เทศน์เช้า

คุณจากของน้อย

๒๙ ม.ค. ๒๕๔๔

 

คุณจากของน้อย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความสุข.. ทุกคนอยากปรารถนาความสุข ความสุขของคนไง ถ้าคนเกิดมาแล้ว ความคิดของคนมันก็คิดของเขาไปแล้วแต่คนจะคิดไปปรารถนาไป ปรารถนามันไม่สมหวัง แต่ถ้าพอหันมาทางนี้ หันมาเรื่องศาสนา เห็นไหม เรื่องของศาสนา อย่างเช่นมาทำทาน กว่าจะมาได้ตื่นตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ กว่าจะทำอะไรเสร็จ

เขาว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไง มันเป็นได้อยู่ เป็นได้โดยหยาบๆ ไง การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม ตั้งใจทำงานแล้วเป็นธรรม คือสติมันเป็นธรรม ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ทุกอย่างมันก็เป็นธรรมหมด เป็นธรรมหมายถึงมีสติสัมปชัญญะเราเป็นนั่นไป แต่มันแก้ได้โดยเป็นว่ามนุษย์โดยสมบูรณ์ไง มนุษย์นี่โดยสมบูรณ์ การทำงานทำหน้าที่ การปฏิบัติตนเป็นคนดีก็เป็นคนดี เป็นคนดีแล้วสังคมก็ยกย่อง เป็นความสุขอย่างหนึ่ง

นี่ให้ทาน ถ้ามีศีลขึ้นมามันก็เริ่มขัดกับเขาแล้ว เริ่มขัดกับทางโลกแล้ว พอทางโลกไปมันเป็นอย่างนั้น ถึงว่าเวลาแบ่งมันต้องแบ่ง เวลาภาคปฏิบัติออกไปทำงานก็ต้องไปเรื่องของโลกเขา แต่ย้อนกลับมาก็เป็นเรื่องของผู้ที่ปฏิบัติธรรม ถ้ามีศีลเข้ามามันศีลจากข้างนอก ศีลมันเป็นศีลธรรมดา ศีล อธิศีล ความสุขมันหาได้ด้วยทั่วไป มันไม่ใช่ว่าความสุขมันจะสุดยอด มันต้องมีพื้นฐานขึ้นมาก่อนไง

ทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีทาน ศีล ภาวนา การตั้งใจของเรา เราทำทานนี่ก็แสนจะลำบากมากแล้ว การทำบุญกุศลนี่มันเป็นการตัดความตระหนี่ถี่เหนี่ยวของตัวเอง แต่ก่อนทำๆ ได้ยาก แล้วเราดูคนที่เขาทำบุญกุศล เขาว่าใจใหญ่ๆ ไง บางคนทำๆ มาก ทำจนเรามองว่ามันเป็นไปได้อย่างไร เขาทำได้อย่างนั้น

แต่หัวใจเราเล็กเกินไป ถ้าหัวใจเราเล็กเกินไป สิ่งวัตถุนั้นจะมีคุณค่ามากกว่าหัวใจเรา มันทับถมหัวใจเรา แต่ถ้าหัวใจเรามีอำนาจมากกว่า เราจะสละสิ่งนั้นได้ นี่ยกให้เห็นว่าความสุขมันเกิดขึ้นจากตรงนั้นไง เกิดขึ้นจากผู้ให้ที่สละทานออกไป

การสละทานออกไป เห็นไหม ความตระหนี่ถี่เหนียวออกไป มันสละออกไปมันก็เท่ากับมันเป็นตัวสื่อ บุญกุศลมันเข้ามาพร้อมกัน อาจารย์บอกว่า “เหมือนกับเปิดประตู ถ้าแง้มประตูน้อย อากาศก็เข้าน้อย ถ้าแง้มประตูมาก อากาศก็เข้าได้มาก” แต่แง้มมากมันก็ออกไปได้มาก สิ่งที่ออกไปได้มาก มันก็เข้ามาได้มาก นี่มันเป็นบุญกุศลระดับหนึ่ง เป็นความสุขของคนระดับหนึ่ง

ถ้ามีศีลความปกติของใจ คนมีศีล เห็นไหม คนจะอยู่ที่ไหนแล้วแต่ เขาจะมีมหรสพ มีความรื่นเริงต่างๆ โลกเขาจะตื่นกระแสกันไป พวกนี้ไม่ตื่นไปกับเขานะ มีศีลมีอะไรมันจำกัดขอบเขตของตัว บางอย่างมันทำไม่ได้ รู้ว่าตัวเองทำไม่ได้ อย่างนั้นทำไม่ได้ เราก็ไม่ควรทำ มันก็จำกัด เห็นไหม ไม่ตื่นไปตามกระแสโลก ทุกอย่างมันต้องคิด

นี่มีศีลขึ้นมา จิตมันปกติเข้ามา นี่มันหาได้ มันต้องมีพื้นฐานขึ้นมาเป็นชั้นๆ ขึ้นมา แล้วถึงจะทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจขึ้นมา นี่ทาน ศีล ภาวนา ใจมันควรแก่การงาน เขาจะปั้นโอ่งปั้นไห เห็นไหม ดินเขาต้องซ้อมก่อน อันนี้ก็เหมือนกัน เรามาทำเรื่องนี้ เราซ้อมใจของเรามาก่อน ให้มีทาน มีศีลแล้วก็มีภาวนา ถ้ามีภาวนา มันจะย้อนกลับมาที่เราล่ะ

เรื่องของการภาวนาเป็นเรื่องของบุคคล เรื่องของคนๆ เดียว แต่เรื่องของทานเรื่องของอะไร มันยังเป็นเรื่องของหมู่คณะ เห็นไหม เราเป็นหัวหน้าทอดกฐินทอดผ้าป่า เราเป็นหัวหน้า เราชักขึ้นมาเป็นหมู่คณะ ถ้าบุญกุศลมันเกิดขึ้นไป ไปเกิดเป็นเทวดา เราก็เกิดเป็นหัวหน้ามีบริษัทบริวาร บริษัทบริวารให้ชักนำกันเข้ามา

แต่เวลาจะออกปฏิบัติเพื่อจะเอาตัวเอง พระพุทธเจ้าสอน “ให้ไปแบบนอแรด” หนึ่งเดียวไง ให้ไม่ไปเป็นคู่ ถ้าไปเป็นคู่มันจะเริ่มเบาลง ความเด็ดขาดความดีงามจะเริ่มเบาลง ถ้าไปแบบนอเดียว ไปแบบนอแรด นอแรด แรดมีนอเดียว ไปแบบบุคคลคนเดียว ไปคนเดียวนี่มันเหมือนออกไปแล้วมันไม่มีคู่คิด มันไม่มีอะไร มันว้าเหว่ ความว้าเหว่ความผูกพันอันนั้นมันจะเริ่มย้อนกลับเข้ามาหาเรา

นี่เรื่องของบุคคล เรื่องการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องของบุคคล เวลาไปไปเป็นของบุคคลไป ในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสร้างบารมีมาเป็นคู่มา สร้างเป็นพุทธภูมิมา แล้วพอท่านมาทำปฏิบัติจนสิ้นไป เห็นไหม คู่ครองของท่านมาหานะ คู่ครอง เห็นไหม ว่า “สร้างสมบารมีมาด้วยกัน ทำไมมาตัดช่องน้อยแต่พอตัวหนีไปคนเดียว? ทำไมหนีไปคนเดียวล่ะ? ออกไปคนเดียว”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ให้เอาอันที่ว่าท่านประพฤติปฏิบัติเป็นบุญกุศลนี่ ให้อธิษฐานให้ อนุโมทนาไง ให้อนุโมทนาว่าอันนี้เป็นบุญกุศล อันนี้เป็นความดี” เห็นไหม ถึงจะตัดช่องน้อยไปแต่พอตัว แต่มันเป็นการสร้างสมมา จิตทุกดวงต้องเป็นอย่างนั้น นิพพานไปแล้วอิ่มเต็ม แล้วอิ่มเต็มในจิตดวงนั้น ถึงว่าอิ่มเต็มในจิตดวงนั้น พอจิตดวงนั้นเป็นไปแล้ว ทุกดวงใจถึงเสมอกัน ทำได้หมดไง

มันถึงว่ามันเป็นพื้นฐานจากทานขึ้นไป นี่เป็นการชักนำ เป็นการหมู่คณะเป็นบริษัทบริวารกันขึ้นไป แต่ถึงสุดท้ายแล้วมันก็ต้องไปเป็นตรงนั้นหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดได้องค์เดียว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแต่ละองค์ๆ พระพุทธเจ้ามีได้องค์เดียว คราวละหนึ่งองค์เท่านั้น หนึ่งเดียวเท่านั้น แล้วชักนำต่อไป บุญกุศลมันจะมาตรงนี้ มาตรงที่ว่าชักนำไป สามเณรราหุลเป็นบุตรก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเหมือนกัน นี่เต็มเหมือนกันๆ สุดท้ายแล้วก็ไปเต็มที่ตรงนั้นเหมือนกัน เหมือนกับไปถึงจุดเป้าหมายแล้วไปเต็มตรงนั้นเหมือนกันหมดเลย แต่เวลาไปนี่เป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องทำเอง

พระพุทธเจ้าบวชเณรราหุล ให้ใครเป็นคนสอน? ให้พระสารีบุตรเป็นคนสอน เห็นไหม ให้พระสารีบุตรบวชให้ แล้วให้พระสารีบุตรเป็นคนสอน สอนนั่นเป็นการกระทำของสามเณรราหุลต้องพยายามปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นมา ศึกษาเล่าเรียนมาได้เป็นเอตทัคคะในการศึกษา ในการค้นคว้า ในการต้องการ..

เช้าขึ้นมา “วันนี้จะได้ความรู้ขนาดไหน?” เอากำหินกำทรายเลย “ขอให้เราได้ความรู้ขนาดเม็ดทรายเม็ดหินในมือนี้” นี่เป็นผู้ใคร่ครวญในการศึกษา มีใครศึกษา มีใครสอนวิชาการ อยากรู้อยากเห็นไปหมดเลย นี่ทำเข้ามา พยายามศึกษาพยายามค้นคว้าของตัวเอง จนถึงที่สุดมันก็ไปถึงจุดที่ว่าอิ่มเต็มเหมือนกัน

การอิ่มเต็มเหมือนกัน มันถึงว่ามันต้องออกเหมือนนอแรด จะอิ่มเต็มได้มันต้องแสวงหาก่อน มันเต็มไปได้ในหัวใจ หัวใจเรามันพะรุงพะรังเต็มไปได้ในหัวใจ หัวใจเรามันคิดของมันประสามันเอง มันวิตกวิจารประสาของมันเอง มันคาดมันหมายของมันเอง

การคาดการหมายนี้เข้าถึงธรรมะไม่ได้ ธรรมะไม่ใช่การคาดการหมาย การปฏิบัติธรรมนี้ต้องเข้าไปประสบการณ์ เป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน เราทำซึ่งๆ หน้า เห็นกันซึ่งๆ หน้าเลย มันจะเป็นว่าผู้อื่นทำแทนให้มันก็อาศัยกัน แล้วอารมณ์ความคิดนี้ก็ไม่ใช่เรา เราใช้อารมณ์ความคิดนี้ก็ไม่ได้อีก ถึงต้องผ่านอารมณ์ผ่านความคิดนี้เข้าไป

อารมณ์นี้เป็นเพื่อนสองของใจ เวลาเราไม่คิด อารมณ์มันไม่มี เราปล่อยใจว่างๆ สบายๆ อารมณ์มันไม่มี แต่เวลาเราคิด อารมณ์มันเกิดขึ้น มันเพื่อนสอง แล้วเพื่อนสองถ้าคิดในทางผูกโกรธ คิดในทางวิตกวิจาร มันจะขุ่นมัวให้ใจนี่ขึ้นมาๆ มากเลย ขึ้นมาให้มีความเร่าร้อนในหัวใจหนึ่ง

ถ้าคิดในคุณงามความดี คิดในบุญกุศล คิดสิ่งที่ว่ามันมีความสุข มันก็ได้ชั่วครู่ชั่วยาม สิ่งที่เป็นคุณงามความดี มันเข้าไปแล้วมันได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่สิ่งที่ว่าคิดแล้วมันบาดหมางใจ มันจะคิดได้บ่อยๆ มากเลย ถึงว่าเริ่มต้นจากสะสางตรงนี้เข้าไป ต้องเริ่มสะสางตรงนี้เข้าไป

ถ้าไม่สะสางตรงนี้เข้าไป ความคิดของเรามันถึงว่าคิดแล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะความคิดนี้เกิดจากตัณหาความทะยานอยากหนึ่ง การคาดการหมายหนึ่ง ความคิดนี้แปรปรวนโดยธรรมชาติของมันหนึ่ง สรรพสิ่งที่เราคิดนี้ ผลที่เป็นความคิดแล้วมันก็แปรปรวนโดยธรรมชาติของมันอีกหนึ่ง

สิ่งที่แปรปรวนกับสิ่งที่แปรปรวนเป็นอนิจจังทั้งหมด มันหมุนไปไง “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” มันจับต้องอะไรไม่ได้เลย มันเป็นไปตามสภาวะตามความเป็นจริงของมัน แต่สภาวะตามความเป็นจริงของมัน เราก็ใช้ความคิดตามไป เห็นไหม ว่าเรารู้เป็นตามความเป็นจริงของมัน ความจริงเป็นอย่างนั้น เรารู้เป็นอย่างนั้น..

เรารู้นี้มันไปรู้ตามเขา มันรู้เหมือนโค เขาจูงไปเชือด เขาเอาเชือกผูกไว้แล้วก็จูงไปเชือด ไอ้คนจูงๆ ไปเชือด ไอ้คนเดินตามก็เดินตามไป ไอ้ธรรมะเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่เป็นปัจจุบันธรรม ผู้ที่จูงโคไปเชือดกับโคนั้นจะเข้าไปถึงตัวกันเอง แล้วสลัดกันตรงนั้นเป็นไปไม่ได้

การคาดการหมายนี่มันเป็นการจินตนาการของเรา มันถึงว่ามันเริ่มจากตัณหาความคิด ตัณหาคือความอยากออกจากพ้นทุกข์ ตัณหาคืออยากทำคุณงามความดี ว่าสิ่งนั้นเป็นความดีแล้ว เข้าว่าเป็นความดีแล้วก็จมอยู่ในความดีนั้น เห็นไหม ติดในดี

ธรรมะนี้ไม่ติดในดีและติดในชั่ว มันข้ามพ้นดีและชั่วไปหมดเลย ดีก็ไม่ใช่ ชั่วก็ไม่ใช่ ดีก็ติด ชั่วก็ติด เพราะ! เพราะมันเป็นเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา เห็นไหม มันเป็นขันธ์เหมือนกัน มันเป็นอารมณ์เหมือนกัน อารมณ์ซ้อนอารมณ์ แล้วละเอียดเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา

เราถึงว่าต้องพยายามทำความสงบพอใจพอสมควร ต้องทำความสงบใจเข้ามา สงบด้วยวิธีการใช้ความคิดไล่ต้อนเข้ามาก็ได้ สงบด้วยการทำความสงบของใจก็ได้ ทำความสงบของใจ ความพะรุงพะรังอันนั้นหมดไปหนึ่ง แล้วความคิดความอ่านมันจะเท่าทันไง จะเท่าทันอารมณ์ความคิดของตัว

ปัญญาในศาสนาพุทธเรา พระพุทธเจ้าสอนว่า “ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร” กองสังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม ความคิดที่เราคิดอยู่มันเป็นสังขาร มันปรุง มันแต่ง แล้วปัญญาในศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในขันธ์ ๕ รอบรู้ในความคิดอีกชั้นหนึ่ง

ความรอบรู้ในความคิดของตัวเองอีกชั้นหนึ่ง มันต้องใช้ความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจนั้นถึงกับเข้ามาตามความนี้ อันนี้ทัน อันนี้ทันขึ้นมาก็เป็นความสงบเข้ามา ก็ความสุขเกิดขึ้น

เวลาปฏิบัติธรรมกัน พวกเราชาวพุทธนี่บอกว่าเราทำไม่ได้ เราเป็นสิ่งที่สุดเอื้อมสุดวาสนา ฉะนั้นเดี๋ยวนี้พระเขาสอนกัน ถึงสอนว่าให้มันต่ำลงมาๆ ไง เป้าหมายต่ำลงมา พอเป้าหมายต่ำลงมา อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วพยายามเข้าถึงเป้าหมาย ถึงเป้าหมายของศาสนาเรา เป้าหมายคือว่าดับทุกข์ทั้งหมด ถึงดับทุกข์ ถ้าทำได้ไม่ได้มันก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา

ทำความสงบของใจ.. นักศึกษา นักเรียน เด็ก พอทำความสงบเข้ามา อ่านหนังสือก็เข้าใจง่าย เรียนหนังสือก็ดีขึ้น ปัญญามันปลอดโปร่ง ผู้ที่ทำการทำงานมาเครียด เวลาทำความสงบเข้ามา มันเป็นยา เป็นธรรมโอสถที่ชำระใจโดยธรรมชาติของมัน แต่เรามองข้ามตรงนั้นไป เวลาพูดถึงปฏิบัติธรรมก็ต้องว่าปฏิบัติธรรมเพื่อจะละกิเลส เพื่อจะละกิเลส..

มันละความพะรุงพะรังของใจมันก็เป็นความสุขส่วนหนึ่งแล้ว แล้วมันจะทำให้จิตนี้สดชื่นขึ้นมา เห็นไหม ผู้ที่ทำงานนะ จิตหายคลายเครียด ความสุขในใจเกิดขึ้น มันเป็นคุณไปทั้งหมดเลย แต่เวลากิเลสมันสอนไง กิเลสมันเสี้ยม กิเลสมันทำมันขัดขาไง เราเป็นคนวาสนาน้อย เราไม่ใช่นักปฏิบัติ เราทำไม่ได้.. มันปฏิเสธตั้งแต่หญ้าปากคอกเลย ปฏิเสธสิ่งเริ่มต้นเลย พอปฏิเสธสิ่งเริ่มต้น คุณประโยชน์ที่จะได้มันเลยไม่ได้ขึ้นมา

แต่ถ้านี้ว่าเรานักปฏิบัติ การปฏิบัติของเรา เราจะรู้อย่างไรว่าเราไม่มีอำนาจ เราไม่มีวาสนา ถ้าเรามีอำนาจมีวาสนาเป้าหมายของเราคือต้องดับทุกข์ทั้งหมด เพราะมันเป็นเป้าหมายของศาสนา ถ้าเราไม่พูดอย่างนั้นแล้ว ศาสนาสอนสอนที่ไหนล่ะ?

มันไปลดคุณค่าไง เหมือนกับของที่มีคุณค่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มอย่างนี้ เราลด ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เราต่างหากทำได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์นั้นมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา

แต่ในศาสนานี้ คุณค่าของศาสนา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ต้องวางไว้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตามนั้นสิ ทำไมเราไปลดคุณค่าของศาสนา? นี้เอากิเลสไปลดได้อย่างไร? กิเลสขึ้นมา มันปฏิบัติก็ให้มันอยู่ในหัวใจของเรา ทำได้ขนาดไหนก็เป็นว่าอำนาจวาสนาของเราได้ขนาดนั้น ถ้าได้ถึงที่สุดแล้ว นั่นก็คือที่สุดที่ว่ามันเป็นไปได้

อันนี้กิเลสมันขัดขวางเรา เราถึงทำความสงบของเราเข้ามาแล้วพยายาม พยายามถ้าว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีงามขึ้นมา มันต้องค้นคว้าแล้วจับต้องได้ถึงจะเป็นวิปัสสนา สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน เราทำสมถกรรมฐานอยู่ ที่เขาสอนๆ กันอยู่ เห็นไหม รู้ทันนามรูป รู้ทันนามรูป.. อันนั้นเป็นสมถะทั้งหมด แต่ความเข้าใจ ความไม่รู้ของเขา ความเข้าใจว่าอันนั้นเป็นวิปัสสนาพร้อมกับสมถะ สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานทำไปพร้อมกัน แต่ถ้าทำสมถะก่อนเขาว่าอันนี้เป็นการเสียเวลาเปล่า

การเป็นโลกียะ โลกีย์อารมณ์ โลกีย์อารมณ์ละเอียดเข้าไปขนาดไหนก็เป็นโลกีย์อารมณ์ โลกีย์อยู่ในโลกเขา สิ่งที่หมุนเวียนในโลกอยู่ในวัฏฏะ มันจะพ้นจากวัฏฏะไปไหน แต่วิวัฏฏะ เห็นไหม มันต้องเปลี่ยนจากความเคยชิน เปลี่ยนจากธรรมชาติของเราพลิกออกไปเลย

ถึงต้องเอาสมถกรรมฐานแล้ววิปัสสนา กรรมฐานคือการยกขึ้นวิปัสสนา มันต้องจับต้องได้ จับต้องหมายถึงว่ามันจุดเชื้อไฟติด เห็นไหม ถ้ามีขยะอยู่ที่ไหน เราจุดไฟถ้าติดตรงนั้นมันจะลามไป แต่มันจะจุดติด ขยะเปียกมันจุดติดได้ยากมาก แล้วหาที่จุดก็หาที่จุดไม่เจอ

ความสงบแล้วถึงค้นคว้า พยายามไล่ต้อนเข้ามา ถ้าจับตรงนั้นได้แล้ว วิปัสสนามันจะเป็นไป วิปัสสนาจะเป็นไปหมายถึงว่าจิตจุดไฟติดแล้ว ขยะมันเปียกมันต้องพยายามต้องเขี่ย ต้องพยายามให้ไฟมันติดขึ้นมาให้ได้ วิปัสสนาไปรอบ ๒ รอบมันจะปล่อยวาง พอปล่อยวางทุกคนจะเหมา รีบเหมาไปว่าปล่อยวางแล้ว แล้วจะเอาอันนี้เป็นผล แล้วจะทำอย่างอื่นต่อไป แล้วขยะนั้นก็ไหม้ต่อไป พอขยะนั้นไหม้ไหม้ต่อไป ขยะนั้นก็กองอยู่นั่น เห็นไหม อันนั้นเป็นขยะ เราเห็นด้วยตา มันส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปด้วย

แต่ถ้าเป็นกิเลส เป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นนามธรรม มันจุดติดหนหนึ่ง มันเผาไปไหม้หนหนึ่ง แล้วมันก็หมักหมมอยู่ในหัวใจ แต่เราไม่รู้ มันยังไม่แสดงตัวออกมา เมื่อไหร่ถ้าสมาธินี้มันเสื่อมคลายลง มันแสดงตัวออกมากลิ่นมันถึงจะออกมา กลิ่นหมายถึงว่าขัดข้องใจไง ความขัดข้องใจ ความใจนี้มันจะขัดข้องแล้ว อันนั้นเป็นกิเลสทั้งหมด สิ่งที่เป็นกิเลส เราต้องพยายามจับแล้วให้มันเป็นประโยชน์กับเราไง ถ้าเป็นกิเลสแล้วเราพยายามจะต้องละมันๆ เราพยายามละขนาดไหน ลูก หลาน เหลน เราละมันไปเรื่อยๆ ละไปเรื่อยๆ

ละคือการทำความเข้าใจว่า สิ่งนั้นที่เราคิดขึ้นมามันขัดข้องใจเรานี้ มันเป็นความคิดผิดของเรา ต้องว่าของเราก่อนนะ ถ้าเป็นของเราแล้วเราจะสามารถชำระแก้ไขได้ ต้องตั้งสมุฏฐานขึ้นมาว่าเราผิดเราถูกตรงไหน ตั้งประเด็นขึ้นมา ถ้ามีประเด็นปั๊บปัญญามันจะหมุนเข้ามา ถ้าเราไม่ตั้งประเด็นขึ้นมาเราผิดเราถูก เรามีคุณประโยชน์หรือเรามีความเสียหาย เราเผลอไป เห็นไหม ให้กิเลสมันหลอกออกไป ความคิดนี้พุ่งออกไปแล้วต้องดับตรงนั้น

พอดับตรงนั้นเข้ามาบ่อยเข้า ความเคยชินทำบ่อยๆ พอชินบ่อยๆ เข้ามันจะคล่อง ความคล่องตัว เห็นไหม จากคล่องตัวนะ “ตามรู้ตามเห็น” ตามเข้าไป พอความโกรธดับไปแล้วเราค่อยรู้ทัน เราก็เสียใจ พอ “รู้เท่ารู้ทัน” เห็นไหม มันจะเกิด เราก็รู้ว่ามันจะเกิด รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด

นี้อยู่ที่การฝึกฝน อยู่ที่การหมั่นเพียรของเรา ทุกคนทำได้ เพราะมันเป็นอยู่ในหัวใจ มันเกิดดับที่ใจ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไรมันก็คิดได้ มันก็รู้สึกได้ใจของเรา เราควบคุมใจของเรา แล้วความสุขจะอยู่ที่นี่

ศาสนาเราสอนลงที่ใจ แต่ใจนี้มันอาศัยเกาะเกี่ยว ตัวมันเองแสดงตัวไม่ได้ ต้องอาศัยกาย อาศัยวัตถุต่างๆ แล้วมันก็ไปเกาะข้างนอก ถ้าคนหยาบก็ไปมองแต่ว่าข้างนอกนั้นเป็นที่พึ่ง แต่ถ้าคนฉลาดเข้ามา เพราะที่พึ่งนั้นหาจนครบบริบูรณ์ขนาดไหนมันก็ไม่ใช่ที่พึ่งจริง เพราะมันยังมีความทุกข์อยู่ เห็นไหม ร่นเข้ามาๆ จนถึงใจของเราได้ แต่ก็ต้องอาศัยสิ่งนั้น ไม่อย่างนั้นพระจะออกธุดงค์ทำไม ออกธุดงค์ไปก็เพื่อว่าให้มันแสดงตัวออกมา ให้กิเลสนี้มันแสดงตัวออกมา ออกธุดงค์ไปเพื่อเหมือนกับสิ่งที่มันเป็นยางเหนียวในหัวใจลากมันออกมา แล้วปหานมันๆ ถ้าอยู่กับที่แล้วมันหมักหมม มันลากไม่ได้

ถึงต้องพยายามค้นคว้า ต้องพยายามนี่ เดินจงกรมว่าเหมือนกับหาทุกข์ แต่ไม่ใช่นะ เขาว่าทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นทุกข์ของใจ ถ้าเป็นทุกข์ของกายนะ คนที่ทุกข์มาก คนที่เป็นกรรมกรแบกหาม เขาทุกข์ยากมากเลย เขาก็เบื่อเขาก็รำคาญมาก ทำไมเขาไม่สละทุกข์ได้ล่ะ?

มันทุกข์ประกอบอาชีพการงาน ไม่ใช่ทุกข์ของใจ ทุกข์ข้างนอก ทุกข์ข้างนอกมันไม่เห็นทุกข์หรอก ทุกข์ของใจมันจะสะอึกเลย อึ๊ก.. พอจับทุกข์ของตัวเองได้ นี่ตัวของทุกข์ ทุกข์มันเกิดที่ใจ ใจเป็นประธาน ใจเป็นตัวใหญ่

ถึงว่าไอ้สิ่งที่ว่าทุกข์ภายนอก ทุกข์การทำมาหากิน ทุกข์ในการงานนั้น มันเป็นทุกข์เปลือกๆ มันไม่ใช่อริยสัจ อริยสัจมันทุกข์ของใจ วิตกกังวลนี่ก็ทุกข์ แต่เราจับวิตกกังวลเราไม่ได้ เราจับวิตกกังวล จับความเห็นของใจ จับตัวทุกข์นี้ได้แล้วสาวไป เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะสมุทัย ดับเพราะอะไร? ดับเพราะมรรค นิโรธ เห็นไหม อริยสัจมันจะหมุนไปรอบหนึ่งๆๆ ความเห็นของเรามันจะชำระกิเลสของเราเข้าไปได้

ชาวพุทธเรา การแสวงหาของพวกเรานะ สุขหาได้ทั่วไป อย่างที่ทำทานกันอยู่นี้ มาทำบุญกุศลนี้ อันนี้ก็เป็นการชำระอย่างหนึ่ง มันจะสะสมมาที่ใจของเรา เราต้องเอาแต่เล็กแต่น้อย เก็บหอมรอมริบไง ไม่ใช่ว่าจะไปคว้าเอาแต่ซุงท่อนใหญ่ๆ แบกเอาแต่ซุงท่อนใหญ่ ใครจะไปแบกไหว แต่ถ้าไม้เราสะสมขึ้นมาวันละเล็กวันละน้อย มันก็สะสมขึ้นไปได้

ถึงว่าจะเล็กจะน้อยจะมากจะอย่างไรนะ เราต้องสะสมของเราเข้าไป อย่ามองข้ามของเล็กน้อย หลวงปู่ฝั้นบอกไว้นะ “ผงมันเข้าตาคน ซุงนี้ไม่เคยเข้าตาใครเลย ผงฝุ่นเล็กๆ นี่เข้าตาคน แล้วเจ็บมากเลย”

ธรรมวินัยก็เหมือนกัน เล็กๆ น้อยๆ ต้องสะสมไปๆ เพื่อเป็นบุญกุศลของเรา เพื่อเป็นพื้นฐานของเรา อย่ามองข้ามความเล็กน้อย ความเล็กน้อยสะสมนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น เอวัง