เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ พ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเรากินอาหาร เราต้องการอาหารที่สะอาดบริสุทธิ์ อาหารที่ดี อาหารที่เป็นสารพิษ อาหารที่ไม่เป็นคุณประโยชน์กับร่างกาย เราไม่อยากกิน ฉะนั้น เวลาเราทำบุญ เราก็อยากได้บุญที่บริสุทธิ์ ได้บุญที่ดี

ฉะนั้น บุญที่เป็นบุญแท้ๆ บุญที่เป็นบุญนะ ไม่ใช่บุญที่แฝงมาด้วยสิ่งที่เป็นโลก ทีนี้เวลาเราศึกษาปฏิบัติขึ้นมา เรื่องนั้น เรื่องโลกชัดๆ นะ โลกล้วนๆ เลย

เวลาอ่านแล้วศึกษาพระไตรปิฎกนะ เวลาครูบาอาจารย์ ติรัจฉานวิชาแม้แต่พระไปธุดงค์มา แล้วที่ดินที่ไหน มันเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ที่ควรทำพืชเกษตร พระมาคุยกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเอ็ดเลย นั่นล่ะ “ติรัจฉานวิชา”วิชาของโลกเขา

เราไปเดินธุดงค์ เราผ่านไปที่ไหนมา ภูมิประเทศที่ไหนดี.. ที่ไหนไม่ดี.. แล้วเอามาคุยกัน พระพุทธเจ้าก็ยังเอ็ดนะ เวลาหลวงตาท่านเทศนา สมัยท่านยังเข้มข้น อยู่นะเขาจะเรียก สัลเลขธรรม พระจะคุยกันเรื่องการมักน้อย สันโดษ พระจะคุยกันเรืองขัดเกลากิเลส พระจะคุยกันเรื่องจะชำระกิเลสอย่างเดียว

ถ้านอกเรื่องนั้นเป็นเรื่องโลก คำว่าโลกเห็นไหม แต่เราบอกว่าเดี๋ยวนี้ โลกเจริญ พระพูดมาก พระมาเจอกันพูดมาก อยู่ไม่ได้หรอก เดี๋ยวนี้ถือศีลไม่ได้หรอก ต้องไปตามโลก ต้องอยู่ไปกับโลก เพราะเราต้องการกันอย่างนั้น ! เพราะเราต้องการกันอย่างนั้น ! ภาพมันถึงออกกันมาเป็นอย่างนี้ ดูสิ ดูภาพออกมา ดูพระเขาทำตัวกันอย่างไร เพราะเราปล่อยกันอย่างนั้นไง

นี่มันเรื่องของโลกทั้งนั้น เพราะเราเอาโลกมาจับไง พอศึกษาธรรมก็ศึกษาแบบโลกๆ เวลาพระ.. พวกเราจะมีศีล มีธรรมขึ้นมา ก็บอกสิ่งนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ สิ่งนี้เป็นควรแก่เหตุ แล้วจะชำระกิเลสกันได้ย่างไร

การที่จะชำระกิเลสกัน เรื่องธรรม ! เรื่องธรรม ! คำว่าธรรมคืออะไร คำว่าธรรมคือ ไม่เอาความรู้สึกของเราเข้าไปจับ สิ่งต่างๆ ความรู้สึกของเรา ความเห็นของเราผิดหมด เพราะความรู้สึก ความเห็นของเราเป็นเรื่องโลก โลกเพราะอะไร โลกเพราะมันเกิดบนภวาสวะ เกิดบนภพ เกิดบนจิต จิตนี้เป็นเรื่องโลกนะ เพราะจิตนี้เป็นอวิชชา

จิตนี้อวิชชามันครอบงำอยู่ แล้วปฏิสนธิจิต ทำให้เราเกิดตาย ความคิด ความเห็นของเราทั้งหมด เป็นเรื่องโลกหมด ! ถ้าเราทำจิตของเราสงบเข้ามาได้ นั่นเป็นสัมมาสมาธิ อันนั้นปัญญามันจะเกิดตรงนั้น

ถ้าโลกุตตรปัญญาเกิดตรงนั้น ถ้าเรายังไม่ชำระ ให้ทำให้ใจของเราสงบขึ้นมาก่อน ความคิด ความเห็นของเราทั้งหมด เป็นเรื่องโลกทั้งหมดเลย เพราะมันบวกความรู้ความเห็นของเราเข้าไป ถ้ามันบวกความรู้ความเห็นของเราเข้าไป เห็นไหม นี่เรื่องโลก..

คำว่า “โลก” กับ “ธรรม” เราฟังกันไม่เข้าใจนะ หลวงตาก็บอกว่าเรื่องโลก ! เรื่องโลก ! ไม่ใช่เรื่องของธรรม

ถ้าเรื่องของธรรมมันคืออะไรล่ะ ถ้าเรื่องของโลกมันคืออะไร เรื่องของโลก เรื่องการทำมาหากินเป็นเรื่องของโลกไหม ใช่เรื่องของโลก แล้วพระต้องทำมาหากินไหม พระไม่ทำมาหากิน พระบิณฑบาตทำไม..นี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง การออกบิณฑบาต เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เพราะก็ต้องกิน เห็นไหม แต่ของพระเรียกว่าฉัน คำว่าฉัน.. ฉันแบบพระไง

โลกเขากินกันด้วยกาม.. ด้วยเกียรติ.. ด้วยศักดิ์ศรี..

พระฉันเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น !

ดำรงชีวิตไว้เพื่อเหตุใด ดำรงชีวิตไว้เพื่อการขัดเกลา เพื่อการต่อสู้กับมัน ทีนี้การต่อสู้กับมัน ในเมื่อพระบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่นบ่อย “ไปอยู่ที่ไหน เขาไม่เคยรู้จักพระกรรมฐาน เขาบอกพระกรรมฐาน ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่ถั่ว กินงา เขาก็ไม่มีถั่ว ไม่มีงาให้ ก็กินข้าวเปล่าๆ ”.. นี่ด้วยความเข้าใจของเขา

นี่ไง เวลาพระเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ด้วยสัมมาอาชีวะ ด้วยความบริสุทธิ์ เขาบอกพระไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะว่าเนื้อสัตว์เป็นของไม่สะอาดบริสุทธิ์

แต่ในธรรมวินัยพระพุทธเจ้านะ.. เนื้อ ๓ อย่าง ไม่ได้ยิน ! ไม่ได้ฟัง ! ไม่ได้รู้ ! ไม่ได้เห็น ! ไม่ได้เจตนา ! สิ่งนั้นสะอาดบริสุทธิ์หมด.. สะอาดบริสุทธิ์

ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่รู้ไม่เห็น เขาบอก เพราะอะไร.. เพราะกินเนื้อสัตว์ เห็นไหม เพราะ บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน พระฉันเนื้อสัตว์มันเป็นเรื่องโลกๆ

พระฉันเนื้อสัตว์เป็นเรื่องโลกๆ นะ นี่ความเห็นของเขา ! ถ้าพูดถึงนะ เขาบอก “เพราะมีคนกิน ถึงมีการฆ่า เพราะมีการฆ่า นี่พระฉันเนื้อสัตว์นะ ยังมีหน้ามาให้พรเขาอีก ยังมีหน้ามาแผ่ส่วนกุศล” นั่นน่ะ ! เขาคิดของเขาเห็นไหม

ถ้าโรงงานอุตสาหกรรม เขาฆ่าสัตว์เพื่อขายถวายให้พระ เขาเจ๊งไปแล้ว เขาอยู่ไม่ได้หรอก พระไปรู้อะไรกับเขา พระไม่รู้อะไรกับเขาหรอก เป็นเรื่องของการตลาดของเขา เรื่องของโลกของเขา เขาทำเป็นอาชีพของเขา

แต่พระเห็นไหม เขาฆ่ามาขายให้กับทางโลกใช่ไหม แต่พระเขาก็ไปหาของเขามาด้วยกำลังของเขาใช่ไหม พระไปบิณฑบาตมา มันเป็นโลกตรงไหน เราอยู่กับโลก เราจะเห็นว่า โน้นก็โลก นี่ก็ธรรม แล้วโลกกับธรรม มันอยู่กันอย่างไร

คนเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเป็นโรค เวลาไปหาหมอ มันตีโพยตีพาย มันเดือดมันร้อน เพราะจิตกับใจมันยึด กายกับใจมันยึดด้วยกัน ต้องหาย.. ต้องหาย.. ต้องปลอดภัย.. ต้องทุกอย่าง.. ยิ่งคิดมันยิ่งเครียด

แต่ถ้าเป็นธรรม เราเข้าใจเรื่องชีวิตใช่ไหม เราเข้าใจเรื่องของร่างกายใช่ไหม ร่างกายมันเสื่อมสภาพไป ก็ต้องซ่อมแซมมันเป็นธรรมดา เวลาเราไปโรงพยาบาล หมอก็รักษา ซ่อมแซมร่างกายนี้ เหมือนกับเอารถเข้าอู่ ช่างก็รักษารถนั้นไป เราเจ้าของเรา เราก็ไม่เดือดร้อนกับมัน มีแต่จ่ายตังค์มาก จ่ายตังค์น้อยเท่านั้น ถ้ามันเสียมากก็จ่ายตังค์มาก เสียน้อยก็จ่ายตังค์น้อย

นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าโรงพยาบาล โดยธรรมเห็นไหม หน้าที่ของหมอก็รักษาร่างกายนี้ไป หัวใจของเรา เรารักษาของเราเอง หมอรักษาหัวใจของเราไม่ได้นะ เราต้องมีสติปัญญา เราต้องมีสติของเราควบคุมใจของเรา ไม่ให้ใจของเรามันไปยึดมั่นร่างกายนี้ มันเป็นโรคเครียด มันเป็นการวิตกกังวล ทำให้โรคนี้ มันได้แรงกระตุ้น

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ แล้วรักษาใจของเรา ร่างกายของเราก็ให้หมอรักษาไป หมอก็รักษาไป นี่ไงเป็นธรรม นี่ไงไปรักษา เข้าโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรค เราทุกข์ เรายาก เราลำบาก หมอก็เดือดร้อนกันไปหมดเลย แต่เข้าโรงพยาบาลโดยธรรมนะ มันซ่อม มันเสื่อมสภาพ ก็ต้องรักษาเป็นธรรมดา

เราต้องการชีวิตเรา เพื่อจะประพฤติปฏิบัติไปเห็นไหม โลกกับธรรม แต่ธรรมมองไม่ออกนะ ถ้าเป็นธรรมทั้งหมด เราไปรักษา เราไปเจือจานกันในโรงพยาบาล ก็ไม่แก่งแย่งกัน มีการเสียสละกัน มีการดูแลต่อกัน มันก็เป็นความสุขไปหมด

ถ้าเรามองเรื่องโลก ถ้าโลกเป็นอย่างนั้น เพราะเราต้องการเรื่องโลก สภาพออกมา เราถึงไม่อยากให้เห็นพระออกข่าวหน้าหนึ่งเป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้น.. เพราะมันเรื่องโลก แล้วเราปล่อยกัน เราปล่อยกันไป ถึงเวลาแล้ว นี่ทำไมเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะเราลืมธรรมะของพระพุทธเจ้าไง

หลวงตาท่านพูดประจำ “ลืมพระพุทธเจ้าไว้ ทิ้งพระพุทธเจ้าไว้ แล้วก็เอาแต่ความเห็นของตัวไง” เดี๋ยวนี้โลกเจริญแล้ว ความเป็นอยู่ต้องสะดวกสบายใช่ไหม ยิ่งพระนะ โอ้โฮ! ...ได้ฉันโต๊ะจีนนะ โอ้โฮ!...ได้ฉัน โอ้โฮ! …. อวดศักยภาพ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านคิดอย่างนั้น ท่านน้ำตาไหล น้ำตาร่วง ท่านบอกว่า “พระขุนนาง พระลืมตัว พระลืมธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า” การขบการฉัน ถ้าเราไปฉันอย่างนั้นนะ เราไปฉันอย่างนั้น แม้แต่เราอยู่ป่าอยู่เขา เราฉันแต่ของป่าของเขานะ เวลาภาวนาไป ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันไม่ทับจิต ไอ้พวกของมันๆ ไอ้พวกของที่มีศักยภาพ ของที่โลกเขาว่าเป็นของดี นั่นล่ะมันรังแกจิตใจของเรา มันรังแกจิตใจของเราด้วยไขมัน ด้วยความเป็น.. มันจะกดทับมัน พอกดทับมันนะ พระไปฉันอย่างนั้น ก็ฉันแบบโลกๆไง คิดว่ามีศักยภาพไง คุยอวด คุยโม้กันนะ

เทวทัต เสื่อมแล้ว !! แล้วบิณฑบาตไม่มีใครใส่ ! ให้ลูกศิษย์ ลูกหาไปขอมาจากญาติ แล้วนั่งล้อมวงฉันกัน ฉันเป็นคณะโภชนะ(คณโภชน์) แม้แต่การฉันร่วมวงอย่างนั้น มันเป็นคณะโภชนะ

ภิกษุทำกิริยาเหมือนคฤหัสถ์.. ไม่เป็นภิกษุ ! .. ภิกษุไม่ให้ทำกิริยาเหมือนคฤหัสถ์

ภิกษุต้องฉันแบบภิกษุ.. ฉันแบบภิกษุเป็นของส่วนบุคคล ไม่ใช่ของคณะ

คณะโภชนะฉันแบบโยม นี่มันก็เป็นแล้ว ตอนนี้ตีธรรมวินัยกันอย่างไร มันเรื่องของเขา.. มันเรื่องของเขา มันเรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของธรรม มันจะตีธรรมวินัยเข้ามา เพื่อขัดเกลากิเลส

“ขัดเกลากิเลส” คืออะไร คือ ความรู้ ความเห็นที่เราเห็นทั้งหมด ที่บอกว่าเป็นธรรม ! เป็นธรรม ! เป็นโลกทั้งนั้น เป็นโลกเพราะเกิดมาจากความรู้ความเห็นของเรา ผิดหมด !! แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา มันขัดเกลากิเลสของเรา.. ขัดเกลากิเลสของเรา.. อันนั้นจึงเป็นธรรม

ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา โลกเขาจะว่าอย่างไร เขาติเตียนอย่างไร หลวงตาสอนไว้ประจำ “คนเขาจะติ จะเตียน เป็นล้าน เป็นแสน ขนาดไหน เรื่องของเขา คนโง่.. คนฉลาด.. คนโง่พูดอย่างไร ไม่มีประโยชน์หรอก โลกธรรม ๘ เขาจะด่า เขาจะติเตียนอย่างไร เรื่องของเขา เราไม่หวั่นไม่ไหวไปกับเขา”

แต่ถ้าเป็นเรื่องของพวกนักปราชญ์ พูดคำเดียวเราก็ต้องฟัง ต้องฟังเพราะพูดแล้วมันสะเทือนใจ มันแทงหัวใจ

ดูสิ... เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราหาครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติขึ้นมา ไปถามธรรมะครูบาอาจารย์ ท่านพูดคำเดียวนะ เถียงไม่ขึ้นหรอก นี่คนที่มีปัญญา พูดคำไหนคำนั้น แล้วคำนั้นเราไม่มีโอกาสโต้เถียงเลย จะเถียงอย่างไรก็เถียงไม่ขึ้น เถียงไม่ได้หรอก เพราะเราพูดเรื่องโลก ! ท่านพูดเรื่องธรรม ! ธรรมเห็นไหม ธรรมเหนือโลก.. ธรรมมันพ้นจากโลก..

แล้วพ้นจากโลก ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เพราะเชาว์ปัญญาของเรามันไม่ถึง หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาท่านเทศน์นะ “จำคำพูดของผมไว้นะ แล้วถ้าใครปฏิบัติมาถึงนี้ จะมากราบศพผม” จะมากราบศพ จะมากราบศพเพราะอะไร เพราะเวลาปฏิบัติไป จิตมันพัฒนาขึ้นไป มันไปถึงตรงนั้นปั๊บ มันจะซึ้งมาก.. ซึ้งมาก..

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลากราบพระเห็นไหม กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำไมกราบด้วยหัวใจล่ะ ไอ้เราจะไปกราบพระกันนะ โอ้โฮ ! ....เก่งมาก เด็กๆ มันเก่งมาก วิทยาศาสตร์ บอกว่า..

“แม่กราบทำไมนี่ มันอิฐ มันหิน มันทราย มันปูน กราบทำไม ?” คิดแบบโลกเห็นไหม

พระพุทธรูปมาจากอะไร... ก็มาจากแร่ธาตุ

แล้วเราโง่ขนาดไหน เป็นมนุษย์ มีชีวิต ไปกราบแร่ธาตุ ทำไมโง่ขนาดนี้ ! นี่ไง คิดแบบโลกไง !

ถ้าคิดแบบธรรมนะ นี่มันสมมุติ ! สมมุติว่าแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราไม่มีวุฒิภาวะพอ ถ้าไม่มีรูปสมมุติ เราก็ไม่รู้จะกราบอะไร อากาศก็ไม่ยอมกราบ อะไรก็ไม่ยอมกราบ มันเลยด้าน.. จิตมันด้านหมด

แต่ถ้ามันจะมีรูปเคารพมานี่ บอกนี่พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้นะ ให้กราบพระพุทธเจ้านะ หลอกให้เขากราบ มันก็กราบทีหนึ่ง ปะลก ปะลกเห็นไหม ไปปัดฝุ่นน่ะ ปั๊บๆๆ

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านกราบด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กราบเมตตาธรรม กราบปัญญาธรรม กราบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันกราบด้วยหัวใจไง ถ้ามันกราบด้วยหัวใจ เรากราบตรงนั้น กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรากราบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมา แต่นี่เป็นรูปเคารพเฉยๆ เขาไม่ได้กราบไอ้ธาตุนี้หรอก เขากราบคุณงามความดี กราบถึงปัญญาคุณ.. ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รื้อค้นขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยให้เราเป็นเครื่องอาศัย ที่จิตใจเราได้อาศัย เขากราบกันตรงนั้น !! นี่ถ้ากราบแบบธรรม กราบแบบหัวใจ มันกราบด้วยหัวใจนะ

มันเคารพครูบาอาจารย์ เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ แม้แต่ไม่มีรูป พวกเราธุดงค์กันอยู่ในป่าในเขา ไม่มีหรอกไอ้รูปอย่างนี้ ! รูปสมมุติอย่างนี้ ไม่มีหรอก ! เราก็นึกเอา นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราก็กราบ

เวลาเราธุดงค์อยู่ในป่า เราเวลาทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เราเอาอะไรทำ อยู่ในกลด มีรูปที่ไหน มันก็ไม่มีรูปอะไรหรอก ทำไมกราบได้ล่ะ เพราะมันกราบจากหัวใจ มันกราบแบบธรรมใช่ไหม มันไม่ได้กราบแบบโลก ถ้ากราบแบบโลก.. ถ้าไม่มีรูปพระพุทธเจ้าจะกราบอะไร จะกราบอากาศเหรอ เห็นไหมอากาศมันก็ว่าอากาศ อากาศมันก็กราบไม่ได้

ถ้าโลกเป็นอย่างนั้น พูดถึงโลก แล้วโลกมันจะไหลไปอย่างนั้น ถ้าเป็นธรรมเห็นไหม เราจะขัดเกลาของเรา ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แม้แต่ศีล ๒๒๗ ศีล ๘๔,๐๐๐ ข้อ ศีลในพระวินัย มันก็เป็นข้อบังคับใช่ไหม

แต่เวลาผิดหรือถูก มันก็มีอาบัติ มันมีโทษของมัน แต่ธุดงควัตรไม่บังคับเลยเห็นไหม ไม่บังคับนะ.. ใครพอใจทำก็ได้ ไม่พอใจไม่ทำก็ได้

ธุดงค์ ๑๓ ! ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร.. ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร.. บิณฑบาตเป็นวัตร.. นี่พระไม่ทำก็ไม่ปรับอาบัติ

ศีลในศีล เห็นไหม เวลามันละเอียดขึ้นมา ท่านไม่เห็นปรับอาบัติเลย แต่เวลาที่ปรับอาบัติ นั่นเป็นเรื่องของโลกๆ แต่เรื่องของการขัดเกลากิเลสท่านไม่ปรับอาบัตินะ ธุดงควัตรไม่ถือก็ไม่ปรับอาบัติ

แต่ครูบาอาจารย์ของเราถือ ถือเพราะอะไร เพราะมันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ถ้าธุดงควัตรมันจะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ เราจำให้แม่นๆ เลยนะ แล้วเขียนสักไว้บนสมองเลยนะ นี่ธุดงควัตร ๑๓ แล้วเดี๋ยวกูจะเป็นพระอรหันต์ มันก็ไม่เป็นนะ..

มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นเครื่องขัดเกลา แล้วเราเอาสิ่งนี้มาขัดเกลาใจเรา มันบังคับใจเรา จะทำให้เราเข้าสู่ธรรมะเห็นไหม แล้วถ้าใจเราเข้าไปถึงธรรมะเห็นไหม นิพพาน ! นิพพาน ! ในพระไตรปิฎก ผลของนิพพานมันอยู่ที่ไหน

นิพพานมันพ้นออกไปจากกิเลส ออกไปจากวัฏฏะ แต่สิ่งที่เป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติ บัญญัติธรรมพระพุทธเจ้าก็สมมุติอันหนึ่ง สมมุติเป็นภาษาสื่อกัน แต่ความรู้สึกในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันนั้น ที่พ้นออกไป เวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติไป ใจที่มันพ้นไปแล้ว มันพ้นจากสมมุติบัญญัติไปทั้งหมด มันพ้นจากการกล่าวอ้าง พ้นจากการสื่อสารใดๆ ทั้งสิ้น

แต่เพราะใจมันเป็นธรรมอันนั้น ท่านถึงมาสั่งสอนเรา พยายามชักจูงเราขึ้นไปเห็นไหม ท่านชักจูงเราขึ้นไป ใจที่เป็นธรรม.. ใจที่เป็นธรรม.. สิ่งที่ธุดงควัตร มันขัดเกลากิเลส ถ้ามันขัดเกลา มันเป็นวิธีการขัดเกลากิเลส แล้วมีกิเลสอยู่ มันก็มีการปะทะกัน มีการต่อสู้กัน

แล้วถึงที่สุด การต่อสู้ ต่อสู้ก็ไม่ได้นะ ต่อสู้ก็เป็นโลก ต่อสู้ก็มีกิเลสนะ แต่มรรคญาณที่มันชำระกิเลส มันต่อสู้อย่างไร มันรวมตัวอย่างไร มันทำลายอย่างไร มันมีของมัน มันเป็นจริงของมัน อย่างที่บอกธรรมะตัวเป็นๆ ธรรมะที่มีชีวิต ธรรมะที่จับต้องได้ ปัญญาที่จะจับต้อง สิ่งใดที่จะจับต้องได้ มันมีของมัน

ถ้าเราเป็นธรรม แล้วเราพยายามขวนขวายของเรา ใจเราจะเป็นธรรมขึ้นมา แต่เพราะเราเป็นโลก เป็นรูปแบบ เป็นมารยาสาไถย เป็นมายาภาพ แล้วเอามายาภาพ ศักยภาพของสังคม กระแสสังคมโลกไปนะ ตื่นวัวตื่นควาย เหมือนคนตื่น เวลาตื่นวัวตื่นควาย ควายวัวมันตื่นแล้วเอาไม่อยู่นะ

แต่เวลาคนมันตื่น ดูสิ คนมันตื่นเป็นเหยื่อของเขา เป็นเหยื่อของโลก เป็นผู้ที่มีปัญญา ใช้สอยสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ นี่โลกกับธรรม แต่โลกมันเป็นอย่างนี้ เราต้องมีจุดยืนของเรา “เขาโค”กับ “ขนโค” จะได้มากได้น้อยเรื่องของเขา เอาความจริงเข้าว่า เราเอาความจริงเข้าว่า ความจริงมีมากมีน้อยก็เอาความจริงเข้าว่า ได้มากได้น้อยไม่สำคัญ เราอยู่กับความจริง ความสุจริตธรรม เป็นเกาะคุ้มครอง !

แล้วพอปฏิบัติธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง ธรรมะมันยิ่งคุ้มครองเรา แล้วเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่โลกกับธรรม !

เรื่องโลกอย่าไปตื่นกับมัน รับรู้.. ศึกษา.. เห็นไหม โลกธรรม ๘ ผู้ที่มีคุณธรรม เหมือนเสา ๘ ศอก ปักดินไป ๔ ศอก ลมพัด ลมไหวขนาดไหน มันไม่สั่นคลอนไปกับใครเลย

นี่ก็เหมือนกัน ใจที่มันมีธรรมนะ เวลาเขาพูดมามันผิดหมด เขาพูดมามันเป็นมารยาสาไถยทั้งนั้น แต่ด้วยแบบผู้ใหญ่คุยกับเด็ก จะบอกว่ามนุษย์คุยกับสัตว์มันจะเกินไป ผู้ใหญ่คุยกับเด็ก เด็กไม่รู้เรื่องหรอก จะมีการศึกษาขนาดไหนก็ไม่รู้เรื่อง เรื่องโลกๆ เรื่องมารยาสาไถย

แต่เรื่องของธรรม เราจะดึงเราขึ้นมาอย่างไร เราจะมีวิธีการบอกเขาอย่างไร ให้เขาลืมตามา ให้เขาพัฒนามา ให้เข้าถึงธรรมอันนั้น ถ้าเขาเข้าได้ก็ สาธุ ! ถ้าเขาเข้าไม่ได้ก็ กรรมของสัตว์ ! มันก็เท่านั้นแหละ เอวัง