ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

งานพุทธะ

๖ พ.ค. ๒๕๕๓

 

งานพุทธะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เป็นมานานขนาดไหนแล้ว

โยม ๑ : ก็ มันจะเป็นตลอด

หลวงพ่อ : เป็นมานานขนาดไหนแล้ว เริ่มต้นจริงๆ ที่รู้ว่าเป็น

โยม ๑ : ประมาณสักเดือนหนึ่ง

หลวงพ่อ : เดือนเดียว อาการของใจมันมีร้อยแปด เมื่อสองวันก่อนนี้ก็มีมาจากเชียงใหม่เหมือนกัน อยู่วัดถ้ำผาปล่อง เป็นมาหลายเดือน แล้วมาถามปัญหาไง หัวส่ายอย่างเดียว เวลานั่งนี่หัวจะส่ายเป็นมา ๖ เดือนแล้ว ไอ้ของอย่างนี้มันมีร้อยแปด อาการของใจนี่นะ ถ้าโดยปกติ ที่ว่าเราค้านเรื่องปฏิบัติไป ก็เพราะเหตุนี้ไง เพราะถ้าพูดถึง แม้แต่ดื่มน้ำเรายังรู้ว่าเราดื่มน้ำ แล้วถ้าภาวนา แล้วจิตไม่รู้อะไรเลยนี่ จิตมันจะเข้าไปสู่จิตได้ไหม แม้แต่เราดื่มน้ำเราเคลื่อนไหว ลมพัดมา เรายังรู้ร้อนรู้หนาว แล้วจิตมันจะเข้าสมาธิ เอ็งไม่รู้อะไรเลยนี่ เอ็งจะเข้าสมาธิได้ไหม

คนจะเข้าสมาธิ คนจะมีปัญญาขึ้นมา มันต้องมีตามข้อเท็จจริงของมัน มันต้องมีความรู้สึกของมันตลอด สมาธิคือสมาธิไง ฉะนั้นเรานั่งสมาธิไป แล้วแต่นะ จะเปรียบเหมือนนะ โยมจะอยู่บ้านอะไรก็แล้วแต่ คนจะเข้าบ้านต้องผ่านประตูใช่ไหม นี่คนจะเข้าบ้าน บ้านของคนนั้นเข้าได้ง่ายหรือเข้าได้ยาก บ้านของคนแต่ละหลัง เห็นไหม เวลาเราปลูกแต่ละไว้ เราป้องกันขโมย ติดเครื่องกันขโมยไว้อื้อเลย เวลาเราเข้าเองก็แม่งโคตรลำบากเลย ต้องปลดล็อกไอ้กันขโมยนั่น

จิตก็เหมือนกัน จิตของคน การผ่านเข้าสู่จิต การเข้าสู่สมาธินี่ บางคนอารมณ์ปกติ เงียบๆ ไปเฉยๆ คำว่าเงียบไปเฉยๆ นี่ไม่ใช่เงียบแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนะ เงียบไปเฉยๆ นี่มีสติพร้อมตลอดแต่มันไม่มีอาการ ไม่มีอาการต่างๆ เช่น หัวโยก หัวคลอน ตัวเอน ตัวอะไรนี่ มันจะเป็นอาการร้อยแปด ของอย่างนี้มันเป็นเรื่องของจริตนิสัย เรื่องเวรเรื่องกรรมของจิตนะ มันไม่ใช่เหมือนกับไสยศาสตร์ อย่างไสยศาสตร์ใช่ไหม เวลาที่เขาสักยันต์กัน พอสักยันต์เวลาที่เขาไปขึ้นครูกัน เขาจะออกตามอาการอย่างนั้น เห็นไหม ถ้าใครสักจิ้งจก มันก็กลิ้งอยู่อย่างนั้น ใครสักลิงลม ก็ทุบหน้าอกอยู่อย่างนั้น ไอ้นั่นคืออาการสักที่มันจะเป็น นี่ไอ้อาการที่โดนครอบงำ

แต่เวลาจิตของเรา เวลาเราทำสมาธินี่ อาการอันนี้เกิดขึ้นนี่ไม่ใช่อาการครอบงำ เพราะเราไม่ได้ครอบงำตัวเราเอง แต่เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เห็นไหม เวรกรรม ที่เราปฏิบัติกันนี่ก็เพื่อจะมาละเวรกรรม ฉะนั้น อาการที่เกิดขึ้นนี้มันก็เป็นไปคล้ายระบบดีเอ็นเอเลย เป็นไปตามพันธุกรรมของจิตเลย ทีนี้ถ้าพันธุกรรมของจิต มันเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็ต้องทำความสงบใช่ไหม ทำความสงบในแง่ที่ว่า เราก็กำหนดลมหายใจ กำหนดพุทโธ กลับมาที่ผู้รู้

เราเปรียบนะ เขาถามว่า ทำไมหลวงพ่อต้องให้พุทโธด้วยล่ะ เราก็บอกว่า เราดื่มน้ำ เรามีขวดน้ำ และมีน้ำ ขวดน้ำมีความจำเป็นไหม ขวดน้ำนี้ความจริงแล้วเราไม่ต้องการเลย เราต้องการแต่น้ำ พุทโธๆๆ พุทโธนี่เหมือนขวดน้ำ แต่ไอ้ความรู้สึกที่ได้จากคำบริกรรมนั่นคือตัวน้ำ เพราะฉะนั้น พุทโธๆ หรือว่าคำบริกรรมต่างๆ เห็นไหม จะบอกว่าอาการที่มันเกิดขึ้นมา เราจะพูดว่า ในขวดที่มันเริ่มมีน้ำ มันก็จะมีปฏิกิริยาของมัน ถ้าขวดเปล่าๆ เห็นไหม เขาก็พุทโธๆ กัน แล้วก็จิตเขาก็สงบร่มเย็นเป็นสุขของเขา เราก็พุทโธๆๆ เวลาเขายกดื่มน้ำ เขาดื่มน้ำ เขาก็ได้รสของน้ำ ไอ้เรามันรสของขวดเปล่า เฮ้ย ไม่มีอะไรเลยเว้ย

คำว่าไม่มีอะไรคือว่าจิตมันยังไม่มีพื้นฐานไง ทีนี้จิตที่จะมีพื้นฐาน การจะเข้าสู่จิต มันจะมีปฏิกิริยาเห็นไหม อย่างเช่น น้ำนี่ เห็นไหม ดูสิ ไอน้ำต่างๆ ความชื้น มันมีทั้งหมด เขาสามารถจะเอามาใส่ขวดได้อย่างไร คำบริกรรมของเราก็เหมือนกัน เราจะมีคำบริกรรม หรือใช้กำหนดลมหายใจหรือวิธีอะไรต่างๆ อาการที่มันเป็นอย่างนี้ โดยอาการที่มันเป็นของแต่ละคนจะแตกต่างหลากหลายมาก แต่ละคนมานั้นจะไม่เหมือนกันเลย แตกต่างหลากหลายมาก แต่โดยหลัก ให้กลับมาที่สติ ให้กลับมาที่ผู้รู้ กลับมาสติ กลับมาที่ผู้รู้ แต่ก่อนจะเข้าสติ เข้าสู่ผู้รู้ มันเหมือนกับว่าเรายังเข้าไม่ถูกต้อง มันจะมีอาการ เห็นไหม อาการขยับ อาการน้ำลาย อาการต่างๆ แล้วตอนปกติก็ไม่มี แต่พอนึกถึงน้ำลาย น้ำลายจะแตกฟองเลย น้ำลายจะแตกอยู่ตลอดเวลา อึ๊กๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ

แล้วถ้าปกติมันก็ไม่รับรู้นะ ปกติมันเป็นธรรมชาติของมัน น้ำลายมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าจิตเรามันไปรับรู้ อึ๊ก ร่องแผ่นเสียงเกิดแล้ว เราใช้คำว่าแผ่นเสียงตกร่อง แผ่นเสียงตกร่อง ก็จำไว้หนหนึ่ง ยิ่งจะ “อะไรวะ ทำไมเป็นอย่างนี้วะ” ก็จะตกร่องไปเรื่อยๆ ถ้ากลับมาพุทโธนะ อาการอย่างนั้นเราเกลี่ยมัน เดี๋ยวมันก็หายไปเอง อาการกระตุก อาการต่างๆ รับประกันได้ว่าหายแน่นอน ตอนนี้มันไม่มี แต่พอนั่งไปแล้วมันมี ทำไมมันมีล่ะ มันตกร่อง มันตกร่องของมัน

โยม ๒ : หนูเคยเห็นคนที่ไปนั่งฟังหลวงตาที่สวนแสงธรรมค่ะ เขานั่งแล้ว สักพักหนึ่งเขาก็จะสั่นทั้งตัว สั่นอย่างแรงอย่างนี้ค่ะ แล้วเขาก็ยังนั่งอยู่นั่น แล้วเขาก็จะสั่นๆๆ สั่นอย่างนี้แล้วเขาจะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : ถ้าเขาสั่นอยู่อย่างนั้นเพราะ

โยม ๒ : สั่นทั้งตัวเลย

หลวงพ่อ : มันสั่นทั้งตัวแต่มันสั่นแต่ที่กิริยาภายนอก เห็นไหม

โยม ๒ : แต่เขาก็นั่งไป

หลวงพ่อ : นั่น มันสั่นที่กิริยาภายนอก แต่ตัวจิตนี่มันสงบได้นะ บางคนแปลกอย่างนั้น มันมีนะ เราอยู่กับพระนะ เวลานั่งจะเป็นอย่างนี้ เราลองดูก็นั่งหลับแน่นอน แต่เขาไม่หลับ มันเป็นบางคนนะ บางคนนั่งดีๆ อย่างนี้ กรนเลยนะ คร่อกๆ หลับ ไอ้อย่างนี้มันถึงได้บอกว่า การปฏิบัตินี่มันอยู่ที่บุญกุศลของคน ถ้าบุญกุศลของเราสร้างมาดี เราสร้างของเรามามันจะราบรื่นมาก กรรมนะ คือเราทำมาทั้งนั้น มันเป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น ทีนี้พอเราทำมาทั้งนั้นแล้ว เราจะแก้อย่างไร การแก้ เห็นไหม เรากลับมาที่สติ กลับมาที่ตัวจิต จะลมหายใจ จะอะไรแล้วแต่ ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง กำหนดให้ชัดๆ ไว้ พอชัดๆ ไว้

โดยธรรมชาติของจิตมันรู้ได้แค่หนึ่งเดียว แต่ทำไมเราคิดเรื่องพุทโธ ทำไมคิดแป๊บๆๆ หนึ่งเดียว หนึ่งเดียวทำไมมันไปได้ร้อยแปดล่ะหลวงพ่อ หนึ่งเดียว โดยสัจจะนี้หนึ่งเดียว แต่เพราะความเร็วของจิตเอง การเคลื่อนที่ของจิต ความนึกคิดมันเร็วมาก ทีนี้มันเร็วมาก แล้วมันเหมือนกับเราเคยปล่อยเขาตามสบายของเขา พอไปบังคับเขา เขาก็มีปฏิกิริยาของเขาที่เขาจะต่อต้าน แล้วถ้าเราหนึ่งเดียว พุทโธชัดๆ หนึ่งเดียวๆ นี่นะ พอหนึ่งเดียวอยู่กับพุทโธ อาการอย่างนั้นจะไม่มี จะมีไม่ได้เพราะจิตมันรับรู้อยู่ตรงนี้ พูดโดยหลักมันเป็นอย่างนี้นะ

แล้วคนผู้ที่ปฏิบัติไปแล้ว เรื่องอย่างนี้นี่หญ้าปากคอก เป็นเรื่องขี้ผงเลยนะ แต่คนที่เริ่มปฏิบัติใหม่นะ เกือบตาย จะเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะอะไร เพราะว่ามันเหมือนกับเรา คนฝึกงาน คนไม่เป็นงาน จะทำงานก็ต้องยากเป็นธรรมดา คนผ่านมาชำนาญหมดแล้วนะ ไอ้เรื่องงานนี้ก็ผ่านมาหมดแล้ว โดยหลักเป็นอย่างนี้ แต่คนแก้นี่จะต้องตั้งสติไว้ อาการสั่นอะไรอย่างนี้ เขาสั่นไป ถ้าพูดถึง ถ้าเขามีสติเขาทันกันนะ อาการอย่างนั้นจะหมดไปเอง หมดไปเองโดยที่เรามีสติแล้วเราตั้งของเรานะ ถ้ารู้ตัวนะ แต่ถ้าไม่รู้ตัว เราไม่รู้ตัว แต่มันสั่นอย่างนั้น แล้วบางทีคนที่ไม่รู้ตัวแล้วตกภวังค์ไป ตกลงไปแล้วนี่ก็นึกว่ามันเป็นสมาธิไง มันสำคัญตรงที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เขาเรียกว่าสัมมาหรือมิจฉาไง

ถ้าสัมมาคือเรารู้ตัว เรารู้ตัวแล้วเราจะแก้ไขได้ถูกต้อง มิจฉาคือว่าเราคิดว่านั่นคือสมาธิเราคิดว่านั่นคือผลไง บางคนสั่นอยู่อย่างนั้นก็นึกว่า โอ้โฮ ฉันได้สมาธิ โอ้โฮ สมาธิฉันสั่นไหวหมดเลย โอ้โฮ สมาธิฉัน... เขาเข้าใจผิด เห็นไหม เพราะความเข้าใจผิด เราทุกคนมีความเข้าใจผิดนี่ไงอวิชชา อวิชชามันมีพลังงาน มันรู้ของมันอยู่ แต่มันไม่รู้จริง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอมันเป็นอย่างนั้น เรารู้ไง เรารู้ว่าจิตเราเป็นไง แต่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร พอไม่รู้ว่าเป็นอะไรปั๊บ ก็ตีความเอาเองว่านี่เป็นสมาธิไง พอคิดว่าเป็นสมาธิปั๊บ นี่เขาเรียกว่าติด ติดนี่แก้ยากมาก แก้ยากเพราะอะไร เพราะเขาเข้าใจผิดใช่ไหม พอเขาเข้าใจผิดเราก็บอกอีกประเด็นหนึ่งให้เขาเคลื่อนย้ายจิต จิตที่เขาเข้าใจนั้นไปอีกตำแหน่งหนึ่ง เขาจะไม่ไปหรอก เพราะเขาคิดว่าเขาถูกแล้ว

เวลาอาจารย์กับลูกศิษย์แก้กัน มันต้องแก้กันอย่างนี้ อย่างโยมนี้มันยังแก้ได้ง่ายเพราะอะไร เพราะตัวเองรู้สำนึกรู้ตัวเองว่าเป็นอย่างไร แต่มันมีหลายคนที่มาแล้วบอกว่าเขานี้ดีอยู่แล้ว ว่างๆ ดีอยู่แล้ว อย่างนั้นมันหลับหมดทั้งนั้นแหละ เพราะกิเลสจะเข้าข้างตัวเองหมด

โยม ๑ : แล้วบางครั้ง มันนั่งไป กระตุกไปทั้งตัวเลย มันสั่นไปหมด

โยม ๒ : แล้วเลิกเลยหรือเปล่า

โยม ๑ : ไม่ ก็กลับมาใหม่

หลวงพ่อ : ไม่ มันจะเป็นอย่างนี้ พอมันเป็นอย่างนี้ปั๊บมันกระตุกไปเลยนะ พอกระตุกไปเลย พอเรารู้ตัวไปนะ พอจะกระตุก เรารู้ก่อนจะกระตุกแล้ว ของอย่างนี้มันจะค่อยๆ จางไป มันไม่ปุ๊บปั๊บหายหรอก ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บจะหายหมดเลยนะ มันจะเริ่มดีขึ้นๆๆ จนแบบจิตนี้.. เหมือนกับมือเราไปจับอะไรที่เป็นของเหม็น คอยโดนอยู่เรื่อย ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเหม็น ก็โดนอยู่เรื่อย จิตมันอยากจะรู้ ถ้าเราดึงมันมา มันเห็นแล้วว่าของเหม็น ไม่โดน อาการกระตุกนี่มันไม่ใช่ ค่อยๆ ทำให้นิ่งลงเรื่อยๆ เดี๋ยวพอลง มันจะลงไปเลย

โยม ๑ : แล้วถ้าอย่างบางครั้ง อย่างเวลาเรานั่งครับ แล้วเสร็จแล้วพอนั่งในอิริยาบถอย่างนี้ แล้วสักครู่หนึ่งมันเหมือนกับมันไม่ถูกหรือว่าเราอยากจะขยับ เราก็เริ่มใหม่ อย่างนี้ผิดไหมครับ มันจะไม่ต่อเนื่องกันหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ต่อ ไม่ผิดหรอก เพราะว่าเราไม่ได้ลุก เราไม่ได้อะไรเลย แค่ขยับหน่อย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาเวทนามันเกิด เวลาเรานั่งจะนั่งทีละหลายชั่วโมง แล้วนิสัยเรานะ ถ้าเราเริ่มนั่ง ท่าไหนจะท่านั้น บางทีนั่งอย่างนี้ไม่ไหวมันปวด ก็นั่งพับเพียบก็มี เพราะเรานั่งตลอดใช่ไหม ทีนี้เวลาถ้าเราทัน หมายถึงว่า สติเราดีๆ เราพุทโธไปเรื่อยๆ เวทนาไม่ทันหรอก จิตเราจะไปก่อน ไปรวมลงก่อน แต่วันไหนประมาทไง สบายมาก คือของมันเคยทำได้สะดวก สบายมาก ก็ประมาท พอหลายๆ ชั่วโมงขึ้นมา โอ้โฮ มันเจ็บ เอาไม่อยู่ ขยับแค่นี้ก็หาย ไม่ไหวเราก็ขอนิดหนึ่ง แค่นี้หายเลยนะ แต่ถ้าไม่ขยับเลยไม่หาย บางทีไม่ทันนะ ถ้าไม่ประมาทนะจะไปได้เลย แต่ถ้าวันไหนประมาท ประมาทคือว่านอนใจแล้ว เดี๋ยวมาแล้วเพราะเราไม่ทันไง ไม่ทันแล้ว อื้อหือ เต็มที่เลย นิดหนึ่ง ขอหน่อยนิดหนึ่งมันก็ไปได้

โยม ๑ : อยู่ที่ว่าเรารู้ตัวตลอด

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : อย่างนี้ไม่เป็นไรใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่ การปฏิบัตินี่ ประสาเราว่า มันไม่ฟิกซ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คำว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันต้องอย่างนี้ อย่างเช่นอาหาร อาหารนี่เอามาจากสำรับเดียวกันเลย แต่เวลาเราแบ่งออกมาแล้ว เห็นไหม เราจะเติมของเรามั่งอะไรมั่งก็ได้ ทีนี้โดยหลักก็เป็นอย่างนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้ อย่างเช่น ถ้าเราขาพิการล่ะ คนพิการจะภาวนาได้ไหม นั่งไม่ได้เลยก็ต้องภาวนาได้ แต่ถ้าโดยปกติเราก็สมควรนั่งท่านี้ เพราะโดยปกติท่ามาตรฐาน เพราะจิตใจมันแบบว่ามันนั่งได้นานไง แต่ถ้าเราพิการ เรานั่งท่าไหนก็ได้ เพราะการนั่งนี่เรานั่งเพื่อเอาใจ การปฏิบัติทั้งหมดเพื่อเอาใจ ไม่ได้เอากิริยา แต่อาศัยกิริยาที่ท่ามาตรฐานไง แต่ถ้ามันทำท่ามาตรฐานนี้ไม่ได้ ท่ารองก็ได้

โยม ๒ : แล้วนั่งเก้าอี้ได้ไหม

หลวงพ่อ : ได้ คนแก่คนเฒ่าก็ได้หมดล่ะ

โยม ๑ : แล้วอย่างบางครั้ง เรานั่งไป นั่งไปนะ มันก็จะค่อยๆ โน้มลงไป โน้มลงไป

หลวงพ่อ : ไม่เป็นไร

โยม ๑ : อย่างนี้พอเรารู้ตัวว่าเราโน้ม เราขยับขึ้นมาอย่างนี้ผิดไหมครับ

หลวงพ่อ : ไม่ผิด อันนี้มัน พอคำว่าไม่ผิดนะ ที่ว่าเราจะโน้มลงไป โน้มลงไปนี่ เห็นไหม จิตมันเป็นอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้ เรารู้สึกว่าจิตมันจะคลายออกมา หรือมันจะวูบออกมา มันจะมีบ้าง ฉะนั้นถ้าเรารู้อย่างนี้ปั๊บนะ เราก็รู้ เราก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราค่อยๆ เราก็ค่อยๆ เห็นไหม

หลวงตาบอกนะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว แล้วถ้าเราเห็นท่าทางที่ผิด เราจะออกเลย วันหลังจิตมันจะเข้าได้ยาก ท่านบอกว่าถ้าจิตสงบแล้วนะ อย่าไปพรวดพราดออก ถ้าจะเข้า เวลาเข้าสมาธิออกสมาธินี่มันเหมือนเข้าประตูออกประตูเหรอ ไม่ใช่ จิตนี่เวลามันลง มันลงของมันไป แล้วถ้าคนชำนาญ ถ้าจะลง จะปล่อยให้ลงก็ได้ จะค่อยๆ ถอนขึ้นมาก็ได้ คำว่าถอนขึ้นมานี่เพราะอะไรรู้ไหม คำว่าถอนขึ้นมานี่ เพราะจิตมัน ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้นี่รวม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธินี่มันไม่เหมือนนะ แต่เราเปรียบเทียบ เหมือนคนนอนหลับ คนเราหลับทำงานได้ไหม ไม่ได้ แต่ถ้าคนตื่นอยู่จะทำงานได้ไหม ได้ ขณิกะ นี้มันจะรู้ของมัน ถ้าอุปจารนี่ละเอียดเข้าไป อุปจารสมาธินี้คือตัวจิตนะ อุปจาระคือตัวจิต พลังงานมันรอบรู้ในตัวมันเอง คือมันเห็นนิมิตได้ ที่ใช้วิปัสสนานี่อยู่ในขั้นนี้ แต่ถ้าอัปปนาสมาธิมันลึกกว่านี้ พอลึกกว่านี้นี่มันสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้คือว่ามันอยู่ในตัวของมันเอง พออยู่ในตัวของมันเองนี่มันไม่มีสิ่งกระทบ เห็นไหม คือความคิดกับจิตมันมีใช่ไหม ถ้าจิตสงบปั๊บนี่ ความคิดมันหายหมด มันหายหมดเลย อัปปนานี่หายหมดเลย พอหายหมดเลย เอ็งจะวิปัสสนาอย่างไร เอ็งจะทำอย่างไร ที่เขาบอกว่าเวลาปัญญาจะไปเกิดในขั้นอัปปนง อัปปนานะ เราฟังแล้วไอ้นี่ภาวนาไม่เป็น คนนอนหลับทำงานไม่ได้ คนนอนหลับมีประโยชน์ไหม ถ้าคนเราไม่นอนหลับก็อยู่ไม่ได้ตายหมดแล้ว คนเรามันต้องนอนหลับพักผ่อน ถ้าจิตนอนหลับพักผ่อนนี่ได้ แต่คนนอนหลับทำงานไม่ได้ แต่การนอนหลับนั้นทำให้คนแข็งแรงได้ ทำให้คนได้พักผ่อน ทำให้คนสดชื่น ทำให้คนไม่เครียด จิตไปพัก อัปปนาสมาธิไปพักอย่างนั้น

ทีนี้เวลาออกล่ะ เห็นไหม ถ้ารวมใหญ่ อัปปนาสมาธิคือรวมใหญ่ รวมใหญ่มันจะลง นิ่ง โลกนี้ดับหมด ความรู้สึกระหว่างกายกับจิตนี้ไม่มีเลย เวลาลงนี่นะ แม้แต่จิตมันยังไม่รับทราบร่างกายนี้นะ แม้แต่ร่างกายที่นั่งอยู่นี่มันไม่มี มันปล่อยวางได้หมด มันเป็นตัวของมันเอกเทศเลย แล้วเวลามันออกมานี่ มันก็ค่อยมีความรู้สึกออกมา มันเหมือนแผ่ซ่านออกไป เหมือนแผ่ซ่านออกไป พอแผ่ซ่านออกมานี่ เห็นไหม พอแผ่ซ่านออกมามันรับรู้ตัวมันเองแล้ว พอรับรู้ตัวมันเองแล้ว มันเป็นสมาธิอยู่ พอเป็นสมาธินี่ ความคิดมีไหม มี เพราะมันแผ่ซ่าน รับรู้ เห็นไหม ระหว่างกายกับจิตนี่รับรู้กัน ปัญญาที่วิปัสสนาจะเกิดตรงนี้ ทีนี้คำว่าการเข้าออก คำว่าการเข้าออกสมาธิ ถ้าคนภาวนาเป็น เขาเรียกว่าชำนาญในวสี ตรงนี้จะคุมได้เลย แต่ถ้าเราปฏิบัติใหม่ๆ ยังคุมไม่ได้ พอเราคุมไม่ได้หมายถึงว่าเราควบคุมจิตเราเองไม่ได้เต็มที่ พอไม่เต็มที่ปั๊บ เราจะควบคุมมันได้ด้วยอะไร เราจะควบคุมมันได้ด้วยสติ ด้วยคำบริกรรม

ถ้าเราควบคุมจิตไม่ได้ใช่ไหม แต่เราสร้างเหตุให้จิตอาศัยได้ ใช่ไหม ฉะนั้น เราไม่ต้องวิตกกังวลตรงนี้ การเข้าสมาธิออกสมาธินี้ เราจะบอกว่าถ้าคนไม่เป็น เราก็จะบอก เราก็จะนึกภาพไปอีกอย่างหนึ่งเลย แต่ถ้าเข้าสมาธิออกสมาธิ คือ ความคิดจิตมันสงบเข้าไปจนไม่รับรู้สิ่งใดเลย แล้วมันรับรู้ รู้สึกออกตัวออกมา นี่การเข้าการออกคืออย่างนี้ พอมันออกมารับรู้ นี่มันออกมารับรู้ แต่ถ้ามันลงลึกเข้าไปนี่ มันเป็นเอกเทศในตัวมันเองเลย ถ้าออกมารับรู้นี่ทำงานได้ ถ้าออกมารับรู้ เป็นขณิกะ มันก็มีความสบายใจอยู่ ถ้าออกมาแบบปุถุชนเราก็ออกมาเป็นปกติเลย

พอออกมาเป็นปกติคือว่ามันก็เหมือนพลังงานที่มันใช้อุปกรณ์พวกเทคโนโลยีทั้งหมด พอรับรู้แล้วพลังงานมันเกิด เห็นไหม แต่ถ้าเวลามันปล่อยเข้ามานี่ มันปล่อยเป็นชั้นๆ เข้ามา ทำไมถึงต้องทำสมาธิ แต่ตัวสมาธินี่เป็น ตัวสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ ตัวสมาธิเป็นการพักผ่อนนอนหลับ สมาธิเป็นการให้จิตได้พักจิต แต่ตัวสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาทางพุทธศาสนาไม่มีเลย ปัญญาทางวิชาการทั้งหมด เรียกว่าปัญญาทางโลก ปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาเกิดจากภพ เพราะจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันทำงานโดยธรรมชาติของมัน

เวลาถ้าจิตสงบปั๊บมันเป็นเอกเทศของมัน แล้วถ้าปัญญาเกิดขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาเกิดขึ้นมา เกิดจากภพนี่แหละ แต่มันเป็นปัญญาโลกุตรปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมาที่จะเอาชนะกิเลส จะไม่เป็นอย่างนี้เลย ไม่เป็นอย่างที่คนไม่เป็นพูดมานี่ ไม่เหมือนเลย แต่ถ้าคนเป็นขึ้นมานะ มันเป็นอีกอันหนึ่ง เพราะเขาจะเน้นหนักว่าสมาธิไม่จำเป็น สมถะไม่จำเป็น ทุกอย่างไม่จำเป็น เรามาคุยกันเรื่องไม่จำเป็นไง กระทบวงการไว้ก่อนว่าไม่จำเป็น โอ๊ย พวกนี้มันล้าหลัง เขาว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญานะ แต่พวกนี้ล้าหลังตกยุค ไอ้คนตกยุคนี่พระอรหันต์หมดเลย ไอ้คนรุ่นใหม่นะ นรกจกเปรต ตกนรกอเวจีหมดเลย

โยม ๑ : อย่างเวลาเรานั่งครับ อย่างชั่วโมงหนึ่งนี่ พอครบชั่วโมงหนึ่ง พอเข้าชั่วโมงที่ ๒ ปั๊บ สุดท้ายลักษณะมันคล้ายๆ กับจะว่าเรานั่งมานานแล้ว เหมือนกับเคลิ้มๆ เอ๊ะ จะออกๆ พอคิดว่าจะออกปึ๊บ มันก็สดชื่นขึ้นมาพึ่บ ถ้าอย่างนี้เราก็ทำต่อเนื่องได้ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ เรานั่งมา ๒ ชั่วโมง เห็นไหม มันเริ่ม เพราะเรานั่ง เห็นไหม สติเริ่มอ่อนลง นี่ดีนะไม่หายไปเลย ถ้าเรานั่งหลายชั่วโมงแล้วนะ ถ้าเรารักษาสติไม่ดีนะ มันจะแวบ แวบไปแล้วก็ตกภวังค์ แวบนั่นคือหายไปแล้ว แต่เรายังเข้าข้างตัวเองอยู่ว่ากูนั่งสมาธิดี แล้วเวลามันจะมานะมันสะดุ้งตื่น นั่นล่ะตกภวังค์ ถ้าไม่รู้ตัวนะ ต่อไปมันจะเป็นดินพอกหางหมู มันจะลงไปเรื่อยๆ แล้วมันจะลึกไปเรื่อยๆ อย่างที่เราว่าแผ่นเสียงตกร่องมันจะลึกไปเรื่อยๆ แก้ไขยาก แต่ถ้ารู้ตัวนะต้องรีบแก้ตรงนี้เลย เวลาพุทโธๆ เวลามันเริ่มจาง เห็นไหม นั่งตรงไหนมันจะจางไป

ตั้งสติไว้ สติเกิดจากจิต สติเกิดจากความรับรู้อยู่ แต่ทุกคนทำไปแล้วสติมันต้องอ่อนเป็นธรรมดา ทีนี้อ่อนเป็นธรรมดา ถ้าเราตั้งสติอยู่ เห็นไหม ทำไมถึงเป็นสติมหาสติ มหาสติมันละเอียดกว่านี้ ทีนี้เรายังเข้าไปไม่ถึงระดับนั้น เห็นไหม ถ้ามันจะจางไปอย่างไร แต่เรารู้อยู่นี่ พยายามคอยทำบ่อยๆ แล้วถ้าจิตมันลงสมาธินะ มันลงวู๊บ โอ้โฮ มันมีสติ มีสติมีความรับรู้ รู้สึกตลอดเวลา ไม่มีช่วง ไม่มีเว้นวรรคเลย แต่ถ้ามันวับหายไปนี่มันขาดไปเลย แต่เราเข้าใจว่ายังอยู่ ฉะนั้น ตรงนี้ถ้าพูดถึง ถ้าเวลาเรารับรู้เหมือนกับที่มันสดชื่นขึ้นมา สดชื่นเพราะจิตมันได้พักตรงนั้น ความสดชื่นนี่เพราะจิตมันได้พักตรงนั้น ตอนที่มันพักนี่มันพักตัวมันเอง เหมือนนักกีฬาเลย หมดเวลาแล้วเริ่มต้นใหม่

โยม ๑ : แล้วเสร็จแล้วมันก็ฟึ้บขึ้นมา เฮ้ย เอาใหม่ ตั้งต้นใหม่ สดชื่นกว่าเก่า

หลวงพ่อ : สดชื่นกว่าเก่า ถ้าจิตได้พัก เวลาคนที่นอนหลับพักผ่อน ได้พักผ่อน แต่ถ้าจิตสงบมันจะมีความสดชื่นกว่านี้ นี่สดชื่นขนาดที่ว่า มันงีบๆ นี่คือผลตอบแทนเหมือนธุรกิจเลย เพราะจิตมันไม่ได้ผล แต่ถ้าเวลาจิตมันลงเองนี่นะ มันไม่ใช่ผลตอบแทน ในตัวมันเองเป็นเองอีกอย่างหนึ่ง เวลาจิตมันลงนี่ โอ้โฮ วื๊ดๆๆๆๆ โอ้โฮๆ เลย

โยม ๒ : หลวงพ่อคะ หนูเคยครั้งหนึ่งว่า คือนั่งแต่ว่านั่งบนเก้าอี้นะคะ ประมาณน่าจะชั่วโมงนิดเดียว แต่ว่าพอนั่งไปแล้ว เรารู้สึกลมชัดมาก แต่ว่ามันจะมีวูบหนึ่งก็คือว่าหัวเรามันเหมือนยืด วื้ด เสร็จแล้ว แล้วมันก็หายไปเลย คือมันเหมือนเบาๆ เหมือนกับว่าเบาๆ แต่ว่าเราก็รับรู้ลมอยู่ แต่ว่าตอนนั้นคือตกใจว่า เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้น หนูก็คิดว่า อะไร? แล้วอย่างไร?

หลวงพ่อ : ไม่รู้ เห็นไหม เป็นเองแต่ไม่รู้ ทุกคนเป็นแล้วต้องมาถาม เป็นเองแต่ไม่รู้ เอ้า พูดให้จบ เดี๋ยวจะอธิบาย

โยม ๒ : คือเหมือนกับรู้สึกว่า แล้วอย่างไร แล้วจะต้องทำอย่างไร แล้วมันเป็นอะไรอย่างนี้ เราก็คิดของเราไป

หลวงพ่อ : ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่นี่เราจะบอกว่าคืออาการที่มันเป็นไง เวลาพุทโธๆ นี่ มันจะมากหรือมันจะน้อย เวลามากหรือเวลาจะน้อย อย่างการที่เราทำอาหาร เราทำอะไร บางที เวลามากก็ดี เวลาน้อยก็ดี ผลตอบแทนไง มากหรือน้อย นี่คือการนั่ง โอกาส แต่เวลาสงบ มันสงบในตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับเวลา นี่หนึ่งนะ

สอง พุทโธๆๆ ไปนี่ แล้วเวลามันวูบลงไปนะ องค์ของสมาธิ วิตก เรานึก วิตก นึกพุทโธ นึกขึ้นมา วิตก แล้วพุทกับโธ วิจาร วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่คือข้อเท็จจริง แล้วเวลาคนเขาเรียนทางวิชาการ เรียนอภิธรรมนะ องค์ของสมาธินะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เขาก็คิด วิตกขึ้นมา เห็นไหม มันก็เป็นเครื่องจักรที่ทำงานแล้วนะ คิดวิตกขึ้นมา แล้วก็คิดวิจารณ์ขึ้นมา แล้วก็คิดว่าปีติ กูก็มีความสุข เราก็มีความสุข คิดนะ อันนี้ไม่ได้อะไรเลย นี่เป็นอารมณ์สร้าง แต่ที่เราพุทโธๆ เวลาจิตมันลง อาการที่หัวมันขยายออก เขาเรียกว่าปีติ อยากได้แล้ว พอปีติมันเกิดแต่เราไม่รู้ว่าปีติไง ไม่รู้หรอก คนไม่รู้หรอก

เวลาปีติเกิดนะ เวลาที่จิตมันมีการเปลี่ยนแปลง เวลาปีติเกิดนี่นะ เวลาที่จิตมันมีการเปลี่ยนแปลง ปีติเกิด ตัวนี่ขยายใหญ่ พองขึ้นมา บางทีนั่งอยู่อย่างนี้นะ ความรู้สึกในร่างกายนี้ไม่มี คำว่าไม่มีคือว่ามันจะไม่มีความรู้สึกเลย ผิวหนังนี่มันจะเหมือนกับถุงพลาสติก อาการที่ตัวนี้กลวงหมดเลยก็มี อาการขนพองสยองเกล้า ปิตินี่เป็นได้ร้อยแปดพันเก้า

โยม ๒ : แล้วอย่างไรต่อคะ ก็พุทโธไปเรื่อยๆ ให้มันหยุด

หลวงพ่อ : ใช่ พอเกิดปีติแล้ว มันจะเกิดความสุข เห็นไหม จริงๆ ที่หัวมันใหญ่ออกไปนี่ มันมีความพอใจ มันมีอารมณ์แปลกๆ อารมณ์ที่เราอะไรต่างๆ มันรู้ พอมันรู้ นี่คือมันเป็น นี่คือปฏิกิริยาของเคมีไง ปฏิกิริยาของจิตที่มันเป็นไง ปฏิกิริยาเคมีมันผ่านไปแล้ว เราดูการผสมมัน แต่พอมันผสมแล้วมันเป็นปฏิกิริยา คือจิตมันสัมผัสไง มันเกิดปีติไง มันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วเราก็กลับมาทบทวนใหม่ คือมันเกิดอาการ นี่ไง อาการที่จิตมันเป็น ร้อยแปดพันเก้า

คำว่าร้อยแปดพันเก้าเพราะอะไร เพราะว่าความรู้สึกของคน ความรู้สึกของจิต ดูอย่างอารมณ์ความรู้สึกของคน ดูกีฬามันเล่นกันสิ เราดูกีฬาเล่นด้วยกัน มีความรู้สึกแตกต่างกันหมดทั้งสนามเลย ไอ้คนคิด เวลาภาวนาต้องกลับมาที่ตัวเองนะ พอกลับมาต้องเอาชนะเรานะ เรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวเลย ทุกอย่างเราทำเพื่อเอาชนะเรา และเอาตัวเราเอง เอาตัวจิตเรานี่เป็นพื้นฐาน เห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ถ้ามีสมาธิ เห็นไหม ที่เราบอกว่า ที่เปิดบัญชีตั้งบริษัทนี่ ถ้ามึงไม่มีบัญชี ไม่มีบริษัทนะ มึงจะทำอะไรกัน ถ้าเอ็งทำจิตเอ็งสงบไม่ได้ กรรมฐาน ฐานที่ตั้งต้น นักกีฬา จุดสตาร์ทของการเล่นกีฬา จุดสตาร์ทของการแข่งขัน แล้วไปสตาร์ทกันที่ไหน ไปสตาร์ทกันที่พระไตรปิฎกเหรอ ไปสตาร์ทกันที่สมองเหรอ ไปที่ความคิดเหรอ ผิดหมด ต้องสตาร์ทจากฐีติจิตนี่แหละ สตาร์ทจากตัวจิตปฏิสนธิจิตนี่ ไอ้ตัวเกิดตัวตายนี่ ต้องสตาร์ทจากตรงนี้ เพราะมันมีทุกข์ไง เพราะมันคือตัวเกิดตัวตายไง ตัวภพ แล้วจะไปทำกันที่ไหน เอ็งจะไปแก้กันที่ไหน โจทย์มันอยู่ที่นี่ ทุกอย่างมันอยู่ที่นี่ จะศึกษามาขนาดไหนนะ นั่นตำราพระพุทธเจ้าหมดเลย แล้วถ้าจะแก้ไขต้องกลับมาแก้ไขที่จิตนี้ ถึงต้องหาชัยภูมิ เห็นไหม

หลวงปู่มั่นท่านบอกเลย ชัยภูมิแห่งการต่อสู้กับกิเลส ที่เข้าป่าเข้าเขานี้มันเป็นปฏิกิริยาจากภายนอก เพราะเราธุดงค์ไปเข้าป่าเข้าเขา ถ้าอยู่อย่างนี้ คลุกคลีกันอย่างนี้จะสบายมากเลย มันอุ่นใจไง เช้าขึ้นมาคนนั้นก็มาให้ คนนี้ก็มาให้ โอ๊ย สุขสบาย เอ้า ธุดงค์เข้าไปในป่า ด้วยลำแข้ง กลางคืนนี่เสือช้างมันจะกระทืบเราตอนไหนก็ได้ เจ้าที่เจ้าทางใครจะมาเล่นอะไรก็ได้ เราต้องรักษาตัวเราแล้ว จะคิดมากออกไปก็ไม่ได้ คิดมากเดี๋ยวผีหักคอ นี่ไงพุทโธ เห็นไหม ชัยภูมิจากข้างนอกไง สัปปายะ กดดันให้พวกเราไม่ฟุ้งซ่านออกไป แต่จริงๆ ก็ใจนี่แหละ ถ้าสงบมันสงบที่ใจนี่แหละ แต่อยู่คลุกคลีกันแล้วนี่มันนอนใจเกินไป เราต้องไปหาอะไรเพื่อประโยชน์ เห็นไหม ที่ไหนยิ่งกลัวยิ่งเข้าไป กลัวไม่กลัว กลัวฉิบหายเลยแต่ไป เพราะอะไร เพราะไปแล้วมันสั่นเลย เอ้า มึงคิดออกมาสิ เดี๋ยวมึงตาย ถ้าไม่คิดต้องหาที่พึ่ง พุทโธก่อน กูไม่กล้าไปหรอก กูพุทโธก่อน ที่ไหนที่กลัว นี่เหตุผลที่เขาไป เขามีเหตุผลของเขา ไม่ใช่ไปจะเอาเครดิตหรอก

โยม ๑ : เหมือนการฝึกจิตให้กล้าแกร่งขึ้น

หลวงพ่อ : นี่กรรมฐานเขาทำกันตรงนี้ ถ้าเอ็งไม่มีฐาน ไม่มีกรรมฐาน ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันก็เป็นเรื่องเพ้อเจ้อทั้งนั้น เอ็งจะทำด้วยใจขนาดไหนเอ็งก็ทำไปเถอะ ทำไว้เป็นผลงานทางโลก แล้วจะช่วยแก้ปมชีวิตเราได้ไหม ฉะนั้นการทำอย่างนี้มันเกิดผลแล้วล่ะ นี่คือผล เขาเรียกปีติ อาการอย่างนี้มีร้อยแปดเลย

โยม ๑ : แล้วอย่างบางครั้งนั่งแล้วจิตมันนิ่งและนิ่มสบาย ตัวนี้คือปีติไหม

หลวงพ่อ : ถ้าจิตมันนิ่ง นี่คือสมาธิ หลวงตาพูดอย่างนี้นะ เวลาทำความสงบบ่อยๆ ทำความสงบบ่อยๆ สงบจนสงบบ่อยครั้งเข้าถึงเป็นสมาธินะ เราทำกันนี่ ทำความสงบของใจ ทีนี้คำว่านิ่งนี่นะ นี่คือผลของมัน แล้วพอนิ่งนะ พอเราลุกขึ้นมาแล้ว สบาย เบา เห็นไหม ผลของสมาธิมันยังต่อมาถึงชีวิตประจำวันเรา

โยม ๑ : คือในช่วงที่เรานั่ง มันจะนิ่งแล้วเบา สบาย แบบไม่เคยเป็นมาก่อน

หลวงพ่อ : สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสุขในโลกนี้ สุขอย่างนี้ไม่ได้สุขจากอามิส ไม่ได้สุขจากการมีเงินล้านสองล้าน ไม่ได้สุขจากได้ผลตอบแทน นั่นมันสุขจากอามิส สุขจากวัตถุที่เราได้รับการตอบสนอง สุขในตัวมันเอง สุขจากจิต นี่จิตสงบนะ แล้วถ้าชนะกิเลส สำรอกกิเลสจะสุขขนาดไหน เขาว่าปฏิบัติแล้วมีความสุข มีคนมาถามบ่อย หลวงพ่อ บอกว่าสุขๆ นะทุกข์เกือบตาย ไม่สุขสักที เราบอกว่ามึงไม่ได้สุขหรอก มึงยังดิบๆสุกๆอย่างนี้มึงไม่มีทางสุขหรอก เพราะเราทำยังไม่ถึงไง ถ้าถึง อย่างที่ว่าสมองไง นี่ไง นี่คือผลของปีติแล้ว ทีนี้คำว่าปีติ เห็นไหม ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ผลของสมาธิมันครบองค์ประกอบอันนี้ มันสุขละเอียดกว่านั้น เพราะคำว่าจิตสงบ เห็นไหม จิตสงบคือมันปล่อยวาง

เราแบกของอยู่ แล้วเราสลัดของที่แบกอยู่ทิ้งหมดเลย จะเบาขนาดไหน ธรรมดาของจิต ความคิดนี่นะ อาการของจิตมันอยู่กับจิต อาการของจิตมันหุ้มจิตอยู่ มันเหมือนพลังงานที่มันต้องหน่วงตลอดเวลา ถ้าเราพุทโธๆ จนมันปล่อยความหน่วงของจิตนี้ออกทั้งหมด ปล่อยความคิดทั้งหมด เห็นไหม แล้วทำอย่างนี้จนชำนาญ พอชำนาญปุ๊บ เวลาพอมันจิตสงบแล้วนะ เวลามันออกมาชีวิตประจำวัน ออกมาคิดนี่ ใช้ปัญญาได้เลย ตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วเปรียบเทียบสิ ถ้าจิตไม่สงบนะ การตรึกในธรรมมันจะเป็นความคิดอย่างหนึ่ง คือว่าเราคิด คิดไม่ออก คิดไม่ได้ แต่พอจิตมีสมาธินี่นะ พอมันมีคุณธรรมนะ โอ้โฮ มันทะลวงหมดนะ มันคิดทะลุทะลวงทั้งหมดเลย มันปล่อยหมดเลย ผลเกิดจากอะไร แล้วถ้าคิดบ่อยๆ

ที่เวลาเราโต้แย้งนะ เราโต้แย้งบอกว่าโลกียปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ ต้องโลกุตรปัญญา เราโต้แย้งเพราะพวกที่บอกว่า ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาในพุทธศาสนา เราจะบอกว่าปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาที่ใช้อย่างนี้มันก็เหมือนพุทโธนี่แหละ เพราะผลของมันก็คือสงบของมันนี่แหละ แต่ถ้าจิตของเราสงบแล้วนี่เราใช้ปัญญาได้ การใช้ปัญญาคือการฝึก คือการให้จิตนี่ออก เหมือนกับ เห็นไหม พวกคนเล่นกีฬา นักฟุตบอลเขาเล่นกัน โอ้โฮ เขาจะได้เงินได้ทองเพราะเขาเป็นนักกีฬาอาชีพ

เราก็ออกกำลังกาย เราก็เล่นฟุตบอลเหมือนกัน เราก็เตะเป็น นี่มันตัวจิต จิตมันสงบแล้ว เราออกไปก็เหมือนกับเราก็ออกกำลังกาย เตะฟุตบอลไง ร่างกายเราแข็งแรง เรามีทักษะ เรามีทุกอย่างพร้อมเลย นี่ไง พอจิตสงบแล้ว ออกใช้ปัญญาได้ แต่ปัญญานั้นก็ปัญญาเพื่อจะเข้ามาสู่สมถะ เพื่อฐานของเรานี่แหละ เขาบอกว่านี่คือวิปัสสนาหรือยัง ยัง แล้วถ้าคนใช้อย่างนี้บ่อยๆ นะ พอจิตมัน อาการ ส่วนมากจะบอกว่าความคิดกับจิตมันเหมือนส้มกับเปลือกส้ม มันหน่วงกันอยู่ ถ้าเราปอกเปลือกมัน มันก็เหลือแต่ผลส้ม ทีนี้พอผลส้มนี่ ผลส้มคือปอกแล้วก็คือปอกใช่ไหม แต่ความคิดมันหน่วงอยู่ตลอดเวลา เพราะมันมีตลอดเวลา มันคิดอารมณ์ใหม่ตลอดเวลา พอมันสงบขึ้นมาแล้ว มันต้องมีอาการของมันอยู่แล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันจับได้ คือมันจับระหว่างพลังงานกับจิต มันเห็นกัน มันจับกันได้ นี่สติปัฏฐาน ๔ เกิดจากตรงนี้ เพราะอะไร เพราะมันมีจิตเป็นผู้ทำ สติปัฏฐาน ๔ ในตำราเป็นอย่างหนึ่งนะเว้ย สติปัฏฐาน ๔ ในตำรา

แต่สติปัฏฐาน ๔ ที่เกิดจากเรานะ พระพุทธเจ้าก็ทำงานอย่างนี้ เราก็ทำงานอย่างนี้ เรานี่ทำงานแบบพระพุทธเจ้าเลยนะ พระพุทธเจ้าจะชำระกิเลสก็ชำระกิเลสอย่างนี้ ใช่ไหม แล้วถ้าเราจะชำระกิเลส แล้วเราไม่ทำแบบพระพุทธเจ้า เอ็งจะเอาอะไรมาชนะกิเลส พระพุทธเจ้าก็ทำงานอย่างนี้นะ แล้วเรานี่จะเอาชนะกิเลส เราจะทำงานอย่างไร ทำงานอย่างที่เราคิดเหรอ มันก็ต้องทำงานแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทำงานนั่นแหละ มรรคญาณของพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถ้าจิตสงบแล้วออกวิปัสสนา มันก็เป็นอันเดียวกันนั้นล่ะ เหมือนกันเลย ถ้าไม่เหมือนกันจะฆ่ากิเลสไม่ได้

โยม ๑ : แล้วบางครั้งเวลาเรานั่ง คอมันแห้ง อันนี้เป็นไหมครับ

หลวงพ่อ : เหมือนกันแบบกระตุก อาการกระตุกกับอาการคอแห้ง เห็นไหม ร้อยแปด ประสาเรานะ แก้จากคอแห้งมามันก็กระตุก พอแก้ระตุกเสร็จมันจะเกิดอาการอย่างอื่น

โยม ๑ : เพราะเรากำลังจะนั่งนิ่งๆ ประเดี๋ยวก็เอาแล้ว คอมันแห้ง

หลวงพ่อ : อาการกระตุกนี่ก็เหมือนกันเลย

โยม ๒ : มารผจญ

โยม ๑ : มารใช่ไหม มาร

หลวงพ่อ : มันเป็นกิเลสตัวเดียวกัน แต่อาการที่แสดงออกมันแตกต่าง มันต้องจับหลักอันนี้ให้ได้ไง จับหลักว่านี่คืออาการ พอนี่เป็นอาการปั๊บ เราจะควบคุมอย่างไร ถ้าเราจับหลักได้นะ อาการอย่างนี้ เหมือนคนขับรถเลย ถ้าเบรกไม่ดี ถ้าพวงมาลัยควบคุมไม่ได้ มันต้องลงข้างทางแน่นอน แต่ถ้าเบรกมันดี ทุกอย่างดี พวงมาลัยดีหมด เราควบคุมอยู่แต่ถ้าเราเผลอ ก็ลงข้างทางเหมือนกัน เรารู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างเราต้องเช็คระบบของเราให้ดีหมด แล้วไปกัน

โยม ๑ : เริ่มต้นของการนั่งนี่ ผมก็ใส่น้ำมันหล่อลื่น

หลวงพ่อ : ป้องกันไง นี่คือป้องกันไว้ก่อน

โยม ๑ : ใส่เข้าไปก่อนแล้ว เสร็จแล้วมันก็ยังเป็นอยู่ดี

หลวงพ่อ : มันเป็นที่หัวใจไง มันเป็นที่ความรู้สึก อย่างเวทนานี่ ยิ่งเดี๋ยวถ้าออกวิปัสสนาแล้วนะจะมหัศจรรย์กว่านี้อีก เพราะอะไรรู้ไหม ทุกข์ไม่มีเวทนาไม่มีอะไรก็ไม่มีนะ มีเพราะจิตมันอย่างเดียวเลย จิตนี่มันไปยึดอย่างเดียวเลย แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็น

โยม ๑ : ถ้าเกิดเวทนาเยอะๆ นี่เราหลบไปสมถะก่อนได้ไหม

หลวงพ่อ : เริ่มต้นเราสอนอย่างนั้นเลย ถ้าบางทีเรายังไม่ไหว ถ้าเราไปสู้กับเวทนาเลยนี่ เราจบเลย เราจะเข็ด

โยม ๑ : เพราะว่าผมเคยสู้ ๒-๓ ครั้งแล้ว ไม่ไหว

หลวงพ่อ : ไม่ไหวนี่ให้กลับมาสมถะสิ พุทโธๆ นี่ พอพุทโธ เห็นไหม มันจะปล่อยเข้ามา คือว่าถ้าปล่อยเข้ามานะ โดยข้อเท็จจริงทางเคมีเลย ถ้ามันปล่อยเข้ามานะ มันจะชา บางทีมันไม่หายหรอก มันชา ชาเพราะอะไรรู้ไหม ตัวเวทนามันมี ความรู้สึกมันมี แต่ปฏิกิริยาการทำงานของพลังงานกับความคิดมันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันคลายออกแต่ไม่ปล่อย

โยม ๑ : พอเราเผลอมันก็มาอีกแล้ว

หลวงพ่อ : ปฏิบัตินี่ โดยหลักไง คำว่าปฏิบัติโดยหลัก ถ้าการปฏิบัติมันต้องเหมือนกันหมด อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าเฉไฉออกนอกทางนะ ไปเหอะ ฉะนั้น มันเฉไฉกันไปเอง แต่ถ้าปฏิบัติจะเรียบจะง่ายจะทุกข์ยากลำบากขนาดไหน มันก็โดยหลักนี่แหละ โธ่ สมัยหลวงปู่มั่นนะ มีครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมด เห็นไหม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่คำดี ท่านสนทนาธรรมกันทั้งนั้น มันตรวจสอบกันตลอด ยิ่งหลวงตา เห็นไหม ท่านเจ้าคุณจูม พระธรรมเจดีย์ เห็นไหม เพราะหลวงตานี่ท่านบวชมากับมือ สัทธิวิหาริก ลูกศิษย์ของท่าน แล้วอย่างพวกหลวงปู่ขาว ท่านก็บวชให้ทั้งหมด แล้วก็อยู่กับหลวงปู่มั่นมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเจ้าคุณจูมท่าน ประสาเราว่า ท่านเป็นปริยัติ เรื่องนี้ท่านก็คงจะสงสัยเป็นธรรมดา จับมาชนกันนะ เอาหลวงปู่ขาวกับหลวงตาคุยกัน เอาหลวงปู่แหวนคุยกัน เห็นไหม ตรวจสอบไง

เวลาเราพูดกับญาติโยม ถึงได้บอกว่าครูบาอาจารย์ของพวกเรานี้เป็นของจริง แล้วหลวงพ่อมั่นใจได้อย่างไร ก็มั่นใจว่าครูบาอาจารย์กูนี่สุภาพบุรุษเว้ย ท่านได้แสดงธรรม ท่านได้ตรวจสอบกันเองเว้ย ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างคิดว่ากูแน่ กูแน่ เว้ย ท่านก็ตรวจสอบกัน ท่านก็คุยธรรมะกัน แล้วตรงกัน อันเดียวกัน ถ้าไม่อันเดียวกันนะ หลวงตาจะไปแก้เลย มีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว ไม่มีสองมีสามหรอก ถ้ามีสอง มึงกับกูนี่ต้องผิดคนหนึ่ง ถ้ามึงถูกกูก็ผิด

ถ้าเป็นธรรมนะ ถ้าพูดถึงธรรมะ ถ้าอย่างนี้ปั๊บมันจบ พอมันจบปั๊บ อาการที่มันผ่านไปแล้วเป็นอดีตไปแล้ว ทีนี้พอเราจับหลักอย่างนี้ได้ พอจับหลักได้ พอมีพุทโธก็ตั้งสติของเรา อะไรจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะมันเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วเมื่อก่อนเราไม่เคยสนใจอย่างนี้ มันก็เกิดอย่างนี้ แล้วเราก็หลงมากันอย่างนี้ เราก็ไปกับมันอย่างนี้ แต่ทีนี้พอเกิดขึ้นแล้วเรามีสติ เห็นไหม อ๋อๆๆ มันก็เหมือนกับดูปฏิกิริยาเรา เห็นไหม ดูเวรดูกรรมของเราว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ แล้วต่อไปเราจะควบคุมได้หมดเลย พอควบคุมได้นะ

เราบวชใหม่ๆ นะ ก็ตั้งใจทำดีทั้งนั้นล่ะ ไปอยู่ในป่านะ พอไปอยู่ในป่า มันก็ต้องฉันพออยู่ได้ใช่ไหม ทีนี้พออยู่ได้นั่งก็หลับทุกที ทีนี้ก็ตั้งใจจะผ่อนอาหาร พอตั้งใจจะผ่อนอาหาร พอมามันก็ตักหนึ่งทัพพี ฉันไปแล้วก็พออิ่ม พอฉันเสร็จแล้วก็ไปนั่งหลับ สุดท้ายแล้วพยายามจะผ่อน มันผ่อนไม่ได้ เห็นไหม มันผ่อนไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่า ขณะนั้น ขณะที่ของมานี่ ขณะของมาขณะนั้นเอง แล้วอยู่ในป่า วันหนึ่งมีหนเดียว ถ้าพ้นตรงนี้ไปก็จบแล้ว แต่มันก็ตักพอ มันไม่ผิดหรอก ไม่ผิดอะไรเลย ถูกต้องธรรมวินัยหมดเลย แต่มันผิดที่เราตั้งใจ เราสัจจะแล้วทำไม่ได้

นี่เราเลยจะบอกว่า ถ้าเรายังควบคุมจิตใจของเราไม่ได้ เราตั้งใจทำอะไรนะ ก็ทำไม่ได้หรอก ทีนี้พอทำไม่ได้ปั๊บ เราเดินจงกรม เดินจงกรมนะ ทั้งวันเลย พอขณะตัก ขณะฉันเสร็จแล้ว ยังไม่มีสตินะ ยังนึกไม่ได้ พอเช็ดบาตรจะเดินกลับกุฏิ อ้าว พอเดินกลับไปจะไปภาวนานะ มึงจะไปหลับอีกแล้ว ไปตกภวังค์ไง มึงจะไปหลับอีกแล้ว เสียใจมาก คิดดูสิ มันต้องเป็นชั่วโมงกว่าจะนึกได้ว่าตั้งใจแล้วทำไม่ได้ จับผิดตัวเอง เห็นไหม พอสุดท้ายแล้วด่าตัวเอง นั่งเดินจงกรมด่านะ มึงมันเลวชาติ มึงชาติชั่ว ครูบาอาจารย์เขาไม่ติด มึงติด เป็นอย่างนี้อยู่หลายๆ วัน เห็นไหม พอควบคุมหลวงตาบอกว่า เราเป็นนักมวยแล้วเราเข้าจนมุม พูดถึงจนมุมแล้ว มันต้องเอาตัวรอดให้ได้ไง

ทีนี้พอเราอัดเข้าไปๆๆ ปัญญามันดันโพลงออกมา ครูบาอาจารย์ท่านไม่ใช่ตะเข้เว้ย เพราะโดยสามัญสำนึกของเรา เราก็คิดว่า ถ้าเราไม่ติดในรส รสก็คือมันไม่มี แต่ความจริงไม่ใช่ รสมันมี แต่เพราะว่าเรามีสติปัญญาเท่านั้นเอง พอมีสติปัญญาเท่านั้นเองมันบอก ครูบาอาจารย์ท่านไม่ใช่ตะเข้เว้ย ท่านรู้ว่ารสเป็นรส แต่ท่านไม่มีอุปาทานในรสนั้น โอ้โฮ มันโพลงเลยนะ พอมันโพลงแล้วตอนเช้ามานะ ไอ้กลอย อยู่ในป่ามันไม่มีอะไรฉันนะ ก็ไปเก็บกลอยกันมา แล้วเอาไปแช่น้ำไว้ แล้วก็หมุนเวียนเอามานึ่ง เท่านั้นล่ะอยู่ในป่า มันไม่มีอะไรหรอก กลอยนี่เอามานึ่ง นึ่งเสร็จเอาน้ำตาลโรยๆ แล้วก็เอามาใส่กะละมังมา แล้วก็ตักกันคนละกลอยๆ ก็เท่านั้น มันก็ถือสิทธิใช่ไหม เพราะเราก็ดูแลกันมา เราก็ทำกันมาเอง เพราะเราไปเก็บพระไปด้วย แล้วให้เณรมันเก็บ พระมันก็ไม่ทำอะไร เพราะเณรมันเป็นเด็กมันไม่กล้า เราเองเป็นคนไปหามาเอง แล้วเราก็มาแช่ไว้เอง แต่ไม่ได้จับนะ เณรทำหมด เราเป็นพี่เลี้ยง แล้วถึงเวลาเราก็ทำมาเองใช่ไหม ก็ฉันตามสิทธิ์

มันก็ไม่ผิด แต่มันไปตกภวังค์ แล้วพอเราติเตียนตัวเองจนถึงที่สุด พอมันเห็นว่ารสก็คือรส แต่เราไม่มีอุปาทานในรสนั้น เพราะฉะนั้นมันสว่างโพลงคือว่ามันตัด รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมารคือว่ามันตัดขาดหมด เครื่องล่อนะ ตอนเช้ามันมานี่ เห็นมันมานี่ นั่งคิดในใจเลยนะ กูกินมึงคำเดียวนะเท่ากับกูกินมึงทั้งกะละมังนี้ เพราะในกะละมังอันนี้คือรสของกลอยไง แต่ก่อนหน้านั้นตักก็ตักปกตินี่แหละ แต่พอมีสติขึ้นมา ทุกอย่างพร้อมแล้วนะ รู้เท่าทันหมดเลย

ทีนี้เราจะย้อนกลับมาที่พวกโยมภาวนาอย่างที่ว่านี่ รู้อยู่ รู้ แต่ยังสู้มันไม่ได้ แต่เวลาปฏิบัตินะก็ปฏิบัติตามข้อเท็จจริงเลยล่ะ รู้แล้วทำได้ด้วย รู้แล้วทำได้ด้วยมันบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม นี่แหละ วสี ความชำนาญ พอชำนาญ พอมาปฏิบัติ พอสมาธินี่ ก็ถามว่าสมาธิรักษาอย่างไร ทำไมเสื่อมหมดเลย ถ้าเรารักษาสมาธินะ จะเสื่อมหมด แต่ถ้าเอ็งรักษาที่เหตุนะ เอ็งตั้งสตินะ แล้วเอ็งบริกรรมไว้นะ สมาธินะ ถีบแม่งก็ไม่ไป แต่ถ้าเอ็งไม่รักษาสมาธินะ เกลี้ยง แต่ถ้าเรามีสติแล้วกลับมาที่นี่นะ ให้รักษาเหตุไว้ใช่ไหม รักษาใจไว้อย่างนี้ ไม่ให้ไฟดับ รักษาไฟอย่างนี้ ไม่ให้ไฟดับ แล้วมันจะดับไหม อยู่ไฟๆ แต่ไม่ใส่ฟืนเลยนะ มันก็ดับเกลี้ยงเลย

ทีนี้เวลาภาวนาไป มันจะรู้แล้วมันจะจับหลักได้ แต่ไปพูดให้ใครฟังใครก็ไม่เชื่อ มันต้องให้มันไปเลือดซิบๆ ถึงจะรู้ ต้องไฟแตกแล้วนะ เลือดซิบๆ กลับมาเลย หลวงพ่อ ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ก็เลือดซิบๆ ไง ก็มึงแถไปไง ถ้ามึงแถมึงก็เจออย่างนั้น เพราะกูก็แถมาแล้ว ถ้าไปแถมาก็เลือดซิบๆ มานะ เขาไม่เชื่อหรอก ทำไมมันเป็นอย่างนี้ โทษนะ กูเป็นมาก่อนมึง กูเป็นมาแล้ว

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงซึ้งมาก จำคำพูดผมไว้นะ แล้วปฏิบัติไป ถ้าเจออย่างนี้แล้วจะกลับมากราบศพ ตอนนั้นนะเรายังไม่ได้ประสบนะ ฟังก็ฟังไว้อย่างนั้นแหละมันไม่ซึ้งใจหรอก แต่ถ้าหัวไปชนมันเอง โอ้โฮๆ แต่ถ้ายังไม่เอาหัวไปชนกับมันนะ จริงหรือเปล่าวะ อย่างมากก็น่าจะ ไม่เชื่อ แค่น่าจะ น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่เป็นนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่นะ หัวไปชนเอง ไปโขกกับมันเองเลยนะ อ๋อ ใช่ว่ะ ใช่ ถึงบอกว่า เอกนามกิงพระพุทธเจ้าพูดแล้วเป็นหนึ่งไม่มีสอง ไม่มีทางเปลี่ยนจากนี้เลย ไม่มีทาง! เป็นอย่างนี้แน่นอน แต่ไอ้พวกนั้นมันชอบแถกัน ถ้ามันแถไป ประสาเราว่า ถ้ามันไม่มีผู้รู้มันก็แถไปได้ แต่ถ้ามีผู้รู้มันแถไม่ได้หรอก มันก็แถ มึงก็หลอกได้แต่ไอ้คนที่ไม่เป็น แต่คนเป็น

โยม ๑ : อย่างนี้ที่ขั้นตอนอย่างพวกผมที่นั่งปฏิบัติ มาเจอประเภทอย่างนี้ก็มาถูกทาง

หลวงพ่อ : ถูกทาง คำว่าถูกทาง มันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเจอทุกคน ทีนี้พอข้อเท็จจริงที่ต้องเจอทุกคนแล้วทำสมาธิหรือการปฏิบัตินี่มันยาก เขาถึงเสนอทางที่สะดวกไง แล้วคนนี่ชอบ แล้วพออย่างนี้ไป ถ้าอย่างนี้นะโดยทางโลกเขาว่านะ เหมือนกับเรานี่เป็นคนโง่ ป่าเถื่อน พวกป่าเถื่อน พวกที่ไม่มีการศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ เพราะไปเผชิญกับความทุกข์อยู่ไง มาหากูนี่สิ เลือกง่าย อยู่เฉยๆ แม่งนอนหลับ ตื่นขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์แล้ว กูใช้ปัญญา เอ้า นิพพานเป็นอย่างนั้นกูก็สร้างได้ เห็นนิพพาน แวบ เราถึงว่าเราเห็นจุดบอดของมันไง จุดบอดในการกระทำมันต้องเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า เราเป็นคนบอกทางนะ พวกเธอต้องเผชิญเองหมด แล้วให้เผชิญก็เจออย่างนี้ แล้วเวลาคนไปเผชิญ ไปเจออย่างนี้ปั๊บ แล้วมีคนมาเสนอทางที่เลือกง่าย แล้วเราบอกว่าอะไร คนนี่พวกป่าเถื่อน พวกหลังเขา พวกไม่มีการศึกษา ไอ้การศึกษามันคือปริยัติ มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย มึงจะศึกษามามากน้อยขนาดไหนมึงก็จำเขามาทั้งนั้น ถ้ามึงไม่มีการปฏิบัติขึ้นมานะ สิ่งที่มึงจำมานะไร้สาระ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งงง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต้องไปเผชิญทุกคน

โยม ๒ : แล้วเราไม่ต้องไปอ่านอะไรก่อนได้ไหมคะ หรือว่าเราก็นั่งไปแบบนี้

หลวงพ่อ : เราคิดเหมือนโยมเลย เราบวชมานี่เราปฏิเสธหมดเลย ไม่ศึกษา อ่านอย่างเดียว อ่านแต่ประวัติครูบาอาจารย์ อ่านแต่เทศน์ของครูบาอาจารย์ อย่างอื่นไม่แตะเลย จนปฏิบัติไป จนเข้าใจว่าตัวเองนี่เข้าใจหมดแล้ว เราถึงค่อยกลับมารื้อพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี่เรารื้อ ๒ รอบนะ เรากลับมาดูพระไตรปิฎก แล้วพูดบ่อยว่ามาดูพระไตรปิฎกเลยนะ มันดูแล้วมันซึ้งมาก มันซึ้งตรงไหนรู้ไหม มันซึ้งว่าถ้ามึงไม่ปฏิบัติมาก่อนนะ มึงอ่านเท่าไรมึงก็ไม่รู้ มันพูดกับตัวเองเลย

โยม ๑ : แล้วถ้าอ่านก่อน แล้วมาปฏิบัติบางครั้งมันสับสนนะ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้เราพูดไปแล้ว แล้วฝ่ายปริยัติเขาแบบว่าเพ่งโทษเรา เขาหาว่าเหมือนกับเรานี่มันแถไง เราบอกว่า การศึกษานี่มันเป็นปริยัติ การศึกษานี่เขาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ แต่พอเราศึกษาปริยัติแล้ว เราเข้าใจ เราก็รู้โดยกิเลส แต่อวิชชานี่เรายังไม่รู้หรอก แต่เพราะมีหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านศึกษาจนเป็นมหานะ เสร็จแล้วหลวงตาไปกราบหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงตาพูดบ่อย คำนี้เราซึ้งมาก แล้วเราเอามาพูดทุกวันเลย หลวงปู่มั่นบอกว่า มหา ท่านมหาศึกษามาจนเป็นมหานี่นะ ความรู้นี่สุดยอดเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ ไม่ได้กล่าวโทษ ไม่ได้ติเตียนนะ แต่ความรู้อันนี้ ขอให้มหาเอาความรู้ที่เรียนของมหานี่ใส่ลิ้นชักในสมองไว้ก่อน แล้วล็อกกุญแจมันเอาไว้ด้วยนะ ถ้าไม่ล็อกมันจะแลบออกมา แล้วมหาภาวนาไป แล้วถ้าพอภาวนาไปถึงที่สุดแล้วนะ ไอ้ความรู้ที่เรียนจากที่เราศึกษามากับประสบการณ์จริงมันจะวิ่งมาชนกันเป็นอันเดียวกันเลย

แต่ถ้าไม่มีคนบอกไว้อย่างนี้นะ เพราะเราอยู่ที่นี่ เราแก้คนมาเยอะ อย่างที่พูดเมื่อกี้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เสร็จแล้วผมได้อะไร ได้บ้าไง ได้บ้าได้จินตนาการไง แล้วพอศึกษามานะ นิพพานจะเป็นอย่างนั้น ไอ้โน่นจะเป็นอย่างนี้ แล้วพอมันปฏิบัติไป เฮ้ย มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าวะ มันจะทำให้การปฏิบัตินี้เนิ่นช้า เนิ่นช้าเพราะอะไร เพราะว่าเรารู้โจทย์แล้ว การศึกษาคือทำให้เรารู้โจทย์ทุกอย่างหมดแล้ว มันตอบหมดแล้ว แล้วพอมาปฏิบัติ มันก็ตอบตัวเองตลอดเวลา แต่ความจริงมันไม่มี

แต่ถ้าเราศึกษามาแล้วทุกอย่าง โจทย์มีอยู่แล้ว ก็ล็อกกุญแจไว้เลย แล้วเราทำของเราไปเลย เราถึงพูดว่า เราเชื่อนะ อย่างเช่น ฝ่ายการศึกษาที่ออกมาปฏิบัติแล้วได้ผลนะ หลวงตา มหาปิ่น น้องของหลวงปู่สิงห์ เห็นไหม แล้วก็มหาเขียน ๙ ประโยค นอกจากนั้นเราไม่เคยเห็นนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเรา โธ่.. เรารู้โจทย์แล้ว แล้วจิตนี่จะคุมมันได้ไหม มันสร้างให้เลย ฉะนั้นถ้าจริงแล้วนะ พอเรารู้โจทย์แล้วเราต้องวางให้ได้ แล้วเราทำให้ได้ ไม่ใช่รู้โจทย์ไว้แล้ว เราต้องสร้างเหตุ ต้องตอบโจทย์เราเองให้ได้ เราตอบโจทย์เราได้แล้วมันถึงโจทย์ที่พระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว เข้าไปเห็นไหม แต่เราตอบโจทย์ของเราไม่ได้ แต่เสือกรู้โจทย์ของพระพุทธเจ้าไง

ตอนนี้ มันอย่างว่านะ เพราะศาสนามันเจริญขึ้นมา การศึกษาก็เจริญขึ้นมานะ พวกที่ไปศึกษาพุทธศาสน์นี่เยอะ แล้วมาหาเรา เราบอกว่านกแก้วนกขุนทองนะ เวลาเขาเอากล้วยให้ แม่จ๋าใช่ไหม เอ็งต้องบอกแม่จ๋าก็จะให้กล้วยคำหนึ่ง เอ็งว่านกขุนทองมันเข้าใจไหมว่า กล้วยนั่นคือแม่จ๋า เรานี่เข้าใจว่ากล้วยใช่ไหม พอเอากล้วยให้เลยต้องพูดว่าแม่จ๋า พอแม่จ๋ามันก็ได้กล้วยคำหนึ่งๆ มันคิดนะ แม่จ๋าคือกล้วยไง อ้าว ก็มันคิดของมันเอง เพราะมันไม่รู้ศัพท์ว่าแม่จ๋าคืออะไร แล้วมันก็พูดไป ถ้าไปเรียนมามันจะเป็นอย่างนั้น แม่จ๋าคือแม่เรานะมึง กล้วยคือกล้วยนะมึง

โยม ๒ : พวกไปเรียนอภิธรรมปฏิบัตินี้จะไม่ก้าวหน้า ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : เรากล้ายืนยัน เราพูดบ่อย กับพวกอภิธรรม เมื่อก่อน พวกข้าราชการพวกอะไรมาหาเยอะนะ แต่พ่อแม่เขาไม่มาหรอก ส่วนใหญ่ลูกหลานนี่มาก่อน พอลูกหลานมาแล้วค่อยดึงพ่อแม่มา พ่อแม่ก็มาพูดอย่างนี้ ต้องศึกษาอภิธรรม ต้องศึกษาอะไรนี่ เราพูดให้เขาได้คิดไง ในการศึกษาในการปฏิบัติอภิธรรม เพราะว่าในอภิธรรมนี่หมู่คณะเขาใหญ่ เขาเผยแพร่ได้กว้าง แต่ในการปฏิบัติของพระป่า มันเป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มเล็ก แต่ครูบาอาจารย์ของเรานี่เผาแล้วเป็นพระธาตุหมดเลย ย้อนกลับในวงการอภิธรรม มีใครบ้างที่เป็นพระธาตุ มีใครปฏิบัติได้

ของเราที่ปฏิบัติกัน เมื่อก่อนนี้ครูบาอาจารย์เราที่เป็นจริงขึ้นมา มันไม่มีหน้าม้า ไม่มีการจัดฉาก ตายก็เผา เผาแล้วพอเป็นอย่างนั้นขึ้นมา โดยที่พวกเราก็คาดกันไม่ถึงทั้งนั้น แต่มันเป็นขึ้นมาโดยข้อเท็จจริง เดี๋ยวนี้นะ พอเผานะ กูเตรียมเลยล่ะ กูจะเอาให้เป็นพระธาตุ เอามาใส่ไว้ก่อนเลย เราไม่เชื่อนะ เดี๋ยวนี้พอใครบอกว่าเป็นพระธาตุนะ เราไม่ค่อยฟัง ถ้าเป็นพระธาตุนะ เอ้า โยมเป็นพระธาตุ ถ้าเป็นพระธาตุนะ เราต้องตั้งกรรมการ ๓ คน แล้วเอากระดูก เอาพระธาตุของเขามาบรรจุไว้ แล้วมันกลายเป็นต่อหน้าเรา เราถึงจะเชื่อ แต่เป็นพระธาตุไหม เป็น ถ้าเป็นจริงๆ ก็มี แต่ไอ้พวกโกหกก็เยอะ ถ้าเป็นพระธาตุใช่ไหม กุญแจ ๓ ดอก เอามาเปิดดูพร้อมกัน อย่างนั้นกูถึงเชื่อ ไม่อย่างนั้นสังคมมัน.. แต่ไอ้เรื่องเป็นพระธาตุ นี่พูดถึงโลกเขาเป็นไง แต่ในวงกรรมฐานเรา พระธาตุนี่คือผลพลอยได้ แต่ความจริงจะรู้ว่าเป็นพระธาตุหรือไม่เป็นพระธาตุ จะรู้ตอนที่คุยธรรมะกันนี่ ตอนปฏิบัตินี้เขาก็รู้กันแล้ว เขารู้แล้วเพราะอะไร เพราะจิตมันเปิดหมดแล้ว เขารู้เลยว่าคนนี้ถ้าตายไปเผาแล้วเป็นพระธาตุแน่นอน คนนี้ถ้าตายไปเผาแล้วจะไม่เป็นเด็ดขาด แต่ทางโลกเขารู้อย่างนี้ไม่ได้ใช่ไหม เขาไปพิสูจน์กันตอนที่มันเป็นไง

ฉะนั้นทางไอ้พวก ๑๘ มงกุฎ เขาก็เลยสร้างภาพให้มันเป็นได้ไง แต่ในวงกรรมฐานเราเขาจะดูกันตรงนี้เลย ดูตรงจุดที่ต้นขั้วนี่เลย ฉะนั้นการปฏิบัติอย่างนั้นเราไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัตินะ เราคิดว่าเป็นการฝึกเป็ดฝึกไก่ เห็นเขาเลี้ยงเป็ดทุ่งไหม มันไล่เป็นฝูงๆ เห็นไหม หัวหน้าเป็ด ถ้าตัวหัวหน้ามันเดินไปไหน เห็นไหม เป็ดทั้งฝูง จะเดินกันไปหมดเลย ไอ้นี่ดูเวลาเขาเดินกันสิ อย่างกับฝูงเป็ด ฝึกคนนะเว้ย ไม่ใช่ฝึกเป็ด

โยม ๒ : ไม่ใช่ เรามีเพื่อน แต่เราไม่ได้เรียน เขาชวนไปเรียน

หลวงพ่อ : ไปกันเยอะ เยอะมาก

โยม ๒ : แล้วเราก็เห็นเวลามาอยู่วัดด้วยกัน เขาฟุ้งมากไง แล้วเขาสอนคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ จิตมีกี่ระดับ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ เราก็ว่า เอ๊ะ ทำไม

หลวงพ่อ : ก็เขาพูดว่าจิตมีร้อยแปดดวง แต่กรรมฐานเรามีดวงเดียว ร้อยแปดดวงคือร้อยแปดความคิดไง แต่ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากพลังงาน

โยม ๑ : ดร. ....... แกจะเถียงอย่างนี้ตลอดกับพวกอภิธรรม จิตมีร้อยแปดดวง บ้า ดร. ....... บอกว่า เราปฏิบัติมีแค่ดวงเดียว จิตอยู่ที่นี่ ตรงนี้ดวงเดียว แค่นั้นเอง

หลวงพ่อ : พระที่ปฏิบัติได้จริงพูดอย่างนี้หมดนะ เช่น หลวงปู่บุดดา ฟังเทศน์ของหลวงปู่บุดดาสิ จิตหนึ่งเดียว จิตหนึ่งเดียว ไอ้พวกนั้นมันพูดโกหกกัน เขาต้องพูดโกหกกันนะ พูดความจริงไม่ได้ ถ้าพูดความจริงนะ กาแฟถ้วยหนึ่งก็ไม่ให้กิน แต่ถ้าพูดโกหกกันนะ เขาได้นักธรรมโท นักธรรมเอก เขาได้ใบกระดาษกัน ต้องโกหกกัน เขาพูดโกหกกัน ถ้าพูดความจริง กาแฟก็ไม่ให้กิน ถ้าพูดโกหกนะได้ใบประกาศนะเว้ย ถ้าพูดโกหกนะได้ใบประกาศชั้นนั้นๆ เลย ถ้าพูดความจริงเขาจะไล่ออกไปเลย ไม่ให้กิน กาแฟก็ไม่ให้กิน

หลวงปู่บุดดา ของจริงมันกล้ายืนยันไง เพราะเราทำมาจริงๆ เราได้มาจริงๆ เรารู้มาจริงๆ แต่คนอื่นเขารู้กับเราไม่ได้ เขาก็ไปจำเอา ศึกษาเอา ร้อยแปดดวง สองร้อยดวง แล้วดูผลที่ออกมาสิ ปฏิบัติแล้วพอผลออกมา แล้วผลออกมาเขาพูดอีกนะ เขากันไว้เลย กึ่งพุทธกาลไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีผล ไม่มีผลแล้วมึงสอนทำไม

โยม ๑ : อย่างนี้ตัวอภิธรรมก็ผิดใช่ไหม สอนผิด แล้วเขาไปเอามาจากที่ไหน

หลวงพ่อ : ตัวอภิธรรมไม่ผิด เพราะตัวอภิธรรมนั้น พระพุทธเจ้าเทศน์ถึงวิทยาศาสตร์ทางจิต ปฏิกิริยาของจิตมันเป็นอย่างนั้นๆๆ แต่พวกเราเห็นกันไม่ได้หรอก

โยม ๒ : ได้แต่ท่องเฉยๆ

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าเห็นก็เห็นไม่ได้อย่างนั้น

โยม ๒ : ได้แต่รู้ เขาบอกว่ามีอย่างนี้

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๒ : แต่ก็ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : บางทีบางสำนักเขาค้านเลยนะว่า มันมีธรรมกับวินัยเท่านั้นคือ มันมีแต่พระวินัยกับพระสุตตันตปิฎก พระธรรมวินัย อภิธรรมนี่มาทีหลัง นี่เขาพูดกันขนาดนั้นเลยนะ แต่ประสาเรา เราคิดว่า อภิธรรมนี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าอาการของจิตไง เหมือนวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกเรานี่แหละแล้วมันเอามาอธิบาย

ทีนี้พออธิบายแล้วนี่เราก็เข้าใจได้ใช่ไหม อธิบายว่าเป็นอย่างนี้ๆ เขาก็นึกว่าถ้าอย่างนี้คืออย่างนี้ มันไม่ใช่ ไอ้อย่างนี้มันมีที่มา ทีนี้เขาไม่เคยเห็นคำว่าที่มาแล้วก็ที่ผล เห็นไหม ความคิดกี่ดวงๆ มันมาจากไหน ตัวจิต ตัวพลังงาน เห็นไหม เขาเรียกอะไรนะ ภวังคบาตของเขานี่ คือจิตตัวเริ่มต้น แล้วมันจะขึ้นสู่ภวังค์นั้นๆๆๆ คือความคิดของเรา เห็นไหม เขียว เหลือง แดง ลองคิดสิ สีคนละสีใช่ไหม เวลาคิดก็ เขียว เหลือง แดง มันก็สามแล้ว ดูสิ กี่ดวงเข้าไปแล้ว แต่จริงๆ มันมาจากไหน หนึ่งเดียว แค่ทำสมาธิก็รู้แล้ว จิตเป็นสมาธิก็จิตเป็นหนึ่ง จิตสงบก็จบแล้ว

เราจะบอกว่าพวกนี้ทำสมาธิยังไม่เป็นเลย เขาไม่เป็นด้วยแล้วเขาปฏิเสธว่าเป็นสมถะไง โอ๊ย พวกอภิธรรมมาที่นี่ มาร้องไห้ที่นี่เยอะ เพราะอภิธรรมพอทำไปแล้วมันแบบว่าอิ่มตัวไง มันได้แค่นั้น ไม่มีอะไรหรอก แล้วมาบอกว่าผิดไหม ผิด แล้วจะทำอย่างไร พุทโธสิ พอพุทโธๆ ปุ๊บนะ พอจิตมันจะลงนะ บางคนพอจิตมันจะลง มันดีใจ อารมณ์มันแปลกไป อารมณ์นี่นะ โอ้โฮ มันตื่นเต้นมาก มันมีความสุขมากอย่างที่โยมเป็นนี่แหละ แต่พอมาหาเรานะ พอมาส่งการบ้าน เราบอกนี่เป็นสมาธิ เป็นสมถะ โอ๊ะๆๆๆ เขากลัวไง เขาฝังหัวกันว่าสมถะมันไม่มีประโยชน์ สมถะไม่ใช่ปัญญา เขาฝังหัวกัน แต่ความจริงพอเขาเป็นสมถะ เขาก็ตื่นเต้น เขาดีใจขนาดนั้น แต่พอบอกว่าเป็นสมถะเท่านั้นล่ะ เขาตกใจตายเลย พอเขาตกใจตาย พอเราบอกมันนะ จนเขาเอง.. พวกอภิธรรมนี้นะมาอยู่ที่นี่หลายคน แล้วมาเสียดายตรงนี้ เพราะว่าเขาไปสร้างอารมณ์มาตลอด การสร้างอารมณ์ไง

โยมดูนะ นี่ ดื่มไปแล้วนะ ดื่มเสร็จ ดื่มหนอ เฮ้ย มึงจะบ้าเหรอ ก็ดื่มเข้าไปแล้ว ไอ้.... นี่ไง ดื่มหนอ เอ้า ก็ดื่มก็จบแล้ว กินเสร็จแล้วนะ กินหนอ มันสร้างไหม มันไม่เป็นความจริงไง ความจริงคือมันเป็นเอง เคลื่อนไหวหนอ รู้หนอ แล้วไอ้รู้อยู่ที่จิตไว้ไปไหนล่ะ แล้วมันไปหาอยู่ข้างนอกนี่ เราถึงบอกว่าฝูงเป็ดไง ฝึกเป็ดไล่ทุ่ง ไล่กันเป็นฝูงเลย แล้วดูเขาปฏิบัติสิ เป็นแถวเลยนะ เป็นฝูงเลย นี่แหละสังคมไทย

โยม ๒ : แล้วถ้าเดินจงกรมนี่ สมมติว่าเราต้องกำหนดไว้เหมือนที่เรานั่งว่าพุทโธ ยก ย่าง เหยียบ

หลวงพ่อ : ใช่ นี่หนอแล้ว

โยม ๒ : ไม่หนอ ไม่มีหนอค่ะ

หลวงพ่อ : ยก ย่าง เหยียบ นี่แหละ อภิธรรม

โยม ๒ : แค่นั้น ยก ย่าง เหยียบ ไม่ได้

หลวงพ่อ : เดินปกติไปเลย

โยม ๒ : ให้รู้สึกไปตามไอ้

หลวงพ่อ : โยม เดินปกติไปเลย เดินปกติไปเลย

โยม ๒ : ปกติไปเลย

หลวงพ่อ : เดินปกติไปเลย แล้วกำหนดพุทโธไว้ที่ปลายจมูก

โยม ๒ : อย่างนี้ที่ถูกต้องเอาจิตไปไว้ที่เท้าถูกไหมคะ กำหนดไว้ที่ปลายจมูกแล้วก็เดินธรรมดา

หลวงพ่อ : ใช่ เคลื่อนไหวแต่สงบเว้ย

โยม ๓ : ทำยากไหมหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ไม่หรอก จิตนี่ถ้าเรารักษาไว้นะ พุทโธๆ อิริยาบถ ๔ ไง ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถเพื่อผ่อนคลาย แค่นั่งอยู่นี่ เอ็งนั่งหนอนั่งทำไม เขาจะเอาจิตเขาไม่ได้นั่งหนอหรอก ถ้านั่งหนอแล้วกูปั้นรูปกูมานั่งไว้นี่เลย

โยม ๑ : แล้วอย่างสมมุติว่าเวลาเรานั่ง แล้วมันเกิดเวทนาขึ้นมาจนเราทนไม่ไหว เราก็ออกจากนั่ง แล้วเราไปเดินจงกรม สักครึ่งชั่วโมงก็กลับมานั่งใหม่

หลวงพ่อ : ได้ อุบายวิธีการมันมีร้อยแปดขยาย ใครจะทำอย่างไรก็ได้

โยม ๑ : อย่างนี้ไม่ผิดเหรอ

หลวงพ่อ : ไม่ผิด การเดินนะ เดินนี่ดีกว่านั่งอีก เรานี่ถนัดในการเดินมาก เราเดินที โอ้โฮ ทั้งวันทั้งคืนเลยล่ะ เรานี่เดินทีเป็นวันๆ

โยม ๒ : หลวงตาท่านก็เดินนานๆ

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะการเดินนี่นะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง อาหารย่อยดี ทุกอย่างในร่างกายสมบูรณ์หมด เดินนี่ แล้วถ้าจิตมันลงนะ เวลาจิตเราลง อัปปนาสมาธินะ เราลงในท่าเดินเลย พอเดินปุ๊บจิตมันจะลง มันจะเต็มที่แล้ว เดินไม่ได้แล้ว ขยับไม่ได้ เรายืนเลย รำพึง พอยืนเสร็จปั๊บนะ จิตมันจะหายหมดไง เรานั่งลงบนทางจงกรมเลย พอนั่งจงกรมปั๊บ ลมหายใจขาด ทุกอย่างขาด พั้บ สักแต่ว่ารู้ ที่ว่ารวมใหญ่ ที่ว่านั่น อัปปนา อัปปนา ไอ้ที่ว่าคุยโม้ๆ กัน แหม อัปปนาสมาธิจะเกิดปัญญา มึงเอาปืนมายิงกูทิ้งเลยถ้ามันเกิดได้นะ มันพิสูจน์ตรวจสอบกันมาหมดแล้ว แล้วพอคำพูดอย่างนี้ พูดออกมา มันไร้สาระมากๆ เลย

โยม ๒ : ก็คือเดินก็เดินธรรมดา ไม่ต้องเดินช้าๆ แล้วเราต้องรู้ตามที่ย่างก้าวหรือไม่ หรือว่าไม่ต้องรู้

หลวงพ่อ : จิตมันออกมารู้ มันแผ่ออกมาหมดนะ รู้หนอ หนอทุกอย่าง พอเรารู้หนอทุกอย่างมันไปหมด มันดีตรงไหนรู้ไหม มันดีที่ว่า จิตนี่มันอยู่ในการกระทบนี้ มันไม่ได้คิดฟุ้งซ่านออกไปเท่านั้นเอง เขาก็ว่ามันดี ปฏิบัติแล้วมันดี มันดีอย่างไร มันกึ่งดิบกึ่งดีไง มันดีไม่จริงไง ถ้าดีจริงมันจะสงบของมันนะ อาการสงบนี่เราถึงพูดบ่อย เห็นไหม อวดอุตริมนุษยธรรม แม้แต่จิตสงบนี่มันก็เป็นธรรมที่เหนือมนุษย์แล้ว แต่ขณะที่เราเดินย่างกันนี่มันเป็นธรรมของมนุษย์ คือมันเป็นความรู้สึกของมนุษย์ ใช่ไหม ถ้าจิตสงบนี่มันเป็นธรรมที่เหนือมนุษย์ไง คือธรรมที่มนุษย์นี้ไม่มีมีไม่ได้ คือสามัญสำนึกนี้มีไม่ได้ สมาธินี่มันเหนือแล้ว ถ้ามันเหนือแล้วที่เอ็งย่างกันอยู่นี่ เอ็งว่ามันเหนือมนุษย์ไหม แล้วเอ็งได้อะไรขึ้นมา

โยม ๑ : อย่างนี้ก็ไม่ต้องยก ย่าง

หลวงพ่อ : เป็ดๆๆๆ

โยม ๒ : มันเป็นอุบาย เป็นวิธี

หลวงพ่อ : เขาคิดขึ้นมา เขาสร้างกันขึ้นมา แต่คนสร้างคือใคร เราอยู่วงในนะ หลวงปู่มั่นบอกมาแล้ว หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า พุทธภาษิต พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ นี่ไง พุทธภาษิต เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกมีตรงไหนให้ย่างวะ มึงชี้ให้กูดูทีวะ

โยม ๒ : พระพุทธเจ้าสอนให้เดินจงกรมด้วยหรือคะ

หลวงพ่อ : เดินจงกรมสิ สอน แต่ไม่ได้เดินอย่างนี้ไง ไอ้นี่มันรูปแบบที่สร้างขึ้นมาทีหลังไง

โยม ๒ : อ๋อ

โยม ๑ : เหมือนที่ตาดังเลนังที่เชียงใหม่ เวลาทานข้าว ยกหนอ อ้าปากหนอ

โยม ๒ : ยกช้อนใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่ๆ เดี๋ยวกูจะเอาหุ่นยนต์ที่โรงงานไปตั้งไว้

โยม ๒ : หนูก็ทำมาแล้วอย่างนี้ หนูไม่หนอๆ ก็คือว่า รู้ว่าไก่ รู้ว่าอันนี้เฉยๆ เพราะว่ามัน หลวงพ่อ : มันเป็นภาคปฏิบัตินะ ภาคปฏิบัติที่ว่า เอาคน พูดประสาเรานะ เอาคนที่หยาบๆ มาทำ ให้มันอยู่ในระเบียบ ก็เท่านั้นแหละ แต่ถ้าเอามรรคเอาผลนะ ไม่มีทางหรอก ถ้ามรรคผลมันทำกันอย่างนี้ได้นะ กูจะไปนั่งหนอกับมึงตลอดเลย ถ้ากูได้นะ

โยม ๒ : ก็ยังถามอยู่เลยว่า เอ๊ะ แล้วอยู่บ้านแล้วเราจะหนออย่างนี้ได้อย่างไร

หลวงพ่อ : แล้วเขาว่าอย่างไร

โยม ๒ : เขาก็บอกว่ามันไม่ได้หรอก

หลวงพ่อ : แล้วได้ไม่ได้แล้วจะต่อเนื่องได้อย่างไร เราจะปฏิบัติอย่างไร

โยม ๒ : เขาก็บอกว่าก็ให้รู้ไว้ ว่าเวลาเราทำอะไรให้รู้ เหมือนกับว่าให้รู้

หลวงพ่อ : อย่างนั้นให้กูไปช้อปปิ้งก็ได้ ช้อปปิ้งกูก็รู้แล้ว

โยม ๓ : ช้อปปิ้งไม่ค่อยอยู่ หยิบหนอ สีนี้สวยหนอ

หลวงพ่อ : กูไปช้อปปิ้งก็ได้ ช้อปปิ้งก็รู้

โยม ๒ : เหมือนให้รู้อิริยาบถ เอาอย่างนี้ละกัน

หลวงพ่อ : ไอ้ที่พูดนี่นะ ประสาเรา โดยหลักเราไม่เชื่อพวกนี้เลย เพียงแต่นี่เรามาคุยกันด้วยเหตุผลใช่ไหม ไม่เชื่อเพราะอะไร นี่เราอธิบายให้ฟังเฉยๆ ถ้าพูดไป เดี๋ยวก็หาว่าไปดูถูกเขา

โยม ๒ : ไม่ เพราะอยากจะถามนานแล้ว เพราะว่าปฏิบัติมาอย่างนี้ แต่ว่าของหนูไปฟังหลวงตาเทศน์ แล้วก็จะเห็นคนที่ถือศีลที่ผู้หญิง เขาจะเดินจงกรมที่สวนแสงธรรม เราก็เห็นเขาทำไมเดินเร็วจัง เขาเดินของเขาไปเรื่อยๆๆ ไม่เห็นเขาทำเหมือนเราเลย ก็คือมองอยู่แต่ว่าไม่รู้จะไปถามใครไงคะ ว่าตกลงมันคืออะไรกันแน่

หลวงพ่อ : เพราะเขาเดินอย่างนี้นี่นะ ที่เขาเดินอย่างนี้ เพราะจิตมันลงได้ อาจารย์สิงห์ทองเดินจนดินเป็นร่อง หลวงปู่มั่น ทางเดินของหลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงปู่มั่นขนาดอายุ ๘๐ ปี อยู่ในป่ามันหนาวมาก หลวงปู่หล้า ท่านพูดเอง ท่านมีหน้าที่ เตาอั้งโล่ไปตั้งอยู่หัวทางจงกรมกับท้ายทางจงกรม แล้วท่านเดินจงกรม ตีสี่ท่านลุกแล้ว แล้วพอไปถึง ท่านจะเดินจงกรม ลงมาเดินจงกรมเลย พระจะต้องจุดไฟถ่านอยู่ตรงทางจงกรมแล้วนั่งเฝ้า ทำไมรู้ไหม กลัวท่านล้มใส่เตาอั้งโล่เพราะท่านชรา พวกเราทำกันมาขนาดนั้น เห็นมาหมดไง หลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมนี่ พระนี่นะไปเข้าเวรนั่งเฝ้าเตาอั้งโล่ เตาอั้งโล่นี่มันจะให้ความร้อน ให้ความอบอุ่นกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะเดินจงกรม มันเห็นๆ กันมา มันทำกันมา มันถึงไม่ต้องให้ใครมาหลอก แต่พอมีศักยภาพขึ้นมา เขาไม่ได้ดูเหตุที่หลวงปู่มั่นทำมา เขาไปดูใจหลวงปู่มั่นใช่ไหม แล้วก็คุยอวดเทียบกัน มันถึงไม่ได้เรื่อง ถ้าปฏิบัติ ก็เอาตรงนี้สิ เอาอย่างที่ว่า

โยม ๒ : เดี๋ยวลองใหม่

หลวงพ่อ : เอาอย่างนี้ เอาอย่างที่ว่า เวลาปฏิบัติแล้วอย่างที่ให้ผล ไอ้ที่เราปฏิบัติขึ้นมานี่ นี่ไง มันเป็นผล เวลาเขาคุยกันเขาคุยกันตรงนี้ คุยกันตรงนี้เพราะอะไร เพราะทำแล้วได้ผล เอาผลนี้มาว่ากัน ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล ไอ้ห่าของกูนี่แบงก์ปลอม เอ็งมีแบงก์จริง เอ็งก็ซื้อของได้หมด กูก็ซื้อไม่ได้สักทีแล้วกูจะทำอย่างไร นี่คือมันไม่มีผลไง แบงก์ปลอมมันใช้ไม่ได้ แต่แบงก์จริงนี่มันจะเข้าไปในท้องตลาดได้ มันแลกเปลี่ยนสินค้าได้ ไอ้ของฉันก็มีเหมือนกันเป็นปึกๆ เลย แต่พอเอาเข้าไปแล้วโดนตำรวจจับเลย มันไม่มีผล

โยม ๑ : แล้วอย่างอาจารย์บางท่านบอกว่า ถ้าจิตนิ่งให้ยกจิตมาไว้ตรงนี้

หลวงพ่อ : เขากำลังพูดถึงอะไรล่ะ เราต้องฟังเหตุผลของเขาก่อน ทีนี้คำว่าจิตนิ่งนี่นะ จิตนิ่งมันต้องยกไว้ที่ไหน เพราะเวลาจิตนิ่งมันนิ่งที่นี่ พอนิ่งแล้วนี่เอ็งยกไปที่ไหน ยกไปทำไม จิตนิ่งแล้วเวลามันคลายออกมา เขาต้องใช้งานมันทันที ก็คือวิปัสสนาเพื่อจะพ้นจากกิเลสไง คำว่ายกจิตขึ้นมาวิปัสสนา ไอ้นี่มันยกขึ้นมาไว้ที่นี่ ไว้นี่ทำเพื่ออะไรเล่า นี่พูดถึงประสาเรานะ เราอยากจะฟังเหตุผลของเขาก่อน ถ้าไม่มีเหตุผลนะ คือจิตมันยกไปไหนล่ะ ยกไปมันก็คลายแล้ว พอยกมันก็แล้วคลาย พอคลายออกมา แต่

โยม ๑ : มันอยู่ที่ไหนก็ช่างมันใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ไม่จำเป็นว่าจะต้องยกไปไว้โน่น ไว้นี่

หลวงพ่อ : ประสาเราว่ามันยกไม่ได้ด้วย เวลาจิตมันรวม เอ้า โยมลองคิดดู เวลาพระอาทิตย์ตก เอ็งจะย้ายมุมพระอาทิตย์ตกได้ไหม เพราะพระอาทิตย์มันอยู่เหนือการควบคุมเราใช่ไหม จิตมันเป็นอิสรภาพของมัน แล้วถ้ามันจะสงบเข้าสู่ฐานของมัน เอ็งจะย้ายไปไว้ที่ไหน ก็ฐานมันอยู่ที่นี่ แล้วเอ็งจะย้ายฐานไปที่ตรงนี้ แล้วมันจะมีฐาน แล้วมันก็ไม่มีฐาน มันก็.. มันเป็นไปไม่ได้หรอก

โยม ๒ : อาจารย์ แล้วที่เวลาพอนั่งๆ แล้ว มันเหมือนมีหัวใจเราเต้นอยู่ตรงนี้ ตุ้บๆๆ

หลวงพ่อ : มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้หมดล่ะ

โยม ๒ : มันเหมือนกัน แล้วให้เราก็กำหนดตรงนี้ไม่ต้องไปมองตรงนี้

หลวงพ่อ : ใช่ นั่นมันล่อแล้ว เวลากิเลสมันหลอก หลอกอย่างนี้ หัวใจเต้นอยู่นี่นะ เวลาอยู่ในป่านะ เวลานั่งสมาธิใหม่ๆ นี่ ตุ๊บตั๊บๆ มันสงัดไง แม้แต่หัวใจเต้นก็ยังได้ยินนะเว้ย เรานี่ได้ยินด้วยตัวเราเองเลย เวลานั่งเงียบๆ นะ ตุ๊บตั๊บๆ ตุ๊บตั๊บอยู่ที่นี่ใช่ไหม ทีนี้ตุ๊บตั๊บมันอยู่นี่ ใจเรามันตุ๊บตั๊บที่นี่ เห็นไหม มันต้องการให้จิตเรารับรู้ เห็นไหม กิเลสนี่ร้ายที่สุดนะ กิเลสเรานี่ร้ายที่สุด

โยม ๒ : คือไม่ให้ตามตรงนี้

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : บางทีผมนั่งอย่างนี้นะ นั่งเฉยๆ นะ ปวดมากเลยสองนิ้วนี้ โอ้โฮ ทนไม่ได้ต้องหยุด สองนิ้วนี้

หลวงพ่อ : คือกิเลสของเรานี่นะ มันจะทำอย่างไรก็ได้ให้เราไม่ปฏิบัติ แล้วพอไม่ปฏิบัติแล้วนะ พอต่อไปหมัดที่สองนะ เราไม่มีวาสนา ถ้าหมัดที่สามมันกระทืบเลยนะ เลิกเหอะ โดยธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ กิเลสมันต่อต้านการกระทำทุกๆ อย่างที่เราทำ มันต่อต้านเท่าไร ถ้าเราไม่ทำนี่นะ กิเลสพญามารมันอยู่บนฐีติจิตมันอยู่บนจิตของเรา จิตของเรานี่เหมือนบ้านของมัน ถ้าการกระทำคือจะชำระ คือทำลายบ้านของมัน มันจะยอมไหม โดยธรรมชาติของอวิชชา ธรรมชาติของมารนะ มันจะต่อต้านกับการที่เราจะหาสติปัญญาไปทำลายล้างเรือนคูหาของใจ โดยธรรมชาติของมัน

ฉะนั้น อุบายอะไรก็แล้วแต่ที่จะให้มันไขว้เขว ที่ให้มันออกนอกทาง มันจะใช้ทุกอย่าง ฉะนั้นเวลามันออกมา มันก็ออกมาจากกิเลส กิเลสมันสร้างมาเอง โทษนะ แต่เอ็งมาถามกู นี่กิเลสของตัวเอง สร้างกันเองทั้งนั้นเลยนะ แต่เอ็งมาถามกู แล้วเราก็พยายามจะตอบกลับไปที่กิเลสของเอ็งนั่น พอตอบมันก็เลยงง เราถึงพยายามอธิบายให้โยมเข้าใจ ถ้าเราได้หลักไง ถ้าได้หลักคือเรารู้ถึงว่ามันมาจากไหน แล้วเราจะสู้กับมันอย่างไร ที่เราอธิบายให้โยมฟังก็แค่นี้แหละ โดยหลักคือธรรมชาติของกิเลสมันเป็นแบบนี้ แล้วธรรมชาติของธรรมที่ว่าถ้ามันสงบแล้ว มันจะเป็นแบบที่พระพุทธเจ้าบอกเรื่องอริยสัจ แต่เวลาปฏิบัติไป มันจะมีเรื่องของกิเลสมาบังไว้อย่างนี้ แล้วพอเราปฏิบัติไป เราก็เอาความบังของมันนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วตัวสัจธรรมนี่เราไม่เห็นมัน แล้วมาถามเรา ถามมาๆ หน้าที่ของเรา กูอธิบายตรงนี้

โยม ๑ : กระจ่าง กระจ่างชัดเจน

โยม ๒ : เดี๋ยวเอาใหม่

หลวงพ่อ : จบเนอะ เอวัง