เทศน์เช้า

กรอบระบบ

๒๔ มี.ค. ๒๕๔๔

 

กรอบระบบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราทำกัน ในเรื่องศาสนา เราเรียนอภิธรรม เราเรียนศาสนามา มันก็เป็นเหมือนกับระบบของศาสนา แล้วเรียนแล้วเข้าไปแล้ว พอเรียนเข้าไปแล้วมันจะกำจัดกิเลสได้ไหมล่ะ? มันกำจัดกิเลสไม่ได้ แต่ว่ามันไม่สำคัญเหรอ? สำคัญนะ มันเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่มีตรงนี้ เราจะเข้าไปจับต้องศาสนาอย่างไร? เราไม่มีสื่อเข้าไปจับต้องศาสนา เราจะเอาอะไรไปจับต้องศาสนา? เราก็ต้องศึกษาเล่าเรียนมา

แต่ศึกษาเล่าเรียนมาขนาดไหน ระบบนี่ ระบบราชการ เห็นไหม ทำให้พวกเราเข้าไปนี่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ระบบราชการนี่ ถ้าคนดีปกป้องในระบบราชการนั้น อย่างนี้เลย...เยี่ยม เพราะว่าคนดีทำแล้วมันมีความเมตตาไง มีความเมตตามีความอะไร มันเป็นไปตามระบบ แต่ถ้าระบบราชการนั้น คนที่ว่าทุจริตเข้าไปในระบบนั้น ระบบนั้นเป็นเครื่องมือหาเงินเลย ระบบนั้นเป็นการทำให้เรายุ่งเข้าไปหมดเลย แต่ในระบบนั้นมันเรื่องของระบบ มันก็ลำบาก

เวลาพูดถึงให้เห็นว่า ขณะที่เราจะเข้าไปในระบบ เข้าถึงระบบนั้น เข้าไปในระบบ เราต้องแข่งขันกัน เราต้องไต่เต้าขึ้นไป จนกว่าจะถึงว่าลายเซ็นของเรามีอำนาจ ลายเซ็นของเรามีอำนาจปั๊บ ลายเซ็นเรามีตำแหน่งขึ้นมา มีอำนาจมันเซ็นอะไรก็ได้ นี่การเข้าหาระบบ แล้วเข้าหาระบบแล้ว คนที่เข้าไปหาระบบนั้นดีหรือชั่วต่างหาก เห็นไหม นี้มันในหลักของศาสนา ทำไมเราต้องศึกษาเล่าเรียนกัน? ทำไมต้องศึกษาเล่าเรียน?

เราศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อนะ ถึงว่าเวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร มันเป็นศัพท์ทางศาสนา เราจะไม่รู้เลยว่าเวทนาคืออะไร บางคนว่าเวทนาคืออะไรคะ? เวทนาคืออะไรคะ? ก็ว่าเวทนา เวทนา...

เวทนามันยังแบ่งไปอีก เห็นไหม เวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘

ถ้าเวทนา ๒ สุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่มันเป็นเวทนา ๓ อทุกขมสุขเวทนาอีก เห็นไหม เวทนาที่ว่ามันเฉยๆ อยู่นั้นมันก็เป็นเวทนาอยู่แล้ว มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่เราไม่สามารถกล่าวว่าตรงไหนคืออะไร ศึกษามาเพื่อจะมารู้เรื่องเวทนา เรื่องของสัญญา เรื่องของขันธ์ ศึกษามาแล้วก็จับต้องไม่ได้

เขาศึกษามา เห็นไหม ถ้าเราศึกษามา นี่ระบบ เข้าไปถึงในระบบแล้ว ระบบราชการมันเป็นอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไรขึ้นมา? ระบบราชการนั้นเพื่อประโยชน์อะไร? เพื่อความเรียบร้อย เพื่อความดีงาม เพื่อปกป้องไม่ให้คนทำความผิดใช่ไหม? เพื่อให้มันเป็นความดีงาม

อันนี้ก็เหมือนกัน อันไหนเป็นเวทนาก็ไม่รู้จักนะ อันไหนเป็นสังขารก็ไม่รู้จัก อันไหนเป็นสัญญาก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จัก ความคิดนี้ไม่รู้จัก ศึกษามานะมันเป็นชื่อ มันเป็นตำราเฉยๆ มันเป็นชื่อมา เป็นสุตมยปัญญา แต่การเข้าไปจับต้องมันต้องมาภาวนา

การภาวนาคือการจับต้อง การแยกแยะมันไงว่าอันไหนเป็นเวทนา เจ็บปวดนี่เป็นเวทนา เวลามันเจ็บปวดนี่ได้ เวลาสุขขึ้นมามันจับต้องไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะเวทนากับเราเป็นอันเดียวกันไง เรากับเวทนานี้เป็นอันเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน มันเลยเนื่องไปกันหมดเลย มันเกี่ยวข้องกันไปเป็นอันเดียวไป พอเวทนาดับเราก็ดับไปด้วย มันจับต้องไม่ได้

แต่ผู้ที่จับต้องได้ เวทนาเป็นเวทนา เราเป็นเรา เห็นไหม มันแยกออกมา อันนี้เกิดขึ้นแล้ว วันนี้ ตอนนี้ ขณะนี้ อันนี้เกิดขึ้น จับต้องได้ๆ จับต้องได้แล้วดูมันไปไง ความเข้าใจแล้วดูมันไปๆ ก่อนจะจับต้องได้มันต้องแบ่งแยกก่อน มันถึงมีความชำนาญเข้าไปเรื่อยๆ

ความชำนาญเข้าไปเรื่อยนี่มันต่างจากระบบแล้ว ระบบมันเป็นการขีดเส้นไว้เฉยๆ ให้เราเดินตามนั้น เหมือนกับประเพณี เราขีดเส้นเดิน เราทำบุญได้บุญกุศล บุญกุศลนะเราทำบุญตามประเพณีแล้วเราจะได้ตามนั้น แต่บุญกุศลมันเป็นอย่างไรล่ะ? ทำแล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะอะไร? มันเป็นความสักแต่ว่าไง เราเข้าไม่ถึงประเพณีนั้น เข้าไม่ถึงเนื้อของบุญนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาระบบนั้น เราเข้าไปถึงระบบนั้น ระบบนั้นไว้เพื่ออะไร? ระบบนี้ไว้เพื่อให้เราเป็นระเบียบเฉยๆ ใช่ไหม? แต่การกระทำของเรา ถ้าเป็นความดีแล้ว ระบบนี้ไม่มีความหมายเลย เห็นว่าถ้าพวกเราถือศีล ๕ เรามีศีลกันหมด จะไม่ต้องใช้กฎหมายเลย แต่เพราะว่าศีลเรามีไว้เฉยๆ แต่เราไม่ได้ทำตามศีลนั้น

ระบบก็เหมือนกัน เรามีไว้เฉยๆ ถ้าเราจะใช้ขึ้นมาเมื่อไหร่นะ มันก็เข้มงวดขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่ใช้นะ มันก็ปล่อยไว้นั่น เหมือนที่ว่านายกตอนนี้บอกนะ เราต้องทำลายทะลุกฎหมายออกไปได้ กฎหมายทำให้ประเทศไม่พัฒนาขึ้นไป เพราะ! เพราะมันติดตรงนั้น แล้วเอาตรงนี้มาอ้างกันไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนาไป ไอ้ตรงนี้มันจะผิดนะ มันจะผิดจากหลักธรรม ต้องตามระบบนี้เข้าไป ต้องตามสัญญาเข้าไป ตามสังขารเข้าไป มันเกิดดับทีเดียวมันพร้อมกัน ถ้ามันเกิดดับพร้อมกัน ถ้าเราทันมัน เราจะได้ประโยชน์จากตรงนี้

ถ้าเราไปติดอยู่ในระบบอยู่แล้ว เราจะไม่ทันความคิดที่ว่าอันไหนเป็นสัญญา อันไหนเป็นสังขาร เราจะไม่ทันมันหรอก เพราะมันเกิดเร็วมาก มันเกิดปั๊บ มันจะแสดงตัวออกมาแล้วมันก็เป็นไป แล้วมันสืบต่อตลอดเวลาไง มันจะมีซ้อนๆๆๆๆๆ กันจนเราก้าวตามไม่ทัน

แต่ถ้าเราจับต้องตรงไหนได้ มันหยุดทันทีเลย ถ้ามันจับต้องได้มันหยุด พอมันหยุดปั๊บ เราก็แยกมันออกไป แยกมัน แยกแยะมันออกไปถ้าเราจับต้องได้ ถ้าเราจับต้องไม่ได้ เรากับเขานี่เป็นอันเดียวกัน เรากับระบบนั้นผูกกันติดกันจนเราขยับตัวไม่ได้เลย ระบบนั้นทำให้เราแข็งทื่อไปตลอดเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นไป แต่ภูมิใจนะว่าทำได้

นี่ศึกษาในสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เราศึกษาเล่าเรียนมา มันย้อนกลับมาที่ธรรมไง ถ้าเห็นธรรมนะ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าเห็นตถาคตแล้วใจนั้นเป็นธรรมขึ้นมานั้น ไอ้อย่างนั้นมันเป็นสมมุติ เห็นไหม สมมุติเพื่อให้เราก้าวเดินเข้ามาถึงตรงนี้ แต่เหตุผลเข้ามาเพื่อผลงานอันนั้น ผลงานความถูกต้องความดีงาม

ผลงานความถูกต้องความดีงามนั้นเป็นเรื่องของโลกเขา ย้อนกลับมาเรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของธรรม เราก็ย้อนกลับมาดูเรื่องของใจ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องของใจนะ ใจนี้เท่านั้นที่จะรับรู้สิ่งนี้ แล้วใจนี้เท่านั้นที่จะเกิดตายนะ

เราเกิดมาเราตายมา เห็นไหม เราเกิดมาตายมาตลอด ภพชาติมาขนาดไหน แล้วเรานี่ นี่คือตัวระบบ ตัวระบบคือสัจจะความจริงไง ธรรมะนี่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าบอก “มีอยู่แล้ว” วัฏฏะมันมีอยู่แล้ว เราต้องเวียนไปตามวัฏฏะ แล้วแต่กรรมมันเกิดขึ้น สะสมกรรมขึ้นมา พอกรรมขึ้นมา สะสมขึ้นมานั้น มันจะให้ผลเกิดดีเกิดชั่ว

เราเกิดเป็นมนุษย์ เราได้ร่างกายมา ได้หัวใจมา เขาเกิดเป็นเทวดาล่ะ เขาเกิดเป็นพรหมล่ะ เขาเป็นกายทิพย์ล่ะ นี่มันก็เวียนไปในระบบ เพราะมันสืบต่อกันได้ แล้วเกิดในนรกล่ะ? เกิดในนรกมันก็เกิดได้ แล้วเกิดมา เห็นไหม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์นี่ใกล้เคียงกัน เพราะมีกายกับใจ มันจะจับต้องเป็นวัตถุได้ นี่อันนี้เป็นระบบ แล้วเราจะออกจากระบบนี้ไปอย่างไร?

นี่ธรรมสอนอย่างนั้นนะ ออกจากระบบไป ถ้าออกจากระบบไปแล้ว สมมุติตั้งแต่ระบบที่โลกสมมุติขึ้นมา เงิน เมื่อก่อนเหรียญที่เราสมมุติว่าเป็นเงินขึ้นมายังใช้กันได้ พอเลิกสมมุติเหรียญนั้นก็ใช้ไม่ได้ เลิก ยกเลิก ทีนี้ยกเลิกไป เห็นไหม สมมุติซ้อนขึ้นมา แล้วติดในสมมุตินั้น

พระพุทธเจ้าถึงบอกไง “มนุษย์นี้เข้าใจว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นผู้ฉลาดไง” แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าโง่กว่าสัตว์

โง่กว่าสัตว์เพราะอะไร? เพราะสัตว์มันจะไปไหน นกมันจะบินไปได้ตามความอยากความปรารถนาของเขา เขาเป็นอิสระ เขาเสรีของเขาไง มนุษย์นี้สร้างกติกาสังคมขึ้นมา แล้วก็ติดกติกาสังคมของตัวเอง ตัวเองสร้างหลักกติกาขึ้นมาแล้วก็ผูกขาของตัวเองไว้ เห็นไหม มนุษย์นี้ว่าเป็นผู้สัตว์ฉลาดแต่สร้างมา

นี้พูดถึงธรรมที่ละเอียดเข้าไป แต่ถ้าพูดถึงว่าไม่มีกฎไม่มีกติกาเลย มนุษย์ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เห็นไหม เพราะมนุษย์นี้เป็นสัตว์สังคม แต่เวลาพูดนี้พูดเพื่อสะเทือนหัวใจไง ให้เราปล่อยวางทิฏฐิมานะของเรา ว่าเราเป็นสัตว์ประเสริฐ เรา เห็นไหม เพราะเรายึดมั่นถือมั่นมากเราก็จะทุกข์มาก ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นน้อย ความทุกข์เราก็มีน้อย

ความยึดมั่นถือมั่นกับระบบนั้นคนละอันกัน ความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่กฎหมายมนุษย์ตราขึ้นมานั้นต่างกัน มนุษย์ตราขึ้นมาเพื่อให้เป็นความระเบียบเรียบร้อย เพื่อสัตว์สังคมจะอยู่ด้วยกันสุขสบายไง อันนั้นตราขึ้นมาเพื่อสังคม แต่ของเรานี้เวลาตราขึ้นมาในสังคมนั้น ใช้แต่เป็นสังคม ใช้กับบุคคลอื่น แต่หัวใจเราแล้วไม่ต้องใช้กับเรา เราละเอียดอ่อนกว่านั้น

ถึงว่าเราเป็นผู้ที่ฉลาดกว่านั้น เราถึงจะฉลาดเท่ากับที่ว่าเราเป็นสัตว์ประเสริฐ เราจะฉลาด มนุษย์นี้ฉลาดๆ อย่างไร? ฉลาดเอาใจรอดเข้ามาไง เราทำผิดขึ้นมามันถึงจะมีสิ่งนั้น ถึงจะเป็นสิ่งที่มาตัดสินเราใช่ไหม? ถ้าเราไม่ทำความผิดขึ้นมา เจตนาเราไม่มี เราก็ไม่ทำสิ่งนั้น ถ้าเจตนาเราถูกต้อง เราทำความดีของเราหมด มันผิดพลาดพลั้งไป นั่นเรื่องของกรรม เรื่องของกรรม เรื่องของความผิดพลาดไปมี เห็นไหม ถ้ามีแล้วเป็นเรื่องของโลกเขา ถ้าไม่มีเจตนาเขาก็ไม่เอาผิดกัน เขาปล่อยกันไป

ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว เราถึงย้อนกลับมาให้ดูใจของเราให้ได้ ถ้าเราทำใจของเราได้ เราก็ใช้ศาสนาได้สมกับที่พระพุทธเจ้าปรารถนา พระพุทธเจ้าปรารถนาสอนคนสอนลงที่หัวใจ เพราะใจนี้มันพาเกิดพาตาย มันเวียนไปตามระบบแล้วมันก็พาเกิดพาตายอยู่ในภพชาติต่างๆ แล้วมาถึงภพชาติปัจจุบันนี้ มันก็เป็นอย่างนี้แล้ว แล้วเราฉลาดพอ เราฉลาดพอนะ ถ้าเราไม่ฉลาดพอ วันคืนล่วงไปๆ

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “หายใจทิ้งเปล่าๆ วันคืนล่วงไปๆ”

เรื่องการเกิดและการตาย เรื่องการกินและการนอน มันเป็นเรื่องของร่างกายเท่านั้น ถ้าหัวใจมันหมดจากชาตินี้ไป มันจะไปนอนที่ไหน มันไปภพชาติใหม่ กาลเวลาของใจดวงนั้นมันก็ไปอยู่ในสถานะใหม่ สถานะใหม่นี่การกินและการนอนของเขาก็ต่างไป เราติดการกินและการนอน อาหารของเขาไง อาหารของจิตที่ว่านี้เวียนไป แต่ละภพแต่ละชาติอาหารไม่เหมือนกัน การอยู่อาศัยของจิตนั้นไม่เหมือนกัน ความที่ไม่เหมือนกัน เขาก็ต้องอยู่ในสถานะนั้น

อันนี้สถานะของมนุษย์นี่มันมีกายกับใจ เห็นไหม ถึงต้องพักผ่อน ต้องหลับต้องนอน แต่การหลับการนอนนี้เป็นเพื่อว่าบรรเทาธาตุขันธ์เพื่อทำคุณงามความดีตลอดไป มันไม่ใช่ว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ว่ามันทำให้เราเกิดประโยชน์ขึ้นมาหรอก ถ้าเราเกิดประโยชน์กับสิ่งนี้ เรากินแล้วเรานอน เห็นไหม ดูสิ ดูฟาร์มต่างๆ ที่เขาเลี้ยงสัตว์ เห็นไหม ฟาร์มต่างๆ เขาเลี้ยงสัตว์นะ เขาไม่ให้มันขยับเลย เพื่อต้องการให้มันกินแล้วให้นอน เพื่อให้ร่างกายมันสมบูรณ์ เพื่อจะขายได้ราคาไง แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นเหรอ?

ถ้าว่าการกินและการนอนนี้เป็นความสุข เห็นไหม ถ้าการกินการนอนไม่ใช่ความสุข แล้วอะไรเป็นความสุขล่ะ? ใจปรารถนาสิ่งใด? มันย้อนกลับมาดูใจของเราได้ การกินและการนอนนั้นถึงไม่ใช่สิ่งที่เป้าหมายของเรา

นี่มันถึงจะย้อนกลับมาที่ใจ ถ้าใจมันอยู่ที่ตรงนั้นหมด มันไปดูตรงนั้นไง ดูสิ่งที่ข้างนอก ดูผลของวัฏฏะ แต่ไม่ดูสิ่งที่ว่าใจที่มันได้เสวยวัฏฏะนั้น ผลของวัฏฏะคือร่างกาย คือสิ่งที่เราเกิดเป็นมนุษย์ แต่ผลของใจที่ทำมาแล้วเราสร้างผลของใจนั้น มันถึงจะประเสริฐกว่าไง พ้นจากระบบออกไปได้

ระบบสร้างให้เราขึ้นมาเป็นแบบนั้น ระบบทำให้เรายุ่งยากมาก ถ้าเราอยู่อย่างนั้นเรายังข้องอยู่ในระบบอีก ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ต้องข้องไปตลอดไป ถ้าไม่ทำหัวใจ ทำหัวใจเท่านั้นจะพ้นออกจากระบบ พ้นจากกรรม พ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ในศาสนาของเรา เอวัง