พระรู้ภูมิกัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ภูมิคือรู้วาระ รู้ว่าความเป็นไปของใจมันจะเป็นไปได้เป็นไปไม่ได้ ความรู้ภูมิของเรา พระกรรมฐานถ้ามีธรรมในหัวใจ ถ้ามีความผ่านในหัวใจจะรู้ภูมิของกัน เว้นไว้แต่พระกรรมฐานที่ว่าปฏิบัติใจแล้วไม่ได้ ทำใจแล้วไม่ได้ ไม่เข้าใจเรื่องนั้น มันก็เป็นความแบบว่าไม่เชื่อ
ความไม่เชื่อ...ไม่เชื่อแล้วไม่ยอมรับ ในความไม่ยอมรับเพราะตัวเองทำไม่ได้หนึ่ง แต่พระกรรมฐานถ้ามีภูมิในหัวใจ มันจะอ่านออกไง มันจะอ่านออก มันจะรู้เข้าใจเรื่องของภูมิ มันจะรู้ทันกันหมดเลย พระกรรมฐานนี่จะรู้ทันกัน ถ้ามันรู้ทันกันเพราะมีธรรมในหัวใจถึงรู้ทันกัน ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจจะไม่รู้ทัน
แล้วก็ความดื้อนะ ความดื้อของพระกรรมฐานที่ไม่เชื่อกันมันดื้อขนาดนั้น แต่ถ้าไม่ดื้อนะ มันพยายามจะทำใจของตัวเองได้ มันก็พยายามของเรา ถ้าพยายามของเราไม่ได้ เห็นไหม มันอยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาของตัวไม่ถึง มันเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นไปได้ มันจะเป็นไปได้
ฉะนั้นเป็นไปได้นี่ ถ้าดื้อหนึ่ง เพราะตัวเองไม่เข้าใจแล้วดื้อหนึ่ง แล้วไปเจอครูบาอาจารย์ที่สอนผิดไปด้วยนะ สอนไปนะ ตอนนี้มีสอนไป สอนไปเหมือนสัสสตทิฏฐิ กับอุจเฉททิฏฐิเหมือนกันเลย คล้ายๆ อย่างนั้นเลย คือว่าให้ทำความเพียรไปเลย ให้ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปๆ แล้วใช้ปัญญาไปนี่มันจะเป็นธรรม
มันไม่เป็นธรรมเพราะมันขัดกับหลักความจริง หลักความจริงคือว่ามันไม่มีสัมมาสมาธิไง มันไม่เข้าไปองค์มรรคไง ถ้าใช้ปัญญาไปเลยมันได้ส่วนหนึ่ง มันถูกต้องส่วนหนึ่งเท่านั้น ถูกต้องส่วนหนึ่งของการทำความสงบของใจ มันถูกต้องส่วนนั้น แต่พอทำถึงตรงนั้นแล้วมันจะมีความสงบเข้ามา แล้วความสงบเข้ามาอันนี้ มันจะตื่นเต้น
พอมันจะตื่นเต้น มันแปลกประหลาดไง มันว่าง มันเวิ้งว้าง มันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธินี่มันธรรมะที่คนคาดหมายได้ทุกๆ อย่าง คาดหมายคาดการณ์ได้ทั้งหมดเลย อันนี้ถ้าพูดถึงใช้ปัญญาเข้าไป ถ้าปัญญาตรงนั้นปั๊บ...ถูกต้องส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งโดยทำความสงบเข้าไปด้วยใจ
พอทำความสงบของใจเข้าไปแล้ว ยกขึ้นวิปัสสนา เห็นไหม ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา มันถึงจะเป็นธรรม แล้วอีกส่วนหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีสอนกันมากเลยว่าให้ทำเลยนะ ให้ทำความสงบเข้าไปก่อน ถ้าใช้ปัญญาเข้าไปแล้วมันจับต้องไม่ได้ มันจะฟั่นเฝือมันจะฟั่นเฝือนะ อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง เป็นเหมือนกับว่ามันว่างไปเลย เหมือนอุจเฉททิฏฐิ-ความไม่มี สัสสตทิฏฐิ เห็นไหม ความว่ามีตัวตน
ต้องพยายามทำก่อน ทำของเรา พยายามปฏิบัติทำของเรา ทำความสงบเข้าไปให้มันมีความเป็นไป ให้มันเกิดเองไง ให้มันเกิดที่ว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ถ้าน้ำใสจะเห็นตัวปลา พอน้ำใสแล้วมันจะไปเห็นกิเลส แล้วจะชำระกิเลสได้
อันนี้ก็เหมือนกัน แล้วก็รอนะ ทำว่ารอไป ต้องรอให้ทำความสงบเข้ามาก่อน แล้วสงบขึ้นมาแล้วมันจะมีมีด มันจะมีปัญญาเข้าไปฟาดฟันกับกิเลส เห็นไหม มีสอนกันมากเลย บอกว่าให้ทำความสงบเข้าไป ทำความสงบเข้าไป...ทำความสงบเข้าไปจนกว่าจะไปแก้ถึงอวิชชานั้นเลย ไม่ต้องแก้ข้างนอกนี้ ไปแก้ถึงที่สุดเลย ไปพลิกทีเดียวก็จบสิ้นกัน แล้วก็ทำเข้าไปนะ
พอทำเข้าไป มันก็พูดกันได้ไง มันพูดกันได้ มันสื่อกันได้ พอมันสื่อกันได้ มันมีความเข้าใจ มันเวิ้งว้างขนาดไหนมันเป็นเรื่องของโลกียะ ความเป็นเรื่องของโลกียะมันเข้ากันได้กับเรื่องของวิทยาศาสตร์ พอเข้ากับเรื่องวิทยาศาสตร์ มันคาดมันหมาย มันด้นมันเดาได้
ความคาดความหมาย ความด้นความเดาอันนี้มันจะเหมือนปรัชญา พอมันเป็นปรัชญาขึ้นมา มันจะสื่อความหมายกันแล้วความเข้าใจอันนั้นมันจะเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ไป แล้วมันจะติดอยู่ตรงนั้น ติดอยู่ตรงว่าเราสื่อกันรู้เรื่องไง ในเมื่อมันเป็นธรรม มันเป็นธรรมความด้นเดา เราด้นเดาธรรมว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเวลาสื่อความหมายมันเป็นปรัชญา มันถึงว่าพระอรหันต์เขารู้ภูมิกันตรงนี้ รู้ภูมิกันว่ามันไม่เป็นตามความเป็นจริงไง ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริง มันจะเริ่มพิจารณาเข้ามา
เราล้างถ้วยล้างจาน เห็นไหม เราเข้าในครัว เราล้างถ้วยล้างจาน ในเรื่องภาชนะที่เราใช้ เราต้องล้างทุกวันเลย แล้วก็ใช้ทุกวันเลย ล้างทุกวันเลย ล้างกันอยู่อย่างนั้นไม่มีวันที่สิ้นสุด เห็นไหม การทำความสงบของใจก็เหมือนกัน ถ้าทำความสงบเข้าไป เหมือนล้างภาชนะเข้าไป มันต้องล้างกันตลอดไป ล้างแล้วมันสะอาดเข้าไป มันต้องทรงไว้ สัมมาสมาธิต้องทรงไว้ ถ้าไม่ทรงไว้ ทำเหตุมันไม่พอนี่มันจะเสื่อมสภาพไป มันเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของมันหนึ่งนะ มันเสื่อมสภาพเพราะการไม่รักษาหนึ่ง มันเสื่อมสภาพเพราะความประมาทอีกหนึ่ง นี่มันเสื่อมสภาพไป
การล้างถ้วยล้างจานมันเหมือนกับการรักษาจิตไว้ตลอดเวลา แล้วรักษาจิตเข้าไป ล้างถ้วยล้างจานเข้าไปแล้วเราไม่หานะ เราไม่หาพวกอาหารมาเพื่อจะปรุงเป็นอาหารขึ้นมา เราจะเอาอะไรปรุง? จานมันก็เป็นจาน เห็นไหม สะอาดมันก็สะอาด สกปรกก็สกปรกอยู่อย่างนั้นนะ ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไปมันจะเป็นแบบนี้ มันหาไม่เจอ
อันนี้ก็เหมือนกัน แล้วถ้าพูดถึงนะ ทำความสงบเข้าไปเพื่อมีมีดแล้วค่อยจะไปทำลาย มันก็รอ รอไง รอจนกว่าว่าอาหารนั้นมันจะเน่ามันจะบูดไง เอาเข้ามาแล้วนะ หาเข้ามาแล้วอาหารนี่ หามาเพื่อทำเป็นอาหาร แต่มันก็ทำไม่เป็น พอทำไม่เป็นมันก็ปล่อยจนเน่าจนเสียไป
มันถึงว่าการล้างอยู่ทุกวันกับการนั่งรอคอยอยู่ มันถึงว่ามันเป็นความผิดทั้ง ๒ ฝ่าย ถ้าการวิปัสสนาเข้าไป มันทำความสงบเข้าไป ทำความสงบเข้าไป มันต้องพยายามยกขึ้น เห็นไหม น้ำใสแล้วเห็นตัวปลานี่มันเป็นความเห็น มันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การจะจับต้องของเราได้ เราจะจับต้องสิ่งนั้นได้ เราต้องขุดคุ้ย เราต้องเข้าใจ
อาหารเข้ามา ไก่ เห็นไหม ไก่ตัวหนึ่งนี่เราจะกินไก่ทั้งตัวนั้นเป็นไปได้อย่างไร? อาหารเวลาทำมันทำได้ แกง ต้มแกงทั้งตัวก็แกงได้ แต่เวลามันจะสำเร็จขึ้นมา เวลาเราจะกินขึ้นมา กระดูกเราไม่กินเข้าไปหรอก เราต้องแคะกระดูกออก กระดูกนี่เราไม่กิน เรากินแต่เนื้อของไก่ มันก็เป็นประโยชน์กับร่างกาย
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณายกขึ้นวิปัสสนา มันจะมีความผิดความถูกในนั้น มันจะกินทั้งคำไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะมันมีกิเลสอยู่ กิเลสนะมันเหมือนกระดูก กระดูกนี่มันพยายามจะทำให้เราผิดพลาด การพิจารณาของเราเข้าไปมันต้องแยกแยะออก ความแยกแยะออกด้วยใช้ปัญญา แยกแยะออกไป แยกแยะออกไป นี่ภูมิมันจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ ถ้าภูมิไม่ได้เกิดขึ้นจากตรงนี้เลย ไม่ได้ยกขึ้นวิปัสสนาเลย ล้างถ้วยล้างจานก็ล้างอยู่นั่นนะ มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นผลขึ้นมาไม่ได้ไง มันถึงปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล
ความที่ปฏิบัติไม่ได้ผลด้วยการล้างถ้วยล้างจานแล้วไม่เคยปรุงอาหารขึ้นมา อันนี้ส่วนหนึ่งที่ความเห็นผิด ความเห็นผิดในการวิปัสสนานะ แล้วครูบาอาจารย์ก็สอน ความเห็นผิดด้วยการรอคอย รอคอยให้เกิดปัญญาขึ้นมานี่มันเป็นไปไม่ได้ มีพระที่ทำอย่างนี้แล้วหลงนี่มีเยอะมาก ตอนนี้มีเยอะมาก ที่ทำแล้วหลงเข้าไปไง หลงว่ารอให้เกิดขึ้นมา รอให้ผลไม้มันแก่ ต้องเกิดผลไม้ออกมันถึงแก่เอง แล้วผลไม้มันจะปลิดไปจากขั้วของมันเองโดยธรรมชาติ
นี่เอาหลักของสมมุติเข้าไปจับวิมุตติไง เอาหลักสมมุติเข้าไปจับตามความเป็นธรรมไง ธรรมมันเป็นอย่างนั้น แต่มันลืมไปอันหนึ่งว่ากิเลสนี่มันคอยผลักไสอยู่ กิเลสมันจะผลักไสความเห็นของเรา ไม่ให้เข้าหลักตรงนั้น กิเลสมันจะผลักไสตลอดเวลานะ ผลักไส มันไม่ให้เห็นไง
ถ้าเราไปเห็นตรงนั้นเข้า เราก็ต้องชำระกิเลสได้ แล้วกิเลสมันเหมือนกับเรานะ เราเกิดมาพร้อมกิเลส เรามีชีวิตขึ้นมาใช่ไหม เราเกิดมาพร้อมกิเลส แล้วกิเลสก็เกิดมาพร้อมกับเรา แล้วมันจะให้เห็นความตรงได้อย่างไร?
ดูความขัดข้องใจของเราสิ บางอย่างเราคิดขึ้นมาแล้วเราขัดเคืองใจ ทั้งๆ ที่เป็นความถูกต้องนะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ทำแล้วเป็นคุณงามความดี แต่เราทำแล้วเราก็เบื่อหน่าย เห็นไหม ความเบื่อหน่าย ความขัดข้องไป แค่นี้มันยังปกปิดเลย แล้วว่าจะไปเห็นมันนี่
มีพระหลายองค์เลยที่รอจะให้ผลไม้หลุดออกจากขั้ว แล้วไม่เป็นไปอย่างนั้น วนเวียนอยู่อย่างนั้น วนเวียนอยู่อย่างนั้น วนเวียนอยู่ตลอดไป เพราะว่ามันเป็นไป เว้นไว้แต่ฟลุคไง เหมือนอำนาจวาสนา ส้มหล่นไง มันไปจับต้องได้ เว้นไว้แต่มันพยายามใคร่ครวญนะ มันใคร่ครวญ มันพิจารณาอยู่แล้วมันสังเกต
ความสังเกต ความสอดรู้นี่ ถ้าสังเกตสอดรู้อยู่ตรงนั้นบ่อยๆ เข้า มันจะไปเห็นตรงนั้นเข้า ถ้าไปเห็นตรงนั้นเข้า ตรงนั้นมันจะเป็นงานขึ้นมา มันถึงจะเป็นปัญญาขึ้นมาไง ถ้ามันจะเป็นปัญญาขึ้นมามันต้องเห็น ถ้าไม่เห็นขึ้นมามันไม่เป็นปัญญาหรอก มันจะหมุนอยู่อย่างนั้นนะ หมุนอยู่อย่างนั้น มันเป็นปัญญาของโลกเขา มันเป็นการใคร่ครวญ
นี่รู้ภูมิกันมันรู้ภูมิอย่างนี้ คำพูดอันนั้นมันบอกถึงภูมิธรรมในหัวใจเลย ถ้ามันพูดถึงภูมิธรรมในหัวใจว่าภูมิธรรมในหัวใจเราเป็นอย่างนี้ เราความหมายเป็นอย่างนี้ อันนี้มันหลงผิดมาแล้ว แต่ยังไม่มีใครแก้ไขให้เขา แล้วเขาก็ไม่เชื่อใครด้วย
พระกรรมฐานที่ว่าหลงไปเองก็มี พระกรรมฐานที่ทำแล้วไม่เชื่อ เห็นไหม ความไม่เชื่อของเขา ความดื้อดึงมันเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่ดื้อดึงเพราะเขาดื้อดึงนะ กิเลสมันสอนให้ดื้อดึงเพราะอะไร? เพราะเราทำขนาดนี้ เราพยายามพิจารณาขนาดนี้ แล้วเรายังทำไม่ได้เลย แล้วคนอื่นจะมาจับทำด้วยความง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ความดื้อเพราะตัวเองทำแล้วมันไม่ได้ผลมันเลยดื้อ
พอดื้อแล้วไปเจอครูบาอาจารย์สอนอย่างนั้น มันเข้านะ ถ้ามันเข้ากับความเห็นของตัว มันจะไหลตามไปเลย พอไหลตามไปเลยมันก็ยิ่งห่างไกลเข้าไป ถ้ามันไม่เคยเห็นความเห็นของตัว มันจะแก้ไข เราจะแก้ไขของเรา
นี่มันถึงว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัคคอริยสัจจัง ทางอันเอก มันต้องเอก ความสื่อออกมา พอพูดออกมามันก็เข้าใจแล้วว่าอันนั้นมันผิดพลาดไปโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันเลย แล้วกิเลสมันปกปิดใจอีกชั้นหนึ่ง กิเลสในใจของเขาก็ปกปิดใจอีกชั้นหนึ่ง แล้วความรู้ของเราก็กิเลสของเรา ความไม่รู้ของเรา เพราะเราไม่ใช่พระกรรมฐาน เราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ มันจะไม่มีภูมิธรรมไปจับเขาหรอก มันจะเชื่อตามสิ่งนั้นไป แล้วมันไม่มีวุฒิภาวะไปจับ แล้วมันเป็นปรัชญา
สิ่งที่เป็นปรัชญา สิ่งที่เป็นตรรกะนี่มันสื่อได้ พอมันสื่อแล้วมันความเข้าใจ ไอ้ตรงความเข้าใจของเรา เข้าใจเรื่องปัจจยาการ ความซาบซึ้งนะ ความซาบซึ้ง เห็นไหม ถ้ามันบอกว่าถูกส่วนหนึ่ง มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เข้าใจแล้วซาบซึ้งแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา มันซาบซึ้งแล้วมันจะดูดดื่ม
อันนั้นเป็นศรัทธา เห็นไหม มันเป็นความเชื่อความศรัทธา แต่มันไม่ใช่มรรคฆ่ากิเลสหรอก ถ้ามรรคฆ่ากิเลสนะ จะไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นมัคคอริยสัจจัง ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วมันจะแยกแยะ มันจะใคร่ครวญแล้วมันจะขาดออกไป สิ่งที่มันขาดออกไปจากใจ อันนั้นมันถึงจะเป็นสมุจเฉทปหาน
ถ้าสมุจเฉทปหานกิเลสออกไปจากใจมันถึงจะเป็นผล ถ้าไม่ได้สมุจเฉทปหาน มันวนเวียนอยู่ในอ่าง วนเวียนพายเรือในอ่างอยู่นั้น แล้ววนอยู่ในนั้น แล้วปฏิบัติกันจะไม่ได้ผลอยู่อย่างนั้น แต่ครูบาอาจารย์ก็พยากรณ์กันว่าใช่ๆ มันถึงเชื่อกันไป
ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ที่ชี้ตรง เราก็จะเห็นสิ่งนั้น แล้วที่ว่ามันน่าซึ้งใจตรงไหน ตรงที่มันพูดแล้วมันเข้าใจนี่สิ เวลาไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ พูดแล้วไม่เข้าใจ ไอ้ตรงพูดที่ไม่เข้าใจนะ ไอ้คนที่พูดแล้วไม่เข้าใจนี่มันจะผิด ไอ้คนพูดที่เข้าใจมันจะถูก...
ความเข้าใจมันเป็นโลกใช่ไหม? ความไม่เข้าใจ ธรรมเหนือโลกนะ มันไม่ใช่โลก มันเหนือโลก เราจะไม่เข้าใจหรอก ถ้าเข้าใจ คนต้องรู้ธรรมไปหมดสิ มันจะเข้าไปถึงบางอ้อเข้าไป พอปฏิบัติๆ เข้าไปแล้วอ๋อเข้าไป นี่มันสมุจเฉทปหานมันถึงเข้าใจ ไม่อย่างนั้นธรรมมันจะเหนือโลกได้อย่างไร?
ธรรมนี้เหนือโลก มันถึงไม่เข้าใจ แต่ความเข้าใจของเรา เราไปเชื่อแล้วเราเข้าใจ เข้าใจมันก็วนเวียนอยู่ในอ่าง แล้วก็จะเชื่อไป
พระกรรมฐานรู้ภูมิกัน พระกรรมฐานที่มีธรรมในหัวใจจะรู้ภูมิกัน พระกรรมฐานที่ไม่มีภูมิในหัวใจจะไม่รู้ภูมิเขา แล้วถ้าไม่เชื่อก็ไม่เชื่อด้วยความดื้อของตัวเอง ถ้าเชื่อก็เป็นเชื่อในความหลง หลงไปเลย
พระกรรมฐานที่มีภูมิรู้ภูมิกันก็มี พระกรรมฐานที่ไม่มีภูมิเลย ไม่รู้ภูมิของตัวก็มี แล้วยังชี้บอกให้คนอื่นเดินหลงผิดก็มี เพราะตัวเองเข้าใจผิดแล้วก็ชี้คนอื่นเดินหลงผิดด้วย นั่นมันเป็นอย่างนั้น เราต้องใคร่ครวญด้วยปัญญาของเราเอง แล้วเราจะรู้ตามความเป็นจริงของเรา เอวัง