เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ศาสนาเป็นของจริง ธรรมะเป็นของจริง แต่เราอยู่ในโลกสมมุติ โลกนี้เป็นของสมมุติ จริงตามสมมุติ โลกธรรม ๘ นะ โลกธรรม มันจริงตามสมมุติ เราก็รับรู้ตามความเป็นจริง ก็โลกธรรมน่ะ สรรเสริญคู่กับนินทา สุขคู่กับทุกข์ ขาวคู่กับดำ ความมีอยู่มันก็ต้องสลายไป เห็นไหม รัฐบาลล้มไปนั่นน่ะ
ชีวิตของนิติบุคคลนะ ๑ เทอม ๔ ปี ถ้าครบ ๑ เทอมก็ว่าเหมือนกับเราเกิดแล้วเราตายไป แต่นี่ปีกับ ๑ เดือนใช่ไหม แล้วก็ล้มไป แล้วเราตามไปจะเห็นเลยล่ะว่ามันให้ผลกับโลกขนาดไหน เราดูไปนะ ถ้าเราตื่นเต้นไปกับมันนะ เราก็เร่าร้อนไปด้วย จริงตามสมมุติ จริง...จริงเด็ดขาดเลย ก่อตั้งขึ้นมา ทำความดีก็ให้ผลกับความเจริญรุ่งเรือง ก่อตั้งขึ้นมาแล้วทำตัวไม่ดีก็ให้ผลในทางลบ พวกเราก็เดือดร้อนไปด้วย มันไม่จริงได้อย่างไรสมมุติ สมมุติก็จริงตามมีอย่างนั้นล่ะ แต่เราก็ต้องเข้าใจไง
ถ้าคนมีผลประโยชน์มาก...เสียใจมาก คนมีผลประโยชน์น้อย...เสียใจน้อย คนเข้าใจหลักตามความเป็นจริง ความอนิจจัง มันก็ทำให้ปล่อยวางใจได้ ใจก็ไม่ทุกข์กับมันจนเกินไป แต่คนปล่อยวางใจไม่ได้ก็เดือดร้อนมากหน่อย วุฒิภาวะของใจ ผลประโยชน์ของบุคคลไง เห็นไหม โลกเป็นอย่างนั้น เรามองแล้วเราเทียบเข้ามาตัวเราสิ เทียบเข้ามาที่ตัวเรา กายนคร นครของกาย กายนี้เป็นขี้ข้าของใจ เป็นเมืองขึ้น กายนี้เป็นเมืองขึ้นของใจ ใจมันสั่งกาย หัวใจเป็นเมืองขึ้นของกิเลส ถ้าผู้ชำระกิเลสแล้ว หัวใจเป็นอิสระพ้นจากกิเลส พ้นจากการสั่งของกิเลส
เราเทียบข้างนอกเราก็ดู เวลาเกิดเวลาดับมันเป็นให้ผลประโยชน์ขนาดนั้น ประเทศชาติมีผลและไม่มีผล ประเทศชาตินะ ผลของประเทศชาติเลย ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ กับความเจริญรุ่งเรืองของใจเรา หัวใจมันครอบคลุมชาติมนุษย์ เห็นไหม ชาติของมนุษย์ แล้วมันยังเกิดได้อีก รัฐบาลตายก็เกิด ตายแล้วก็เกิด วัฏวนก็เป็นแบบนั้น ตายแล้วก็เกิด ตายแล้วก็เกิดใน ๓ โลกธาตุนี้ ย่นเข้ามานะ มองข้างนอกแล้วก็มองเข้ามาข้างใน มันจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นชัดไง
การภาวนานี้ก็ดูความเปลี่ยนแปลง มันไม่มีอะไรแน่นอน การเปลี่ยนแปลงเป็นกฎอนิจจัง มันคงที่ไว้ไม่ได้ แต่เราก็ยึดกัน สิ่งที่ดีเราก็อยากให้มันอยู่กับเรานานๆ สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่อยากให้ประสบอยู่กับเรานานๆ อยากจะให้มันไม่มีสิ่งที่เราไม่พอใจ สิ่งที่เป็นทุกข์ไม่อยากให้เกิดเลย แล้วมันจะปฏิเสธได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นหลักความเป็นจริง
ทุกข์ข้างนอกกับทุกข์ข้างใน มองทุกข์ข้างนอกแล้วก็ดึงเข้ามาทุกข์ข้างใน เอามาเทียบกันๆ นี่คือปัญญาไง การฝึกฝนปัญญาคือการใคร่ครวญรู้ พอรู้เท่ามันก็ปล่อยวางตามลักษณะ ตามความเป็นจริง รู้แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้แล้วเข้าไปคลุกคลีจนเดือดร้อนไปกับมัน ไอ้อย่างนั้นรู้แบบรู้ไม่จริง เอาความรู้นั้นเป็นเราไง มันไม่ใช่เรา เอาความรู้ เอาความรู้สึก เอาความเห็นเป็นเราเลย แล้วก็เดือดเนื้อร้อนใจไปกับมัน
แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ เรารู้เท่าตามความเป็นจริง รู้แล้ววางไว้ตามความเป็นจริง รู้...ไม่ให้ใครมาหลอกเราได้ แล้วข้างในก็เหมือนกัน ไม่ให้กิเลสมันหลอกเราได้ กิเลสมันบอกว่าสิ่งนี้ดี สิ่งที่พอใจเป็นสิ่งที่ดี มันจะดีไม่ดีเราก็ยังไม่รู้เท่า เพราะเรายังไม่พิจารณา ไม่มีใครหรอกที่ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาแล้วไม่ดี แต่ถ้าเราเห็นในสภาพความเป็นจริงสิ ขณะปัจจุบันนี้เรานั่งภาวนาอยู่ เราต้องการให้กายสงบเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม
กายสงบ จิตสงบ จิตมันสงบ จิตมันปล่อยวางอารมณ์ เราว่าสิ่งนี้ดี แต่ถ้าเราทำงานอยู่ เราก็ต้องว่องไวในการงานนั้นเพื่อไม่ให้ผิดพลาด เห็นไหม ความดีแต่ละขณะก็ไม่เหมือนกันแล้ว แล้วความดีของยึดของใจมันจะเหมือนกันได้อย่างไรในเมื่อใจมันยึด วุฒิภาวะของใจมันต่ำอยู่ มันก็ว่าความดีหยาบๆ นั้นเป็นความดีของมัน
แต่วุฒิภาวะของใจมันสูงขึ้น มันจะรู้ละเอียดมากขึ้นกว่านั้น มันก็จะปล่อยความหยาบนั้นออกไป มันจะปล่อยได้ วุฒิภาวะเกิดขึ้นจากตรงไหน วุฒิภาวะจะเกิดขึ้นก็จากการใช้ปัญญาใคร่ครวญไง การใช้ปัญญาใคร่ครวญ
ประสบการณ์ของใจ ใจนี้ได้เข้าสู่สนามรบ ใจนี้ได้บริหารกาย บริหารผิด บริหารถูก มันจะเห็นล่ะ บริหารผิด บริหารถูก เห็นไหม หิวข้าวหิวน้ำ เรากินมากกินน้อยเราบริหารผิด เห็นไหม กินมากเกินไปก็ทำให้ร่างกายนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่เหลือสะสมไว้ในกาย กินน้อยเกินไปก็ทำให้ร่างกายนี้ไม่แข็งแรง หัวใจมันบริหารกายชั้นหนึ่ง แล้วหัวใจโดนกิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่ง เราถึงต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญกลับเข้าไปดูไง
เพราะว่ารัฐบาลล้มไปนั่นมันก็เป็นเรื่องโลกปัจจุบันนี้ แต่เราเข้าไปดูร่างกาย เราจะเห็นเลย ดูร่างกายนะ เพราะดูร่างกายมันสะเทือนถึงหัวใจ จับหัวใจดูมันสะเทือนถึงกิเลส ถ้ากิเลสล้มลงไป มันพ้นจากการเป็นขี้ข้า หัวใจนี้เป็นอิสระ ไม่มีสิ่งใดๆ จะมาหลอกลวงหัวใจที่พ้นจากกิเลสได้เลย มันจะมีความสุข สุขที่เป็นความเป็นจริงไม่ใช่สุขแบบโลก สุขแบบเขาเอาสรรเสริญเยินยอมาเยินยอ เราก็มีความสุข เขาเอาสมบัติมาให้เราก็มีความสุข สุขแบบนี้สุขแบบชั่วคราว ก็แบบรัฐบาลตั้งอยู่ชั่วคราว สุขแบบนี้ไม่แน่นอน แต่มันเป็นความสุขจริง ทุกคนปรารถนาความสุข แต่เป็นความสุขที่หยาบๆ ไง
เราเป็นชาวพุทธ เราอยากหาความสุขที่ยั่งยืน เราอยากหาความสุขที่เป็นความจริงที่ไม่อยู่ในกฎของอนิจจัง สุขนี้เป็นสุขแท้ๆ ไม่ใช่สุกๆ ดิบๆ แบบที่เราเป็นอยู่นี้ ไอ้อย่างเรานี่เป็นแบบสุกๆ ดิบๆ ไง สุขอยู่ สุขเพราะความพอใจ สุขเพราะกิเลสมันบอกให้สุข กิเลสมันคลายตัวลง มันกลัวเราจะไม่อยู่ในเงื้อมมือของมัน กลัวเรามันจะบอบช้ำเกินไปไง มันก็คลายไว้ชั่วคราวๆ ให้เรามีความสุข
ฉะนั้นว่าเราอย่าไปตื่นเต้นกับความสุขที่เราได้เล็กน้อยนี้ เราต้องกระเสือกกระสนเข้าไปหาความสุขที่ละเอียดขึ้นไปอีก ความสุขที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ จนเป็นความสุขแท้แน่นอน เห็นไหม ความสุขจากหยาบๆ มันก็เป็นการเจือจานให้หัวใจเรามีกำลังเดินเข้าไป ความสุขหยาบๆ ให้มีหัวใจนี้เดินเข้าไปไง เดินเข้าไปหาความสุขภายในนะ
การก้าวเดินของใจกับการก้าวเดินของกาย เราจะเดินมากเดินน้อยได้กี่กิโลเมตร เราต้องก้าวเดินออกไป หัวใจมันนอนจมอยู่กับกิเลส มันไม่เคยก้าวเดินออกจากกิเลสเลย มันนอนจมนอนแช่อยู่ในใจนั่นน่ะ เพราะเราไม่มีการเคลื่อนไหว
การทำสมาธิอยู่นี้ก็คือการเคลื่อนไหว ยกมันขึ้นมาจากการแช่อิ่มอยู่ในน้ำกิเลส นอนจมอยู่นั่นล่ะ ความง่วงเหงาหาวนอน การไม่ยกหัวใจขึ้น มันเลยทำให้แบบอยู่ในนิวรณธรรมไง การง่วงเหงาหาวนอน การเศร้าซึม ใจไม่คึกคะนอง ใจไม่ลืมตา แต่ถ้าเวลามันคิด มันรุนแรงขึ้นไป คึกคะนองเกินไปมันก็ฟุ้งซ่าน ถึงต้องให้มันกินอาหารที่ถูกต้อง
ถึงว่ารัฐบาลของใจต้องบริการกายนี้ให้ถูกต้อง นั่งให้เรียบร้อย สงบเก็บกิริยาทั้งหมด ตั้งกายนี้ให้ตรง ตั้งรัฐบาลนี้ให้ดี แล้วก็บริหารไม่ให้หัวใจมันออกไปกินอารมณ์ข้างนอก ให้มันอยู่ในขอบเขตของกายนี้ อยู่ในประเทศของเรา ถ้ามันคิดออกไปข้างนอก มันออกไปข้างนอกแล้ว ออกไปประเทศอื่น มันไปบริหารเขาไม่ได้ ประเทศของที่อื่นเขา เขาก็มีรัฐบาลของเขาบริหารอยู่
บริหารกายของเรา บริหารใจให้อยู่ในขอบเขตของกาย จะคิดออกไปก็ยับยั้งไว้ด้วยสติไง เอาสตินี้มาจ่อไว้ ว่าขอบเขตของเราอยู่แค่นี้ ไม่ให้ออกไปข้างนอก ออกไปข้างนอกมันเป็นโทษ ว่ากิเลสมันเสี้ยมออกไปแล้ว มันไปลักขโมยไง ไปลักขโมยอารมณ์ของคนอื่นมา ไปลักขโมยของสิ่งข้างนอกเข้ามาว่าเป็นของตัว แม้แต่ของของเราเองเรายังรักษาไม่ได้เลย ทำไมมันออกไปเอามาไกลนัก
ต้องติโทษมันนะ ต้องติโทษความคิด ขอบเขตมีขนาดนี้มันทำไมไม่อยู่ในขอบเขตของเรา มันจะออกไปไหนของมัน สติพร้อมอยู่มันยับยั้งได้ ยับยั้งดู ดึงไว้นะ พอดึงไว้อยู่ก็พิจารณา การดึงไว้ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง สติจดจ่อการปลดความคิดไม่ให้ออกไป นั่นล่ะเป็นขันติธรรม นั่นมันยกจิตขึ้นแล้ว ยกจิตขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นจิตมันก็นอนเนื่องอยู่อย่างนั้นล่ะ
เวลานอนเนื่องมันก็นอนเนื่องนะ เวลามันลักขโมยออกไปนอกจากกาย เราก็ไม่รู้เรื่อง ก็เหมือนเราเผลอไง เรามีนักโทษอยู่คนหนึ่ง เวลาอยู่ต่อหน้าเรามันก็สงบเสงี่ยม มันว่ามันจะไม่หนี แล้วเราเป็นผู้คุม เราก็พอใจกับมัน สติเป็นผู้คุม พอคิดว่านักโทษไม่หนีก็ไม่ได้คอยระวัง เผลอหน่อยเดียวไปแล้ว เผลอหน่อยเดียวออกไปแล้ว ความคิดพรวดไปแล้ว สติถ้าไม่ได้จดจ่อไว้ มันก็จะออกไปเรื่อย
การบริหาร การตามดูไง พอการตามดู จิตมันได้เปลี่ยนแปลง จิตมันได้ก้าวเดิน จิตไม่ได้นอนจมอยู่ รักษาไว้ ทำไว้ มันก็จะสงบลง พอสงบลง รัฐบาลนี้ก็มีเงินไง มีเงินเอาขึ้นมาบริหาร มีเงินน่ะ มีพลังงาน มีความสงบ พอมีพลังงานนี้ก็เอาพลังงานนี้มาบริหารไง มาดูว่าจะใช้อย่างไรให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาอีก ถ้าไม่เอามาใช้ เงินนี้ก็จะด้อยค่าไป
จิตที่สงบก็เหมือนกัน จิตที่สงบแล้วมันก็มีความสุขชั้นหนึ่งคือความสงบ มีความสุขจากการมีเงิน มีความสุขจากเกิดจากใจที่สงบ พอมีความสุข เราอยู่ในความสุข ความสุขนี้มันทำงาน ไม่ใช่เอาความทุกข์มาทำงาน ไม่มีเงินไปกู้เขามาน่ะมีความทุกข์ เอาความทุกข์ทำงานก็ยังได้งานขึ้นมา แล้วเราเอาความสุขทำงาน ทำไมมันไม่ได้งานขึ้นมา
ลองถามตัวเอง ถามตัวเองว่าทำไมเราทำงานแล้วไม่ได้ผลงานขึ้นมา เพราะงานนี้เราไม่เคยทำ เราไม่มีความสามารถทำงานนี้ งานนี้ไม่เคยทำ แล้วจะทำอย่างไร
พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ใคร่ครวญนะ ให้ตั้งสตินะ พอจิตสงบแล้วเราพลิกขึ้นมาดูไง เอาความสุขมันพอใจแล้วนะ การจดจ่อ การใคร่ครวญ การดูอยู่ จะเห็นการก้าวเดินออกไปของกระแสของใจ จิตนี้สงบมันก็ยังสงบขณะที่เราควบคุมเท่านั้น เพราะธรรมชาติของมันต้องขวนขวายหาเหยื่อเข้ามากินตลอดเวลา
การทำงานมันหวังกำไรหวังขาดทุน การภาวนาของใจนี่ถ้าการปล่อยวางนั้นคือกำไรไง การได้มานั้นขาดทุนนะ การสละออกนั้นถึงเป็นการได้ ได้เพราะเราสละออกไปไง สละความพะรุงพะรังของใจออกไป การออกนั่นคือการได้ แต่ถ้าการได้ขึ้นมาโดยทีแรกมันจะเป็นการเสีย เพราะมันไปสะสมเข้ามาให้หนักหัวใจ แต่ถ้าปล่อยวางออกไปแล้วมันจะเป็นว่าง ความว่าง ความเวิ้งว้าง เป็นความสุข
ทางของหัวใจมันกินความว่าง มันต้องดู มันสงบ สงบอย่างหนึ่ง แต่การปล่อยวางจากการใคร่ครวญนั้นอีกอย่างหนึ่ง ความสงบนี้เป็นสมถกรรมฐาน การทำใจให้สงบเป็นสมถธรรม การพิจารณานี้เป็นวิปัสสนาธรรม หัวใจที่สงบแล้วต้องเข็นให้ขึ้น ให้วิปัสสนาไง
ปัญญามี ๒ ชนิดนะ ปัญญาในการทำใจให้สงบ การเลาะ เลาะที่ออกไปคิด เลาะให้สงบ อันนั้นเป็นปัญญามรรคหยาบๆ ไม่ใช่อริยมรรค แต่ถ้าคนไม่เคยทำแล้วจะว่าอันนั้นเป็นงาน เป็นการใช้ปัญญาแล้ว แล้วพอสงบขึ้นมาก็ว่านี่เป็นผล แล้วไม่ใคร่ครวญ ไม่ชะล่าใจอยู่ อันนี้มันจะเสื่อม สิ่งนี้มันจะแปรสภาพ เพราะมันยังไม่คงที่
ฉะนั้นปัญญาเป็นโลกียะ การพิจารณาเข้ามา ตะล่อมใจให้สงบ อันนั้นก็เป็นปัญญา แต่มันยังไม่ใช่ปัญญาการฆ่ากิเลสไง ถึงต้องใช้ว่าจิตสงบแล้วต้องพิจารณาซ้ำอีก ต้องพิจารณาอีก การพิจารณาเมื่อจิตสงบแล้ว อันนี้ถึงเป็นอริยมรรค อันนี้ถึงว่าเป็นการเดินปัญญาที่ถูกต้อง อันนี้พระพุทธเจ้าถึงว่าอันนี้เป็นปัญญาของศาสนาพุทธ ปัญญาภายใน ปัญญาอย่างนี้ใคร่ครวญเข้าไปจะเกิดภาวนามยปัญญา
จากปัญญาการเก็บหอมรอมริบขึ้นมาจากโลกๆ นั่นล่ะ พอจิตมันสงบแล้วเราพิจารณาใหม่ อันนี้มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนาอย่างนี้มันเป็นสมบัติอันประเสริฐ สมบัติอันประเสริฐเลย เพราะมันเป็นสมบัติที่มันจะฆ่ากิเลสได้ กิเลสนี้ไม่มีอาวุธชนิดใดที่เข้าไปชำระกิเลสได้เลย
คนเป็นโรคจะต้องใช้ยาเข้าไปรักษา ยาถ้ามันถูกต้องกับโรค โรคนั้นจะหาย แต่กิเลสนี้ไม่มีอาวุธใด ไม่มีสิ่งใดๆ จะเข้าไปกำราบได้ ยกเว้นแต่ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากจิตสงบ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการใคร่ครวญ การสืบต่อ ปัญญาอันนี้เกิดจากกระแสของจิต กิเลสมันสงบอยู่ใต้จิตที่สงบๆ นั่นล่ะ แล้วพอปัญญานี้ใคร่ครวญแล้ว มันจะเข้าไปชำระกิเลสอันนั้น
ฉะนั้นว่าปัญญาภายในตัวนี้สำคัญกว่าปัญญาการชำระเข้ามาจากข้างนอกนั้น ฉะนั้นปัญญาต้องดูนะ ไม่ใช่ว่าการคิดแล้วอย่างนี้คือปัญญา
การคิด เริ่มต้นน่ะ การคิดจากให้จิตสงบคือปัญญา มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ฟังสิ ปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ปัญญาอบรมสมาธินี้คือว่าจิตมันหยาบเกินไป ใช้มีดหยาบๆ ใช้มีดฟัน ใช้มีดเลาะกิ่งเลาะใบ แต่ปัญญาภายในนี้มันไม่ใช่มีด มันเป็นกบ มันเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น เป็นแบบหินเจียร มันไม่ใช่มีด ชำระไม่ได้ มันไสเพื่อให้ความนิ่งไง
ต้นไม้มันหยาบใช่ไหม ต้นไม้ทั้งต้นมันมีทั้งกิ่งทั้งใบ มันเอามาสร้างบ้านไม่ได้ เป็นเสาเป็นเรือนก็ไม่ได้ ต้องล้มต้นไม้ก่อนแล้วเราสับออก เราเลาะกิ่งเลาะก้านของต้นไม้ เพื่อให้มันเป็นเสา เป็นไม้ เป็นเครื่องเรือน
ปัญญาของโลก ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นแบบนั้น ปัญญาอบรมสมาธินี้ก็เหมือนกับเราเลาะกิ่งเลาะก้านเพื่อให้ใจสงบ พอใจสงบแล้วเราก็แค่มีเสาเรือน การมีเสาเรือน การจะประกอบขึ้นมาเป็นบ้าน เสาเรือนนี้ก็ต้องมาบาก บากให้เป็นที่วางขื่อวางคาน จิตที่สงบนี้ก็เหมือนเสาเรือน ก็ต้องมาบากมาฟัน การบาก การฟัน การประกอบเสาเรือน การตั้ง นี่แหละคือวิปัสสนา อันนี้เป็นภาวนามยปัญญา
เรือนของใจ จากใจที่ว้าเหว่นะ หัวใจนี่ไม่มีที่พักเลย หัวใจนี่อยู่กลางฝน กลางแดด กลางมรสุม มรสุมของโลกธรรมไง เขาติเขาว่า หรือทำงานไม่ประสบความสำเร็จ มันจะมีความเร่าร้อนของใจ นั่นล่ะหัวใจที่ไม่มีเรือนอยู่ มันจะเร่าร้อนอย่างนั้น แล้วเราทำใจเราสงบ จากเร่าร้อนเราเข้าพักอยู่ใต้ชายคา แต่เรายังไม่ได้ประกอบเรือนขึ้นมา
ถ้าเราพักอยู่ชายคาของพระพุทธศาสนา ชายคาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งสอนศาสนธรรมเอาไว้ เราพยายามปฏิบัติเข้ามา แล้วเราเข้ามาพักถึงชายคา แล้วเราไม่ประกอบเรือนขึ้นมาเป็นเรือนของเรา มันน่าเสียใจไหม
เราอุตส่าห์ทำใจของเราเป็นสมาธิ ทำใจของเราตั้งมั่นแล้วเข้าไปอยู่ชายคาของศาสนาแล้วไม่ประกอบเรือนขึ้นมาให้เป็นธรรมในใจของตัวไง หัวใจเท่านั้นเป็นเครื่องรับธรรม ความรู้สึกมันเข้าไปลิ้มรสของธรรมไง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของความทุกข์ รสของโลกธรรม
แต่นี้รสของธรรมแท้ๆ เกิดจากภาวนามยปัญญานี้ ปัญญาหมายถึงปัญญาของโลกกับปัญญาของธรรม ปัญญาอบรมสมาธิกับปัญญาวิปัสสนา นี่คือปัญญา คือว่าการใช้ปัญญาไง อย่าหลงทิศ เพราะว่ามาถึงตรงนี้แล้วมันจะไม่ยอมก้าวเดิน จิตไม่ก้าวเดินเพราะเราเข้าใจว่าไง
พอเราเข้าใจว่ามันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ธรรมะด้นเดา เราเดาไง เดาว่าเราถึงที่แล้ว จิตมันเลยนอนจม จิตมันถึงไม่มีผลประโยชน์ขึ้นมา มันทำแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วไม่ได้ผลก็เพราะว่ามันนอนอยู่นี่ มันไม่ยอมก้าวเดินออกไป มันไม่วิปัสสนาไง วิปัสสนาลงตรงไหน? ตรงกาย ตรงเวทนา ตรงจิต ตรงธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งเราตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าต้องพิจารณากายแล้วพิจารณาจิต...ไม่ใช่
๔ อย่างนี้ กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ มันก็รวมลงที่กายกับใจเท่านั้น กายกับใจนี่แหละ พิจารณากายก็ได้ พิจารณาอารมณ์ว่าความรู้สึกของจิตก็ได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมันสะเทือนกันหมด เพราะกายนี้เป็นขี้ข้าของใจ จับกายก็สะเทือนใจ จับใจก็สะเทือนกาย มันปล่อยได้ทั้ง ๒ ฝ่าย พิจารณากาย ใจมันก็ปล่อยกาย พิจารณาใจ ใจก็ปล่อยกายเหมือนกัน อยู่ที่ความถนัด อยู่ที่จิตมันชอบ จิตมันจับตรงไหนได้ ยกขึ้นมาดูสิ หัวใจมันเป็นเจ้าเมืองของกาย มันก็ไม่อยากให้กายนี้แปรสภาพ ไม่อยากให้กายนี้ไม่ตามความพอใจของมัน แล้วมันเป็นไปตามนั้นไหม
ถ้าหัวใจมันเป็นเจ้าของกายนะ กายเป็นเมืองขึ้นน่ะ มันสั่งสิว่าไม่ให้เจ็บไม่ให้ปวด ของที่เราเป็นเจ้าของ เราต้องสามารถสั่งได้ เราต้องบัญชาการได้ แต่นี่บัญชาการไปแล้วมันก็ฝืน แล้วเราจะไปดูโลกข้างนอกได้อย่างไร โลกข้างนอกมันยิ่งฝืนมากกว่านี้อีก มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา
นี่เหมือนกัน กายนี่มันอยู่ในอำนาจของเราหรือเปล่า นี่คือการใช้ปัญญา มันไม่อยู่อำนาจของเรา แต่มันอาศัยกันอยู่ เห็นไหม เราถึงว่าไม่ประมาทไง
เกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์มีกายแล้ว มีใจแล้ว ไม่ปล่อยให้มันเสื่อมสภาพไปโดยธรรมชาติ นี้เราไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมา เราจะพิจารณาหรือไม่พิจารณา มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันเสื่อมสภาพไปตามธรรมดา รัฐบาลก็ล้มไปแล้วไม่เห็นเหรอ แล้วกายอยู่ได้อย่างไร มันต้องล้มไปเด็ดขาด ทีนี้ถ้าล้มไปเด็ดขาด มันล้มไปโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์น่ะสิ เราพิจารณาดูสิ พิจารณาดู ถึงล้มไปเดี๋ยวก็ตั้งขึ้นมาใหม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาดูนะ มันแปรสภาพ แต่มันตั้งไม่ได้ เขาตั้งรัฐบาลไม่ได้ นี่เราตั้งหัวใจไม่ได้ เราไม่เห็นกายภายในไง เราไม่เห็นกายภายในนะ กายภายนอกมันกายตาเนื้อดู กายในหมายถึงว่าเรานั่ง จิตนี้สงบแล้วมันมองเห็นกายภายใน เห็นไหม ตาในไง ตาธรรม ถ้าตาธรรมเห็นน่ะ เห็นกาย นั่นน่ะตั้งได้ ตั้งแล้ว แล้วพิจารณาได้ มันจะเริ่มทำงานได้ นี่เราไม่สามารถตั้งได้
ตาในเห็น เห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย จะเป็นกะโหลกก็ได้ จะเป็นก้อนเนื้อก็ได้ กระดูกแขน กระดูกขา กระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งได้หมดเลย ถ้ามันตั้งได้โดยส้มหล่นนะ โดยบุญหล่นใส่ทับเท้า เขาเรียกว่าบุญมันหล่นใส่หัวแม่เท้าชักตีนหนีไม่ทัน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน วาสนาของเราของทุกคนที่สร้างสมกันมาไม่เหมือนกัน พอจิตสงบขึ้นมานี่จะเห็นเลย มันมาให้เห็นโดยธรรมชาติเลย นั่นล่ะคนมีวาสนา คือว่าส้มมันหล่นใส่ไง การเห็นสภาพแบบนั้น ผู้ใดเห็นนะ นั่นล่ะเห็นรัฐบาลในหัวใจ มันเป็นสมบัติมหาศาล ใครได้เป็นรัฐบาลนี้จะดีใจมาก
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ใครได้เห็นกายภายใน มันจะมีความสุขมหาศาลนะ ก็เหมือนว่าเราไปเจอขุมทรัพย์ รัฐบาลซ้อนรัฐบาลไง เห็นแต่กายนอก กายนอกนี่เป็นกายสมมุติ กายสมมุติก็เหมือนกับที่ว่ารัฐบาลมันสมมุติ มันไม่ใช่ของเรา มันของคนอื่นเขา แต่ถ้าเห็นภายในนะ ตาในเห็น มันเป็นของเรา ความสุขนี้มหาศาล เหมือนกับในบ้านเรานี่มีเงินอยู่ไม่รู้เท่าไร ความสุขอันนี้มากมายเลย จากตาในเห็นนะ ตาธรรมเห็นน่ะ เพราะว่าถ้าพิจารณากายตรงนี้ เพราะการเห็นคือการพิจารณา เห็นนั่นจับไว้ จ่อไว้ใช่ไหม นี่เป็นนิมิต ปฏิภาคะไง การแยก แยกให้กายนี่ขยายออก กายขยายออกหมายถึงว่าไอ้กิเลสมันชำระอยู่ในกายนั่นน่ะ มันเป็นเนื้อเดียวกันไง
พอเราแยกขยายส่วน หรือว่าให้มันแปรสภาพ ไอ้สิ่งที่สกปรกในกายที่ตาในเห็นคือตัวกิเลสไง เพราะกิเลสมันหลงว่ากายนี้เป็นของมันใช่ไหม พอเห็นก็ยังมีกิเลสอยู่ ก็ว่ามีความสุขอยู่ แต่พอมันเห็นว่ากายนี้มันแปรสภาพ มันไม่คงที่ มันจะปล่อยเลย เพราะของที่ขนาดว่าเราเห็นกายนอก เราว่ากายนี้เป็นของเรา กายในมันยึดมากกว่านั้นอีก พอมันพิจารณา มันเห็นตามความเป็นจริงนะ กิเลสมันจะปล่อย แล้วมันสลดใจมาก มันจะรวมลงนะ มันจะว่าเลยว่าทำไมเราโง่ขนาดนั้น ปกตินี่เราจะว่าเราโง่ไม่ได้เลย เราต้องว่าเราฉลาด เราทั้งหมด เราทั้งหมด เพราะกิเลสมันสอนให้ว่าอย่างนั้น
แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริง น้ำหนักของกิเลสกับน้ำหนักของธรรมไง ธรรมะของพระพุทธเจ้า ศาสนธรรมมันมีน้ำหนักมากกว่า ภาวนามยปัญญานี่มันเข้าไปเชือดเฉือน น้ำหนักการพิจารณากับน้ำหนักความยึดถือ ความยึดถือนี่กิเลสมันยึดมากๆ เราก็ว่าเรายึด เราก็รู้อยู่ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี ทำไมเราแพ้ใจทุกที
ไอ้กิเลสที่มันยึดกายอยู่ก็อย่างนั้นล่ะ เห็นจากกายนอกมันก็อยากให้เห็นว่าเป็นความสุข เห็นเป็นความสวยงาม พอข้างในมันเห็น มันก็มีความสุขมากขึ้นกว่าข้างนอกนี้อีก มันก็ยึดเข้าไปใหญ่ แต่ปัญญาได้ฟาดฟันนะ ปัญญาได้ใคร่ครวญ ได้สืบต่อ ได้ต่อสู้ จนว่าเห็นความสุข ความสุขอันที่เห็นนั่นล่ะมันแปรสภาพให้ดู มันเหมือนกับว่าเราจับก้อนวัตถุ เราก็จับไว้ไม่ได้ มันก็ต้องแปรสภาพ เราไปจับพยับแดดไง จับพวกแสงสีภายในก็จับไม่ได้ มันก็อนิจจัง มันก็เป็นอนัตตา มันก็แปรสภาพ
พอมันเห็นสภาพความเป็นจริงแบบนั้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น เห็นตามความเป็นจริงแล้วมันจะปล่อยเลย รัฐบาลในรัฐบาลไง ความเหนือกว่าของธรรมไง ความเหนือกว่าของธรรมมันได้เหนือกว่ากิเลสแล้วไง เห็นตามความเป็นจริงแล้วปล่อยไว้ตามความเป็นจริงแล้วไม่ให้ใครมาหลอกไง
เห็นตามความเป็นจริง เห็นแล้ว แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริงนะ เห็นตามเป็นจริงแล้วมันหลุดออกไปแล้วปล่อยวาง แล้วเข้าไปรู้หลักด้วย นี่ธรรมะมันเป็นแบบนั้น ปัญญาการชำระกิเลสเป็นแบบนั้น รู้ว่ามี รู้ว่าแปรสภาพ รู้ว่าขาดไป แล้วไปรู้ว่าขาดด้วย รู้ว่าจิตออกมา ญาณทัสสนะนั่นไง รู้ว่าปล่อยวางไว้แล้ว แล้วกลับมาสงบอยู่
ไม่ใช่รู้ตามเขา รู้ของโลกไม่รู้อย่างนั้น รู้แล้วยึด รู้แล้วถือ รู้แล้วยิ่งมีมาก รู้แล้วยิ่ง...
...ยิ่งรู้มาก เห็นไหม ยิ่งมีมากก็ว่ายิ่งได้มาก แต่ธรรมะไม่เป็นแบบนั้น ยิ่งเอาออกที่ว่าออกไป ออกคือได้ พอรู้เท่าแล้วมันปล่อย ออกคือได้ เพราะมันปล่อยออกๆๆ ใจมันจะปล่อยความยึดถือภายใน มันจะปล่อยโดยเองไม่ได้ เราจะปล่อยแบบการที่เราด้นเดาก็ไม่ได้ มันปล่อยเอง แล้วทำไมไม่บอกให้มันปล่อยเองล่ะ
เพราะว่าคำบอกคำเล่ามันเป็นสมบัติของคนอื่นไง ไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นสมบัติส่วนบุคคล พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมา ท่านก็มีธรรมของท่าน ท่านเอาธรรมนั้นมาสอนสาวก สอนพวกเรา แล้วถ้าเราเข้าไปถึงจุดนั้น เราพิจารณา เราใคร่ครวญของเรา นั่นน่ะ นั่นธรรมะของเรา มันปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริงในหัวใจนั้น หัวใจที่คลอนแคลน หัวใจที่ตั้งมั่นไม่ได้ หัวใจที่ฝ่ามรสุมฝ่าโลกธรรม ๘ ไง
พอมันปล่อยวางออก เมื่อต้นเรือนขึ้นมาในหัวใจ ๑ เรือน พระพุทธเจ้าบอกมี ๑ เรือนนะ ต้อง ๓ เรือน แล้วเรือนยอดของ ๓ เรือนอีก ยอด ๓ เรือนนะ ยอด ๓ หลัง วัฏวนไง เจ้าของวัฏฏะ นี่ปล่อยขั้นแรกเราก็ได้เรือน ๑ หลัง ถึงว่ามาอยู่ในชายคาไง ความศรัทธาเป็นศรัทธาปกติใช่ไหม ศรัทธาของเรา ศรัทธาของปุถุชน พอได้เรือนนี่มันอจลศรัทธา เพราะอะไร
เพราะมันได้ลิ้นรสเอง เป็นปัจจัตตังเราเข้าไปลิ้มเอง รสชาติของธรรมะนี่ เรือนในหัวใจ รสของธรรมเราได้ลิ้มแล้ว เราได้ดื่มได้กินด้วย เป็นอมตะเลย เพราะไม่เสื่อมจากนี้เด็ดขาด ถ้ามันปล่อยวางตามความเป็นจริง ไม่เสื่อมด้วย การปล่อยออกไปแล้วมันได้มามหาศาลเลย แต่หัวใจมันไม่กล้าปล่อย จะต่อสู้ จะชำระกิเลสมันก็ไม่กล้า มันไม่กล้า มันกลัว มันเจ็บ กิเลสมันจะหลอกอย่างนั้น ถึงต้องต่อสู้กับกิเลส อย่าให้มันหลอก
ทำใจให้ฮึกให้เหิมไว้ การต่อสู้กับกิเลส ดูหัวใจสิ ถ้าวันไหนเราฮึกเราเหิม การประกอบความเพียรมันจะมีผล ถ้าวันไหนมันน้อยเนื้อต่ำใจ มันท้อมันถอย มันหดมันหู่ งานนั้นจะไม่ได้ผล หรือได้ผลก็น้อย มันต้องอาจหาญ ต้องร่าเริง อาจหาญไง อาจหาญภายใน นั่งอยู่เฉยๆ แต่หัวใจมันอาจหาญ มันเป็นอาชาไนย มันเลือกกินแต่สิ่งที่ดีๆ ในหัวใจ เลือกกินแต่มรรคของพระพุทธเจ้า เลือกกินแต่อริยมรรค อริยผล มันไม่เลือกกินพวกโลกียะ มันไม่เลือกกินอารมณ์โลก นี่ดูใจของตัว หมุนเข้ามา หมุนเข้ามา
ถึงว่าลูกศิษย์มีครูไง ไม่มีหรอกที่เราจะได้สมบัติภายในที่ว่าเป็นเลิศนี้ด้วยความมักน้อย ด้วยความอ่อนเปลี้ยเสียขา ด้วยความไม่ก้าวเดินน่ะ
เราวาสนาดีมาก วาสนาเราดีมากเพราะอะไร เห็นไหม ดูเขาสอบเข้าโรงเรียนกันสิ เขาคัดนักเรียนกัน เอ็นทรานซ์เห็นไหมน่ะ หนึ่งต่อสิบ หนึ่งต่อห้าสิบ หนึ่งต่อร้อย หนึ่งต่อพัน กว่าจะเข้าไปเจอ กว่าจะเข้าไปได้เรียน ไอ้อย่างเราก็เหมือนกัน กว่าเราจะต่อสู้นะ กว่าเราจะต่อสู้กับกิเลส จะเข้ามาปฏิบัตินี่เหมือนกันเลย เขาคัดเลือกกันภายนอก เขาคัดเลือกนักเรียน แต่เราคัดเลือกหัวใจที่มันเชื่อในศาสนาไง
เราคัดเลือกความไม่เชื่อ เราคัดออกไปความไม่เชื่อ การไม่มุมานะ การไม่กล้าทำ เห็นไหม กว่าจะมาภาวนาเราต้องต่อสู้กับไอ้ความคิดในใจขนาดไหน ต่อสู้กับความคิดในใจที่ว่าเราจะไม่มีวาสนา เราทำแล้วจะไม่ได้ผล มรรคผลจะมีหรือเปล่า นี่แหละเอ็นฯ เข้ามาในศาสนา
เขาเอ็นฯ เข้าไปมหาวิทยาลัยกัน นี่เราเอ็นฯ เข้ามาในศาสนธรรม เอ็นฯ เข้ามาเพื่อจะมาปฏิบัติ แล้วอย่างนี้จะไม่มีวาสนาเหรอ เขาเอ็นฯ หนึ่งต่อร้อย หนึ่งต่อพันนะ เราเอ็นฯ หนึ่งต่อกี่พันล้าน โลกนี่ คนในโลกนี้เป็น ๕-๖ พันล้าน เราเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติ เราเอ็นฯ ผ่านหนึ่งในห้าพันล้าน ทำไมเราจะไม่มีวาสนา
อย่างนี้มันก็ปลุกปลอบใจได้ สมบัติภายในใครจะเห็นของใคร ไอ้ตรงนี้สำคัญมาก ตรงที่เราเอ็นฯ ผ่านจากหนึ่งในกี่พันล้านมา มานั่งอยู่นี่ ถ้าตรงนี้เราคิดมาเป็นประโยชน์ มันจะชำระกิเลสไอ้การไม่อยากทำ แล้วก็ว่าเราไม่ได้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ประโยชน์ทำไมเราผ่านตรงนี้มาได้ ผ่านไอ้ตรงที่หัวใจมันต่อต้านไม่ให้มาปฏิบัติ ทำไมเราผ่านมาได้
นี้เราผ่านมาได้แล้ว ก็วาสนาของเราแล้ว นี้วาสนาของเรา เราก็ต้องมุมานะต่อไป หัวใจมันจะหมุนไปๆ นี่คือการเรายุไง เรายุให้หัวใจมันคึก ให้หัวใจมันมีการต่อสู้ ถ้าเราไม่คิดเลยมันก็อ่อนไปเรื่อย อ่อนไปเรื่อย
ถึงว่าเรื่องภายใน เรื่องอริยมรรค เรื่องผลภายในมันใหญ่โตมากนะ เป็นผลมหาศาลเลย
ของในโลกนี้จะฝากกันไว้ จะส่งต่อกันขนาดไหน มันก็อยู่ในโลกนี้ มันสามารถมีใบรับใบรองใบสำคัญมอบหมายได้ แต่สมบัติภายในมันเต็มอยู่ในหัวใจของเราเอง เต็มอยู่ในหัวใจผู้ปฏิบัติ มันจะส่งต่อให้ด้วยกิริยาเท่านั้นนะ ไม่สามารถเอาสมบัติภายในมาส่งต่อกันได้ เพราะมันเป็นธรรมในใจ แต่กิริยาของธรรมคือการแสดงธรรม การศึกษาเล่าเรียน มันเป็นแค่กิริยาความรู้สึกของธรรมอันนั้นเท่านั้นนะ มันมหัศจรรย์กว่าสมบัติใดๆ ทั้งสิ้น แล้วมันเป็นการที่ว่าเป็นของดั้งเดิมแท้ในหัวใจ
หัวใจเวลามันทุกข์ร้อน มันเร่าร้อน มันทุกข์ร้อนขนาดไหน แล้วหัวใจเวลามันมีความสุขจากในศาสนธรรม มันจะมีความสุขขนาดไหน ฟังดูสิ สุขที่ไม่สามารถใดๆ เข้ามาให้มันเป็นทุกข์ได้อีกเลย นั่นน่ะ มันเป็นการก้าวเดินเข้าไปภายใน
ถึงว่ามันเป็นสมบัติมหาศาล สมบัติที่ประเสริฐมาก ต้องยอดของคนเท่านั้นถึงจะมีโอกาสมาภาวนานะ ยอดของคน ยอดของมนุษย์ถึงจะพุ่งเข้าหาจุดสุดยอดของพระนิพพานของศาสนาพุทธเรา ถ้าไม่มียอดของคน ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความมุมานะมา มันเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ มันไม่เข้ามาตรงนี้หรอก เพราะเข้ามาทำไม เข้ามาแล้วไม่เห็นได้อะไร กิเลสมันต่อต้านนะ เขาเอาแต่สิ่งที่มีในโลก ไม่มีใครเขาหรอกที่จะมาเอาสิ่งที่ไม่มี ไอ้สิ่งที่ไม่มีมันเป็นปากว่า แต่จริงๆ แล้วมันมีอยู่ภายใน คือสุขแท้ไง สุขแท้ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
อมตธรรม อมตะของใจ หัวใจที่ไม่ตาย หัวใจมันตายมันเกิดมากับโลกมนุษย์นะ มันเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเท่านั้น ใจจริงๆ ไม่เคยตาย มันแปรสภาพจากภพนี้อยู่ภพนั้น จากร่างนี้ไปอยู่ร่างนั้น จากมนุษย์ไปเป็นสัตว์ จากเป็นสัตว์เป็นเทวดาเป็นอะไร มันไม่เคยตาย แต่มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏวน
พอมันหักวัฏฏะได้ หัวใจนี้ไม่เคยตาย มันอยู่ในนิพพานธรรมของพระพุทธเจ้า มันก็ไม่มีวันตาย ความสุขที่ไม่แปรสภาพ ความสุขที่ว่าแม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมก็ยังไม่มี แล้วเราเป็นคนคนหนึ่ง เป็นยอดคน เป็นอาชาไนยที่วิ่งเข้าไปหาตรงนั้น พุ่งเป้า พุ่งยอดเข้ามาสู่จุดสุดยอดแล้ว มันถึงว่าเป็นยอดคนไง ถึงเป็นยอดคน เป็นยอดนักปฏิบัติ ยอดคนมันก็ต้องได้ยอดธรรมสิ ยอดธรรมอยู่ที่ไหน ยอดธรรม ยอดของธรรม รสของธรรม รสอันประเสริฐ
ไม่ต้องไปหาที่อื่น อย่าไปดูข้างนอก อย่า...ดูที่ใจ รสของธรรม รสของความสุขอยู่ที่หัวใจไม่ใช่อยู่ที่ลิ้น ลิ้นมันแค่รับรู้รสอาหารเท่านั้น ความสุขกายจากความสัมผัสจากกาย มันเป็นแค่ของการสื่อเข้าไปถึงใจเท่านั้น แต่หัวใจมันร้อนมันก็ร้อนอยู่อย่างนั้นใช่ไหม เวลามันร้อนอยู่บนกองน้ำแข็งมันก็ร้อน แต่เวลามันเย็น มันสุขอยู่ที่ใจมันก็เย็น แม้แต่อยู่กลางแดดมันยังเย็นเลย หัวใจที่เป็นความสุข
นั่นน่ะ ถึงว่าให้มองเข้ามาที่ใจ หักความฟุ้งซ่านออกไป หักให้ได้ เราเป็นยอดคน เรามีกำลังใจแล้ว ทำไมหักไม่ได้ ต้องหักได้สิ พระพุทธเจ้าก็หักแล้ว พระสาวกตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าก็หักแล้ว ครูบาอาจารย์รุ่นตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมาก็หักแล้ว หัก...หักกิเลสออกจากใจ หักได้ ต้องหักได้ พยานมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว สาวกมีอยู่แล้ว
พระพุทธเจ้าเห็นสิ่งใดก็ไม่พูดเพราะไม่มีพยาน จนพระโมคคัลลานะลงจากเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรต พระตาบอดไม่เคยเห็นก็ว่าเห็นพระโมคคัลลานะยิ้ม ไม่พูด ถามพระโมคคัลลานะว่ายิ้มเพราะอะไร
เราเห็นแต่ยังไม่พูด จะพูดต่อหน้าพระพุทธเจ้า
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์นั้นก็ถามขึ้นมาว่า ตอนเช้าที่เดินลงจากเขาคิชฌกูฏ ยิ้มเพราะอะไร
เห็นเปรตไง เห็นไหม ตาในเห็น เห็นเปรตลอยมา ขนหลุดออกไปกลายเป็นหอกพุ่งกลับมาทิ่มตัวๆ ร้องโอดโอยอยู่อย่างนั้นก็ไม่ตาย ดูสิ ดูจิต ไม่เคยตาย
แล้วพระพุทธเจ้าก็ยันว่า เราก็เคยเห็น พระพุทธเจ้าท่านว่านะ ท่านก็เคยเห็น แต่ท่านไม่พูดเองเพราะไม่มีพยาน แต่คราวนี้พระโมคคัลานะเห็นแล้ว
ท่านก็เห็น พอมาเป็นพยานต่อกัน พูดออกมาจะได้ว่าโลกเขาจะว่าไม่โกหกไง
อันนี้ก็เหมือนกัน มรรคผลมีอยู่ พระพุทธเจ้าก็มี พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว พระสาวกอรหันต์ครั้งพุทธกาลก็มากมาย พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ก็ยืนยันกันมา เป็นพยานกันมา มันจะไม่มีได้อย่างไร
สิ่งที่ไม่มี ว่า สิ่งที่ไม่เอาสิ่งที่ไม่มี...มี มีผลนี่มี รอแต่หัวใจนี้เข้าไปเสวยเท่านั้น รอแต่ใจนี้เข้าไปลิ้มรสธรรม ของมีอยู่แล้ว อาหารนี่กองอยู่พะเนินเทินทึก แต่ไม่สามารถกินได้ เป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธสอนตั้งแต่ให้ละความชั่ว ทำความดี ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ ให้ละความชั่ว ให้ทำความดีปัจจุบันนี้ไง ให้ละความชั่วในใจไง ให้ปฏิบัติ ให้วิปัสสนาขึ้นมา หักกันเดี๋ยวนี้เลย หักกิเลสออกจากใจเดี๋ยวนี้ กิเลสตายต่อหน้าเดี๋ยวนี้ ตายตั้งแต่ลูกขึ้นมา ตายตั้งแต่หลาน เหลนมาเรื่อยๆ จนถึงเจ้าวัฏจักร
อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา ตัวอวิชชานั้นคือตัวยอดของกิเลส ตัวยอด ตัววัฏจักร ตัวเจ้าใหญ่ของกิเลสเลย หักมันลงสิ ลองดูสิ หักแล้วดูสิว่ามันจะสุขขนาดไหน หักออกจากใจ อย่าไปแต่ขี่ม้าเลียบเมืองอยู่ ภาวนาอยู่ก็ขี่ม้าเลียบเมือง เดินชายทุ่ง เอาแต่ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ขี่ม้าเลียบเมืองนะ ไปอยู่นั่นน่ะลมเย็นผ่าน ลมเย็นนอนอกนอนใจอยู่ ก็เออ! มีความสุข มีความพอใจอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่หักนี่ ขี่ม้าเลียบเมืองทำไม มันต้องตีด่านสิ ตีกิเลสสิ ตีลงที่หัวใจสิ ฝืนสิ หักเข้าสิ เห็นไหม ความสุขนั่นก็แบบคนขี่ม้ามันก็ดีกว่าคนเดินอยู่แล้ว
นี่เหมือนกัน จากใจของโลก เขาว่าใจเขาทุกข์ๆ ร้อนๆ เราก็มาปฏิบัติ มันขี่ม้าก็มีม้าขี่แล้ว ถึงจะเลียบเมืองก็ยังดี แต่มันไม่ได้ผลขึ้นมาอีกน่ะสิ มีม้าแล้วเอาม้านี่ไปทางไหน ให้เรือมันกินไปใช่ไหม เขาว่าได้เรือมาเสียม้า ได้ม้าก็เสียเรือ อยู่อย่างนั้นเหรอ ประเดี๋ยวก็ได้เดี๋ยวก็เสีย เดี๋ยวก็จิตสงบ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้นเหรอ ทำไมไม่หักเข้าล่ะ
หักตรงไหน ก็มันไม่เห็นเลย ใจก็เวลาสงบก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
ก็เวลามันออกมามันฟุ้งไหมล่ะ เวลามันลงจากม้า มันเดินมันเจ็บเท้าไหมล่ะ นี่ออกจากสมาธิมาก็เหมือนกัน ออกจากความสุขของใจมา ลงไปมันก็อันเก่า ไว้ใจได้เหรอ มันไว้ใจไม่ได้นะ
นี่มาปฏิบัติ ว่าเอ็นฯ เข้ามา หนึ่งในพันๆ ล้านเข้ามา เดี๋ยวก็จะออกไปหาเขาอีก จะโดนไทร์ออกไปจากนักปฏิบัติไง ใครไทร์? ก็หัวใจนั่นล่ะ มันไม่ทำไง พอภาวนาไป ภาวนาไปๆ โอ๊ะ! เราก็วาสนาน้อย เราก็มีวาสนาเนอะ เราไปทำบุญสุนทาน เราก็ได้บุญพอสมควรแล้ว...เลิกปฏิบัติ
เขาเข้ามหาวิทยาลัย เขาเรียนไม่ไหวนะ เขาโดนไล่ออก ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะสิ ตัวเองไล่ออก ไล่หัวใจตัวเองให้มันห่างออกจากศาสนาไปเรื่อยๆ ดันหัวใจออกมาให้ห่างออกมา นั่นล่ะ ถ้าภาวนาไม่ได้ผลจะเป็นอย่างนั้น มันไว้ใจได้เหรอ ขนาดภาวนามันยังจะถอนตัวออกไปเลย
กิเลสมันเก่งขนาดนั้น กิเลสของเรานะ ว่าเถอะ อย่าว่าแต่กิเลสของเขา กิเลสในใจเรานั่นน่ะ กิเลสของคนอื่นมันให้ผลกับคนอื่น กิเลสของเขามันให้โทษกับใจของเขา กิเลสของเรามันให้โทษกับใจของเรา มุมานะเข้ามาขนาดนี้แล้ว ลองมันแพ้สิ
เห็นไหม เวลาเราเทียบถึงเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราก็เห็นประโยชน์ขึ้นมาว่าเราเข้ามาแล้ว เราเอ็นฯ เข้ามา เราพยายามเอ็นฯ เข้ามาในศาสนา เอ็นฯ เข้ามาเป็นผู้นักปฏิบัติ เอ็นฯ เข้ามา แต่เวลามันไทร์ออกไป ดูสิ ใครเป็นคนทำ? นี่ใจมันพลิกได้หมดเลย กิเลสนี่เป็นคนทำ เวลาเราเอ็นฯ เข้ามา กิเลสมันยุบมันยอบตัวลง มันไม่ตายนะ มันยอบตัวลง คือว่ามันหลบไง มันกลัวธรรมะของพระพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมะแล้วเราเชื่อธรรมะ เรามุมานะนี่มันกลัว มันหลบตัวลง มันแค่หลบตัวลง แต่พอกำลังเราน้อย เราพิจารณา เราใช้ปัญญาจนกำลังเราน้อย มันขึ้นมา เห็นไหม วาสนาเราไม่มี ถอยเหอะ ก็หัวใจอีกนั่นล่ะมันเป็นคนดันเราออกมา
จากเข้ามานะ ธรรมะสอนเข้ามานะ เราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อครูบาอาจารย์ เราก็ศึกษาเข้ามา ศึกษาเข้ามา ความศึกษาเข้ามา อะไรเป็นความดีที่สุด จากให้ทานใช่ไหม จะถือศีลใช่ไหม เราว่าทาน ศีลก็ภาวนาใช่ไหม จะภาวนาก็ใช้ปัญญาใช่ไหม ภาวนามยปัญญาใช่ไหม เห็นไหม ไล่เข้ามา แต่เวลามันไม่ไหว มันแพ้มันก็ถอยกรูดๆ ออกมาเหมือนกัน
ถึงไว้ใจไม่ได้ ใจเรานี่แหละ อย่าไปว่าคนอื่นนะ คนอื่นนั้นเรื่องของเขา ว่าคนอื่นไว้ใจไม่ได้ ใจเราก็ไว้ใจไม่ได้ กิเลสมันอยู่ที่เรา เรายังไว้ใจใจเราไม่ได้ ถ้าชำระกิเลสได้เมื่อไหร่ นั่นน่ะไว้ใจได้ ถ้ากิเลสมันขาดออกจากใจแล้ว จะว่าไว้ได้ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าว่าไว้ได้กับไว้ไม่ได้มันยังมีคนพูดอยู่ใช่ไหม
พอกิเลสมันขาดพั๊บๆ พั๊บๆๆ มันก็หมดแล้ว พูดก็ไม่ได้ ไม่พูดก็ไม่ได้ อยู่มันอย่างนั้นล่ะ เพราะจิตนี้ไม่เคยตาย เวลาจิตมันวนในวัฏจักรมันก็ไม่เคยตาย จิตที่สิ้นกิเลสแล้วมันก็ไม่เคยตาย แต่ถ้าพูดออกมาปั๊บ มันก็เป็นกิริยาทั้งนั้นเลย เป็นสมมุติทั้งหมด ไม่สมมุติก็เป็นบัญญัติ ถึงว่าถึงจุดแล้วอิ่ม พอ พอดี
ถึงอย่างนั้นแหละ ถึงว่าเป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้วถึงจะเป็นที่พึ่งของคนอื่นไง เป็นที่พึ่งของตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แน่นอน ตายใจ ไม่สงสัย ทำไมคนอื่นจะพึ่งไม่ได้? ทำไมจะสอนคนอื่นไม่ได้? ตนยังคลอนแคลน ตนยังเป็นเร่ร่อนอยู่ ตนยังไม่มีหลักใจ แล้วตนจะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร เตี้ยอุ้มค่อมนะ ตกทะเลกันหมดล่ะ
โคนำฝูงไม่สามารถพาฝูงโคนั้นออกจากวังน้ำวน อย่าว่าแต่ขึ้นฝั่งเลย โคข้ามฝั่งข้ามแม่น้ำ ไปเจอวังน้ำวน จะหลบวังน้ำวนนั้นอย่างไร หลบวังน้ำวนแล้วถึงจะออกพาโคขึ้นไปบนฝั่ง วังน้ำวนนั่นวัฏวนไง วนอยู่นี่ ลองวนลงใต้แม่น้ำสิ มันจะดูดกันตายกันหมดนะ
อย่านอนใจ นี่ ๒ เดือนแล้ว ๑ พรรษา เข้ามานี่ ๒ เดือนแล้ว ปีแล้วปีเล่านะ ปีแล้วปีเล่า ปีแล้วปีเล่า เพราะนอนใจ ภาวนาเอาบุญเหรอ? ไม่ใช่ภาวนาเอาบุญนะ ภาวนาเอาความหลุดพ้น ภาวนาชำระกิเลส ภาวนามันได้อยู่แล้วบุญน่ะ แต่มันไม่ใช่ไปเอาแค่นั้นนี่นา ใครมันจะเอาแค่ของน้อยๆ เนาะ นักปฏิบัติมันหวังนิพพานทั้งนั้นล่ะ ต้องหวังนิพพาน ถ้าไม่หวังนิพพาน ก็ชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นน่ะ
ธงชัยพระอรหันต์นะ ผ้ากาสายะนะ ศากยบุตรพุทธชิโนรส ลูกของพระพุทธเจ้า ลูกของกษัตริย์ ผ้ากาสายะ ธงชัยของพระอรหันต์ ปลิวไสวอยู่ในชาวพุทธนะ เมืองไทยเมืองพุทธ พระ ๔-๕ แสนองค์ เหลืองอร่ามตอนเช้า ธงชัยพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย ธงน่ะธงนำไปแต่เราไปไม่ถึงธงสิ เราไม่ไปถึงธงแล้วคว้าธง ชิงธงไง ธงชัยพระอรหันต์ เราชิงธงพระอรหันต์ไม่ได้ เราชิงไม่ได้เหรอ เราเอามาห่มเอามาคล้องตัวไว้เฉยๆ ธงชัยพระอรหันต์นะ ชิงธงให้ได้ เพื่อสมบัติของชาวพุทธ
เราเป็นลูกพระพุทธเจ้านะ เราเป็นสาวกนะ พระพุทธเจ้าสอนแล้ว แล้ววางไว้จนมาเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าสอนแล้วสืบๆ กันมา สืบๆ กันมา ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนธรรมไง ศาสนธรรมด้วย แล้วเราก็ทำจริงๆ ด้วย เห็นไหม ของจริงกับของจริงก็เข้ากันสิ ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นธงชัยพระอรหันต์ เป็นธงชี้นำของพวกเรา
แล้วเราก็จริงด้วย เราก็ปฏิบัติจริงๆ เราก็ทำจริงๆ มันก็เข้ากันน่ะสิ ความจริงกับความจริง ความมุมานะ ความอดทน อุตส่าห์พยายาม ต้องถึง ต้องถึงสิ การอุตส่าห์พยายาม การต่อสู้ การไม่นิ่งนอนใจ การก้าวเดินใจไม่ให้นอนจมนะ ไม่ใช่ภาวนาแบบนอนจม ภาวนาแบบนอนจมไม่เอา ภาวนาแบบก้าวเดิน ก้าวเดินสืบต่อไปตลอดเวลา ไม่ให้อยู่กับที่ พลิกแพลง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในหัวใจ ให้วุฒิภาวะมันเพิ่มขึ้นๆ
เราก็ไม่หลอกเราเอง ใจมันก็ไม่สามารถหลอกใจมันเองได้ เพราะมันคิดขึ้นมามันเป็นสมมุติหมด มันจะหลอกได้อย่างไร สะเทือนขึ้นมาก็เป็นโลกแล้ว มันอยู่ของมันประสาใจของมันอย่างนั้น เห็นไหม ใจมันก็หลอกใจไม่ได้ แล้วจะให้คนทั้งโลกมาหลอกได้อย่างไร ในเมื่อใจนี่มันหลอกตัวมันเองไม่ได้แล้ว ความลับในใจอันนี้ไม่มี แล้วความลับข้างนอกมันจะมีได้อย่างไร ข้างนอกมันจะมาหลอกได้อย่างไร
ในเมื่อใจนี่หลอกมันไม่ได้ มันก็ไม่ตื่นกับใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลจะเกิดจะล่มไปอีกกี่รัฐบาลมันก็ไม่ตื่น เพราะโลกเป็นแบบนี้ โลกนี้เป็นแบบนี้มาแต่อดีตกาล โลกธรรมนี้เป็นธรรมะดั้งเดิม เป็นของที่มีอยู่ตลอดมาแต่ไหนแต่ไรมา แล้วเรามาประสบเอาเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะมาตื่นเอาอะไร
ของนี้เป็นของดั้งเดิม เป็นของเก่าแก่ เป็นของประจำโลก แล้วเราพึ่งมาประสบชาตินี้เอง ชาติปัจจุบันนี้เรามาเจอเท่านี้เอง แล้วเราตายไปหรือเราอยู่ มันจะมีแค่รัฐบาลเดียวเหรอ มันมีมาตลอด เห็นไหม ธรรมะ โลกธรรม ๘ มันก็ไม่ตื่น
ขอให้ชำระใจ เข้าถึงหัวใจ เข้าถึงธรรมแท้ เข้าจริงๆ นะ มันเป็นประโยชน์มหาศาล โอ้โฮ! อธิบายไม่ถูก ประโยชน์จากหัวใจของเราเองก่อน แล้วประโยชน์ของโลกทั้งหมด
ธรรม คำว่า ธรรม สัตว์ทั้งหลาย โอปนยิโกไง ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรมไง ไอ้นี่ธรรมในหัวใจเรา เราก็ดูจนพอแล้ว ธรรมในหัวใจของเราสิ เราก็ดูธรรมในใจเราจนพอแรงแล้ว แล้วยังเรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ธรรมปัจจุบันธรรมไง หัวใจเป็นธรรมมันก็อิ่ม มันก็พอ มันพอใจ มันอิ่มใจมาตลอด สัตว์ตัวไหนมาดูมันก็สบาย นี่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้แล้ว ทำไมคนอื่นจะพึ่งไม่ได้
พึ่งได้ พึ่งได้...ธรรมะพระพุทธเจ้าพึ่งได้ ศาสนาพุทธพึ่งได้ แล้วเราขนาดพึ่งแล้วไม่พึ่งเปล่านะ เราจะทำให้ตัวเราพึ่งได้ด้วย เราจะทำตัวของเราเองเป็นที่พึ่งของเราเองเลยด้วย มันมหัศจรรย์ขนาดนั้นนะศาสนาพุทธ เป็นสมบัติที่ยอดเยี่ยม เป็นธรรมาวุธที่กิเลสกลัวมาก แต่เราไม่สามารถเอาธรรมาวุธนี้ไปชำระกิเลส เราเอาธรรมาวุธนี้มาเชือดคอเราต่างหากล่ะ เอาธรรมะมาเชือดคอตัวนะ ไม่ได้เชือดกิเลส ถ้าเอาธรรมะเชือดกิเลส มันก็พุ่งเข้าไปหากิเลสสิ ไอ้นี่มันไปศึกษาธรรมมาแล้วมาเชือดคอตัวไง ธรรมะมันของสูง นักปฏิบัติก็พระเท่านั้น เรามันคนไม่มีวาสนา เห็นไหม ศึกษาธรรมะมาแต่เอามาเชือดคอตัว ไม่เชือดกิเลส
ธรรมะต้องเชือดกิเลสสิ ธรรมาวุธ พระพุทธเจ้าสอนไว้เชือดกิเลส พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้เชือดคอตัว พระพุทธเจ้าสอนธรรมะไว้ให้คนเอามาเชือดคอตัวเองเหรอ? ไม่ ไม่ได้สอน สอนว่าธรรมาวุธนี้กิเลสมันกลัว กิเลสไม่กลัวใดๆ อาวุธใดๆ ก็ไม่เคยกลัว กลัวแต่อาวุธของพระพุทธเจ้านี้เท่านั้นไง
เห็นไหม ศีล ๘ มาจำศีล มาอยู่วัด ดูสิฝนตกทุกข์ขนาดไหน นี่กิเลสมันกลัวอย่างนี้ กลัวความจริงของเรา กลัวในการเข้าสนามรบไง หัวใจมันพากิเลสเข้าสนามรบด้วย เข้าไปในทางจงกรม เข้าไปนั่งสมาธิไง เรากลัวผี นั่นน่ะ กิเลสมันก็กลัวด้วย เราหิวข้าว กิเลสมันก็หิวด้วย เราฝืน เราไม่นอน กิเลสมันก็ไม่ได้นอนด้วย แต่ถ้าเรากลัวขึ้นมา กลัวว่าเราจะกลัวผี เราจะกลัวหิวข้าว เราไม่กล้าอดอาหาร ไม่กล้ามุ่งเน้นความเพียร นี่ธรรมาวุธ นี่แหละเชือดลงที่กิเลส แต่พอกิเลสมันบอกกลัว เราเชื่อกิเลส เราเชื่อกิเลส เราไม่เชื่อธรรม
ถ้าเราเชื่อธรรม เราต้องมุมานะ เราต้องต่อสู้ คนเชื่อธรรม คนเป็นคน คนเชื่อธรรมไง คนเชื่อธรรม เชื่อพระพุทธเจ้า คนเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้าก็มีครูในหัวใจ เคารพพระพุทธเจ้า เคารพคำสั่งสอนศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า คนมีหลัก กิเลสมันก็เริ่มอ่อนตัวลง อ่อนตัวลง เพราะคนมีหลัก ไม่ใช่คนเซ่อๆ ซ่าๆ กิเลสมันต่อยหน้าเอา นู่นก็ไม่รู้เรื่อง นี่ก็ไม่รู้เรื่อง กิเลสมันก็หัวเราะเยาะขี่คอๆ ขี่คอเลยนะ ไอ้คอคอดๆ คอกิ่วๆ นี่กิเลสมันขี่ดีนัก มันไม่ตกไง มันเอาขาหนีบไว้ นั่งบนบ่าไม่เคยตก ขี่คอเราตลอดไป ธรรมะไม่เคยขึ้นไปขี่เลย
นี่ถึงว่าถ้าความมุมานะ ความหักเข้ามา ความจริงของเรา ศาสนธรรมนี้เป็นของจริง ถามตัวสิ จริงไหม ถามใจของตัวนี่จริงไหม ใจเราน่ะถาม เราต้องเป็นคนถามนะ เราเท่านั้นเป็นคนถาม ไม่มีใครถามให้เราได้ คนอื่นเป็นคนอื่น เราเป็นเรา เราชนะเราก็คือเรา แล้วสุขด้วย เราชนะด้วย เราเป็นคนคนหนึ่งในศาสนาพุทธ แล้วชนะกิเลสนะ เราชนะกิเลส เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต พระพุทธเจ้าชอบคนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าชอบคนจริง ชอบคนปฏิบัติ แล้วเป็นพยานกันไง
ถ้าเราเตือนเรา เราเข้าหาความจริง คือว่าความจริง ความจริง จริงแท้ รอเราเลย รอเราอยู่ รอเราอยู่นะ เป็นปัจจุบันนะ ไม่ใช่รอจนพรุ่งนี้มะรืนนี้นะ เข้าเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ นั่งอยู่นี่คิดถึงพรุ่งนี้นั่นเป็นอดีตเป็นอนาคตแล้ว รอเราอยู่ เราก็ยังคิดไปข้างหน้า เห็นไหม รอเราอยู่ เพราะมันไม่มีกาลไม่มีเวลา เข้าถึงใจทุกขณะจิตที่ทำใจมัชฌิมาปฏิปทาลงตรงช่องกลางนั้นพอดี รออย่างนั้น ไม่ใช่รอไปพรุ่งนี้มะรืนนี้ รออยู่ที่ตรงกลางหัวใจนั่นล่ะ มัชฌิมาไง
มัชฌิมา มัชฌิมาเป็นกลางไง ไม่เอียงเข้ากามสุขัลลิกานุโยค ความสุข ความพอใจของใจ ไม่ไปอัตตกิลมถานุโยค ความที่ว่ากิเลสมันบังเงา ดึงออกไปไง พอเราจะลงตรงกลาง กิเลสบอกว่าอันนี้มันจะน้อย มันจะอ่อนไป มันจะฝืนดึงแรงเกินไป อันนั้นอัตตกิลมถานุโยค ไม่อ่อนแอจนเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ไม่แข็งกระด้างจนเลยเถิดไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค ลงมามัชฌิมาปฏิปทาตรงนั้นน่ะ ตรงกลางของหัวใจนั่นล่ะ
แต่ก่อนจะมาตรงนี้ กิเลสมันคอยชักไว้ก่อนไง อย่างเช่นการกลัว การอ่อนแอ นั่นน่ะกิเลสทั้งหมดเลย จนพอกิเลสมันสงบลงแล้ว กิเลสมันจะไสไปอัตตฯ เลยล่ะ กิเลสไม่ยอมแพ้หรอก แม้แต่นั่งภาวนาอยู่ เวลาเราจะอ่อนแรงลงนั่นกามสุขัลลิกานุโยค ชุ่มอยู่ในกามในความสุขไง กิเลสมันก็ยิ้ม อยู่ในขี้ข้ามัน
พอภาวนาๆๆ มา สู้จนมาแบบมาถึงจะเริ่มชนะมัน จะมัชฌิมา มันไม่มัชฌิมา มันเลยเถิดออกไปเป็นอัตตฯ เลย เพราะกิเลสมันไม่ยอมแพ้ มันไสไปเลย มันจะลองผิดลองถูกอยู่ในใจอยู่นั่นน่ะ มัชฌิมาในใจนะ
ไอ้ที่ว่าข้างนอกนั่นเขาว่ากันไป ไอ้ที่ว่าอัตตกิลมถานุโยคกลัวจะทุกข์เกินไป กลัวจะว่าลำบากเกินไป อันนั้นให้คนอื่นเขาว่า ไอ้หัวใจเราว่านี่ ศาสนธรรมคำสั่งสอน มัชฌิมาท่ามกลางหัวใจ อัตตกิลมถานุโยคท่ามกลางหัวใจ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)