ธรรมปฏิรูป
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ปัญหาที่ ๗๖. อยากทราบผลกรรมของผู้แจกนมเมลามีน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมอยากทราบว่า
๑.ผู้ที่แจกนมเมลามีน (ในความหมายของหลวงพ่อ ไม่ใช่นมจริงๆ ) โดยที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์ ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาแจกโดยไม่ได้ตระหนักว่า นมนั้นจะทำให้คนตายหรือสังคมเสียหายมากมายขนาดไหน คนเหล่านี้จะได้รับผลกรรมอย่างไร และจะมีวิธีการลดกรรมตรงนี้ให้เบาลงได้บ้างครับ นอกจากการภาวนาให้ถูกต้อง
๒.ผู้ที่แจกนมเมลามีนโดยที่เขาเริ่มเอะใจ แต่ยังไม่แน่ใจว่านมนั้นมีเมลามีนจริงหรือไม่ก็ยังแจกไปก่อน คนประเภทนี้จะมีผลกรรมแรงกว่าประเภทแรกไหมครับ
๓.ผู้ที่แจกนมเมลามีน (แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตนมนั้นเอง) ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า นมมีเมลามีนจะได้รับผลกรรมอย่างไรครับ รบกวนหลวงพ่อช่วยสาธยายด้วย
หลวงพ่อ : เพราะเขามาคุย หลายคนเขาทุกข์มาก ที่ว่าเขาทำไปโดยที่ความเข้าใจผิด แล้วพอเข้าใจถูกแล้วเขาพยายามจะว่ามันเป็นยังไง เขาจะแก้ไขตัวเขานะ เพราะคนมาถามเรื่องนี้เยอะมาก โดยคิดว่าเป็นประโยชน์เลยตั้งหน้าตั้งตาแจกนมนั้น ทำให้คนตายและสังคมเสียหายมากมายขนาดไหน ผลกรรมที่ได้รับจะมีวิธีการลดกรรมตรงนี้ได้อย่างไร การลดกรรมนั้น ประสาเรานี่คนเข้าใจผิด คนเข้าใจผิดก็ทำแต่ความผิดพลาดไปแต่ถ้าคนเข้าใจถูกแล้วเห็นไหม พอคนเข้าใจถูกมันเหมือนพ่อแม่ลูก นี่เรื่องจริงส่วนใหญ่ลูกทุกคนเลยจะหาว่าพ่อแม่ไม่รัก
ลูกๆ หลายคนจะมาบ่นว่า พ่อแม่ไม่รักๆ แต่พอเข้าใจถูก พ่อแม่คนไหนไม่รักลูกบ้าง อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อความเข้าใจผิด พอความเข้าใจผิดเราก็แจกไป แต่พอมีความเข้าใจถูกแล้วเราก็ไม่ทำอีก แต่ผลกรรมมันมีแน่นอน แต่เราจะไม่ไปทุกข์ร้อนกับมัน ด้วยความเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่รักๆ เด็กนี่บางทีประชดชีวิตไปเลย แต่โดยความเป็นจริงพ่อแม่คนไหนไม่รักลูกมันไม่มีหรอกเป็นไปไม่ได้หรอก พ่อแม่ไม่รักลูกเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ธรรมดาของพ่อแม่ลูกหลายคน พ่อแม่ก็ต้องดูว่าลูกคนไหนช่วยเหลือตนเองได้บ้างได้มากได้น้อยพ่อแม่ก็ดูแลแตกต่างกันไป
แต่ลูกนี่จะบอกว่าให้เหมือนกันๆ มันไม่เหมือนกันโดยที่ว่าลูกของเราแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เพราะว่าบุญกรรมมันไม่เหมือนกัน ความรู้สึกความคิดจิตมันไม่เท่ากัน ความรับผิดชอบของเด็กที่มันช่วยตัวเองได้ พ่อแม่ก็ดูห่างหน่อย ถ้าคนไหนเด็กหน่อยช่วยตัวเองไม่ได้พ่อแม่ก็ดูใกล้ชิดหน่อย แต่ไอ้เด็กมันจะคิดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่พอถ้าเด็กมันเข้าใจแล้วมันก็จบ พอเราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเราเข้าใจได้ แต่อันนี้มันก็ฝังใจไปแล้ว
ผลของการแจกนมเมลามีน เราจะบอกว่านี่เป็นธรรมะปฏิรูป เราจะบอกว่าถ้าเอาด้วยความเข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระมันเป็นกรรมมาก กรรมมากเพราะเหตุใด กรรมมากเพราะว่า หลวงปู่ตื้อ ท่านอยู่ทางเชียงใหม่แล้วท่านเทศน์กับลูกศิษย์ เทศน์กับลูกศิษย์เสร็จแล้วท่านก็เดินลงจากเขามา พอเดินจากเขามาถึงตีนเขาท่านขึ้นไปใหม่เลย ขึ้นไปบอกลูกศิษย์ว่าผมพูดคำนั้นผิด คำนั้นผิด โห ลูกศิษย์กราบแล้วกราบอีก เพราะลูกศิษย์ก็เคารพครูบาอาจารย์ขนาดนี้
บอกหลวงปู่ หลวงปู่มาเมื่อไรก็ได้ ทำไมหลวงปู่ต้องทุกข์ ต้องปีนเขามาอีกรอบล่ะ ไม่ได้! เดี๋ยวท่านเอาไปพูดต่อผมเสียหาย นี่หลวงปู่ตื้อนะ ไม่ได้เพราะพ้นจากคืนนี้ไปพรุ่งนี้เช้าท่านไปพูดกับคนอื่นต่อ แล้วคำพูดที่ผมพูดไปมันผิดพลาดนี่ แล้วไปพูดต่อผลมันจะผิดพลาดผลมันจะเสียหาย ไม่ได้!ต้องขึ้นมาเลย ด้วยความเคารพของเราก็ไม่อยากให้ท่านขึ้นมา
นี่พูดถึงผลกรรม ผลกรรมหมายถึงว่า ถ้าเราบอกให้คนไปทางผิดทาง ให้คนหลงทางให้คนทำลายตัวเอง มันเสีย นี่พูดถึงความเข้มข้น นี่ความเข้มข้นอย่างนี้มันจะมาถึงขนาดไหนล่ะ ความเข้มข้นนี้มันก็มาตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา
ถ้าเรื่องหลักของทาน การเสียสละ การทำอะไรการผิดพลาดบ้าง มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ถ้าเรื่องของศีลของภาวนามันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นผลกรรมมันก็แล้วกันไป ถ้าพูดถึงสิ่งที่ทำแล้วมันก็แล้วกันไป ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบนี้มันจะทำให้เราเดือดร้อนแล้วทำให้เราทุกข์ตลอดไป ทุกข์ตลอดไปสิ่งที่กระทำที่ผิดพลาดมาแล้ว ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อริยวินัย ผู้ใดทำความผิดแล้วสำนึกผิดปลงอาบัตินี่คือ อริยวินัย เหมือนทางโลกเห็นไหม เหมือนเป็นการชี้ขุมทรัพย์
ถ้าเราทำผิดพลาด เราหลงเราไม่เข้าใจตัวเอง ถ้าใครชี้ความบกพร่องของเราแล้วเราแก้ความบกพร่องอันนั้น อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าเราเข้าใจผิดเขาจะชี้ความผิดพลาดของเรา ส่วนใหญ่พอชี้ความผิดพลาดของเรา เราโกรธมากเลยเพราะเราไม่รู้ว่าเราผิดพลาด เราไม่ยอมรับใช่ไหม เขาชี้มา โหย ไอ้นี่อิจฉาตาร้อนไอ้คนนี้จะทำลายเรา มันยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ เพราะอะไร เพราะเรามีอวิชชา เรามืดบอดคนชี้มาเราก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าหัวใจเราเปิดเห็นไหม ถ้าคนชี้มาหัวใจเปิด กรณีอย่างนี้เราคิด
พอพูดอย่างนี้ เราพูดถึงหลวงตาทุกทีเลย หลวงตาตอนหลวงปู่มั่นท่านเสียแล้ว โอ้โฮ ไปนั่งร้องไห้เลย นั่งร้องไห้ตลอดเวลา ร้องไห้ขนาดที่อยู่กับหลวงปู่มั่น ตัวต่อตัว เพราะหลวงปู่มั่นท่านเสียแล้ว นอนอยู่ศพน่ะ ท่านบอกเลยท่านไปนั่งอยู่ที่ปลายเท้าร้องไห้อยู่ครึ่งคืน พอเสร็จแล้วหลวงปู่มั่นเสียปั๊บ พระก็ล้อมรอบกันอยู่ใช่ไหม พอพระจากไปแล้วไม่มีใครแล้วท่านก็มานั่งอยู่องค์เดียวกับศพ มันรำพันขึ้นมาในใจ ไอ้ใจดวงนี้มันก็ไม่ค่อยฟังใครแล้วนี่ก็ได้ครูบาอาจารย์มาตลอด สุดท้ายครูบาอาจารย์ท่านก็นิพพานไปแล้ว ต่อไปนี้ถ้าจิตมันมีปัญหาขึ้นมาจะไปถามใคร จิตดวงนี้มันไม่ยอมฟังใครแล้วมันจะไปถามใคร นั่งรำพันเสียใจตลอดเวลา
แล้วพอเผาศพเสร็จแล้ว ท่านก็ไปภาวนาต่อ ไปเจอจุดและต่อม ท่านบอก ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ท่านสำเร็จไปเลย หลวงปู่มั่นไม่อยู่ท่านหาอยู่อีก ๘ เดือนต้องล้มลุกคลุกคลาน เพราะมันไปถามใคร ประสาเรานะ เราทำงานเป็นแต่งานบางอย่างเรายังไม่เข้าใจเราไปถามคนที่ทำงานไม่เป็นเขาจะบอกเราไปนอกลู่นอกทางหมดเลย แต่ถ้าคนทำงานเป็น แล้วอาจารย์ของเราที่ทำงานที่ดีกว่าเราหรือทำงานรอบคอบกว่าเรา เราไปถามทีเดียวท่านจะบอกทำงี้ๆๆ จบเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีคนชี้ทางที่ถูกต้องแล้วเราทำต่อไปมันก็ผ่านไป แต่ถ้ามันไม่มีล่ะ ทีนี้บอกว่ากรรมน่ะสิ่งที่มันผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้ว ถ้ามันผ่านมาแล้วไม่ต้องเสียใจ เราก็ต้องพิสูจน์เอา นี่มันเป็นบทเรียน บทเรียนว่าเราไม่เข้าใจเราก็แจกไปกับเขา ขณะที่แจกไปกับเขา ตอนที่แจกอยู่ก็เข้าใจว่าเป็นนมที่มีคุณภาพ แล้วยิ่งมีความมุมานะยิ่งแจกมากเข้าไปใหญ่เลย แต่ทีนี้พอมีความเข้าใจแล้วสิ่งที่ความเข้าใจอันนี้คือบุญแล้ว คนเรานี้แก้ทิฏฐิแก้ยากที่สุดเลยแก้ความเห็นของคนนี้แก้ยาก ทุกคนเวลาบวชใหม่ๆ เข้ามาทุกคนเลยบอกว่าอยากจะไปเอาพ่อแม่ เราบอกพ่อแม่นี่เอายากที่สุดเลยเพราะอะไร คำว่าแก้ยากๆ เพราะพ่อแม่เราเลี้ยงลูกมากับมือ แล้วลูกจะมาสอนพ่อแม่นี่ยากมาก
ฉะนั้นบอกว่าการจะแก้นี่เราทำตัวเราให้ดีที่สุด อย่างลูกของเราพ่อแม่คนไหนก็แล้วแต่เลี้ยงลูกจะรู้ว่าลูกของเราเป็นยังไง แล้วลูกเราไปบวชไปเรียนมาหรือไปประพฤติปฏิบัติมา ลูกเราดีขึ้น มันจะเห็น เอ๊ะ ทำไมดีขึ้นขนาดนี้ ไอ้ดีขึ้นอันนี้มันก็สนใจ ไอ้สนใจมันก็ศึกษา พอศึกษามันแก้ไขด้วยตัวนั้นได้ แต่ถ้าเรายังเหมือนเดิมตอนบวชก็ยังเหมือนเดิม แล้วจะไปแก้พ่อแม่ เราบอกว่าต้องเอาตัวเราเอาความรู้สึกของเรา เอาพฤติกรรมของเราที่มันเปลี่ยนแปลงให้ท่านเห็น พอท่านเห็นท่านจะสนใจ นี่พ่อแม่ไง
อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจเรายังไม่เห็นเรายังไม่รู้ มันรู้เองไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราเปลี่ยนแปลง เราเปิดกว้างขึ้นมา เราจะรู้อะไรผิดอะไรถูก การแก้ทิฎฐิของคนแก้ยากมาก การแก้กิเลสนั้นหลวงปู่มั่นยังบอกเลย แก้จิตนี่แก้ยากนะ เห็นไหมพระนี่ท่านบอกให้ปฏิบัติมา การแก้จิตนี่แก้ยาก แล้วผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ คือท่านบอกท่านมีประสบการณ์ท่านจะแก้ให้เรา ทีนี้การแก้ให้เรา ทีนี้ไอ้ที่ว่านมเมลามีนหรือไม่เมลามีนเพราะตอนที่เราปฏิบัติไม่เป็นเราไม่มีพื้นฐานใช่ไหม พอเขาอธิบายยังไงเราก็เชื่อเขาไปเพราะเขาอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น
ทีนี้คำว่าวิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎี ดูสิเทคนิคสัมพันธ์ชนิดต่างๆ ทุกคนอธิบายได้หมด ดูตอนนี้ยุโรปเขากำลังขุดอุโมงค์เขาจะทำบิ๊กแบงกันอยู่ เขาจะพิสูจน์ว่าจุดกำเนิดมันเป็นยังไง ทฤษฎีเขารู้กันหมด แต่ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็น ทฤษฎีเข้าใจกันหมดนะ นี่ลงทุนไปกี่หมื่นล้านแล้วน่ะ ขุดอุโมงค์กันน่ะ แล้วจะเกิดปรากฏการณ์บิ๊กแบงกันน่ะจะดูกันน่ะ ทฤษฎีคือทฤษฎีนักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกเลยไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ ใครรู้มั่งลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้าน จะพิสูจน์กันนะจะพิสูจน์ว่ามันเป็นยังไง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกเมลามีนหรือไม่เมลามีน เวลาเขาอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนทฤษฎี โอ้โฮ นักวิทยาศาสตร์ดอกเตอร์ทั้งนั้นเลย ศาสตราจารย์ทั้งนั้นเลย แต่ไม่เคยเห็น ฉะนั้นพอไม่เคยเห็นขึ้นมา มันจะรู้ว่ามีเมลามีนหรือไม่มีเมลามีน เพราะมันเหมือนเรา ดูสิปลาส่วนใหญ่มันก็อยู่ในน้ำใช่ไหม นกมันก็อยู่บนอากาศ นกมันบินได้ ทีนี้เวลาสิ่งที่เมลามีนหรือไม่เมลามีนคือคำสอนเขานั่นล่ะ มันขัดแย้งกัน มาบอกโอ้โฮ ปลานี่มันอยู่บนยอดไม้นะ
ไปเจอปลาอยู่ ๔-๕ ตัว มันอยู่บนยอดไม้มันโตบนยอดไม้ ไอ้พวกเมลามีนมันก็เชื่อ เออ ปลาพิเศษมันอยู่บนยอดไม้ ก็เลยปั๊มซีดีแจกกันใหญ่เลย ปลามันอยู่บนยอดไม้ ปลามันอยู่บนยอดไม้ แต่คนที่เขารู้ว่าปลามันอยู่ในน้ำ เมลามีนไม่เมลามีนมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ความจริงหรือไม่เป็นความจริงแต่เราไม่รู้ พอคนไม่รู้เขาบอกนี่ปลามันอยู่บนยอดไม้มันก็ปลาตะเพียนทองไง เขาแขวนไว้หลอกเด็กเป็นพวงๆ เลย ไอ้เด็กนอนในเปลก็เห็นปลาแขวนไว้บนอากาศ แต่ปลาอะไรอยู่บนอากาศปลามันอยู่น้ำทั้งนั้นล่ะ ปลาไม่อยู่บนอากาศหรอก ถ้าพวกนายพรานที่เขาหาปลาเขารู้ ถ้าใครไปหาปลาบนอากาศไอ้คนนั้นมันจะอดตาย แต่ถ้าใครหาปลาในน้ำ ไอ้คนนั้นมันจะเป็นเศรษฐีมันจะได้ปลาไปขาย
ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน มันค้นไปที่ไหนมันก็ค้นไปที่กายกับใจนี่ แล้วมันจะตั้งสติยังไงทำสมาธิยังไงศีล สมาธิ ปัญญามันทำยังไง นั่นน่ะปลาอยู่ในน้ำ แล้วมันจับได้ เห็นได้ รู้ได้ พอรู้ได้ อ้อ นี่ไงเมลามีนหรือไม่เมลามีนมันอยู่ตรงนี้ไง ถ้ามันไม่มีนายพรานถ้าไม่มีพวกที่จับปลาในน้ำ มันก็ว่าปลาตะเพียนทองที่เขาแขวนหลอกเด็กเป็นปลา เป็นปลาไหม เป็น ปลาสมมุติไง เขาสมมุติว่าปลาแขวนไว้ใช่ไหม ไอ้เด็กมันนอนเล่นอยู่เห็นปลามันก็ดีใจ โอ้โฮ ปลา ปลาเป็นอย่างนั้น
ที่พูดนี่ เราจะให้เห็นว่าไอ้นี่มันเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เป็นอดีตมาแล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าอะไรที่เป็นอดีตทำผิดพลาดมาแล้วระลึกได้สิ่งนั้นไม่ดีเลย ไม่ควรทำเห็นไหม สิ่งที่เป็นอดีตมาแล้วก็แล้วกันไป ทีนี้มันจะแก้ไขยังไง เราก็ปฏิบัติของเรา ถ้าการปฏิบัติของเราทำให้เราถูกต้อง ไอ้กรรมนั้น ถ้ามันอย่างประสาเราว่า กรรมที่เขาทำกันอยู่นี้นะ สิ่งที่เขาแจกออกไปเพียงให้สนใจปฏิบัติ แต่กรรมมันจะไปอยู่ตรงที่ว่า เจ้าของเมลามีนนี่บอกว่าเมลามีนนี่บริสุทธิ์ แล้วเมลามีนนี่กินแล้วดี เราบอกว่าคนที่ปฏิบัติแล้วให้ขั้นให้ตอน อันนั้นมันหลอกซ้ำหลอกซาก
แต่ถ้าปฏิบัติไปไม่มีใครรับประกัน เขาก็ต้องปฏิบัติไปตามของเขา แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้ว โอ๋คนนี้นะภาวนาเก่งนะ คนนี้ได้ขั้นหนึ่ง คนนี้ได้สองขั้น ไอ้นี่มหาโจรเลย ฉะนั้นเรายังไม่ถึงเป็นมหาโจร เราอย่าไปเสียใจกับมัน ความผิดพลาดของคนมันมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติกับเจ้าลัทธิต่างๆ น่ะ ๖ ปี นั่นก็ผิดหมด นั่นก็เมลามีนเหมือนกัน ไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาสอนนะ อาฬารดาบส บอกเลยเจ้าชายสิทธัตถะ ได้สมาบัติ ๘ เหมือนเราสั่งสอนลูกศิษย์ได้ พระพุทธเจ้าบอกไม่เอา นี่ก็เมลามีน
พระพุทธเจ้าบอกกินไม่ได้ อยู่กับสมาบัติมันก็อยู่แค่นั้นล่ะท่านไม่เอา ท่านไม่เอาเพราะอะไร เพราะท่านมีสติปัญญาของท่าน ฉะนั้น ไอ้เรื่องผิดพลาด โลกมันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจจนเกินไป เพียงแต่ว่าเราเข้าใจว่าเมลามีนหรือไม่ นี้มันก็เป็นบุญของเราแล้ว ถ้าไม่เป็นบุญของเรานะ เราก็จะใช้นมอย่างนี้ ชีวิตเราจะอยู่อย่างนี้ ในร่างกายเราจะมีพลาสติกทั้งตัวเลย ถ้าเรากินทุกวันๆ ฉะนั้นพอเรารู้ว่ามันผิดพลาดไปแล้ว เราก็ไม่เอาแล้ว เราผลักออกไปแล้วมันก็จบกัน
เราทำความดีของเราไป นิ้วคนไม่เท่ากัน ความเห็นของโลกไม่เหมือนกัน ลัทธิศาสนาต่างๆ ของโลกเห็นไหม หลวงตาจะบอกเลย ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาประเสริฐที่สุด ศาสนาอื่นเป็นศาสนาของคนมีกิเลส ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนสิ้นกิเลส ทีนี้ศาสนาสิ้นกิเลสคือองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดาเป็นผู้สิ้นกิเลส ศาสนาอื่นก็มีศาสดาแต่ไม่ปฏิญาณตน ไม่ปฏิญาณตนว่าสิ้นกิเลส เพราะสิ้นกิเลสนั้นสิ้นยังไง ถ้าปฏิญาณตนว่าสิ้นกิเลสเขาจะถามเลยว่าสิ้นยังไง
เพราะในลัทธิต่างๆ ศาสนาต่างๆ มันมีการโต้เถียงกันตลอดเวลา มีการตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าบอกสิ้นกิเลสสิ้นยังไง แต่เขาบอกไม่สิ้นกิเลส เขาบอก เขามีคุณสมบัติ เขามีคุณความดี ก็ดีตามประสาพูด แต่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนออกบิณฑบาตไปแวะตามลัทธิต่างๆ ก่อนบิณฑบาต ถ้ายังไม่ถึงเวลาบิณฑบาตจะไปเจอเจ้าลัทธิต่างๆ จะไปคุยกัน ตอบปัญหาหมด ตอบปัญหาได้ นี่ก็เหมือนกันถ้าสิ้นกิเลส สิ้นกิเลสเพราะอะไร อะไรทำให้สิ้นกิเลส แล้วกิเลสเวลาตายไป มันตายยังไง แล้วมันสะอาดยังไง อย่างนี้มันจะเข้าใจได้หมดเลย
อันนี้จะบอกว่า พูดถึงเรื่องกรรม กรรมมากไหม กรรมมากก็หมายถึงว่า ทำให้คนหลงทางมันก็กรรม แล้วหลงทางแล้วยังไปย้ำให้เขาหลงมากไปอีก มันก็กรรม แต่ในเมื่อเรารู้แล้วเราก็จบ กรณีอย่างนี้ประสาเรานะ ถ้าคนเป็นคนดีเห็นสังคมเขาฉ้อโกงกันเราก็ทุกข์แทนเขา แต่ถ้าเราจะไปดิ้นรนนะ เราก็คุยกับพระเหมือนกัน พระบอกเราบอกไอ้โน่นผิดไอ้นี่ผิด ทำไมหลวงพ่อไม่จัดการล่ะ เขาคิดผิดเขาไม่คิด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่ใช่ผู้เสียหาย เราไม่ใช่ผู้เสียหายเราไปแจ้งความอะไรไม่ได้หรอก
ถ้าเราแจ้งความมันเป็นเรื่องระหว่างคนอื่นเขาทำผิดพลาดกัน เราก็ได้แต่มองแล้วสลดสังเวชใช่ไหม แต่ถ้ามันฉ้อโกงเราสิ เราจะแจ้งความได้ใช่ไหม นี่ทำไมไม่ทำอย่างนั้นทำไมไม่ทำอย่างนี้ เราจะบอกว่าโลกน่ะ ปัญญาของคนมันหลากหลาย แล้วปัญญาของคนมันหลากหลายแล้วเราจะไปรับผิดชอบสังคมอย่างนั้นทั้งหมดมันไม่ไหว แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราแล้วเขาเห็นดีตามนั้นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเราจะไปจัดการเองทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก
ถาม : ๒. ผู้ที่แจกเมลามีนแล้วเริ่มเอะใจแต่ยังไม่แน่ใจว่านมนั้นมีเมลามีนจริงหรือไม่ ยังแจกต่อไปคนประเภทนี้จะได้ผลกรรมแรงกว่าประเภทแรกไหมครับ
หลวงพ่อ : เจตนามันสำคัญนะ เพราะเขาเริ่มเอะใจ แต่ยังไม่แน่ใจเห็นไหม เริ่มเอะใจแต่ยังไม่แน่ใจก็ยังแจกอยู่ อย่างนี้แสดงว่าเขาว่าคนไม่มีจุดยืน ในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วคนเป็นอย่างนี้หมดทั้งโลก นั่นก็ไม่เป็นไรนี่ก็ไม่เป็นไร มันเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรามันก็ว่ากันไปอย่างนี้แหละ เพราะว่าเขาไม่มีจุดยืน ถ้าพูดอย่างนี้คนเรานี่นะ เวลาเราปฏิบัติทำไมเราทำสมาธิไม่ได้ล่ะทำไมปัญญาเราไม่เกิดล่ะ เพราะเราไม่จริงจังเหมือนความคิดเรา ๕๐ : ๕๐ ความคิดเรากึ่งๆ อันนี้ก็เหมือนกัน มันกึ่งๆ แล้วคนกึ่งๆ ดีก็ทำชั่วก็ทำ อย่างนี้เยอะ
ถ้าดีก็ทำชั่วก็ทำ มันไม่มีจุดยืน มันไม่มีสิ่งใด เขาจะทำยังไงมันก็เรื่องของเขาไป ไอ้นี่มัน เรื่องของกรรมเป็น อจินไตย พอเรื่องของกรรมเป็นอจินไตย แล้วเราจะพูดให้มันแน่นอนตายตัวไปนี่มันไม่ได้ อย่างเช่น เวลาทำบุญใครสร้างกุฏิจะได้วิมานอยู่บนสวรรค์มีคนเขาถามเรานะ จริงเหรอ ได้วิมานจริงๆ หรือเปล่า แล้วเราจะยืนยันยังไงว่าเขาสร้างกุฏิแล้วเขาจะมีวิมานบนสวรรค์ มันมีอยู่ในตำรามันมีอยู่ในพระไตรปิฎก เวลาพระไตรปิฎกเห็นไหม เวลาคนเขาสร้างวิมานเขาสร้างกุฏิ เขาสร้างให้ทางพระพุทธศาสนานี่ แล้วมันเกิดวิมานบนสวรรค์ใช่ไหม
พระโมคคัลลานะไปเที่ยวไปดูมา พระพุทธเจ้าก็บอกว่าใช่ว่าใช่ ทีนี้คำว่าใช่มันก็เป็นเพราะว่าเขาเจตนาเขาบริสุทธิ์ใช่ไหม แต่ของเราเหมือนเราทำนี่ เราทำไม่บริสุทธิ์ใช่ไหม เราอยากได้วิมานนะ จริงๆ มันอยากได้วิมาน ไม่รู้ทำยังไงก็เลยไปสร้างกุฏิคือจิตใจมันอยากได้วิมาน มันไปสร้างกุฏิ นึกว่าสร้างกุฏิแล้วมันจะได้วิมาน เราจะบอกว่าถ้ามันมีการต่อรองในใจเรามีการต่างๆ บุญของเรามันไม่สะอาดบริสุทธิ์บุญนี่มันน้อยลง แต่บุญที่สะอาดบริสุทธิ์นะ เราให้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์มันเกิดโดยธรรมชาติ มันเกิดโดยสัจธรรม
ทีนี้พอเราไปศึกษาแล้ว เรารู้แล้ว การปฏิบัติก็เหมือนกัน สมาธิจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาจะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้นคิดกันไปเองหมดเลย เราเลยสร้างภาพเป็นธรรมะสร้างหมดเลย มันไม่เป็นความจริงเลย ถ้าความจริงมันจะเกิดอย่างที่ว่านี้ มันโดยสัจธรรม ฉะนั้นที่บอก เขาเริ่มเอะใจ ประเภทนี้ผลกรรมจะแรงไหมกับประเภทแรกอย่างไหนจะแรงกว่ากัน มันเหมือนคนเราพอมันสำนึกแล้ว มันพยายามจะหาเหตุหาผล คนอย่างนี้มันอยู่ที่เจตนาของเขา เขาเรียกว่าอยู่ที่เหตุปัจจัย
กรรมมันอยู่ที่เหตุปัจจัย อย่างเรานี่นะ ถ้าจะบุญและกรรม กรรมเราจะแรงมากเพราะอะไร เราอาฆาตเต็มที่แค้นฝังหุ่นเลย แล้วก็ตั้งใจทำเลยนะ แล้วก็ทำด้วยความสะใจอันนี้กรรมแรงมาก แต่ถ้าเราเคยแค้นฝังหุ่นเลย แต่ใจเราให้อภัยแล้ว พอเจอกัน มันเป็นกรรมของเขา เขาอาจจะผิดพลาด อย่างเช่นเราขับรถไปชนสัตว์ มันก็มีกรรมทั้งสองฝ่าย หากเขายังมีกรรมของเขาอยู่ เขาอาจสะดุดหกล้มโดยที่เราไม่ได้ทำก็ได้ ถ้าอย่างนั้นกรรมแรงไหมมันอยู่ที่เจตนา หนึ่งอยู่ที่เจตนาอยู่ที่ความเป็นไป
ฉะนั้น กรณีอย่างนี้จะบอกว่า คนที่ยังแจกอยู่เขาจะกรรมแรงกว่าเรา เราเลิกแจกแล้วจะไม่มีกรรม เพราะคนทำมาก เขาทำก็เป็นกรรมของเขา เราทำก็เป็นกรรมของเรา ถ้าเราเข้าใจแล้วเราเลิกเราละแล้ว เราทำความถูกต้องแล้วมันก็ควรจะจบแล้ว เราทำความดีของเราไปเถอะ ถ้าเราทำความดีของเรา เช่น หลวงตาท่านพูด ท่านบอกเลยใครจะทำชั่วยังไงใครจะทำยังไงเรื่องของเขา เราจะทำความดีว่ะ คือเราทำความดีของเรา ถ้าเขาเห็นความดีของเรา เขาเห็นว่าเป็นความดีจริง เขาจะทำด้วย นั่นก็เป็นบุญของเขา
ถ้าเขาไม่เห็นความดีของเรา เราทำความดีเขาเห็นว่าเป็นความผิดพลาด เขาทำความชั่วของเขา เขาเป็นความดีเขาจะทำของเขาไปก็เรื่องของเขา คือเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้ เว้นแต่เราทำความดีของเราตลอดไป จนเขาเห็นความดีของเรานะ แล้วเขาเปลี่ยนแปลงใจของเขา ไอ้ความดีอย่างที่บอกพ่อแม่กับลูก ถ้าลูกทำความดีทำมาดีพ่อแม่เห็นว่าลูกทำดีพ่อแม่จะสนใจ ทำไมสิ่งใดทำให้ลูกเราปรับปรุงตัวเองได้พ่อแม่จะเริ่มสนใจ พ่อแม่จะเริ่มประพฤติปฏิบัติ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขาจะแจกอยู่ หรือ เขาไม่แจกอยู่เพราะว่าเขายัง ๕๐ : ๕๐ อยู่ เขายังไม่แน่ใจของเขามันก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราทำความดีของเราแล้วถ้าเราทำความดีของเราแล้วเขาเปลี่ยนใจมา โอ้โฮ ด้วยตัวอย่างด้วยแบบอย่างหนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่งร้อยคำสอน หนึ่งตัวอย่างเราทำตัวอย่างของเราให้ดี เราปฏิบัติตัวเราให้ดี แล้วถ้าเขาจะเห็นดีเห็นงามด้วยเขาเปลี่ยนใจได้ เราก็เท่ากับสอนเขาโดยไม่ได้สอน การสอนโดยสอนโดยปากเปียกปากแฉะนั้นอย่างหนึ่ง การสอนเขาโดยสอนเป็นตัวอย่างอย่างหนึ่ง การสอนเขาโดยทำชีวิตแบบอย่างของเราไม่ต้องสอนเขาก็อีกอย่างหนึ่ง การสอนที่ประเสริฐที่สุดคือการไม่สอน การสอนที่ประเสริฐที่สุดคือเรานั่งเฉยๆ เราทำของเรานี่ เขาเห็นตัวอย่างดี แล้วเขาทำตามนี่ ประเสริฐที่สุดเลย กรรมไหนจะแรงกว่ากัน
ถาม : ๓. ผู้ที่แจกนมเมลามีนแต่ไม่ใช่ผู้ผลิตนมนั้นทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าผู้รับจะได้รับผลอย่างไร
หลวงพ่อ : เราแจกไปโดยเราไม่รู้เขาเรียกสายบุญสายกรรม เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า คนนี่เข้ากันโดยธาตุ ท่านบอกนะ ลูกศิษย์พระสารีบุตรจะเป็นผู้ที่มีปัญญา คือคนฉลาดมีปัญญาคุยกันเรื่องปัญญาจะเข้าใจมาก ลูกศิษย์พระโมคคัลลานะชอบมีฤทธิ์พวกชอบฤทธิ์ชอบเดช ก็ไปหาอาจารย์ที่ชอบฤทธิ์ชอบเดช ลูกศิษย์ของเทวทัตพวกลามกจกเปรต เป็นลูกศิษย์เทวทัตหมดเลย เขาก็เข้ากันโดยธาตุพอเข้ากันโดยธาตุ ธาตุเขาชอบ เขาเข้ากันได้ เขาก็จะเข้ากัน ถ้าธาตุเขาไม่ชอบนี่เห็นไหม สิ่งที่ใช้ปัญญา พระสารีบุตรใช้เหตุใช้ผล เราชอบพุทโธๆ ชอบใช้ฤทธิ์มันก็เข้าใจได้ยาก
แต่ถ้าพูดถึงใช้เหตุใช้แล้วเราก็ชอบใช้เหตุใช้ผลไปฟังพระสารีบุตร อื้อ ถูกต้อง อื้อ ถูกใจนี่ เข้ากันโดยธาตุ นี้คนที่เข้ากันโดยธาตุ เข้ากันโดยธาตุคือสายบุญสายกรรม ฉะนั้นพอสายบุญสายกรรมนี้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะได้ผลอย่างไร ไม่ใช่ผู้ผลิตมันก็เป็นสายบุญสายกรรม ถ้าเราเห็นดีเห็นงามแจกไปกับเขา ผู้แจกแต่ไม่ใช่ผู้ผลิตทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ ถ้ารู้อยู่แล้วมันก็รู้ว่าผิด ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ คำว่ารู้อยู่แก่ใจนี้มันแปลกนะ ถ้าเรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเมลามีนอยู่แล้ว คือมันไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เราจะไปแจกทำไม แต่ถ้าเรายังแจกอยู่แสดงว่าจิตใจเรารู้ว่าผิด เหมือนเรา เรารู้ว่าผิดแล้วยังทำอยู่เราก็ใช้ไม่ได้
แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็เป็นอย่างนั้นกันหมด รู้ว่าผิดแต่ฝืนกิเลสไม่ได้ ไอ้ฝืนกิเลสมันก็ไปอย่างหนึ่งนะ ไอ้นี่แจกไปมันเป็นผลให้คนอื่นมีโทษ แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เรารู้ว่าผิด เราไม่อยากทำหรอก ของไม่ดีเราก็ไม่เอาอยู่แล้ว เราก็รู้ว่าของไม่ดีแล้วเอาไปให้คนอื่นได้ยังไง ถ้าเรารู้ว่าของไม่ดีแล้วเอาให้คนอื่น ยกตัวอย่าง เราไปฆ่าผู้อื่นตายเวลาฆ่าผู้อื่นตาย พระฆ่าผู้อื่นตายก็ปาราชิก โยมฆ่าผู้อื่นตายก็ติดคุก ๒๐ ปีนี่ฆ่าผู้อื่น แล้วฆ่าตัวเองตายทำไมมันบาปกว่าฆ่าผู้อื่นล่ะ
เราฆ่าคนอื่นตายมีผลทางโลก แต่เวลาตายนี่เป็นบาปเป็นกรรม แต่ถ้าฆ่าตัวตายบาป ๕๐๐ ชาติใช่ไหม ต้องฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ ทำไมฆ่าตัวเองตายบาปมากกว่าคนอื่นตายล่ะ บาปนี่มากกว่าแต่ทางโลกนะฆ่าตัวตายจบเพราะมันตายไปแล้วไม่มีผู้รับโทษ แต่เราถ้าฆ่าผู้อื่นตายนะ ๒๐ ปีตัดสินจำคุก ๒๐ ปี เจตนาฆ่าคนตาย แล้วถ้ายิงหัวตาย โป้ง! ใครติดคุกล่ะไม่มีใครติดคุกแต่ยิงตัวเองตาย โป้ง! นี่ บาปมากกว่าฆ่าผู้อื่นตาย
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่รู้อยู่แก่ใจแล้วไปแจกคนอื่นทำลายคนอื่นแล้วถ้าทำลายเราล่ะ แล้วเรารู้อยู่แล้วเราไม่ควรทำ ทีนี้มันทำไปแล้วก็แจกไป นมเมลามีน! เขาถามไอ้ที่ตอบนี้เราจะตอบเพราะว่าเรารู้ว่าเขากังวลใจ คนเรานี่นะทำอะไรผิดไปแล้ว แล้วสำนึกผิดมันจะมีอะไรฝังใจ พอฝังใจนี้ตอบเพราะฝังใจ แต่จริง ๆแล้วไม่อยากจะพูด เพราะมันมีเขามีเราอยู่ เรื่องมันควรจบกันไปแล้ว
ถาม : ๗๗. นิมิตกับความฝันต่างกันอย่างไร ขอกราบเรียนว่า นิมิตกับความฝันต่างกันอย่างไรเจ้าคะ เพราะโยมเคยอ่านเจอคำเทศน์ของหลวงตา เรื่องที่ ท้าวสักกะเทวราช มาขอฟันหลวงตา แล้วมีตอนหนึ่งหลวงตาท่านบอกว่า อันนี้เป็นความฝันไม่ใช่นิมิต ก็เลยสงสัย เพราะเคยเข้าใจว่าความฝันใช้สำหรับ ฆราวาส แต่ นิมิตใช้สำหรับพระ เวลาที่พระฝัน แต่หลวงตาท่านพูดทั้งเรื่องฝันและนิมิต ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร
หลวงพ่อ : เอาโดยหลักก่อน ฝันก็คือนอนฝันนี่แหละ แต่ถ้านิมิตนะคือเรานั่งจิตสงบแล้วเห็นภาพ คำว่านิมิตเพราะเรามีสติเพราะเรารู้สึกตัวอยู่ มันไม่ใช่นอนฝัน นอนฝันนี่เรานอนหลับไปแล้วฝันเห็นภาพ นั่นคือฝัน แต่ถ้านิมิตเรานั่งอยู่นี่ พอเรานั่งอยู่เรากำหนดพุทโธหรือทำความสงบของใจเราเห็นภาพอะไรขึ้นมา เห็นเป็นแสงสว่าง คือนิมิต เห็นอะไรคือนิมิต นิมิตคือเรารู้อยู่เราเห็นอยู่ชัดๆ มีสติสัมปชัญญะอยู่นี่เรียกนิมิต แต่ถ้าฝันคือฝันไป
ฉะนั้น แต่หลวงตาบอกท่านนั่งฝันไป บางทีท่านก็ว่าเป็นนิมิต บางทีท่านก็ว่าฝัน นิมิตกับความฝันแตกต่างกันอย่างไร นิมิตคือนั่งจิตสงบ ทีนี้นั่งจิตสงบเราเห็นภาพ แต่ถ้าเรานั่งหลับ เวลาเรานั่งไปจิตเรามันจะวูบหายไป แล้วเราหลับไปเลยนั่นคือฝัน เพราะไม่มีสติแล้ว นั่งอยู่แต่ไม่ใช่นิมิตมันฝันไป แต่ถ้านิมิตมันต้องมีสติ จิตสงบ โทษนะเหมือนเรานั่งเห็นอย่างนี้เรานั่งมองเห็นด้วยตานี่ล่ะ แต่มันไม่ได้เห็นด้วยตาเรา มันเห็นด้วยใจเพราะเราหลับตาอยู่ เราหลับตาอยู่พอจิตมันสว่าง จิตมันลงเป็นสมาธิ มันเห็นหมดเลย มันเห็น
อย่างเช่นเราจับอยู่นี่เห็นไปที่บ้าน เพราะบ้านเราก็รู้อยู่แล้วบ้านเป็นไง เห็นที่บ้านเห็นในบ้านมีคนอยู่กี่คนกี่คน นี่นิมิตเพราะว่าจิตมันมีสติอยู่ แต่ฝันเวลานั่งหลับเวลาเรานั่งแล้วหลับไปเลย เราก็ฝันไปที่บ้านนั่นล่ะ ฝันไปที่บ้านเหมือนกัน ที่บ้านก็ไปเห็นคนอย่างนั้นอย่างนั้น เพราะอะไรเพราะมันฝันเอา เราจะบอกว่านิมิตสติมันดีกว่าไง ฉะนั้น แต่นิมิตนี้ใช้เรียก เรียกเวลาที่พระฝันแต่ที่หลวงตาพูด ไม่ใช่ นิมิตก็คือนิมิต พระนั่งนิมิตก็ได้พระฝันก็มี พระนั่งฝัน ฝันก็คือฝัน นิมิตก็คือนิมิต เพียงแต่ว่าเวลาหลวงตาท่านพูดถึงเรื่องฝัน
ส่วนใหญ่แล้วครูบาอาจารย์ ถ้าบอกว่านิมิตมันเป็นเรื่องของการภาวนา แล้วคนมันจะเชื่อมั่น แล้วมันจะให้คุณให้โทษ ถ้าบอกว่าฝันมันเหมือนกับถ่อมตน บางทีพระที่ท่านรู้ท่านเห็น ท่านจะบอกว่าฝัน เพราะบอกว่าฝัน มันก็เป็นเรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์ สิ่งที่เป็นไปได้ของมนุษย์ มนุษย์นอนฝันได้พระก็นอนฝันได้ มันไม่แบ่งแยก ไม่แยกไปว่า อันนี้มันมี คือแบบว่า เวลาครูบาอาจารย์หลวงปู่ หลวงปู่เราเจอบ่อยท่านจะบอกว่าเมื่อคืนนอนฝันอย่างนั้น ฝันอย่างนั้น แต่เราฟังแล้ว เราจะต้องจับพิจารณาของเราว่ามันเป็นอะไร มันเป็นสิ่งใด ฉะนั้นถ้าฝันอย่างที่ว่า ฝันเหมือนกัน อย่างเช่น หลวงปู่ขาวครูบาอาจารย์ท่านฝัน เพราะพระอรหันต์ฝันมันก็เหมือนความจริงนี่ล่ะ มันชัดเจน
แต่พวกเราฝัน กิเลสเราท่วมหัว ฝันก็คือขี้เลื่อยฝันคือเรื่องไม่จริง แต่ถ้า ครูบาอาจารย์ท่านสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว นั่นท่านเป็นอย่างหนึ่ง ฉะนั้น นิมิตกับความฝันแตกต่างกันอย่างไร ความฝันคือการนอนหลับแล้วฝัน
นิมิต นิมิตคือนั่งสมาธินั่งสมาธิจิตแน่วแน่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้วเห็นภาพนั้นขึ้นมา ถ้าเห็นภาพนั้นขึ้นมาเห็นไหม ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเห็นภาพนั้นขึ้นมา เห็นเทวดาเห็นอะไร เวลาเราเห็น เราก็สงสัยเราก็กลับไปถามครูบาอาจารย์ใช่ไหม ครูบาอาจารย์บอกให้ย้อนกลับไปถามที่จิตเรา ถามที่จิตเราว่านั่นคืออะไร เราอาจจะรู้ขึ้นมาได้ แต่ถ้ารู้ขึ้นมาไม่ได้เราถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เขาจะแนะนำให้ นี้คือนิมิตหรือฝัน
ถาม : ๗๘. ผลทางด้านสมถะ หลังจากปฏิบัติตามที่หลวงพ่อแนะนำ
๑. บริกรรมพุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้ถ้าใช้ อานาปานสติ แล้วลมหายใจหายไป แม้พยายามหายใจแล้ว ความรู้สึกทั้งสองแบบแน่นหัว แน่นหน้าอกมาก บางครั้งรู้สึกเหมือนหูจะดับแต่ไม่ดับ ควรอยู่กับความรู้นั้นก่อน หรือรอให้คลายออกจากการแน่นก่อน แล้วค่อยพิจารณากายหรือพิจารณาในขณะนั้นได้เลย ถ้ารอให้คลายควรจะต้องรู้สึกอย่างไรจึงค่อยพิจารณา
หลวงพ่อ : ถ้ามันแน่นเวลามันแน่นต่างๆ นี่มันบีบคั้นขึ้นมาแล้ว จิตมันจะสงบมันมีอาการร้อยแปดพันเก้า เวลาจิตจะสงบบางทีก็แน่น ถ้าแน่นแล้ว เพราะจิตมันไปฝังใจ พอฝังใจนี่ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง มันจะไปยึดอาการแน่น อาการเครียดต่างๆ อาการความรู้สึกต่างๆ ถ้าจิตมันจะสงบ อันนี้ดีนะ ดีหมายถึงว่าโดยปกติของจิตทำเป็นปกติ มันไม่เป็นปกติอย่างนี้ ความไม่รู้ปกติอย่างนี้ แต่ถ้าจิตมันจะพลิก จิตมันจะเข้าสมาธิมันจะมีอาการอะไรของมันต่างๆ อาการแน่น อาการอะไรต่างๆ อาการปวดหัวอาการโยกคลอนต่างๆ
เรากำหนดพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องสนใจสิ่งใดเลย
คำถามอย่างนี้ไปถามหลวงตาเยอะมาก หลวงตาจะบอกทิ้งให้หมดกลับมาที่พุทโธ คือไม่ต้องไปรับรู้มันไม่ต้องไปรับรู้สิ่งต่างๆ แต่ เพราะพวกเรานี่สงสัย เราไม่เข้าใจเรื่องความรู้สึก เราไม่เข้าใจเรื่องตัวจิต เราไปเข้าใจเรื่องอาการแน่น อาการที่เราปวดหัวแน่นหน้าอกต่างๆ อาการที่มันเกิดขึ้นมานี่มันเป็นความรู้สึกเหมือนอาการปวด อาการปวดขาเวลานั่งพุทโธมันชอบปวดแขนปวดขาต่างๆ เราก็ไปรู้อยู่กับความปวดเพราะความปวดมันชัดเจน แต่ไอ้ตัวความรู้สึกนี่หายาก พุทโธ ๆๆๆ นี่ เพราะจะให้จิตมันสงบ ทีนี้พอจิตมันสงบ
โดยธรรมดา เราคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องข้างนอก แต่ถ้าเราพุทโธๆ อาการแน่นต่างๆ จิตมันจะหดตัวเข้ามา มันจะปล่อยความรับรู้สิ่งที่แน่นเข้ามา อย่างเช่นแน่นศรีษะแน่นหัวหนักหัวอึ่งเนี่ย จิตมันอยู่ที่หน้าอกไม่ได้อยู่ที่หัว ทีนี้เราพุทโธๆไปเรื่อยมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา แต่เพราะว่าอาการแน่นมันชัดเจนมาก จิตนี้มันอุปาทานยึดอาการแน่นแล้ว บอกจิตเป็นอุปทานเลยจิตนี่มันยึด จิตนี่มันรับรู้อาการแน่นนั้นยึดอาการแน่นนั้น มันจะรู้แต่ตรงนั้นมันก็เลยไม่เห็นตัวความรู้สึก ถ้าเราไม่รับรู้สิ่งใดเลยเรารู้แต่พุทโธๆ หรือจิตเรา มันจะปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา ถ้าปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา ตั้งสติแล้วปล่อยสิ่งนั้นเข้ามามันจะเป็น สัจจะ เป็นความจริงอย่างนี้
แล้วพอจิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบนะ เราค่อยออกพิจารณากาย จิตมันสงบหรือจิตมันสบายเราพุทโธๆ พอจิตมันสบายเราพิจารณาได้แล้ว พิจารณากายนั่นน่ะ ถ้าพิจารณากายมันจะเป็น โลกียะ มันจะไม่เป็นวิปัสสนา ก็ไม่เป็นไร เพราะพุทโธ ๆทั้งวันยันค่ำพุทโธๆๆ ๑๐ ปีก็พุทโธๆ อยู่นี่มันทำให้เบื่อ แล้วพุทโธๆ พอมันสบายใจแล้วพิจารณากายไปเลย พอพิจารณากายไปแล้วมันฟั่นเฟือนกลับมาพุทโธใหม่ พุทโธใหม่ หัดทำไปอย่างนี้ปฏิบัติไปอย่างนี้เรื่อยๆ การประพฤติปฏิบัติ มันก็เริ่มต้นจากการผิดพลาด เริ่มต้นจากการไม่เป็นกันทุกคน
คนเขาเป็นแล้ว เศรษฐีไม่ต้องไปสอนเขาหรอก เขาหาเงินได้เต็มบ้านเต็มเมือง สอนไอ้คนจนๆ ไอ้คนไม่มีจะกิน เออ มึงหัดทำมาหากินเดี๋ยวมึงจะมีเงินใช้ ไอ้คนรวยแล้วก็ช่างมัน คนภาวนาเป็นแล้วก็เรื่องของเขา เราก็พิจารณาพุทโธๆ ของเราแล้วพอมันมีปัญญาขึ้นมามันมีความสบายใจขึ้นมาพิจารณากาย พอพิจารณากายมันเป็น โลกียะ จิตยังไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ให้มันอยู่กับพุทโธให้มันจำเจจนมันเครียดจนมันแน่นหน้าอกอะไรต่างๆ พิจารณาของมันพิจารณาพักกลับมาพอมันไม่ได้ ไปพุทโธใหม่
ถาม : ๒. ผมเคยส้มหล่นครั้งหนึ่งตอนปฏิบัติช่วงแรก ความรู้สึกทุกอย่างดับหมด หูดับสงบมีความสุขมากแต่ไม่นาน ความรู้สึกนี้ ใช่ อัปปนาสมาธิ หรือเปล่าครับ ถ้าใช่ การปฏิบัติตามข้อหนึ่งไปเรื่อย ๆ สงบแนบแน่นไปเรื่อย ๆ จะถึง อัปปนา ได้ไหมครับ หรือใช้ปัญญาพิจารณาจะถึง อัปปนา ได้ง่ายกว่า
หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าถ้าจะให้ อัปปนาสมาธิ อัปปนา นี่นะเวลาลง เราจะบอกว่าเรามาจากกรุงเทพฯ มาถึงวัดมันใช้เวลาเท่าไรมันใช้ระยะทางเท่าไร เราขับรถมาด้วยสติปัญญาใช่ไหม สติหมายถึงว่าเราขับรถมีสติ เราบังคับรถ เราวิ่งตั้งแต่กรุงเทพฯ มาถึงที่นี่โดยความปลอดภัยทั้งหมดเลย มันก็ถึง อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่พุทโธ ๆๆๆจนพุทโธเริ่มละเอียดเรื่อยๆ ละเอียดจนลมหายใจก็ไม่มี นึกพุทโธเองก็ไม่ได้ พอนึกไม่ได้มันก็จะเริ่มขยับตัวไม่ได้ พอเริ่มขยับตัวไม่ได้ ร่างกายจิตมันจะปล่อยทั้งร่างกายนี้เลย
ทั้งๆ ที่จิตอยู่ในร่างกายนี้ มันจะหดตัวเข้ามาจนไม่รับรู้ร่างกายนี้ จะยืนอยู่ไม่ได้ เวลา อัปปนาสมาธินี่ ยืนอยู่ไม่ได้ทรงตัวอยู่ไม่ได้ ถ้ายืนอยู่นี่ ล้มทันที ถ้าล้มก็ขาดสติสิ แต่คนที่ อัปปนาสมาธิ เขาจะรู้สึกตัวของเขา ถ้ายืนอยู่ไม่ได้เขาจะนั่งลง พอนั่งลง ท่านั่งนี้จิตมันจะลงมา เราจะบอกว่าไอ้ที่หูดับเนี่ยมันชั่วคราวไปน่ะ ถ้าเป็น อัปปนา เราจะเปรียบเหมือนจากกรุงเทพฯ ขับรถมาที่นี่ แต่อันนี้มันขับรถมาจากกรุงเทพฯ แล้วมันแว้บเข้าไปที่ไหนที่หนึ่ง แต่มันก็เป็นความถูกต้องอยู่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด
เพราะเราจะบอกว่า อัปปนาสมาธิ นี่จากกรุงเทพฯ ออกสตาร์ทจากกรุงเทพฯ จะไปถึงไหนก็แล้วแต่ จากต้นทางไปถึงปลายทางเราจะมีสติปัญญาตลอด มีสติปัญญาตลอดนะ มันจะรู้ตัวตลอดเวลา แล้วมันจะเข้าถึงฐีติจิต ถึงอัปปนาสมาธิเลย แต่นี่ส้มหล่นเห็นไหมส้มหล่น แว้บมันเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่ถ้าเราบอกว่าเป็น อัปปนาสมาธิ โอ้ ตอบปัญหาออกเว็บไซต์ไปเขาหัวเราะกันใหญ่ฟันหักเลยล่ะ มันเป็นสมาธิมันปล่อยวาง ใช่ เพราะสมาธิเนี่ยนะ พูดถึงมันเป็นสมาธิไหม ใช่ แต่ถึง อัปปนาไหม เราว่ามันยังไม่ถึง แต่เป็นสมาธิได้
เพราะคำว่า อัปปนา เช่นเราเข้า ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ มันจะตื่นเต้นมาก เหมือนเรามีเงินร้อยหนึ่ง ล้านหนึ่ง สิบล้าน เงินร้อยหนึ่งก็คือเงินร้อยหนึ่ง เงินล้านหนึ่งก็คือเงินล้านหนึ่ง เงินสิบล้านก็คือเงินสิบล้านแต่จำนวนมันต่างกัน มากน้อยต่างกัน สมาธิก็เหมือนกัน ร้อยหนึ่งก็คือสมาธิ ล้านหนึ่งก็คือสมาธิ สิบล้านก็คือสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ร้อยหนึ่งถ้าเราไม่เคยมีเงินร้อยหนึ่ง เกิดมาชาตินี้ไม่เคยจับตังค์เลยได้จับร้อยหนึ่ง โหย สุดยอดเลย แล้วพอไปเจอสิบล้าน มันแตกต่างกันตรงนี้ อัปปนา และ ไม่อัปปนา ฉะนั้นคำว่าสมาธิคือสมาธิ
อัปปนานี่ต่อไปเราต้องไม่พูดแล้ว เพราะใครมาพูดแล้วต้องให้เรา อัปปนา อย่างเดียวเลย อัปปนา นี่มันเป็นชื่อของมัน มันเป็นชื่อของสมาธิ เป็นชื่อของสมาธิหนึ่ง สมาธิที่มีกำลังมากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้นสมาธิคือสมาธิ เมื่อก่อนหลวงตาท่านไม่พูดเลยใครไปถามเรื่องไอ้ ฌาน แชนๆๆๆ อย่ามาถามเรา เพราะไอ้คำว่า ฌาน ๆ ทุกคนอยากได้ ทีนี้ อัปปนาสมาธิ มันเกิดเพราะว่าเกิดจากปัญหา ปัญหานมเมลามีนนั่นล่ะ เขาบอกว่า อัปปนาสมาธิ จะเกิดปัญญาได้ เราเลยเน้นเรื่อง อัปปนาสมาธิ ให้มันเกิดปัญญา สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แล้วเวลาเป็นปัญญาเป็นยังไง มันก็อีกอย่างหนึ่ง
ฉะนั้นเลย กลายเป็นจุดขาย กลายเป็น อัปปนา ไปหมดเลย ไม่ใช่นะ เพราะหลวงตาท่านไม่พูดอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดอย่างนี้คำว่า อัปปนา คิดดูสิเงินร้อยหนึ่งเรายังไม่เคยจับเลย แล้วเงินสิบล้านนี้เราจะไปจับมันได้ยังไง หาชาตินี้กูหาไม่ได้หรอกกูตายก่อนกูยังไม่มีเงินสิบล้านเลย ฉะนั้นไม่ต้องไปว่า อัปปนา ไม่ อัปปนา เงินบาทหนึ่งมันก็ซื้อของกินได้เหมือนกัน เงินเท่าไรมันก็ซื้อของกินได้ เราอาศัยสมาธิไง การปฏิบัติมันต้องอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องอาศัยสมาธิ เราอาศัยสมาธิแล้วเราไม่จำเป็นว่าสมาธิต้องจำนวนเท่าไร อัปปนาสมาธิ มันเป็นจำนวนของสมาธิมากหรือน้อย
ไอ้ประเด็นที่มันเกิดขึ้นมา มันเลยกลายเป็นว่าเรานี่เป็นจ้าวแห่งอัปปนา ถ้าอัปปนา ต้องมาถามสงบ มันไม่ใช่ ทีนี้เป็นสมาธิให้จิตสงบเป็นใช้ได้ เป็นสมาธิก็พอ ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกับปริยัติ ถ้าเราไปเน้นย้ำที่ ปริยัติ แล้วมันก็จะเถียงเรื่อง ปริยัติ กันตลอดไป ไปเน้นย้ำที่ ปริยัติ ไปเน้นย้ำที่ทฤษฎีที่ชื่อ แต่นี้เวลาเราจะพูดกันเราก็ต้องสื่อด้วยชื่อ
ถ้าเราพูดถึงสมาธิ แล้วไม่พูดเรื่องชื่อเราจะไปรู้ได้ยังไง ทีนี้พูดเรื่องชื่อ ขณิก สมาธิ มันยังทำกันไม่เป็นเลย อุปจารสมาธิ ไอ้ออกรู้ออกนิมิตที่ว่าเห็นนิมิตนี่ อุปจารสมาธิ จิต อุปจาระ จิตสงบแล้ว อุปจาระ มันออกรู้ ออกรู้นี่มันวิปัสสนา ถ้าอัปปนา มันไปอีกขบวนการหนึ่ง มันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้ามันเป็น อัปปนา ใช่หรือไม่พิจารณาอย่างไร พิจารณาอย่างใดถึง อัปปนา ได้ง่ายกว่า
ไม่ต้องถึงอัปปนา อุปจาระก็พอถ้ามันจะใช้วิปัสสนานะ
หลวงตาบอกว่า ทำความสงบบ่อยๆ จนจิตเป็นสมาธิ พอเราทำสงบบ่อยๆ ก็สงบได้เรื่อยๆ ขึ้น ความสงบที่เราชำนาญมากขึ้นคือสมาธิ เหมือนนักกีฬาออกกำลังทุกวันๆ เห็นไหมร่างกายแข็งแรงไอ้แข็งแรงนั่นคือสมาธิ แต่ออกกำลังกายทำความสงบทุกวัน ทำความสงบทุกวันจิตใจแข็งแรงร่างกายแข็งแรง ทำสงบทุกวันๆ จิตเป็นสมาธิ จิตสมาธิมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้าจิตมีสมาธิเหมือนเรา เมื่อก่อนเป็นว่อกแว่กเป็นคนที่ไม่มีจุดยืน พอทำสมาธิได้มั่นคง เออ อะไรมาก็ไม่ค่อยว่อกแว่ก จะทำอะไรก็จะดีขึ้น นี่จิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้วมันก็ออก วิปัสสนา นี่เราต้องการตรงนี้กัน ไม่ต้องการ อัปปนา ไม่เกี่ยวไอ้นั่นมันชื่อ
ถาม : ๓. การเข้าออก อัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง สามารถฝึกจนชำนาญเข้าออกได้ไหมครับ โดยปกติผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติกี่ปีถึงจะเข้า อัปปนา และชำนาญการเข้าออกครับ
หลวงพ่อ : การเข้าออก อัปปนา สำหรับผู้ปฏิบัติต้องมีปัจจัยอะไร มีปัจจัยคือสติแล้วมีความชำนาญ อัปปนา นี่เราพุทโธไปเรื่อยๆ รวมใหญ่ในภาคกรรมฐานเขาไม่เรียกอย่างนี้ ในหมู่พระกรรมฐานเขาเรียกรวมใหญ่ รวมใหญ่คือเข้าอัปปนาสมาธินี่แหละรวมใหญ่ ทีนี้การเข้ารวมใหญ่นี่มันก็มีทั้งรวมใหญ่ในสมาธิ และรวมใหญ่ในวิปัสสนา รวมใหญ่ในวิปัสสนาหมายถึงว่ามันใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไปแล้ว มันชำระกิเลสสมุทเฉทปหานขาด มันก็รวมลงเหมือนกันรวมลงอัปปนานี่แหละ
คำว่ารวมลงอัปปนาเพราะมันใช้วิปัสสนามามันใช้ปัญญา ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิปัญญาฆ่ากิเลส เวลามันฆ่ากิเลสขึ้นมามันก็รวมลงสู่ฐีติจิต เพราะมันปล่อยกิเลสออกไปหมดมันรวมลง อันนั้นรวมใหญ่โดยวิปัสสนา กับรวมใหญ่โดยอัปปนาสมาธิโดยกำหนดสมาธิที่ว่าหินทับหญ้านี้ ในกรรมฐานในครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติ ผู้ที่มีประสบการณ์ผู้ที่ปฏิบัติมาแล้ว ท่านจะมีประสบการณ์ของท่าน พูดออกมานี้ มันจะมาทางแนวไหน เหมือนคนเราเห็นไหมมีเท้าซ้ายเท้าขวาเดินด้วยเท้าซ้ายขวา มีมือถนัดซ้ายถนัดขวาเขียนถนัดซ้ายถนัดขวา
แต่การเขียนนี้มันเป็นจริตนิสัยในการปฏิบัติก็เหมือนกัน อัปปนาสมาธิ รวมใหญ่โดยสมาธิ อัปปนา ที่ว่าอัปปมาณปัญญาที่ปัญญามันเกิดมันเกิดยังไง มันมีรายละเอียดมีการกระทำที่ว่าปัจจัยมันเป็นยังไง ตรงนี้มัน หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ท่านไม่พูดหมดท่านบอกถ้าพูดหมดไปแล้วนี่ พวกที่ปฏิบัติมันจะเป็นธรรมปฏิรูป คือมันสร้างภาพ ธรรมะที่เป็นธรรมะสร้างไม่ใช่ธรรมะจริง
ฉะนั้นท่านพูด ท่านบอกวิธีการบอกเหตุปัจจัย แล้วเราปฏิบัติไป เพราะมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นเองโดยไม่มีใครบอก ไม่มีใครบอก แล้วเวลาเป็นเอง ทำไมหลวงปู่มั่นทำไมท่านกราบพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นเคารพพระพุทธเจ้ามาก อักษรทุกตัวสื่อถึงพระพุทธเจ้าได้ หลวงปู่มั่นจะเชิดไว้บนหัวเลย ทำไมเคารพพระพุทธเจ้าอย่างนั้นล่ะ เพราะพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอย่างนี้ แล้วเราไปรู้อันเดียวกัน มันกราบพระพุทธเจ้าด้วยความซึ้งใจมาก อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกเหตุปัจจัยนะแล้วพอปฏิบัติไปถึงมันจะเข้าใจมันจะมากราบด้วยหัวใจ
แต่ถ้าบอกไปก่อน บอกว่าธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ ไอ้ผู้ปฏิบัติไปมันก็สร้างภาพใช่ไหม ของผมเป็นอย่างนี้นะ ของผมปัจจัตตัง ของอาจารย์น่ะผิดของอาจารย์ผิดนะ เวลาอาจารย์ฟังก็ฟังจากขี้ปากอาจารย์มา แต่เวลาปฏิบัติมันสร้างภาพขึ้นมามันไม่เป็นความจริง มันยังมาเถียงปากเปียกปากแฉะมันจะหัวชนฝามันว่ามันจะชนะ
ในวงปฏิบัติอย่างนี้มีมาเยอะ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาดครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาเพราะเราปฏิบัติมา เราจะบอกว่าเราเป็นผู้ใหญ่มาเราทำอาชีพมา เราอยู่กับโลกมา เรากว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวมาขนาดไหน แล้วจะให้เด็กๆ มันสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมานี่มันแสนยาก
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่จะสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์จะสร้างใจขึ้นมาจะเป็นเศรษฐีธรรมนี่มันต้องพยายามทำของมัน ไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก แต่ก็ไม่สุดวิสัยของมนุษย์ไม่สุดวิสัยของคนประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้นที่ว่าเหตุปัจจัย ความเข้าออกชำนาญไหม ไอ้นี่ถ้าพูดอย่างนี้ แบงก์นี่กินไม่ได้นะ เงินนี่กินไม่ได้หรอก ใครอยู่บ้านกินเงินสิ เอาแบงก์มาเคี้ยวกิน ไม่มีหรอก เขาเอาแบงก์นี่ไปแลกอาหารมากิน
เราจะบอกว่าข้อที่ ๓ การเข้าออก อัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติมีปัจจัยอะไรบ้าง สามารถฝึกจนชำนาญเข้าออกได้ไหมครับ โดยปกติผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติกี่ปีถึงจะถึงอัปปนาและชำนาญการเข้าออก เราจะบอกว่านี่จะกินแบงก์แล้วล่ะ จะกินอัปปนาสมาธิไง อัปปนาสมาธินี่ เข้าไปพักเฉยๆ แล้วออกจากอัปปนามาแล้วเขาออกมาวิปัสสนามันจะแก้กิเลส แบงค์น่ะกินไม่ได้แต่ต้องอาศัยแบงค์นี้แหละไปแลกอาหารไปซื้อของเป็นปัจจัย ๔ มาอาศัย มาเป็นเครื่องดำรงชีวิต
อัปปนาสมาธินี่ตัวมันเองชำระกิเลสไม่ได้ แต่ออกมาเป็น อุปจารสมาธิเกิดวิปัสสนา ระหว่างอุปจารสมาธิ ขณิกะนี้อ่อนไป อัปปนานี้เข้มแข็งไป แบงค์กินไม่ได้กระดาษกินไม่ได้แต่กระดาษไปแลกอาหารมากินได้ อัปปนาสมาธิมันต้องถอนออกมาตรงอุปจารสมาธิแล้วออกไปใช้ปัญญา ปัญญาคืออาหาร ปัญญาคือการชำระกิเลส ทำไปทำมามันจะหลงทางกันปฏิบัติเพื่อเอาอัปปนากันหมด ทำไปทำมาจะบอกว่าพระสงบสอนให้คนกินกระดาษกันหมด สอนให้คนเข้าสมาธิมึงจะบ้าแล้ว ทีนี้มันพูดถึงสมาธิมันเป็นกำลัง มันเป็นต้นทุน ไม่มีสมาธิมันไม่มีทุนมันใช้ปัญญาโลกุตตรปัญญาไม่ได้
ฉะนั้นพอมีสมาธิแล้วเราออกใช้ปัญญาของเรา โดยปกติจะต้องปฏิบัติกี่ปี หลวงตาท่านบอกท่านปฏิบัติอยู่ ๗ ปี ตอนที่เรียนอยู่เป็นอัปปนา ๓ หน ๗ ปีนะ เราปฏิบัติมานี่หลายปีแต่อัปปนานี่เข้าได้หลายที แต่เข้าอัปปนานี่ไม่ใช่ว่าตั้งใจเข้า มันปฏิบัติของมันไปปฏิบัติไปเพราะจริงๆ แล้วเราก็ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น มันเป็นเองเวลาทุกอย่างสมดุล อย่างเช่นเราเก็บของใส่ตู้นี่เก็บๆๆ ไปมันเต็มตู้เอง ไม่ได้ตั้งใจเก็บนี่ใส่ตู้เก็บนู่นใส่ตู้เก็บจนมันปิดตู้ไม่ได้มันเต็ม มันก็ลงอัปปนาทีหนึ่ง เราไม่ได้ตั้งใจจริงๆ
อัปปนานี่เราไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าเราฟังครูบาอาจารย์มาเยอะ อะไรปฏิบัติแล้วมันติด อะไรปฏิบัติแล้วไม่ใช่ทางกลัวที่สุด ฉะนั้นถ้ามันจะแฉลบไปทางไหน ไม่เคยแฉลบไป เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ นี่ เวลาเป็นอัปปนานี่ไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นในทางจงกรม เรานี่เป็นในทางจงกรมเลย ๒-๓ หนเป็นในทางจงกรมเลยพอมันลงนี่ดับหมด วางหมดทุกอย่างเลย มันเป็นสมาธิ แต่ด้วยความไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่ต้องการเอาสิ่งใดเป็นเป้าหมาย เป้าหมายของเราคือพ้นทุกข์ให้ได้ ฉะนั้นการพ้นทุกข์ให้ได้ ไอ้พวกนี้มันจึงเป็นแค่พื้นฐาน
ฉะนั้นอัปปนาสมาธินี่ที่เราบอกว่าอัปปนาสมาธิหมายถึงว่า เวลาคนปฏิบัติใช่ไหม เราหาทางเดินของเราไม่ถูกต้อง จะวิปัสสนากาย เวทนา จิต หรือธรรม เราไปยังไม่ถูกทาง เราถึงบอกว่าให้พยายามปฏิบัติให้ถึงอัปปนาคือ ฐีติจิต ไปดูข้อมูล ไปดูต้นทุนว่าเราควรเดินทางไหน เพราะเข้าอัปปนาออกมาแล้วถ้าพิจารณากายเห็นกายนี่แสดงว่าไปได้ ถ้าพิจารณากายไม่เห็นกายเราควรใช้ปัญญาไปทางอื่นแล้ว เป็นธรรมารมณ์ ปัญญานี่ไม่ได้ใช้เป็นแต่ทางกาย ใช้ไปทางธรรมใช้ไปทางจิตใช้ไปทางเวทนา ปัญญานี่ใช้ไปทางไหนก็ได้
ปัญญาของเรานี้ใช้ไปทางเรื่องจิตก็พิจารณาเรื่องจิต ใช้ไปเรื่องธรรมารมณ์ก็อารมณ์ความรู้สึก พิจารณาเรื่องเวทนาก็ความทุกข์ความยาก ถ้าพิจารณากายก็เรื่องของกาย ปัญญาเรานี่จะพุ่งไปทางไหนในสติปัฏฐาน ๔
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปทุกคนจับต้นชนปลายไม่ถูกล้มลุกคลุกคลานนี่ เราถึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นแล้วเราต้องมาต้นทาง มาที่อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิคือการเช็คระบบของตัวเองเท่านั้น การปฏิบัติอัปปนาสมาธิ คือเข้ามาเช็คระบบตัวเองว่าควรจะมีจุดเริ่มต้นสตาร์ทยังไงเพื่อจะออกเดิน มันเป็นการเช็คระบบไม่ใช่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ว่าจะฆ่ากิเลส ที่อัปปนาสมาธิ ทีนี้เน้นย้ำที่อัปปนาเพราะมันเป็นประเด็นเพราะว่าเขาพูดคำว่าอัปปนามา เราก็แย้งเขาไป
แต่จริงๆ แล้วคำว่าอัปปนานี่ อย่างที่หลวงตาพูด ไอ้ฌานไอ้แชน อย่ามาพูดกับเรานะ พวกเราปฏิบัติกันต้องการความสงบของใจเท่านั้น พระกรรมฐานต้องการทำสมาธิเพื่อความสงบของใจเท่านั้น ไม่ต้องการอะไรเลย ไม่ต้องการชื่อไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่ปฏิบัติแล้วมันได้ผล ต้องการปฏิบัติแล้วมันพ้นจากทุกข์ ฉะนั้นเมื่อมันเป็นประเด็นอย่างนี้ขึ้นมา นี่ประสาเราคนถามมันจะชักจูงเราให้พูดเรื่องอัปปนาตลอดไป เพราะอัปปนานี่มันเป็นปริยัติมันออกมาจากพระไตรปิฎก มันเป็นทฤษฎีในพระไตรปิฎก มันเป็นความมั่นคงความเชื่อมั่น ก็เอาตัวนี้เป็นประเด็นแล้วเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง พอเอาเป็นตัวตั้งแล้วพวกเราก็เลยตายเลย
ตายเพราะอะไร ตายเพราะขณิกะมันยังทำไม่เป็นเลย อุปจาระก็ไม่มี จะเริ่มอัปปนาเลย ก็เหมือนเลยเหมือนกับเรานี่กระต๊อบยังไม่มีเลย ก็ต้องมาอยู่คอนโดมีเนียมแล้วต้องอยู่ชั้นที่ร้อยด้วยนะ โหย ตายห่าจะเอาตังค์ที่ไหนไปซื้อ นี่ขึ้นไปก็อัปปนาเลยไม่ได้ เริ่มต้นมึงไปตัดไม้ในป่า ต้นสน ยูคาก็ได้ตัดมาสามสี่ต้นตัดๆ มาปักเสา แล้วผูกเชือกเข้าเอาหญ้าคามุงหลังคาก็อยู่ได้แล้ว ไม่ต้องไปคอนโดมีเนียมชั้นที่ร้อยหรอก อัปปนาสมาธินี่มันสูงส่ง เอาแค่ขณิกสมาธินะ
ตัดยูคานี่ ๔ ต้นปักเสาเลยเอาไม้ผูกเข้า เอาหญ้าคาปิดอยู่ได้แล้ว ความสงบสุขของใจมีแล้วแค่นี้เอง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิพอแล้วอยู่ได้แล้ว อุปจาระนี่ใช้ได้แล้ว มีกระต๊อบห้องหอเราก็อยู่กระต๊อบห้องหอกัน เราก็อยู่ได้ ถ้ามีตังค์หน่อย เราก็ซื้อสังกะสีมามุง บ้านเราก็ดีขึ้น แล้วถ้ามีตังค์วันหลังมีตังค์เราจะไปสร้างกี่ร้อยชั้นก็ได้ ฉะนั้นเริ่มต้นจากเรา ไม่ใช่ แหม! เราเป็นยาจกเข็ญใจแต่จะอยู่คอนโดมีเนียมอย่างเขา ไม่ต้อง อัปปนาสมาธิ นี่พูดถึงเรื่องการภาวนานะให้จิตให้มีความสุขของใจ เอวัง