เทศน์เช้า

กุศลอุทิศได้

๑๖ พ.ค. ๒๕๔๔

 

กุศลอุทิศได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

กุศลนี่เขาว่า ทำบุญนี่หลักของศาสนาบอกบุญกุศลมันเรื่องของนามธรรม เราคิดถึงพ่อแม่ได้ไหม เราคิดถึงคนอื่นได้ไหม ถ้าเราคิดถึงใครได้ นี่ความคิดของเรา อุทิศส่วนกุศลคืออุทิศบุญกุศลของใจ ถ้าเรายังมีความคิดนึกอยู่ กุศลคือความคิดนึก ความคิดนึกที่คิดถึงบุคคลอื่น คิดถึงความสุขของคนอื่น แผ่ส่วนกุศล เราทำบุญกุศลขึ้นไป บุญกุศลเกิดขึ้นมา เรามีบุญกุศลขึ้นมาแล้ว แล้วเราแผ่ส่วนกุศลอันนี้ออกไป มันทำไมจะไม่ได้รับ มันต้องได้รับแน่นอน สิ่งกุศลน่ะ

เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของนามธรรมคือเรื่องของหัวใจ เรื่องของหัวใจมันอยู่ในร่างกายนั้น ในร่างกายนี้ที่อยู่ของหัวใจ สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจ อาศัยร่างกาย แล้วความหยาบของคน คนเราเกิดมานี่มีร่างกายกับจิตใจ แล้วก็คิดได้เฉพาะเรื่องของร่างกาย เสพสุขกันเฉพาะเรื่องของร่างกาย แล้วเรื่องหัวใจนะก็โดนลาก ๆ โดนถูโดนไถไป ร่างกายมันต้องการสิ่งใดนะหัวใจมันก็ต้องโดนลากโดนไถไป มันลากมันถูมันไถไปเพื่อจะหาวัตถุนิยมไง ถ้าถึงวัตถุนิยมแล้วสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นให้กันได้ เห็นกันได้

แต่ถ้าเป็นนามธรรมนี่มันมองไม่เห็น เพราะมันหยาบไง คนมันหยาบมันไม่เชื่อเรื่องศาสนา ถึงบอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้กันไม่ได้ แล้วคิดถึงรำพึงถึงกัน ความระลึกถึงกันนี่มันเป็นบุญกุศลไหม มันเป็นความดีไหม ถ้าคิดถึงโกรธแค้นนะมันเป็นเรื่องที่อกุศล เรื่องโกรธแค้น เรื่องพยาบาทมันก็เป็นเรื่องของอกุศล เรื่องของการทำลายล้างกัน เรื่องของคุณงามความดีเรื่องคิดถึงกันให้ถึงมีบุญกุศล นี่บุญกุศลอุทิศส่วนกุศลอย่างนี้ แล้วทำไมจะไม่ได้ แล้วอุทิศส่วนกุศลนี้เฉพาะความนึกคิดนะ

แต่ถ้าเราทำบุญกุศลน่ะเราได้สละออกไปแล้ว บุญกุศลเกิดขึ้นมานี่แล้วเนื้อนาบุญของโลกล่ะ? มันผ่านขึ้นไปไง เมื่อก่อนบอกว่าพระนี่เป็นเหมือนไปรษณีย์ เป็นผู้เอาไปให้นะ พระนี่ไปรษณีย์...ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ตัวพระเป็นไปรษณีย์ ตัวอริยสัจตัวความจริงต่างหากเป็นเรื่องของความจริง เรื่องของความจริงคือเรื่องของสละออก

การสละออก การทำบุญกุศลนั้นเป็นบุญกุศล การสละออกไป เราสละออกไปหัวใจมันเบิกบาน หัวใจมันชุ่มชื่น ชุ่มชื่นเพราะอะไร? ชุ่มชื่นเพราะคนที่จะสละออกนี่มันมีหลัก มันมีความศรัทธา ถ้ามีความศรัทธาเราก็มีความชุ่มชื่น แต่ถ้าคนโดนบีบคั้นน่ะ ถ้าสละออกชุ่มชื่นนะ พวกข้าราชการน่ะเบื่อมากเลยไอ้ซองกฐิน ซองผ้าป่านี่ การโดนบังคับโดนขู่เข็ญนี่ไม่ชุ่มชื่น

แต่ความศรัทธาของศาสนาทำบุญกุศล คนจะทำบุญกุศลคนต้องศรัทธาในเรื่องของศาสนาก่อน ศรัทธาในเรื่องของอริยสัจ ถ้าศรัทธาในเรื่องของอริยสัจน่ะทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วศรัทธาเนื้อนาบุญหว่านลงไปในเนื้อนาของโลก เห็นไหม เนื้อนาบุญของโลก ปุญญักเขตตัง เขตของเนื้อนาบุญ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติจนผ่องแผ้วในหัวใจนั้น

ในหลักของศาสนาก็บอกว่า “ทำบุญกุศลที่ไหนจะได้บุญมากที่สุด?” แล้วเราจะทำบุญมากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญว่าเรามีศรัทธา มีความชุ่มชื่นอันนั้น นี่บุญกุศลมันเพิ่มขึ้นอีก ๒ เท่า ๓ เท่า เพราะว่าได้ทำในหลักของศาสนา ตัวอริยสัจนั้นตัวเป็นความจริง อริยสัจหมายถึงว่าจิตที่ผ่านการกลั่นกรองมาจากอริยสัจแล้วถึงหลุดพ้นออกไป มันผ่านออกจากอริยสัจ แล้วตัวอริยสัจน่ะตัวความจริง ตัวอริยสัจไม่ใช่สัจจะความจริง ตัวอริยสัจจะนั่นน่ะให้บุญกุศลผ่านออกไป แล้วอุทิศส่วนกุศลไป

มันเป็นความนึกคิดที่หัวใจนี่มันเป็นกระแสที่ถึงกันอยู่แล้วหนึ่ง สองบุญกุศลเกิดขึ้นมาจากเราการกระทำหนึ่ง ในการกระทำตรงนั้นหัวใจดวงนั้นมีค่าทวีคูณทับทวีคูณขึ้นไป แล้วอุทิศส่วนกุศลไป เพราะเรื่องอย่างนี้พออุทิศส่วนกุศลไปถึงใจดวงนั้นได้รับ ถ้าเขาได้รับ มันมีตรงนี้ ตรงที่ว่าได้รับแน่นอนหรือ? เอาอะไรเป็นเครื่องยืนยัน...ได้รับแน่นอน แน่นอนเพราะว่าเขาอยู่ในพื้นที่ที่ควรจะได้รับ

แต่ถ้าเขาอยู่ที่ดีกว่า เห็นไหม เขาเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นอะไรนี่ เขาเกิดที่ดีกว่า อาหารของพรหมไม่ใช่อาหารอย่างนี้นี่ ไม่ใช่อาหารอย่างนี้ที่เราอุทิศส่วนกุศลไป เพราะไม่ใช่อาหารที่ว่าเป็นคำข้าวนี้ แต่อาหารของนามธรรม เห็นไหม เรื่องของนามธรรมคือเรื่องของหัวใจ เรื่องของนามธรรมถ้าจิตมันส่งขึ้นไปเป็นบุญกุศล มันไม่ใช่ส่งขึ้นไปเป็นเนื้อของอาหาร มันส่งเป็นความรู้สึก มันกลั่นกรองจากข้าวปลาอาหารนี่มันเป็นความรู้สึก แล้วส่งความรู้สึกนั้นไป

แต่ความรู้สึกของเรานี่เป็นมนุษย์ชาติ มนุษย์ชาตินี่อยู่ในกามภพ เขาอยู่ในรูปภพ อรูปภพนี่ มันต่างกัน กระแสอันนี้ไม่ถึงเพราะเขาละเอียดอ่อนกว่า เขาได้เสพสุขของที่ละเอียดอ่อนกว่า เขาไม่ต้องการสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็สนองตอบกลับมาหาเรา แต่เราอุทิศส่วนกุศลไป ถ้าไม่ได้รับ ไม่ได้รับหมายถึงว่าเขาอยู่ในที่สูงกว่า เขาอยู่ในที่ว่าเขาดีกว่า เขาไม่ต้องการสิ่งที่ว่าต่ำกว่า

กับอีกอันหนึ่ง อันนี้ตกนรกถึงเต็มที่ นรกนี่ปิดบังไว้เหมือนคนติดคุก เราฝากเข้าไปในคุกไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ เราไปเยี่ยมญาติไม่ได้ เห็นไหม ในพระไตรปิฎก พระมาลัยไปดูน่ะ ไปเยี่ยมญาติ ไปดูของคนนั้น ๆ นั่นน่ะ พระโมคคัลลานะก็ไป อันนั้นสิ่งที่ไปไม่ได้มันก็มีขั้นตอนของมัน แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นไปที่ว่าการเกิดการตายนี่เวียนตายเวียนเกิดในภพชาติแถวนี้ มันถึงอุทิศส่วนกุศลได้ไง

ถ้าเรื่องของศาสนา เรื่องของความสัตย์จริง มันจะเห็นความจริง ถ้าพูดอย่างนั้นเราก็เชื่อกันไป ทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลไม่ได้รับบุญ เชื่ออยู่เชื่อหลักของศาสนา เชื่อในหลักวิทยาศาสตร์ไง ถึงบอกว่า มันถึงว่าเข้าถึงไม่ได้ เราได้พูดถึงวันนั้น เห็นไหม บอกว่าที่ว่าดอกเตอร์มีอยู่ดอกเตอร์นึงน่ะ เขาภาวนาอยู่แล้วเขาไปเห็นผี เขาว่าไปเห็นผีนี่เขาเห็นผีเห็นจิตวิญญาณไง แล้วเขาพูดนะ เขาบอกว่าเขาพูดไม่ได้ เขาเห็นอยู่เต็มอก หมายถึงว่าเขารู้อยู่ เขาเผชิญมาเต็มอก แต่เขาพูดไม่ได้ เพราะคำว่าดอกเตอร์นั้นถ้าพูดนะ ดอกเตอร์เขาจะด้อยค่าทันทีเลย เขาเก็บไว้เป็นความในของเขาคนเดียว

อันนี้ก็เหมือนกัน หลักวิทยาศาสตร์ไง หลักวิทยาศาสตร์นี่เป็นหลักของวิทยาศาสตร์ออกมาในที่แจ้ง แม้แต่ธรรมะนะ ในผลของการประพฤติปฏิบัติ เรื่องของอริยสัจนี่ ความจริงของใจนี่เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ความรู้จำเพาะตนนี่ สื่อความหมายได้แต่ไม่สามารถลากออกมาให้เห็นได้ มันหลักของศาสนา ถ้าพระจะทุจริตนะมันก็ทุจริตตรงนี้ ตรงที่แบบว่า “ฉันรู้ ๆ แต่สื่อออกมาไม่ได้” สื่อออกมาเป็นความรู้ความเห็นไม่ได้เพราะเขาทุจริต เพราะเขาไม่รู้

แต่ถ้าคนที่รู้จริงนะ ความรู้จริงนี่มันต้องมีออกมา ในการสื่อน่ะมันจะมีหลุดออกมาเป็นเกร็ดของมัน มันจะมีหลุดออกมา ฟังก็รู้ว่าจริงหรือเท็จ ถ้าจริงมันจะมีอกุปปะ มันจะมีความจริงของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าไม่จริงมันอาศัยหลักการของศาสนา อาศัยของตรรกะ อาศัยปรัชญาปลิ้นไปปลิ้นมา อันนั้นเวลาทุจริต เราจะบอกกันว่าหลักของศาสนานี่เอามายืนยันกันไม่ได้ ยืนยันได้ในผู้รู้จริง

ถึงบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ผู้ที่สูงกว่าสอนผู้ที่ต่ำกว่าได้” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรู้หมดเลยว่าคนไหนพระองค์ไหนสำเร็จจริงหรือสำเร็จปลอม มีพระสมัยพุทธกาลมากเลยจะไปหาพระพุทธเจ้าให้ชี้ว่าสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้ารู้ก่อนเลยนะ บอก “ไม่ต้องมาหรอก ให้เข้าไปที่ป่าช้าก่อน ให้ไปพิจารณาอสุภะก่อน”

พอไปพิจารณาอสุภะนี่อารมณ์มันหวั่นไหว พระองค์นั้นก็รู้แล้ว เป็นหมู่พระเลยว่าเป็นกลุ่มเลย...ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร? เพราะไปพิจารณาซากศพแล้วหัวใจมันหวั่นไหว หัวใจมันหวั่นไหวก็ไม่ใช่พระอรหันต์ นี่ท่านรู้ว่าไม่ใช่ ท่านบอกว่าไม่ต้องมาหาให้ท่านตอบว่าใช่หรือไม่ใช่หรอก ท่านเอาเหตุผลไง เอาว่าเข้าไปดูซากศพ ถ้าเห็นซากศพหัวใจมันหวั่นไหวไหม ถ้ามันหวั่นไหวไปนั่นมันก็ไม่ใช่พระอรหันต์อยู่แล้ว

แล้วอยู่ในพระอรหันต์ที่ว่าในครั้งพุทธกาลน่ะ ที่ว่าบางองค์นี่สงบเสงี่ยมมาก ไปบอกพระพุทธเจ้าว่าพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่หรอก เรียกเขามาด้วยนะ องค์นี้ไม่ใช่พระอรหันต์เพราะอะไร? เพราะอดีตชาติเขาเคยเป็นราชสีห์ คนที่เป็นราชสีห์มานี่ ราชสีห์มันจะนิ่มนวลมาก มันจะสงบเสงี่ยมมาก มันถึงมีสติสัมปชัญญะมาก...ไม่ใช่

แล้วบางองค์ เห็นไหม พระที่ว่าเด็ก ๆ มีพระองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์ แล้วรูปร่างเตี้ย ๆ พอดีพระเขาชอบไปลูบหัวเล่นเพราะมันน่ารัก ๆ จนพระพุทธเจ้าบอกว่า “องค์นั้นล่ะพระอรหันต์ ไม่ให้พระไปลูบหัวเล่น ถ้าไปลูบหัวเล่นมันจะเป็นบาปเป็นกรรมของพระองค์นั้น” บอกเลยว่าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์นะ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้บอกว่าเป็นพระอรหันต์

นี้ผู้ที่สูงกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสยุมภูตรัสรู้ด้วยตนเอง มีญาณทั้งหมดในอัครสาวกต่าง ๆ ที่ว่ามีญาณทัศนะต่าง ๆ ที่ว่ามีเอตทัคคะคนละทาง ๆ นั่นน่ะ มีอยู่รวมในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะได้รู้ไงว่าองค์ไหนเป็นจริง องค์ไหนเป็นไม่จริง

ความเป็นจริงที่เขาเชื่อว่าในการบวชแล้ว ประพฤติปฏิบัติได้จริงนี่มันก็ได้จริงเพราะอะไร? เพราะว่าความเป็นจริงหัวใจเป็นผู้ที่รู้ไง ทุกข์มันทุกข์ที่ใจ ปลดเปลื้องทุกข์ออกจากหัวใจ การอุทิศส่วนกุศลก็ใจอุทิศส่วนกุศล เขาไม่เข้าใจหรือว่าเวลาทำบุญกุศลนี่ กรวดน้ำนี่เพื่ออะไร กรวดน้ำนี่เป็นรูปแบบ รูปแบบเพื่อจะให้หัวใจนี่จดจ่อที่น้ำนั้น ให้เป็นหนึ่งเดียวแล้วอุทิศส่วนกุศลไป

น้ำนั้นเป็นแค่สื่อ ถ้าตัวน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศล แม่น้ำทั้งสายมันไหลมาเป็นทั้งสายไปนี่ อุทิศส่วนกุศลให้ใคร แม่น้ำอุทิศส่วนกุศลให้ใคร แม่น้ำไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ใคร แต่ในกระบวนการ ในพิธีกรรม ในศาสนพิธี การกรวดน้ำ การอุทิศส่วนกุศลคือให้น้ำนั้นจบกระบวนการนั้นสิ้นสุดไป อันนั้นเป็นพิธีกรรม เริ่มตั้งแต่เราพัฒนาขึ้นมา

แต่พอเราเข้ามาในหัวใจนี่วุฒิภาวะของใจมันเจริญขึ้นมา เวลาพระให้พรนี่อุทิศส่วนกุศลด้วยน้ำใจไง กรวดด้วยน้ำใจนี่ การกรวดน้ำที่น้ำนั้นก็เพื่อให้ใจนี้เอาน้ำเป็นสื่อให้เรามั่นคง ให้จิตใจนี้เจาะจงไป มันจะได้บุญกุศลเข้าไปอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งคือว่าถ้าไม่มีน้ำนั้น เราก็ใช้น้ำใจของเรา มันถึงสุดท้ายแล้วมันลงที่หัวใจทั้งหมด หัวใจที่ว่าเป็นสื่ออันนี้มันคิดถึงกันได้ ทุกข์ก็ทุกข์ที่ใจ ปลดเปลื้องก็ปลดเปลื้องออกจากใจ พระอริยบุคคลเป็นขึ้นมาก็เป็นที่หัวใจ

นางวิสาขาเป็นคฤหัสถ์ แต่นางวิสาขานี่เป็นพระโสดาบันมาตั้งแต่ ๗ ขวบ ทำไมว่านางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เป็นพระ เป็นพระโสดาบันเป็นที่หัวใจ หัวใจนั้นเป็นโสดาบัน แต่ตัวนางวิสาขานั้นก็ยังครองเรือนอยู่ แต่หัวใจนั้นเป็นโสดาบัน เรื่องของใจทั้งหมด เรื่องของศาสนามันถึงว่าเอาออกมาเผยแผ่กัน เอาออกมายืนยันกันโดยความสัจจะให้เห็นว่าเป็นวัตถุนิยมไม่ได้ แต่ยืนยันกันได้ด้วยความรู้สึกนี่ สื่อได้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้ถามมาเถิด บางอย่างจะตอบตรง ๆ ไม่ได้ แต่สามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้” เทียบเคียงให้รู้ให้เห็นเป็นตัวอย่างอันนั้น ให้อันนั้นเข้าใจไง ความเข้าใจน่ะคือใจเบิกบาน ใจแจ่มแจ้ง ถ้าใจแจ่มแจ้งใจเบิกบานขึ้นมา นี่ธรรมเข้าถึงใจ ใจนี้สัมผัสธรรมไง

พระไตรปิฎก ในตู้พระไตรปิฎกทั้งตู้นั้นเป็นกระดาษ แล้วพิมพ์ตัวหนังสือไว้ ตัวพระไตรปิฎกไม่รู้เรื่องเลย คนไปเปิดพระไตรปิฎก อ่านพระไตรปิฎก หัวใจนั้นไปศึกษาธรรม แล้วหัวใจนั้นเป็นผู้ที่รับรู้ธรรมขึ้นมา มันจะเบิกบานหรือมันจะเฉา มันจะทุกข์ใจ เพราะว่าเราไปอ่านแล้วเคยทำความผิดใดไว้นี่มันจะเศร้าหมอง ถ้าไปอ่านแล้วมีความว่าเราเคยผ่านสิ่งนี้มา สิ่งนั้นเป็นคุณประโยชน์ มันจะมีความสุขมาก ๆ

นั่นน่ะหนังสือพระไตรปิฎกไม่รู้เรื่อง แต่หัวใจที่ไปอ่านรู้เรื่อง หัวใจที่ไปอ่านเป็นฟูขึ้นมา ยุบยอบลงมาหัวใจนั้นรับรู้ นี่ศาสนาเป็นเรื่องของหัวใจที่รับรู้สัมผัสทางนั้น ใจเท่านั้นน่ะ อาจารย์มหาบัวบอกใจเท่านั้นเป็นผู้สัมผัสธรรม ใจเท่านั้นเป็นภาชนะที่ใส่ธรรม แล้วใจอยู่ที่ไหนล่ะ? ใจอยู่ในร่างกายของเรา ถ้าเราศึกษาเราเข้าใจของเรา มันเป็นบุญกุศลของเรา สิ่งนั้นน่ะเดี๋ยวนี้สื่อมันเร็ว แล้วพอออกไปนี่วัยรุ่นน่ะ ไม่ค่อยเชื่อศาสนาอยู่แล้ว แล้วถ้าเจออย่างนั้นน่ะ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ ๆ มันจะบอกว่า “นี่ความเห็นตรงเขา” แล้วเขาจะดึงออกไป

เราจะพูดออกมาเพราะว่าไม่ต้องการให้สิ่งนั้นมันดึงคนออกไป ไขว้เขวไง คนไขว้เขวออกไปจากธรรม ธรรมนี่มันละเอียดอ่อน แล้วอย่างที่ว่าถ้าโลกเจริญต้องให้เจริญก่อน แล้วเรื่องศาสนาไว้ทีหลังนี่ มันเหมือนกับเมื่อก่อนประเทศที่พัฒนาแล้ว เห็นไหม ก่อนจะพัฒนานี่ อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา แล้วพอสิ่งแวดล้อมมันเสียไป เงินที่มาชำระให้สิ่งแวดล้อมนี้สะอาดขึ้นมามันแพงกว่านะ แพงกว่าสิ่งทุก ๆ อย่าง

อันนี้ก็เหมือนกัน โลกให้เจริญ ให้คนเจริญขึ้นมา ๆ สังคมเจริญก่อนแล้วศาสนาไว้ทีหลัง ถ้าคนเจริญ เห็นไหม มีอธิบดีกรมประมงไปถามอาจารย์มหาบัวไง ถามว่า

“การส่งออกของสัตว์น้ำมันเป็นเงินเข้าประเทศเป็นอันดับ ๒ แล้วในศาสนาเราสอนว่าในการฆ่าสัตว์นี่เป็นบาป ๆ แล้วศาสนาจะว่าอย่างไร?”

อาจารย์มหาบัวบอกเลยนะ โต้กลับว่า “ถ้าประเทศให้อธิบดีกรมประมงไปปลูกบ้านในป่าช้าได้ไหม?”

บอก “ปลูกบ้านใครจะไปปลูกบ้านในป่าช้าล่ะ เขาก็ปลูกบ้านกันในชุมชนทั้งนั้นแหละ”

นี่ก็เหมือนกัน ความเจริญบนซากศพของสัตว์ ความเจริญบนซากศพบนชีวิตของสัตว์เขา ความเจริญอย่างนั้นมันจะมีคุณประโยชน์อะไร ถ้าความเจริญแล้วสังคมเจริญด้วย ทุกชีวิตมีความสุขด้วย ความเจริญอย่างนั้นถึงจะเป็นความเจริญ ถ้าความเจริญอันนี้อยู่บนซากศพของคนอื่น นี้พูดถึงหลักของศาสนา แต่ผู้ที่เขามีวิชาชีพ เขาจะเลี้ยงสัตว์น้ำ นั่นเรื่องของเขา เรื่องของเขาเพราะอะไร?

เพราะเหมือนกับคนน่ะ หัวใจของคนมันอิสระเห็นไหม เลี้ยงชีวิตชอบ แล้วแต่เราจะเลือกอาชีพอะไร ถ้าเราเลือกอาชีพอย่างนั้น กรรมอันนั้นก็ต้องเต็มใจรับ แต่นี่เลือกอาชีพอย่างนั้น แล้วจะให้ศาสนามารองรับว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ...ไม่ใช่ สิ่งนั้นผิดคือสิ่งนั้นผิด แต่มันเป็นเพราะคนไปเลือกอาชีพนั้นต่างหาก เห็นว่าอาชีพนั้นสะดวกสบาย เห็นว่าอาชีพนั้นเป็นอาชีพที่ว่า เขาไปเลือกอาชีพบอก นั่นเป็นเรื่องของเขา นั่นเป็นเรื่องกรรมของเขา

แต่ถ้าใครจะเลือกอาชีพที่สัมมาอาชีวะ เลือกอาชีพที่ดี นั้นก็กรรมของเขา กรรมของสัตว์โลก เพราะว่าสิ่งที่ทำขึ้นมาแล้วมันตกผลึกลงในหัวใจ กรรมดีกรรมชั่วตกผลึกลงในหัวใจ หัวใจที่พยายามทำขึ้นมานั้น กรรมอันนั้นจะตกผลึกเข้าใจดวงนั้น นั้นคือหัวใจที่มันเกิดตาย ๆ ไป บุญกุศลจะส่งให้ใจดวงนั้นเจริญขึ้นมาหรือเสื่อมลง เกิดดีขึ้นหรือเกิดลง อยู่ที่ใจดวงนั้นไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้าโลกเจริญก่อน ๆ มันต้องเจริญไปพร้อมกัน พร้อมกับศาสนาคือหัวใจนี่ คนฉลาดต้องเป็นคนดีด้วย สร้างให้คนฉลาดแล้วคดโกง ให้โลกเร่าร้อนน่ะมันจะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา คนฉลาดด้วยดีด้วยถึงจะเป็นประโยชน์ ดีนี่คือศาสนาไง ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่คนที่เป็นคนไม่ดีนั้นเพราะเขาไม่เชื่อศาสนาเอง แล้วเขาก็หาความทุกข์ใส่หัวใจของเขา แล้วเขาก็เจ็บปวดแสบร้อนในใจของเขาไปเอง เขาไม่เชื่อศาสนาเขาถึงได้รับผลอย่างนั้น แล้วความทุกข์ของเขาก็อยู่ในใจของเขา

แล้วพอเขาไม่เชื่อศาสนา จะบังคับให้คนอื่นไม่เชื่อได้อย่างไร ถ้าศาสนาเป็นความจริงศาสนาต้องเป็นความจริงสิ ถ้าใครเชื่อศาสนาคนนั้นเป็นบุญ แต่มันละเอียดอ่อน คำว่า “ละเอียดอ่อน” เห็นไหม มันลึกซึ้งจนเราเข้ากันไม่ถึงต่างหากล่ะ แต่นี่เราก็ยังดีอยู่ เราเข้าถึงเรื่องของทาน เราก็ทำทานไป ถ้าทำนี้มันเป็นกุศลของเรา เราก็หาของเราไป

แล้วถ้ามันละเอียดเข้าไปขนาดไหน วุฒิภาวะของใจมันเจริญขึ้นขนาดไหน มันก็เป็นความเจริญของใจดวงนั้น เห็นไหม ใจเจริญ! กับวัตถุเจริญ ใจเจริญเอาความสุขมาให้ วัตถุมันก็หมุนเวียนไปอย่างนี้ มันเจริญที่สุดแล้วมันก็ต้องแปรสภาพไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีเลย พึ่งไม่ได้เลย จับต้องสิ่งใดแล้วมันจะแปรสภาพทั้งหมด เจริญถึงจุดหนึ่งแล้วมันต้องเสื่อมไป มันเป็นวงรอบของมัน ต้องเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติของมัน

แล้วเราไปเอาตรงนั้นเป็นที่พึ่งได้ไหม? แต่หัวใจเจริญ หัวใจถึงที่สุด อกุปปธรรม หัวใจนั้นไม่เสื่อมสภาพอีกเลย เป็นที่พึ่งตลอดไป นี้ถึงเจริญจริง เจริญจริงคือหัวใจที่เจริญ นามธรรมที่เจริญแล้ว มันเจริญแล้วไม่มีการเสื่อม ไม่มีการแปรสภาพ เป็นอริยบุคคล เป็นชั้น ๆ เข้าไปจนใจนั้นหลุดพ้นออกไป

นี้ศาสนาสอนอย่างนั้น แล้วศาสนาจะไม่มีประโยชน์ได้อย่างไร ศาสนานี้ประโยชน์สูงสุด แต่เพราะคนเขาไม่เห็นประโยชน์ของศาสนา เขาไม่เห็นเอง เขาไม่เห็นเขาถึงได้กล่าวตู่ไง เขากล่าวตู่ศาสนา เขาพยายามเอาศาสนาไว้ทีหลัง เอาเรื่องของโลกไว้ก่อน นั้นเรื่องของเขา แต่เราฉลาดของเรา เราต้องอยู่อย่างนี้ เพราะเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธ เรามีครูบาอาจารย์ เรามีที่พึ่ง เอวัง