ปัญญาชอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ทบทวนความเข้าใจเรื่องอัปปนา(สมาธิ) และเรียนถามการปฏิบัติเจ้าค่ะ
จากที่หลวงพ่อได้เมตตาอธิบาย เปรียบเทียบ เรื่องอัปปนาสมาธิ ของหลวงปู่ขาวกับของหลวงตาว่า ก่อนที่จะเข้าอัปปนาท่านมีการกระทำก่อน เมื่อเข้าอัปปนาแล้ว ท่านจึงใช้คำว่ารวบรัดว่ามันเกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ แต่ปัญญาตัวนั้น มันสาวออกไปหาตัวกิเลส แบบที่หลวงตาท่านว่า เหมือนเราถืออาวุธออกไปมองหากิเลส คือเป็นปัญญาที่ทำให้เรามองเห็นตัวกิเลส ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นการตรึกในข้อธรรมต่างๆ อันนี้ไม่ทราบว่า โยมเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่อีกหรือไม่
หลวงพ่อ : ที่เขาถามเรื่องอนาลโยวาทไง ว่าปัญญาเกิดโดยอัตโนมัติ แล้วนั่นท่านพูดรวบรัด คำว่ารวบรัด เห็นไหม แต่นี่เข้าใจถูกแล้ว อันนี้ไม่ทราบว่าโยมเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่อีกหรือไม่ เป็นเพราะว่าเขาไปอ่านเจอเข้า ท่านว่าปัญญาเกิดอัตโนมัติ ก็เลยทำให้เราวิตกวิจารกันไปเอง ว่านี่มันไปพูดเหมือนกับ คำพูดของคนอื่น คำพูดของพระองค์อื่น ท่านบอกว่าปัญญาจะเกิดโดยอัตโนมัติ
ทีนี้พอบอกว่า หลวงปู่ขาวบอกว่าปัญญาเกิดโดยอัตโนมัติ ท่านพูดว่าอัตโนมัติมันเป็นคำศัพท์เฉยๆ แต่เวลาท่านบอกว่า ปัญญามันจะเกิดโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่เข้าไปอยู่เฉยๆ มันจะออกไปหาเห็นไหม หากิเลสรับรู้ อย่างนี้ ถ้ามันไม่ได้เกิดอัตโนมัติ ท่านอธิบายได้ แต่คำว่าอัตโนมัติ อัตโนมัติคือมันจบไง มันไม่มีสิ่งต่างๆ ฉะนั้นถ้าคนมีหลักแล้ว มันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ แล้วที่ว่าปัญญานี่ ปัญญาก่อนที่จะมีการกระทำ ก่อนที่จะเข้าอัปปนาสมาธิ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาทางโลก
แล้วพอเกิดสมาธิแล้ว พอเกิดปัญญาแล้วนี่ ปัญญาทางธรรม คือว่า โลกุตตรปัญญา ปัญญาทางโลกคือโลกียปัญญา ปัญญาทางโลก ก็เหมือนกับปัญญาโดยสามัญสำนึกเรานี่ เราศึกษาธรรมะเห็นไหมเรามีความซาบซึ้งในธรรม เราศึกษา เราใช้ตรึกของเรา เราจะมีความซาบซึ้งมีความดูดดื่ม นี่คือปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกหมายถึงว่า มันยังเป็นปัญญาที่เกิดจากกิเลสที่มีกิเลสเรา มีความเห็นของเราบวกด้วยมันเลยเป็นปัญญาทางโลก
แต่พอจิตมันสงบแล้ว พอปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาทางโลกผลของมันคือความสงบ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมถะนะ ปัญญาทางโลกผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือความสงบ ทีนี้พอความสงบนี่ เราไม่เคยประสบใช่ไหม เราคิดว่าความสงบนี้คือนิพพานไง นิพพานคือความว่าง และความสงบก็เป็นความว่างเหมือนกัน ความสงบนี้เป็นความว่างอันหนึ่ง
นิพพานนี่มันเป็นความว่าง มันไม่มีศัพท์ที่บอกว่า นิพพานคือการชำระกิเลส นิพพานคือสูญจากกิเลสมันไม่ใช่เป็นความว่างธรรมดา ถ้าความว่าง ความว่างเห็นไหม เราบอกใครบอกว่า ว่างๆๆๆ เราบอกว่าโอ่งไหมันก็ว่าง ในโอ่งในไหในตุ่มมันก็ว่าง มันว่างโดยไม่มีเนื้อหาสาระ มันว่างโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของมันคือสุญญากาศ มันก็เป็นความว่างไม่มีสิ่งใดบรรจุอยู่ในภาชนะนั้น มันก็เป็นความว่าง ความว่างแบบนี้เป็นความว่างแบบโลกๆ ไง ความว่างแบบวิทยาศาสตร์ไง
แต่ความว่างแบบสมาธิ กิเลสมันสงบตัวลง ความว่างแบบสมาธิเห็นไหม แต่ถ้าโลกุตตรธรรม ความว่างของนิพพาน นิพพานเพราะมันถอดมันถอนไอ้ความว่างอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้น มันคนละขั้นตอนไป ฉะนั้นเวลาเขาอธิบายคำว่าปัญญาๆ เห็นไหม โดยคนที่ไม่ได้ปฏิบัตินะ เวลาเปิดปริยัติมานี่ เราบอกปัญญามันจะเกิดเอง พอจิตสงบแล้ว มันจะเกิดปัญญา โอ๊ย ปัญญามันจะว่ากันไป ศีล สมาธิ ปัญญา คิดว่ามันจะเป็นอัตโนมัติหมดไง
คิดว่ามันจะเป็นไปโดยขั้นตอนของมัน แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้ามันมีขั้นตอนใหม่ๆ เหมือนปลูกต้นไม้นี่ เพราะต้นไม้มันต้นเล็กใช่ไหม พอมันโตขึ้นมามันจะสืบต่อมา อย่างชีวิตเรานี่ ชีวิตเรามันไม่มีขาดช่วงเลย ขาดช่วงคือตาย ทีนี้ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาเห็นไหม ถ้ามันเป็นกิเลส มันก็เข้ามาถึงความสงบของใจ ฉะนั้นพอปัญญาที่มันจะเกิด เกิดจากโลกุตตรปัญญา มันเป็นคนละเรื่องของปัญญาเลย
ทีนี้ปัญญาอย่างนี้ โลกุตตรปัญญาเกิดจากตัวตน เกิดจากเรา ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือกลับมาสงบที่เรา แต่มันขาดช่วงไง ต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตมันจะสืบต่อ แต่เรื่องของโลกธรรม โลกกับธรรมมันขาดช่วงกัน เราเองต่างหาก เห็นไหม เหมือนกับพอเรามีจิตใช่ไหม ความคิดอะไรเกิดจากจิต พอเกิดจากจิตมันก็เป็นกิเลสออกไป พอเราใช้ปัญญา ใช้ปัญญา จากกิเลส ปัญญาจากโลก ปัญญาจากเราเป็นโลกุตตรปัญญา
ใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามามันก็จะกลับมาสงบที่ตัวพลังงาน ตัวเริ่มต้น ตัวภพ ตัวใจ เห็นไหมมันกลับมาที่นี่ พอกลับมาที่นี่มันก็ว่าง พอมันว่างปุ๊บ เป็นสมาธินี่ พอเป็นสมาธิปั๊บ ด้วยความที่เราว่ามันเป็น เขาเรียกว่าบารมีธรรม หรือว่าวุฒิภาวะของจิตมันอ่อนแอ พอมันอ่อนแอ พอว่างๆ ก็นี่นิพพานๆ เห็นไหม แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงเป็นสมถะ เพราะจิตมันว่าง จิตมันสงบ พอจิตมันสงบ แต่มันยังไม่ถอนกิเลส
แต่พอจิตมันสงบแล้วนี่ มันตัดตอนกันอย่างนี้ พอตัดตอนกันอย่างนี้ เวลาออกรู้ทีหนึ่ง จิตสงบแล้วออกรู้ เห็นไหมที่ว่า เมื่อมีการกระทำมาก่อน เมื่อเข้าอัปปนาแล้ว ท่านจึงใช้คำรวบรัดว่ามันปัญญาเกิดอัตโนมัติ แต่! แต่ปัญญามันเป็นตัวสาวออกไปใช่ไหม ตัวปัญญานั้นมันสาวออกไปหากิเลส แบบที่หลวงตาท่านว่า พอจิตมันสงบแล้ว เวลาออกไปแล้วนี่เห็นไหมโลกุตตรปัญญามันเป็นอย่างนี้ไง
โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากความรู้สึกของเรา แล้วความรู้สึกกับสมาธิมันแตกต่างกันอย่างไร ความรู้สึกของเราก็คือ จิตดิบๆ นี่ไง ความรู้สึกเราก็คือสามัญสำนึกของเราไง แต่สมาธิล่ะ สมาธินี่เพราะว่ามีตัวตน มีเรา มันอีโก้นี่ มันทำให้จิตสงบไม่ได้ แต่เวลาเป็นสมาธินะ โอ๊ะๆๆ มันไม่มีเรา มันเป็นสมาธิไง แต่ถ้ายังมีเราอยู่นะ อันนั้นสมาธิหลอกๆ เราสร้างสมาธิไง เราสร้างสมาธิ
โอ้ กูว่างๆ คำว่าเราว่าง เรามันมี มันไม่ใช่สมาธิหรอกเวลามันว่างนะ เราก็ไม่มีนะ เอ๊อะ เอ๊อะ เลย มันถึงได้เป็นสากล พอเป็นสากลเห็นไหม ตัวสมาธินี่ พอตัวสมาธิ ถ้ามันจะเกิดปัญญาอีกรอบหนึ่ง ปัญญาที่ออกรู้ เห็นไหม มันถึงเกิดวิปัสสนาที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ ๆ ใช้ปัญญา ใช้สติปัฏฐาน ๔ โกหกทั้งนั้นน่ะโกหกทั้งหมด!
แต่ถ้าเป็นจิตสงบแล้วออกรู้นี่ มันถึงจะเป็นความจริง ความจริงเป็นตรงไหน ความจริงมันเป็น เราไปซื้อลูกชิ้นปิ้งเห็นไหม ถ้าลูกชิ้นปิ้ง ในที่เขาปิ้งลูกชิ้น มันไม่มีถ่านไม่มีไฟลูกชิ้นมันจะสุกไหม ลูกชิ้นปิ้งนี่นะมันจะสุกขึ้นมาได้ เพราะมันมีถ่านใช่ไหม มีไฟ เพราะมีไฟ เพราะมันปิ้งมันถึงจะสุกขึ้นมา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่ไม่มีสมาธิ ไม่มีไฟ ลูกชิ้นมันจะสุกขึ้นมาได้ไหม มันจะวิปัสสนาได้ไหม แล้วก็ว่าเอาลูกชิ้นไปวางไว้บนเตาไง โอ้โฮ ปิ้งไฟใหญ่เลยนะ สติปัฏฐาน ๔ ๆ มันไม่มีสมาธิ มันไม่มีไฟ
แต่ถ้าเป็นตัวนี้มีสมาธินะ สมาธินี่มีตัวพลังงาน มีตัวพลังงาน ลูกชิ้นไปปิ้งบนไฟสุกไหม สุก สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ สติปัฏฐาน ๔ มันต้องเกิดจากจิตสงบ แล้วมีลูกชิ้น ลูกชิ้นคือกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วมันตบะธรรมมันแผดเผา ถ้าตบะธรรมมันแผดเผา นี่ๆๆๆ นี่สติปัฏฐาน ๔ นี่วิปัสสนา แต่บอกว่า โอ๊ย นึกเอาเลยนะ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมนะ เอาลูกชิ้นไปวางไว้บนเตาไง โอ๊ย ปิ้งลูกชิ้นน่ะ ปิ้งลูกชิ้นอีก ๑๐๐ ปีก็ไม่มีวันสุก สติปัฏฐาน ๔ ไม่มี สติปัฏฐาน ๔ โกหก! โกหกมดเท็จ!
มันเป็นไปไม่ได้ ปัญญามันถึงเป็นปัญญาโลกๆ ไง สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ โกหกทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นความจริง ลูกชิ้นดิบนะ เราจะฝืนกินน่ะกินได้แต่ท้องเสีย ทำให้ร่างกายนี่มีโรคมีภัย ถ้าลูกชิ้นมันสุกนะ เรากินเข้าไปนะ มันจะเป็นประโยชน์กับร่างกาย เวลาเราใช้ปัญญาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากายนี่ พิจารณากายแบบโลกๆ นะ พิจารณากาย ถ้ามีสตินะ มันก็ฝืนกินน่ะ โอ้โฮ มีความสุข โอ๊ย ว่าง แต่ไม่จริงน่ะ
แต่ถ้าเวลามันปิ้งนะ เราปิ้งลูกชิ้น ลูกชิ้นมันปิ้งบนไฟ มันมีกลิ่นหอมนะเวลามันโดนความร้อน มันจะมีกลิ่นหอมนะ กลิ่นของมันจะออกมานะ วิปัสสนาไปมันจะเกิดปัญญานะ มันจะเกิดความรู้สึกนะ มันจะเกิดสะเทือนใจนะมันจะเกิดการถอดการถอนนะ นี่! มันมีของมัน ถึงยังไม่สุกนะ ลูกชิ้นนี่มันยังไม่สุก แต่เวลาวิปัสสนาไปมันแตกต่าง รสชาติมันต่างกัน กลิ่นของลูกชิ้นดิบ กับกลิ่นของลูกชิ้นที่มันโดนไฟเผา กลิ่นของมันแตกต่างกัน ปฏิบัติมันก็แตกต่างกัน นี่พูดถึงปัญญาเราจะบอกว่า อันนี้ไม่ทราบว่าโยมเข้าใจคลาดเคลื่อนไหม ไม่คลาดเคลื่อนแล้วถูกแล้ว ถูกๆ กลัวผิดอีกนะ
ถาม : ขอเรียนถามในการปฏิบัติว่า ตอนนี้จะมองเห็นภาพอสุภะ ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้นั่งสมาธิ เป็นภาพที่เราจำมาจากหนังสือ แต่ชัดเจนมาก และในชีวิตประจำวัน จะมองเห็นอะไรๆ เป็นธรรมะไปหมด เช่นเมื่อลอกหนังไก่ออก เราก็นึกว่าหนังของเรา ถ้าเราลอกมันออกมา ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน หนังของเรามีค่าน้อยกว่าหนังวัวหนังควาย ที่เขาเอามาทำกระเป๋าเสียอีก
มันเป็นความคิดที่แว็บเข้ามาทันที ตอนที่ตาเราเห็นรูป และรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกที่สว่างโพลงขึ้นมาในใจของเรา ทำให้เราละวางอะไรๆ ลงได้เยอะมาก เมื่อได้อ่านธรรมะของครูบาอาจารย์ ก็พยายามเอามาตรึก คือให้เห็นชัดเจน ด้วยความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่การจดจำเอามาเฉยๆ เหมือนที่หลวงพ่อเมตตาอธิบาย โยมก็พยายามจะทำความเข้าใจตามสติปัญญาของตัวเอง จะถูกต้องหรือไม่ขอกราบขอโทษมาด้วยเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเวลาเขาถามถึงปัญหา ปัญหานี่เขาถามแล้วรอบหนึ่งแล้วเราอธิบายไปแล้ว พออธิบายไปแล้ว คราวนี้เขาถามกลับมาอีกว่า สิ่งที่เข้าใจถูกไหม ถูก ฉะนั้น ข้อที่ต่อมา เห็นไหม เวลาพูดถึงน่ะเวลาคนเรา หนังของคนเรามีค่าน้อยกว่าหนังวัวหนังควายที่เขาเอามาทำกระเป๋าเสียอีกมันเป็นความคิดแว็บ พอคำว่าแว็บนี่นะ แว็บแล้วทำไมเมื่อก่อนมันไม่แว็บล่ะ คำว่าแว็บนี่เราจะเทียบให้เห็นว่าปัญญาโลกกับปัญญาธรรม
ถ้าปัญญาโลกเป็นปัญญาสามัญสำนึกของเรานี่ มันก็คิดได้แบบคิดเป็นวิทยาศาสตร์นี่แหละ คิดเป็นวิทยาศาสตร์แล้วมันก็เกิดใช่ไหม เช่น เราไปเห็นอุบัติเหตุ เห็นคนทุกข์คนจน เห็นคนเจ็บคนไข้คนป่วยเราสลดสังเวชไหม สังเวชทั้งนั้น เราก็สังเวช สังเวชอย่างนี้มันก็เป็นสามัญสำนึกทั้งนั้น แต่คำว่าแว็บขึ้นมานี่ เพราะว่าจิตของเรานี่นะ มันมีหลักมีเกณฑ์ อย่างเช่นว่าเกิดสัมมาสมาธิแล้ว หรือเกิดเราทำความสงบของใจ
ใจของเรานี่ ใจของเราหยาบ เช่น เราเห็นคนเจ็บคนป่วย หรือเราเห็นอุบัติเหตุ ถ้าเรามีความทุกข์อยู่ในหัวใจนะ แล้วเรามีความรีบร้อนของเรานะ เรามีธุระปะปังของเรา ภาพนั้นจะผ่านไปเฉยๆ แต่ถ้าจิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ จิตใจของเราไม่มีธุระด่วน ภาพนั้นมันจะซึมซับได้มาก นี่เปรียบแบบโลกนะ แต่ถ้าเปรียบแบบธรรม ถ้าเปรียบแบบธรรมนี่ ถ้าจิตมันมี มันเคยทำความสงบของใจ ถ้าใจมีความสงบบ้าง มันจะเกิดอย่างนี้
พอใจมันสงบขึ้นมา คือใจของเรานี่ โดยถ้าเหมือนเครื่องยนต์ เห็นไหม เครื่องยนต์ ถ้าเราใส่เกียร์อยู่ ทำงานอยู่ มันจะหมุนของมันเต็มที่เลย ถ้าเราปลดเกียร์ว่างมันก็จะฟรีของมัน จิตใจของเรานี่ มันคิดโดยความวิตกวิจาร คิดด้วยตรรกะนี่ มันทุกข์ร้อนมาก แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามานี่มันปล่อยว่างบ้าง มันปล่อยว่างเหมือนรถเรานี่เราปลดเกียร์ว่างบ้าง พอปลดเกียร์ว่าง เครื่องยนต์มันไม่ต้องทำงานหนัก จิตของเรานี่มันทำงานตลอดเวลานะ มันหนักหน่วงของมันตลอดเวลา
แต่พอมาทำความสงบของใจ เรามาทำความสงบ กำหนดพุทโธอะไรต่างๆ พอมาทำความสงบของใจ พอจิตมันสงบเข้ามาบ้าง กำลังมันมีใช่ไหม พวกเครื่องยนต์เวลามันปล่อยเกียร์ว่างกำลังมันเต็มที่ของมันนะ เหยียบคันเร่งนี่ เครื่องมันจะสะดวกของมัน แต่ถ้ามันทำงานหนักมา เครื่องมันจะใช้พลังงานของมัน มันต้องออกกำลังของมัน จิตเวลามันเบาขึ้นมาเห็นไหม สัมมาสมาธิ
พอมีสมาธิขึ้นมา มันจะเกิดแว็บขึ้นมาอย่างนี้ได้ พอเกิดแว็บขึ้นมา อย่างเช่น เรากำหนดพุทโธๆๆ ไปอย่างนี้ จิตเราสงบขึ้นมานี่ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมานี่ ปัญญามันจะซาบซึ้งมาก เวลาปัญญามันเกิด มันไม่เกิดเหมือนปัญญาที่เราคิดกันอยู่ธรรมดานี่หรอก ปัญญาที่เราเกิด เราคิดกันอยู่ธรรมดานี่ มันเป็นสามัญสำนึกเป็นธรรมดา นี่พูดถึงเราจะบอกว่า ปัญญาชอบ ปัญญาที่เราตรึกกันอยู่นี่ ที่เราคิดกันอยู่ว่าเรามีปัญญาๆ นี่ ปัญญากิเลสทั้งนั้น ปัญญาโดยเราไง
ปัญญาที่คิดจากเรานะ ทั้งๆ ที่ตรึกธรรมะพระพุทธเจ้านะ ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ถูกต้องไหม ถูก มันจะผิดจากพระไตรปิฎกที่ไหน พระไตรปิฎกเขียนอย่างนี้ แล้วเราก็คิดอย่างนี้ คิดเหมือนพระไตรปิฎกเปี๊ยบเลย แต่จิตของเราต่างหาก มันไม่สงบ จิตของเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์มันถึงได้คิดอยู่เปลือกๆ คิดอยู่ข้างนอกไง มันไม่เข้าถึงหัวใจไง แต่ถ้าจิตมันสงบ มันถึงตัวใจใช่ไหม พอจิตสงบมันถึงตัวใจ
ถ้าปัญญาเกิดจากจิต ที่ว่าใช้ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากใจนี่มันความคิดเหมือนกัน ความคิดอันหนึ่ง ความคิดเกิดจากสมองความคิดเกิดจากสติ ความคิดเกิดจากความจำ ความคิดอีกอันหนึ่ง เกิดจากจิตสงบมันเสวยอารมณ์ มันเสวยอารมณ์อะไรมา มันเสวยมามันสะเทือน มันเสวยถึงสภาวธรรม สภาวธรรมคือจิตที่มันกระทบกับสิ่งใด เห็นไหมจิตมันแว็บขึ้นมาเห็นไหมหนังวัวหนังควายมันจะมีค่ามากกว่าหนังของเราเองเลย เพราะหนังของเราเองดูสิ เวลามันถลอกมันเน่ามันเปื่อยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
หนังวัวหนังควายเขาไปฟอกแล้วนะ เขามาทำกระเป๋านะ โอ้โฮใบหนึ่งหลายๆ ตังค์เลย หนังวัวหนังควาย ดูสิ หนังหมู เห็นไหมเขาเอามาทำแคบหมู อร่อยด้วย หนังคนนี่ไม่มีใครกินนะนี่พูดถึงเปรียบเทียบไง เวลาเปรียบเทียบ ถ้าปัญญามันแว็บขึ้นมา มันเห็นคุณค่าปั๊บ คำว่าเปรียบเทียบนี่ มันเป็นเหมือนกับสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากใจ ที่มันเศร้าหมอง ที่มันสลดสังเวช มันมีค่ากว่าหนังหลายร้อยหลายพันเท่า
ฉะนั้น เวลาจิตมันสงบ ดูสิ หินนะ พวกหินพวกกรวดไม่มีคุณค่าเลย แต่เวลาทองคำทำไมมีคุณค่าล่ะ น้ำหนักของมีค่าเท่ากัน แต่ทองคำน่ะมีค่ามาก หินกรวดมีใครต้องการมัน ความคิดปกติสามัญสำนึก ความคิดแบบโลก คิดอยู่ทุกวัน ก็ความคิดเหมือนกัน นี่น้ำหนักเหมือนกัน ความทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าเวลาเกิดจิตสงบขึ้นมา เวลาความคิดอีกอันหนึ่งเห็นไหม ระหว่างน้ำหนักของหินกับน้ำหนักของทองคำมันแตกต่างกัน ผลมันให้ค่าแตกต่างกันไง ถ้ามีสัมมาสมาธิ
ถ้าไม่มีสมาธิจิตไม่มีความสงบเลย ความคิดทั้งหมด แม้แต่ตรึกในธรรม นิพพานๆๆ พูดนิพพานทั้งปีทั้งชาติมันก็ไม่นิพพาน พูดนิพพานทั้งปีทั้งชาติมันก็เป็นเรื่องโลก แต่พอจิตมันสงบขึ้นมานะ พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม ถ้าไม่คิดนิพพานหรือไม่นิพพาน ตัวมันเป็นนิพพาน นิพพานเพราะว่ามันถอดมันถอนไง นี่ปัญญาชอบ ปัญญาจะชอบมันเกิดจากจิตเราสงบนะ จิตเรามีหลักมีเกณฑ์นะ
ถ้าจิตเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ปัญญาไม่ชอบ ปัญญาไม่ชอบเพราะอะไร เพราะปัญญามันเจือไปด้วยอวิชชา ปัญญามันเจือด้วยความไม่รู้ของใจ ดูสิ คนเวลาผิดพลาด คนอื่นไปทำผิดพลาดมันอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้นถ้าเราทำผิดพลาดโดยที่เราไม่รู้ตัว เห็นคนอื่นทำผิดพลาดนี่ โอ๊ย ผิด ทำอย่างโน้นก็ผิด ทำอย่างนี้ก็ผิด เห็นไปหมดเลย แต่ตัวเองไปทำเหมือนเขาเปี๊ยะเลย ถูก เพราะฉันทำน่ะ ถูก ฉันทำ ฉันไม่เห็นน่ะ ถูกๆ นี่ไง อวิชชาไง
นี่เวลามันคิด มันคิดน่ะ มันคิดเหมือนกันแต่มันเป็นโลก เห็นไหม เพราะมันทำเองมันคิดเอง มันว่ามันถูก มันถูกแล้วล่ะ เนี่ย! ถึงบอกปัญญาไม่ชอบ เวลาคนอื่นคิดทำไมผิด คนโน้นก็ผิดคนนี้ก็ผิด เพราะอะไร เพราะเรามีโอกาสได้ดูเขา เขาคิดผิดเขาทำผิด เราเห็น เรารู้ แต่พอเราไปทำ เราไม่รู้ เพราะเราทำเอง แล้วเราทำเอง เราต้องคิดว่าเราทำดีแล้ว
พอทำแล้ว มันทำออกไป มันก็เลยเป็นปัญญาไม่ชอบไง ปัญญาไม่ชอบนะ มันให้ผลกับใคร ให้ผลกับเจ้าของความคิดนั้น ให้ผลกับจิตดวงนั้น เพราะจิตดวงนั้นคิดผิด ทั้งๆ ที่ตรึกธรรมะพระพุทธเจ้านี่ มันคิดผิด พอมันคิดผิดนี่ ปัญญาไม่ชอบมันจะให้ผลเป็นอย่างไร มันก็ให้ผลไม่ชอบไง แล้วก็ไม่ได้ผลกันไง แล้วก็ปฏิบัติกันอยู่ทั้งปีทั้งชาติ นี่ไง โอ้โฮ ปัญญาเยอะ โอ้โฮ ใช้ปัญญาทั้งปีทั้งชาติ แล้วได้อะไรมา ได้ทิฐิมานะไง ได้อีโก้ไง กูเก่ง กูแน่ แล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันไม่ได้ชำระกิเลสเลย
แต่ถ้าทำความสงบของใจนะ ใจต้องสงบ พอใจสงบขึ้นมานะ เห็นไหม หนังวัวหนังควายมีค่ากว่าหนังของเราอีก ทำไมหนังวัวหนังควายมันมีค่ากว่าหนังของเราล่ะ เพราะเราเห็นประโยชน์ของมัน เราเห็นคุณสมบัติของมัน เห็นการกระทำเพื่อประโยชน์เห็นไหม แล้วหนังของเราล่ะ มีแต่จะเน่าเปื่อยไปเห็นไหม แต่ถ้าพูดถึงเวลาเกิด ถ้าเป็นกิเลสล่ะ ของเราต้องดีกว่าเขาทั้งนั้นน่ะ เพราะหนังวัวหนังควายมันไม่มีค่า เพราะมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ของเราสิเรามีความรู้สึก มันจะยึดของมัน แต่ถ้า สิ่งที่มันแว็บขึ้นมา จะบอกว่าพอมันมีพื้นฐานของใจ ปัญญามันจะละเอียดขึ้น แล้วพออันนี้มันแว็บเฉยๆ นะ คำว่าแว็บนี่นะ เป็นปีเป็นชาติมันจะมาสักหนหนึ่งคือแว็บ ดูสิ เราอยู่ทั้งชีวิตของเราน่ะ เราจะคิดแต่เรื่องดีๆ ได้สักหนสองหน แต่ชีวิตของเรา มันจะลากเราไปคิดแต่ธรรมชาติของมัน เป็นทั้งชีวิตเลย
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปนะ ทำความสงบของใจเข้าไปบ่อยครั้งเข้า ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมานี่ พอบอกว่าหนังวัวหนังควายมีค่ากว่าหนังของเรานะ จิตใจมันจะปล่อยวาง มันจะถอดถอนนะ มันจะแบบไม่ยึดมั่นไง พอใครไม่ยึดมั่นนะ จิตใจมันเบาสบายเอง มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนมาด้วยเงินทอง คือไม่สามารถซื้อมาได้ แล้วจะให้ใครเทศนาว่าการให้ใครบอกขนาดไหน รสชาติของความปล่อยอย่างนี้ มันก็ไม่เกิดกับเรา
แต่ถ้า เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา รสชาติเห็นไหม รสของธรรมชนะรสทั้งปวง รสของธรรมคือรสของความรู้สึกที่มันปลดปล่อย มันปลดเปลื้อง มันปล่อยวาง นี่ไง! นี่รสของธรรม มันมีความปล่อยวาง มันมีความรู้สึกมาก มีความสุขมาก มีอะไรต่างๆ นี่ขนาดแว็บเดียวนะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป โดยครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา จิตต้องสงบ แล้วจะเกิดปัญญาอย่างนี้ ที่ว่าไอ้แว็บๆ นี่ ไม่แว็บแล้วมันเป็นเนื้อหาสาระเลย
ดูสิ เวลา อุตสาหกรรม เห็นไหมเขาทำงานอุตสาหกรรมเขาบริหารจัดการ เขาต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน เขาบริหารจัดการ เขาใช้ปัญญาของเขาไตร่ตรอง วิเคราะห์ วิจัย ทำงานของเขาตลอดเวลา เห็นไหม นั่นเป็นงานของโลกนะ แต่ถ้าเป็นงานของธรรม พอจิตมันสงบเข้ามานี่ มันออกไปใช้ปัญญา มันก็ทำงานลักษณะแบบที่เขาบริหารจัดการนั่นน่ะ แต่มันเป็นการบริหารจัดการของจิต
ไอ้ที่แว็บๆ แว็บเดียวยังมีความสุขขนาดนี้ แต่เวลามันจะบริหารจัดการกันต่อๆ กัน เวลาจิตสงบแล้วนี่ เวลาจิตไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี่ แล้วจับกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นตัวตั้ง แล้วใช้ปัญญา วิเคราะห์ วิจัย แยกแยะ ถ้ามีสัมมาสมาธินี่ ปัญญาชอบเป็นอย่างนี้ ปัญญาชอบ คือปัญญาพร้อมกับสมาธิ พอสมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ มันชอบธรรมของมัน แล้วมันหมุนๆ ไปของมัน
ธรรมจักรมันจะหมุน ธรรมจักรหมุนที่ไหน ธรรมจักร สมาธิ สมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะชอบ งานชอบคืองานไตร่ตรอง ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่าง ความชอบธรรมของมัน มันจะหมุนของมันไป นี่มันเป็นมรรคขึ้นมาได้อย่างไร ความคิดของเรานี่ ความรู้สึกนี่มันเป็นมรรคขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นธรรมจักรได้อย่างไร นี่ปัญญาชอบ
คนที่ว่า คิดดูสิ ขนาดแว็บเดียว ยังมีความสุขขนาดนี้ แต่เวลามันก้าวเดิน ครบตามขบวนการรูปแบบของวิปัสสนาญาณ รูปแบบของปัญญาชอบขึ้นมานี่ มันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันภาวนาไปอย่างไร เนี่ย มันเป็นไปไง มันเป็นไปของมัน ถ้าปัญญาชอบนะ แล้วปัญญาชอบกับผู้ที่ปัญญาชอบด้วยกัน มันจะพูดถึงเข้าใจได้ แต่ถ้าปัญญาชอบ นี่พูดถึงปัญญาชอบ
แต่เวลาถ้าพูดถึงปัญญาทางโลกชอบนะ มันก็บอกว่า หลวงพ่อกับพวกหนูพูดไม่เห็นมีผิดกันสักคำหนึ่งเลย คำเดียวกันเลย พูดเหมือนกันเปี๊ยะเลย ทำไมหลวงพ่อบอกหนูผิดๆ ล่ะ ผิดวันยังค่ำนั่นล่ะ เพราะมึงจำขี้ปากไปพูดไง มันไม่มีความจริง ถ้ามันมีความจริงขึ้นมานี่ มันไม่ใช่จำขี้ปากมาพูดไง เพราะจำขี้ปากมาพูดเหมือนเมื่อกี้นี้ไง เห็นไหม เวลาคนอื่นทำอะไรผิดหมดเลยเราทำถูกหมดเลย แต่เวลามันทำ มันไม่ใช่คนอื่นทำ เราทำเรารับรู้ เราเป็นเอง เรารู้เอง เรากระทำเอง พอทำเองนี่ มันรื้อมันถอนเอง มันคาย มันชำระล้างของมันเอง
ฉะนั้น ไอ้คำที่แว็บๆ นี่ จะบอกว่ามันถูก แต่มันถูกนี่เป็นเพราะว่า เราทำมาใช่ไหม เราเริ่มต้นทำมา ดูสิ ชาวสวนชาวไร่นี่ เขาปลูกพืช ปลูกสวนเขาก็ทำตลอดของเขาใช่ไหม เขาทำทุกวันเลย ไอ้เรามันรอเราเกษียณไง เกษียณจากหน้าที่การงาน อยากทำสวน โอ้โฮ จะปลูกต้นไม้สักต้นก็ โอ้โฮ ลำบากลำบนไปหมดเลย หาดินหาอะไรปลูกแล้วก็เป็นบ้างตายบ้าง โอ้โฮ ล้มลุกคลุกคลาน ปลูกต้นไม้ไม่ได้สักต้น ไอ้เขาปลูก เขาทำสวนขายทุกปี เขาเก็บเงาะขายทั้งปีทั้งชาติเขาอยู่ของเขาตลอดเลย
ไอ้เราอยากทำสวน เกษียณจากงาน อยากไปทำสวน แหม ปลูกเงาะนะ โอ้โฮ วิชาการเยอะมาก คลำแล้วคลำอีกนะ น้ำรดแล้วรดอีก ออกมามีแต่ใบไม่มีลูกเลย นี่! แว็บไง เราจะบอกว่าเวลาแว็บมันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราทำไปเห็นไหม วิปัสสนาญาณมันเกิด เหมือนชาวสวนชาวไร่ เขาทำของเขาเป็นอาชีพปกติของเขา นี่เขาทำจนมีความชำนาญของเขา
ไอ้เราเวลาปัญญามันเกิด วิปัสสนาญาณมันเกิด เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดเห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอนลูกศิษย์ลูกหาก็อย่างนี้ เพราะท่านผ่านของท่านมาก่อน ท่านยิ่งกว่าชาวสวนชาวไร่ ท่านทำมาทุกอย่าง แล้วเอามาเผยแผ่กับลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาก็ต้องทำตามนั้น ไอ้เราก็บอกว่า เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญไง ชาวสวนชาวไร่ เขาทำกันแล้ว เราไม่ต้อง เราเข้าไปห้างสรรพสินค้าไง เราไปซื้อเงาะที่ร้าน เราไม่ต้องไปปลูกต้นเอง เราจะเอาเงาะจากกระป๋องเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันเกิดนะ อู๊ย เดี๋ยวนี้มันล้าสมัย เดี๋ยวนี้สมัยใหม่ โอ๊ย ปัญญาเกิดเองเลย ปัญญาจะเกิดได้โดยอัตโนมัติ ปัญญาจะเกิด มันจะบ้า แต่ถ้าปัญญาอย่างนี้มันเกิดนะ พอมันเกิดเพราะอะไร เพราะคนถามนี่มันมีความสุขมาก มันว่าง มันปล่อยวาง มันสบาย นั่นมันคืออะไรคะ แว็บนี่นะ มันมีการสะสมมา จิตมันสะสมความสงบของมันมา พอจิตสะสมความสงบของมันมา มันตรึกมาในธรรมตลอด
พอมันตรึกมาในธรรม จิตมันเข้าขบวนการของมันมา เหมือนกับชาวสวนชาวไร่ เขามีลูกมีหลาน ไอ้ลูกหลานของเขานะ ถ้าเขาจะให้ลูกหลานเขาทำสวนทำไร่ เขาต้องฝึกลูกหลานเขา หนูนะ อย่างนี้ทำอย่างนี้นะ เพาะพันธุ์อย่างนี้นะ กล้ารักษาอย่างนี้นะ ปลูกอย่างนี้นะ อันนี้ก็เหมือนกัน จิตนี่มันได้สะสมของมันมา พอมันได้ทำของมันมา มันก็เหมือนปลูกกล้า หน่อของพุทธะ ความรู้ความเกิดขึ้นมาจากภพ
ภพคืออะไร ภพคือตัวจิต ปฏิสนธิจิต คือจิตวิญญาณ พื้นฐานของจิต ฐีติจิต จิตต้นขั้วของการเกิดและการตาย แล้วพอมันเกิด มันไปปฏิสนธิในไข่ มันก็เกิดมาเป็นเรา พอเกิดเป็นเรา เราก็มีสามัญสำนึกของขันธ์ ๕ ของความจำของมนุษย์ ของสัญชาติญาณของมนุษย์ มันปกคลุมไอ้จิตต้นขั้วนั้นไว้ เราเลยไม่รู้จักจิตต้นขั้วมันคืออะไร คิดแต่ความคิดเรานี่ถูกต้องดีงามทุกอย่างไปหมด แต่ไอ้จิตต้นขั้วคือตัวฐานของจิต ปฏิสนธิจิต ฐีติจิต มันเข้าไม่ถึง
พอเราทำความสงบของใจขึ้นมา เราจะรักษาเข้าไปถึงจิตต้นขั้วนี้ เข้าไปถึงสามัญสำนึก เข้าไปถึงจิต ถึงสภาวะ ถึงภพ ถึงฐีติจิต พอเข้าไปถึงกระแสของความรู้สึกมันต่อเชื่อมกัน พอมันต่อเชื่อมกันเห็นไหม เวลาปัญญาความคิดแว็บของสามัญสำนึกของมนุษย์นี่ คือสิ่งที่มันปกคลุมไอ้จิตต้นขั้วนี่ แต่มันมีการฝึกฝนที่เรากำหนดจิตมา เรากำหนดปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญามาเห็นไหม มันถึงเกี่ยวเนื่องกัน
เวลามันแว็บขึ้นมา มันสะเทือนถึงจิตต้นขั้วหมดเลยไง มันสะเทือนถึงฐีติจิต มันสะเทือนถึงกิเลส มันสะเทือนหมด มันเลยปล่อยวาง มันเลยว่างไง ฉะนั้นไอ้สมาธินี่สำคัญมาก เวลาสัมมาสมาธิ สมาธิถูกต้องก็อันหนึ่ง ฉะนั้นเวลาเกิดปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้น ปัญญาในการปฏิบัตินะ มันเป็นอีกอันหนึ่งนะ
นี่เขาบอกว่า พูดถึงว่าปฏิบัติมาต่อเนื่องกันไป จนเดี๋ยวนี้จิตมันดีขึ้นทุกอย่างมันดีขึ้นนะ จิตร้อน ความเร่าร้อนของใจ มันเบาบางลงนะ กิเลสนี่เวลาโดนธรรมะรุกล้ำมันเข้าไปเรื่อยๆ มันหลบนะ กิเลสนี่มันจะหลบมันจะซ่อนอยู่ในใจเรานี่ เพราะธรรมะ เพราะเรามีสติเรามีปัญญา เรามีความขยันหมั่นเพียร กิเลสนี่มันรีบหลบเลย เพราะถ้ามันต่อต้านนะ ใหม่ๆ การปฏิบัติที่เราไม่ได้ผล เพราะมันต่อต้าน เห็นไหม
นั่งสมาธิก็ไม่ได้เรื่อง ภาวนาก็ไม่ได้เรื่อง ทำอะไรมีแต่ความทุกข์ ทำอะไรไม่ได้ประโยชน์สักอย่างเลย นั่นน่ะ กิเลสมันมีกำลังอยู่ มันจะมีผลอย่างนี้ ผลของการปฏิบัติเรานี่ล้มลุกคลุกคลาน แต่พอเราตั้งสติได้ เราจะเอาความเพียรของเรา เราพยายามต่อสู้ของเรา พอจิตเรามันมีกำลังขึ้นมาน่ะ กิเลสมันรู้มันสู้ไม่ไหวนะมันหลบเลย เพราะมันไม่อยากปะทะ เพราะอะไร ถ้ามันปะทะนะ ถ้าจิตมันดีขึ้นมา ปะทะแล้วจับมันได้นะ มันจะเกิดงานต่อเนื่องคืองานวิปัสสนามันจะหลบไม่ให้จับมันได้หรอก มันหลบให้จิตเราดีๆ นี่ ล้มลุกคลุกคลาน
พอดีเราก็เผลอใช่ไหม เราก็สบายใจเราก็เผลอเรอนะ พอมันเสื่อมนะ กิเลสมันเหยียบหัวอีกทีหนึ่งนะ จิตเสื่อม โอ๊ย ทุกข์ยากมาก ฉะนั้น เวลาที่จิตมันดี เวลาปฏิบัติจิตมันดีหมายถึงว่ามีสติปัญญา แล้วเราควบคุมจิตของเราได้ เราต้องมีสติ และเราต้องเอาสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง แล้วรักษาไว้ การรักษาจิตนะ การรักษาจิตเห็นไหม คนไข้ไปหาหมอนี่ หมอจะเลือกควบคุมเรื่องอาหาร อาหารสิ่งใดกินแล้ว เข้าไปแสลงกับโรคนั้นไม่ควรจะกินเลย เพราะอะไรรู้ไหม ทำให้การรักษานั้นยากขึ้น
จิตเราเวลามันดีขึ้นมา ของแสลงของมันคืออะไรล่ะ ของแสลงของมันก็คือ สิ่งที่มากระตุ้นเร้าให้จิตมันฟูไง ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาเห็นไหม มันต้องมีศีล มีความปกติของใจ ใจเรานี่อย่าก้าวล่วง อย่าก้าวล่วงไปหาของแสลงเข้ามาใส่สิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้มันก็จะรักษา เราจะบอกว่าถ้าจิตมันดี ถ้าเราไม่บำรุงรักษา เดี๋ยวมันก็จะเสื่อม แล้วเวลาของอย่างอื่น อย่างเช่นน้ำ เวลาระเหยก็หมดไป
ถ้าจิตมันดีหมายถึงว่าคุณภาพจิตมันดี เวลาจิตมันเสื่อมก็คุณภาพจิตมันเสื่อม แต่ตัวจิตมันก็เท่าเก่าน่ะ จิตดีก็ตัวฐีติจิต ตัวจิตต้นขั้วมันดี มันดีขึ้นมาเพราะมันเกี่ยวเนื่องกันด้วยคุณงามความดีหมดเลย แต่เวลาจิตมันเสื่อมนะ ตัณหาทะยานอยากก็เกิดจากจิตต้นขั้วนี่ อวิชชาก็อยู่บนจิตต้นขั้วนี่ ทุกอย่างเพราะมันอยู่บนภวาสวะนี่ แล้วมันแสดงตัวออกมาอย่างนี้ แต่เพราะสติเราไม่ทัน สิ่งที่ความคิดนี่
ความคิดดีคิดชั่วเกิดมาจากจิต ทีนี้พอจิตคิดดีมันก็เกิดจากจิต พอจิตคิดดีพอคิดสิ่งดีๆ มา เราก็มีความสุข เวลาจิตมันเสื่อมขึ้นมาก็เกิดจากจิตน่ะ ตัณหาทะยานอยาก กิเลสก็เกิดจากจิต คิดชั่วก็เกิดจากจิต เวลาเราคิดดีขึ้นมา ก็ดีไปหมดเลย เวลาจิตมันเสื่อมมันคิดชั่วแล้ว คิดชั่วบวกกิเลสมันฟูขึ้นมาแล้ว พอขึ้นมาจิตก็เสื่อมนะ มันก็เหยียบหัวใจ เหยียบจิตต้นขั้วนี่ลงไป
แล้วมันก็มีแต่ตัณหาทะยานอยาก แล้วแต่มันจะพาไป ทำโน่น ทำอะไรตามแต่ใจอยาก ตามใจอยากไป จิตก็เสื่อมหมด แล้วเราจะปฏิบัติ เราก็ต้องตั้งสติขึ้นมา เพื่อจะกดไอ้กิเลสไอ้ตัณหาทะยานอยากนี้ให้มันสงบตัวลง เขาว่าเวลาไปทำสมาธิมันคือหินทับหญ้านะ แหม ทำความสงบก็คือเอามันไว้ใต้พรมนะ มันไม่ได้ชำระกิเลส ถ้าไม่มีสมาธินะมันจะไม่เป็นปัญญาชอบ ปัญญาชอบมันต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากสมาธิ เกิดจากจิตสงบ
เวลาจิตสงบเห็นไหม เวลามันดีขึ้นมา เวลาผู้ที่ถาม เวลาจิตมันดีขึ้นมานี่ เดี๋ยวนี้จิตมันดีขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน เป็นคนวู่วามเดี๋ยวนี้ดีทั้งหมดเลย ดีเพราะมีสติปัญญานะ แล้วถ้าไม่รักษาไว้นะ ดูสิ ในร่างกายเรามีเชื้อโรค มีทั้งสิ่งที่เป็นอาหาร สิ่งที่เม็ดเลือดขาวต่อสู้ คอยจะจับเชื้อโรคต่างๆ คอยจะปราบเชื้อโรคให้อยู่สงบ แต่มันก็มีเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลา เชื้อโรคในร่างกายเรามีตลอดเวลา แต่เพราะว่าการสันดาป ระหว่างขั้วบวกขั้วลบต่างๆ มันต้องมีของมัน ไอ้เรื่องการแบ่งขั้วของเซลล์ของอะไรต่างๆ ในร่างกาย มันมีธรรมชาติของมัน มันก็มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายของเรา
หัวใจเห็นไหม คิดดีมันก็เป็นแง่บวก คิดชั่วมันก็มีของมัน ในหัวใจมันก็มีเชื้อโรคในหัวใจมันก็มีแรงขับ มีกิเลส ถ้าในหัวใจไม่มีแรงขับไม่มีกิเลสเราก็ไม่มาเกิด ฉะนั้น สิ่งที่มันมีอยู่แล้วมันต้องแสดงตัวแน่นอน แต่ธรรมะของเรานี่ เราต้องสร้างมันขึ้นมา เราต้องสร้างสติปัญญาขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรา ทีนี้พอสร้างขึ้นมา สิ่งที่มันดีขึ้นมา ถ้าเราไม่รักษาไว้ เชื้อโรคในร่างกาย ถ้าร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคมันรุมเลย
จิตถ้ามันอ่อนแอ สมาธิมันอ่อนแอ กิเลสเกิดทันทีเลย ฉะนั้นสิ่งที่มันดีขึ้นมาเพราะ สิ่งที่ดีขึ้นมาดีเพราะการกระทำของเรา ดีเพราะเรานี่ เห็นไหม เขาบอกว่า เขาเป็นลูกศิษย์หลวงตา เขาอ่านหนังสือหลวงตามาก แล้วเพิ่งมาเจอเทปเรา เขาก็ฟังด้วย เราจะบอกว่า เพราะเขาเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ เขามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง แล้วเขามีคำบริกรรม แบบประสาเราว่า คนไม่บ้านร้าง คนไม่วัดร้าง มีที่ยึดที่เกาะ
ถ้ามีครูบาอาจารย์มีที่ยึดที่เกาะเห็นไหม แล้วเราก็มีพุทโธ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เรากำหนดพุทโธ เรามีสติปัญญาฝึกฝนไปนี่ มันจะเกิดผลมาอย่างนี้ แล้วผลที่เกิดขึ้นมานี่ ที่วู่วามก็เบาลง ไอ้ที่เวลาแว็บเห็นเรื่องหนังวัวหนังควายกับหนังของตัวนี่ มันก็วางลงเห็นไหม อันนี้เงินซื้อไม่ได้ แล้วอันนี้ใครทำให้ไม่ได้ แล้วอันนี้ใครบอกก็ไม่เชื่อ แต่อันนี้เป็นผู้ทำเอง เป็นผู้เห็นเอง ธรรมะ เห็นไหม อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากจิต นี่มีคุณค่ามาก คือเงินซื้อไม่ได้ไง แล้วคิดดูสิ เขาศึกษาธรรมะกันนะเอากี่ประโยค ๑๐๐ ประโยค ๑๐ ประโยค ก็เพื่อเอาความรู้กันนะมันเคยแว็บอย่างนี้ไหมล่ะ มันจำได้หมดนะ มันแต่งบาลีได้ด้วย คือมันแต่งขึ้นมามันก็แต่งนิยายขึ้นมาด้วย แต่จิตต้นขั้วมันเศร้าหมอง แล้วมันไม่มีรสชาติอย่างนี้ มันไม่มีรสชาติ คือไม่ได้รสของธรรม
มันได้รสของมันเหมือนกับวิชาชีพ เรามีวิชาชีพอะไรเราก็ทำวิชาชีพนั้น ใครศึกษาอะไร ใครจบกฎหมายมาก็มุมมองทางกฎหมาย ใครจบทางหมอก็มุมมองทางหมอ ใครจบทางรัฐศาสตร์ ใครจบทางไหนก็มองทางนั้น ศึกษาธรรมะมา มันก็ศึกษามองในแง่ของธรรมะ แต่ไม่ได้มองในแง่ของธรรมตัวเอง เป็นวิชาชีพไง เป็นวิชาจำ
ฉะนั้นถึงบอกว่าศึกษามานะ เขาศึกษามาขนาดไหนแต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ! ไม่ได้ปฏิบัติๆๆๆๆ ไม่ได้ปฏิบัติจะไม่มีรสชาติอย่างนี้ รสชาติที่แว็บขึ้นมาอย่างนี้มันเข้าถึงใจ มันสะเทือนถึงหัวใจ เพราะมันเกิดจากปฏิบัติเท่านั้น มันเกิดจากประสบการณ์ของจิตเท่านั้น ประสบการณ์ของจิตกับธรรมเท่านั้น มันเกิดผลของมันในตัวของมันเองเท่านั้น
นี่ไงพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้นเป็นผู้พ้นทุกข์ คนที่ปฏิบัติเท่านั้นจะพ้นจากทุกข์ คนที่ปฏิบัติเท่านั้นจะรู้ขึ้นมาจากตามความเป็นจริง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เกิดขึ้นมาจากมีครูบาอาจารย์ เราทำของเราไป ผลมันตอบสนองมา แต่! แต่มันต้องขยัน และต้องทำไปอีกเยอะนะ คำว่าทำอีกเยอะ ถึงที่สุดเป็นอกุปปธรรม
กุปปธรรม อกุปปธรรม สภาวธรรมที่เป็นธรรมชาติ เป็นกุปปธรรม คือสภาวะธรรมชาติที่มันแปรปรวนตลอดเวลา อกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง อฐานะที่มันคงที่ของมันไง มันจะคงที่ของมัน ถ้าคงที่ของมันแล้ว จะพ้นจากการเปลี่ยนแปลง จะพ้นจากการเสื่อม จะพ้นจากต่างๆ เป็น อฐานะ ไม่มีความที่จะเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว เป็นถึงพาดเข้ากระแส นั่นคือพระโสดาบัน คำว่าโสดาบัน ถึงที่สุดแล้ว มันจะเข้าถึงกระแส
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ ถ้าทำถึงตรงนั้นปั๊บ ทำถึงที่ตรงนั้นปั๊บมันสบายใจได้ไง มันสบายใจได้ว่ามันจะไม่เสื่อมจากนี้อีกแล้ว มันมีสถานะของโสดาบันรองรับไว้ แต่สิ่งที่เจริญขึ้นมาจะเสื่อมลงมาได้ แต่จะไม่เสื่อมต่ำไปกว่านี้ แต่ถ้าไม่มีตรงนี้เป็นตัวรับ เวลาเสื่อมลงมานะมันเป็นปุถุชน เสื่อมลงมาแล้ว มันก็เหมือนกิเลสตัณหาทะยานอยาก เวลาเสื่อมขึ้นมาแล้วนะ โอ้โฮ รู้อย่างนี้กูไม่ปฏิบัติ โอ้โฮ ปฏิบัติมาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เสียเวลาเปล่าเลย
เวลามันเสื่อมนะ ถ้ารู้อย่างนี้กูไม่ทำตั้งแต่ทีแรกก็ดีสิ กูอยู่สบายๆ ถ้ากูรู้อย่างนี้นะกูไม่ทำ เพราะเสื่อมมาแล้วก็เหมือนเก่า ก็มึงรู้อย่างนี้ ก็มึงโกหกตัวมึงเองไง แต่ถ้ามันทำความจริงได้นะมันจะมีหลักมีเกณฑ์ นี่ถึงว่าปัญญาชอบ เกิดจากสัมมาสมาธิ สมาธิชอบจะเกิดปัญญาชอบ เวลามันเกิดขึ้นมานี่ ความชอบธรรมมันเกิดด้วยรสของธรรม เกิดจากสัจธรรม เกิดจากการประสบการณ์ของจิต จิตมันได้รับรู้รสเอง
ไม่ต้องมีใครมาให้คะแนน ไม่ต้องมีใครบอก เพียงแต่ว่าถ้าเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์กัน เวลาใครมีประสบการณ์ก็อยากจะถามครูบาอาจารย์ให้ว่าทำอย่างนี้จริงไหมครับ ทำอย่างนี้จริงไหมครับ อันนี้มันเป็นประโยชน์นะ ประโยชน์ที่ว่าตรวจสอบกันไง ประโยชน์ของการตรวจสอบนี่สำคัญมาก เราตรวจสอบตัวเราเองแล้ว
ถ้าเราเป็นบัณฑิต สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใดนี่ เราจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราไม่ใช่บัณฑิต เราเข้าข้างตัวเอง สิ่งนี้เกิดขึ้น ๕% เราจะให้ค่ามัน ๑๐๐% สิ่งนี้เกิดขึ้น ๑๐% เราจะให้ค่ามัน ๑๐๐,๐๐๐% นี่เราจะให้ค่าเป็นบวกไปตลอด ถ้าจิตเราเป็นกิเลส จิตเราเป็นกิเลสนะมันได้ตรวจสอบใช่ไหม ฉะนั้นถ้ามันไม่ตรวจสอบจริง เวลาเราตรวจสอบของเราแล้ว
ถ้ามีครูบาอาจารย์เราก็ตรวจสอบกับครูบาอาจารย์เพื่อการันตีความมั่นคง ความเป็นจริงในหัวใจของเรา ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้วท่านรู้หมดล่ะ เอาน้ำไปถามครูบาอาจารย์ นี่อะไร น้ำครับ ถ้าครูบาอาจารย์ตอบไม่ถูก ครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้จักน้ำ เอาน้ำไปถามท่านนี่คืออะไร ท่านก็บอกว่าน้ำ เพราะเราเอาน้ำไปถามท่าน ท่านบอกว่านี่คือโคลน โอ้โฮ อาจารย์องค์นี้บ้า ถ้าอาจารย์ตอบของเราผิดนะ มันต้องผิดกันแน่นอน
ฉะนั้นเอาประสบการณ์ของเรานี่ถามเลย ไปถึงไหนก็เอาประสบการณ์นี่แผ่ออกมาเลย ให้ท่านตรวจสอบมา เพราะมันตรวจสอบได้อยู่แล้ว เอาน้ำนี่ไปแผ่ ขวดน้ำ นี่น้ำ นี่คืออะไร ท่านจะบอกว่าน้ำ เออ ท่านบอกว่านี่มันขี้โคลน เรากินน้ำ อาจารย์กินขี้โคลน ให้ท่านกินขี้โคลนของท่านไป เพราะด้วยความไม่รู้ของท่าน มันตรวจสอบได้ การตรวจสอบนี้ จะเป็นประสบการณ์ของเรา พูดถึงปัญญาชอบ สมาธิชอบก็เป็นส่วนหนึ่งนะ
สมาธิชอบสำคัญมาก เพราะตัวสมาธินี่มันเป็นตัวพื้นฐาน ตัวจะให้เราพ้นจากกิเลส แล้วเกิดปัญญานี่ มันจะเกิดปัญญาธรรม ถ้าไม่มีตัวสมาธิ ปัญญาจำคือปัญญาวิชาชีพ อาชีพของโลกเขานี่ เขาศึกษาวิชาการใดมา เขาก็ประกอบอาชีพตามนั้น นี้เราไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามา เราก็อาศัยธรรมะนี้เป็นวิชาชีพ อาศัยธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นวิชาชีพ คือเทศนาว่าการธรรมะพระพุทธเจ้า แต่เราไม่ได้รสของธรรมเลย เราไม่ได้รสเลย
เราเหมือนทัพพีในหม้อ อยู่ในธรรมะนะ เป็นพระเป็นเจ้า สอนธรรมะเขานะ เหมือนทัพพีในหม้อ ชาวบ้านเขามานะเขาตักแกงไปกิน ตักอาหารไปกินนะ ไอ้เรานี่ตักให้เขานะเป็นทัพพี หน้าที่ตักอาหารให้เขานะ แต่ตัวเองไม่รู้จักรสนะ นี่คือวิชาชีพ อาชีพธรรมะ แต่ถ้าเป็นธรรมขึ้นมาในหัวใจ ไม่ใช่อาชีพ มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงในใจนั้น ฉะนั้นถ้าเป็นวิชาชีพ มันเป็นเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้นถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมในหัวใจเป็นเรื่องหนึ่ง ในปฏิบัติธรรม ถ้ามันเป็นขึ้นมา ให้มันเป็นขึ้นมาในหัวใจของเรา ถึงเป็นปัญญาชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ เกิดมรรคผลตามความเป็นจริง กุปปธรรม อกุปปธรรม แล้วเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่พูดถึงสมาธิพูดถึงปัญญา พูดถึงสัจจะความจริง เพื่อประโยชน์กับการปฏิบัติ เอวัง