ไม่รู้จักพุทโธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้แบบว่าต้องงงหน่อยว่างั้นเถอะ โยมจะงงนิดนึง เพราะแบบว่ามันจะหลายเรื่อง มันจะสับสนหน่อย แต่เราว่าเราจะเคลียร์ให้ได้ คำถาม ๓-๔ คำถาม มันจะไปลงที่เดียวกันหมด คำถามจากเว็บไซต์ คนที่ถามมานี้มันมีความปรารถนาดีนะ เขาเคยมาบวชที่นี่ด้วย แล้วก็ถามปัญหามาแต่เราไม่รู้ เขาเพิ่งไปเจอมา
โยม : ๑. กระผมชอบเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน ปรากฏว่าพบผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็มี พระอริยบุคคลก็มี บางคนเป็นถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า ทำไมการฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระศาสดา ของครูบาอาจารย์ แล้วทำไมจึงกลายเป็นเช่นนั้น หากผมเข้าใจไม่ผิด การประกาศตนเอาชนะผู้อื่นเพื่อให้ตนเองเด่นกว่าผู้อื่น สิ่งนี้ล้วนเป็นกิเลสใช่ไหมครับ จึงอยากทราบว่าระหว่างการปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบ ละวางกิเลสลงให้ได้ ไม่ได้คิดหวังว่าตนเองต้องเป็นพระอริยบุคคล
จะต่างกันไหมครับกับคนที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นอริยบุคคล แล้วอริยบุคคลจริงๆ เหมือนหลวงปู่มั่น หลวงตา แม้ท่านจะด่าว่าอย่างไร ใจเราก็ไม่รู้สึกว่าหลวงปู่หลวงตาด่าเลยสักนิดเดียว แต่กับคนที่บอกว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว การกล่าววาจาอันเจือด้วยโทสะอย่างมาก ผมจึงเกิดอาการต่อต้านอย่างรุนแรง อันนี้ผิดปกติไหมครับ หนึ่งนะ
คำถามนี่ ๓-๔ คำถามเดี๋ยวมันจะไล่มาเรื่อยๆ มันมาจากรากเหง้าอันเดียวกันแต่คำถามเขาแตกต่างกันไปเอง
๒. คำถามนะ จากข้อคำสอนของหลวงปู่มั่น การบำรุงรักษาสิ่งอื่นใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาใจตนเป็นเยี่ยมที่สุด จุดที่เยี่ยมยอดที่สุดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาใจด้วยดี ไม่ว่าทำส่วนใดถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นผิดทั้งนั้น ติดดีนี้แก้ยากยิ่งกว่าติดชั่วเสียอีก
พอผมอ่านถึงตรงนี้แล้ว มีบางท่านบอกว่า หลวงปู่เทสก์ ตามวาระ ตามกาลของผู้ฟังเพราะผมไม่ขัดแย้งกับหลายท่านในเรื่องว่าทำไมเวลาเราทำจิตสงบแล้ว หากบอกว่าทำวิปัสสนาอันเป็นปัญญาสูงสุดทางพุทธศาสนาแล้ว ทำไม จิตนั้นบอกว่าเป็นเรา จิตนั้นบอกว่าเป็นของๆ เรา แล้วทำไมบางทีหลวงปู่หล้า หรือหลวงปู่หลายๆ หลวงปู่บอกไม่ให้ยึด ไม่ให้ยึดถือเอาไว้ว่านั่นเป็นเรา แต่ให้มีสติรู้ว่านั่นจิต นั่นความสงบ และเมื่อพิจารณาปัญญาดูอาการของจิตที่เกิดขึ้น ดูว่ามีการดับไปไหมและเมื่อถึงที่สุดแล้วก็น่าจะเห็นว่าไม่มีตัวตน
เมื่อมันไม่เป็นตัวตน แล้วทำไมบางคนถึงบอกว่าจิตเป็นเราอยู่อีกล่ะ ตรงนี้ไม่เข้าใจ แล้วทำไมบางคนว่า จิตไม่ใช่เรา
หลวงพ่อ : ไอ้คำว่าไม่ใช่เรา นี่คือมันปฏิเสธตั้งแต่ทีแรก
โยม : ผมปฏิบัติมาได้ไม่นานแต่พอมาเจอความหลากหลายแล้วกลัวว่าคนอื่นจะสับสน แต่ผมมีความรู้สึกว่าสับสนมากกว่า เพราะการปฏิบัติก็ยากเย็นเหลือเกิน แล้วยังมาเจอน้ำคำของคนที่ปฏิบัติด้วยกัน ที่เห็นและรู้ต่างกันอีก จึงอยากถามหลวงพ่อ จากความต่อเนื่อง คำถามเลยนะครับ เพราะถ้าหากหลวงปู่มั่นบอกว่าไม่ว่าทำส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวยแล้วเป็นอันผิดทั้งนั้น ดังนั้นการมองเห็นจิตเป็นตัวตนของเราหรือจิตเป็นเราจะมีความสอดคล้องกับธรรมข้อนี้อย่างไร
๓. เรียนถามหลวงพ่อเรื่องจิต และไม่เป็นเราเพราะเหตุใด ในคำถามที่แล้ว จากการศึกษาในตำราจากคำสอนของหลวงปู่จันทร์ วัดบรมนิวาส เกี่ยวกับพระคาถาคิริมานนทสูตรมีความตอนหนึ่งว่า อัตตโข..... มันเป็นบาลีเนาะ คือมันที่ว่าใจก็ไม่เป็นเรา กายไม่เป็นเรา สรรพสิ่งไม่เป็นเรา จิตไม่เป็นเรา อะไรไม่เป็นเราหมดเลย อะไรก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรามาตลอด ฉะนั้น พอจบพระสูตร อยากเรียนถามว่า หากการพิจารณาปฏิบัติจริง ทำไมคำกล่าวของพระศาสดาจึงดูเหมือนว่าไม่ให้สำคัญว่าจิตนั้นเป็นตน แล้วอย่างที่ว่าถ้าเราเอาการที่จิตนี้ไม่ใช่เรานำไปก่อนแล้ว พอตั้งจิตให้สงบด้วยการทำสมาธิ มีสติจับในอารมณ์นั้น จนกว่าความว่างที่สิ่งต่างๆ ย้อนพิจารณาว่าทำไมจิตไม่ใช่เรา เพราะถ้าเอาตามคิริมานนทสูตร จะทำให้การภาวนาก้าวหน้าขึ้นหรือถอยหลัง เพราะหลงผิดคิดว่าจิตไม่ใช่เราไปก่อนแล้วครับ หรือจะต้องพิจารณาอย่างไร จึงกราบเรียนถามหลวงพ่อช่วยตอบด้วย
หลวงพ่อ : เห็นไหมจิตไม่ใช่เรา สิ่งต่างๆ ไม่ใช่เรา เราจะบอกว่าเพราะเขามีพื้นฐานอย่างนี้ เพราะในการปฏิบัติเรามีพื้นฐานอย่างนี้เพราะเรามีการศึกษาไง บอกว่า สรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา ทุกข์ก็ไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา พอมันคิดว่าไม่ใช่เราปั๊บนะ มันก็เลยกลายเป็นว่า เหมือนกับเรารู้ธรรมะแล้ว แต่ในการปฏิบัติกรรมฐานเราไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ทีนี้มันจะมีอีกข้อหนึ่ง นี่พุทโธถามมา อันนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวนะแต่เขาถามมาบอกว่าจะตอบก็ได้ไม่ตอบก็ได้
โยม : กระผมมีโอกาสพานักศึกษาไปปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการเข้าคอร์ส ครั้งละหลายร้อยคน ในวันแรก หลวงพี่ที่สอนนั้น ถามเด็กๆ ว่า ใครเคยฝึกรรมฐานอะไร ใครเคยฝึกหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ มาบ้าง เด็กๆ หลายคนยกมือขึ้น แล้วท่านก็พูดว่า เราโตๆ กันแล้ว พุทโธ มันง่ายไป พุทโธ มันเป็น มันเป็นสมถกรรมฐาน พุทโธ มันจะได้ฌาน
เรื่องง่ายไป ผมเถียง เพราะกว่าจะพุทโธให้จิตรวม เอาแค่อุปจาระก็ยากแล้ว เรื่องพุทโธเป็นฌานผมก็ค้าน เห็นด้วยแค่พุทโธเป็นสมถะเป็นการทำสมาธิเท่านั้น แต่หลวงพี่ที่นั่นกลับพูดในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรงคือ เราโตๆ กันแล้ว เรามาเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการรู้รูปนาม ยุบหนอ พองหนอ มันจะเป็นวิปัสสนา เป็นสติปัฏฐาน ๔ เกิดปัญญาได้ ลักษณะนี้พูดเหมือนว่า พุทโธ ไม่ดี ให้ชี้แจงรายละเอียดที่ว่าดีกว่าตรงไหน
ระยะเวลาที่ผมอยู่ที่ศูนย์นั้น หากผมหาที่สงัดปลีกวิเวกการภาวนามาภาวนาคนเดียว แต่สิ่งที่ทำให้ผมอยู่ไม่ได้ ก็คือมีพระรูปหนึ่งท่านเดินมาบอกผมว่า ทำอย่างนี้เป็นการหนีโลก ต้องสงบให้ได้ ในที่ที่ไม่สงบ ซึ่งผมก็ได้แต่รับฟัง นี่พูดถึงนะ เขาพูดไปเรื่อย พระองค์นั้นบอกว่าการคุยมันเป็นสิ่งส่งออก ถ้าเราต้องการกลับมากำหนดสิ่งที่เรากระทบใจ ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ เดินจงกรมให้ช้าๆ จึงมีสติ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินเร็วๆ ไม่มีสติ
อันนี้ พูดถึงความรู้สึกเขานะ และสิ่งที่ทำให้ผมเสียใจมากในการกระทำของตนเองที่สุดคือ ท่านถามว่าผมกำหนดอะไร เนื่องจากที่นี่ไม่ชอบพุทโธ ขณะนั้นผมเลยไม่กล้าบอกว่า ผมกำหนดพุทโธแต่หลังจากนั้น ผมก็ไปบอกท่านอีกทีว่า ผมกำหนดพุทโธเป็นส่วนใหญ่ (ส่วนน้อยเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ) ท่านก็บอกว่า พุทโธ มันสงบอย่างเดียว อาตมาทำพุทโธมาก่อน แล้วก็สงบ แต่พอเจออารมณ์ภายนอกมันกระทบ แต่มาฝึกยุบหนอ มันเป็นวิปัสสนาเพราะมันวางอารมณ์กระทบได้
หลวงพ่อ : นี่เขาว่าของเขานะ และอีกอย่างหนึ่ง ที่ขัดแย้งกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นอย่างยิ่ง นั่นก็ว่ากันไป แต่นี้ พูดถึงการที่เขาเสียใจ
โยม : ผมจึงกลับมาขอขมาต่อรูปหลวงตา ที่ผมไม่ซื่อตรงต่อพุทโธ พร้อมทั้งปฏิญาณตนว่า ถ้าต่อไปนี้ใครถามว่าปฏิบัติอย่างใด จะตอบอย่างอาจหาญว่า ผมกำหนดพุทโธ
หลวงพ่อ : เพิ่งมาคิดได้ทีหลัง เขาถามมาให้ตอบตรงนี้ไง เวลาไปแล้วเขาไม่กล้าตอบแต่พระมาบอกว่า พุทโธเป็นสมถะ พอเจออารมณ์ภายนอกกระทบมันละไม่ได้ แต่พอมายุบหนอพองหนอ มันวิปัสสนาแล้วมันวางอารมณ์กระทบ คำว่ามันวางอารมณ์กระทบนี้เราจะมาพูดถึงจิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต เพราะอะไร
เพราะโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแล้ว เราเข้าใจใช่ไหม บอกว่าสรรพสิ่งไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สรรพสิ่ง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย นี่พูดถึงว่ากันไปนะ พูดอย่างนี้ เพราะอะไรล่ะ เพราะเราไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า พอเราไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าแล้วเราไม่รู้ตามความเป็นจริง อันนี้มันเป็นการศึกษาไปทางสุตมยปัญญาไง ในการศึกษาเห็นไหม เดี๋ยวนี้การศึกษาสำคัญไหม..สำคัญ การศึกษานี้สำคัญนะ แต่พอการศึกษาสำคัญนะมันจบที่การศึกษานั้น การศึกษานี้จบแล้ว
ดูสิ พระกรรมฐานเราเวลาศึกษาเห็นไหม กรรมฐานเราเวลาจะบวชนะ หลวงปู่หล้า ไม่ใช่หลวงปู่หล้าที่ภูจ้อก้อนะ หลวงปู่หล้าที่เมืองลาว ไม่รู้ตัวหนังสือนะ อ่านหนังสือไม่ออก แต่เวลามากำหนดพุทโธๆๆ หนังสือมันขึ้นมาต่อหน้าเลย เลยอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ เขียนได้หมดเลย เห็นไหม พอข้างในมันจริงนี่ เราศึกษามาขนาดไหน เราศึกษาคือเราจำมาจะไม่รู้ความเป็นจริงเลย แต่หลวงปู่หล้าที่เมืองลาวนะ ท่านบอกว่าท่านก็อ่านหนังสือไม่ได้ มาอยู่กับหลวงปู่มั่นนะอ่านหนังสืออะไรไม่ได้หรอก เพราะท่านเกิดที่เมืองลาวท่านอยู่บ้านนอก แล้วท่านก็ไม่มีการศึกษามา แต่พอมากำหนดพุทโธๆๆ นะ หนังสือมันขึ้นมาเลย ก. ไก่ ข. ไข่ อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ จนท่องปาฏิโมกข์ได้ ทุกอย่างทำได้หมดเลย
นี่ไง นี่พูดถึง สิ่งที่เราไม่มีพื้นฐานเลย แต่ถ้าพอมันเกิดจากข้างในนะ แต่นี่ของเรา เราศึกษา เราทำความเข้าใจ ปริยัติสำคัญไหม..สำคัญ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านวางไว้นะ ปริยัติ ปฏิบัติ นะ ธรรมกถึก วินัยธร ธรรมกถึกก็ส่วนธรรมกถึก ธรรมกถึกนี้คือพระนักเทศน์ คำว่าเทศน์ เทศน์มาจากไหนล่ะ เพราะสมัยพุทธกาลสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีตำรานะ ตำราเกิดจากสังคายนา ๒๐๐ ปี พระพุทธเจ้านิพพานไป ๒๐๐ ปี ถึงได้มาจดจารึกกันนะ แต่ตอนที่พระพุทธเจ้าอยู่ยังไม่มีหนังสือ เรียนมาจากปากต่อปาก ทีนี้ธรรมกถึกนี่ก็จะต้องเกิดจากปฏิภาณ เกิดจากการปฏิบัติจริง วินัยธรคือจำธรรมวินัย แต่ธรรมกถึกเห็นไหม แยกมาตั้งแต่นั้น แยกตั้งแต่สมัยพุทธกาล คันถธุระ วิปัสสนาธุระ
ทีนี้ย้อนกลับมา การศึกษาสำคัญไหม ทุกคนบอกว่าการศึกษานี้สำคัญเราก็ว่าสำคัญ แต่การศึกษาสำคัญ เหมือนอาจารย์เหมือนครูสอนนักเรียน ถ้าครูไม่มีวุฒิภาวะ ครูไม่มีความรู้ ครูจะสอนนักเรียนได้ไหม ดูสิ อย่างนักศึกษาวันอาทิตย์เห็นไหม อย่างเรื่องเรียนธรรมะ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เห็นไหม เขาก็ต้องอาศัยการศึกษา เพราะอาศัยการศึกษามันก็ตอบกระทู้ธรรมต่างๆ กระทู้ธรรมมันก็ทำให้เราเข้ามาศึกษาในประวัติพระพุทธเจ้า ในธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ คำว่าสอนไว้ ก็มาศึกษาอย่างปัญหาที่เขาถามเห็นไหม คิริมานนทสูตร ต่างๆ ที่ถามกันมานี้
พอถามขึ้นมา อันนี้เราศึกษากันด้วยตำรา ดูสิ เด็กศึกษา พ่อแม่ทุกคนเลยจะถามลูกว่าลูกมีเป้าหมายเป็นอะไร ลูกคนนี้อยากเป็นหมอ ลูกคนนี้อยากเป็นวิศวะ ลูกคนนี้อยากทำงานต่างๆ เห็นไหม นี่คือเป้าหมายใช่ไหม แต่เป้าหมายอย่างนี้แล้วเราเรียนอะไร เราก็ต้องเรียนตั้งแต่ประถมขึ้นมาทั้งนั้น
ฉะนั้น คิริมานนทสูตร หรือว่าสูตรต่างๆ พระพุทธเจ้าบอกเอง บอกให้พระอานนท์รีบกลับไปในคิริมานนทสูตรที่ว่าเขาป่วย เพราะว่าเขาป่วยแล้วแบบว่าจะให้เขาพิจารณาไง เพราะคำว่าเขาป่วยแล้วเขาก็ภาวนาของเขาอยู่ มันก็เหมือนกับคนๆ นี้เขามีการศึกษาระดับนี้ เขาก็ศึกษาของเขาอยู่ ต้องรีบไปบอกเขาเพราะพอปฏิบัติขึ้นไปมันจะมีแนวทางขึ้นมา ถ้าแนวทางขึ้นมาพระพุทธเจ้าถึงบอกถึงให้สอนขณะนั้น ถ้าสอนขณะนั้นแต่พื้นฐานของเรานี้ เราเรียนปริยัติเห็นไหม เราเรียนปริยัติเราจะบอกว่า จิตนี้ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา มันไปเข้ากับกิเลสไง
ถ้าจิตนี้ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา มันไม่มีอยู่แล้วเห็นไหม แนวทางอย่างนี้เพราะเรียนปริยัติแล้วไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วไม่เป็น ถ้าปฏิบัติเป็นนะมันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่เรา ทุกคนที่เกิดมานี้ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเลย ทุกอย่างจะเป็นไปเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใช่ไหม แต่เวลาเรียนปริยัติเสร็จแล้วต้องเรียนปฏิบัติ พอเรียนปฏิบัติ พุทโธๆๆ เห็นไหม เขาบอกว่าพุทโธนี้เป็นสมถะ พุทโธนี้ไม่ใช่วิปัสสนา ใช่..พุทโธเป็นสมถะ แต่เพราะเขาไม่รู้จักพุทโธไง เพราะเขาไม่รู้จักพุทโธ เขาถึงไม่รู้ว่าพุทโธเป็นยังไง
ถ้าใครรู้จักพุทโธเห็นไหม หลวงปู่ฝั้นบอกไว้แล้ว พุทโธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส เห็นไหม หลวงปู่ฝั้นพูดเอง ถ้าเขาได้รู้จักพุทโธ เขาจะรู้ว่าพุทโธเป็นอย่างไร แต่เพราะเขาไม่รู้จักพุทโธ พอเขาไม่รู้จักพุทโธเขาก็ปฏิบัติเห็นไหม อย่างที่ว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา เขาเรียก ชิงสุกก่อนห่าม ซื้อก่อนขาย ตัวเองไม่มีความรู้สิ่งใดๆ เลย ไปหาว่าตัวเองมีความรู้เห็นไหม
ฉะนั้นแนวทางปฏิบัติที่ว่า หนอๆ ที่ว่าก้าวหนอ เหยียดหนอ รูปหนอ มีแต่รูปนั่งหนอๆๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นการสร้าง การสร้างแบบนี้ไงการสร้างแบบความไม่เข้าใจเพราะไม่รู้จักพุทโธไง ถ้ารู้จักพุทโธนะ หนอๆ ใครเป็นคนหนอ ใครเป็นคนหนอ แล้วไอ้คนที่หนอมันอยู่ที่ไหน คำว่ายุบหนอพองหนอ ถ้าหนอมันเป็นความจริงนะ เราเขียนไว้เลยที่ไหนก็ได้ให้เป็นหนอ แร่ธาตุต่างๆ มันต้องรู้ นี่มันไม่ใช่ เพราะเราจะบอกว่าจิตมันไม่ใช่ความรู้สึกอย่างนี้ จิตมันเป็นจิต จิตเป็นธรรมชาติรู้ แต่พอมารู้นี่คือมันเสวยอารมณ์แล้ว สิ่งที่หลวงปู่มั่นสอนเห็นไหม ถ้ามีการเสวยถือว่าเป็นความผิดหมด สิ่งที่ยังมีการเสวยอยู่ ถ้าสิ่งที่มีความเสวย ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์ นั่นมันเสวยแล้ว สิ่งที่มันเสวยเห็นไหม เพราะคำว่ามันเสวยอารมณ์อันนั้นเป็นการผิดทั้งหมด
แล้วที่ว่าหนอ รู้รูปหนอ นั่งหนอ ยืนหนอ นี่ใครเป็นคนรู้ ถ้าไม่มีจิตหรือใจเราแยกกันไม่เป็น เพราะเขาไม่รู้จักพุทโธเพราะเขาไม่เคยเห็นจิตไง เขาถึงไม่เห็นจิตเพราะมันเสวยแล้วมันถึงหนอไง จิตมันเสวยอารมณ์แล้วนะ มันเสวยรูป เสวยอาการย่าง เสวยอารมณ์รับรู้ นั่นคือจิตมันเสวยอารมณ์ เพราะมันเสวยอารมณ์มันถึงได้ปิดบังพุทโธไว้ไงถึงว่าไม่รู้จักพุทโธไง แต่ถ้ารูปหนอ ย่างหนอ เหยียดหนอ ย่างหนอ ใครเป็นคนรู้ว่าหนอ ใครเป็นคนรู้ว่าย่าง ใครเป็นคนรู้ว่าเหยียด ใครรู้ เพราะไปเสวยอารมณ์แล้วอยู่กับอารมณ์อย่างนั้น พอสร้างอารมณ์อย่างนั้น มันถึงเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
เพราะเขาไม่มีสมถะนี่ไง เราพูดบ่อยมากเพราะการตัดรากถอนโคน การตัดรากถอนโคนคือตัดรากถอนโคนผู้ที่คุณงามความดีเลย ตัดรากถอนโคนจิต ตัดรากถอนโคนผู้ที่จะตกผลึกเห็นไหม ดูสิ เราเกิดอยู่ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นหน้าที่การงานเราทำอะไรก็แล้วแต่ เราทำเพื่อใครเราทำเพื่อเรา แล้วเรารับรู้ที่ไหน รับรู้อะไร เวลาเราตายไปกรรมดีกรรมชั่วเห็นไหม ความรู้สึกเห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาคือความจำคือข้อมูล สังขารคือความปรุงแต่ง เวลามันตายไป มันทิ้งอันนี้ออก พอทิ้งออกมันเป็นปฏิสนธิจิต เพราะปฏิสนธิจิตนี้ โอปปาติกะเห็นไหม โอปปาติกะไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม โอปปาติกะมันไป แล้วเวลาเกิดเป็นมนุษย์ เราจำอดีตชาติไม่ได้ จำความรู้สึกสิ่งต่างๆ ไม่ได้
สิ่งที่มันตกผลึกมา ตกผลึกมาที่ใจ ถ้าตกมาที่ใจ นี่ พุทโธมันอยู่ที่นี่ เพราะเขาไม่รู้จักที่นี่ เขารู้จักแต่สามัญสำนึกที่เราเป็นกันอยู่นี้ แล้วเอาสามัญสำนึกมาศึกษาศาสนาไง พอศึกษาศาสนา โน่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ จิตก็ไม่ใช่จิต คิริมานนทสูตรเห็นไหม บอกว่าอานนท์ เธอจงไปบอกเขาว่า จิตสักแต่ว่าจิต มันอันเดียวกันโมฆราช เวลาโมฆราชเห็นไหม โมฆราช พราหมณ์ ๑๖ เห็นไหม เขามีคำถามมาถามพระพุทธเจ้า พอมีคำถามมาถามพระพุทธเจ้าเห็นไหม คนนู้นก็ถามไปเรื่อยๆ ทีนี้ โมฆราช เขามีจริงของเขา คือเขามีความว่างเขามีสมาธิของเขา พอถึงพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ข้าพเจ้ามองโลกนี้เป็นความว่างหมดเลย พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่างแล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิเห็นไหม กลับมาถอนก็ไอ้ตัวพุทโธ ไอ้ตัวรับรู้ ไอ้ตัวจิต เพราะตัวจิตมันดูความว่างข้างนอกเห็นไหม มันเห็นเป็นความว่างนะ แล้วย้อนกลับมาถามมัน
พูดถึงคนที่เห็นความว่าง ใครเป็นคนเห็น ความว่างมันเป็นความว่างอยู่แล้วใช่ไหม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นธรรมชาติของมันใช่ไหม แต่ผู้ที่รับรู้คือใคร พระพุทธเจ้าให้ถอนกลับมาที่นี่ จะถอนตัวนี้ สอนแต่โมฆราช ถ้ามาสอนพวกเรา เราจะไปถอนอะไร เราเห็นโลกนี้เป็นความว่างหรือยัง เราไม่เห็นอะไรเลยว่าว่าง เรายังไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย ไม่รู้จักสิ่งใดๆ แล้วเราบอกว่า มันว่างอยู่แล้วเพราะธรรมสอนมาว่าว่าง เราก็เลยทำว่ามันว่างอยู่แล้ว สักแต่ว่าว่างอยู่แล้ว
นี่ เพราะอย่างนี้เพราะเขาสอนกันอย่างนี้ มันถึงบอกว่า อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นนิพพานกันไปเอง กิเลสมันมีเพราะไปยึดมั่น พอไม่มีใครยึดมั่นก็ไม่มีกิเลส ไม่ใช่! พอไม่ยึดมั่นแล้วจิตอยู่ไหนล่ะ ใครเป็นคนยึดมั่น จิตไม่ยึดมั่นคือไม่ทำงานไง ดูสิ เวลาทำงานเห็นไหม เวลาทำงานหมายถึงว่าเหมือนกีฬามันแข่งขัน พอเลิกแข่งขันแล้วไปอยู่ไหนกันหมด จิตถ้ามันไม่เสวยอารมณ์ใช่ไหม จิตมันไม่ยึดมั่นของมัน มันก็อยู่เหมือนกับนักกีฬามันเลิกแข่ง มันก็มีตัวมันอยู่เห็นไหม ตัวนักกีฬามีอยู่แต่ไม่ได้ลงแข่งขัน นี่ก็เหมือนกัน พอจิตยึดมั่นก็คือนักกีฬาลงแข่งขัน คือว่ามันเป็นอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา มันเสวยอารมณ์ไปแล้ว เวลาอารมณ์มันดับไป ดับไปแล้วมันไปอยู่ที่ไหนล่ะ จิตมันอยู่ที่ไหน มันไม่เห็นจิตเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้จักพุทโธ พอไม่รู้จักพุทโธมันก็ไม่เห็นความเป็นจริง เพราะไม่เห็นความเป็นจริง มันก็เป็นจินตนาการ มันก็ไปนึกเอาไง
ดูสิ อย่างในทางบัญชี ถ้าในบัญชีนะ เลขในบัญชีใครจะเขียนไว้ได้ ทุกคนเขียนได้ทั้งนั้น แต่เวลาเราเสียภาษี เราส่งให้สรรพากรต่างๆ ถ้ามันไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชี บัญชีนั้นจะใช้ได้ไหม ถ้ามีผู้ตรวจสอบบัญชี หมายเลขบัญชีมันคืออะไร ทีนี้ถ้าไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชี เราเป็นคนเขียนลงบัญชีเองเห็นไหม ถ้าเราเป็นคนดีคนซื่อตรง เราก็เขียนบัญชีตามนั้นก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนโกงนะ เราตกแต่งบัญชีได้ทั้งนั้น ถึงเราจะขาดทุนขนาดไหนเราก็เขียนให้มันกำไรก็ได้ กำไรขนาดไหนเราเขียนให้มันขาดทุนก็ได้
ทีนี้ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นเองรู้เองเห็นไหม สักแต่ว่าๆ นั้นไม่ใช่เราๆ มันตัวเลขที่เราเขียนเองไง เราเพิ่มตัวเลขก็ได้ เราจะลดตัวเลขก็ได้ เราเป็นคนเขียนของเราเอง ถ้าเขียนของเราเองมันเป็นความจริงไหมล่ะ มันเป็นความจริงก็ได้ไม่เป็นความจริงก็ได้ จิตนี้ก็เหมือนกันเป็นสักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่าๆ ใครเป็นคนว่าสักแต่ว่า แต่ถ้ามันจิตสงบขึ้นมาเห็นไหม พอจิตมันสงบ อย่างที่บอกว่า ถ้าพุทโธมันเป็นสมถะ ก็เพราะมันเป็นสมถะนั้นแหละ พอมันเป็นสมถะขึ้นมา เพราะมันเป็นตัวของมัน แล้วทำไมมันออกใช้วิปัสสนา
เขาบอกว่า กำหนดนามรูปจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะเป็นวิปัสสนา เราบอกไว้แล้วว่า ไม่มี ถ้าไม่มีตัวจิต ตัวจิตรู้กาย เวทนา จิต ธรรม จะไม่เป็นวิปัสสนา ถ้าจะเป็นวิปัสสนามันต้องมีตัวจิตออกรู้ไง อย่างที่ว่า ถ้ายังมีการเสวยอยู่เป็นอันว่าผิด ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์อยู่นั้นถือว่าผิด แต่ถ้าจิตมันสงบมันปล่อยวางขึ้นมาแล้วมันออกไปวิปัสสนา ถ้าออกไปวิปัสสนาเห็นไหม นี่มาบอกว่า พุทโธเป็นสมถะ เพราะมันเจออารมณ์ภายนอก เวลาอารมณ์กระทบแล้วมันวางอารมณ์ไม่ได้
ทีนี้ถ้าพูดถึงว่าเราไปบอกว่าจิตนี้มันเป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างมันเป็นสักแต่ว่า มันก็เลยไม่มีใช่ไหม พอมันไปเจอสิ่งใด มันก็วาง มันไม่มีผู้รับรู้ มันว่ามันปล่อยวาง แต่มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะอะไร มันไม่ใช่เพราะมันไม่ใช่วิปัสสนาไง มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันไม่ใช่การวิปัสสนา มันไม่เกิดปัญญามันชำระกิเลสไม่ได้ คำว่าชำระกิเลสไม่ได้ถ้าพูดถึงว่าสติปัฏฐาน ๔ การรับรู้การเคลื่อนไหวเป็นวิปัสสนาตลอด แล้วถ้ามันการทำวิปัสสนามา แล้วผู้ที่ชำระกิเลส ผู้ที่ปล่อยวางกิเลสมันมีกี่คน มันมีใครชำระกิเลสได้บ้าง ไม่เคยเห็นมีนะ
กำหนดนามรูป กำหนดต่างๆ บอกว่า ชำระกิเลส ละกิเลสได้ มีใครละกิเลสได้ ไม่มีใครละกิเลสได้ แต่ทำถูกไหม...ถูก ถูกตามตำรา พอถูกตามตำรานี่คือการปฏิบัติตามตำราไง ถ้านี่คือการปฏิบัติตามตำรา การปฏิบัติโดยตามคิริมานนทสูตร สิ่งที่บอกว่าถ้ากำหนดอย่างนี้ มันมีความผิดไหม แล้วการปฏิบัติไป มันจะเป็นประโยชน์ไหม ในเมื่อมันเริ่มต้น มันเป็นการเริ่มต้นเห็นไหม ในเมื่อถ้ามันบอกว่า อย่างนั้นในการมองเห็นจิตคือตัวตน และในการเห็นจิตว่าเป็นเรา มีความสอดคล้องกับคำในข้อนี้ ถ้ามันเห็นเป็นตัวตนเห็นเป็นเรา การปฏิบัติมันจะต้องให้เป็นอย่างที่ว่าเห็นตัวตน เห็นเป็นเราก่อน
ฉะนั้นที่ว่านิพพานเป็นนิพพาน ถ้านิพพานเป็นเราอันนั้นถือว่าผิด นิพพานไม่มีเรา แต่มันต้องอาศัยเราผู้รู้ก่อน ถ้าจิตมันสงบใช่ไหมเพราะจิตมันเป็นเรา พอจิตมันเป็นเราแล้วจิตออกทำงาน มันจะมาชำระล้างถอดถอนไอ้ตัวเรา ถ้ามันถอดถอนตัวเราได้นั่นล่ะเป็นความจริง แต่ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญา มันจะถอดถอนตัวเราได้ยังไงในเมื่อเราไม่เห็นโทษ เราไม่เห็นอะไรเป็นความผิดความถูก ถ้าเราไม่เห็นอะไรเป็นความผิดความถูก มันจะรู้ผิดรู้ถูกได้ยังไง ถ้าเราไม่เห็นโทษมันจะเห็นคุณได้ยังไง แล้วคุณที่เกิดจากใช้ปัญญานี้ มันใช้ปัญญาอย่างไร
แล้วบอกว่า จิตไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แล้วมันเป็นอะไรล่ะ จิตมันเป็นอะไร เพราะว่าไม่เคยเห็นจิตใช่ไหม เราถึงบอกว่าพวกนี้ ไม่รู้จักพุทโธไม่รู้จักจิต เพราะมันไม่รู้จักจิตนะ แล้วคำว่าพุทโธๆ แล้วมันจะถูกตลอดไปไหม คำว่าพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาได้นะ ถ้ามีสติดีๆ นะ มันมีสติดี มันเป็นสัมมาสมาธิเพราะมีสติ ถ้ามันไม่มีสติ มันไม่มีการรับรู้นะ ดูสิ ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาล เวลาเขาทำจิตสงบนะ เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ เขารู้วาระจิตได้ เขารู้อะไรต่างๆ ได้ นั้นรู้จักพุทโธไหม อันนั้นก็ไม่รู้จักพุทโธ ถ้าไม่รู้จักพุทโธ คำว่ารู้จักพุทโธหมายความว่าอย่างไร คำว่ารู้จักพุทโธหมายความว่ามีสติ มีสติกับจิต ถ้ามีสติกับจิต สติมันจะควบคุมจิต ถ้าสติมันควบคุมจิต พอจิตนี้มันสงบสงัดเข้ามา มันมีสติสัมปชัญญะพร้อม เพราะมันมีสติสัมปชัญญะพร้อมใช่ไหม ถ้าคนไม่มีสติสัมปชัญญะพร้อมไม่มีปัญญา มันจะเข้าใจว่าพุทโธนี้เป็นนิพพาน เพราะมันเป็นความสงบไง ถึงได้บอกว่าพุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใสเห็นไหม พุทโธเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานใช่ไหม มันก็เบิกบานอยู่แล้ว นี่ก็คือนิพพานไง แต่มันไม่ใช่
แต่ถ้ามีสตินะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต้องออกไปแสวงหา กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าไปแสวงหากาย เวทนา จิต ธรรม ตามสัจจะความจริง แล้ววิปัสสนาญาณของมันเกิดขึ้นมา มันชำระล้าง แล้วมันปล่อยขึ้นมา มันขาดออกไปเห็นไหม พอมันขาดออกไป สิ่งที่จิตมันจะเสวยมันไม่มี ปัจจุบันนี้สิ่งที่มันเสวยตามสามัญสำนึกเห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันมีอารมณ์กระทบ อารมณ์กระทบเพราะอะไร อารมณ์กระทบเพราะมันมีจิตนะ
ถ้าไม่มีจิต ดูสิ บางทีเราเผลอนะ เราไปชนอะไรยังไม่รู้ว่าชนกับอะไรเลย อารมณ์กระทบถ้าไม่มีจิตนะ มันก็สักแต่ว่ากระทบ มันไม่มีใครรับรู้ แต่ถ้ามันมีจิตพอมันกระทบมันรู้ ทีนี้เวลาจิตมันสงบแล้วเราวิปัสสนาไปเห็นไหม สิ่งที่กระทบ กระทบมาจากอะไร การเสวยอารมณ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันมีของมัน สามัญสำนึกโดยธรรมชาติมันเป็นกันอยู่อย่างนี้ แล้วเวลาจิตสงบ ถ้าไม่มีพุทโธมันจะไม่เห็นตรงนี้ ที่พระบอกว่าเห็นไหม พุทโธเป็นสมถะ มันวางอารมณ์ไม่ได้ ถ้ามันกำหนดนามรูปแล้ว มันเป็นวิปัสสนา มันวางอารมณ์ มันวางรูปได้ การวางมันไม่ใช่วิปัสสนา!
การวางนี่ เราอยู่เฉยๆ มันก็วางแล้ว เราทำใจดีๆ เราทำใจสงบๆ มันก็วางแล้ว บางทีเราควบคุมใจเรา เราไม่คิดได้ไหม เราก็ไม่คิดมันก็วางแล้ว กูไม่ต้องกำหนดอะไรเลยกูก็วางได้นะมึง กูไม่ต้องกำหนดอะไรเลยกูก็วางได้ แต่ถ้ามันวางได้แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะมันไม่มีพุทโธ มันไม่รู้จักพุทโธ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันเห็นการเสวยอารมณ์ เห็นการกระทบ ที่เขาบอกว่าพุทโธ เวลาอารมณ์กระทบละวางไม่ได้ แต่ถ้าเป็นนามรูปเป็นวิปัสสนามันวางอารมณ์ได้ มันไม่ใช่วางอารมณ์ได้ มันเป็นความที่กิเลสมันครอบงำ กิเลสมันหลอก กิเลสมันบอกว่า เหมือนเรารู้ไง เหมือนบัญชีที่เราเขียนขึ้นมาเองไง ใครๆ ก็เขียนเติมบัญชีเราได้นะ บัญชีเรานี้ใส่ตัวเลขเข้าไปเยอะๆ ศูนย์เขียนไปเยอะๆ เลย แล้วมันเป็นความจริงไหม
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันศึกษาธรรมะใช่ไหม มันเห็นว่านี่เป็นอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม มันสักแต่ว่า ไม่มีอะไร วางให้ได้ มันก็วางไป วางแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันได้อะไรขึ้นมา เดี๋ยวมันก็กลับมาอีก แต่ถ้าจิตมันสงบ เรามีพุทโธนะ มันไม่ใช่วาง มันเป็นมรรคญาณ การชำระกิเลสมันชำระกันด้วยมรรคญาณ ด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ถ้ามีปัญญาจากสัมมาสมาธิ มันเห็นการเสวย จิตเสวยอารมณ์คือจิตนี้มันออกคิด ธรรมชาติของจิตเวลาเราไม่คิดจิตมันอยู่ไหน แล้วเวลาความคิดมันเกิดขึ้นมา เราเคยเห็นระหว่างจิตเรากับความคิดเกิดขึ้นมาไหม เราเคยเห็นระหว่างความคิดกับจิตที่มันทำงานกัน ใครเคยเห็นบ้าง ถ้ายังไม่เคยเห็นเพราะเรายังไม่มีพุทโธไง ถ้าเราได้รู้จักพุทโธ พุทโธมันนิ่งใช่ไหม เพราะเรารู้จักพุทโธ พุทโธมีพลังงาน พุทโธเสวยอารมณ์ พุทโธมันออกไปทำงาน เราจับได้ เพราะจิตจับจิต จิตจับอาการของจิต พอจิตจับอาการของจิต จิตมันเห็นของมันตามความเป็นจริง จิตมันถึงเกิดวิปัสสนา
สติปัฏฐาน ๔ ที่ทำๆ อยู่นั้นเราบอกว่า ผิดหมด ผิดหมด ผิดหมด ผิดหมด! ผิดหมดเพราะอะไร เพราะเป็นเจ้าของบัญชีเติมเลขบัญชีตัวเอง เติมเข้าไป อู้หูย.. ธรรมะมันสักแต่ว่า ถ้ามันมีปัญญารอบรู้แล้วมันปล่อยวางเอง มันปล่อยวางเอง นักปฏิบัตินะ สายครูบาอาจารย์เราไม่เป็นอย่างนั้น สายครูบาอาจารย์ ขณะจิตที่มันสมุจเฉทปหาน เป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคามันเป็นยังไง เป็นโสดาบันมันขาดยังไง ทีนี้มันยังไม่เป็นไป
คำว่ามันวางอารมณ์ได้นี้ มันเป็นเรื่องโลกไง เราจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เขาทำไป มันเป็นเรื่องโลก พอเป็นเรื่องโลกมันก็ไปศึกษา ทีนี้มันอยู่ที่เรา ปริยัติมันเป็นปริยัตินะ ปัญญาในการศึกษา เราจะไม่ไปโต้แย้งเพราะการศึกษาคือการจำธรรมะของพระพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แล้วเอามาทำวิจัยเห็นไหม เอามาวิเคราะห์วิจัย สิ่งนี้มันเป็นเรื่องการศึกษา ศึกษามันเป็นความรู้ ความรู้นะ แล้วเวลาเรามาปฏิบัติเห็นไหม
เราจะพูดบ่อย แล้วคนก็รับไม่ค่อยได้ บอกว่าเวลาหลวงตาท่านศึกษาท่านเป็นมหา คำว่ามหาคือแปลบาลีได้หมด บาลีนี้แปลได้เขียนบาลีได้ ธรรมะนี้เข้าใจได้ เสร็จแล้วเวลาไปหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม เพราะหลวงปู่มั่นท่านก็ศึกษาโดยตัวของท่าน ท่านศึกษากับเจ้าคุณอุบาลี ท่านศึกษามาเยอะ พอศึกษาแล้วมาปฏิบัติแต่มันไม่มีใครชี้นำ ท่านก็ต้องใช้ปัญญาของท่านคอยแยกแยะว่าอะไรเป็นเนื้อ อะไรเป็นกระดูก เพราะในการศึกษา โครงสร้างของสัตว์ ไก่หรือปลาหรือเนื้อหมูเนื้อวัว มันมีกระดูก มันมีกระดูกแล้วก็มีเนื้อ อะไรเป็นเนื้ออะไรเป็นกระดูก กระดูกมันกินไม่ได้ เนื้อกินได้ การศึกษาขึ้นมา เวลากิเลสเราศึกษา กิเลสมันเป็นกระดูก กิเลสมันกินหมด กิเลสมันยึดไปหมดว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนี้ๆ
ฉะนั้นเวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า มหา การเรียนศึกษามหานี่นะ การศึกษาธรรมพระพุทธเจ้ามา สูงส่งมาก สาธุ เก็บความศึกษานี้เอาไว้ในลิ้นชักก่อนนะ แล้วลั่นกุญแจไว้อย่าให้ออกมา ถ้าออกมามัน เพราะธรรมะท่านเป็นเนื้อ แต่กระดูกในหัวใจเรา เพราะกระดูกมันต้องมีเนื้อหุ้มใช่ไหม มันจะบอกว่า เนื้อนะหุ้มกระดูกหมดไม่มีกระดูกเลย แล้วมันกลืนเข้าไปกระดูกนั้นติดคอ แล้วปฏิบัติไปได้ยาก ท่านถึงบอกว่าเอากระดูกนะ เอาธรรมะพระพุทธเจ้าที่กระดูกมันจะอ้างนี้ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน ฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติไป พอประพฤติปฏิบัติเราต้องขยำ เราต้องทำลาย เราต้องเลาะเนื้อกับกระดูกนี้แยกออกจากกัน สิ่งที่เป็นกระดูกเราจะต้องทิ้งไป สิ่งที่เป็นเนื้อเราเอามาใช้เป็นอาหารประทังชีวิต เอามาใช้เพื่อการประพฤติปฏิบัติ ให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมา จนถึงที่สุดนะ พอเราทำชำนาญทั้งหมด เราจะรู้เองโดยธรรมชาติเลยว่า กระดูกกับเนื้อมันแตกต่างกันอย่างใด
ทีนี้ พอถึงที่สุดในการปฏิบัติแล้ว ท่านบอกว่าธรรมะที่เราเรียนมาของพระพุทธเจ้ากับความเห็นความจริงของเรามันจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย ความเป็นจริงของเรา ที่เราปฏิบัติมากับเนื้อแท้ที่ธรรมะพระพุทธเจ้าที่เราบอกว่าเรียนมานะ เราศึกษามามันเป็นอันเดียวกัน ธรรมะพระพุทธเจ้านี่สุดยอดมากเลย แต่มันเสีย เสียเพราะว่าไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราคือกระดูก มันไปสร้าง สร้างเอาเนื้อปลอมๆ มาแปะมันให้เป็นธรรมะพระพุทธเจ้าไง ที่ว่าจิตนี้สักแต่ว่าจิต ไม่ใช่เรา สักแต่ว่าเขา ว่ากันไปนะ
เราบอกว่าเป็นเรา การปฏิบัติของครูบาอาจารย์เป็นเรา เป็นสติ เป็นปัญญา เป็นสมมุติขึ้นมา เราต้องเริ่มต้นจากเรา ดอกบัวเกิดจากโคลนตม ธรรมะเกิดจากหัวใจของเรา สรรพสิ่งในหัวใจของเราที่มันสกปรกโสโครกอยู่นี้ เราจะต้องทำความสะอาดของมันขึ้นมา แล้วเราพยายามสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งใดที่มันจะลอยจากฟ้า ไม่มี สิ่งนั้นไม่มีแต่เพราะเราไปให้ก่อนไง ชิงสุกก่อนห่ามไง ธรรมะพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น ถูกต้องไหม...ถูก แต่ถูกต่อเมื่อท่านสอนผู้ที่ปฏิบัติอย่างเช่น โมฆราช สอนคนระดับที่ควรแก่การงาน ควรที่จะบรรลุธรรม แต่อย่างพวกเรา มันควรบรรลุธรรมหรือยังล่ะ เราควรบรรลุธรรมหรือยัง ถ้าเรายังไม่ควรบรรลุธรรม เราจะต้องมีพื้นฐานของเราไง เพราะเราไปทิ้งพื้นฐานนะ
พุทโธ พุทโธ มันสมถะ พุทโธชำระกิเลสไม่ได้ ถ้ามาใช้นามรูปแล้ว มันเป็นวิปัสสนา
โกหกทั้งหมดเลย! ถ้ามันเป็นวิปัสสนา มันต้องเป็นปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือคนหนาด้วยกิเลส ปุถุชนคือคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ กัลยาณปุถุชน มันเห็นรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วยกขึ้นโสดาปัตติมรรคยังไง โสดาปัตติมรรคระหว่างจิตเห็นอาการของจิต เห็นว่าจิตเสวยอารมณ์ จิตเสวยอารมณ์จิตมันเสวยยังไง อารมณ์มันเกิดยังไง อารมณ์กับจิตมันเป็นเนื้อเดียวกันยังไง ความคิดเกิดยังไง อารมณ์ความรู้สึกที่มันอยู่ในจิตใจนี้มันเกิดยังไง
เราจะเห็นหมด เราจะแยกแยะได้หมดเลย พออารมณ์มาปั๊บมันจับได้ไง ถ้าเราจับอารมณ์ไม่ได้ เราจะจับจิตเราไม่ได้ เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม จิตมันแสดงตัวเพราะมันเสวยความคิดใช่ไหม เช่น โลภ โกรธ หลง พอมันแสดงตัว ถ้ามันเสวยปั๊บ สติมันทัน มันจับมั้บเลย พอมันจับมั้บ นี่วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ แต่นี้เขาบอกไม่ใช่ เขาวางอารมณ์ไง วิปัสสนามันวางอารมณ์ได้ วางอารมณ์ได้คือว่าพอจะคิดก็เราไม่คิดไง อะไรจะเกิดขึ้นไม่ให้เกิด อะไรก็ไม่ให้มี มันก็ไม่มี แล้วใครเป็นคนวางล่ะ วางอารมณ์ใครเป็นคนวาง ถ้าไม่มีคนวางอารมณ์ บัญชีนี้เอ็งเขียนตัวเลขเอง แต่ถ้าจิตวิปัสสนาเห็นไหม เกิดจากอะไร เกิดจากอริยสัจ มีผู้ตรวจสอบบัญชี มีหมายเลขทะเบียนรับรองว่าบัญชีนี้ถูกต้อง บัญชีนี้ได้ผล
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปสักแต่ว่ากันก่อนใช่ไหม เราไปสักแต่ว่า นี้เป็นสักแต่ว่า โน้นเป็นสักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่า แล้วมันไปคล้องจองกับธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าพูดถึงพุทโธๆ เป็นสมถะ ถูกต้อง เป็นสมถะ แต่มันจะได้เนื้อหาสาระตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราไม่มีสมถะ ไม่มีตัวเราเองเลย เหมือนกับเรานี้ไม่มีตัวตน แล้วเราจะมีสมบัติได้ยังไง อย่างเช่นเราไม่มีตัวตนหรือเราเป็นบุคคลล้มละลาย เราเป็นคนล้มละลาย เราจะมีทรัพย์สินไม่ได้เลย ถ้ามีทรัพย์สินเขาก็ยึดหมด
นี่ไม่รู้จักพุทโธ ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักผู้ทำดีทำชั่ว แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจากมันจะมีอะไร เอ้า..ก็ปล่อยวางหมด คำว่าปล่อยวางนี้มันเป็นการไขสือนะ มันเป็นการไขสือ มันเป็นการตาบอดสี มันเป็นการปฏิเสธโดยไม่ยอมรับ เหมือนคนตาบอดว่าโลกนี้ไม่มี แต่ความจริงมันมี ถ้าเราจะปฏิบัติแบบคนตาบอด สรรพสิ่งนี้ไม่มี แล้วมันก็เป็นตาบอดคลำช้างไป ช้างเป็นอย่างนั้น ช้างเป็นอย่างนั้น นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย แล้วเราคนตาดี เราจะประพฤติปฏิบัติกัน เราไปเชื่อคนตาบอดที่พูดอย่างนั้นได้ยังไง
แต่ถ้าเราเป็นคนตาดีนะ เราศึกษาของเรา แล้วเราปฏิบัติของเราไป เขาบอกว่าเป็นสมถะ สมถะ เราจะบอกว่าในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปสสนาก็มีสมถะ ในสมถะมันก็มีปัญญา ถ้าคนจะทำสมถะจะทำพุทโธๆ แล้วไม่มีปัญญานี่ กิเลสมันจะหลอกหัวปั่นเลย
พุทโธๆๆ นี่พุทโธที่ปาก ไม่ได้พุทโธที่ใจ พอพุทโธที่ใจ พุทโธที่ความคิดไม่ใช่เนื้อพุทโธ พุทโธๆๆ จนพุทโธๆ ไม่ได้ จนเป็นเนื้อพุทโธ พุทโธกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน เพราะพุทโธนี้จิตมันระลึกขึ้นมา แต่พอพุทโธๆ กับจิตเป็นเนื้อเดียวกันเห็นไหม พอเป็นเนื้อเดียวกัน นี่ตัวจิต ถึงบอกว่า ผู้นี้จะเป็นผู้รู้จักพุทโธ ไม่รู้จักพุทโธแล้วบอกพุทโธไม่มีค่า พุทโธเป็นสมถะต้องวิปัสสนา ไม่มีพุทโธไม่มีวิปัสสนา พุทโธคือสามัญสำนึก พุทโธคือผู้รู้จักตัวตนของตัวเอง ตัวตนเป็นผู้ทำตัวเองเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย การประพฤติปฏิบัติเราต้องทำให้เราเองไม่มีใครทำให้เรา ถ้าจิตของเราเป็นเราเอง เราทำของเราได้ มันถึงจะเป็นของเรา ถ้าจิตของเราทำของเราไม่ได้ เราไม่มีใครเป็นคนทำ แล้วจิตมันจะทำอะไรขึ้นมา มันไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ขึ้นมาเลยนะ
ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่า เขาถามมาเห็นไหม เขาถามมาทั้งหมดว่า ในคิริมานนทสูตรในการศึกษาว่าในเมื่อจิตถ้าไม่ใช่เราแล้ว ถ้าเราเอาจิตไม่ใช่เรามาก่อนแล้วเราปฏิบัติไปมันจะเสียหายอย่างใด เพราะจิตไม่ใช่เราอยู่แล้วที่ทำมาในสังคมปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ เพราะมันมีสิ่งนี้เป็นสามัญสำนึก ว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา มันไม่มีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์นะ กิเลสมีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว กิเลสมีอยู่ เพราะกิเลสมันอยู่กับจิต เพราะมันมีอวิชชามันถึงพาเรามาเกิดใช่ไหม กิเลสมีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ในการศึกษา พอศึกษาไปแล้วบอกว่ากิเลสไม่มีอยู่โดยดั้งเดิม จิตนี้ไม่มีอยู่โดยดั้งเดิม สรรพสิ่งไม่มีอยู่โดยดั้งเดิม เพราะเราหลง เราไปยึดเข้ามันเลยเป็นกิเลส
แต่ถ้าในการปฏิบัติตามข้อเท็จจริงแบบครูบาอาจารย์ หรืออย่างที่เราปฏิบัติกันมานี้ กิเลสมีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว ถ้าไม่มีอยู่โดยดั้งเดิม มันจะไม่ขับให้เรามาเกิดที่นี่ พอขับให้มาเกิดที่นี่ พอเราจะปฏิบัติเข้าไป หมายความว่าเราต้องกลับไปสู่ฐานของมัน นี่ถึงว่า สมถกรรมฐาน เข้าไปอยู่ฐานที่ตั้ง เข้าไปอยู่ที่ตั้งของจิตว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน พอจิตมันสงบเข้าไปเห็นไหม นั้นแหละ พอจิตสงบแล้วจิตออกค้นคว้าขุดคุ้ยหากิเลส มันถึงจะเจอกิเลส ถ้าจิตสงบแล้วไม่ขุดคุ้ยหากิเลสคือไม่รู้จักพุทโธ คือไม่เอาพุทโธมาเป็นประโยชน์ ไม่เอาฐานดั้งเดิมของมันออกค้นคว้า มันจึงไม่เห็นกิเลส
แต่พอจิตมันเข้าไปถึงพุทโธ เข้าไปถึงเนื้อแล้วมันหากิเลสเห็นไหม พอมันเห็นกาย เวทนา จิตธรรม โดยจิต โดยความเป็นจริง อันนั้นล่ะ วิปัสสนาเกิดตรงนั้น วิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว ถ้าทำประโยชน์ให้มันให้ครบสมบูรณ์ตามกระบวนการของมัน มันถึงจะเป็นโสดาบัน ถ้ากระบวนการไม่สมบูรณ์ของมันเห็นไหม มันทำได้ชั่วคราว มันทำแล้วมันไม่มีกำลังพอเห็นไหม มันทำแล้วมันก็เสื่อม
พอมันเสื่อม มันเสื่อมแล้วเราก็เพิ่มสติ เพิ่มปัญญาขึ้นมา แล้วเราเพิ่มสมาธิขึ้นมา ใช้ปัญญาต่อไป มันจะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เวลาประพฤติปฏิบัติไปถามหลวงตาหรือถามครูบาอาจารย์บอกว่า ถูกไหม..ถูก เวลาเราไป เราจะบอกว่าเราเคยทำมา ถูกไหม..ถูก แล้วทำยังไงต่อไปครับ ก็ซ้ำสิ คำว่าซ้ำเห็นไหม พอเราทำไปแล้วมันจบขบวนการ แล้วเราต้องทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นมา ทำให้ชำนาญขึ้นมา ทำแล้วทำเล่าทำแล้วทำเล่าจนถึงที่สุด ขบวนการของมันสมบูรณ์ขึ้นมานะ มันเป็นของมันเองนะ สมุจเฉทปหาน กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เห็นไหม
แต่เดิมเราบอกไม่ใช่อยู่แล้ว เราบอกกิเลสไม่มีอยู่แล้ว แต่ความจริงมันมีอยู่ แล้วพอเราพิจารณาไปเห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในทุกข์เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะมันชำระกิเลส แล้วสักกายทิฏฐิความเห็นผิดมันถอดถอนออกไปเห็นไหม พอกิเลสมันขาด นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้ วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ไอ้ที่ว่า หนอ หนอ หนอ รูปๆ นามๆ นี่ไม่มีหรอก ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีวิปัสสนา ไม่มี มันเป็นเจ้าของบริษัท แล้วเขียนตัวเลขบัญชีกันเอง เขียนใส่ตัวเลขบัญชีเยอะๆ ว่าของชั้นประกอบธุรกิจแล้วบัญชีมันเกิดขึ้นมหาศาลเลย แต่ถ้าส่งสรรพากร สรรพากรมันจะเก็บภาษีตายเลยนะ มันรีดตายเลยล่ะ แต่ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นจะบอกว่า ที่เขาถามมาว่าตัวเองไม่กล้าบอกพุทโธ ไม่กล้าบอกพุทโธเพราะมันไม่มีพื้นฐานตรงนี้ ไม่มีพื้นฐาน พอจะบอกว่าพุทโธเห็นไหม ไม่กล้าบอกเขาพุทโธ แล้วพุทโธเป็นสมถะ ก็มันเป็นสมถะจริงๆ แต่ถ้าไม่มีสมถะมันจะวิปัสสนามาจากที่ไหน เพราะเขาไม่มีสมถะ เขาไม่มีพุทโธ เขาบอกเขาใช้วิปัสสนากันไปเห็นไหม ฉะนั้น คำว่าเป็นสมถะ จริงไหม...จริง เพราะเราปฏิบัติตามความเป็นจริง แต่คำถามแรกเห็นไหมที่บอกถ้าเป็นสักแต่ว่ามาก่อนเห็นไหม เหมือนกับเข้าใจว่าตัวเองไม่มีกิเลสมาก่อนแล้วปฏิบัติไป คนเราถ้าไม่เป็นโรคเป็นภัยขึ้นมาก่อน แล้วไปหาหมอ แล้วบอกไม่เป็นไรเลยหมอนี้เก่งมากเลย เดินเข้าไปโรงพยาบาลก็ออกได้เลยเพราะเราไม่เป็นโรคอยู่แล้ว แต่ถ้าคนเราเห็นไหม เราเป็นโรคเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเข้าโรงพยาบาล หมอต้องรักษาเราก่อน รักษาเราหายแล้วหมอนั้นถึงจะเป็นหมอที่ดี แต่นี้เราเข้าใจว่าเราเป็นโรคแต่เราไม่มีโรค
นี่ก็เหมือนกัน สักแต่ว่าไง จิตก็เป็นสักแต่ว่า กิเลสก็เป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างก็เป็นสักแต่ว่า นี่ เขาถามว่าการปฏิบัติมันจะเสียหายยังไง เสียหายเพราะว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ผิด เป้าหมายว่ามันไม่มีอยู่แล้ว แล้วปฏิบัติไปก็อย่างที่ว่า เขาก็พูดมาเอง เขาว่าก่อนหน้านั้นเขาเข้าใจเรื่องธรรมะหมดเพราะอะไร เพราะเขาคิดว่าเขาไม่มีโรคมีภัยใช่ไหม เขาก็ไม่เคยเป็นโรคเป็นภัย เขาก็ไม่เห็นความเป็นโรคเป็นภัยนั้นเป็นกิเลส ฉะนั้นเขาไม่มีอยู่แล้วเขาถึงเข้าใจธรรมะ แต่พอมาฟังว่า ไม่มีจริงหรือ โรคชราล่ะ โรคเสื่อมสภาพล่ะ พอรู้ขึ้นมาจริง ชักตกใจไง
ฉะนั้นมันถึงสับสนว่า จิตนี้ไม่มีอยู่จริงหรือ มันเป็นสักแต่ว่าจริงหรือ จิตมีอยู่จริง! แต่เป็นสักแต่ว่าเพราะมันรื้อหาไม่เป็น คนที่ว่าสักแต่ว่าเพราะหาจิตไม่เจอ ไม่รู้จักพุทโธ เข้าใจพุทโธไม่ได้ ถึงบอกมันไม่มี! แต่ถ้าคนบอกว่ามันมีอยู่แล้ว แล้วพยายามค้นหาด้วยความจริง ด้วยการกำหนดพุทโธ เป็นสมาธิอบรมปัญญาหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเข้าไปตามความเป็นจริง เปลี่ยนความเป็นจริงนั้น อันนั้นถึงจะรู้จักพุทโธตามความเป็นจริง แล้วออกไปค้นคว้าแล้วจะเข้าใจว่าพุทโธมีคุณค่าแค่ไหน แล้วถึงจะกล้าพูดว่า เราปฏิบัติพุทโธไง ไม่งั้นไม่กล้าพูดว่าเรากำหนดพุทโธนะ อายเขา กลัวเขาตอกเอา แต่ถ้ามันรู้จริงนะ ไอ้คนไม่ทำพุทโธ มันเป็นการฟั่นเฝือน เป็นการเข้าใจผิด แต่เพราะเราเป็นชาวพุทธเรามีธรรมะของพระพุทธเจ้า บอกว่าปฏิบัติแล้วสบายๆ แต่ไม่มีผลตามการปฏิบัติแน่นอน
เพียงแต่ว่าเหมือนกับหลวงตาว่า ใครคนใดคนหนึ่งก็แล้วแต่เป็นคนชั่ว ทำความชั่วไว้มากเลย ก็จะบอกว่าคนชั่วนี้ทำไมมันไม่มีผลซักที ไม่มีผลซักที หลวงตาใช้คำว่าลมหายใจเข้าออกเขายังมีอยู่ วันไหนลมหายใจขาด มันจะเป็นไปตามเวรตามกรรมนั้นทันทีเลย สถานะของลมหายใจเรานี่ สถานะของมนุษย์เรา เพราะเราทำกุศลมาเราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทำดีทำชั่ว ทำดีก็เป็นผลเป็นประโยชน์กับเรา ทำชั่วก็เป็นความชั่วของเรา แต่พอลมหายใจขาด มันไปตามข้อเท็จจริงแล้ว แต่ตอนนี้เพราะสถานะเดิม คือสภาพของมนุษย์เดิม มันรองรับไว้ ที่ว่าทำชั่วทำไมไม่เห็นได้ชั่ว ให้ลมหายใจขาดจะรู้เลยว่ามันชั่วหรือมันดี
อันนี้ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้จริงทำจริงมันจะเห็นจริงของมัน ถ้าไม่เห็นจริงของมันก็พูดกันอย่างนี้ ลอยๆ แล้ว ยังดี ยังมีหลักยึด ยังมีครูบาอาจารย์เป็นที่ยึด เรายังทำตามความเป็นจริงของเรา แต่ การกระทำนั้นถ้าทำจริงมันทำยาก ถ้าทำได้จริงมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าทำไม่จริงก็โดนเขาถากถาง พอโดนเขาถากถาง ธรรมะบอกว่า คนเกิดมานี่นะ เอาขวานมาคนละเล่ม ปากคือขวาน เที่ยวถากเที่ยวถางเขาเรื่อยไป
ฉะนั้นคนเรามีขวานกันคนละเล่ม เขาจะถากเรา โดยที่เขาไม่มีสติปัญญา มันก็สุดวิสัย โลกธรรม ๘ ใครจะถากจะถางนะ ถ้าทำความดีของเรา เรามีจุดยืนของเรา เราทำความดีของเรา ใครจะถากให้มันถากถางไป แต่ถากถางนั้นมันไม่ให้ผลตามความเป็นจริง แต่การปฏิบัติของเราสำคัญกว่า ปฏิบัติจริงก็ได้จริง ปฏิบัติตามโลก ตามสมมุติ มันก็ได้สมมุติอย่างนั้นล่ะ ถ้าปฏิบัติสมมุติ แต่เป็นความจริง จริงตามสมมุติก่อน แล้วจริงตามบัญญัติ แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง