เทศน์บนศาลา

กิเลสสมมุติ

๑๒ ก.ย. ๒๕๕๒

 

กิเลสสมมุติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เรามีชีวิต เรามีคุณค่า เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ชีวิตมีคุณค่ามาก ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้มีคุณค่าเท่ากับชีวิตของเรา ชีวิตเกิดจากอะไร? ชีวิตเกิดจากจิตที่มันปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา แล้วเกิดมาเป็นเรา สมบุกสมบันมาทั้งชีวิต ชีวิตนี้ทำมาหากินมา ชีวิตนี้เกิดมาต้องปากกัดตีนถีบเพื่อดำรงชีวิตของเราไว้ ชีวิตนี้เกิดมาแล้วมีบุญกุศล ชีวิตนี้เกิดมาแล้วมีมรดกตกทอด มีพ่อแม่คอยดูแล ชีวิตของเราด้วยบาปด้วยบุญนี่เกิดมา เราเกิดมา เกิดมาพบพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดิมยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม นี่ธรรมะไม่มี มีแต่เรื่องโลกๆ โลกทั้งนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ตรัสรู้บนอะไร? ก็บนโลกนี่แหละ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมานั่นโลกทั้งนั้น เกิดมาจากพระนางสิริมหามายา เกิดมาจากแม่ เกิดมาจากพ่อ พระเจ้าสุทโธทนะ เลี้ยงดูกล่อมเกลี้ยงมา เห็นไหม นี่เกิดมาบนอะไร? ก็เกิดมาบนโลกทั้งนั้นน่ะ มันอยู่บนโลกไง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ธรรมะถึงมีจริง ธรรมะ จริงๆ ของจริงมีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา ไม่มี แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สร้างบุญญาธิการมา สร้างบุญญาธิการมาเพื่อจะรื้อค้น สร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ เสียสละนะ ในมหายานเขาเขียนภาพวาดไว้ เวลาว่าเสือมันหิวโหยมาก แล้วเสือมันไม่มีแรง ตัวเองนอนให้เสือกินนะ เสือกินไม่ไหวเพราะเสือหิวโหยมาก อุตส่าห์ทำนะ พยายามฉีกเนื้อของตัวให้เสือได้กินไง

เห็นไหม ดูสิ พระโพธิสัตว์แต่ละองค์จะมาตรัสรู้ธรรมต้องลงทุนขนาดไหน ด้วยความศรัทธา ด้วยความเชื่อมั่นของตัว เชื่อว่าถ้าเราทำคุณงามความดีจะได้ความดีข้างหน้า ปรารถนาพระโพธิญาณ เสียสละมาขนาดนั้น แล้วเวลาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังจะต้องมาประพฤติปฏิบัติ ออกค้นคว้าอยู่ ๖ ปี เที่ยวไปต่อสู้กับลัทธิต่างๆ ความเป็นอยู่อย่างนั้นที่พิสูจน์มากับตัวของเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุด เห็นไหม ปฏิเสธมาทุกๆ อย่างเลย แล้วมาตรัสรู้ธรรม

ตอนตรัสรู้ธรรม นี่ธรรมะเกิดขึ้น เกิดขึ้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมะที่แท้จริง ธรรมะที่แท้จริงเกิดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางธรรมและวินัยไว้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ อัครสาวกต่างๆ ไปศึกษากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒๐๐ กว่าปีนะ สังคายนาครั้งที่ ๒ ถึงได้จารึกบนใบลานมาเป็นตัวอักษรมา

แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ มันไม่มีตำรา ไม่มีสิ่งใดเลย จะศึกษากันปากต่อปาก ถ้าผิดก็ผิดไปเลย ถ้าถูกก็ถูก เวลาศึกษาขึ้นมา ศึกษา เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มาฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติมามีปัญหาก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ ดูเวลาพระกัจจายนะให้พระโสณะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโสณะนี่ได้อยู่ในกุฏิเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ในพระไตรปิฎกบอกว่า ให้พระโสณะสาธยายธรรมะให้ฟัง สาธยายธรรมะให้ฟัง นี่ไง นั่นล่ะ ตรวจสอบ ตรวจสอบว่าพระโสณะจริงหรือไม่จริง

พระโสณะนี่ พระพุทธเจ้า สาธุๆ มาตลอด

นี่ไง ขณะที่ว่าประพฤติปฏิบัติแล้ว พระกัจจายนะ พระโสณะได้บรรลุธรรมได้เป็นถึงพระอรหันต์นะ อยากเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เวลามาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัจจายนะฝากเลย ฝากให้ขอด้วย ขอให้ภิกษุชนบทประเทศ รองเท้าชั้นเดียวไม่ไหว ภิกษุที่จะบวช ๑๐ องค์ขึ้นไป ชนบทประเทศกว่าจะรอครบภิกษุบวช นี่ขอให้ผ่อนปรน ขอให้ธรรมวินัยให้เปิดกว้างขึ้น

เวลาฟังนะ ใครประพฤติปฏิบัติก็จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฟังธรรม ฟังธรรมไง สิ่งที่เป็นธรรม ธรรมะที่แท้จริงนะ แล้ววางธรรมและวินัยไว้ เราศึกษาธรรมและวินัย เห็นไหม ธรรมและวินัย นี่สมมุติบัญญัติ เวลาเราศึกษา เราศึกษากันในปัจจุบันนี้เราก็ศึกษา แต่ในปัจจุบันที่ศึกษา เขาศึกษาแล้วเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติและบัญญัติ มันเป็นสมมุติอยู่แล้ว เราเกิดมาก็เป็นสมมุติ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม จะแบ่งแยกอะไรเป็นสมมุติ อะไรเป็นบัญญัติ อะไรเป็นวิมุตติ? วิมุตติคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วิมุตตินะ ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เสวยวิมุตติสุข สุขมากๆ

ความสุขอย่างนี้ ความสุขอย่างพวกเรา สุขเวทนา ทุกขเวทนา ความสุขแบบโลกๆ ไง สิ่งใดสมความปรารถนาก็มีความสุข ใครมายกย่องสรรเสริญ ใครมาเยินยอหน่อยมีความสุข เวลาบวชเป็นพระเป็นเจ้ามาก็ต้องการให้คนนับหน้าถือตา ให้เขามายกย่องสรรเสริญ มันเป็นความสุขอะไร ทำไมเราไปตื่นเงา เราไปตะครุบเงาอย่างนั้น เราทำไมต้องการให้คนมานับหน้าถือตาล่ะ พรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร? พรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ไง เราไม่ได้พรหมจรรย์เพื่อจะไปแก้ความเห็นใคร ไปแก้ทิฏฐิใคร ไปแก้ใคร ถ้ายังประพฤติปฏิบัติอยู่นะ

แต่ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว นี้มันเป็นหน้าที่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะเทศน์ปัญจวัคคีย์ พอปัญจวัคคีย์แล้ว แล้วได้ยสะ “เธอทั้งหมด ๖๐ องค์กับเราพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้ต้องการธรรมะ ต้องการสิ่งธรรมะไปเจือจาน อย่าไปซ้อนทางกัน มันเสียประโยชน์” เห็นไหม นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว

แต่เวลาปฏิบัติอยู่นะ พรหมจรรย์นี้เพื่อใคร? พรหมจรรย์นี้เพื่อพรหมจรรย์นะ พรหมจรรย์เพื่อเราพ้นจากทุกข์นะ สิ่งที่จะเป็นพรหมจรรย์ เราต้องพยายามประพฤติปฏิบัติเพื่อเรา ไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น ถ้าไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น เราจะมีเวลาไปยุ่งกับอะไร ที่ว่าจะต้องให้ใครยอมรับ ยอมรับ ทำไมต้องให้ใครยอมรับล่ะ นี้กิเลสทั้งนั้น มันเรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ เราเกิดในโลก ธรรมะ ธรรมกับโลกอยู่ด้วยกัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเกิดกับโลกนี่แหละ พอเกิดจากโลกขึ้นมาประพฤติปฏิบัติเอาจริงเอาจัง เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมา ใครจะมาเยินยอสรรเสริญขนาดไหน อาฬารดาบส อุทกดาบส มีอำนาจวาสนาเหมือนเรา ทุกคนยกย่องสรรเสริญ ทุกคนต้องการเอาไว้ให้เป็นหมู่เป็นคณะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธๆๆ ไม่ต้องการ มันไม่เป็นความจริง ไม่จริงไม่เอา จะเอาความจริง

โลกเขาศึกษากัน นี้เรามีความเชื่อมีความศรัทธาของเรา เรามาทำไมกันนี่? เราก็จะมาหาความจริง แล้วหาความจริง ตำรามีความจริงไหม ตำราศึกษามาแล้วศึกษาแล้วเราเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน เราจะไปค้นเอามา หลวงตาท่านบอกว่า หนอนแทะกระดาษเลย ในตำราค้นความจริงออกมาให้เจอสิ ในตำรามันจะมีความจริงไหม สมมุติบัญญัติอันนั้นจะมีความจริงตรงไหน

สมมุติบัญญัติมันเป็นวิชาการ สมมุติบัญญัติ ปริยัติเราศึกษาแล้ว ศึกษาขนาดไหนปริยัติก็คือปริยัติ ปริยัติแล้วปฏิเวธ ไม่มี จะรู้ขนาดไหน รู้ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก รู้โดยอวิชชา รู้โดยกิเลสทั้งหมด นี่ไง สมมุติ สมมุติบัญญัติ เราศึกษาขนาดไหน ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถ์ บอกนี่ธรรมะนี่ ปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามันจะผิดไปไหน? ไม่ผิดเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ปริยัติ” ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อความรู้ ไม่ใช่ ความรู้ความจำอย่างนี้เป็นความรู้ไม่ได้

ความจริง เราต้องการความจริง เราก็ศึกษากันมาใช่ไหม เราต้องการความจริงมา เราถึงต้องมาทรมานตน ทรมานตนคือทรมานกิเลส เรามาเพื่ออะไร? เพื่อเอาชนะตนเองให้ได้ ถ้าชนะตนเองให้ได้ สมมุติบัญญัติ ถ้าเราศึกษามาแล้วเป็นความสมมุติสมมุติบัญญัติ เราศึกษามาเพื่ออะไร ไม่ใช่ศึกษามาสมมุติเพื่อสมมุตินะ ศึกษาสมมุติบัญญัติเพื่อเอาความจริง เพราะสมมุติบัญญัติมันจะออกไปถึงวิมุตตินั้น ไม่ใช่สมมุติบัญญัติแล้วมุดลงไปอยู่ในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว มุดไปในความพอใจของตัวไง

ทุกอย่างเป็นสมมุติทั้งหมด กิเลสก็เป็นสมมุติ ทั้งๆ ที่ความจริงเกิดมาเป็นความจริง จริงตามสมมุตินะ ชีวิตเรานี่เป็นความจริงนะ สุขทุกข์ก็เป็นความจริง สมมุติบัญญัติมันก็เป็นภาษา เป็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่ความจริงอย่างนี้เป็นความจริงของโลก ความจริงอย่างนี้เป็นความจริงที่แปรปรวน ความจริงอย่างนี้มันไม่คงที่ มันมีของมันจริงๆ

ไฟนี่ร้อนทั้งนั้น จับไปก็ร้อน บุญบาปมีทั้งนั้นน่ะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นความจริงทั้งนั้น แต่มันจริงตามสมมุติ มันเป็นสมมุติอันหนึ่งเพราะอะไร เพราะเรายังเข้าถึงสัจจะความจริงไม่ได้ ดูสิ เวลาทางโลกเขา ทางโลกเขา ดูสิ เวลาเขาฝึกกัน เขาซ้อมกัน เวลานักกีฬาเขาซ้อมกัน เวลาเขาซ้อมนั่นก็สมมุติ สมมุติว่าแบ่งข้างซ้อมกัน มันก็เป็นเรื่องอย่างหนึ่งใช่ไหม แล้วอย่างทางทหารเวลาเขาออกรบกัน เวลาเขาฝึกซ้อมมา ซ้อมรบ เวลาซ้อมรบน่ะข้าศึกสมมุติ ถ้าข้าศึกสมมุติ เราสมมุติเป็นข้าศึก เราแบ่งกันเป็น ๒ ฝ่าย แล้วเราก็มาซ้อมรบกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมวินัยมาเป็นสมมุติบัญญัติ มันเป็นสมมุติอยู่แล้ว โลกความเป็นจริงมันเป็นสมมุติอยู่แล้ว ถ้าเป็นสมมุติอยู่แล้ว เราศึกษาขึ้นมาแล้ว แล้วยังทำตามความสมมุติของตัว ถ้าเราสมมุติว่า สมมุติ สมาธิก็เป็นสมมุติว่าสมาธิ สติก็เป็นสมมุติว่าสติ...เป็นสมมุติหมด เพราะตัวเราเป็นสมมุติ แล้วเราไม่ยอมออกจากความเป็นจริง เราไม่ออกจากสมมุติไปตามความเป็นจริง นี่สิ่งที่ได้มา ได้มาสมมุติก็คือสมมุตินะ

เวลาเจอกิเลส กิเลสเป็นสมมุติ เราจะฆ่ากิเลสด้วยสมมุตินะ กิเลสนี่เป็นของสมมุติทั้งหมด เป็นความจริง สติเราได้มาจากสมมุติขึ้นมา ไม่ใช่สติจริงๆ ถ้าสติจริงๆ ที่มาที่ไปของความจริงกับความปลอมมันต่างกัน ถ้าสติความจริง ที่มาของสติที่ความจริงนะ มันจะระลึกรู้ของมัน แล้วถ้าเกิดเราทำสติขึ้นมา มันจะเป็นความจริง มันจะเป็นความจริงของมัน แล้วถ้า ปัญญาขึ้นมา เกิดปัญญาขึ้นมา โลกุตตรปัญญามันจะเกิดขึ้น

ถ้าโลกุตตรปัญญาเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเราจะเอาความจริงไง ที่เราประพฤติปฏิบัติ เราต้องวางให้หมด เราอย่าให้ความรู้สึก ความนึกคิดในทางวิชาการในทางการศึกษามาเป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญาจะให้มันเริ่มต้นให้เรา...จากสัญญาแล้วให้เกิดความรู้จริงขึ้นไป มันเป็นไปไม่ได้ มันเกิดจากสัญญาใช่ไหม เกิดจากสมมุติใช่ไหม สัญญาเป็นสมมุติไหม สัญญานี่ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญามันธรรมชาติของมนุษย์ไง นี่ธรรมชาติของมนุษย์

เราเกิดมานี่จริงตามสมมุติ เพราะมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ภาษาสามัญสำนึกต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งนี้มันมีของมันอยู่แล้ว แล้วไปศึกษาธรรมะมา มันก็เป็นสมมุติบัญญัติอันหนึ่ง ทั้งๆ ที่มันเป็นสัจธรรม สัจธรรม ปรมัตถสัจจะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปรมัตถสัจจะ แล้วเราศึกษาปรมัตถสัจจะมันจะผิดไปตรงไหน? มันไม่ผิด ศึกษาปรมัตถสัจจะ ไม่ผิดหรอก แต่มันผิดเพราะตัวตนของเรา มันผิดเพราะกิเลสของเรานี่

เพราะกิเลสของเรา มันมีกิเลสอยู่แล้ว กิเลสมันฉลาดนัก กิเลสมันก็เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบังเงา พอกิเลสเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบังเงา มันสร้างหมดล่ะ นี่ไง ถ้าเราปฏิบัติโดยที่เรายังมีสมมุติอยู่ในหัวใจ มันถึงต้องตั้งสติตามความเป็นจริง ตั้งสติตามความเป็นจริง ระลึกนะ สติคืออะไร เขาบอกสตินี้กว้างขวางมาก ไม่มี สติตั้งอยู่บนจิต จุดและต่อม สิ่งที่รับรู้เกิดที่ไหน สิ่งที่รับรู้เกิดบนจิตนี้ สติเกิดที่ไหน สติมันเกิดจากจิตนี้ สติเกิดจากเรานี้ เขาบอกสติทุกอย่างตะครุบเงา ทุกสิ่งอย่างอยู่ข้างนอกทั้งหมดเลย

นี่ปัญญาสิ่งต่างๆ มีความรู้ศึกษากันมา ทางวิชาการรู้ไปหมดครอบจักรวาลนะ ดาราศาสตร์นี่รู้หมด รู้ทุกอย่าง รู้ทั้งนั้นเลย แต่ไม่รู้จักตัวเอง มันออกไปหมด พอสติมันออก เราบอก “มันกว้างขวางออกไปเพราะมีสติแล้วต้องกว้างขวางออกไป สติกว้างขวางมาก ปัญญากว้างขวางมาก ไม่รู้จะเริ่มต้นกันตรงไหน”

เริ่มต้นต้องหัวใจของเราไง เริ่มต้นจากความรู้สึกอันนี้ไง ถ้าความรู้สึกอันนี้มันระลึกขึ้นมา สติมันเกิดที่นี่ สิ่งต่างๆ เกิดบนภพ เกิดบนสถานะ เกิดบนความรู้สึก เกิดที่สัมมาสติ สัมมาสมาธินี้ ถ้าเกิดที่สัมมาสติ สัมมาสมาธินี้ ความรับรู้ทั้งหมดที่ศึกษามาทางวิชาการต้องวางไว้หมด สิ่งนั้นเป็นปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะเป็นสมมุติของเรา จะเป็นสมมุติของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะเป็นสมมุติของผู้ที่จดจำมา เป็นสมมุติทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม

เพราะมันมีปรมัตถธรรมอันนั้นใช่ไหม เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่วางธรรมวินัยไว้ เราจะรู้อะไรได้? เราไม่รู้สิ่งใดๆ เลย

แต่นี้พอเราศึกษาทางวิชาการมา เราศึกษามาด้วยสัญญาของเรา พอศึกษาด้วยสัญญาของเรา จิตเราเป็นสมมุติ มันก็เลยซ้อนไง ทุกอย่างสร้างหมด พอทุกอย่างสร้างขึ้นมา สร้างด้วยความเข้าใจผิด ด้วยกิเลส ไม่ใช่เข้าใจผิด ด้วยอวิชชา ด้วยความไม่รู้ ด้วยความที่ตัวเองเข้าไม่ถึง ชั่วโมงบินไม่มี กระดูกมวยไม่ถึง ฝีมือไม่มี มือไม่ถึง คนทำงานไม่เป็น ทำงานนั้น งานนั้นเสียหายหมด แล้วการกระทำของเรา สติปัญญามันไม่ถึง มันเลยเป็นสมมุติ พอมันสมมุติแล้วมันก็ซ้อนสมมุติ ซ้อนเข้าไป จิตมันก็เลยมุดเข้าไปในอวิชชา มุดเข้าไปในความไม่รู้เรื่อง แล้วก็สร้างกันขึ้นมา นี่กิเลสโดยสมมุติไง ฆ่ากิเลส ทำลายกิเลส โดยสมมุติทั้งหมดเลย

มันเป็นไปไม่ได้ ข้าศึกสมมุติเขาฝึกเขาซ้อมกันน่ะ เขาฝึกซ้อมนะ เขาไม่ใช้กระสุนจริง เวลาเขายิงกันไป ใครโดนมีรอย คนนั้นก็ต้องตายไป มันสมมุติไง นี่ข้าศึกสมมุตินะ เวลาเข้าสงครามจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นไหม เวลาเข้าสงครามจริงๆ สิ่งที่การกระทำสงคราม ในสงครามทุกเหตุการณ์เกิดได้หมด วิกฤติขนาดไหนก็เกิดได้หมด เพราะต่างคนต่างเอาตัวรอด ทั้งๆ ที่ในสงคราม สงครามโลก สงครามต่างๆ นี่เขามีกติกานะ

ดูสิ แบบว่าถ้าผู้ป่วยแล้วห้ามยิง ห้ามทำร้ายเชลย ต้องให้เกียรติกันหมด ทั้งๆ ที่มีกติกา แล้วมีคนประพฤติตามกติกานั้นกี่คน เพราะอะไร เพราะเวลากิเลสนะ ความเอาชนะคะคานกัน จะเอาแพ้เอาชนะกัน มันทำลายทั้งนั้นน่ะ มันทำลายตั้งแต่เรา มีหน้าฉากหลังฉาก ต่อหน้าก็ว่าทำตามกฎ ทำตามกติกา ทำตามกฎหมาย ทุกคนต้องบังคับ กฎหมายต้องบังคับใช้ ทั่วโลกต้องบังคับให้เหมือนกัน แต่เวลาไอ้พวกอยากเอาชนะคะคานเขา มันยอมรับกฎหมายอันนั้นไหม มันทำตามกฎหมายนั้นไหม? มันไม่เห็นทำตามกฎหมายนั้นเลย เพราะอะไร เพราะในสงครามอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ในสงคราม สัจจะความจริง นี่เหมือนกัน ในความจริงของเรา ในขณะที่เราทำสงครามระหว่างภพชาติของเรา เอาตามความจริงของเรา วิกฤติมันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เวลานั่งสมาธิ ตั้งสติขึ้นมา เวลามันเจ็บปวดขึ้นมา นั่นล่ะสงครามมันเกิดขึ้นมาต่อหน้าความจริง มันเป็นอย่างที่เราคาดหมายไหม มันเป็นอย่างที่เราพอใจไหม? ไม่มีสิ่งใดเป็นอย่างที่เราพอใจ ความจริงมันต้องเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่ได้ขึ้นมาจากความเป็นจริง สติก็ได้จากความเป็นจริง สมาธิก็ได้จากความเป็นจริง ความเป็นจริงกับสิ่งที่ได้มาจากสมมุติแตกต่างกันมาก แตกต่างกัน ที่มาก็แตกต่าง ความเป็นเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงมันก็แตกต่าง

ในเมื่อมีความแตกต่าง แต่คนที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติ ไม่เคยเห็นความแตกต่างนั้น พอไม่เห็นความแตกต่างนั้น มือไม่ถึง วุฒิภาวะไม่มี ถ้ามือไม่ถึง วุฒิภาวะไม่มี สิ่งต่างๆ นี่เพราะจำมา สัญญา มันเป็นจำธรรมวินัยขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันต้องมีตามกติกานั้น มันมีมรรค ๘ มีสติ มีสมาธิ มีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญา มีทุกอย่างพร้อม นี่ไง ปรมัตถธรรม

ก็ศึกษาปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะผิดไปไหน

ศึกษาปรมัตถธรรมแล้วก็ถูกต้องหมดล่ะ นี่ถูกต้องไง

ถูกต้อง เพราะถูกต้องตามกิเลสไง ถูกต้อง นี่ไง

เราเกิดมา เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามีความจริงใจ เรามีความตั้งใจ เรามีความจงใจของเรา เราตั้งใจของเรานะ เราต้องทำสิ่งที่ได้มาให้มันได้มาตามความเป็นจริง เพราะชีวิตนี้กว่าจะได้มา แล้วดูสิ เวลาเกิดมา สัตว์นะ มันเกิดมา มันเลี้ยงตัวมันเองได้นะ สัตว์เกิดมา ดูสิ พ่อแม่บางชนิดมันเกิดมาแล้วมันอยู่ได้เลย บางชนิดพ่อแม่ต้องดูแลมันชั่วคราวหนึ่ง

มนุษย์เรานี่อ่อนแอมาก พ่อแม่ประคบประหงมเต็มที่กว่าจะโตมา กว่าจะมีจิตสามัญสำนึก กว่าที่เราจะเอาตัวเองรอด ชีวิตนี่เกิดมาเรามีปัญญา มนุษย์ เวลาเกิดมานี่ไม่มีใครเลี้ยงดู เอาตัวรอดไม่ได้เลย แต่ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วเอาตัวรอดได้นะ เวลามนุษย์เราอยู่ด้วยกันเป็นสัตว์สังคม มนุษย์กัน สัตว์นะ มันทำร้ายกัน มันทำร้ายกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บของมัน มนุษย์เราทำร้ายด้วยสมอง ทำร้ายด้วยปัญญา มันทำร้ายกันนะ มันเจ็บปวดนัก

มนุษย์คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง แล้วทำอย่างหนึ่ง เวลาประพฤติปฏิบัติก็ยังไม่มีความจริงกับเรา ถ้าเราไม่มีความจริงกับเรา เราจะเอาตัวเรารอดได้อย่างไร เราคิดถึงสัจจะความจริงสิ การเกิดเป็นมนุษย์สิ มนุษย์มีสมองนะ สัตว์ไม่มีโอกาสที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ สัตว์เดรัจฉานมันมีโอกาสทำความดีของมัน ธรรมชาติของมัน ดูสิ ท้าวโฆสกะ สุนัขมันยังไปเกิดเป็นเทวดา เขาทำคุณงามความดีได้ สัตว์มันทำดีทำชั่วของมันได้นะ แต่สัตว์ไม่มีสมองที่สามารถชำระกิเลสถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

มีมนุษย์เรานี่แหละ มนุษย์เรามีถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ แล้วเราได้สถานะอย่างนี้มา แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เรามีอำนาจวาสนา เรามีความเชื่อ เรามีศรัทธา กาลามสูตรบอกห้ามเชื่อ อย่าเชื่อทุกๆ อย่าง...ใช่ อย่าเชื่อ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ อย่าเชื่อที่มันจะเป็นอ้อนวอน สิ่งที่จะเป็นไปได้ อย่างว่า สติก็เป็นสมมุติขึ้นมา เราสมมุติกันเอง ว่าสิ่งนั้นเป็นสติ มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้าเป็นความจริง สิ่งที่ได้จากความจริงมา สติมันสร้างอย่างไร มันตั้งสติอย่างไร มันฝึกฝนขึ้นมาอย่างไร สติมันต้องฝึกฝนขึ้นมา ถ้าฝึกฝนสติขึ้นมา มันยับยั้งชั่งใจของเราได้ มีสตินี่มันจะเตือนตัวเองตลอดนะ “มึงจะบ้าเหรอ มึงจะทำอะไรเขา มึงจะมีความคิดไปทำไม” นี่สติมันจะเตือนเราตลอดนะ ถ้าสติเตือนเราตลอดอย่างนี้ พฤติกรรมของเรามันจะเปลี่ยนแปลงไหม พฤติกรรมเรามันจะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงในหัวใจนะ เปลี่ยนแปลงความรู้สึก

สติมันจะเตือนเราตลอด สติมันเตือน ถ้าใหม่ๆ มันฝึกไม่ได้ อารมณ์มันทุกข์ไปแล้ว พอมันทุกข์ไป มันมีความกระทบกระทั่งไปแล้ว มันถึงมาเสียใจทีหลัง เสียใจทีหลังเพราะอะไร เสียใจทีหลังเพราะเรามีวุฒิภาวะ เรามีความใฝ่ดี มีความใฝ่ดีของเราว่า เราจะไม่เบียดเบียนใคร เพราะเราเบียดเบียดใครแล้วแต่ มันสร้างเวรสร้างกรรม เพราะคนใฝ่ดีมันประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้ามันใฝ่ดี มันเริ่มระลึกรู้อยู่ ระลึกรู้อยู่มันก็พยายามฝึกฝน ฝึกฝนจนสติแก่กล้าขึ้นมา

พอสติแก่กล้าขึ้นมา สติมันจะเตือนเราแล้ว เพราะเราฝึกฝนมา จากสติมันไม่มี แต่เรามีวุฒิภาวะ เรามีจิตใจใฝ่ดีอย่างนี้ มันเสียอกเสียใจนะ สิ่งที่ทำไปแล้วผิดพลาด เสียใจมาก สิ่งใดไม่ดีเลย เราก็อยากเป็นคนดี เราก็อยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากตั้งสติ เราอยากมีปัญญา ทำไมเราทำไม่ได้...ไม่ต้อง ไปศึกษาปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางไว้ก่อน วางไว้ ตั้งสติของเราให้ได้ ความเป็นจริง ข้อเท็จจริงมันจะเกิดตรงนี้

ถ้าข้อเท็จจริงเกิดมา สติสัมปชัญญะดี กำหนดบริกรรมพุทโธๆ เพราะจิตมันแส่ส่ายๆ จิตมันเหมือนช้างสารที่ตกมัน มันจะมีอำนาจของมัน มันฟาดงวงฟาดงาในหัวใจเราตลอดเวลา เราก็ต้องให้คำบริกรรม ให้เกาะเกี่ยวมันไว้ พุทโธๆ เวลาประพฤติปฏิบัติ โดยสมมุติไง ก็เหมือนกัน ก็พูดเหมือนกันเปี๊ยะเลย ก็ต้องเกาะไปก่อนๆ เกาะไปก่อนมันเป็นสมมุติ เกาะโดยสมมุติ สมมุติว่าเกาะ สมมุติว่ามี สมมุติว่าธรรม สมมุติว่าเป็นสติ สมมุติว่าเป็นสมาธิ สมมุติว่าเป็นปัญญา สมมุติทั้งนั้น สมมุติมันไม่ให้ผลเป็นตามจริงไง พูดน่ะมันเหมือนกัน แต่ทำไม่เหมือนกัน นี่ที่มามันต่างกัน คนที่จะรู้ได้จริงก็คือผู้ที่รู้จริงเท่านั้นถึงจะเห็นความแตกต่างอันนี้

แต่พวกเราประพฤติปฏิบัติ ดูสิ เรารากหญ้า ผู้ที่บริหารเขาแจกจ่ายอะไรมาเราก็ต้องยอมรับหมด นี่เหมือนกัน หัวใจมันรากหญ้า หัวใจไม่มีหน่อพุทธะ หัวใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ ใครพูดอะไรก็เชื่อถือไปหมด เห็นไหม มันเป็นธรรมะสมมุติน่ะ ธรรมชาติๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นธรรมะ มันสมมุติทั้งนั้น

ถ้าธรรมชาติเป็นธรรมะ แล้วรู้อะไรล่ะ รู้อะไร ก็เป็นธรรมชาติกันหมดแล้ว ถ้ามันตั้งสติ ถ้าตั้งสติของเรา สติมันต้องตั้ง มันต้องฝึกต้องฝน มันจะมาเรื่อยๆ ถ้าสติมาเรื่อยๆ เรียกสติมาได้เลย ถ้าเราฝึกฝนจนชำนาญ สติเรียกมาได้เลย ถ้าไม่ชำนาญ ไม่ชำนาญค้นหามันกว่าจะเจอ แต่ตามตำราเขาบอกสติไง สติก็มี ก็สมมุติเอา สมมุติว่ากูมีสติไง สมมุติว่าเรารับรู้ สมมุติว่าเรามีสติสัมปชัญญะ

เพราะมันจะมีสติสัมปชัญญะ มันเผยหมดแล้ว มันเผลอไปแล้ว กิเลสมันไปกินอิ่มนอนอุ่นจนตัวอ้วนๆ แล้ว เราก็ “เออ! นึกได้” สติ นี่สมมุติไง สติเป็นสมมุติไง เพราะอะไร เพราะไม่ได้ฝึก ถ้าฝึกความเป็นจริง มันจะเป็นความเป็นจริงของมัน แล้วมันยับยั้งของมัน ยับยั้งของมันนะ พอสติยับยั้ง ธรรมชาติของจิตที่มันแส่ส่าย มีคำบริกรรมของมัน ยึดคำบริกรรมพุทโธๆ มีคำบริกรรม เพราะสิ่งต่างๆ มันมาจากราก รากหญ้าที่เป็นมนุษย์ รากหญ้าที่เราเกิดในวัฏฏะ เราจะมีความจริงของเราขึ้นมา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เราเคารพมาก ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น ท่านเคารพบูชามากๆ แต่การเคารพบูชานี่สมบัติของคนอื่น สมบัติของเรา สมบัติในธนาคารชาติมหาศาลเลย แต่เราคนไทย เราต้องหาอยู่หากิน หาเงินขึ้นมาให้ได้ ถ้ามีเงินมีทองเราจะแลกเปลี่ยนเป็นอาหารมาเพื่อดำรงชีวิต เงินทองไม่มีเลย จะรอแต่สวัสดิการ จะรอแต่เบี้ยคนแก่เดือนหนึ่งได้ ๕๐๐ เหรอ แล้วมันพอกินไหม แต่รัฐบาลเขามีกำลังแค่นั้นเขาช่วยได้แค่นั้น แต่เงินของรัฐบาลมีมหาศาลเลย

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ปรมัตถธรรมสุดยอดทั้งนั้นเลย แล้วเราได้อะไร สิ่งนั้นมันเป็นสมมุติ เป็นสมมุติในใจของเรา ปรมัตถธรรมมันมีในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านปรินิพพานไปแล้ว ปรมัตถธรรมมันเกิดในจิต มันเกิดในความรู้สึก ในหัวใจ ปรมัตถธรรมอยู่ที่นั่น

ไอ้ตำราน่ะ ปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นธรรมวินัย มันเป็นความจริง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการแล้ววางหลักการไว้เอง แต่ไอ้ความหมักหมมของกิเลส ความหมักหมมของอวิชชาของเรา ไปศึกษามา มันก็เอามาสร้างภาพ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่เห็น สมาธิถ้าใครไม่เคยสัมผัสจะไม่รู้จักสมาธิ ถ้าไม่รู้จักสมาธิ จิตมันไม่เคยพัก ไม่เคยตั้งมั่น จิตมันไม่เคยปล่อยวาง ถึงบอก “จิตว่างไม่มี จิตว่างไม่ได้ไง จิตมนุษย์ไม่เคยว่าง จิตว่างไม่ได้ เพราะอะไร เพราะที่ไหนมีจิต ที่นั่นต้องมีอารมณ์ ที่ไหนมีจิตต้องมีสัญญา ที่ไหนมีจิต...” นี่ว่ากันไปไง นี่ปรมัตถธรรมไง

ปรมัตถธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วเราทำจริงได้หรือเปล่าล่ะ ถ้าเราทำจริงของเราได้นะ มันจะเริ่มสงบเข้ามา เริ่มสงบเพราะอะไร โดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของจิตมันก็แส่ส่ายไปธรรมชาติของมัน มันฟาดงวงฟาดงาไปธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ มันเพียงแต่ว่ามันพอใจหรือไม่พอใจ จริตนิสัยไง ถ้ามันคิดสิ่งที่ตัวเองว่าตัวเองได้ ตัวเองชอบ มันก็พอใจ ถ้าคิดสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ ไม่ชอบ มันก็เสียใจ มันก็ไม่พอใจ มันก็ฟาดงวงฟาดงาในหัวใจนั่นน่ะ มันฟาดอยู่ตลอดเวลา มันเป็นที่ว่าเราพอใจหรือไม่พอใจเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราบังคับ คนดีจากการบังคับ สัตว์โลกจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ไม่มีใคร ไม่ทำสิ่งใดเลยแล้วจะล่วงพ้นจากทุกข์ไปได้ เป็นไปไม่ได้ มันไม่มี สัตว์โลกจะล่วงพ้นทุกข์จากความเพียร นักประพฤติปฏิบัติต้องอาศัยความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ เพราะมันเป็นมรรคองค์หนึ่ง เป็นมรรค ๘ ความเพียรชอบ ถ้าไม่มีความเพียร ไม่มีความวิริยอุตสาหะ การประพฤติปฏิบัติของเรามันก็สร้างภาพ เพราะความขี้เกียจ เพราะความมักง่าย เพราะความเห็นแก่ตัว เพราะเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็เลยสร้างหมด สมาธิก็สร้าง สติก็สร้าง ปัญญาก็สร้าง

แล้วก็ไปสร้างกิเลสอีกนะ เพราะศึกษามามากใช่ไหม สร้างกิเลสนะ “โอ๋ย! รวมหนหนึ่ง ชำระกิเลสหนหนึ่ง กิเลส...โอ้ย!” ไม่เคยเห็นนะ มันไม่เคยเห็นกิเลสจริงๆ คนไม่เคยเห็นกิเลส กิเลสเป็นความจริงนะ ชีวิตนี่จริงตามสมมุติ ชีวิตนี่เป็นความจริง ทุกข์ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่มันเกิดชั่วคราว ทุกข์แล้วก็ดับไป ชีวิตเราเกิดมาก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงในภพหนึ่งชาติหนึ่ง นี่ความจริงโดยสมมุติ แล้วกิเลสมันอยู่ไหนๆ เราก็ไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกอย่างเป็นสมมุติ ทุกอย่างแปรปรวน แล้วก็สร้างภาพความแปรปรวน

เหมือนกับเราก็ศึกษาทางวิชาการ เราก็เห็น เราก็รู้ คนเกิดมาต้องตายหมดๆ ไม่มีใครอยู่หรอก เห็นไหม ชีวิตไม่ใช่ของเรา ทุกคนก็รู้หมด แล้วทำอะไรได้ ทำอะไรได้? ทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้ถอนอวิชชา ถอนอุปาทาน ถอนสิ่งที่ปักเสียบอยู่กลางหัวใจ เราโดนยิงมานะ คันศรมันปักเสียบอยู่กลางหัวใจ เราดึงไม่ออก ขยับทีไรก็เจ็บทุกที เพราะมันเป็นของจริง แต่เวลาอวิชชามันปักอยู่กลางหัวใจ ไม่เห็น ไม่รู้ แล้วมันจะจับคันศรอย่างไร จะถอนศรออกจากหัวใจนี่ทำอย่างไร นี่ความจริงเกิดอย่างนี้

สิ่งที่เป็นความจริงเกิดอย่างนี้ เพราะถ้าเป็นความจริงเกิด นี่สิ่งที่เป็นความจริง กิเลสมันจริงๆ ไง กิเลสจริงๆ จับทีไรก็เสียวทุกที จับทีไรก็เจ็บแปล๊บกลางหัวใจนะ เพราะมันปักอยู่กลางหัวใจ จับทีไรก็เจ็บทุกที นี่จะเอาความจริงต้องมีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความจงใจ มีการกระทำ ก็เลยบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค ใครทำอย่างนี้เป็นพวกที่ทำตนให้ลำบากเปล่า”

แต่ถ้าเป็นสมมุตินะ ทุกอย่างสมมุติหมด กิเลสก็สมมุติไง ก็สมมุติให้กิเลสขึ้นมา เหมือนข้าศึกสมมุติ ข้าศึกสมมุติที่เขาฝึกซ้อมทหารกัน ข้าศึกสมมุติ ทุกอย่างสมมุติหมด...ไอ้นั่นเขาฝึกซ้อม เขาตั้งกติกาขึ้นมาฝึกซ้อมเพื่อเขาจะฝึกคน ในเมื่อจะฝึกคนให้คนรู้จักสิ่งตรงข้าม เขาก็สมมุติขึ้นมาเพื่อความปรารถนาของเขา เพื่อความเป็นไปของเขาในทางโลก

แต่ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ สร้างกิเลสนะ ไปวาดภาพนะเหมือนคอมมิวนิสต์ วาดเป็นยักษ์เป็นมารไปเลยว่าคอมมิวนิสต์รังแก คอมมิวนิสต์เสียหายไปหมดเลย นี่พอวาดกิเลสนะ ตกนรกอเวจี กิเลสน่ากลัวมาก

หลวงตาท่านพูดนะ อวิชชานี่มันสวย มันงาม มันประณีตยิ่งกว่านางสาวจักรวาล ที่มันครอบคลุมหัวใจเราอยู่นี่มันเป็นยักษ์เป็นมารอย่างที่เขาคาดหมายกันเหรอ มันเป็นอย่างที่เขาบอกว่ามันชั่วช้าลามกขนาดนั้นเชียวเหรอ

มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอยู่ท่ามกลางหัวใจของเรา มันถึงหลอกลวงเรา มันถึงเอาเรามาใช้งานอยู่ตลอดเวลา ใครไม่เคยเห็นกิเลสจะไม่รู้จักกิเลส ถ้าใครเคยเห็นกิเลสตามความเป็นจริง เห็นไหม ไม่พูดพล่อยๆ ไม่พูดพร่ำเพรื่ออย่างนั้น ไม่พูดว่าสิ่งใดก็สะดวกสบาย สิ่งใดก็ได้มาด้วยความสะดวกสบาย อย่างนั้นไม่มี ไม่มี

เวลาเราเกิดมานะ ขณะความเกิด เกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่จะเลี้ยงดูขนาดไหน ธรรมดาของเรา ชีวิตเราก็ต้องมีทุกข์ มียาก มีความลำบากมาบ้าง มีความเจ็บช้ำน้ำใจ ต้องมีความเสียอกเสียใจ มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่ชีวิตปกตินะ แล้วเราจะไปต่อสู้กับกิเลส มันจะเรียบง่ายอย่างนั้น มันจะเป็นไปอย่างนั้น มันเอาที่ไหนมา ขิปปาภิญญาที่ว่าจะปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ก็ไม่เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาต้องปฏิบัติของเขาเหมือนกัน ปฏิบัติของเขาลงทุนลงแรงเหมือนกัน ไม่ใช่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายแล้วจะขิปปาภิญญาจะเป็นอย่างนั้นหรอก

ฉะนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เราถึงบอกว่า ถ้ากิเลสสมมุติ ไม่เอา อยากเห็นกิเลสจริงๆ อยากเห็นกิเลสเพื่อจะได้ต่อสู้กับมัน ถ้าได้ต่อสู้กับมัน เราถึงมาตั้งใจ จงใจกันนะ

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภาษาบาลี บอกว่า น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ใครทำความสงบของจิตแล้วมันต้องออกรื้อค้น รื้อค้นหากิเลส ไอ้เราตีความกัน มีไหม น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา โดยธรรมชาติ เราไปดูที่แม่น้ำสิ เราไปดูที่แหล่งเขาเลี้ยงสัตว์น้ำสิ ถ้าน้ำใสจะเห็นมันนะ เห็นตัวปลาจริงๆ เห็นไหม มันเป็นการอุปมาอุปมัย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราทำจิตเราสงบขึ้นมา เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ให้จิตมีหลักมีเกณฑ์ เราจะเห็นกิเลสไหม นี่ไง ถ้าเห็นกิเลสก็กิเลสสมมุติ เราสมมุติว่ากิเลสไง พอจิตมันสงบขึ้นมา “แหม! มันเห็น มันเข้าใจ ธรรมะ มันตรึกในธรรมะ ธรรมะจะตรึก” ไม่มีหรอก ไม่ใช่ ไม่มี เพราะในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพูดถึงในการขุดคุ้ยหากิเลส ในการฆ่ากิเลส ในการขุดคุ้นหากิเลส จิตสงบแล้วต้องออกขุดออกคุ้ยหามัน

ถ้าหามัน มันอยู่ที่ไหน กิเลสคืออวิชชาๆ คือความไม่รู้ของหัวใจ มันอาศัยอะไรล่ะ มันเป็นอวิชชามันหลงในตัวมันเองก่อน พอหลงในตัวมันเอง มันก็ต้องการตามความพอใจของมัน ในเมื่อมันต้องการตามความพอใจของมัน มันออกไปที่ไหน? มันออกไปที่ขันธ์ ออกไปขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ พลังงานไม่ใช่ตัวจิต ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด มันก็ออกแสวงหา นี่ไง พอมันออกแสวงหาของมัน มันออกแสวงหา นี่ทางที่กิเลสมันจะออกหากิน

ถ้าทางที่กิเลสจะออกหากิน พวกเราเวลาประพฤติปฏิบัติ เราต้องตั้งสติ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ถ้ากิเลสโดยธรรมชาติ โดยสามัญสำนึกของมัน มันยังเป็นของมัน ดูสิ เวลาของมันร้อน อย่างเหล็ก ที่เราเผาไฟจนแดงร้อนนี่ เวลาเขาต้องการใช้ประโยชน์จากมันที่เอามาเพื่อทำอุตสาหกรรม เขาใช้อะไรล่ะ? เขาต้องมีเครื่องมือไปหยิบมันใช่ไหม ต้องมีคีมไปจับมันใช่ไหม เขาเอามือไปจับมันไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน โดยธรรมชาติของกิเลส มันออกมากับความคิด ออกมาทุกอย่างโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วเราจะจับมัน เราจะเห็นมันว่ากิเลสตามความเป็นจริงมันจะทำอย่างไร ถ้ากิเลสตามความเป็นจริง เราถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามา นี่มันมีโอกาส มันมีโอกาส น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ถ้าจิตมันสงบตามความเป็นจริง มันต้องเป็นสติจริงๆ สมาธิตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิตามความเป็นจริง แล้วออกรื้อออกค้น นี่จิตตภาวนา

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เวลาเราออกวิปัสสนาขึ้นมา วิปัสสนาในอะไร? ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ใครไปวิปัสสนามัน นี่ไง ด้วยความเป็นสมมุติใช่ไหม ข้าศึกสมมุติหมด กิเลสก็สมมุติ ทุกอย่างก็สมมุติ

สำนักปฏิบัติเขาจะมีโครงกระดูกแขวนไว้นะ เขาจะมีอสุภะ ภาพอสุภะให้เราไปเพ่งพิจารณานะ ดูสิ ข้างในก็สมมุติ ยังสมมุติออกมาให้เราไปดูอีก สิ่งที่สมมุติออกมา แล้วมันเป็นธรรมขึ้นมาไหม แล้วทำไมไม่ไม่เห็นเหรอ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สักแต่ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่เป็นอริยสัจ ทุกอย่างสักแต่ว่า โลกนี้เป็นสักแต่ว่า นี่ธรรมะสมมุติ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจริงหมด ไม่สักแต่ว่า

ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาพระพาหิยะ เธอจงมองโลกนี้เป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างที่ทุกข์สักแต่ว่าทุกข์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นของสักแต่ว่า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์พาหิยะอย่างนั้นล่ะ? เพราะพาหิยะเขาสร้างบุญกุศลของเขามา แล้วมาขอฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่จิตเขาขอฟังเทศน์ เขาอยากจะพิจารณา เขาอยากจะมีจิตที่เขาจะออกวิปัสสนา เพราะจากจิตของเขาได้ทำงานของเขา ขอร้องให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์

“ทุกอย่างนี่เป็นสักแต่ว่า เธอเห็นต้องสักแต่ว่าเห็น เธอรู้ต้องสักแต่ว่ารู้”

สักแต่ว่ารู้ แล้วจิตใครเป็นคนรู้ล่ะ ใครเป็นคนรู้

“เธอเห็นสักแต่ว่าเห็น เธอรู้ต้องสักแต่ว่ารู้ แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนกลับมาไอ้ตัวจิตตัวที่ออกไปรับรู้”

สักแต่ว่าต่อเมื่อผู้ที่พร้อม สักแต่ว่า เห็นไหม ดูสิ เวลาพระอัสสชิ เวลาเทศน์อบรมพระสารีบุตร “ธรรมทั้งหลายที่เกิดมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปดับที่เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไปทำลายที่เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

นี่ก็เหมือนกัน “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ มันเป็นทุกข์ ที่ไหนทุกข์ ก็ทำลายทุกข์ไปหมดเลย”...แล้วทุกข์มันอยู่ไหนล่ะ ทุกข์มันอยู่ไหน? นี่ไง กิเลสสมมุติ เวลากิเลสสมมุติ มันสมมุติเอาเองไง ที่ไหนมีทุกข์จะตีทุกข์เลย เหมือนแมลงวันมันเกาะบนหน้าผาก จะตีแมลงวันก็เอามีดฟันหน้าผากเลย แมลงวันมันจะได้ตายไง พอฟันหน้าผากแมลงวันมันก็หนีไปแล้ว เราก็ฟันหัวตัวเอง

ความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติมันเสียหายไปหมดนะ แต่ถ้าเราเอาความเป็นจริงนะ เราทำจิตของเราให้มันสงบเข้ามาจริงๆ อย่าไปด่วนได้ อย่าไปคิดว่าชิงสุกก่อนห่าม อยากจะได้มรรคได้ผล แล้วมันจะไม่ได้สิ่งใดๆ เลย เพราะเราเป็นคนจับจด เราเป็นคนมักง่าย เราทำแล้วมันจะไม่มีผลสิ่งใดตกในหัวใจเราเลย แต่ในกิเลส เพราะกิเลสอวิชชาของเรามันฉลาดกว่าเรา เราเกิดมานี่อะไรพาเกิด จิตเรามีอยู่โดยดั้งเดิม จิตมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน จิตมีอยู่โดยธรรมชาติแล้วจิตนี้มันจะไปของมันไม่มีต้นไม่มีปลาย

แต่เพราะมันมีพญามาร มันมีอวิชชาขับไสให้เรามาเกิด สิ่งที่ขับไสให้เรามาเกิด พลังงานแท้ๆ ให้เรามาเกิด แล้วเกิดด้วยคุณงามความดี เกิดแล้วพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาแล้วเรายังมีบุญกุศล มีความใฝ่ดีที่ออกประพฤติปฏิบัติ แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็คุมใจนี้มาตลอด ทั้งๆ ที่มาปฏิบัตินี่ มันก็ให้โอกาสได้ปฏิบัติ แล้วมันก็สร้างภาพให้เราเชื่อ มันก็สร้างความเห็น สร้างมุมมองให้เราตามมันไป

ทั้งๆ เกิดเป็นมนุษย์นี่ อวิชชามันก็พามาเกิด เวลามาประพฤติปฏิบัติก็อวิชชาพามาปฏิบัติ อวิชชามันให้โอกาส อุตส่าห์ตั้งใจว่าจะเป็นคนดี จะประพฤติปฏิบัติเพื่ออยากจะพ้นจากทุกข์ มันก็บอก “ใช่ เราก็เห็นด้วย” แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ แล้วมันก็สร้างกิเลสสมมุติ สร้างสติสมมุติ สร้างปัญญาสมมุติ มันก็สร้างของมันน่ะ ทั้งๆ ที่มันก็ให้ทุกข์ มันก็ให้ทุกข์กับเรานะ

อวิชชา พญามารมันเบียดเบียนเรานัก มันครอบครองหัวใจเรา ให้เกิด เกิดจากกรรมดีกรรมชั่วมันก็ผ่อนให้มาเกิด พอเกิดแล้วจะมาประพฤติปฏิบัติแล้วมันก็ผ่อนให้ประพฤติปฏิบัติ แล้วพอปฏิบัติด้วยกัน มันก็ให้เราปฏิบัติ แล้วมันก็สร้างเหตุผล สร้างกิเลสสมมุติ สร้างสติสมมุติ ปัญญาสมมุติ ให้เราเชื่อมัน อยู่ในอำนาจของมัน ทั้งๆ ที่ปฏิบัติอยู่นี่ มันก็ยังเป็นขี้ข้าของมัน มันพ้นจากมันไปไม่ได้

ดูสิ ดูอวิชชามันสิ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละด้วยมรรคญาณ” สมมุติทั้งนั้นน่ะ ไม่เป็นความจริงเลย ไม่เป็นความจริง ทุกข์อะไร? ทุกข์นะ ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความเกิด ความมี เป็นทุกข์อย่างยิ่ง สิ่งที่เกิดที่มีมันมีอะไร? มันมีภพ ถ้าเกิด อะไรเกิด? ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณพาเกิด นี่ตัวเกิดมันอยู่ที่นี่

ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ปฐมเหตุของการเป็นทุกข์เพราะมีการเกิด เพราะมีตัวตน เพราะมีเรา เพราะมีจิต ทีนี้เพราะมีจิต ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง สมุทัยควรละ สมุทัยอะไร? ตัณหา ความทะยานอยาก อยากเกิด ไม่อยากเกิด อยากเกิดอีก ไม่อยากเกิดอีก ตัณหาความทะยานอยากไหม? ไม่อยากเกิดก็ตัณหา อยากเกิดก็ตัณหา สิ่งใดๆ ก็เป็นตัณหาหมด

ถ้าเป็นตัณหาอย่างไร สมุทัยควรละ ละอย่างไร? ละด้วยอริยมรรค มรรคมันจะเข้ามาสืบต่ออย่างไร เข้ามาสืบต่อ เห็นไหม ทุกข์มันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เป็นตัวภพ แล้วสิ่งนี้เป็นตัณหาความทะยานอยากมันอยู่ที่ไหน เวลามรรคญาณมันเกิดขึ้นมา มันไล่เข้ามา เหมือนกันนะ แมลงวันเกาะอยู่หน้าผาก มีดฟันก็ฟันหัวเราน่ะสิ

นี่ก็เหมือนกัน ตัวภพ ตัวภพคือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร

กิเลส เห็นไหม หลวงตาพูดประจำ อวิชชามันขี่อยู่บนหัวใจ แล้วมันก็ขี้รด เยี่ยวรด กระทืบซ้ำ แล้วมันไปแล้ว เพิ่งตื่นนอน ทุกข์ ทุกข์ มาก เพิ่งตื่นนอน ไม่เห็นว่าทุกข์มันมาจากไหน ไม่เห็นอวิชชาเลย มันเป็นสมมุติเอาขึ้นมาไง

ปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีใช่ไหม ความทุกข์ กิเลส อวิชชา ความทุกข์ ก็ว่าจะสู้กับทุกข์ จะต่อสู้กับทุกข์...สมมุติทั้งนั้นน่ะ สร้างภาพ สร้างขึ้นมา กิเลสก็สมมุติ สติปัญญา สมมุติหมด ถ้าเป็นความจริง มันรู้มันเห็นนะ

แล้วการต่อสู้ การกระทำมันต้องพยายามผ่อนแรง ผ่อนสิ่งที่กิเลสมันมีกำลัง กิเลสมีกำลังนะ อย่างเช่น เราปฏิบัติ ปฏิบัติก็สะดวกสบายใช่ไหม ยิ่งที่ไหนมันมีอำนวยความสะดวกนะ สุดยอดเลย แล้วพอไปแล้วนะ อำนวยความสะดวกแล้วมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แหม! ประพฤติปฏิบัติมันว่าง ใหม่ๆ มันจะเครียด ตึงมาก พอมีความคุ้นชินแล้วมีแต่ความสุข

เป็นไปไม่ได้หรอก เหมือนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เวลาฟาร์มเขาเลี้ยงสัตว์ เขาเอาสัตว์คอกใหม่เข้ามันจะส่งเสียงร้องตื่นเต้นมากเลย แต่พอให้อาหารมัน ให้มันอยู่ สัตว์มันจะเลี้ยงง่ายนะ เขาเลี้ยงไว้ทำไม เขาเลี้ยงไว้เชือดนะ เขาเลี้ยงเอาไว้ฆ่า นี่การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราอยู่สุขอยู่สบาย กิเลสมันเลี้ยงให้โต “โอ้โฮ! ปฏิบัติแล้วดีมาก สะดวกสบายมาก” นี่ไง เวลาจริงๆ ขึ้นมา กิเลสมันหลอก หลอกเอาไว้เชือด แต่เราว่าสุขสบาย

เวลาเราจะต้องทำมาหากิน ดูสิ ไก่ป่ามันต้องคุ้ยเขี่ยหากินเองนะ เขาไม่เอาเข้าฟาร์ม เพราะเอาเข้าฟาร์มมันไม่ยอมกินกับเขา มันยอมเสียสละชีวิตมันเลยล่ะ ไก่ป่านี่ นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรามันมาเฉพาะเรา จิตใจของเรานะ จิตหนึ่ง จิตหนึ่งเกิดหนึ่ง ถ้าทางโลกเขามีครอบครัวของเขา เขาก็มีลูกหลานของเขาไป เห็นไหม จิตหนึ่ง พอจิตสอง ระหว่างครอบครัว มันก็จิตสาม จิตสี่ไปเรื่อยๆ แต่จิตหนึ่งมันต้องพยายามรักษาให้จิตนี้มันหูตาสว่างขึ้นมา จิตหนึ่งไง ในการประพฤติปฏิบัติมันก็มีใจเรานี่แหละ ในการประพฤติปฏิบัติ เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องประพฤติปฏิบัติของเขา

ถ้าจิตหนึ่งตั้งสติขึ้นมา ตั้งสติขึ้นมา แล้วสติขึ้นมามันเกิดความสงบภายในขึ้นมา มันจะรู้ มันจะเห็น มันจะรื้อค้นของมัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันจะเกิดอย่างไร ไอ้กิเลสที่มันมาขี้รดหัวเราแล้วมันจากไปนี่มันเป็นอย่างไร เห็นไหม มันจะเห็นกิเลสจริงๆ ไง เวลากิเลสจริงๆ จะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากอะไร? ก็เกิดขึ้นมาจากความเพียรชอบ แล้วความเพียรชอบมันอยู่ที่ไหน ความเพียรเดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นความเพียรชอบหรือยัง ถ้าเป็นความเพียรชอบ มันจะมัชฌิมาปฏิปทา มันจะลงของมัน

ความเพียรของเรามันยังไม่ชอบ มันไม่ชอบ มันจะฝึกฝน มันจะเข้มงวดเกินไป มันจะอ่อนเกินไปอย่างไร เราก็ต้องพิสูจน์ต้องตรวจสอบของเรา มันจะเป็นจริงของเรา มันต้องตรวจสอบของเรา เฟือง เกียร์ต่างๆ มันสมดุลเข้าไป เกลียวน็อตต่างๆ เกลียวซ้ายเกลียวขวาเข้ากันไม่ได้ เกลียวซ้ายกับเกลียวซ้ายเข้ากันได้ เกลียวขวากับเกลียวขวาเข้ากันได้ นี่น็อตละเอียด น็อตหยาบเข้ากันไม่ได้ น็อตละเอียดกับเกลียวละเอียดต้องเข้ากันได้ น็อตหยาบก็ต้องเข้ากับน็อตหยาบได้

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันสมดุลอย่างไร หาความสมดุลของตัวสิ แล้วความสมดุลของตัวไม่ใช่เกิดความสมดุลแล้วมันจะสมดุลตลอดไป เป็นไปไม่ได้ น็อตเกลียวหยาบ น็อตเกลียวละเอียด น็อตเกลียวซ้าย น็อตเกลียวขวา มันจะเปลี่ยนแปลงของมันอยู่ตลอดเวลา กิเลสมันร้ายยิ่งกว่าน็อตอีก มันเล่ห์เหลี่ยมของมัน มันพลิกแพลงของมันตลอดเวลา

แล้วการประพฤติปฏิบัติถ้าเป็นโดยสมมุติ กิเลสมันพอใจนะ ถ้าปฏิบัติสมมุตินี้ง่าย ง่ายเพราะอะไร ง่ายเพราะว่ากิเลสมันต้องการอยู่แล้ว กิเลสมันรู้เลยว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มันอยู่ในคาถาของเรา มันปฏิบัติโดยสติสมมุติ สมาธิสมมุติ ปัญญาสมมุติ มันไปไหนไม่รอด ฉะนั้นไปไหนไม่รอด กิเลสมันยิ้ม กิเลสมันบังเงาไว้ แล้วมันบัญชาการหมดนะ พวกนี้อยู่ในอำนาจของเราหมดเลย ปฏิบัติแล้วมรรคผลนิพพาน...

นิพพานสมมุติ โสดาบันสมมุติ สกิทาคามีสมมุติ เพราะสมมุติไม่กล้าพูดความจริงนะ ถ้าเป็นโสดาบันก็พูดกันว่า “เออ! สบายแล้ว ดีแล้ว นี่เป็นโสดาบัน”

เราแบบว่า ใช้ศัพท์รู้กันภายใน แต่ข้างนอกเขาไม่รู้กับเรานะ ไม่รู้หรอก เพราะอะไร เพราะมันสมมุติใช่ไหม มันจะพูดความจริงออกมา มันไม่กล้า เวลาความเป็นจริง มันมีของมันนะ นี่ถ้าเราทำจริง เราต้องทำจริง มันจะทุกข์มันจะยาก ทุกข์ยาก ทุกข์ในโลกมันก็เป็นทุกข์อย่างนั้นแล้ว ทุกข์เราที่เกิดขึ้นมา ทุกข์ในชีวิตประจำวัน แค่หาอยู่หากินก็ทุกข์ แค่ทนเสียงเสียดสีนินทาเขาก็ทุกข์ สิ่งต่างๆ เป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย ถ้าทุกข์อย่างนี้มันเป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ ทุกข์ประจำ

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ เป็นพระอรหันต์ เวลาเป็นโรคลงท้อง หมอชีวกเป็นคนปรุงยาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมอชีวกนี้เป็นหมอประจำตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่รักษาดูแล เห็นไหม ดูสิ ธาตุขันธ์มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน มันเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา แต่หัวใจ หัวใจที่มันรู้จริงขึ้นมา มันปล่อยวางอย่างไร มันรู้จริงขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ารู้จริงขึ้นมาตามความเป็นจริง ดูสิ ถ้าเราไม่เอาจริงกับเรา มันก็เสื่อมสภาพไปอย่างนี้ แล้วมันจริงไหม? จริงตามสมมุติ พอเกิดตามสมมุติ แล้วก็ตายตามสมมุติ ตายโดยสมมุตินะ เพราะตายแล้วก็เกิดอีก

แต่ถ้าเราทุกข์เรายาก เราพยายามฝึกฝนของเรา ความเพียรชอบ ชอบด้วยความตั้งใจ ชอบด้วยความจงใจ ชอบด้วยความวิริยะ ชอบด้วยอุตสาหะ แล้วสมดุล เกลียวซ้ายเกลียวขวามันเข้ากันพอดี สัมมาสมาธิ สัมมาสติมันเกิดของมันโดย...(แหม! จะว่าธรรมชาติ นี่ไม่ใช่)

มันเกิดด้วยความเพียร มันเกิดด้วยความทุกข์ มันลงทุนลงแรงไง แต่ความสมดุลของมันน่ะ มันส่งขึ้นไป เวลามรรคญาณมันเกิด มรรคสามัคคี มรรคสามัคคี สัจจะ อริยสัจจะมันเกิดของมัน เวลามันเป็นของมัน เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ สภาวธรรมที่จะเกิด เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมันไม่ได้ แต่เราเป็นคนสร้างขึ้นมานะ สติ สมาธิ ปัญญานี่ เราเป็นคนจัดการขึ้นมาหมดเลย แต่พอเราจัดการขึ้นมาแล้ว เพราะมีเราจัดการใช่ไหม เพราะมีเราจัดการ มันจะไม่สมดุลของมัน แต่ถ้ามันสมดุลของมัน มันสมดุลของมัน ทุกอย่างมันสมดุลของมัน นั่นน่ะ มรรคญาณ ขณะจิตที่มันเป็น

แล้วมันเป็นกับอะไร ทำไมมรรคญาณมันถึงสมดุลของมัน

คำว่า “สมดุล” คือมรรคสามัคคี มรรค ๘ แล้วรวมลงเป็นอย่างไร

กงจักร เวลามันทำลายเรา กงจักรมันทำลายหัวใจ ทำลายความทุกข์ความยากในหัวใจ เวลามันคิด เวลามันทุกข์มันร้อน แล้วธรรมจักรล่ะ ธรรมจักรไม่ใช่กงจักร กงจักรมันทำลายทั่วเลย ทำลายตั้งแต่หัวใจของเรา ทำลายตั้งแต่ภพชาติ ทำลายความรู้สึกเราทั้งหมดนะ แล้วธรรมจักรนี่ โอ้โฮ! มันร่มเย็นนะ

เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา จิตมันสงบ มันมีความสุข ความสุขของมันนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ถ้าจิตสงบนี่มันพออยู่พอกิน แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันรวมใหญ่ พยายามต่อสู้ พยายามจะให้จิตมันรวม ถ้าจิตมันรวมขึ้นมาแล้วจิตมันมีกำลัง แล้วออกไปใช้ปัญญา มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันปัญญาการทำลายกิเลส

สิ่งที่ทำนี่มันลงทุนลงแรงไหม? มันลงทุนลงแรง ทุกข์เพื่อทุกข์ โลกเขาทุกข์เพื่อทุกข์ ทุกข์เพื่อการเกิด การสืบต่อกันไป ทั้งๆ ที่เขาทุกข์อยู่แล้วโดยธรรมชาติของเขา แต่ความทุกข์ของเรา ความเพียร ความวิริยอุตสาหะ “ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์” ความจะพ้นจากทุกข์ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป เวลาจิตมันสงบนี่มีความร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นการยืนยัน มันเป็นการยืนยันถึงธรรมรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

รสของธรรมะ เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ที่มีวุฒิภาวะ ที่มีภูมิจิตภูมิธรรม เวลาพูดธรรมะกับหมู่คณะ กับเพื่อนฝูงที่เขาประพฤติปฏิบัติไม่เข้าถึงสมาธิ ไม่เข้าถึงสิ่งต่างๆ มันเป็นสมาธิจอมปลอม เป็นสมาธิโกหก เป็นสมาธิสมมุติ ปัญญาสมมุติ คำพูดเราจะรู้ได้ พอเรารู้ได้ เราจะไม่พูดกับเขาหรอก เพราะพูดกับเขาแล้วนะ เหมือนสีซอ สีซอน่ะ ควายมันไม่รู้เรื่องหรอก คำพูดของวุฒิภาวะของจิตที่มันเป็น กับคนที่ไม่เป็น พูดอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้หรอก

แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านมีความเมตตาของท่าน ท่านแสดงธรรมของท่าน แสดงธรรมออกมาตามความเป็นจริงนะ เราจะต้องตั้งใจ แล้วเราจะต้องทำความสงบของใจ เราต้องใช้ปัญญาของเรา มันรับรู้ได้ มันรับรู้ได้ มันรับรู้ได้เพื่อให้มันเป็นเชิดชู

ธรรมมันกล่อมใจ “ธรรมกล่อมใจ” ฟังสิ กิเลสมันไม่กล่อมใจหรอก ธรรมมันกล่อมใจ ถ้าธรรมของครูบาอาจารย์มันเป็นความจริง มันเป็นความจริง มันพูดถึงมรรคถึงผล พูดถึงขั้นตอน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันมีขั้นตอน มันมีระดับของมัน ไม่ใช่ความลับ ไม่ใช่เหมือนหนังจีนที่บอกมันจะมีความลับ มีสร้อยสนกลใน...ไม่ใช่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีกำมือในเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ ไม่มีความลับ ไม่มีสิ่งใดเป็นความลับเลย เปิดเผย เปิดเผยกับผู้ที่ประพฤติตามความเป็นจริง แต่ของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไปสมมุติเอง ไปสมมุติ ปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไม่มีกำมือในเรา แบไว้หมดเลย ไม่มีลับลมคมใน ไม่มีสิ่งใดๆ ซ่อนเร้นไว้ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นไป มันมีขั้นตอนของมัน มันมีจิตใจ ดูสิ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่เข้าไป ธรรมะ โสดาบันพูดถึงสกิทาคามี ผิดหมด สกิทาคามีพูดถึงอนาคามี ผิดหมด อนาคามีพูดถึงขั้นอรหันต์ ผิดหมด ถ้าไม่ผิด ทำไมครูบาอาจารย์เราเวลาทำกามราคะหมดแล้ว ทำไมไปติดล่ะ เพราะติด นึกว่าเป็นนิพพานไง ว่าง ว่าง ว่าง เรือนว่าง เรือนแต่ยังมีเราอยู่

“เธอจงมองโลกให้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” ถอนความรู้ว่าว่าง ความรู้ต่างๆ ถ้ามันถอนได้มันก็เป็นความจริง แล้วถ้าถอนไม่ได้ล่ะ นี่ไงเพราะถอนไม่ได้ เพราะไม่รู้ มันถึงติด คำว่า “ติด” ทั้งๆ ที่เป็นอนาคามีนะ ทั้งๆ ที่ทำกามราคะ สิ่งที่เป็นโอฆะในหัวใจนี่ไม่มีเลย มันก็ยังไปโดนสมมุติอันละเอียดครอบงำ เห็นไหม อรหันต์สมมุติ นิพพานสมมุติไง มันไม่ใช่นิพพานตามความเป็นจริง

แต่นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนในสังคมของกรรมฐานเรา ในสังคมของกรรมฐานครูบาอาจารย์ท่านเป็นคนเหวี่ยงเชือกลงมา ชักจูงเราขึ้นตลอด ครูบาอาจารย์ที่มีวุฒิภาวะสูงกว่าจะคอยแนะนำสั่งสอนผู้ที่มีวุฒิภาวะต่ำกว่า เวลาธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาพูดสนทนาธรรมกันก็เพื่อความดีงาม ก็เพื่อดึงขึ้นสู่สัจจะความจริง นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ของเราที่มีระดับ มีขั้นมีตอนที่เป็นความจริงนะ

แล้วถ้าเป็นความจอมปลอมล่ะ เป็นความจอมปลอมแล้วพูดฉะฉานนะ “ปรมัตถธรรมนะ พุทธพจน์นะ ถูกต้องนะ ถูกต้องนะ” แต่ถูกต้องด้วยสมมุติไง เพราะสมมุติโดยกิเลสเราไง พูดชัดเจน พูดเหมือนกัน...ไร้สาระมาก ไร้สาระเพราะอันนั้นมันไม่เป็นความจริง

ถ้าเราเป็นความจริง เห็นไหม ความจริง ธรรมะจริงๆ มันจะเกิดจากการปฏิบัติของเราจริงๆ ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่ เราจะต้องมีความเพียรของเรา เราต้องมีความวิริยอุตสาหะของเรา มันจะทุกข์มันจะยาก ต้องทนนะ เวลาเราเกิดเราตายมาแต่ละภพแต่ละชาติมันทุกข์ยากมากกว่านี้ สิ่งใดๆ ในโลกนี้จริงทั้งหมด มันจริงตามสมมุติ จริงตามบัญญัติ แล้วจริงตามธรรมะ เห็นไหม กุปปธรรม อกุปปธรรม

กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม

อกุปปธรรม คือผลไง ธรรมะเหนือธรรมชาติ มันพ้นไปจาก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะที่เป็นอนัตตา สภาวธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมานี่ มันเป็นสภาวะที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา อัตตาคือตัณหาความทะยานอยาก อัตตาคือตัวตน อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น เพราะอัตตา เพราะถือว่ารู้ ถือว่าเก่ง ถือว่าดี มันจะเกิดตายตลอดไป เพราะมันยึดความเห็นของมัน ยึดความเห็นของมันทั้งๆ ยึดว่ารู้นี่ก็เสร็จ ยึดว่ารู้ ยึดว่าดี นี่ไปหมด มันต้องเวียนตายเวียนเกิดตามธรรมชาติของมัน

ถ้าอนัตตาล่ะ มันคลายออกไง มันคลายออกด้วยอะไร มันคายออกที่ไหน เกลียวซ้าย เกลียวขวา น็อตขนาดไหน มันคลายตรงไหน มันคลายอย่างไร นี่มันต้องพูดถูกต้องชัดเจน ถ้าไม่พูดถูกต้องชัดเจนแล้วเราจะไปแก้ทิฏฐิของลูกศิษย์ได้อย่างไร

เวลาแสดงธรรม เหมือนหมอเลย เราจะวิเคราะห์โรคของผู้ป่วยอย่างไร ผู้ป่วย เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ถ้าผู้ที่เอาใจของตัวเองรอดพ้นจากอวิชชา รอดพ้นจากพญามารได้ จะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระ ๖๐ องค์ “เธอเป็นผู้พ้นบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน อย่าไปซ้อนทางกัน” เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นที่พึ่งที่อาศัยของ ๒ โลกนะ แล้วความเป็นจริงใจเรารู้ได้ ความเป็นจริงเพราะจิตใจ จริงๆ ของเรา เราก็ใฝ่ดี ใฝ่อยากรู้ ใฝ่อยากหาของจริง อยากพ้นจากทุกข์ แต่เพียงแต่ว่า โอกาสมันมาถึงเมื่อไร โอกาสมีได้เห็นเมื่อไร

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรา ในการประพฤติปฏิบัติมาท่านบอก ธรรมะอยู่ฟากตาย คำว่า “อยู่ฟากตาย” เพราะในการประพฤติปฏิบัติ คนไม่เข้าใจ เราจะเข้มงวด เข้มข้น เราจะทำประพฤติปฏิบัติขั้นไหนน่ะ สิ่งที่กิเลสมันจะต่อรองกับเราสูงสุดคือการตาย เวลาเราจะเข้มข้นของเราขึ้นมานะ เราอดอาหารผ่อนอาหารขนาดไหน เพราะเราจะเอาชนะมัน เราจะเอาชนะกิเลสนะ เพราะกิเลสที่มันอยู่ในใจของเรา กิเลสที่เราไม่เคยเจอมัน สิ่งที่เจอนี่กิเลสสมมุติทั้งหมด กิเลสจริงๆ นี่มันสร้างกิเลสสมมุติขึ้นมา สร้างกิเลสสมมุติขึ้นมาโดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

“สภาวธรรมจะเป็นอย่างนั้น พ้นแล้วมันจะปล่อยวางอย่างนั้น” นี่มันสร้างกิเลสสมมุติขึ้นมาให้เราพยายามใช้สมาธิ ใช้ปัญญาของเราไปทำลายไอ้กิเลสสมมุติอันนั้น แล้วกิเลสตามความเป็นจริงในหัวใจมันยิ้มเยาะ มันอยู่ในหัวใจของเราเลยนะ กิเลสตามความเป็นจริง มันสร้างกิเลสสมมุติ เห็นไหม

แต่ถ้ามันเป็นความจริงที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะไปหากับความจริง กิเลสมันไม่ใช่มาหัวเราะเยาะเรานะ ถ้าไม่มาหัวเราะเยาะเรา เวลาเราอดนอนผ่อนอาหาร เวลาเราต่อสู้กับมัน มันเจ็บปวดนะ ทั้งๆ ที่เวลาเราอดนอนผ่อนอาหาร มันกระเทือนเราไหม เหมือนทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ เราจะไปต่อสู้กันอย่างไร เราจะไปแก้ไขกันอย่างไร เราจะไปต่อสู้ซึ่งๆ หน้า เราจะเอามีดฟันแมลงวันบนหน้าผากเรา เราก็ตายด้วย

นี่ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ”

กิเลสมันอยู่ที่ไหน? เวลากิเลสมันอยู่ที่เรา เราอดนอนผ่อนอาหาร เราอดนอนผ่อนอาหารเพื่ออะไร? อดนอนผ่อนอาหารก็เพื่อเราจะต่อสู้กับมัน ทีนี้พอต่อสู้กับมัน พอเราอดนอนผ่อนอาหาร เพราะความเป็นอยู่นี่ ไขมันต่างๆ การกินการอยู่มันไปเสริมธาตุขันธ์ให้มีกำลัง เสริมทิฏฐิมานะ เสริมกิเลสทั้งนั้นน่ะ แต่ว่าเราอดนอนผ่อนอาหารเพื่ออะไร? เพื่อให้กิเลสมันโดนกระทบกระเทือนด้วย แล้วเราก็โดนด้วย คนอดอาหารนี่หิวไหม อดนอน เดินจงกรม เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก จนเลือดตกยางออกนี่ทุกข์ไหม? ก็ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เราจะเอาชนะกิเลสด้วย แล้วมันก็กระเทือนเราด้วย เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา เห็นไหม โลกกับธรรม

เราเกิดมาโดยสมมุตินะ โลกนี้เป็นสมมุติ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ของจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้าสิ่งที่สัมผัสธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือหัวใจ คือสัจธรรม คือสัจจะความจริง สัจจะความจริงคือทุกข์หรือสุขมันอยู่ที่ใจ สุข ทุกข์ ความคิด อำนาจวาสนาบารมี สิ่งต่างๆ มันสะสมมาที่ใจทั้งนั้น เพราะใจพาเกิดพาตาย จากอดีตชาติ ชาติที่แล้วเราเป็นสิ่งใดอยู่ ทำคุณงามความดีอยู่ ทำบาปอกุศลอยู่ มาเกิดในปัจจุบัน สิ่งนั้นมันตามมา มันให้ผลเราแน่นอน แล้วในชาติปัจจุบันนี่ทำความดีความชั่วต่างๆ มันก็จะเกิดต่อไปในชาติต่อๆ ไป

เห็นไหม สิ่งที่สะสมมากับใจ สิ่งที่มันมีมากับใจ พญามารมันขับไส มันมีที่มาที่ไปของมันอยู่แล้ว แล้วมันก็ยังจะเป็นไป ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นเรื่องของอำนาจวาสนาของคน โดยทางโลกในปัจจุบันไม่เชื่อหมดแล้ว “มรรคผลอย่าไปทำ เหนื่อยเปล่า พวกที่ทำเขาทำเอาหน้ากัน เขาทำหลอกกัน” นี่ไง เราประพฤติปฏิบัติพอเป็นพิธีนี่นะ อย่างนี้ก็โสดาบัน สมมุติ ทุกอย่างสมมุติหมด ทุกอย่างสมมุติอยู่แล้วๆ โลกเป็นสมมุติอยู่แล้ว เรามาทำก็ทำโดยสมมุติ แล้วผลก็ตอบด้วยความสมมุติ แล้วเขาก็พอใจตามสมมุติ

แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา เราไม่พอใจ เราจะเอาของเราจริงๆ ถ้าเราจะเอาของเราจริงๆ เห็นไหม เวลาอดนอนผ่อนอาหาร มันสะเทือน เราต้องการให้กระเทือนกิเลสมันก็กระเทือนเราด้วย เพราะมันเป็นความจริง เพราะเราเกิดมาเป็นคนจริงๆ เพราะเราเกิดมาแล้วเรามีหัวใจจริงๆ แล้วเราก็มีกิเลสจริงๆ ฉะนั้น มันจะสะเทือนกันขนาดไหน เราก็ต้องใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญา ใช้ความเทียบเคียงของเราว่าเราจะมีกำลังมากน้อยขนาดไหน ที่เราจะอดนอนผ่อนอาหาร ที่จะต่อสู้กับมันเป็นครั้งเป็นคราว

ใช่ โดยธรรมชาติของคนมันก็ต้องมีการพักผ่อนหลับนอนเป็นธรรมดา มันก็ต้องมีอาหารกินเป็นธรรมดา แต่คำว่าธรรมดานี่ ถ้ากินอิ่มนอนอุ่น กิเลสมันก็เหยียบย่ำหัวใจจนเกินไปนัก แต่ถ้าเราจะต่อสู้กับมันโดยว่าธรรมะๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านพาทำ ในพระไตรปิฎกก็มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารมาตั้งแต่ตอนเร่งความเพียร บอกว่า อดอาหารตอนนั้น เพราะอดอาหารตอนนั้นธรรมะยังไม่เกิดใช่ไหม อดอาหารตอนนั้นอดเพื่อจะฆ่ากิเลส ด้วยความเข้าใจว่ากิเลสมันอยู่ในร่างกาย กิเลสมันอยู่กับเราก็ต้องฆ่า ต้องพยายามผ่อนกำลังของมัน ตอนนั้นธรรมะยังไม่เกิด ถ้ายังไม่เกิด การทำไปมันก็ทำแบบเถรตรง ไม่มีปัญญา ไม่มีธรรมเข้ามาแยกแยะ

แต่เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ในบาลีมี อยู่ในบุพพสิกขา “ถ้าอดนอนผ่อนอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ เราตถาคตอนุญาต เราตถาคตอนุญาต แต่ถ้าอดเพื่ออวด อยากดัง อยากใหญ่ อยากให้คนยอมรับ” เพราะกิเลสมันไม่สมมุติ เอาจริงๆ น่ะ เวลาอยากดัง อยากใหญ่ กิเลสไม่สมมุตินะ กิเลสมันจริงๆ แล้วมันก็เหยียบย่ำนะ แต่เวลาปฏิบัติมันเป็นกิเลสสมมุติไปเสียอีก ว่า “ไม่เป็นไร ปฏิบัตินี่”

ถ้าอยากดังอยากใหญ่ไม่ได้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นการเสริมกิเลส เราอดนอนผ่อนอาหารมาเพื่อจะให้มันเบาบางลง เห็นไหม ในการต่อสู้มันมีเทคนิค มันมีวิธีการที่เราจะบั่นทอนมัน ถ้าบั่นทอนมัน มันก็จะเจ็บปวดถึงเราด้วย เพราะโลกกับธรรมมันอยู่ด้วยกัน โลกคือการเกิดมาเป็นสมมุติบัญญัติ โลก ธรรมะ กุปปธรรม อกุปปธรรม ธรรมะ พ้นจากอนัตตา อัตตา อนัตตา อัตตาคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อนัตตาคือธรรมะ สภาวธรรมที่มันเกิดตามความเป็นจริง สุดท้ายเวลาพ้นไปแล้ว พ้นจาก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นอกุปปธรรม อฐานะ

อฐานะ ไม่มีสิ่งใดจะไปกระทบกระเทือนสิ่งนั้นได้ ถ้าเป็นสัจจะความจริงตามนั้น ถ้าเป็นสัจจะความจริง เห็นไหม มันเกิดจากอะไร? มันเกิดจากสติจริงๆ เกิดจากสมาธิจริงๆ เกิดจากปัญญาจริงๆ แล้วขุดคุ้ยหากิเลสที่มันออกหาเหยื่อโดยกาย โดยเวทนา โดยจิต โดยธรรม ที่อวิชชามันบังคับบัญชา เป็นสายเป็นใยออกมาเพื่อทำตามความพอใจของมัน จริตนิสัยของคนมันปรารถนาสิ่งใด มันต้องการสิ่งใด มันเอาสิ่งนั้นมาปรนเปรอมัน พอปรนเปรอมัน มันก็มีความพอใจ มีความสุข

สุขเวทนา ทุกขเวทนา...สุขเวทนา ทุกขเวทนามันได้มาด้วยกุศลมันก็เป็นบุญกุศล ถ้าได้อกุศล ด้วยบาปอกุศล มันก็สร้างบาปอกุศลในหัวใจดวงนั้น แต่ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราใคร่ครวญของเรา เราต่อสู้ของเรานะ กุศล อกุศลมันทำลายหมด ทำลายหมด มันต้องทำลาย ทำลายจนไม่มีสิ่งใดที่ให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากให้อาศัยซุกซ่อนตัวของมันได้เลย ไม่ให้กิเลสบังเงา ไม่ให้กิเลสเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างจริง อ้างว่าเป็นธรรม ธรรมสมมุติ ไม่เป็นความจริง

ถ้าธรรมตามความเป็นจริง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นอย่างไร สิ่งที่เป็นอนัตตา อนัตตามันมีการกระทำของมัน มีความเป็นไป เพราะมันเป็นจริง มันถึงเป็นอนัตตา ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันเกิดความจริงขึ้นมาไม่ได้ มันเกิดความจริงขึ้นมาไม่ได้เพราะมันสมมุติทั้งหมดน่ะ มันเป็นความจริงไม่ได้ เพราะทุกอย่างสมมุติ สมมุติไม่เป็นความเป็นจริง สมมุติคือโลก โลกกับธรรม เห็นไหม นี่สมมุติบัญญัติ บัญญัติธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบัญญัติขึ้นมาด้วยความจริง มรรคมันจะเกิด พอมรรคเกิดมันจะเป็นไปตามสัจจะ มันเป็นตทังคปหาน มันจะปล่อยของมันชั่วคราวๆๆๆ นี่ไงถูกต้องไหม ถูกต้อง ถูกต้องต้องซ้ำ ซ้ำเพราะอะไร

เพราะมันมีการกระทำ ซ้ำเพราะอะไร ดูสิ เราขับรถไป เราขับรถจนชำนาญทาง ชำนาญทางนี่เราไปธุระปะปังของเรา เราชำนาญไหม? ชำนาญก็ต้องซ้ำทางนั้นๆ จนถึงที่สุด เราทำธุรกิจ เราทำสิ่งต่างๆ จนจบที่กระบวนการของมัน ก็จบ ถ้ายังไม่จบ มันยังไม่จบ สิ่งต่างๆ ยังไม่สมดุลของมัน มันต้องซ้ำ

แต่ถ้าคนไม่เป็นเลย ซ้ำตรงไหน คนไม่เคยไปทางนี้จะซ้ำตรงไหน? ซ้ำบนรอยหัวใจสิ ซ้ำบนสมมุติของตัวเองสิ ซ้ำก็ซ้ำไม่เป็น แล้วบอกซ้ำก็ไม่ได้อีก พูดซ้ำซาก ธรรมะมันมีหนเดียว สมุจเฉทปหานมีหนเดียว นี่ประหารแล้ว นี่ไง ดูสิ กิเลสมันหลอกอีกแล้ว สมมุติ มันสมมุติขึ้นมาให้รู้ เอาสมมุติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสมมุติบัญญัติ สมมุติของครูบาอาจารย์เราไง เพราะครูบาอาจารย์เราปฏิบัติจริง รู้จริงตามความเป็นจริง

ปฏิบัติรู้จริงตามความเป็นจริง ก่อนที่มันจะผ่านสมุจเฉทปหานครั้งเดียว มันจะผ่านกระบวนการอะไรของมันมา กระบวนการที่มันจะสมุจเฉทปหาน กระบวนการนี่ตทังคปหาน มันจะมีการปล่อย ถ้ามันทำตามความเป็นจริงนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันจะเกิดเพราะตามความเป็นจริงของมัน มันจะปล่อยของมันๆ มันเป็นตทังคปหาน มันมีการฝึกซ้อม มันมีการกระทำ เป็นการทำลายกิเลส แต่มันทำกิเลส กิเลสมันแก่นกิเลส มันทำทีเดียวจบสิ้นกระบวนการ เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา

ในเมื่อกระบวนการของมัน เราฝึกซ้อมขนาดไหน มันไม่สิ้นสุด โครงการมันไม่จบ ขณะจิตมันไม่มี แต่มันปล่อยเหมือนกัน นี่วุฒิภาวะของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ประสบการณ์อย่างนี้ต้องผ่านเด็ดขาด จิตที่คนที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้ามันมีมรรคญาณของมัน มันมีความจริงของมัน มันมีศีล สมาธิ ปัญญา ตามความเป็นจริง มันมีมรรคตามความเป็นจริง ผลการปฏิบัติตามความเป็นจริง มันจะมีกระบวนการของมัน แล้วกระบวนการอย่างนี้ กระบวนการที่จิตมันเป็น เขาจะเข้าใจของเขา แล้วมันจะฟังออก เห็นไหม

ไม่ใช่พัฒนาการของจิต จิตโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ธรรมชาติของจิตที่ไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็มีสุขมีทุกข์ของมัน กระบวนการทำงานของสารเคมี กระบวนการของการทำงานของจิต กระบวนการของมัน มันผ่อนสั้นผ่อนยาวในการดำรงชีวิตของเราอยู่ในธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ถ้าจิตคนเรา คนเราทุกข์ตลอดไป คนเราเกิดมาทุกข์ยาก คนเกิดมาไม่มีทางออก คนคนนั้นอยู่ไม่ได้หรอก คนคนนั้นถึงเวลามันทุกข์ยากขนาดไหน มันก็ผ่อนคลายของมัน นี่กระบวนการโดยธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนั้น

แต่มรรคญาณไม่เป็นอย่างนั้น มรรคญาณนี่มันฝ่ายตรงข้าม มันตรงข้ามกัน ตรงข้ามกับพัฒนาการของจิต ตรงข้ามกับธรรมชาติของจิต ทีนี้ธรรมชาติของจิตใช่ไหม พอธรรมชาติของจิตกระบวนการของเขาไม่มี พอกระบวนการของเขาไม่มี เขาก็สมมุติขึ้นมา นี่ไง สติสมมุติ สมาธิสมมุติ ปัญญาสมมุติ กระบวนการไง กระบวนการโดยสมมุติไง ก็จิตมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

พอจิตเป็นอย่างนั้นปั๊บ พอมาปฏิบัติกันนะ โดยความสมมุติใช่ไหม ง่ายๆ สะดวกสบาย ลัดสั้นไง “สบาย สบาย สบาย” ได้อะไรขึ้นมา? มันเป็นกิเลสสมมุติ ทั้งๆ กิเลสเป็นจริงนะ กิเลสมันจริง แต่มันสมมุติธรรมวินัย สมมุติบัญญัติ สมมุติการปฏิบัติ แล้วก็เอากิเลสสมมุติมาให้ล่อ ล่อขึ้นมา กระบวนการของจิตมันก็ทำงานของมัน ทำงานโดยธรรมชาติของมัน มันทำงานของมัน แต่ด้วยความเข้าใจผิดไง เพราะกิเลสมันฉลาดกว่า กิเลสมันสร้างภาพขึ้นมา กิเลสมันสมมุติขึ้นมา เป้าลวงขึ้นมา แล้วกระบวนการของมันก็เกิดขึ้น นี่ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าธรรมชาติของตทังคปหานล่ะ มันจับต้อง เห็นไหม เราพุทโธๆ ตามรอยโคไป แล้วเราไปจับโคได้ รอยโคกับตัวโคต่างกันอย่างไร พุทโธๆ เป็นรอยของโค รอยเท้ามัน แต่ถึงตัวโค ตัวโคมันใหญ่ขนาดไหน ตัวโคกับรอยต่างกันอย่างไร พุทโธๆ นี่คำบริกรรม พอไปเจอตัวจิต ถึงตัวจิต มันพุทโธไม่ได้เลย เป็นตัวจิต มันต่างกันอย่างไร แล้วโคตัวนั้นมันเอามาใช้ประโยชน์ได้อะไร

เนื้อหนังมังสา หนังมันใช้ประโยชน์ กระดูกกระเดิกมันใช้ได้หมดเลย จิตที่พอเวลามันทำสัมมาสมาธิขึ้นมา มันออกทำงานของมัน ออกวิปัสสนาของมัน มันเกิดผลขึ้นมาอย่างใด มันมีเหตุมีผลทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน มันเป็นตามความเป็นจริงของมัน มันเป็นมรรคญาณไง มันถึงไม่เป็นไปตามกระบวนการของจิตไง กระบวนการของมันเป็นอย่างนั้น แล้วบอกใครก็สบายๆ กระบวนการมันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนั้น จะลัทธิศาสนาไหนมันก็เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติ มรรคญาณมันละเอียดลึกซึ้งกว่า มันเป็นความจริงของมันมากกว่า มันการกระทำของมัน ตทังคปหาน นี่ตทังคปหาน นี่ผู้ที่ปฏิบัติจริงรู้จริงมันจะเห็น สติมันจะเป็นอย่างไร ถ้ามันสติไม่พร้อม ทุกอย่างไม่พร้อม มรรคญาณไม่พร้อม มันจะตทังคปหานได้อย่างไร มันจะปล่อยได้อย่างไร ระหว่างกายกับจิตจะแยกได้อย่างไร ระหว่างทุกข์กับจิตมันปล่อยออกมา ทั้งๆ ที่สังโยชน์ยังไม่ขาด มันเห็นของมัน ว่างๆ แล้วมีความสุขมาก

ความสุขในสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง ความสุขการวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณนะ สมถะ สมถะคือความสงบ ทำจิตสงบ ทำจิตให้มันสงบตัวเข้ามาจนเป็นเอกเทศในตัวของมันเอง แล้วพอจิตสงบนี่มันออกไปวิปัสสนาเพื่อทำความสะอาดของจิต ให้จิตมันสะอาด สะอาดด้วยอะไร? สะอาดด้วยถอนศรไง ศรที่ปักเสียบไง สักกายทิฏฐิ สักกายะกาย ทิฏฐิในความเห็นผิดในกายกับจิต

คนเรากิเลสมันอยู่ที่นี่ทั้งนั้น อยู่ที่จิตทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันทิฏฐิความเห็นผิด แล้วพอมรรคญาณมันเกิด มันจะถอนศรที่มันปักเสียบกลางหัวใจ แล้วถ้ามันถอนออกมา มันขาดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายกับจิต ทุกข์ แยกออกจากกันหมด แล้วรวมลงอย่างไร จิตที่มันรวมแล้วมันปล่อยออกมาอย่างไร พอมันปล่อยออกมา นี่ไง นี่ของจริงเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่กิเลสปลอมๆ

กิเลสปลอมๆ มันกิเลสปลอมๆ นะ มันไม่ใช่กิเลสปลอมๆ กิเลสนี้จริงๆ แต่กิเลสในหัวใจเรามันฉลาดเกินไป มันฉลาดมาก เพราะมันศึกษาธรรมะ เพราะเราไปศึกษาธรรมะ กิเลสมันอยู่กับเรา เราศึกษาขนาดไหนก็รู้ด้วย ดูสิ เราใช้สมองคิด ความรู้สึกมันก็อยู่กับตัวเราหมดล่ะ เราไปศึกษาธรรมะ กิเลสมันอยู่กับเรา มันก็รู้ด้วย ฉะนั้น เวลามันสร้างกิเลสปลอมขึ้นมา เพื่อจะให้เราหลงภาพนั้น เพื่อให้เราไปต่อสู้กับกิเลสปลอมอันนั้น เราถึงเสียท่ามันไง เราเสียท่ากิเลสสมมุติ กิเลสจริงๆ มันเลยยิ้มเยาะอยู่ในหัวใจของเรา

แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริงนะ เราจะต้องทำตามความเป็นจริงๆ สติจริงๆ สมาธิจริงๆ ปัญญาจริงๆ มันจะฆ่ากิเลสจริงๆ แล้วมันจะได้ผลตามความเป็นจริง เอวัง