เทศน์เช้า

ปัญญา

๑๗ มิ.ย. ๒๕๔๔

 

ปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พวกเรานี่เป็นชาวพุทธ พุทธทะเบียนบ้าน ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาเลย แล้วเขาเข้าใจเรื่องศาสนา ศึกษาเล่าเรียนตามหนังสือ แล้วหนังสือจะบอกเลย ส่วนใหญ่จะบอกว่า “ไม่ให้ติดในครูบาอาจารย์ ให้ติดในธรรม” ไม่ให้ติดในตัวบุคคล เพราะในตัวบุคคลนี่ ทำดีก็มี ทำเสียก็มี พอทำเสียแล้วมันจะเสียไป ถ้าทำดีมันก็จะเกาะเกี่ยวได้ ไม่ให้ติดในตัวบุคคล ให้ติดในตัวธรรม...ถูกต้องเลย ตามธรรมก็ว่าอย่างนั้น ให้ติดในธรรม

แต่เริ่มต้น เด็กอ่อน ๆ น่ะ เด็กมันจะเกิดมานี่ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงด้วยนม มันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เด็กอ่อนเราต้องเลี้ยงด้วยนมก่อน เลี้ยงด้วยอ้อมอกแม่ ให้เด็กนั้นรักษาตัวมันเองให้ได้ก่อน นี่เริ่มต้นก็เหมือนกัน ถ้าเริ่มต้นเราการปฏิบัติน่ะ อย่างเมื่อวานที่ว่าเวลามันตกไป วูบวาบขึ้นมานี่ อาการตกใจมันทำอย่างไร ถ้าเราอยู่เราเริ่มต้นนะ มันจะแยกไม่ได้ มันจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้ามันทำความสงบอย่างนี้ แล้วมันจะเข้าได้

แต่เมื่อวานเขาพูดเรื่องปัญญา เขาบอกว่าทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าละโลภ โกรธ หลงได้ เป็นความถูกต้อง ทำอะไรก็แล้วแต่ อ่านหนังสือเข้ามานี่ พยายามให้ละโลภ โกรธ หลง อันนั้นคือความถูกต้อง เราบอกถูก ถูกส่วนหนึ่ง ถูกต้องส่วนหนึ่ง เห็นไหม ละโลภ ละโกรธ ละหลง แล้วเราก็บอก เราศึกษามานี่เรามีปัญญาไหม? มีปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาคืออะไร? ปัญญาคือความรอบรู้เรื่องต่าง ๆ ให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วเวลาเราปฏิบัติละความโลภ ความโกรธ ความหลงน่ะ มันละได้ใช่ไหม? แล้วมันกลับมาในความสงบของใจใช่ไหม? แล้วมันละกิเลสได้ไหม?

เราถึงบอกเขาว่ามันเป็นโลกียะไง โลกียะปัญญา มีปัญญา ๓ ขั้นตอน สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าละโลภ โกรธ หลง เข้ามานี่ มันจะละโลภ โกรธ หลง เข้ามา ละโลภ โกรธ หลง เข้ามาแล้วกิเลสมันละหรือเปล่า? มันไม่ได้ละ นี่มันต้องติดอาจารย์ติดอาจารย์ตรงนี้ เราบอกว่ามันจะยกขึ้นโลกุตตระ ถ้ายกขึ้นโลกุตตระนี่ ยกขึ้นโลกุตตระตรงไหน? เราบอกทำความสงบเข้ามาก่อน พอความสงบเข้ามานี่ ตรงที่ว่าเรามีปัญญา ศึกษามามันเป็นปัญญา ครูบาอาจารย์จะชี้แนะตรงนี้ไง ตรงแยกออกจากกัน

ถ้าเรามีปัญญา ปัญญาเป็นของของเรา แล้วเราพอมันมีความรู้เข้ามานี่ มันจะเทียบตรงนั้นเลย มันจะเทียบเคียงกับความรู้เดิม ความรู้เดิมคือสัญญาที่จำได้ กับความเห็นเข้ามามันจะเทียบเคียงกัน พอเทียบเคียงกันอันนี้มันก็ทำให้อยู่ตรงนั้นไง ว่าอันนี้เป็นผลแล้ว ๆ นี่จะเป็นผลตรงนี้ แต่มันไม่ทำความสงบเข้ามา ถ้าทำความสงบเข้ามาของใจ ใจมันสงบเข้ามาแล้วยกขึ้นวิปัสสนาในงาน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พอยกขึ้นวิปัสสนาตรงนั้น มันถึงจะเริ่มเป็นโลกุตตระ

เราบอกปัญญาอันนี้พอพูดถึงภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ไม่มีเจตนานี่ เขางงแล้ว เขางงมากเลยนะ เขาบอกว่าปัญญาของเขา เขาทำความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้ามานี่มันถูกต้องของเขาแล้ว แต่อย่างนี้มันไปถูกต้องตามหลักศาสนา เราบอกว่านั่นน่ะสุตมยปัญญา แล้วจินตมยปัญญาล่ะ? จินตมยปัญญายังไม่เกิดขึ้นเลย จินตมยปัญญามันต้องความเห็นของตัวเอง จินตมยปัญญาเกิดขึ้น แล้วภาวนามยปัญญาที่ว่าจะแก้กิเลสเป็นอย่างไร?

พอพูดกันนี่ อ๋อ...เขาอ๋อของเขา พยายามเริ่มทำความเข้าใจนะ ว่าสิ่งนั้นถ้าว่ามันผิด มันไม่ผิด มันจะผิดไปได้ที่ไหน ในการศึกษาธรรมน่ะพระไตรปิฎกนี่คนไปอ่านพระไตรปิฎกมันจะผิดตรงไหน?...ไม่ผิดเลย ถูกต้องหมดเลย แต่พอเราอ่านพระไตรปิฎกขึ้นมานี่ เราต้องเอาความเห็นของเราเข้าไปจับๆ นี่ถ้าติดครูติดอาจารย์ติดตรงนี้ ตรงครูบาอาจารย์จะบอกว่า “จะแยกให้เห็นไง” ว่าสิ่งนี้มันจะเป็นความเกาะเกี่ยวของเรา สิ่งนั้นมันจะเป็นความปล่อยออกไป

เงาแก้เงา ในความสัญญาของเรา มันมีเงาอยู่แล้ว ความคิดของเรานี่เป็นเงาในความคิดของเรา ถ้าเงาความคิดของเรานี่มันเป็นเงาอยู่ เพราะจิตมันไม่ใช่ความคิด สังเกตได้เวลาความคิดมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากไหน แล้วเวลาเราว่าง เราโล่ง เราสบายใจนี่ ไม่มีความคิด ความคิดมาจากไหน นี่ที่ว่าเงามันเงาตรงนั้น พอเงาตรงนั้นพอมันเปิดเงาขึ้นมานี่ เงาอันนั้นมันถูกใจ มันก็พอใจมีความสุข เงาอันนั้นมันไม่ถูกใจ มันก็ปั่นป่วนใจเข้าไป

แล้วเราละโลภ ละโกรธ ละหลง นี่เพราะการไปอ่านมามันก็เป็นเงา เราไปศึกษานี่ เหมือนกับเงินในธนาคาร เราไปกู้ธนาคารมาก็เป็นเงินของธนาคาร เรากู้มาต้องเสียดอกเบี้ย อันนี้ธรรมะอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเรายังไม่เกิด เราไปศึกษามา ยืมมาไง ยืมเงามันก็เป็นเงาเหมือนกัน เพราะเงาเกิดจากใจ เงาของเรานี่เกิดจากใจอยู่แล้ว ก็ไปยืมเงาอันนั้นมา

นี่สุตมยปัญญา เงาอันนั้นน่ะมันก็จะมาครอบเงาของเรา พอครอบเงาของเรามันเข้าใจนี่ มันจะปล่อยโลภ ปล่อยโกรธ ปล่อยหลง มันเป็นธรรมะที่ยืมมาจากข้างนอก มันถึงว่าสุตมยปัญญาเป็นอย่างนี้ สุตมยปัญญาคือก๊อบปี้มา สุตมยปัญญาคือจำมา ความจำมาดึงออกมา นั่นน่ะสุตมยปัญญาหมดเลย แล้วมาใคร่ครวญนี้ไง นี่จินตมยปัญญาจะเกิดเกิดตรงนี้ การใคร่ครวญของเรา จินตมยปัญญาเกิดขึ้น ความจินตนาการของเราเกิดขึ้น ความเห็นของเราเกิดขึ้น พอเราเกิดขึ้นมานี่ มันต้องเกิดผ่านตรงนี้ก่อน มันเป็นจินตนาการก่อน เพราะมันจะส่งต่อ ปัญญามันจะส่งต่อขึ้นไปเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาถึงว่าไม่มีเจตนาไง

ถ้ามีเจตนาอยู่ เห็นไหม เจตนานี่เป็นเรา พอเป็นเราเข้าไปนี่ความเห็นของเรามันต้องมี ความเห็นของเราเข้าไปเกาะเกี่ยว เขาถึงว่าเขายังไม่เห็นภาวนามยปัญญา เขาว่าอันนั้นเป็นปัญญาของเขาอยู่แล้วนี่ ว่าเป็นปัญญา เขาเข้าใจว่าเป็นปัญญาไง ถ้าเป็นปัญญามันเอาตัวรอดไม่ได้ มันจะทำให้เราเข้าไปทำความสงบ ความคิดโดยสังขาร ความคิดโดยสัญญา ความคิดจินตนาการนั่นน่ะมันจะเป็นเรื่องของสมถะทั้งหมด มันเป็นเรื่องทำความสงบทั้งหมด

จิตมันสงบเข้ามาแล้วนี่เราเปรียบให้เขาฟังว่า “เปรียบเหมือนป่า” ป่าใหญ่มากเลยนะ แล้วก็ต้องถางป่าออก เราถางป่าออก ความคิดที่ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่เรามาถางป่า พอถางป่าออกหมดแล้วมันจะมีอะไร? มีแผ่นดิน เราจะปลูกพืชอะไรในแผ่นดินนั้นมันถึงเป็นประโยชน์ขึ้นมา นี้เราถางป่าออกหมดแล้วแต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราถางป่าออกเสร็จแล้วเราว่าเสร็จแล้ว เราถางป่ามันก็มีพื้นดินเรียบร้อยหมดแล้ว แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาจากอะไร? เราจะได้สิ่งอะไรเกิดขึ้นมาเป็นผลประโยชน์ขึ้นมาจากพื้นดินป่านั้น

นี่ก็เหมือนกัน ใจมันมีแต่ความคิดของเรานี่ โลภ โกรธ หลง ความจินตนาการในหัวใจ เราถางอันนี้เข้ามานี่ ละโลภ ละโกรธ ละหลงนี่มันถางป่า งานของการถางป่า งานทำความสกปรกของใจออกไป นี่ละโลภ ละโกรธ ละหลงถูกต้องส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นปัญญาของในศาสนา เราบอกยังไม่ใช่ ถ้าเป็นปัญญาในศาสนา ปัญญาในพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรม ไปเรียนกับอาฬารดาบส ทำความสงบเข้ามานี่ เป็นอย่างนี้เหมือนกัน พอสงบเข้ามาแล้วมันแก้กิเลสไม่ได้ เพราะมันแก้กิเลสไม่ได้พระพุทธเจ้าถึงว่าต้องออกมาสยุมภูตรัสรู้ด้วยตนเอง ตรัสรู้ด้วยตนเองด้วยมัคคะ “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

แต่อันที่ว่าเป็นสุตมยปัญญา เป็นมรรคไหม? เป็น มรรคอย่างหยาบไง มันถึงมีมรรค ๔ เห็นไหม นี่จะติดครูติดอาจารย์ติดตรงนี้ ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์ชี้ ความเห็นของเราเราเห็นของเราแล้ว เราเชื่อของเรา เราก็อยู่แค่ตรงนั้นไง สิ่งที่เราควรจะได้เจริญก้าวหน้าไปมากกว่านั้น สิ่งมันจะได้ผลมากกว่านั้น เพราะสิ่งที่ว่าธรรมะนี่มันละเอียดอ่อน มันลึกซึ้งในหัวใจนี่ มันลึกซึ้งมาก แล้วหัวใจก็สัมผัส แต่พอเราเข้าไปเจอเรื่องเงานี่ เราก็ลึกซึ้งของเราแล้ว เราลึกซึ้งแล้วเราก็ตื่นเต้นของเรา เราจะหยุดอยู่แค่นั้นไง

ความหยุดอยู่แค่นั้น เห็นไหม เป้าหมายแค่นั้น อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ พระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ต้องสร้างพุทธภูมิ พออย่างนั้นก็เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แล้วก็ปรารถนาพุทธภูมิ สร้างสมบุญบารมีไปเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมาย อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป้าหมายของเรา เราละของเราเข้ามา ละเงาเข้ามา เราถางป่าเข้ามาถึงพื้นที่ของเรา ว่าอันนี้เป็นผลของศาสนา มันก็จินตนาการอย่างนั้น ความเห็นของเราเดิมมันจะเข้ากัน

ทีนี้อาจารย์มหาบัวท่านบอกว่าท่านศึกษามา เรายกอาจารย์มหาบัวว่าศึกษามา ท่านเป็นมหา ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลย “ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไม่มีใครไปติเตียนได้นะ เป็นของประเสริฐ เป็นของสูงสุด แต่อันนี้เป็นของยืมมา ให้เก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจไว้ด้วย” เพราะเวลาเราภาวนาเข้าไปนี่ มันจะเทียบเคียง

สิ่งที่เทียบเคียงนี่ พออารมณ์เราเริ่มสงบเข้าไปมันจะเทียบเคียงว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ความเทียบเคียงของเรานี่เจตนา ปัญญาที่มีเจตนา ปัญญาคือการเทียบเคียง การเทียบเคียงคือการวิเคราะห์วิจัย อันนี้เป็นการเริ่มต้นเข้าไป แล้วการเทียบเคียงการวิเคราะห์วิจัยนี่มันเป็นแง่ของปัญญาใช่ไหม? ถูกต้อง เป็นแง่ของปัญญา ถ้าปัญญาคือการเทียบเคียง ปัญญาถึงกว้างขวางมาก การทำสมถกรรมฐานคือการทำความสงบของใจเข้ามา ใช้ความถากถางเข้าไป

แต่พอเริ่มเทียบเคียงเข้าไปนี่ เทียบเคียงเข้าไปแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา มันจะส่งต่อเข้าไปถึงภาวนามยปัญญา ถ้าเทียบเคียงเข้าไปนี่เป็นจินตมยปัญญา การเทียบเคียงถึงว่าเริ่มเป็นปัญญา ปัญญาเริ่มเป็นของเรา พอปัญญาเริ่มเป็นของเรามันจะเทียบเคียงกับสิ่งนั้น ๆ พอเทียบเคียงว่าใช่ไม่ใช่ ถูกต้องไม่ถูกต้อง มันจะแยกแยะออกไป แล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา ๆ

ปล่อยวางเห็นไหม เจตนาให้ปล่อยวาง มันยังไม่ปล่อยวางตามความเป็นจริง มันเจตนาให้ปล่อยวาง มันก็ปล่อยวางเข้ามา จนถึงสุดท้ายมันชำนาญกัน ตรงนั้นมันเกิดขึ้นปั๊บนี่มันไม่มีเจตนา มันขึ้นมาเป็นสังโยชน์ มันขึ้นมาเลย กิเลสมันขึ้นมา มันคิดขึ้นมา ความคิดเราไปเกาะเกี่ยวมันจะขึ้นมาทันที แล้วพอปัญญาเราส่งขึ้นมาจนจินตมยปัญญามันเคยชินแล้ว มันทำจนคล่อง จนชำนาญขึ้นไป มันเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมาแล้วนี่ มันจะเข้าไปต่อสู้กัน ถ้าเข้าไปต่อสู้ก็เข้าไปเห็นไอ้สิ่งนั้น

นี่มันไม่มีเจตนา เป็นของธรรมชาติ เป็นธรรมจักร เป็นกลาง สิ่งที่เป็นกลางนี่มัชฌิมาปฏิปทาเป็นของมัน นี่ภาวนามยปัญญาจะเกิดอย่างนั้น เกิดโดยว่ามันเกิดขึ้นมาจากเราส่งเสริมขึ้นไป แต่ถ้าเราเข้าไปมีเจตนาปั๊บมันก็จะเป็นจินตมยปัญญา พอมันเป็นจินตมยปัญญาเราต้องย้อนกลับมาทำความสงบของใจ สมถกรรมฐานมันถึงว่าพร้อมกันไปกับวิปัสสนากรรมฐาน ต้องพร้อมกันไป

ถ้าวิปัสสนาเข้าไปบ่อย ๆ ใช้ปัญญาเข้าไปมันจะฟั่นเฝือ ใช้มากมันก็จะฟั่นเฝือออกมา มันจะคล้อยต่ำลงมา เราต้องทำความสงบเข้ามา พอดันนี้ขึ้นไป เพราะมันชำนาญ มันเป็นเอง ถ้าอย่างนี้ไม่ต้องติดครูติดอาจารย์ อย่างนี้ต้องหลบหลีกออกจากหมู่คณะด้วย เพราะอะไร? เพราะว่ามันต้องใช้อาศัยเวลา ถึงเวลาติดครูอาจารย์นี่มันควรติด มันต้องติด

เพราะครูบาอาจารย์เห็นไหม เด็กจะฝึกจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ต้องพ่อแม่ส่งเสียเล่าเรียน ต้องครูบาอาจารย์ฝึกฝนเล่าเรียน จนเด็กนั้นเรียนจนมีปัญญาของตัวเองขึ้นมาแล้ว เด็กนั้นจะใช้ปัญญาของตัวเองได้ พอเด็กนั้นใช้ปัญญาของตัวเองได้แล้วเด็กนั้นไปประกอบอาชีพ ประกอบการงานขึ้นมา งานที่เด็กนั้นทำขึ้นมาน่ะเป็นผลงานของเด็กคนนั้น ปัญญาส่วนนั้นน่ะถึงว่าไม่ใช่ของครูของอาจารย์ เป็นปัญญาของเรา แต่อาศัยยืมมา

ฉะนั้นว่าถ้าติดครูติดอาจารย์ติดบุคคลนี่ มันติดตอนเริ่มต้นนี่มันควรติด ติดครูบาอาจารย์ที่ชี้ถูกช่องนะ ถ้ามันไม่ติดครูบาอาจารย์มันก็จะไปไม่ถูก พอไปไม่ถูกมันเป็นความเห็นของเรา ความเห็นของเรามันจะเถลไถลไปเรื่อย มันจะเกาะเกี่ยวไปเรื่อย แล้วมันจะฟังนะ เวลาเราสร้างสมขึ้นมานี่ เราพยายามสะสมขึ้นมาพลังงานของเราขึ้นมา มันทุกข์ไหม มันทำยากไหม? ทำยาก แล้วเวลาขึ้นมาแล้วนี่มันควรจะเข้าหาเป้าหมาย คือเป็นธรรมจักร หมุนไปเป็นภาวนามยปัญญา มันเข้าไปถึงตรงนั้น มันก็ต้องเสื่อมออกไป พอมันเสื่อมออกไปนี่ เริ่มต้นใหม่

นี่คือว่าเหมือนกับเรามีข้าวของ มีวัตถุสิ่งของขึ้นมาเป็นประโยชน์ แล้วเรามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้มันเสื่อมสภาพไปต่อหน้าต่อตาเรา พอเสื่อมสภาพต่อหน้าต่อตาเรา เราจะสร้างขึ้นมาใหม่ มันก็ต้องยากขึ้นมาใหม่ พอมันยากขึ้นมาใหม่ มันต้องสร้างขึ้นมามาก

นี่มันถึงว่าถ้าครูบาอาจารย์มีอยู่ครูบาอาจารย์จะชี้บอกเลย “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องนะ ต้องเป็นอย่างนั้นเลย ต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ” พอต้องเป็นอย่างนั้น เราก็ทำตามเข้าไป ๆ มันจะมีความคัดค้านในหัวใจบ้างนิดหน่อย เริ่มต้นมันจะคัดค้านเพราะเราเห็นเอง เรารู้ว่านี่มันเป็นนิมิต เป็นความเห็นของเราถูกต้อง แล้วทำไมอาจารย์บอกไม่ใช่ เวลาพอเราผ่านไป อ๋อ...นิมิตมันหลอก ความเห็นนี่มันเห็นถูกต้อง เริ่มต้นเราก็จะค้านอยู่ในหัวใจบ้าง เพราะความลังเลสงสัยของใจนี่มันมีทุกดวง

ในความลังเลสงสัยของใจคือกิเลส ทุกดวงมีกิเลส มันต้องมีความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยอันนี้มันจะไม่เห็นจริง พอไม่เห็นจริงนี่ แต่เพราะความเชื่อมันทำเข้าไป มันมีโอกาสเพราะความเชื่อทำเข้าไปแล้วมันเข้าไปประสบตรงนั้น พอเห็นจริงขึ้นมาน่ะ คราวนี้ไม่เชื่อ คราวนี้รู้จริงเห็นจริง ความรู้จริงเห็นจริงอันนั้นน่ะเป็นสมบัติของส่วนตน พอสมบัติส่วนตนมันขยับเข้าไปเรื่อย รู้จริงเห็นจริงมากเข้าไปเรื่อย ๆ นี่ภาวนามยปัญญามันเกิดอย่างนั้น ปัญญามันเกิดเกิดลึกขนาดนั้น เกิดปัญญาลึก ๆ นะอยู่ภายในหัวใจ

แล้วปัญญาข้างนอกนี่ที่ว่าเขารู้ว่าเป็นปัญญา เป็นการศึกษามานั้นเห็นด้วย นี่ถึงบอกว่า ตาบอดตาใส รู้แล้วมันก็ไม่เข้าถึงข้างใน พอพูดไปนี่เขางงเลยนะ เขางงมาก แล้วพอพูดไปเขาเข้าใจไปเรื่อย ๆ เข้าใจเข้าไปเรื่อย พูดถึงถ้าจะรู้แล้วถ้าเป็นสุตมยปัญญา ติดอยู่ในสุตมยปัญญา มันก็เข้าถึงละเอียดไม่ได้ มรรคหยาบมันมีจริง ๆ มรรคหยาบ ๆ มรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด มรรคอย่างละเอียดสุด ถ้ามรรคอย่างหยาบนี่เราก็ติดอยู่ในมรรคอย่างหยาบ แล้วนามธรรมมันสร้างสมเป็นอย่างนั้น มันจะติดข้องอยู่ตรงนั้นนะ

นี่ปัญญาในหลักของศาสนา ถึงว่าศาสนาพุทธเราประเสริฐมาก เราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญทำทานขึ้นมา เราก็สร้างสมมาบุญบารมี ทำให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา แล้วเราเชื่อหลักของเรา แล้วเราพยายามทำของเรา ถ้าธรรมอันนี้เข้าถึงหัวใจของเรา เราจะเป็นผู้ที่พึ่งตัวเองได้ เอวัง