เทศน์เช้า

ภพเป็นบำเหน็จ

๒๖ ส.ค. ๒๕๔๔

 

ภพเป็นบำเหน็จ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

..ตื่นนะ มันตื่นขึ้นมา มันรู้สึกมีคุณประโยชน์ขึ้นมาในชีวิตไง ในชีวิตเรานี่มีคุณประโยชน์มาก ประโยชน์กับเรา เห็นไหม เหมือนกับเราทำราชการแล้วออกได้บำเหน็จก้อนหนึ่ง ก้อนใหญ่ๆ ก้อนหนึ่ง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน บุญกุศลพาเกิดมานะ ได้บำเหน็จมาก้อนหนึ่งคือได้ร่างกายนี้มาไง ได้ชีวิตมานี่ได้บำเหน็จมาก้อนหนึ่ง แล้วบำเหน็จก้อนหนึ่งจะใช้อย่างไรให้มันตลอดไป? บำเหน็จก้อนหนึ่งใช้มันตลอดไป ใช้มีความสุขหรือใช้ให้มีความทุกข์ล่ะ? ถ้าคนเราใช้หมดมันก็หมดไป

เกิดเป็นคนเหมือนกับได้บำเหน็จมาก้อนหนึ่ง วิบากกรรม กรรมวิบากมันให้ได้ภพของมนุษย์ขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ทำคุณงามความดีไหม? จะไม่ทำคุณงามความดีก็มันเพลินไปในกามกิเลส นี่มันตื่นจากกิเลสตื่นจากตรงนั้นนะ ตื่นจากคุณงามความดี ตื่นจากความที่ว่ามันไปตามความคิดของมัน ให้มันทำคุณงามความดี ถ้าคุณงามความดีก็นี่ เรามาทำไมกัน มาวัดกันมาเพื่ออะไรกัน? มาวัดอะไร?

เพราะคนที่มาวัด มันเคารพตัวเองไง มันรักตัวเองไง มันเข้าใจว่าตัวเองมีคุณประโยชน์ตรงไหนไง ถ้าไม่เคารพตัวเองไม่รักตัวเอง ตัวเองมันคิดออกไป เห็นไหม มันบิดตรงนี้หน่อยเดียว ถ้ารักตัวเอง มันก็ทำคุณงามความดีเพื่อตัวเอง เห็นไหม มันก็ไม่ไปตามความเห็นของตัวเอง

ความเห็นคือมันอยากสะดวกมันอยากสบาย มันอยากจะเที่ยวสนุก มันอยากจะเพลิดเพลินไปประสามัน ถ้าอย่างนี้ มันคิดว่ามันจะเอาประโยชน์ให้กับตัวเอง เห็นไหม เอาคุณประโยชน์ เอาสาระแก่นสารให้กับเขา เขาจะได้เป็นสุข ความสุขอยู่ตรงนั้น

แต่เขาจะไม่ได้ความสุขตรงนั้นเลย เขาจะมีแต่ความว้าเหว่ เขาจะมีความทุกข์ในหัวใจของเขา แต่เขาไม่พูดออกมาเท่านั้น ในหัวใจของใครก็แล้วแต่ ทุกคนต้องรู้เรื่องความทุกข์ความสุขในหัวใจของตัวเอง

ถ้าฟังธรรมนี่ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เตือนตรงนี้ไง เตือนตรงที่ว่าให้เข้าใจตรงนี้ไง มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าธรรมนี้ลึกซึ้งมาก กว้างขวางมาก จนไม่สามารถจะขอบเขตของมันอยู่ตรงไหนได้ ลึกขนาดไหนหยั่งลึกไม่ได้ มันหยั่งลึกซึ้งขอบเขตกว้างขวางก็ตรงเรื่องของหัวใจ ไอ้ตรงความไม่เชื่อ

ความไม่เชื่อความไม่เข้าใจมันกว้างขวาง มันจะไม่มีขอบเขต จนแตะขอบเขตของมันไม่ได้ เพราะมันไม่เชื่อ มันตัณหาล้นฝั่ง ตัณหามันล้นออกไปจากฝั่ง มันไม่มีขอบเขตของฝั่ง มันเป็นไปตามความปรารถนาของมัน มันถึงไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันก็แสวงหาออกมาเพื่อตัวมันเอง จะไม่ได้ผลกับตัวมันเองเลย แต่ถ้าคนเรากลับมาหาที่จุดยืนนะ จุดยืนของตัวเอง เห็นไหม รักตนเอง หาที่พึ่งของตัวเอง หาบุญกุศลของตัวเอง

บุญกุศลของตัวเองนะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะสุขจะทุกข์ขนาดไหนก็แล้วแต่ มันแก้ที่หัวใจของเรา เราจะไปหาครูบาอาจารย์ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นผู้ชี้ทางให้เราเดินนะ” ชี้ทางเดินไป เราเดินไป จะถึงปลายทางก็มี คนเราเดินไปถึงปลายทางก็มี ไปครึ่งทางหยุดกลางทางก็มี คนที่ไม่เชื่อแล้วไม่ก้าวเดินเลยก็มี

ถ้าจุดยืนของเรา เราไม่ก้าวเดินออกจากหัวใจ เห็นไหม นี่วิบากกรรม ได้บำเหน็จมา ได้ร่างกายมา เกิดเป็นภพมนุษย์ขึ้นมาแล้วได้ฟังธรรมนะ ได้โอกาสแก้ไข

ดูสัตว์เดรัจฉานสิ เขาอยู่ของเขาไปวันๆ หนึ่งของเขา อยู่ประสาสัตว์ของเขา เขาไม่รู้เรื่องของเขาไป เขาเสวยของเขาไป แต่เขาก็ทำความดีความชั่วได้ เห็นไหม รัก เห็นไหม ความดีของเขา แม่รักลูก รัก เห็นไหม เป็นที่พึ่งในหมู่สัตว์ของเขา นี่คุณงามความดี

ทำบุญที่ไหน ทำดีที่ไหนเป็นความดีตลอด แต่ความดี เห็นไหม คนไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ควรทำบุญที่ไหน?” พระเจ้าพิมพิสารถามว่า “ควรทำบุญที่ไหน?”

“ควรทำบุญที่เธอพอใจ เธอพอใจที่ไหนให้ทำที่ตรงนั้น”

เพราะความพอใจนี่ ถ้ามีศรัทธาขึ้นมามันจะมีความพอใจ มันจะเริ่มมีการกระทำ แต่ถ้าจะเอาบุญกุศลขึ้นมาอย่างนั้นต้องอีกประเด็นหนึ่ง คือว่าทำแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ได้บุญมากที่สุด เพราะอะไร? เพราะเป็นเนื้อนาบุญของโลก เนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ ปฏิคาหก ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ เราแสวงหามา ทุกข์ยากของเราหามา หามาเพื่ออะไร? หามาเพื่อเป็นของเรา เป็นของเราแล้วเราสละออกไป

จากของที่เป็นโลกียะ ของที่เป็นโลก สมบัติโลกสละออกไปให้เป็นอริยทรัพย์ ของที่โยมทำบุญมาตั้งแต่เด็กมาจนนี่ ลองนึกกลับไปสิ ตั้งแต่ทำมากี่ปีนึกกลับไป ของที่เรานึกขึ้นมาได้มันก็ยังอยู่ เห็นไหม นั่นน่ะอริยทรัพย์หมายถึงว่ามันฝังลงที่ใจ เรานึกขึ้นมาขนาดไหนมันก็เป็นของที่ว่าสดๆ ร้อนๆ ไม่เคยเสียหายไปไหน ไม่บุบสลายเลยนะ ถ้าเราคิดถึงบุญกุศลของเรา

ความคิดอย่างนั้นบ่อยๆ เข้า ความคิดถึงบุญกุศลของเราแล้วบ่อยๆ เข้า เห็นไหม ย้ำคิดย้ำทำจนมันเป็นเนื้อเดียว เห็นไหม เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ภายใน เป็นทิพย์สมบัติไปกับใจ ใจดวงนี้มันเกิดมันตายไปตลอด แต่ตอนนี้ได้บำเหน็จมาก้อนหนึ่ง คือเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ แล้วจะใช้ชีวิตนี้ไปอย่างไร?

ถ้าใช้ชีวิตนี้ไป แล้วเราเพิ่มบำเหน็จ เราเอาไปลงทุน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “หาเงินมาได้นี่ ให้ใช้สอยส่วนหนึ่ง ให้ลงทุนส่วนหนึ่ง ให้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ส่วนหนึ่ง แล้วให้ฝังดินคือให้ทำบุญกุศลอย่างนี้ ให้ฝังดินไว้ส่วนหนึ่ง” ฝังดินคือการสละออกไปให้กับสมณะพราหมณ์ผู้ที่ว่าจะแสวงหาธรรม

ผู้ที่แสวงหาธรรมคือจรรโลงไว้ คือรักษาสิ่งนั้นไว้ให้เราเข้าถึงไง ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปจนถึงปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ไม่ขาดจากโลกเลย พระสงฆ์สืบต่อมาจากโลก แล้วเวลาบวชกันมา คลอดออกมา จตุตถกรรมคลอดออกมาจากโบสถ์ เห็นไหม สงฆ์ยกเข้าหมู่ สงฆ์บวชกันมาตลอดเวลา เห็นไหม เราให้ทานไปเพื่อผู้ทรงศีลทรงธรรม ทรงศีล เห็นไหม ถ้าอยู่ในศีลโดยสมบูรณ์เราก็ได้บุญนะ

ปฏิคาหก ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น ตั้งแต่เริ่มรับ ขณะที่รับ แล้วรับแล้ว เห็นไหม บุญกุศลของเราเป็นเนื้อนาบุญ เป็นผลประโยชน์ในศาสนา นี่ปฏิคาหกผู้รับ ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ตั้งใจให้บริสุทธิ์ เวลาให้แล้วก็มีความดีใจ ให้ไปแล้วไปคิดถึงย้อนหลังกลับไป เราคิดย้อนหลังกลับไปสิ คิดถึงว่าบุญกุศลของเรามันเป็นอริยทรัพย์ เห็นไหม นั่นน่ะบุญกุศลเกิดขึ้นมหาศาลเลย

นี่บำเหน็จก้อนนี้เอาไปทำคุณประโยชน์ให้กับชีวิตของเรา ชีวิตของเราจะเกิดขึ้นไป บำเหน็จมันจะมีมากขึ้นไป เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมบางคนเกิดมาทุกข์จนเข็ญใจ?

เพราะเขาเกิดมานะ เกิดมามืดไปสว่าง เห็นไหม เกิดมาทุกข์ยากจนเข็ญใจเหมือนกัน ในพระไตรปิฎกนะ มีทุคตะเข็ญใจอยู่คนหนึ่ง เขามีผ้าอยู่ผืนเดียว แล้วเขาจะออกจากบ้านไป สามีภรรยาผลัดกันนุ่งออกไป มีอยู่ผืนเดียวจริงๆ แล้วจะสละออกไปสละออกไม่ได้ สละออกไม่ได้เพราะอะไร? เพราะตัวเองสละออกไปตัวเองไม่มีเลย นี่ทุคตะเขาทุกข์ขนาดนั้นนะ

แต่เวลาเขาสละออกไปนะ เขาบอกว่า “เขาชนะแล้ว ชนะแล้ว” สละเดี๋ยวนั้นนะ บุญกุศลให้เดี๋ยวนั้น เพราะอะไร?

เพราะเขาสละเดี๋ยวนั้นแล้วเขาบอก “เขาชนะแล้ว ชนะแล้ว ชนะในความตระหนี่ของเขา” แต่กษัตริย์ที่นั่งอยู่ในนั้น “ชนะอะไร? ชนะอะไร?” ก็ไปถามว่า “ชนะอะไร? ถ้าชนะอย่างนั้นขอแบ่งบุญได้ไหม?”

กษัตริย์นั้นเลยให้ไง ให้เป็นบำเหน็จ ให้เงินให้ทองจนกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย

แต่ไอ้สิ่งนี้มันเกิดขึ้น บุญกุศลของใครของเขา ทำบุญกุศลนะ ความปรารถนา เจตนาของเราเปิดให้กว้างที่สุด ถ้าเราเปิดกว้างที่สุดขนาดไหน บุญกุศลจะเข้ามากที่สุดขนาดนั้น เจตนาเรากว้างขนาดไหน กว้างออกไปๆ แผ่ออกไป เปิดให้กว้างขึ้นไป ของมันจะเล็กน้อยหรือจะมากไม่สำคัญ สำคัญที่เจตนาความจงใจของเรา เราตั้งใจทำของเรา มันจะเป็นบุญกุศลของเรา มีของมีคุณค่ามหาศาลเลย แต่เวลาทำดึงไปดึงมามันไม่ลงใจไง ใจมันไม่ลงใจ นั่นล่ะมันเปิดเจตนาไม่กว้าง

นั่นน่ะบุญกุศลทำด้วย ไม่ใช่ว่าต้องให้สมบัตินั้นมันมีคุณค่าขึ้นมาขนาดไหน แต่คนถ้ามันมีหัวใจขึ้นมามันจะสละเอง สละของสิ่งดีๆ นั้นออกไปเอง สิ่งที่ดีขนาดไหนเพราะอะไร?

สิ่งที่ดีๆ ของโลกนี้ดีในสมมุติไง ดีเพราะคนให้ค่าไง แต่อริยทรัพย์นี้ไม่มีใครให้ค่าไง มันเป็นสัจจะความจริง ทำบุญกับพระนี้ พระเป็นไปรษณีย์เหรอ? ทำบุญกับพระถึงได้พระ...

ไม่ใช่! ทำบุญกับพระ พระนี้เป็นผู้ทรงศีล เห็นไหม มันเป็นขึ้นมาโดยสัจจะความจริง ผู้ทรงศีลนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทำบุญกุศลอันนั้นเป็นบุญกุศล สัจจะความจริงคือเราทำความดีอันนั้นให้บุญกุศล แล้วพระดีพระชั่วนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าพระไม่ดีนั้น บุญกุศลเราก็อ่อนไป แต่ถ้าพระดีขึ้นมา บุญกุศลเราจะมหาศาลขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำบุญกับพระ พระไม่ใช่ตัวที่ว่าจะต้องเป็นตัวหลักตัวเดียวว่าต้องทำบุญกับพระอย่างเดียว ทำบุญกับใครก็ได้ ทำบุญที่ไหนก็ได้

แต่ทาน เห็นไหม ทำบุญให้ขอทานเป็นทาน เห็นไหม แล้วจะทำบุญอย่างนั้น ทำบุญกุศลทำกับพระสงฆ์ผู้มีศีล เป็นบุญขึ้นมา มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าใจมันพัฒนาขึ้นมา มันจะเห็นขึ้นมา แล้วมันจะทำบุญกุศลของเราได้ บุญกุศลอันนี้มันถึงทำให้วิบากกรรมของเราถึงเป็นประโยชน์ไง บำเหน็จของชีวิตนี้ ชีวิตนี้มันทุกข์ยากแสนเข็ญขนาดไหน มันก็เป็นชีวิตเรา เราทำมา แล้วข้างหน้าจะไปขนาดนี้ จิตมันต้องเกิดอีก เห็นไหม จิตมันไม่มีวันดับสิ้น แล้วจะต้องไปทุกข์ยากขนาดนี้อีกหรือทุกข์มากกว่านี้อีก ถ้าทุกข์มากกว่านี้อีก เราจะทนได้ขนาดไหน?

แต่ขณะไปเป็นอย่างนั้น มันทนได้ตลอดไป กรรมมันให้ผลแล้วมันทนได้ แต่พอสละออกไป คนทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นั่นนะ ดูพระสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม พราหมณ์นิมนต์ไว้นะ จนลืมใส่บาตร ต้องกินข้าวของม้า ข้าวกล้องเอามาบดเฉยๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์นะ เป็นองค์ศาสดา จะเหาะเหินเดินฟ้า...

พระโมคคัลลานะบอกว่า “จะไปบิณฑบาตอีกทวีปหนึ่ง”

พระพุทธเจ้าบอก “จะทำอย่างไร?”

“จะจับมือพระแล้วเหาะไป” ว่าอย่างนั้นนะ

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่ยอม ไม่ยอม ให้ทนอยู่กับความทุกข์ยากอันนั้น” จนออกพรรษานั้น พราหมณ์ถึงนึกได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุญกุศลเวลาให้มานี่เกลื่อนกลาดไปหมดเลย เป็นบุญกุศล แต่ถึงเวลาที่ว่ากรรมให้ผล เห็นไหม ก็ต้องให้ผลอย่างนั้น นี่เวลากรรมให้ผล

เราก็เหมือนกัน เราจะทุกข์ยากขนาดไหน เวลากรรมให้ผลมันยอมรับกรรมอันนั้น มันต้องเป็นไปตามกรรมอันนั้น นี่เราทำคุณงามความดี กรรมดีไง กรรมดีเหมือนกับน้ำเราสะสมในก้อนชีวิตของเรานี้ สะสมชีวิตของเราให้มันเป็นบุญกุศลไปข้างหน้า มันจะไม่มี ปัจจุบันนี้เราก็สบายใจ เรามีความสุขใจ เราเป็นผู้ให้ แล้วถ้ามันมี อนาคตข้างหน้าเราจะไปเสวยบุญกุศลที่เราทำไว้

ปัจจุบันนี้มีความสุข แก้ที่ปัจจุบันนี้ทั้งหมด กิเลสแก้ที่ปัจจุบันนี้ บุญกุศลนี้เป็นเครื่องอยู่อาศัยไป แต่กิเลสแก้ที่ปัจจุบันแล้วจบกันที่ปัจจุบันนี้ อนาคตต่อไปนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน แล้วมันไม่หมุนเวียนไป แต่ในเมื่อเราแก้กิเลสของเราหมดสิ้นไม่ได้ เราต้องอาศัยบุญกุศลตลอดไป เราก็ต้องสร้างสมของเราขึ้นไป สร้างสมไปจนกว่ามันจะเป็นถึงที่สุดของเรา

มันถึงบอกว่าบำเหน็จของเรามันจะเพิ่มบุญกุศลขึ้นมา บำเหน็จคือชีวิต ชีวิตนี้เป็นบำเหน็จนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่บุญกุศลพาเกิด ถึงว่าเป็นบำเหน็จของเราเอง เราสร้างมาเอง เราทำของเราเอง มันถึงหมุนเวียนมาให้เราได้ชีวิตของเรานี้ขึ้นมา

แล้วได้ชีวิตขึ้นมาแล้วฟังธรรม ฟังธรรมะคือว่าเตือนชีวิตนี้ไง เตือนให้เราไม่ประมาทไง เตือนว่าเราเกิดมาแล้วมีชีวิตจิตใจ เราจะสร้างคุณงามความดีได้ขนาดไหน เราไม่หลงเพลินไปกับความคิดหลอกลวงของความคิดเรา

ความคิดของเราเป็นหลอกลวงตัวเอง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทวนกระแส ให้เราทวนกระแสความคิดย้อนกลับเข้าไปในจุดยืนของจิตคือสัมมาสมาธิ แล้วจุดยืนของจิตนั้นจะแก้ไขพลิกแพลงให้เราวิปัสสนาขึ้นมาได้ มันจะแก้ไขให้เราเป็นคนดีขึ้นมา เป็นใจดีขึ้นมา แล้วมันจะหมุนเวียนไปไหนมันก็หมุนดีไป มันเป็นบุญกุศลของเรา

นี่วิบากกรรมถึงสร้างบุญกุศล กับวิบากกรรมไหลไปตามกระแสของโลกเขาไปนะ วิบากกรรมอย่างนั้นเป็นวิบากกรรมของเรา แต่วิบากกรรมของเรากับวิบากกรรมของเขาแก้ที่ตนเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนบอกว่า “บุคคลนั้นทุกคนให้แก้ที่ตัวเองที่สุด แก้ตัวเอง รักษาที่ตัวเอง แล้วตัวเองจะแก้ไขได้ ถ้าคนอื่นแก้ไขได้ก็เพียงแต่ชี้นำเท่านั้น ทุกอย่างต้องอยู่ที่ตัวเอง ต้อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น” เอวัง