เทศน์เช้า

จุดเริ่มต้น

๒๒ ก.พ. ๒๕๔๔

 

จุดเริ่มต้น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันพระเป็นวันที่ทำบุญกุศลไง ทำบุญกุศลได้บุญกว่าทุก ๆ วัน เพราะว่าวันพระนี่มันเป็นกลางเป็นสากล เป็นสากลเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว องค์เราองค์ที่ ๔ นั้น บาลีนี่เป็นภาษากลาง ภาษากลางเป็นการสื่อความหมายให้รู้กัน พอเรารู้กันขึ้นมานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ คนที่เกิดนะเหยียบแผ่นดินถูก เกิดแผ่นดินถูก เกิดมาในแผ่นดินพุทธศาสนา แล้วได้สนใจศึกษาไง

แล้วยิ่งถ้าได้บวชนะ ผู้ชายนี่ได้บวชนี่เยี่ยมเลย เพราะว่าศาสนานี่มันไม่ใช่เกิดตลอดไป มันเกิดเป็นครั้งเป็นคราว พระพุทธเจ้า เห็นไหม ๔ องค์ กัปนี้ ๕ องค์ พอมี ๕ องค์แล้วต่อไปอีก มันภัทรกัป มันสุญกัป เวลาไม่มีพระพุทธเจ้าขึ้นมามันจะไม่มีหลักเกณฑ์ในศาสนา ฟังธรรม ๆ นี่แสนยาก แต่เราได้ฟังธรรมขึ้นมาแล้วเราก็ว่าเราได้ยินได้ฟังตลอดเวลา อันนี้เพราะบุญกุศลของเราต่างหาก

เราสร้างบุญกุศลของเราขึ้นมา เราเกิดในประเทศอันสมควร แล้วได้ฟังธรรม แต่เราฟังธรรมขึ้นมาแล้ว เราจะปฏิบัติธรรมอย่างไร? ฟังธรรมนี่มันเป็นฟังธรรม เหมือนพ่อแม่สอนเด็ก พ่อแม่สอนลูก เห็นไหม ลูกจะต่อต้านมากเลย พ่อแม่สอนลูกน่ะวัยมันคนละวัย พอสอนมานี่ลูกจะบอกเลย “พ่อแม่นี่เต่าล้านปี” เพราะอะไร? มันเบื่อหน่ายมากเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราฟังธรรม เห็นไหม ฟังธรรมขึ้นมาแล้วนี่ ต้องทำอย่างนั้น ๆ ให้มีศีลมีธรรม เห็นไหม อย่างนั้นเราก็เบื่อหน่ายเหมือนกันเลย แต่พอโตขึ้นมา ลูกโตขึ้นมาพอไปเจอประสบการณ์ทางโลกเขานี่ คิดถึงพ่อแม่นะ ถ้าเราฝึกมาตั้งแต่เด็กเราก็ดีอยู่ เราไม่ฝึกมาตั้งแต่เด็ก พอเด็กขึ้นมาความคิดเด็ก ๆ ไง ทำนั่นก็อาย ทำนี่ก็ไม่อยากทำ พ่อแม่ก็อยากปูพื้นฐานให้ แต่เด็กไม่อยากทำเพราะมันอายเพื่อนอายฝูงไง ถ้าไปประสาเด็ก

เด็ก...ฟังแล้วเด็กสิ มันไม่มีหลักเกณฑ์หรอก มันไปประสามันเล่นประสามัน สนุกประสามันไปวันวันหนึ่ง มันก็มีความสุขของมัน แต่เราพอให้มันทำการทำงานเพื่อฝึกวิชาชีพอะไรไว้นี่ มันจะไม่อยากทำ แล้วมันจะมีความอายของมันตลอดไป พอโตขึ้นมาไม่มีวิชาติดตัว จะเสียใจตอนนั้นน่ะ ว่าตอนเด็กทำไมเราไม่ทำ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังธรรม ๆ ขึ้นมานี่ ฟังธรรมแล้วว่าฟังธรรมขึ้นมามันขัดกับกิเลสของตัวเอง แล้วไม่อยากจะฟังธรรม หรือฟังธรรมแล้วมีปัญหาขึ้นมา แต่เวลามันทุกข์ขึ้นมานี่ มันเหมือนผู้ใหญ่ขึ้นมาไง พอทุกข์ขึ้นมาแล้วก็อยากจะให้ทุกข์นี้ไม่มีในเรา ทีนี้ไม่มีในเราทำอย่างไรล่ะ? พอทุกข์ไม่มีในเรามันก็ติดขัดข้องใจไปหมดเลย ทำไม่ได้

นี่ไง ถึงบอกว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร เราจะข้ามฝั่งจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งน่ะเรามันต้องมีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นจากจุดสตาร์ทไง จุดเริ่มต้นจากฝั่งนี้จะข้ามไปฝั่งนั้น จะข้ามไปอย่างไร แล้วจุดเริ่มต้นมันไม่มี พอเริ่มประพฤติปฏิบัตินี่ฟังธรรมมา พ่อแม่จะฝึกลูกให้ลูกทำงาน ลูกก็ไม่อยากทำ

อันนี้ก็เหมือนกัน พอเริ่มจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม คิดเลยนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง สอนให้มีความว่าง ปล่อยวางให้หมด ว่างให้หมด เริ่มต้นมันก็ปล่อยวาง สรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตาจับต้องไม่ได้ เราจะปล่อยวางไปหมดเลย ฉะนั้น ปล่อยวางได้อย่างไรในเมื่อไม่มีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นที่จะข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง มันต้องมีจุดเริ่มต้นที่เราจะออกจากฝั่งนี้ไป ฝั่งเริ่มต้นอยู่ตรงไหนล่ะ?

เห็นไหม พื้นฐานของเรามันไม่มี พื้นฐานของใจมันไม่มี พอพื้นฐานของใจไม่มีมันจะเป็นโลกียะ มันเป็นเรื่องของโลกเขา มันก็เหมือนเด็ก ๆ วนเวียนอยู่ไปในโลกเขา แล้วข้ามโอฆะ ข้ามฝั่งน้ำออกไป การข้ามฝั่งไปนี่มันต้องผจญภัยกับสิ่งใด ๆ ในน้ำนั้น ในแม่น้ำลำคลองมันจะมีสัตว์ร้ายอยู่ มีตะเข้อยู่ มีอะไรอยู่ เราจะไม่มีพลังงานขนาดไหน เราถึงจะข้ามฝั่งนั้นไปได้

เริ่มต้นขึ้นมาต้องมีศีล มีสมาธิ พอมีสมาธิแล้วเริ่มต้นฝึกปัญญา ปัญญาในการเอาตัวเองพ้นออกไปจากกิเลสไง นี่ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาฟังมันก็ซึ้งใจ ซาบซึ้งใจ แล้วเราใช้ความคิดของเรานี่มันก็ซาบซึ้งใจของเราเหมือนกัน

เด็กมันก็เหมือนกัน ฟังพ่อแม่พูดมันก็ฟังออก พ่อแม่พูดอย่างนั้น ๆ ทำให้อย่างนั้น แต่มันก็ขัดใจมัน มันขัดใจมัน ถ้ามันทำตามไปมันก็ได้ประโยชน์ขึ้นมา ถ้ามันไม่ทำตามไปสิ่งนั้นมันก็ขัดข้องใจ

๑. ขัดข้องใจนะ

๒. การประพฤติปฏิบัตินั้นมันก็มาขัดกับความสะดวกสบายของตัว

จะมีเวลาไปเที่ยวเล่น ก็ต้องมานั่งทำงานอยู่ พอนั่งทำงานอยู่อันนี้ก็ไม่พอใจ ขัดกับการประพฤติปฏิบัตินั้นมันก็ขัดกับกิเลสแล้วหนึ่ง แล้วกิเลสในหัวใจนั้นมันยังต่อต้านอีกหนึ่ง

นี่ย้อนกลับมาปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมขึ้นมานี่ เวลาเราทำขึ้นมา ทำไมเราปูพื้นฐานใจเราไม่ได้ล่ะ ถ้าเราปูพื้นฐานของใจเราได้นี่ การจะจับต้องสิ่งใดก็ง่ายขึ้น ถ้าปูพื้นฐานของจิตใจเราไม่ได้ จับต้องสิ่งใดมันจับผิดไง เหมือนกับจับที่ว่าหญ้าคานี่ ถ้าจับไม่ดีเราสาวขึ้นมามันจะบาดมือตัวเอง ถ้าหญ้าคาจับไว้มั่นคงเราจะถอนหญ้าคาขึ้นมาได้

ถ้าพื้นฐานเราไม่ดีเราจับต้องสิ่งใดไป วิปัสสนานี่มันจับต้องไม่ได้ แล้วเราคาดการณ์ไป เรามีสัญญาอารมณ์มันจะทำไป แล้วกิเลสมันจะเข้าตรงนั้นน่ะ กิเลสมันเห็นช่องทีไรมันจะทำตามไปให้เห็นว่าเรามีความเห็นไปตามนั้นไง มีความเห็นตามนั้น อารมณ์จะร่วมไปทางนั้น เวลาวิปัสสนาไปกิเลสมันหลอก มันก็หลอกอย่างนั้น

เหมือนพ่อแม่สอน พ่อแม่สอนเด็กมันก็ขัดใจข้องใจ แต่ทำไปมันจะได้ประโยชน์ แต่ได้ประโยชน์ขึ้นมามันก็ต้องทำจนกว่ามันจะชำนาญ จนมันทำของมันเองได้ สิ่งที่ทำเองได้กับสิ่งที่จำมาต่างกัน สิ่งที่ทำเองได้ เห็นไหม จะสมบัติอะไรก็แล้วแต่ เครื่องยนต์กลไกที่เราทำเองได้นี่ มันจะเสียไปเราซ่อมแซมได้ เราจะหาเองได้ เราจะไม่ตื่นเต้นเลย สิ่งใดที่เราทำเองไม่ได้ นี่เราไปซื้อมาหรือแลกเปลี่ยนมา ถ้ามันชำรุดไปเราจะหาได้ยาก แล้วเราจะกังวลมาก เวลามันจะเสียไปเพราะอะไร? เพราะเราทำไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติยังไม่เป็นน่ะ มันยังจับต้องยังคว้าได้ไม่สะดวกสบาย มันก็ทำได้ยาก พอทำได้ยากมันก็กังวลใจ ความกังวลใจ เห็นไหม อันนั้นก็เป็นอะไรล่ะ? มันก็ทำให้เรา...เราพื้นฐานมันไม่แน่นอยู่แล้ว แล้วความกังวลใจเกิดขึ้นน่ะ แล้วจะจับต้องสิ่งใด นี่เลยล้มลุกคลุกคลานไง นี่จุดเริ่มต้นที่เราจะข้ามฝั่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ฝั่งนี้เราต้องมีที่ยืนของเรา มีที่ยืนแล้วพิจารณาว่าเราจะลงจะผจญกับสิ่งนี้ จะข้ามฝั่งนั้นไปได้อย่างไร

ถ้าเราจะข้ามไปฝั่งนั้นได้เราต้องมีจุดเริ่มต้นของเรา ต้องมีความมั่นคงขึ้นมาก่อน จุดเริ่มต้นเรามั่นคงขึ้นมา เราจะข้ามฝั่งนั้นไปจะเจออุปสรรค การประพฤติปฏิบัติไปจะเจออุปสรรคแน่นอน กิเลสในหัวใจนี่มันต้องต่อต้าน มันต้องทำให้เราพลั้งเผลอไป มันทำให้เราจะเดินข้ามไปโดยสะดวกสบายนี่มันจะยอมได้อย่างไร ในเมื่อเป็นการทำลายเขา ในการทำลายกิเลสมันก็ทำลายความเห็นของเรา

นี่เหมือนกัน ความเห็นของเรา การทำลายตน การดัดตน การทำขัดใจตนไง ขัดใจ ความสะดวกสบายที่เราต้องการ เราขัดใจตนเองนี่คือขัดใจกิเลส กิเลสมันต้องการความสะดวกสบาย แล้วพอทำไปนี่มันขี้เกียจ มันไม่อยากจะต้องผจญกับสิ่งนั้นอีก มันจะสรุปผลว่าอันนี้เป็นผลไง มันจะสรุปว่าสิ่งนั้นเป็นผล ๆ พอสิ่งนั้นเป็นผลนี่เพราะอะไร? เพราะว่ามันไม่ต้องทำไปอีกไง มันต้องการว่าให้เราหยุด เห็นไหม

ถ้าเป็นผล มันเป็นความเสียหาย ๒ อย่าง

๑. เราเข้าใจว่าเป็นผล พอเข้าใจว่าเป็นผลนี่เราเข้าใจตามกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรา ความคิดของเรา เราจะหลอกตัวเราเองหรือ? ทุกคนจะคิดว่าตัวเองไม่หลอกตัวเอง ตัวเองจะเห็นว่าตัวเองคิดถูกต้อง แล้วทำความเห็นถูกต้อง มันจะทำอย่างนั้นหนึ่ง อันนั้นผลว่าเราผิดพลาด

๒. เสียหาย ๒ อย่าง เพราะว่าถ้าเราปล่อยไว้ตรงนั้นไป สิ่งที่ว่ามันไม่เคย มันนอนอยู่ในหัวใจ มันสะดวกสบายตลอดเวลา แล้วมันเป็นเจ้าวัฏจักรอยู่ แล้วมันไม่เคยมีสิ่งใดเข้าไปต่อรองเขา ไม่เคยมีสิ่งใดเข้าไปยุแหย่เขาให้เขาถึงตัวเขาเลย แต่เราประพฤติปฏิบัติธรรมเข้าไปจนถึงจุดนั้นน่ะ พอถึงจุดนั้นมันรู้ว่ามันเป็นภัยขึ้นมา

สิ่งที่มันเป็นภัยนี่มันก็ต้องหลบซ่อนตัวหนักเข้าไปกว่านั้นอีก ทิฏฐิมานะจะมากขึ้น ความเห็นของกิเลสมันจะพลิกแพลงมากขึ้น มันจะทำให้ได้ยากขึ้นเพราะว่ามันอยู่ข้างใน แล้วมันจะเริ่มพลิกแพลงต่อต้านไป ถ้าเราพยายามทำเข้าไปเรื่อย ๆ มันถึงที่สุดแล้วมันจะกำจัดกิเลสได้เลย กำจัดทำลายมันออกไปจากหัวใจได้เลย

ทีนี้เราไม่ได้ทำลายมัน เราไม่ทำลายมันเราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเราทำลายแล้ว เวลามันหลอกลวงมา มันป้องกันตัวมันเองออกจาก...คือว่าจะตนทำลายหนึ่ง แล้วยังฝึกฝนให้มันชำนาญการณ์ที่จะหลบหลีกเราไปอีก เวลาทำไปมันจะไปเผชิญสิ่งนั้น ถ้าเผชิญสิ่งนั้นจุดเริ่มต้นฐานเราไม่ดีเราก็ต้องเชื่อมันไป เชื่อมันไปแล้วก็ตามมันไป

แต่ถ้าเราเชื่อมันไปแล้วเราวิปัสสนาซ้ำ นี่หมั่นคราดหมั่นไถอยู่ตรงนี้ มันจะปล่อยวางขนาดไหนเราก็ต้องทำไป พอทำ ขณะที่เราทำไป ๆ นี่เราไม่ปล่อยวางว่าอันนี้เป็นผลที่สำเร็จแล้วเราจะหยุดไปเลย ถ้าหยุดไปเลยมันจะเป็นอย่างที่ว่าโทษ ๒ อย่าง ถ้าเราไม่หยุดไปเลยนี่มันก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน มันจะปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นไป

แต่เราก็ซ้ำเข้าไปไง พอซ้ำเข้าไปเพราะฐานมันดี ขณะที่เราซ้ำนี่ฐานดีอยู่พร้อม ทุกอย่างมันพร้อมมันปล่อยวาง มันจะว่างหมด พลังงานมันจะเกิดขึ้นนะ ๒ เท่า ๑. จุดยืนพื้นฐานของใจดี ๒. วิปัสสนาไปแล้วมันปล่อยวางออกไป พลังงานมันลึกกว่านั้นเพราะฐานก็ดีหนึ่ง ผลที่เกิดจากฐานนั้นไง ผลที่เกิดจากฐานนั้นเห็นการปล่อยวางนั้นออกไปจากใจ สิ่งนั้นลึกล้ำกว่า มันถึงว่าวิธีการที่เราทำงานไง

สิ่งที่เราทำงานแล้ววิปัสสนาไปนี่ มันเป็นผลงานของเรา เราทำงานได้เอง ถึงว่างานนั้นยังไม่สำเร็จประโยชน์แต่เราก็ทำได้แล้ว สิ่งที่ทำได้นั้น นั่นละเอียดอ่อนกว่า นั่นวิปัสสนา มันจะซึ้งใจเข้ามาไง สิ่งนั้นถึงว่าเป็นโทษ ๒ อย่าง ถ้าเราตามไปเป็นประโยชน์ ๒ อย่าง ถ้าเราพิจารณาซ้ำเข้าไปประโยชน์ ๒ อย่าง เพราะมันทำงานเป็นขึ้นมา เห็นผลงานขึ้นมา แต่ผลงานนั้นยังไม่สำเร็จ ที่ว่าเป็นอกุปปธรรมนั้นเราก็ซ้ำเติมเข้าไป ๆ เราไม่ชะล่าใจของเรา

นี่เราไม่เชื่อกิเลสของเรา เราไม่เชื่อตัวเราเอง เราไม่เชื่อความเห็นของเรา เราไม่เชื่อกิเลสเรา ความขัดใจเรา ความต่อต้านใจเรา ความพลิกดัดตนน่ะ ความไม่เห็นความคิดของเราเป็นใหญ่ เห็นไหม เป็นประโยชน์ ๒ อย่าง ประโยชน์เพราะความชำนาญในการทำงานไปเรื่อย ๆ ซ้ำไปเรื่อย ๆ แล้วใจดวงนี้จะก้าวถึงจุดหมายปลายทาง

ถ้าเชื่อกิเลสเชื่อความเห็นของตัว เราคิดว่าเราคิดเราทำนี่ถูกต้อง เราเชื่อตัวเราเองนี่ เราจึงเป็นโทษ ๒ อย่าง แต่ถ้าเราทำตามธรรมแล้วทำตาม ไม่เชื่อตัวเอง เราจะได้ประโยชน์ ๒ อย่าง จากจุดเริ่มต้นของเรา ประโยชน์จะเกิดจากใจดวงนั้น เกิดขึ้นมาจากประพฤติปฏิบัติ จนใจนั้นพ้นออกไปจากความขุ่นข้องหมองใจ แล้วทุกข์เกิดขึ้นจากใจ แล้วเราดับทุกข์ขึ้นไปจากใจ นี่เป็นผู้ปฏิบัติเห็นจริงตามธรรมอันนั้น มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราเราก็ทำได้แล้ว มันก็เป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน รู้จริงเห็นจริง กับเชื่อ กับความศรัทธาต่างกัน ต่างกับใจดวงนั้นที่ประพฤติปฏิบัติมา รู้เท่าทันใจดวงนั้น เอวัง