เทศน์เช้า

ภิกษุอยู่ป่า

๑๕ พ.ค. ๒๕๔๔

 

ภิกษุอยู่ป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระแล้วถวายทานวันพระไง เราถวายทานวันพระแล้วยังฝังไว้ในศาสนา สิ่งนี้เลยฝังไว้ในศาสนา การจะฝึกปรือศาสนา พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ เห็นไหม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฝากศาสนาไว้ แล้วศาสนาจะต่อ ใครจะสืบทอดศาสนา ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่สืบทอดศาสนานี่อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ

แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติมันอยู่ในป่าในเขานี่ ถ้ามันอยู่พอเลี้ยงตัวเองได้ก็เรื่องหนึ่ง ถ้าพอไม่เลี้ยงตัวเองได้นี่มันจำเป็น จำเป็นตรงที่ไม่มีที่บิณฑบาต สิ่งที่ถ้าไม่มีที่บิณฑบาต เราจะส่งเสริมศาสนา แล้วก็ส่งเสริมตรงนี้ แล้วคนที่เขาประพฤติปฏิบัติแล้วเขาถึงได้ไปรู้เรื่องศาสนา ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกมาจากเมืองน่ะ แล้วพระเจ้าพิมพิสารบอก

“ให้เอากองทัพกลับไป ให้เข้าไปยึดเอาเมืองคืน”

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่หรอก ออกแสวงหาโมกขธรรม” แล้วออกแสวงหาโมกขธรรม

แล้วพระเจ้าพิมพิสารถึงบอกว่า “ถ้าเจอแล้ว ถ้าได้โมกขธรรมแล้วให้กลับมาสอนด้วย”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนะ ก็ไปสอนพระเจ้าพิมพิสารจนพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันขึ้นมา เพราะเป็นพระโสดาบันขึ้นมา ถ้าไม่เป็นพระโสดาบันนะโดนอชาตศัตรูรังแกขนาดนั้น ขนาดที่ว่าเดินจงกรมนี่เอามีดโกนกรีดเท้าไม่ให้เดิน เป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะพระอริยบุคคล เห็นไหม พระอริยบุคคลแล้วถึงว่าไอ้ความทุกข์นั้นมันเป็นความทุกข์ข้างนอก หัวใจนั้นมันมีหลักเกณฑ์ในหัวใจนั้น แต่ถ้าไม่มีอย่างนี้เลยนี่ คนจะทุกข์มากกว่านี้อีกมากเลย แต่ขนาดที่ว่าทุกข์มันเป็นทุกข์ข้างนอกกับทุกข์ข้างใน ถ้าไม่ได้เป็นอริยบุคคลนี่มันจะเป็นทุกข์ข้างนอก

อันนี้ก็เหมือนกัน เราส่งเสริมศาสนา เราส่งเสริมน่ะส่งเสริมที่ไหน? ส่งเสริมให้ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไง ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี่เราก็ส่งเสริมเข้าไป แล้วบุญกุศลเกิดขึ้น ในสมัยพุทธกาล เห็นไหม เขานิมนต์พระมาฉันที่บ้านน่ะ เป็นคนจน แล้วพอพระจะไปฉันบ้านนั้น เห็นว่าบ้านนี้เป็นคนจนก็ไปบิณฑบาตฉันเสียก่อน แล้วพอไปกิจนิมนต์ เขาคนจนก็จริงอยู่แต่มีคนมาช่วยงานมาก จนอาหารนั้นมหาศาล จะให้พระฉัน พระบอก

“อิ่มแล้ว ๆ”

“อิ่มแล้วเพราะอะไร?” เพราะพระสมัยนั้นเขาไม่ทุศีลไง ก็ต้องพูดความจริง

“บิณฑบาตฉันมาแล้ว”

โกรธมาก เห็นไหม พอโกรธมากน่ะเอาอาหารนั้นใส่บาตร แล้วนิมนต์พระกลับไปฉันที่วัด ทำบุญเสร็จแล้วมาคิดถึงตัวเองไง คิดถึงตัวเองว่า ตัวเองทำบุญ ตั้งใจทำบุญจะได้บาปไหม ตกเย็นไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ตัวเองทำบุญอย่างนี้ แล้วประชดพระภิกษุสงฆ์นี่มันจะได้บาปไหม?”

บอกว่า “ไม่ได้ สิ่งที่เราทำบุญกุศลนั้นเป็นบุญกุศล” แล้วท่านพูดในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก “สิ่งที่เราใส่ไปแม้แต่ข้าวทัพพีเดียว พระฉันข้าวทัพพีนั้นของเรา แล้วไปประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ธรรมขึ้นมา ความสงบของใจขึ้นมานี่ บุญกุศลมหาศาล ๆ”

บุญกุศลเกิดขึ้นมาจากตรงนั้น มันมีหลายอย่างที่ว่าบางทีพระเราก็ไปติดเรื่องอาหารการกินนี่ก็มี พอติดอาหารการกิน ในพระครูบาอาจารย์เราเห็นไหม แม่ชีที่ว่าปฏิบัติแล้วได้ธรรมน่ะ รู้เลยว่าพระองค์นี้ต้องการฉันอะไร ตอนเช้าทำอาหารไปให้นะ จนพระองค์นั้นอาย จนพระองค์นั้นเขิน พระองค์นั้นเขินอายขึ้นมา พยายามประพฤติปฏิบัติเพราะเขารู้วาระจิตเรา เขารู้ธรรมรู้ในหัวใจของเรา เราอยากกินอะไรคิดในใจเช้าขึ้นมาอาหารมาแล้ว เช้าอาหารมาแล้ว มาเป็นอย่างนั้นหมดเลย

มันส่งเสริมมันก็ส่งเสริมอย่างหนึ่ง ถ้าส่งเสริม ไอ้กิเลสที่มันอยากมันอะไรมันก็มีในหัวใจโดยธรรมชาติของมัน ความอยากความต้องการเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องของกิเลส ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนั้น แต่เราจะชำระกำจัดมันน่ะ ธรรมชาติของกิเลสเห็นไหม แล้วเราจะชำระกิเลส กับความต้องการของธาตุขันธ์ต่างกัน ความปกติของธาตุของขันธ์นี่อาหารของปาก อาหารของร่างกายนี่มันเป็นคำข้าว คำข้าวนี่เป็นอาหารของกาย

อาหารของใจคือธรรม นี้เราเข้าไปเพื่อหาอาหารของธรรม ร่างกายก็เป็นอย่างนั้น ร่างกายมันต้องการมันก็บีบคั้น ความบีบคั้นของความคิดต้องการอย่างนั้น มันก็ไปเร่งกิเลส ไม่ทุกข์ไม่คิดถึงธรรม ไม่อดไม่อยากนะ ถ้าไม่อดแล้วมันก็ไม่อยาก คนยิ่งอดยิ่งอยาก พอยิ่งอดยิ่งอยากขึ้นมานี่กิเลสมันจะฟูขึ้นมา เข้าชัยภูมิสนามรบนี่เขาว่าเข้าชัยภูมิสนามรบที่ไหนถ้ามันอดมันอยาก เช่นอดอาหารเห็นไหม เวลาอดอาหารขึ้นมานี่ มันต้องการอาหารมาก มันจะหิวมากนะ

พอมันหิวมันกระหายมันอยากได้มาก นี่เราก็ต้องต่อสู้ ต่อสู้ตรงไหน? ต่อสู้ที่ว่ากินหรือไม่กินมันก็เท่านี้ เพราะเราต้องการให้เท่านี้ แต่หัวใจที่มันอยากขึ้นมาน่ะกิเลสมันฟูขึ้นมา อดอาหารเพื่อเราเข้าไปจับต้องกิเลส พยายามให้กิเลสมันฟูขึ้นมา งานจะทำเราไม่มีงานทำไง ปกติเราจะทำงานประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ กิเลสอยู่ไหน? หากิเลส กิเลสอยู่ไหน ๆ นี่เข้าป่าเข้าเขาธุดงค์ออกไปเพื่อจะชำระหากิเลส ไอ้นั่นมันสิทธิหน้าที่ของเขา

แต่ไอ้การส่งเสริมของเรานี่เราก็ต้องดูความพอประมาณไง ความที่ว่าความดำรงชีวิตอยู่ได้ ความดำรงชีวิตอยู่ได้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ ความดำรงชีวิตเพื่อประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ดำรงชีวิตเพื่ออะไร เพื่อกิเลสเหรอ? แล้วอย่างนั้นชีวิตนี้มีอยู่น่ะ ถ้ามันตายไปนี่กิเลสมันก็อยู่ในหัวใจ ตายไปพร้อมกับกิเลส มันก็ต้องเป็นทุกข์เป็นยากไป แต่ถ้าเราจำกัดกิเลสได้ ชำระกิเลสได้เป็นบางครั้งบางคราวนี่ ความตายอันนั้นถ้ามันจะตายพร้อมกับกิเลสตาย มันก็พอที่จะตาย แต่ถ้ามันยังไม่ตาย กิเลสยังไม่ตายจากใจนี่มันต้องรักษาธาตุขันธ์เอาไว้

เรือมันจะเข้าฝั่ง เห็นไหม เรามีเรืออยู่ลำหนึ่งคือร่างกาย หัวใจนี้เป็นเจ้าของเรือนั้น จะพายพยายามพาเรือนั้นเข้าฝั่งให้ได้ ถ้าพาเรือนั้นเข้าฝั่งได้ มันก็เข้าถึงเห็นไหม เราอยู่ในกระแสของโอฆะนี่เหมือนกับเราอยู่กลางทะเล ยืนไม่ได้นะ เวลาว่ายน้ำนี่ต้องพยายามประคองตัวเองอยู่ แล้วเราเข้าถึงฝั่ง เห็นไหม พระโสดาบันน่ะเหมือนกับตีนนี่เหยียบบนพื้นดิน เข้าไปในโคลนในเลน เข้าไปถึงฝั่ง แล้วจะเดินขึ้นฝั่งอย่างเดียวนี่เข้ากระแสของพระนิพพานไง

นี่เหมือนกัน เราได้เรือมาลำหนึ่งคือร่างกาย หัวใจในร่างกายของเรานี้เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ทีนี้มันจะประพฤติปฏิบัตินี่ ถ้ามันอยู่สุขอยู่สบายมันก็ทำไม่ได้ มันต้องเข้าไปอยู่ที่ความจำเป็นที่จะไปชำระกิเลส ไปอยู่ที่ความอัตคัดขัดสน ออกธุดงค์ก็เพราะเหตุนี้ กิเลสมันอยู่ที่ใจ ชำระกันก็ชำระกันที่ใจ

แต่ทำไมต้องออกธุดงค์ ต้องแสวงหานั้นน่ะ มันออกธุดงค์ไปมันทุกข์มันยากนะความวิตกกังวลมันจะเกิดขึ้นมาทั้งหมด ไปข้างหน้านี่ไม่รู้จะมีอยู่มีกินหรือไม่รู้เลย บางวัน ๓ วัน ๔ วันนะ อยู่ในป่าไม่ได้ฉันข้าวก็มีนะ เพราะไม่เห็นบ้านเรือนของคน ครูบาอาจารย์เคยเจออยู่ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่ทำเป็นตัวอย่างมา เราเป็นผู้ที่เดินตามขึ้นไป พอเดินตามขึ้นไปนี่มันก็มีทุกข์มียากบ้าง

สิ่งที่ทุกข์ยากก็ต้องว่าอันนั้นมันเป็นการทดลอง มันเป็นว่าการดัดตนไง ความทุกข์ความยากนั้นเพื่อจะให้กิเลสมันเห็นแสดงตัวตนออกมา ถ้าไม่ทุกข์ไม่ยากมันก็ไม่เห็นตัวตนออกมา ไม่เห็นตัวตนเราก็จับมันไม่ได้ พอจับไม่ได้นี่เราเพียงแต่ลูบ ๆ คลำ ๆ ไป กิเลสมันก็ลูบหัวเราเล่น เราก็พยายามลูบคลำในการประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติธรรมไม่จริงไม่จัง กิเลสมันก็หลอกเรา

มันลูบหัวใจของเรานะ ลูบเราเล่นอยู่อย่างนั้น เราก็ไม่เห็นมัน ทำความสงบเข้ามาของใจนี่ ทำสัมมาสมาธินี่ จิตที่สงบเข้ามา ๆ สงบขนาดไหนนี่หินทับหญ้าไว้ ๆ มันก็อยู่ในหัวใจนั้น มันไม่ได้ไปขุดคุ้ยเอารากหญ้านั้นขึ้นมาพิจารณา ไอ้เวลามันอยากมันต้องการน่ะเป็นอย่างนั้น

ถ้ามันอยากมันต้องการ เราดูใจของเรา นี่คืออะไร? นี่คืออะไร? เห็นไหม มันจะว่านี่คืออะไรเข้าไปเรื่อย นี่คืออะไรเข้าไปเรื่อย มันจะจับต้อง ๆ จนจับตัวเองได้ จนเห็นแก่นของมัน เห็นความชัดเจนของว่านี่คือรากของกิเลส แล้วได้วิปัสสนา วิปัสสนาจะเกิดขึ้น ธุดงค์เพราะเหตุนั้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ นิวรณธรรมนี่มันเกิดแน่นอนอยู่แล้ว ความที่ว่ามันต่อต้านมันไม่ต้องการทุกข์ยากหรอก

เวลาเข้าป่า เห็นไหม เคยทุกข์ขึ้นมาแล้วจะหันหน้าเข้าป่านะ คนเคยธุดงค์มาจะรู้ เวลายังไม่ฉันข้าวนี่ วันนี้จะเดินเข้าป่าอย่างนั้น ๆ จะไปสุดความสามารถเลย พอฉันข้าวอิ่มนะ ไม่อยากไปแล้ว อยากนั่งพักก่อน เห็นไหม เวลาท้องมันเบานี่มันไปอย่างหนึ่ง เวลาท้องมันหนักมันคิดไปอย่างหนึ่ง ในเรื่องของใจนี่มันพลิกแพลงไปร้อยแปด

พอมันพลิกแพลงไปร้อยแปด ถึงว่าธุดงควัตร ๑๓ มักน้อยสันโดษ สันโดษตรงไหน? สันโดษตรงว่าฉันพอดำรงชีวิตได้ พระพุทธเจ้าสอนให้ฉันเหมือนกับว่าให้เราหยอดน้ำมันในล้อเกวียน เพื่อให้ล้อเกวียนมันหมุนไปโดยไม่ดังเอี๊ยดอ๊าด ๆ นี่ ความเสียดสีของมัน ความเสียงดังของมัน ก็มันทุกข์มันยากมันหิวมันโหยไง เวลามันหิวมันโหยมันอดอาหารจะเป็นอย่างนั้น มันจะหิวจะโหย มันจะทุกข์ยากนะ ความหิวความโหยนั้นน่ะมันเป็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันก็เป็นอนิจจัง เวลามีอาหารเข้าไปเติมให้มัน มันก็อิ่มไป

นี่ทุกข์ประจำธาตุขันธ์ ทุกข์อย่างนี้ทุกข์ประจำธาตุขันธ์เลย ไอ้ทุกข์ที่เราเจออยู่ตรงนี้มันทุกข์จรมา ไอ้ทุกข์อารมณ์กระทบกระทั่งนี่ทุกข์จรมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยนี่ขาดไม่ได้ ชีวิตนี้จะอยู่ได้ด้วยปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย อาหารเครื่องดำรงชีวิตนี้ ยารักษาโรค เครื่องนุ่มห่ม แล้วที่อยู่อาศัย นี่ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ นี้เป็นการดำรงชีวิต

แต่พวกเราทุกข์เพราะปัจจัย ๔ เพราะแสวงหาปัจจัย ๔ แล้วผู้ที่เขาอดอยากทุกข์ยากนี่ธุดงค์ไปเพื่อจะให้ปัจจัย ๔ นี่มัน...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)