคนวิเคราะห์วิจัยมัน ไม่มีจิตเป็นผู้ที่ไปสัมผัส ไปวิเคราะห์วิจัยมัน เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต อยู่ที่สัตตะผู้ข้อง สัตตะผู้ข้องไปวิจัยมัน ไปวิเคราะห์มัน วิภาคะ ขยายส่วนแยกส่วน ให้จิตดวงนี้มันได้ศึกษา ให้จิตดวงนี้มันได้เห็นจริงของมัน นี่วิปัสสนาเป็นอย่างนี้ วิปัสสนานั้นต้องให้จิต ให้ความรู้สึกของเรานี้มันออกแยกแยะ ออกค้นคว้า พิจารณาไป ให้มันแปรสภาพ พอแปรสภาพไป มันคืนสู่สภาพเดิม จิตมันก็ปล่อย เพราะ! เพราะมันไม่มีอะไรให้ดู มันไม่มีอะไรให้คิด เพราะมันสลายไปต่อหน้า มันสลาย มันแปรปรวนไปตลอดเลย

แล้วสิ่งที่มีอยู่ต่อหน้า ของเราถืออยู่กับมือ แล้วมันหายไปต่อหน้าต่อตา มันสลายไปกับมือ ถ้ามันหายไปนี้คือไม่มีเหตุไม่มีผลนะ แต่สิ่งที่เราถืออยู่นี้ ทองคำถืออยู่กับมือ แล้วมันย่อยสลายด้วยสัจธรรม สิ่งที่รู้จริงเห็นจริงโดยสัจธรรม แล้วมันย่อยสลายไปต่อหน้า มันก็ “เอ๊อะ! นี่อะไร? นี่อะไร?” มันสะเทือนหัวใจมาก มันปล่อยหนหนึ่ง ก็ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการทำสมาธิ ด้วยการมีหลักตั้งมั่นของมัน แล้วออกวิปัสสนาไป มันจะปล่อยขนาดไหน ก็คือตทังคปหาน เพราะมันยังไม่ถึงที่สุดของมัน

ถ้าถึงที่สุดของมัน ถึงจะสมุจเฉทปหาน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ถ้าพิจารณากาย จิตก็เป็นผู้พิจารณากาย ที่มันเป็นอะไร เป็นสัจจะความจริง มันเป็นทุกข์ไหม ทุกข์มันเป็นอริยสัจใช่ไหม ทุกข์มันเป็นความจริงใช่ไหม สิ่งที่มันเกาะมันหลงมันถึงเป็นความทุกข์ใช่ไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ปุ๊บปล่อยหมดเลย นี่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา ผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะอธิบายได้หมด จะสอนได้ จะบอกได้ บอกด้วยสัจจะความจริง แล้วบอกถูกทุกคำพูด คนรู้จริงพูดจริง พูดออกมาคำไหนก็จริงหมด คนรู้ไม่จริงถึงจะพูดกี่คำ ร้อยคำก็ผิดร้อยคำ

ตทังคปหานนี่มันก็ปล่อยเหมือนกัน ที่บอกว่าเห็นอาการปล่อย ปล่อยแล้วสรุปอย่างไรล่ะ ปล่อยอย่างไร ปล่อยแล้วได้อะไร สิ่งที่ปล่อยนั้นใครปล่อย ไอ้คนปล่อยอยู่ไหน แล้วคนที่ปล่อยมา สมุจเฉทปหาน จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์เห็นไหม แยกออก พิจารณาจิตก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ สิ่งที่เป็นความคิดนี้ มันจับได้ ถ้าเป็นพุทธจริต สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก มันจะจับได้ เพราะอะไร เพราะอารมณ์มันมีอยู่กับเราตลอดเวลา ความคิดมันมีอยู่กับเราตลอดเวลา เราจะไปไหนเราจะทำอะไรอยู่ ความคิดก็มีอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านฉันข้าวอยู่ ปัญญามันก็หมุนของมันอยู่ มันหมุนเห็นไหม สิ่งที่ภาวนาเป็นแล้ว พอปัญญามันหมุน ไม่ว่าจะทำอะไร เราเดินไปนี้ เราเดินไปโดยสัญชาตญาณนะ แต่ปัญญาในหัวใจนี้เป็นธรรมจักร จักรมันหมุนมันจะพิจารณาของมันไปตลอด ถ้ามันจับจิต จับอาการของจิตได้ จิตจับอาการของจิตได้ มันก็วิปัสสนาไป รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พอจิตมันทันปั๊บมันปล่อยหมด

อารมณ์อย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ นี่เวทนา พอมันรู้ทันมันก็ปล่อย แล้วเวทนาจะเกิดได้อย่างไร เวลามันจะคิดใหม่นี่เทียบเคียงข้อมูลแล้ว นี่สัญญา สัญญาก็ปล่อย มันปล่อยนะ แต่มันไม่ขาด มันปล่อย ปล่อยเพราะอะไร ปล่อยเพราะปัญญามันไล่ต้อนเข้าไป วิปัสสนามันเกิดไง จิตมันวิปัสสนา จิต อาการของจิต มันวิปัสสนา มันทำลายกัน พอมันไล่เข้าไป แต่ทีนี้เพราะมันมีสังโยชน์ มันมีมาร มันมีสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในความคิดของเรา

ความคิดเห็นไหม ดูสิ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ละขันธ์อย่างหยาบได้คือพระโสดาบัน ละขันธ์อย่างกลางได้คือพระสกิทาคามี ละขันธ์อย่างละเอียดได้คือพระอนาคามี ถึงที่สุดแล้วนี่มันเป็นอวิชชา ไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นปัจจยาการ เป็นตัวจิต เป็นภพที่เป็นปัจจยาการขึ้นมา แล้วสายการบังคับบัญชาของมัน เห็นไหม จากอวิชชาออกมาเป็นขันธ์อย่างละเอียด ออกมาเป็นขันธ์อย่างกลาง ออกมาเป็นขันธ์อย่างหยาบ นี่เรายังไล่กันแค่ขันธ์หยาบๆ นะ ขนาดขันธ์อย่างหยาบ เรายังต้องต่อสู้กันหัวปักหัวปำขนาดนี้เลย

เวลามันเทียบเคียงขึ้นมา พอเวลามันไล่ มันปล่อยขนาดไหน สายการบังคับบัญชาของมาร ของอวิชชา มันบังคับบัญชามาถึงสิ่งที่ไปเกิดเป็นความคิด การเกิดการดับหยาบๆนี่แหละ เราเทียบเคียงด้วยปัญญาของเรา ไล่ต้อนเข้าไป มันจะปล่อย เพราะมันเป็นมาร สิ่งที่บังคับบัญชากันมา ดูสิ ดูพญามาร ลูกสาว คือ นางตัณหานางอรดี ปู่ก็มารพ่อก็มารลูกหลานเหลน ออกมาเป็นชั้นเป็นตอน

เราต่อสู้กับเหลนของมันเท่านั้นเองนะ เราต่อสู้กับกิเลสหยาบๆ เลย แต่ในการกระทำของเรา มันต่อสู้กับเรา ด้วยอำนาจวาสนา เราก็ว่างานนี้ละเอียดนัก งานนี้ต่อสู้ยากนัก แยกเข้าไป แยกเข้าไป เพราะมันยังมีงานข้างหน้าให้เราต่อสู้อีกมหาศาลเลย พอมันแยกเข้าไปมันปล่อย มันปล่อยก็มีความสุขนะ มีความสุขมาก ว่าง ว่าง มีความสุขมาก เพราะการปล่อยโดยสมถะ การปล่อยด้วยปัญญาอบรมสมาธินี้คือเราตามความคิด แล้วความคิดมันหยุดเฉยๆ แต่อันนี้เวลามันปล่อย มันปล่อยเพราะอะไร มันปล่อยเพราะจิตมันมีกำลัง

ธาตุรู้ สิ่งที่ถูกรู้ มันเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมด มันเป็นเรื่องของการกระทำในหัวใจทั้งหมด แล้วมันทำโดยเห็นจริงๆ เป็นรูป เป็นวัตถุเลย อารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง ความคิดอันหนึ่ง ความคิดเกิดดับเกิดดับนี่คือภพชาติเกิดมหาศาลเลย เราคิดว่าการเกิดภพเกิดชาตินี้คือชาติหนึ่ง ความคิดหนึ่งนั่นก็คือภพชาติหนึ่ง แล้วมันก็คิดต่อเนื่องกันไป

ทีนี้พอเราจับได้ เราแยกมัน แยกมัน พอแยกมัน มีเหตุผลอะไรถึงแยกมันได้ มีเหตุมีผลเพราะมันมีหลัก คือจิตมันตั้งมั่น จิตมีกำลังแล้วจับ แล้วมันแยก แยกแล้วเห็นผลของการปล่อย พอปล่อยแล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีก พอไปคิดอีกก็จับแยกๆ ถ้ามันแยกขนาดไหนแล้วมันไม่ถึงที่สุด มันไม่ขาด มันปล่อยขนาดไหนมันก็รู้อยู่นะ ถ้าตทังคปหานมันปล่อยด้วยปัญญา แต่ขณะจิตมันยังไม่เปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อถ้าจิตมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันก็คือปุถุชน

ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลงคือสมุจเฉทปหาน มันขาด สมุจเฉทปหานมันขาดขึ้นมา ก็วิปัสสนาแยกเข้าไปอีกนะ ในรูปก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเวทนาก็มีรูป มีความรู้สึกเหมือนกัน มีเวทนา แยกต่อเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป จากหนึ่งแยกเข้าไปอีก ให้ละเอียดเข้าไปจนถึงที่สุด ถ้าเราแยกด้วยปัญญานะ ถ้าคนทำงาน ถ้าจิตมันหมุนเป็นธรรมจักร นี่ไง “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาเกิดจากโลกุตตรปัญญา มันเกิดมาจากจิต เพราะจิตมันสงบเข้ามา สัตตะผู้ข้องที่มันไม่ข้องในตัวมันเอง มันรู้ในตัวมันเอง

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าเป็นสมาธิ ออกใช้ปัญญามันก็รู้ว่าออกใช้ปัญญา เพราะการออกใช้ปัญญา เห็นไหม คนเราเวลานอนหลับพักผ่อนเราก็รู้ใช่ไหม ลุกขึ้นมาทำงานเราก็รู้ เพราะเราเป็นคนลุกขึ้นมาทำงานเสียเอง จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นโดยโลก มันไม่รู้จักตัวมันเองเลย คนนอนหลับนะ ตื่นขึ้นมายังถามคนนอนข้างว่าๆ เรานอนหลับจริงหรือเปล่า เห็นไหม โลกจะไม่รู้อะไรเลย เพราะมันโดนครอบงำไว้

แต่เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา จนมันเป็นตัวของมันเอง เรารู้จักตัวของเราเองตลอดเวลา จิตมันมีกำลังของมัน แล้วเวลามันออกวิปัสสนา เราก็รู้เราก็เห็น เราทำของเราเอง เรารู้ของเราเอง เวลามันปล่อย ปล่อยอย่างไร เราก็รู้เองว่ามันปล่อย ถ้าคนประพฤติปฏิบัติด้วยข้อเท็จจริง เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญาที่มันจะประพฤติปฏิบัติง่าย รู้ง่าย มันจะรู้ได้เร็ว แต่เรานี้คือสัตตะผู้ข้อง คือเวไนยสัตว์ ก็ต้องถูต้องไถ

ในการปฏิบัติ เราต้องตรวจสอบ เราตรวจสอบของเรา เราต้องขยันหมั่นเพียรของเรา แล้วเวลาเราปฏิบัติไป ถ้าเราไม่ตรวจสอบ หรือเราไม่มีสติยับยั้งให้ดี เราประมาท เวลามันเสื่อม คำว่าเสื่อมนะ เวลามันวิปัสสนาไป เราจับความคิดด้วยพลังงาน แล้วมันแยกได้ มันปล่อยจะมีความสุขมาก แล้วจับอีก แยกอีก มันแยกไม่ได้ มันก็ยื้อกันอยู่อย่างนั้น เราต้องทิ้ง ทิ้งแล้วกลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือเอาความสงบอย่างเดียว ให้มีความสงบเข้ามา จนมันมีกำลังขึ้นมาแล้วออกไปจับใหม่มันจะรู้เลย จับใหม่เพราะอะไร เพราะถ้ามันเป็นความจริงนะ มันใช้ปัญญาไปแล้วมันปล่อยวาง อันนี้คือสมาธิดี

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาออกไปกับความคิด แล้วแยกแยะ แต่มันไม่ปล่อย มันไม่ปล่อย แล้วมันยื้อกัน มันยื้อกันคือว่าเราคิดขนาดไหน ดูสิ เราคิดแล้วมันไม่จบ คิดแล้วไม่จบ พิจารณาแล้วมันไม่จบ มันหมุนอยู่อย่างนั้นแต่มันไม่จบ นี่คือกำลังไม่พอ แต่กว่าจะรู้ได้นะ เวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านสอน เหมือนจะรู้เหมือนกัน “อื้อ เป็นอย่างนั้นล่ะ” แต่เวลาเราไปทำ ใจเรามันกึ่งๆ “น่าจะเป็นอย่างนั้น หรือจะเป็นอย่างนี้ ควรจะทำอย่างนั้น”

นี่ไง เพราะไม่รู้จริง เห็นไหม เหมือนรู้ ธรรมะเหมือนจริงแต่ไม่จริง แต่ถ้าธรรมะจริง พอสมุจเฉทปหานมันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พิจารณากายมันก็ละขันธ์ ๕ เหมือนกัน พิจารณาจิตมันก็ละขันธ์ ๕ เหมือนกัน ในตำราบอกว่าพระโสดาบันละขันธ์ ๕ ขาด ไม่ขาดหรอก แค่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะกามราคะมันก็เกิดจากสัญญา สิ่งที่เกิดกามราคะมันเป็นขันธ์อันละเอียด มันอยู่ที่วิธีการของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยวิธีการใด มันจะเข้าใจตามสิ่งที่เรามีการกระทำนั้น

เราจะทำสิ่งใด เช่น อาหารที่เราชอบ อาหารที่มันถูกใจ เราจะชอบสิ่งนั้น นี่ก็เหมือนกันถ้าปฏิบัติตรงจริต มันจะทิ่มแทงเข้าไปในหัวใจตลอด แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ตรงจริตเห็นไหม เราฝืน มันก็น่าจะได้เหมือนกัน แต่ยาก! แล้วไม่ได้ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไปแล้ว มันไม่ดูดดื่ม มันไม่มีความเป็นไป ต้องทิ้ง ทิ้งแล้วออกหา กาย เวทนา จิต ธรรม

ในการพิจารณากาย ถ้าพิจารณากายโดยเจโตวิมุตติ เห็นภาพกาย แล้วขยายส่วนเป็นวิภาคะ ถ้าพิจารณากายโดยปัญญาวิมุตติ ใช้ปัญญาเทียบเคียง เพราะเราจับใจของเราได้ ดูสิ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป ความคิดนั้นคิดในเรื่องอะไร คิดในเรื่องของกายไง เปรียบเทียบกับกาย คิดขึ้นมา เราเกิดมาเรามีร่างกายไหม แล้วสมบัติมันเกิดมาจากใคร ทุกคนในทางโลกเห็นไหม เขาแสวงหาสมบัติพัสถานกัน แต่เวลาทางธรรม สมบัตินั้นมีเพราะมีเรา ถ้าไม่มีมนุษย์ไม่มีเจ้าของ สมบัติมันก็เป็นแค่แร่ธาตุ สมบัติมันไม่มีคุณค่าเหนือกว่าชีวิตของคน

แต่คนไปเห็นสมบัติมีคุณค่ากว่าเรา เราถึงไปตื่นเต้นกับสมบัตินั้น ตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดจากสาธารณะของสังคม แต่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเห็นคุณค่าของชีวิต เห็นคุณค่าของการเป็นคน แล้วคนเราที่มีชีวิตอยู่ มันมีอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่จิต มันอยู่ที่ความรู้สึกอันนี้ แล้วถ้ามันย้อนกลับมาที่ความรู้สึกอันนี้ มันค้นคว้าเข้ามา นี่ไง ที่ว่าพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย มันเทียบได้ เทียบขึ้นมา มันจะเห็นคุณค่า เห็นความเป็นไป เทียบเคียงเข้ามาเรื่อยๆ เพราะปัญญามันเกิดแล้ว

มันจะไล่เข้ามาๆ จนถึงที่สุดนะ มันจะปล่อยวางบ่อยครั้ง จะบ่อยครั้งขนาดไหนก็แล้วแต่ มันอยู่ที่วาสนา บางคนปล่อยแล้วขาดเลย บางคนปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า เพราะสร้างบุญมาไม่เท่ากัน สังโยชน์ไง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันสำคัญที่สักกายทิฏฐิ เพราะความเห็นผิดในกาย ถ้าสักกายทิฏฐิมันขาด ความลังเลสงสัย สีลัพพตปรามาสมันจะเกิดได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากาย ถ้ามันจะเป็นไป มันขาดทันทีเลย ไม่มีความลังเลสงสัยในหัวใจเลย แล้วมันเป็นจริงขึ้นมา ไม่ใช่เหมือนจริงนะ ถ้าเปรียบกับคำว่าเหมือน มันเป็นอาการไม่ใช่ตัวใจ ตัวเป็นคือตัวใจเป็น ไม่ใช่อาการเป็น เพราะพระโสดาบันจะเกิดแค่อีก ๗ ชาติ ในวัฏฏะนะ แต่จิตที่มันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ดูสิ พระโพธิสัตว์ก็ยังต้องหมุนไป ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย หมุนไปตามวัฏฏะ ถ้าจิตที่ยังไม่ถึงที่สุด มันจะหมุนไปตลอดเวลา

แต่ถ้าเป็นโสดาบันก็อีก ๗ ชาติเท่านั้น ถ้ายังไม่ประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด เวลาเกิดขึ้นมาเห็นไหม มันจะมีอำนาจวาสนา มันเป็นออกมาจากหัวใจเลย จะไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาดในหัวใจเลย สิ่งนี้มันสร้างมา แล้วในปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้มันรู้จริงขึ้นมา รู้จริงปั๊บ คนเราประกอบธุรกิจการค้าต่างๆ ถ้ามีกำไรขึ้นมา มีผลตอบแทนขึ้นมามันก็จะแสวงหา มันก็อยากได้ มันก็ต้องมีการกระทำ

เราประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาตั้งแต่หญ้าปากคอก การกระทำอันนี้มันยาก ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นนี้จะยากมาก เพราะเราทำงานยังไม่เป็น แต่พอมันผ่านนะ สมุจเฉทปหานผ่านไปแล้ว เพราะสิ่งที่ผ่านคือการทดสอบ ลองผิดลองถูก ถ้าผิดมันก็จะดึงเราให้เสียเวลา แล้วถ้าเราไม่มีพื้นฐาน อินทรีย์เราไม่แก่กล้า มันจะดึงเราออกนอกลู่นอกทางเลย แต่ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้า มีภาวะที่รองรับ มีวุฒิภาวะของใจ มันจะฟื้นได้ จิตเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมในขั้นของสมาธิ เจริญแล้วเสื่อมในขั้นของปัญญา แต่ถึงที่สุดแล้วนะ ถ้ามันขาด ไม่มีเสื่อม เสื่อมอีกไม่ได้ เพราะมันเป็นอกุปปธรรม

มันคงที่เป็นพระโสดาบัน แล้ววิปัสสนาขึ้นไปเห็นไหม เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ต้องวิปัสสนาขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี แล้วการประพฤติปฏิบัติมันก็แตกต่างกัน พระโสดาบันพิจารณาไป ละสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดในกาย พระสกิทาคามี พิจารณาไปเป็นธาตุ ถ้าพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ คืนสู่สภาพเดิม วิปัสสนาเห็นไหม มันสู่สภาพเดิมของมัน มันแยกกายกับจิต

ถ้าพิจารณาจิต ขันธ์มันก็เป็นขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างกลางเพราะอะไร เพราะอุปาทานมันยึดมั่น มันก็ต้องวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดโลกนี้ราบ กายกับจิตแยก ในมหายานบอกว่า กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส จิตกับโพธิ จิตกับต้นโพธิ์ มันคนละเรื่องกัน กายกับจิตมันไม่ใช่อันเดียวกัน มันแยกจากกัน โลกนี้ราบหมดเลย ราบเพราะอะไร ราบเพราะมันถอนอุปาทานไง กามราคะปฏิฆะอ่อนลง ในเมื่อกามราคะปฏิฆะอ่อนลง จิตมันมีกำลังแล้ว คนกำลังทำงานเป็น จิตมันจะเดินหน้าต่อไป

แต่ถ้าพูดถึงคนที่ยังติดข้องอยู่ ที่ติดข้องอยู่เพราะไม่เทียบเคียงว่ามีมรรค ๔ ผล ๔ ในเมื่อมรรค ๔ ผล ๔ สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล จิตมันปล่อยหมด ว่างหมดนะ จะว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ มันมีสิ่งที่เป็นกามราคะอยู่ในหัวใจ โอฆะในใจ เพราะเวลากามกิเลส มันเกิดที่ใจนะ คนเราต้องมีความพอใจอยากได้ มันถึงแสวงหา มันมีข้อมูลของมัน ในเมื่อมีข้อมูลของมัน มันย้อนกลับมาที่นี่ มันจะว่างขนาดไหน มารมันก็รู้ ถ้าเรามีกำลังของเรา เรากำลังถากถางมัน มันก็จะหลบซ่อน

สิ่งที่หลบซ่อนนี้ มันไม่ใช่ว่ามันไม่ฉลาดนะ มันยังไม่ต่อสู้กับเรา มันหลบซ่อนเพื่อให้จิตเราไม่มีกำลัง มันก็ทำให้เราเกิดตายในวัฏฏะเห็นไหม แต่ถ้ามีสติ มีการเทียบเคียงขึ้นมา มันจะย้อนกลับ จิตย้อนกลับ สติ มหาสติ ถ้าเป็นสติ สติมันเป็นความสามัญสำนึกที่เราคิดได้ สติจะคิดได้ มหาสติมันละเอียดอ่อนกว่า เพราะสิ่งที่เป็นกามโอฆะ มันอยู่ในหัวใจ มันละเอียดอ่อนกว่า มันถึงต้องมีมหาสติเข้าไป ถ้าเข้าไปมันจะค้นคว้า

การประพฤติปฏิบัติมันมีอยู่ ๒ แนวทาง มีการกระทำอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือการขุดคุ้ยหาจำเลย การขุดคุ้ยหากิเลส เพราะกิเลสมันจะหลบมันจะซ่อน ถ้าเรามีกำลัง กิเลสมันจะไม่ปะทะ มันจะหลบ มันจะซ่อน หลบซ่อนเพื่อให้กำลังเราอ่อนลง สมาธิเห็นไหม เจริญแล้วเสื่อม ถ้าสมาธิเจริญแล้วเสื่อมมันก็อาศัยอยู่อย่างนั้น อาศัยในหัวใจเราอยู่ มันไม่แสดงตัว มันจะให้เราหลง ให้เราเข้าใจว่า เหมือนกับพระอรหันต์ แต่มันไม่จริงหรอก มันไม่จริง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังมีสิ่งที่ฝังอยู่ในหัวใจ

แต่ถ้าเราเทียบเคียง เราค้นคว้าหามัน เราต้องเจอ การขุดคุ้ยหาจำเลย การขุดคุ้ยหากิเลส มันต้องขุดต้องคุ้ย ที่เขาบอกว่าจิตสงบแล้วจะเห็นอวิชชา จิตสงบแล้วจะเห็นกิเลส มันเป็นไปไม่ได้ จิตจะสงบขนาดไหน สิ่งที่เป็นกิเลสมันสงบยิ่งกว่านั้น มันใสกว่านั้น เขาบอกว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา นี้เป็นการเทียบเคียงว่าในน้ำนั้นมันมีปลา เป็นการเทียบเคียงว่าในจิตที่สงบนั้นมันมีกิเลสอยู่ แต่ปลานั้นมันโปร่งแสง มันใสกว่าน้ำนั้นอีก เพียงแต่ว่า จิตสงบแล้วน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา เราก็คิดเป็นรูปธรรม ถ้าอย่างนั้นเราก็รอสิ รอให้ปลามันวิ่งมาชนเรา ไม่มีทาง!

เราต้องค้นคว้าหามัน ถ้าเราค้นคว้าหามัน เพราะเป็นมหาสติ มหาปัญญา ค้นคว้ามันจะจับต้องได้ ถ้าจับต้องได้นะ จับต้องกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ เพราะใจมันพอใจมันถึงเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ ก็แยกแยะมัน ถ้าพิจารณาโดยกาย มันจะเป็นอสุภะ การที่เราเข้าใจกันว่าการพิจารณากายเป็นอสุภะๆนั้น ไม่ใช่ การพิจารณากายเริ่มต้นคือ เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ สักกายทิฏฐิ พิจารณากายซ้ำไป มันคืนสู่สภาพเดิม สถานะเดิมของเขา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟเห็นไหม กายกับจิตแยกออกจากกัน พอพิจารณากายซ้ำเข้าไป นี่ สุภะ อสุภะ เกิดที่นี่ โดยสามัญสำนึกของกิเลส มันชอบสวยชอบงาม ทุกคนชอบคุณงามความดี ทุกคนชอบความดี คำว่าความดี ดีของกิเลสไง สุภะเพราะอะไร คำว่าดีของกิเลสมันคงที่ไม่ได้ ความดีมันเปลี่ยนแปลงมันเปลี่ยนสภาพตลอดเวลา ความดีของใครคงที่ เพราะมันเป็นกุปปธรรมเห็นไหม มันแปรปรวน สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมแปรปรวนตลอดเวลา แม้แต่ธรรมะมันก็แปรปรวนไปตลอด ธรรมะอย่างนี้มันเป็นสัจธรรม

แต่ธรรมะของเรา ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะที่มีเจ้าของ ธรรมะที่เป็นลิขสิทธิ์ของเรา เรารู้เองเห็นเอง ตัวเราเองเป็นเอง ถ้าตัวเราเองเป็นเองเห็นไหม สิ่งที่เป็นเองมันเห็นอะไร มันต้องใคร่ครวญของมัน นี่ไง มันถึงเป็นสัจธรรมขึ้นมา ถ้ามันจับต้องได้ ตัวเองที่มันเป็นกามราคะ มันถึงมีความเป็นไป อสุภะพิจารณาไป สุภะ อสุภะ โดยสามัญสำนึก โดยใจ โดยสัตตะ สัตตะอันละเอียดในใจมันชอบสุภะ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ พอจิตสงบ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติเห็นกาย มันเป็นอสุภะ

ถ้ามีกำลังนะ มันเป็นอสุภะเพราะอะไร มันเป็นอสุภะ เพราะจิตมันเป็นมหาสติ มันเป็นมหาปัญญา พอเป็นมหาสติมหาปัญญา มันเป็นอสุภะโดยธรรม เพราะอสุภะคือจิตเห็น จิตเห็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม เป็นวิปัสสนาญาณ เห็นจริงรู้จริง แล้วถ้าปัญญามันเป็นมัชฌิมา มันลงตัวเห็นไหม มันสมดุล หมุนทีหนึ่ง ปัญญาสมดุลทีหนึ่ง มันก็ปล่อยหนหนึ่ง ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วจนถึงที่สุดมันจะละเอียดเข้ามา มีความชำนาญเข้ามาจนถึงตัวมันเอง แล้วทำลายที่ตัวมันเอง

ถ้าพิจารณาโดยปัญญาวิมุตติ กามราคะ มันเกิดจากใคร ก็เกิดจากตัวมัน เกิดจากตัวจิต ถ้าเกิดจากตัวจิตมันเทียบเคียงได้ มันก็เทียบเคียง ตัวมันเองมันเสพในตัวมันเอง แล้วมันจะมีอารมณ์ความรู้สึกออกมา เป็นสายการบังคับบัญชาออกไปเป็นโลก ถ้าย้อนกลับมานี่แยกมันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดมันก็ไปครืนกันในหัวใจเหมือนกัน ครืนในหัวใจแล้วมันปล่อยหมดนะ พอมันปล่อยหมด ก็ยังเหลือเศษส่วน

เราเห็นภาพไหม เราเห็นวัตถุสิ่งใด แล้วเราจำภาพนั้นได้ไหม วัตถุกับภาพมันคนละอัน โดยข้อเท็จจริงจิตที่มันปล่อยกามราคะ เป็นข้อเท็จจริงของมัน แต่มันยังมีเศษส่วนอยู่ ถ้ามีเศษส่วนอยู่ เราก็วิปัสสนาซ้ำเข้าไป มันจะคลายสิ่งนี้ออก อนาคามี ๕ ชั้นไง สิ่งที่คลายนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตรงนี้เป็นเคล็ดที่สำคัญมาก อนาคามี ๕ ชั้นที่พิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันจะปล่อยหมด ปล่อยจนเป็นสสาร เป็นความว่างหมดเลย

แล้วในเมื่อตัวสสารเป็นความว่างนั้น ธาตุรู้นั้นมันเป็นความว่าง จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ตัวจิตเดิมแท้มันผ่องใส แต่มันหมองไปด้วยอุปกิเลส หมองไปด้วยความคิด หมองไปด้วยอวิชชา หมองไปด้วยตัณหาความทะยานอยากที่มันปกคลุมอยู่ แล้วเราเพิกถอน เพิกถอนจนมันถึงที่สุดจนถึงตัวมันเองแล้ว เพราะตัวมันเอง มันก็ว่ามันเป็นตัวมันเอง แล้วมันจะจับต้องตัวมันเองได้อย่างไร

นี่ไง มันถึงไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ เกิดจากจิต ระหว่างจิตกับขันธ์ ๕ ปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาจะละเอียดขนาดไหน มันก็เป็นขันธ์ ๕ แต่เวลามันละขันธ์ ๕ ละหมดแล้ว กามราคะได้ละหมดแล้ว ตัวมันเองปล่อยหมด แล้วใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้าไป มันยังคลายเศษส่วน คลายสิ่งที่เป็นข้อมูลที่ฝังใจออกมา พอคลายสิ่งที่มันฝังใจออกมา จนมันใสหมดเลย

ความผ่องใสนี้เป็นอวิชชา ถ้าเป็นอวิชชาแล้วจะจับมันอย่างไร จะเห็นอวิชชาได้อย่างไร เพราะอะไร “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง” ในเมื่อมันผ่องใสใช่ไหม มันก็มองสรรพสิ่งเป็นความว่างหมดเลย เพราะตัวมันผ่องใส มันว่ามันว่างอยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เป็นอวิชชานะ มันเป็นความอาลัยอาวรณ์ เป็นความคิดอันเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียว มันไม่มีการกระทบ แล้วมันจะรู้ตัวมันเองได้อย่างไร จนไปเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นนิพพาน ขณะที่มันหลงเห็นไหม ครูบาอาจารย์ติดตรงนี้กันเยอะมาก

ถ้าไม่มีหลวงปู่มั่น ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านไปก่อน แล้วใครจะแก้ สิ่งที่แก้ ให้แก้ตรงนี้ คือให้หัวใจ ให้พลังงานของตัวมันเองรู้จักตัวมันเอง ถ้ารู้จักจะเปรียบเทียบกับอะไร หลวงปู่ขาวท่านเปรียบเทียบใจนี้เหมือนเมล็ดข้าว ถ้าเมล็ดข้าวมันตกลงสู่ดินมันก็งอกอีก จิตนี้ความผ่องใสนี้ ถ้าจับไม่ได้ไม่รู้ไม่เห็นมัน มันก็ไปเกิดบนพรหม ของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ท่านก็ไม่เหมือนกัน

ถ้าเหมือนเห็นไหม เหมือน เหมือนจะรู้ ธรรมะเสมือนจริง เราไปเปรียบเทียบกับวิทยานิพนธ์ของคนอื่น แล้ววิทยานิพนธ์ของเรามันจะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร มันเหมือนจริง เราเปรียบเทียบอะไรก็เหมือนจริง มันเป็นสมมุติขึ้นมา มันเป็นการแสดงอันหนึ่ง ที่เขามีกันอยู่ แต่เราเทียบเคียงมาเป็นใจของเรา มันก็แสดงออกมา แล้วมันก็เป็นการสร้างภาพอันหนึ่ง มันก็ยังไม่จริงอยู่วันยังค่ำ

แต่ถ้ามันจะเป็นจริงของมัน เป็นพลังงานของมัน แล้วจับของมัน พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านนิสัยล้านการกระทำ จะพิจารณาอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน จะเหมือนกันไม่ได้ ถ้าเหมือนกันมันไม่เป็นธรรมะส่วนบุคคล มันเป็นธรรมะสาธารณะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง ในการปฏิบัติมันถึงเป็นประสบการณ์ของจิต จิตที่มันวิปัสสนาของมัน ก็ต้องเป็นประสบการณ์ของมัน มันทำของมันเอง จนถึงที่สุดมันจะเป็นสมบัติของเรา

เราจะรู้เอง จิตผ่องใส มันผ่องใสเพราะอะไร มันเป็นอะไรถึงผ่องใส แล้วจับมันได้อย่างไร การจับของมันเห็นไหม ถ้าจับได้ปั๊บ ถ้าจับได้นี่คืออรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรคนี่นะ สมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในตำราบอกว่า พระโสดาบัน มีสมาธิปัญญา ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระสกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระอนาคามี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์ต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สติ มหาสติ สติปัญญา มหาสติมหาปัญญา แล้วปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาญาณ ญาณซึมซับ ญาณที่ทำลายตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนเข้าไปในหัวใจ แล้วมันทำลายตัวมันเอง มันไม่ใช่การกระทบ

การกระทบระหว่างจิตกับอาการของจิต สิ่งที่กระทบกันนี้ มันเป็นปัญญาที่เราคิดได้ ความคิดกับจิตมันไม่ใช่อันเดียวกัน มันยังกระทบกระเทือน มันยังรู้สึกกันได้ แต่ตัวมันเอง ตัวของจิตเอง ตัวสิ่งที่ละเอียดผ่องใสเอง ที่เป็นพลังงานที่มันสะอาดของมันอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นสมาธิ มันเป็นปัญญาของมัน มันไล่เข้าไป แล้วมันซึมเข้าไปทำลายตัวมันเอง ต้องจับให้ได้ก่อน การจับให้ได้ การหาจำเลย การขุดคุ้ย การจับนี้ จับด้วยอะไร จับอย่างไร แล้วมันคืออะไร

เห็นไหมเช่นของครูบาอาจารย์ ที่เป็นจุดและต่อมของจิต พลังงานเกิดจากจุดเริ่มต้นของจิต แล้วจิตของเรามันคืออะไร การรู้จริงเห็นจริงการจับได้จริง มันถึงจะเป็นปัญญาจริงๆ มันถึงจะเป็นปัญญาญาณที่เข้าไป แล้วมันจะซึมซับเข้ามา แล้วทำลายตัวมันเองเห็นไหม ความจริงที่เกิดขึ้นมา มันถึงเป็นความจริงตลอดสายจากการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป “ไม่ใช่ความจริงเหมือน”

ถ้าความจริงเหมือน มันง่ายมาก มันศึกษาได้หมด คอมพิวเตอร์มันจำได้หมดนะพระไตรปิฎกเดี๋ยวนี้ก็เป็นคอมพิวเตอร์ เพียงอยากรู้ปัญหาก็กดได้เลย แล้วคอมพิวเตอร์มันเป็นอะไร ความจริงเหมือนไง เพราะมันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่สมบัติของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แล้ววางธรรมวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน เป็นศาสดาของเรา เป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นตัวอย่างแบบอย่างของเรา

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ มันจะเป็นสมบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติด้วยมีตัวอย่าง มีแบบอย่าง ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นศาสดาของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็เป็นประสบการณ์จริงของเรา ประสบการณ์จริงขึ้นมา มันก็เป็นความจริงของเรา นี่คือความจริงแท้ ความจริงในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความจริงแท้จากจิต ประสบการณ์ของจิต จิตที่กระทำกันขึ้นมาจริงๆ มันเป็นความจริง! จริงๆ

แต่ถ้าปฏิบัติเล่นๆ ปฏิบัติเล่นๆ กันเพราะอะไร เพราะเราห่วง เรากลัวจะทุกข์จะยาก การกระทำที่ทำขึ้นมาเราก็สร้าง สร้างวิธีการขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติกันด้วยวิธีการ มันเป็นเหมือนการแสดง เป็นเรื่องของการแสดง เห็นไหม ละครถ่ายทำแล้วสมจริง แล้วผู้ชมก็ว่าสมจริง เพราะอะไร เพราะแสดงได้ ทำได้ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็เป็นความจริงของเรา แสดงไม่ได้ ถ้าแสดงปั๊บ กิเลสมันซ้อนแล้ว กิเลสมันมีช่องว่าง แล้วกิเลสก็เอาอันนี้มาหลอกเรา

เราต้องประพฤติปฏิบัติกันด้วยความตั้งใจ อยากรู้จริงเห็นจริง แต่ก็ประพฤติปฏิบัติโดยให้กิเลสมันสร้างภาพหลอกตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติจริง พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง ล้านองค์ก็ล้านความประพฤติ ล้านวิธีการ ของใครของมัน ทำตามข้อเท็จจริง แล้วปฏิบัติจริงๆ แล้วเราจะรู้จริง เอวัง