เทศน์เช้า

เห็นผิด

๓o ก.ย. ๒๕๔๔

 

เห็นผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าพูดผิดจากนี้ไป ทั้งความรู้ความเห็นมันกลายเป็นความเห็นผิด ความเห็นผิดตรงไหน? ความเห็นผิดตรงที่แบบว่า เรารู้วาระจิต รู้ต่าง ๆ นี่ มันเป็นความรู้ที่เป็นโลกียะไง มันไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าเป็นเรื่องของธรรม เราทำเพื่อความสงบของใจ พอใจมันสงบเข้าไปอันนั้นน่ะสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ถ้ามันไม่เป็นสัมมาสมาธิ...(เทปขัดข้อง)...ถ้ามันสงบเข้าๆ อันนี้มันสงบเข้ามาแล้วมันรู้ พอรู้แล้วนี่เป็นเห็นผิด ความเห็นผิดเพราะว่าอะไร? เพราะว่ามันไม่ใช่พื้นฐานที่มันยกวิปัสสนา มันไม่ใช่เป็นสัมมาสมาธิในหลักพุทธศาสนา มันเป็นสมาธิที่ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ

แต่ในความคิดของเขา ความเห็นของเขาที่ว่า เห็นความรู้ออกต่าง ๆ แล้วก็รู้ตามอย่างนั้นไป มันก็วนเวียนอยู่ตรงนั้น มันเหมือนผู้วิเศษไง ถ้าทำอะไรแล้วมันรู้วาระจิต รู้ต่าง ๆ มันเป็นผู้วิเศษ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ถ้ารู้เหตุการณ์ล่วงหน้า มันก็เป็นว่าตัวเองนี่สำคัญตนไง สำคัญตนว่าตัวเองเป็นผู้ที่ทำแล้วมันได้ประโยชน์ ถ้าทำไม่ได้อย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์ นั่นน่ะความเห็นผิด

...สอนเรื่องสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานคือว่า ทำความสงบของใจขึ้นมา ใจมันสงบขึ้นมานี่ ว่าไม่ได้อะไรเลย ความว่าเราไม่ได้อะไรเลยนี่ เราได้ความสงบของใจ เราได้ความเห็นไง เราบอกว่าธรรมะนี่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จืดสนิท เย็นดี เป็นน้ำที่จืดสนิท มีคุณค่าทางร่างกายมาก แต่มันไม่มีคุณค่าทางโลกเขา ทางโลกเขามันต้องมีรสชาติต่าง ๆ

ความเป็นรสชาติอันนั้นน่ะ มันเป็นว่าทำให้เราหมุนเวียนอยู่ในโลก เห็นไหม ว่าโลกียะ โลกีย์อารมณ์ อารมณ์ของโลก โลกีย์อารมณ์ ทำให้เราติดอยู่ในอารมณ์ของโลกนั้น พอเราติดอารมณ์ของโลกนั้นไป มันก็อยู่ในอารมณ์ของโลกนั้น มันไม่ยกขึ้นเป็นโลกุตตระ ถ้าโลกุตตระมันจะเป็นออกนอกโลก ความที่จะออกนอกโลกนี่ ความเห็นของเราเป็นความเห็นผิด

ฉะนั้นพอถึงครูบาอาจารย์นี่ ถ้าครูบาอาจารย์พูดตามความเห็นของตัว พูดออกมาซะถูกต้อง หมายถึงว่าถึงจะถูกต้อง ถ้าพูดผิดจากนั้นไป ครูบาอาจารย์องค์นั้นผิด แล้วครูบาอาจารย์ก็มีเหมือนกัน ครูบาอาจารย์น่ะมันมีมากมายมหาศาล ดูอย่างในวัดน่ะมีตั้งแต่เณรน้อยถึงเจ้าอาวาส นั่นน่ะคนที่บวชใหม่ความเห็นมันก็ต้องแตกต่างกันไป ความเห็นต่าง ๆ ของครูบาอาจารย์มันก็ต้องมีต่าง ๆ กันในครูบาอาจารย์ มันถึงต้องเลือกไง เลือกเป็นว่าจริตนิสัยเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ใหม่ ๆ ที่มีทายกไปถามน่ะ นั่นน่ะสะบัดหน้าหนีไม่เชื่อเลย ความไม่เชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร? เพราะตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังหนุ่มมาก แล้วว่ายังหนุ่มมากนี่จะรู้มาเองได้อย่างไรถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ นั่นน่ะความไม่เชื่อ ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อเฉพาะครูบาอาจารย์ของเรานะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ว่าไม่เชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีมากมายสมัยพุทธกาลนั้น มีคนขนาดไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ไปต่อว่าว่า

“เป็นคนหนุ่มอายุน้อยทำไมไม่ยกมือไหว้คนแก่”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ว่าชำแรกออกมาจากไข่ก่อนองค์แรก ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี”

คือว่าเราอาวุโสสูงสุด คือว่าอาวุโสในธรรมไง ในธรรมนี่คือว่าชำแรกออกจากกิเลสมาเป็นองค์แรกของโลก แล้วจะไปยกมือไหว้ใครนี่มันเป็นไปไม่ได้ ถึงว่าไม่มีการไหว้เขา ยกเว้นไว้แต่เรายกมือไหว้ตอบนั้น อันนี้เราก็ไม่เกิดในพุทธกาล ไม่เห็น แต่คงจะเป็นไปได้ในการยกมือไหว้ตอบ ถ้าเวลากราบ เวลาไหว้กันน่ะ ยกมือไหว้ตอบ แต่ไม่มีที่ว่าจะไปยกมือไหว้ใคร ไม่มี

นั่นน่ะเป็นขนาดนั้น แล้วความเห็นที่ว่ายังไม่ตรงกับจริตนิสัยยังมี แล้วจะมาจับว่า เห็นว่าครูบาอาจารย์ทั่วไปทั้งหมดนี่ จะให้มันมีจริตนิสัยเหมือนที่เราพอใจ เราเห็นดีเห็นงามนี่ มันเป็นไปไม่ได้ ถึงว่าถ้าความเห็นของเราผิดแล้วมันจะจับผิดไปตลอด พอมันจับผิดไปตลอดแล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ของมันเลย มันจะไม่ได้ประโยชน์กับหัวใจดวงนั้น ถ้าพูดถึงไม่ตรงจริตนิสัยของเรา เราวางเอาไว้ว่าไม่ตรงจริตนิสัยของเรา ถ้ามันเป็นความจริงนะ

ถ้าไม่เป็นความจริงว่า นั่นน่ะเพราะว่าเขาเป็นผู้บวชใหม่ ผู้บวชใหม่จะรู้เรื่องในธรรมนี่รู้ได้น้อย ถ้ารู้ในธรรมได้น้อยก็เรื่องของเขา เรื่องของเขาคือเรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของเขาเรื่องของเรา เราจะได้ประโยชน์ขึ้นมาเอง ถ้าความเห็นของเราไม่ถูก ถ้าความเห็นของเราผิดเราจะไม่ได้ประโยชน์ของเราเลย ความผิดจากของเราก็ตั้งแต่ตัวเราเอง แล้วยังผิดในหลักของศาสนา ออกนอกลู่นอกทางไปนะ ถ้าเป็นตามความเป็นจริงแล้วมันจะเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะหัวใจของเรา เรานี่จะรู้เลยว่ามันจะปล่อยวางขนาดไหน

แต่ขณะที่เราเริ่มต้นใหม่นี่เราไม่รู้เพราะอะไร? เพราะเราเป็นก้าวใหม่ แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าพูดไว้ เป็นของที่กว้างขวางมาก ลึกซึ้งมาก จะหยั่งลงไปด้วยปรัชญาไม่ได้ ตรรกะก็เข้าไม่ถึง ความเห็นของเรานี่เข้าไม่ถึงเลย แล้วความเห็นของเราที่เข้าไม่ถึงน่ะ มันเข้าถึงน่ะมันเข้าถึงได้ด้วยหลักการอะไร ที่เวลาตรรกะเราเข้าไปนี่ มันเป็นตรรกะของเราเอง มันถึงไม่ใช่หลักของธรรมไง มันถึงว่าเราความเห็นผิดไง มันจะคัดให้หัวใจเรานี่ออกนอกลู่นอกทางต่างหาก มันคัดให้หัวใจเรานี่ออกนอกลู่นอกทางไป แล้วไม่เข้าหลักเกณฑ์อันนั้น

แล้วเวลาหลักเกณฑ์อันนั้นน่ะ เพราะเราไม่รู้ เห็นไหม จืดสนิท ความจืดสนิทเย็นดีอันนั้น มันไม่ใช่จืดสนิทอย่างโลกเขานะ มันจะปล่อยวาง มันจะเวิ้งว้างมาก มันจะมีความสุขในหัวใจของมันมาก มันเวิ้งว้างน่ะ มันไม่ใช่จืดสนิทหรือว่าจืดไม่มีรสชาติหรอก มันมีรสชาติอีกรสชาติหนึ่ง แต่เราไม่เข้าใจถึง เราเข้าไม่ถึงตรงนั้น เราเข้าไปถึงการปล่อยวางเป็นสัญญาอารมณ์เท่านั้น สัญญาอารมณ์ที่ปล่อยวางกับความเวิ้งว้างตามหลักความจริงมันต่างกันนะ

ว่ารสของธรรมชนะรสทั้งปวงได้อย่างไร รสของธรรมชนะซึ่งรสของปวง แต่เพราะเราเข้าไม่ถึง เพราะความเห็นผิด เพราะเราเข้าไม่ถึงเอง เราไม่เข้าถึงรสของธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง แต่ว่าเวลาเข้าขั้นหลักการน่ะ มันจืดสนิทเย็นดี มันไม่มีโทษไม่มีภัยกับหัวใจดวงนั้น มันถึงจะเข้าหลักเข้าเกณฑ์ ถ้าเข้าหลักเข้าเกณฑ์นี่มันถึงตรงนั้นปั๊บมันก็จะย้อนกลับมา เห็นโทษของเรา ถ้าเห็นโทษของเราแล้วมันจะดัดแปลงตน ดัดแปลงตนมันจะเข้ากับหลักของศาสนา พอหลักศาสนามันก็เห็นถูกเข้าไป ถ้าเห็นถูกมันจะเดินตามช่องทางเข้าไป

ความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา สงบเข้าไปๆ พอสงบจนมันตั้งมั่น มันสงบบ่อยครั้งเข้าไง มันทำเสียจนชินจนชำนาญน่ะ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออก นี่ทำสมาธิ สมาธิของตัวน่ะ ถ้ามันชำนาญในการเข้าออก มันจะเข้าของมันได้ แล้วจะออกของมันโดยหลักธรรมดา แต่ส่วนใหญ่แล้วเราทำกันได้หน ๒ หนไง เวลาเข้านี่เหมือนกับส้มหล่น เวลาเป็นสมาธินี่วูบวาบไปเลยเป็นสมาธิ แล้วเวลาเข้านี่เราไม่รู้จักวิธีการเข้า แล้วเวลาออกขึ้นมาเราไม่รู้จักวิธีการออก เวลาเข้าก็เข้าไปเลย เวลาออกก็ออกไปเลย

เหมือนกับเรานี่เหมือนกับเด็กเล็ก ๆ เวลาขอเงินพ่อแม่นี่ แบมือขอเงินได้มา ได้เงินพ่อแม่มาเลย แต่วิธีหาหาไม่เป็น เก็บรักษาก็ไม่เป็น ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมานี่ เราหาเงินเป็น เรารักษาเป็น แล้วใช้เป็น เงินทองจะอยู่กับเรา เราจะหาได้ตลอดไป

สัมมาสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำจนตั้งมั่น ทำจนชำนาญขนาดที่กำหนดพุทโธแล้วกำหนดพุทโธได้เลย ถ้าคนชำนาญขนาดว่าไม่ต้องกำหนดอะไรเลย กำหนดความรู้สึกนี่มันจะเข้าทันทีเลย ความชำนาญมันจะเข้าในความสงบทันที พอสงบทันทีขึ้นนี่มันสงบอย่างนั้น ๆ รักษาไว้ได้สบาย รักษาได้โดยคล่องแคล่วมาก คล่องแคล่วมากก็ยกขึ้นวิปัสสนาไป ๆ วิปัสสนาไปจนมันจะเข้าถึงหลักธรรม

นี่ความเห็นถูก ถ้าความเห็นถูกต้อง มันจะเป็นผลประโยชน์กับทุก ๆ คน เป็นประโยชน์กับหัวใจของเรา แล้วมันจะย้อนกลับเข้าไปสงสารด้วย สงสารครูบาอาจารย์ที่สอนเรานอกลู่นอกทางน่ะ เป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ทำไมไม่เข้าทาง ถ้าเข้าทางนี่มันฟังออก เข้าทางน่ะเหมือนการกินอาหาร ทุกคนกินแล้วมันจะอิ่มทุกคน ทุกคนเอาอาหารเข้าปากนี่จะอิ่มท้อง ไอ้อาการอิ่มท้องนั้นน่ะคือธรรมที่เราได้ประโยชน์ขึ้นมา อาหารเข้าปากเป็นอาหารเข้าปาก ถ้าเราอิ่มท้องขึ้นมานี่ ถ้าทุกคนอิ่มท้องปั๊บรู้ว่าอิ่มท้อง อิ่มท้องน่ะแสดงว่าเขาอาหารเข้าปาก เขาต้องทำถูกต้อง เพียงแต่ว่าอาหารของเขาไม่เหมือนอาหารของเรา ถ้าอาหารของเขาเป็นอาหารของเขา อาหารของเราเป็นอาหารของเรา มันก็ต่างกันไป แต่ถ้าไปบังคับไว้ต้องให้เป็นอาหารอย่างเดียวกัน มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่สำคัญให้มันอิ่มท้อง ถ้าท้องอิ่มนี่มันจะเป็นไปได้ตามความเป็นจริงว่าท้องอิ่มขึ้นมา

นั่นน่ะความเห็นถูกต้องมันจะคัดเข้าไป ๆ มันมีมากไป ดูสิ ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม เข้ากันด้วยธาตุ พระสารีบุตร ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนี่มีปัญญาหมดเลย มีปัญญานะ ชอบทางพระสารีบุตร เข้ากันด้วยธาตุ ถ้าธาตุขันธ์ถูกกันน่ะ กับครูบาอาจารย์ถูกกันนี่ ฟังแล้วมันจะเข้าใจ มันจะพอใจ มันจะดูดดื่มกับครูบาอาจารย์องค์นั้น ทั้งพระสารีบุตรเห็นไหม ทำไมลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะไม่ไปเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตรล่ะ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ ๕๐๐ องค์ก็ชอบทางฤทธิ์เดชหมดเลย เข้าทางฤทธิ์ทางเดช จะไปทางฤทธิ์ทางเดชหมด เห็นไหม เข้ากันด้วยธาตุ

อันนั้นด้วยธาตุ ด้วยความธาตุ ถ้าเข้าด้วยธาตุนี่มันได้ความถูกต้อง มันไม่ผิดหรอก แต่ถ้าความเห็นผิดอันนั้นถึงจะผิด ถ้าความเห็นผิดมันไม่เข้ากันด้วยธาตุ มันเป็นความเห็นผิดเลย มันไม่เข้าหลักหรอก มันจะไม่เข้าหลัก แล้วมันเข้าถึงสมาธิไม่ได้ มันจะเข้าหลักเกณฑ์ไม่ได้ อันนั้นเป็นความเห็นผิด ถ้าความเห็นถูกมันเป็นความเห็นถูก ความเห็นถูกแล้วยังเข้าด้วยจริตนิสัยอีกต่างหาก ยังเข้ากันด้วยธาตุด้วยขันธ์อีกต่างหาก

ถึงว่านี่อำนาจวาสนาของหัวใจ การเกิดตายมามันถึงว่าไม่มีภพไม่มีชาติไง การสะสมมา กระแสของกรรม ทำไมเกิดเป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน ลูกพ่อแม่เกิดมาในครอบครัวเดียวกัน นี่กรรมมันสมควรแก่กัน ทำไมลูกของเรานิสัยไม่เหมือนกันอีก นี่มันจะจำแนก มันจะแยกออกไป ๆ ลูกของเราแต่ละคนก็นิสัยไม่เหมือนกัน เพราะจิตของเขาแต่ละดวงมันมาไม่เหมือนกัน จิตแต่ละดวงที่มาเกิดนี่ พอมาเกิด การสะสมของจิตดวงนั้นมามันสะสมมาต่างกัน ความสะสมมาต่างกันมันถึงว่าเป็นจริตนิสัยต่างกัน

ฉะนั้นพอจริตนิสัยต่างกัน พอมาประพฤติปฏิบัติมันก็นิสัยต่างกัน ครูบาอาจารย์จะสอนแล้วมันถึงว่า “จากใจดวงหนึ่งมอบให้กับอีกใจดวงหนึ่ง” เห็นไหม จากหัวใจดวงหนึ่ง วิธีการน่ะมันแยกแยะออกไป เวลามันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา แล้วเราเคยชำระในหัวใจของเรา มันเกิดขึ้นกับใจลูกศิษย์ทำไมจะไม่รู้ มันเกิดขึ้นกับใจลูกศิษย์นะ มันคิด มันพลิกแพลงไปนี่ มันรู้ รู้เพียงแต่ว่าบอกแล้วลูกศิษย์จะฟังหรือไม่ฟัง

ถ้าลูกศิษย์ฟังกัน แก้ไขกันได้ ถ้าลูกศิษย์ไม่ฟังกัน แก้ไขไม่ได้ การฟังกัน มันจะพลิกแพลงขนาดไหนก็แล้วแต่ขอให้ฟัง ถ้าฟังแล้วคอยพิจารณาไป ถ้าฟังแล้วพิจารณาไป แก้ไขออกไปนี่ มันแก้ไขได้ แก้ไขได้นี่ จากใจดวงหนึ่งมอบให้อีกใจดวงหนึ่ง ใจของผู้ที่ผ่านพ้นไปแล้ว นี่ความเห็นถูกต้องมันจะเป็นประโยชน์มาขนาดนั้น

เขามีความเห็นผิด คุยกันอยู่นานนะ แต่ฟังแล้วก็ยอมรับ เขาก็ยอมรับ เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำอันนั้นน่ะ มันต้องอย่างนั้นถึงสงบ ต้องเห็นแสง ต้องเห็นทุกอย่าง เห็นเป็นนิมิต ถึงจะเป็นความสงบของเขา ถ้าไม่มีอย่างนั้นมันสงบไม่ได้ ถ้ามันสงบของเราเขาบอกสงบเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย เราบอกว่า นี่ไง สงบเฉย ๆ นี่แหละคือสมถกรรมฐาน แล้วค่อยยกขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน แล้วมันถึงจะก้าวเดินไป นี่แหละคือหลักธรรม

อันนั้นเป็นความเห็นของเราเอง เป็นความเห็นผิดของเราเอง แล้วเราจะไปโทษคนอื่นผิด เป็นไปไม่ได้ ถ้าโทษก็ต้องโทษตัวเองผิด ถ้าตัวเองผิดมันก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ นี่คือว่าความเห็นผิดกับความเห็นถูก มันจะเป็นประโยชน์ ความเห็นผิดกับความดำริ มรรคองค์แรกเลย ความดำริชอบ กับความดำริไม่ชอบ ความดำริไม่ชอบก็ทำให้เราหลงทางไป ถ้าความดำริชอบนี่ปัญญามันเกิดขึ้น มันจะทำให้เราเข้าทาง เข้าทางไปมันจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ คน เอวัง