เทศน์เช้า

ออกพรรษา

๒ ต.ค. ๒๕๔๔

 

ออกพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ออกพรรษา ถ้าเราจะเริ่มต้นเข้าพรรษามา เราก็เริ่มทำความเพียรกันมาในพรรษาหนึ่ง รอดพ้นพรรษาไปเพราะว่าพ้นพรรษาไป เห็นไหม ทำความเพียรกันในพรรษาหนึ่งก็สร้างคุณงามความดี ตั้งกติกาไว้ให้กับตัวเองว่าเราจะทำคุณงามความดีอย่างไร เพื่อคุณงามความดี เพื่อเป็นสมบัติของใจ ใจนี่กินบุญกุศลเป็นอาหาร บุญกุศลนี่เป็นการสะสมใจให้ใจเกิดในภพที่ดีคติที่ชอบ ในภพที่ดีคติที่ชอบที่มันต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอีก นี่เราทำบุญกุศลเพื่อตรงนั้น

แล้วออกพรรษาแล้วนี่ เราคิดว่าออกพรรษาแล้วเราจะทำตัวตามสบาย ถ้าเราจะเอาคุณประโยชน์กับเราเองน่ะ ออกพรรษาแล้วมันก็เริ่มต้นเห็นไหม พระออกพรรษแล้วพระก็ออกวิเวก ออกเที่ยวในป่าไป ทำคุณงามความดีมันไม่สิ้นสุด มันไม่สิ้นสุดที่ว่าหมดเวลาแล้วเราก็จะหยุดหมดเวลาไป เพราะเวลากิเลสมันเกิดขึ้นมาในหัวใจนี่ ใจเกิดขึ้นมามันมีอยู่ตลอดเวลา ความสุขความทุกข์ในใจน่ะ มันต้องกินอาหารไปตลอดเวลา

เราทำคุณงามความดีนี่ ทำคุณงามความดีตลอดเวลาเพื่อพัฒนาใจของเราขึ้นไป ใจของเรามันเติบโตขึ้นมา มันมีความสุขความทุกข์ไปตลอด มันไม่เคยตาย มันหาอาหารของมัน มันพยายามเร่ร่อนของมันไป ถ้าเราปล่อย เอาเฉพาะในพรรษา เหมือนกับกลางวันกับกลางคืน ช่วงกลางวันเราทำคุณงามความดีเสวยสุข กลางวันเรามีแต่ความทุกข์ กลางวันหรือกลางคืนก็ให้มีความสุขตลอดไป ออกพรรษาเข้าพรรษานี้เป็นสมมุติเฉย ๆ

แต่คุณงามความดีของเรานี่ เราต้องสร้างสมของเราตลอดไป ถ้าเราสร้างสมคุณงามความดีตลอดไป เราจะได้คุณงามความดีตลอดไป คุณงามความดีให้ผลเป็นของดี ผลจะเป็นดีได้เพราะว่าเราทำดีให้กับใจตัวเอง อันนั้นเราเริ่มต้นเห็นไหม ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วจะสบายใจนะ ออกพรรษาแล้วเราก็จะตามสะดวกสบายของเราไป ไปเรื่อยเฉื่อยของเรา อันนั้นมันเป็นเรื่องว่า มันเหมือนกับว่ามันไม่คุ้มค่าไง คุ้มค่าว่าเราอุตส่าห์ตั้งสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้สึกตัวตลอดเวลา เราระลึกรู้สึกตัวได้ เราทำคุณงามความดีได้ เราเริ่มต้นสร้างบุญกุศลของเราได้

แล้วเราออกไปแล้วน่ะ เราจะปล่อยไปตามยถากรรมทำไม เราจะปล่อยจิตของเราไปตามยถากรรมอย่างนั้นเหรอ? ตามยถากรรมมันก็ไปตามกิเลส กิเลสอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ถ้าทำตามใจของตัวเองก็ทำตามใจของสัตว์โลก แล้วมันก็เคยไป เห็นไหม มันจะกินคำใหญ่ไปเรื่อย รสชาติของอาหารมันต้องเพิ่มรสเข้มข้นตลอดเวลา

อันนี้ก็เหมือนกัน ทำคุณงามความดีมันก็ทำคุณงามความดี เพื่อจะยกตัวเองขึ้น ถ้ามันไม่ทำคุณงามความดีมันก็ไปประสามัน ประสามันก็ต้องทำให้มากกว่า ให้รุนแรงกว่าตลอดไป นั่นน่ะมันไหลไปตกไปในที่ชั่ว ตกไปในอำนาจของมัน กิเลสมันไม่เปิดให้เราทำคุณงามความดีหรอก กิเลสมันไม่ทำให้เรามีความสุขขึ้นมาได้หรอก กิเลสคือความพอใจของใจ ความพอใจของใจถ้ามันอยู่ปกติของมัน มันก็ทำให้เนิ่นช้า เนิ่นช้าไปในวัฏฏะนั้น เนิ่นช้าไปในชีวิตนั้น

ชีวิตนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดและการตายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เป็นทุกข์มากเลย แต่เราไม่เห็นกันว่าเป็นทุกข์อย่างมาก สัจธรรมสอนอย่างนั้น แต่การเกิดการตายของเราขึ้นมานี่ ถ้าเรามีการเกิดการตายขึ้นมาในครอบครัว เราก็ว่าเกิดขึ้นมาเป็นคุณงามความดี เวลาตายขึ้นมาเป็นความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ มันก็เป็นเหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน การเกิดขึ้นมามันก็ตายจากภพชาติเก่าขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม ตายจากมนุษย์ไปก็เกิดเป็นภพชาติใหม่

การเกิดและการตายนี่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เป็นทุกข์สำหรับผู้ที่เวียนตายเวียนเกิด แต่ผู้ที่รู้สัจธรรมแล้ว มันก็แค่การเปลี่ยนสภาวะ เปลี่ยนสภาพเฉย ๆ มันเปลี่ยนสภาวะไปเฉย ๆ มันเป็นสมมุติ มันต้องเกิดต้องตายอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันก็สะสมความทุกข์ไปให้กับหัวใจของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ความเกิดและความตาย เห็นไหม การเข้าพรรษา การออกพรรษา มันก็เหมือนกัน มันเป็นคติเริ่มต้นของเราทำคุณงามความดีของเรา แล้วออกพรรษาแล้วนี่ มันก็จะไปตามประสาหัวใจ หัวใจมันจะไปตามประสาของมัน มันเป็นตามประสาของมัน มันก็เป็นไปตามอย่างนั้น

เราถึงต้องฝืนตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไง ตั้งกติกาไว้ว่า ทำคุณงามความดีของเราแล้ว เราจะทำคุณงามความดีของเราตลอดไป ต่อเนื่องต่อไป เราจะทำคุณงามความดีต่อเนื่องต่อไป มันจะเป็นวัตถุให้เป็นวัตถุไปก่อน พอเป็นวัตถุไปก่อนนี่มันจะเข้าถึง มันจะดัดแปลงใจให้เป็นนิสัยไง เป็นนิสัยเคยทำ พอเป็นนิสัยเคยทำมันก็เข้าเรื่องของใจ เพราะใจเป็นเรื่องของจริตนิสัย จริตนิสัยออกมาจากใจ

ถ้ามันไม่ออกมาจากใจนี่ ความคิดคนทำไมมันต่างกัน มันต่างกันที่ความคิด ความคิดของคนต่างกันแล้วการกระทำก็ต่างกัน แล้วย้ำคิดย้ำทำบ่อยเข้ามันก็เป็นจริตนิสัย แล้วมันสะสมมาไม่มีต้นไม่มีปลาย คำว่า “ไม่มีต้นไม่มีปลาย” มันสะสมมาตลอด มันถึงว่าเป็นจริตนิสัยของเราออกไป

แล้วถ้าเราทำเป็นจริตนิสัยขึ้นไปนี่ ความเคยชินของเรา จริตนิสัยเราอยู่ใกล้กับศาสนา อยู่ใกล้กับธรรม อยู่ใกล้กับศีลธรรม ศีลธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ ศีลและธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ เป็นเครื่องกั้นกิเลส กิเลสมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ถ้าเราเอาศีลและธรรมเข้าไปแนบกับใจไว้ ไม่ให้ใจไปตามอำนาจของมัน เอาแนบกับใจนี่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงของใจ

แล้วศีลและธรรมนี้เป็นศีลธรรมที่ออกมาจากว่าเป็นสุตมยปัญญา เป็นการศึกษาเล่าเรียนมา เป็นบังคับตนก่อน บังคับตนจนเป็นจริตนิสัยนี่มันเป็นความเคยชิน ความเคยชินนี่ใจกับศีลธรรมมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกันแล้วมันทำความสงบเข้าไปถึงข้างในนี่มันเป็นความปกติของใจ ใจทำจนเป็นปกติของใจ มันทำของมันได้ ถ้าทำของมันได้นี่มันพอใจ แล้วมันพอใจ เห็นไหม เราก็ดีขึ้นพัฒนาขึ้น มันยับยั้งชั่งใจได้ แต่ก่อนน่ะมันไปจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว มันวิ่งไปคิดไปจนเต็มที่ของมันแล้ว เราค่อยมารู้ทีหลังว่า เรานี่คิดผิดคิดพลาดไป

แต่ถ้าเราทำของเราเคยชินขึ้นมา พอมันจะกระดิกขึ้นมานี่ มันบอก “เรานี่มีอารมณ์โกรธแล้ว เรานี่มีความรู้สึกผิดพลาดออกไปแล้ว” เห็นไหม มันเตือนสติของเราได้ ถ้ามันเตือนสติของเราได้ นั่นน่ะมันเป็นสมบัติของเราที่เป็นจริตนิสัยที่เราสร้างสมขึ้นมา มันถึงต้องสร้างสมขึ้นมาของใครของมัน แล้วเปลี่ยนจริตนิสัย

นี่ศีลธรรมอยู่ในหัวใจ แล้วมันตายไปกับใจ ใจเวลาเกิดเวลาตายมีศีลธรรมเท่านั้นหล่อเลี้ยงใจไป สมบัติรักษาไว้ในโลกนี้เป็นสมบัติรักษาไว้ในโลกนี้ เป็นปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยทำให้สะดวกสบายขึ้นมา...เห็นด้วย ทำให้สะดวกสบายขึ้นมา ถ้าคนที่คิดว่าเป็นเจ้านายเขา แต่ถ้ามีความคิดเป็นทาสของเขา เห็นไหม สิ่งนั้นมันมีอำนาจเหนือเรา มันกดใจให้หนักหน่วงไปกับนั้น กดใจของเราให้ต่ำต้อยไปกับสมบัติคุณค่านั้น

ถ้ากดใจของเราออกไปถึงคุณค่านั้น คุณค่านั้นจะมีความทุกข์มาก ความทุกข์มากในการที่ว่า มันคงที่ของมันขนาดนั้น แต่เราก็ต้องคิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลัง เป็นอดีตอนาคต ต้องการ หรือว่าต้องการไม่ให้เป็นไป หรือต้องการให้มากกว่านั้น มันเป็นการว่าเบียดเบียนตนเอง มันเบียดเบียนใจ สมบัติมันไม่ได้เบียดเบียน สมบัติมันเป็นสมบัติอยู่อย่างนั้น สมบัติมันก็อยู่ที่ที่เราเก็บรักษาไว้

แต่ทำไมมันมาเบียดเบียนใจของเราล่ะ? เพราะใจของเราคิดถึงมัน ใจของเราไปเบียดเบียนของมันเอง ถ้าใจเบียดเบียน เห็นไหม ใจเบียดเบียนเราเอง เราไม่รู้สึกตัวเลย แต่ถ้าศีลธรรมนี่มันเข้าใจปั๊บ มันไม่เบียดเบียนตน สมบัติก็เป็นสมบัติ เข้าใจว่าเราใช้มัน เราใช้สมบัตินั้นเป็นอย่างนั้น

แต่ศีลธรรมในหัวใจของเรานี่ ทำให้เราพัฒนาขึ้น เราเป็นคนโตขึ้นมา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมา ไม่ใช่เด็ก ๆ เหมือนแต่เก่า แต่เก่านี่ใจเป็นเด็ก ใจนี่ไม่รู้จักใจของตัวเอง ใจนี่เดินล้มลุกคลุกคลานไป ล้มลุกคลุกคลานไปตามประสาอำนาจของกิเลสที่มันจะพาไป มันมีอำนาจวาสนาเหนือเรา แต่มันไม่มีอำนาจวาสนาพาเราไปเกิดในดีในชั่วหรอก มันมีแต่ทำให้เราตกต่ำไปเท่านั้น แล้วเราก็เป็นเด็กไปด้วย อยู่ใต้อำนาจของเขา ให้เขากดขี่ข่มเหงไปตลอดเวลา

แล้วเราทำใจของเราขึ้นมานี่ ศีลและธรรม เห็นไหม มันทำให้เราก้าวขึ้นมาใกล้กับศาสนา แล้วเรายอมตัวลงประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรายอมตัวลงนี่หงายภาชนะ ถ้าเราไม่ยอมตัวเราลงไป เห็นไหม มันปิดภาชนะไว้ ศีลธรรมก็มีอยู่อย่างนั้นน่ะ ศีลธรรมมีอยู่คงที่คงวา แต่เราไม่ได้ประโยชน์จากศีลธรรมนั้นเลย เพราะอะไร? เพราะเราปิดกั้นหัวใจของเรา เราไม่ยอมตัวเราลงยอมรับสิ่งนั้น

ถ้าเรายอมรับสิ่งนั้น ยอมตัวเราลงไปขึ้นไปนี่ มันจะหงายภาชนะนี้ขึ้นมา ถ้าหงายภาชนะขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราเพราะเราหงายภาชนะขึ้นมา มันรองรับได้ มันถึงเป็นเนื้อเดียวกับใจได้ ถึงว่าเริ่มต้นวันนี้อย่าคิดว่าออกพรรษาแล้วเราจะสะดวกสบาย ออกพรรษาแล้วเราจะวางสมบัตินั้นคืน ศีลธรรมนี่คืนพระคืนเจ้าไป ให้พระเจ้าเป็นคนรักษาปรารถนาไป

เราคืนพระคืนเจ้าไป การประพฤติปฏิบัตินี้ต้องพระเป็นผู้ปฏิบัติ...ใช่ ถ้าพระไม่ทรงศีลทรงธรรมแล้วมันก็ไม่มีหลักเกณฑ์ของหลักศีลหลักธรรม พระต้องทรงศีลทรงธรรม ทรงสมาธิ ทรงปัญญาขึ้นมา พระถึงจะทรงได้ พระเป็นนักรบขึ้นมา แต่ก็เป็นสมบัติของพระไม่ใช่สมบัติของเรา ถ้าเราจะมีความสุขมันก็ต้องเป็นสมบัติของเราใช่ไหม เวลาเป็นสมบัติเราอยากได้ความสุขความเจริญ แต่เวลาหน้าที่การกระทำเรายกให้พระเป็นหน้าที่การกระทำ

พระก็ต้องทำของพระอยู่แล้ว แต่ของของเราเราทำขึ้นมา เราทำของเราก็เป็นของของเรา ถ้าพระทำเป็นของพระ พระก็มีความสุขของพระไป มีความสุขในบุญกุศลของเรา เป็นเนื้อนาบุญของเรา เราทำบุญกุศล เราทำบุญกับพระกับสงฆ์นั้น เห็นไหม เห็นสมณะเป็นที่สุขใจอย่างยิ่ง เห็นสมณะจากภายนอก แล้วเห็นสมณะจากในหัวใจของเรา ความสงบของใจ เราเห็นใจของเราเป็นความสงบ เราเห็นใจของเราเป็นสมณะขึ้นมา

แล้วในพรรษาหนึ่ง ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เราจะทำความผิดความพลาดอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ วันนี้วันมหาปวารณา วันที่การขอโทษขออภัยต่อกัน เราถึงว่าควรจะถ้าเราทำ ในพรรษาหนึ่งเราทำผิดพลาดอะไรไว้นี่ ออกพรรษาแล้วควรจะปวารณา ควรจะขออโหสิกรรมต่อกัน การขออโหสิกรรมต่อสงฆ์ สงฆ์นี้เป็นสงฆ์หมู่ใหญ่ สงฆ์นี้ขออโหสิกรรม สงฆ์คณะไหนก็แล้วแต่คณะนั้นติเตียนกันได้ เรายอมตัวลงขนาดที่ว่าให้เขาติเตียน ให้เขาเตือนเราได้ นี่มันเป็นการขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราอาจจะทำผิดพลาดโดยที่ว่าไม่รู้ตัว กิเลสในหัวใจของเราทำให้เราผิดพลาดได้ เราไม่รู้สึกตัวเราหรอก เราว่าเราทำคุณงามความดี เรารักษาสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา แต่กิเลสนี่เวลามันพลัดพรากมันทำให้เราผิดพลาดไป อันนั้นเราถึงว่าเราขออภัยสิ่งที่ว่าเราไม่รู้ สิ่งที่ว่าเรารู้เราก็จะพยายามไม่ทำ ไม่ทำให้มันเป็นบุญกุศล ให้บาปอกุศลนั้นอยู่กับหัวใจเรา เราพยายามทำบุญกุศลนั้นให้เป็นกุศลของเรา ถึงว่าให้เริ่มต้นทำ ต่อไปนี้จะให้ทำปวารณา ให้ทำขอขมานะ เอ้า! เริ่มต้น เอวัง