ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จากสมมุติ

๕ พ.ค. ๒๕๕๓

 

จากสมมุติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะตอบปัญหาไปก่อนนะ แล้วก็จะเคลียร์นี่ไปเลย

ถาม : ปัญหาที่ ๖๙ ความฝันที่เป็นจริงคือนิมิตหรือไม่ ถ้าความฝันที่เป็นจริงขณะนอนหลับแล้วฝันเห็นสัตว์ เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป เมื่อตื่นขึ้นมาปรากฏว่าเหตุการณ์ที่ฝันเกิดขึ้นจริง และได้เห็นสิ่งนั้นจริงๆ ความฝันลักษณะนี้เรียกนิมิตได้หรือเปล่า

หลวงพ่อ : ความฝันกับนิมิตนี่มันเป็นเรื่องโวหารนะ เพราะเวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านนั่งภาวนาแล้วท่านเห็นนิมิต ท่านจะบอกว่าฝัน เพราะถ้าบอกว่านิมิตไปแล้ว มันจะเหมือนกับว่ามันผูกมัดตัวเองเกินไป ฉะนั้นไอ้อย่างเวลาเราฝัน เราฝันของเราถ้าเป็นความจริงแล้วว่าเป็นนิมิตได้ไหม ความฝันก็คือความฝัน แต่ความฝันของคนบางครั้งมันถูกต้อง แต่บางครั้งมันก็คลาดเคลื่อนเพราะการฝันนั้นเราฝันบ่อยมาก ถ้าคนฝันจะฝันบ่อยมาก ถ้าคนนอนไม่เคยฝันก็ไม่ฝันเลยนะ บางคนนอนนี่ไม่เคยฝันเลยแล้วบอกว่าฝันนี่เขาจะแปลกใจนะ เพราะเขานอนแล้วไม่เคยฝันเลย ทำไมคนนั้นฝันแล้วฝันอีกแล้ว

คนที่ฝันพอมันฝันแล้วเป็นฝันที่สะเปะสะปะก็มี แต่นานๆ ทีที่มันจะตรงซักทีหนึ่ง แต่ถ้าคนที่แบบว่า อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ที่ได้สร้างบุญบารมีมามาก การฝันนี่มันจะฝันแบบว่านานๆ ฝันที แต่การฝันนั้นมันจะชัด มันจะบอกอะไรล่วงหน้า ฉะนั้นการฝันก็คือความฝันมันไม่เป็นนิมิต ถ้าเป็นนิมิตคือจิตเวลาที่เรานั่งอย่างนี้แล้วจิตสงบ พอจิตสงบแล้วเห็นชัดๆ นี่ที่เขาเรียกนิมิต หรือบางทีเรานั่งอย่างนี้ มันมุมกลับกันเวลาเรานั่งอย่างนี้ แต่เรานั่งไปแล้วเราตกภวังค์ไป มันก็เหมือนกับนอนหลับ นั่นก็คือฝัน แต่เราก็เห็นต่างๆ ไป ความเห็นในนิมิตนี่แตกต่างกัน

ความฝันที่เป็นจริงเป็นนิมิตไหม ความฝันที่เป็นจริงก็เป็นความฝันก็รู้อยู่แล้ว นิมิตมันมีสติพร้อมไง เพราะเกิดนิมิตนี่เราถามได้ อย่างเช่นเวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปเวลาจิตมันตกมันเห็นนิมิต แล้วเราสงสัยไปถามครูบาอาจารย์ท่านให้กลับไปนั่งใหม่ พอกลับไปนั่งใหม่พอเห็นนั้นน่ะให้ถามที่จิต ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไรสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร จิตมันจะตอบออกมาเลย เพราะความจริงมันเป็นความผูกพันทางจิต พอจิตของเราใครมีกรรมอย่างไร ใครมีวาระอย่างไร ถึงเวลาบางทีมันจะบอกล่วงหน้าได้ อันนี้มันอยู่ที่ อย่างเช่นว่าบางคนนอนแล้วไม่ฝันเลย บางคนนอนฝันสะเปะสะปะมาก บางคนฝันนานๆ ทีฝันหนหนึ่ง แต่ความฝันนั้นชัดเจน แล้วพอออกมานี่ก็ชัดเจน เวลาชัดเจนอย่างนั้นมันก็เป็นอนิจจัง มันเป็นอนิจจังหมายความถึงว่ามันก็เป็นสภาวะเรื่องของ มันก็เหมือนกับถ้าเป็นเรื่องของทางสถิติ เราก็มีความถูกต้องตามวิชาการ เขาเก็บสถิติไว้เขาก็รู้ทางตัวเลขหมด

ไอ้นี่ก็เหมือน กันความฝันมันก็บอกเหตุการณ์อย่างนั้นล่ะ มันก็เป็นสถิติเป็นข้อมูล เป็นข้อที่รับรู้แล้ว มันแก้กิเลสไม่ได้ไง เพียงแต่มันบอกให้เรารู้อะไรล่วงหน้า ก็เหมือนตอนนี้ร่วมด้วยช่วยกัน พอออกจากบ้านก็โทรศัพท์เลยว่ารถติดไหม ที่ไหนติดไหม นี่ก็เหมือนฝันนะ ข้างหน้าถนนสายนี้ติดไหมไอ้นี่เราก็รู้ล่วงหน้า เขาบอกเลยว่าถนนสายนี้มาไม่ได้รถติดนะ ควรหลีกเลี่ยงไปสายอื่น

ฝันก็เป็นแบบนี้ไง มันบอกล่วงหน้า แล้วพอเราออกไปเราก็เจอรถติดเหมือนกันแล้วมันแปลกประหลาดตรงไหน แต่ถ้าคนใหม่ๆ จะบอกว่ามันเป็นเรื่องความมหัศจรรย์ นี่ถามมานี่เพราะเป็นความมหัศจรรย์ของเขา อันนี้เรื่องความฝัน ฉะนั้นพอเรื่องความฝันทีนี้เราจะพูดเรื่องภาวนา อย่างเช่นเมื่อวานที่เขาถามเรื่องเวลาเห็นเป็นแผ่นทองคำเปลวเห็นอะไรต่างๆ ถ้ามันเห็นอย่างนั้นเห็นอยู่เป็นอาทิตย์ๆ เลย อย่างนั้นก็เป็นนิมิตได้

คำว่านิมิต นิมิตมันก็เป็นการจิตที่เห็นเท่านั้นเอง พอจิตที่ว่าเห็นนะ ถ้าเห็นนิมิตสิ่งต่างๆ ถ้าเราไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์พอเห็นอะไรแล้วมันทำให้จิตใจนี้หวั่นไหว พอจิตใจหวั่นไหวนี้มันจะเป็นประโยชน์ไหม แต่พอไปเห็นสิ่งใดมันก็สำคัญตน เราไปเห็นแล้วสำคัญตน ยิ่งไปเห็นชีปะขาว ไปเห็นเทวดามาบอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้วนะ หลงตัวเองไปเลย มันให้โทษได้นะ นิมิตมันก็ให้โทษได้ถ้าเราไม่มีสติปัญญาพอ ถ้ามีสติปัญญาพอ มันเป็นทางผ่านทั้งนั้นล่ะ แล้วถ้าเราย้อนกลับมาภาวนาของเรา ถ้าจิตมันชำระกิเลสไปมันเป็นประโยชน์ขึ้นมา เขาเรียกบารมี

คนเราถ้ามีบารมีมันจะแก้ไขสิ่งใดๆ ได้ ทีนี้เวลานั่งภาวนาไป อาการของจิตมันเกิดได้ร้อยแปด อย่างเช่น จะมีการสั่นไหวขนาดไหน ร่างกายจะสั่นไหวขนาดไหน หัวมันจะสั่นไหวขนาดไหน เราก็พุทโธไว้เฉยๆ เราก็ต้องพุทโธของเราไว้ตลอดเวลา อาการที่เป็น เพราะอย่างเช่นรถเรา เราขับรถเวลาพวกเครื่อง ฐานเครื่อง ถ้านอตมันหลวม เวลาติดเครื่อง เครื่องมันจะสะบัดมาก เพราะอะไรเพราะนอตที่เราขันไว้มันหลวม แล้วถ้าเราไม่ขันให้มันแน่นมันจะสะบัดแรงๆ สะบัดไปเรื่อยๆ จริงไหม อย่างเช่น อะไรก็แล้วแต่ ถ้าลองนอตหลวมทุกอย่างอะไรก็แล้วแต่มันจะสั่น มันจะสั่นแล้วถ้าเราไม่ดูแลรักษา เราไม่ไปขันเข้าเดี๋ยวมันก็จะหลุด อาการอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของวัตถุ

แต่เวลาเรานั่งภาวนาไปนี้ ถ้าเกิดอาการอะไรต่างๆ ขึ้นมา เห็นไหม นอตมันหลวมแล้วมันจะมีอาการไปตลอดเวลา แต่มันไม่หลุดมันไม่ขาด ยิ่งเราไปรับรู้มันก็ยิ่งไปใหญ่เลย ฉะนั้น สิ่งที่เวลานั่งไปแล้วกำหนดพุทโธ แล้วจะมีอาการสั่นไหวต่างๆ เราก็กลับมาที่พุทโธ กลับมาพุทโธชัดๆ เพราะว่านอตมันอยู่ที่ไหน เห็นไหม เวลาฐานรถ ฐานของเครื่องยนต์ต่างๆ ถ้านอตมันหลวมพอเราไปขันเข้ามันก็แน่น ทีนี้พอจิตมันออกรับรู้เราจะไปขันยังไงให้มันนิ่ง เพราะความเข้าใจผิดใช่ไหม ความเข้าใจผิดเวลาเห็นอาการตัวเองสั่นไหว อาการหัวสั่นหัวคลอนเราไปรับรู้อาการนั้น ยิ่งรับรู้อาการนั้นมันยิ่งตามอาการนั้นไป ทางแก้ของมันคือเราไม่รับรู้อาการนั้น แล้วเรากลับมาที่พุทโธชัดๆ

คำว่าพุทโธชัดๆ พุทโธนี้มันเป็นคำบริกรรม จิตนี้เราจับตัวมันไม่ได้ พอจิตเราจับตัวไม่ได้ ก็อาศัยคำบริกรรมให้จิตมันเกาะสิ่งนั้น พอเกาะสิ่งนั้นมันจะแสดงตัวขึ้นมาชัดเจนขึ้นมา ถ้าชัดเจนขึ้นมานั่นคือจิตมันสงบ เวลาเมื่อจิตมันสงบขึ้นมา มันจะมีอาการแตกต่างกันมหาศาลเลย มันมีความเปลี่ยนแปลง เราดูนะดูตะกอน แก้วน้ำนี้น้ำมันขุ่น แล้วถ้าเราตั้งไว้เฉยๆ ตะกอนมันจะต้องนอนก้น มันพยายามปรับตัวมันเองจากน้ำขุ่นเป็นน้ำใส

จิตก็เหมือนกันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธมันจะเกิดอาการเปลี่ยนแปลง พอเกิดอาการเปลี่ยนแปลงเราก็ไปติดอาการนั้น แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ อาการจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ให้มันเปลี่ยนแปลงไป พอตะกอนมันนอนก้นทั้งหมดน้ำมันจะใส จิตก็เหมือนกันพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ เวลามันสั่นไหวพอพุทโธ พุทโธ พุทโธทำไมมันแก้ไม่ได้ล่ะ ก็พุทโธแล้ว คำว่าพุทโธแล้วนี้คือเราสักแต่ว่าทำ

ต่อไปนี้นะให้ตั้งสติให้ดีๆ เลย ถ้ากำหนดพุทโธแล้วพุทโธชัดๆ ตั้งแต่เริ่มเลยพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจะเกิดสิ่งใดขึ้นไม่รับรู้พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียวอาการสั่นนั้น มันพยายามจะเรียกร้องความสนใจ เพราะแต่เดิมเราไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจเราก็พุทโธไป เขาเรียกว่าอาการของจิต สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตมันมีได้ร้อยแปดพันเก้า แล้วแต่จริตนิสัยของคน พอสิ่งนั้นเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นมามันเรียกร้องความสนใจให้ไปรับรู้มัน ถ้ายิ่งไปรับรู้มัน มันจะยิ่งแสดงอาการของมันอย่างงั้น แล้วยิ่งแสดงอาการอย่างงั้นเราก็ยิ่งรับรู้มัน มันยิ่งชัดเจนอย่างงั้น แล้วแก้ยังไงก็ไม่หาย

ไม่หายเพราะอะไร ไม่หายเพราะมันเป็นปลายเหตุ ปลายเหตุเพราะว่าอาการของจิตมันรับรู้ ยิ่งรับรู้ยังไงมันก็สั่นไหวอย่างนั้น แต่ถ้าเรากลับมาที่พุทโธ พุทโธ อาการมันก็ยังสั่นไหวอยู่เพราะอะไร ดูคนกินเหล้าเวลามันอยากเหล้า คนเรามันติดยาเสพติดเวลามันพยายามระงับยาเสพติด เรายิ่งพยายามจะไม่ไปเสพมันนะ อาการของมันจะมี จิตที่มันเคยรับรู้อาการสั่นไหว แล้วจะให้มันดึงกลับมา มันไม่ใช่ของง่ายหรอก แต่เราก็ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธไป อาการอย่างนั้นเดี๋ยวมันก็ค่อยจางไปๆ อย่างคนจะอดเหล้า คนเคยกินเหล้าแล้วจะอดเหล้า ใหม่ๆ มันจะแสดงปฏิกิริยามาก พอต่อไปๆ มันชักปกติๆ อันนี้ก็เหมือนกัน พุทโธเฉยๆ ไม่ต้องไปทำสิ่งใดเลย พุทโธชัดๆ แล้วพุทโธชัดๆ มันจะค่อยๆ จางไปๆ มันจะไม่ทีเดียวหายหรอก

สิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ เพราะมันแบบว่ามันเรื้อรัง ถ้ามันเรื้อรัง มันจะมีอาการเรื้อรังของมัน ถ้ามันเรื้อรังแล้วเราต้องพยายามพุทโธชัดๆ เหมือนแผล แผลถ้ามันเรื้อรังเรารักษากว่ามันจะหายมันจะช้าหน่อย แต่ถ้าแผลสดๆ มันไม่เรื้อรังแล้วเราใส่ยาดีๆ ดูแลรักษาไม่ให้ติดเชื้อ เดี๋ยวมันก็หาย ถ้าเริ่มต้นเป็น พอจิตมันเริ่มออกรับรู้ต่างๆ เราพุทโธไว้ชัดๆ มันจะหายของมันเอง แต่เพราะเราไม่รู้ แล้วเรามีกิเลสอยู่แล้วไปศึกษาธรรมะมาเราก็ตีความ พอตีความแล้วมันน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนั้น เราก็ออกไปรับรู้ไว้ก่อน พอรับรู้ไว้ก่อนจิตมันก็เคยตัว พอรับรู้แล้วมันจะให้ค่าด้วยว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น มันคิดของมันไปเอง แล้วพอจะให้มันทิ้งขึ้นมามันก็เคยตัว

พุทโธไว้ชัดๆ พุทโธให้ชัดๆ แล้วมันจะหายของมันไปเรื่อยๆ ถ้าพูดถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้แต่ที่เห็นเป็นทองคำเป็นแผ่นทองคำ นิมิตทั้งนั้น ถ้านิมิตทั้งนั้นไปรับรู้อย่างนั้นมันก็เป็นได้แค่นั้น มันไม่ไปไหนหรอก นี่พูดถึงอาการฝัน อาการเป็นจริง อาการของใจ ใจมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าภาวนาโดยข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงสิ่งใดๆ เลย เวลาเราภาวนาขึ้นมามันวิปัสสนึกหมดเลย มันเป็นการคาดหมาย มันเป็น จินตนาการ มันไม่เป็นความจริงเลย มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก

แต่ถ้าเราเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึก ธรรมดาอารมณ์ความรู้สึกเราคือไม้ดิบๆ ไม้ดิบๆ มันจะไปจุดไฟ ไฟมันไม่ติดหรอก ฉะนั้นเราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ไม้นี้เอาไปตากแดด อบเพื่อให้มันแห้ง จิตก็เหมือนกันพุทโธ พุทโธ พุทโธให้มันสงบเข้ามา แล้วพอมันสงบเข้ามา คิดดูสิ ไม้ดิบๆ นี่มันมีน้ำหนักไหม เวลาไม้มันแห้งน้ำหนักมันเบาลงไหม จิตก็เหมือนกัน เวลาปกตินี้คือความคิดดิบๆ แล้วเราจินตนาการด้วยอารมณ์ดิบๆ แล้วเราก็บอกว่างๆ ว่างๆ มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น

ฉะนั้นเราต้องกำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ให้มันสงบเข้ามา ทีนี้การทำให้มันสงบเข้ามา มันก็เป็นเรื่องที่ลำบากนิดหน่อย ลำบากนะ เพราะมันเป็นการเอาชนะตนเอง เรื่องความสงบของหัวใจมันมี แต่ถึงเวลาแล้วเวลามันได้ผลขึ้นมา มันจะคุ้มค่า คุ้มค่ามากๆ เลย แต่ถ้าเราไปปฏิบัติกันโดยสามัญสำนึก โดยโลกๆ ปฏิบัติกันโดยโลก แล้วคิดกันไปแบบโลกๆ แล้วมันก็จะไม่ได้อย่างงั้น

ถาม : ข้อที่ ๗๐ รู้สมมุติ แล้ววิมุตติเกิดได้หรือไม่ เขาถามคือมีคนหนึ่ง มีคนเคยบอกว่า ถ้าสมมุติก็ดับอวิชชาได้ วิมุตติเกิดได้ อีกคนบอกว่ารู้สมมุติไม่ได้ดับอวิชชาจนถึงขนาดทำให้เกิดวิมุตติได้ ต้องดับอวิชชาจนจิตวางความยึดมั่นในสมมุติทั้งหมด วิมุตจึงจะเกิดขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่า พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิได้ ก็คือรู้สมมุติทั้งหมดแล้ว คือรู้ในขันธ์ ๕ เป็นสมมุติ ก็รู้ว่าโลกนี้เป็นสมมุติ แล้วก็ยังยินดีในโลก โลกนี้หรือโลกไหนๆ เพราะเห็นว่าเป็นสมมุติทั้งหมด และเพราะโสดาบันรู้สมมุติอย่างนี้ จึงไม่ปรารถนาจะเกิดในภพภูมิใดๆ อีก เป็นผู้เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพานอย่างแท้จริง แต่วิมุตติก็ยังไม่เกิดแก่พระโสดาบัน เรียนถามหลวงพ่อว่าอย่างไหนถูกครับ ละสักกายทิฏฐิแปลว่าละความเห็นผิดในขันธ์ ๕ เป็นอย่างใด หรือละสักกายทิฏฐิแปลว่า ละความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ได้แล้วครับ และละสักกายทิฏฐิอย่างโสดาบันนี้ มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ยังยินดีในขันธ์ ๕ อยู่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : นี่เรียนถามมา ไอ้นี่มันโต้เถียงกันเอง เขาเถียงกัน ๒ คน คนหนึ่งว่ารู้สมมุติแล้ววิมุตติจะเกิดเอง อีกคนหนึ่งบอกว่ารู้สมมุติ วิมุตติเกิดไม่ได้ต้องดับอวิชชา ไอ้นี่มันพายเรือในอ่าง เถียงกัน ๒ คนแล้วก็ผิดทั้ง ๒ คน

ทีนี้เวลาเราไปดูคนที่มีฐานะ คนที่มีเงิน เขามีเงินเขาหาเงินโดยคล่องตัวของเขาเขาจะหยิบเงินอย่างไรก็ได้ อันนี้ก็เหมือนกันไอ้คำว่ารู้สมมุติ เข้าใจสมมุติหมด ปล่อยสมมุติหมด แล้วเกิดวิมุตติอะไรต่างๆ เวลาเขาคุยกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดกัน อย่างเช่น หลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่คำดี สิ่งใดที่คุยกันแล้ว ก็รู้ว่าคุยกันแล้วก็จบแค่นั้น พอจบแค่นั้นเราจะรู้เลยว่าคนไหนมีวุฒิภาวะแค่ไหน ทีนี้มีวุฒิภาวะแค่ไหนพอเจอกันครั้งต่อไป มันก็คุยกันตั้งแต่นั่นใช่ไหม

หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านไปคุยกับหลวงปู่คำดีแล้ว แล้วพอเจอกับหลวงปู่คำดีอีก แล้วพอถามอะไร เพราะพระเยอะท่านจะใช้โน้ตเอา ใช้เขียนเอา ถามว่าตรงนี้เป็นยังไงถามไป ทางโน้นได้อ่านหนังสือแล้วก็ดีใจ ก็เอากระดาษมาเขียนตอบว่า ได้ผ่านแล้วตรงนี้ผ่านแล้วเอามาอ่าน แค่นี้เอง ฉะนั้นเวลาผู้ที่รู้คุยกันแบบว่าเขาคุยกันโดยสิ่งต่างๆ ที่คุยกันหมดแล้ว เพียงแต่ว่ามันจะสรุปยังไง เหมือนกับว่าแค่จบตรงไหนจบยังไง แต่โดยพื้นฐานเข้าใจกันหมดแล้ว

ฉะนั้นที่บอกว่ารู้สมมุติ เข้าใจสมมุติแล้วเราเกิดวิมุตติต่างๆ นี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนี่ท่านพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่พวกเราเวลาฟังแล้วเราไม่เข้าใจอะไรเลย พอเราไม่เข้าใจอะไรเลย เห็นไหม จะบอกว่าคนฟังน่ะฟังไม่เข้าใจฟังไม่ได้ศัพท์ แล้วก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ ตรงนี้เป็นปัญหานะ เวลาพูดธรรมะมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดประจำ ท่านบอกว่า เฮ้ย เอ็งจะเชือดไก่ เอ็งอย่าเอามีดเชือดโคไปเชือดไก่สิ เวลาเชือดไก่เราก็ใช้มีดเชือดไก่ เชือดโคก็ใช้มีดเชือดโค เวลาขณะจิตที่มันจะเป็นไป โสดาบัน สกิทา อนาคา มันคนละระดับ แล้วคนฟังจะรู้

ถ้าเราเป็นอาชีพนี้ เราเชือดไก่เราก็รู้ว่าเราเชือดไก่ยังไง ถ้าเราเชือดโคเราก็รู้ว่าจะเชือดโคยังไง มันคนละอย่างกัน สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่มันแตกต่างกัน ทีนี้อาวุธที่จะฆ่าก็แตกต่างกัน กิเลสมันก็แตกต่างกัน เวลากิเลสแตกต่างกัน แล้วเวลาเราทำขึ้นมา มรรคญาณ มันก็แตกต่างกัน ฟังออกเลยล่ะฟังรู้เลย ฉะนั้นจะบอกว่าเวลามันฟังไม่ได้ศัพท์อย่างเช่น สมมุติวิมุตติ อะไรต่างๆ เวลาพูดกลับไปกลับมา มันมีของมัน มันมีของมัน

เวลาเราพูด อย่างนี้เป็นสมมุติ แล้วทุกคนก็ทิ้งหมดเลย ทุกคนบอกว่ารู้ทันสมมุติแล้วจะเป็นวิมุตติ อย่างนี้มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างที่เขาบอกว่ากิเลสมีเพราะเรายึด พอเราไม่ยึดกิเลสก็ไม่มี แล้วกิเลสมีเพราะเราไปยึดกัน แล้วจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะกิเลสมีเพราะเราไปยึดนี่มันกิเลสหยาบๆ แต่ตัวของจิตเอง มันเป็นอวิชชามันเป็นกิเลสอยู่แล้ว จะยึดหรือไม่ยึดมันก็ยึดโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นตัวตนของมันโดยข้อเท็จจริงของมัน

เหมือนไฟฟ้า เหมือนพลังงาน มันเข้าไปในสิ่งใดมันจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะมันให้พลังงาน ให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่น ให้ทุกๆ อย่างเลย เวลาเราเกิดมา เราก็มีจิต ตัวจิตนี้มันให้พลังกับเราตลอดเวลา แล้วพลังงานตัวนี้มันเป็นอวิชชา พอเป็นอวิชชามันก็เป็นกิเลสอยู่แล้วไง พอมันเป็นกิเลสอยู่แล้ว ยึดหรือไม่ยึดมันก็คือกิเลส ไม่ยึดอย่างหยาบๆ มันก็ยึดในตัวมันเอง ถ้าไม่ยึดในตัวมันเอง มันก็ไม่มีพลังงาน ฉะนั้นบอกว่าไม่ยึด พอยึดก็เป็นกิเลส พอปล่อยมันก็ไม่มีกิเลส ไม่ยึดก็ไม่มีกิเลส

ไม่ยึดก็คือกิเลส ยึดมันก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ ถ้าปล่อยมันมีสัมมาสมาธิแล้วมันก็เป็นกิเลสอย่างกลาง ยิ่งถ้ามันปล่อยกิเลสอย่างกลางมามันก็เป็นกิเลสอย่างละเอียด จะบอกว่ากิเลสมันมีตัวพ่อ ตัวลูก ตัวปู่ มันเป็นอย่างนี้ หลานๆ กิเลส ลูกหลานกิเลสอย่างนี้ หลานกิเลสเป็นโสดาบัน ลูกกิเลสเป็นสกิทา พ่อมันเป็นอนาคา ปู่มันเป็นอวิชชา พญามารน่ะมันมีนะ

เห็นไหม ทำไมนางตัณหานางอรดี เวลาพญามารร้องไห้มาบอกว่าพระพุทธเจ้าหลุดมือไปแล้ว ลูกพญามารบอกพ่อว่าอย่าเสียใจเลย เดี๋ยวเราจะไปเอาเองลูกพญามาร พญามารมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ลูกพญามารเป็นอย่างหนึ่ง หลานพญามารเป็นอีกอย่างหนึ่ง เหลนพญามารก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นมันมีหยาบมีละเอียดของมัน ทีนี้ที่ว่าสมมุติๆ กันนั้น จะบอกว่าเวลาเราปฏิบัติเราจะไปปฏิเสธสมมุติไม่ได้หรอก เพราะเราเป็นสมมุติกันอยู่แล้ว เราเป็นสมมุติอยู่แล้วมันจริงตามสมมุติ มนุษย์นี้จริงตามสมมุติ ภพชาตินี้เป็นสมมุติอันหนึ่ง ภพชาติการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสมมุติอันหนึ่ง จิตนี่เป็นวาระ ตัวจิตนี่เป็นตัวกลางเพราะตัวกลางนี่มันหมุนเวียนในวัฏฏะ มันเกิดเป็นสิ่งใดก็ได้สถานะตามภพชาตินั้น แต่ขณะที่เป็นภพชาติใดมันก็เป็นสมมุติอันนั้นโดยความเป็นจริง

รู้เท่าทันสมมุติ ทางวิชาการรู้เท่าทันตามสมมุติแล้ว มันจะเป็นวิมุตติไหม ไม่เป็น มันไม่เป็นวิมุตติ จะบอกว่าเพราะเราเริ่มต้น คนบอกว่าสมมุตินี้เป็นอวิชชา สมมุตินี่เป็นกิเลส เราเลยพยายามจะปฏิเสธให้ไม่มีสมมุติ แต่มันก็คือสมมุติ อย่างเช่นพระก็บอกว่านี่ติดในรสอาหาร เวลาเอาอาหารใส่บาตรแล้วให้เอาน้ำเติมไปด้วยเพื่อไม่ให้มีรส มันเป็นไปได้ไหม มันก็ยังต้องมีรสๆ หนึ่งเป็นธรรมดา รสนี่จะคลุกขนาดไหนมันก็เป็นรสหนึ่ง เพียงแต่ว่าที่เราฉันในบาตรกันนี่ แล้วบอกว่ามันคลุกในบาตรไม่ให้ติดในรส ไม่ให้ติดในรสที่มันพอใจ แต่พอมันคลุกเคล้ากันแล้ว มันก็มีรสแต่มันเป็นรสที่ขัดแย้ง เป็นรสที่ขัดใจเพราะเราอยากได้รสที่เราพอใจ แต่เราปฏิเสธรสไม่ได้หรอก รสของอาหารต้องมีใช่ไหม จะมีมากมีน้อยรสของมันก็มี ถ้ามันบูดเน่ามันก็ได้รสเปรี้ยวๆ มันก็ยังมีรส มันบูดแล้วมันเน่าแล้วมันเสียแล้วมันก็มีรสของมัน มันจะปฏิเสธรสไปได้ยังไง

ทีนี้บางทีพระเขาแอ็คชั่นกัน อยากจะอวดว่าฉันไม่ติดในรสนะ เวลาเอาอาหารใส่ในบาตรเสร็จแล้วก็เอาน้ำในกากรอกลงไปอีก โทษนะก็เยี่ยวใส่เข้าไปด้วยสิ มันอวดจนมันทุเรศ นี่ไงสมมุติก็คือสมมุติ มันมีของมันอยู่แล้ว รสอาหารเราจะปฏิเสธรสอาหารได้ไหม เพียงแต่แบบว่ารสนี่เราชอบใจและไม่ชอบใจ ถ้าเราชอบใจเราก็พอใจ ไม่ชอบใจเราก็ขัดใจ พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นว่าความพอใจและไม่พอใจ

การพิจารณาอาหารนี้ได้ประโยชน์มาก หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์จะถือตรงนี้มาก หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน ฟังให้ดีนะถ้าฟังไม่ดีแล้วจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เวลาท่านเอาอาหารใส่บาตร แล้วท่านพิจารณานั่งปฏิสังขาโย จิตของท่านมั่นคง จิตของท่านดีมาก ท่านเห็นเม็ดข้าวเหมือนตัวหนอน หนอนในถานตัวเล็กๆ เม็ดข้าวกับหนอนตัวเล็กๆ เห็นเม็ดข้าวดิ้นเป็นหนอนเลย เราจะกินข้าวนั้นได้ไหม ถ้าพิจารณาได้ขนาดนี้แสดงว่าจิตใจนี่ดีมาก เม็ดข้าวคือเม็ดข้าว เม็ดข้าวไม่ใช่หนอน แต่เพราะจิตมันดีเพราะจิตมันสงบจิตมีพื้นฐานขึ้นมา เห็นเม็ดข้าวมันดิ้นมันเหมือนหนอนเลย พอเหมือนหนอนขึ้นมา มันเกิดอาการพะอืดพะอมมันจะฉันไม่ได้ พอมันฉันไม่ได้นี่เพราะจิตมันดี

กรณีอย่างนี้มันเกิดได้น้อยคน แต่บางคนจะว่าถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้ เพราะข้าวมันคือข้าว ข้าวมันเป็นวัตถุ ตัวหนอนมันเป็นสัตว์ที่มีชีวิต แล้วเม็ดข้าวมันจะเป็นตัวหนอนอย่างนั้นได้ยังไง แต่เพราะจิตมันสงบ เพราะจิตมันมีพื้นฐาน มันเห็นเม็ดข้าวดิ้นเหมือนตัวหนอนเลย แล้วท่านเกิดความพะอืดพะอม ท่านฉันข้าวไม่ได้หลายวันเลย ทีนี้พอฉันข้าวไม่ได้หลายวันปั๊บ มันพิจารณาตอนเช้า พอพิจารณาเสร็จแล้วก็ผลักออกมันฉันไม่ได้ พอฉันไม่ได้ก็ใช้ปัญญาพิจารณาของท่านเองมันเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่ฉันชีวิตนี้อยู่ไม่ได้หรอก พิจารณาของเราเอง

นี่อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันอยู่ตรงนี้ ถ้าจิตมันพิจารณาจน อัตตกิลมถานุโยคคือมันพิจารณาจนเลยเถิด พอเลยเถิดมันจะทำร้ายตัวเราเอง ทำร้ายหมายถึงว่า มันจะทำให้ชีวิตเรานี้สิ้นไปได้ แต่ถ้าเป็น กามสุขัลลิกานุโยค มันก็ติดสุขยึดมั่นถือมั่นในสัญญาอารมณ์ที่เป็นความสุขของเราเอง มันไม่ลงในมัชฌิมาปฏิปทา เวลามันพิจารณาไปแบบนั้นปั๊บ ท่านก็ย้อนกลับมาพิจารณาของท่านเองว่า ชีวิตนี้มันก็ต้องการอาหารของมัน แล้วมนุษย์มันต้องกินอาหาร แล้วนี่มันเพราะเหตุใด พิจารณาจนให้จิตนี้มันหยาบออกมา พอจิตมันหยาบออกมามันเห็นโทษไง ใช่ พิจารณาอย่างนี้ถูกต้อง แต่ถ้าพิจารณาเลยเถิดไปมันไม่ลงตามข้อเท็จจริงในการดำรงชีวิตของสัตว์โลก

มนุษย์มีคำข้าวเป็นอาหาร เทวดามีวิญญาณาหาร มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหาร พรหมมีผัสสะ ความกระทบเป็นอาหาร ในวัฏฏะนี้มีมโน มโนคือสิ่งที่เป็นสากลคือความรู้สึกนี้เป็นสากล มโนเจตนาหาร ให้วัฏฏะนี้สืบต่อกัน สืบสัมพันธ์กัน เวลาเราส่งข้อความสู่กัน ส่งความรับรู้สู่กัน นี่คืออาหารของวัฏฏะ ๔ อาหารของวัฏฏะเห็นไหมอาหาร ๔ ในวัฏวนนี้ ในวัฏฏะที่สืบต่อกันนี้

พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนกลับมาเป็นปกติ ก็ฉันข้าวได้ปกติ ถ้าจิตมันดีการพิจารณาเรื่องรสมันก็เป็นเรื่องรส รสชาติมันมีของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีสติปัญญาพอไหม ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นสมมุติหมดใช่ไหม แล้วมันมีจริงไหม จริง สมมุติมีจริงๆ แต่ถ้าสมมุติมีไม่จริงเราจะคุยกันสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เราจะเข้าใจกันไม่รู้เรื่อง อย่างเช่น พ่อแม่ลูกนี่เป็นสมมุติ แต่สมมุติตามข้อเท็จจริง แต่สามีภรรยาเป็นสมมุติซ้อนสมมุติ เพราะเราสู่ขอกันมาถึงเป็นสามีภรรยากันใช่ไหม ถ้าเราแยกกัน มันก็ไม่ใช่สามีภรรยากันใช่ไหมนี่คือสมมุติ แต่โดยกรรมที่เราเกิดมาเป็นพ่อแม่ลูกกัน เพราะว่าพ่อแม่ลูกหรือสายเลือดนี้เราตัดกันไม่ขาดหรอก ตัดไม่ขาดหรอก สมมุติหยาบสมมุติละเอียดไง สมมุติมันมีของมันอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้พอสมมุติมันเป็นสมมุติ ถ้าเป็นวิมุตตินี่มันพ้นจากสมมุติ ถ้าจะพ้นจากสมมุติเราชำระเราสำรอกสมมุติยังไง เพราะอะไร เพราะจิต อย่างเช่น ภาษาที่เราคุยกัน ภาษาเป็นสมมุติไหม เป็นสมมุติ แต่เราคุยกันด้วยภาษาใช่ไหม แต่ถ้าวันไหนเราสำรอกออกเราสำรอกอะไร เราก็คุยในเรื่องภาษานี้แต่เราไม่ติดในภาษาแล้วไง คือเขาพูดยังไงเราก็ไม่เดือดร้อนไปกับเขา แต่ถ้าภาษาต้องเป็นภาษาผิดจากภาษานี้ไปไม่ได้ เหมือนครูสอนภาษาไทยเลย ใครพูดผิดไม่ได้ ใครพูดผิดคนนี้พูดผิด ถึงจะพูดผิดเด็กมันจะขอน้ำกิน เด็กมันฝึกหัดใหม่มันจะพูดน้ำแต่งเป็นภาษาอื่นไปบ้าง เสียงมันแปร่งไปบ้าง แต่มันก็พูดสื่อสารเรื่องน้ำถูกใช่ไหม เราก็ให้น้ำมันกินได้เหมือนกัน ถึงภาษาจะไม่ถูก

ภาษาก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง ถ้าเป็นสมมุติอันหนึ่งเราจะสำรอกสมมุติยังไง ถ้าเราสำรอกสมมุติยังไงมันจะเกิดวิมุตติ มันจะเกิดวิมุตติมันก็เข้าตรงนี้ เขายกว่า พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ ก็คือรู้สมมุติทั้งหมดแล้ว คือรู้ในขันธ์ ๕ใช่ไหม คำว่าขันธ์ ๕ เพราะมันยึด มันยึดหมายถึงว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารคือข้อมูลนี้เราต้องถูกต้องผิดไม่ได้เลย ยิ่งเป็นครูนี่ผิดไม่ได้เลยนะ ถ้าผิดนี่ต้องทำโทษทันที

ทีนี้พอเราผิดไม่ได้เลย สัญญานี่คือข้อมูล แต่ถ้าสัญญาคือข้อมูลเพราะเราไปยึดใช่ไหม แล้วยึดเพราะเหตุใด แล้วพอยึดแล้วเราพิจารณายังไง ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เวทนานี่เรายึดทำไมเวลาสิ่งที่ไม่ดี เราก็ปฏิเสธ แต่เวทนาเราก็อย่าปฏิเสธมัน เวลาเวทนาเกิดขึ้นทุกคนปฏิเสธมัน ทุกคนไม่ต้องการมีมัน แต่ทำไมมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตบอกว่ามันเป็นสมมุติ เราไม่ยึดมัน ถ้าไม่ยึดมันแล้วปวดทำไม แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วพอมันพิจารณาเข้าไป เวทนาเป็นเวทนา

ดูสิ สสาร วัตถุร่างกาย เรื่องของวัตถุมันจะเกิดความเจ็บปวดไม่ได้ มันมีความรู้สึกไม่ได้ แล้วใครไปรู้สึกความเจ็บปวดอันนี้ล่ะ ก็คือตัวจิต เพราะจิตมันโง่ พอพิจารณาเข้าไป พอจิตมันปล่อย พอจิตมันปล่อยปวดอยู่แสนปวด พอปัญญามันไล่ต้อนมา พอมันสลัดปั๊บจิตก็ยังอยู่ แต่ความปวดนั้นหายไป จิตนี้เบามาก มันโอ้โฮ มันมีความสว่างโพลงของมัน นี่ไงความปวดนั่นเป็นสมมุติ เวทนานี่เป็นสมมุติ เวลามันสลัดทิ้ง พอสลัดทิ้งขึ้นมามันปล่อยวางหมดเลย พอมันปล่อยวางหมด มันปล่อยวางเพราะอะไร มันปล่อยวางเพราะปัญญาของมัน มันสลัดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่มีในเรา เราไม่มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่มีในทุกข์ ทุกข์ไม่มีในขันธ์ ๕ เพราะคนภาวนาไม่เป็น เวลาเขียนปัญหาขึ้นมามันเขียนผิดเลย

พระโสดาบันคือรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นสมมุติใช่ไหม เพราะรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นสมมุติ ขันธ์ ๕ มันเป็นของใคร มันต้องจิตเรานี่นะพิจารณาขันธ์ของเรา เช่นเราเป็นหนี้เราต้องชำระหนี้ของเรา เราถึงพ้นจากหนี้ แต่เราบอกว่าละขันธ์ ๕ ใช่ไหม แล้วใครเป็นคนละ ถ้าไม่มีจิตเป็นคนละ เพราะพูดอย่างนี้ไง เพราะละขันธ์ ๕ เราก็คิดกันใช่ไหมว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วเราพยายามจินตนาการกันไปว่า เราปล่อยวางมัน พอปล่อยวางแล้วกลับมาสู่ความว่างแต่มันไม่มีตัวจิต

แต่ถ้าพอจิตเราสงบ พอพุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิแล้วจิตสงบ จิตเห็นขันธ์ พอจิตเห็นขันธ์มันจะสะเทือนหัวใจ จิตเห็นขันธ์ เราถึงบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่เขาบอกว่าเป็น สติปัฏฐาน ๔ ที่เขาพิจารณากันน่ะโกหกหมด โกหกหมด แต่ถ้าจิตสงบแล้ว ในตำราก็เป็นตำรานะ ที่นั่งกันอยู่นี่ทุกคนภาวนานะ ถ้าจิตใครสงบจิตใครเห็นขันธ์ ๕ จิตใครเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตตัวนั้นเห็น จิตของคนนั้นเห็น คนๆ นั้นจิตดวงนั้นถึงจะแก้กิเลสของจิตดวงนั้นได้ จิตดวงนั้นหมายถึงบุคคลคนนั้น ถ้าบุคคลนั้นจิตสงบลงแล้วจิตของบุคคลนั้นเห็นขันธ์ ๕ แล้ววิปัสสนาขันธ์ ๕ ปัญญาญาณอันนั้นจะแก้กิเลสของจิตดวงนั้น มันเป็นเฉพาะบุคคลไง นี่คือปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เป็นของใครของมัน

ถ้าเป็นของใครของมัน พระโสดาบันรู้ในขันธ์ ๕ ใช่ไหม มันไม่ใช่ มันต้องจิตปุถุชน จิตของคนๆ นั้นสงบแล้วจิตเห็นขันธ์ ๕ พอจิตเห็นขันธ์ ๕ แล้วจิตวิปัสสนาในขันธ์ ๕ มันเป็นสมมุติ เวลาทำนี้มันเป็นสมมุติ พอสมมุติขึ้นไปเวลาเกิดสัจธรรม พอจิตมันสงบขึ้นมา มันเป็นสัจธรรม แล้วถ้ามันเห็นของมันจริง ธรรมมันเกิดตรงนี้ เกิดบนใจตรงนี้ มันไม่ได้เกิดโดยตำรา ไม่ได้เกิดที่คำสอน ไม่ได้เกิดด้วยใดๆ ทั้งสิ้น มันเกิดจากจิตดวงนั้นไง ถ้าจิตดวงนั้นเห็นอาการอย่างนั้น แล้วพิจารณาอย่างนั้น แล้วมันปล่อย ตทังคปหาน ถ้ามันปล่อยแล้วปล่อยเล่าจนถึงที่สุด ถ้ามันขาดนะ นี่คือพระโสดาบัน พระโสดาบันรู้ขันธ์ ๕ เป็นสมมุติใช่ไหม

พระโสดาบันคือละขันธ์ ๕ อย่างหยาบ มันละขันธ์ ๕ เพราะอะไร เพราะขันธ์ ๕มันก็เป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมด โลกนี้เป็นสมมุติ พระอรหันต์เป็นวิมุตติพ้นจากสมมุติไปแล้ว แต่พระอรหันต์ก็มีขันธ์ ๕ ถ้าพระอรหันต์ไม่มีขันธ์ ๕ ทำไมพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพ่อ ทำไมพระพุทธเจ้ายังจำพระเจ้าสุทโธทนะได้ การจำนี่มันเป็นสัญญาหรือเปล่า ขนาดว่าพ่อจะมานิมนต์พระพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการ นี่คืออะไร นี่มันเป็นภาษาโลกไง เราบอกว่านี่เป็นภาษาโลก สมมุติมันมีอยู่ แต่วิมุตติกับสมมุติมันซ้อนกันอยู่ ถ้ามันหลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปที่จิต แต่สิ่งนี้มันยังอยู่ ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกัน

เพราะคำถามมันคลาดเคลื่อน มันไม่รู้เรื่องสมมุติวิมุตติ มาเถียงกันอยู่อย่างนี้ มันไม่มีวันจบหรอก คนหนึ่งบอกว่าถ้ารู้สมมุติแล้ววิมุตติจะเกิดเอง อีกคนหนึ่งก็บอกว่าเกิดไม่ได้ ต้องฆ่าอวิชชาจึงเกิดวิมุตติ ประสาเราว่าตาบอดคลำช้าง คนหนึ่งก็ว่าขาช้างเป็นช้าง อีกคนหนึ่งก็ว่าหูช้างเป็นช้าง แต่ถ้าคนเห็นทั้งตัวมันจะเป็นช้าง ฉะนั้น จะบอกว่าไม่ให้ยึด ให้ศึกษาแล้วปฏิบัติไป พอปฏิบัติไปมันจะเป็นความจริง มันจะเป็นความจริงที่มันเห็นขึ้นมา มันจะมีอีกสมมุติหนึ่งอยู่ข้างหลัง

เรื่องสมมุติวิมุตตินี้มีถามมาหลายคนมากเลย พอถามมาแล้วมันจะเคลียร์ออกมาไม่ได้หรอก เพราะว่ามันมีสมมุติอย่างหยาบ สมมุติอย่างกลาง สมมุติอย่างละเอียด แล้วสมมุติอย่างละเอียดสุด พระโสดาบัน เป็นอริยบุคคลใช่ไหม มันละกิเลสได้ละสังโยชน์ได้ละสมมุติไปส่วนหนึ่ง แต่สมมุติอย่างหยาบ สมมุติอย่างกลาง สมมุติอย่างละเอียดยังมีอยู่เต็มหัวใจเลย พอถึงพระสกิคาทามี ละสมมุติไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะกามราคะปฏิฆะอ่อนลง พระอนาคามีละสมมุติไป ๗๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วสิ่งที่เป็นอวิชชานี้มันเป็นสมมุติอย่างละเอียด มันยังมีอยู่ เพราะมันยังมีอวิชชาอยู่ แต่ถึงที่สุดจะละหมดเลย

ทีนี้พอละหมดเลย ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ละกิเลสหมดเลย พอละกิเลสหมดเลย จิตก็เป็นวิมุตติทั้งหมดเลย ทีนี้จิตเป็นวิมุตติหมดเลย มันก็มีพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่มันจะมีเศษส่วนอยู่ เศษ สอุปาทิเสสนิพพาน คือมีร่างกายและจิตใจนี้อยู่ เวลาดับขันธ์ พอดับขันธ์พอตายนี่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพาน อันนี้ไม่มีสมมุติเลย นี่ชัดเจนเลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ มันมีเศษส่วนคือสิ่งที่เหลือ อย่างน้ำครึ่งแก้วน้ำเต็มแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้ว น้ำท่านก็เต็มแก้วเลย แต่ถ้าน้ำครึ่งแก้วล่ะ แล้วถ้าน้ำไม่มีในแก้วมันก็ยังมีแก้วอยู่ ฉะนั้นแก้วนี้ก็คือร่างกาย ทีนี้เวลาดับขันธ์เป็นวิมุตติไปแล้ว มันก็เป็นอีกอย่าง ฉะนั้นถ้าไม่รู้ยิ่งพูดก็ยิ่งงง

สมมุติ วิมุตติ มันยังมีอีกอันหนึ่ง เดี๋ยวก็สมมุติอีกสมมุติ วันนี้จะพูดเรื่องสมมุติทั้งวัน ฉะนั้นข้อนี้เขาเถียงกัน ๒ คนให้จบกันอยู่ที่คนเถียงกัน ๒ คนนั้น อันนี้เพียงแต่ว่าพูดให้เป็นแนวทางว่าผิดทั้งคู่ เพราะคำว่าโสดาบันก็ว่าโสดาบันกันไป เพราะคำว่าโสดาบันละสักกายทิฏฐิ ไม่ยึดในขันธ์ ๕ ใช่ ไม่ยึดในขันธ์ ๕ แต่ใครเป็นคนรู้ขันธ์ ๕ ล่ะ ใครเป็นคนเห็นขันธ์ ๕ ยังมีความรับรู้ในขันธ์ ๕ เพราะว่าถ้าขันธ์ ๕ ในเรียงลำดับอริยภูมิของหลวงตาท่านพูดเอาไว้แล้ว มันมีขันธ์ ๕ อย่างหยาบ ขันธ์ ๕ อย่างกลาง ขันธ์ ๕ อย่างละเอียด ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ เลยคือพระอนาคา เพราะปฏิฆะกามะราคะนี่มันก็ข้อมูลทั้งนั้นล่ะ ข้อมูลคือสัญญาทั้งนั้น

ถาม : ข้อที่ ๗๑ การเริ่มต้นภาวนา ขอถามอาจารย์ ๑. อยากทราบว่าการจะเริ่มภาวนาขั้นต้นนี่ควรเริ่มยังไงครับ ให้ภาวนาพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ หรือครับ แล้วจะทราบได้ยังไงว่าจิตสงบแล้ว เคยภาวนาแล้วรู้สึกว่าตรงหน้าผากระหว่างตารู้สึกตึง ยิ่งพุทโธไปเรื่อยๆ มันยิ่งมีความรู้สึกตึงมาก อย่างนี้ควรทำยังไงต่อไปครับ

หลวงพ่อ : เห็นไหมเวลาภาวนาไปรู้สึกตึง เวลาภาวนาไปนะ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ บางทีมันจะเกิดอาการโยกคลอน นี่อาการโยกคลอนก็มี บางทีพุทโธๆ ไปเกิดน้ำลายแตกออกมา มันจะกลืนน้ำลายอึ้กๆ ตลอดเวลา เวลาภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง มันจะเกิดแบบว่าพอรู้สึกว่าเหงื่อเริ่มซึมออกมา แล้วจิตมันไปผูกพัน พอผูกพันปั๊บ พอถึงจุดนั้นเหงื่อจะแตกทันทีเลย

อาการอย่างนี้เราใช้คำว่าอาการแผ่นเสียงตกร่อง คือจิตนี่พอมันมีอาการอะไรกระทบจิตพอกระทบจิต จิตมันยึดจิตของมันไงมันยึดของมัน มันก็มีร่องที่ลึกกว่า พอเราเปิดแผ่นเสียง พอมันอ่านขึ้นมาถึงร่องนั้นปั๊บมันจะซ้ำอยู่ที่ร่องนั้น พอซ้ำที่ร่องนั้นตลอดไป ฉะนั้นอาการอย่างนี้มันจะมีเยอะมาก นี่ไงพอบอกภาวนาไปรู้สึกตรงหน้าผากระหว่างตามันรู้สึกตึงๆ ยิ่งพุทโธไปเรื่อยๆ มันยิ่งรู้สึกตึงมากนี้ควรทำอย่างไรต่อไป

พอรู้สึกตึงขนาดไหนเราก็พุทโธของเราไปเรื่อย พุทโธ แล้วพยายามเอาความรู้สึกนี้ไปอยู่ที่พุทโธ อาการอย่างใดนั้น ถ้าบางทีมันปวดมากมันตึงมาก บางทีมันเครียดมาก ไอ้อย่างนี้นะจะบอกว่า มันอยู่ที่บุคคล กรรมของใครกรรมของมัน คนที่ทำกรรมสิ่งใดมากรรมมันจะตอบสนองเวลาภาวนาไปเขาเรียกจริตนิสัย คนชอบสิ่งใดคนปรารถนาสิ่งใด แล้วพุทโธๆๆ ไป พยายามดึงไว้ มันเหมือนกับหญ้าปากคอกนะ คนทำงานสิ่งใดไม่เป็นพอทำงานสิ่งนั้นมันจะมีความวิตกกังวลมาก

นี่เหมือนกันเราทำงานข้างนอกถนัดมาก ยิ่งเป็นนักบริหารทำงานสั่งงานสิ่งใด จัดการสิ่งใดได้ง่ายมากเลย แต่พอเราพุทโธๆ นักบริหารบริหารเรื่องโลกนี่เก่งมากแต่บริหารตัวเองไม่เป็น บริหารจิตตัวเองไม่ได้ เวลาจิตเข้ามาหาตัวเอง สับสน แต่ถ้าออกไปสั่งงานข้างนอกนะเก่ง เก่งมากจะบริหารยังไงก็ได้ เรื่องวิชาการรู้หมด แต่พอย้อนกลับมานี่ทำอะไรไม่ได้เลย

นี่ไงพอย้อนกลับมาพุทโธๆ กลับมาสู่ตัวเอง มันเหมือนกับเราจะล้างมือเราเอง มือเราสกปรกมือเราสกปรก ยิ่งไปจับสิ่งใดที่มีกลิ่นชอบดมมาก พอความตึงบนหน้าผากมันเข้าไปถึงจิตมันจับสิ่งใดมันอยากดมตลอดเวลา ทีนี้พอมันมีอาการสิ่งใดมันก็อยากรู้ตลอดเวลาทั้งๆ ที่มันจะรู้ตัวมันเอง แต่ถ้ามันรู้ข้างนอก มันผ่านออกมาข้างนอกมันส่งออก ถ้าเข้ามาตรงนั้นมันจะมีแรงต้าน พอมีแรงต้าน ก็ตั้งใจไว้มีสติไว้ พุทโธๆ ไปอาการอย่างนั้นมันจะจางไปเรื่อยๆ จางไปเรื่อยๆ มันจะจางของมันไปเอง

เวลาเริ่มต้นภาวนาจะเจออย่างนี้กันเกือบทุกคน แล้วพอเจอทุกคน เห็นไหม โบราณนี้เขาใช้ไม้แห้งสีกันเพื่อจะจุดไฟ แต่ถ้าไม้มันดิบไม้มันสด จะสียังไงมันก็ไม่มีไฟ นี่ก็เหมือนกันเวลาภาวนาพุทโธๆ เหมือนไม้มันสด อาการอย่างนี้เจอทุกคนแม้แต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าท่านสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ คือท่านสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วท่านละพระพุทธเจ้ามา ตอนปฏิบัติใหม่ๆ ไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่นสิ ท่านออกมาปฏิบัติอยู่ที่อุบล ท่านเป็นโรคปวดท้องท่านเป็นโรคตลอด ท่านเป็นโรคด้วย ท่านต้องพยายามชนะโรคตัวเองด้วย ไปภาวนาพุทโธๆ คนเรามีโรคประจำตัวแล้วไปภาวนาพุทโธๆๆๆๆ มันจะทุกข์ยากขนาดไหน แต่ท่านก็หาทางออกของท่านมาจนได้ เพราะความเข้มข้นความจริงจังของท่าน

นี่ก็เหมือนกันแล้วขนาดท่านสร้างบารมีมาขนาดนั้น หลวงตาท่านบอกว่าท่านบวชใหม่ๆ ท่านอยากภาวนามาก ไปถามอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บอกว่าให้กำหนดพุทโธสิ เราก็ชอบพุทโธ ท่านพุทโธอยู่ ๗ ปี สงบอยู่ ๓ หน พุทโธๆ อยู่อย่างงั้น พอมันสงบแล้วก็อยากได้มาก พออยากได้ก็ขวนขวาย กิเลสมันก็อยากด้วย ก็ไม่ได้หรอก จนเอ้อปล่อยวางแล้ว แล้วพุทโธๆๆ เดี๋ยวมันก็สงบอีก นั่นพูดถึงคนที่สร้างบารมีมาขนาดนั้น ทีนี้เราพอเรากำหนดพุทโธๆ ไปมันจะตึงตรงหน้าผาก มันจะมีความรู้สึกยังไง ให้พุทโธไว้ชัดๆ โดยธรรมชาติของจิตมันรับรู้ได้สิ่งเดียว แต่ทำไมเวลาเราคิดซ้อนได้ล่ะ คิดซ้อนเพราะจิตมันไว นี่ก็โดยธรรมชาติถ้าจิตมันอยู่กับพุทโธจริงๆ นะไอ้อาการตึงไม่มีหรอก

แต่นี่เพราะปากมันพุทโธ แต่หัวใจมันสงสัยหน้าผาก มันพุทโธแต่ปาก แต่ความรู้สึกจริงๆ มันไปอยู่ที่หน้าผาก มันถึงได้ตึงมาก แล้วพอพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ตะโกนพุทโธเลยคำว่าพุทโธมันชัด ไอ้ความรู้สึกตึงที่หน้าผาก มันจะกลับไปอยู่ที่คำพุทโธ เพราะเราตั้งใจนึกพุทโธ เราตั้งใจนึกพุทโธ แต่จิตมันดันไปรู้ที่หน้าผาก มันไม่ได้อยู่ที่พุทโธจริง แต่เพราะมันไว เราตั้งใจเรานึกเอา แต่มันไปแล้วนี่คือความเร็วของมัน ถ้าเราตั้งสติพุทโธชัดๆ มันจะดึงพลังงานมาอยู่ที่พุทโธ แล้วค่อยๆ ดึงมา ดึงมา จนเป็นหนึ่งเดียว

โดยธรรมชาติมือนี่จะหยิบของได้แค่สิ่งเดียว จิตมันควรทำงานได้สิ่งเดียว ทั้งๆ ที่มันนึกพุทโธแต่มันไพล่ไปรู้ที่หน้าผาก แล้วพุทโธชัดๆ มันดึงกลับมา ถ้าดึงกลับมาได้สมาธิมันจะเกิดตรงนั้น เวลาพูดกันน่ะ เราจะบอกว่าพูดแต่ปาก พุทโธแต่ปาก ภาวนาแต่ปาก แต่หัวใจมีกิเลสท่วมหัว แต่ถ้าเราพุทโธ เราทำของเราตามความเป็นจริง มันจะเป็นจริงมันต้องมีสัจจะ

ถาม : ๒. อยากทราบว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราถนัดด้านไหน ด้านเจโตวิมุตติหรือด้านปัญญาวิมุตติ แล้วทั้ง ๒ อย่างนี้ จะเริ่มต้นจากจิตสงบก่อนใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ จะเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ เราไม่ต้องไปวิตกวิจารไปตั้งแต่ต้น เริ่มต้นนี้มันต้องเกิดจากความสงบของใจก่อน ถ้าจิตมันสงบแล้วจะเป็นเจโตหรือจะเป็นปัญญา มันเหมือนกับทำงานเราฝึกงาน ถ้าเราทำงานแล้วฝึกงานแล้วมันสะดวกมันคล่องตัวแล้วมันง่ายนั่นคือความชำนาญของเรา เหมือนทำงานเลย เราชอบทำงานสิ่งใดแล้วทำแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าประสบความสำเร็จแล้วหน้าที่การงานของเราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อย ผลจะตอบสนองมาเรื่อยๆ นั่นคืองานของเรา

แต่ถ้ามันทำไปแล้วงานนี้ไม่ประสบความสำเร็จ งานนี้มันทำไปแล้วมันมีแต่หนี้ไม่มีความเจริญเลย เราถึงหาทางใหม่ ฉะนั้นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ อย่างเช่นภาวนาเวลาจิตถ้าสงบแล้ว เราออกมาพิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่ พอพิจารณาแล้วจิตมันมีเหตุมีผล พอมีเหตุมีผลจิตมันจะปล่อย มันจะมีความสุขมาก แล้วเราอยากได้เราก็อยากจะใช้ปัญญาอีก พอใช้ปัญญาบ่อยๆ ครั้งเข้า ปัญญามันสรุปไม่ได้ การใช้ปัญญาเวลาเราคิดด้วยปัญญาของเราโดยปกติ เราใช้ปัญญาหาเหตุหาผลในทางโลก เวลามีเหตุมีผล มันจะปล่อยความคิดเข้ามาเป็นตัวมันเอง พอเวลาจิตมันสงบแล้ว มันออกไปพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เวลามันใช้ปัญญาไล่ต้อนไป ถ้ามันปล่อยวางเข้ามาแสดงว่า งานนี้ถูกต้อง

แต่ถ้ากำลังมันไม่พอเราใช้ปัญญา อย่างเช่นเวทนา ถ้าปัญญามันพอ ถ้ากำลังมันพอมันพิจารณาเวทนามันจะหาเหตุผลว่าอะไรเป็นเวทนา เวทนาเกิดเพราะเหตุใด แล้วเวทนาตั้งอยู่ได้อย่างไร แล้วเวทนานี่มันจะสรุปลงอย่างไร ถ้าปัญญามันพอมันพิจารณาออกไปปั๊บ มันมีเหตุมีผลมันเห็นผลปั๊บมันปล่อย พอปล่อยเวทนามันจะหายเงียบหายเงียบเลย เวทนามันจะไม่มีความรู้สึกเลย จิตมันก็หดเข้ามาเป็นความสงบนิ่งเลย นี้คือปัญญามันพอสมาธิมันพอ

ถ้าสมาธิไม่พอ พิจารณาเวทนาไปเวทนาเป็นอะไร เวทนาคือปวด ปวดนั้นคืออะไร ปวดนั้นคือปวด แล้วปวดมันคืออะไร ปวดมันก็ปวด ๒ เท่าไง ๒ เท่ามันปวดอะไร มันไม่ไหวแล้ว พอไม่ไหวมันก็ทิ้ง ต้องทิ้ง เราบอกว่าเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติมันอยู่ที่นี่ อยู่ที่กำลังนี้พอ ถ้ากำลังพอ พอพิจารณาไปแล้วมันจะมีข้อสรุป มันจะปล่อยวางได้มันจะจบกระบวนการของมัน แล้วจิตมันจะกลับมาสู่ที่ตั้ง มันจะสงบของมัน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะปล่อยวาง อันนี้คือสมาธิพอ

ถ้าสมาธิไม่พอพิจารณาไปแล้วมันยิ่ง อย่างมากถ้ามันไม่เจ็บไม่ปวดมันก็ยื้อ ดึงไปดึงมา ถ้าเรามีปัญญามันพอพิจารณาปั๊บมันจะตัดโชะ โชะ พอตัดปั๊บมันก็จะหดตัวเข้ามาหดตัวเข้ามานี้คือสมาธิพอ ถ้าสมาธิพอมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าสมาธิไม่พอมันจะยื้อกัน มันจะดึงกันไป ถ้ามันยื้อกันเหมือนเรา เราเคยทำงานประสบความสำเร็จ พอมันยื้อเราคิดว่าเราจะทำได้ เราคิดว่าเราทำได้เราก็พยายามจะทำ พอเราจะทำนั้นล่ะมันจะเสื่อมหมดเลย เพราะเหมือนเราต้มน้ำ น้ำเป็นไอหมดเหลือก้นกา เรายิ่งเร่งไฟเข้าไปน้ำหมดกาเลยเดี๋ยวกาไหม้ นี่ก็เหมือนกันพอเราใช้ปัญญาไปบ่อยครั้งๆ เข้าเดี๋ยวสมาธิหมดเลย พอหมดไปเลย เขาเรียกจิตมันเสื่อมหมดแล้ว จะกลับมาทำความสงบมันก็ยาก แต่ถ้าจิตมันยังมีน้ำมันยังมี เราลดไฟลงเราหรือพอมันใช้ปัญญา เราไม่ใช้ปัญญาเราดึงกลับแล้ว เราดึงกลับมาทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจ พอจิตเรามันก็เหมือนการเติมน้ำ พอน้ำเต็มกาเดี๋ยวกลับไปทำอีก ทำอีกได้แล้ว

จะบอกว่าถ้าเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ มันอยู่ที่เราทำ จิตเราสงบเข้ามาก่อนพอจิตเราสงบเข้ามาก่อนพอพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตสงบแล้วมันจะเห็นกายเป็นภาพกายเลย เป็นภาพ เป็นอวัยวะเป็นหัวใจ เป็นตับ เป็นปอด เป็นกระดูก เป็นผิวหนัง เป็นเนื้อ เห็นแต่ละอย่าง แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนาจะเห็นร่างกายทั้งร่างกายเลย เจโตวิมุตติเห็นกาย พอเห็นกายมันจะขยายส่วน ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติล่ะ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติพอจิตมันสงบแล้วนึกถึงกาย มันนึกถึงกายด้วยสามัญสำนึก ด้วยความคิดไม่เห็นภาพ มันไม่เห็นภาพเพราะมันคิดเทียบได้

พอพิจารณาไป จิตมันจับรูปจับความรู้สึกได้ พอจับความรู้สึกได้ นี่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้ามันพิจารณาเป็นวิปัสสนา มันวิปัสสนาเพราะอะไร เพราะจิตมันจับ พอจิตมันจับ มันมีที่มาที่ไปอย่างเช่นไฟ มีสวิทช์พอเปิดไฟไฟก็ติด ปิดสวิทช์ไฟก็ดับ มีจิตพอจิตมันออกวิปัสสนามันก็เห็นแสงสว่าง ถ้ามันไม่มีสวิทช์ แสงสว่างมันจะมีที่มาที่ไปได้ยังไง พอจิตมันสงบ พอมันตัดความรู้สึกของจิตได้ แล้วพิจารณากายมันจะพิจารณากายโดยปัญญา โดยกายมนุษย์

มนุษย์ต้องมีอาหารเป็นสิ่งดำรงชีวิต อาหารเข้าไปในปาก ปากเข้าไปในกระเพาะ พิจารณาไปเรื่อย มันพิจารณาเทียบเคียงเรื่องกาย ถ้าเจโตวิมุตติมันจะเห็นภาพ ปัญญาวิมุตติมันใช้ปัญญาในการใคร่ครวญ ทั้ง ๒ อย่างนี้จะเริ่มต้นจากจิตสงบก่อนใช่ไหม ต้องจิตสงบอย่างเดียว ถ้าจิตไม่สงบมันเป็นจินตนาการทั้งหมด มันเป็นสามัญสำนึกทั้งหมด ถ้าจิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต ต้องจิตเห็น จิตจับต้อง จิตจับได้ มันถึงเกิดวิปัสสนาเกิดสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้มันเป็น สติปัฏฐาน ๔โดยสมมุติโดยสามัญสำนึก โดยสถานะของมนุษย์ที่เป็นสมมุติอยู่ แล้วพิจารณาธรรมของพระพุทธเจ้าให้เป็นสมมุติ

แต่ถ้ามันเป็นจิตสงบขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันสงบมันมีหลักฐาน มันมีรากมีฐานขึ้นมามันออกไปวิปัสสนามันเป็นสมมุติบัญญัติ มันเป็นภาคระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ การปฏิบัติมันเกิดขึ้นมาจากการกระทำของมันแล้ว มันจะเป็น มรรคญาณ เวลาพูดถึง มรรค ๔ ผล ๔ ของพระพุทธเจ้าของครูบาอาจารย์ เราคิดว่าเราจะไม่มีอำนาจวาสนาเลย แต่เวลาเราทำของเราขึ้นมาเป็นจิตสงบ เป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นโสดาปัตติมรรค เป็นโสดาปัตติผล เรารู้เองหมดเลย จิตของเรารู้เองเป็นเอง รู้เองเป็นเองหมดเลย ถ้าจิตรู้เองเป็นเอง จิตเราถึงเป็นอริยภูมิ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เพราะมันเป็น มันเกิดจากอะไร เพราะเกิดจากภาคปฏิบัติ ถ้าเกิดจากภาคปฏิบัติถึงบอกว่าต้องจิตสงบก่อน การภาวนาเริ่มต้นต้องจิตสงบก่อนถ้าจิตไม่สงบ มันเป็นทางวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องทางวิชาการมันเป็นปริยัติ มันเป็นการศึกษา มันเป็นสามัญสำนึก มันไม่เป็นความจริง

ถาม : ข้อ ๗๒ ถ้าสำคัญว่า เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนาก็ละไม่ได้ กระผมได้ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วน้ำตาไหลเลยล่ะ ได้ฟังเทศน์แล้วอยากออกบวชมาก อยากถามปัญหาว่า ๑. ถ้าสำคัญว่าเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนาก็ละไม่ได้ รบกวนช่วยชี้แนะให้ถึงใจด้วยครับ ถ้าสำคัญว่าเวทนาเป็นเราเราเป็นเวทนาก็ละไม่ได้ อ๋อนี่ฟังจากเทศน์นะ ๒ รู้เท่าทันสุขและทุกข์ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์

หลวงพ่อ : ถ้าเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนาละไม่ได้ มันต้องจับเวทนาให้ได้นะ ไอ้นี่เขาสงสัยเอง ถ้าสำคัญว่าเวทนาเป็นเรา สำคัญว่าไม่ได้หมด ความสำคัญมันเป็นเหมือนจินตนาการ สำคัญว่ามันเป็นจริง แต่ถ้ามันสำคัญว่าเป็น ก็เหมือนสำคัญว่า ก็เหมือนนึกเอา แต่ถ้าเวทนาเป็นเราเราเป็นเวทนาละไม่ได้ แต่ถ้ามันละได้ อย่างพูดเมื่อกี้ย้อนกลับไปที่ว่าพิจารณาเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถ้าเวทนาเป็นเราคือปวด ถ้าเวทนาสักแต่ว่ามันจะชา เวลาพิจารณาเวทนาไป ถ้ากำลังมันไม่พอเหมือนยันไว้เสมอกันห้าสิบห้าสิบ ถ้าเราพิจารณาเวทนาไป เวทนาสักแต่ว่าเวทนา มันสรุปไม่ได้ เหมือนยันไว้ห้าสิบห้าสิบ มันจะเกิดอาการชาเหมือนวางยาสลบวางยาชา มันไม่รับรู้อาการอื่น ไม่รับรู้คือชา แต่ถ้ากำลังมันพอมันจะขาดเลย เวทนาไม่ใช่เราเราไม่ใช่เวทนา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาขาดเลย

ทีนี้คำว่าสักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่าเวทนามันยังไม่ถึงที่สุด ถ้ามันขาดไม่ใช่สักแต่ว่ามันขาดไปเลย เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วแต่ว่าสักแต่ว่ายังมีอยู่เราสักแต่ว่าเหมือนกับเราไม่รับรู้มัน แต่ว่าถ้าพูดถึงถ้าเวทนาขาด เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิตทุกข์เป็นทุกข์ ไอ้ผลอย่างนี้มันเกิดจากจิตสงบก่อนเหมือนกัน จิตสงบก่อนแล้วพิจารณาไปเรื่อยๆ รู้เท่าทันสุขและทุกข์ ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ รู้เท่าทันมันก็เป็นเรื่องรู้ แต่ถ้ามันชำระกิเลสแล้วไม่ใช่รู้เท่าทัน มันไม่มี จิตที่มันสิ้นกิเลสมันเป็นธรรมธาตุ

ที่หลวงตาบอกมันเป็นธรรมธาตุอยู่เฉยๆ ถ้ามันขยับออก เขาเรียกมันเสวยอารมณ์ จะรู้ว่าสุขรู้ว่าทุกข์มันต้องเสวย แต่ถ้าเป็นวิมุตติสุขไม่ต้องเสวย มันเป็นในตัวมันเอง อย่างเช่นอากาศ ใครต้องรับรู้มัน อากาศไม่มีชีวิต สุญญากาศยิ่งไม่มีชีวิตเลย ถ้าจิตหรือธรรมธาตุ มันเหมือนสุญญากาศ มันเป็นตัวของมันเองอยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามันแสดงตัวล่ะถ้าแสดงตัวมันเป็นของมันคือเป็นวิมุตติ ถ้าแสดงตัวออกมาแสดงเพื่อสื่อสารต้องเป็นสมมุติ ต้องมี มโน ต้องมีสถานที่ต้องมีความรับรู้ นี่มันเสวย จิตมันเสวยอารมณ์เสวยอารมณ์ มันถึงสื่อความหมายกันมา

ฉะนั้น สุขและทุกข์ รู้เท่าทันสุขและทุกข์ นี่คือรู้เท่าทัน แต่ถ้าเป็นถึงที่สุดแล้วไม่ใช่รู้เท่าทัน มันเป็นตัวของมันเอง มันรู้ตลอดเวลาของมันอยู่แล้ว ถึงบอกว่าพระอรหันต์ สติเป็นอัตโนมัติ ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ รู้ตลอดเวลา แน่นอนรู้ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะถ้ามันขยับ ดูสิ เราขยับเขยื้อนตัวเรายังรู้สึกตัว จิตถ้ามันขยับออกมาจากมัน เพื่อจะมาสื่อสารกัน มันต้องเสวย พอเสวยขึ้นมา เสวยคือว่าก็คือสมมุตินั่นล่ะ คือเสวยอยากจะพูดอะไร อยากแสดงตัวอะไร แต่ถ้ามันไม่เสวยมันก็เป็นวิมุตติ แต่ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์ ถ้ารู้เท่าทันสุขและทุกข์เพราะออกมามันก็เป็นสุขเป็นทุกข์

หลวงตาท่านใช้พูดคำนี้เลยล่ะ ท่านบอก จะคิดนะเหมือนกับต้องแบกหามท่อนซุงเลยล่ะ ความคิดมันหนักหน่วง จิตหรือธรรมธาตุมันเป็นวิมุตติสบายของมัน ถ้าจะคิดจะเสวยอารมณ์ ท่านบอกว่าเหมือนกับแบกหามท่อนไม้ท่อนฟืนเลย มันต้องออกมารับรู้ ออกมารับรู้เสวยอารมณ์แล้ว ค่อยสื่อสารกับเรา ไม่งั้นจะสื่อสารกันด้วยเรื่องอะไร ฉะนั้นที่ว่ารู้เท่าทันสุขและทุกข์ ถ้ารู้เท่าทันสุขและทุกข์

ในเว็บไซต์ มีคนเขียนเข้ามาในเว็บไซต์ เขาบอกว่า หลวงพ่อถ้าอันไหนเขาอ่านหนังสือมาถามนะ หลวงพ่ออย่าตอบ มีคนแนะนำมาในเว็บไซต์เลย คนไหนที่เขาอ่านหนังสือมาแล้วเขียนมาถามอย่าไปตอบ เพราะมันไม่มีวันจบหรอก อันนี้ฟังเว็บไซต์มาฟังเว็บไซต์เราเอง แล้วก็เอาข้อมูลในเว็บไซต์เราเองถามเรากลับมาเอง เขาเขียนมาในเว็บไซต์ ในเว็บไซต์มีเขียนมาหลายข้อมาก เขียนมาชม เขียนมาขอบคุณ เราไม่เอามาอ่าน

แต่ก็มีอันนี้อันหนึ่งว่า ถ้าเขาอ่านหนังสือมา คือคนที่พูดอย่างนี้เพราะในเว็บไซต์คือเขาเข้ามาดูแล้วเขาคงรำคาญ คำว่ารำคาญหมายความว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เราเห็นเด็กๆ มันทำเล่น เด็กมันสนุกมันนะ มันทำด้วยความเต็มกำลังมันเลยนะ แต่เราดูว่าเด็กๆ มันเล่นกัน ไอ้นี่ก็เหมือนกันไอ้คนที่ถามมันเหมือนเด็กๆ มันก็ทำด้วยความเต็มกำลังของมัน พอมันอ่านแล้วมันทึ่ง มันสงสัยมันก็ถามมา แต่ไอ้ผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กเล่นกัน มันก็บอกว่ามันเป็นเรื่องเด็กๆ หลวงพ่ออย่าไปตอบ ที่พูดนี้จะเตือนไง ไอ้คนที่อ่านในเว็บไซต์แล้วอ่านหนังสือเข้ามา วันหลังจะไม่ได้รับคำตอบ จะเตือนเอาไว้

เวลาอ่านแล้วถ้ามันสงสัยถ้าไม่เข้าใจ ต้องใช้ปัญญาสิ ใช้ปัญญาเราเองตรึก ใช้ปัญญาเราเองพิจารณา มันจะเกิดปัญญากับเรา มันจะผิดมันจะถูกมันก็ต้องเกิดจากการฝึกฝน เราต้องฝึกต้องฝน แล้วฝึกฝนเวลาคิดมีปัญญาขึ้นมาแล้วเข้ามาเว็บไซต์เราสิ ว่ามันตรงกันไหม มันใกล้เคียงกันไหม ถ้ามันไม่ใกล้เคียงกันน่ะในเว็บไซต์ผิด หรือปัญญาเราผิด มันก็จะพัฒนาปัญญาของเรา เราจะบอกว่า คนเราต้องหัดคิด หัดนึกแล้วมันจะโตขึ้นมา ไม่ใช่จะถามแต่เว็บไซต์ๆ นะ เขาบอกเอาไว้แล้วนะว่าห้ามตอบ เอวัง