เทศน์บนศาลา

ปลูกดอกบัวที่ใจ

๒๔ ส.ค. ๒๕๓๘

 

“ ดินไง ดินที่กายเรานี้ ทำไมเราไม่ปลูกดอกบัวขึ้นมาในหัวใจล่ะ
ชาตินี้จะปล่อยให้มันตายไปโดยเปล่าประโยชน์หรือ

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ แล้วเราว่าเราเป็นชาวพุทธ เชื่อพระพุทธเจ้า
มันเชื่อที่ปาก แต่ใจมันค้านนะ พระพุทธเจ้าสอนมันมองไม่เห็นเลย ”

* * * * *

 


ปลูกดอกบัวที่ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


 

ถ้าภาวนาดี ใจจะสงบ ส่วนใหญ่ที่เราภาวนากันแล้วมันไม่สงบนี้ต้องวางมันก่อน เวลาสงบมันเป็นผล มันได้น้อย แต่ลงแรงไปแล้วไม่ได้ผลมันมีมาก เพราะเรามองข้ามไปหมดรู้ไหม เรามองข้ามไปหมดเลย ชุบมือเปิบ เดี๋ยวนี้อะไรก็เจริญ หัวใจเราก็ว่าเจริญด้วย เจริญเอาของง่ายๆนะ ถ้าของง่ายของสะดวกสบาย ทางโลกนั้นจะเป็นประโยชน์มากเลย เป็นประโยชน์จริงๆนะ อยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สอนว่า “สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ทางโลก มันจะให้ผลกับทางปฏิบัติเป็นทางลบ”

อย่างเช่น ข่าวสารนี้ ทางโลกจะเป็นประโยชน์มากเลย แต่พอมาเป็นในทางปฏิบัติมันจะเป็นโทษเลยล่ะ ถึงจะเป็นข่าวที่จริงก็ทำให้หัวใจนี้ฟุ้งซ่าน มันรู้เข้าไปแล้วมันฟุ้งซ่าน อย่างเช่น เรื่องที่เกิดนอกประเทศ กว่าจะมาถึงประเทศไทยเรื่องนี้มันก็สงบไปแล้วใช่ไหม เราจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย แต่พอเรารู้ขึ้นมา หัวใจเราจะพองโตไปกับเขา นั่นล่ะพอมาเป็นในทางปฏิบัตินี้มันจะติดขัดเลย แต่ถ้าเป็นทางโลกเขาก็ว่าเป็นประโยชน์

ฉะนั้นของที่เป็นประโยชน์กับโลกนั้น บางอย่างมันก็เป็นโทษกับการปฏิบัติ แต่พอปฏิบัติขึ้นมามันก็จะเอาแต่สะดวกสบายไง เรามองข้ามหมดเลย ความสะดวกสบายนี้คือความเคยใจ ใจมันชอบสะดวกชอบสบาย กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย นี่มันหลอกคนง่ายนิดเดียว มันจะบอกว่าอย่างนั้นมันเป็นการลำบากเปล่าไง อัตตกิลมถานุโยค คิดได้แต่อย่างนั้น จะทำสิ่งใดก็บอกว่า เป็นความลำบากๆ

แต่ใจนี้สำคัญ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดไว้ว่า “ต้นซุงไม่เคยเข้าตาใครนะ มีแต่ผงและฝุ่นที่เข้าตาคน” ความผิดเล็กน้อย เราเห็นว่าเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ของเล็กน้อย คนจะเสียก็เพราะเหตุนี้แหละ เขื่อนมันจะแตกก็เพราะตามด เราเห็นเป็นของเล็กน้อยทุกอย่างเป็นของเล็กน้อยหมดเลย ก็เลยกลายเป็นความเคยตัว แล้วพอจะมานั่งสมาธิ เห็นไหม หัวใจมันก็ออกตรงนั้นล่ะ แล้วก็บอกว่าปฏิบัติไม่ได้ผลไง

มันจะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันต้องเริ่มตั้งแต่ที่ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างพวกโยมนี้ก็ทาน ศีล ภาวนา ทาน เห็นไหม ก่อนจะให้ทานได้นะ โถ.. พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทานก่อนนะ เริ่มต้นจากการให้ทาน การให้ทานนี้มันต้องต่อสู้กับความไม่อยากให้ ความตระหนี่ถี่เหนียวในใจก่อน ก็เราได้มาด้วยความลำบาก แล้วใครอยากจะให้คนอื่นง่ายๆ ใช่ไหม ยกเว้นแต่เห็นผล

พูดถึงเราชาวพุทธ มีอยู่ส่วนหนึ่งที่นับถือตามประเพณี อีกส่วนหนึ่งนับถือตามพ่อแม่ คือนับถือตามกันมา เขาบอกว่าถ้าเป็นชาวพุทธก็ต้องทำบุญตักบาตร แต่ผู้ที่เขามีหัวใจที่เป็นธรรมจะรู้จักว่าเป็นประโยชน์ แล้วแสวงหานะ มันคือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ สิ่งที่เราได้มานี้เป็นของบริสุทธิ์ เราทำบุญด้วยสุจริต สัมมาอาชีวะใช่ไหม ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำมา กว่าจะได้เงินได้ทองมา แล้วไปซื้อของมาทำบุญทำทาน ทำเพื่ออะไร

หัวใจนี้ ก่อนจะทำหัวใจก็ต้องคัดค้านในผู้ที่ทำใหม่ๆ แต่ผู้ที่ทำจนเป็นปกติแล้วจะไม่คัดค้าน จะแสวงหาสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์ของเราไปทำบุญทำทาน ทำที่ไหนล่ะ คนที่เป็นเขาก็จะแสวงหา เขาไม่ทำทั่วไปนะ เนื้อนาบุญไง ถ้าเนื้อนาดี ดินดี ดินดำ น้ำดี หว่านข้าว ข้าวก็ออกรวงสวย นาดอนกับนาลุ่ม

แต่เวลาคนมันตกทุกข์ได้ยาก แล้วมีความจำเป็น พระพุทธเจ้าถึงได้สอนเรื่องสังฆทาน ถ้าเราจะบอกว่าจำเป็นต้องทำเฉพาะกับครูอาจารย์ ทำกับพระที่ดี แล้วถ้าเราไม่เจอพระที่ดีจะทำอย่างไร มันทำให้ทำลายโอกาสใช่ไหม แต่โอกาสอย่างนั้นเราก็ว่าไปเถอะ เพราะตอนนี้เรารู้จักแล้ว

คนลืมตากับคนปิดตา เห็นไหม คนปิดตาอย่างหนึ่ง คนตาฝ้าตาฟางอย่างหนึ่ง แต่เราตาใสเรารู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งใดผิดสิ่งใดถูกเราก็เลือกจริงไหม “คนมีปัญญานะไม่ใช่คนโง่” เมื่อก่อนเคยโง่ก็ยอมรับว่าโง่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่โง่เหมือนเก่าแล้ว

ถ้ามีปัญญาก็ต้องแสวงหาสิ อาหารการกินเรายังต้องคัดเลือกว่าอันนี้อร่อย อันนี้ไม่อร่อย อันนี้ให้โทษแก่ร่างกาย อันนี้ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย อันนั้นร่างกาย ส่วนอันนี้หัวใจ หัวใจก็ต้องกินสิ่งที่ดีใช่ไหม อาหารที่ดี สิ่งที่ดี น้ำที่ดี ก็อยากแสวงหาทำบุญกับครูบาอาจารย์ที่ดีว่าอย่างนั้นเถอะ นั่นพูดถึงทานนะ

พอมีทาน ใจมันก็ผิดจากปกติไป จากใจกระด้าง ใจมันก็อ่อนไหว ใจอ่อนกับจิตใจที่แข็งกระด้าง ถ้าจิตใจแข็ง จิตใจกระด้าง มันก็แสดงกิริยากระด้าง แล้วพอมันกระด้างนี้ สิ่งที่กระด้างก็เข้ากับกระด้าง หัวใจแข็งอย่างนั้นมันก็เข้ากับเรื่องอารมณ์รุนแรงใช่ไหม อย่างเรื่องการทำความผิด เราว่ากระด้างๆ มันก็จะรุนแรงไปหมด มันมีนะที่เขาว่าเลือดเย็นไง ความเลือดเย็น เห็นไหม ฆ่ากันได้นิ่มๆ นั่นล่ะ กระด้างหมายถึงจิตใจที่ทำความชั่ว ส่วนกระด้างแบบวัตถุนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ที่เขาเรียกว่าผิวกระด้าง

มันก็ต้องเริ่มจากตรงนั้นมา มีทาน มีศีล มีศีลเพื่อให้ปกติไง ไม่ให้ออกไปฟุ้งซ่านมากนัก ถ้าเราปล่อยปกติเลยมันจะแผ่ไปหมด หัวใจเรานี้ แต่ถ้ามีศีล มันจะบอกว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก มันก็คัดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งจากทาน พวกนี้จะเป็นประโยชน์ เราเป็นคนที่เป็นประโยชน์แล้ว ไม่ได้เป็นผลลบกับโลกไปตลอด เกิดมาแล้วรกโลก เกิดมาเป็นประโยชน์ต่อโลกเห็นไหม เป็นประโยชน์ต่อโลก ทำคุณประโยชน์กับโลก โลกนอกกับโลกใน แล้วเป็นประโยชน์กับตัวเองได้หรือยัง ตัวเองนี้เป็นประโยชน์ได้หรือยัง

ต้องเป็นประโยชน์กับตัวเองก่อน พระพุทธเจ้าถึงได้สอนไง เป็นประโยชน์แก่เราด้วย เป็นประโยชน์แก่โลกด้วย ปัจจุบันนี้ ทำความดีให้ผลเป็นสุข ถ้าตายไปเห็นไหม คำว่า “ตายไป” ปัจจุบันนี้เป็นสุขตายไปโลกหน้าก็เป็นสุข ปัจจุบันนี้ให้ผลเป็นทุกข์ แล้วตายไปมันจะไปไหน มันจะไม่ให้ผลเป็นทุกข์หรือ ก็ให้ผลเป็นทุกข์

มันต้อง “สุคโต” ปัจจุบันนี้สุคโต อยากจะมีความสุขต่อไปข้างหน้า ตายแล้วให้ไปสวรรค์ ไปอินทร์ ไปพรหม สุคโตในอนาคตก็ต้องปัจจุบันนี้แหละไป ปัจจุบันนี้สุคโต ปัจจุบันนี้เป็นสุข ทำสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เพราะหัวใจมันรวดเร็ว เวลาไปมันไปเร็วมาก เหมือนจรวดยิงออกจากฐาน มันพร้อมหมด ร่างกายนี้เป็นฐาน หัวใจนี้มันยิงออกไป เวลาตายมันสลัดกายทิ้งไว้เฉยๆนี่แหละ แต่หัวใจนั้นมันยิงออกไป แล่นจรวดออกไป ออกจากฐานนี้ไป

ฉะนั้นต้องทำให้ดี มีศีล มีศีลแล้วถึงมาภาวนา กว่าจะภาวนาได้นะ เราควรเริ่มต้นจากให้ทานจากถือศีล การถือศีลดูอย่างในสมัยปัจจุบันนี้ จะรับกันแค่ศีล ๔ ศีล ๕ ไม่ยอมรับนะ เรานี้ให้รับหมด ศีล ๕ หรือจะศีล ๘ ด้วย มีศีลแล้วก็มีภาวนา คนเรามันจะเข้ามากันอย่างนั้น เข้ามาโดยเริ่มจากหยาบมาหาละเอียด ถ้าไม่เข้ามาเลยจะเอาอะไรเข้ามา

การจะมาภาวนานี้ นึกว่ามันภาวนาได้ง่ายๆ หรือ ที่เราว่าเราจะภาวนานี่ ดูวัดทั่วไปสิ ดูประชาชนทั่วไป มีใครบ้างที่เข้ามาทนลำบาก จะไปจำศีลก็ไปอยู่กันแบบสักแต่ว่านั่นล่ะ แต่ว่าเรามาภาวนานี้ เวลาภาวนาถ้าเราไม่ได้ผล เราจะเสียใจ เราจะน้อยใจว่าเราไม่มีวาสนา เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เราเห็นมนุษย์มันมาก เราก็คิดว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้มันจะยากตรงไหน ดูสิ มันมีทั่วโลกอยู่ แต่ไม่ได้เห็นที่ว่าเกิดเป็นสัตว์ สัตว์เดรัจฉานนี่อบายภูมิ สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต เราไม่เคยเป็นหรือ เคยเป็นมาหมดนะ

แม้แต่พระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าองค์ที่แล้วจะมาพยากรณ์ ก็ผ่านมาหมด ต้องผ่านมาต้องเห็นมา ของสิ่งนี้มันมีอยู่ ผ่านมาเห็นมา มันเป็นสัญญาจำมาจากใจ เวลาย้อนกลับมันจะได้เห็นหมด เวลามาเกิดเป็นสัตว์อย่างนั้นมันจึงได้ทุกข์ ทุกข์กว่าเรา นี่ถึงว่าเกิดเป็นมนุษย์ไง เอาภพของมนุษย์ไปเปรียบเทียบ เรามีสมบัติ มีต้นทุน แล้วมาภาวนานะ ภาวนาเพราะอะไร เพราะสมบัติของใจไง แล้วเวลาทำทานเห็นไหม ทำทานมันเป็นอริยทรัพย์ เวลาให้ออกไปแล้วนี้มันฝังลงที่ใจเป็นทิพย์ อันนั้นมันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง

ฟังสิ คำว่า “วัตถุอันหนึ่ง” อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่งจริงๆ นะ เราสละวัตถุภายนอกวัตถุสิ่งของไปเท่าไรก็แล้วแต่มันจะหมายลงที่ใจ หมายลงที่ใจเท่านั้น หรือใหญ่กว่านั้น อันนั้นมันเป็นวัตถุ เป็นทิพยสมบัติของใจ แต่การภาวนานี้มันมาแก้กิเลส

เพราะฉะนั้นถึงว่า การภาวนาที่ว่าแสนยากนั้นเพราะว่า ถ้าไม่มีศาสนาแล้วเราจะภาวนากันอย่างไร จะมีศาสนาก็ต้องมีพระพุทธเจ้าก่อนใช่ไหม มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมนี้ไว้สั่งสอนพวกเรา วางธรรมไว้ วางธรรมะนี้ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคมีองค์ ๘ เห็นไหม วางมรรคไว้นะ วางมรรคา วางทางไว้แล้วเราได้มาประสบได้มาพบ นั่นมันเป็นโอกาสไหม

ที่เรามาทำบุญทำทานกันเฉยๆ นั่นมันอีกอย่างหนึ่ง แต่อันนี้มันละเอียดเข้าไปๆ จากวัตถุอันเมื่อกี้ที่ว่าเป็นบุญเป็นกุศลที่เขาทำกันนั้นมันก็เข้าไปอยู่ในใจ เข้าไปอยู่ในใจก็ไปอยู่เป็นสมบัติ แต่ถ้าภาวนานี้มันจะไปละกิเลส ไปละไอ้ตัวนำ ไอ้ตัวขับเคลื่อน กิเลสนี้มันเป็นยางเหนียว มันอยู่ที่ใจ คนตายไปถ้ามีบุญกุศลมันก็ไปเกิดบนสวรรค์ ไปเกิดบนพรหมโน้น สุดท้ายแล้วก็ไปเป็นทุกข์อยู่บนนั้น มันมีความสุข แต่จะมีความสุขขนาดไหนมันก็มีความทุกข์เจือไปตลอด

พระพุทธเจ้าถึงสอนเรื่องปัจจุบันธรรมนี้ไง การกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ มันมีความสุขอย่างยิ่งนะสมาธิธรรม จิตมันสงบ วัตถุอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ไม่มีเลย ที่ว่าบุญที่เป็นวัตถุอันหนึ่ง มันเป็นอารมณ์อันหนึ่งฝังลงที่ใจ อารมณ์ไม่ดีอันหนึ่งก็ฝังลงที่ใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไอ้ตัวที่จะเกิดขึ้นได้นี้มันเกิดขึ้นจากตัวอวิชชา แต่ตัวนั้นมันเป็นตัวใจเลย มันฝังแน่นกว่าตัวอารมณ์

อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เห็นไหม อวิชชา ปัจจยาการ ถึงจะมีสังขารตัวความคิด อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ถึงจะมีความรู้สึก วิญญาณ มีความรู้สึกจากตัวความคิดนั้นอีกทีหนึ่ง อันนี้มันให้ผลตลอดเวลาเลย เหมือนไฟนะ ความร้อนของไฟ อวิชชาออกมาคิด มันเป็นความร้อนออกมาเลย เป็นพลังงาน แล้วตัววิญญาณรับรู้นั้นเป็นอีกตัวหนึ่ง เป็นอารมณ์ต่างหาก แล้วอย่างที่ว่าทำบุญกุศลเข้ามา เป็นวัตถุขึ้นมา ก็เป็นอันนี้ เป็นอารมณ์อันนี้เข้าไปในใจ ที่เป็นอารมณ์เข้ามานี้ มันจรมาใช่ไหม

แต่ถ้ามันสงบลงนี่มันหมดอันนี้ ความสงบนะ มันเห็นตัวตนจริงไง ที่ว่าจิตเดิมแท้ประภัสสร แต่หมองไปด้วยอุปกิเลส อุปกิเลสมันจรมา อุปกิเลสก็คืออารมณ์ สิ่งแวดล้อมของใจไง มันจรมาทำให้ใจนี้เศร้าหมอง ทำให้ใจนี้เป็นทุกข์ มันเศร้าหมองแต่เราจะทำให้มันใสไง การภาวนาทำจิตใจให้ใสจิตใจสะอาด สะอาดออกจากทั้งหมดรวมทั้งบุญกุศลด้วย จากบาปจากบุญ ติดบาปก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง ติดบุญก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง ติดโกรธไง ความโกรธทำให้จิตใจหนักหน่วง

ความอยากภาวนานี่ก็ติดในบุญ อยากจะภาวนา อยากจะทำความดี แต่ทำแล้วมันไม่ได้ เพราะว่าเป็นความอยาก อยากอันนี้เป็นสมุทัย ครูบาอาจารย์จะสอนว่าไม่ให้อยากในผล แต่ให้อยากในเหตุ อยากประพฤติปฏิบัติอยากภาวนา แต่อย่าคาดหมายผลนะ ถ้าคาดหมายเป็นธรรมด้นเดา ผู้ใดด้นเดาธรรมก็เป็นธรรมะด้นเดา เป็นความคิดจินตนาการ

ไม่ใช่! มันจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดเด็ดขาดเลย ต้องให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ตั้งสติไว้ ทำสติไว้ ทำความรู้สึกไว้กับตัวเองตลอดเวลา ถ้ามีความรู้สึกกับตัวเองนี้ มันก็เป็นการต่อเนื่องสืบต่อ การสืบต่อนี่มันก็เป็นความเพียร มีสติใช่ไหม มีการสืบต่อ มีสติอยู่ พุทโธก็อยู่ การตั้งสตินั้นมันก็อยู่ จิตมันก็อยู่ เผลอมันก็ส่งออก เผลอมันก็แว็บออก ความแว็บออกนั้นมันเป็นช่องว่างระหว่างสติที่มันสืบต่อไง เผลอมากเท่าไร การงานก็บกพร่องมากเท่านั้น ถ้าสติมันตามย้ำตามย้ำไว้งานนั้นก็ไม่บกพร่อง จากบกพร่องมหาศาลเลย จากเด็กที่ทำงานหยิบๆหล่นๆ เราก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ถ้าเราสืบต่อ เราพยายามฝึกฝนนะ คำว่าฝึกฝนนี้ ฝึกฝนข้างนอกกับฝึกฝนข้างใน

หลวงปู่มั่น สอนไว้เห็นไหม “แม้แต่ดื่ม แม้แต่เหยียด แม้แต่คู้ แม้แต่พูด ทุกอย่างต้องมีสติไว้” มันต้องติดเชื้อมาตั้งแต่นั่น แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะมาตั้งสติกันแค่ตอนภาวนานี้ เวลามันไม่เห็นผลแล้วมันให้โทษขนาดไหน มันจะเห็นผลหรือไม่เห็นผล เราก็ต้องสืบต่อกันมา เราต้องพยายามมาตลอดด้วยทั้งชีวิตนะ ทั้งชีวิตเลย ชีวิตเรานี้สั้นมากนะ ๘๐ปี ๑๐๐ปี นี่แป๊บเดียวๆ แล้วเราจะนอนใจอยู่ได้อย่างไรว่าเราจะทำอย่างไรกัน เกิดมาแล้วต้องตายเด็ดขาด เกิดมาต้องตายอยู่แล้ว ในเมื่อมีการเกิดมันก็ต้องมีการดับ เราต้องพยายามอย่างนี้แหละ เพราะพอดับปุ๊บมันก็หมดโอกาสใช่ไหม โอกาสมันยังมีอยู่ต้องขวนขวาย มันต้องเตือนใจของตัวให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตใจเราตื่นอยู่มันก็อยากจะทำความดี ทำความสืบต่อด้วย

แต่เรานอนใจ นอนใจมาก พอนอนใจมันก็เหลาะแหละ พอเหลาะแหละมันก็ไม่ได้ประโยชน์ สักแต่ว่าทำไง ทำสักแต่ว่า แล้วผลนี่จะเอาเต็มๆ ถ้าอยากได้ผลมากก็ต้องทำมาก พระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้นเลย ไม่มีใครทำแทนกันได้ ต้องขวนขวายทำของเราเอง เพราะมันเข้าถึงหัวใจ งานของโลกเขายังทำแทนกันได้ การซื้อ การขาย การจ้าง การวาน นี่คืองานของโลก แล้วไม่มีที่สิ้นสุด เจริญแล้วก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็เจริญอยู่อย่างนั้น

แต่หัวใจของเรานี้ ฟังสิ คำว่า “หัวใจของเรา” มันเป็นนามธรรม ศาสนาของพระพุทธเจ้าสอนมา แล้ว ทำสิ ! มันจะเห็นผลขนาดไหน ถ้ามันถึงที่สิ้นสุด มันจบได้ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานคือดับสิ้น ไม่เหลือ ดับนะดับสิ้น เสร็จสิ้นเสร็จกิจของงาน พอดับสิ้นนี้มันก็ไม่สืบต่อ

เรามองโลกนี้ทั้งโลกเลย ทุกชีวิตทุกดวงจิต มันต้องหมุนไปเคว้งคว้างตามวัฏวนทั้ง ๓ นี้ แล้วเราก็วนมา มันน่าสงสารชีวิตของเราเอง น่าสงสารหัวใจของเรา พวกเรานี่ก็วนมาตลอดนะ สามโลกธาตุนี่วนมาทั้งนั้นนะ เป็นเทวดาก็เคยเป็นมา ตกนรกก็เคยตกนรกมา มันถึงฝังลงทุกหัวใจไง พอบอกคำว่านรกนี้ ทุกคนหรือทุกดวงใจเลย มันจะขยะแขยง

ถ้าบอกว่า สวรรค์ ทุกคนก็อยากไป เพราะมันมีเชื้อเดิมฝังอยู่ในใจของแต่ละบุคคลแล้ว เพียงแต่กิเลสนี้มันสอน มันเสี้ยม มันบอกว่านรกไม่มี แต่ถ้าบอกไปสวรรค์นี้ก็อยากไปอยู่ มันก็ว่าจะมีจริงหรือเปล่า เพราะอะไร เพราะถ้าบอกว่าจะไปสวรรค์นี้มันจะต้องทำความดี มันไม่อยากทำ มันอยากจะอยู่สบายๆ ของมัน ถ้าบอกนรกไม่มี มันก็ทำความชั่วได้เต็มมือเต็มไม้หน่อย นั่นหัวใจมันมีเชื้อเดิมอยู่ มันพูดแล้วมันจะแหยงนะ ใจเรามันจะแหยงเลยล่ะ แล้วมันจะไปอย่างนั้นอีกหรือ มาเจอศาสนาก็ทำความดีอยู่ ก็พอแล้ว เพราะว่าจะได้ไปสวรรค์ ยังไงก็ยังไปดีหน่อย ก็ยังภูมิอกภูมิใจว่าเราเป็นลูกศิษย์กรรมฐานเหมือนกัน ก็ได้ภาวนาแล้วนี่ไง

แต่ภาวนาแล้ว มันก็ต้องมีความจริงจังนะ จริงจังเพื่อให้ได้ผลขึ้นมา ให้มีความจริงจัง ตั้งสติไว้ให้พร้อม พอผลมันเกิด ครูบาอาจารย์ก็ห่างออกไปนะ ใหม่ๆ ก็ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ พอใจมันเป็นธรรมขึ้นมานี้มันจะฟังเทศน์จากใจของตัวเองเลย จากใจนะ เช่น ธรรมะมันเกิดไง มันจะเกิดตอบ เกิดตอบนะ มันจะตอบปัญหาถามปัญหากันอยู่ในหัวใจของเรา อันนั้นล่ะคือการฟังธรรม ถ้าภาวนาไปจะเป็นอย่างนั้น พอภาวนาไปๆ เรียกว่า กัลยาณปุถุชน แต่ถ้าปุถุชนมันไม่คิดอย่างนั้นหรอก พอภาวนาไปมันก็ดึง เอาน่า เอาไว้พรุ่งนี้ เอาน่าไปโน่นก่อน เอาน่าไปนี่ก่อน ปุถุชนคือคนหนา คนหนานี่มันเข็นยาก แต่กัลยาณปุถุชนนี่คนเบา มันก็เบา มันก็เข็นไป นั่นฟังธรรมในใจ ฟังธรรมในใจไปเรื่อยๆ นั่นพูดถึงว่าเราภาวนาได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์

แต่เรายังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ แล้วเรายังนอนใจอีก อย่าถือว่าโอกาสของเราจะมีตลอดไปนะ โลกนี้เป็นโลกอนิจจัง ไม่เราจากเขา เขาก็ต้องจากเรา สมบัติชิ้นใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าสมบัตินั้นจะจากเราไปอย่างเดียว ถ้าเราตายไป สมบัติมันก็อยู่นั่นล่ะ เขาไม่จากเรา เราก็จากเขา ความจากความพลัดพรากมันต้องเกิดอยู่ทุกชีวิตทุกสัมผัส ไม่มีสัมผัสใดสัมผัสกันแล้วมันจะไม่จากกันเลย ไม่มี อารมณ์ที่มาสัมผัสใจก็เหมือนกัน ถึงได้เป็นห่วงไง ห่วงนะ ตอนนี้เป็นตอนที่ดีที่สุดเลย เพราะอะไร เพราะหัวใจมันเชื่อ ศรัทธานี้พร้อม ศรัทธาพร้อมแล้วอย่านอนใจ เหมือนคนมีเงินมีทอง จะแสวงหาสิ่งใดก็ควรแสวงหา ต้องแสวงหาด้วยความถูกต้อง ฟังสิ ด้วยความถูกต้องนะ มีเงินแล้วต้องแสวงหาด้วยความถูกต้อง ซื้อของที่เป็นประโยชน์อย่าหลงการโฆษณา อย่าหลงการชักนำในทางที่ผิด

การภาวนาก็เหมือนกัน อย่าหลงกิเลสให้มันหลอก เห็นนิมิตพาไปเที่ยวสวรรค์ไปนรก ไม่ใช่! มันไม่ใช่เรื่องของการภาวนาเลย การภาวนานี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าทำใจให้สงบเท่านั้นเอง ทำใจให้สงบ แล้วจิตนี้จะมีความสุขจากความสงบนั้น พอจิตมีความสุขจากความสงบแล้วจะมีพลังงานมีความอิ่มใจ ต้องการความสงบเท่านั้น ความสงบเป็นอาหารแท้ของหัวใจ ไม่ใช่การเห็นนิมิต ไม่ใช่การเห็นภาพภายนอก ไม่ใช่การเที่ยวแส่ส่ายไป ไม่ใช่ทั้งนั้น อันนั้นมันเป็นผลข้างเคียงของหัวใจที่มันจะสงบ เป็นผลข้างเคียงเท่านั้น เช่น อย่างโยมจะมาที่นี่ ขับรถมา ตั้งใจมาวัด แต่ภาพต่างๆ ข้างถนนมากมายเลย แสง สี เห็นไหม ตามร้านค้าที่เราผ่านมาตลอด แล้วพอมาถึงที่นี่แล้วมันมีอะไรขึ้นมาบ้างล่ะ ทำไมไม่มีอะไรเลย มีแต่เสียงจิ้งหรีดเรไรเท่านั้นเอง เสียงความสงัด ไม่เห็นจะมีอะไรดีเลย แต่มันเป็นความถูกต้อง

เพราะวัด คำว่า “วัด” ไม่ใช่แสงสีแบบนั้น ไม่ใช่ไปไนต์คลับนี่นา ไม่ใช่ไปร้านอาหารนี่นา ที่จะต้องมีการเปิดเครื่องเสียงดังๆ ต้องมีการเสริ์ฟ ต้องมีการบริการ เราต้องไปวัดเพื่อวัดหัวใจไง เราไปวัดหัวใจของเรา วัดเป็นที่อยู่ของผู้มีพรหมจรรย์ เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล เป็นที่อยู่ของผู้มีความสุข เราอยากหาความสุขใส่ตัวของเรา เราต้องไปในที่อย่างนั้น ไปในที่สงัด ไปที่ที่ควรแก่การทำงานให้ใจสงบ ถึงปฏิเสธสิ่งที่เข้ามาสัมผัส ปฏิเสธเลยเห็นไหม ถึงบอกว่าไม่ฟังๆๆ ไม่ให้มันเสี้ยม ไม่ให้มันหลอกออกไป

ถึงบอกว่าในการภาวนามันเป็นอย่างนั้น ตั้งใจ คำว่าตั้งใจนี้คือตั้งสตินะ ถ้าตั้งใจสติก็อยู่พร้อม เน้นย้ำให้ตั้งใจๆ เลยล่ะ ให้จิตสงบให้ได้ พอจิตสงบขึ้นมาแล้ว เราจะเห็นคุณค่าของตัวเราเอง เมื่อก่อนไม่เห็นคุณค่าเลยนะ มนุษย์ทุกคน จิตทุกดวงจิตหวังพึ่งแต่คนอื่น หวังไปข้างหน้า มันเคลื่อนจากปัจจุบันหวังแต่ไปข้างหน้า พรุ่งนี้จะดี เมื่อนั้นจะดี ต่อไปเมื่อนั้นจะดี ถ้าตายไปแล้วก็ไปบนสวรรค์ ถึงตายไปแล้ว ถ้ายังทำไม่ได้ก็ขอไปพบพระศรีอารย์ ก็ว่าไปโน่นนะ มันหวังพึ่งแต่คนอื่นตลอดเวลา

พอจิตมันสงบ จิตมันมีหลักเกณฑ์ มันจะพึ่งตัวเองแล้ว แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยนะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นจริงๆ ว่าอย่าดูถูกตัวเอง อย่าดูถูกเรา เพราะมันมีหัวใจ มีพุทธะอยู่ข้างใน พุทธะคือผู้รู้ไง “พุทธะ” หมดพุทธะก็หมดสติ หมดพุทธะก็หมดความสืบต่อ ถ้าหมดพุทธะ เห็นไหม เราก็ตายจากภพนี้ แต่ถ้าพุทธะมันไม่หมด มันก็ไปเกิดอีก พุทธะนี้มันคงที่ มันถึงเข้ากับนิพพานได้ไง นิพพานก็คงที่นะ แต่คงที่แบบนิพพานไม่ใช่คงที่แบบอัตตา

“อัตตา” ในโลกนี้ไม่มี สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องดับไป ไม่มีอะไรคงที่เลย ยกเว้นนิพพาน มันก็เข้ากับพุทธะนี่แหละ พุทธะคือดวงจิตไง ดวงจิตนี้ไม่มีตาย ไม่มีทางตายนะ แต่เราเข้าใจกันว่าตาย มันจะตายได้อย่างไร มันเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้มีการตายหรือ ตายนี่มันมีแต่ว่าร่างกายเปลี่ยน ที่เราว่า “รู้ๆ” กันนี้ มันรู้ของวิญญาณ ไม่ใช่รู้ของธาตุรู้ พอบอกว่าคนตายไม่มีความรู้สึก อ้าว! วิญญาณก็แค่รู้ วิญญาณในขันธ์ ๕ แต่ธาตุรู้นี้เป็นธาตุเฉยๆ

ยกตัวอย่างแบบความร้อนอีกนั่นแหละ ความร้อนมันรู้ว่ามันร้อนไหม มันไม่รู้นะ เราต่างหากที่ไปรู้ความร้อนมัน เราต่างหากไปรู้มัน นี่ล่ะวิญญาณผู้รู้ แต่ตัวธาตุไฟมันก็มีความร้อนของตัวมันเอง ธาตุจริงๆ ในหัวใจเราก็เป็นแบบนั้น แต่อวิชชามันครอบอยู่อีกทีหนึ่ง มันเลยทำให้ไม่รู้ไง ถ้าจิตสงบถึงฐาน ฐีติจิต นั่นล่ะตัวแท้เลย ฐีติจิต จิตแท้ๆ ถ้าทำสมาธิเข้าไปจะถึงได้นะ ถ้าทำสมาธิได้สงบจริงๆ จะถึง แต่ถึงแค่นั้น

คำว่า “ถึงแค่นั้น” หมายถึงว่า สมาธิก็เป็นสมาธิ แต่สมาธิไม่สามารถแก้กิเลสได้ งงไหม สมาธินี่เป็นฐานนะ ปัญญาต่างหากเป็นสิ่งที่แก้กิเลส แต่ถ้าปัญญาไม่มีสมาธิหนุน ปัญญามันก็เป็นสัญญา เป็นสังขารปรุงแต่ง

ถ้าจิตนี้สงบ จิตนี้เป็นสมาธิ การจะทำให้จิตสงบก็แสนยากนะ แต่พอสงบแล้วจะขับเคลื่อนให้จิตนี้ออกมาวิปัสสนา มันก็เหมือนกับเราทำจิตสงบนี้อีกทีหนึ่ง ใหม่ๆ มันจะไม่ทำ มันจะไม่รู้ มันไม่รู้เท่านะ มันแปลกประหลาด สิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็นนี่นะ เคยแต่ด้นเดา เคยแต่คาดหมาย คาดหมายไปว่าควรจะเป็นอย่างนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ พอไปเจอเข้าจริงๆ นี่เป็นไก่ตาแตกนะ ใหม่ๆ ต้องเซ่อเลยล่ะ โอ๊ย!เป็นไก่ตาแตกเลย โอ้โฮ!! เป็นอย่างนี้หรือ พอเป็นอย่างนี้แล้วก็หลุดมือไป หลุดมือไปเลย เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรมแล้วเราจับต้องไว้ไม่ได้ ไม่มีความรู้ ยังใหม่อยู่ แล้วพอจิตมันเสื่อม สภาพแบบนั้นมันจะเสื่อมนะ เสื่อมเพราะอะไร เสื่อมเพราะใจมันฟู เหมือนเศรษฐีมีแล้วก็อยากมีมาก พอมีอย่างนั้นแล้วมันก็คิดว่าจะเอาให้ได้อีกนะ เราเคยกินอะไรแล้วเราก็อยากกินแบบนั้นอีก ใช่ไหม พวกอาหารแปลกๆ พวกกุ้งมังกรนี่หายากนะ อารมณ์ใจที่มันกินอารมณ์แปลกๆ อย่างนั้นก็กินยากนะ กว่าจะทำได้อีก

ทีนี้ความฝังใจความอยากได้นี้ มันจะทำให้กว่าจะเจอนี่จิตมันจะเสื่อมเลย ใหม่ๆ จะเป็นอย่างนั้น รักษาไว้ได้ยาก แต่ก็ต้องทำ จะศึกษาจะฟังจากครูบาอาจารย์อย่างไรก็แล้วแต่ แต่พอไปเจอเข้าจริงๆก็เหนือความคาดหมาย ทุกคนฟังแล้วก็กลัวตัวเองจะพลาดนะ จะจำไว้ วิธีการต่างๆ จะจำไว้ แล้วพอเราไปเจอเข้า มันก็ทำไม่ได้อีก เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้เป็นความรู้สึกของเรา มันไม่ได้เป็นการกระทำของเรา พอเราไปผิดไปพลาดเข้า มันต้องผิดแล้วมาถูก ถูกแล้วมาผิดเป็นครูเป็นอาจารย์อยู่ในหัวใจอย่างนั้นทุกๆ ดวง ทุกๆ ดวงที่จะทำต้องมีผิดมีถูกอย่างนั้น พอผิดมันก็เป็นครู ถูกก็เป็นอาจารย์ ผิดถูกอยู่อย่างนั้นๆ หลายครั้งเข้า ก็จะรู้สึกว่า อ้อ.. ที่เสื่อม จิตมันเสื่อมเพราะเหตุนั้น จิตมันฟุ้งซ่านเพราะเราไปเจอของแปลก ไปเจอสิ่งมหัศจรรย์ในหัวใจของเราเอง เมื่อก่อนหวังแต่จะไปหาสิ่งที่อยู่ข้างนอก หวังแต่จะไปพึ่งข้างนอก พอไปเจอภายในเข้าแล้วหลุดมือไป พอลองผิดลองถูกเดี๋ยวมันก็แข็งขึ้นมา แข็งตรงที่รู้วิธีการ รู้ผิดแล้วรู้ถูกแล้ว ไม่ต้องไปเหนื่อยแล้ว พอผิดเข้ามันก็เหนื่อย กว่าจะทำให้ถูกทาง เหนื่อยนะ การทำความดีนี่ โอ้โฮ.. แต่เหนื่อยนี้ก็เหนื่อยเพื่อประโยชน์ของเรา เหนื่อยอย่างทางโลก พอเห็นเงินเห็นทองเข้ามันก็โลภมาก อยากจะทำมากๆ แต่มันยังไม่เจอทองภายในนี่

ธรรมคือทอง ทองคือธรรม ธรรมในใจ พอเจอแล้วมันยิ่งอยากได้มาก แต่ต้องแสวงหาถูกทางด้วยนะ ความอยากนั้นล่ะที่ทำให้ไม่ได้ อยากแต่อย่าล้ำเขต ให้อยากในเหตุ ไม่ให้อยากในผล คืออยากภาวนา อยากทำพุทโธ อยากทำใจเป็นกลางๆ ไม่หมายผล เพราะจิตมันไว พอหมายมันก็พุ่งไปก่อน เร็วมาก จิตมันไว เราก็พยายามให้มันเป็นกลางๆไว้ อย่าให้มันล้ำหน้าไป พอจิตมันสงบ ความสุขก็เกิดขึ้น เกิดจริงๆ สุขจริงๆด้วย สุขแปลกโลกไม่ใช่สุขแบบโลก อันนั้นมันก็พอแล้ว อันนั้นมันก็แปลกประหลาดแล้ว แต่ต้องการให้เพิ่มมากขึ้นนะ

ความแปลกประหลาดอย่างนี้มันมีมาก่อนตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก่อนจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เริ่มต้นจากไม่เป็นอะไรเลย แล้วจะไปฝึกกับใครล่ะ ที่ไหนมีครูอาจารย์ดีก็ไปหมด อาฬารดาบสไปฝึกสมาบัติ ไปฝึกความสงบของใจนี้ ก็ทำได้หมด นั่นมันมีมาแล้ว เห็นไหม ความสงบมันมีมาก่อน พอจิตใจสงบมันก็เป็นแบบนั้น เมื่อก่อนพอเขามีความสงบ เขาก็ว่าเขาเป็นศาสดา เขาก็สอนกันแล้ว ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นกันแบบนั้น

สอนอย่างไรก็แล้วแต่ ความสุขความทุกข์ในใจเรามันรู้ คนเราไม่ได้ปรารถนาเพื่อมาเป็นอาจารย์คน คนเราปรารถนาเพื่อจะชำระความทุกข์ในใจของตัวใช่ไหม ความสุขความทุกข์อย่างละเอียดที่อยู่ในใจ จิตมันสงบก็เหมือนหินทับหญ้าไว้ ความทุกข์มันจะระงับชั่วคราว จิตสงบนี้มันให้ผลอย่างนั้น ถึงยอมรับว่ามีความสุขมาก ก็เหมือนคนที่หิวกระหายอย่างมากเลย แล้วกินเข้าไปจนอิ่มท้อง มันจะสุขขนาดไหน นี่ขนาดว่าอิ่มท้องนะ มันเป็นวัตถุ

แล้วอิ่มใจล่ะ เวลาเรามีอะไรที่ถูกใจเรามาก เราก็ยังมีความสุขมาก คิดดูสิ อันนี้ยังเป็นอามิสนะ แล้วเวลาเราภาวนาเอง จิตมันสงบเอง มันอิ่มในตัวมันเอง อย่างหินทับหญ้าไว้ กิเลสมันสงบตัวลง มันยุบยอบลง มันสงบตัวนิ่งอยู่ชั่วคราว ถึงเรียกว่า “พระนิพพานของผู้มีกิเลส” นี่คำของโลกเขานะ ว่านิพพานของผู้มีกิเลส มีกิเลสอยู่ กิเลสมันก็สงบตัวชั่วคราวถึงได้เตลิดเปิดเปิงไง เตลิดเปิดเปิงไปหมดเลย

ฉะนั้น ถึงบอกว่าการมีครูอาจารย์ไว้นี้ มันดีมาก ภาวนาไปมันก็สงบ พวกเราก็ทำได้สงบ แต่พอสงบแล้วมันจะไปอย่างไรล่ะ จะเดินไปทางไหนล่ะ งงไปหมดนะ งงไปหมดเลย อวิชชาอย่างหยาบๆ มันสงบตัวลงใช่ไหม มันก็เป็นความสงบ เป็นความพอใจ แต่เวลาคลายออกมาสิ มันก็ทุกข์อย่างเก่า เอ๊!ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ก็ทุกข์อย่างเดิมนั่นล่ะ ทำไมมันไม่ขาดออกไปล่ะ ในความทุกข์อย่างนี้ ทั้งๆที่ตัวเองก็สำคัญตนว่าตัวเองนี้เป็นผู้วิเศษแล้ว แล้วอะไรมันหลุดออกไปจากใจเราบ้าง มีอะไรบ้างที่หลุดออกไป ที่มันประเสริฐขึ้นมากกว่าเก่า

การสำคัญตนมันก็ทำให้เราเป็นคนประมาทแล้วนะ ทำความผิดได้ ทีนี้เราเป็นผู้ที่ยกให้ตัวเราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราต้องย้อนกลับมาดูใจเราสิว่าก่อนภาวนาก็เป็นแบบนี้ ทีนี้พอภาวนาสงบแล้วแต่ออกมาทำไมยังเป็นแบบนี้อีกล่ะ ก็ต้องย้อนกลับมาดูใช่ไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างไร กิเลสมันสงบตัวลงแล้ว มันมีสมาธิแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่ามรรคเป็นทางเดินไง ให้วิปัสสนาเห็นไหม พอญาณเกิดขึ้นแล้ว ญาณหยั่งรู้ในตัวเอง ญาณหยั่งรู้ในความสงบของตัว ไม่ใช่หยั่งรู้ไปข้างนอก พอสงบแล้วมันจะหยั่งรู้ออกไปข้างนอก หยั่งไปร้อยแปดพันเก้า พอหมดหัวใจแล้วมันก็จะมาทุกข์ร้อน

แต่ถ้ามันฉลาดนะ ถึงยังไม่เกิดขึ้นนะ อย่างเช่นกาย พระพุทธเจ้าสอนให้ลงตรงนี้ งานของเรางานในศาสนาพุทธ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ นะ ไม่ใช่งานที่อื่น งานอื่นไม่ใช่งาน งานอื่นนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยเท่านั้น แต่งานแท้ๆ ต้องอยู่ตรงนี้ งานรื้อภพชาติ ถ้าไม่รื้อตรงนี้ ไม่ได้ ใครๆ ก็บอกว่า พูดแต่ปาก ละภพละชาติ ชาติที่ไหนล่ะ ชาติที่ธงชาติหรือ มันชาติที่ใจ ใจนี้ไปเกิดเท่านั้น ใจตัวปฏิสนธิ ใจตัวไปเกิด มันไปหมายเอาชาติต่างๆ แม้แต่ชาติเทวดาก็ตัวนี้ที่ไปหมาย ชาติเทวดา ชาติพรหม ชาติมนุษย์ ชาติอริยเจ้า ใจนี้มันหมาย ส่วนอย่างอื่นนั้น มันหมายโดยอัตโนมัติ

แต่การหมายอริยเจ้านี้ มันหมายโดยอัตโนมัติไม่ได้ เพราะมันหมายไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นมันไม่เคยรู้ มันจะหมายได้อย่างไร จิตทุกคนไม่เคยผ่านตรงนี้ จิตมันหมายได้แต่สิ่งที่มันเคยผ่านมา สิ่งที่ไม่เคยผ่านมามันจะเอาอะไรไปหมาย คนไม่เคยรู้มันจะไปคิดได้อย่างไร จะให้จินตนาการอย่างไร ถึงจินตนาการจนโลกแตก มันก็ไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถึงต้องลงมาที่สติปัฏฐานนี้ไง แตกออก แยกให้ได้

เหมือนผลไม้ เดี๋ยวนี้ที่เขาขายผลไม้ เห็นไหม มีโฟมปิดนะ มีโฟมอย่างดีถัก แล้วยังใส่กล่องอีกชั้นหนึ่ง มันต้องอย่างนั้นล่ะ มันต้องแกะสิ่งที่ปกคลุมหุ้มห่อจิตใจ ถ้าแกะตรงนี้ออก นั่นล่ะ มันถึงหมายลงอริยเจ้า อริยบุคคล นั่นล่ะ มันถึงจะหมายได้ ถ้าแกะออกจะเห็นมันนะ แกะออกที่ไหน แกะที่กายนี้แหละ พระพุทธเจ้าสอนนะ กายนี้ไม่ใช่ของเรา ดูนักบวชสิ เวลาบวช เห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้แหละจะแกะกล่องผลไม้ แกะโฟมออก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

“หนัง” นี่สำคัญนัก นี่งานในสติปัฏฐาน ๔ หนังมันหลอกนะ ลอกออกมาสิว่ามันเป็นอย่างไร ลอกออกๆ เราก็นึกได้นะ สมมุติเอาสิ ลองสมมุติเอาสิว่าถ้าคนที่ไม่มีหนังเป็นอย่างไร สวยไหม เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้น อย่าว่าแต่หนังเลย มันยังแต่งให้สวยเข้าไปอีก มองกันนะ ล่อกันไปล่อกันมา เราก็ล่อเขา เขาก็ล่อเรา ความจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ใจต่างหาก จริงๆ แล้วใจมันอยาก มันมั่นมันหมาย มันถึงจะเป็นอย่างนั้น ถ้าใจไม่หมาย ให้มันล่อเข้าไปเถอะ มันล่อเท่าไรก็ไม่มีความหมาย เช่น คนป่วยคนใกล้ตาย มันจะไปหมายอะไรใช่ไหม มันก็อยู่ที่ใจ มองก็มองตาแป๋วเฉยๆ อยู่

แต่ไม่อย่างนั้น ถ้าคนแข็งแรงคนปึ๋งปั๋งนี่มองไม่ได้เลย มันมีอารมณ์ความรู้สึกร่วม อารมณ์ความรู้สึก ฟังสิ อารมณ์ความรู้สึกเกิดจากใจ ใจมันคิดออกไปเพราะมันไม่กังวลอย่างอื่น คนเจ็บไข้ได้ป่วยนี้มันไม่ออกไปเห็นไหม มันกังวลที่ผลป่วยผลไข้ของมัน มันทุกข์ร้อนอยู่ที่ผลไข้นี้มันคิดไปได้เท่านั้นเอง

แต่ถ้าคนมั่นคงแข็งแรงนะ มันออกไปโน้น ถึงบอกว่ามันหมายที่ใจ แล้วก็สมมุติเอา สมมุติว่าดูกาย นี่มันหลอกกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า “กายนี้ไม่ใช่ของเรา” กายนี้ไม่ใช่ของเรานะ กายนี้สักแต่ว่ากาย ดิน น้ำ ลม ไฟ มันผสมกันขึ้นมาเป็นคน ผสมกันขึ้นมาจากอำนาจของกรรม พอเราฟังธรรม กิเลสมันก็โต้แย้ง เราจะไปเอา ดิน น้ำ ลม ไฟ มากวนๆ ผสมมาเป็นคนได้ไหม ไม่ได้! มันอาศัยกรรมด้วย

การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้คือกรรมดี แล้วกรรมนี้มันต้องสัมผัสกันระหว่างไข่ของแม่ เชื้อของพ่อ และจิตปฏิสนธิ ผสมกันด้วยอำนาจของกรรม ถึงเกิดมาเป็นเราไง ปฏิสนธิในครรภ์ พระพุทธเจ้าสอนนะ พระพุทธเจ้าบอกหมด มันไม่ใช่เรา แล้วก็อาศัยมา อยู่ในท้องแม่ ๙ เดือน มีกรรมดีนะถึงได้คลอดออกมาเป็นมนุษย์ ถ้ากรรมไม่ดีมันก็แท้งอยู่ในท้องนั่นล่ะ ออกมาก็ตาย เมื่อก่อนนี้จะตายกันมาก เพราะสาธารณสุขยังไม่เจริญ เดี๋ยวนี้น้อยหน่อย ออกมาให้มันทุกข์อีกไง นั่นกรรมพาเกิด ถึงเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็จริงอยู่ แต่อาศัยอำนาจกรรม มนุษย์เกิดขึ้นมาจากสายกรรม กรรมผสมกันพร้อมระหว่างพ่อแม่ กรรมผสานกัน กรรมบาลานซ์กันถึงได้เกิดได้ นั่นแหละมันเกิดขึ้นมาเป็นสมบัติของเรา เราก็เลยเอาสมบัติของเรานี้มาพิจารณา มันถึงได้เป็นประโยชน์ไง ดอกบัวมันเกิดขึ้นมาจากเลนจากตม แล้วมันขึ้นมาบานบนผิวน้ำ

อันนี้ได้กายมนุษย์มา ฐานเกิดที่ตัวเรา แล้วก็ปล่อยให้มันดับไป โดยไม่ให้มันเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลยหรือ ดินไง ดินที่กายเรานี้ ทำไมเราไม่ปลูกดอกบัวขึ้นมาในหัวใจล่ะ ชาตินี้จะปล่อยให้มันตายไปโดยเปล่าประโยชน์หรือ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ แล้วเราว่าเราเป็นชาวพุทธเชื่อพระพุทธเจ้า มันเชื่อที่ปาก แต่ใจมันค้านนะ พระพุทธเจ้าสอนมันมองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเราคิดเองนะ โอ้โฮ.. เป็นได้ร้อยแปดพันเก้า ตาของพระพุทธเจ้าเป็นตาของผู้ที่ประเสริฐ ตาของผู้ที่พ้นแล้ว ตาของพวกเรามันตาบอด มันก็เลยเถียงไง มันก็เลยยึดไง พอมันยึดแล้วเราก็ต้องมาคลาย เราอยากเป็นลูกศิษย์มีครู เราเป็นชาวพุทธเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระสมณโคดม พระพุทธเจ้าคือใคร ท่านสอนไว้ ท่านวางไว้แล้ว นี่คือหลักธรรมของแท้ แต่เราก็ไปจำเอาแต่เรื่องแปลกๆ เรื่องที่เราพอใจ แล้วเรื่องจริงๆนี้ไม่เอาหรือ

นั่น พิจารณากายอย่างนั้น เราออกมาก็อย่างนี้แหละ แล้วมันก็เสื่อมสภาพ แก่เฒ่า เจ็บไข้ได้ป่วย พอเวทนามันเกิดก็เห็นๆ กันอยู่นี่ นั่งมากมันก็ทุกข์ แล้วมันแก้โดยอัตโนมัติด้วยนะ นอนมากมันก็พลิก มันเมื่อยมัน พอพลิกไปก็หาย ก็เลยไม่เห็นทุกข์ที่เกิดจากกายไง เห็นแต่ว่ากายมันสวย เว้นไว้แต่คนแก่ พอคนแก่เข้าหน่อยก็เริ่มรู้แล้ว เจ็บเมื่อยปวดหลังปวดเอว อันนี้เราหลบไม่ได้แล้ว เพราะอะไร เพราะว่ามันชราคร่ำคร่า

แต่ตอนนี้สิ ตอนที่ภาวนาอยู่ ตอนที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย นอกเวลาภาวนาเราก็รักษากันไปใช่ไหม แต่ถ้าในเวลาภาวนานี้ มันเป็นวัตถุดิบอันหนึ่งเลยที่เราจะเอามาเป็นการต่อสู้ นักภาวนาก็ว่า เอ๊..ทำอะไรไปมันก็ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผล ที่ว่าพิจารณา มันพิจารณาตรงไหน กายก็มองไม่เห็น แต่เวทนานี้มันชัดมากนะ พอนั่งเมื่อไหร่มันก็เจ็บเมื่อนั้น ก็ดูเอาใน กาย เวทนา จิต ธรรม นี้

เวทนานี้สักแต่ว่าเวทนานะ เอาคำนี้มายืนยันได้เลย เช่น เวลาเราพอใจนี้ อย่างเราดูทีวี ดูหนัง ดูละคร มันเพลิน มันจะไม่รับรู้เวทนาเลย ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง มันก็นั่งได้เพราะใจมันส่งออก เวทนาสักแต่ว่าเวทนา แต่เวลานั่งอย่างนี้ทำไมมันเจ็บนักล่ะ เพราะว่ารับรู้ตรงๆ จิตเมื่อก่อนนี้มันส่งออกไป อย่างที่เราบอกว่าบ้านร้างๆ นั่งอยู่นี่แต่จิตไปที่อื่น ร่างกายนี้พอมันนั่งก็ต้องเจ็บอยู่อย่างนั้น มันเสื่อมสภาพ นั่งไปนานๆ เลือดลมมันจะชาหมด ก็ไม่รู้สึกตัวเพราะไม่รับรู้ มันเป็นสักแต่ว่า อันนี้สักแต่ว่าโดยธรรมชาติของมัน

แต่ “สักแต่ว่า” โดยการพิจารณานั้นอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ไง ก็เหมือนกับร่างกายเรานี่แหละ อย่างเมื่อกี้ที่ว่า เกิดขึ้นมาก็ตายเปล่า โดยที่เราไม่สามารถปลูกดอกบัวขึ้นมาในใจ เวทนานี้ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยจับมันขึ้นมาให้เป็นประโยชน์เลย มีแต่จะหลบหนีมัน พลิกหนีๆๆ ไปเรื่อย เพราะพลิกนี้คือการแก้โดยอัตโนมัติ ธรรมชาติมันสอน

แต่ถ้าเราเอามันมาเป็นประโยชน์ อะไรเป็นเวทนา เอาเทียบเหมือนเมื่อกี้นี้ นั่งดูทีวีอยู่ทำไมมันไม่เห็น ถ้าเวทนานี้เป็นเรา มันก็ต้องอยู่กับเราตลอดจริงไหม สมมุติเช่น เจ็บอะไรก็แล้วแต่นี่มันต้องอยู่อย่างนั้น มันต้องไม่หาย แต่นี่มันหาย เวลามันหาย เช่นเจ็บขา เวลามันหายนี้ขาต้องหายไปด้วยเพราะมันเป็นอันเดียวกัน นี่ไม่ใช่ มันเป็นนามธรรม ขานี่อยู่เหมือนเดิม เวลาเราลุกขึ้นไปแล้ว ขานี่ก็อันเก่า แต่ความรู้สึกมันไม่มี แต่เมื่อกี้ทำไมมันมีล่ะ นี่ความหมายของใจไง จะดูก็ให้ดูความหมายของใจ เพราะใจมันไปหมาย ถ้าใจไม่หมายมันจะไม่มีความรู้สึก แต่นี่ใจมันหมาย แล้วมันไม่หมายเปล่า มันมีความอยากเข้าไปเสริมไง ทุกคนต้องอยากมีความสุข ไม่อยากมีความทุกข์ พอหมายก็จะหมายให้มันดี มันจะดีไปได้อย่างไรล่ะ ถ้ามันจะดี มันต้องดีด้วยความดีของเราสิ ด้วยความขืน เพราะอันนี้มันชราคร่ำคร่ามันต้องแปรสภาพไปเป็นแบบนี้ พอหมายมันก็จะหมายให้ดี ถ้าเห็นอย่างนี้คือเห็นว่าใจนี้มันหมาย ก็ต้องถอนใจเข้ามา ถ้าภาวนาไม่ถึง ถ้าพิจารณาไม่ได้ก็ให้ถอนใจเข้ามา อันนี้มันแบบว่ากำหนดด้วยขันติ ขันติความอดทน

แต่ถ้าต่อสู้เลยล่ะ แยกแยะเลย พิจารณาเวทนาไง จิตพิจารณาดูเลย การพิจารณาดูนี้หมายถึงว่าใช้ปัญญา คำว่าพิจารณาคือพิจารณาด้วยปัญญาไง ปัญญาคือการเทียบเคียงแยกแยะ ระหว่างที่มันเป็นและไม่เป็น เอามาดูให้เทียบเคียงให้ใจยอมรับ ถ้าใจยอมรับก็พิจารณาๆๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ ทำไมมันเป็นแบบนั้น ทำไมมันเป็นแบบนี้ ต่อสู้ ถ้าต่อสู้ไหวต่อสู้ได้นะ มันแตก เดี๋ยวมันก็แตกอีกล่ะ นั่นเปิดกล่องอีกแล้ว ถ้าสู้เข้าไปนี้ มันจะร้อนมันจะแรงมาก ยิ่งเจ็บเป็น ๒ เท่า ถ้าเรามีความอดทนและสติเราพร้อม จิตใจมีหลักการ มีสมาธิตั้งมั่นดี นี่แหละ มรรคมีองค์ ๘ โหมเข้าใส่โหมเข้าใส่เลย ถ้ามันแพ้นะ หายหมดเลย เวทนานี่จะหายไปโดยอัตโนมัติเลย ผู้ที่ภาวนาโดยพิจารณาเวทนาจะรู้จัก

แต่ถ้าใจสู้ไม่ไหวมันจะแรงมาก แรงเข้าไปใหญ่เลย คำว่า “แรงเข้าไปใหญ่” เพราะอะไร เพราะมีการต่อสู้ใช่ไหม ลองถ้าเกิดสงคราม ในสงครามใครจะยอมแพ้กัน กองทัพกับกองทัพเข้าต่อสู้ กองทัพไหนมันจะเหยาะๆ แหยะๆ แล้วยอมแพ้ กองทัพกิเลสกับกองทัพธรรมมันกำลังเข้าประหัตประหารกันแล้ว

ถ้าแพ้อันนี้เห็นไหม แพ้อันนี้กิเลสในหัวใจเราจะรู้เลยล่ะ ถ้าแพ้อันนี้แล้วมันจะแพ้เรื่อย มันจะโหมเข้าใส่เหมือนกัน คำว่ากิเลสไง วิชามารกับวิชาเทพ เห็นไหม วิชาของพระพุทธเจ้าคือวิชาปัญญา วิชาต่อสู้ วิชาวิปัสสนา กับวิชามารวิชาของกิเลส มันจะบอกว่า เลิกเถอะ! เดี๋ยวค่อยสู้ใหม่ เดี๋ยวก็ท้อถอยมันเป็นการต่อสู้นะ นี่กองทัพกำลังเข้าต่อสู้ มันจะมีหรือที่กิเลสนี้จะอ่อนๆแอๆ เรื่องพิจารณาเวทนานี้มันรุนแรง รุนแรงกว่าพิจารณากาย เพราะกายนี้ก็ส่วนกาย นึกเอาได้อะไรได้ แต่เวทนานี่รุนแรงมาก เวลาเจ็บนี่เจ็บมากๆ เลย เพราะอะไร เพราะความรู้สึกกับความรู้สึก ไฟกับไฟมันเจอกัน

“ตบะ” ความร้อน ร้อนจนเจ็บปวดหมด ร้อนเป็นไฟ ร้อนจนกระดูกแตก ยิ่งมากเข้าๆ แต่มันเด็ดนะ พิจารณเวทนานี่ เวลามันปล่อยวางมันหลุดเลย ปล่อยวางนะ เวทนานี่หาย จิตนี่สงบ จิตสงบเลยแต่ถ้ามันไม่หาย บางทีพิจารณาเวทนาแล้วมันไม่หาย มันชา หมายถึงว่ามันต่อสู้กันแล้วพักยก ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ต่างแยกออกจากกัน แต่ไม่รวมลง นี่สงครามธาตุสงครามขันธ์ การต่อสู้ เรามีแต่ทำสงครามภายนอก ชนะเท่าไรมันก็ก่อเวรก่อกรรมเท่านั้น แล้วชนะไม่ขาดด้วย กองทัพไหนพ่ายแพ้ไปเดี๋ยวมันก็ไปรวบรวมไพร่พลมาต่อสู้ใหม่

แต่ชนะในใจของตัวเองนี้เด็ดขาด เห็นไหม ถึงว่างานภายในนี้เป็นงานประเสริฐ ชนะนอกเท่าไรก็ไม่ประเสริฐเหมือนชนะใน เพราะเราแก้ไขเราได้ คนดีคนหนึ่งนี้จะเป็นประโยชน์แก่โลกมหาศาลเลย คนชั่วมันทำโลกให้ปั่นป่วน เราเป็นคนดีคนหนึ่ง แต่คนนอกเขาจะมองเลยว่า เราดีจริงหรือ จะดีจริงหรือไม่จริงมันต้องดีที่ภายในนี้ เพราะหัวใจมันดีแล้วมันจะรู้เอง พอหัวใจดีนี้มันจะไปทำความชั่วได้อย่างไร จริงไหม นี่ไงล่ะว่าคนดีคนหนึ่ง ในเมื่อตัวเราดี มันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นความสุขของเราก่อน คนมีความสุข คนมีความเบิกบาน จะชี้ช่องทางให้คนอื่น มันจะไปชี้ช่องทางในทางที่ผิดหรือ มันก็ต้องชี้ช่องทางในทางที่ถูกที่ดี

นั่นเวทนา ทำอะไรก็แล้วแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ผลสุดท้ายรวมลงที่ใจ หัวใจนี้เป็นดอกบัวทั้งนั้นเลย ดอกบัว ๔ เหล่า ดอกบัว ๔ ดอกไง นี่ดอกบัวดอกแรกนะ มันเกิดมันบานที่ใจ นี่ศาสนาพุทธสอนทั้งนั้นเลย มันบานที่หัวใจเรา มันบานไหม ดูใจเราว่ามันบานไหม ไม่บานก็ต้องพยายาม ไม่ท้อไม่ถอย เราเป็นคนๆ หนึ่งที่สามารถจะทำได้ เพราะเรามีหัวใจ หัวใจนี้ที่มันบานออกมา เราไม่ใช่คนตายถึงจะได้ไม่มีโอกาส

การพิจารณาเวทนานะ ก่อนจะพิจารณาหรือพิจารณาทีแรกมันจะไม่ค่อยเป็น แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ค่อยสู้ พิจารณาซ้ำได้นะ ถึงดอกบัวดอกแรกเกิดแล้ว พิจารณาเวทนาก็ยังได้อีก อันนี้มันรวมเฉยๆ เวทนาในใจของตัว ความกังวล ความเฉา ความเศร้าสลดใจอันนี้ก็เป็นเวทนานะ เป็นโทมนัส เวทนาไม่ใช่ว่ามีแต่เวทนาที่กายที่ไหนล่ะ ดูมันทุกข์ใจสิ นั่งคอตกเลยล่ะ นั่นมันเป็นเวทนาหรือเปล่าล่ะ พิจารณาซ้ำเข้าไปสิ เวทนานี้มันเกิดมาได้ยังไง ก็ไหนว่ามันขาดไปแล้วไง พิจารณาครั้งแรกมันขาดไปแล้ว มันหายไปแล้ว จิตมันรวมลงไปแล้ว เราก็สบายไปแล้ว แล้วนี่มันมาได้อย่างไรอีกล่ะ

ความหมายของใจหมายออกมาที่กายนั่นล่ะ พิจารณาซ้ำเข้าไปๆ ด้วยความมุมานะ ก็แยกอย่างเก่านั่นล่ะ เวทนามันเกิด มันเกิดมาจากไหน เวลามันหาย มันหายไปได้อย่างไร พิจารณาอย่างเก่านะ คำว่าอย่างเก่าแบบตำรานี่ก็ใช้ได้ ถ้ามันเกิดขึ้นในปัจจุบันธรรมนี้ แต่ถ้าอย่างเก่าที่เราคาดหมายนั่นเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว ให้มันเกิดขึ้นในหัวใจนี้ ไม่ใช่ว่า เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว คำนี้จะใช้ไม่ได้หมด อันนี้ก็เหมือนกัน พิจารณาเวทนามาแล้ว “เมื่อกี้ก็พิจารณาอย่างนี้ ทีนี้จะมาพิจารณาอย่างนี้อีกหรือ อย่ามาหลอกฉันนะ ฉันทำมาแล้ว ฉันเก่งนะ”

การพิจารณาเวทนาอย่างเมื่อกี้ อย่างพิจารณาครั้งแรกนั้นมันเป็นการพิจารณาเวทนากาย แต่อันนี้มันเป็นพิจารณาดวงจิต พิจารณาดวงจิตนะ เพราะจิตนี้มันหมายมาที่กายเหมือนกัน ทำให้มากทำให้ยิ่ง มันหลุดออกไปนี่ยิ่งลึกเข้าไปใหญ่ นี่ดอกบัวดอกที่ ๒ มันแยกออกเลย เมื่อกี้นี้มันรวมลงเฉยๆ รวมลงแล้วเวทนานี้แตกออกไป เวทนานี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา แต่ดอกบัวดอกที่ ๒ นี่มันรวมลงเลย แล้วเวทนานี้แปรสภาพไปเลย หลุดออกไปเลย เวทนานี้ไม่ใช่เรา มันแปรไป มันหลุดออกไป จิตนี้รวมลง โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง จิตมันจะเวิ้งว้างกว่าเก่านะ อย่างที่เริ่มเมื่อกี้นี้ จิตมันปล่อยวาง มันจะเป็นความสุขอันหนึ่ง แต่อันนี้มันจะเวิ้งว้างเลย โลกนี้ไม่มี เรานี้ไม่มี โอ้โฮ! มีความสุขมหาศาลนะ มีความสุขมาก นั่นล่ะที่ว่ามันหลุดออกไป ที่ว่าใจมันมีอะไรขึ้นมาบ้าง

“บุญ” ที่เราว่ามาทีแรกนั้น บุญมันอยู่ที่ใจเฉยๆ เป็นวัตถุอันหนึ่งมาประดับไว้ แต่นี่มันขาดออก ขาดออก ขาดออกนะ ขาดออกแล้วบุญจะหายไปไหน บุญมันก็อยู่ที่เก่านั่นล่ะ ยิ่งขาดออกบุญนี้มันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าตายไปขณะนั้นไปเกิดเป็นเทวดานะ ในชั้นดุสิตมันก็มีเทวดาปุถุชน พระโสดาบันก็ไปเกิดที่นั่น ตายจากนี่ไปก็ไปเกิดที่นั่น ก็เป็นเทวดาอริยเจ้า บุญก็ต้องมากกว่าปกติเขาใช่ไหม เพราะว่าไม่ใช่เทวดาธรรมดา เทวดาธรรมดาก็มี เทวดาที่เป็นอริยเจ้าก็มี เราถึงบอกว่าบุญมันไม่หายไปหรอก ไม่ต้องกลัวว่าบุญจะหายไป เพราะบุญอันนั้นก็เป็นบุญอันหนึ่ง แต่บุญที่เกิดจากภาวนา ความจริงที่เกิดจากภาวนานี้อีกอันหนึ่งนะ อันนี้สำคัญกว่า มันจะส่งอันนั้นเป็นทวีคูณ นั่นพิจารณาเวทนา

คำว่าเวทนาของใจหลุดออกไปนั้น โลกว่างเลย มันจะว่างไปไหนล่ะ ก็ว่างลงมาที่ใจ ถ้าใจว่างหรือ ถ้าว่าใจว่าง เวทนาดับไปแล้ว ทำไมยังมีความรู้สึกอีกล่ะ ยังมีความรู้สึกอีกนะ ความรู้สึกอันนี้มันเป็นกามราคะ ความรู้สึกที่ออกไปคิดไง ความรู้สึกอันนี้ออกไปคิด ความรู้สึกนี้ล่ะเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ของใจ เวทนาที่ฝังอยู่ที่ใจลึกๆ เมื่อกี้ใจหมายออกไปที่กาย เวทนาแรกกายหลุดออกไป เวทนาที่ ๒ เวทนาของจิตที่หมายกายหลุดออกไป เวทนานี้คือความรู้สึกของตัวขันธ์ ๕ ในจิต ตัวขันธ์ ๕ ในจิตนะ ขันธ์ในขันธ์ เวทนานี้ลึกกว่าอีก “เอ๊.. แล้วเวทนาอย่างนั้นเมื่อกี้มันก็ไม่มี” คนมันจะคิดอย่างนั้น มันจะหมาย เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะหมายว่าเราไปถึงนู่นแล้ว มันจะหมายไปข้างหน้าเลย มันจะไม่อยู่กับปัจจุบัน มันจะหมายไปข้างหน้าเลย เวทนาของจิตนี้มันหมดไปแล้วนี่ มันก็เลยลืมตัว เผลอนะ เผลอลืมตัว ปล่อยให้เวลานั้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เลย

ถ้าไม่ส่งออก ไม่เอาอันนี้ไปเทียบเคียงกับคนอื่น มองมาที่ใจของตัวนะ มันจะรู้จัก มองเข้ามาที่ใจของตัว มันจะเห็นเองว่าจิตนี้มันเฉานะ เฉานี้มันอีกอย่างหนึ่ง จิตนี้มันมีความรู้สึกออกไป มันถึงตัวจิตแท้ๆ เมื่อกี้นี้จิตมันจะมีความรู้สึกต่อเมื่อกระทบกับรูปภายนอก แต่พอเป็นเวทนาในจิตนี้ มันจะมีความรู้สึกตลอดเวลาเลย เป็นขั้นเดียวออกมาเลย

เดิมนี้การคิดออกไปมันต้องผ่านกายแล้วถึงจะไปกระทบรูปภายนอก แต่ถ้าเป็นจิตแท้ๆ มันคิดได้โดยตรง เป็นจังหวะเดียว อย่างเขาเล่นฟุตบอลเห็นไหม เวลาลูกโทษจังหวะหนึ่ง จังหวะสอง จังหวะสองคือความคิดธรรมดาของเรานี้จังหวะสอง มันคิดขึ้นมาจากใจก่อนแล้วค่อยออกมาที่กายปฏิบัติ

แต่ถ้านั่งภาวนาเข้าไปถึงตรงนั้นมันจะเป็นจิตล้วนๆ มันจะคิดทันทีเลย อันนี้จะรุนแรงเลย อันนี้ต้องใช้ความคิด ใช้ปัญญาที่รุนแรง ใช้พลังงานที่มากมายมหาศาลเข้าไปต่อต้าน ถึงจะเป็นพระอริยเจ้าแล้วก็จริงอยู่ แต่ถ้าเป็นขั้นกามราคะนี้ โอ้โฮ! อย่างเมื่อกี้นี้ดอกบัว ๒ ดอกมันก็เป็นอริยเจ้าอยู่ แต่ยังไม่สามารถละการเกิดในกามภพ ยังไปเกิดเป็นเทวดาอยู่เห็นไหม อย่างเช่นพระโสดาบันนี้ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา ก็เป็นเทวดาอริยเจ้า

แต่ถ้าจิตช่วงนี้ มันเป็นขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณาเวทนาในจิตอันนี้หลุด ขันธ์ ๕ นี้ก็หลุดออกจากใจ ทีนี้จะเกิดเป็นพรหม พรหม ๕ ชั้นของพระอนาคามี เพราะขันธ์นี้หลุดไปแล้วจะเหลือขันธ์ ๑ ขันธ์ของใจนี่ล่ะคือตัวกามเลย เพราะใจมันคิดไม่ใช่กายคิด กายนี้เป็นแค่สื่อที่ใจมันคิดออกมาเท่านั้นเอง เป็นสะพานที่ให้ใจมันได้ดิ้นรนให้ได้กระสับกระส่าย แต่ถ้าไม่มีใจคิดกายนี้มันจะทำอะไรได้ กายนี้มันเลยเหมือนกับท่อนไม้ไง แต่เพราะใจมันคิดนี่แหละ มันถึงออกมาตรงนี้ แล้วมันคิดแบบธรรมชาติด้วย คิดแบบอัตโนมัติ คิดแบบรุนแรง

แต่ก่อนนั้นมันคิดนี่มันยังต้องผ่านความคิดแล้วถึงออกมาที่กายใช่ไหม แต่นี่เราเลาะ เราตัดตอนเข้ามา มันสั้นเข้ามา อย่างเมื่อก่อนนี้มันต้องใช้กระแสยาวออกไป มันถึงจะออกมาเป็นรูปธรรมได้ แต่ขณะนี้ไม่ต้อง ขณะนี้มันอยู่ในตัวมันเอง มันก็เป็นรูปธรรมในตัวของมันเองเลย เพราะ ๒ ขั้นตอนนั้นเราตัดออกไปแล้ว มันสั้นเข้ามา พอช่วงความสืบต่อมันสั้น มันก็เร็วกว่าเก่า มันก็ไปใหญ่เลยสิ ไอ้เราก็งงละซิทีนี้ งงเลยล่ะ “เอ๊..จะทำอย่างไรๆ” ความรู้สึกมันเกิดขึ้นมันรู้สึกในอะไร ก็ดูเอานะ รู้สึกในอะไร ดูสิ...มันละเอียดขนาดนี้เชียวหรือ ความรู้สึกตัวที่มันจะคิดออกไปนี้ จะละเอียดอย่างไรมันก็ทำให้เรารู้นะ จะยับยั้งกันยังไง ความรู้สึกอันนี้ ปัญญามันจะเทียบนะ อ๋อ...มันเคลื่อนไหวออกมาด้วยความเร็วกับความเร็วมันทันกันนะ เทียบได้หมด จะเทียบกับอะไรล่ะ จะเทียบกับแสงนะ พอแสงออกไป แรงเสียดสีแรงต้านทานล่ะ มันมีนะ ความคิดที่ออกมามันเป็นอย่างนั้น แรงเสียดทานนะ เพราะมันไม่อยู่เฉยๆหรอก เพราะถ้ามันอยู่เฉยๆ มันก็หยุด สติก็เข้าไปยับยั้งไว้ อ๋อ.. ถ้ามันหยุด เวทนาของจิตก็ไม่เคลื่

อนไป อารมณ์ก็ไม่เกิด ถ้ามันหยุดนะ แล้วถ้าไม่หยุดล่ะ ไม่หยุดก็ดูแลอยู่อย่างนั้น ถ้ามันหยุดนี้แสดงว่าวิปัสสนานี่ทันแล้ว ทีนี้มันไม่หยุดสิ มันไม่ทัน มันไหลมา พิจารณาซ้ำพิจารณาซากนะ พอพิจารณามันหยุดนี่ก็นึกว่ามันหยุด ก็คิดว่า “อ้อ..อันนี้ล่ะใช่” ไม่ใช่! มันยังไม่ใช่ หยุดนี้มันหยุดเฉยๆ นี่ หยุดแบบที่ว่าเหมือนกับเราเอามาต่อจ่อกันไว้ มันพัก

สงครามมันพักใช่ไหม พักรบ อย่านอนใจนะ พักรบนี่บางคนก็นอนใจ พิจารณาซ้ำเข้าไปเลยพิจารณาซ้ำเข้าไปเลย เพราะพักรบแล้ว เดี๋ยวมันก็เกิดอีก เราไม่เห็นโทษนี่นา เหมือนกับมีข้าศึกแล้ว ไส้ศึกมันมาเห็นไหม มันจะมาดีกับเรา นี่ล่ะไส้ศึกของใจ ไส้ศึกของอวิชชา มันก็จะมากระซิบล่ะ “เอ้อ อันนี้ล่ะ ใช่แล้ว หยุดก่อน พัก” เราก็นอนใจนะ เดี๋ยวพอมันแรงขึ้นมานะ โอ๋ย! ตายเลย

พอเราพักใช่ไหม สมาธิมันต้องคลายตัว มันเสื่อม พอมันเสื่อม อาการความคิดจะรุนแรง เอาอีกแล้ว ก็ต้องมาต่อสู้ใหม่

การต่อสู้นี้ สู้กับความคิดในใจ ความเคยใจนั่นล่ะ ต่อสู้ที่หัวใจนั่น ดูนะ ดูความเคลื่อนไป นี่พิจารณาเวทนานะ ต่อสู้ด้วยตบะของธรรม ด้วยการพิจารณาอย่างนั้น อาการของใจที่มันขยับอย่างนั้นดู...จะดูได้ยังไง ถ้าปัญญามันถึง ความเพียรมันถึง ใจมันอยู่ในช่วงอย่างนั้นมันจะเป็นอัตโนมัติของตัวมันเอง ทำบ่อยเข้าๆ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก มันจะทันกันบ่อยๆ ทันจนแรงมันพอไง ขาดเลยล่ะ

โอ้โฮ !! ขาดนะ ขันธ์ ๕ นี้ขาดออกจากใจ พลิกฟ้าคว่ำดินเลย โลกธาตุนี่หวั่นไหวเลยนะ โลกธาตุคือกายไง ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้มันจะสั่นไปหมดเลย เพราะอะไรถึงสั่นอย่างนั้น เพราะมันได้ตัดถึงกามแล้ว กามภพนี้ มันจะสั่นไปหมดเลย เหมือนกับระเบิดโลกออกไปจากใจเลย ถ้าถึงจุดนี้แล้วมันถึงจะไม่มาเกิดในกามภพอีกไง นี่พรหมมันเป็นอย่างนี้เห็นไหม ขันธ์เดียว มีขันธ์ ๑ เท่านั้น

ถ้าไม่มีผู้บอกผู้สอนมันก็ตายอยู่ที่นั่นอีกล่ะ ถึงมันจะละเอียดขนาดนั้นมันก็ต้องดูต่อไป หลงระเริงไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มันจะคิด ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยตอกย้ำนะ จิตมันละเอียดขนาดนี้ใครมันจะไปรู้ มันก็ต้องเตลิดเปิดเปิงไปพักใหญ่ ยกเว้นแต่ผู้ที่มีวาสนาบารมี อยู่กับครูบาอาจารย์แล้วครูบาอาจารย์ได้ตอกได้ย้ำ

โลกว่างไปหมดเลย ว่างคู่กับไม่ว่าง ความเวิ้งว้างอะไรก็แล้วแต่ พอบอกว่าอวิชชานี้ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง พอไปถึงตัวอวิชชา ตัวนั้นล่ะตัวอวิชชา ตัวที่ว่าขันธ์ ๑ นั่นล่ะ ตัวอวิชชาแท้ๆ เลย นี่ล่ะตอจิตเลย จิตที่เป็นตอคร่อมตออยู่ แต่จะจับได้อย่างไร ถ้ามันไม่เห็นโจทก์จะเอามาขึ้นศาลได้อย่างไร ตอของจิตนี้เห็นไม่ได้หรอก

เหมือนตอนเราคิดจะจุดเทียน เทียนเล่มเดียวนี้มันจะมองที่ตัวมันเองได้อย่างไร เทียนนี้มันพูดได้ไหม เทียนนี้ให้มันพูดได้สิ เทียนให้มันดับตัวมันเองได้หรือเปล่า มันดับไม่ได้เพราะมันเป็นเทียน แต่หัวใจมันทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าทำมาก่อน พระพุทธเจ้ารู้ตรงนี้แล้วดับตรงนี้แล้วถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ไง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ตรงนี้จะเอาอะไรมาปฏิญาณตน นี่ล่ะคือตัววัฏจักรวัฏจิตเลย นี่ล่ะพ่อของนางตัณหา นางอรดี นางโลภ นางโกรธ นางหลง นี่ล่ะตัววัฏจักร ตัวอวิชชา

แล้วตัวอวิชชามันจะฆ่าตัวมันเอง ทำอย่างไร มันจะยอมง่ายๆ หรือ ถึงไม่มีทางเห็นเลย เรือนยอด พระพุทธเจ้าชนะตรงนี้แล้วถึงได้เย้ยมารไงว่า “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเราเอง บัดนี้เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เธอจะเกิดจากใจของเราอีกไม่ได้”

เห็นไหม แต่เราไม่ว่าอย่างนั้น เราว่า “โอ้ ตรงนี้เวิ้งว้างเนาะ ตรงนี้ดี ตรงนี้ประเสริฐ” มันได้คิดได้เปรียบได้เทียบ มันถึงจะเอะใจ คนเราต้องเอะใจ ต้อง “อ๋อ” ก่อน เอ๊ะ! เอ๊ะ! พอเอ๊ะก็จะได้ทำ

เหมือนกับเรานี่แหละ คนต้องรู้ว่าตัวเองผิดก่อน ต้องว่าตัวเองผิดนะ แต่เรานี่ว่าตัวเองผิดไม่ได้ ใครจะว่าเราผิดไม่ได้เลยต้องถูกตลอด พอถูกตลอดเลยไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ต้องผิด ถึงถูกก็ว่าผิด นั่นถึงจะดี เพราะถูกหยาบๆ นี้ แต่ผิดที่หัวใจ ผิดที่มานะทิฏฐิ กิเลสอยู่ที่นั่น ถ้าไม่ทำตรงนั้นก็ไม่ได้ชำระกิเลสเลย ไม่ได้ฝึกใจให้ชนะกิเลสเลย เป็นผู้แพ้มาตลอด ถึงจะทำถูกก็ว่าเป็นผู้แพ้ เพราะอะไร เพราะใจนั้นมันก็จะกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ

เห็นไหม เห็นวิธีการปฏิบัติไหม วิธีปฏิบัตินี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราทำแล้วเราย้อนกลับไปดูที่หัวใจเรา อันนั้นมันเป็นประโยชน์หมดเลย เพราะเราไม่ได้ทำที่สิ่งภายนอกนี้ เราจะทำที่ใจ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเราต้องแคนนอนเข้าไปที่ใจหมดเลย แต่นี่ไม่ เพราะนี่ใจเป็นคนคิดออกมา นี่ตัวอวิชชาล่ะ แล้วมันยิ่งเร็วใหญ่นะ นี่ตอของมัน มันจะไหวอยู่ในใจนั่นล่ะ เทียนเล่มเดียวนี่แหละ แสงสว่างที่จุดอยู่เล่มเดียวในใจ แล้วเทียนเล่มนั้นมันจะทำลายตัวมันเองด้วยอริยมรรคของพระพุทธเจ้านี่แหละ ด้วยอรหัตตมรรคนะ ด้วยอรหัตตมรรคนะ ฟังสิ

ด้วยโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔

มรรคนี้นะ กว่ามันจะวนเข้าไปตัด โสดาปัตติมรรคมันก็ทำให้เกิดโสดาปัตติผล พอใช้หมดแล้วมันก็ สมุจเฉทปหานไปขั้นหนึ่งเลย เงินบาทหนึ่งใช้หมดแล้วก็แล้วกันไป ก็มันได้ซื้อ ได้แล้วมาแล้ว ก็ต้องไปหาเงินมาเป็นบาทที่ ๒ เป็นสกิทาคามิมรรค แล้วก็ใช้ไปอีก มันก็เกิดสกิทาคามิผล ก็หมดไปแล้ว เห็นไหม คำว่าหมดไปแล้ว คือว่าเหตุและผลมันหมดไปแล้ว แต่เกิดอันหนึ่งขึ้นมาอีก เกิดดวงใจที่เป็น สกิทาคามิผลไง ทีนี้สกิทาคามิผลมันต่ำกว่าอนาคามี นี่ก็ต้องเดินมรรคของอนาคามี เห็นไหม ก็เดินสมาธิปัญญาของเราขึ้นไปนี่แหละ มันเป็นเพียงแต่ว่าเป็นระดับ คำพูดนี้เป็นระดับเฉยๆ อารมณ์อันเดียวกันนั่นแหละ แต่ว่ามันขยับสูงขึ้น ไม่ใช่ว่าจะไปเอามาจากนู่นจากนี่ ไม่ใช่นะ! คำว่าไปหามาก็เปรียบเหมือนเงิน เงินนี้ไปหยิบมาเป็นแบงก์ซื้อของแล้วก็หมดไป อันนั้นมันหมดไปเลยใช่ไหม แบงก์มันไปแล้ว ก็ไปอยู่ในกระเป๋าของคนอื่น

แต่นี่หัวใจ นามธรรมมันเกิดที่ใจ ถึงมันดับแล้วมันก็รวมลงที่ใจนั่นล่ะ มันมีเชื้ออยู่ เชื้อความดีไง นามธรรมนี้ไม่มีวันหมด พุทธะนี้ไม่มีวันหมด จิตนี้ไม่มีวันหมด แต่ถ้ามันหมดหมายถึงว่ามันหมดอารมณ์ หมดความมุมานะไง มันคลายออก เฮ้อ! เวลามันรวมเข้า แต่มันก็เกิดขึ้นมาได้เหมือนพายุเห็นไหม พายุมันเกิดขึ้นมาจากไหน ลมพายุมันพัดขึ้นมาจากไหน ทำไมมันมาได้ อันนี้ก็เหมือนกัน พายุในหัวใจ มันก็พัดขึ้นมาได้ เกิดได้ดับได้ในหัวใจนั้น ไม่มีวันที่สิ้นสุด

ถึงว่า อรหัตตมรรคนี้ ตอจิตมันจะดับตัวมันเอง ถึงเกลียวอันนี้แล้วมันจะหมุนไปเอง ฉะนั้นถึงว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา ไง รวมเป็นหนึ่งเดียว ปัจจยาการมันก็ไปเป็นหนึ่ง หนึ่งเดียว มันละเอียดนะ ละเอียดจนแปลก แปลกจริงๆ ใครจะไปเห็นได้ พระพุทธเจ้าองค์เดียวที่ไปเห็นได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ใครจะเห็น ไม่มีทาง ไม่มีทางจริงๆ นะ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า ธรรมะนี้ลึกซึ้งมาก ลึกมากๆ ว่างจนจับต้องไม่ได้เลย แต่มันรวมอยู่ที่ใจนั่น แล้วไปหมายที่ใจ อยู่ในแผ่นอกนี้ แต่พระพุทธเจ้าทรงทำให้ตื้นไง ทำให้ตื้นหมายถึงว่าทำเป็นตำราไง เป็นธรรมะวางไว้ ทำให้ตื้น แต่เพราะสงสารพวกเราสงสารพวกสาวกนี้ สาวกสาวกะวิสัยนี้มันมีปัญญาน้อย ทรงพยายามทำตาข่ายไว้ให้กรองได้ไง เหมือนตะแกรงเหมือนกระชอนที่เขาใช้ทอดมัน เอาไว้ช้อนสาวกสาวกะ แล้วเราจะเป็นอะไร เราตั้งใจจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

นั่นล่ะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา หมุนเข้าไป พึ่บ! ขาดเลย นั่นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา อรหัตตมรรค อรหัตตผล แล้วจึงเป็นนิพพานหนึ่ง ก็เหมือนกับโสดาบันกับสกิทาคามีนั่นล่ะ อรหัตตมรรค อรหัตตผล แต่เป็นนิพพาน ทำไมไม่เป็นที่อรหัตตผลล่ะ เพราะอันนี้มันเป็นสัมปยุต วิปปยุต เป็นสงครามการต่อสู้ แต่เกิดเป็นตัวสัญญา นั่นตัวสัญญาอีกอันต่างหากล่ะ อันนั้นสงบศึกแล้วเป็นปัญญาเป็นความสำเร็จ นั่นเป็นนิพพาน

ไม่ใช่กองทัพนั้นเป็นนิพพานนี่นา กองทัพนั้นมันเป็นการต่อสู้ ๒ กองทัพต่อสู้กัน แพ้ชนะไง ถ้ายอมแพ้ก็ต้องทำสัญญายอมแพ้ใช่ไหม ตัวสัญญาตัวนั้นแหละคือตัวความสำเร็จ สัญญานั้นเป็นสัญญาแบบเปรียบเทียบนะ สัญญานั้นมันเป็นกระดาษ จะฉีกทิ้งก็ได้ แต่หัวใจที่มันสำเร็จ มันก็เกือบเป็นแบบนั้นแต่ไม่มีใครจะฉีกทิ้งได้ มันยอดเอก เอกของพระพุทธศาสนา นั่นนิพพานหนึ่ง ไม่เป็นการระหว่าง ๒ กองทัพต่อสู้กันอีกแล้ว

แต่เดิมต้องเป็น ๒ กองทัพต่อสู้กันมาตั้งแต่เริ่มต้นมาตลอด กองทัพกิเลสกับกองทัพธรรม แล้วเมื่อกองทัพธรรมเป็นผู้ชนะแล้วเห็นไหม ยังเป็นอีกหนึ่งต่างหาก

สัพเพ ธัมมา ถึงเป็นอนัตตาไง ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าว่าไว้นี้เป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่ให้ยึด ถ้ายึดธรรมแล้วมันไปไม่รอด เหมือนกับคนขี่แพมาแล้วจะขึ้นจากน้ำ ถ้าไม่ยอมลงจากแพจะแบกแพขึ้นไปบนบกได้อย่างไร ขับรถมานั่งรถมาแล้วไม่ยอมลงจากรถ อยู่ในรถ เราว่ารถเป็นเรา บ้าหรือ

นี่ก็แบกธรรมมาสิ “ฉันเป็นชาวธรรมนะ ฉันเป็นชาวพุทธ ฉันเป็นนักปฏิบัตินะ” แต่หัวใจฉันไม่มีอะไรเลยนะ เห็นไหม สัพเพ ธัมมา ถึงอนัตตาไง

เราไม่แบกธรรมอันนั้น แต่เราประพฤติธรรม ให้ธรรมมันมีในหัวใจ ผู้ที่แบกธรรมมาก็แบบชาวโลกนั่นแหละ เห็นไหม ไปจำศีลก็ไปอวดกันที่วัด “ฉันนี่ ผู้มีศีล ๘” คุยโม้กันนะ แบกธรรมมานะแต่ไม่มีธรรมในหัวใจ แบกธรรมมาแต่ไม่ได้ทำธรรมให้เกิดในหัวใจไง ถ้าธรรมเกิดในใจแล้วไม่ต้องแบก ทิ้งมันไปเลย

แต่ดีในนะ ดีแท้ๆ เป้าหมายของเราชาวพุทธเป็นอย่างนั้น ถึงบอกว่าเวลาภาวนามันยาก มันยากอย่างนั้น อยากจะภาวนานะ อันนี้เป็นมรรคเป็นความดี พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นความดี แต่เอามาพูดเพราะอะไร เพราะความอยากเฉยๆ มันจะเป็นโทษกับเราเวลาปฏิบัติ เพราะมันจะเป็นสมุทัยตัวที่ ๒

ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์นี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ละ ถ้าละทุกข์เลยนี่มันจะฟั่นเฟือนเลย มันจะทำไม่ได้ เพราะทุกข์อันนี้มันเป็นผลของวิบากกรรม เป็นมนุษย์นี่มีทุกข์ไหม...มี พระพุทธเจ้าบอกให้กำหนด ให้จับตัวนี้เป็นโจทย์ แล้วไปละไอ้ตัวความอยาก ที่อยากให้ทุกข์หายไง สมุทัย เช่นเราทุกข์อยู่นี้ “โอ้โฮ! ทุกข์มากเลย อยากจะให้พ้นทุกข์ โอ๊ย! ทุกข์มากนะ” มันจะเป็นไปได้ไง แต่ถ้ากลับกัน เรานี่ทุกข์มากเลย แต่อยากปฏิบัติให้พ้น อย่างที่บอกว่า อยากปฏิบัติ เห็นไหม

ไอ้ตัวอยากนั่นมันเป็นสมุทัย ถ้าตัวสมุทัยมันขาด มันขาดตรงนั้น ตัวทุกข์คือตัวเรานี้ ตัวเราจะทำลายตัวเราเองไม่ได้เรา ต้องทำลายตัวที่อยากให้เป็นทุกข์ ฟังสิ ตัวที่อยากให้เป็นทุกข์นั้นตัวหนึ่งกับตัวที่อยากให้พ้นทุกข์นั้นก็อีกตัวหนึ่ง แต่อยากตัวหนึ่งเป็นมรรค ส่วนอยากอีกตัวหนึ่งเป็นกิเลส อยากให้ทุกข์มันดับไปเลย หรือโดยไม่อยากทำ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มีทุกข์ก็ไม่อยากให้มีทุกข์ มีทุกข์มันเป็นวิบากกรรม เป็นเพราะว่าเราเป็นพระแล้ว เราเป็นคนแล้ว เราจึงมีทุกข์ แต่ถ้าเรากำหนดนะ เกิดเป็นทุกข์นี่เป็นทุกข์ แล้วทำไมถึงเป็นทุกข์ล่ะ แล้วเราไม่อยากเป็นอย่างนี้เลยอยากจะเป็นอย่างนู้น เห็นไหมไม่อยากเป็นอย่างนี้เลย หมายถึงว่าไม่อยากเป็นสภาพแบบเดิมเลย อยากจะเป็นสภาพอื่น

“ไม่อยาก” อันนั้นก็เป็นสมุทัย “อยาก” ก็เป็นสมุทัย อยากไม่เป็นตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้อยาก ให้มีการเดินอริยมรรค ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ พอละก็เกิดนิโรธ เห็นไหมนิโรธคือความดับทุกข์ แล้วก็จะมีมรรค มรรคตัวที่จะมาเดินเพื่อตัดสมุทัยตัวนี้

พระพุทธเจ้าสอนนะ แล้วเป็น “แก่น” ของศาสนาด้วย อริยสัจนี้ อย่างอื่นมันเป็นตัวเสริม เพราะตัวอริยสัจนี้คือตัวเกิดดับที่ใจเลย ทุกข์ก็ทุกข์ที่ใจ ใจเป็นสมุฏฐานของทุกอย่าง ส่วนกายนี้มันยังเป็นแบบว่าครึ่งหนึ่ง จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ แต่กายแท้ๆ ไม่สามารถทำความดีให้เกิดแก่ใจได้สักเท่าไร ถ้ากายมันจะทำความดีให้นะ คนที่เขาไม่เคยปฏิบัติเขาละเมอเพ้อพกอยู่ในโลกนี้ เขาก็มีกายเหมือนเรา เขาต้องมีความดีบ้างใช่ไหม ถ้าเขาทำความดี นั่นใจมันอยากทำ เขาก็ได้ความดีบ้าง แต่ถ้ามันทำความชั่วก็เต็มที่เลยนะ

แต่เรานี่สิหัวใจมันเกิดขึ้นมา ความดีความชั่วมาลงที่ใจหมด กายตายแล้วก็ทิ้งไว้ที่นี่ จะผู้ดีมีจนขนาดไหน เวลาตายแล้วกายก็มีค่าเท่ากันต้องเผาใช่ไหม แต่หัวใจมันไปต่างกัน นั่นเป้าหมายของเรา เราถึงจะทำอย่างนั้น เราก็มีพร้อม เรามีกาย มีหัวใจ แล้วก็มีวาสนา ต้องบอกว่ามีวาสนามากๆ ด้วย เพราะได้ลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธเจ้าสอน

ในพระพุทธศาสนานี้ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส ด้วยข้าวของเงินทอง นั่นก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง บุญหยาบๆ แต่ปฏิบัติบูชานี้ ไม่ต้องเหนื่อยยากในการไปหาวัตถุข้างนอกมาเพื่อเป็นอามิสบูชา อามิสบูชานั้นต้องเหนื่อยยากไปหามาถวายพระ การทำบุญทำทานจึงจะได้ผลใช่ไหม แต่อันนี้แค่ทำกายให้สงบเท่านั้นเอง แล้วให้ผลต่างกันด้วยนะ ให้ผลมากกว่าอามิสบูชามหาศาลเลย ให้ผลมากขนาดว่าถึง หลุดพ้น ถึงอริยมรรคนู่น ถึงอรหัตตมรรค ทำไมจะไม่ให้ผลมากล่ะ เพราะเกิดจากภาวนานี้ เกิดจากการนั่งนี้

เราถึงบอกว่าการภาวนานี้มันให้ผลมากไง ถึงว่ามีวาสนา เหมือนสมบัติที่อยู่ในร้าน เหมือนข้าวของอยู่ในห้างสรรพสินค้า แล้วเราเดินเข้าไปหยิบเอาของที่แพงที่สุดในห้างสรรพสินค้านั้น นี่คือโอกาสนะ แต่คนทั่วไปมันก็เข้าไปซื้อรูปลอกเอย ไม้บรรทัดเอย ดินสอเอย กับเราเข้าไปเอาเพชรนิลจินดาในห้างสรรพสินค้าในห้างนั้น ใครจะเป็นคนที่มีบุญวาสนากว่ากัน ลองคิดสิ เขาเข้าไปเขาก็ไปซื้อหนังการ์ตูน ไปซื้อรูปลอก ของเด็กเล่นทั้งนั้นเลย แล้วเราเข้าไปนี่ ของเด็กเล่นนี้เรามองข้ามเลยแล้วเข้าไปหยิบ “ในห้างนี้มีอะไรขายอันดับหนึ่ง ในพระศาสนาของเรานี่ อะไรอันดับหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนอะไรอันดับหนึ่ง” แล้วเราหยิบตรงนั้น มีวาสนาไหม ถึงจะหยิบไม่ติดมือ แต่ก็หยิบ จริงไหม หยิบนี้คือโอกาส โอกาสนี้คือวาสนา แล้วจะว่าไม่มีวาสนาได้อย่างไร เราว่าเราเป็นคนต่ำต้อย คนทุกข์ คนเข็ญใจ อันนั้นมันเรื่องภายนอก แต่เป้าหมายของเรา คือหยิบยอดเลย

 

* * * * *