เกิดรู้ - ดับไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม เราต้องฟังธรรมนะ ถ้าโดยทั่วไปเห็นไหม การแสดงธรรมนี่เป็นแก่น เป็นแกนของศาสนา ในหมู่กรรมฐานเรานี่เขาจะวัดกันด้วยการแสดงธรรม การแสดงออกไง การแสดงออกของใจ ถ้าใจมีจริงนี้มันแสดงออกมา เห็นไหมมันเป็นธรรม เวลาแสดงธรรมนี้เปิดหัวอกให้ดูเลยว่าในอกนี้ใครมีกึ๋นมีแก่นมากแค่ไหน อันดับที่ ๒ คือการนั่งสมาธิภาวนาร่วมกัน ใครที่นั่งได้นานกว่ากัน เห็นไหม นั่งตลอดรุ่ง นี่เขาวัดกันตรงนั้น
การแสดงธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทีนี้การแสดงธรรมนี่หาได้ยาก หาได้ยาก การฟังธรรมนั้นเป็นสิ่งที่หาฟังได้ยาก มันได้ฟังแต่เรื่องของโลกๆ เห็นไหม ถ้าการฟังเทศน์เป็นสิ่งที่หาได้ยากเห็นไหม ดูสิ เดี๋ยวนี้เขาอัดเทปกัน จะฟังเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราถึงมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราได้ยินได้ฟัง ทีนี้การได้ยินได้ฟังเห็นไหม โยมไปวัดไปวา การได้ไปวัดไปวานี่ ตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่นวางข้อปฏิบัติไว้ เป็นประเพณีวัฒนธรรมของพระป่า
ประเพณีวัฒนธรรมของพระป่า เข้าไปวัดก็ต้องมีการเคารพสถานที่ ต้องมีการทำสิ่งต่างๆ นี่มันเป็นการฝึกหัดมา ทีนี้การเข้าวัดไปแล้ว ถ้าพูดถึงการแสดงธรรมโดยที่ไม่มีกึ๋นไม่มีแก่นนี่ ก็เอาเรื่องนี้มาแสดงกัน ไหว้พระจะได้บุญอย่างนั้น นั่งสมาธิจะได้บุญอย่างนี้ ทำอย่างนั้นมันจะได้บุญอย่างนั้น มันก็ขี่ม้ารอบเมืองชมเมืองกันอยู่อย่างนั้นล่ะ
แต่ถ้าการแสดงธรรมมันจะแสดงออกมาจากใจ เพราะอะไร เพราะใจมันเกิดมาจากไหน นี่เวลาสิ่งที่เกิดนี่มาจากไหน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การเกิดของมนุษย์เห็นไหม การเกิดของจิต ถ้าจิตมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วเกิดมานี่มีศรัทธามีความเชื่อมากน้อยแค่ไหนถึงได้มาประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อเห็นไหม มนุสสเปโต มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเทโว มนุษย์เป็นเปรต มนุษย์เป็นเทวดา มนุษย์เป็นสัตว์ มนุษย์เป็นเปรตเป็นผีนั่น เป็นเปรตเป็นผีมันเป็นที่ไหน มันเป็นที่ความรู้สึกความนึกคิดนั่นล่ะ
ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นมนุษย์แต่ร่างกายไง แล้วจิตใจมันเป็นหรือเปล่าล่ะ ถ้าเขาไม่สนใจฟังธรรม เขาก็ไม่สนใจหรอก อย่างไรเขาก็ไม่สนใจของเขา เพราะเขาสร้างบุญกุศลของเขามาอย่างนั้นเอง เขาสร้างบาปอกุศลมา แต่ผู้ที่มีธรรมในหัวใจเห็นไหม นี่มนุษย์มันเกิดมาจากไหนล่ะ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมานี่ พระเจ้าสุทโธทนะ นี่สิ่งที่เกิดมานี้เกิดมาจากไหน ก็มนุษย์นั่นแหละ
แต่มนุษย์มีการใฝ่ดี มนุษย์มีการศึกษา ศึกษาทางวิชาการมาเพื่อจะเป็นกษัตริย์ นี่เตรียมพร้อมมาตลอด แต่ด้วยบุญกุศลนี่เห็นไหม เพราะเกิดที่สวนลุมพินี เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ทารกนะเพิ่งเกิด เพิ่งเกิดก็เปล่งวาจาเลย เราเกิดในชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อันนั้นคืออำนาจวาสนาบารมีที่สร้างมานะ เพราะเด็กทารกจะมีความรู้ได้อย่างไร จะเลือกใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างไร เพราะยังต้องอาศัยพ่อแม่เลี้ยงดูมา แต่ทำไมเปล่งวาจามาเลยว่า เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย นี่ขนาดว่ายังไม่เติบโตขึ้นมานะ แต่พอเติบโตขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ได้ครองเรือนจนมีสามเณรราหุลขึ้นมา
นี่เป็นมนุษย์ไหม ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้น แต่มีจิตใจใฝ่ออกตลอดเวลา มีจิตใจใฝ่ออกเห็นไหม ขนาดพราหมณ์พยากรณ์ไว้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะต้องการให้ลูกเป็นจักรพรรดิ เพราะอะไร เพราะแว่นแคว้นเล็กน้อย ถ้าเป็นจักรพรรดิขึ้นมา มันก็เพื่อชาติตระกูล นี่ท่านถนอมรักษาไว้ขนาดไหน นี่ขนาดรักษานะแต่คือแบบโลกไง เราบอกไว้ไง ทำไมครูบาอาจารย์เราเกิดมานี่ถึงไปเกิดในบ้านนอกคอกนา ไปเกิดแต่ที่ทุกข์ๆยากๆ ทำไมไม่ไปเกิดบนฟ้า บนกองดินกองเงินกองทอง ถ้ากองเงินกองทองมันก็รัดคอไว้ไง
แต่ถ้าไปเกิดทุกข์ๆยากๆเห็นไหม ไปเกิดทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพราะอะไร ทุกข์ยากเพราะเขาอยู่กันด้วยศีลธรรมจริยธรรม ด้วยสัจจะความจริงของเขา มีอยู่มีกินของเขา เขาทำไร่ไถนาขึ้นมาก็มีพอประทังชีวิตของเขาไป แต่คนมันมีความทุกข์มีความบีบคั้นอย่างนั้นเห็นไหม ไม่อยากทุกข์ไม่อยากยาก แล้วจะเอาอะไรไปเป็นเครื่องอาศัย ไปดูสิ ดูประเทศของชาวพุทธเราสิ เห็นไหม จะอยู่กันอย่างไรก็มีความสุข พออยู่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าชีวิตนี้มีอะไร มีการพลัดพรากเป็นที่สุด คนเกิดมาแล้วก็ต้องตายหมด เห็นไหม นี่เดี๋ยวก็ตายแล้ว คิดอย่างนี้เพราะมันมีศีลธรรมสอนมาไว้อย่างนั้น ถ้ามีศีลธรรมสอนกันไว้อย่างนั้น เห็นไหม
ชีวิตนี้คืออะไร ก็มาอยู่กันเพื่อสร้างบารมี เพื่อสร้างตัวของเราขึ้นมา สิ่งที่สร้างบารมี สร้างตนเอง คำว่าสร้างตนเองเห็นไหม ในเมื่อศึกษาธรรม เกิดเป็นชาวพุทธ เกิดมาต้องตายหมด ตายแล้วจะมีอะไรติดไม้ติดมือไป ถ้าจะมีอะไรติดไม้ติดมือก็ต้องทำความดีกัน เจือจานกัน เผื่อแผ่กัน คุยธรรมะกัน นี่ไง เขาก็สร้างของเขาขึ้นมา สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม นี่สังคมร่มเย็นเป็นสุข
แต่นี่ไปเกิดในทุกข์ๆยากๆ ครูบาอาจารย์ไปเกิดทุกข์ๆยากๆทั้งนั้น ประวัติครูบาอาจารย์ที่จะเกิดบนกองเงินกองทองนี่มีน้อย ส่วนใหญ่ไปเกิดทุกข์ๆยากๆทั้งนั้น แต่เสร็จแล้วใช่ไหม หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พระอรหันต์ทั้งนั้น ชีวิตนี้การเกิด เกิดอย่างไร ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ เชื่ออย่างไร ถ้ามีความเชื่อขึ้นมาเห็นไหม ฉะนั้นเวลาแสดงธรรม จะแสดงธรรมจากอริยสัจ แสดงธรรมจากความเป็นจริง ไม่ใช่แสดงธรรมอย่างที่บอกกันว่านี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้า พูดไปนี่น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งไม่มีสักก้านหนึ่ง นี่วิชาการต่างๆธรรมะว่ากันไป ไอ้อย่างนั้นมันมีอยู่แล้วใช่ไหม
แต่ของเรานี่ เราจะเอาความจริงของเรา เราอุตส่าห์มาเห็นไหม เราอุตส่าห์มาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะสัจธรรมความจริงขึ้นมา สัจธรรมความจริงนะ ไม่ใช่ว่าเป็นโวหาร ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นโวหาร เป็นการพูดเท่านั้น เกิดดับ เกิดดับ ทุกอย่างต้องเกิดดับ เกิดดับ อะไรเกิด อะไรดับ นี่มันรู้แต่เกิดนะ
ดูสิ เวลาเราเกิดขึ้นมาเห็นไหม เกิดมาในครรภ์ของมารดา เราเกิดมาในครรภ์ของพ่อของแม่ ชีวิตนี้มันรู้แล้วล่ะ มันดิ้นอยู่ในท้องนั่นแหละ นี่เพราะอะไร เพราะมันดำรงชีวิตของมันมา เวลาเกิดมานี่ ความเจ็บปวด เจ็บช้ำ รู้จักกันทั้งนั้น ยิ่งอารมณ์ความรู้สึกเกิด ก็รู้กันทั้งนั้น แล้วดับ ดับไปไหน อะไรมันดับ นี่เกิดดับ เกิดดับ ทุกอย่างเกิดดับ
เกิดก็รู้ว่าเกิด แต่ดับกลับไม่รู้ ไม่รู้ว่าดับ ที่บอกว่าเกิดดับ เกิดดับ นี้คือเราศึกษาทางวิชาการมา เห็นไหม สรรพสิ่งเกิดมาเป็นอนิจจัง มันก็แปรปรวนเป็นธรรมดา เกิดดับ เกิดดับ ว่าไม่มีอะไร ดูสิ ดูเวลาครูบาอาจารย์ไปเกิดในบ้านนอกคอกนา อะไรมันเกิดดับล่ะ สิ่งนี้มันเกิดดับไหม นี่ความเกิดมันทุกข์มันยากขนาดไหน นี่มันสร้างสมบารมีมาอย่างไร มันถึงมีความเข้าใจสิ่งต่างๆ เห็นไหม ดูสิ เราคิดถึงขณะที่เราตกทุกข์ได้ยาก มันมีอะไรดับล่ะ สิ่งนี้มันมีอะไรดับ มันมีความรู้สึก มันก็ยังมีอยู่ เห็นไหม
นี้ก็มาบอกเกิดดับ เกิดดับ เกิดรู้ว่าเกิด รู้ว่าเกิดทุกข์เกิดยาก รู้ว่าเกิดเพราะความเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะความปวด แม้แต่ความรู้สึกของเราเห็นไหม เวลาเรารู้สึกตัวขึ้นมานี่ เรารู้ว่าเราเกิด เรารู้ว่าอารมณ์เราเกิดละ แล้วอารมณ์ดับ ดับไปไหน แล้วทำไมมันถึงดับ นี่เวลาดับไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นว่าดับไปอย่างไร ดับแล้วรู้ว่าดับไป แล้วดับแล้วเหลืออะไร ดับแล้วได้อะไร ดับแล้วไม่ได้อะไรเลย
ไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหมว่าเขาสอนกันมาขนาดไหน สรรพสิ่งนี้ไม่มี สัญชัยบอกว่า
ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคืออะไร ไม่มีคือไม่มี ไม่ใช่คือไม่ใช่ ไม่ใช่ไปตลอดไป แล้วเหลืออะไร ก็เหลือไม่ใช่ แล้วไม่ใช่คืออะไร ก็คือไม่ใช่
ปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มาตลอดเห็นไหม ศึกษามาแล้ว ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล มันชำระกิเลสไม่ได้ สุดท้ายไปอยู่กับอาฬารดาบสเห็นไหม ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แล้วอาฬารดาบสบอกเลย มีความรู้เท่าเรา ศึกษามาแล้วมีความรู้เท่าเรา เป็นอาจารย์สอนได้ ก็ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอาเพราะอะไร เพราะมันไม่ได้เกิดดับ มันทุกข์ สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดไหนเพื่อจะพ้นจากทุกข์ แล้วนี่พอมาทำฌานโลกีย์ได้แล้ว ทำฌานโลกีย์ได้แล้วมันเกิดดับไหมล่ะ ฌานโลกีย์ก็ไม่เกิดดับนะ เวลาเกิดฌานขึ้นมา ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะนี่มันเกิดดับไหม ถ้ามันเกิดดับมันส่งต่อกันอย่างไร
เวลาส่งต่อแล้ว เวลาเข้าสมาบัติเห็นไหม ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกมาตั้งแต่ปฐมฌาน แล้วมันเข้าออกเข้าออกนี่ มันเกิดดับไหม เกิดดับมันส่งต่อกันอย่างไร มันมีผู้รู้นะ แม้แต่การทำสมาธินี่ เวลาจิตมันลงสมาธิ เห็นไหม ไม่มีดับหรอก สมาธิไม่มีดับ สมาธิคือสมาธิ ดูสิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เวลาจิตมันเริ่มสงบเข้าไป สงบเข้าไปคือสงบเล็กน้อย แล้วมันก็เสื่อมออกมา มันก็คลายตัวออกมา สงบลึกเข้าไปเห็นไหม แล้วก็คลายตัวออกมา
นี่มันรู้ของมันนะ อัปปนาสมาธินี่ไม่มีดับหรอก สติพร้อม สตินี่แจ่มชัดเลย แล้วนี่อะไร นี่เข้าสมาบัติมันดับไหม มันมีอะไรเกิดดับล่ะ มันมีแต่ทุกข์ ละเอียดขนาดไหนมันก็เป็นทุกข์อันละเอียดอยู่นั่น เห็นไหม ขนาดว่าอาฬารดาบสบอกเลยว่ามีความรู้เท่าเรา มีความรู้เสมอเรา ไม่ ไม่ ไม่ สุดท้ายไปแสวงหาค้นคว้าขนาดไหนแล้วมันไปไม่รอด มันไปไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเป็นฌานโลกีย์ สิ่งนี้มันเป็นฌานโลกีย์ เป็นของที่มีอยู่ จิตมันมีอยู่ใช่ไหม ตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์นี่ จิตมันเกิดขึ้นมามันมีของมันอยู่ พอมันมีของมันอยู่นี่ จะประพฤติปฏิบัติขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องโลก คือมันก็สงบตัวลงเท่านั้น
ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ หรือว่ายังเป็นสมาธิอยู่ จิตสงบขนาดไหน มันก็มีจิต ตัวจิตเป็นผู้รู้ ผู้รู้นี่มันรู้อยู่ มันรู้ว่าสงบมากสงบน้อย มันรู้ว่าร่มเย็นมากร่มเย็นน้อย มันรู้ต่างๆ มันรู้หมด มันไม่ดับหรอก ไม่มีอะไรเกิดไม่มีอะไรดับหรอก อะไรดับ เมื่อดับแล้วไปไหน นี่เกิดดับเกิดดับ ไม่ใช่ไฟฟ้านี่ เวลามืดๆ เห็นไหมกลางคืนปิดไฟนี่มืดหมดเลย พอจุดไฟมันสว่างหมดเลย เกิดดับ เกิดดับ เป็นบุคคลาธิษฐานนะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะมากเลย เวลาชำระกิเลส เหมือนกับพระอาทิตย์ใช่ไหม พระอาทิตย์ที่เมฆมันบังอยู่ เวลาเมฆเคลื่อนไปนี่เห็นไหม นี่ชำระกิเลส
นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์บอกเห็นไหม ที่ไหนมืดพอเปิดไฟขึ้นมามันก็สว่าง มืดคืออวิชชา มืดคือความไม่รับรู้ มืดคือความโง่เขลา มืดคือสิ่งที่เป็นตัณหาทะยานอยาก พอเปิดไฟขึ้นมามันก็สว่าง คำว่าเปิดไฟขึ้นมานี่เพื่อเปรียบเทียบไง เห็นไหม บอกว่ามีจอกแหน ที่นี่มีธรรมะอยู่คือมีจอกแหนมันปิดน้ำไว้อยู่ แหวกจอกแหนก็เจอน้ำ นี่ก็เหมือนกัน ความรับรู้ความรู้สึกนี่ไง จริงๆแล้วใจเรามีอยู่ ความรู้สึกเรามีอยู่ กิเลสมันปกคลุมอยู่ ถ้ามันชำระกิเลสนั้นออกไป มันก็จะเจอจอกแหน มันก็จะเจอน้ำ คำว่าเจอน้ำนี่มันเป็นบุคคลาธิษฐาน ว่าธรรมะมี สัจธรรมมี แต่อยู่ในหัวใจเรานี้ ถ้าเรารื้อค้นเข้าไป มันจะรื้อค้นเข้าไปได้
นี่มันเป็นบุคคลาธิษฐาน มันเป็นการเปรียบเทียบ บอกว่าเกิดดับ เกิดดับเห็นไหม ที่ไหนมืดพอเปิดไฟมันก็สว่าง พระอาทิตย์ถ้ามันมีเมฆหมอกไปปิดบังอยู่ เวลามันเคลื่อนไปแสงมันก็ให้ความสว่างมา แล้วมันมีอะไรล่ะ ไอ้อย่างนี้มันเป็นการเปรียบเทียบ เหมือนเด็กเลย เด็กเล่นขายของ นี่นะเป็นอย่างนี้นะ นี่มันเป็นอย่างนี้นะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์สอนเราเหมือนเด็กๆเลย แต่ไอ้เด็กๆมันดันจำไอ้ข้อความนั้นมา แล้วมาเป็นโวหาร มาว่าสิ่งนั้นเกิดดับ เข้าใจไปหมดเลย มันไม่มีอะไรเป็นความจริงขึ้นมาสักอย่างเลย เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบสมา อาฬารดาบสพูดขนาดไหน จะให้ความมั่นใจขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เชื่อ
จะเกิดดับ จะอย่างไรก็แล้วแต่ มันไม่เกิดไม่ดับตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะ มันมีความรับรู้ ถ้าเข้าฌานสมาบัตินี้จิตละเอียดมากนะ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โอ้โฮ..มันละเอียด ละเอียดลึกซึ้งมาก ละเอียดลึกซึ้งมาก เป็นทีละชั้นเข้าไปนะ แล้วมันถอยออกมา มันถอนเข้าถอนออก เห็นไหม ฤๅษีชีไพรถึงเหาะเหินเดินฟ้าได้ ถึงมีอย่างนี้ แล้วมีฤทธิ์มีเดชเป็นผู้วิเศษ โอ้โฮ..หลงตัวเอง หลงว่าตัวเองเก่ง มันตายคาฌานสมาบัตินั่นล่ะ แล้วฌานสมาบัติเห็นไหม ดูสิฤๅษีชีไพร เหาะไปในอากาศ เห็นผู้หญิงอาบน้ำอยู่ พอไปเห็น พอเห็นจิตมันหวั่นไหวนี่ ตกตุ้บเลย
นี่ไงแล้วมันมีประโยชน์อะไร กิเลสมันดับไหม ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปไหม เข้าฌานสมาบัติได้นั่นนะ คำว่าเรื่องของโลก โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือจิต โลกคือสิ่งที่เป็นโลกียะ โลกคือเป็นฌานโลกีย์ นี่คำว่าโลกไง เข้าไปขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องของโลก แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อใครแล้ว ไม่เชื่อ ใครจะพูดขนาดไหน มันก็เรื่องความรู้ความเห็นของผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา วุฒิภาวะทางจิตอ่อนแอมากหรือเข้มแข็งมากขนาดไหน เขารู้ได้มากน้อยแค่ไหน นี่มันเป็นเรื่องของโลก
สุดท้ายแล้วนะไปหาที่ใครไม่ได้ ก็กลับมาถึงตัวเอง ในเมื่อกลับมาถึงตัวเองนะเพราะอะไร เพราะว่าที่สวนลุมพินีเห็นไหม เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แล้วไปพึ่งพาอาศัยครูบาอาจารย์ที่ท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์เกียรติคุณ ต่างคนต่างเอาตัวไม่รอดทั้งนั้นเลย แล้วชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย มันจะสุดท้ายที่ไหนก็มันไม่มีใครบอกแล้วนะ นี่ย้อนกลับมาถึงตั้งแต่โคนต้นหว้าเห็นไหม ตั้งแต่สมัยเด็กเห็นไหม นี่ความดีของคน ที่ว่าเกิดดับ เกิดดับ แล้วมันดับจริงหรือเปล่าล่ะ
ความดีของคน ความฝังใจของคน เห็นไหม สิ่งต่างๆที่มันฝังใจเรานี่ เราเกิดมาตั้งแต่เป็นเด็กๆขึ้นมา มันประทับใจสิ่งใดมันจะฝังใจ มันจะอยู่กับใจเราไปตลอด นี่ก็เหมือนกัน แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะออกไปแรกนาขวัญเห็นไหม แล้วมีบุญญาธิการก็เอา ราชกุมารไว้ที่โคนต้นหว้า ตัวเองไปทำแรกนาขวัญ ก็กำหนดลมหายใจ เพราะไม่มีใครมายุ่งกับเราอยู่แล้ว กำหนดลมหายใจ เพราะสร้างบุญญาธิการมาเห็นไหม วุฒิภาวะของจิตมันเข้มแข็ง วุฒิภาวะของจิต เด็กเหมือนเด็ก แต่ความรู้สึกมันไม่ใช่เด็ก มันมีเอกภาพในใจของตัวเอง
กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เห็นไหม จนจิตลงได้ พอจิตลงได้เห็นไหม ใครทำสมาธิได้หนหนึ่ง มันก็จะฝังใจอันนี้ นี่ไปศึกษากับเขามาทั่วเลยนะ ดูสิไปรื้อค้นมาทั่ว สังคมไหนมีความดีก็ไปรื้อค้นกับเขามาหมดเลย มันเป็นเรื่องของโลกๆหมดเลย เอ๊ะ..ไปไม่รอด กลับมา กลับมาที่เรื่องของตัวเอง ก็ตั้งแต่โคนต้นหว้า เห็นไหม
อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกตลอดไป จนจิตมันลงได้ จนเงาของต้นหว้าไม่ขับเคลื่อนไป ไม่ขยับเขยื้อนไป ถึงสุดท้ายก็นึกถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานของใจของตัวเอง เพราะกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก เห็นไหม นี่ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ยาม ๓ พอปฏิบัติไป ความเกิดขึ้นมาอันนี้ มันเกิดมันดับไหมล่ะ รู้จริงเห็นจริงนะ ถ้ามันเป็นจริงเห็นไหม เวลาย้อนเข้าไปเวลาจิตสงบเข้ามาบุพเพนิวาสานุสติญาณ
สิ่งต่างๆ บุพเพ บุญกรรมที่ทำมา มันจะมาตกผลึกอยู่ในหัวใจ นี่บุญกรรมทำมาเพราะอะไร เพราะเราทำเอง มโนกรรม เกิดเป็นคนเกิดเป็นสัตว์เกิดเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันทำของมัน มันมีเจตนาของมัน พอจิตขยับจิตกระเพื่อมมันจะเกิดพลังงาน สิ่งต่างๆก็จะสนองกลับมาที่เจตนาอันนั้น เพราะฉะนั้นทำสิ่งใดมันก็ตกที่นั่นหมด เห็นไหม
แล้วเวลาย้อนไปนะ ข้อมูลก็อยู่ที่นั่นหมด พออยู่ที่นั่นหมด เท่าไหร่ก็ไม่จบ ข้อมูลเก็บไว้ได้มากมายมหาศาลนัก มันตกลงมาที่ใจ ธาตุรู้นี้มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ลึกซึ้งนัก แต่ขณะที่มีสติสัมปชัญญะจะสาวไป สาวอย่างไรก็ไม่จบ ไม่จบก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเห็นไหม ไปถึงจุตูปปาตญาณ มันก็ไปของมันอีก พอมันไปของมันอีกเพราะอะไร เพราะพลังงานมันจะไป เห็นไหม อาสวักขยญาณเข้ามา
มันไม่ได้เกิดไม่ได้ดับ เพียงแต่ว่าจะใช้งานอย่างไร จะดูข้อมูลอะไร ถ้าใช้บุพเพนิวาสานุสสติญาณก็ดูข้อมูลในหัวใจ ถ้าพูดถึงจุตูปปาตญาณมันก็ดูการขับเคลื่อนไปอนาคต มันดูข้อมูล แล้วถอยกลับมาเป็นตัวของเราเอง ดับไหม จิตมันดับไหม ถึงยามสุดท้ายมา อาสวักขยญาณ ก็จิตอันนี้แหละ ออกใช้ในปัจจุบัน ใช้ในการรื้อค้นสิ่งที่เป็นอวิชชาในหัวใจของตัว นี่พอรื้อค้นออกไป มันทำลาย ทำลายทั้งสิ้นหมดแล้ว นี่แล้วมันดับอะไร อะไรมันดับไป อะไรมันเกิดมา อะไรมันดับไป
ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ ขณะจิตที่มันเป็นไปเห็นไหม เวลากิเลสขาดไปตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เวลามันขาดไป อะไรมันขาด มันขาดอย่างไร แล้วอะไรมันดับไป แล้วมันเหลืออะไร อะไรที่รู้ นี่ไง ตามความเป็นจริงมันก็จะมีความเป็นจริงของมัน ถ้ามีความเป็นจริงของมันเห็นไหม เวลาเกิด ก็รู้ถึงความว่าเกิด แต่เวลาดับตัวเองไม่รู้
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัตินะ รู้หมดนะ เกิดก็รู้ว่าเกิด จับได้ก็รู้ว่าจับได้ เวลากิเลสขาด เวลากิเลสตายก็รู้ว่ามันตาย ตายไปแล้วนี่ ยถาภูตัง เกิดญาณทัสสนะ มันดับไหมล่ะ มันดับตรงไหน อะไรมันดับไป จิตมันดับไหม จิตมันเป็นอย่างไรมันถึงดับไป ไม่เห็นมีอะไรดับไปเลย กิเลสต่างหากมันตายไป ถ้ากิเลสตายไป มันไม่มีดับหรอก มีแต่ความรู้จริง เพราะความรู้จริง ประพฤติปฏิบัติไปเห็นไหม
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันลึกซึ้ง แต่เราไปจำขี้ปากมาไง เหมือนนักกีฬาเห็นไหม ตอนเช้าก็ออกกำลังกายกัน ออกกำลังกายเพื่ออะไรล่ะ ก็เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง นี่มันเป็นการออกกำลังกายด้วยความสมัครเล่น นี่ก็เหมือนกัน เห็นเขาออกกำลังกาย แล้วร่างกายแข็งแรง นี่เห็นครูบาอาจารย์เห็นการประพฤติปฏิบัติของครูบาอาจารย์กรรมฐานเราปฏิบัติกันแล้วนะ นี่ก็มาออกกำลังกายไง ปฏิบัติแบบสักแต่ว่าทำกันไป นี่เกิดดับ เกิดดับ โอ้โฮ.. แข็งแรง มีความสะดวกสบาย นี่มันเด็กเล่นขายของ มันเป็นของเล่น ทำกันเล่นๆไง แล้วถ้าทำจริงทำจังขึ้นมาก็ไม่ได้อีกนะ
ก็ว่าเป็นความรุนแรง สิ่งนี้เป็นความรุนแรง เพราะอะไร เพราะเราไปทำเล่น เหมือนไฟไหม้ฟาง พวกจับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำสักแต่ว่าทำ ครูบาอาจารย์พูดถึงมรรคผลว่า สิ่งที่มันเกิด กิเลสมันเกิด เกิดอย่างไร สิ่งที่เวลาเราชำระล้างแล้วมันเป็นอย่างไร แล้วว่ากันแต่ว่าการเกิดดับ เกิดดับ สิ่งที่เกิดดับนี้ คนเขาเห็นการเกิด แล้วการดับ สิ่งที่ดับไปนี้สิ่งใดมันเป็นไป นี่มันเกิด เกิดนี่รู้กันจริงๆนะ ดูสิ ในการประพฤติปฏิบัตินี่ขนาดว่า เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือเวลากำหนดลมหายใจต่างๆ แล้วมันหายไป นี่มันดับไหม เวลาลงภวังค์ไปมันดับไหม
มันหายไปทั้งที่มันไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยนะ รู้สึกตัวอีกทีหนึ่ง กลับมานี่เหมือนคนตื่นจากนอน เอ๊ะไปไหนมา ไปไหนมา มันดับไหม มันมีแต่เผลอไป ไม่รู้จักดับ ไม่รู้เรื่อง หายไปจนตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มารู้ตัวอีกทีหนึ่ง ก็เวลาผ่านไปแล้ว นี่เพราะอะไร เพราะว่าเราอ่อนแอ เราไม่จริงจังของเรา ถ้าเรามีวุฒิภาวะ เราจำของเราได้ เอ๊ะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องตรวจสอบตัวเราเอง ถ้าตรวจสอบตัวเราเองนะ เป็นจริงไหม ถ้ามันไม่เป็นจริงนะ
ดูอย่างการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน การทำสมาธิต่างๆนี้ เราไปคิดกันเอาเอง เราไปคิดกันเอาเองว่าสมถะนี้ไม่มีประโยชน์ เราไปคิดกันเอาเองเห็นไหมสมถะก็ทำยาก ดูสิ เวลาเราจะทำธุรกิจการค้าหรือเราใช้จ่ายขึ้นมานี่ ถ้าเราไม่มีเงิน เราจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย คนที่เขามีเงินมีทองอยู่นะ เขาจะใช้จ่ายเงินทองของเขาด้วยความสะดวกสบายของเขา แล้วเขาจะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ เขามีเงินมีทองของเขา นี่ก็เหมือนกัน เราไม่มีอะไรเลย นี่ก็เหมือนกัน ก็บอกว่าเวลาประพฤติปฏิบัตินั้นสมถะไม่ต้องทำ สมถะไม่ต้องทำ แล้วมันไม่มีอะไรเลยแล้วจะไปทำอะไร ก็ทำกันด้วยความจับจดไง แหม.. วิปัสสนานะ โอ้โฮ..ใช้ปัญญานะ นี่ทำกันอยู่อย่างนั้น
ใช้ปัญญาอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะว่าเราไม่มีความจริงจัง เราไม่มีความตั้งใจ ใช้คำว่าไม่มีความตั้งใจเลย ไม่ตั้งใจจะภาวนาได้อย่างไรล่ะ นี่ก็ภาวนาอยู่เราก็ใช้ปัญญาอยู่จะว่าไม่ตั้งใจได้อย่างไร ความตั้งใจอย่างนี้มันเป็นความตั้งใจของโลก ดูสิ
ดูนักวิทยาศาสตร์ที่เขาทำการวิจัยกัน เขาตั้งใจมากกว่าเราอีก เขาค้นคว้าเรื่องของเขาแต่ละอย่างที่ทดสอบมานี่เป็นชั่วชีวิตคนเลย นี่เขาตั้งใจไหม แล้วเขาตั้งใจอย่างนั้นเขาได้ประโยชน์อะไร เขาก็ได้ประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน ความเป็นไปของมนุษย์ มนุษย์มีความคิด มนุษย์มีความรู้สึก แล้วก็ว่า
โอ้โฮ.. นามรูปนี่รู้สึกตัวทั่วพร้อม โอ๋ย.. รู้ไปหมดเลย
แล้วได้อะไร ได้อะไร ก็เกิดดับไง แล้วมันดับอะไรล่ะ มันไม่ใช่ได้อะไรเลย จิตมันจะเป็นสามัญสำนึกอยู่ปกติอย่างนี้ แต่ถ้ามีความสุขมีความสะดวกสบายขึ้นมา คำว่าสะดวกสบายนะ ดูสิ คนเราทุกข์ร้อนขึ้นมา เราได้พักผ่อน เราก็มีความสบายทั้งนั้น ถ้าจิตมันอาศัยธรรมเอาไว้เกาะเห็นไหม เกาะธรรมไว้เฉยๆนะ นี่ตรึกในธรรมเห็นไหม กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่มีอะไร มีสักแต่ว่ารูป มีสักแต่ว่ารูป กำลังจะเกิดดับ พอมันเกิดก็รู้ เวลาดับก็หายไป นี่รู้ตัวทั่วพร้อม ทั่วพร้อมอยู่นั่น มันก็เป็นสามัญสำนึกของมันอยู่อย่างนี้
คำว่าสามัญสำนึก เห็นไหม อวดอุตริมนุษยธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ ถ้าสามัญสำนึกก็เป็นธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมของเรา มนุษย์มันมีคุณธรรมในหัวใจ มันเป็นคนดีมันก็เป็นมนุษย์เห็นไหม นี่ธรรมของมนุษย์ อุตริธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ ถ้าธรรมที่เหนือมนุษย์ แม้แต่ทำความสงบของใจนี่มันเหนือมนุษย์ ฉะนั้นเวลากำหนดรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่จิตมันไม่ลงหรอก จิตมันเป็นมนุษย์ จิตมันเป็นสามัญสำนึก แล้วสามัญสำนึก ที่ว่า สบาย สบายนี่ สบายเพราะเราได้พักผ่อน ได้พักผ่อนนอนหลับมันก็สบาย จิตมันได้พัก จิตมันไม่ได้ฟุ้งซ่านไปตามกำลังของมัน แล้วมันเป็นธรรมไหม แล้วอะไรมันเกิด แล้วอะไรมันดับ แล้วมันดับอย่างไร
แต่ถ้าเราทำของเรานะ เรามีสติปัญญาของเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลาจิตมันลงเห็นไหม พอจิตมันลง คำว่าจิตลงเห็นไหม ดูสิ ปาราชิก ๔ พระได้ฌานโลกีย์แล้วบอก ถือว่าเราไปอวดอุตริ อวดอุตริหมายถึงว่าเราได้ฌานโลกีย์ แล้วอวดบอกเขา เพื่อจะได้ลาภสักการะ เหมือนกับเป็นการทำธุรกิจ มหาโจรนั่น
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่แสดงธรรม คำว่าแสดงธรรมนี่เห็นไหม ดูสิ เราจะสอนลูกศิษย์ พวกเด็กๆให้ทำงานเป็น เราจะต้องมีตัวอย่างไหม จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่เห็นไหม จะทำอะไรเราก็มีตัวอย่างแบบอย่างให้เขาทำ อันนี้มันไม่เรียกว่าอวดอุตริ อันนี้มันจะสร้างศาสนทายาทที่มันจะสืบต่อพุทธศาสนา ก็ต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานขึ้นมา ถ้ามีพื้นฐานขึ้นมาเห็นไหม นี่ไง เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือว่าใช้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธขึ้นไปนี่ พอจิตมันเริ่มเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมาเห็นไหม
อวดอุตริ ธรรมที่เหนือมนุษย์สิ่งนี้เหนือมนุษย์เพราะว่า มนุษย์ปกติสามัญสำนึกนี่ โอ้..รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวทั่วพร้อม นี่มันสามัญสำนึก เหมือนกับเราจะรักษาบาดแผล รักษาโรคนะ ถ้าโรคนี้มันอยู่ในร่างกาย เขาต้องผ่าตัด เขาต้องทำต่างๆขึ้นมา เพื่อเข้าไปถึงการบาดเจ็บนั้น แต่ถ้าเรามัวอยู่ที่ผิวหนังเห็นไหม นี่คือสามัญสำนึกไง อยู่ที่ผิวหนังแล้วจะแก้อะไรได้ล่ะ สิ่งนี้จะไปแก้อะไรได้ มันก็แก้ด้วยความสะดวกสบายกันนี่ไง แล้วสะดวกสบายนะ มันก็ภพชาติหนึ่งนะ เกิดดับ เกิดดับไปนี่ แล้วมันก็จะตายไปชาติหนึ่ง
แล้วบอกว่านี่คือปฏิบัติธรรมนะ อู้ฮู..มีความรู้ในธรรมะมากเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้า เราได้ยินได้ฟังมา เราจำของเรามา แต่ถ้าเรามีบาดแผล เรามีสิ่งที่ต้องรักษาจากภายใน เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้มันจะเข้าสู่ภายใน หรือปัญญาอบรมสมาธิก็เข้าสู่ภายใน การเข้าสู่ภายในเห็นไหม จิตมันจะเริ่มพัฒนาการของมัน เวลาจิตมันเริ่มพัฒนาการของมัน สมาธิก็รู้ว่าสมาธิ ผู้ที่ทำสมาธิเป็น เป็นผู้ที่มีต้นทุนในการประพฤติปฏิบัติ
หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นนะ เวลาพระที่จะไปบวชกับท่าน ท่านจะให้ฝึกความเป็นอยู่ ฝึกข้อวัตรปฏิบัติ แล้วให้ฝึกตัดผ้าตัดผ่อน นี่ไงท่านให้ฝึกของท่าน ท่านฝึกของท่านมาตลอดเห็นไหม ให้รักษาหัวใจให้ดี แล้วรักษาก็มีข้อปฏิบัติขึ้นมา จิตมันจะมีที่เกาะเกี่ยว จิตมันมีที่พักที่ผ่อน จิตมันมีการกระทำของมัน เห็นไหม แล้วถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธ จิตมันจะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา คำว่าละเอียดเข้ามาเห็นไหม มันเห็นของมันนะ
จะเป็นขณิกสมาธินี่ สงบเล็กน้อย พอสงบเล็กน้อยแล้วคลายตัวออกมา สงบมากเข้าไป คลายตัวออกมา มันมีสติ มันมีสติแล้วมีตัวจิตรู้ สมาธิไม่ใช่จิต สมาธิเกิดจากจิต แต่พอจิตมันเป็นสมาธิเห็นไหม คำว่าจิตเป็นสมาธินี่ มันปล่อยสัญญาอารมณ์ทั้งหมด มันปล่อยจากสามัญสำนึกของเรา สิ่งที่เป็นสามัญสำนึก ความฟุ้งซ่าน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นธรรมชาตินะ เวลาธรรมชาติที่จิตมันปล่อยแล้วนี่ มันกลับมาสู่ความสงบของมันเห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามานี่ มันปล่อยอะไรเข้ามา มันปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เพราะรูปเห็นไหม รูปคือความรับรู้ความรู้สึก สามัญสำนึกของเรานี้ เวทนาคือ คือชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ เวทนาเพราะเรารับรู้รสของอารมณ์ความคิดเราไง แล้วคิดเรื่องดีมันก็พอใจ คิดเรื่องไม่ดีมันก็ไม่พอใจ ความไม่พอใจนี่คือเวทนา สัญญาก็คือข้อมูลสิ่งที่เป็นจริตนิสัยนี่แหละ จริตนิสัยคือชอบไม่ชอบ ถ้าคนชอบพูดถึงสิ่งที่เราชอบ เราก็ดีใจ เราไม่ชอบ จริตนิสัย สัญญามันจำสิ่งที่ไม่ชอบ ใครมาพูดในสิ่งที่ไม่ชอบ มันจะโกรธเคืองขึ้นมาทันที พอมีสัญญารับรู้มันก็เกิดสังขาร สังขารจะปรุงจะแต่งเห็นไหม จะปรุงจะแต่งขึ้นมา อารมณ์ความรู้สึกมันจะเกิดขึ้นได้ มันต้องเกิดวิญญาณ วิญญาณคือตัวเชื่อม เชื่อมระหว่าง รูป เวทนา สัญญา สังขาร ขึ้นมาจนเป็นอารมณ์หนึ่ง
แล้วจิตมันมีสิ่งนี้คือสามัญสำนึกของมันเห็นไหม สามัญสำนึกของมนุษย์เป็นอย่างนี้ มนุษย์มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีจิตด้วย ตัวจิตนี่คือปฏิสนธิจิต แล้วมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี่มันเป็นอาการของจิต พออาการของจิตนี่ก็คือสามัญสำนึก เขาพูดกันแค่นี้เอง..พอ เพราะสามัญสำนึกนี่เขาคุยกันด้วยภาษา ด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวจิตไม่ต้องไปพูดถึงมัน เพราะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นของมัน
ขณะที่จิตพาเราเกิด เราเกิดมาเพราะมีปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ของมารดา ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นเทวดาอินทร์พรหม แต่ผู้เกิดไม่รู้เลย เกิดแล้วถึงมารู้ว่าเป็นเรา ถ้าดับพอตายไป ไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้ พอเมื่อตายจริง ถ้ามีสติปัญญา ทำสมาธิสมาบัติได้ ถ้าเข้าไปถึงบุพเพคือระลึกรู้อดีตชาติได้ อาจจะรับรู้ได้ นี่ไง นี่ดับแล้วไม่รู้เรื่องนะ ดับแล้วดับหายไปเลย แต่เวลาเกิดก็รู้ เกิดแล้วรู้เพราะอะไร เพราะมันเจ็บไง เวลาเราเกิดมันทุกข์ไง เวลาเกิดไม่พอใจไง เวลาเกิดมีอารมณ์ความรู้สึกนี่เพราะมันเกิดไง เพราะว่าเกิดมันเขย่าหัวใจไง
นี่สามัญสำนึกเป็นอย่างนี้ มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ แล้วมีจิตอยู่ด้วย เพราะตัวจิตเป็นตัวพื้นฐาน แต่ไม่มีใครรู้จักจิต หาจิตตัวเองไม่เจอ ตะครุบแต่อาการของจิต แล้วก็คิดว่าเป็นจิต นี่คิดว่าเป็นจิตเห็นไหม ดูสิในการปฏิบัติ นี่เกิดดับเกิดดับ เกิดดับเกิดดับ มันเป็นโวหาร มันไม่มีข้อเท็จจริง ถ้ามีข้อเท็จจริงนะ เกิดมันเกิดอย่างไร ทีนี้พอเกิดอย่างไร เรากำหนด เราทำสมาธิของเรา เราทำความสงบของใจของเรา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันปล่อยเข้ามานะ
ถ้ามันปล่อยเข้ามาเห็นไหม นี่สมาธิไม่ใช่จิต ถ้าสมาธิเป็นจิต มันก็เหมือนเวทนา ถ้าเวทนาเป็นเราเห็นไหม เวลาเราเจ็บช้ำน้ำใจนี่มันอยู่กับเรา ความเจ็บช้ำน้ำใจนี่บางทีมันก็เจือจางไป มันหายไป ถ้าเวทนาความเจ็บช้ำน้ำใจเป็นเรา เวลาความเจ็บช้ำน้ำใจไม่มี เราก็ต้องตายไปสิ เพราะมันไม่มี ทีนี้ความเจ็บช้ำน้ำใจนี่เวลามี เราก็หวั่นไหว เวลาเจ็บช้ำน้ำใจมันจางไป มันหายไป แล้วเราก็ยังอยู่นี่ เห็นไหม เวทนาไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เวทนา จิตไม่ใช่อะไรเลย จิตคือจิต รูปคือรูป ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕
ทีนี้ แล้วอย่างนั้นสมาธิล่ะ สมาธิเป็นจิตไหม ถ้าสมาธิเป็นจิตนะ เราสร้างสมาธิได้ เราก็แปะโป้งไว้กับจิตเลย เอาสมาธิแปะเข้าไปเลย สมาธิกับจิตเป็นอันเดียวกัน แล้วมันจะไม่เสื่อมอีกเลย นี่มันก็เสื่อมเห็นไหม สมาธิก็ไม่ใช่จิต ถ้าไม่ใช่จิตแล้วทำทำไม ทำไมต้องทำสมาธิด้วยล่ะ ทำไมต้องทำความสงบของใจด้วย ถ้าไม่ทำความสงบของใจ มันก็ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ มันแบบว่าทั้งมูตร ทั้งคูถ มันปนเปกันไป จนจับไม่ถูกเลยว่าอะไรเป็นมูตร อะไรเป็นคูถ
ถ้าเป็นมูตรเป็นคูถนี่มันเป็นของสกปรก เราก็รู้ได้ แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ มันก็ยิ่งกว่ามูตรคูถ มันขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงกัน มันสับสนปนเปกันอยู่ในใจ จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกเลย เกิดดับ เกิดดับ มีแต่เกิดดับ เกิดดับ เหมือนอึ่งอ่างมันร้อง อึ่งอ่าง อึ่งอ่าง แต่มันไม่รู้เรื่องนะ อึ่งอ่าง อึ่งอ่างมันร้อง เดี๋ยวเขาจะจับมันไปแกง เพราะว่ามันยิ่งร้องเท่าไหร่มันยิ่งมีมาก ยิ่งร้องดังๆนะ เดี๋ยวเอาข้องมาใส่เลย นี่ก็ว่าแต่ เกิดดับ เกิดดับ
ทั้งที่เป็นมูตรเป็นคูถ มันไม่รู้ว่าเป็นมูตรเป็นคูถนะ แล้วก็ว่า เกิดดับ เกิดดับอยู่อย่างนั้น แต่ด้วยสามัญสำนึกของครูบาอาจารย์เรา ครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ปฏิบัติธรรมมานะ นี่รื้อค้นมาแล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะด้วยอำนาจวาสนาบารมี ด้วยศรัทธาความเชื่อ และประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นขั้นเป็นตอนมาในหัวใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วสั่งสอนลูกศิษย์เห็นไหม
คำว่าสั่งสอน ธรรมดาของมนุษย์นะ ทุกคนมีกิเลสหมด คำสอนนี่ อย่างไรมันก็ลังเลสงสัย แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้ชี้นำและท่านประพฤติปฏิบัติด้วยความมั่นใจของท่าน แล้วเราปฏิบัติตามไป พอเราไปรู้ไปเห็นเข้านี่ แหม...มันซึ้งนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน ดูสิ เห็นไหมสิ่งเดียวกัน สิ่งที่ในครัวมีอยู่แล้วนี่ เขาบอกมาให้ไปหยิบนี่ เราจะหยิบสิ่งนั้นได้เหมือนกัน ถ้ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ท่านบอกว่าให้ไปหยิบของที่ในครัวไปอย่างนั้น อย่างนั้นนะ เราก็มีความจินตนาการของเรา เราไปหยิบกันคนละชิ้นมาทั้งนั้น เราหยิบกันมา เขาให้เอาช้อนก็ไปเอามีด ให้เอามีดก็ไปเอาขวาน หยิบไป ก็หยิบผิดหยิบถูกไปอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ท่านรู้จริงเห็นจริงแล้ว ท่านบอกว่าต้องหยิบอย่างนั้น เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ถ้าเราเข้าไปแล้ว ถ้าเราจะใช้อย่างนั้น เราไปหยิบมีด เขาให้เอามีดบางเพื่อมาใช้แร่เนื้อสัตว์ เราก็ไปเอาอีโต้มาฟัน เห็นไหม มันทำได้เหมือนกัน แต่มันให้ผลแตกต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน ตั้งสติอย่างไร ถ้าจิตจะเป็นสมาธิ จะเป็นสมาธิอย่างไร เห็นไหม สิ่งที่เป็นจริงขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านบอกแล้วเราก็ปฏิบัติตาม ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมา เนี่ยสมาธิไม่ใช่จิต แต่สมาธิเกิดจากจิต สมาธิเกิดจากจิต สมาธิไม่มีอยู่ที่อื่น สมาธิไม่อยู่ในตำรา สมาธิไม่อยู่ในดินฟ้าอากาศ สมาธิไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย
สิ่งต่างๆเขาเป็นสมาธิไม่ได้ คำว่าสมาธิคือจิตที่มันฟุ้งซ่าน จิตกับขันธ์ ๕ ที่มันเป็นมูตรเป็นคูถ ที่มันขยำปนเปกันอยู่อย่างนี้ เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธไปจนถึงที่สุด เป็นสมาธิเพราะมันไม่ไปปนเปกับมูตรกับคูถแล้ว มูตรคูถก็คือมูตรคูถ แต่มันจะหดตัวของมันเข้ามาเป็นอิสรภาพของมัน ถ้ามันหดตัวของมันเป็นอิสรภาพของมัน เห็นไหม นี่คือสัมมาสมาธิ แล้วมันจะรู้ตัวของมันตลอด ไม่มีอะไรดับ ไม่มีอะไรดับ มันมีสติสัมปชัญญะตลอด ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิ จิตมันละเอียด นิ่งของมัน อัปปนาสมาธิเห็นไหม สักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้แต่มันรู้นะ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้นั่งสัปหงกนะ โอ๋ย นั่งสมาธินะ โอ๋ย เข้าอัปปนาสมาธินะ กรนคร่อก คร่อก กรนอยู่นั่นมันบอกอัปปนาสมาธินะ แล้วมาบอกว่านี่ไม่มีอะไรเลย ดับ ดับหมดเลย อัปปนาสมาธิไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ถ้าบอกว่า นั่งมาเมื่อกี้นี้ ได้อัปปนาสมาธินี่ กรนมาลั่นกุฏิ ลั่นฝาสะเทือนเลย นี่อัปปนาสมาธิ
ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ยินเสียงกรน ท่านรู้เลยว่านั่นหลับ ว่านั่นตกภวังค์ มันไม่เป็นอย่างนั้น นี่ถ้าของจริงกับของไม่จริง ครูบาอาจารย์ฟังทีเดียวก็รู้ แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินะ เวลามันลงพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ มันลงของมันได้ ถ้ามันลงของมันได้นี่มันลงอย่างไร ถ้ามันลงอย่างไรเห็นไหม พอมันลงไปแล้วนี่มันดับไหม มันไม่มีอะไรดับเลย พอมันไม่มีอะไรดับเลยนะ พอสิ่งไม่มีอะไรดับเลย มันเข้าสู่ความสงบของใจต่างหาก พอเข้าสู่ความสงบของใจนี่มีความสุขไหม มีความสุข แล้วอยากได้ไหม อยากได้มาก อยากได้คืออะไร อยากได้คือตัณหาความทะยานอยาก ถ้าอยากได้เห็นไหม
แต่ที่มันเป็นอัปปนาสมาธิเป็นตัณหาหรือเปล่า ไม่เป็น มันเป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร เป็นมรรคเพราะว่าเรากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิด้วยเหตุด้วยผล แล้วมูตรคูถ ด้วยขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาความทะยานอยาก ที่มันเคยอยู่กับจิตมาโดยปกติ โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์มีความคิดเป็นธรรมดา มนุษย์มีความรู้สึกเป็นธรรมดา มนุษย์มีกิเลสเป็นธรรมดา นี่เป็นสามัญสำนึก
เพราะเรามีสติปัญญาของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา มันหดตัวของมันเข้ามา มันปล่อยวางมูตรคูถเข้ามาเห็นไหม นี่มันปล่อยวางมูตรคูถ มันเป็นความสงบของใจขึ้นมา ถ้าใจสงบเข้ามา เห็นไหมนี่ใครรับรู้ รับรู้นี่ รับรู้ด้วยมีสติ สติสัมปชัญญะรับรู้เข้าไปนี่ แล้วเพราะอะไร เพราะมีสติ เพราะมีปัญญา มีสติมีปัญญามีคำบริกรรมนี่มันจะไล่ มันจะมีสติปัญญาเข้ามา จนจิตมันสงบเห็นไหม
พอจิตสงบแล้ว โดยธรรมชาติสมาธิเกิดจากจิต แต่สมาธิไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่สมาธิ มันเป็นสัจธรรม สัจธรรมที่เราสร้างขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา พอทำขึ้นมาแล้วนี่ มันจะอยู่ของเราได้ด้วยการชำนาญในวสี การชำนาญด้วยเหตุ ถ้าเรามีเหตุ มีสติรักษาขึ้นมา มันเพราะมีเหตุใช่ไหม เพราะมีเหตุขึ้นมา ผลมันก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่เวลาเราปฏิบัติด้วยมรรค ด้วยมรรคคือว่าเรามีสติ เรามีปัญญา มันสงบเข้ามา แต่พอสงบเข้ามาอยากได้ไหม เพราะด้วยความอยากได้ ตัณหาความทะยานอยาก
คำว่าตัณหา ตัณหามันไม่ใช่ชำนาญในวสี ตัณหาคือกิเลส ตัณหาคือความอยากได้แต่ไม่มีเหตุ ไม่มีเหตุนี่ ความอยากเฉยๆ มันไม่มีเหตุมีผลนี่มันไม่เป็นมรรค แต่ถ้ามีความอยาก แต่มีสติปัญญาขึ้นมานี่ เป็นมรรค มรรคเพราะอะไร มรรคเพราะว่ามันทำตามสัจธรรม ทำตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงมันมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ธรรม นี่ธรรมะมีอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงมันมีอยู่แล้ว แต่คนทำไม่เป็น ทำไม่ถึง ทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ถึงทำไม่ได้ขึ้นมานี่ ทำไม่ถึงทำไม่เป็นทำไม่ได้นี่ มันก็บอกกล่าวสิ่งนี้ไม่ถูก
พระพุทธเจ้าทำได้ถูกต้องนี่บอกกล่าวสิ่งนี้ไว้ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา พอมีสมาธิขึ้นมา พอมีสมาธิขึ้นมา มันออกรู้เห็นไหม คำว่าออกรู้ คำว่าออกรู้นี่ ออกรู้ ออกรู้ในอะไร เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสามัญสำนึกนี่ เป็นสิ่งที่เป็นฟุ้งซ่านนี่เพราะมีตัณหาทะยานอยากเป็นมูตรเป็นคูถ กระชากหัวใจไป ลากหัวใจไปให้มันทุกข์มันยากอยู่ตลอดเวลา แล้วเวลามันสงบตัวเข้ามา เวลาเรากำหนดพุทโธ สงบตัวเข้ามาแล้ว สงบตัวเข้ามาเป็นเอกเทศ มันปล่อยมูตรปล่อยคูถเข้ามา มันเป็นเอกเทศขึ้นมา แล้วออกรู้อะไร ก็ออกรู้ไอ้มูตรไอ้คูถนั่นแหละ
เพราะไอ้มูตรไอ้คูถนั่นมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสถานะของมนุษย์ ในเมื่อมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แล้วอวิชชานี่มันเป็นกิเลสอยู่ในหัวใจของเรา ทีนี้กิเลสในหัวใจของเรานี่ กิเลสเห็นไหม ดูสิ อาสวะ ๓ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ แล้วกิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะนี่มันทำงานอย่างไร มันทำงานอย่างไร มันทำงานให้เราหลงอยู่ในอำนาจของมัน มันทำงานให้เราหัวปักหัวปำ ทำงานให้อยู่ใต้อุ้งตีนของมัน มันเหยียบหัวขี่หัวเราอยู่ทุกวันๆ นี่มันทำอย่างไร
ถ้าเราไม่ชำระล้างมัน เราไม่ได้แก้ไขมัน แล้วเราเกิดมาทำไม เราปฏิบัติธรรมทำไม คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนี่ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ก็ปฏิบัติธรรมเพื่อความสะอาด เพื่อความผ่องแผ้ว เพื่อให้หัวใจมันชำระล้างอวิชชาออกไป แล้วอวิชชามันอยู่ที่ไหน อวิชชามันอยู่ที่จิต พอเวลาจิตสงบเข้ามา สงบเข้ามานี่ อวิชชามันสงบตัวลงเท่านั้นเอง อวิชชาความไม่เข้าใจ แล้วมันก็มีวิชา วิชาคือวสี คือมรรคอันนั้น
มรรคอันนั้นมันทำให้จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาถ้ามันจะออกรู้ ออกรู้ในอะไร ออกรู้ในไอ้มูตรไอ้คูถเห็นไหม ความโลภความโกรธความหลง มันเกิดจากอะไร ความโลภเห็นไหม นี่มันเกิดจาก กาย เวทนา จิต ธรรม เวทนาเห็นไหม ความพอใจความไม่พอใจ ความดีใจความเสียใจ นี่ก็เวทนา นี่กายคือความยึดมั่นถือมั่น สิ่งนี้ความโลภความโกรธมันเกาะเกี่ยวสิ่งนี้อยู่ ดูสิ ใช้จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตไม่สงบไม่เห็น เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับมันฟ้าแลบ
มันเป็นเรื่องของอากาศ มันไม่ใช่เรื่องมรรคญาณ มันไม่ใช่เรื่องของสัจธรรม การเกิดดับนี่มันเกิดอย่างไร แล้วถ้าวิปัสสนาไปนี่มันดับ อะไรมันดับ พอมันดับแล้วมันเหลือสิ่งใดไว้ ถึงบอกว่าเกิดนี่รู้ ดับไม่รู้เรื่องหรอก ดับมีแต่กรนคร่อกๆ คร่อกๆ แม้แต่ทำสมาธิไป หลับก็ตกภวังค์ไป มันดับไปโดยไม่มีสัจจะเลย แม้แต่ทำสมาธิได้นะ ก็ไม่พูดว่าเกิดดับ คือจิตมันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตมันมีของมันตลอดเวลา ถ้าจิตมันมีตลอดเวลา แล้วมันมีของมันอย่างไร แล้วขณะที่จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่งนี่มันจะมีความสุขแล้ว
ถ้าไม่มีความสุขนะ คนไม่ติด ไม่คิดว่าสมาธินี้เป็นนิพพานได้ ถ้ารักษาดีๆนะ คนมีสติปัญญารักษาดีๆ แล้วการรักษานั้นเห็นไหม คือคำว่ามรรค คำว่ามรรคคือมีสติปัญญาขึ้นมานี่ เวลาสติปัญญาไล่ต้อนหัวใจเข้ามา มันคิดว่าไง คิดว่าอันนี้เป็นมรรค คิดว่าอันนี้เป็นวิปัสสนา แต่ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงมันเป็นการทำความสงบของใจ เพื่อให้ใจเป็นเอกภาพเท่านั้น ถ้าใจเป็นเอกภาพ ใจตั้งมั่น ใจเป็นเอกัคคตารมณ์เท่านั้น พอจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มันออกเสวยอารมณ์ ธรรมชาติของมัน มันเสวยอยู่แล้ว
ธรรมชาติ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ กับจิตนี่มันคลุกเคล้ากันโดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น โดยสามัญสำนึก โดยปกติของมนุษย์เป็นอย่างนั้น คำว่าเกิดดับ มันเกิดดับทั้งมูตรทั้งคูถไง มันเกิดด้วยความโลภความหลง มันทั้งเกิดทั้งดับ มันเกิดมันดับ ทั้งมูตรทั้งคูถทั้งจิตพร้อมกัน เกิดดับพร้อมกัน ทีนี้คำว่าเกิดดับพร้อมกันมันเกิดดับ ทีนี้มันเกิดดับนี้เราก็ไปเทียบเคียงธรรมะของพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าบอกมันเกิดดับ จิตนี้มันเกิดมันดับ ไม่มีอะไรไปหรอก มันสิ่งต่างๆเกิดดับนี่มัน มันเกิดมันดับขึ้นมา มันเป็นธรรมชาติของมัน เราไปทุกข์ไปยากกับมันเอง แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา เราไม่รับรู้ มันเกิดดับพร้อมกับความทุกข์ มันเกิดดับพร้อมกับมูตรกับคูถเห็นไหม
แต่พอเรามีสติปัญญาของเราเข้ามา เห็นไหม เพราะเราศึกษาธรรม เราไม่ใช่นักออกกำลังกายเพื่อเป็นความสมัครเล่น เราเอาจริงเอาจัง ในการประพฤติปฏิบัติต้องเอาจริงเอาจัง ความเอาจริงเอาจังของเรานี้ เราต้องตั้งสติของเรา เราต้องทำของเราไปตามความจริงจังของเรา เพราะจริงจังของเรานะ เพราะความจริงจังนี่มันเป็นมรรค นี่สติมหาสติ ปัญญามหาปัญญา มันจะเข้มแข็งของมันขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเราทำได้ จิตมันเป็นเอกเทศได้ จิตมันเป็นสัมมาสมาธิได้ พอจิตเป็นสมาธินี่ เราชำนาญ รักษาจิตให้ดีเห็นไหม แล้วหมั่นสังเกต หมั่นดูแล เพราะว่าเราจะต้องขุดคุ้ยหากิเลส
เวลามูตรคูถกับจิตมันผสมปนเปกัน มันเป็นโดยสามัญสำนึก มันเป็นโดยธรรมชาติ มันเป็นโดยสถานะของมนุษย์ ของเทวดาอินทร์พรหม เพราะจิตมันทำงานอย่างนี้ แล้วมันก็มีกิเลสตัณหาทะยานอยาก สิ่งนี้พัวพันกันอยู่ พอเราทำจิตสงบเข้ามานี่เห็นไหม มันปล่อยวางชั่วคราว พอปล่อยวางชั่วคราวนี่ พอมันออกเสวยอารมณ์ ออกทำงานโดยธรรมชาตินี่แหละ แต่จิตเรารู้เราเห็น เพราะจิตมันมีสติ มันมีปัญญาพอ มันจับได้
จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็น พอจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกายนี่ ใครเป็นคนเห็น จิตมันเป็นคนเห็นใช่ไหม พอจิตเป็นคนเห็นนี่ จิตนี่มันจะพอง มันจะตื่นตัว มันจะตื่นตัวเหมือนไดโนเสาร์ ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ ไดโนเสาร์มันสูญพันธุ์ไปแล้วนะ แต่กิเลสไม่เคยสูญพันธุ์จากใจของมนุษย์ กิเลสมันเหมือนไดโนเสาร์เพราะมันเก่าแก่ มันเก่าแก่มันซับซ้อน มันเกิดมาพร้อมกับภวาสวะ เกิดจากภพไง มันคุม มัน กิเลสอาศัยหัวใจของมนุษย์เป็นที่อยู่อาศัย กิเลสอาศัยจิตของสัตว์โลกเป็นที่อาศัย อาศัยตั้งแต่พรหมลงมาเลย พรหมก็มีกิเลส เทวดาก็มีกิเลส ทุกอย่างมีกิเลสหมด กิเลสคือไดโนเสาร์ คืออวิชชานี่มันครอบงำอยู่ แล้วเราไปรู้ไปเห็น
เวลาจิตมันสงบเข้ามานะ พอมันเสวยอารมณ์นะ พอเราจับได้ อู้ฮู.. ขนพองสยองเกล้า คิดดูสิว่าเราในปัจจุบันนี้เห็นไดโนเสาร์ยืนอยู่ตรงหน้านี่ แล้วมันจะอ้าปากจะกินหัวเรานี่ เราจะมีความรู้สึกอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน พอมันเห็นกิเลส เพราะว่าเห็น จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยสัจธรรมนะ ไม่ใช่เห็นเกิดดับ เกิดดับ ไอ้เกิดดับ เกิดดับมันโวหาร เกิดดับ เกิดดับนั้นมันพูดกันไป
เพียงแต่ว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของครูบาอาจารย์เห็นไหม ที่ไหนมีความมืดบอด ถ้าเปิดไฟมันก็สว่างหมด สว่างเพราะท่านทำจบแล้ว แต่กว่าจะเปิดไฟได้เกือบเป็นเกือบตาย นี่เพราะว่าไฟเดี๋ยวนี้นะ พอต่อสายมาเปิดมันก็สว่างแล้ว แต่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเอานิ้วไปเสียบ เสียบปลั๊กไฟนะ ช็อตตายเลย ไฟนี่ ไฟที่ความสว่างของใจมันคือไฟปัญญา ปัญญาญาณ มันไม่เกิดอย่างนั้นหรอก มันไม่ใช่เครื่องปั่นไฟให้เกิดนะ ถ้ามันปั่นไฟให้เกิดนะ เราต่อสายไฟเข้าบ้านเลย เอาสายไฟนี่เสียบเข้าไปในอกเลยนะ นี่มันจะสว่างในหัวใจ
ไอ้นี่ทำสมาธิเกือบตายกว่าจิตมันจะสว่าง มันจะมีกำลังของมัน นี่แล้วเวลาจิตมันออกรู้เห็นไหม พอมันออกรู้ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้ววิปัสสนามัน คำว่าวิปัสสนานะ ถ้านักภาวนา ปัญญาอบรมสมาธิก็รู้ว่าปัญญาอบรมสมาธิทำอย่างไร ถ้าเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ เพราะเราเคยเป็นสมาธิมาแล้วใช่ไหม พอจิตมันแยกจากมูตรจากคูถมานี่ มันเป็นอิสรภาพของมัน นี่คือสมาธิ สมาธินี่เรามีสติปัญญาของเรา เราไม่เอาสมาธิมานอนตาย เราเอาสมาธินี่ออกทำงาน เราเอาจิตนี่ออกไปรื้อค้น กาย เวทนา จิตธรรม พอมันเห็นกายนี่มันจะสะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจมากเลย พอมันสะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจ เห็นไหม นี่เพราะมันเห็นกิเลสไง มันเห็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของจิต มันเห็นของมัน มันขนพองสยองเกล้า
แล้วเราเริ่มทำงาน การทำงานเห็นไหมให้จิตออกใช้ปัญญา ถ้าจิตออกใช้ปัญญานี่ มันเห็น มันจะรู้ทันทีเลยนะ รู้ทันทีว่า ปัญญาอบรมสมาธิ โลกียปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ใช้อยู่ โลกียปัญญานี่ ว่ามันไล่ต้อนให้จิตมันปล่อยวางจากมูตรจากคูถระหว่างแยกจิตกับมูตรคูถออกมานี่ มันมีศักยภาพขนาดไหน เวลาจิตมันสงบแล้ว เวลามันออกไปเห็นมูตรคูถ มันจับมูตรคูถได้ แล้วมันวิปัสสนา มันใช้ศักยภาพขนาดไหน มันจะเห็นความแตกต่างระหว่างโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญาทันที
โลกียปัญญาคือปัญญาสามัญสำนึก ที่ว่าเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับนี่ ไอ้อึ่งอ่างนี่ ปัญญาอึ่งอ่างที่มันบอกว่าเกิดดับ เกิดดับนี่ มันเป็นโลกียปัญญา เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็เกิดดับจริงๆ แล้วมันเกิดดับโดยที่ไม่มีใครควบคุม เกิดดับโดยสามัญสำนึก เกิดดับโดยธรรมชาติ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น คนภาวนาหรือไม่ภาวนา มันก็เป็นอย่างนั้น ความคิดของคนก็มีทุกคนนะ แล้วเวลาเราคิดจนเบื่อแล้วมันก็หายไปทุกคน นี่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ มันเกิดดับของอึ่งอ่าง มันเป็นโลกียปัญญา
เวลาจิตมันเป็นเอกภาพขึ้นมาแล้ว พอมันปล่อยวางขึ้นมาแล้ว พอมันออกไปจับ ออกไปหากาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริงขึ้นมา นี่มันแยกออกไป มันแยกออกไป เพราะจิตมันทำงาน จิตที่มันมีสติปัญญาเห็นไหม ตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า ตรึกในธรรมต่างๆขึ้นมา มันเห็นในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลามันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา นี่โลกียปัญญา มันปล่อยเข้ามา มันก็ปล่อยเห็นไหม มีความสุข มีความอบอุ่น มีความร่มเย็น มีความยึด มีความตั้งมั่น มันปล่อยของมันมาเรื่อยๆ มันชำนาญมาเรื่อยๆ
อันนี้เป็นอันหนึ่ง แต่มันไม่เคยจับกิเลสได้ มันไม่เคยเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยความเป็นจริง มันก็ทำของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันยิ่งทำเพราะมันชำนาญขึ้นมาเรื่อยๆเห็นไหม แต่ถ้ามันจับกาย เวทนา จิต ธรรมด้วยความเป็นจริงนะ เวลามันวิปัสสนาไป แล้วมันปล่อยไป คำว่าปล่อยเห็นไหม วิปัสสนากายเวทนาจิตธรรมนี่ โดย โดยจิตที่มีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน เวลามันพิจารณาไปนี่มันเป็นวิปัสสนา นี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เขาบอกสติปัฏฐาน ๔ นู่นก็บอกเห็นรูปนั่ง กายนั่ง มีสติปัฏฐาน ๔
มันสติปัฏฐาน ๔ ของใคร สติปัฏฐาน ๔ นี่เป็นของใคร เราท่องจำมาได้นี่นะ เราท่องจำทางวิชาการมาได้ขนาดไหน เราท่องจำได้นะ เราท่องจำได้ของครูบาอาจารย์ ของเจ้าของทางวิชาการนั้น จะใครจะวิชาชีพไหนก็แล้วแต่ เราใช้ทางวิชาการนั้นมาเป็นเพื่อทางการวิจัย เราก็อาศัยทางวิชาการของผู้ค้นคว้านั้นไว้นะ ไม่ใช่ของเรา นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราว่าสติปัฏฐาน ๔ นี่มันรู้ตัวทั่วพร้อมนี่เป็นสติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นทางวิชาการนี้เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นของของบุคคลคนนั้น นี่ไงมันถึงไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ที่ทำกันอยู่นั้น เป็นสติปัฏฐาน ๔ ของกิเลส เป็นกิเลสอ้างว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่มันไม่เป็นจริงตามข้อเท็จจริง มันไม่เป็นจริงตามเนื้อหาสาระ แต่พอเราใช้สติปัญญาเข้ามา จนจิตมันสงบเข้ามาเห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามาจนเป็นเอกเทศนะ จิตสงบนะ มันสงบบ่อยครั้ง บ่อยครั้ง จนมันเป็นสมาธิ จิตสงบบ่อยครั้ง จิตสงบแล้ว สงบแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม
พอสงบปั๊บกิเลสมันรู้ทันแล้ว เมื่อกี้เสียท่า เขาใช้สติปัญญาจนจิตสงบได้ เรานี่เสียท่า ต่อไปนี่เราต้องมีชั้นเชิง ต่อไปเราต้องมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่านี้ เขากำหนดขนาดไหน จะบอกเลยนะว่างแล้ว ว่างแล้ว ปล่อยแล้ว ปล่อยแล้ว เห็นไหม เราก็ เอ้อ..ว่าง มันหลอกหน้าหลอกหลังกิเลสนี่ ถ้าเราทำความสงบได้สักหน ๒ หน มันรู้ตัวแล้วว่าเรานี่พยายามจะเอาชนะตัวเอง มันจะมีเล่ห์กลออกมา ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานมหาศาลเลย กิเลสนี้ร้ายนัก
เห็นไหม ถ้าเราใช้สติปัญญาของเราจนบ่อยครั้งเข้า จนกว่ามันจะมั่นคงนะ ทำความสงบบ่อยๆเข้า จนจิตมันตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วนี่ ถ้าออกหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรมไม่ได้ เห็นไหม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน คำว่าทำสมถะ ทำความสงบของใจนี่ ฐานของการงาน ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีพื้นที่ทำงาน ชัยภูมิของการภาวนา เราบอกว่าชัยภูมิของการภาวนาก็ในวัดไง ในป่าในเขานั่นคือชัยภูมิของการภาวนา อันนั้นเป็นสัปปายะ เป็นสถานที่สงัดวิเวกเพื่อเราเข้าไปใช้เป็นชัยภูมิ เพื่อหาความสงบของใจ แล้วถ้าใจมันมีความสงบของมันเห็นไหม ชัยภูมินี่เห็นไหม จิตมันสงบใช่ไหม จิตสงบแล้วจิตออก ออกรู้ออกเห็น นี่ชัยภูมิ
ถ้าเป็นชัยภูมิ จิตนี้ออกเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม นี่สิ่งนี้ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีผู้เป็นเจ้าของ มีผู้รับรู้ เพราะมีจิตไง เพราะมันมีจิต ไม่ใช่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับเหมือนอึ่งอ่าง ไอ้นี่บอกว่าจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วจิตมันออกรู้เห็นไหม นี่เป็นวิปัสสนา เป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เพราะอะไร สติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีจิต มันมีปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิที่เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในมารดา เกิดมานั่งเป็นมนุษย์ ที่เรารื้อค้นกันอยู่นี่ เห็นไหม
นี่ไง มันตั้งมั่น มันมีสติของมันเข้ามาตลอด แล้วเวลามันออกทำงานเห็นไหม เวลาเราทุกข์นะ เราทุกข์จนเข็ญใจ เราทุกข์มาก แต่เวลามันออกทำงานเห็นไหม มันจะปลดเปลื้องเห็นไหม เป็นความทุกข์ไหม มันเป็นความเพียร ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันได้ผล มันไม่เป็นความทุกข์ มันมีความรื่นเริง มีความอาจหาญ พอมีความรื่นเริงอาจหาญ มัน หมุนของมัน เพราะปัญญามันหมุนของมันนะ นี่มันไม่ใช่ความทุกข์ มันเป็นความหวัง หวังผล ความหวังผล มันมีความรื่นเริง มันมีความสุขของมันมาก
ดูสิ เราเป็นคนไข้ เป็นผู้ที่มีโรคมีภัย แล้วมันจะหายจากโรคจากภัยนี้ เราจะมีความชื่นใจ มีความพอใจที่เราจะรีบค้นคว้าไหม เห็นไหม นี่เวลามันออกทำงานของมันเห็นไหม พอจิตมันออกทำงานของมัน ออกไปเห็น กาย เห็นเวทนา จิต ธรรมนี่ มันใช้ปัญญา ปัญญาเพราะมีสัมมาสมาธิเป็นผู้รองรับ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีจิต พอจิตออกทำงาน ผลที่ได้จากการวิปัสสนามันจะตกลงที่จิตหมด เพราะจิตเป็นผู้หลงใช่ไหม จิตเป็นอวิชชาใช่ไหม ที่บอกว่ากิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจใช่ไหม
พอกิเลสอยู่ที่ใจ จิตหรือใจนี้มันออกทำงาน ผลที่ออกทำงาน ที่มันเห็นผลงานนั้น มันก็ตกผลึกลงที่ใจ สิ่งที่ลงที่ใจนะมันเริ่มปล่อยวางเห็นไหม นี่ความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน แตกต่างมาก ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้จริงเห็นจริง แล้วมันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา สมถกรรมฐานทำให้ถูก มันก็ไม่ใช่เกิดดับอยู่แล้ว เพราะจิตมันซึ่งๆหน้า มันอยู่ตรงหน้า สมาธิมันอยู่ตรงหน้า สมาธิมันชัดเจน มันดับไปไหน
มันจะมีสมาธิขนาดไหนมันก็มีสติพร้อม ไม่มีอะไรดับหรอก สมาธิไม่มีอะไรดับหรอก มันตั้งมั่นของมัน แล้วเวลามันออกวิปัสสนาเห็นไหม ดูกาย เวทนา จิต ธรรมนี่เวลามันปล่อยวางเห็นไหม มันปล่อยวางนี่ พอพิจารณาไป ตทังคปหานนะ เวลามันเข้าใจ มันพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม มันปล่อยรอบหนึ่ง รอบหนึ่ง
ถ้าปล่อยรอบหนึ่ง อะไรดับ มีอะไรดับ มันปล่อย ปล่อยแล้ว พอมันปล่อยกาย พิจารณากายมันจะปล่อย พิจารณากายนะ จิตเป็นสมาธิแล้วพิจารณากาย ให้ใจมันพุมันพอง มันปล่อย มันปล่อยมันก็สงบนะ มันสงบเพราะมันปล่อย เพราะผลแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน ผลแตกต่าง ถ้าสมถกรรมฐานจะมีความสุข สมถกรรมฐานจะมีความสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าวิปัสสนากรรมฐาน มันมีการปล่อยวาง มีการชำระล้าง มีการสำรอกออก พอมีสำรอกออก อันนี้มีความสุขมากกว่า แต่ความสุขมากกว่าขนาดไหน มันไม่สิ้นสุดกระบวนการของมันเห็นไหม
นี่เราถึงบอกว่า รู้เกิดแต่ไม่รู้ดับ เกิดนี่รู้แน่ๆ เพราะเกิดนี่กระทบ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในมารดา เกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดความโกรธแค้น เกิดมาแล้ว เกิดมานี่มัน เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้ามันมีความสุขเห็นไหม นี่สมาธิเกิด มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข เกิดนี่รู้หมด แต่ดับไม่รู้ ดับไม่รู้ แต่ถ้าวิปัสสนาไปเห็นไหม ถ้ามันปล่อยวางขนาดไหนก็ดับไม่รู้ มันอะไรดับ อะไรเหลืออะไร
วิปัสสนากาย เวลากายมันปล่อยวาง กายมันก็ปล่อย เวทนาเห็นไหม จะชำระเวทนามันก็ปล่อยเวทนา จิตส่วนจิต มันก็หมุนกลับมาที่สมาธิ กลับมาที่สมาธิ กลับมาที่ความสุข ความร่มเย็นเป็นสุข แล้วอะไรดับไปล่ะ อะไรดับ มันไม่เห็นนะ มันไม่ดับ แต่ถ้าวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ เวลากิเลสมันขาดนะ นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส
พิจารณากายไป กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายไม่มีในเรา เราไม่มีในกาย เวลามันขาดปั๊บ มันขาดเห็นไหม นี่เกิดแล้วดับ เวลามันขาดไปนี่ เวลามันขาด กิเลสขาดออกไป เหลืออะไร ดับอะไร อะไรดับไป ไม่มีอะไรดับ มันขาดหมด จิตมันรวมลง พอจิตมันรวมลงเห็นไหม ตัวจิตมันขาดที่ไหน ตัวจิตมันรวมลง จิตมันยังอยู่ พอจิตมันรวมลง มันปล่อยอะไรไป มันปล่อยอะไร มันปล่อยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์มันขาดไปอย่างไร
พอสังโยชน์มันขาดไปแล้วนี่ ยถาภูตัง ญาณทัสสนะ เห็นไหม เวลามันขาดไปแล้วนี้รู้ว่าขาด เวลาขาดไปแล้ว มันย้อนกลับมา นี่เห็นไหม จิตรวมลง เห็นไหมพอจิตรวมลง จิตเด่นชัด ไม่มีอะไรบุบสลายไปเลย มีแต่กิเลสตายอย่างเดียว แล้วอะไรดับ นี่เกิดดับ เกิดดับ อะไรดับ มีแต่กิเลสมันดับ ไม่มีอะไรดับ มีแต่ความรู้พร้อม ความรู้แจ่มชัดมาก ความรู้ที่มันพ้นออกมานี่แจ่มชัดมาก พิจารณาเวทนาก็เหมือนกัน พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม
พิจารณาจิตก็เหมือนกัน จิตพิจารณาจิต เวลาทำลายจิตแล้ว ทำลายจิตมันทำลายสิ่งใด ทำลายเปลือกไง ทำลายสิ่งที่เป็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่จิตมันติดอยู่ เวลามันทำลายแล้ว ทำลายมันก็ขาดเหมือนกัน พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาธรรมสิ่งที่เกิดขึ้น สัญญาอารมณ์ต่างๆนี่เป็นธรรม สัจธรรม ธรรมเพราะอะไร ธรรมเพราะจิตมันสงบ จิตมันมีฐานตั้งมั่น พอจิตสงบขึ้นมานี่ พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกกระทบ นี่เป็นธรรมทั้งหมด
แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็พิจารณากิเลสไง มันพิจารณามูตรกับคูถ เวลามูตรกับคูถมันผสมกับจิต มันก็มีอารมณ์ความรู้สึก มันก็พิจารณาจากมูตรจากคูถ ทั้งมูตรทั้งคูถมันพิจารณาไปเรื่อย มันไม่มีอะไร ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาเห็นไหม พอจิตสงบเข้ามานี่ มันพิจารณาอะไร พิจารณาธรรมนะ ธรรมคือสัญญาอารมณ์ความคิดไง ความคิดสัญญาอารมณ์ ถ้าจิตมันสงบแล้วใช่ไหม พอ มันจับขันธ์ได้ จับขันธ์ได้มันก็เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร เป็นธรรมเพราะมีสมาธิ
พอมีสมาธินี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ไง เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีจิต แล้วจิตมันมีความสงบ มันถึงมีสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันมีผู้กระทำ สติปัฏฐาน ๔ เกิดจากจิต เพราะจิตของพวกเรา จิตของผู้ที่ปฏิบัติมันมีกิเลส มีแต่สิ่งต่างๆมาครอบงำมันอยู่ มันโดนกิเลสครอบงำอยู่ แล้วมันก็โดนกิเลสขับไสทุกข์ยากตลอดไป พอมันสงบเข้ามาเป็นเอกเทศของมันเห็นไหม นี่สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมเพราะมีจิต ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔
ถ้าใครทำได้ สติปัฏฐาน ๔ เกิดที่ไหน เกิดจากจิตผู้ที่กระทำ นี่ไง ดูสิ บุคคลที่เป็นหนี้ ใครเป็นคนเป็นหนี้ แล้วบุคคลคนใดเป็นผู้ใช้หนี้ บุคคลคนนั้นเป็นผู้พ้นจากหนี้ มันไม่มีใครเป็นหนี้ ไม่มีใครใช้หนี้ เกิดดับ เกิดดับ มันเป็นโวหาร ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็อย่างหนึ่งนะ แต่นี่มันเป็นปริยัติ แต่เวลาปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันไม่เกิดดับ เกิดดับ มันมีผู้เกิด มันมีผู้วิปัสสนา แล้วกิเลสมันดับ ไม่มีใครดับ ไม่มีกิเลสมันไม่มีใครดับ เพราะกิเลสมันตายไป ดับไม่ได้ จิตดับไม่ได้
พอจิตดับไม่ได้เห็นไหม จิตดับไม่ได้ อะไรดับ เวลาดับมันดับความรู้สึก เวลาจิตมันลงนะ โอ้โฮ มันดับจากโลกหมดนะ ตัวมันเป็นเอกเทศ ตัวของมันนะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำลายกิเลส ถ้ากิเลสมันดับไป แล้วมันเหลืออะไร สิ่งที่การกระทำอย่างนี้ นี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เพราะผู้ทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เวลาเทศนาว่าการเห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ สติปัฏฐาน ๔ จะไปกองบนภูเขาหรือ สติปัฏฐาน ๔ จะไปใส่ตู้ไว้ใช่ไหม นี่เหมือนกับไอ้ตู้ดับเพลิงไง ก็ไปแขวนไว้ เวลามีดับเพลิงก็ทุบกระจกเลยนะ เอาตู้ดับเพลิงนี่ฉีดไฟเลย
นี่ก็เหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ ก็แขวนไว้เลยนะ ใครเคยได้สติปัฏฐาน ๔ ก็หยิบขึ้นมาคล้องคอเลย ไม่มีทาง สติปัฏฐาน ๔ นะ กิเลสมันเกิดที่ใจ ไฟมันเผาลนที่ใจ แล้วตู้ดับเพลิงมันอยู่ที่ไหน นี่สติปัญญามันอยู่ที่ไหน ถ้ามันอยู่ที่จิตมันทำขึ้นมาได้แล้ว สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดที่นี่ไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จิตของสัตว์โลกนั่นแหละ สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดในใจของสัตว์โลก ถ้าใจของสัตว์โลกมันเป็นสัมมาสมาธิที่มันมีสติปัญญาขึ้นมานี่ เวลามันออกพิจารณา มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จนถึงที่สุด ปล่อยวางเข้ามาๆ เวลามันขาดเห็นไหม เวลามันขาดไปเลย ขณะจิตไง ขณะจิตที่มันเป็นไป มันไม่มีหรอก สิ่งที่ว่ามันจะลอยมาจากฟ้า มันเกิดดับ เกิดดับ รู้เท่ามันก็จบ มันง่ายเกินไป
ถ้ามันง่ายเกินไป ถ้ามันเป็นจริง เราก็อยากง่าย ครูบาอาจารย์ก็อยากง่าย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ อยากจะให้มันง่ายๆ ศากยบุตรพุทธชิโนรสก็ไม่อยากให้ลำบากลำบนหรอก แต่มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ กิเลสมัน แก่นของกิเลสมันร้ายนักนะ มันทำให้เราเกิดเราตายมากี่ภพกี่ชาติ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันลึกลับซับซ้อน ทั้งๆที่มันอยู่กับเรานี่ เหมือนกับมันอยู่กับเรานะ อยู่ในตัวเรานี่แต่เราไม่รู้จักมัน
แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบนะ พอจิตมันสงบ นี่เราโอกาสได้ต่อสู้ ได้แก้ไข ถ้ามีโอกาสได้ต่อสู้ได้แก้ไข ต่อสู้กับใคร แก้ไขกับใคร นี่เห็นไหม ดูสิ นี่สมาธิก็เกิดจากจิต ปัญญาก็เกิดจากจิตไม่ใช่จิต อะไรไม่ใช่จิตทั้งนั้นเลย มันเกิดขึ้นมาโดยสัจธรรม ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเกิดขึ้นมา มันไม่ใช่จิตทั้งนั้นเลย แล้วไม่ใช่จิตแล้วมันไปไหน ถ้าไม่ใช่จิต ถ้ามันเป็นมรรคขึ้นมานี่ มันก็ย้อนกลับไปทำลายจิต เพราะอะไร เพราะกิเลสอวิชชานี่มันอยู่ที่จิต เห็นไหมปฏิสนธิจิต มันพาจิตนี้เกิดตาย
แล้วเวลาไปศึกษาธรรมก็ว่า เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับนี้เวลาพูดนี่นะออกจากมโนกรรม ออกจากจิต เวลาพูดนี่ แล้วเกิดดับ เกิดดับ พูดที่ปากนี่ แล้วที่ไอ้หัวอกนี่ ในหัวใจนี่มันเป็นอย่างไร มันส่งออกหมดไง มันออกมาข้างนอกแล้วนะ แต่นี่เป็นการแสดงธรรม เป็นการแสดงธรรมกิริยาที่การกระทำที่เคยทำมา สิ่งที่เคยทำมานี่แล้วบอกทางการกระทำที่เคยทำมาอย่างนี้ ผลงานเป็นอย่างนี้ ให้เราประพฤติปฏิบัติไง
ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม นี่ตามทันกัน ทวนกระแสเข้าไปสู่จิตของตัวเอง เข้าสู่จิตของตัวเองมันมีการกระทำขึ้นมา มันจะเห็นของมัน แล้วทำของมันขึ้นมา เป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้น เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้ ถ้ามันเกิดก็ให้รู้ว่าเกิด สมาธิเกิด ปัญญาเกิด แล้วเวลาวิปัสสนาเกิด ญาณมันเกิด ถ้าญาณมันเกิดนี่มรรคญาณมันหมุน มรรคสามัคคีมันรวมตัว มรรค ๘ ถ้ามันรวมตัวเป็นหนึ่ง เป็นมรรคสามัคคีที่มันมาทำลายกิเลส เห็นไหม
พอญาณมันเกิด สมาธิเกิด ปัญญาเกิด แล้วมันทำลายกิเลสเห็นไหม พอมันทำลายกิเลส กิเลสตายไป นี่เกิด แล้วดับล่ะ เวลาดับนะ กิเลสมันตายไปนี่ จิตนี้รวมลง จิตนี้รับรู้ ชัดเจนมาก พอชัดเจนมากนี่มันจะวิปัสสนาต่อ ทำไปนะ พอเราวิปัสสนาถึงที่สุดแล้ว พอมันปล่อยวางแล้ว พอมันชำระกิเลสจนขาดขณะจิตที่เป็นไปแล้วนี่ ทุกคนเห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ ทุกคนก็ปรารถนาว่าอยากจะพ้นจากทุกข์ อันนี้เป็นการกระทำที่เป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วความขยันหมั่นเพียรจะเกิดขึ้นทันที เกิดขึ้นทันทีเพราะอะไร เพราะความล้มลุกคลุกคลานนะ
คนเรานี่จะเดินไปสู่เป้าหมาย แล้วไม่รู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหนนะ เราก็สับสนปนเปก้าวย่าง เดินบุกป่าฝ่าดง จะหาเป้าหมายนั้นๆให้เจอ การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าจิตยังไม่สงบ ยังไม่ออกชำระกิเลส จนชำระกิเลส จนฆ่ากิเลสได้ นี่เป้าหมายเรายังสะเปะสะปะ เพราะเรายังจับต้นชนปลายไม่ได้ แต่ขณะที่จิตมันชำระกิเลสจนขาดไปแล้วเห็นไหม ขณะจิตที่ขาดไปนี่กิเลสดับ เกิด มรรคญาณมันเกิด
นี่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราสร้างขึ้น เราปฏิบัติขึ้น เราฝึกฝนขึ้นมา มันเกิดขึ้นมา สมดุลกัน มรรคสามัคคีรวมตัวชำระกิเลสขาด พอกิเลสขาดเห็นไหม กิเลสตายไปเห็นไหม พอกิเลสตายไปนี่ สิ่งนี้เราถึงเป้าหมายของจิต เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของจิต เพราะจิตเห็นความเห็นผิดของจิต โดยสำรอกคายออกไปแล้ว นี่คือเป้าหมาย สิ่งต่างๆที่เราไม่รู้ต้นรู้ปลาย เราจับต้อง แม้แต่ นาย ก เป็นโจรปล้น เราจะตามจับนาย ก ทั้งๆที่นาย ก ยืนอยู่ข้างๆเรา เราไม่รู้จักคนไหนเป็นนาย ก นะ แต่บอกไอ้ ก มันปล้น ไอ้ ก มันปล้น แล้วเพื่อนกูมันก็ชื่อ ก มันปล้นหรือเปล่า ไม่รู้ ไม่รู้เรื่อง นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้ามันทำลายสิ้นหมดแล้ว ทำลายถึงแล้ว ถึงเป้าหมายแล้ว พอถึงเป้าหมายแล้วเห็นไหม การประพฤติปฏิบัติของเรานี่มันมีเป้าหมาย สิ่งที่มีเป้าหมายมีการกระทำ
เวลาภาวนามยปัญญา ชำระกิเลสจนสักกายทิฏฐิมันขาดออกไปจากใจแล้ว สิ่งที่การกระทำนี้ คำว่าเกิดดับ เกิดดับที่เขาพูดกัน สิ่งต่างๆที่เป็นสังคมนี่ เราฟังแล้วนะ มันกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ มันเหมือนคนตาบอด คนตาบอดแล้วพูดสอนคนตาดี ไอ้คนตาดีนี่จะบอกคนตาบอดว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างที่ว่าเกิดดับ เกิดดับ อย่างคนตาบอดพูดหรอก คนตาบอดมันจะหัวเราะเยาะใส่หน้าคนตาดีนะ เพราะว่าคนตาบอดมันตาบอดทั้งโลก เอ็งตาดีอยู่คนเดียว เอ็งพูดออกไป เขาไม่มีใครฟังเอ็งหรอก ไอ้พวกตาบอด เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่นั่น
แหม อึ่งอ่างมันร้องทีเดียวนะ มันมีทั้งทุ่งเลย เห็นไหม ฉะนั้นสิ่งที่คนตาดีเขากระหยิ่มยิ้มย่องในหัวใจ แล้วก็พยายามเดินหน้าต่อไป ทิ้งสังคมคนตาบอดไว้ก่อน หลวงปู่มั่นเห็นไหม เวลาท่านออกจากถ้ำสาริกาขึ้นไปยังภาคอีสาน นี่ครูบาอาจารย์กระโดดเกาะเลยนะ เพราะตาบอด อึ่งอ่างมันร้องอยู่แล้วเกิดดับ เกิดดับนี่ แต่มันเอาตัวไม่รอด มันไปอยู่ในข้อง มันไปอยู่ในหม้อแกงเขา
ทีนี้เวลาหลวงปู่มั่นไปเห็นไหม ก็พยายามไปเกาะ เกาะเต็มที่เลย จนหลวงปู่มั่นนะท่านต้องทิ้ง ทิ้งหมู่คณะก่อนแล้วขึ้นไปเชียงใหม่ไง ว่ากำลังยังไม่พอ กำลังยังไม่พอนี่ ถ้ากำลังไม่พอ กำลังไม่พอหมายถึงว่าเราจะชี้นำโดยถึงที่สุดไม่ได้ แต่พอเวลากลับจากเชียงใหม่แล้ว ไม่บอกกำลังไม่พอเลย มีเท่าไหร่ว่ามา ใคร จิตของใครเป็นอย่างไร ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ แก้จิตมันแก้ยากนะ นี่ผู้เฒ่าจะแก้เว้ย นี่เวลากลับจากเชียงใหม่แล้ว ไม่บอกว่ากำลังไม่พอเลย แต่เวลาออกไปเห็นไหม เวลาออกไป ก็หวังพึ่งกัน
นี่เราก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติของเรานี่ เราเอาจริงเอาจังของเรา เพราะเรามีร่องมีรอยจากครูบาอาจารย์ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์มาทำประพฤติปฏิบัติมาเห็นไหม แล้วธรรมของพระพุทธเจ้าไม่สำคัญกว่าหรือ ธรรมของพระพุทธเจ้าสำคัญกว่า สำคัญ แต่ความสำคัญอย่างนี้ เราศึกษากันมานี้มันเป็นปริยัติทั้งหมด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยเป็นปริยัติ แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมานี่เห็นไหม นี่ก็เกิดดับ เกิดดับกันอยู่อย่างนี้
นี่พุทธพจน์ จำแม่น ไม่มีผิดพลาดเลยนะ พุทธพจน์ชัดเจนเลย เกิดดับ เกิดดับนี่ แล้วเกิดดับอย่างไร ไม่รู้ นี่ไง เราถึงบอกว่าครูบาอาจารย์ของเรา ท่านมีเทคนิค เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ อานนท์ ไม่มีกำมือในเรานะ แบตลอดนะ ธรรมะนี่เราได้พูดหมดแล้ว แล้วอยู่ที่ผู้ที่รื้อค้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะได้ผลของผู้ที่ปฏิบัตินั้นจริง ไม่มีกำมือในอาจารย์นะ แบตลอดเลย แต่พวกเรานี่มันเข้าไม่ถึง ทำไม่เป็น นี่เกิดดับ เกิดดับ ก็ทำไม่เป็น เห็นไหม
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านก็รื้อค้นนะ เวลาออกรื้อออกค้นปฏิบัติ ไปปฏิบัติที่ไหน มีผ้าดำๆเขาวิ่งหนีหมด เพราะเขาไม่เชื่อ สมัยนั้นเขาไม่เชื่อกัน แต่เพราะท่านรื้อท่านค้นของท่าน ท่านมีเทคนิคของท่าน ทีนี้เวลาปฏิบัติท่านถึงวางธรรมและวินัยไว้เห็นไหม เวลาที่หนองผือ หลวงตาเล่าให้ฟังประจำ ภิกษุที่มีพรรษามากไม่ต้องขึ้นมา ให้ภิกษุพรรษาน้อยๆมันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรปฏิบัติติดหัวมันไป คำว่าข้อวัตรปฏิบัติ วิธีการ ติดหัว ติดหัวคือเราเคยเห็นร่องเห็นรอยนี่ แล้วถ้าเราออกมานี่ เราพยายามจะเอาอย่างนั้น พยายามจะปฏิบัติตน ดัดแปลงตนด้วยข้อปฏิบัตินั้นไง ภิกษุมีพรรษามากไม่ต้องขึ้นมา ให้พรรษาน้อยๆขึ้นมา เพื่อเวลา เวลาขึ้นมาฝึกฝนข้อวัตรปฏิบัติแล้วนี่ มันจะได้มีข้อวัตรปฏิบัติติดหัวมันไป เพราะมันยังต้องมีเส้นทางเดินของมัน มันจะต้องภาวนาเอาตัวของมันเห็นไหม
นี่ที่บอกว่าธรรมของพระพุทธเจ้าไม่สำคัญหรือ สำคัญ สำคัญ แต่สำคัญโดยทฤษฎีเห็นไหม สำคัญโดยทฤษฎี เราไปศึกษากันขนาดไหน แต่มันไม่มีใครบอก พอบอกให้แกงพอแกงก็ล่อเลย เอาหม้อแกงคว่ำใส่เตาเลยนะ แกงแล้ว จบแล้ว ออกมานี่มันมีแต่ขี้เถ้า นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์บอกหงายหม้อขึ้นมาสิโว้ย เอาน้ำใส่ก่อนสิ มันต้องให้น้ำเดือดก่อน มันถึงใส่ผสมเครื่องแกงลงไป นี่ท่านก็บอก เราก็ทำกันมา แล้วมันผสมเสร็จแล้ว มันเป็นแกงเป็นหม้อๆ ออกมา ให้คนผู้ที่ทำได้ผลประโยชน์เห็นไหม
นี่ครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนี้ สำคัญที่เทคนิควิธีการที่ท่านสอนเรา คำว่าสอนเราเห็นไหม เราก็มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งเห็นไหม ในการกระทำของเรานี่ เราจะทำความเป็นจริงของเราขึ้นมา แล้วเราทำความจริงของเราขึ้นมา นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้แล้วมรรค ๔ ผล ๔ พอเรามีเป้าหมายแล้ว เราก็พยายามขวนขวายของเรา ขวนขวายนะ แต่การขวนขวายที่มีเป้าหมายแล้ว กับการขวนขวายที่ไม่มีเป้าหมายก็แตกต่างกัน
แล้วเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระเลย มันเป็นนกแก้วนกขุนทองนะ ถ้านกแก้วนกขุนทอง เวลาพูดไปนะ ยิ่งพูดยิ่งเข้าตัว มันจะชี้กันไปออกนอกลู่นอกทาง คำว่านอกลู่นอกทางเห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โคนำฝูง ถ้าโค หัวหน้าโคฝูงนั้นฉลาด มันจะเอาฝูงโคฝูงนั้นพ้นจากวังน้ำวน ถ้าโคนำฝูงนั้นเป็นโคถึก โคที่ไม่มีปัญญา มันจะพาฝูงโคนั้นลงสู่วังน้ำวน
นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะพ้นวังน้ำวนนะ ก็โอฆะ ในหัวใจเรานี่แหละ ไอ้ความสงสัยในหัวใจนี่แหละ ที่ว่าเกิดดับ เกิดดับ ว่างๆ นั่น ถามตัวเองว่าสงสัยไหม สงสัยทั้งนั้น โธ่ กิเลสนะ ในหัวใจเราก็มีใช่ไหม ใครบ้างอยากทุกข์อยากร้อน ทุกคนก็อยากสุขอยากสบาย แต่สุขสบายแล้วถ้ามันชำระกิเลสได้นะ เราจะเอาหมอนมาให้ กางให้เต็มศาลาเลย แล้วก็จะติดแอร์นะให้นอน จะเป่าลมให้ทั้งวันเลย
มันสุขสบายมันแก้กิเลสไม่ได้นะ เพราะอะไร เพราะถ้าสุขสบายแล้วกิเลส กิเลสมันก็ขี่หัวนะ แต่ถ้ามันทุกข์มันยากนี่ ทุกข์ยากใครก็ไม่อยากเจอใช่ไหม กิเลสมันก็ไม่อยากด้วย เวลาทุกข์ยาก เราก็ไม่อยากทุกข์ยาก กิเลสมันก็ไม่อยากทุกข์ยาก แต่เพราะอันนี้มันเป็นเส้นทางเดิน อันนี้เป็นมรรคญาณ เส้นทางเดินนี่ ดูหลวงปู่มั่นท่านวางไว้ว่า ท่านสอน ท่านบอกกล่าวไว้ว่า นี่เป็นข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้ฝังหัวมันไป เราจะเดินไปเส้นทางนี้ พอเดินไปเส้นทางนี้ กิเลสมันเหมือนบูชายัญมัน พอเราเอากิเลสนี้เข้าสู่ตบะธรรม มันก็ดิ้น พอมันก็ดิ้น เราก็ดิ้น เพราะมันอยู่กับเรา
แต่เพราะมันอยู่กับเรา ถ้ามันดิ้น เราไม่ดิ้น เราจะฝืน เราจะเดินไปในทางมรรคานี้ กิเลสมันจะดิ้นให้มันดิ้น แต่เราไม่ยอมดิ้นกับมัน ถ้าเราไม่ยอมดิ้นกับมัน เรา เราไปได้นะ ถึงบอกว่าถ้ามันทุกข์ไหม มันทุกข์ การประพฤติปฏิบัติมันทุกข์แน่นอน เดินจงกรม นั่งวิปัสสนา ทุกข์แน่นอน แต่มันทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ มันพ้นกิเลส กิเลสมันจะดิ้นรนขนาดไหน เราจะไม่ดิ้นรนกับมัน เราจะฝืนไป ให้มันดิ้นออกไป ดิ้นจนกว่ามันจะตายไป มันจะคายออกไปจากใจของเรา เราจะพอใจ
แต่ถ้ามันดิ้นรนกับเรา มันดิ้นเพราะมันไม่ยอมไป เข้าสู่ข้อวัตรปฏิบัติ เข้าสู่มรรค มันจะดิ้นของมัน แล้วเราก็ดิ้นตามกับมันไป แล้วถ้านี่ครูบาอาจารย์โง่ เห็นไหม อย่างเช่นเรานี่ ถ้าเราเป็นคนโง่นี่ เราจะติดห้องกระจกให้หมดเลย จะติดแอร์ จะเอาแอร์ ๕๐ ตัว ติดให้เรียบร้อยเลย แล้วเข้ามาหมักตัวออกไปแล้ว โอ้โฮ..พระอรหันต์หมดเลย ถ้าทำได้ นี่เขาเรียกว่าโลก ถ้าโลกทำได้มันก็เป็นเรื่องของโลกๆ เรื่องของโลกมันก็เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของสัตตะผู้ข้อง
เรื่องของธรรมจะออกจากวัฏฏะ เรื่องของธรรมจะออกจากวัฏฏะ เราจะเชื่อกิเลส เราจะเชื่อโลก หรือเราจะเชื่อธรรม ถ้าเราจะเชื่อธรรม ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ท่านได้ผ่านพ้นมาด้วยวิธีการอย่างนี้ แต่ถ้าเชื่อโลก เอาโลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ก็เอาความสะดวกสบายเข้ามา แล้วก็อยู่กันแบบโลกๆ สบายๆ ทำให้สบาย ทำไมจะไม่สบายก็มันห้องแอร์
แล้วที่ประพฤติปฏิบัติ ทำไมจะไม่สบาย ยิ่งปฏิบัติไม่ใช่ห้องแอร์ ปฏิบัติ ดูใจเฉยๆ แล้วทำไมไม่สบาย ก็มันทำอะไรมัน ทำไมถึงไม่สบาย กิเลสมันดิ้นรนอยู่แล้วใช่ไหม เราก็บอก เอ้อ.. กูรู้เท่าทันเอ็งแล้ว เอ็งก็ปล่อยเนอะ เหมือนรู้กันกับกิเลส กิเลสกับเรารู้กัน ว่าเราปล่อยกันเนอะ เราไม่มีกิเลสเนอะ ว่างๆสบายๆนะ แล้วมันฆ่ากิเลสได้ไหม มันก็ไม่ได้ฆ่ากิเลส ถ้ามันไม่ได้ฆ่ากิเลส เราก็เสียเวลาเปล่าทั้งชีวิต แต่ถ้าเราบุกบั่น มุมานะ ต่อสู้ ทำลายมัน มันเจ็บไหม เจ็บ มันเจ็บช้ำน้ำใจ กิเลสมันก็เจ็บ เราก็สมบุกสมบั่น เพราะมันเป็นสนาม เป็นชัยภูมิที่จะต้องต่อสู้กัน
ในเมื่อเห็นไหม เราเดินจงกรมนั่งสมาธิเห็นไหม จนเท้านี่นะ เท้าเปื่อย เท้าพอง นี่ไง นี่ชัยภูมิ ต้องต่อสู้กับมัน แล้วเราเจ็บไหม เราก็เจ็บ กิเลสเจ็บไหม กิเลสก็เจ็บ มันเจ็บเพราะอะไร เพราะมันเป็นชัยภูมิ เพราะกิเลสมันอยู่บนใจเรา กิเลสมันอยู่กับเรา นี่การต่อสู้ มันก็ต้องมีการต่อสู้ แล้วมันจะสะดวกสบายขนาดไหน ถ้ามันสะดวกสบาย มันก็เข้าทาง มันเป็นเรื่องโลก มันเข้าทางกิเลส เพราะสะดวกสบายหรือทำความมักง่าย กิเลสมันได้คะแนนนำอยู่แล้ว เหมือนกับแต้มต่อ
เวลาขึ้นชก กิเลสได้ ๘๐ แล้ว เราได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไปต่อยอย่างไรก็แพ้ มันขึ้นเวทีมันได้มาแล้ว ๘๐ เราได้ ๒๐ แต่ถ้าเราทำด้วยความเป็นจริงนะ ก็ ๕๐-๕๐ กิเลส ๕๐ เรา ๕๐ ได้เสีย นี่ไงความจงใจ ความมุมานะของเรา มันจะมีของเรานะ แต่ถ้าเราอ่อนแอนะ เอาโลกเป็นใหญ่ เราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นี่ปฏิบัติธรรมนะ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ กิเลส ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ขี่คอเราอยู่นะ สบาย สบาย นี่กิเลสมันให้พูดไปอย่างนั้น
นี่ไงคำว่าเกิดดับ ถ้าเกิด เห็นไหม เกิดนี่รู้ เพราะเกิดมันทุกข์มันยาก การเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาก็รู้ แต่ดับนี่ไม่มีใครรู้ รู้ก็ลงภวังค์หายไปเฉยๆ แต่ถ้าเราชำระกิเลส โดยสัจจธรรม เกิดก็รู้ ดับยิ่งรู้ใหญ่ ดับยิ่งชัดเจน เพราะคำว่าดับนะ ยถาภูตัง คือการฆ่ากิเลส เกิดญาณทัสสนะที่รู้ว่ากิเลสตายแล้ว เห็นไหม นี่ถ้ากิเลสมันตายคาหัวใจนะ เกิดก็รู้ว่าเกิด ดับก็รู้ว่าดับ ไม่ใช่ว่าเกิดดับ เกิดดับ นั่นเกิดรู้ว่าเกิด ดับไม่รู้ว่าดับ เราต้องให้รู้เกิด รู้ดับ แล้วเราจะเป็นประโยชน์ มันถึงจะเป็นการประพฤติปฏิบัติสมควรแก่เรา เอวัง