เทศน์เช้า

สุขครอบครัว

๒๔ มิ.ย. ๒๕๔๔

 

สุขครอบครัว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ครอบครัวนะ เรื่องครอบครัวว่าพ่อแม่ต้องรักษาลูกให้ดี พ่อแม่ต้องฉลาดก่อน พ่อแม่ฉลาดแล้วก็พาลูกไปทางที่ดี ถ้าพ่อแม่ไม่ฉลาด พ่อแม่ไม่ฉลาดหมายถึงว่าห่วงแต่ตัวเองน่ะ ห่วงแต่ความเห็นของตัวเอง ถ้าห่วงแต่ตัวเองมันก็ให้อยู่กับเรา เด็ก ๆ นี่ถ้าเราให้ออกไปหาประสบการณ์ เด็กมันจะมีประสบการณ์มากเลย ถ้าเด็กอยู่กับเราตลอดไปนี่ มันจะโอ๋กัน ครอบครัวที่เขาประสบความสำเร็จ เอาลูกเขามาเขาจะให้ฝึกงานก่อน เขาให้ฝึกงานกับคนอื่นก่อน ให้คนอื่นเขาโขกเขาสับ ลูกมันถึงจะได้รู้จักผิดรู้จักถูก ถ้าอยู่กับพ่อแม่โอ๋เกินไป

นี่ความที่ว่าเรารักเกินไป ความรักเห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนว่า “ความรักสอนให้คนตาบอด” ความรักนี่ปกป้องลูกจนเกินกว่าเหตุ นี่ถ้าความรักของเรา แต่ถ้ามันออกไปข้างนอกแล้วประสบความสำเร็จมา ล้มลุกคลุกคลานบ้างก็ได้ ทีนี้ท่านพูดถึงการห้ามปราม เมื่อวานเห็นไหม หลวงตาพูดถึงการห้ามปรามครอบครัว การเกิดนี่พ่อแม่มีบุญคุณมากที่สุดเลย ถ้าไม่มีพ่อแม่เราจะเกิดมาไม่ได้เลย เรานี่เกิดมาจากพ่อแม่ เห็นไหม เลือดเนื้อเชื้อไข เวลาลูกมาบวชในศาสนาถึงได้บุญมาก

แล้วลูกสามารถเปิดตาพ่อแม่ ไม่มีอะไรเลยที่ลูกสามารถทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ด้วยกับการบวชนะ บวชแล้วทำให้พ่อแม่หูตาสว่างขึ้นมา เพราะอะไร? เพราะเวลาเราเกิดเราตายขึ้นมา มันชาตินี้ใช่ไหม แต่บุญกุศลมันแนบกับใจไป มันไปทุกชาติ ๆ คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วต้องเกิดทั้งหมด เว้นไว้แต่ถ้าลูกเปิดตาพ่อแม่ได้ พ่อแม่สอนลูกให้ลูกเปิดตาจนพ้นจากไม่เกิดและไม่ตาย นี่ตาของธรรม ถ้าตาของธรรมเปิดขึ้นมาแล้ว อันนี้เป็นประโยชน์มากเลย

ดูสิ การสอนเด็กให้เข้าใจนี่เป็นเรื่องที่สอนยาก แต่พอมันเข้าใจแล้วนี่ มันยังไปว่าทำไมมันเข้าใจช้า มันยังติผู้ใหญ่ด้วยว่า ผู้ใหญ่สอนมันยังไม่เข้าใจ แต่ถ้ามันเข้าใจเอง เห็นไหม ความเข้าใจเองเหมือนกัน กิเลสมันปกป้องใจของตัวเอง ใจของตัวเองโดนปกปิดไว้นี่ มันไม่รู้เรื่องหรอก แต่เวลามันรู้ขึ้นมานี่ มันจะไปโทษคนอื่นว่าคนอื่น

ดูนะ แม่พระสารีบุตร ให้พระสารีบุตรออกไปบวช พระสารีบุตรออกไปบวช แล้วลูก ๆ ออกไปบวชเป็นพระอรหันต์ตั้งหลายองค์ แล้วก็บวชอยู่อย่างนั้นน่ะ พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระสารีบุตรก็ว่า “เอ๊...ทำไม...ใครจะแก้พ่อแม่ของตัวเองได้?” คิดแล้วก็ตัวเองนี่เป็นคนที่แก้แม่ของตัวเองได้ เวลาท่านจะปรินิพพาน เห็นไหม กลับไปในห้องที่ท่านคลอด พอเริ่มเที่ยงคืนน่ะ พวกพระอินทร์ลงมาจะอุปัฏฐาก แสงจะพุ่งเข้าไปในห้อง แม่ก็ถามลูก เพราะแม่ไม่เชื่อเลย ตั้งแต่ตอนเย็นมานี่เห็นลูกกลับมา “เอ๊...ลูกเรานี่ไปทุกข์ยากมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ อาจจะอยากกลับมาสึก”

นี่ความเห็นที่ยังไม่เห็นด้วย แต่พอเที่ยงคืนขึ้นมา มีแสงเข้ามา ก็ไปหาถามลูก

“นั่นอะไรน่ะ?”

“นั่นพระอินทร์มา”

พอตอนดึกเข้าไปอีก พระพรหมมา จะมาอุปัฏฐากพระสารีบุตรไง

“โอ้โห! ลูกเราเก่งขนาดนี้เชียวเหรอ ลูกเราเก่งขนาดนี้”

นี่ใจมันเริ่มยอมไง เพราะว่าพวกฮินดูนี่ เขานับถือพระพรหมมาก แล้วพระพรหมยังมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร ขนาดว่าสิ่งที่เขาเคารพ ทำไมมาอุปัฏฐากลูกชายของเรา ลูกชายเราน่าจะมีอะไรดี นี่พอใจมันเปิดเห็นไหม จากใจที่มันปิด กิเลสเวลามันปิดหัวใจ มันจะไม่ให้รู้เรื่องเลย แต่พอมันเปิดขึ้นมา พระสารีบุตรเลยเทศน์สอนไง

“พระอินทร์ พระพรหมพวกนี้เป็นแค่เด็กวัด แค่เด็กอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า พระอินทร์นี่เป็นคนอุ้มบาตรของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

เทศน์พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แม่ของพระสารีบุตรกลายเป็นพระโสดาบันนะ ใจนี่เปิดออกเป็นพระโสดาบันขึ้นมา ร้องไห้นะ

“ทำไมลูกไม่รักแม่ ถ้าลูกรักแม่ลูกต้องสอนแม่ตั้งนานแล้ว ทำไมลูกปล่อยให้แม่ทุกข์อยู่ขนาดนั้น ทำไมปล่อยให้แม่ไม่เห็นธรรมอย่างนี้”

แต่ตอนเย็นนั่นยังคิดอยู่เลยว่าพระสารีบุตรจะมาสึก เพราะทุกข์ยากมา แต่เวลาเปิดใจขึ้นมา เห็นไหม “ลูกไม่รักแม่จริงนี่ ถ้ารักแม่จริงลูกต้องสอนอย่างนั้น”

แต่ถ้ากิเลสมันปกปิดหัวใจนี่มันสอนไม่ได้หรอก บอกขนาดไหนก็ไม่รู้ เหมือนเราสอนเด็กนี่ หัวใจของเราไม่ใช่ว่าเรามีอายุมากแล้วหัวใจมันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมานะ หัวใจนี่มันสะสมอะไรไว้มาก มันยึดมากถือมาก มันเหมือนคนไข้ ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่นะมันกังวลวิตกกังวล ความคิดที่มันสะสมในใจนั่นน่ะ มันพยายามจะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ แล้วใครจะไปเปิดให้เห็นได้

แต่เวลาเปิดขึ้นมานี่ เวลามันเปิดขึ้นมาแล้วเป็นสิ่งที่ประโยชน์หมด เพราะอะไร? เพราะประสบการณ์ชีวิตของเขามีมาก เขาจะสามารถอธิบายเรื่องธรรมะมาก หลวงปู่ชาบอก เห็นไหม “บ้านหลังใหญ่ หมายถึงคนมีปัญญามาก คนมีประสบการณ์มาก ถ้าทำใจให้เป็นธรรมขึ้นมาได้ จะสื่อธรรมออกมาให้คนนี่รู้ได้มาก ถ้าบ้านหลังเล็กมันเช็ดถูง่าย คนประสบการณ์น้อย คนมีการศึกษาน้อย คนใช้ชีวิตมาน้อยนี่ มันรู้มันก็รู้ได้ขนาดนั้น” ประสบการณ์หรืออะไรนี่มันเป็นเรื่องของหัวใจ

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสอยู่นี่มันก็เป็นโทษไปหมดเลย เพราะกิเลสมันเห็นแก่ตัว กิเลสมันจะยึดมาเป็นของเราหมดเลย มันจะเปิดช่องให้อากาศเข้าบ้าง เปิดช่องให้เราเป็นประโยชน์ของเราบ้าง นี่ มันไม่ยอมเปิด แต่ถ้ามันเปิดแล้วเห็นไหม สิ่งที่ว่ากิเลสมันใช้นี่ มันใช้เป็นโทษ แต่ธรรมพาใช้นี่ ธรรมพาใช้ก็ใช้ความคิดเรานี่เหมือนกัน ความคิดเดิมจะเป็นขันธ์ เวลาปกตินี่กิเลสมันพาใช้ ใช้ขึ้นมานี่มันพยายามดึงขึ้นมาปกปิดเราหมดเลย

แต่พอเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม ขันธ์คือสัญญา คือวิชาการที่เรียนรู้มานั่นน่ะ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่ แต่ทีนี้ธรรมพาใช้แล้ว พอธรรมพาใช้มันถึงเป็นประโยชน์หมดเลย มันจะเปรียบเทียบ เทียบเคียงให้เห็นไง คนที่เปรียบเทียบ เทียบเคียงให้เห็นมันก็เห็นตาม ๆ นั่นน่ะขันธ์นั้นมันถึงว่าเป็นภาระเฉย ๆ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ถ้าเป็นเรานี่เป็นขันธมาร มันเป็นมาร เป็นที่ปกปิด เห็นไหม

หลวงตามหาบัวบอกว่า “เป็นถังขยะ” มันเป็นกรอบของใจ แล้วมันบีบบี้สีไฟใจไว้ แต่พอมันเป็นธรรมขึ้นมา ถังขยะนั้นน่ะถ้ามันมีถังขยะที่มันกว้างมันใหญ่โต มันจะสามารถช่วยโลกได้มากเลย แต่ถังขยะที่ยังช่วยโลกไม่ได้ มันเป็นถังขยะ มันบีบบี้สีไฟเรา แล้วสิ่งนี้คืออะไร? คือความคิดเราทั้งหมด คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือขันธ์ที่อยู่ในหัวใจของเรา ถ้ามันเป็นโทษมันก็จะบีบบี้หัวใจของเรา

แต่ถ้ามันเป็นคุณขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นประโยชน์กับหัวใจของเรา มันจะเป็นประโยชน์หรือมันเป็นโทษ บุญกุศลนี่ เริ่มทำให้เราสร้างบุญกุศล ถ้าบุญกุศลขึ้นมานี่มันจะเริ่มเปิดหัวใจไง ถ้าใจเราเชื่อเรื่องบุญกุศล พอเชื่อบุญกุศลเข้าไปนี่ฟังธรรม ธรรมนี่สอนเรื่องของใจ เรื่องของความคิดของเรา แล้วความคิดของเราเป็นโทษกับเราเอง เป็นความเหนี่ยวรั้งใจเราเอง ถ้าเป็นคุณก็เป็นคุณกับเราเอง ถึงบอกว่าเปิดตานี่

ครอบครัวเห็นไหม ลูก พ่อ แม่ ถ้ามีความสุขในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “บุญกุศลคือในครอบครัวนั้นยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุข” นั้นคือบุญ บุญไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่เราสะสมไว้นั้นเป็นบุญ เพราะว่ามันเป็นประโยชน์ตอนมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอมันขาดจากชีวิตไป สิ่งนั้นเป็นของคนอื่นหมดเลย แต่ถ้ามีความสุขในหัวใจ นั้นคือบุญ นี่บุญกุศล สร้างบุญกุศลอย่างนี้ ถ้าในครอบครัวนั้นมีความสุข ในครอบครัวมีความเข้าใจกัน อันนั้นคือบุญ แล้วหาได้ยาก เพราะอะไร? เพราะคนอยู่ใกล้กันนี่ ความ...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)