ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตแนบพุทโธ

๙ พ.ค. ๒๕๕๓

 

จิตแนบพุทโธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหาจากเว็บไซต์ เขาถาม ข้อที่ ๗๓. นมัสการ ฟังเทศน์จากเว็บไซต์แล้วจะถามปัญหา นี่คือตัวอย่างที่มีการกระทำ

ถาม : ๑.นั่งหลับตาแล้วตรึกขึ้นมาว่าวันหนึ่งเราได้ทำอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้าตื่นนอนขึ้นมาแต่ละอย่างในวันนี้ได้ทำสิ่งใดบ้าง ทำดีไม่ดีอะไรบ้างและต้องแก้ไขอะไรบ้าง โดยบางทีความคิดก็ต่อเนื่องดี และบางครั้งก็ไม่ต่อเนื่อง โดยมีความคิดอื่นแทรกเข้ามา เมื่อรู้ตัวอีกทีก็รู้ตัวว่าเมื่อกี้นี้เผลอไป ก็ตรึกในธรรมต่อไป บางครั้งกลับมาที่คำบริกรรมพุทโธ เวลานึกอะไรไม่ออก ตั้งหลักได้ก็ใช้ความคิดตรึกข้อธรรมขึ้นมาใหม่ ในบางครั้งสิ่งที่ตรึกขึ้นมานั้น ก็เป็นเนื้อหาของธรรมะของครูบาอาจารย์ที่เคยฟังเทศน์ไว้ บางครั้งตรึกขึ้นมาก็ไม่ใช่ธรรมะ เป็นเรื่องโลกๆ และส่วนใหญ่กระผมก็ใช้วิธีจดในไดอารี่ประจำวันเพื่อช่วยในการตรึกสิ่งที่ได้ทำมาในแต่ละวันขึ้นมาให้ต่อเนื่อง กระผมกราบเรียนถามเกี่ยวกับปัญญาอบรมสมาธิดังนี้

หลวงพ่อ : คำถามเกี่ยวปัญญาอบรมสมาธิไง เพราะปัญญาอบรมสมาธิเราพูดบ่อยมาก เพราะเรื่องของปัญญาอบรมสมาธิที่เขาไปใช้ว่าดูจิตๆ เขาบอกเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ ดูจิตเป็นการเพ่ง ดูจิตเป็นการเพ่งเราถึงบอกว่าเหมือนเสาไฟฟ้า เสาไฟฟ้าตามท้องถนนเวลาแสงมันอ่อน ไฟมันติดเองเวลาแสงสว่างเกิดขึ้นมันก็ดับเอง อันนั้นมันเป็นเพราะแสง มันการเป็นเพ่งมันไม่มีเหตุผล แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ตั้งแต่หลับตามา ผมขอถามกราบเรียนเรื่องปัญญาอบรมสมาธิดังนี้

๑. สิ่งที่กระผมทำนั้นถูกต้องหรือไม่ครับ สิ่งที่ผมกระทำมาตั้งแต่นั่งหลับตามาทั้งวันเวลาตรึกในธรรมตรึกต่างๆ ถูกต้องไหม ถูกต้อง ถูกต้องเพราะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำไมต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าพูดถึงปัญญา ความคิดของเราโดยปกติเป็นความคิดสามัญสำนึก เราจะคิดหรือไม่คิดก็แล้วแต่ ความคิดมันจะเกิดขึ้นโดยสังขารมันปรุงของมันโดยธรรมชาติของมัน มันปรุงของมันแล้วนะ แต่ถ้าวิญญาณรับรู้สังขารเป็นความคิดเกิดทันทีเลย ความคิดเรามีกันอยู่แล้วมันแว้บอยู่ในหัวอยู่แล้ว

แต่ถ้าวิญญาณไม่รับรู้ ถ้าวิญญาณรับรู้ปั๊บความคิดจะชัดเจนเลย ถ้าวิญญาณรับรู้ความคิดเรามีอยู่ เหมือนคลื่นสมองคลื่นไฟฟ้ามันทำงานของมันอยู่ แต่เพราะวิญญาณเราไม่รับรู้ในคลื่นสมองตัวเอง เราก็บอกว่าเหมือนความคิดไม่มี แต่ความจริงความคิดมันมีเพราะโดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ โดยธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติสามัญสำนึกของมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้เราก็ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น แล้วบอกเรามีสติเรามีปัญญาเราดูการเกิดดับแล้วเราจะรู้ธรรมะหมด เหลวไหล เหลวไหล

แต่ถ้าพูดถึงปัญญาอบรมสมาธิ หลวงตาเขียนไว้เป็นเล่มๆ เลย ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิแต่โดยหลักพุทธศาสนาสมาธิอบรมปัญญา ต้องมีสมาธิก่อนจึงเกิดปัญญา ทีนี้พอเกิดปัญญา ก็ว่าศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งปัญญา พอเราใช้ความคิดก็ว่าเป็นปัญญาๆ ปัญญานี้คือปัญญาโดยกิเลสไง ปัญญาโดยโลก แต่ถ้าเรามีสติตามความคิดไปนี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถึงบอกว่า การปฏิบัติทั้งหมด การคิดทั้งหมดผลของมันคือ สมถะ ผลของมันคือปล่อยวาง

แต่ผลของการปล่อยวาง ถ้ามีสติปัญญาถือว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสติปัญญาผลของมันคือโลก ผลของมันคือมิจฉา เพราะพอมันรู้เท่ามันก็ปล่อย ปล่อยมันไม่มีสติไม่มีตัวรับรู้ตัวเอง แต่ถ้ามันมีปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิมีสติตามความคิดไป ความคิดที่ตรึก ตรึกโดยธรรมะพระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า เห็นไหมพระโมคคัลลานะ เป็นพระโสดาบันเพราะฟังจากพระสารีบุตรฟังจากพระอัสสชิมา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ความคิดมันมีเหตุมีผลของมัน

เวลาพระสารีบุตรไปถามพระอัสสชิ พระพุทธเจ้าสอนยังไง พระพุทธเจ้าสอนว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ดับที่ผลนั้น พระพุทธเจ้าให้ย้อนไปที่เหตุนั้น นี่ความคิดมันเกิด ความคิดมันเกิดมันเกิดมาจากไหน พระพุทธเจ้าย้อนกลับไปหาเหตุ พระสารีบุตรเป็นคนฟังพระพุทธเจ้า เพราะพระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก พอฟังพระอัสสชิพูดครั้งนั้น ทึ่ง มันปิ๊งเลยนะ เป็นพระโสดาบันเพราะอะไร เป็นพระโสดาบันเพราะพระสารีบุตรฝึกมากับสัญชัย ไม่ใช่ ความคิดก็ไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา แล้วไม่ใช่เราแล้วคืออะไร ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แล้วไม่ใช่คืออะไร มันตรึกอย่างนี้มานาน แล้วคนมีปัญญามาก ศึกษากับสัญชัย จนสัญชัยสอนจนหมดพุงแล้ว พอสอนจนหมดพุงแล้ว

พระสารีบุตรก็ถามสัญชัยว่ามีอะไรต่อ มีเท่านี้ ถ้ามีเท่านี้ก็ไม่ใช่ กรณีนี้ก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า อาฬารดาบสการันตีพระพุทธเจ้าเลย นี่ได้สมาบัติ ๘ มีความรู้เหมือนเราสอนได้เป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าอรหันต์อะไรทุกข์เต็มหัวอกเลย นี่ก็เหมือนกัน พระสารีบุตรไปอยู่กับสัญชัย สอนสิ สัญชัยสอนนั่นไม่ใช่ แล้วไม่ใช่คืออะไร ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แล้วไม่ใช่คืออะไร ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แล้วไม่ใช่มีอะไรต่อไปล่ะ ก็ไม่มี พอไม่มีก็สัญญากับพระโมคคัลลานะ อาจารย์เรานี่ไม่จริง ถ้าอาจารย์เราจริง อาจารย์ต้องสอนให้เราถึงที่สุดได้ นี่อาจารย์สอนขนาดไหนมันก็ไม่สุด เพราะเรายังมีความรู้คาในหัวอกอยู่

สัญญากันไว้เลยนะ ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์เราต้องมาบอกกัน ทีนี้พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิบิณฑบาตอยู่ เห็นกิริยาภายนอกมันแตกต่างเลย เราดูสัตว์สิดูหมามันวิ่ง แล้วดูเสือมันเดินสิ ดูแมวสิดูสติของสัตว์แต่ละชนิดมันต่างกัน นี่คนที่มีปัญญาเห็นคนเดินรู้เลยว่าคนไหนมีสติไม่มีสติ ครูบาอาจารย์จะมองออกเลย ทีนี้พระสารีบุตรเห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตมองออกเลย ลองเดินตามไปถามเลย ถามว่าบวชมากับใครบวชยังไง เราเพิ่งบวชใหม่ บวชใหม่บวชกับใคร บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนมายังไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ

ธรรมทั้งหลายผลที่เกิดมาทุกข์ๆ นี่มันมีที่มามันมีเหตุของมัน ไอ้ที่เรานี้เสวยวิบากเสวยผล เวลาทุกข์ขึ้นมาความคิดเกิดขึ้นมามันเป็นผลหมดแล้ว แล้วผลนี่ความคิดมันเกิดมาจากไหนมันสาวกลับไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สาวไปนั่นปั๊บโสดาบันปิ๊งเลย ไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะฟัง ต่างคนตรึกมาด้วยกันเป็นลูกศิษย์สัญชัยมาด้วยกันปฏิบัติมาด้วยกัน

คำว่าปฏิบัติมาด้วยกัน คือมันมีฐาน พวกเรานี้ไม่มีฐานพวก เราจึงต้องมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือสมาธิอบรมปัญญากัน เพื่อจะสร้างฐาน พอสร้างฐานเราใช้คำว่าต้นขั้ว ต้นขั้วคือบัญชี เงินในบัญชีเรา การจดทะเบียนบริษัทต้องมี ถ้าไม่มีจะไม่มีที่มาที่ไปไม่มีผู้รับผลประโยชน์ จิตของคนก็เหมือนกันตอนนี้นะทุกคนปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีอะไรเลย มันก็เหมือนเราไม่มีบัญชีอะไรเลย ครูบาอาจารย์จะโอนอะไรให้ก็ลอยไปลอยมาเข้าบัญชีไม่ได้ เพราะตัวเองไม่มีฐานรับ ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีฐีติจิต ไม่มีความรับรู้

ที่ศึกษามาคืออะไร คือความคิดไง ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดเกิดจากจิต ความคิดมีอยู่แล้ว คลื่นสมองทุกอย่างในหัวใจมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วแล้วรู้อะไรเพราะวิญญาณรับรู้ เออ กูคิด พอวิญญาณไม่รับรู้นะ เออ คิดอะไรวะ กูทำอะไรวะ มันมีอยู่แล้ว พอเราไปดับสิ่งที่มีอยู่แล้วแล้วเหลืออะไรล่ะ เหลือจิต ทีนี้ถ้าเรากลับมาปัญญาอบรมสมาธิ มันจะย้อนกลับมาที่นี่ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน พอเป็นพระโสดาบันเวลาไปบวชกับพระพุทธเจ้า ไปภาวนาอยู่ พระโสดาบันนะ นั่งสัปหงก ทีนี้พระพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์เลย มาโดยการเหยียดการคู้มาถึงต่อหน้าพระโมคคัลลานะ โมคคัลลานะถ้าเธอง่วงนอน เธอจงตรึกในธรรม เธอจงตรึกในธรรม แก้พระโมคคัลลานะ ๕ อย่าง ๑.ให้ตรึกในธรรม ๒.ให้เอาน้ำลูบหน้า ๓.ให้แหงนหน้าดูดาว ๔-๕. ถ้าง่วงก็ให้นอนซะ นอนก่อนแล้วค่อยมาทำ

ทีนี้เราไม่ได้ง่วง เราต้องการความสงบ เราตรึกในธรรม คำนี้มันมีข้อยืนยันข้อยืนยันว่าพระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะให้ตรึกในธรรม ทีนี้การตรึกในธรรมของเราเราก็ตรึกในธรรม ตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้านี่แหละ ตรึกเพราะอะไรความคิดโดยธรรมชาติของมัน คิดโดยสามัญสำนึกคิดโดยเราคิดของเราไป เราคิดเรื่องอะไรล่ะมันก็คิดเรื่องกิเลสตัณหาทะยานอยาก ต้องการมักมาก ต้องการอยากใหญ่ ต้องการบวชเป็นพระก็ต้องการให้เขายอมรับ บวชเป็นพระก็อยากจะมีกึ๋น มีกึ๋นไม่มีกึ๋นย้อนกลับมาที่ใจเราน่ะเราจะรู้หมด

ถ้ามันอยากอย่างนั้นมันอยากโดยโลก ถ้ามีสติตามมันไป ถ้ามีสติตามความคิดไปโทษนะอาย อายตัวเอง เอ็งคิดอย่างนี้ได้ยังไง เพราะเราศึกษาธรรมะ ธรรมะคือสิ่งสะอาดบริสุทธิ์ แล้วพูดอย่างนี้นะความคิดเรามันหยาบ อยากให้เหมือนทำธุรกิจ อยากค้ากำไร เอ็งว่าเอ็งสะอาดบริสุทธิ์ เอ็งคิดอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าสติมันตามความคิดอย่างนี้คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราตรึกในความคิดเรา เราเห็นโทษในความคิดเรา เราอายตัวเรานะ โอ้โฮ มึงกิเลสหนาขนาดนี้นะมึงน่ะ มันว่าตัวเองได้นะ มึงนี่กิเลสหนามาก มึงนี่ใช้ไม่ได้

พอมันอาย คนเรานี่นะพอมันสำนึกตัว มันอายมันหยุดนะ สิ่งที่หยุดนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่มันหยุดคิดนั้นคือสมาธินะ แต่มันแว้บหนึ่งมันก็คิดต่อ สติปัญญาไล่มันไปเดี๋ยวมันก็หยุดมากขึ้นหยุดเร็วขึ้น หยุดดีขึ้น นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ อบรมสมาธิไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะคิดอะไรนี่สติปัญญาทันความคิดหมดเลย มันก็ไปเข้ากับธรรมะของพระพุทธเจ้าเห็นไหม

ปัญญาในพระพุทธศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วสติปัญญามันทันความคิด มันทันสังขาร ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ไอ้ความคิดที่ว่าคลื่นสมองคลื่นไฟฟ้าต่างๆ นี่มันเป็นธรรมชาติของมัน วิญญาณรับรู้มันถึงเป็นความคิดขึ้นมา พอสติปัญญามันทันไอ้คลื่นพลังงานนี้มันนิ่งหมดเลย มันเป็นอิสระหมดเลย อิสระในสัมมาสมาธินะอิสระโดยสมาธิ เพราะอิสระของมันเพราะมันไม่มีความคิดชั่วคราวเพราะมันดับกิเลสไม่ได้ ความเป็นจริงที่ว่าจิตมันหยุดแว้บ หยุดโดยธรรมชาติของมัน ความคิดเร็วกว่าแสง พอหยุดแว้บหยุดนี่มันหยุดแล้วมันคิดอีก พอคิดอีกตามไปอีก ตามไปอีก นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธินี่มันหยุดทำไป น็อตเวลามันเป็นสนิมเราไปขัน ขันไม่ออกเลย แต่น็อตถ้าเราขันออกมาแล้ว เราใส่เข้าไปแล้วขันให้แน่นแล้วขันออกมันคล่องตัวมาก มันหยุดคิดพอมันหยุด เมื่อก่อนไม่เคยหยุดเลยหยุดไม่เป็น มันก็เหมือนกับน็อตขันไม่ออกสนิมเขรอะไปหมดขันยังไงก็ไม่ออก แต่พอเราคลายออกได้แล้วแล้วเราขันไปใหม่ เราจะคลายเมื่อไรขันเมื่อไรก็ได้ นี่ก็เหมือนกันพอความคิดเราเห็นการหยุดของมันหนเดียวเท่านั้นล่ะ มึงก็หยุดได้เมื่อก่อน โอ้โฮลากกูถูลู่ถูกังเลยนะ ความคิดลากกูไปตลอดเลย

คราวนี้รู้ทันแล้ว ต่อไปถ้าขยันขึ้นมาต้องหยุดได้ หยุดได้เพราะอะไร หยุดได้เพราะความมั่นใจ หยุดได้เพราะเราทำเป็นไง หยุดได้เพราะเราเห็นไง นี่ไงสิ่งที่ทำมานี่ถูกต้องไหม ข้อที่ ๑.สิ่งที่ทำมาในธรรมะ พอบางทีตรึกในธรรมไป เมื่อวานก็มาถาม เวลามันตรึกไปถ้ามันหยุดแล้วทำไงต่อไป ผมพุทโธเลยได้ไหม ได้ สมมุติพอเราคิดไปถ้าเรามีสติความคิดไม่มีหรอก มันอายมันหยุดหมด เผลอแว้บไปคิดแล้ว ทีนี้พอสติมันทันมันหยุดแล้ว มันทำต้องอะไรต่อ มันขาดช่วง พอหยุดปั๊บทำไม่ถูก พอหยุดปั๊บมีสติพุทโธเลย พุทโธไว้ แต่ถ้าพอพุทโธไว้ ถ้ามันออกรู้ก็ตามมันไป แต่ถ้ามันหยุดปั๊บให้มันพุทโธเลย พุทโธไว้พุทโธไว้

ทำอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราต้องการฐาน โดยธรรมชาติของเราพระกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานกรรมฐาน ถ้าเราไม่มีฐานไม่มีพื้นฐานเลย เราจะไปทำอะไรกัน นี่เพราะเราต้องการฐาน ต้องการ ฐีติจิต หลวงปู่มั่นบอกเลย อวิชชา เกิดจาก ฐีติจิต พอบอกอวิชชา อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ แล้วอวิชชามันเกิดจากอะไร อวิชชามันมาจากไหน อวิชชามันก็มีพ่อมีแม่ อวิชชาเกิดจาก ฐีติจิต อวิชชาเกิดจากฐานภพ ฐีติจิต คือตัวจิตเรา อวิชชามันงอกมาจากที่นี่ ต้นพืชต่างๆ มันปลูกบนดิน แล้วไอ้ความคิดมันเกิดบนอะไร อวิชชามันเกิดบนอะไร พอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือสติปัญญามันจะเข้าไปอยู่ ฐีติจิต มันเข้าไปสู่ฐาน รักษาฐาน พอมีฐานขึ้นมางานเกิดได้แล้ว

งานเกิดได้เพราะมีกรรมฐาน เพราะเรามีพื้นที่ทำงาน เรามีพื้นที่ยืน อันนี้ยืนอยู่บนกลางอากาศเลย มันบอกกูมีแผ่นดินมีที่ มึงอยู่บนกลางอากาศมึงลงมาบนดินไม่ได้หรอกมึงไม่มีสิทธิ์ มึงไม่มีสิทธิ์ยืนบนแผ่นดิน แต่ถ้ามึงมีฐานของมัน มึงมีสิทธิ์ มึงมีพื้นที่ยืนของมึง ถ้ามีพื้นที่ยืน งานมันจะเกิดแล้วนี่เห็นไหมกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ทีนี้ถ้าทำอย่างนี้ นี่พูดถึงปัญญาอบรมสมาธิไล่เข้ามา ๑. สิ่งที่ทำมาถูกต้องไหม ถูกต้อง

ถาม : ๒.การใช้ความคิดตรึกในธรรม จำเป็นต้องนั่งหลับตาหรือไม่ หากลืมตาได้ แล้วจิตสามารถรวมได้หรือไม่ได้ครับ

หลวงพ่อ : ได้หมด ลืมตาก็ได้หลับตาก็ได้ เพราะถ้าหลับตาอย่างเดียว เดินจงกรมนะมันเดินไม่ได้ นั่งสมาธินี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วถ้าเราเดินจงกรม เราเดินจงกรมด้วยเพราะนั่งทั้งวันๆ มันนั่งไม่ได้ อิริยาบถ ๔ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพราะเราปฏิบัติกันน่ะ พระกรรมฐานปฏิบัติกันเป็นพระอาชีพ เป็นพระอาชีพไม่ใช่อาชีพพระ อาชีพพระนี่มีพระแล้วเป็นอาชีพมาบังหน้า นี่พระอาชีพนี่เขาปฏิบัติกันทั้งวันทั้งคืน เขาปฏิบัติกันตลอดชีวิต ฉะนั้นมันจะนั่งอย่างเดียวไม่ได้หรอก

ดูสิหลวงตาท่านถนัดเดินจงกรม อาจารย์สิงห์ทองท่านถนัดเดินจงกรม หลวงปู่ชอบท่านถนัดเดินจงกรม อาจารย์จันทร์เรียนท่านถนัดท่านั่ง ถ้าใครถนัดท่าไหนท่านั้นเป็นมาตรฐานคือทำท่านั้นมากที่สุด แต่ท่าอื่นก็มีแต่ทำเป็นส่วนน้อย ฉะนั้นเวลาเดินจงกรมมันต้องลืมตา ฉะนั้นลืมตาได้ไหม ลืมตาได้ แต่ถ้านั่งควรลืมตาไหม ไม่ควร เวลานั่งต้องหลับตา หลับตาเพราะอะไร เดินจงกรมนี่เวลาเท้ามันเดินอยู่ ถ้าสายตาเราไม่มองอยู่เราจะตกไปข้างทางได้ แต่พอชำนาญไปแล้วเหมือนขับรถเลย มันจะไปโดยธรรมชาติไปโดยสัญชาตญาณเดินจงกรม มันจะคล่องตัวของมันเอง

แต่ถ้านั่งลืมตานี่สายตามันลืมตาออกไปนี่มันเกิดภาพ ภาพมันเกิดสิ่งเร้ากับใจเรา ถ้าเราหลับทั้งหมด เวลาโปฐิละ โปฐิละ เห็นไหม เวลาสามเณรสอนพระมหาเถระโปฐิละ เวลาปฏิบัติให้เปรียบร่างกายเหมือนจอมปลวก มันมีเหี้ยตัวหนึ่ง คือมีจิตใจที่เลวทรามอยู่ในหัวใจเรา อยู่ในร่างกายนี้ เราจะจับเหี้ยตัวนั้นมาพิสูจน์ว่ามันดีหรือชั่ว ฉะนั้นให้ปิดจอมปลวกนั้น ๕ ทาง ให้เหลือไว้ช่องหนึ่งคอยจับเหี้ยตัวนั้น นี่ก็เหมือนกันเวลาเรานั่งลืมตามันเปิด ๕ ทวาร สามเณรพระอรหันต์สอนมหาเถระนะว่า ถ้าจะนั่งให้ปิดช่องทวาร ปิดไอ้จอมปลวกนั้นน่ะปิดทั้ง ๕ รู แล้วเหลือไว้รูหนึ่งเพื่อจับเหี้ยตัวนั้น นี่ก็เหมือนกันนั่งนะตาก็เถ่อนี่ก็ทวารหนึ่ง หูก็ฟัง ดับให้หมดหลับตาซะ

หลับตานี่ปิดทวารให้หมด แล้วเหลือไว้ช่องหนึ่งคือหัวใจที่ความรู้สึกนี้ หลับทั้งหมด ๕ ทวารแต่ความรู้สึก ใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือพุทโธนี่ช่องทวารทวารหนึ่งแล้วจะจับเหี้ยตัวนั้น แต่ถ้าเดินจงกรมทำไมถึงลืมตาได้ล่ะ ลืมตานี่เพราะสายตามันไม่ได้มองรูปแบบที่เราเปิดทวารทั้ง ๕ เปิดทวารทั้ง ๕ มันเปิดทวารรับเข้ามาเต็มๆ แต่ถ้าเดินจงกรมสายตามันทอดอยู่ที่ทางจงกรมเพื่ออะไร เพื่อไม่ไห้เราตกไปในทางจงกรม

มันไม่ใช่เอาโทษมาใส่ตัวไง ถึงเปิดช่องทางนี้ไว้ ก็เปิดช่องทางไว้นี้เพื่อความเพียร แต่ถ้าเรานั่งเราไม่ได้เอาสายตาไปจับทางเดินจงกรม มันก็ไปจับรูปรสข้างนอกมันเอาอารมณ์เข้ามา ฉะนั้นถ้านั่งต้องหลับตา ถ้าหลับตาแล้วเดินจงกรมเดินยังไงล่ะ เดินจงกรมก็ลืมตา เพราะคำถามถามมา บล็อกให้ตอบหลับตาหรือลืมตาอย่างเดียวมันไม่ได้ ถ้าบอกหลับตาอย่างเดียว เดี๋ยวไปปฏิบัติมันจะไปทะเลาะกัน

ฉะนั้นเวลาสมควรหลับตาก็ต้องหลับตา แต่ถ้าเวลาปฏิบัติมันลืมตาก็ต้องลืมตา มันก็ปฏิบัติในท่านั่ง ต้องนั่งสมาธิ นั่งสมาธินะ ถ้าเราพิการเราพิการหัวเข่าเราจะนั่งสมาธิได้ยังไง ถ้าเรานั่งสมาธิไม่ได้ แสดงว่าเรานี่ก็ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรมเลยเหรอ ถ้าเราพิการขา เรานั่งสมาธิไม่ได้ เราก็นั่งท่าอื่นได้ ถ้ามีความจำเป็นท่าที่ ๒ ที่ ๓ ก็ใช้ได้ แต่เพราะความสะดวกของเราในการปฏิบัติ อะไรที่มันมั่นคง อะไรที่เป็นประโยชน์เราต้องเอาอันนั้นเป็นอันดับแรก แต่ถ้ามันมีเหตุปัจจัยเราก็เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรตายตัว เถรตรงจนปฏิบัติไม่ได้เลยนะ แต่ถ้าไปตามกิเลส แหม..คล่องตัวเลย แต่พอจะปฏิบัตินะนู่นก็ไม่ได้นะนี่ก็ไม่ได้นะ แล้วก็เถียงกัน

ถาม : ๓.บางครั้งเกิดความคิดซ้ำในประโยคเดียว ประโยคเดียวและบางครั้งกลับเป็นเนื้อเพลงท่อนเดียวซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ทราบว่าเราใช้จริตตามความคิดนี้ ในเนื้อเพลงท่อนเดียวนั้นไปเรื่อยๆ หรือกลับมาที่พุทโธดีกว่าครับ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าพูดถึงเพลงท่อนเดียวอย่างนี้ เวลาเราคิดมันคิดโดยธรรมชาติของมัน ทีนี้พอคิดไปคิดไปกิเลสมันอยู่กับเรา มันต่อรอง ต่อรองด้วยเสียงเพลง ต่อรองเพราะอะไร เพราะถ้าเราคิดโดยธรรมเราเคยสงบได้ กิเลสนี้ร้ายนัก กิเลสนี้มันเป็นนามธรรม เวลาเราใช้สติปัญญาในความคิดเรา มันก็เป็นนามธรรมถ้าสติปัญญาทันความคิดเรามันก็หยุดได้

ทีนี้กิเลสมันต่อรองกับเรา มันไม่ใช้กำลังอะไรมาต่อรองมันเอาเพลง เอาความคิดที่ให้เราคิดไปแล้วนี่พลั้งเผลอมาต่อรองกับเรา ถ้าเป็นเพลงนี่กิเลสกับธรรมนี้มันต่อสู้กัน ถ้ากิเลสเอาเพลงมาต่อรองเรา เราก็สู้กับมัน เพลงอะไร เพลงนี้กูแต่งก็ได้กูจะแต่งเพลง๒๐ เพลงแข่งกะมึง เดี๋ยวมันหยุดเลย แต่ถ้าเราไม่ต่อรองกับมันนะ มันก็เอาเพลงนี้มาต่อรองกับเรา แต่ถ้าเราไม่มีปัญญากับมันนะ เรากลับมาพุทโธเลยอย่างนี้ ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าปัญญา

กินข้าวนะ คนไม่ชอบเผ็ดกินแต่พริกมันก็เผ็ดตายนะสิ เวลากินข้าวเผ็ด เราไม่ชอบพริกก็เขี่ยออกสิกินอย่างอื่น ถ้าเราชอบอย่างไหนเราก็กินแบบนั้น ในการปฏิบัติปัจจุบันธรรมน่ะ ต้องมีปัญญาสิ เราต้องมีปัญญาแล้วแยกแยะ คิดพลิกแพลงเอา ถ้าเราไม่พลิกแพลงเอา การปฏิบัติเวลาเกิดกิเลสกับเราเกิดจากใจของเรา แล้วเราก็ไปถามอาจารย์ อีเมลไปถามอาจารย์เลย กว่าอาจารย์จะตอบกลับมานะ กิเลสมันฆ่าเราตายแล้วเรายังไม่ได้สู้กับมันเลย

ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัตินี่ เราต้องปฏิบัติเฉพาะหน้า ใช้อุบายเดี๋ยวนั้น พลิกแพลงเดี๋ยวนั้น แล้วพอเราพลิกแพลง พอเราทำได้หนสองหนมันจะรู้มันเองนี่คือประสบการณ์ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาท่านมีประสบการณ์อย่างนี้ ท่านมีประสบการณ์อย่างนี้แล้วนี่ เรื่องอย่างนี้ นี่หญ้าปากคอก ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด เราพูดถึงหลวงปู่มั่นเลย หลวงปู่มั่นเวลาปฏิบัติใหม่ๆ ไปถามหลวงปู่เสาร์ ผมปฏิบัติไปแล้วเห็นนิมิตอย่างนั้นๆ หลวงปู่เสาร์บอกว่า อื้อ ท่านมีปัญญามากผมแก้ท่านไม่ได้หรอก ท่านต้องแก้ตัวเอง

ไปถามอาจารย์นึกว่าอาจารย์จะตอบจะช่วยนะ อาจารย์ตอบ อื้อ ท่านมีปัญญามากท่านต้องแก้ของท่านเอง หลวงปู่มั่นต้องไปสู้เอง เวลาไม่มีครูบาอาจารย์เราต้องแถกันไปเอง แต่นี่มันมีครูบาอาจารย์ แต่ในปัจจุบันเวลาปฏิบัติมันอาศัยคนอื่นมันไม่ทัน มันต้องอาศัยเราเดี๋ยวนั้นเลย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้ามันทำได้ทำเดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้ามันทำแล้วได้ผลไม่ได้ผลถ้ามาถามอย่างนี้ ได้ ไม่เกี่ยงหรอกให้ถามได้ แต่ถามอย่างนี้นะ ตอบวันนี้ไปถ้าภาวนาแล้วได้ผลนะ โอ หลวงพ่อไม่ต้องตอบหรอกรู้แล้ว เวลารู้นี่รู้ในปัจจุบันนะเวลาตอบมานี่ต้องอาศัยคนอื่น แต่นี่ถึงบอกว่า ได้ ได้ทั้งนั้น แล้วพอเราทำขึ้นไปแล้ว เราจะรู้เองอะไรดีขึ้นและไม่ดีขึ้น

ถาม : ๔.หากเนื้อหาของการใช้ความคิดนั้นเป็นเรื่องโลกๆ ไม่ใช่ธรรมะจะใช้ได้หรือไม่ครับ หรือต้องเป็นธรรมะอย่างเดียว

หลวงพ่อ : เรื่องของธรรมะถูกต้องดีมาก ตรึกในธรรม แต่ตรึกในธรรมนี่กิเลสมันอยู่กับเรา เดี๋ยวเรื่องโลกมันก็เกิดมา เรื่องโลกเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมะนี่ไม่อยากให้คิด แต่มันเป็นเรื่องสุดวิสัย มันเรื่องสุดวิสัย เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลาจะฆ่ากิเลส ถ้ำเสือเราจะเอาลูกเสือ เราต้องเข้าไปถ้ำเสือถึงจะได้ลูกเสือ นี่ก็เหมือนกัน เราจะฆ่ากิเลสเราต้องเข้าไปหากิเลสมันถึงจะได้กิเลสออกมา ฉะนั้นเวลาตรึกเป็นธรรมขึ้นมามันได้เรื่องเป็นธรรมทั้งนั้นเลย ถ้าเรื่องตรึกในธรรมนี่ธรรมะนี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่เรื่องของเราเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย แต่ถ้าความคิดเราคิดเรื่องไม่ใช่ธรรมะ นั่นล่ะกิเลส กิเลสมันแสดงตัว

ฉะนั้นถ้ามันไม่ใช่เรื่องของธรรมะ มันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราจะบังคับให้เป็นเรื่องธรรมอย่างเดียว มันกุศล อกุศล ถ้ากุศลเกิดขึ้นมาเป็นธรรมะสุดยอด แต่ถ้าเป็นอกุศล อกุศลก็ต้องเผชิญหน้ากัน ต้องสู้กันให้ดับลงเดี๋ยวนี้ ถ้าดับลงด้วยปัญญานั่นก็ปัญญาอบรมสมาธิ ฉะนั้นอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด เราบังคับไม่ได้คือเราแต่งไม่ได้ เราจะบังคับให้ทุกวันต้องอารมณ์ดีทุกวันเลย ไม่ให้อารมณ์บูดเลย มันไม่มีหรอก วันนี้อารมณ์ดีมากพรุ่งนี้ก็อารมณ์บูด นี่ก็เหมือนกันคิดธรรมะ แม้คิดเรื่องโลกมันก็เกิดอย่างนี้โดยธรรมชาติของมัน มีสติปัญญาตามอย่างเดียว ตามอย่างเดียว แล้วตามให้เห็น เห็นมันหยุดเลยพอมันหยุดทำไปเรื่อยๆ

ถาม : ๕.การตรึกข้อธรรมะขึ้นมาแล้วจดไดอารี่ไว้ จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : จดไดอารี่ไว้ เดี๋ยวมันจะจดไว้สักร้อยเล่มนะ เพราะความคิดมันเกิดเร็วมากแล้วเกิดเยอะมาก จดไว้ก็จดไป แต่การจดไดอารี่ไว้นะ พอตอนหลังไป มันเหมือนเป็นความกังวล อย่างเช่น มันมีข้อคิดข้อที่ ๑ แล้วข้อคิดมันจะพัฒนาไปเป็นข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ เพราะมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ปัญญามันจะละเอียดไป พอข้อ ๑ เกิดขึ้นนะ เดี๋ยวจะไปจดไดอารี่ แล้วพอข้อที่ ๒ จะขึ้นมาไม่ให้มันเกิด เพราะเกิดขึ้นมาเดี๋ยวลืมข้อที่ ๑ มันเลยไม่เป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าปัญญามันเกิด พอเกิดข้อที่ ๑ ถ้าเราตั้งสติดีๆ มันจะละเอียดเป็นข้อที่ ๒ ละเอียดเป็นข้อที่ ๓ ละเอียดเป็นข้อที่ ๔ ปัญญามันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไปห่วงไดอารี่ข้อที่ ๒ เกิดแล้วพยายามไม่ให้เกิดเราฝืน คำที่หลวงตาบอกมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เวลาเราเกิดความดีขึ้นมา เป็นความดีขึ้นมานะ แต่ถ้าเราติดความดีอย่างนี้ความดีที่มากกว่าเราทำไม่ได้ เขาเรียกมรรคหยาบ มรรคหยาบ มรรคละเอียด โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค คนละระดับคนละมิติความละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันมากเลย

ฉะนั้นถ้าจิตใจเราไม่วิตกกับเรื่องไดอารี่ ไม่ไดอารี่ มันจะภาวนาเป็นปัจจุบันไปตลอด ทีนี้จดไดอารี่ดีไหม จดไดอารี่ดีเพราะเขาคิด จะจดเรื่องนาย ก พอมันพิจารณาไปนาย ก เป็นคนไม่ดี พอถึงนาย ข เฮ้ยกูไม่ไปหานาย ข กูอยู่กับนาย ก เดี๋ยวกูจะลืมไป กูจะจดไดอารี่ไม่ได้ มันเลยไม่ไปสู่นาย ข นาย ก เป็นคนไม่ดี นาย ข เป็นคนดี มันจะคิดเรื่องดีเลยคิดไม่ได้มันเลยคิดแต่เรื่องชั่วๆ ไดอารี่มันมีโทษอย่างนี้ หลวงตาบอกว่านี่ปัญหานี้ ปัญหาเสมียน จะเป็นเสมียนเหรอจะจดอยู่ทุกวัน กิเลสไม่เป็นอย่างนั้นหรอก กิเลสเป็นนามธรรมแล้วเกิดอยู่ทุกวัน ไม่ต้องเป็นกังวลกับมัน จดไดอารี่จดไปจดมาเดี๋ยวก็ขี้เกียจจดเอง พอจดไปจดมาเดี๋ยวพอไปข้างหน้าไม่อยากจดอีกแล้ว ไม่ต้องให้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่มาเป็นปัญหากับเรา ในการปฏิบัติปฏิบัติไปเลย

ถาม : ๗๔. กระผมต้องการทำความจริงให้ปรากฏ กระผมเป็นผู้หนึ่งที่ฟังคำสอนการดูจิตมา ดูเงาของจิตต่างๆ มาก็ว่าไปนู่น กราบเรียนหลวงพ่อดังนี้ ผู้ที่ดูเงาผู้ที่ภาวนาดูเงาของจิตรู้สึกว่ามีความสุขทุกข์น้อยลง จะอธิบายอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : คือเขาบอกว่า กระผมต้องการทำความจริงให้ปรากฏ คือเขาหลงไปอยู่พักหนึ่ง แล้วตอนนี้ข้างหลังเขาขอขมามาด้วย ทีนี้เขาบอกเขาต้องการให้ปรากฏ ทีนี้เพียงแต่ว่าเขาแสดงเวลาเขาคุยกันเรื่องการปฏิบัติมันไม่มีข้ออธิบายให้เขา

ถาม : ผู้ที่ภาวนาดูเงาของจิตแล้ว รู้สึกว่ามีความสุขทุกข์น้อยลงจะอธิบายเขายังไง

หลวงพ่อ : ก็บอกภาวนาแล้วสบายๆ ไม่ต้องมาสอนนะ เมื่อก่อนภาวนาแล้วทุกข์มากเลย เดี๋ยวนี้ภาวนาแล้วสะดวกสบายขึ้นเยอะเลยจะผิดตรงไหน มีความสุขมากขึ้นมีทุกข์น้อยลง จะอธิบายกับเขายังไง มันก็เหมือนเรา ถ้าเราไปจับสิ่งใดอยู่ เราหมกมุ่นกับสิ่งใดเราก็รู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราปล่อยอารมณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอยู่กับอารมณ์ใหม่ มันก็จะปล่อยอารมณ์สิ่งนั้นมา มันไม่มีอะไรดีขึ้นไปหรอก อย่างการถือศีลทุกคนพูดคำนี้หมดในการปฏิบัติ เมื่อก่อนเป็นคนโทสะเมื่อก่อนเป็นคนขี้เหล้าเมายา เดี๋ยวนี้พอปฏิบัติธรรมเลิกหมดเลย เป็นคนดีหมดเลย อย่าเอาเหล้ามาตั้งนะเดี๋ยวแม่งกินอีก

นี่ก็เหมือนกันไอ้เลิกมันเลิกตอนนั้น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเป็นคนโทสะมากเลยเดี๋ยวนี้ไม่มีโทสะเลย หลวงพ่อนี่กำลังโทสะแรงที่สุดเลย ไม่ใช่โทสะนะไอ้นี่เป็นหน้าที่ เวลาพูดนะคำว่าโทสะ ทุกข์มากขึ้นสุขน้อยลง สุขมันสุขในอะไรล่ะ ความสุขน่ะมันโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ความสุขในสมาธิ สุขอย่างใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ในขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือรวมใหญ่ หลวงตาพูดบ่อย ถ้าคนไม่เคยรวมใหญ่ไม่รู้หรอก คนไม่เคยรวมใหญ่คือคนไม่ถึงอัปปนาสมาธิ จะไม่รู้จักว่าอัปปนาสมาธิเป็นยังไง มีแต่ชื่อของมัน แล้วก็จินตนาการเอา

เห็นครูบาอาจารย์บอกว่า อัปปนาสมาธิ เป็นอย่างนั้นๆ ก็คาดหมายเอา พอบอกโอ้ย พอมันนิ่งหมดเลย พอมันนิ่งมันสักแต่ว่ารู้ก็จินตนาการไปเอง พอจิตมันเป็นเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้ค่าตัวเองไง แม้แต่ความสุขของสมาธิมันก็แตกต่าง ความสุขของเวลาใช้ปัญญามันสำรอกกิเลสออกแต่ละชั้นมันก็แตกต่าง ฉะนั้นบอกว่ามีความสุขมากแล้วทุกข์น้อยลงนี่ คำว่าทุกข์น้อยลง มันไม่บอกว่าไม่มีทุกข์เลยนี่ มันทุกข์น้อยลงมันก็มีทุกข์อยู่ไง มันเหมือนอารมณ์เราเปลี่ยนแปลงเฉยๆ มันมีนะ เวลาปฏิบัติไปที่ว่าสุขๆๆ แต่พอตอนหลังเขาบอกว่าทุกข์มาก เพราะประสาเราว่าเหมือนกับฝี มันมีหนองอยู่มันก็ปวดของมันอย่างนั้น

นี่พูดถึงหนึ่งนะ ต้องอธิบายให้เขาได้ยังไง อธิบายเขามันต้องมีหลักของเราก่อน อธิบายหมายถึงว่าถ้าเราภาวนาได้หรือเรามีจุดยืนของเราได้ เราจะรู้ของเราเอง เหมือนมือเรานี่ เราไปจับสิ่งที่ของเหม็นแล้วเราล้างแล้วเราจะรู้ว่า เราจะล้างยังไงให้ของเหม็นมันออกจากมือเราไป ไอ้นี่เราจับของเหม็นมาแล้วเราก็ดมแล้วก็วางไว้แล้วก็ดมแล้วก็วางไว้แล้วก็ดม มือที่มันจับของเหม็นมามันชอบดมตลอดไม่รู้เป็นอะไร นี่ก็เหมือนกัน ความสุขนี่เกิดมายังไง เพราะเราไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราล้างความเหม็นออกจากมือเราไปแล้ว

เราบอกไอ้ของเหม็นมันติดอยู่ที่นิ้วมือ เวลาล้างไปแล้วมันก็ออกไปเอง ล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นนี้มันจะจางออกไปมันจะไม่มี ถ้าอย่างนี้เราไปอธิบายให้เขาเข้าใจได้

ถาม : การดูไตรลักษณ์แบบนี้ คือสัจธรรมง่ายๆ ทั่วไปเช่นเดียวกับที่เรารู้ว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใช่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพูดอย่างนี้มันก็ถูกแต่มันถูกไม่หมด ถ้าบอกว่ามันเป็นไตรลักษณ์ทั่วไป มันเป็นความง่าย เป็นเรื่องของโลกที่การ เกิด แก่ เจ็บ ตายโดยข้อมูลพื้นฐานใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว มันก็ถูกต้อง

แต่ถ้าพูดถึงหลักสัจจะความจริงเขาจะบอกว่า โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ปัญญานี้เป็นสุตมยปัญญา การศึกษา สุตมยปัญญา การศึกษามาทุกคนศึกษาได้แล้ว ศึกษามามันก็รู้กันได้ จะจบ ๑๐ ประโยค ๒๐ ประโยค ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ มันก็ศึกษาทางโลกทั้งนั้น แต่ถ้าพูดถึงคนปฏิบัติ ไม่มีปริญญาไม่มีกระดาษแผ่นใดเลย แต่ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญา นี่มันคนละมิติ ภาวนามยปัญญามันเกิดจากโลกุตตรธรรม เกิดจากสิ่งที่จะชำระกิเลสออกไป ถ้าจะเอ่ยไปมันจะรู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยเป็นจริง แต่โดยดอกเตอร์โดยความรู้ทั่วไปมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องโลก ถ้าคนไม่ภาวนา มันจะไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเรื่องโลกกับเรื่องธรรมมันเป็นยังไง นี่ถ้าอย่างนี้คือปัญญาจากโลกไง

มันเป็นโลกียปัญญา คือปัญญาเกิดจากการศึกษา ปัญญาเกิดจากความจำ แม้แต่เกิดจากความจำนี่ยังเกิดจากความจำของคนอื่นมา นี่เขาบอกตอนนี้บอกเศรษฐกิจจะดีมากเลย พรุ่งนี้เช้าจะมีเงินอีกแสนล้านมาแจกประชาชน จำได้แสนล้านพรุ่งนี้กูจะได้เงินแสนล้าน อู้หูยดีใจไปหมดเลย ความดีใจคือความสุขชั่วคราว แต่ความจริงไม่มีนี่คือความจำ แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำมาหากินกัน เราทำหน้าที่การงาน เราส่งสินค้าไปแล้ว พรุ่งนี้เขาส่งเช็คมาให้ เราจะไปเบิกได้อีกแสนล้าน ของจริงนะ ของจริงเพราะอะไร ของจริงเพราะ เราทำสินค้านั้นใช่ไหม เราส่งไปให้เขาใช่ไหม เขาจ่ายเงินเรามาถูกต้องจริงไหม เป็นของใครของเราใช่ไหม นี่ไง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าอย่างนี้เกิดขึ้นมาจริง มันจะเป็นความจริง

ถาม : บางคนเอาคำสอนผิดๆ นี้ไปเทียบกับคำสอนอาจารย์ท่านอื่น ทำไมจึงกล่าวว่าเหมือนกัน

หลวงพ่อ : เหมือนกันก็คือจินตนาการ ถ้าไม่เหมือน มันก็จินตนาการให้เหมือนอยู่แล้ว แล้วคำพูดนี่มันเป็นคำเดียวกัน หลวงตาบอกว่า สมมุติมีแค่นี้ พอสมมุติมันมีแค่นี้แล้ว สมมุติคือภาษามันมีแค่นี้ ความรู้ของเรามันลึกซึ้งกว่านี้แล้วมันกว้างขวางกว่านี้ แต่เราจะอธิบายให้เขาฟังได้ยังไง อย่างนี้มันย้อนกลับมาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าไง พระปัจเจกพุทธเจ้านี่รู้แต่สอนไม่ได้เขาว่ากันอย่างงั้น แต่เราบอกว่า ไม่ใช่ พระปัจเจกพุทธเจ้านี่รู้แล้วสอนได้ด้วย

แต่การสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ สอนด้วยความรู้สึกของพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้านี่บัญญัติศัพท์ บัญญัติศัพท์เป็นพระไตรปิฎกออกมา อย่างเช่นขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ พระพุทธเจ้าบัญญัตินี่สมมุติบัญญัติ ในพระไตรปิฎกคือบัญญัติไว้ นี่พอบัญญัติไว้คือมันเป็นทางวิชาการ นี่ไง ฉะนั้นจะบอกว่าสิ่งที่ว่าเหมือนกัน มันเหมือนของใคร เราตีความหมายยังไงมันถึงว่าเหมือน เพราะเราไปคิดกันเองว่าเหมือน มันถึงว่าเหมือนไง เราไปคิดกันเองแล้วเขาคิดกันเอง แล้วประสาเราว่ามันหลอกกันง่ายๆ หลอกง่ายๆ เพราะอะไร เพราะพวกเรานี่ปัญญาโลกๆ ไง

ปัญญาจำกันมาเหมือนกัน พอเขาจำมาพูดเหมือนนะ กิน อ้าว เขากิน พอเขาเสวย ใครเสวยวะ ใครเสวย ก็ในหลวงเสวยเว้ย บอกว่ากินนี้รู้กันหมดนะ พอบอกเสวยนี่ไม่กล้ากินนะ เชิญเสวยอาหารนี่ไม่กล้าแตะเลย กลัวหัวขาดไง แต่สมมุติมันก็มีเท่านี้ คำว่าเหมือนนั้นมันตีความของมันเอง แล้วมันเหมือนมันก็เหมือนเพราะเราคิดเพราะเรามีปัญญาเท่านี้ ครูบาอาจารย์คำพูดเหมือนกันนี้แหละแต่จับได้หมดล่ะ สุดท้ายนี้กราบขอขมาที่เคยเห็นผิด เคยล่วงเกินหลวงพ่อไว้เยอะมาก นี่ขอขมา

ถาม : ๗๕. เรารออันนี้ เราจะอธิบายอันนี้ จิตกับพุทโธเป็นเหตุที่ต้องทำหรือเป็นผลที่เกิดจากคำบริกรรม ทำพุทโธไง คำถาม อาจจะไม่พัฒนานะ โห ยาวมาก เขานั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ ถือศีล ๘ ด้วย ทุกวันนี้เวลามีคิดแลบตลอดเวลา หลวงพ่อเคยสอนว่าไม่ต้องสนใจกลับมาอยู่ที่พุทโธอย่างเดียว ผมก็เลยลองดูตลอดแนวทางมา ผมสังเกตได้ว่า ๑. ถ้ามันแลบออกไปแล้วสติไม่ดี มันจะเป็นพุทโธแบบสักแต่ว่าพุทโธอย่างนั้น แล้วหลงไปคิดเรื่องอื่นยาวๆ

หลวงพ่อ : เหตุผลนี่คือว่าจะพุทโธก่อนหรือเป็นผลของพุทโธไง

ถาม : จิตแนบกับพุทโธเป็นเหตุที่ต้องทำหรือเป็นผลที่เกิดจากคำบริกรรม

หลวงพ่อ : เวลาตอบปัญหาที่เขียนมานี้ เพราะว่าผู้ปฏิบัติใหม่ พอผู้ปฏิบัติใหม่มันก็กำลังลังเลสงสัย เพราะเราบอกว่าพุทโธๆๆๆ ไปจนจิตกับพุทโธนี้เป็นอันเดียวกัน พอจิตกับพุทโธเป็นอันเดียวกัน คือเป็นสมาธิเราจะรู้ของเราเอง เช่น เราพุทโธๆๆๆๆ ไปจิตมันมีฐานของมันมาก จิตมันมีหลักของมันมาก พุทโธๆๆๆ ไปพอจิตมันเป็นหลักของมันมากมันก็มาอยู่ที่หลักของมันใช่ไหม

คำว่าพุทโธมันจะจางไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่มันหาย ไม่ใช่ให้มันหาย ไม่ใช่ที่ว่ามันหายไป แต่เพราะจิตมันมีฐานของมัน มันกลับมาเป็นตัวของมัน มันกับพุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรม มันปล่อยเข้ามาจนเป็นตัวของมัน พุทโธนี่จะเบาไป อันนั้นจิตกับพุทโธถึงเป็นอันเดียวกัน จิตที่แนบกับพุทโธเป็นเหตุ ต้องทำ เพราะจิตที่แนบพุทโธ เรานึกพุทโธๆๆๆ เพราะจิตมันพึ่งตัวเองไม่ได้ จิตนี้มันพึ่งตัวเองไม่ได้ จิตนี้เป็นนามธรรมย่อมไม่มีสติ แล้วมันเป็นนามธรรมแม้แต่ หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ว่าถ้าเป็นธรรมธาตุแล้ว ธรรมธาตุออกมาแสดงธรรมไม่ได้

ฉะนั้นตัวธรรมธาตุ ตัวธรรม ตัวจิตมันจะต้องเสวยอารมณ์ เสวยขันธ์ ความคิดนี่เป็นขันธ์ เป็นขันธ์ออกมาแสดง ฉะนั้นเมื่อออกมาแสดง มันเสวยอารมณ์มันถึงออกมา ฉะนั้นถ้าจิตมันเป็น พุทโธๆๆๆ จนมันเป็นตัวมันเองแล้วมันถึงเป็นตัวมันเอง แต่ถ้าเป็นตัวมันเองมันพึ่งไม่ได้ มันต้องพุทโธๆ พุทโธตลอดเวลา เป็นเหตุที่ต้องทำ จิตที่แนบกับพุทโธนี้เป็นเหตุต้องทำ หรือเป็นผล ผลมันจะเกิดจากที่มันเป็น เวลามันเป็นผลน่ะมันรู้เอง แต่ถ้ายังไม่เป็นผล พุทโธๆๆๆๆ เข้าไปแล้วมันแลบไปต่างๆ นี่มันไม่ใช่ผล

ไอ้นี่มันคือการต่อต้าน กิเลสมันแฉลบ กิเลสมันแฉลบออกนอกข้างทาง พอกิเลสมันแฉลบปั๊บ ไอ้นี่มันพุทโธหรือไม่พุทโธ มันไม่ใช่พุทโธหรือไม่พุทโธ มึงไปแล้ว มึงแฉลบไปแล้ว พอแฉลบไปก็กลับมาตั้งสติและพุทโธต่อไป ถ้าแฉลบเหมือนนักมวยเลย นักมวยถ้า เก๊ง!ระฆังหมดยกนะ เขาให้น้ำได้ถ้าระฆังไม่หมดยกมึงไม่มีสิทธิ์ให้น้ำนะมึง ถ้ามึงเดินเข้ามุม เขาจับแพ้นะ อย่าคิดว่า แหม พุทโธๆ เดี๋ยวๆ ขอเข้ามุมก่อน เอ็งจะเข้ามุมได้ต่อเมื่อกรรมการเขาตีระฆัง นี่ก็เหมือนกัน มันต้องพุทโธตลอดไป

แล้วถ้ามันหมดเวลา มันเคาะระฆัง จิตมันลงของมัน นั่นน่ะมันเป็นขั้นตอนที่นักมวยจะได้พัก ได้พักเพราะมันหมดยก แล้วเขาจะเข้าไปที่มุม แล้วเขาจะให้น้ำ แต่ถ้ายังไม่ตีระฆังนะ พุทโธๆๆๆ แล้วมันแลบๆๆๆ ถ้าเขายังไม่หมดเวลานะ ไม่ได้หรอก ฉะนั้นจิตที่แนบกับพุทโธนี้เป็นเหตุที่ต้องทำ ถ้าระฆังยังไม่ดังเป็นเหตุที่ต้องพุทโธไปเรื่อยๆ หรือเป็นผลผลนี่มันเกิดขึ้นมาคำบริกรรม

ถาม : ๑.ถ้ามันแลบแล้วสติไม่ดี มันจะเป็นพุทโธแบบสักแต่ว่าพุทโธอย่างนั้น แล้วหลงไปคิดเรื่องอื่นยาวๆ

หลวงพ่อ : สักแต่ว่าเพราะมันแลบใช่ไหม

ถาม : ๒. แลบแล้วอัดพุทโธเร็วๆ เข้าไป ก่อนที่มันจะคิดยาว บางทีมันก็ไม่ชัด คือเป็นพุทโธ โธๆๆๆๆ ไปเลยพุทหายไป ตรงนี้ผมคิดว่าไม่เป็นประเด็น แต่ขอให้จิตเราอยู่กับอารมณ์ตรงนั้นเป็นใช้ได้ หรือบางทีคิดประโยคขึ้นมา จะด่าจิตให้มันนึกแต่พุทโธอย่างเดียว บางทีเดินจงกรมไปตีอกชกตัวตัวเองไปด้วย ด่าตัวเองโดยพูดแรงๆ ไปอะไรแบบนั้น หรือไม่ก็เดินไวๆ มันก็ยังคิดแลบอยู่ดี จึงอยากเรียนหลวงพ่อว่า การที่จิตเราจะบริกรรมโดยไม่มีความคิดแลบออกมาอย่างนั้นเลย เป็นเหตุที่เราต้องอยากให้เกิดขึ้นให้ได้ หรือว่าเป็นผลที่เกิดจากการบริกรรมพุทโธจนชำนาญอย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : ถ้ามันแลบนะนี่เราก็พุทโธไวๆ อยู่แล้ว การด่า เวลาเราด่าเราเอง ใช้คำว่าด่าเลยด่าจิตนี่เราด่าเราเอง หมายถึงว่าเราหาความบกพร่องของเราเอง นี่เป็นคนดี ทีนี้เพียงแต่ว่าเราไม่ต้องไปเกร็งจนเกินไป เราต้องย้อนกลับมาหาเหตุผลด้วย เช่นว่าเราทำงานโดยทำเต็มที่แล้วนี่ แต่จิตยังไม่ลงต่างๆ ยังไม่ลง เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ถ้าใครภาวนาพุทโธๆ หรือปฏิบัติแล้วมันยังแบบว่า ถึงที่สุดแล้วมันยังไม่ได้ผล ท่านจะบอกว่าให้ไปอยู่กับเสือ ให้ไปเที่ยวป่าช้า ท่านจะเปลี่ยนวิธีการไป

เราจะบอกว่า เราลงเต็มที่แล้วเราพยายามพุทโธๆๆๆ ทุกอย่างเลย ตีอกชกตัวทุกอย่างเลยเพื่อจะให้ลง เราก็ต้องอยากให้ลงจริงอยู่แล้ว แต่เพราะความอยากแล้วเราไม่มีเหตุผลผ่อนปรน เหตุผลของมัน ดูพระกรรมฐานเราเวลาเข้าพรรษาจะถือธุดงค์กันหมดเลยผ่อนอาหารมัน อย่างเช่นเคยกินจนเต็มที่แล้วก็กินน้อยลง ครึ่งกระเพาะ สิบคำห้าคำ ถ้ายังภาวนาไม่ได้ลดไปเรื่อยๆ ถ้าลดไปเรื่อยๆ แล้วเวลาตั้งสติ เวลากลางคืนถือเนสัชชิกไม่นอนฝืนทนกับมัน พลิกแพลงหาเหตุผลตลอดเวลา

ถาม : การที่จิตเราบริกรรมแล้วไม่มีความคิดแลบออกไปเลยนั้น เป็นเหตุที่เราต้องอยากได้

หลวงพ่อ : ใช่ เราอยากได้อย่างนั้น แต่เพราะเราอยากได้ แล้วเราไปสร้างจิตของเราให้เป็นโลก ให้เป็นโลกเหมือนกับเป็นวิทยาศาสตร์ไง เป็นสูตรเห็นไหม หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสี่ เราเป็นสูตร พอเป็นสูตรเราไปสร้างจิตของเราไว้ แต่กิเลสมันไม่ยอมเป็นสูตรกับเรา กิเลสมันคอยแลบตลอดเวลา

ฉะนั้นเราจะมีสูตรสำเร็จไม่ได้ ถ้าเป็นสูตรสำเร็จนี่เขาเรียกเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว เราจะไม่ให้แลบเลยแล้วเราไปสร้างไว้นะ จะไม่ให้แลบเลยเอาปูนโบกไว้เลยนะ จะไม่ให้มีรูออกเลยนะ มันก็ทะลุปูนออกมา มันทะลุออกมา ความคิดน่ะ ฉาบไว้เลยไม่ให้ออกทะลุปูนฝั่งนู้น เมื่อกี้กูเป็นคนฉาบเองกูรู้ฝั่งนู้นมันไม่มีอะไร มันคิดไปก่อนแล้ว เราจะบอกว่าถ้าเราตั้งกติกาเหตุใดขึ้นมา กิเลสมันจะเอาเหตุผลที่เราตั้งขึ้นมาเป็นข้อต่อรอง

นี่ถ้าจะไม่ให้แลบเลยนะ ถ้าเราตั้งสติใหม่ถ้ามึงจะแลบ มึงก็แลบไปสิ กูมีสติตามมึง พอแลบปั๊บสติตามปั๊บมันก็กลับมา แต่นี่เราไปเกร็งไง เราจะไม่ให้แลบเลย เราจะไม่ให้แลบเลย มันเหมือนขโมยกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่รักษาขนาดไหน อย่าเผลอนะ ขโมยมันฉกได้ทั้งนั้นล่ะ จะรักษาขนาดไหนนะ มันก็หาย เพราะคนรักษากับคนขโมยมันคนละคน คนขโมยมันมีโอกาสมันเอาได้ตลอด ไอ้คนรักษาก็รักษาเกือบตาย ย้อนกลับมานี่ นี่คือการรักษาจิต จะไม่ให้แลบเลย แล้วกิเลสมันก็แลบอยู่ตลอด แล้วก็จะรักษาให้เป็นให้ตายเลย

แต่ถ้าเรากลับไปนะ เราบอกสมาธินี่เกิดจากอะไร สมาธิเกิดจากคำบริกรรม สมาธิเกิดจากสติปัญญา ถ้าเรารักษาสติปัญญานะ สมาธิถึงถีบมันไปมันยังไม่ไปเลย เอ็งบริกรรมไว้พุทโธๆ นี่เอ็งชำนาญนะ สมาธินะ กูไม่เอามึงกูไม่เอามึง ไม่เอาสมาธิเลยนะ สมาธิก็เป็นสมาธิ แต่นี่จะทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ นะ สมาธิ รักษาสมาธินะ พอว่างๆ รักษาว่างๆ กลัวมันจะไม่ว่าง เสื่อมหมด

ไอ้แลบๆ ก็เหมือนกัน ถ้าจะไปรักษาที่แลบๆ แลบๆ มันจะแลบออกเราจะไปรักษามัน ต่อไปนี้นะมึงจะแลบ แลบไปเลยวันนี้ให้แลบสักแสนหน แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ มึงจะแลบก็แลบไปสิ มันไม่แลบเลยนะเพราะเราเปิดให้มันแลบ ตอนนี้กูให้มึงแลบได้แสนครั้งเลย เพราะเราไปตั้งไอ้แลบไม่แลบนี่เป็นประเด็น กิเลสมันเอากรณีนี้มาหลอกเรา แล้วก็ทำให้ล้มลุกคลุกคลานไป เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อแลบหรือไม่แลบ เราปฏิบัติเพื่อจิตสงบ เราปฏิบัติเพื่อผ่อนคลายจิตของเรา แต่ถ้าเราผ่อนคลายจิตของเรา ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันสงบก็โอเค แล้วเราก็ตั้งสติพุทโธไป โดยใช้ปัญญาอบรมสมาธิไป จนกว่าจิตจะสงบ

พอจิตมันสงบแล้ว สงบบ้างเล็กน้อย หลวงตาท่านบอกว่า ให้หัดออกใช้ปัญญา ปัญญานี่ใช้ได้ทุกกรณี แม้แต่ปัญญาอบรมสมาธินี้ก็คือการฝึกใช้ปัญญา แต่ถ้าเราพุทโธๆ จนจิตเป็น อัปปนาสมาธิ ออกมาเป็น อุปจาระ แล้วเราค่อยใช้ปัญญา เราคิดแต่ว่าเราจะใช้สมาธิแล้วค่อยใช้ปัญญา การมีสมาธินี้ ถ้ามีสมาธิแล้วปัญญาที่เกิดขึ้นมามันจะเป็น โลกุตตรธรรม มันจะเป็นปัญญาใน อริยสัจ มันเป็นปัญญาที่ไม่มีกิเลสบวกเข้ามา มันจะเป็นปัญญาที่ฆ่ากิเลส แต่มันจะเกิดขึ้นได้ มันต้องมีสมาธิ ทีนี้สมาธิของเรานี่พื้นฐานมันยังไม่มั่นคงพอ

เราก็ต้องใช้ปัญญานี่ ปัญญาฝึกฝนให้ไอ้แลบๆ นี่ให้กิเลสที่มันแลบออกมา ให้สมาธิที่มันไม่มั่นคง มันใช้ปัญญาอย่างนี้ ฝึกมาให้สมาธิมันมั่งคงขึ้น ฝึกมาให้เห็นการกระทำที่มันมีข้อต่อรอง มีกิเลสกับธรรม ถ้ากิเลสมันมั่งคง มันจะแลบบ่อยมาก มันจะทำให้เราฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันจะแลบน้อยลงแล้วสติเราจะมั่งคงขึ้น สมาธิเรามั่นคงขึ้น การว่ามั่นคงขึ้นมันเกิดจากใช้ปัญญาการตรวจสอบ ว่าถ้ามันแลบมันก็กิเลสถ้าไม่แลบมันก็ธรรมมันเห็นตรวจสอบอย่างนี้ มันก็ใช้ปัญญา แต่ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญา สมถะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาใช้ได้ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเป็นวิตกกังวลอยู่อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งที่ว่าเมื่อไรจะได้ใช้ปัญญา ยังไม่มีสมาธิเลย ยังปฏิบัติไม่ได้เลยแล้วปัญญาจะเกิดเมื่อไร แล้วรอปัญญาอีกห้าชาติปัญญาจึงได้เกิด ปัญญาใช้ได้ทุกสถานแต่ที่ เราเน้นย้ำว่าปัญญานี้เป็น ปัญญาสมถะ เป็น ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วใช้ปัญญาไปบ่อยๆ

แต่ที่มันพลาดกันอยู่นี่ เพราะพอมันใช้ปัญญาแล้ว ก็ไปบอกว่าวิปัสสนาเกิดแล้ว โอ้โฮ ปัญญา มันเกิดแล้ว โอ้โฮกิเลสมันตายหมดเลย เมื่อกี้เห็นฆ่ามันอยู่ข้างหลังนะ พอไปเจอข้างหน้ากิเลสเกิดอีกแล้ว มันเป็นการหลงผิดใช่ไหม แต่ถ้าเราทำของเราไปเรื่อยๆมันจะพิสูจน์ตรวจสอบเราไปเรื่อยๆ ฉะนั้นถ้ามันพิสูจน์ตรวจสอบ เราจะรู้เองนะ ถ้าเป็นสมาธิหรือเป็นปัญญาหรือเป็นสิ่งที่มันดีขึ้น ถ้ามันเสื่อมหรือมันฟุ้งซ่านรู้เลยว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะเราผิดพลาด เราพลั้งเผลอ เพราะมีกิเลสแล้วเราไม่ได้ถอนรากถอนโคนมัน

พอมันเกิดขึ้นมาอีก ก็สู้กับมันอีก เพราะหลวงปู่มั่นท่านก็ผิดพลาดมาเยอะ พระพุทธเจ้า ๖ ปี คนที่ปฏิบัติแล้วไม่ผิดเลยไม่มี หลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์ อย่างเรานี่ปฏิบัติ ถ้าให้พูดถึงว่าเราหลงนะกูหลงมาพูด ๓ ปีไม่จบเลย ความคิดมันเร็วขนาดไหนแล้ววันหนึ่งมันคิดได้ร้อยแปดพันเรื่อง แล้วมันก็หลงไปนะ เป็นอรหันต์วันหนึ่งสิบๆ หน แล้วเป็นจริงไหม ตอนที่มันคิดมันก็ว่ามันจริง แต่พอมีสติแล้วไม่จริงสักทีไอ้หน้าไม่อายโกหกตัวเอง โกหกตัวเองตลอด

ความคิดมันเกิดทุกคน หลงผิดทุกคน เพราะคนที่ถามมาส่วนใหญ่จะบอกว่า ทำสมาธิอยู่นี่ เมื่อไรจะใช้ปัญญาล่ะ แล้วปัญญาเมื่อไรจะได้ใช้สักที แล้วเมื่อไรจะได้ฆ่ากิเลสล่ะ เพราะความอยากได้จนด่วนได้ บอกว่าจะฆ่ากิเลสก็เลยให้เป็นเหยื่อของสังคม ใครมาเสนอทฤษฎีว่า ชำระกิเลสได้ง่ายๆ มันไม่ใช่โรงฆ่าสัตว์นะ ถ้าโรงฆ่าสัตว์มันจะฆ่าโรงฆ่าสัตว์ซีพีมันจะฆ่าไก่วันหนึ่งเป็นล้านๆ ตัว แล้วกิเลสมึงมีกี่ตัวมึงจะให้มันฆ่า ถ้าโรงฆ่าสัตว์น่ะมันฆ่าได้

แต่การฆ่ากิเลสนี่ มันไม่มีโรงงานที่ไหนให้ฆ่า มันจะมี อริยสัจ มี มรรคญาณ เกิดจากจิต ใครมีกิเลสมีมารอยู่ตัวเดียวในหัวใจของทุกๆ คน แล้วถ้าฆ่านี่มันฆ่าลูกของมาร หลานของมาร เหลนของมาร พ่อของมาร แล้วเดี๋ยวมันจะฆ่าพญามาร มันจะมีโรงงานอยู่โรงงานเดียว โรงงานในหัวใจของเรา ไม่มีโรงงานอื่นจะมาฆ่าแทนกันได้ ไม่ใช่โรงงานฆ่าสัตว์ มันบอกเขามีโรงงานฆ่าสัตว์เขาจะฆ่าได้เยอะแยะไปหมด ไอ้เราก็เชื่ออยากจะมีโรงงานฆ่าสัตว์กับเขา ธรรมดาโรงงานฆ่าสัตว์เขาเอาไว้ฆ่าสัตว์ ไอ้นี่มันเอาชีวิตมนุษย์ไปให้เขาฆ่า ฆ่าคุณงามความดี ฆ่าความพร้อมของเราไง

ฉะนั้นไม่ต้องไปตื่นเต้นกับเขา ใครมีโรงงานฆ่าสัตว์ ปฏิบัติง่าย รู้ง่าย ฆ่ากิเลสได้ง่ายๆ ก็เรื่องของเขา เราไม่ต้องการ เราไม่ต้องฆ่าสัตว์ เราถือศีล ๕ เราปาณาติปาตาไม่ฆ่าสัตว์ไม่ทำลายสัตว์ ไม่ทำลายใครเลย แต่จะฆ่ากิเลสเพราะการฆ่ากิเลสนี่ พระพุทธเจ้ายกย่องว่าประเสริฐที่สุด เราจะฆ่ากิเลสเราไม่ฆ่าสัตว์ ฉะนั้นเราจะฆ่ากิเลสเราต้องฝึกใช้ปัญญาของเรา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็จะย้อนกลับมาสู่ความสงบ แล้วพอสงบเป็นพื้นฐานขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมามันจะวิปัสสนา ขึ้นมาเลยในตัวมันเอง

แล้วตัวมันเองแล้วคนที่ปฏิบัติมันจะรู้เลยว่า อ้อ ปัญญาอย่างนี้กับปัญญาที่เราเคยพิจารณามามันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันชัดเจน ถ้าไม่แตกต่างกันชัดเจน ทำไมต้องมี ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ทำไมมันต้องมี โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรคล่ะ ทำไมไม่มีมรรคเดียวล่ะ ทำไมมรรคมันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันหมด ปัญญามันแตกต่างกันหมด การฆ่ากิเลสมันแตกต่างกันหมด ถ้ายังไม่ปฏิบัติยังไม่รู้มันก็เอาหัวชนฝาไปนี่ล่ะ แต่ถ้ามันรู้แล้วนะ มันเห็นเอง

๔ สลึงเป็น ๑ บาท มันมี ๔ สลึงเป็น ๑ บาท มันคนละสลึงกัน ใน ๑ บาทมี ๔ สลึง ถ้ามันบอก ๑ สลึงคือ ๑ บาทก็เรื่องของมึง มึงว่าของมึงไป แต่ถ้าของเรา ๔ สลึงเป็น ๑ บาท มรรคมันคนละมรรค

ฉะนั้น มันเป็นเหตุนะ เราต้องบริกรรมไปเรื่อยๆ ทีนี้ตอนนี้เพราะรู้ว่าอาการแลบมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ดี แล้วมันตัดทอนเราถึงพยายามจะฆ่าอาการแลบ คำว่าอาการแลบนี่แลบมันมาจากไหน มันมาจากจิต ถ้าจิตมันเข็งแรง กิเลสมันตัวอ้วนๆ นะ ไอ้แลบนี้มันจะแลบเมื่อไรก็ได้คือมันปลายเหตุ

เหมือนพยับแดด เราจะไปห่วงพยับแดดว่าสิ่งที่โดนความร้อน แล้วมันเกิดไอแดด แล้วเราบอกไม่ให้ไอแดดเกิด มึงโง่ขนาดนั้นเหรอมึงก็สร้างหลังคาปิดไว้ไม่มีแดดไอก็ไม่มี นี่ก็เหมือนกันมันแลบมาจากไหนล่ะ มันก็แลบมาจากจิต ถ้ามึงรักษาจิตมึงดีแลบมันก็ไม่มี แต่นี่มึงไปดูแลบๆๆๆๆๆ มันก็แลบตลอดไป เพราะมันมาจากจิต แต่ถ้ามึงพุทโธๆ ไป พอจิตมันสงบไอ้แลบไม่มีหรอก เพราะไปเอาอาการแลบ ใช่อาการแลบมันมีอยู่แล้ว แต่อาการแลบมันมาจากอะไรล่ะ มันเป็นปลายเหตุ เราไปที่ต้นเหตุ พุทโธชัดๆ พุทโธของเราไป แลบไม่แลบช่างหัวมึง ก็บอกแล้วกูให้มึงแลบได้วันละแสนหนมึงแลบไปเลย กูพุทโธกูไปเดี๋ยวมันก็จบเอง

ถาม : ผมสังเกตจากเพื่อนๆ หลายคนที่เขาเคยได้สมาธิกัน ดูเหมือนต้องฝึกกันเป็นจริงจังเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่ไม่กี่เดือน หรือคนที่ได้ภายในไม่กี่เดือนก็ดูเหมือนจะต้องทิ้งทางโลกมาภาวนาอย่างเดียว

หลวงพ่อ : นี่มันเป็นข้อกังวลของเขา ไม่ใช่ ไม่ใช่ ที่หลวงตาบอกว่าการภาวนาไม่ใช่เอานาฬิกา อย่างพวกเราเวลาภาวนาเอานาฬิกามาตั้งไว้เลยกี่ชั่วโมงๆ ไปเอาที่นาฬิกาไม่เอาที่ความสงบ บางคนภาวนาสงบง่าย บางคนภาวนาสงบยาก ไอ้ภาวนาเป็นปีๆ นะ ถ้าเป็นสมาธิแล้วไม่รักษา มันก็หายก็สูญเปล่า สูญเปล่าไปเลยเสื่อมหมดเหมือนกัน

แต่สิ่งที่ได้มาแล้วมันก็เป็นประสบการณ์ ได้มาในจิต สมาธิที่เคยได้มามันก็เสื่อมไปแล้วก็รู้ว่าฉันเคยได้ เหมือนฉันมีตังค์ฉันใช้หมดแล้วก็หมดแล้ว แต่ฉันเคยใช้ตังค์แต่ตังค์ฉันหมดแล้ว ถ้าได้เอาตังค์ใหม่ก็ต้องทำงานใหม่ นี่ไงสมาธิจะยังอยู่ได้มันอยู่ที่เหตุรักษาที่เหตุมันแล้วสมาธิจะไม่เสื่อม ไม่ต้องไปวิตกกังวล มันเหมือนเรามันเป็นความจำเป็น ทางของโลกทางของคฤหัสถ์ เป็นทางคับแคบทางของนักบวชเป็นทางกว้างขวาง ทางของคฤหัสถ์ มันต้องทำมาหากินใช่ไหม เวลาเรามันมีน้อยใช่ไหม

เราเป็นคฤหัสถ์นี่เราไม่ใช่นักบวช ถ้าเป็นนักบวชนี่ทางกว้างขวาง เพราะวันหนึ่งนี่ฉันเสร็จแล้วก็ภาวนา ๒๔ ชั่วโมง กว้างขวางคือมีเวลา ๒๔ ชั่วโมง ภาวนาตอนไหนก็ได้ ฉะนั้นทางของเรา ถ้าเราเป็นคฤหัสถ์ เราก็พยายามทำของเราเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็น คฤหัสถ์ ก็ไม่ใช่อย่างนักบวช นักบวชได้ ๒๔ ชั่วโมง ฉันภาวนาได้แค่นี้แล้วก็เอามาเป็นข้อน้อยเนื้อต่ำใจ กิเลสมันก็สอยเอาตรงนี้ไง เราเป็นคฤหัสถ์ เราก็ปฏิบัติอย่างคฤหัสถ์ แล้วเราก็มีสติปัญญาของเรา จะมากน้อยแค่ไหนก็ตามนั้นตามเนื้อผ้า อย่าให้เป็นช่องทางให้กิเลสมันสอยเอาๆ

พอจะคิดอะไรก็คิดแต่ว่าเรานี่ไม่มีหนทาง เราจำนนกับกิเลสทั้งหมดเลย มันจะจำนนกับกิเลส ก็เราเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นคฤหัสถ์ใช่ไหม เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยใช่ไหม เรามีอาชีพใช่ไหม เราก็ทำหน้าที่การงานของเราใช่ไหม แต่เราก็เป็นผู้ใฝ่ธรรมเราก็ยังปฏิบัติของเราอยู่ เราก็เป็นคนดีแล้ว แล้วมันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็อยู่ที่คุณงามความดีของเรา อยู่ที่เหตุปัจจัยของเรา ถ้าเราทำได้ของเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ก็เท่านั้นล่ะ แล้วจะไปน้อยเนื้อต่ำใจเอากับใคร ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจเอากับใคร เอวัง