เทศน์เช้า

ใจมืด

๑๘ มี.ค. ๒๕๔๔

 

ใจมืด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาเห็นด้วยเลย เขาเห็นว่าเพื่อนเขาต้องการบวชเพราะว่ามันแบบมันยังไม่สมควรที่จะบวช ทุกอย่างพร้อม ว่าบ้านเขา พ่อแม่เขา ความรับผิดชอบของเขาต้องมีอยู่ แล้วเขาจะมาบวชอย่างนี้ มันไม่สมควร ควรจะอยู่อย่างนั้น

เราก็แนะนำเขานะ แนะนำเขาว่า “ข้าวนี่เราเอาข้าววางไว้ แล้วเราไม่กินข้าวเลย เราปฏิเสธข้าวนั้นมันจะเป็นประโยชน์ไหม? ข้าวปลาอาหารนี่วางไว้เราไม่หยิบใส่ปากมันก็ไม่เป็นประโยชน์”

อันนี้ก็เหมือนกัน บุญกุศล มันมีอาหารกายกับอาหารใจ อาหารของกาย ข้าวปลาอาหารเราเอาใส่ปาก เราก็ได้ประโยชน์ของเราใช่ไหม? เราเอาข้าวปลาอาหารใส่ปาก ร่างกายได้สารอาหารขึ้นมา ก็เติบโตแข็งแรงขึ้นมา แต่อาหารใจเราปฏิเสธเพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้ไง เขาพูดกับเขาอะไร แต่เขาพูดแล้วพอสุดท้ายแล้วเขาลงใจ เขาเห็นด้วย แต่เริ่มต้นเขาไม่เห็นด้วย

นี่คนเขาดีนะ คนเขาดีแต่เขามองไม่เห็นไง คือว่ามันปิดไง เราบอก “เวลาปิดปิดอย่างนั้น ภาชนะมันคว่ำอยู่ พระพุทธเจ้าให้หงายภาชนะขึ้นมา” นี่เหมือนกัน ถ้าความเข้าใจของใจ ว่ามันเป็นประโยชน์นะ

ความโลภ โกรธ หลงนี่ ความโลภ โกรธ หลง เห็นไหม ความโลภไม่รู้สึกตัวเลย ความโลภของเรา ดูสิเวลาจะเป็นจะตายขึ้นไป เวลาเขาตราสังข์ เห็นไหม ห่วงบุตร ห่วงภรรยา ห่วงสามี ห่วงทรัพย์สมบัติ เวลาเราห่วงชีวิตนี้ก็ใช้กันไป เราบอกเลย “ชีวิตนี้ใช้กันไป สุดท้ายแล้วต้องไปพลัดพราก”

ขณะที่ไปพลัดพรากถึงที่สุดนั้นก็ไปเจ็บปวด ชีวิตนี้ต้องเจ็บปวดแน่นอนนะ ถึงเวลาพลัดพรากออกไป มันความห่วงความอาลัยความนั่นน่ะมันปิดกั้นไป แล้วทำไมอาหารคืออาหารของใจ ถ้าเรามาแก้ตั้งแต่เสียบัดนี้ไง เรามาแก้เสียแต่บัดนี้ เราเข้ามาแล้วเราทำใจของเรา ถ้าพ้นจากบ่วงทั้งหมดออกไป มันจะมีความสุขแค่ไหน แต่เพราะเราปฏิเสธใช่ไหม? เราไม่เห็นตรงนั้น

ใช่อยู่.. เวลามาบวชขึ้นมา เวลาลูกมาบวชคนหนึ่ง พ่อแม่ก็มีความคับแค้นใจ พ่อแม่ต้องมีความเจ็บปวดบ้าง อันนี้มันเรื่องของกิเลสไง มันเป็นเรื่องของกิเลส มันต้องมีนะ เราต้องการให้ทุกคนอยู่ข้างๆ เราเพื่อจะความอบอุ่น เพื่อจะความช่วยเหลือกัน แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถึงเวลาแล้วก็ต้องพลัดพราก

แล้วพอพลัดพรากขึ้นมา มันก็ต้องมีความเจ็บปวด เวลามันเจ็บปวดขึ้นมาแล้วเราถึงรู้สึกว่าอันนั้นมันเจ็บปวด แต่ขณะที่ว่าเราจะแก้ไขขึ้นไป เหมือนกับเราปฏิเสธอาหารไง อาหารที่วางไว้นี่เราปฏิเสธ เราไม่เอาเข้าปากเข้ามา มันก็ไม่ได้เป็นอาหารของเรา แล้วเราปฏิเสธ

ไอ้อย่างนี้เราเห็นเป็นรูปธรรมนี่นา เพราะมันเป็นอาหาร เวลามันหิวขึ้นมา ใครจะปฏิเสธ? ใครก็ต้องหยิบใส่ปาก เพราะมันหิว ความหิวมันบังคับ มันก็ต้องกินใช่ไหม?

แต่เวลาความทุกข์ของใจมันบังคับ มันมองไม่รู้เรื่อง มันมองไม่เห็นไง มันไม่เห็นเรื่องของศาสนา ไม่เห็นเรื่องของคุณงามความดีของศาสนา ไม่เห็นคุณงามความดี ไม่เห็นเรื่องของการชำระใจ เห็นไหม คนมันมืดมันมืดแบบนั้น

คนมันมืด มันมืดเพราะอะไรพามืดล่ะ? เพราะกิเลสพามืด..

แต่พอได้ฟังธรรมเข้า พอฟังธรรมคุยกันจนเข้าใจ เขาบอกเขาเห็นด้วย แล้วเขาอยากจะมาคุยด้วยบ่อยๆ เลย เขาอยากจะมาคุยด้วยเพราะว่าคุยแล้วมันเป็นประโยชน์ของเขาขึ้นมา เขาเห็นอย่างนั้น เวลาพูดถึงความดีขึ้นมา บอกไม่ปฏิเสธความดีเลย ความเข้าใจเป็นความเข้าใจ แต่! แต่มันทำได้ยาก ของมันเป็นไปไม่ได้ มันทำไม่ได้ มันทำไปได้ยาก แล้วมันจะมีหวังผลได้หวังผลไม่ได้ยังไม่รู้ไง

แต่ของที่อยู่ใกล้ตัวเรา อาหารของกายมันเป็นข้าวปลาอาหาร มันเป็นวัตถุ มันมองเห็นเลย อาหารของใจมันเป็นนามธรรม เห็นไหม แล้วเราสร้างขึ้นมาไม่ได้ อาหารของใจ ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร ใจกินความถูกต้องชั่วดีเป็นอาหาร

ความเข้าใจ เราทำกับใครไว้ในความดีหรือความชั่วก็แล้วแต่ เราทำกับใครไว้ ถึงเวลาแล้วเราคิดถึง มันจะบาดหัวใจเราไปตลอด มันกินสิ่งนั้นเป็นอาหาร เราทำความผิดหรือความถูกไว้ในโลก มันจะสะสมใจเข้ามา ถ้าเป็นความถูกขึ้นมามันจะพอใจ แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดขึ้นมา มันก็จะฝังใจไป แล้วระลึกขึ้นมาเท่าไหร่มันก็บาดใจๆ

“เรื่องของกรรม” สุดท้ายคือว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรมใช่ไหม? ถ้าเรื่องของกรรม เราจะทำกรรมอย่างไร? เราจะสละกรรมได้อย่างไร?

ก็นี่ไง! เรื่องของกรรมชำระกรรมได้ ภาวนานี่อันดับหนึ่ง ถ้าอย่างอื่นนะ อย่างเราอุทิศส่วนกุศล มันก็แก้ได้ แก้ได้คือว่าขอโทษขอโพยกันไป การขอโทษขอโพยกันไปมันก็ขอโทษขอโพยกันชั่วคราวๆ

นี่ก็เหมือนกัน อุทิศส่วนกุศลไปเหมือนกับเราให้ขอโทษขอโพยกัน ให้คนที่มีความบาดหมางกับเรา ให้อภัยกับเรา เห็นไหม อุทิศส่วนกุศลไป นี่เราต้องไปขอโทษขอโพยกับเขา แล้วเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ให้อภัยเรานั้นเป็นที่ว่าเขาได้บุญกุศล เขาได้ความสุขจากที่ว่าเราทำบุญกุศลอันนี้ เห็นไหม อันนี้มันเป็นส่วนอย่างหยาบๆ

แต่ในการภาวนามันเป็นการชำระกรรม มันล้างกรรมเลย มันไม่ต้องขอโทษขอโพยใคร มันชำระความสกปรกในใจของเรา เห็นไหม ในใจของเรา เราชำระความสกปรกในใจของเรา เราชำระออกไปแล้วมันหลุดออกไปจากใจ มันเห็นจากใจว่าเราชำระออกไป

นี่ไง เวลาว่าเรื่องของกรรม เรื่องของความทุกข์ความยาก คนที่ว่าเราอยากจะให้เขาดีขึ้นมาในครอบครัวของเรา ทำไมมันเป็นดีอย่างที่เราไม่สมใจปรารถนาที่เราต้องการให้เป็นความดี?

เขาบอก เราก็รู้อยู่ เขาก็รู้อยู่ ทำไมเขาทำไม่ได้? เราบอก “นี่มันเรื่องของกรรม” แล้วกรรมก็สะสมมาตลอด แล้วกรรมนี้ก็แก้ไขได้ด้วยการภาวนา ถ้าภาวนาไม่ได้ ปุถุชน เห็นไหม กลายเป็นอริยบุคคลขึ้นมาเป็นชั้นๆ ตอนขึ้นไป เขาต้องชำระใจของเขาออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป แล้วการชำระใจออกเป็นชั้นๆ เข้าไป มันเป็นเรื่องยาก อาหารของใจเป็นความทำยาก

ยากจริงอยู่.. แต่ผลมันให้คุณค่ามหาศาลหนึ่ง สองเกิดมาพบพุทธศาสนา เห็นไหม แล้วพุทธศาสนา มัคคอริยสัจจังนี่ทางอันเอก ทางสอนเรื่องของใจ ศาสนาอื่นมันไม่มีตรงนี้นี่นา

คำว่า “ศีล” เราก็ศีล ลัทธิศาสนาอื่นก็สอนเรื่องศีล แต่ลองแปลความหมายออกมาไม่เหมือนกัน ศีลของเขากับศีลของเราไม่เหมือนกัน แต่คำว่า “ศีล” เราก็คิดว่าใช่ พอคิดว่าใช่ก็ว่าศาสนาพุทธทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ศาสนาทุกศาสนาทำให้คนเป็นคนดี ทำให้คนหลุดพ้นไป

ทำให้เป็นคนดีน่ะเห็นด้วย ในศีลธรรมจริยธรรมให้เห็นส่วนหนึ่งว่าทำให้เป็นคนดี แต่คนดี เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนให้แม้แต่ว่าความดีนี้ก็ต้องล่วงพ้นไป เห็นไหม ข้ามพ้นแม้แต่ความดีและความชั่ว ความดีทำให้เราเวียนตายเวียนเกิด เวียนมาทำคุณงามความดีได้ผลประโยชน์ตอบแทน มันก็เป็นทุกข์อันเก่าอันนี้ เราก็ต้องมาประสบอันนี้ เราเกิดมาก็ประสบอันนี้อีก

แต่ศาสนานี่ ถ้าเราจะเกิดมาประสบอย่างนี้อีก เราต้องเกิดอีก ให้เกิดในคุณงามความดี เราถึงทำบุญกุศลขึ้นมา เพื่อเกิดมามีที่พึ่งที่อาศัย รถของเราจะออกจากบ้านมีเสบียงกรังไปเต็มคันรถเลย เราไปถึงไหนเราก็ไปได้ มันไปได้ไกลมาก

บุญกุศลของใจเหมือนกัน เวียนในวัฏฏะนี้มันก็ยังเวียนไป วนไปในวัฏฏะ เกิดมา เห็นไหม คนเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน แต่คนๆ หนึ่งมีคุณค่า คนๆ หนึ่งทำอะไรประสบความสำเร็จ คนๆ หนึ่งทำเหมือนกัน ทำไมมีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ? มีแต่ความผิดพลาดตลอดไป?

นี่คนเหมือนกัน แต่บุญกุศลของคนไม่เหมือนกัน เกิดในพ่อแม่เดียวกันก็ไม่เหมือนกัน สิ่งนี้เป็นเครื่องที่ว่าเป็นเครื่องดำเนินต่อไป บุญกุศลพาให้ดำเนินต่อไป แล้วดำเนินต่อไปก็ไปประสบความทุกข์เหมือนกัน จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนนะ เวลาลูกของตัว เวลาญาติของตัวเป็นที่พิการไป หรือว่าเป็นอะไรออกไป เราจะมีความสะเทือนใจของเรามาก เราสะเทือนใจมาก

เพราะมันสะเทือนใจ ถึงจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน แต่ไอ้เรื่องวัฏวน เรื่องกระแสของกรรม เรื่องกระแสของใจมันต้องมีตลอดไป เห็นไหม มันที่ว่ามันชำระล้างได้ในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น ศาสนาอื่นไม่มีมรรค

“สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ในลัทธิศาสนาอื่นไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ” รอยเท้านี่ต้องอยู่บนพื้นดิน รอยเท้านี่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่รองรับรอยเท้านั้นได้

นี่เหมือนกัน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล จะชำระกิเลสเป็นไปไม่ได้ ลัทธิศาสนาอื่นๆ ไม่มีตรงนี้ มรรคเขาไม่มี มรรคของเขา เห็นไหม แล้วเวลาเราอ่านตำรากันมา เราก็ว่ามรรคต้องเป็นอย่างนั้นๆ เวลาทำเข้าไปแล้วความคาดความหมายต่างกันมาก ความจริงที่จะไปประสบมันจะต่างกันอย่างนั้นเลย

อันนี้ถึงว่าบวชถึงจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐไง บวชแล้วมันถึงว่าเป็นผู้ที่ว่ามีโอกาสมากไง โอกาสได้ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงได้สร้างอาการของใจ

มรรค เห็นไหม เวลาประกอบอาชีพชอบ การประกอบอาชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบนับว่าเป็นมรรค มรรคอย่างนี้เป็นมรรคเปรียบเทียบ แต่มรรคที่เป็นตัวจริงของมันคือมรรคที่เกิดจากใจ สัมมาสมาธิเกิดขึ้นจากใจ เห็นไหม ใจที่เป็นนามธรรม พอเวลาจิตมันตั้งมั่น นั่นคืออัตตาตัวตนเลย อัตตาของเราเริ่มจับตัวเราเองได้ เริ่มพยายามจะทำให้เป็นอนัตตาขึ้นมา จากอัตตานี่จับต้องได้

พอจับต้องได้ เวียนหากิเลสขึ้นมาในหัวใจ มรรคอันนี้ต่างหากที่ว่าศาสนาอื่นไม่มีๆ ไม่มีตรงนี้ไง เพราะเขาไม่มีคนชี้นำไง เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนบอกนำไง อัญญาโกณฑัญญะรู้ตามเป็นองค์แรก เห็นไหม มรรคอันนี้ต่างหากที่ศาสนาอื่นไม่มี ศาสนาพุทธเรามี มีแล้วคนจะเข้าถึง ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะเข้าถึง แล้วผู้ปฏิบัติต้องถูกต้องด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติผิด ให้เข้มแข็งขนาดไหน แต่ถ้าผิดทาง เห็นไหม ขึ้นบนถนนผิดแล้วมันจะไปถูกทางได้อย่างไร?

ถึงปฏิบัติๆ มาก.. ในคนที่ปฏิบัติดังสุนัข เสนิยะอเจละหรือไงที่ในสมัยพุทธกาลนะ เขาปฏิบัติเป็นเหมือนสุนัข เขาว่าทำแบบสุนัขนี่จะเป็นประโยชน์มาก เขาใช้ชีวิตแบบสุนัขเลยนะ กินแบบสุนัข นอนแบบสุนัข ใช้ชีวิตคนนี่แบบสุนัข เขาคิดว่าอันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “กระทำอย่างนี้มันจะได้บุญได้กุศล ตายไปแล้วเขาจะไปไหน?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ถ้าตายไปแล้วเกิดเป็นหมา เพราะตัวเองยังเป็นคนอยู่ เห็นไหม การปฏิบัตินี่ทำเหมือนเขา”

ในลัทธิสมัยพุทธกาลมีอย่างนี้มากเลย ทำนี่หลงผิดไป คิดสิ ชีวิตเขาทั้งชีวิตเลย ใช้ชีวิตแบบสุนัข ใช้ชีวิตเหมือนหมาเลย แล้วเขาคิดว่าอันนี้เป็นคุณงามความดี เป็นการทรมานร่างกาย เป็นการแผดเผากิเลสไง แล้วไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎกนะ มีอยู่ชัดๆ เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อย่าให้เราพูดเลย”

“บอกเถอะ บอกเถอะ” อ้อนวอนถึง ๓ หน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าตายไปก็เกิดเป็นสุนัข เพราะปัจจุบันนี้ปรารถนาเป็นแล้ว เจตนามันอยากเป็น เจตนามันออกไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น” อันนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าปฏิบัติผิด เริ่มต้นผิดทาง ให้เข้มงวดขนาดไหนมันก็ผิด

ปฏิบัติให้ถูกทางด้วย ให้เข้มแข็งด้วย จะเข้าถึงทางอันนี้ได้ ถึงทางที่ว่าดับทุกข์ไง ดับเชื้อของกิเลสออกจากใจทั้งหมด มรรคอันนี้ถึงเกิดขึ้น ถ้ามันสร้างขึ้นมา

คนที่เข้ามาในกระแสแล้วจะจับต้องได้ จับต้องได้มันจะจับต้องได้ อย่างเริ่มต้นจับต้องกิเลสได้ วิปัสสนากิเลสไป จนกิเลสหลุดออกไปจากใจ เวลากิเลสหลุดออกไปจากใจดังแขนขาด ดั่งแขนนี้ขาดออกไปจากร่างกายของเรา เวลากิเลสขาดออกไปจากใจ มันเป็นรูปธรรมขนาดนั้น ขนาดที่ว่าเปรียบดังแขนขาด เราเอามีดฟันแขนเราขาดออกไปเลย มันจะหลุดออกไปจากใจเลย ถึงเป็นอกุปปะไง

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เสื่อม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในหัวใจนั้น เป็นสิ่งเป็นรูปธรรมขึ้นมาว่าจะอธิบายสิ่งนี้ได้ทั้งหมด เพราะเป็นผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมา เห็นเองรู้เองในหัวใจนั้น สามารถชี้นำเราต่อมา แล้วเราก็เกิดมาพบครูบาอาจารย์อย่างนั้น แล้วเราจะสามารถปฏิบัติได้อย่างนั้น ทำไมไม่เป็นวาสนาของเรา?

เป็นวาสนานะ.. ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ในตำราอ่านมา มันมีความคิดของเรา กรอบของกิเลสไง กรอบของจินตนาการของเรา ต้องจินตนาการเป็นอย่างนั้นๆ แล้วความจินตนาการของเรากับความจริงไม่เหมือนกัน เพราะว่าศาสนานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้แล้วว่า

“เข้าได้ด้วยปรัชญาเข้าด้วยไม่ได้ เข้าด้วยตรรกะก็ไม่ได้ จะเข้าถึงด้วยตรรกะ ถึงปรัชญา ถึงทุกอย่างเป็นไปไม่ได้เลย มันจะเข้าไปด้วยมัคคอริยสัจจังทางอันเอกอันนี้เท่านั้น มรรคที่สร้างขึ้นมาในหัวใจของสัตว์โลก ของผู้ที่ปฏิบัติเข้าไปเป็นตามความเป็นจริง”

นี่บวชมีคุณประโยชน์ขนาดนี้ไง แล้วทำไมปฏิเสธว่าบวชแล้วบวชไปเสียเวลาเปล่า อยู่กับโลกเขาเพื่ออย่างนี้ เห็นไหม คนมันมีความคิดมองข้างเดียวไง คนมืดอยู่ไง คุณงามความดี ตั้งใจคุณงามความดี อยู่กับพ่ออยู่กับแม่ อยู่กับญาติพี่น้องช่วยเหลือกันนี่เป็นบุญกุศล เป็นการช่วยเหลือกัน..

ช่วยเหลือกัน.. มันเป็นการช่วยเหลือกันร่างกาย ช่วยเหลือกันด้วยการปลอบกันแต่ภายนอก แต่หัวใจทุกข์มันก็เผาทุกดวงใจเหมือนกัน ไม่มีใครทุกข์แทนใครได้เลย แต่เวลาออกบวช บุญกุศลนี่สามารถส่งเสริมให้กับญาติตระกูลได้หนึ่ง แถมยังชี้นำได้อีกหนึ่ง แล้วสุขอันนั้นเป็นในหัวใจนั้นหนึ่ง ดับทุกข์ได้หนึ่ง แล้วบุญกุศลนี้จะมหาศาลนะ

เราคิดถึงลูกของเราในศาสนา คิดถึงพระนี่บุญกุศลจะเกิดเลย คิดถึงลูกเราในคุกในตะราง มันจะเศร้าใจเสียใจมากเลยนะ ถ้าคิดถึงพระ เห็นไหม นี่คิดถึงบุญ ญาติของเราได้เข้าไปบวชในศาสนา เราได้เป็นญาติกับศาสนา เป็นญาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอโศกฯ ถามพระพุทธเจ้าไง “จะเป็นญาติศาสนาได้ทางไหน?”

“ได้จากเลือดเนื้อเชื้อไขเราเข้าไปบวชในศาสนานั้น”

นี่เลือดเนื้อเชื้อไขเราเข้าไปบวชในศาสนานั้น บุญกุศล เห็นไหม ให้กับพ่อแม่นั้น พ่อแม่นั้นได้บุญกุศลมาก แต่เพราะความคิดหน้าเดียว มืด ในใจมืด แต่ถ้าสว่างขึ้นมาแล้วก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าใจมืดก็เป็นอย่างหนึ่ง ใจสว่างก็อย่างหนึ่ง พูดให้เข้าใจแล้วเขาเข้าใจ เขาพอใจ คือว่าเขาก็เป็นคนดีคนหนึ่ง แต่ด้วยความมืดของใจ เห็นไหม จะชี้ให้เห็นโทษของมัน

เวลามานี่ปิดมาเลยนะ เวลากลับนี่เปิดไป โอ้โฮ..สว่าง พอใจมากเลย แต่มานี่ ไม่ต้องบวช อยู่กับพ่ออยู่กับแม่ อยู่กันในครอบครัวนี่ช่วยเหลือกัน อันนี้เป็นบุญกุศล อันนี้เป็นความดีแล้ว บวชไปมันยังไม่รู้ว่าจะได้ไม่ได้ จะจับต้องได้ไม่ได้ จะยังไม่รู้เวลาอนาคตอีกขนาดไหน อันนั้นเขาว่าของเขาไปนะ แต่ถ้าเราทำจริงของเราต้องได้ผล เอวัง