จิตหนึ่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
โยม : จิตมันไม่รวมดิ่งเป็นหนึ่ง มันสงบอย่างเดียว
หลวงพ่อ : แล้วกำหนดพุทโธหรือ
โยม : ตั้งแต่ท่านอาจารย์สอนให้พุทโธ โยมพุทโธตลอดเลย
หลวงพ่อ : แล้วพุทโธตลอดนี่ พุทโธยาวขนาดไหน
โยม : ส่วนใหญ่ก็จะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตลอดเลยนะคะ พอรู้ตัวก็พุทโธ พุทโธ พุทโธตลอดเลยค่ะ
หลวงพ่อ : ย้ำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธตลอดไปเลย แล้วพิสูจน์กันว่ามันจะลงไม่ลง
โยม : ทีนี้ท่านอาจารย์คะ ถ้าพุทโธไปแล้วบางครั้งมันเกิดปัญญาขึ้นมา โยมก็หยุดพุทโธแล้วก็มาพิจารณา อันนี้ก็ใช้ได้ใช่ไหมคะ
หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงในการปฏิบัตินี้ใช้ได้ แต่ทีนี้ต้องเอาประเด็นตรงที่โยมถามนี้ ก่อน โยมถามว่า พุทโธแล้วทำไมจิตมันไม่ลงดิ่ง ไม่ลงดิ่งเพราะว่ามันต้องตัดใจไง มันต้องตัดใจ สมมุติถ้าเราจะพุทโธๆๆ เอาลงดิ่งนี่ ปัญญาอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องพักไว้หมดเลย
โยม : อ๋อ ไม่คิดอะไรเลย ไม่พิจารณาอะไรเลย
หลวงพ่อ : ใช่! พุทโธๆๆ อยู่อย่างนั้น แล้วมันจะไปไหนก็พุทโธๆๆ อยู่อย่างนั้นเพราะคำนี้เป็นคำพูดของหลวงปู่เจี๊ยะ เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะไง หงบ มึงพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธเร็วๆ อย่างเดียว
ทีแรกเราไม่ยอม เราใช้ปัญญานี่แหละ ท่านก็หาเหตุหาผล อัดกันจนเราฟัง พอเราฟังแล้วท่านก็บอกเลย ถ้าพุทโธนะ พุทโธสัก ๗ วัน ๘ วัน มันจะลงสัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที พุทโธมากกว่านั้นมันก็ลงสักครึ่งชั่วโมง-ชั่วโมงหนึ่ง ทีนี้พอเราฟังอย่างนั้นปั๊บ เราก็ตัดสินใจเลย เพื่อจะพิสูจน์สิ่งนี้ จะไม่ใช้อะไรเลย พุทโธอย่างเดียว พุทโธๆๆ ถ้านึกได้จะพุทโธอย่างเดียวเลย ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น พุทโธๆๆ ไปเป็นเดือนๆ
พอหลายๆ เดือนนะ พุทโธๆๆ นี่ล่ะ โอ้โฮ จิตมันควงลง มันเหมือนเราโดดหอนะ แต่เขาโดดหอเขาโดดตรงๆ ใช่ไหม อันนี้โดดหอด้วยแล้วมันควงอย่างนี้ วื้ด วื้ด วื้ด วื้ดๆๆๆ กึ๊ก ! หลายชั่วโมง แล้วคลายออกมา
เออ หลวงปู่เจี๊ยะพูดจริง ตอนนี้พอโยมพุทโธๆๆ นะ เราต้องคุยกันก่อน ตั้งเป้าก่อนไง บารมี ๑๐ ทัศ อธิษฐานบารมี ศีลบารมี ทานบารมี ทีนี้เราไปตั้งเป้าคืออธิษฐานบารมี เราตั้งเป้าว่าเอาอะไร ในการวิปัสสนา ในการภาวนา ที่โยมโทรศัพท์มาคุยกับเรา เราถือว่าถูก ใช้ได้ ถูกใช้ได้เพราะอะไร เพราะว่าบางทีเราใช้พุทโธๆๆ มันไม่ก็ไม่ค่อยดี แต่ปัจจุบันนี้เราใช้พุทโธเลย ทีนี้พอปัญญามันเกิดขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอาจิตเป็นหนึ่ง
เราจะให้จิตเป็นหนึ่งใช่ไหม แต่จิตเป็นหนึ่งนี้มันทำได้ ๒ แนวทาง แนวทางหนึ่งคือ พุทโธๆๆ จิตเป็นหนึ่งได้ ในปัญญาอบรมสมาธิ จิตก็เป็นหนึ่งได้ แต่ถ้าเมื่อเราเอา ๒ แนวทางนี้มารวมกัน เพราะอย่างเช่นเราเดินทาง พอเราเดินมาทางบก พอถึงต่อเรือ เราก็ลงเรือ แล้วก็บอกว่าลงเรือแล้วทำไมมันเมาคลื่นล่ะ อ้าวก็มึงลงเรือ แต่ถ้าขึ้นบกก็อีกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอเอา ๒ อย่างมารวมกัน ไอ้ความเป็นหนึ่งอย่างนั้นมันจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
แต่ถ้าเราจะเอาความเป็นหนึ่ง เราจะไปรถอย่างเดียวจะไม่ลงเรือเลย พุทโธๆๆ แล้วยันกัน คำว่ายันกันนี่นะ โยมเป็นโยม อย่างเรานี่เป็นผู้ชาย แล้วอย่างเรานี่เป็นคนที่แบบว่า ถ้าทิฏฐิก็ทิฏฐิพอสมควร แล้วพอทิฏฐิปั๊บ ใครพูดสิ่งใดแล้ว ลูกผู้ชายกับลูกผู้ชายต้องพิสูจน์ ทีนี้พอหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ต้องพิสูจน์! พอต้องพิสูจน์ก็ พุทโธใช่ไหม พุทโธเฉยๆ ใช่ไหม พุทโธเร็วๆ ใช่ไหม พุทโธอย่างเดียวใช่ไหม พุทโธไม่เอาสมาธิใช่ไหม ท่านพูดอย่างนี้เลยนะ พุทโธแบบไม่ต้องเอาสมาธิ ไม่ต้องการสมาธิ ถ้าเราต้องการสมาธินะ มันพุทโธไป ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันยังหวังสมาธิอยู่อีก ๑๐เปอร์เซ็นต์
โยม : ใช่ ท่านอาจารย์พูดถูกเลยคะ โยมเป็นอย่างนั้น
หลวงพ่อ : ถ้ายังหวังสมาธิอยู่นะ ท่านถึงบอกว่า พุทโธนี้ไม่ต้องหวังอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรเลย แล้วไม่อยากได้อะไรเลย พุทโธ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง พุทโธไม่เอาสมาธิ พุทโธๆๆ ไม่เอาสมาธิ ไม่เอาอะไรเลย
โยม : โอ้ แหม โยมไม่ได้ทำอย่างที่อาจารย์สอน คืออย่างนี้นะคะ โยมนะ พอพุทโธๆๆ เสร็จ ไอ้ตัวกิเลสมันมาบอกว่า มึงพุทโธอย่างเดียวมึงก็โง่สิ ไม่มีปัญญา ท่านอาจารย์มันว่าอย่างนี้เลยนะ มันก็ไม่มีปัญญาน่ะสิอย่างนี้ โอ้โฮ ถ้าโยมมาฟังท่านอาจารย์อย่างนี้โยมเอาพุทโธอย่างเดียวเลยล่ะ
หลวงพ่อ : ก็บอกแล้วไง ว่าอธิษฐานบารมี เป้าหมายคืออะไร ถ้าเป้าหมายเพื่อจิตหนึ่ง คำว่าจิตหนึ่ง มันไม่ใช่ปัญญา มันไม่ใช่การแก้กิเลส แต่มันเป็นการพิสูจน์กันว่า จิตหนึ่งเป็นหนึ่งได้หรือเปล่า เพราะอย่างนี้เวลาเราพูดธรรมะเห็นไหม เวลาใครเถียงมา จะคุยกันเรื่องอะไรล่ะ ถ้าคุยเรื่องจิตหนึ่งก็จิตหนึ่ง ถ้าคุยกันเรื่องธรรมะนะ เอโกธัมโมไม่ใช่จิตหนึ่ง ธรรมอันเอกไม่ใช่จิตหนึ่งนะ จิตหนึ่งนี้คือจิตที่มีกิเลสนะ แล้วทีนี้เราหวังอะไรล่ะ การปฏิบัติของเรามันก็มีพื้นฐานใช่ไหม ทุกคนเป็นเด็กมาก่อน นั่งด้วยกันใครบ้างไม่เป็นเด็กมาก่อน ทุกคนก็เป็นเด็กมาทั้งนั้น
โยม : จิตหนึ่งไม่ใช่เอโกธัมโมหรือคะ
หลวงพ่อ : ไม่ใช่!
โยม : หรือคะ โอ้ย โยมยังเข้าใจว่า จิตหนึ่งเป็น เอโก ธัมโม
หลวงพ่อ : นี่ไง มันต้องพิสูจน์ทีละขั้นๆ ไง จิตหนึ่ง จิตหนึ่งก็จิตสมาธิ ฐีติจิต ทางปริยัติบอก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะเราเกิดจากอวิชชา แต่หลวงปู่มั่นบอกว่า อวิชชาเกิดจากอะไร อวิชชามันมาฟ้าหรือ อวิชชาเกิดจากฐีติจิต ถ้าอวิชชาเกิดจากฐีติจิต ฐีติจิต-จิตหนึ่ง เห็นไหม อ้าว ถ้าจิตแท้แล้วเกิดอวิชชาได้ยังไง
ถ้าคนเป็นนะมันจะพูดได้ถูกหมด เพราะมันมีกระบวนการของมันมา เวลาเราพูดถึงธรรมชาติของจิต จิตมันเป็นอย่างนี้ ที่เขาบอกว่ารู้วาระจิต จิตส่งออกทั้งนั้น จิตส่งออกหมด ขึ้นชื่อว่าจิตคือส่งออก เพราะจิตคือพุทธะ พุทโธคือพลังงาน พลังงานมันต้องคลายตัวตลอดเวลา ไม่มีจิตตัวไหนไม่ส่งออกเลย ไม่มี!! เว้นไว้แต่พระอรหันต์เท่านั้น
ทีนี้พอจิตส่งออกนี่คือธรรมชาติของจิตไง กระบวนการของจิต ธรรมชาติของจิตมันจะเป็นอย่างนี้ๆ มา แล้วเวลาผู้ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติทวนกระแสกลับเข้าไป จนจิตนี้สิ้นกิเลส กระบวนการของมันเป็นกระบวนการอันใหม่แล้ว ทีนี้กระบวนการ ๒ กระบวนการ จากที่หมายอันเดียวกันคือจิต ฐีติจิตคือจิตเดิมแท้ คือจิตหนึ่ง กระบวนการของจิตหนึ่ง ถ้าเป็นจิตกิเลส มันจะออกมาเป็นโลก เป็นกิเลส
กระบวนการของจิตหนึ่งนี้ถ้ามันเข้าไปถึง เอโกธัมโม จิตที่เป็นธรรมะแล้ว กระบวนการของมันคือ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นภาระเห็นไหม แต่ถ้าเป็นจิตหนึ่ง คือกิเลสทั้งหมดเป็นขันธมาร ขันธ์เป็นมาร แต่ถ้าเป็น เอโก ธัมโม ขันธ์เป็นภาระ ขันธ์เป็นธรรม มันคนละเรื่องเลย ถ้าพระอรหันต์นะ มันเป็นกิริยาทั้งหมด ไม่มีเจตนา ไม่มีกิเลส
โยม : เอโก ธัมโม ก็คือธรรมะอย่างเดียว
หลวงพ่อ : ใช่ ใช่ ใช่ เอโก ธัมโม ธรรมอันเอก ทีนี้จิตหนึ่งนี่มันจิตของกิเลสไง กระบวนการของมันถ้าเรายังไม่เข้าใจ เราศึกษาก็ไม่เข้าใจแล้วนี่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านคุยกับเรา หรือครูบาอาจารย์จะแก้ไขเรา แล้วท่านเสนอแนวทางมา ต้องพิสูจน์! พอจะพิสูจน์กรณีนี้ อันอื่นวางหมดเลย พิสูจน์จิตหนึ่ง แล้วเป็นไหม เป็นจริงๆ ว่ะ
พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราจะแก้ไขยังไงนั้นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงตรงนี้ เราจะแก้อะไรกัน ก็งงหมดไง ขึ้นต้นก็ด้วยความเป็นนิวรณ์แล้ว ขึ้นต้นด้วยความงงแล้ว ต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นเรื่องความลังเลสงสัยหมดเลย ความลังเลสงสัย นิวรณธรรม คือความงง เห็นไหมความสงสัย ขึ้นต้นด้วยความสงสัย เดินไปก็เดินไปด้วยความสงสัย จบลงตรงความสงสัย ยิ่งไม่ได้อะไรเลย
ฉะนั้น ถ้ากรณีอย่างนี้ จิตหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ ให้ทำยังไงบอกมา หลวงปู่เจี๊ยะบอก พุทโธอย่างเดียว แล้วอย่างที่ว่า ถ้าพุทโธมึงขนาดนี้ จะได้สมาธิแค่นี้ ท่านพูดไว้หมดเลยนะ ถ้าพุทโธมาก พอจิตมันลงนิดเดียว ถ้าพุทโธมึงต่อเนื่องไปมันจะลงได้ครึ่งชั่วโมง มันจะลงได้ชั่วโมง เราก็อัดพุทโธอย่างเดียวเลย แล้วเมื่อก่อนก็พุทโธประสาเรา คำว่าประสาเราหมายความว่า พุทโธก็พุทโธตามลมหายใจ พุทโธที่เราไม่เหนื่อยยาก แต่พอท่านบอกว่าต้องพุทโธอย่างเดียว แล้วต้องถี่ๆ ด้วย เร็วๆ ด้วย คราวนี้พุทโธเหนื่อยยาก เพราะต้องอยู่กับพุทโธๆ พุทโธๆ เราพุทโธอย่างเดียวเลย
โยม : ท่านอาจารย์ บางทีมันพุทโธๆๆ มันก็ไม่อยากจะพุทโธเลยนะ
หลวงพ่อ : บังคับ! เพราะเกิดทิฏฐิอยากพิสูจน์ นิสัยไง เราจะพิสูจน์สิ่งใดเราต้องซื่อสัตย์กับสิ่งนั้นก่อน ในเมื่อเราจะพิสูจน์ว่าพุทโธตลอดไปแล้ว มันจะเป็นสมาธิได้หรือไม่ได้ สิ่งนี้มันเป็นทิฏฐิว่าเราอยากพิสูจน์อยู่แล้ว ถ้าเราอยากพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงหรือไม่จริง เราต้องกำหนดพุทโธให้ได้ต่อเนื่อง ค่าของความร้อน ค่าอะไรต่างๆ ถ้ามันไม่สมดุล มันจะเกิดสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าเราต้องการพิสูจน์พุทโธ แล้วเราท่องพุทโธครึ่งๆ กลางๆ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วเราจะไปโทษใครว่าเราจะพิสูจน์อะไรล่ะ
โยม : แล้วทีนี้อีกประการหนึ่งนะคะท่านอาจารย์ที่ว่า หลวงตาก็สอน แล้วครูบาอาจารย์สอนว่า ถ้าจิตมันเริ่มจะสงบ เราก็สามารถออกพิจารณาได้ อย่างนี้ค่ะ โยมก็เลยถึงได้เอามา มันไม่ชัดเจนอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า
หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณี สมถวิปัสสนา กรณีอย่างที่โยมพูดนะ ถูก กรณีนี้เป็นสมถะแล้ววิปัสสนา แต่ในกรณีที่ว่า เราจะพิสูจน์กันเรื่องจิตหนึ่งก่อน อย่างเช่น โยมจะมาที่นี่ ข้างทางนี้เขาบอกว่ามีเขาช่องพราน เขาช่องพรานนี้มีค้างคาว โยมก็ผ่านไปผ่านมา โยมไม่เคยเห็นค้างคาวสักที เขาบอกว่ามีค้างคาว วันนี้จะไปดูค้างคาวใช่ไหม เพราะค้างคาวมันออกตอนเย็นใช่ไหม เราต้องจอดรถเลย กูรอจนค่ำเลย ค้างคาวจะออกไม่ออก ออกก็เออ กูเห็นแล้ว
อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะพิสูจน์คำว่าจิตหนึ่ง เราไม่ต้องไปสนใจ ถ้าจะมาที่นี่ใช่ไหม แต่ในเมื่อเขาบอกว่าถ้ำเขาช่องพรานมีค้างคาว เราไม่มาที่นี่ เราจอดที่นั่นเลย จากนั้นเราก็ดูพิสูจน์กันเลย จบ พอจบแล้วนะ เออ กูรู้แล้ว แล้วจะมาที่นี่ หลวงตาบอกว่า ถ้าจิตสงบแล้ว ให้วิปัสสนา ให้เราออกใช้ปัญญา ใช่ มาที่นี่ แต่ที่นี่ยังมาไม่ถึง ยังมาไม่ได้ แล้วไอ้ทางโน้นก็ยังสงสัยอยู่ เราควรจะเลาะความสงสัยแต่ละที่ให้มันเข้าใจแจ่มแจ้งหมด เราจะไปได้โล่ง กว้างหมดเลย ไอ้นี่ หลวงตาก็ว่าอย่างนั้น ไอ้นี่ก็จะว่าอย่างนี้ หมุนติ้วๆ มึงไปไหนไม่ถูกเลยล่ะมึง
โยม : เอ๊ะ ท่านอาจารย์อย่างนั้น ถ้าเอโกธัมโมก็สำหรับพระที่สิ้นกิเลสแล้วสิ ถ้าคนธรรมดานี่ไม่เอโกธรรมโม
หลวงพ่อ : ใช่! ไม่มีทาง ไม่มี!!
โยม : แหม โยมยังเข้าใจว่าบางทีตัวเองนี่เอโกธัมโมเลย
หลวงพ่อ : มันไม่มีเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเอโกธัมโม ในธรรมจักร อาทิตต อนัตตลักขณะ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป ต้องอาสวะสิ้นไปถึงจะเป็นเอโกธัมโม อาสวะไม่สิ้นไปเป็นเอโกธัมโมไม่ได้ ไม่ได้หรอก อาสวะมันควบคุมอยู่ มันเป็นเอโกไม่ได้ เอโกธัมโม ต้องพระอรหันต์เท่านั้น
โยม : พระอรหันต์เท่านั้นเอง
หลวงพ่อ : พวกเรานี่นะ ที่เขาบอกเห็นไหม ในหนังสือเขาก็อีกล่ะ ที่เขาเถียงกัน บอกว่าจิตของมนุษย์ทุกคน มีนิพพานอยู่ในจิตอยู่แล้ว แค่อยู่เฉยๆ นิพพานจะโผล่ขึ้นมาเอง โอ้โหย อย่างนั้นก็สบายตายเลยนะสิ จิตทุกดวงมีนิพพานอยู่แล้วไง แค่อยู่ธรรมดาธรรมชาติแล้วนิพพานก็จะโผล่ขึ้นมาเอง ก็เลยกลายเป็นการปฏิบัติอย่างนั้น เขาพูดกันนะมันฟังแล้ว ไอ้คนที่ไม่ปฏิบัติมันก็ว่าน่าทึ่งนะ มันก็ว่าน่าจะใช่เนาะ แต่จริงๆ มันจะได้รึเปล่า ไม่มีทาง มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่ธรรมะเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ทุกคนเกิดมา จิตนี้มีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน เพราะจิตทุกดวงเข้าสู่นิพพานได้ เห็นไหมคำนี้ต่างหากล่ะ มันบอกว่า ทุกคนนะมีจิต จิตมีศักยภาพที่จะเข้าได้ หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านพูดบอกว่า ธรรมนี้สิ่งที่จะสัมผัสได้ คือ ความรู้สึกของคนเท่านั้น คือใจเท่านั้นที่สัมผัสธรรมได้ อย่างอื่นไม่ใช่ พระไตรปิฎกเห็นไหม ท่านบอกเลยนะ กระดาษเปื้อนหมึก แต่พวกเราไปเคารพไปบูชากันตรงนั้น แต่เราไม่เคารพถึงหัวใจของเรา
ไอ้จิตของเราที่จะเข้าสัมผัสนี่ล่ะ ไอ้จิตหนึ่งนี่ล่ะ มันมีคุณค่าอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจิตนี้เป็นนิพพานอยู่แล้ว ถ้าจิตมีนิพพานอยู่แล้ว จิตจะไม่มาเกิด เพราะมันมีนิพพานมันจะมาเกิดได้อย่างไร
โยม : ทีนี้โยมจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์นะคะ โยมก็สงสัยมานานแล้วว่า เมื่อปี ๔๕ นี้เองนะคะ โยมไปภาวนาที่เขาซ่อนหม้อนะคะ โยมนี้เดินทั้งวันทั้งคืนเลยนะคะ ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งมันเพลียมาก โยมก็เลยนอนไป อย่างเมื่อเช้าที่ท่านอาจารย์เทศน์ว่าร่างกายต้องพักผ่อน ทีนี้วันนั้นถึงตี ๔ โยมก็เลยง่วงมาก คือเดินจงกลมทั้งคืนเลย ก็ไปนอน นอนเสร็จว่าตี ๕ จะตื่นขึ้นมา นอนสักชั่วโมงมันลุกไม่ไหว มันก็เลยตื่น ๖ โมง พอตื่น ๖ โมง วันนั้นตื่นขึ้นมาร่างกายเลยสดชื่น พอวันนั้นบ่ายโมงเดินจงกรมประมาณชั่วโมงเดียว โยมตีสมมุติแตกเลยนะคะ หมายถึงว่า นี่พูดแล้วยังน้ำตาจะไหล มันซาบซึ้ง
คือเดินไป หัวทางจงกรมมันมีต้นไม้ พอมองไป โอ้โฮย ไอ้ต้นไม้เหมือนผีหลอกท่านอาจารย์ ในความรู้สึกนะ มันตั้งของมันเฉยๆ มันไม่มีความหมายว่ามันเป็นอะไรเลย แต่เราก็ไปว่ามันว่าเป็นต้นไม้ แล้วก็ไปใส่ชื่อให้มันอีกนะ มันเห็นโลกนี้เป็นสมมุติไปทั้งหมดเลย แดดส่องมาก็สมมุติ น้ำไหลมาก็สมมุติ ดินฟ้าอากาศสมมุติทั้งหมดเลย มันไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไร หมดเกลี้ยงเลยในความรู้อันนั้นในตอนนั้นนะคะ
ทีนี้มันเปลี่ยนไปเลยท่านอาจารย์ จิตโยมก่อนหน้านี้ โยมยังโลภนะ บวชใหม่ๆไม่ใช่ไม่โลภนะท่านอาจารย์ จะไปซื้อดอลล่าร์เลยค่ะ จะเก็งกำไร จะคิดไอ้นู่นไอ้นี่ แต่พออันนี้เกิดขึ้นมา โยมพลิกเลยนะ ไอ้เรื่องจะไปสึกนี้ไม่มี ชาตินี้นะคะ แล้วเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีสาระ ในโลกนี้ไม่มีสาระทั้งหมดเลย มันเป็นอย่างนี้มันเปลี่ยนเลย จิตนะคะ
หลวงพ่อ : เราสรุปได้เลยล่ะ โยมจบยัง?
โยม : ยังค่ะ ยัง
(เสียงผู้ฟังหัวเราะ)
หลวงพ่อ : นั่นล่ะ เราสรุปได้เลย นี่ธรรมเกิด แต่ธรรมเกิดเราพูดกับพวกนี้บ่อย ว่าธรรมเกิด ไม่ใช่อริยสัจเกิด หลวงปู่มั่นอยู่ในป่า แล้วลงมาจากเชียงใหม่ มาเฝ้าสมเด็จมหาวีรวงศ์ มั่นเอ๊ย เธออยู่ในป่า เธอไปฟังเทศน์ใครวะ เรานี่นะเป็นสมเด็จใช่ไหม สั่งสอนเขาอยู่ อยู่กับทางวิชาการทั้งหมดเลย อยู่กับตำราทั้งหมดเลย เรายังต้องค้นคว้าตลอดเวลาเลย แล้วท่านอยู่ในป่าท่านฟังไปเทศน์ใคร หลวงปู่มั่นบอกว่า เกล้ากระหม่อมฟังเทศน์อยู่ทั้งวันทั้งคืนเลย นี่ไง ธรรมมันเกิด ฟังเทศน์นี้ ถ้าคนที่ไม่ภาวนาจะไม่เข้าใจตรงนี้ ถ้าคนภาวนาเวลาจิตมันสงบขึ้นมา ธรรมะเกิด อย่างที่หลวงตาท่านพูดเห็นไหม เวลาท่านภาวนาของท่านไป ท่านมองภูเขานี่นะโล่งหมดเลย มันทะลุได้หมดเลย แล้วท่านก็มหัศจรรย์ใจ จิตของท่าน ตอนที่อยู่ดอยธรรมเจดีย์
โอ้โฮ จิตของคนมหัศจรรย์ขนาดนี้ ทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ ท่านบอกเลย ธรรมะเกิด ธรรมมาเตือน ธรรมะของคนไม่เท่ากัน ธรรมะของคนมีใหญ่มีแคบมีเล็กแตกต่างกัน เล็กใหญ่นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาที่สร้างมา คืออดีตชาติสร้างมา ใครสร้างมามากธรรมะก็เยอะ ธรรมะคือปฏิภาณไหวพริบ พอมันมหัศจรรย์อย่างนั้นปั๊บ หลวงตาบอกว่าธรรมะมาเตือน กลัวว่าท่านจะหลงไง ความสว่างไสวเกิดจากจุดและต่อม นี่คือธรรมะเตือนนะ
แต่ทีนี้ของโยมเห็นไหม เวลาเห็นต้นไม้ จิตมันมีความสงบของมัน นี่ธรรมมันเกิด สัจธรรมมันเกิด ทีนี้สัจธรรมมันเกิดมันก็เป็นสมมุติไง มันเปลี่ยนความรู้สึกได้ แต่! แต่ความรู้สึกอันนี้ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ ความรู้สึกอันนี้ ธรรมะมันเกิดนะ ธรรมะเตือนเห็นไหม มันเปลี่ยนแปลงได้มีความคิดดีๆ แต่ความคิดดีๆ นี้มันก็ยังเป็นอนิจจังอยู่ไง
โยม : แต่ท่านอาจารย์คะ ไอ้โลภ โกรธ หลงนี่มันเบาบางไปมากเลย แล้วเรื่องอะไรที่คิดจะสึกไปอยู่กับโลกนี่ไม่มีทางเป็นไปได้เลยค่ะ ท่านอาจารย์
หลวงพ่อ : มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ ไม่อยากจะเอ่ยชื่อเลย ถ้าเอ่ยชื่อไปเดี๋ยวมันจะมีชื่อเขาติดในเทป เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นคนที่ อู้ฮูย เมื่อก่อนเป็นนักรบนะ กินเหล้าเมายา เป็นคนที่โทสะ เขารู้ของเขาเองนะ เราเป็นคนขี้โกรธนะ เราจะรู้ตัวเราเอง เขาบอกเมื่อก่อนเขาโทสะแรงมากเลย แต่พอมาปฏิบัติธรรมนะ อู้ย เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย เหล้าก็ไม่กิน โกรธก็ไม่มี ทุกอย่างไม่มีหมดเลย นี่มันเปลี่ยนโปรแกรมตรงนี้ได้ไง
แล้วตรงนี้มันเป็นที่ว่า ชาวพุทธเราผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่จะเอาตรงนี้มาเป็นจุดขายไง เมื่อก่อนนี้เป็นคนชั่วช้ามากคนๆ นี้ พอปฏิบัติธรรมเดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย เดี๋ยวจะรู้ว่าพระนี่ขี้โลภ เดี๋ยวจะรู้ว่าพระนี้จะเอาเท่าไหร่ คนดีคนนี้ มันดีของมันอยู่ แต่จิตใต้สำนึกเราดีนะแต่เวลามันกระทบ เวลาความโลภกิเลสมันขึ้นมา เราไม่รู้ตัวเราหรอก เราแสดงออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
โยม : มันละเอียดจนมองไม่เห็นมัน
หลวงพ่อ : ใช่ แต่ถ้าเรามีสติเราควบคุมได้นะ เมื่อก่อนนี้เป็นคนที่เลวมากเลย แต่เดี๋ยวนี้เป็นคนดีเห็นไหม เราเป็นพระด้วย แต่อย่าเอามาล่อนะ เดี๋ยวจะเอา จะเอา
โยม : แต่โยมไม่เชื่อท่านหรอก
หลวงพ่อ : ก็ยังจะเอาอยู่เห็นไหม เอามาล่อ เห็นไหมมันได้ระดับหนึ่ง อันนี้มันเหมือนที่พูดตอนเช้า ความคิดจากขันธ์ ความคิดจากข้างนอก แต่ความคิดที่เกิดจากจิตนี้มันยังไม่เกิด ถ้าความคิดเกิดจากจิต มันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โยม : โยมถึงได้บอก โยมปฏิบัติธรรมถึงได้รู้ว่า ไอ้การที่เราจะเข้าถึงตัวจิตจริงๆ นี่มันไม่ใช่ของง่ายเลย มันยากมากค่ะ แต่นานๆ โยมถึงจะเข้าถึงตัวจิตทีนึงค่ะท่านอาจารย์ มันยากมากค่ะ
หลวงพ่อ : ใช่ เพราะมันยากด้วย แต่มันไม่สุดวิสัยของมนุษย์ เวลาปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ พวกเรามีความมุ่งหมาย มีสิ่งปรารถนา อยากจะทำสิ่งให้ได้นี้กันทุกๆ คนนั่นล่ะ แต่พอทำแล้ว มันต้องให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เรามีความมุ่งหมายอยากจะทำให้ได้สิ่งนี้ แล้วเราก็จะไปทำให้มันเรียบง่าย คือทำให้มันง่าย ให้มันได้ผลโดยที่เราคิดอยากได้ผล นี่แหละที่หลวงตาบอกว่า เราให้คะแนนหรือตัดคะแนนตัวเองไง เราไม่มีสิทธิให้คะแนนหรือตัดคะแนนตัวเอง มันต้องให้อริยสัจ ให้สัจจะความจริงนั้น เป็นผู้ให้ตามความเป็นจริง
ถึงบอกว่า เกิดในธรรม เกิดในอริยสัจ เกิดในความเป็นจริงไง มันต้องเกิดโดยธรรมชาติของมัน อย่างเช่นลูกหลานเรา เราจะให้แต่คนนี้ๆ มาเกิดกับเราไม่ได้หรอก แต่มันเกิดโดยกรรมของมันเห็นไหม เราเกิดในธรรม มันก็เกิดโดยการกระทำของเรา เราไม่มีสิทธิว่ากูจะเลือกเกิดเป็นอะไร แล้วประสาเรานะ เราเลือกไม่ได้ด้วยว่ามึงจะเป็นพระอริยบุคคลประเภทอะไร มันมาเองอยู่ในจิตของมันอยู่แล้ว
เพราะจิตมันสร้างบารมีมาใช่ไหม เราเลือกไม่ได้นะ กูอยากเป็นสุกขวิปัสสโก กูอยากจะเป็นเตวิชโช กูอยากจะเป็นพระอรหันต์ประเภทนั้นๆ ไม่มีสิทธิ์! ไม่มีสิทธิ์! มันเป็นเองโดยอำนาจวาสนาบารมี โดยธรรมที่สร้างมาอันนั้น เราไม่มีสิทธิ์เลือกเลย มันเป็นเบื้องหลังที่จิตมันสร้างมา ไม่ใช่ว่าโอ้ย สุกขวิปัสสโกไม่ดี กูอยากจะเป็นเตวิชโช กูอยากจะมีฤทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ครับ ไม่มีสิทธิ์
โยม : กราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกนะคะว่า ไอ้ที่ปฏิบัติธรรมทุกวันนี้นะคะ โยมก็ไม่กล้าตั้งความหวัง แล้วก็ไม่ตั้งความอยาก อันนี้เราต้องตัดมันบ่อยๆ เพราะว่าถ้าเราอยาก เราหวัง มันจะแย่
หลวงพ่อ : ไม่ หวัง อยาก โธ่ หลวงตาท่านก็อยาก
โยม : เดี๋ยวมันผิดหวังนะสิ
หลวงพ่อ : ไม่ใช่หวังเฉพาะชาตินี้นะ เราหวังมาทุกๆ ชาติ เวลาเราทำบุญกุศล เราปรารถนาถึงที่สุดแห่งนิพพาน ทุกคนหวังหมด เราก็หวัง ถึงจะไม่หวังยังไง เราก็หวังนะ แต่หวังแล้วมีเป้าหมายของเราอยู่ แต่เวลาปฏิบัติวางไว้ เวลาเข้าทางจงกรม บางทีมันก็เผลอมาคิดถึง หมดเลย ฉิบหายเลย วันนี้ไม่ได้อะไรเลย ถ้าวันไหนไม่เผลอนะ เอ้อ มันค่อยยังชั่วหน่อย มันก็เข็ดน่ะสิ หวัง!
ตรงนี้เราไปโต้แย้งกับพวกฝ่ายอภิธรรม ในอภิธรรมเขาบอกว่าเขาปฏิบัติโดยความไม่หวัง ไม่ต้องการสิ่งใด เพราะเขาถือว่าความอยากนี้เป็นกิเลส เขาบอกว่าเขาปฏิบัติโดยความไม่อยาก ถ้าเราเจอพวกนี้เราจะอัดตรงนี้เพราะเราสงสารไง เราสงสารเรื่องจิตนะ ถ้าจิตคิดอย่างนี้มันเหมือนกับ อย่างพวกโยมนี้นะ ทุกคนเป็นข้าราชการ แล้วทุกคนขายเงินเดือนให้เราหมดเลย เงินเดือนออกให้เราเป็นคนเบิก
โยมทำงานโดยไม่เอาเงินเดือนเลย เงินเป็นของเราหมดเลย โยมมีกำลังใจทำงานไหม พอถึงสิ้นเดือนโยมต้องเซ็นชื่อเอาเงินเดือนใช่ไหม นี่ก็เหมือนกันถ้าจิตบอกไม่เอาไม่หวังเลย มันเหมือนทำไปแล้วซังกะตาย แล้วมันเป็นไปไม่ได้ แล้วมันไม่มีคนรับผล เพราะอภิธรรมเขาบอกเลยนะว่า ห้ามอยากๆ ปฏิบัติโดยไม่มีความอยาก แล้วนิพพานไม่มีอะไรไม่มี ก็มันทำสักแต่ว่าไง
มันต้องอยาก โดยธรรมชาติของมนุษย์มันปฏิเสธความอยากไม่ได้ แต่ความอยากอันนี้มันอยากโดยจิตใต้สำนึก อยากที่เป็นมรรค อยากจากการกระทำ แต่อย่าไปอยากซ้อนถ้าอยากอย่างนี้ ประสาเราว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัย มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของกิเลสที่อยู่ในใจของเรา มันมีอยู่แล้วไง แล้วอยากอันนี้มันเป็นอธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามา พระพุทธเจ้าจะสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระพุทธเจ้าไหม
หลวงปู่มั่นท่านบอกท่านปรารถนาพุทธภูมิ คำว่าปรารถนาพุทธภูมิ ท่านก็ต้องมีความอยากของท่านมา ท่านก็ต้องสร้างของท่านมา แต่พอถึงเวลาท่านก็ละเห็นไหม ปรารถนาพุทธภูมิมา แล้วละพุทธภูมิอย่างนี้ มึงบ้ารึเปล่า ไม่บ้า ปรารถนาพุทธภูมิคืออดีตมันสร้างบุญญาธิการมา แล้วมันต้องไปต่อไปใช่ไหม แล้วถ้าไม่ละ มันก็ภาวนาไม่ได้ เพราะพระโพธิสัตว์มันจะเข้าได้แค่ฌานโลกีย์ ทำฌานโลกีย์นี่ดีมากเลย ทำสมาธินี่ดีมากเลย แต่จะเข้าถึงอริยมรรคไม่ได้ ไม่เข้า
ทีนี้พอท่านพิจารณาของท่าน พอพิจารณากายเข้าไปถึงตันหมดเลย ไปซอยตันบ้าง ไปเจอหน้าผาตันบ้าง ท่านก็ว่า เอ..ทำไมเป็นอย่างนี้ มาคิดพิจารณาไปพิจารณามา อ๋อ เพราะปรารถนาพุทธภูมิ ท่านถึงมาลา แล้วลาไม่ใช่ลาอย่างที่เราเอาดอกไม้ธูปเทียนมาลากัน ไม่ใช่หรอก การลาพุทธภูมินะ ทำความสงบของใจเข้ามา พอจิตสงบถึงสมาธิ เอาสมาธิ เอาตัวจิตลามัน ไม่ใช่ลาอย่างนี้หรอก ไอ้นี่มันพิธีเฉยๆ
โยม : แล้วทีนี้ท่านอาจารย์คะ มีอยู่ระยะหนึ่ง โยมก็รู้สึกว่าเอากับมันมากเลย ภาวนามาก ทีนี้เราก็ไปตั้งความหวังว่าผลมันจะต้องออกมาดี ทีนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น เครียดค่ะ โยมก็เลยออกไปเดินดูต้นไม้ต้นอะไร ทีนี้สติมันก็มาบอกว่า ก็เพราะว่าไอ้เรานี่ไปหวังผลมันมาก จิตมันเลยไม่เป็นอิสระ มันถึงเกิดการเครียด พอรู้ได้อย่างนี้แล้วนะคะ พระอาจารย์มันวาง ตอนนี้จิตว่างเลย โล่งเลย
หลวงพ่อ : เรารู้แล้ว คำว่ารู้นะเพราะมันเคยเป็นไง เราก็เป็น ทุกคนก็เป็นทั้งนั้น อย่างที่พูดนี่พูดโดยหลัก แต่เวลาทำขึ้นมาทุกคนมีกิเลส มันต้องทิ่มมาทั้งนั้นล่ะ กิเลสมันไม่ปล่อยมึงหรอก โธ่ เราอ่านพระไตรปิฎกนะ เราเอามาพูดบ่อยนะ พระพุทธเจ้าพูดไงว่า ทานมีอยู่ ๒ คราว คราว ๑ ฉันอาหารของนางสุชาดาท่านถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ทานอาหารของนายจุนทะถึงซึ่งขันธนิพพาน
ไอ้เราก็ตั้งอย่างนี้ เราอยู่เมืองกาญจน์นะ เรากลับมาบ้านเลยนะ มาฉันข้าวที่บ้าน เราอดอาหารเลย จะให้ขาดไง ไม่เคยได้สักที ทำอย่างนี้หลายรอบ คือไปดูหนังตัวอย่างในพระไตรปิฎกไง แล้วเราก็พยายามจะทำอย่างนั้น คือตระหนี่ คืออยากให้แม่ได้บุญเยอะๆ คืออยากจะเอาบุญอันนี้เอาไว้ให้แม่ คือมากินข้าวแม่ แล้วก็กลับไปเมืองกาญจน์แล้วก็ภาวนาใหญ่เลย มื้อสุดท้ายไง มื้อนั้นไง
ทำขนาดนี้นะเราน่ะ เพราะไปดูในตำรามันบอกไว้ ว่าฉันอาหารของนางสุชาดาเป็นบุญที่สุดใช่ไหม เพราะฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วเป็นพระอรหันต์ไง เราก็กลับมาบ้าน มากินข้าว (หัวเราะ)
โยม : ทีนี้หลังจากนั้นท่านอาจารย์ โยมก็เลยตั้งแบบนี้ว่า เราภาวนาไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุดความสามารถนะ แต่เราก็อย่าไปหวังผลกับการภาวนามาก อย่าไปหวังผลค่ะ
หลวงพ่อ : ใช่ อันนั้นอันหนึ่ง แล้วไม่ใช่อย่างนี้หรอก มันต้องอยู่ที่การตั้งสติไง ถ้าเผลอก็เจ็บ เผลอก็เหลวเลย พอได้สติขึ้นมาก็ดี มันจะเป็นอย่างนี้มันจะสอนเรา ตอนที่โยมพูดเมื่อกี้ ที่บอกว่าออกไปพิจารณา ตอนนั้นนะสติมันสมบูรณ์ แล้วพอมันรู้ทันหมดนะมันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็ว่างหมดเลย อันนั้นมันก็เป็นกรณียืนยันกับโยมว่า มันเป็นความจริงอย่างนี้ โยมก็ปฏิบัติไปอีก แล้วพอมันไปเผลอนะ โยมจะบอกตัวเองว่า เจ็บอีกแล้ว
โยม : ใช่ค่ะ ไปโง่กับมันอีก แต่มันก็ต้องโง่
หลวงพ่อ : ใช่ พอออกไปพิจารณาปั๊บ มันก็กลับมา จิตเราก็ดีขึ้น พอดีขึ้นมาเราก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วลองไปเปรียบเทียบสิ เพราะเวลาปฏิบัติเรามีอย่างนี้ใช่ไหม แล้วเราปฏิบัติไป เวลามันสมุจเฉท โฉ๊ะ! อันนี้ใช่เว้ย เพราะมันมีอันนี้ไง พออันนี้ใช่ปั๊บ เราก็มาเทียบกับหลวงตา เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่นนะ ที่ท่านนั่งตลอดรุ่งเห็นไหม หลวงปู่มั่นก็บอก โอ้ จิตมันก็ไม่เกิดตลอดไปเว้ย มันก็เกิดหนเดียวที่ว่านั่นนะ โอ้โฮท่านบอกว่าท่านเหมือนกับหมาเลย มันเห่าเลยนะ นั่นล่ะท่านได้ขั้น ๑ แล้วพออีกทีท่านไปซ้ำ นั่งตลอดรุ่งไง มันก็แยกหมด แล้วมันรวมใหญ่ ก็กลับมารายงานอีกปั๊บ ท่านก็รับประกันนะ นี่เหมือนเราเลย เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย
นี่มันพลาดตรงนี้ อันนี้มันเป็นเทคนิค มันเป็นบทเรียนที่ดีมากๆ เลย พอพลาดตรงนี้ปั๊บ ก็จะมานั่งอีก จะเอาอย่างนั้นอีก เพราะมันติดใจรสชาติอันนั้น ก็ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่นอีก บอกว่าจะเอาอย่างนั้น หลวงปู่มั่นใส่เอาเลยนะ มันจะบ้าหรือ มันก็มีหนเดี๋ยวเท่านั้นน่ะ เวลามันจะสมุจเฉทมันหนเดียว จะเอาซ้ำสองได้อย่างไร เพราะคำๆ นี้ไง ก็เลยปล่อยหมด พอปล่อยก็ติด ๕ ปี
คิดดูสิ นี่เทคนิคนะ เราฟังตรงนี้มันสะท้อนใจนะ ระหว่างนักปราชญ์กับนักปราชญ์ หลวงปู่มั่นก็สุดยอด หลวงตาท่านก็สุดยอด แต่ในขณะที่ปฏิบัติไปเห็นไหมเดี๋ยวปล่อยเดี๋ยวไม่ปล่อย เพราะปฏิบัติไปมันจะมีเทคนิคของมัน ทีนี้เวลาคนเสนอกับผู้รับ มันมีความเข้าใจผิดกัน ผู้เสนอเสนอว่าควรทำอย่างนี้ พอผู้รับรับแล้วมีความเข้าใจไปว่า มันหนเดียว มันจะบ้าหรือ มันจะอะไรอีก มันก็มีหนเดียวเท่านั้นน่ะ ก็คิดว่าหนเดียวแล้ว คือได้แล้ว ได้แล้วก็คือจบแล้ว พอจบแล้วก็ติดไป ๕ ปีนะ
พอเสนอไปแล้วผู้รับรับผิดแล้ว แล้วจะดึงกลับอย่างไร พอจะดึงกลับนะ
มหา จิตเป็นอย่างไร
โอ้ ดีครับ จิตดีครับ
มันจะดีบ้าเรอะ!
ซัดเข้าไปอีกนะ โอ้โฮหงายท้องเลย ฟังนักปราชญ์กับนักปราชญ์สิ เวลาท่านเล่านะเราสะท้อนใจนะ ฟังแล้วมันสะเทือนใจ สะเทือนใจที่ว่าพูดคลาดเคลื่อนหรือพูดความหมายอย่างนี้ แล้วผู้รับรับผิดนี้ มันทำให้ติด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้การปฏิบัตินี้คลาดเคลื่อน พอติดไป ๕ ปี ซัดจนเอาออก พอออกมาแล้ว ทีนี้ติดสมาธิ เอ้า ถ้าไม่ใช่สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็สัมมาสมาธิอย่างนี้ แล้วตอนนี้มันก็ใช้สัมมาสมาธิ แล้วพระพุทธเจ้าจะว่าอย่างไร โอ๋ย เถียงน่ะ
หลวงปู่มั่นซัดเลย เอ้า สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันอีกอย่างหนึ่งเว่ย แต่สัมมาสมาธิของท่านมันมีอวิชชา มันมีสมุทัยเจือปน ซัดกันนะ เออ น่าจะจริงว่ะ ยังไม่เชื่อนะ น่าจะจริงเฉยๆ นะ โธ่ ทิฏฐิ เราฟังครูบาอาจารย์เทศน์นะมันจะจับตลอด พอจับแล้วนะแล้วก็เอาประสบการณ์ของเรา กับครูบาอาจารย์ กับหลวงตา กับหลวงปู่เจี๊ยะ เราโดนอะไรมาบ้าง เราจับประสบการณ์นะ แล้วเอาวุฒิภาวะ เอาความจริงเข้าเทียบ โอ้โฮ มันสะเทือนใจมาก แล้วพอโยมบอกว่าพิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยอย่างนี้นะ ฟังให้ดีนะ คำว่ามันปล่อยมันเกิดได้บ่อยๆ เดี๋ยวก็ปล่อยนะ ความปล่อยอย่างนี้ ตทังคปหาน เกิดได้บ่อยๆ
โยม : เดี๋ยวก็ปล่อย เดี๋ยวก็ยึด
หลวงพ่อ : ใช่ แต่ถ้าสมุจเฉทปหาน หนเดียว ไอ้หนเดียวนั่นน่ะ มีหนเดียวจริงๆ แต่หนเดียวอันนั้นน่ะสมุจเฉทมันขาด แล้วพออย่างนี้มรรคสามัคคี มรรคมันรวมตัว ใครเป็นโสดาบันนะจะต้องพูดตรงนี้ถูก โสดาบันนะ มรรคสามัคคี ภาวนามยปัญญา เราฟังเทศน์มาเยอะไม่มีใครพูดตรงนี้ถูกเลย ตรงนี้ไม่มีใครพูดถูก
ถ้าไม่มีใครพูดถูกเขาไม่เคยมรรคสามัคคี มรรคญาณเขาไม่เกิด ถ้ามรรคญาณมันเกิด มรรค ๘ มันรวมตัวอย่างไร มรรคมันสร้างมาแล้วรวมตัว พอรวมตัวขึ้นมามันสมุจเฉท หนเดียวมันขาด นี่คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น นี่คือปัญญาของพระพุทธศาสนา อันนี้สำคัญมาก ถ้าไม่เป็นพูดไม่ถูก ยังไงก็พูดไม่ถูก! เอาของครูบาอาจารย์มา ๑๐ หูเลย นะ เสียบเข้าไปเลยนะ ให้มันจำให้ได้ ก็ไม่ถูก!!
โยม : กราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งนะคะว่า ไอ้กิเลสนี่บางครั้งเราก็จับมันได้ เพราะมันเห็นทันตาชัดเจน บางครั้งทำไมเราไม่รู้จักกิเลส ทีนี้วันออกพรรษา พอออกพรรษาเสร็จนะ กิเลสมันตีปีกเลย โอ้ย ตอนนี้ออกพรรษาแล้ว สบายแล้ว เป็นอิสระแล้ว ตอนนี้ปฏิบัติสบายๆ แล้ว ท่านอาจารย์มันขี่หัว โอ้โฮ มันแทงจิตแทงใจ โยมก็เลยซัดมันเลยท่านอาจารย์ อย่างนั้นทำไมเราเห็นชัดเจน
หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นธรรมชาติของจิตเลย เพราะอย่างนี้เป็นเรื่องของสังคมสงฆ์ สังคมสงฆ์นะเวลาอธิษฐานพรรษาขึ้นมาแล้วนะ เหมือนติดคุก เหมือนเดิมหมดเลยนะ ถ้าวันไหนออกพรรษา ภาวนานะ โอ้โฮ แม่งยกภูเขาออกจากอกหมดเลย มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของกิเลสเลย เพราะพระที่อยู่จำพรรษานานๆ จะรู้เลย พอในพรรษาปั๊บนะ เพราะอะไรรู้ไหม อย่างเช่นเราจำพรรษา ๓ เดือน มันเริ่มอึดอัด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้ามีอะไรกระทบมันไปไหนไม่ได้ มันอึดอัดในใจไง แต่ถ้านอกพรรษานี่สบายมากเลย ถ้ามีอะไรกระทบกูเก็บของเดี๋ยวนี้เลยล่ะ มันก็เลยลอยตัว นี่มันเป็นธรรมชาติเลย
โยม : ท่านอาจารย์ เพราะว่าในพรรษาโยมไม่ไปไหน ไม่อะไรทั้งนั้นเลยนะคะ เคร่งครัดกับมันมากเลย เพราะโยมกลัวเสียสัจจะแล้วพอออกพรรษาเสร็จ แต่ว่าพอโยมจับมันได้นะโอ้โฮ มึงตีปีกเชียวหรือ กูจะเด็ดปีกมึงออก กูจะกดหัวมึง กูไม่ให้มึงมาขี่หัวกูหรอก หัวใจนะ กูไม่ให้มึงมาขี่หัวกูหรอก กูจะซัดมึงให้จมดินไปเลย ท่านอาจารย์พอสู้กับมันนะมันคึกคัก โยมก็เลยนั่ง มึงจะออก กูไม่ออกให้มึง โยมก็นั่งไปเรื่อยๆ โอ้โฮ วันนั้นพระอาจารย์โยมซัดกับมัน นั่ง ๓ ชั่วโมงน้ำตาพรากเลย พอออกจากสมาธิท่านอาจารย์มันเบาไปหมดเลย จิตใจมันผ่องใส ถ้าโยมไปเชื่อมันนะ จิตใจเศร้าหมองไปเลย
หลวงพ่อ : อันนี้มันทอนกำลังของมันไปเรื่อยๆ ไง แล้วไอ้ของอย่างนี้มันมีระหว่างตรงข้ามอย่างที่หลวงตาท่านพูดบอกว่า เก้าอี้ดนตรี เดี๋ยวธรรมะก็นั่ง เดี๋ยวกิเลสก็นั่ง หัวใจเราถ้าธรรมะมันนั่งก็อย่างนี้ มีความสุข ถ้ากิเลสมันนั่งเราก็มีความทุกข์ ก็ต้องสู้กันไปอย่างนี้ แล้วเราจะมั่นคงขึ้น โยมจะเห็นชัดเจนขึ้น อย่างที่เห็นนี้คือชัดเจนขึ้น แต่! คำว่าแต่ของเรานะหมายถึงว่า เห็นยังไงก็แล้วแต่นะ ยังต้องลุยไปข้างหน้า จนกว่ามันจะมีคำตอบกับเราไง คำตอบนี้มันตอบขึ้นมาบนหัวใจเลย อย่างที่โยมพูดเมื่อกี้บนหัวใจเรา เวลาที่มันขึ้น มันเห็นได้ คำตอบนี้มันตอบหมดนะ
เวลาเราปฏิบัติไป มันก็ฟังเขามาทั่ว เหมือนอย่างที่หลวงตาว่า หลวงตาท่านเป็นมหานะ ท่านบอกว่า นิพพานก็คือนิพพาน แต่มันก็ยังสงสัยอยู่ นี่ก็เหมือนกันเราก็ฟังของเขามาทั่ว แต่พอมาเจอเข้าจะ อ๋อ มรรคสามัคคีมันเป็นอย่างนี้เอง
โยม : แต่ทีนี้ก็รู้อยู่แก่ใจนะคะว่า กิเลสนี้ถ้าเราลามือให้มันนะ มันจะต้องซัดเรา เราจะต้องจม ถ้าเราจมไม่มีใครช่วยเรา
หลวงพ่อ : อันนี้เห็นด้วย
โยม : ฉะนั้นเราจะลามือให้มันไม่ได้ เพราะกิเลสมันร้ายมาก ก็รู้นะคะ รู้เลย เราจึงจะต้องมีความเพียร แล้วก็สอนตัวเองอยู่เรื่อยๆ เราลามือมันไม่ได้นะคะ
หลวงพ่อ : ซัดมันเลย ซัดมันเต็มที่เลย
โยม : โยมถึงได้บอกว่า ทุกวันนี้โยมก็ไม่ค่อยอยากอยู่ที่กรุงเทพฯนะคะ อยู่คนเดียว ทุกอย่างมันไม่ใช่เป็นของง่ายนะคะ อยู่คนเดียวอยู่ภาวนา มันยิ่งอัศจรรย์นะ ก็ท่านอาจารย์คิดดูว่า บางทีนึกถึงธรรมะพระพุทธองค์นี่นะ ท่านแก้สารพัดโรคเลย แก้ทุกโรคเลยค่ะ
หลวงพ่อ : เวลาเราไปบ้านตาดกลับมาคราวนี้ อยากอยู่คนเดียวเลยล่ะ โอ้โฮ ไปเห็นแล้วเซ็งมากเลย เซ็งน่าดูเลย
โยม : แล้วพระอาจารย์อยู่คนเดียวมีความสุขไหมคะ โยมมีความสุขมากเลย จิตมันวิเวก
หลวงพ่อ : เราก็อยากอยู่อย่างนี้ อยากอยู่แบบโยมนี่ล่ะ แต่ก็อยู่ไม่ได้ งานเยอะฉิบหายเลย เราก็อยากอยู่อย่างนี้ อยากอยู่คนเดียวน่าดูเลยแต่มันอยู่ไม่ได้ ยิ่งตอนนี้อยู่ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนยังพอมีสิทธิ์จะอยู่ได้บ้าง ก็ยังไม่มีใครรู้จักนะ เดี๋ยวนี้กูจะไปหลบที่ไหนนะ มึงไปหลบเถอะ เดี๋ยวเขาก็ไปตาม ต้อง...
โยมชาย : ต้องป้องกันตัว (หัวเราะ)
หลวงพ่อ : ต้องชัดๆ
โยม : ทีนี้คนเขาไปบ้านโยม บ้านโยมก็อากาศดี วิวสวยงาม เขาบอกว่าน่าอยู่ อยากจะมาอยู่ ก็บอกว่าอยู่อาทิตย์หนึ่งเหมือนตกนรกเลยรับรอง มันไม่ใช่สิ่งภายนอก มันอยู่ที่ใจ คนโลกเขาไปดู เขาบอกว่าเขาอยู่ได้ เขาอย่างโน้นอย่างนี้อะไรอย่างนี้ มันอยู่ไม่ได้ คนโลกไม่ได้ฝึกมันอยู่ไม่ได้
หลวงพ่อ : อยู่ได้ก็อยู่ได้พักเดียวไง เหมือนกรณีอย่างนี้เราอยู่ในวัด มันมีโยมเขามาปฏิบัติ ทุกคนมาปฏิบัติแล้วจะถามประจำว่า ปฏิบัติดีอย่างนั้นอย่างนี้ พระเขาถามว่า หลวงพ่อมันจะเป็นจริงได้อย่างไร ผมภาวนาเกือบตายไม่เห็นได้เลย มันมาสองวันมันจะได้ยังไง ก็เลยบอกว่า เขาได้ มึงฟังกูสิ เขาได้หมายความว่า อย่างเรานี่นะเหมือนไม้ดิบไม้แห้ง คือเราอยู่ป่ามาจนคุ้นเคยมันก็ภาวนาจนชินชาหน้าด้าน แต่เวลาเขาอยู่ในเมืองเห็นไหม เขาอยู่บ้านของเขา เขาก็ทุกข์ร้อนเดือนร้อนทั้งนั้น เขาก็เสพสุขมาพอแรงแล้วนะ แล้วก็มาภาวนาไง คือคนมันมาแบบโล่งอกเบาใจไง หมายความว่าภาวนาได้พักเดียวเท่านั้นล่ะ แต่พอซักพักมันคุ้นชินนะ มันจะดิ้นแล้ว มันจะกลับไปเอาอีกละ แต่มันจะดีตรงนี้ ดีพักเดียว
โยม : ใช่ค่ะ พอเขาคลายไปหน่อยแล้วนะ ทีนี้ก็เอาเรื่องโลกเข้ามาแล้ว
หลวงพ่อ : ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราเข้าใจเรื่องระบบหัวใจ เข้าใจมันก็จบ ฉะนั้นถ้าอย่างนี้แล้ว ของโยมมี ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ ถ้าจะลองจิตหนึ่งก็ต้องพุทโธถี่ๆ เข้าไป แล้วต่อเนื่องยาวไกล แต่ถ้าพูดถึงที่โยมบอกว่า เวลาหลวงตาบอกว่าพอจิตสงบแล้วให้พิจารณา ถูกต้อง
คำว่าถูกต้องนี้นะ เวลาเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ปัญญาเห็นไหม ดูสิเวลาโยมตอนเช้าขึ้นมา พอพิจารณามันปล่อยหมดเลยเห็นไหม พอพิจารณาแล้วมันก็กลับมาสู่การปล่อยวาง เราจะบอกว่าการพิจารณานี้มันจะทำให้จิตมั่นคงขึ้น มันจะมั่นคงขึ้น เวลาเราภาวนา มันจะตทังคปหานหรือมันจะปล่อยวางขนาดไหน มันทำให้จิตมั่นคงขึ้น พอจิตมั่นคงขึ้นแล้วมันออกมาวิปัสสนา มันก็มีกำลังมากขึ้น แล้วมันก็จะละเอียดไปเรื่อยๆ
เหมือนกับต้นไม้ ต้นไม้เราตัดใบตัดกิ่งมันไม่ตายหรอก มันต้องถอนรากแก้ว ทีนี้พอปัญญาเราพิจารณาไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ มันจะลงสู่โคนต้น ลงสู่รากแก้ว แล้วมันจะไปถอนกันที่รากแก้วนั้น พอเวลามันพิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วเราก็บอกว่า พิจารณาแล้วมันปล่อยวางแล้ว อย่าเผลอ ตัดกิ่งหมดเลย ตัดโคน โอ้โฮ โล่ง ไม่มีอะไรเลยนะ เดี๋ยวมันแตกหน่ออีก ทำไปเรื่อยๆ
โยม : แต่รากยังอยู่นะคะ ทีนี้อีกประการหนึ่งที่โยมว่า เวลาเราพุทโธ พุทโธเสร็จนี่นะคะ พอเราไปพิจารณามันไม่ชัดเจน โยมก็เลยรู้ว่าความสงบมันไม่พอ ถ้าความสงบพอมันจะพิจารณาจะชัดเจน
หลวงพ่อ : ใช่ ๑.ชัดเจนแล้วมันปล่อยหมด ถ้าไม่ชัดเจนนะ แล้วยังฝืนทำต่อไปนะ มันจะเริ่มพร่ามัวเลย พอเริ่มพร่ามัวไปแล้วนะ หงุดหงิด เริ่มหงุดหงิดแล้ว
โยม : โยมจะทิ้งการพิจารณาแล้วกลับมาพุทโธใหม่
หลวงพ่อ : กลับมาเลย ต้องเดินอย่างนี้ ขยันแล้วเดินไปเรื่อยๆ แล้วประสาเรานะเพราะใหม่ๆ เราก็ไปจับ ไม่ใช่ไปจับหรอก มันโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ พอมันฟังแล้วต้องเป็นอย่างนี้ถูกๆ มันก็คิดว่าถูกไง แล้วมันทำไมไม่ได้อย่างที่คิดวะ ทำไมมันเสื่อมหมดเลย ทำไมมันยุ่งไปหมดเลยวะ สุดท้ายทิ้งหมดเลย ทำอย่างนี้ พิจารณาไปแล้วกลับมาพุทโธ กลับมาทำสมถะ แล้วก็พิจารณาไป ใครจะว่าอย่างไร ใครจะเตือนอย่างไร โทษนะ ช่างแม่มึง กูจะทำของกูอย่างนี้ อัดเข้าไปอย่างนี้นะมันก็ปล่อย เดี๋ยวก็เอาอีก ปล่อย เราพูดบ่อย บางวันเราปล่อยถึง ๕ หน ๑๐ หนในทางจงกลมปล่อยนี่ล่ะ ปล่อย ปล่อย มันถึงเข้าใจไง พอปล่อยอย่างนั้น เราก็ซ้ำอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะเคยปล่อยอย่างนี้ใช่ไหม แล้วก็ออกมาตามปกติ แล้วมันก็เสื่อม เคยปล่อยแล้วก็เสีย เคยทำยังไงก็เสีย คราวนี้กูไม่ยอมเปลี่ยนแนวกูแล้ว ปล่อยยังไงกูก็ซ้ำไปเรื่อย ซ้ำไปเรื่อย ซ้ำไปเรื่อย ซ้ำไปเรื่อยๆๆๆ
การปล่อยนะ แล้วพอมันขาด มันเห็นนะ มันแตกต่าง กูปล่อยมาเยอะแยะไปหมดแล้ว แต่เวลาขาดพั้วะ! เออว่ะ อันนี้ใช่ว่ะ ไม่มีสอง ไม่ต้องบอกอีกเลย แต่ปล่อยนี่ปล่อยมาเยอะมาก
เราถึงเข้าใจ เราถึงเน้นไงกับพวกที่ปฏิบัติ เราเน้นเป็นตัวอย่างด้วยว่า กูนี่นะปล่อยเป็นร้อยหนพันหน กูปล่อยมาเยอะมาก แต่มันไม่ขาด แล้วเวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดแค่นี้ ปล่อย แล้วก็คำว่าจบแล้ว
โยม : ปล่อยพุทโธนี่หรือคะ
หลวงพ่อ : ฮึ ตอนปล่อยที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์กัน ที่เวลาเราฟังเทศน์เขา เขาจะพูดแค่นี้ แล้วก็บอกว่านี้คือขั้นตอนของเขาแล้ว ในความรู้สึกของเรานะ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ซ้ำไป ซ้ำไป อันนี้คือประสบการณ์ของเรา ประสบการณ์ครั้งแรกเลย อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง ตั้งแต่นั้นมานะ ทุ่มไปทั้งตัวอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ถ้าจะลองอะไรแล้ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีให้แม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวที่จะมาโต้แย้ง จะทำอย่างนี้ไปหมดเลย พิสูจน์กันจบแล้ว อ๋อ มันอย่างนี้ จบเลย
โยม : ไม่ต้องลังเลอะไร
หลวงพ่อ : พิสูจน์แล้วก็จบไง เราถึงบอกว่าครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ที่ท่านออกหนังสือมา เราฟังแล้วเราพิจารณาแล้วเราดูหมด ต้องพิสูจน์ให้จบ ถ้าไม่จบเราเองก็สงสัยเราต้องพิจารณาจนจบ
โยม : ท่านอาจารย์เรื่องของจิตนี่ไม่ใช่ของง่ายเลย ยากมากเลยนะคะ การปฏิบัติอย่างที่สอนว่าเรียบง่ายลัดสั้น ไม่มีทางเลย กิเลสเกิดกับเราแค่ตัวเดียวเรายังแทบจะตายอยู่แล้ว แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมาฆ่ากิเลส
หลวงพ่อ : แล้วตอนหลังนี้เขาก็เลยแบบว่า ที่แรกเขาพูด คนเราตอนขึ้นมาใหม่ๆ มันก็เหมือนกับสามล้อถูกหวย เพราะมันได้ผลตอบแทนมากๆ แต่ตอนนี้พอเริ่มคุ้นชินกับมันเห็นไหม เริ่มสะเปะสะปะ เวลาพูด เมื่อก่อนเคยบอกอันนี้ผิดๆ เดี๋ยวนี้ไอ้ที่ผิดก็ว่าถูก ไอ้ที่ถูกก็ว่าผิด คำสอนเขานี่พลิกไปพลิกมา เมื่อก่อนก็บอกว่าอภิธรรมก็ผิดอะไรก็ผิด เดี๋ยวนี้บอก ของเขากับอภิธรรมอันเดียวกันแล้วนะ แต่เมื่อก่อนบอกว่าผิดไง ไอ้ที่ว่าผิดๆ มันกลับมาถูกหมด พอบอกว่าผิด มันไปเอาคำผิดมาใช้สอนเดี๋ยวนี้เลยล่ะ
โยม : คนขึ้นกับเขาเยอะนะคะ
หลวงพ่อ : ไอ้คนขึ้นนี่นะ มันเป็นเวรเป็นกรรมของสังคมไง เป็นเวรกรรมของสัตว์ เพราะสัตว์มันมาฟังแล้วมันเข้าใจไง เขาต้องทำความเข้าใจเรื่องธรรมะ ถ้าเป็นปรัชญา เป็นตรรกะนี้ โลกมันเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ทำไมเขาอ่านพระไตรปิฎกอ่านธรรมะนี้แล้วเขาเข้าใจได้ ทำไมเขามาฟังหลวงตา ทำไมเขามาฟังหลวงปู่มั่น ทำไมเข้าใจไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมะที่เหนือโลกไง เหนือโลกคือว่ามันเหนือเหตุเหนือผลไง
แต่พวกปรัชญาพวกตรรกะมันมีเหตุมีผล แล้วเวลาเขาพูด เขาก็พูดโดยหลักนี้ใช่ไหม แล้วเขาก็มีคำพูดที่สละสลวย ลัดสั้นไง ลัดสั้นคือหมายถึงว่า เปรียบเทียบนะ เราไม่ได้พูด เปรียบเทียบเฉยๆ เวลาเราพิจารณาไปบางทีเราปล่อยวางเห็นไหม เรามีความโล่งเห็นไหม แต่ทีนี้ไอ้คนที่เขามาศึกษา เขาก็ศึกษาเป็นตรรกะใช่ไหม พอศึกษาเสร็จแล้วมันก็ว่างไง มันก็โล่งไง เขาก็คิดว่านี่เป็นธรรมะไง แค่นี้แหละ คือมันเป็นสิ่งที่โลกพิสูจน์ได้ คือคนที่เข้ามาเขาพิสูจน์ได้แค่นี้ พอเขาพิสูจน์ได้แล้วเขาก็มั่นใจว่าเขาถูกของเขาแล้วไง แต่ถ้าผู้ปฏิบัตินะ ไอ้นั่นมันแค่หญ้าปากคอก ไอ้นี่มันยังไม่ทำอะไรเลย
เราถึงบอกว่าวุฒิภาวะของสังคมไทย ของชาวพุทธมันอ่อน พอไปเจอตรรกะ เจอปรัชญาอย่างนั้นเข้า แล้วมันพิสูจน์ได้ด้วยจิตที่มันปล่อยวางอย่างนั้น เขาก็คิดว่านี่คือเข้ามาถูกทาง
โยม : แต่มันจะไม่ก้าวไปกว่านี้
หลวงพ่อ : ไม่มีทาง ไม่ใช่ไม่ก้าวไปกว่านี้นะ คำว่า ติด ไง พอเข้าใจว่าใช่ ก็ลัดสั้น ลัดสั้นคือจบแล้ว
โยม : เรียบง่ายและลัดสั้น
หลวงพ่อ : เรียบง่าย ลัดสั้น จบแล้ว ก็จบแล้วจะต้องทำอะไรต่อล่ะ
โยม : ใช่ค่ะ ท่านอาจารย์โยมอ่านหนังสือที่ท่านเขียนมา ด้านหลังท่านบอกว่าขันธ์ทั้ง ๕ ปล่อยวาง ที่ปล่อยยากที่สุดคือ ขันธ์ของจิต จริงๆ จิตนี้มันไม่ใช่ขันธ์ จิตก็เป็นจิต ขันธ์ก็เป็นขันธ์ ขันธ์นี้เป็นอาการของจิต แล้วเราปฏิบัติมาเรารู้นะคะ บางทีมันเข้าถึงจิต จิตนี้เราไปดูขันธ์ อาการของขันธ์นี่นะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอาการของจิต แต่มันไม่ใช่จิตนะคะ มันเป็นขันธ์ เขายังเขียนมาเลยว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ปล่อยวางยากที่สุดก็คือจิต จริงๆ โยมอ่านแค่นี้ก็รู้แล้วว่าเขาไม่เป็น
หลวงพ่อ : มันมีอยู่ในอนัตตลักขณสูตรกับอาทิตตปริยายสูตรเห็นไหม ถ้าอาทิตตปริยายสูตร มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ อาทิตตฯนี่จะปล่อยถึงมโนเลย แต่อนัตตลักขณสูตร รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ ขันธ์ ๕ ไง นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ คือละขันธ์ ๕ ก็พระอรหันต์เลยไง มันไม่ได้ละจิตไง หลวงตาถึงบอกว่าอนัตตฯนี่เข้าไม่ถึง ถ้าอาทิตตฯนี้ถึง
แต่ไอ้ตรงที่ว่าขันธ์ของจิต จิตมีขันธ์อย่างไร เมื่อวานเราพูดอยู่ เราแย้งไปว่าเขาสอนผิด แล้วรอให้เขาพูดมาก่อน ถ้าเขาพูดมาแล้วเราก็แย้งกลับไปตรงที่ว่า ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แต่นี่ขันธ์มันอยู่ข้างนอกใช่ไหม ด้วยความสับสนเขาบอกว่า จิตนี้มี ๑๐๘ ดวง คำว่าดวงของเขา เป็นดวงนี่คือขันธ์ แล้วไอ้ตัวจิตเป็นอย่างไร เพราะเขาไม่เคยเห็นไง เขาศึกษามาทางวิชาการแต่เขาไม่เคยเห็น เขายังจับต้องไม่ได้ เขายังเปรียบเทียบไม่ได้
อย่างเรานี่ เอ็งถอยรถเบนซ์มา กูถอยเกวียนมาก็รถเหมือนกันนะมึง เกวียนกูก็ตีตราเบนซ์เว่ย ก็กูไม่รู้จัก กูก็ว่าเกวียนกูนี่คือเบนซ์ แต่รถเบนซ์เขาก็ต้องเป็นรถเบนซ์นะ ท้องตลาดเขาขี่เบนซ์กันนะ แต่กูเอาเกวียนมากูตีตราเบนซ์ เอ้า กูก็เบนซ์เหมือนกัน นี่ไง ขันธ์คือจิต จิตคือขันธ์ มันสับสนหมด
โยม : เรียนท่านอาจารย์ค่ะ อย่างโยมภาวนา โยมก็พิจารณาขันธ์ ๕ มาตลอดใช่ไหมคะ บางครั้งสติมันแน่น ปัญญามันดีมันก็ปล่อยวางขันธ์ไปเลย ขันธ์มันขาดไปเลย แต่ว่ามันก็ยังไม่ขาด มันยังไม่สมุจเฉทนะคะ ถึงได้รู้ว่าขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต
หลวงพ่อ : ใช่ ปล่อยวางมามันจะเป็นเรานะ แล้วถ้าพิจารณาขันธ์ เราแนะนำบ่อย บางคนบอกว่าปล่อยขันธ์แล้ว ที่ถามว่าจะทำอะไรต่อไปนะ ในขันธ์มีขันธ์อีกนะ ในรูปมันมีเวทนา ในรูปคือความรู้สึกใช่ไหม มันจะมีเวทนามีความรู้สึก มีสัญญานะ บางทีถ้าเราพิจารณาไปแล้วมันไม่จบ มันต้องจับนะ ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีรูป ถ้าในเวทนาไม่มีรูปจะมีเวทนาได้ยังไง ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ ในสังขารก็มีขันธ์ ๕ ในวิญญาณก็มีขันธ์ ๕ นะ ถ้าพิจารณาอย่างนี้เขาเรียกว่า ปัญญามันแตกขยาย แตกหน่อออกไปเรื่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ให้มันลึกเข้าไป ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป
โยม : วิญญาณในขันธ์ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีกหรือคะ
หลวงพ่อ : เอ้า ลองจับดูสิ
โยม : ก็ขันธ์ในขันธ์สิคะอย่างนั้น
หลวงพ่อ : ลองจับดูสิ จับแล้วแยกแยะดู ต้องทำการพิสูจน์ มันจะลึกเข้าไป คือว่ามันจะล้างให้สะอาดให้ได้ไง ถ้าสะอาดเมื่อไหร่นั่นล่ะ เราต้องไล่เข้าไปๆ ปัญญาต้องไล่เข้าไป พร้อมกับสมาธิไล่เข้าไป
โยม : ทีนี้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์สอนว่า เวทนาเป็นรูปธรรม แต่ว่าความคิดเป็นนามธรรม ท่านอาจารย์แยกให้โยมฟังหน่อย
หลวงพ่อ : โฮ้ย เราพูดอย่างนี้ เราจะพูดว่า เวทนากาย เวทนาจิต เวทนานอก เวทนาใน
โยม : เป็นนามธรรม
หลวงพ่อ : ใช่ เวทนาร่างกายคือเวทนานอก เวทนาในจิตก็เป็นเวทนา เวทนาในเวทนายังมีอีก เมื่อกี้โยมถามว่า เวทนาอะไรที่ถามเมื่อกี้
โยม : เวทนาเป็นรูปธรรม ความคิดเป็นนามธรรม
หลวงพ่อ : เวทนานี้เป็นนามธรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าจิตมันละเอียด มันเห็นเวทนาเป็นรูปธรรมได้เลย เพราะว่าในพระไตรปิฎกนะ มันเป็นเรื่องจริง ตอนที่พระสารีบุตรบวชนี่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ถวายพัดพระพุทธเจ้าอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ในถ้ำสุกรขาตา กำลังพัดอยู่ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็นั่งเทศน์ หลานพระสารีบุตรจะมาต่อว่าพระพุทธเจ้าเพราะพระพุทธเจ้าเอาพระจุนทะ เอาพระสารีบุตร เอาพระเรวัตตะ พี่น้องพระสารีบุตรหมดเลย ก็จะมาต่อว่าพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ไม่พอใจพระพุทธเจ้า ไม่พอใจคือนามธรรม คือความรู้สึกไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็คือวัตถุอันหนึ่ง
เวทนาเป็นวัตถุไง นี่พระพุทธเจ้าพูด เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ จิตมันทันมันก็จับความคิดได้ ความคิดมันเป็นวัตถุเลย จับความคิดเอามาพิจารณาได้เลย อย่างที่โยมบอกว่าโยมพิจารณาขันธ์ พิจารณารูป พิจารณาเวทนา สัญญา โยมจับได้ ความรู้สึกจับได้ไหม เป็นวัตถุไหม
โยม : อ๋อ ได้ค่ะ จับได้ค่ะ
หลวงพ่อ : เป็นวัตถุเลย แต่เป็นวัตถุของจิต ความคิดเราก็เป็นวัตถุ แต่พอบอกว่าเป็นวัตถุ มึงก็เอามาให้กูดูสิเพราะมันจับต้อง อันนี้มันวัตถุธาตุเว่ย อันนี้มันเป็นแร่ธาตุไอ้ห่า
โยม : ท่านอาจารย์อย่างนั้นก็เปรียบเหมือนกับลมสิคะ
หลวงพ่อ : ใช่!!
โยม : เราไม่เห็นมัน แต่มันก็เป็นรูปธรรม เพราะว่าโยมยังเข้าใจว่า เวทนานี้คือนามธรรม
หลวงพ่อ : เป็นนามธรรม ถ้าเราพูดทางวิชาการนี้เป็นนามธรรม แต่ฝ่ายปฏิบัติของเรา เป็นนามธรรมแต่กูจับต้องได้ เอามาวิเคราะห์วิจัยได้จนเห็นชัดเจนต่างๆ แล้วจิตกูนี่สลัดทิ้งแม่งเลย
โยม : อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ
หลวงพ่อ : ที่พูดเพราะเป็นอย่างนี้จริงๆ ผู้ภาวนาจะเห็น แล้วผู้ภาวนาจะละได้ ทำได้ แล้วถ้าพูดนะ ถ้าคนถึงกันนะ โธ่ หลวงตาท่านพูด เวลามาหาหลวงปู่เขียนเห็นไหม ตอนที่หลวงปู่เขียนใหม่ๆ ท่านไปทอดผ้าป่าให้ ท่านฟังแล้วเห็นไหม ท่านบอกนี่ยังเป็นปริยัติอยู่เลย ฟังนี้รู้เลย ถ้าปฏิบัติพูดออกมานี่ ผัวะ ผัวะ ผัวะ เลย
เป็นรูปธรรม! แต่เป็นรูปธรรมของฝ่ายปฏิบัตินะ
ถ้าบอกเป็นรูปธรรมของฝ่ายปริยัตินะ มันเอากูตายแน่ๆ เลย มึงเอาความคิดมาเป็นนามธรรมได้ยังไงวะ กูฆ่ามึงแน่ๆ เลย กูก็อยากให้มึงฆ่าเพราะกูจะทำยังไงได้ คนรู้กับคนไม่รู้ มึงฆ่ากูก็ฆ่ากูเปล่าๆ กูว่ามึงไม่รู้หรอก แต่ถ้าคนปฏิบัติเข้าไป เออว่ะ
โยม : ความคิดเป็นนามธรรม
หลวงพ่อ : ความคิดเป็นนามธรรม แต่เราจับต้องได้แบบรูปธรรมเลย แต่จับต้องได้แบบรูปธรรมได้เฉพาะตัวบุคคลที่ปฏิบัตินี้เท่านั้น ไม่เป็นสาธารณะไง แต่ถ้าเป็นทางวิชาการเขาเป็นสาธารณะของเขา เขาพูดเหมือนกันหมดใช่ไหม แต่ถ้าเป็นรูปธรรม มันเป็นรูปธรรมของผู้ที่จับต้องได้
โยม : มันรู้เฉพาะตน
หลวงพ่อ : เฉพาะตนสิ ปัจจัตตัง ก็จับได้มั้บๆ เลย จับแล้วก็มาคลี่คลาย พิจารณา แล้วมันก็หลุดออก
โยม : มันละเอียดมาก
หลวงพ่อ : มันจะพูดได้เฉพาะคนรู้ หลวงตาถึงบอกไง หลวงตาพูดบ่อย ไม่รู้พูดไม่ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้
โยม : ค่ะท่านอาจารย์วันนี้ก็กราบเรียนท่านอาจารย์ก็ได้ความเข้าใจเยอะเลย ตอนนี้ก็พุทโธอย่างเดียว โยมยังเข้าใจว่าบางทีมันจิตเป็นหนึ่ง เอโก ธัมโม จริงๆ แล้วไม่ใช่
หลวงพ่อ : พุทโธอย่างเดียวเพื่อพิสูจน์ไงว่ามันจริงหรือไม่จริง มันเป็นการพิสูจน์กันมันท้าทายกันไง เพราะหลวงปู่เจี๊ยะกับเรามันท้าตลอด มึงต้องทำอย่างนี้! กูไม่เชื่อมึง! ท่านว่าเอานะ ทำไมถึงไม่เชื่อล่ะ ต้องพิสูจน์! โอ้ยใส่กัน ทั้งท้าทาย ทั้งถากถาง ทั้งให้พิสูจน์ แล้วต้องพิสูจน์กัน แล้วพอมาจับ เอ้อ อันเดียวกัน
ไม่ได้หรอก เวลาท่านสอนท่านยำเราเละเลยล่ะ ยำไม่ยำเปล่านะ เอาใส่ผ้าแล้วคั้นด้วย คั้นให้แหลกเลย นี่ก็สู้อย่างเดียว
โยม : พระอาจารย์ การปฏิบัติธรรมโยมยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมาก เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ
หลวงพ่อ : พอยากแล้วครูบาอาจารย์เราถึงอยู่ฝากตายมาหมด ฉะนั้นเวลาคนปฏิบัติใหม่ถึงสงสารไง เวลาเข้ามานี่ฮึกเหิมอยู่พักนึง อู้ฮู เดินจงกรมนี่เป็นฟืนเป็นไฟเลยนะ แต่พอไฟมันมอดแล้วนะ นั่งคอตกเลยล่ะ เราก็ต้องคอยยุมัน เพราะทุกคนมันผ่านอย่างนี้มามันเข้าใจ ฉะนั้นพอเห็นคนปฏิบัติใหม่เข้ามา สงสารนะ เหมือนนักกีฬาเลย มึงจะเอาเหรียญทองนะ มึงต้องทุ่มเทอีกมากนัก มึงเพิ่งเข้ามาฝึกนี่นะ กว่ามึงจะได้เหรียญทองมึงยังต้องทุ่มเทอีกมากนัก
โยม : ต้องทุ่มชีวิตให้เลย
หลวงพ่อ : แล้วคิดดูสิ เขาจะทุ่มไหวกันไหม
โยม : งานอะไรก็ไม่ลำบากเท่ากับงานรื้อภพรื้อชาติ ยากมาก
หลวงพ่อ : ใช่ ต้องสู้
โยม : แต่ว่าเราก็ต้องความปรารถนาแล้วเพราะว่า เราเบื่อโลกเหลือเกิน เราไม่ปรารถนาจะกลับมาสู่โลกเราก็ต้องสู้ มีทางนี้ทางเดียว ไม่มีทางอื่นให้เราเลือก ไม่มีทางเลย แต่ว่าโยมก็ดีอย่างหนึ่งที่ว่า เวลานี้จิตมันไม่ดิ้นไปหาโลก
หลวงพ่อ : ดี ดีมากๆ
โยม : มันไม่ดิ้นจะไปหาทรัพย์ หาโน้นหานี่ หาลูกหาใคร ไม่มีเลย อันนี้อย่างหนึ่ง แต่ก็สู้กันตัวต่อตัวกับกิเลสนี่แหละ มันก็ยังแสนจะยาก
หลวงพ่อ : ชนะตนสุดยอดที่สุด
โยม : แล้วท่านอาจารย์คิดดูสิคะว่า คนที่เขาคลุกคลีอยู่กับโลก ที่เขามีอะไรมาเกี่ยวพันเยอะแยะ ไปยาก ยากมาก
หลวงพ่อ : เราพูดบ่อย เขามาถามว่า พระองค์ไหนดีไหม เราก็บอกว่า พ่อแม่นะรักลูกมาก ถ้าพระองค์ไหนดีไม่ดี ถ้าพระดีเขาจะปกป้อง พระเด็กๆ ไม่ให้ออกไปคลุกคลีมากถ้าพูดถึงพระหัวหน้ายังพากันเร่ร่อนนะ กูก็ไม่รู้มึงจะพากันไปไหน ไอ้ห่า มึงยังพากันไป เฮกันไปก็เฮกันมา เสร็จ เสร็จหมด
โยม : แต่โยมดูแล้วนะทุกวันนี้ พูดถึงว่าเรื่องศาสนาเรื่องของธรรมะนี่นะคะ มันจะให้คนมาเอาจริงๆ จังๆ นี่มันยาก เพราะกระแสโลกมันแรงมากเดี๋ยวนี้
หลวงพ่อ : กระแสโลกมันแรงมาก
โยม : ท่านอาจารย์คิดดู พระสึกไปเยอะเลยปัจจุบันนี้นะคะ
หลวงพ่อ : มันสำคัญตรงนี้ไง สำคัญตรงที่ว่า อย่างบวชประสาเรา อย่างเช่นหลวงตาครูบาอาจารย์ ชีวิตเราเป็นแบบอย่างไง เราอยู่ให้เขาดูไง ถ้าพูดถึงเราไม่มีตัวอย่าง ไม่อยู่ให้เขาดู มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทีนี้ถ้าหัวหน้าใจมันโลเล ใจมันไม่ไหวนี่ มันไม่ใช่อยู่ให้เขาดู มันทำให้เขาดู ช่วยเขาทำอีกด้วย ไอ้นี่มันต้องอยู่ให้เขาดูก่อน เราทำให้เขาดูเลย
จริงๆ นะ หัวหน้ามันก็มีสิทธิจะได้อะไรพิเศษเยอะแยะเลยใช่ไหม แต่ไม่เอาไม่ทำ ก็ดูสิ ดูน้ำใจกันสิ เราอยู่ให้เขาดูเลย อยู่ได้หรือไม่ได้ ถ้าได้มันก็ดี ไม่ได้ก็แล้วแต่เขาล่ะเนาะ เอวัง