ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วัวงาน

๒๙ พ.ค. ๒๕๕๓

 

วัวงาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม : ภาวนาพุทโธก็กำหนดอยู่ในใจ เคยมีบ้างที่มันรู้สึกเหมือนกับตัวมันไหว เคยรู้สึกเหมือนกับตัวมันโยก แล้วบางครั้งเวลาที่เรานั่ง มันเหมือนตัวพยายามจะยืดขึ้นๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะความรู้สึกของเราเองหรือเปล่า แต่ว่าในเวลาที่เป็นอย่างนั้นความคิดยังมีอยู่ครับ มันยังคิดวอกแวก คิดในเรื่องอื่นอยู่ก็ยังมี แต่เวลาคิดก็รู้ว่าคิด แล้วก็พยายามจะดึงลมหายใจ พยายามจะกลับไปให้อยู่ที่พุทโธ

หลวงพ่อ : เวลาตัวมันยืดมันตัวปีติ กรณีอย่างนี้เกิดได้ตลอด ทีนี้พอเกิดได้ตลอดแล้วส่วนใหญ่แล้วคนเราจะตกใจ โดยปกติของเรา สามัญสำนึกของเราปกติ พอมีอะไรเปลี่ยนแปลงทุกคนจะตกใจ เป็นความเข้าใจผิดของเรา ถ้าเราทำปฏิบัติแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันต้องร่มเย็นเป็นสุข มันต้องราบรื่น ทุกคนคิดกันอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วราบรื่นมันเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ถ้าจิตมันลงเป็นสมาธิแล้วอันนั้นน่ะราบรื่นสุดยอดมากเลย

แต่กรณีก่อนที่จะราบรื่น อย่างเช่นของสกปรก เราต้องทำความสะอาดใช่ไหม พอทำความสะอาดแล้วมันถึงสะอาดใช่ไหม จิตของเราสามัญสำนึกมันเป็นปุถุชน ที่กำหนดพุทโธๆ มันไปเกาะ มันไปทำความสะอาดด้วยคำบริกรรม ทีนี้คำบริกรรมนี่อาการของใจที่มันมี การเข้าสมาธิการออกสมาธิมันต้องมี อย่างเช่นพวกเรามีลมหายใจใช่ไหม เรามีความรู้สึกและร่างกายใช่ไหม

นี่ไง จิตก็เหมือนกัน จิตมันก็ต้องก็มีความรู้สึกของมันอยู่ แต่ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเขา เขาจะเปลี่ยนแปลง เราจะบอกว่า สมาธินี่ไม่ใช่อารมณ์ปัจจุบันของเราที่เราเป็นกันนี้หรอก ไอ้ที่ว่างๆๆๆ โกหกทั้งนั้น แต่ถ้าสมาธิมันจะเป็น มันจะเริ่มเป็นมันเป็นอย่างนี้ ในองค์ของสมาธิ วิตก วิจารคือพุทโธๆ วิตก วิจาร ปีติ พอปีติเกิดอาการแล้ว ปีติเกิดเป็นความสุข เอกัคคตารมณ์คือตั้งมั่น นี้ยังไม่ตั้งมั่น

โยม : หลวงพ่อครับ แล้วมันยังมีอาการอีกอย่าง คือ บริเวณเชิงกราน บริเวณสันหลัง คือตามความรู้สึกของกระผมนะครับ มันมีความรู้สึกเหมือนเราขยับตัว แต่เราไม่ทราบว่าเราขยับหรือเปล่า เพราะในเวลานั้นเราอยู่ในอารมณ์ของการกำหนดพุทโธๆ แต่ทั้งนี้มันจะเสียววูบๆที่ตรงนี้ มันเหมือนกับเราวู้บอยู่อย่างนี้ แล้วมันรู้สึกเหมือนมันดิ่ง อารมณ์อย่างนั้นคืออะไรครับ

หลวงพ่อ : ปีติมันมีร้อยแปด ปีติมันก็เหมือนรสชาติอาหาร ใครกินรสชาติอาหารที่ตัวเองชอบ ก็ต้องอร่อยของคนๆ นั้น จริงไหม

โยม : ครับ

หลวงพ่อ : ถ้าอาหารของใครๆ ชอบฝังใจอยู่ ถ้ากินอาหารอย่างนั้นสุดยอดเลย ถ้ากินอาหารอย่างอื่นกินได้อยู่ แต่ไม่ถูกใจ ปีติของแต่ละคนเห็นไหม อยู่ที่จิตตัวนั้น จิตของเราเองจิตแต่ละดวงๆ แต่ละดวงจิตที่ปฏิบัติมา มันต้องมีประสบการณ์ของมันใช่ไหม อย่างเช่นเราเกิดมาเรียกว่าเรามีกรรมมาไหม

คำของเราคือพันธุกรรมทางจิต จิตมันทำพันธุกรรมของมันมา คือมันได้สร้างบุญสร้างบาปของมันมา พอสร้างบาปบุญมามันก็เลยกลายเป็นนิสัยใจคอของเรา

โยม : นิสัยใจคอ

หลวงพ่อ : ใช่ มันเหมือนลิ้น ลิ้นลิ้มรสใช่ไหม ลิ้นของแต่ละคนก็รสใครรสมันใช่ไหม นิสัยใจคอของคนมันก็ไม่เหมือนกันเห็นไหม คำว่าไม่เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ ของใครของมันไง พุทโธนี่เป็นสากลเป็นคำกลาง เนี่ยเรา ๔ คนพุทโธด้วยกันอยู่นี่ ผลออกมาไม่เหมือนกันหรอก แตกต่างกันไปอยู่ที่จริตนิสัยของคน

แต่พุทโธนี้เหมือนกับน้ำสะอาด แล้วแต่คนจะดื่ม คนไหนอยากดื่มก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ปรากฏว่าเอาน้ำสะอาดไปทำอย่างอื่นก็ได้

ฉะนั้นเราจะย้อนกลับมาคำถามของโยม ว่าภาวนาพุทโธๆๆ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้นปั๊บ แล้วคนอื่นทำเป็นอย่างนี้ไหม ไม่เป็น แล้วเราคนเดียวนี่นะทำอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ทำครั้งต่อๆ ไปไม่เป็นอย่างนี้หรอก เหมือนกินอาหาร โอ่ อันนี้สุดยอดเลย แต่พอกินบ่อยเข้าเบื่อไหม

โยม : ครับ

หลวงพ่อ : แน่นอน นี้พอแน่นอน พอเบื่อแล้ว พอเปลี่ยนอาหารไป พอกลับมากินอีกอร่อยไหม อร่อย เวลามันเกิดอาการอย่างนี้ แล้วคิดว่าอาหารเรากินทำไม อาหารเรากินเพื่อการดำรงชีวิตใช่ไหม ธาตุอาหารของเราเพื่อประโยชน์แก่ร่างกายใช่ไหม แต่คนส่วนใหญ่เขากินรสชาติ

ทีนี้พอเราพุทโธๆ พอมันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นธรรมชาติของมัน เราพุทโธไว้อย่างเดียวๆๆ เพราะว่าอาการของใจไง อย่างเช่น อาหารเราอมไว้ที่ปากได้ไหม ถ้าเราไม่กลืน

นี่เหมือนกัน พอพุทโธๆ ไปนี่อาการมันจะเป็นอย่างไร ปากมันอมอาหารไว้แล้ว ถ้ากลืนลงไปเราก็ได้กินอาหารนั้น พุทโธๆๆ มันจะเกิดอาการอย่างไรไม่สน พุทโธไปเรื่อยๆ เราต้องกลืนอาหารเข้าคอให้ได้

ทีนี้คนไม่เข้าใจ คนปฏิบัติไม่เข้าใจหรอก เวลาอมอาหารนี่ โอ้โฮ รสชาติดี กลมกล่อม ยึดติดไง ติดที่ปีติ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันจะไปอีก ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่พุทโธเราก็อมอาหารไว้ ไม่กินก็คายทิ้ง พอมันเกิดอาการวูบวาบแล้ว ตกใจออกมาคายทิ้ง

โยม : ตกใจครับ ครั้งแรกที่ผมเป็น มันค่อยๆ เหวี่ยงแรงขึ้นๆๆๆ

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าในการปฏิบัติของทุกๆ คนมันเป็นอย่างนี้ล่ะ เวลาวัวควายที่เขาฝึกแล้วขายราคาต่างกับวัวควายทั่วไป จิตที่ฝึกแล้ว ถ้าจิตที่ยังไม่เคยฝึกมันก็เหมือนกับวัวควายที่ไม่เคยฝึก วัวควายที่ไม่เคยฝึกเอามาไถนาได้ไหม

โยม : ไม่ได้

หลวงพ่อ : วัวควายที่ฝึกแล้วไถนาได้ใช่ไหม

โยม : ครับ

หลวงพ่อ : จิตที่ได้ฝึกดีแล้ว จิตนี้พอเริ่มฝึกมันก็เหมือนเอาวัวมาฉุด เราจะฝึกใจเราก็เหมือนกับฝึกวัวตัวนั้น ยากไหม

โยม : ยาก

หลวงพ่อ : ก็เท่านี้ไง ฉะนั้นเราก็ต้องทำ ยากดีมีจน เราจะเป็นวัวฝูงหรือเราจะเป็นวัวงาน ทุกคนอยากเป็นวัวงาน เพราะวัวงานมันขายได้ราคาดีกว่า พูดถึงคุณสมบัติมันก็ดีกว่าเขา เพราะมันใช้งานได้ วัวถ้าไม่ผูกเอามาเทียมเกวียนก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เอาไว้กินแต่เนื้อมัน

แต่ถ้าเราเป็น นี่คุณสมบัติมันดีขึ้นมา แต่ดีขึ้นมาด้วยอะไรล่ะ ดีขึ้นมาด้วยการฝึกใช่ไหม นี่ก็ดีขึ้นมาด้วยการกระทำของเราใช่ไหม นี่คือบุญของเรา นี่คือความดีของเรา ใครจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา ใครจะชั่วดีมีจนเรื่องของเขา เรื่องของเราเอาตัวเราให้ได้ พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ สอนตรงใจเรา

นี้ทำมาถูกต้องแล้ว คำว่าถูกต้อง อาหารถ้าใครอมอาหารแล้วต้องได้ลิ้มรสทุกคน จะรสชาติสูงส่ง รสชาติขม เปรี้ยว หวานอย่างไร ต้องได้รสชาติ จิตที่ภาวนาแล้วต้องได้รสชาติอย่างนี้ อยู่เฉยๆ แล้วเป็นไปเอง ไม่มี

โยม : ผมเคยฟังในเทปของหลวงพ่อ ที่จะบอกเรื่องคำว่านิมิต นิมิตเกิดจากดวงจิต ถ้าจิตดวงนั้นมีนิมิตทำยังไงก็มีนิมิต ทีนี้ผมอยากจะถามหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งว่า อาการอีกอย่างที่มันเกิดก็คือว่า นัยน์ตาเรามันเป็นเหมือนกับภาพวาดสีน้ำมันที่มันคอยวูบวาบๆ ผมจะสังเกตว่ามันจะเกิดคู่กันกับเวลาที่ก่อนที่มันจะกู่มันจะอย่างนั้น มันจะอย่างนี้

หลวงพ่อ : ใช่ เราจะโต้แย้งพวกที่เขาภาวนาไม่เป็น เขาบอกกำหนดพุทโธมันจะเกิดนิมิต มันจะทำให้เสียหาย เวลาคนที่ไม่เป็นเขาจะพาหลง เวลามันจะชักนำพาไปหลงทาง มันว่ามันถูก เวลาคนทำถูกต้องดีงามมันว่าผิด เราถึงพูดยืนยันว่า ถ้ามันจะมีนิมิตก็คือมีนิมิต มึงจะไปภาวนาอะไรก็เป็นนิมิต ไปภาวนาที่บอกว่าไม่มีนิมิตก็มีนิมิต ทำไม

เอ็งลองใส่แว่นเข้าไป เอ็งใส่แว่นดำ หรือเอ็งใส่แว่นสี เอ็งมองภาพไหนก็ต้องเป็นสีนั้นแน่นอนใช่ไหม จิตถ้ามันมีเวรกรรมของมันมา ต้องมาเจอสภาพแบบนี้ มึงจะทำอย่างไรมันก็ต้องเจอสภาพแบบนี้ แล้วมึงจะเอาอะไรมาค้าน

เพียงแต่สังคมปฏิบัติ บอกว่า ไอ้พวกพุทโธ ไอ้พวกนี้จะเกิดนิมิต ไอ้พวกนี้จะเสียหาย ให้มันไปภาวนามันก็เกิดนิมิตถ้ามันจะมี ทำไม เอ้า คนมันเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ เพียงแต่เราจะแก้ไขนิมิตนี้อย่างไรต่างหากโว้ย ตามความเป็นจริง คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่การฝึกใช่ไหม ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราก็แก้ไขให้มันเป็นดีสิ เกิดนิมิตเราก็กลับมาที่พุทโธนิมิตมันก็หายใช่ไหม เหมือนนิมิตมันเกิด ใส่แว่นมึงก็ถอดแว่นมันก็จบ มึงใส่แว่นสีมันก็ออกเป็นสีนั้นใช่ไหม เอ็งเอาแว่นออกมันก็ปกติ ก็เท่านั้น

นิมิตก็คืออย่างนี้ แต่นี้มึงรู้จักแว่นหรือเปล่าล่ะ ใส่แว่นอยู่ไม่เห็น ไม่รู้ว่าตัวเองใส่แว่น แก้ไม่เป็นน่ะสิ ถ้ามึงใส่แว่นมึงถอดแว่นมันก็จบแล้ว ถ้ามันจะเป็นนิมิตนี่ แว่นนี่เป็นประโยชน์กับเรานะ แว่นสายตาทำให้สายตาเราชัดเจน ถ้าจิตมันสงบมันเห็นนิมิตเห็นไหม มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา ประโยชน์อะไร ประโยชน์เห็นแล้วเศร้าสลดใจ เห็นแล้วเห็นอาการของใจ ใจมันเป็นอย่างนี้ อย่างชีวิตเรานี้มันมีความสุขแค่ไหน ความทุกข์แค่ไหนล่ะ เกิดมาทำไม เห็นไหม

ถ้ามีปัญญาขึ้นมามันก็ใคร่ครวญชีวิตเราได้ นิมิตนี่ถ้าเห็นแล้ว ถ้ามันเป็นนิมิตมันก็สอนใจเรา ถ้ามันเป็นความถูกต้อง เช่น อสุภะ เห็นกายเน่าเปื่อยอย่างนี้ แล้วกายกูเน่าเปื่อยหรือเปล่าล่ะ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันก็สะท้อนใจเรา เห็นไหม

นิมิตมันเป็นประโยชน์ได้ นิมิตถ้าคนใช้เป็นมันจะเป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าคนไม่มีหลักมีเกณฑ์ เอาเงินล้านไปให้เด็ก เด็กมันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ไหม เงินล้านให้เด็กนี่ เด็กจะโดนฆ่าตาย จะแย่งชิงเงินล้านนั้น ถ้าเด็กมันฉลาด มันเก็บซ่อนไว้ มันใช้จ่ายของมัน มันก็ทำให้เสียคนได้เหมือนกันเพราะเงินล้านนั้น

จิตใจที่ไม่มีกำลังมันเกิดนิมิต มันเกิดอะไรต่างๆ มันแก้ไขไม่เป็น เหมือนเด็กน้อยแล้วได้สมบัติอะไรมาดูแลไม่เป็น แต่ถ้าผู้ใหญ่ขึ้นมาได้เงินมามีประโยชน์ไหม จิตใจเราถ้าเราพุทโธ จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเกิดนิมิตมันก็เป็นประโยชน์ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่ตื่นกับนิมิตนั้น มันรู้จักนิมิตนั้นถูกหรือผิด

เงินของเราๆใช้ประโยชน์เพื่ออะไร ถ้าเงินนี้ใช้ประโยชน์เพื่อทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มเงินมันก็เป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม เงินนั้นเอาไปซื้อยาเสพติด ไปซื้อสิ่งชั่วร้ายมาให้การดำรงชีวิตเรา เราก็เสียคนไปใช่ไหม จิตถ้ามีกำลังแล้ว นิมิตมันก็เหมือนเงิน นิมิตคือเครื่องหมายที่จิตรับรู้

โยม : เครื่องหมายที่จิตรับรู้

หลวงพ่อ : ใช่ โยมขับรถมาใช่ไหม โยมเห็นป้ายบอกทางไหม นั่นล่ะนิมิต เขาบอกให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไง ป้ายนั่นน่ะคือนิมิต แล้วโยมใช้ประโยชน์ เห็นไหม ทางโค้ง โค้งอันตราย โอ้โห กูเบรกตัวโก่งเลยเข้าโค้งไง นิมิตนะนั่นน่ะ แล้วผ่านเข้ามาแล้วนิมิตอยู่ไหน ป้ายปักอยู่โน่น ความคิดเรามาแล้ว จิตเราผ่านมาแล้ว เวลามันเห็นมันเห็นอย่างนั้นนะ ป้ายบอกทางเป็นประโยชน์นะ ป้ายบอกทางนี่นิมิตหมาย เครื่องหมายบอกกันใช่ไหม เครื่องหมายว่าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ภาพวาดให้เป็นนิมิตรู้กันใช่ไหม แต่เวลาจิตไปรับรู้ของตัวเอง ดันไม่รู้

นิมิตก็คือนิมิต แต่บอกว่านิมิตไม่มี ทำอย่างนั้นจะเป็นนิมิต ประสาเราว่าเราหมั่นไส้ หมั่นไส้ไอ้พวกรู้มาก แต่มันไม่รู้อะไรเลย อวดรู้ สร้างกระแส เพื่อหลอกฉ้อฉล หลอกให้ผู้ปฏิบัติหลงทาง หลอกให้ผู้ปฏิบัติไม่กล้า หลอกให้ผู้ปฏิบัติอ่อนแอ

โยม : แต่ทุกวันนี้ผมก็พยายามยึดหลักของหลวงพ่อ พยายามจะอยู่กับลมหายใจ

หลวงพ่อ : อยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอย่างเดียว เพื่ออะไรรู้ไหม เงินล้านยังอยู่กับผู้ใหญ่จะเป็นประโยชน์ ถ้าอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธ เราจะมั่นคงขึ้นมา ถ้าจิตเรามั่นคงขึ้นมา คนเราสติปัญญาพร้อมใครจะหลอกมึง ไอ้คนมันโง่เซ่อใช่ไหมถึงโดนหลอก จิตใจเราอยู่กับพุทโธจนตั้งมั่นใครจะหลอกมึง กูรู้กูเห็นเองโว้ย ปฏิบัติก็กูปฏิบัติเองนี่ล่ะ แล้วรู้เห็นนี่กูรู้เอง จะไปตกใจอะไร

แต่คนถ้าจิตมันอ่อน ไม่มีหลักเห็นไหม โห เห็นแล้วก็วูบวาบๆ โหๆ อยู่กับพุทโธซะ จบ เขาจะบอกว่าพุทโธนี้โง่เง่าเต่าตุ่น ให้มันพูดไป

เอ็งเห็นคนจีนโบราณไหม หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีเยอะแยะเลย เขาทำอะไรกัน เขาเก็บหอมรอมริบ เขาสะสมของเขาจนเขามีทรัพย์สมบัติขึ้นมา ไอ้เราก็พุทโธใครจะว่ากูโง่กูเซ่อก็เรื่องของมึง ก็กูเก็บของกู เสื่อผืนหมอนใบกูก็หากินของกูไปเรื่อย เดี๋ยวมึงจะรู้ของมึงเอง ไอ้คนไม่รู้มันอวดรู้ มันทำให้สังคมไขว้เขว

เราถึงยืนยัน พุทโธกับลมหายใจนี่ทำอย่างนี้ไป พอทำอย่างนี้ไปจิตมันจะพัฒนาไปเห็นไหม ถ้าพุทโธไปมันจะไปอย่างที่ว่าตัวยืดตัวพองตัวอะไรนี่ อันนั้นอาการของจิต

อาการของจิตหมายถึงว่าเราอมอาหารไว้ในปาก รสชาติมันมีอยู่แล้ว รสชาติ เห็นไหม อาการวูบวาบนี่รสชาติของมัน เห็นไหม จิตมันโอ้โฮ

เอ็งดูสิ อย่างเรามีอะไรมากระทบนี่ โอ้โฮ ขนพองเลย พอมันได้สัมผัสมันก็ อู้ย เลย เพราะจิต อาการของใจมันก็เหมือนเราขนลุกนี่ล่ะ แต่จิตมันยืดน่ะไม่ต้องตกใจหรอก ถ้าเราไม่ตกใจ ตกใจก็ล้มโต๊ะ เริ่มต้นใหม่

โยม : แต่มันตกใจจริงๆครับ

หลวงพ่อ : ตกใจ

โยม : เป็นเพราะมันแรกๆหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ใช่ แรกๆ พอต่อไปแล้วพอคุ้นชินอาการนั้นยังมีอยู่ มีคนมาถามบ่อยเดี๋ยวภาวนาแล้วทำไมไม่ดีขึ้น ไม่มีปีติเลย มันมีจนเป็นปกติ

โยม : คุ้นชินหรือครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ใหม่ๆ จะตกใจ แล้วต่อไปภาวนาไปจะเกิดอาการอย่างนี้อีก พอเรามีสติพร้อม อะไรพร้อมมันก็จะจางไป ๆ แล้วมันจะเกิดมีความสุขเพราะมันจะร่มเย็นเป็นสุข แล้วมันจะตั้งมั่น พอเราจะตั้งมั่นจะรู้ ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจิตเรามีพื้นฐานแล้ว แล้วเราหัดใช้ปัญญาไปเรื่อย หัดใช้ปัญญา

โยม : คำว่าตั้งมั่นของหลวงพ่อนี่หมายถึง เอกัคคตา

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : ตรงนั้นคือสมาธิไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ตั้งมั่น จิตเดิมแท้ ฐีติจิต คือตัวตนที่แท้จริงของใจเราเอง

โยม : ที่ผมฟังจากเทปหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า พอมันอยู่ที่สมาธิแล้วให้น้อมไปคิด

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : ก็คือรำพึงขึ้นมา

หลวงพ่อ : ใช่ๆๆ ใช่ทั้งนั้นล่ะ แต่คนที่พูดเมื่อกี้นี้ แต่ที่เราพูดตั้งแต่ทีแรก พันธุกรรมทางจิต คนที่สร้างสมมามันไม่เหมือนกัน เวลาเราพูด เราพูดหลากหลายมากเพื่อให้โดนใจ ให้เข้ากับจริตของแต่ละบุคคล บางคนเข้ามานี่ โอ๋ย จิตเขาสงบแล้ว เขาดีแล้ว โดยที่เขาไม่ทำอะไรเลยนี่ นั่นน่ะเราพูดด้วยเหตุนั้น

ที่เราพูดบอกว่า ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วให้น้อมไป ทีนี้พอจิตตั้งมั่นแล้วมันไม่ยอมทำอะไร แหม สุขมากเลย พอน้อมไป น้อมไปได้ยังไงอันนี้มันส่งออก ถ้าคนไม่เป็นส่งออกก็ผิด ถ้าคนตั้งมั่นเสือกไม่ส่งออกมึงก็ทำประโยชน์ไม่ได้อีก

โอ้ ภาวนานี่ร้อยแปดพันเก้าแล้วแต่ใครติดตรงไหน ใครติดตรงไหนก็แก้ไปตามนั้น ถ้าใครยังไม่ถึงตรงนั้นก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกับมัน เขาบอกเลยนะว่าไปข้างหน้าจะเจอไอ้เข้ แล้วเราก็นั่งอยู่ตรงนี้ก็กลัวไอ้เข้ กลัวไอ้เข้ มันยังไม่ได้ไปข้างหน้า ยังไม่ต้องกลัวมันหรอก มันยังไม่มาหามึงหรอก บางคนไปถึงเจอไอ้เข้แล้ว ไอ้เข้ก็นอนอยู่นี่ ยังไม่รู้จักไอ้เข้อีก ไอ้เข้มันจะงับอยู่แล้วยังไม่รู้จักไอ้เข้อีก ก็บอกว่าจิตมันสงบแล้วน่ะ ไอ้เข้มันจะงับมึงนะ ไอ้เข้มันจะงับมึง

จิตสงบแล้วถ้าเอ็งไม่ได้ทำอะไรเสื่อมหมด พลังงานที่คงที่ไม่มี จิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่นแล้วคือพลังงาน แล้วจะเสื่อมไปเป็นธรรมดา มันไม่มีคงที่หรอก ฉะนั้นถ้าเอ็งทำแล้ว ถึงพลังงานเต็มที่แล้ว ถ้าเอ็งออมไว้ทำงานต่อเดี๋ยวมันก็จะเสื่อม พอเสื่อมแล้วก็มานั่งเสียใจทีหลัง

แต่ถ้าเราออกใช้งานเลย เหมือนมีเงิน ตอนนี้เรามีเงินคนละล้าน รัฐบาลไปประกาศเลยบอกว่าเลิกใช้ โอ้ย มานั่งร้องไห้ ไอ้เงินล้านเป็นเศษกระดาษ กระดาษนี่สมมุติให้เป็นเงินก็เป็นเงินใช่ไหม พอเขาประกาศยกเลิก โอ๋ แม่งเป็นเศษกระดาษเลย

สมาธิ ถ้ามันเสื่อมแล้วหมดเลย ฉะนั้นถ้าใครมีสมาธิ มีหลักมีเกณฑ์แล้วเรารู้ได้เวลาเราคุยกันเรารู้ได้ว่าต้องให้ทำอย่างนั้น ทีนี้ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นสมาธิ มันก็เหมือนที่เราปฏิบัติใหม่ เห็นไหม มีอะไรก็ตกใจ คนที่มีสมาธิแล้ว ตัวเองเป็นสมาธิไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธินะ เข้าใจว่ามันเป็นมรรคผล เพราะมันสนุก มันสุขน่ะ โอ้ มันจะว่างมันสบาย เดี๋ยวก็เกลี้ยงเลย เดี๋ยวมึงจะหมดตัว

ถึงพยายามเน้นตรงนี้ไง ถ้ามันไม่มีก็มันบอกมันเป็นนิพพาน พอว่างแล้วก็เป็นมรรคผล พอมรรคผลแล้วทำไมไม่น้อมไปล่ะ ความจริงมันน้อมได้ แต่ตัวเองไม่น้อม เพราะอะไร เพราะกลัวว่าถ้าน้อมแล้วมันจะเป็นกิเลส เพราะกูอยู่ว่างกูเป็นสุขไง ความจริงมันน้อมได้ เราถึงบอกมันเป็นรำพึงได้ ในสมาธิคิดได้

ถ้าในสมาธิคิดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอน มีสมาธิบริสุทธิ์แล้วให้ใช้ปัญญา ฐานของสมาธิดีแล้วจะทรงภูมิปัญญา แล้วจะเกิดปัญญา จะเกิดมรรคญาณ อยู่ในธรรมพระพุทธเจ้าหมด เพียงแต่มันจะใช้ตอนไหนใช้อย่างไร มันเหมือนคนทำงานไม่เป็น ทำอะไรก็ผิดหมด คนทำงานเป็นทำอะไรก็ถูกหมด ทีนี้คนปฏิบัติใหม่มันก็ไม่เป็นมาแล้วมันจะถูกได้อย่างไร

กรณีพูดอย่างนั้น เวลาแก้ไว้นี่ เวลาพูดไว้นะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพียงแต่มันเป็นเมื่อไหร่ เวลาเราที่ใช้ตรงนั้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ถึงเวลาอย่างนั้น ไม่ควรใช้อย่างนั้น เราไม่ต้องไปวิตกกังวล ถ้าวิตกกังวลนะนิวรณธรรม กางกั้นสมาธิเรา นิวรณ์ไง ลังเลสงสัย นิวรณธรรม ไอ้ นิวรณ์อันนี้ ถ้าบอกสมาธิแล้วจะออกอะไร ยังไม่ต้อง ทำมันไปเรื่อยๆ พุทโธกับลมหายใจนี่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวรู้เอง พอถึงรู้เอง ถึงตรงนั้นแล้วเราใช้ตรงนั้นถามต่อไป

โยม : หลวงพ่อครับ มีคำถามเกี่ยวกับคำว่าปัญญาอบรมสมาธิ คำว่าปัญญาอบรมสมาธิอย่างที่ผมเคยฟังเทปของหลวงพ่อ แม้กระทั่งตัวหลวงพ่อเองบางครั้งเวลาในทางจงกรม หลวงพ่อยังพูดกับตัวเอง ยังสอนตัวเอง บางทีบางครั้งดุด่าว่ากล่าวตัวเอง ถามว่าในเวลานั้น จิตเกิดสมาธิแล้ว หรือว่าเราสามารถอบรมสมาธิตรงนี้ คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี่มันสามารถทำได้ด้วยจิตของปุถุชน

หลวงพ่อ : เหมือนกันหมด เวลาเรากำหนด พุทโธๆ เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาติดสมาธิอยู่หลวงปู่มั่นลากออกมา ท่านใช้พิจารณา อสุภะ นั่นขั้นของอนาคามิมรรค เวลาเราใช้ปัญญาไปมากๆ เห็นไหม ไปหาหลวงปู่มั่น ผมติดสมาธิ ให้ออกมาแล้ว ผมใช้ปัญญาแล้วนะ ใช้ปัญญาจนไม่ได้หลับไม่ได้พักไม่ได้ผ่อนเลย

หลวงปู่มั่นบอก “ไอ้บ้าสังขาร” เอ้า ไม่บ้าสังขาร ถ้าไม่ใช้ปัญญามันจะพิจารณา มันจะฆ่ากิเลสได้ยังไงล่ะ นั่นล่ะไอ้บ้าสังขาร เพราะท่านให้ใช้ปัญญา ให้ใช้คิดเอง พอเข้ามาคิดก็ เออ พอใช้ปัญญามากเกินไปมันก็ฟั่นเฟือน ท่านยังต้องมากำหนดพุทโธๆ ใหม่ เห็นไหม แม้แต่อนาคามิมรรคยังต้องกลับมาพุทโธเพื่อให้จิตพักเลย ทีนี้พุทโธนี่มันใช้ตั้งแต่เริ่มต้นจนบั้นปลาย

ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิหรือพุทโธนี่คืออันเดียวกัน คือการฝึกสมาธิเหมือนกัน แต่มันใช้คนละจริตคนละแนวทางกัน ปัญญาอบรมสมาธิกับสมาธิอบรมปัญญา สมาธิอบรมปัญญาคือพุทโธๆ นี่ไง เพราะมีสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นต่อๆไป ทีนี้ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาแล้วจะเป็นปัญญาวิมุตติ ใช้ปัญญาแล้วใคร่ครวญไป ถึงที่สุดแล้วมันจะลงสมาธิเหมือนกัน แล้วเกิดปัญญาต่อเนื่องกันไป อันนี้เป็นปัญญาวิมุตติ

ถ้าเป็นแนวทางการสอนเราจะสอนว่า ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันเป็นแนวทางของพระสารีบุตรคือว่าเอาปัญญานำ ทีนี้พุทโธๆ นี่เป็นพระโมคคัลลานะ พุทโธๆ นี่เอาเจโตนำ ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ จะดีแล้วมันเป็นโทษนะ เพราะออกไปแล้วแนวทางมันเยอะเกินไปนะ คนงงกันไปหมดเลย

โยม : บางจุดก็จะมี คืออย่างคำว่าปัญญาอบรมสมาธิ ผมเข้าใจว่าอย่างเราๆ ทั่วไปก็เป็นขั้นของปุถุชนธรรมดา ยังไม่ถึงขั้นของอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไอ้คำว่า ปัญญาอบรมสมาธิในการที่เราเริ่มนั่ง เราจะบอกให้ตัวเราอยู่กับสมาธิ เราจะบอกให้ตัวเราไม่คิดอะไรเลย การบอกอย่างนี้มันใช่ปัญญาอบรมสมาธิไหม

หลวงพ่อ : ก็ใช้ได้ คือปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นที่ศรัทธาจริต คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาจริต พุทโธๆ นี่ดี ทำสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าเป็น พุทธจริต พวกนี้พุทโธไม่ค่อยได้ พุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะพุทโธๆ นี่ แหม พุทโธๆ นี่โง่ฉิบหายเลย พุทโธๆ นี่พวกไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วมันช้าฉิบหาย แหมกูไม่เชื่อ มันต่อต้าน

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เอ้า พุทโธก็เพื่อจิตเป็นคำบริกรรม ถ้าเรามีปัญญาการปฏิบัติมีปัญญาใคร่ครวญเขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือความคิดหยุด มันหยุดได้ บางคนบอกความคิดหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดไม่ได้นะพวกมึงตายแล้ว มึงฟุ้งซ่านตายห่า แล้วเราหยุดคิดเรานั่งสบายๆ มีความคิดไหม ไม่มี นั่งสบายๆ ไม่มีความคิดหรอก

เราไม่ต้องภาวนาหรอก บางคนเวลาเดินจงกรมของเขา เวลาเขานั่งเขามีความสุขของเขา เขาพอใจของเขา นั่งเพลินๆ นี่มีความคิดไหม มันหยุดโดยธรรมชาติของมันโดยเราไม่รู้ตัว แต่เราไม่มีสติไง บางวันเราต้องมีสิ ชีวิตเราต้องมีบ้าง บางวันมีความสุขมากที่เราประสบความสำเร็จ แหม มีความคิดนะ เพราะมันประสบความสำเร็จ แต่พวกเราไม่ใช้ประโยชน์อะไรมัน

แต่ถ้าเวลามันคิดมาก มันฟุ้งซ่าน มันทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ความคิดไล่ตามมันทันเลย สติตามมันทันเลย ไล่ความคิดเลย มึงบ้าหรือเปล่า มึงชั่วหรือเปล่า โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันไล่ตามมันหยุดได้ มันหยุดได้ท่ามกลางกองไฟไง มันหยุดได้ท่ามกลางจิตนี้มันฟุ้งซ่านมาก จิตนี้มันเจ็บปวดมาก มันกำลังโดนทรมานจากความคิดมาก โดนกิเลสบีบคั้นมาก แล้วมันใช้ปัญญาไล่ทัน แล้วเห็นดับหมดเลย ความคิดหยุดหมดเลย มันก็เลย อ๋อ มีประโยชน์อย่างนี้ไง

เราถึงบอกว่า คนเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยมันไม่รู้จักความดีของยาหรอก ลองเราเจ็บไข้ได้ป่วย พอกินยาหายแล้วมันจะซึ้งยามาก อันนี้เป็นจริตอีก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนปฏิบัติมันสร้างมาหลากหลาย ความหลากหลายของสังคม

เหมือนกรณีอย่างนี้ พูดไปเหมือนยกหาง มันอยู่ที่อาจารย์ อาจารย์องค์ไหนท่านปฏิบัติมาแนวทางใดแนวทางหนึ่งก็จะสอนอย่างนั้น แต่ถ้าอาจารย์องค์ไหนได้ปฏิบัติมาช่ำชองมาก กรณีนี้พูดได้ช่ำชองมาก แต่ของเรานี่ ซ้ายมาก็ได้ ขวามาก็ได้ มาเถอะๆ มาทางไหนก็ได้ ได้หมด เพราะมันผ่านครูบาอาจารย์มาพอสมควร เพราะเราผ่านโค้ชมาดี เรามีโค้ชดี มีอาจารย์ดี

ถ้าเราไม่มีอาจารย์ดีมันก็เหมือนกับนักกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่ง เขาจะเล่นตามกติกานั้น แต่เราเหมือนเป็ดน่ะเล่นได้ทุกอย่าง บินก็ได้ ลงน้ำก็ได้ จะไปไหนก็ได้ จะเป็นไก่มันไปไม่ได้ ลงน้ำไม่ได้ มันตาย ไอ้นี่มันเป็ด บินก็บินได้ ลงน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้

เราไปฝึกมา บังเอิญมันทีช่องทางเยอะ แนะนำไปเยอะคนก็เลยยิ่งงงไปใหญ่ มันแนะนำเฉพาะคนที่เป็นพวกปัญญาชน พุทโธน่ะ พุทโธไม่ค่อยได้ พอพุทโธแล้วมันอึดอัด อยู่ดีๆ ก็มาบีบคั้นตัวเองน่ะ มันไม่ยอม มันเก่ง มันต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิไล่ออกไป ใช้ปัญญาไล่ออกไป

โยม : แต่แรกๆ ที่เริ่มปฏิบัติก็ยากจริงๆ นะหลวงพ่อ กว่าจะนั่งได้แต่ละนาทีนี่ โอ้โฮ

หลวงพ่อ : คนปฏิบัติมันรู้ เพียงแต่เราจริงจังตั้งใจแค่ไหน ฉะนั้นพอจริงจังตั้งใจแค่ไหน เราก็พยายาม เพราะว่าเราสงสาร ที่เราพูดนี่เพราะเราสงสาร เพราะชีวิตเราเป็นตัวอย่าง เวลาเราปฏิบัติใหม่ๆ โอ้โฮ มันอั้นตู้ไปหมด แล้วพอมันเอาได้ อะไรได้แล้วมันย้อนกลับมาดูไง มันเหมือนกับพ่อแม่มันทุกข์ยากมาก่อนไม่อยากให้ลูกทุกข์ยาก แต่ไม่ได้หรอก ทุกคนต้องมีทุกข์ยาก ไม่ทุกข์ยากก็โตไม่เป็น แต่พ่อแม่ทุกคนไม่อยากให้ลูกทุกข์ยาก

อันนี้ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติมาแล้วก็ไม่อยากให้คนอื่นปฏิบัติที่มันเหมือนกูนะ แต่พอพูดไปแล้วเจตนาดีเขาว่าเป็นร้ายหมด เจตนาดีๆ อย่างนี้เขามองเป็นว่าอิจฉาตาร้อน เที่ยวไปติเตียนคนอื่นหมดเลย แต่เราไม่ได้ติเตียนด้วยอารมณ์ความรู้สึกนะ เราพูดด้วยเหตุผลทุกคำ เห็นไหม (เทปสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้)