ภัยบรรพชิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : คำถามที่ ๙๓ คำถามจากเว็บไซต์ เขาถามมา เห็นไหม คำถามมันกินใจนะ เมื่อก่อนลูกไม่ศรัทธาในพระสงฆ์ ลูกไม่ออกเสียงสวดมนต์ทำวัตรที่ว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระสงฆ์ เพราะลูกตอบตัวเองไม่ได้ว่า หากต้องเลือกให้เราตาย แล้วพระสงฆ์ที่เราศรัทธาคงอยู่ เรายอมรับสิ่งนั้นได้จริงๆ หรือไม่ แต่มาถึงวันนี้ วันหน้า และวันต่อๆ ไป ใจของลูกยอมรับและสวดมนต์ได้เสียงดังฟังชัด ทั้งภายในและภายนอก เมื่อระลึกถึงหลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ที่ลูกศรัทธาในจริยวัตรและพระธรรมวินัย ทุกองค์ล้วนเป็นอริยสงฆ์ในใจของลูก
ลูกไปหาท่านบ่อยๆ ไม่ได้ เพราะเป็นลูกเป็นหญิง
ลูกไปพูดมากกับท่านไม่ได้ เพราะลูกเป็นหญิง
ลูกถวายการดูแลรับใช้ท่านไม่ได้ เพราะลูกเป็นผู้หญิง
แต่เดิมลูกไม่เข้าใจ รู้สึกต้องถูกจำกัด ความดีงาม ความประเสริฐ ไว้เพียงในใจ ทั้งที่เจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่อง ลูกน้อยใจ จึงศึกษาพระธรรมวินัย ได้พบคำตรัสสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องภัยของเพศบรรพชิต ๕ อย่าง เมื่อลูกรู้ความจริงแล้ว จากน้อยใจกลายเป็นซึมหงอยไปเลยเจ้าค่ะ รู้สึกสงสารตัวเองก็ไม่เท่ากับ สงสารหลวงพ่อทุกองค์ของลูกที่อุตส่าห์เมตตาคนโง่ได้ใจเช่นลูก ลูกกราบขอโอกาสให้อธิบายด้วย
หลวงพ่อ : เวลาเขาไปศึกษาถึงภัยของเพศบรรพชิต เราก็เห็นแต่ว่าต้องคิดเป็นวิทยาศาสตร์ คนจะคิดเป็นวิทยาศาสตร์ว่าผู้หญิงไม่มีโอกาสเท่าผู้ชาย ผู้ชายมีโอกาสได้บวช ได้ศึกษาอะไรต่างๆ แต่ผู้หญิงไม่มีโอกาส แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม พอปฏิบัติไป ถึงที่สุดแล้วมันไม่มีหญิงไม่มีชาย ผู้หญิงก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ผู้ชายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เขาน้อยใจว่าเป็นผู้หญิงแล้วทำไม่ได้ แล้วพอไปศึกษาแล้ว ภัยของเพศบรรพชิต พอบอกภัยของเพศบรรพชิต ก็ภัยของพระไง ไม่เห็นภัยของภิกษุณีด้วย
ถ้าภัยของเพศบรรพชิต ภิกษุก็มีภัย ภิกษุณีก็มีภัย เวลาคิด เห็นไหม คิดแบบโลกว่าเป็นผู้หญิงไม่มีโอกาส น้อยใจเสียใจว่าผู้ชายมีโอกาส พอบอกว่า ถ้าผู้หญิงบวชแล้วเป็นภิกษุณี มีภัยมากกว่าภิกษุอีก เพราะเวลาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว จะอยู่โดยตัวเองไม่ได้ ภิกษุณีจะจำพรรษาต้องมีภิกษุจำพรรษาด้วย เพราะภิกษุณีเป็นผู้หญิง ในพระไตรปิฎก ภิกษุณีโดนรังแกเยอะมากเลย พูดถึงภัยที่เรามองเห็นด้วยสายตานะ แต่ภัยของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ มันไม่ใช่ภัยของบรรพชิตจากข้างนอก ภัยของบรรพชิต ภัยของพวกเราที่เราเห็น เราก็เห็นแต่ความปลอดภัยความสุขสบายของความเป็นอยู่ไง
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ภัยของเพศบรรพชิต ภิกษุใหม่บวชใหม่ เห็นไหม ภัยของภิกษุใหม่ เหมือนเรามีการศึกษาใช่ไหม เรามีปัญญาใช่ไหม พอเราไปฟังพระพูด พวกเราพอพูดถึงเรื่องพระ ก็บอกว่ารับไม่ได้ เพราะพระพูดแต่เรื่องนิทาน เรื่องชาดก เรื่องต่างๆ เราไปคิดกันเองไง เราไปคิดของเรากันเอง แต่เวลาชาดกในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่แล้วเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นสัตว์ เป็นอะไรต่างๆ แล้วสัตว์ตัวนั้นได้ทำคุณงามความดีอย่างนั้นๆ ที่ว่าเป็นชาดก นิทาน ส่วนใหญ่เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
อดีตชาติของพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้าจะบำเพ็ญบารมีไง บำเพ็ญบารมีมา สะสมมา เห็นไหม เวลาบำเพ็ญบารมีมาเขาจะเปรียบเทียบมาที่ใจเรา ใจเราเวลามีความคิดแตกต่างกัน เห็นไหม บางคนมีความคิดบวก บางคนมีความคิดในแง่ดี แต่บางคนคิดแบบพาล เห็นไหม นี่บารมี
ฉะนั้น เวลาที่ไปสร้างบุญญาธิการ ไปสร้างบารมี เห็นไหม พระโพธิสัตว์ไปสร้างบุญบารมีต่างๆ พอเราฟัง เราก็บอกว่า เวลาเทศน์เรื่องนิทานชาดก มันเป็นเรื่องล้าสมัย ต้องพูดเป็นวิทยาศาสตร์ พูดเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน พอพูดในสิ่งที่เป็นปัจจุบันปั๊บ เราก็คิดเป็นวิทยาศาสตร์ พอวิทยาศาสตร์ปั๊บ เราก็มองสิ่งต่างๆ อย่างเสมอภาคกันหมด เห็นไหม ถ้าเสมอภาคนะ เวลาเราให้ของสิ่งใดทุกคนต้องพอใจเหมือนกันหมด เห็นไหม ทุกคนต้องมีความเห็นเหมือนกัน มันไม่เสมอภาคตรงนั้นไง มันไม่เสมอภาคที่ความคิดเรา มันไม่ได้เสมอภาคเพราะเพศหญิงเพศชายหรอก
เห็นไหม เพศชายก็มีความคิดแตกต่างหลากหลาย เพศหญิงก็มีความคิดแตกต่างหลากหลาย ตามแต่จริตนิสัยออกไป ฉะนั้น ภัยของเพศบรรพชิต มันอยู่ตรงความคิดนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ว่า เป็นผู้ชายปลอดภัยเป็นผู้หญิงไม่ปลอดภัย อันนี้มันเป็นเรื่องของสังคมนะ แต่สังคมนี้มันเป็นความทุกข์อย่างหยาบๆ ไง แต่ความเป็นจริง ความทุกข์อย่างละเอียด เห็นไหม มันเป็นกิเลสตัณหาทะยานอยาก ภัยของบรรพชิต ๔ อย่าง ๑. ภิกษุบวชใหม่ ทนคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ไม่ได้ ก็เหมือนเรา พอเรามีความรู้มีการศึกษาใช่ไหม พอเราไปฟังธรรม ไปดัดแปลงตนนะ เรารับสภาวะนั้นไม่ได้ไง เรารับสภาพไม่ได้ นี่ก็เป็นภัย เวลาภัยของเพศบรรพชิต มันเป็นภัยจากข้างใน มันเป็นภัยจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก
ปัญหาที่ถามมาเห็นไหม บอกว่าเมื่อก่อนน้อยใจมากว่า เป็นผู้หญิง เวลาสวดมนต์ จะบอกว่า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตแก่พระสงฆ์ พูดไม่ได้ พูดออกไปจากปากไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะมันเห็นแก่ตัว เพราะเรารับไม่ได้ แต่พอเราเข้าไปศึกษา เข้าไปเห็นครูบาอาจารย์ เข้าไปเห็นความเมตตาธรรมของท่าน เห็นความจริงของท่าน
เมตตาธรรมนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเมตตาสั่งสอน เห็นไหม ต้องทนนะ ประสาเราจะบอกว่าเหมือนสัตว์มันไม่รู้ภาษาคน คำพูดของท่านมันเป็นการพูดเรื่องธรรมะแต่เราเข้าใจไม่ได้ไง มันเหมือนเราพูดกับสัตว์ พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก
นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงปริยัติ พูดถึงวิทยาศาสตร์ พูดถึงศัพท์นี้เราเข้าใจได้ แต่เราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระหรอก อย่างบางคน ใหม่ๆ มานะ เวทนาคืออะไร ไปหาหลวงตา ท่านก็เอาไม้ตีไง เอาไม้ให้ฟาดเลย เวทนาเป็นอย่างไร เราอ่านหนังสือออก แต่เราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระ
เวลาคนที่แสดงธรรมเห็นไหม แสดงธรรมเพื่อความหมาย แสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจ แต่เราเข้าใจไม่ได้ เราเข้าใจไม่ได้ แล้วบอกว่าคนพูด พูดไม่รู้เรื่อง แต่ความจริงคนฟัง มันฟังไม่รู้เรื่อง คนพูดรู้เรื่องหมด ถ้าไม่รู้เรื่องจะเอาอะไรมาพูด รู้เรื่องเพราะอะไร เพราะมันศึกษา มันกระทำมาแล้ว มันเข้าใจแล้ว แต่มันเป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สื่อกันมา เพราะเป็นสมมุติ สมมุติสื่อความรู้สึกออกมาให้อีกคนหนึ่งเข้าใจความรู้สึกนั้น แต่คนที่เข้าใจความรู้สึกนี้ไม่ได้ ก็บอกว่าคนพูดนี่พูดล้าสมัย ครึ ล้าสมัย ตกยุค ตกสมัย ตัวเองทันสมัย
นี่ไง ภิกษุใหม่ เพศของบรรพชิต คือทนระเบียบวินัยไม่ได้ ต้องการเอาความสะดวกสบายอย่างเดียว นี่เป็นภัยอย่างละเอียดนะ ภัยเรื่องของกิเลส เห็นไหม แล้วทนคำสั่งสอนไม่ได้ ทนระเบียบวินัยไม่ได้ ทนสิ่งต่างๆ ไม่ได้ ทนความเป็นอยู่ไม่ได้ นี่ภัยของบรรพชิต อยากสะดวกอยากสบาย เราเห็นใจนะ อย่างเช่นตอนเช้า เห็นไหม ดูสิ มีอาหารมหาศาลเลย อาหารมหาศาล คนที่ทำมาหวังบุญกุศล เขามีเจตนาศรัทธา ภิกษุทำให้ศรัทธาไทยตกล่วงไม่ได้ เราก็พยายามจะให้ทางเขาทำบุญแล้วได้บุญไป พระก็ต้องเป็นผู้รับไป แต่ถ้าพระรับมากเกินไป เห็นไหม ภิกษุเป็นผู้มักน้อยสันโดษ บิณฑบาตมาเต็มบาตรแล้ว ฉันหมดบาตรไม่ได้หรอก ก็ฉันเฉพาะเราอิ่มเท่านั้นเอง ฉะนั้นจะตักมากตักน้อย มันก็ฉันแค่ความรู้สึกของเราเท่านั้น ฉะนั้น เวลามักน้อยสันโดษ สันโดษอิ่มแล้วยังต้องทอน ไม่ให้ฉันแล้วธาตุขันธ์มาทับจิต นี่ไงสิ่งต่างๆ เห็นไหม สิ่งนั้นมันโทษไง เรากำลังจะบอกว่าถ้าเราไม่เข้าใจไม่มีปัญญาเลย สิ่งที่เขาสละมานี้มันจะเป็นโทษกับผู้รับ แต่ถ้าผู้รับมีสติปัญญานะ สิ่งนั้นเป็นบุญกุศลของเขาใช่ไหม เราก็เจือจานให้หมด คนนั้นควรได้เท่านั้น แล้วสิ่งนั้นมันก็จบแค่นั้น
แต่กิเลส มันไม่เป็นอย่างนั้น มันจะตามลงเข้าไปอีกไง เอาของฉันไปไหน ของฉันมีเท่าไหร่ ของฉันจะไปอยู่ที่ไหน ของอันนี้เป็นวัตถุนะ สิ่งที่มีคุณค่ากว่ามันคือหัวใจนะ เราเสียสละไปแล้วก็คือจบนะ เราเสียสละไปแล้ว เพราะอะไร เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือต้องใช้ให้หมด ต้องหมดจริงๆ นะ แต่มันหมดโดยสภาพ เห็นไหม เวลาพระฉันแล้ว โยมก็ทานอาหาร ทานอาหารเสร็จแล้วนะ มันก็มีคนรอทานอาหาร อาหารนะ ข้าวแม้แต่เม็ดหนึ่งไม่ได้ทิ้งเลย แต่ด้วยความรู้สึกของคนก็ต้องให้เจ้าอาวาสฉันองค์เดียวไง องค์อื่นจะไม่ให้กินเลยไง ก็ต้องไปอยู่ที่นั่นหมด มันก็ต้องเจือจาน มันหมด แต่นี่ไงภัยของบรรพชิตไง คือความคิดของเราไง คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราไง มันบีบคั้นเราให้มุมมองของเราเป็นอย่างนั้น
แต่พอภาวนาไป ภัยของภิกษุ พอเรากำจัดมันได้ เรามีสติปัญญากับมัน มีสติปัญญากับใจของเรา สิ่งที่เป็นความคิดนี้ มันเป็นความคิดของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันอยากได้ อยากได้นี่ถ้ามันเป็นมรรค อยากได้แล้วมีการกระทำ ถ้ามันทำดีขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้จะเป็นความดี เป็นความดีแล้วก็จบ เห็นไหม เวลาทำบุญ ก็ทำบุญทิ้งเหว เราทิ้งเหวไปแล้ว เราไม่ต้องติดตามว่าสิ่งนั้นจะเป็นอย่างไรเลย ถ้าเราเชื่อใจของครูบาอาจารย์ของเรานะ แต่มันย้อนกลับมาที่ว่าอลัชชี ภิกษุนั้นเป็นอลัชชี แล้วเราไปส่งเสริมอลัชชีนั้น แล้วอลัชชีนั้นทำลายศาสนา กรรมอันนั้นจะมาถึงเรานะ สิ่งที่กรรมนั้นถึงเรา เพราะเราส่งเสริมอลัชชี ให้อลัชชีทำลายศาสนา แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งที่เป็นคุณธรรมนะ สิ่งนี้มันไม่เป็นโทษหรอก ถ้ามันเป็นภัย มันเป็นภัยจากใจของเรา ถ้าใจของเราไม่เป็นภัย เห็นไหม
พอรู้ซึ้งว่า เห็นความเป็นจริงแล้วกลับมาเสียใจ มันก็แบ่งอีก กลับมาเสียใจว่า มันเป็นความเมตตาของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าครูบาอาจารย์เมตตาเพราะเปิดตาใจ เห็นไหม ภาชนะที่คว่ำอยู่มันรับสิ่งใดไม่ได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนสติให้เราหงายภาชนะขึ้นมา หงายภาชนะขึ้นมาคือฟังเหตุฟังผลไง เอาเหตุเอาผลเข้ามากล่อมใจของเรา ความกระทบกระทั่งจากสังคม มันเป็นเรื่องธรรมดา สังคมมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าอยู่กันสองคน สามคน ขึ้นไป ความกระทบกระทั่งมันต้องมีอยู่เป็นธรรมดา ในเมื่อมันมีอยู่เป็นธรรมดานั้น เราจะไม่ไปดูที่ความกระทบกระทั่งอันนั้น เราจะย้อนกลับมาดูหัวใจเรา เวลามันโดนกระทบมันฟูไหม สิ่งที่มากระทบ เวลามันกระทบ กระทบกับสิ่งใด สิ่งนี้มันฟูไหม สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา เวลามันกระทบมันฟูแล้วเรารักษาตรงนี้ ถ้าเรารักษาตรงนี้ นี่ไง อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนจะรักษาใจตน ถ้าตนรักษาใจตน นี่คือการปฏิบัติ เห็นไหม
ทาน ศีล ภาวนา เวลาเราเสียสละทานนั้นเป็นบุญอันหนึ่ง เวลาเราภาวนาจิตให้เป็นปกติ นี่เป็นอันหนึ่ง แต่ถ้าเราควบคุมใจเราได้นะ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เห็นไหม มันจะพ้นภัยไง ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ ภัยของเพศบรรพชิต ตรงนี้มันจะฟื้น แล้วข้อสุดท้ายสำคัญมาก ระหว่างเพศตรงกันข้าม หญิงกับชาย ภิกษุณีเพศตรงข้าม มันเป็นข้าศึกต่อกัน เวลาเป็นข้าศึกต่อกัน เห็นไหม เป็นข้าศึกต่อกันเพราะเหตุใด เป็นข้าศึกต่อกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่มันเป็นขั้วบวกขั้วลบ สิ่งที่ว่าโลกนี้จะมีอยู่ เห็นไหม เผ่าพันธุ์ของมนุษย์จะมีอยู่เป็นธรรมชาติของมัน เผ่าพันธุ์ธรรมชาติของมนุษย์ การสืบพันธุ์ การผสมพันธุ์ เพื่อมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์ยังมีอยู่ ยังมีอยู่เพื่อเหตุใด มีอยู่เพราะเพศตรงข้าม เพศตรงข้าม คือ ภัยของพรหมจรรย์ เห็นไหม ในเมื่อพรหมจรรย์เป็นหนึ่งเดียว
ถ้าพูดถึงภัยจากเพศตรงข้าม ภิกษุณีภัยก็เพศชาย ภิกษุภัยก็เพศหญิง เพศตรงข้าม มันจะเป็นภัยอันลึกซึ้งในหัวใจของสัตว์โลก ถ้ามันถอนกลับมาล่ะ เวลาภิกษุณีกับภิกษุ เห็นไหม เวลาจิตมันสงบ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันมีเพศไหม เวลาถึงที่สุดเข้าไปถึงตัวมันเอง มันมีเพศไหม มันมีเพศต่อเมื่อเราเสวยภพ ถ้าเสวยภพ มันก็มีเพศของมันออกมา ถ้ามีเพศออกมา เห็นไหม มันก็มีสิ่งที่ฝังใจมันออกมา เวลาเราแก้ไขขึ้นมา ภัยของบรรพชิต ถ้าถึงที่สุด ถ้ามันเป็นพรหมจรรย์แล้ว สิ่งนี้มันชำระได้ มันชำระมันสะสางของมัน
เวลาคนไปศึกษาว่าเห็นแล้ว เข้าใจแล้ว มันจะเข้าใจว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ ตรงนี้เวลาเข้าใจนะ เพราะบอกว่าเมื่อก่อนน้อยเนื้อต่ำใจมาก แต่พอมาเข้าใจแล้ว กลับสงสาร กลับสงสารเพราะอะไร กลับสงสารเพราะคนดี เขาดีที่การกระทำ คนดีเพราะมันมีกฎ มีกติกา ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเธอ สิ่งที่เป็นธรรมวินัย มันเป็นข้อบังคับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม เราก็เคารพบูชากับข้อธรรมะ แต่ถ้าเราเอาตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นไหม ตัวบุคคลเกี่ยวข้องว่า มีเรา มีเขา มันน้อยเนื้อต่ำใจตรงนี้ไง มีเรา มีเขา ใช่ไหม เพราะมีเรา มีเขา มันถึงว่าต้องได้ตามใจของตัว แต่ถ้ามันไม่ใช่มีเรา มีเขา มันเป็นกติกาใช่ไหมว่า สิ่งนี้เป็นข้อบังคับ เป็นธรรมวินัย หลวงตาท่านบอกเลย ไม่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป เวลาปฏิบัติกันก็เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป เหยียบย่ำธรรมวินัยนี้ไปไง ถ้าเหยียบย่ำธรรมวินัยไป แล้วเราไปทำสิ่งที่ว่าน้อยเนื้อต่ำใจ จะไปเอาอกเอาใจกัน มันก็ผิดธรรมวินัยนั้น แต่ถ้าไม่ผิดธรรมวินัยนั้น เห็นไหม เพื่อสิ่งนี้ไม่ให้เกิดขึ้น นี่พูดถึงภัยของบรรพชิต
ฉะนั้น ถ้ารู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็เห็นสิ่งนั้น เป็นเรื่องกติกา เป็นเรื่องความเห็น เป็นเรื่องของสิ่งที่จะบังคับให้เราเข้ามาสู่สัจธรรม ถ้าเข้าสู่สัจธรรมได้มันก็พ้นจากภัย มันเป็นเรื่องกิเลสนะ มันเป็นเรื่องกิเลสความรู้สึก ถ้ากิเลสความรู้สึกเรามี เราก็มองความเห็นนั้นผิดหมด แต่พอเราเข้าใจแล้ว พูดถึงว่ามันลึกซึ้งไง ขณะที่ปฏิบัติไปแล้ว มันลึกซึ้งแล้วมันปฏิบัติไป เหมือนเราหาเงินหาทอง ถ้าเราหาเงินหาทองมา เราได้เงินได้ทองของเรามา เราจะมีสมบัติของเรา
ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ได้ธรรมมา ครูบาอาจารย์บอกเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม ถ้าใจมันเป็นธรรมขึ้นมา เรื่องของสภาวะแบบนี้มันเข้าใจ แล้วมันมองเห็นไหม เวลาสิ่งใดถ้ามันสะเทือนใจนะ เราสะเทือนใจของเรา มันขนลุกขนพอง น้ำหูน้ำตาไหลนะ มันปลงธรรมสังเวช มันสังเวชไง คนที่รู้จริงเห็นจริงมันจะสังเวชคนไม่รู้ พอคนไม่รู้ คนที่ไม่รู้ก็เหมือนเรา เด็กที่มันไม่รู้มันปากแข็ง คนตาบอดมันเถียงเก่งนะ แล้วมันจินตนาการได้ดีมากเลย มันจะบอกว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นๆ แต่ถ้าคนรู้จริง มันเห็นแล้วมันสังเวช แล้วเราจะพูดอย่างไรให้คนตาบอดเห็นจริงกับเรา ตาบอดมันเถียงอยู่ แล้วเราบอกว่าสิ่งที่ตาบอดพูดอยู่นั้นมันผิด แต่ตาบอดมันไม่เห็น เราจะพูดอย่างไรให้คนตาบอดเข้าใจได้ว่าที่มันพูดนั้นผิด
ฉะนั้น เพราะมันเข้าใจไม่ได้ พอเข้าใจไม่ได้ เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่สูงกว่าจะดึงผู้ที่ต่ำกว่า คอยบอกผู้ที่ต่ำกว่าด้วยอุบายวิธี ด้วยอุบายวิธีว่าให้เขาประพฤติปฏิบัติของเขา ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติของเขา พอเขาเข้าไปประสบการณ์กับสิ่งนั้น ตาบอดนั้นมันจะหายจากบอด ถ้าตาบอดนั้นหายจากบอดแล้ว มันเป็นข้อเท็จจริงที่เหมือนกัน ถ้าข้อเท็จเหมือนกัน เห็นไหม ฉะนั้น อริยบุคคลเถียงกันไม่มีหรอก มันจะเหมือนกันไม่มีทางเถียงกัน ถ้าเถียงกัน มันต้องผิดกันคนใดคนหนึ่ง ถ้าผิดกันคนใดคนหนึ่ง เห็นไหม ถ้ามันรับเหตุและผล มันก็เป็น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ เป็นมงคลชีวิต
แต่ถ้ามันไม่รับเหตุไม่รับผล เห็นไหม มันเป็นเรื่องกรรมของสัตว์นะ จะบอกว่า ถ้ามันประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะได้เหมือนกันหมด มันไม่มี เหมือนกันหมดไม่มี เพราะอำนาจวาสนาของคนที่มันสร้างมาแตกต่างกัน เพราะผลของวัฏฏะ โลกมันจะหมุนไปอย่างนี้ เหมือนป่า เห็นไหม เหมือนป่ามันมีต้นไม้หลากหลาย ต้นไม้ในป่า ต้นไม้ที่เป็นประโยชน์ก็เยอะมาก ต้นไม้ที่มันเป็นพืช เป็นสิ่งที่ปกคลุมดินต่างๆ เป็นไม้ใบหญ้าต่างๆ มันจะย่อยสลายตัวมันเอง เป็นปุ๋ย เป็นอะไร ต่างๆ ไป ผลประโยชน์มากน้อยมันจะแตกต่างกัน
ฉะนั้น หัวใจของคน เวลาเรามาสนใจในสัจธรรม แล้วมาประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบกับใครทั้งสิ้น ให้เปรียบเทียบกับตัวเราเอง เปรียบเทียบกับกิเลสของเรา ถ้ากิเลสของเรา ความฟุ้งซ่าน ความฝังใจของเรา ถ้าเราควบคุมได้ นั่นคือความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา เห็นไหม สิ่งที่มันสงบขึ้นมาได้ มันเหมือนกับในปัจจุบันนี้ เรานั่งอยู่นี่ สงบหมดเลย ถ้ามีใครส่งเสียงดังขึ้นมา ถ้ามีใครมาคุยกันให้เราหนวกหูเรา เราจะพอใจไหม มันก็เหมือนกับกิเลส มันฟุ้งซ่าน แต่ถ้าทุกคนนั่งสงบนิ่งอยู่ แล้วทุกคนฟังธรรมอยู่ ทุกคนต่างหาผลประโยชน์ของตัว อย่างนี้ถูกต้องไหม
ใจเวลาถ้ามันฟุ้งซ่านของมันอยู่ มันก็เหมือนคนที่มันคุยกัน เหมือนคนที่มันกระทบกระเทือนเรา เหมือนคนที่ทำให้เราไม่สงบ แต่ถ้ามันสงบกลับมาที่ใจนี้ ถ้าใจนี้ เห็นไหม ถ้าเรากำหนดใจของเรา เราเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราได้ ถ้าเราเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราได้ อันนี้นี่มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม
เราถึงบอกว่า การทำใจของเรานี้ประเสริฐที่สุด ถ้าทำใจของเราประเสริฐเราต้องปฏิบัติของเรา การปฏิบัติของเรานี่มันเป็นเรื่องของการขับดันของใจ ถ้าใจมันขับดันนะ อย่างนั้นถูก อย่างนั้นถูก แล้วในการปฏิบัติ เราชอบคุยกันนะ เราปรึกษากันเรื่องการปฏิบัติ เราคุยแล้วอย่าเชื่อ เราคุยแล้วเราเอามาพิจารณาก่อน ว่าสิ่งนั้นมันเป็นไปได้จริงไหม ถ้าสิ่งนั้นเป็นไปได้จริงนะ เพราะอะไร เพราะเรามองไปบนอากาศสิ มันเวิ้งว้างไปหมดเลย เวลาจิต เขาบอกว่าเป็นความว่าง เป็นการมีสติมีปัญญา เป็นการปฏิบัติทางลัด ปฏิบัติที่เรียบง่าย ปฏิบัติที่เราได้ผลประโยชน์เราเชื่อไปก่อนเลย แต่ถ้ามันปฏิบัติโดยทางลัดมันเรียบง่าย แล้วผลล่ะ ผลที่มันเกิดขึ้นมา
สิ่งที่เขาพูดไปมันไม่มีเหตุมีผล มันจะขัดแย้งกัน แต่ถ้ามันมีผลนะ เริ่มต้นตั้งสติอย่างไร มันมีสมาธิอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร แล้วมันจะกลับมาทำความฟุ้งซ่านของใจให้มันสงบตัวลง มันสงบตัวแล้วก็ย้อนกลับมา อย่างเรานั่งปกตินี้ ถ้าจิตใจกลับมาปกติ นี่มันจะเป็นฐาน ถ้ามันเป็นฐานขึ้นมาแล้วปฏิบัติขึ้นไป
จากคนที่เรานั่งอยู่ แล้วมีคนมาส่งเสียงดังมาให้เรารำคาญใจ ในการปฏิบัติของเรา หัวใจของเราเวลามันรำคาญใจของมัน เวลามีปัญหาของมัน เห็นไหม มันมีปัญหาแล้วมันสงบไม่ได้ มันมีความฟุ้งซ่าน มีแต่ความส่งออกไปข้างนอก มีความส่งไปข้างนอก ความเห็นมันก็หยาบๆ ไง แต่ถ้าสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา ความเห็นเราจะละเอียดขึ้น แล้วเรามองเห็นคนอื่นที่ทำ เราจะปลงธรรมสังเวช เขาทำอย่างนั้นได้อย่างไร เขาทำด้วยความไม่รู้ตัวของเขา เขาทำด้วยทิฏฐิมานะว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้องของเขา เรากลับมาดูใจเรา แล้วรักษาใจเรา เพราะนี่เป็นสังคม มันเป็นหน้าที่ของหัวหน้า หน้าที่ของผู้ที่ดูแลรักษา ถ้าหัวหน้าเขาจัดการแล้ว เรื่องนั้นมันจบ แต่ถ้าเราไปจัดการมันไม่จบ แล้วมันจะขยายไปเรื่อยๆ ขยายต่อไปเลย เพราะอะไร เพราะสิทธิของคน การยอมรับกัน มันไม่มี
สิ่งต่างๆ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลาหัวใจมันลง เห็นไหม หลวงตาท่านบอก ท่านลงหลวงปู่มั่นมาก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราลง เราฟังเหตุฟังผล นี่มันมีเหตุมีผล ถ้าเราไม่ลง เห็นไหม คำพูดนั้นมาจากข้างนอก ในหัวใจของเรา อตฺตาหิ อตฺโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าเราเห็นความผิดของเรานะ เราแก้ไขได้ทันทีเลย แต่เพราะเราไม่เห็นความผิด ครูบาอาจารย์นี่ลำเอียง เวลาคนอื่นทำมันดีไปหมดเลย แต่ทำไมเราทำมันผิดไปหมดเลย เห็นไหม ทั้งๆ ที่คำพูดมันมีเหตุมีผล แต่เพราะข้างในทิฏฐิมานะ มันไม่ฟัง มันไม่เคยฟังหรอก แต่ถ้าเราเห็นความผิดของเราเองนะ ก็เลยเห็นภัย เศร้า เศร้า หงอยเหงาเลยนะ หงอยเหงาเพราะไปเห็นภัย คำว่าหงอยเหงา มันเหมือนการพิจารณาความตาย บางคนพิจารณาความตาย มันเป็นมรณานุสติ คนเรานี้นะ มันมีแรงเห่อเหิม แรงขับมันจะสูงมาก พอแรงขับสูงมาก เราตั้งสติ เอ็งไม่ตายหรือ เรานึกถึงความตายตลอดเวลา ความตายนั้นมันทำให้แรงขับเป็นปกติ แรงขับนี้มันเป็นธรรมชาติ แรงขับนี้ไม่ใช่แรงขับด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันจะกลับมาปกติ พอปกติแล้วพอเราทำอะไร มันจะมีเหตุมีผล
แต่แรงขับของบางคน การกำหนดมรณานุสติในบางคน มันทำให้แรงขับนั้นหมดไปเลย ทำให้เหงาหงอย เศร้าสร้อย จนทำสิ่งใดไม่ได้เลย สิ่งนี้ก็ผิด มรณานุสตินี้ทำให้เราไม่เห่อเหิม แต่แรงขับของมนุษย์มันมี ทุกคนมีจิต มีพลังงาน พลังงานนี่มันขับเคลื่อนอยู่ พลังงานนี้มันทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ให้สมองเราปลอดโปร่ง ให้การกระทำของเราสดชื่น ถ้าแรงขับอย่างนี้มันเป็นปกติ มันก็เป็นความสมดุลของร่างกาย เป็นเรื่องความสมดุลของมันทั้งหมดใช่ไหม แต่ถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็กระตุ้นแรงขับนี้ให้เราคิด เป็นจินตนาการ เป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นสิ่งที่บวกเข้าไป มันไม่เป็นความจริง ทีนี้พอเรากำหนดมรณานุสติ ตาย ตาย ตาย คิดถึงความตาย เห็นไหม แล้วมันกลับมาสู่จุดเดิมของมัน อันนี้มันเป็นประโยชน์ เห็นไหม นี่เป็นมรณานุสติ
แต่ถ้าคนใช้ไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม พอคิดถึงความตาย มันเฉาไปเลย มันเหงาหงอยไปเลย มันทำอะไรไม่ได้เลย จะย้อนกลับมา เห็นไหม เวลามันซึมเศร้า เพราะก่อนหน้านั้น เห็นไหม เราจะสวดมนต์เราจะไม่กล้าปฏิญาณตนเลย ไม่กล้าต่างๆ เพราะว่าเราเป็นผู้หญิง ใช่ไหม แล้วพระสงฆ์จะมีประโยชน์อะไร ต่างๆ เวลาคิดอย่างนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่ง แต่พอมาเข้าใจแล้วนะ หงอยเหงาเศร้าซึม นี่ก็เป็นกิเลสอีกตัวหนึ่ง
ดังนั้น ถ้ามันเข้าใจแล้ว มันไม่ใช่หงอยเหงาเศร้าซึม เพียงแต่ว่าพอมันรู้จริงขึ้นมา เห็นไหม มันเหมือนกับ กำหนดมรณานุสติ แล้วแรงขับมันสมดุลของมัน นี่ก็เหมือนกันพอเราเข้าใจแล้วมันสมดุลของมัน เพราะอะไร เพราะเราไปตั้งไว้ว่าเพศบรรพชิต เราคิดว่าบรรพชิตคือพระไง แล้วเราเป็นผู้หญิงไม่ใช่บรรพชิตหรือ ถ้าเราบวช เห็นไหม เราบวชเป็นภิกษุณี เราบวช มันก็เป็นบรรพชิต ถ้าภิกษุณีเราบวชไม่ได้ เราก็บวชใจของเรา มันก็เป็นบรรพชิตเหมือนกัน
ฉะนั้น บรรพชิตมันไม่มีหญิงไม่มีชาย เพราะบรรพชิตของหญิง เห็นไหม ผู้หญิงบวชก็มี ผู้ชายบวชก็มี ภัยของบรรพชิตต่างๆ มันเป็นภัยเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากต่างหากล่ะ มันไม่เป็นภัยที่เพศ เพศหญิง เพศชาย เพศสมณะ ไอ้นี่มันเป็นวัตถุต่างหาก
ในสมัยพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม มันมีพราหมณ์ พราหมณ์เขามีวรรณะของเขา เขาถือมาก เห็นไหม พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว แล้วจะบวชพระ เห็นไหม มีแต่พระบวชมาก่อน แล้วนางโคตมีจะบวช พระพุทธเจ้าก็พยายามห้ามไว้ ห้ามไว้ คำว่าห้ามไว้นี้ พวกเราก็บอกว่า สิทธิไม่เสมอภาค สุดท้ายแล้วพระอานนท์ไปถามไง ไปถามว่าผู้หญิงบวชแล้วนี่จะบรรลุธรรมได้ไหม องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็บอกว่าบรรลุได้ ก็เลยบอกว่าควรให้นางโคตมีบวช
พอนางโคตมีบวชขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ฮือฮามาก ตั้งสมัย ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว เพราะ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว ระหว่างหญิงกับชาย เรื่องของวัฒนธรรม ผู้หญิงแทบจะไม่มีสิทธิอะไรเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้บวชมาตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว พอบวชมาแล้วเห็นไหม เพราะพระพุทธเจ้า เพราะพระอรหันต์ต่างๆ เขาไม่มองกันที่ตรงนี้ ไม่มองเพศหญิงเพศชาย เขามองถึงภัยของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วระหว่างเพศหญิงเพศชาย มันก็ตรัสรู้ธรรมได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าผู้หญิงเห็นไหม เวลาผู้หญิงบวชขึ้นมาแล้ว เขาบอกไว้เลย สังคมไทยไม่มีภิกษุณี มีแต่แม่ชีนะ แล้วแม่ชีนี่ก็เป็นผู้ที่ไม่มีโอกาส แล้วให้บวชภิกษุณีนะ
เรานึกภาพสิว่าแม่ชีในสังคมไทย ให้เปลี่ยนจากผ้าขาว เป็นผ้าสีกรักทั้งหมด แล้วแม่ชีในสังคมไทยจะเป็นพระอรหันต์หมดเลยไหม มันก็ทะเลาะกันเหมือนเก่านั่นล่ะ เพราะมันเป็นผู้หญิง ผู้หญิงก็คือผู้หญิงไง แม่ชีก็เป็นผู้หญิงใช่ไหม พอเป็นภิกษุณีก็เป็นผู้หญิงใช่ไหม ผู้หญิงไปเป็นภิกษุณีแล้วมันจะทำให้ผู้หญิงไม่ทะเลาะกันไหม มันก็ทะเลาะกันเหมือนเก่านั่นแหละ
เราจะบอกว่า เวลาเรามองภาพสังคม เห็นไหม บอกว่า ผู้หญิงบวชเป็นแม่ชี ก็เลยเป็นศีล ๘ ไม่ใช่ศีล ๓๑๑ เหมือนภิกษุณี ถ้าบวชเป็นภิกษุณีจะไม่ได้ศีลสามร้อยกว่าใช่ไหม จะปฏิบัติได้ง่าย นี่เป็นความคิดไง แต่เวลาบวชขึ้นมาแล้ว เพศของบรรพชิต ก็คือกิเลสในใจนั่นไง
เรามองภาพว่า ถ้าเปลี่ยนจากแม่ชีให้เป็นภิกษุณีหมดเลย มันก็ทะเลาะกันอย่างเก่า ไม่เป็นอันใหม่หรอก แล้วพอเป็นอย่างเก่าขึ้นมาก็บอก อ้าวเพราะเป็นแม่ชี ถือศีล ๘ บิณฑบาตไม่ได้ แม่ชีไม่มีศักยภาพ พอศีล ๓๑๑ ขึ้นมาเป็นภิกษุณีขึ้นมานะ มันก็เหมือนกับว่า พอเป็นภิกษุณีขึ้นมา ธรรมวินัยมันจะเปลี่ยนไปอีกเยอะเลย ภิกษุณีจะจำพรรษาอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ จะต้องจำพรรษาอยู่กับภิกษุ แล้วภิกษุณีจะลงอุโบสถเองไม่ได้ ภิกษุณีจะลงอุโบสถระหว่างสงฆ์ ๒ ฝ่าย พอลงอุโบสถภิกษุณีแล้วต้องมาลงอุโบสถให้ภิกษุรับทราบด้วย
ภิกษุต้องไปสอนภิกษุณี ไปดูในพระไตรปิฎกสิ คือประสาเราว่า ศีล ๑๐ นี่มันก็เป็นข้อบังคับที่สะดวกเรียบง่าย แต่ถ้าจะเป็นภิกษุณีขึ้นมานี่ข้อบังคับมันก็ต้องมีมากขึ้นไปกว่านี้อีกเยอะเลย แล้วในการปฏิบัตินะ พอจะมาอุโบสถกัน ภิกษุกับภิกษุณีจะต้องมาลงสังฆกรรม แล้วสังฆกรรมไป สังฆกรรมมา งานมันก็มากขึ้น นี่พูดถึงตามธรรมวินัยนะ
ทีนี้เพียงแต่ว่า เรามองกันแต่สิทธิ แต่เราไม่มองถึงหน้าที่ ไม่มองถึงธรรมวินัย ว่าการปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร แหม.. ถ้ามามองที่สิทธิ ทุกคนจะต้องเรียกร้องกันหมดเลย แต่หน้าที่ทำอย่างไรล่ะ ก็บอกว่า หมดสมัยแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี วินัยแก้ไขได้ แต่สิทธิจะเรียกร้อง
พูดอย่างนี้ จะบอกว่าภัยของบรรพชิตนี้มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เวลาเรามอง เราก็มองในมุมมองของเรา ถ้าเวลามองในมุมมองของเรา เราก็มองในสถานะของโลก แต่กิเลสมันลึกลับซับซ้อนกว่านี้อีกเยอะ เวลาทำความสงบของใจ พอใจมันสงบขึ้นมานะ เป็นกัลยาณปุถุชน
คนเราปกตินี่เขาเรียกปุถุชนคนหนา คนหนาคือควบคุมใจไม่ได้ เราตั้งสติแล้วฝึกหัดใจด้วยบริกรรมพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันเข้าสมาธิได้ มันควบคุมได้ มันสงบใจตัวเองได้ เขาเรียกว่ากัลยาณปุถุชน มันเป็นที่ไหนล่ะ มันก็คนๆ เก่านี่แหละ แต่หัวใจมันแตกต่าง หัวใจที่ควบคุมไม่ได้เลย หัวใจที่คิดอะไรไปตามนั้น คิดอย่างไรทำอย่างนั้นจะต้องทำตามใจตัวเองตลอดเลย นี่คือปุถุชน แต่เวลาเราใช้พุทโธ พุทโธ เรารักษาใจเรา พอมันควบคุมใจได้เห็นไหม เขาเรียกกัลยาณปุถุชน คือจิตนี่มันสงบมีฐานของมัน แล้วพอจิตมันสงบมีฐานของมันแล้ว เวลาจิตสงบแล้วนี่ออกเสวยอารมณ์ เพราะธรรมชาติของจิต ความคิดไม่ใช่จิต เวลาเราไม่คิด เราอยู่เฉยๆ เราควบคุมใจเราได้ มีแต่ความรู้สึก ความคิดไม่มี ความคิดมันไปไหน เวลาคิดขึ้นมา ความคิดมันมาจากไหน มันโผล่มาจากไหน แต่พอจิตมันสงบไปแล้วเห็นไหม พอจิตสงบขึ้นมา เวลามันจะเสวยอารมณ์ขึ้นมา มันจะคิด มันจะมีสติ มันจะมีความรู้ของมัน พอมีสติ มีความรู้ของมัน มันจับต้องของมันได้ เขาเรียกว่า จิตเสวยอารมณ์ การเห็นอาการของจิต จิตเห็นการกระเพื่อมของมัน จิตเห็นการกระทำของมัน พอมันจับได้ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ถ้าวิปัสสนาเกิดตรงนี้ แล้ววิปัสสนาเกิดเพราะอะไร เพราะความคิดมันมีใช่ไหม
ความคิด มันคิดบวกก็ได้ คิดลบก็ได้ คิดร้อยแปดพันเก้าเลย คิดดีคิดชั่วโดยสัญชาตญาณ แต่พอมีสติ มีปัญญาขึ้นมา มันจับความคิดนี้แล้วมันพิจารณาใคร่ครวญของมัน เห็นไหม พอมันเห็นโทษ มันก็ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อยนี่วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ เห็นไหม ถึงบอกว่าสิ่งที่เป็นความคิด สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งว่าเป็นภัย มันแก้ไขได้ด้วยการกระทำของมัน ฉะนั้นถ้ามันแก้ไขด้วยการกระทำของมัน มันเป็นสัจธรรมของมันขึ้นมา พอมันทำขึ้นมา มันก็ไม่กลับมาหงอยเหงาเศร้าซึม
ความคิดของโลกเป็นอย่างนี้ เวลาไม่เข้าใจก็ต่อต้านเลยนะ ต่อต้านว่าเราทำไม่ได้ สิ่งนั้นเราไม่เห็นด้วย สิ่งนั้นผิดหมด แต่พอเราไปเข้าใจ เรายอมจำนน จนเศร้าสร้อยเลย แต่เราไม่คิดเลย ยอมจำนน เพราะเมื่อก่อนเราไม่รู้แต่พอไปรู้แล้ว เราก็ตั้งตัวของเรา เอาตัวเราให้ได้ เอาตัวเราไง เพราะนามธรรมคือหัวใจของเรา ที่เราจะได้บวชหรือไม่ได้บวชก็แล้วแต่ บวชนี่นะมันก็เพศหนึ่งเพศบรรพชิต เป็นเพศๆ หนึ่ง เป็นนักรบ เพศที่ว่า ถ้าเราไม่ได้บวชนะเราเป็นคฤหัสถ์ เราต้องประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อเลี้ยงชีพของเรา พอเลี้ยงชีพแล้วเราก็ปฏิบัติ ในพระไตรปิฎกบอกเลย ทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะชีวิตเราต้องทำมาหากิน แล้วพอมีเวลา เราถึงจะมาปฏิบัติ
ทางของสมณะ ทางของบรรพชิตนี่กว้างขวางมาก ทางของบรรพชิตกว้างขวาง เห็นไหม พอบิณฑบาตมาเสร็จแล้ว โดยปกติ พอพระฉันข้าวเสร็จแล้วพระทำข้อวัตรเสร็จจะกลับไป ภาวนา ๒๔ ชั่วโมงไง พระของเรานี่ภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมงได้เพราะอะไร เพราะหัวหน้ามีหลัก ไม่ให้มีงานเข้ามา ไม่ให้มีสิ่งต่างๆ เข้ามากวนพระเรา เราจะปกป้องดูเราของเราเอง พระเราจะมีเวลาภาวนา ๒๔ ชั่วโมง นี่คือทางกว้างขวางไง แต่ถ้าเป็นเพศฆราวาส เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องมีสัมมาอาชีวะเห็นไหม ทางคับแคบตรงนั้น ฉะนั้น เวลาบวชมาเป็นพระ มันมีโอกาสตรงนี้ แต่ถ้ามีโอกาสตรงนี้ พูดถึงถ้าเราเคยใช้ชีวิตคฤหัสถ์มา เรามีงานของเรา เรามีความคุ้นชินว่าเราเคยทำงานของเรา คนพอทำงานถึงที่สุด เวลาเกษียณไป พอว่างงาน จะเหงาเลยนะ เฉาเลย นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่กับโลกมา ก็บอกว่าทุกข์ยากมากเลย พอบวชเข้า ๒๔ ชั่วโมง ก็มีเวลาเหลือเกินไปอีกแล้ว พอเวลาเหลือเกินไป คนเราเวลาอยู่ด้วยกับตัวเองนะ เวลาความคิดมันจะทำลายตัวเองมาก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทางกว้างขวาง มันก็ต้องมีสติปัญญา มันต้องมีครูบาอาจารย์เป็นหัวหน้า เป็นผู้คอยชี้นำ ต้องคอยเตือนสติไง เราจะมีความคิดดีได้ไม่เกิน ๗ วัน ๑๐ วัน เดี๋ยวความคิดมันเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ถ้ามีหมู่คณะ มีระบบมันครอบงำไว้ ระบบนี่คือข้อปฏิบัติที่พระต้องทำตามนั้น ถ้าทำตามนั้นแล้ว เราก็อยู่ในร่องรอยอย่างนี้ อยู่ในร่องรอยของธรรมวินัย แล้วเราออก เวลาจิตออกมาภาวนา แล้วออกมาใช้ปัญญาได้ มันจะเข้าไปชำระจิตให้มันมั่นคง ดีขึ้น ดีขึ้น พอดีขึ้นไป เห็นไหม ภิกษุรัตตัญญู มีราตรีนาน คืออยู่ในสังคม อยู่ในการประพฤติปฏิบัติ อยู่ในการควบคุมดูแล มันนานขึ้น มันดีขึ้น มีหลักมีเกณฑ์ขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์กับหมู่คณะ นี่ไง มันถึงเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธชิโนรสเห็นไหม สืบต่อกันมาตั้งแต่องค์สัมมาปรินิพพานมา ไม่เคยขาดจากพระ ถ้าขาดจากพระ สงฆ์บวชสงฆ์ไม่ได้ไง ๕ องค์ ๑๐ องค์ ขึ้นไปถึงจะบวชพระมาได้ พระนี่มีบวชสืบต่อกันมาตลอดเวลา มันถึงสืบต่อกันมา มันถึงมีเพศของบรรพชิตมาให้เราได้เห็น แต่ก็เป็นเพศจากข้างนอก
เวลาถึงกึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมา มีเนื้อหามีสาระ มีข้อเท็จจริงในหัวใจ เมื่อก่อนเรามีภาชนะ เรามีแต่บรรจุภัณฑ์ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ ในปัจจุบันนี้มีเนื้อหาสาระ เพราะในหัวใจนี้เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนี้ อธิบายได้ไง อธิบายถึงหัวใจที่มันดิบๆ นี้ หัวใจที่มันเกิดแล้วดิบๆ แล้วทำให้สะอาดมันทำให้สะอาดได้อย่างไร แล้วทำเสร็จแล้ว มันเป็นอย่างไร มันพิสูจน์ตรวจสอบได้ มันก็เลยพ้นจากภัย ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นภัยของเพศบรรพชิต
พอถามมา เราก็สงสาร สงสารเพราะอะไร คนเวลามีความเห็น มันก็เหมือนมีความเห็นเป็นชั้นเป็นตอนไง คือเห็นหยาบๆ มันก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง พอเปิดตา เห็นไหม มันก็มีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความคิดความเห็นก็เป็นไปอย่างนั้น นี่ผู้ถามนะ แล้วปัญหาต่อๆ ไปมันเป็นปัญหา เขามาถามว่าจะไปบ้านตาดหรือเปล่า แล้วไปขอให้บอกด้วย นี่อีเมลมาถามว่าจะไปบ้านตาดหรือเปล่า เขาไม่ไปบ้านตาดหรือเปล่า แสดงว่าเขาฟัง หรือว่าการคุยกันมันไปเข้าหูแล้วไง แต่เดิมพระสงบนี้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ พระสงบนี้เข้าใกล้ไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ถามมาเลยนะ จะมาหรือเปล่า ถ้ามาขอให้บอกด้วย อันนี้เอาไว้ก่อน ถ้าไม่มีปัญหา ใครมีอะไรไหม ไม่มีอะไร เราเอวัง