เทศน์เช้า วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การประพฤติปฏิบัติ สมัยก่อนครั้งพุทธกาล เรื่องที่ว่าก่อนพุทธกาลไม่มีศาสนา ในลัทธิต่างๆ พวกฤๅษีชีไพรเขาไปย่างกิเลส เขาใช้ถ่านไฟแล้วก็เอาตัววิ่งขึ้นไปนอนย่าง เพื่อจะย่างกิเลส เขาทำอย่างนี้กันมา แล้วเขาเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือการชำระกิเลส เห็นไหม การย่างตนเอง เผาตนเอง ขึ้นไปบนไฟนั่งให้ไฟมันเผา เผาลนอย่างนั้นคิดว่าเป็นการเผาลนกิเลสไง นี่ความคิดของเรามันคิดชั้นเดียว ความคิดของเราคิดว่าถ้าการแผดเผานี่มันจะชำระกิเลสได้ ย่างตัวเอง เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน การอดอาหาร การทรมานร่างกายนี่ ทำทุกอย่างเพื่อจะชำระกิเลสให้ได้ นี่ความคิดชั้นเดียว แล้วเดี๋ยวนี้ในปัจจุบันก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติปัจจุบันนี้คิดว่าการชำระกิเลสคือการใคร่ครวญ และชำระกิเลสไง การใคร่ครวญและชำระกิเลสนั้นมันเป็นการคิดกันของโลกเขา เห็นไหม นี่มันเข้าใจ กิเลสมันยังสวมรอย สวมรอยเข้าไปในความเห็นของเราเลย ว่าอย่างนี้คือการประพฤติปฏิบัติ แต่ความจริงแล้วมันเป็นการเริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัติ มันไม่เข้าถึงเนื้อหรอก
ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ ในมงคล ๓๘ ประการก็มีอยู่ ตบะธรรมที่แผดเผา เห็นไหม ตบะธรรมที่แผดเผานี่มันเริ่มจากหยาบ จากกลาง จากละเอียด จะแผดเผามันได้นี่มันต้องมีธรรมในหัวใจก่อน การประพฤติปฏิบัติธรรม ในการที่ทำความสงบของใจเข้ามานี่ มันต้องมีสิ่งนั้นเข้ามา มันถึงเข้าถึงเนื้อ เข้าถึงความคิดของใจ ความคิดเบื้องในไง ความคิดภายใน เห็นไหม
ความคิดจากภายนอกนี้เป็นความคิดความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่าน ความแสวงหาออกไปนั้นน่ะการแผดเผาอย่างนั้นการแผดเผาเปลือกไง การแผดเผาเปลือกของใจแล้วก็ให้มันสงบตัวเข้ามา เงาของใจไม่ใช่ตัวใจ เงาของใจเป็นอาการเกิดขึ้นจากใจ แต่เป็นเงา เงานั้นสืบต่อกันไง เงานั้นเป็นสมมุติ โลกเข้าได้แค่เงา เข้าได้แค่เปลือก ความสืบต่อของโลกเขาได้แค่นั้น การสื่อสารกัน การอะไรกัน แล้วก็จะเอาอย่างนี้มาชำระกิเลสไง
มันก็เหมือนกับพวกเทคโนโลยีนี่แหละ เหมือนกับพวกเครื่องยนต์กลไก การทำงานของมันมันทำได้เหมือนมนุษย์นะ แล้วทำได้ดีกว่ามนุษย์อีก แต่มันไม่มีหัวใจ มันไม่มีความรับรู้ของ มัน มันไม่มีความสุขความทุกข์กับสิ่งนั้นหรอก มันทำตามพลังงานของมัน ถ้ามีกระแสไฟฟ้าเข้าไป มันก็ทำงานเท่ากระแสไฟฟ้านั้น เราคิดกลไกขึ้นมา คิดกลไกการทำงานของมัน แล้วให้มันเป็นไป
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดอย่างนั้นมันก็เป็นกลไกของจิต เห็นไหม ขันธ์กับจิตนี้ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันอาศัยสืบเนื่องกันขึ้นมา เราได้สภาวะไปก่อน เราได้ภพชาติขึ้นมา เราถึงได้สภาวะแบบนั้น เวลาทำตามหน้าที่ของมันมันก็ทำตามหน้าที่ของมัน แล้วเราก็จะเอาสิ่งที่เป็นหน้าที่ของมันนั้นชำระมันเหรอ มันต้องลึกกว่านั้น เห็นไหม มันถึงต้องทำความสงบของใจ
ถึงว่าถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี่ ธรรมอันนี้มันลึกลับซับซ้อนมาก ความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดคนละจังหวะ คนละช่วงตอนกัน นี่มันถึงเป็นปัญญาต่างกัน ความคิดเหมือนกันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับพวกลัทธิต่างๆ แล้วการประพฤติปฏิบัติก็ทำอย่างนั้นล่ะ เพราะอะไร
เพราะมันไม่มีมรรคไง สิ่งที่ไม่มีมรรคคือไม่มีคนเริ่มต้นที่จะเข้าไปถึงความรู้สึกอันนี้ได้ ไม่มีใครเริ่มต้นที่จะเข้าถึงอันนี้ได้ แล้วมันละเอียดอ่อนไง มันละเอียดอ่อน มันลึกซึ้ง มันสุขุมมากอยู่ในหัวใจของเรา อยู่ในหัวใจของเรานะ แล้วเราจะเข้าไปถึงจับตัวใจของเราได้ มันต้องทำความสงบเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามา นี่สมถธรรม ความเป็นสมถธรรมมันเป็นความคิดที่ว่าใช้ความคิดก็ได้ ถ้าความคิดการใคร่ครวญให้ใจสงบเข้ามา มันก็เป็นสมถธรรม แต่ความคิดของเขาเขาไม่เข้าใจ เขาว่าสิ่งนั้นเป็นการวิปัสสนา เห็นไหม
ถ้าเป็นวิปัสสนานี่มันก็เหมือนกับการย่างร่างกายนั้น การย่างร่างกายนั้นมันไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่ความคิดของเขา ความเห็นของเขาว่าการเอากายเข้ามาย่างบนไฟน่ะ ไฟมันแผดเผาร่างกายนี่ มันจะแผดเผากิเลสไปด้วย แต่กิเลสเป็นนามธรรม มันไม่มีไฟอะไรแผดเผามันได้เลย ต้องเป็นธรรมจักร เห็นไหม จักรที่เข้าไปชำระล้างใจ มันเป็นจักรจากภายใน จักรจากภายในเกิดขึ้นจากความเห็นของเรา
ความเห็นของเราเห็นถูกต้องก่อน ต้องเป็นความเห็นของเราก่อน เห็นถูกต้อง มันก็เหมือนกับความคิดว่าสิ่งที่เป็นความคิดที่หยาบๆ นั้นใช้ไม่ได้เลย มันใช้ได้แต่ความเห็นที่ถูกต้อง แล้วย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม ย้อนกลับเข้าไปดูความเห็น ความกระเพื่อมของใจ ใจมันคิดออกมาอย่างไร จับสิ่งนั้นแล้วใคร่ครวญสิ่งนั้น จับเข้าไปข้างใน เห็นไหม จับคุรุขันธ์เข้าไป ถ้าจับขันธ์ แยกแยะขันธ์ออกไป แยกแยะขันธ์ออกไป ขันธ์กับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน ขันธ์นี่ขาดออกไปจากใจ พอขันธ์ขาดออก นั่นน่ะกิเลสมันอยู่ตรงนั้น กิเลสมันอยู่ในเนื้อ เห็นไหม มันอยู่ระหว่างข้อต่อ ระหว่างความที่ว่าเป็นระบบของมัน ความคิดของมัน ระบบของมันนี่ นั่นกิเลสมันผูกมัดตรงนั้น มันมัดตรงนั้นด้วยความคิด มันเป็นความเห็นของเรา มันเลยมัดใจไว้แน่นมาก แล้วเราเข้าไปปลดเปลื้องตรงนั้นออกไป อันนี้ต่างหากถึงว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม
ในธัมมจักฯ ถ้าธัมมจักฯ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ แต่ความชอบของใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกไม่บอกไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นสิ่งนั้น อาจารย์มหาบัวท่านบอก ท่านเปิดพระไตรปิฎกหมดแล้วนะ ไอ้เรื่องที่ว่าเวลามันเป็นไปนี่ไม่มี เรื่องความเป็นไป เรื่องผลของการประพฤติปฏิบัติไม่มี แต่ในพระไตรปิฎกนี้จะบอกแต่เหตุไง บอกแต่เหตุ เห็นไหม บอกว่าธัมมจักฯ มันเคลื่อนออกไปๆ แล้วมันความเห็นชอบ ความดำริชอบ ความเพียรชอบ ชอบของใคร เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสคนมันหยาบมันหนาต่างกัน มันหนา มันบางต่างกัน อันหนึ่ง แล้วพอเราปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันมีความส่งต่อขึ้นไป ความส่งต่อขึ้นไปแต่ละภูมิของใจ
ภพภูมิของใจ อริยภูมิมันมี ๔ ชั้นตอน มันละเอียดขึ้นไปนี่ มันความชอบของใคร ถึงว่าจะเอาความเห็นชอบอันนั้น ความเห็นชอบของตัวเองไปปิดกั้นทุกอย่าง ไปความเห็นทุกอย่างว่าต้องเป็นอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ มันต้องปล่อยให้ตามความเป็นจริงไง ตามความเป็นจริงแล้วแต่ใจที่มันจะเป็นไป ตามความเป็นจริงที่เป็นไปแล้วใจมันเป็นไปขนาดไหน ถ้ามันเป็นไปด้วยความหยาบๆ มันก็จะได้อย่างหยาบๆ สิ่งถ้ามันได้ละเอียดขึ้นมานี่ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คนที่เข้าไปเห็น เห็นไหม
คนเข้าไปเห็นสิ่งใดแล้วมันยึดมั่นถือมั่น มันอยากเห็นสิ่งนั้นอีก มันต้องการสิ่งนั้นเพราะอะไร เพราะเรามีกิเลส มีตัณหา กิเลสตัณหาความทะยานของเรานี่มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น แล้วมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น พอยึดมั่นสิ่งนั้นแล้ว มันยึดมั่นแล้วจะว่าอันนั้นเป็นความเห็นของมัน เป็นความถูกต้อง นั่นน่ะนี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดอย่างนี้ไง ว่ามันไม่ยอมก้าวเดินต่อไป มันไม่ยอมทิ้งสิ่งที่มันเคยเห็นมา
เหมือนกับพระไตรปิฎกเปรียบเทียบไว้ เราแบกอุจจาระมา แบกขี้มา แต่พอเราไปเจอฝ้าย เจอทองคำนี่เราจะไม่ทิ้งสิ่งนั้น อันนั้นมันเห็นชัดเจน มันพูดได้ มันเห็นชัดเจน แต่ความยึดมั่นถือมั่นของใจมันไม่เห็นอย่างนั้นหรอก มันว่ามันเป็นความถูกต้องของมัน ความถูกต้องความเห็นของเรานี่ ความเห็นของเรามันเป็นความเห็นที่ว่ามันยึดมั่นถือมั่น มันก็เลยว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ถูกต้องตามความเห็น ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าถูกต้องตามความเป็นจริง ตามธัมมจักฯ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี่มันจะปล่อยได้ มันจะปล่อยวางเข้าไปเป็นเปลาะๆ เข้าไป มันปล่อยได้เพราะอะไร เพราะมันเห็นโทษไง สิ่งนี้เป็นโทษ
เราต้องการ เห็นไหม ที่ว่าถ้าสมบัติของเรานี่ไม่ใช่ของเรา เป็นของครูบาอาจารย์นี่ มันพูดได้ แต่ความจริงมันก็คือของของเรานั้นแหละ เป็นของของเรา แต่ถ้าเราคิดอย่างนั้นแล้วนี่ มันคิดถึงธรรมไง ถ้าคิดถึงธรรมจะมีความสุข จะมีที่พึ่งที่อาศัย โลกนี้มันร้อนนะ เราทำมาหากินกันอยู่นี่มันจะทุกข์มันจะร้อนมาก การประพฤติปฏิบัติมันจะร้อนมาก เรื่องของโลกมันร้อน แล้วไม่มีที่พัก เข้ามาพักในพรหมจรรย์นี่มันก็เป็นที่พักส่วนหนึ่ง ที่พักส่วนหนึ่งแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะหลบจากกิเลสอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม ถ้าหลบจากกิเลสได้มันจะพ้นจากกิเลสไปได้
ฉะนั้นว่าการประพฤติปฏิบัติ ถ้าความเห็นของโลกเขา มันจะเป็นความเห็นเรื่องอย่างนั้น เรื่องการย่างไฟ ย่างร่างกาย เรื่องความเห็นไป พอเรื่องมาประพฤติปฏิบัติในหัวใจก็เหมือนกัน ตบะธรรมแผดเผาอย่างนั้น แผดเผาคือจ้อง คือเพ่ง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องมีปัญญา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาเข้าไปแยกแยะ เข้าไปค้นคว้าของมัน ปัญญาเข้าไปแยกแยะสิ่งนั้นออกไป พอสิ่งนั้นขาดออกไปๆ เห็นไหม มันจะปล่อยกิเลสออกไป นั่นน่ะปัญญาแยกแยะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงไม่ใช่การย่างไฟ ตบะธรรมมันมีหลายขั้นตอน มีมรรคหยาบ มรรคละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป เราถึงต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น
นี่ศาสนาเกิดเกิดยากอย่างนี้ แล้วศาสนาเข้าถึงได้ยากอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันจินตนาการไม่ได้ มันคาดหมายไม่ได้ แต่ความเห็นของโลกเป็นความคาดหมาย การย่างนี่การเปรียบเทียบ เห็นไหม เขาย่างกุ้ง ย่างปลา มันจะสุกขึ้นมานี่ ไฟมันเผาให้สุก ย่างเรากิเลสก็คงจะตายไปด้วย มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย นั่นน่ะคือความเห็นของเรา ความเห็นของโลกเขานี่ความเห็นชั้นเดียว ความเห็นของธรรมนี่ มันละเอียดอ่อนเป็นชั้นเข้าไปหลายซับหลายซ้อนนะ
สติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา แล้วปัญญาอัตโนมัติเข้าไปนี่ ดูสิว่าปัญญามันละเอียดขนาดไหนเวลาเข้าไปชำระกิเลส มันเกิดขึ้นจากใจที่ว่าหยาบๆ อย่างเรานี่แหละ เกิดขึ้นจากความเห็นของเรา แต่ต้องทำให้ถูกเข้าไป ถ้าทำถูกเข้าไปมันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นนะ แล้วใจดวงนั้นจะซึ้งถึงศาสนา เข้าใจศาสนา หาศาสนาเป็นที่พึ่ง เราเกิดมาพบพุทธศาสนานี่ประเสริฐมาก ประเสริฐในว่ามีธรรมโอสถชำระ ยาที่ชำระโรคในใจ ยาของโลกเขานี่ชำระเรื่องของร่างกาย แล้วเขาก็เปลี่ยนยาใหม่ๆ ตลอดไป มียาตัวใหม่ออกมา ยาตัวเก่าก็ล้าสมัยตลอดไป แต่อริยสัจนี้ไม่เคยล้าสมัยเลย มันพอดี เห็นไหม
มัชฌิมาปฏิปทาถึงว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าองค์ไหนก็แล้วแต่ มาตรัสรู้ต่อไป ก็ตรัสรู้อันนี้ไง แล้วเราจะต้องไปหวังพึ่งองค์ไหน เราไปหวังข้างหน้า อ่านตำราแล้วว่าข้างหน้าจะสุขสบาย จะสอยเอาได้แบบพระศรีอริยเมตไตรยนี่ มันหวังพึ่ง มันก็อันเดียวกัน แต่ระยะเวลาที่จะไปถึงช่วงนั้น มันระยะเวลาอีกกี่พันปี แล้วเราจะเกิดตายในโลกนี้อีกกี่พันปี กับของที่อยู่ตรงหน้านี่ทำไมมันไม่หยิบ ของที่อยู่ตรงหน้านี่ทำไมไม่คว้า ถ้าของที่อยู่ตรงหน้าเราหยิบ เราคว้าขึ้นมา มันก็เป็นของของเรา
ของที่อยู่ตรงหน้านี่มันเป็นวัตถุ มันหยิบได้ใช่ไหม แต่สิ่งนี้เป็นนามธรรม การประพฤติปฏิบัตินี้มันจะทำได้อย่างไร มันก็ต้องใช้ความเพียรของเรา ความเพียรนี้ใส่เข้าไป มรรคผลนั้นมีอยู่ ทุกอย่างมีอยู่ ขาดแต่ความเพียรของเรา ขาดแต่ความจงใจของเรา ถ้าความจงใจ ความเพียรของเรามีขึ้นมานี่ มันต้องทำได้ สิ่งที่ทำได้ก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น
ใจดวงนั้น เห็นไหม เกิดมาพบพุทธศาสนาแล้วได้ประโยชน์จากศาสนา เกิดพบพุทธศาสนา เกิดมามีมนุษย์สมบัตินี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เป็นสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ที่มีคุณค่ามาก แล้วไม่หยิบอะไรคว้าติดมือเลย คว้าอะไรไม่ติดมือเลย มันจะเป็นอย่างนั้นเพื่ออะไร เราต้องทำของเราให้ได้ ต้องทำได้ ทำได้มันเป็นไปได้ เป็นไปได้หมดเลย เพียงแต่ว่ากิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันจุดไฟ ก่อไฟอยู่ในหัวใจ เราไม่มีอำนาจวาสนา เราวาสนาน้อย เราเป็นไป นี่มันมีความคิดอย่างนั้นในดวงใจทุกดวงใจนะ แล้วมันเกิดขึ้นมา มันมีอยู่แล้วเราก็ต้องปัดมันออกไป แล้วก็ทำความเพียรไป ทำความเพียรไป ต้องทำความเพียรไปอย่างเดียว จะเกิดได้ สิ่งที่วัตถุอยู่ต่อหน้าก็หยิบได้
แต่นามธรรมมันจะหยิบได้มันต้องมัชฌิมาปฏิปทา มันต้องกลมกลืน ต้องพอดีกัน เห็นไหม ใจหนึ่งพอดี สร้างฐานพอดี สมาธิพอดี ทุกอย่างพอดี ก่อนจะพอดีนี่มันก็ผิดไปก่อน มันผิดมันพลาดมาตลอด มันไม่มีความพอดีหรอก เราลองเข้าไปบ่อยครั้งๆ เข้ามันจะพอดี ถ้าพอดีมัชฌิมาปฏิปทาเกิดขึ้นกลางหัวใจ ชำระกิเลสขาด เกิดจากความวิริยะอุตสาหะ เกิดจากความเพียรของเรา มันขาดความเพียร ขาดความเพียรอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เราก็นั่งคิดแต่อยากได้ อยากปรารถนากัน แต่ความเพียรไม่มี เหตุไม่มีผลไม่เกิด เหตุมีเท่านั้นผลจะเกิด
พระพุทธเจ้าบอกว่าชี้แต่ทางเดินให้เรานะ เราจะก้าวเดินนี่เป็นความเห็นของเรา เราจะก้าวเดินอย่างเดียว แต่พระพุทธเจ้าชี้เท่านั้น นี่ความเพียรของเราอย่างเดียว ความก้าวเดินคือความเพียรขึ้นมาจากใจ แล้วมันจะได้ผลตามความเป็นจริงจากศาสนธรรม ไม่ใช่ตามความเป็นจริงของเรา ความเป็นจริงของเราคือความเป็นจริงของกิเลส ความจริงของธรรมมันจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับความรู้แจ้ง เอวัง