ไฟดับไฟ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม ตบะธรรม ธรรมะ ธรรมะชำระกิเลสนะ เราเกิดมามีกิเลสมากับเรา เพราะเราเกิดมา อวิชชาพาเกิด กรรมพาเกิด สิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา สิ่งนี้มีบุญกุศลมาก เพราะมีทางออก ถ้าไม่มีทางออกนะเราจะไม่มีทางไปเลย แต่นี้มีทางออก เพียงแต่ทางออกเราไปไม่ถูก เราถึงต้องฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเป็นการชำระ บุญกุศลของการฟัง สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว สิ่งนี้จะดัดแปลงความคิดเห็นของตัว ถึงที่สุดแล้วนะจิตใจผ่องแผ้ว
เราประพฤติปฏิบัติของเราเองเพื่อหาทางออกของเรา เราก็ทำของเราอยู่ เพราะเราเกิดมามีบุญกุศล เราเกิดมาตั้งใจจะหาทางออกของเรา จะหาทางออกเห็นไหม ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางไว้นะ พวกเรานี่มืดแปดด้าน ในปัจจุบันนี้บอกว่ามีมรรค ๘ มืดแปดทาง มืดหมด ทั้งที่ยิ่งศึกษามาเท่าไหร่กลับยิ่งมืด มืดเพราะอะไร มืดเพราะการกระทำนั้น เพราะเรามีอวิชชา มีสิ่งปิดบังตัวเองอยู่ในหัวใจ มีสิ่งมืดบอดในหัวใจแล้วก็ไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งศึกษายิ่งมืดบอด ยิ่งมืดบอดเพราะอะไร เพราะมันเป็นจินตนาการ เป็นการคาดหมายของเรา ไม่ได้เป็นความจริง
ถ้าเป็นความจริงนะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาเพื่อทำเหตุใด ศึกษามาเพื่อการประพฤติปฏิบัติ แล้วการประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นมาได้อย่างใด การประพฤติปฏิบัติต้องวางไว้หมด วางภาคปริยัติเอาไว้ ถ้าเราไม่วางภาคปริยัติ แล้วเราปฏิบัติโดยเป็นภาคปริยัติ มันจะเป็นจินตนาการทั้งหมด มันเป็นวิปัสสนึก
การฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อปล่อยวางนะ เวลาฟังธรรมเราตั้งสติไว้ เสียงของธรรมนั้นจะมากระทบหูของเราเอง เราตั้งสติของเรา สิ่งนี้จะเข้ามาชำระล้าง เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเรา เรากำหนด พุทโธ พุทโธ ของเรา ไม่ให้ชาล้นถ้วย แต่ถ้าชาล้นถ้วยเราเทน้ำเข้าไป น้ำมันจะล้นออกไปตลอด เพราะน้ำมันเต็มถ้วยอยู่แล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ในการศึกษามาในภาคปริยัติ เราศึกษามาในทางโลก เราศึกษามาแล้วเรามีความรู้ เรามีปัญญาของเรา เราปฏิบัติเรากลัวจะมีการผิดพลาด เราต้องยึดหลักของเราให้ได้ เพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้หลอกลวงเรา อาศัยการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหลอกลวงเรา ว่าสิ่งนี้เป็นความเห็นของเรา สิ่งนี้เป็นความถูกต้อง สิ่งนี้เราเคยศึกษามาแล้ว ทุกคนเห็นแก่ตัว ทุกคนเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น กิเลสมันจะเข้าข้างตัวของเรา
ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะปฏิบัติโดยกิเลส พอเราปฏิบัติโดยกิเลส ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็สูญเปล่า ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาเพื่อการประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ ปฏิเวธ ไม่มี ในปัจจุบันนี้มีปริยัติ เรามีการศึกษามา แล้วเราว่าเราเข้าใจ เรามีความรู้ เรื่องของใจมันเป็นสิ่งที่มันลึกลับมหัศจรรย์ เรื่องของใจนะ เรื่องของความรู้สึกนี้ลึกลับมหัศจรรย์มาก ดูสิเขาฟังทีเดียว ครูบาอาจารย์เทศน์หนเดียว ผู้ที่มีสติปัญญาเขาฟังหนเดียว เขาพูดได้ทุกคำพูด เหมือนกันหมดเลย
นี่ไง ดูการศึกษามา คนมีปัญญาฟังเทศน์หนเดียวนี่เขาจำได้หมดเลย พอเขาจำได้ขึ้นมา มันก็เป็นความจำ นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปศึกษาปริยัติมา เราศึกษามาแล้วว่าเรามีความรู้ เรามีความเข้าใจ ปริยัติ ปฏิเวธ พอมีความรู้มีความเข้าใจแล้ว ก็เพราะปฏิบัติด้วยความรู้ด้วยความเข้าใจไง กิเลสมันเลยสวมเขา มันเลยหลอกลวงเอา
แต่เราประพฤติปฏิบัติของเรา ปริยัติเพื่อการประพฤติปฏิบัติ ถ้าปริยัติมาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติของเราถ้าตั้งใจทำความสงบของใจเข้ามา เริ่มต้นของการทำความสงบของใจนะ ทุกคนเวลาปรับพื้นที่ ปรับให้ใจของเรามันสงบเข้ามา มันจะมีความขัดแย้ง มีความขัดข้อง มีความทุกข์มีความร้อน มีการกระทำที่ผิดพลาดในหัวใจ เป็นเรื่องธรรมดา
ในเรื่องการประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นนะ ในการทำความสงบของใจ เรื่องหญ้าปากคอกนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติทุกข์ยากมาก ในการทำความสงบของใจขึ้นมา ถ้าคนมีอำนาจวาสนา คนมีบุญญาธิการมา ใจมันทำความสงบได้เป็นครั้งเป็นคราว ความสงบเป็นครั้งเป็นคราวนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอำนาจวาสนาบารมี มันไม่เกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริง ถ้ามันเกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริง โดยการฝึกสติ เรามีสติของเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธของเรา หรือเรามีปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตสงบเข้ามาเป็นขั้นเป็นตอนเข้ามา เพราะมันมีประสบการณ์ใช่ไหม กว่าจิตมันจะสงบเข้ามาแต่ละครั้งแต่ละตอนขึ้นมา แล้วเวลาจิตที่สงบเข้ามา
ดูสิในการศึกษาของเรา ความจำ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณงามความดี มันจำได้ยาก สิ่งใดที่กระทบกระเทือนหัวใจ สิ่งใดที่เป็นความบาดเจ็บ เจ็บช้ำในหัวใจ สิ่งนั้นจะจำแม่นมาก เห็นไหมนี่ล่ะความจำ สิ่งที่เป็นความจำเพราะอะไร เพราะมันมีกิเลส กิเลสของเราสิ่งใดที่เป็นประโยชน์มันจะจำไม่ได้ สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับมัน มันจะจำได้มาก นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราอยู่แล้ว เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรากำหนดพุทโธขึ้นมา เพื่อสติปัญญาของเรา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าด้วยอำนาจวาสนาบารมี เวลาประพฤติปฏิบัติแล้วมันเป็นเองไง อำนาจวาสนาบารมีคือความสงบโดยที่ว่าเราจับต้นชนปลายไม่ได้ หรือเราไม่เข้าใจด้วยเหตุด้วยผล มันสงบของมันได้นะ แต่สงบแล้วเราจะมีความลังเลสงสัยมาก เราจะงงไปแปดด้านว่าทำอย่างไรมันจะเป็นอย่างนี้ได้อีก
การปฏิบัติเริ่มต้น เวลาจิตที่มันสงบได้ แล้วเรารักษาความสงบของเรา เป็นการรักษาความสงบได้ยากมาก ฉะนั้นเราจะต้องมีสติ เราต้องมีการฝึกฝนของเรา มันจะเป็นขึ้นมาจากการฝึกฝน มันจะเป็นขึ้นมาจากเหตุและผล มันไม่ได้เป็นขึ้นมาจากการจินตนาการ มันไม่ได้เป็นขึ้นมาจากการนึกคิด เป็นการเพ้อเจ้อ เป็นการนึกเอา
สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา เหมือนกับเราเรียนปริยัติมา ปริยัติก็คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นล่ะ ธรรมของครูบาอาจารย์มันก็ว่ามันได้ยินได้ฟังมา มันก็มีความเข้าใจทั้งนั้นล่ะ มันมีความรู้ความเห็นของมัน เวลาปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนั้นๆ สิ่งนี้มันเป็นหญ้าปากคอก เป็นหญ้าปากคอกเพราะอะไร เพราะจิตเราดิบๆ จิตของเรานี่กิเลสท่วมหัว การกระทำของเรานี่มันก็กระทำด้วยกิเลสทั้งนั้นล่ะ
ปฏิสนธิจิต อวิชชามันครอบงำอยู่ พลังงานที่ออกมาจากหัวใจมันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งหมด ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พอเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส มันกิเลสทั้งนั้นเลย เพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีการชำระล้าง เราไปเก็บของเป็นพิษ ดูสิเห็ดที่เป็นพิษเอามาต้มกินก็ตายนะ ดูสิกลอยถ้าเอามาแล้วไม่แช่น้ำ ไม่ล้างสารพิษของมันก่อน เรามากินก็เป็นโทษกับร่างกาย
หัวใจที่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งหมด แล้วมันไปปฏิบัติธรรม มันก็เหมือนเห็ดเป็นพิษ เห็ดเบื่อ เอาไปต้มแกงกิน ตายห่าหมด นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมา จิตของเรามันกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งหมด แล้วก็บอกคิดธรรมะของพระพุทธเจ้า เห็นเขากินเห็ดนะ เห็ดที่เป็นประโยชน์นะ เห็ดโคนเห็ดอะไรต่างๆ ของเขาเป็นประโยชน์ มีราคาด้วย เขาเอามาทำอาหารนะมีรสชาติดีมากเลย เราก็ไปเอาของเรามา เราก็ไปเก็บของเรามา มันเหมือนเห็ดโคนเปี๊ยบเลย แล้วเราก็จะเอามาต้มกิน กินเสร็จนะส่งโรงพยาบาลทั้งนั้น หมอเอาไม่ทัน ตายหมด
จิตของเรามันเป็นอวิชชา จิตของเรามันเป็นสารพิษทั้งนั้น มันเห็นแก่ตัวเอง มันตัณหาความทะยานอยากในหัวใจเราทั้งนั้นล่ะ แล้วเราทำความสงบของใจเราถึงต้อง ถ้าเป็นกลอยเราก็ต้องแช่น้ำ ถ้าเป็นเห็ดพิษที่กินไม่ได้เราต้องสละทิ้งเลย เราต้องหาของเราใหม่ ถ้าเราหาของเรา เราเจอเห็ดโคน ในป่าในเขาที่เราไปเก็บได้ ก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่ก็เหมือนกัน ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ เราจะต้องแสวงหา เราจะต้องเก็บ เราต้องพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ ถ้าไม่เป็นพิษขึ้นมา เราถึงใช้ประโยชน์กับเราได้
จิตของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา เราก็ต้องใช้การกำหนดสติปัญญาไล่ใคร่ครวญเข้ามาให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เพราะมันเจือไปด้วยพิษ มันเจือด้วยกิเลส เจือด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาเป็นเรื่องปกติเลย
นี่ไฟเผา มันเผาลนเราตลอดเวลานะ ดูสิเวลาเกิดไฟ ไฟที่เขาใช้ประโยชน์ได้ เขาเอามาหุงหาอาหารต้มทำแกงกิน เป็นประโยชน์กับร่างกายของเขา ไฟที่เป็นประโยชน์เห็นไหม แต่ไฟที่ไม่เป็นประโยชน์ เวลาไฟมันไหม้บ้านไหม้เรือน มันทำลายจนหมดนะ หมดเนื้อหมดตัว เวลาไฟป่ามันเผาขึ้นมา มันเผาทำลายบ้านทำลายเมือง ทำลายชีวิตคน ทำลายทั้งหมดเลย สิ่งที่มันทำลาย นั่นล่ะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเราพยายามรักษาของเรา เวลาไฟมันแผดเผา มันทำความเสียหายไปทั้งนั้น แต่เวลาไฟกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเผาทำลายชีวิตเรานะ เวลามันทุกข์ร้อนขึ้นมา โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ โทสัคคิ โมหัคคิ ไฟทั้งนั้น มันเป็นไฟเผาเราทั้งนั้น
ไฟ ถ้าเขาเอามาหุงต้มแกงกิน เขาใช้เป็นประโยชน์ขึ้นมาเพื่อดำรงชีวิต แต่สิ่งที่เราดำรงชีวิตกันอยู่นี้ เราใช้ชีวิตประจำวันของเรา สิ่งนี้มันกระตุ้นพลังงานที่เป็นอวิชชา พลังงานที่เป็นสารพิษ มันเป็นการดำรงชีวิต ดูร่างกายของมนุษย์สิ มันมีโรคภัยไข้เจ็บ มันมีเชื้อโรคอยู่ แต่มันก็มีเซลล์มีอะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งมีชีวิต มันมีเม็ดเลือดขาวมีอะไรต่างๆ เพื่อดำรงชีวิตนี้ให้มันอยู่ของมันได้ แล้วแต่ว่าโรคภัยไข้เจ็บของเราจะมีมากมีน้อยแค่ไหน แล้วมันจะต่อต้านโรคของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรามันก็มีสารพิษ มันมีสิ่งต่างๆ ที่เป็นพิษ มันเป็นสารพิษอยู่แล้ว เราถึงต้องพยายามทำใจของเราให้สงบมาให้ได้ ถ้าใจของเราสงบเข้ามาได้นะ มันมีตบะธรรม เวลาจิตมันสงบเข้ามา สัมมาสมาธิจะมีความสุขความสงบของเราเข้ามา ถ้ามีความสุขความสงบของเราเข้ามา การใช้สอยมันเป็นประโยชน์ไหม ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันเป็นมิจฉาล่ะ
สิ่งที่เป็นมิจฉา มิจฉาปัญญา มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ ความเป็นมิจฉามันเผาผลาญ ดูเวลาไฟมันเผาผลาญ มันเผาผลาญทำลายสิ่งต่างๆ คนที่เขาจะดับไฟ เอาไฟดับไฟนะ เห็นไหมตบะธรรม เวลาไฟป่ามา คนที่เขาฉลาดเขาจะจุดไฟของเขา เพื่อเผาไหม้สิ่งที่เป็นเชื้อไฟ พอไปถึงกองไฟนั้น ไฟนั้นจะดับ แต่ถ้าคนเผาไม่เป็น หรือเผาไม่ถูกจังหวะของเขา เขาจุดไฟเผานะ ไฟยังไม่มาเขาจุดไฟเผา ไฟนั้นจะทำลายไปทั้งนั้นเลย พอมันไหม้มันไปทำลายแล้ว ถ้ามันมีเชื้อไฟต่างๆ แล้วเกิดถ้าไฟป่าเข้ามามันก็ยังไหม้มาถึงเราอยู่วันยังค่ำ
เพราะมันไม่ใช่ไฟดับไฟ มันไม่เห็นว่าไฟคือกิเลส ไฟคือตัณหาความทะยานอยาก แต่ตบะธรรม ตโปจ พฺรหฺมจริยญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ตบะธรรมที่เป็นมงคลชีวิต มันจะเป็นมงคลขึ้นมา มันจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา มันต้องใช้ประโยชน์เป็น แล้วใช้ประโยชน์ได้ ถ้าใช้ประโยชน์ไม่เป็นใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไฟมันจะไปดับอะไร ไฟก็แผดเผาทำลายเขาทั้งนั้นล่ะ
ไฟกิเลสเป็นอย่างหนึ่ง ไฟที่เป็นการทำความสงบของใจเข้ามาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ใช้เป็นหรือใช้ไม่เป็นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้ามันใช้เป็นขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ ประโยชน์เพราะอะไร เพราะขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเล็กน้อยขึ้นมา สงบลึกซึ้งเข้าไป สงบถึงฐานของมันขึ้นมา ความสงบอันนั้นมันจะเป็นการยืนยันกับเรา มันไม่ใช่หญ้าปากคอก
ในการประพฤติปฏิบัติเหมือนหญ้าปากคอก จับพลัดจับผลู ปฏิบัติแล้วหยิบผิดพลาด มีความผิดพลาดพลั้งเผลอต่างๆ มันไม่เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราทำของเราเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จิตมันสงบมากสงบน้อยขึ้นมา มันเป็นการยืนยัน มันเป็นการฝึกฝนใจของเรา ใจของเราฝึกฝนจนมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา มันจะพัฒนาการของมันขึ้นมาโดยข้อเท็จจริง
โดยข้อเท็จจริงในการประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่มันจะพัฒนาตัวเราขึ้นมา เรามีตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เรามีตบะธรรม เรามีพลังงานอะไรต่างๆ แต่ใช้เป็นหรือเปล่า ใช้เป็นประโยชน์ไหม ถ้าใช้เป็นประโยชน์ขึ้นมา แล้วเราจะแผดเผาอะไร เราจะทำลายสิ่งอะไร ตบะธรรมที่มันมีขึ้นมา เรามีไฟเราเอามาทำอะไร เรามีไม้ขีดอยู่คนละกลักหนึ่ง เราจะจุดไฟจะใช้เป็นประโยชน์เมื่อไหร่ เมื่อใดที่เราจะใช้ประโยชน์ เราจะหุงหาอาหารเราก็ใช้ประโยชน์ของเรา
แต่ขณะที่หุงหาอาหาร มันเป็นเรื่องการดำรงชีวิตนะ การดำรงชีวิตของเราในโลกนี้เป็นอย่างหนึ่ง แต่ในโลกนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์โดยสมมุติ เพราะชีวิตหนึ่งนี้สมมุติขึ้นมา แต่สมมุติตามความเป็นจริง เพราะมันเกิดเป็นมนุษย์จริงๆ มันมีความทุกข์ความยากในหัวใจจริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นสมมุติ เราบัญญัติขึ้นมาว่าธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลาปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีธาตุ ๔ ชีวิตมนุษย์ไม่มี มนุษย์คือธาตุ ๔ ที่มีขันธ์ ๕ แต่เขาไม่พูดถึงพลังงาน ไม่พูดถึงตัวจิตนะ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มนุษย์ก็มีเท่านั้น นี่พูดถึงบัญญัติ เราพยายามประพฤติปฏิบัติ จากสมมุติบัญญัติ แล้วถ้ามันเกิดสัจจะความจริงกับเราล่ะ นี่ตบะธรรม ถ้าเราใช้ตบะธรรมเป็นความจริงได้
โลกเขาประกอบสัมมาอาชีวะของเขา เพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา ปัจจัย ๔ ในการดำรงชีวิต เขาหาสิ่งต่างๆ มาเพื่อตอบสนองกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ที่งานของเขาไม่มีวันจบสิ้นเพราะว่าตัณหาความทะยานอยากไม่มีวันพอ แต่งานของเรา งาน ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เราพยายามสร้างสมบุญญาธิการของเราขึ้นมา เราตั้งสติของเราขึ้นมา ไม่ให้สิ่งที่เป็นพลังงานนี้สูญเปล่า สิ่งที่เป็นพลังงาน ดูสิชีวิตของเรา กาลเวลามันกลืนกินทุกอย่างพร้อมกับตัวของมันเองนะ เวลาที่มันล่วงไปแล้วนี่ หนึ่งวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปี นี่กาลเวลา มันกลืนกินทั้งชีวิตเราด้วย กลืนกินทั้งทุกๆ อย่างด้วย แล้วกลืนกินตัวมันเองด้วย นี่ไงชีวิตของมนุษย์ที่เป็นสมมุติบัญญัตินี่ล่ะ มันจะกลืนกินของมันตลอดไป แล้วเราได้ประโยชน์สิ่งใดมา
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งนี้เป็นอริยทรัพย์ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์เราพบพุทธศาสนา ยิ่งออกบวชพระบวชเจ้าเพื่อจะเป็นนักรบ เราเป็นนักรบนะ พวกคฤหัสถ์เขาเป็นพลาธิการ เป็นฝ่ายส่งกำลังบำรุงเพื่อบุญกุศลของเขา เพื่อการประพฤติปฏิบัติของเขา ไอ้พระนี่จะบอกว่าเป็นนักรบเลยล่ะ จะต้องต่อสู้เลย แล้วงานของพระมันคืออะไรล่ะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์ให้มาแล้ว เราต้องตีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจนี้ให้แตกให้ได้ ถ้าตีให้แตก จะเอาอะไรไปตีให้มันแตกล่ะ มันมีแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จะฉุดกระชากหัวใจของเราให้ออกไปสู่วัฏฏะ สู่ความเป็นไปของโลก แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันตีให้แตก ถ้าเราไม่มีตบะธรรม ไม่มีไฟที่จะไปแผดเผากิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราจะเอาอะไรไปทำ มันถึงต้องตั้งสติปัญญา มันถึงต้องมีสติมีปัญญายับยั้ง
งานของเรา เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี่คืองานของพระนะ ข้อวัตรปฏิบัติมันคืองานของโลก งานของโลกคืออาราม คือวัดที่เราอาศัย นกมีรวงมีรัง พระก็ต้องมีที่อาศัย ถ้าเราไม่มีที่อาศัยขึ้นมานี่ เราจะเอาอะไรเป็นที่อยู่ที่อาศัย ความอยู่อาศัยนั้นเป็นข้อวัตรปฏิบัติด้วยธรรมวินัย การใช้สอย ข้อวัตรปฏิบัติ วัจกุฎีวัตร วัตร ๑๓ ในสัลเลขธรรม เรามีของเราสิ่งนี้เป็นความเป็นอยู่ของโลก นี้เป็นงานอันหนึ่ง ที่ว่ากิจของสงฆ์ แล้วอะไรเป็นสงฆ์ล่ะ สงฆ์มันจะเกิดขึ้นมาด้วยหัวใจของเรา
แล้วในปัจจุบันนี้เป็นสงฆ์ไหม พระ ๔ องค์รวมกันถึงเป็นสงฆ์ แต่ถ้าในหัวใจเราเป็นสังฆะล่ะ ถ้าพูดถึงเป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคา นั่นล่ะสงฆ์แท้ แล้วสงฆ์แท้มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ กิเลสคือป่ารกชัฏ แล้วไฟป่ามันแผดเผาอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะเอาตบะธรรม จะเอาไฟไปดับป่ารกชัฏ ไปทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากนั้นทำอย่างไร มันต้องมีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม จิตมันต้องมีความสงบร่มเย็น ถ้าจิตมีความสงบร่วมเย็น ความคิดความอ่านของเราจะไปอีกรูปแบบหนึ่งเลย
เราเป็นพระ เราเห็นแล้วว่าโลกเขาทุกข์ร้อนขนาดไหน เราทุกข์ร้อนนะเราก็อยู่กับโลก เราก็เกิดมากับโลก เป็นมนุษย์โดยสมมุติ ชีวิตหนึ่งก็สมมุติหนึ่ง สมมุติหนึ่งก็อายุขัยหนึ่ง ถ้าเราอยู่กับโลกมันก็จะหมดสิ้นไปโดยสมมุติบัญญัติ แต่นี้เราเอาเวลาของเรามาเพื่อจะยับยั้งของเรา เพื่อจะตั้งสติของเรา เพื่อจะประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อจะแผดเผากับมัน เพื่อจะทำลายมัน เพื่อจะทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี้
ความสุขของโลกเขานะ โลกธรรม ๘ สรรเสริญ เยินยอ ได้ลาภ เสื่อมลาภ นี่คือความสุขของเขา เพราะอะไร เพราะมันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เขาจะเกิดความสุขของเขาเองเขาก็เกิดไม่เป็น เขาต้องอาศัยโลกธรรม ๘ เพื่อหาความสุข เพื่อมาจุนเจือหัวใจของเขา มันมีแต่ความทุกข์ร้อน แล้วเราเห็นความเร่าร้อนอย่างนั้น เราถึงเสียสละออกมาเพื่อความจริงของเรา
ถ้าเพื่อความจริงของเรานะ เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่มนุษย์ที่มีวุฒิภาวะที่มันจะเอาชนะตัวมันเอง เราถึงต้องออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อหาหลักหาเกณฑ์ของเรา ถ้าหัวใจมันได้พัฒนาการของมัน ด้วยข้อเท็จจริงของมัน เราจะมีสติปัญญาของเราขึ้นมา พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบบ้างแล้วเราก็รักษา ถ้าจิตสงบขึ้นมาเกิดแล้วปัญญาขึ้นมา ปัญญามันจะลึกซึ้ง
โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากสามัญสำนึก นี่คือโลกียปัญญา ที่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เอาสามัญสำนึกเรานี่แหละไปศึกษา พอศึกษาธรรมขึ้นมา มันก็มีความรู้มีความเข้าใจ มันก็มีธรรมสังเวช มีการสะเทือนหัวใจ พอเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราทำจิตสงบเข้ามา พอมันมีความสงบสงัดเข้ามา มันจะมีหลักมีเกณฑ์นะ
เราจะทำของเรา ถ้าเราจะสำรอกกิเลสของเราออกไป เรารักษาจิตสงบแล้วออกรู้ออกหานะ ออกรู้ออกหาในสิ่งใด ออกรู้ออกหาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วแต่จริตนิสัยของคน ถ้ามันติดนะ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด เพราะทุกคนมันยึดของมันโดยธรรมชาติ นี่ไงสิ่งที่เราเกิดมา จิตเราเกิดมามันมีสารพิษ มันมีอะไรต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว จิตมันยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ เห็นไหมนี่คือป่ารกชัฏ
มันยึดเพราะมันเป็นอุปาทาน มันเป็นนามธรรมหมดนะ กิเลสนี้เป็นนามธรรม ความคิดหรือความรู้สึกนี้เป็นนามธรรมทั้งหมดเลย แล้วเราจะเอาอะไรชำระมันล่ะ เวลาเราไปศึกษาธรรมปริยัติขึ้นมา มรรค ๘ สติชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ เราก็ทำครบสูตรหมดแล้ว แต่ทำไมไม่เห็นชำระกิเลสแม้แต่ตัวเดียว เพราะอะไร เพราะความคิดนี้มันเป็นวิปัสสนึกไง มันไปคิดจากสามัญสำนึก มันไม่เป็นความจริง
แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วถ้ามันออกรู้ได้ เราจะเห็นไฟป่านะ เห็นความแผดเผาของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วเราทำความสงบของใจเข้ามานี่คือเรามีตบะธรรม เราจะจุดไฟเผา จุดไฟเข้าไป แล้วไฟของเราที่จุดไฟเผาสิ่งต่างๆ มันจะลุกลามไปถึงป่ารกชัฏนั้น ถ้าเอาไฟกับไฟไปซ้อนกัน พอหมดเชื้อมันจะดับของมัน
นี่ก็เหมือนกัน จิตของเราพอมันออกรู้ออกหา เรามีไม้ขีดอยู่กลักหนึ่ง เราจะจุดไฟที่ไหน เราจะทำอย่างไร ไอ้นี่เป็นวัตถุนะ แต่ถ้าในการประพฤติปฏิบัติเรามีสติพร้อมอยู่กับตัว จิตเรามีอยู่แล้ว ความรู้สึกเรามีอยู่แล้ว เราตั้งสติของเราตลอดเวลาแล้วจิตมันสงบได้ พอมันสงบขึ้นมามันก็มีพลังงานของมัน พอมีพลังงาน มีความรู้สึกขึ้นมา แล้วเราน้อมไปหากาย น้อมไปหาเวทนา น้อมไปหาจิต น้อมไปหาธรรม ถ้าน้อมไปหากาย จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม ถ้าจิตเห็นจิต มันจับต้องของมันนะ มันถึงวิปัสสนาของมันได้ ถ้ามันไม่จับต้องของมัน จับพลัดจับผลู จับหลุด จับหลุด เห็นไหม
เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง จิตของเรา ความสงบของเราที่มันจะจับสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมได้ สิ่งที่มันจับได้ขึ้นมามันจะสะเทือนหัวใจ ถ้ามันสะเทือนหัวใจ นั่นล่ะเราจะจุดไฟ เราจะทำลายมัน การทำลายมันต้องใช้ปัญญาแยกแยะขึ้นมา ไม่ใช่ให้ไฟทำลายเรา ถ้าเราไม่มีสติปัญญา จิตเราสงบขนาดไหน ถ้ามันออกรู้ขึ้นไป มันเป็นการแผดเผา แต่ถ้าเป็นไฟกิเลส เพราะมันเป็นมิจฉา ความรู้ความเห็นของเรานี่มีแต่การคาดหมาย การประพฤติปฏิบัติการพิจารณาของเราก็พิจารณาโดยความรู้ความเห็นของเรา โดยความรู้ความเห็นคือการเข้าข้าง คำว่าเรา ถ้ามีเราสมาธิเกิดไม่ได้
สมาธิเวลาเกิดขึ้นมา พอจิตมันสงบเข้ามา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งต่างๆ มันเป็นสมาธิ มันมีความรู้สึกของมัน มันเป็นกลาง ผู้ที่เข้าสมาธิจะรู้จักคำว่าสมาธิ แต่ถ้าอัปปนาสมาธิที่มันละเอียดลึกซึ้งสักแต่ว่า
คำว่าสักแต่ว่า เวลาเราไปศึกษาธรรมมานะ พระพุทธเจ้าสอนว่าธรรมนี้เป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างมันเป็นสักแต่ว่า แล้วเราก็สักแต่ว่า เอากิเลสไปตั้งไว้ไกลๆ นะ แล้วก็บอกว่า กิเลสมันจะไม่เห็นมัน กิเลสคือไฟ ไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะไปตั้งไว้ไกลๆ เลย แล้วเราก็จุดไฟเผาแล้วเผาอีก ไปเผาแต่ความรู้สึกนึกคิดของเราไง ไอ้กิเลสมันหัวเราะเยาะอยู่นั่น ไม่ได้เผาตัวมันหรอก
สิ่งต่างๆ อย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะความเห็นผิดของเราไง เพราะการศึกษามากิเลสมันครอบงำในหัวใจเราอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราปฏิบัติธรรมขึ้นมานี่ นั่นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า กิเลสมันบังเงานะ กิเลสมันหลอกเราตลอดเวลา เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราคิดว่าเราทำของเรา เราชำระกิเลสของเรา มันเหมือนกับกำปั้นทุบดิน กำปั้นทุบดินเห็นไหม
ดูสิเวลาเราทำสิ่งใดเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว โดยทฤษฎีเราเข้าใจหมดแล้ว เวลาเราทำขึ้นมา เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นจริงๆ กิเลสมันบังเงา มันทำแทนเราหมดเลย ไฟป่ามันไหม้หัวใจเราตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราจะดับไฟ แต่เอาไฟเข้ามาสุมในหัวอก แล้วมันก็แผดเผา มันทำลายจนไม่มีสิ่งใดจะไปเก็บไว้เป็นประโยชน์กับเราเองอีกเลย
แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา สิ่งที่เป็นไฟ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟจากราคะ ไฟจากสิ่งต่างๆ ที่มันแผดเผาเรา เราตั้งสติไว้ ตั้งสติแล้วพุทโธๆๆๆ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับจิตมันโดนคำบริกรรม โดนการกลั่นกรอง ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันจะเป็นอิสรภาพของมัน มันไม่เกี่ยวกับไฟ ไม่เกี่ยวกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก
ถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีตัวมีตน มันจะลงสมาธิไม่ได้ ถ้าไม่ลงสมาธิก็เป็นมิจฉา คิดว่าเป็นสมาธิ คิดว่าตัวเองทำสมาธิ คิดว่าตัวเองมีความสงบ คิดว่าตัวเองมีความร่มเย็น คิดเอาเอง เออเอาเองหมดเลย กิเลสมันหัวเราะเยาะ มันยิ้มย่องผ่องใสนะ มันขี่หัวเรานะ แล้วมันก็เหยียบกระทืบซ้ำนะ ไอ้เราก็คิดว่านี่เป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่เป็น ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ มันไม่เป็นมงคล แต่ถ้า ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ มันเป็นมงคลชีวิต มันเป็นมงคลกับการกระทำ มันเป็นมงคลกับชีวิตของเรา
แต่ถ้าเป็นมิจฉา กิเลสมันขี่หัวไง มันทำลายหมดเลย นี่หรือคือการประพฤติปฏิบัติ นี่หรือคือเป็นสัจจะความจริง ถ้ามันไม่เป็นสัจจะความจริง นี่ไง ไฟจะดับไฟ แต่นี่ไม่ใช่ไฟมันจะดับไฟ มันเอาไฟเผาตัวเอง ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมอยู่นะ บอกว่าจะเอาไฟไปดับไฟ เพราะเราสร้างไฟของเราขึ้นมาไม่ได้ เราสร้างสัจธรรม เราสร้าง ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ ของเราขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเราสร้าง ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ ของเราขึ้นมา มันจะมีสติปัญญา มันจะรักษามันจะดูแล
คำว่ารักษาดูแล ดูสิในการประพฤติปฏิบัติของเรา การปฏิบัติเริ่มต้น มันทุกข์มันร้อนแค่ไหนถ้ามันสงบไม่ได้ หรือมันไม่เป็นความจริง เราตั้งสติของเรา น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน ครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติมา ทุกคนก็ต้องเผชิญกับกิเลสของตัว เผชิญกับจริตนิสัยของตัว เผชิญกับความรู้สึกของตัว เผชิญซึ่งๆ หน้า ต่อสู้กันซึ่งๆ หน้า สติปัญญาต่อสู้กันซึ่งๆ หน้า แล้วบังคับให้จิตนี้ลงได้ ถ้าทำด้วยข้อเท็จจริง ทำด้วยความพยายามของเรา จิตมันต้องลงได้
ถ้าจิตมันลงได้ สิ่งนี้มันถึงไม่เป็นกิเลสบังเงา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เวลามันออกรู้ ออกรู้เพราะอะไร ออกรู้ด้วยความเป็นจริง ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยมรรค เวลาออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจับได้ กาย จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม แล้วพิจารณาแยกแยะด้วยปัญญา นี่คือเราจะจุดไฟเผา
คนฝึกหัดใหม่ แต่ผู้ที่มีชำนาญการนะ นักดับไฟป่า เขาจะดับไฟ เขาจะแก้ไขของเขา นักดับไฟป่า วิธีดับไฟของเขามีหลากหลายวิธีการนัก จะใช้ไม้กวาดเข้าไปตีก็ได้ จะใช้น้ำดับก็ได้ จะใช้อะไรสาดก็ได้ จะใช้อะไรต่างๆ ก็ได้ แต่ทำสิ่งใดก็แล้วแต่มันก็ยังเหลือเชื้ออยู่ แต่ถ้าเราใช้ตบะธรรม ใช้ไฟจุดไปนะให้มันแผดเผาเข้าไป ไฟกับไฟจะไปทำลายกัน ถึงไฟไปชนกันแล้ว พอมันเผาเชื้อจนหมดแล้ว มันจะดับของมันไป
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อไฟของกิเลสมันมี ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟความโลภ ความโกรธ ความหลงมันมีของมันอยู่ เราจะดับให้มันมีเชื้ออยู่ หรือดับให้มันสิ้นกระบวนการของมัน ถ้าดับแต่ยังมีเชื้ออยู่ เช่นพอพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง นี่ตทังคปหาน มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า แต่ปล่อยขนาดไหนมันมีเชื้ออยู่ สิ่งที่มีเชื้ออยู่มันจะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร แต่ถ้ามันเผาโดยเราจุดไฟเผา นี่ไฟดับไฟ แต่ต้องดับให้เป็น ดับให้ถูกต้อง ถ้าไฟดับไฟ ไฟนั้นจะดับหมดเชื้อ ถ้าเราดับหมดเชื้อเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่พิจารณาแล้วพิจาณาเล่า พิจารณากาย พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่างๆ การกระทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ
คำว่าเพื่อประโยชน์กับเรา เพราะมันมีจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมันเกิดมาจากไหน เกิดจากจิต ถ้าจิตมันมีสิ่งที่เศร้าหมอง มันมีสิ่งที่กดทับหัวใจอยู่ มันก็เป็นสามัญสำนึก แล้วเวลามันใช้ปัญญาออกไป มันเป็นโลกียปัญญา เพราะมันมีตัวมีตน สามัญสำนึกคือเรา
จิตนี้ละเอียดนัก ความรู้สึกของจิต ความคิดต่างๆ มันละเอียดลึกซึ้ง มันเป็นนามธรรม เราจะตามความคิดเราไม่ทัน เราจะควบคุมความคิดของเราไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นสามัญสำนึก แต่ถ้ามันมีสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิเกิดจากอะไร เกิดจากจิต ดูสิ ชื่อของสมาธิในพระไตรปิฎกก็เป็นชื่อ ในตำรับตำราเล่มไหนมันก็เป็นชื่อ มันมีคุณภาพอย่างไร แต่ถ้ามันเป็นกับเราขึ้นมา ดูสิจิตมันสงบขึ้นมา มันมีความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา
สมาธิเกิดจากจิต ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิจิตก็มีพลังงาน พอจิตมีพลังงาน มันใช้ปัญญาเข้าไปชำระแยกแยะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้ามันแยกแยะไป พิจารณาไป เพราะว่าจิตมันมีสมาธิ มันมีความลึกซึ้ง มันรับรู้รสนะ แล้วผู้ที่ใช้ปัญญาพิจารณาไปนี่มันซาบซึ้ง มันดูดดื่ม นี่ไง ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เวลามันแผดเผามันทำลาย มันดูดดื่ม มันแผดเผาไปเรื่อยๆ มันใช้วิปัสสนาญาณใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะเกิดการปล่อยวาง เกิดตทังคปหาน มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า จะปล่อยมากขนาดไหนเราก็ต้องระวัง
เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจิตเสื่อม เป็นสมาธิก็เสื่อมจากสมาธิ เวลาจิตมันเสื่อมนะล้มลุกคลุกคลานเลย ถ้าจิตมันดีขึ้นมา พอมีสัมมาสมาธินี่มันจะองอาจกล้าหาญ มีความสุข อู้หูย นิพพานอยู่แค่เอื้อม อู้หูย จะใกล้ถึงนิพพานแล้วนะ แล้วประมาทเลินเล่อ หรือรักษาไว้ไม่ดี เวลามันถอยกรูดนะ พอจิตมันเสื่อมขึ้นมา เวลาพยายามจะเอาขึ้นมานี่ อู้หูย ทุกข์ร้อนมาก
การใช้ปัญญาก็เหมือนกัน การใช้ตทังคปหาน เราก็ใช้ปัญญาแล้วนี่ คิดโดยใช้ปัญญาแล้ว มันปล่อยวางแล้ว มันมีความโล่ง มีความโถง มีความสุข มีความสบาย มีความพอใจ โอ้โหย นึกว่านี่คือมรรคผลนิพพาน มีความสุขร่มเย็น ประมาทเลินเล่อ ก็ไปเหมือนกัน จิตเสื่อม เสื่อมในสัมมาสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วเสื่อมจากสมาธิก็มี จิตเสื่อม ขณะที่ใช้สมาธิวิปัสสนาแล้ว ใช้ปัญญาแล้ว แต่เรามันยังมีเชื้ออยู่ มันยังไม่ถึงที่สุดนี่ แล้วเราจะต้องทำขนาดไหน ถ้าเราประมาทเลินเล่อ แล้วอำนาจวาสนาของคนด้วย ไม่มีความละเอียดอ่อน มันต้องมีความสุขุมคัมภีรภาพ มีความละเอียดอ่อน พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก นี่พิจารณาหนหนึ่ง ใช้ปัญญาหนหนึ่ง ถ้ามีสัมมาสมาธินะ มันจะลึกซึ้ง สิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็น รสชาติอย่างนี้จิตไม่เคยได้สัมผัส
เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอ่านตำรับตำราทางปริยัติ มันเกิดธรรมสังเวช มันเกิดการสังเวช มันเกิดการน้ำตาไหลน้ำตาร่วง มันเกิดการกระเทือนหัวใจ นี่คือธรรมสังเวช แต่เวลาวิปัสสนาไป เวลาจิตมันสงบ เราปฏิบัติจนจิตมันสงบแล้ว ไฟมันจะดับไฟ เรามีไฟแล้ว เราจะดับไฟ แต่ถ้ามีไฟแล้วไม่ได้ดับไฟ ไฟนั้นก็จะมอดไป
มีสมาธิแล้วไม่ได้ใช้สมาธิ ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา สมาธิจะเสื่อมเป็นธรรมดา ของสรรพสิ่งทั้งหลายมันเป็นอนิจจังทั้งหมด สรรพสิ่งพลังงานทั้งหลายอะไรก็แล้วแต่มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจในตัวมันเอง เราศึกษาของเราแล้วถ้าไม่ถึงที่สุด นี่ก็เหมือนกัน พอจิตเป็นสมาธิ ถ้าเราไม่ได้ออกใช้ในทางปัญญา มันจะต้องเสื่อม เสื่อมแน่นอน มันอยู่โดยตัวของมันเองไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในกฎของ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ มันจะคงที่ไม่ได้
ถ้าเรามีสมาธิแล้ว เรามีตบะธรรมแล้วเราต้องฝึกหัด การฝึกหัดจุดไฟดับ นี่ดับไฟป่า นักดับไฟป่า เราจะเอาไฟดับไฟ เราฝึกหัดของเรา เราพิจารณาของเรา แล้วเวลามันตทังคปหาน มันปล่อยวางครั้งหนึ่ง เราก็ต้องดูแล เพราะอะไร เพราะมันต้องมีเชื้อไฟ จากใบไม้ตก จากเศษวัสดุต่างๆ มันทับถมกันไป มันถึงมีเชื้อไฟ ไฟนั้นมันถึงลามเข้ามา ในความคิดความเห็นของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมีความชอบ มีความพอใจ มีอะไรต่างๆ มันตกทับถม เวลาพิจารณาไปมันปล่อยไง โอ้ อันนั้นใช่ อันนี้ใช่ นี่คือเศษวัสดุที่มันตกลงสู่การทับถม เพื่อมันจะรอการเผาไหม้อีก
นี่ก็เหมือนกัน เราวิปัสสนาแล้วเราต้องมีสติสิ เราต้องมีสติมีปัญญาของเรา สิ่งใดที่กระทำแล้ว มันจะจบสิ้นกระบวนการขนาดไหนแล้ว ถ้ามันยังไม่เสร็จกระบวนการ ยังมีเชื้อไขอยู่ เดี๋ยวมันก็จะมีไฟเผาไหม้เรามาอีกเห็นไหม เราจะต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดถ้ามันดับจนสิ้นเชื้อ มันก็บอกโดยความสิ้นเชื้อ
ในการประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์นะ นี่ก็เหมือนกัน มีหูมีตา เรารู้ของเรา เราเข้าใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัตินะมันจะแจ่มแจ้งมาก มีสติ เวลามีสมาธิขึ้นมาเราก็รู้ของเรา เราไม่เข้าข้างตัวเอง เราจะไม่ให้คะแนนตัวเองเกินกว่าความเป็นจริง นี่มันเป็นสมาธิแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม พอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าเรารักษาไม่เป็นมันก็จะหมดไป
เราต้องตั้งสติปัญญาขึ้นมา เวลาเราออกใช้ปัญญาพิจารณาแล้วมันปล่อยวางขนาดไหน พอเราออกจากการปฏิบัติมา อารมณ์มันก็เหมือนเดิม มันไม่มีสิ่งใดที่ได้ทำลายลงเลย ถ้ามันยังเป็นปกติอยู่ นี่ไง เพราะเรามีสติปัญญา เรามีสติของเรา เราใคร่ครวญของเรา เราไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับสิ่งที่เราได้ประสบ สิ่งที่เราได้ประสบเป็นความลึกลับมหัศจรรย์อยู่แล้ว เพราะมันเหนือโลก
พอเวลาสมาธิมันเกิดขึ้นมาแล้วออกใช้ปัญญา นี่คือ โลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เหนือโลก ปัญญาที่พ้นจากโลก ปัญญาที่จะดับไฟกิเลสราคะตัณหาในหัวใจ เรามีตบะเรามีความเป็นจริงมาตลอด เราต้องมีสติ เราต้องมีปัญญา เราต้องหมั่นเพียรรักษา หัวใจนี่มันวูบวาบตลอดเวลา ความรู้สึกความนึกคิดของคนเป็นสิ่งที่ปกครองได้ยากมาก ยิ่งประพฤติปฏิบัติเข้าไป ยิ่งรู้สิ่งใดขึ้นมานี่ มันจะไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึก แล้วอารมณ์ความรู้สึกเรานี่เราจะควบคุมอย่างไร เราจะดูแลของเราอย่างไร ถ้าจะดูแลของเรามันก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ เวลาเราทำสมาธิ เรากำหนดคำบริกรรม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะควบคุมได้ง่ายขึ้น
เว้นไว้แต่ เราพิจารณาไปแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดแล้วมันขาดนะ ถ้ามันขาดไปแล้วมันมีฐานที่รองรับ ถ้ามันเสื่อม มันก็เสื่อมจากปัญญาที่เราจะเดินขึ้นไป แต่ถ้ามันเสื่อมลงมา มันก็มีฐานอกุปปธรรมนี้รองรับไว้ มันไม่เหมือนกับผู้ปฏิบัติที่ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ ผู้ที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์นี่เวลามันเสื่อม มันก็เสื่อมถอยจนตกเข้าไปสู่อวิชชาเลย
คำว่าอวิชชาคือความไม่รู้เหนือรู้ใต้ พอไม่รู้เหนือรู้ใต้ก็หันรีหันขวาง เวลาปฏิบัติไปก็หน้าเศร้าสร้อยหงอยเหงา หันรีหันขวางเลยนะ หน้าซีดหน้าเซียวนะ อดนอนผ่อนอาหารแล้วก็หน้าซีดหน้าเซียว ก็ไม่รู้จะไปทางไหน นี่ไง เวลามันถอยแล้วมันถอยลงไปขนาดนั้น ถ้าไม่มีฐานอกุปปธรรมรองรับ แต่ถ้ามีฐานอกุปปธรรมรองรับ เวลาเสื่อมมาขนาดไหน มันมีข้อเท็จจริงอันนี้รองรับอยู่ มันไม่ถอยกรูดไปเลยหรอก
ฉะนั้นถ้าเรายังไม่ถึงฐานอันนี้ เราก็พยายามทำของเรา การกระทำเห็นไหม เราเป็นนักดับไฟป่า เรามั่นใจแล้วว่าเราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ ฝากศาสนาไว้คือฝากทฤษฎีไว้ ฝากธรรมและวินัยนี้ไว้
ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ต้องฝาก มันจะเกิดขึ้นมากับเรา เราจะเข้าสู่ธรรม ใจเราจะเป็นธรรมขึ้นมา เพราะข้อเท็จจริงในการประพฤติปฏิบัติ ที่ทำความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นในการกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ มันเป็นการข้อเท็จจริงที่เราค้นคว้า เราแยกแยะ เรามีการกระทำของเรา เราทำของเราบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันเป็นจริตนิสัย เป็นพละ เป็นกำลังของจิตแต่ละคนที่ละเอียดอ่อน หยาบกระด้างแตกต่างกัน วิธีการกระทำมันก็หยาบกระด้างแตกต่างกันไปโดยความชอบธรรม
โดยความชอบธรรมเพราะอะไร เพราะมันต้องมีไฟ ไฟดับไฟ ถ้าไม่มีไฟไปดับ เอาสิ่งใดไปดับนะ มันก็ดับเหลือเชื้อ มันไม่ถึงที่สิ้นสุด ตบะธรรมของเรา ถ้าไม่มีตบะธรรม ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีปัญญาเข้าไปชำระกิเลส เข้าไปทำลายจุดไฟเผามันดับมัน ถ้าถึงที่สุดแล้วมันพิจารณาไปมันปล่อยนะ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดมันต้องขาด! คำว่าขาดคือ สมุจเฉทปหาน
ตทังคปหานนี่มันเป็นการประหารชั่วคราว มันเป็นการฝึกฝน จิตของคนในการประพฤติปฏิบัติแต่ละคน มันมีอำนาจวาสนาไม่เหมือนกัน คำว่าไม่เหมือนกัน ผู้ที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งก็จะพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันไม่ยอมปล่อยหรอก มันปล่อยส่วนหนึ่ง มันก็ยังมีอีกส่วนหนึ่ง แต่ถ้าผู้ที่ปานกลาง พิจารณาพอประมาณขึ้นมามันจะปล่อยของมัน ถ้าผู้ที่หยาบมันต้องใช้ปัญญา หยาบหมายถึงว่า กิเลสมันไม่ยึดมั่นถือมั่นจนเกินกว่าเหตุ พิจารณาซ้ำแค่ไม่กี่ครั้ง มันก็ขาดได้
เวลาขาดขึ้นมา กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันดับไฟจนสิ้นเชื้อเลย หมดกระบวนการของมันทั้งหมด ทีนี้พอไฟสิ้นเชื้อ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แต่สิ่งที่เป็นความรกชัฏของใจมันเป็นชั้นเป็นตอน ตอนที่ลึกซึ้งกว่า ตอนที่ละเอียดอ่อนกว่า เราก็ต้องมีไฟที่ลึกซึ้งกว่า ดูไฟสิ สิ่งที่เป็นไฟที่มันเผาขึ้นมา ไฟจากฟืน ไฟจากน้ำมัน ไฟจากอะไรต่างๆ คุณภาพมันก็แตกต่างกัน
จิตที่มันละเอียดอ่อนลึกซึ้งแตกต่างกัน คนละภพคนละภูมิ ภูมิของใจ ถ้าใจภูมิมันหยาบ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถึงจะเกิดโสดาปัตติมรรค เวลาเกิดโสดาปัตติมรรค พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราดับไฟได้ส่วนหนึ่ง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ ๓ ตัวขาดออกไป ทีนี้พอขาดออกไปแล้ว สิ่งต่างๆ เพราะมันมีภพ มันมีภพคือมันมีป่าอยู่ใช่ไหม มันมีภพคือมันมีใจอยู่ใช่ไหม เพราะมันมีภพมันถึงมีความรกชัฏ
ความรกชัฏเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจากฐีติจิต เกิดขึ้นมาจากอวิชชา สิ่งที่ละเอียดอยู่มันส่วนที่เป็นความสกปรกโสโครกมันออกมา นี่มันก็เกิดเชื้อเกิดไข เกิดการกระทำ เกิดการแผดเผา เห็นไหมความทุกข์อย่างหยาบ เวลาทุกข์แบบปุถุชน ความทุกข์แบบพระโสดาบันมันก็มีความทุกข์ของมัน ความทุกข์ที่ว่าอยากตะกายดาว อยากจะเอามรรคเอาผล ถ้าอยากเอามรรคเอาผลมันก็ต้องมีความวิริยะอุสาหะ
คนเราถ้ามันได้สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาแล้วนี่ มันก็จะหวังผลอันนั้น ถ้าหวังผลอันนั้นนะเราต้องมีความละเอียดอ่อน สิ่งที่เราทำมาแล้ว มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคของโสดาบันมรรคหยาบๆ มรรคของสกิทาคา มรรคของอนาคา มรรคของพระอรหันต์มันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันไป นี่ไงเหตุที่มันแผดเผา สิ่งที่ไฟที่มันแผดเผา เพราะมันมีเชื้อ เพราะมันมีเชื้อมันถึงได้ทำลายสิ่งต่างๆ มา
เราเห็นไฟป่าเวลามันเผาขึ้นมา เพราะมันเป็นโลก มันเป็นสิ่งโลกๆ เป็นวัตถุที่ทุกคนมองเห็น ทุกคนจับต้องได้ แต่เวลาไฟมันเผาในหัวใจนี่ เวลามันเผาขึ้นมา มันเป็นความรู้สึกของเราคนเดียวนะ ความรู้สึกอยู่ภายใน เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความวิริยะอุสาหะ คนที่มีหลักมีเกณฑ์เขาเรียกภาวนาเป็น คนภาวนาเป็นนี่นะจะเดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน จะเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา เพราะเหมือนกับมรรคผลนิพพานอยู่แค่เอื้อม
คำว่าอยู่แค่เอื้อมนี่มันจะเอื้อมหยิบเลย เราจะหยิบดาวหยิบเดือนได้ตลอดเวลา แต่มันหยิบแล้วมันจับพลัดจับผลู ดาวมันเคลื่อนไง ดาวเดือนมันเคลื่อนไหว มันหมุนไปตามแรงดึงดูด ตามจักรวาลนี้มันหมุนของมันไป เห็นมันอยู่ตรงนี้ แต่ก็จับแล้วจับผิดจับถูก เพราะว่ามันเหมือนกับมรรคผลนิพพานอยู่แค่เอื้อม ความเพียรมันถึงอุกฤษฏ์ไง
คนที่จะมีความเพียร มีความวิริยะอุสาหะ เพราะว่ามันมีผลงาน ทุกข์นี้ควรกำหนด เวลาทุกข์นี่ทุกข์ยากมาก สุขนี่กำหนดไหมล่ะ เวลามันมีความสุขขึ้นมา ความสุขนี้มันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันเป็นอนิจจังเหมือนกัน แต่ขณะที่จิตมันสัมผัสความสุข มันจะมีความสุขมาก เราก็ตั้งใจของเรา เรากระทำของเรา ในเมื่อการกระทำอันนี้ เราได้เห็นผลมาแล้ว การเห็นผลมานี้มันเป็นเครื่องยืนยัน
คนที่ภาวนาเป็นนะ มันมีจุดยืนมีหลักมีเกณฑ์ แต่คนที่ยังภาวนาไม่ได้เลย จุดยืนของเรามันจะอ่อนแอ อาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พักอาศัย แต่ขณะที่อาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ แต่คนที่ภาวนาเป็นแล้วก็อาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ เพราะสิ่งที่อยู่ข้างหน้านี่เรายังไม่รู้ เหมือนคนไม่เห็นคนไม่รู้จักทาง ดูสิเวลาคนเขาหลงทาง เขาถามแล้วถามอีกนะ ไปทางไหน ไปทางไหน ถ้าคนบอกไม่เป็นนะ ก็บอกกลับทางเก่านั่นล่ะ ย้อนกลับไปก็กลับไปสู่อวิชชาไง
แต่ถ้าพูดถึงคนเป็นแล้วนะครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้ทาง ผู้ชี้ทางมันต้องมีเหตุมีผล เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของเรา ถ้าข้อเท็จจริงเกิดจากการกระทำ ตั้งสติให้ดี แล้วพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วยังจับได้ การจะใช้ไฟดับไฟช่วงต่อไป ช่วงที่ละเอียดกว่า ถ้าเราเห็นไฟเราถึงจุดไฟเข้าไปดับ ให้ไฟกับไฟมันไปชนกัน แล้วมันจะดับของมัน ถ้าเราไม่เห็นไฟ เรายังจับไฟสิ่งนั้นไม่ได้ เราจุดแล้วมันจะไปไหม้สิ่งใดล่ะ มันก็ไหม้ตัวเราเองน่ะสิ
ฉะนั้นถ้าจิตเรา เราตั้งสติของเรา เราตั้งปัญญาของเราแล้วออกรื้อค้น ถ้ามันเห็นนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่เห็นได้ เพราะอะไร กายหยาบ กายนอก กายใน กายในกาย เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา นี่เวทนาเหมือนกัน เวทนาของปุถุชนก็เวทนาแบบโลกธรรม ๘ ด้วยความเป็นอยู่ของโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันก็มีค่าเหมือนกัน
แต่เป็นพระโสดาบัน ดูสิ นางวิสาขา เวลาหลานนางวิสาขาตาย ร้องไห้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิสาขาเธอเป็นอะไร หลานรักมากเลยตายไป แล้วถ้าชาวบ้านทั้งหมดเขาเป็นลูกหลานเธอ เธอไม่ต้องร้องไห้ทุกวันหรือ เพราะมีคนตายทุกวัน สติพร้อมเลย พอยกตัวอย่างขึ้นมานี่พระโสดาบันเข้าใจเลย พอเข้าใจก็หยุด แล้วความเศร้าใจหมดไปเลย
แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ รู้ เพราะพระพุทธเจ้าบอก บอกขนาดไหนก็รู้ แต่เพราะมันมีเชื้อไฟไง พอมีเชื้อไฟมันก็มีไฟเผาลนในหัวใจใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีเหตุมีผล รู้ แต่มันมีเชื้ออยู่ มันเผาอยู่ในหัวใจ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเตือนนางวิสาขา นางวิสาขาหยุด หยุดแล้วดับหมดเพราะเป็นอกุปปธรรม ที่มีอกุปปธรรมเพราะโสดาบันมันรองรับสิ่งนั้นไว้ รองรับความเสื่อม ความอะไรต่างๆ
สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนนางวิสาขา นางวิสาขาปรารถนาอย่างนั้น แต่เวลาปฏิบัติเราไม่ปรารถนาอย่างนั้น เราปรารถนาถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าปรารถนาถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ เราต้องตั้งสติของเรา แล้วทำความสงบของใจ ความสงบของใจมันจะละเอียดกว่า มันละเอียดกว่าเพราะอะไร สัมมาสมาธิของโสดาปัตติมรรค กับสัมมาสมาธิของสกิทาคามรรค ถ้าสกิทาคามรรค ดูสิมันมีกำลังมากกว่า สมาธิเหมือนสมาธินี่แหละ แต่มันมีขั้นตอนของมัน มันมีกำลังมากกำลังน้อยของมันไง เพราะกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด
ถ้ากิเลสอย่างละเอียด กำลังที่มันละเอียดกว่า มันจะย้อนเข้าไป แล้วเข้าไปเห็นกาย กายในกายไม่ใช่กายนอก กายนอกคือการทำความสงบของใจเข้ามา กายในคือชำระล้างสิ่งที่เป็นสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา กายในกายเข้าไป มันลึกซึ้งเข้าไป กายนี้มันเป็นอุปาทานการยึดของจิต จิตมันยึดเฉยๆ เพราะมันเป็นอุปาทาน
ถ้าวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัย วิจิกิจฉาคือความไม่เข้าใจในสักกายทิฏฐิ พอมันเข้าใจสักกายทิฏฐิ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันปล่อยวาง แต่อุปาทาน เพราะกายก็คือกาย จิตก็คือจิต เพราะจิตมันมีอวิชชา มันมีภวาสวะ มันมีภพ สิ่งที่มันทิ้งเชื้อไขไว้ พอมันทิ้งเชื้อไขไว้มันก็อุปาทาน มันก็เกาะไว้อยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้าเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเกาะไว้อย่างนั้น มันจะให้ผลแตกต่างกัน ผลของการพิจารณากายในสักกายทิฏฐิ มันให้ผลอย่างหนึ่ง ผลของการพิจารณาสิ่งที่เป็นอุปาทาน ความรับรู้มันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเหมือนกัน มันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคาไม่ได้
สิ่งที่เป็นโสดาบัน เพราะพื้นฐานของจิตทุกดวง พื้นฐานของหัวใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มันมีอวิชชา มันมีความยึดมั่น มันมีความเข้าใจ มันมีความเป็นไปของสัญชาตญาณ แต่พอเวลาพิจารณาเข้าไปถึงที่สุดแล้ว พอมันปล่อย วิจิกิจฉาปล่อยความยึดมั่นถือมั่นของกายเข้ามา จิตมันปล่อยเข้ามาแล้ว จากกายใน กายในกาย พอกายในกายพิจารณาซ้ำ พิจารณาอย่างเดิมนั่นล่ะ
พิจารณาอย่างที่เคยพิจารณา พิจารณาให้มันแยกแยะให้มันแปรสภาพของมันไป ด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา ถ้ากำลังของสมาธิมันมีมันหนุนขึ้นมา กำลังของมันจะน้อมไป รำพึงไป ให้กายมันแปรสภาพของมันไป ให้มันไปสู่สถานะของเขา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ถ้ามันพิจารณาไปมันก็ปล่อย ปล่อยคือจิตเป็นตทังคปหาน ปล่อยคือการฝึกฝนการใช้ปัญญา
การทำความสงบของใจ เรายังต้องมีสติปัญญาเพื่อความสงบของใจ ถ้าคนทำสมาธิคล่องแคล่วมันมีความสงบเข้ามา แล้วความสงบลึกหรือตื้นอย่างไร มันก็ทำของมันได้ มันมีสติปัญญามันใคร่ครวญ ถ้าความลึกซึ้ง ความเป็นสมาธิที่ยังไม่พอ มันเป็นสมาธิอยู่แล้ว เราก็ใช้คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธต่อเนื่องเรื่อยไป จากที่มันสงบเล็กน้อย มันสงบมากขึ้น สงบลึกซึ้ง เราวัดของเราได้ เราจะไปจุดไฟ ดับไฟที่ไหน ดับในที่ราบ ดับในที่บนภูเขา ในป่าพรุ
นี่ก็เหมือนกัน เราจะใช้กำลังของเรามากน้อยแค่ไหน ป่าพรุ ป่าชุ่มน้ำนี้เราจะจุดไฟติดไหม ในเมื่อมันเป็นป่าพรุ มันเป็นป่าชุ่มน้ำ แต่เพราะว่ามันมีเชื้อไข มีเชื้อไฟอยู่มันถึงติด ป่าพรุมันก็ติดได้ แต่เราจะจุดไฟให้มันเข้าไปดับป่าพรุนั่น เราจะใช้กำลังมากน้อยแค่ไหน มันถึงต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้กำลังมันเพิ่มมา คนทำสมาธิเป็น เราจะรู้เลยว่ากำลังเราพอมากน้อยแค่ไหน พอเรากำหนดพุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ กำลังมันมีมากขึ้นมาระดับที่เราใช้งานได้ คำว่าใช้งานได้ มันออกใช้ปัญญาพิจารณาไปแล้วมันทะลุทะลวงไง มันปล่อย
ปล่อยนี่เป็นตทังคปหานนะ เพราะมีพื้นฐานของสัมมาสมาธิ เราถึงเกิดปัญญา พอเกิดปัญญาขึ้นมามันจะชำระล้าง มันทะลุทะลวงเข้าไป ให้จิตกับกิเลสที่มันเกี่ยวเนื่อง อุปาทานที่มันยึดมั่นมันปล่อย แต่มันไม่ชำระล้าง พอมันปล่อยขึ้นมา นี่กำลังของสมาธิมันพอ พอมันปล่อยแล้วก็คือจบกระบวนการอันหนึ่ง
เวลาทำงาน เราทำอาหารในครัว ทำอาหารเสร็จแล้ว เราออกมากินกันแล้ว เสร็จแล้วเราก็ต้องเก็บล้างมันใช่ไหม เดี๋ยวเราก็กินมื้อใหม่ต่อไปใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลามันปล่อย มันปล่อยคืองานรอบหนึ่งของการใช้ปัญญา งานรอบหนึ่งของมรรคญาณ งานรอบหนึ่งของธรรมจักรที่มันหมุนออกไป จักรจะเคลื่อน จักรจะหมุนออกไป หมุนคือชำระกิเลส ขณะปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วคือว่าสุขไง
ปล่อยแล้วคือสุข จบกระบวนการหนึ่ง แต่มันยังมีเชื้อไข สิ่งที่เป็นเชื้อไขมันจะตกซ้ำตกซาก ที่จะทำให้เกิดไฟรอบใหม่ต่อไป ถ้าเราไม่ดูแลรักษาขึ้นไป เดี๋ยวมันก็ไหม้บ้านไหม้เรือนเราเหมือนกัน ถ้าเราจะมีสติปัญญาขึ้นมาเราก็กลับมา พอมันปล่อยแล้วมันก็มีความสุข เราก็กลับมาที่จิต กลับมาทำพุทโธ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้เกิดฐานของสมาธิ แล้วก็ออกไปพิจารณาต่อ
นี่ไง เพราะเราจุดไฟเพื่อจะดับไฟ พอดับแล้ว ไฟจะมาช้ามาหลัง มาไม่พร้อมกันมาต่างๆ มันคนละทิศทาง ลมพัดเปลี่ยนทิศต่างๆ นี่ไง เวลาพิจารณาไปมันมีเหตุมีผลของมัน เราถึงต้องตั้งสติปัญญาของเรา แล้วเข้าไปพิจารณาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดกระบวนการของมรรคญาณมันต้องเป็นสัจธรรม
สัจจะ อริยสัจจะ มันเกิดโดยสัจจะ เกิดโดยการกระทำของเราอยู่แล้ว ถ้าเกิดโดยข้อเท็จจริง โดยการกระทำที่มันฝึกมันซ้อม มันกระทำของมัน เราทำแล้วทำเล่าบ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดมันเผาเชื้อไข เชื้ออะไรต่างๆ จนสิ้นกระบวนการทั้งหมดเลย สมุจเฉทปหาน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แยกออกจากกันเป็นสัจธรรม กายกับจิตแยกออกจากกัน โลกนี้ราบหมด มันปล่อยหมดนะ รวมเข้ามาละเอียดอ่อนมาก
นี่ดูความสุขสิ สักกายทิฏฐิอย่างหนึ่ง มีความสุขอย่างหนึ่ง มันปล่อยวางอย่างหนึ่ง เวลาชำระอุปาทาน จิตที่มันมีอุปาทานยึดไว้เฉยๆ ระหว่างกายกับจิต แล้วเวลามันปล่อย ทำไมมันลึกซึ้งกว่าล่ะ เพราะว่าผลของมันแตกต่างกัน แตกต่างกันเพราะกำลังของสกิทาคามรรค กับกำลังของโสดาปัตติมรรคกำลังแตกต่าง กำลังแตกต่างต้องให้ผลแตกต่าง
กำลังความรู้สึกก็คือทุนไง เรามีทุนเห็นไหม เงิน ๑๐๐ บาทกับเงิน ๑,๐๐๐ บาทให้ผลให้ค่าต่างกัน เงิน ๑๐๐ บาทก็ใช้ประโยชน์ได้แค่ ๑๐๐ บาท เงิน ๑,๐๐๐ บาท ก็ใช้ประโยชน์ได้ ๑,๐๐๐ บาท ผลของโสดาปัตติมรรค เวลามันชำระล้างขึ้นมา สักกายทิฏฐิมันปล่อย มันขาดพั่บ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตรวมลง มีความสุขมาก เป็นความสุขของอกุปปธรรม
พอเราดำเนินการต่อไป พิจารณาซ้ำๆๆๆ จนอุปาทานมันขาดออกไประหว่างกายกับจิตแยกออกจากกัน โอ้โฮ ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจนไม่มีอะไรเลย โลกนี้ว่างหมดเลย เป็นพระอรหันต์เลย นึกว่านิพพานเลย สิ่งต่างๆ เห็นไหม นิพพานขนาดไหน จิตมันเป็นนามธรรม จิตที่ชำระล้างกิเลสเข้ามา แล้วยิ่งกิเลสมันรู้สึกตัวนี่ มันจะคอยหลบคอยซ่อนอยู่ในจิตของเรา กิเลสเกิดจากจิต กิเลสเป็นอวิชชาครอบงำจิตมา
แล้วเวลาเราปฏิบัติธรรมขึ้นมา ธรรมะที่มันเกิดขึ้นมา ที่กำลังต่อสู้กัน มรรคญาณ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนะ ธรรมและวินัยเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นอาวุธ เป็นการกระทำ เป็นการฝึกฝน เป็น ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เป็นมงคลชีวิต เป็นมงคลเกิดจากจิต สิ่งต่างๆ กิเลสเกิดจากจิต แล้วทำลายจิตอยู่ตลอดเวลา
เราออกมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โดยมีกำลัง มีศรัทธา มีความเชื่อ แล้วปฏิบัติขึ้นมาจะได้ผลงานของเราขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา พิจารณาต่างๆ ขึ้นมา จนเป็นมงคลกับเรา เป็นมงคลชีวิต มงคลชีวิตนี่เกิดขึ้นมาจากไหน เกิดจากการกระทำของเรา เราพิจารณาของเราขึ้นมา มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันมีความอิ่มเอม มันมีความปลื้มใจ นี่ไง ศากยบุตรพุทธชิโนรสมันจะเกิดขึ้นมาจากการกระทำ
ถ้าจิตมันว่านี่คือนิพพาน นี่คือความว่างขนาดไหน อันนั้นเพราะว่าสิ่งที่เป็นคุณค่าที่มีความละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ จิตของเรามันหยาบ มันเข้าถึงไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราตั้งสติปัญญาของเรา ถ้าเกิดสติขึ้นมา ฝึกไปจนเป็นมหาสติ จากสติปัญญาเพราะอะไร เพราะความคิดกับจิตมันกระทบกัน มันก็รับรู้ได้
แต่เวลาทำลายความคิดจนหมดไปแล้ว พอจิตมันทำลายความคิดอย่างหยาบๆ มาหมดแล้ว ตอนนี้จิตมันเป็นความคิดโดยตัวของมันเอง จะเอาอะไรไปจับมันล่ะ มันถึงจะต้องมีมหาสติ กำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ นั่นล่ะมหาสติ แล้วมันจะเกิดมหาปัญญา เพราะเหตุใดถึงเกิดเป็นมหาปัญญา
ดูสิเวลาไฟมันไหม้โลก ระเบิดนิวเคลียร์ลงมานี่เราจะช่วยเหลือมนุษย์อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน โลกทัศน์คือหัวใจ คือภพ คือสิ่งต่างๆ ที่เราจะทำลายมัน พอเราเข้าไปสิ่งที่ละเอียด เราจะดับไฟที่เป็นระเบิดนิวเคลียร์ นิวเคลียร์ที่ทำลายหัวใจนี่มันจะทำอย่างไร มันถึงมีมหาสติ มหาปัญญา ไฟอันละเอียดลึกซึ้ง ไฟอันสุขุมคัมภีรภาพ มันจะเข้าไปทำลายสิ่งที่เป็นนิวเคลียร์ เป็นสารพิษ เป็นอะไรต่างๆ ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
เวลามันพิจารณาไปมันจับต้องของมัน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันพิจารณาออกไป เป็นมหาสติ มหาปัญญา เพราะมันจับกาย เวทนา จิต ธรรม อันละเอียดลึกซึ้ง มันจับขึ้นมามันเขย่าหัวใจ เขย่าหัวใจว่า อู้ ไหนว่านิพพาน ไหนว่าว่างหมด ไหนว่างไม่มีไง
ถ้าวุฒิภาวะมันหยาบๆ มันก็รับรู้ได้หยาบๆ แล้ววุฒิภาวะมันพัฒนาขึ้นมาจากโสดาปัตติมรรคเป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามรรคเป็นสกิทาคาผล แล้วกายกับจิตมันแยกออกจากกันเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มันลึกซึ้ง สิ่งที่เป็นภวาสวะภพนี้มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันละเอียดลึกซึ้งจนเราก็เข้าใจไม่ได้ว่าเราจะทำงานอย่างไรเลยล่ะ
แต่เพราะเรามีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำใช่ไหม เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นลูกศิษย์ลูกหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะสร้างหัวใจขึ้นมาให้เข้าสู่ธรรม พอจิตมันละเอียดลึกซึ้งเข้ามา มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันมีวุฒิภาวะสูงขึ้นมา มันมีฐานของมัน มันสร้างกระบวนการขึ้นมาจนเป็นมหาสติ มหาปัญญา
มหาสติมหาปัญญานี่มันเข้าไปจับตัว กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ กายนอก กายใน กายในกาย กายอันละเอียดลึกซึ้งมหาสติมหาปัญญามันจับขึ้นมาเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะเพราะเป็นมหาสติมหาปัญญา มันพิจารณาใคร่ครวญของมัน ถ้ามันจับได้มันถึงเกิดมหาปัญญา ถ้ามันจับไม่ได้มันเกิดมหาสติ มหาสติมันเกิดมหาสมาธิ สมาธิมันเกิดมันก็มีความลึกซึ้ง ว่าง อู้ฮู มีความสุข อู้ฮู นิพพาน มันก็นอนจมอยู่ใต้กามราคะ อยู่ใต้กระบวนการของสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สิ่งที่เป็นความละเอียดลึกซึ้ง ไฟที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
แต่ถ้ามันพิจารณาของมันขึ้นมานะ มันจะเป็นมหาสติ สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มันก็มีกระบวนการที่เข้าไปชำระล้างได้ พอกระบวนการชำระล้างขึ้นมา มันพิจารณาของมันขึ้นมา พอมันจับได้มันเกิดปัญญา ปัญญามันใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องมีความขยันหมั่นเพียร
คำว่าขยันหมั่นเพียรนะ ดูสิงานหยาบๆ ขึ้นมา ดูตั้งแต่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรคนี่ เราก็ล้มลุกคลุกคลาน เราก็ต่อสู้กับมันด้วยกำลังศรัทธา กำลังความเพียรของเรามหาศาลเลย แต่เมื่อเป็นมหาสติมหาปัญญาขึ้นมาแล้ว มันลึกซึ้งขนาดนั้นแล้วเราจะทำสิ่งใด ดูสิ เวลาคนเขาบริหารจัดการ ในออฟฟิศเขาทำของเขา เขาดูแลของเขา เครื่องยนต์กลไกของเขา เขาไม่ให้คนนอกเข้าไปนะ เราไม่ได้ทำงานปัดฝุ่นข้างนอก เราเป็นกรรมกรแบกหามทำงานอยู่นอกอาคาร แต่ไอ้คนที่บริหารจัดการเขาอยู่ในอาคารนะ อยู่ในอาคารของเขา เขาทำงานละเอียดของเขา
นี่ก็เหมือนกัน แล้วเราจะเข้าไปชำระล้าง เราจะเข้าไปต่อสู้กับกิเลส เราจะมีปัญญาอย่างไรที่จะเข้าไปต่อสู้กับมัน เราถึงตั้งสติ พอเป็นมหาสติมหาปัญญานี่มันละเอียดลึกซึ้งมาก แล้วใจจะน้อมนำจนจิตมันเห็นนะ เห็นสิ่งที่เป็นขันธ์อันละเอียดที่มันเกิดจากจิต พอเห็นขันธ์อันละเอียดแล้วจับได้ พอจับได้ก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ถ้าพิจารณาโดยปัญญา มันจะเห็นจิต เห็นขันธ์อันละเอียด เห็นสิ่งที่เป็นกามฉันทะในตัวเอง
กามฉันทะคือตัวภพ คือตัวเรา คือตัวมี ไง ถ้าไม่มีตัวมี ไม่มีสถานที่ ไฟมันจะไหม้บนอะไร ถ้าไฟมันจะไหม้นี่มันต้องมีสถานที่ให้มันไหม้ นี่ไง เพราะมันมีที่ละเอียด มันมีที่รองรับ ดูสิ ดูสารพิษในอากาศที่เราไม่เห็นเราจะรู้ได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน นี่มันเป็นสารพิษในโลกนะ แต่สารพิษในใจ สารพิษของสิ่งๆ ต่างที่มันเกิดขึ้นมาจากใจ เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ละเอียด
ทีนี้พอจิตที่มันละเอียดกว่า มรรคญาณ อนาคามรรค สกิทาคามรรคกับอนาคามรรค อนาคามรรคมันจะละเอียดลึกซึ้งกว่า มันเป็นมหาสติมหาปัญญา มันมีสติปัญญาที่มันเข้าไปละเอียดอ่อนลึกซึ้ง คือมันต้องตั้งสติให้ดี
คนที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลาปฏิบัตินะ ถ้าปัญญามันเริ่มจุดติด เวลามันหมุนขณะที่เป็นอนาคามรรคนี่จะอยู่กับใครไม่ได้ ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติท่านจะแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว เพราะทุกวินาที ทุกสิ่งการเคลื่อนไหวของจิต สติมันทัน มหาสติมันทันหมด แล้วงานข้างนอก ความเป็นอยู่ที่เราดำรงชีวิตกัน ที่บอกว่านกก็มีรวงมีรัง เราต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ เราต้องมีกิจของสงฆ์ เราต้องทำงานร่วมกัน มันก็ไปขัดแย้งกับสิ่งที่ละเอียดอ่อนในหัวใจ
ฉะนั้นสิ่งที่ละเอียดอ่อนในหัวใจ มันจะอยู่กับสิ่งหยาบๆ อย่างนี้ไม่ได้เลย เห็นว่าสิ่งนี้เป็นของไร้สาระ ดูสิ จิตของเราที่มันกำลังจะพ้นจากทุกข์อยู่แล้ว แล้วไอ้นี่มันเรื่องของโลกๆ เวลาปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติบูชาด้วยใจเป็นธรรม ดูสิเวลาบอกว่ามันจะคว้าดาวคว้าเดือน มันจะหยิบดาวหยิบเดือนบนฟ้านะ นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะเอามรรคเอาผล มันจะคว้า มันจับผิดจับถูก ตะครุบแล้วตะครุบอีก แล้วมันจะทำอย่างใด
สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านรู้ของท่าน ท่านเห็นของท่าน ท่านจะเปิดโอกาสให้ แล้วท่านจะคอยดูแลไม่ให้ใครสิ่งใดเข้ามากระทบกระเทือนอันนี้ เพราะเหตุการณ์อย่างนี้
ดูสิ เวลาเราทำงานวิจัยต่างๆ ทางโลก สิ่งที่เราจะประสบความสำเร็จเพื่อเอามาเป็นประโยชน์กับโลก ทุกคนต้องรอคอยผลงานนั้นใช่ไหม แล้วนี่หัวใจที่ประพฤติปฏิบัติ หัวใจที่มันจะพ้น มันจะเอาไฟตบะธรรม มหาสติ มหาปัญญา ไฟอันละเอียดที่มองด้วยตาเปล่าไม่ได้ เอาไปชำระไฟที่มองไม่เห็นนี่ มันจะเป็นประโยชน์กับศาสนา ประโยชน์กับศากยบุตรพุทธชิโนรส มันจะเป็นประโยชน์กับโลก ประโยชน์เกิดกับบุคคลคนนั้นก่อน ประโยชน์เกิดจากการกระทำของใจที่มันกำลังต่อสู้กัน ใจที่เป็นอริยมรรค มรรคที่มันละเอียดอ่อนในหัวใจ มรรคญาณที่มันเคลื่อนตัว มันเคลื่อนตัว มรรคกับจักร นี่ปัญญามันหมุน หมุนเพราะจักรมันหมุน ธรรมมันหมุน พอหมุนแล้วหมุนอย่างไร
มันหมุนด้วยมรรค ๘ ด้วยงานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ ความระลึกชอบ สติปัญญาชอบ ด้วยความชอบธรรมของมัน จนเป็นมหาสติมหาปัญญา แล้วมันเข้ากลืนกินทำลายกัน มันจะละเอียดอ่อนลึกซึ้งและเร็วมาก แล้วมันมีการต่อต้าน มีการกระทำ เหมือนสิ่งที่มองไม่เห็น พอลมพัด มันรู้แต่อากาศที่มันพัดเปลี่ยนทิศทางไป พอเปลี่ยนทิศทางไปทางไหน พัดไปทางไหนคนทางนั้นจะต้องลมตายกันเป็นเบือเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราตั้งใจของเรา มันพัดเปลี่ยนทิศทาง แล้วเราจะควบคุมอย่างไรให้มันถูกต้องตามหลักธรรม เราจะควบคุมสิ่งต่างๆ จิตใจที่มันเป็นมหาสติมหาปัญญาที่มันเคลื่อนไหว เราจะทำอย่างไรให้มันสมดุล ให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า การควบคุมทิศทางมันจะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา จนทันกัน จนสิ่งนี้มันจะเปลี่ยนทิศทางไม่ได้ จะเปลี่ยนทิศทางขนาดไหน สติปัญญาก็คอยตะล่อมเข้ามา
ถึงที่สุดทำลายกันจนครืนกลางหัวใจนะ เพราะมันจะกลืนเข้ามาๆ จนถึงตัวเอง แล้วทำลายตัวมันเองเห็นไหม ไฟตบะธรรมที่มันจะเผาไฟกามราคะ ทำลายกามราคะออกไปจากหัวใจ แล้วฝึกซ้อมบ่อยครั้งเข้า ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก ลึกซึ้งเข้าไปเพราะอะไร เพราะอนาคา ๕ ชั้น พิจารณาเข้าไป ปล่อยวางเข้าไป จะตามสืบกระบวนการของจิตเข้าไปสู่ภวาสวะ เข้าไปสู่ภพ เข้าไปทำลายจนถึงที่สุดแล้วมันปล่อยวาง ว่างหมดเลย
ความว่างอย่างนี้มันเกิดจากอะไร ดูสิ เราเห็นไฟที่มันแผดเผาทำลายโลก ทำลายสิ่งต่างๆ ทำลายทุกอย่าง ทำลายชีวิตคน มันทำความเสียหายมาทั้งนั้นเลย แต่เพราะเรามีศักยภาพ เพราะเราว่าเรามีวุฒิภาวะ เรามาประพฤติปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ของเรา กับประพฤติปฏิบัติจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางมา เราพัฒนาการขึ้นมา จนถึงที่สุดว่างหมดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย
เพราะความไม่มีสิ่งใดเลย มันถึงจับต้องสิ่งใดไม่ได้ พอจับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันจะสิ้นสุดกระบวนการของมันได้อย่างไร สิ่งที่จับกระบวนการ สิ่งที่จิตจับต้องไม่ได้ แล้วความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน สิ่งที่เป็นไฟ ความรู้สึกที่ว่าเป็นเรา ความรู้สึกอันนี้มันอยู่ที่ไหน ถ้ามีสติปัญญามันจะย้อนกลับมา มันจะย้อนกลับมาจุดและต่อม กลับมาสิ่งที่รับรู้ สิ่งที่เป็นไปนะ สิ่งที่ภวาสวะ สิ่งที่เป็นภพ สิ่งที่เป็นไฟแล้วมันเผาไหม้ขึ้นมาไง สิ่งที่ไฟเผาไหม้ขึ้นมา เพราะมันมีภพ มีสถานที่ มีเชื้อมีไขขึ้นมามันก็ยังเผาขึ้นมาได้ แต่พอมันทำลายหมดแล้ว มันทำลายสิ่งที่เป็นไฟ ไม่มีไฟ ไม่มีควันต่างๆ มันจะละเอียดเข้าไปจนไม่มีสิ่งใดเลย แล้วพอมันทำลายว่างหมดแล้วมันเหลืออะไรล่ะ
สิ่งที่มันยังเหลืออยู่ มันยังเป็นไปได้อยู่ มันยังไปเกิดบนพรหม ถ้าตายไปแล้วก็ไปเกิดบนพรหม เพราะพรหมมีขันธ์เดียว พรหมมีขันธ์ ๑ ที่มันละเอียดลึกซึ้ง แล้วที่เราหยาบอยู่นี่ เราเป็นมนุษย์ เวลาพูดธรรมะกันเราพูดด้วยสัญชาตญาณ เราพูดด้วยภาษา แต่เวลาจิตมันละเอียดเข้าไป มันพูดด้วยภาษาไม่ได้ มันไม่มีภาษาจะพูด จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันไม่มีภาษาอะไรจะมาสื่อมันได้เลย ถ้าสื่อไม่ได้แล้วมันจะรู้ตัวมันเองได้อย่างไรล่ะ มันจะมีสติปัญญาของมันได้อย่างไร ที่บอกว่าสติเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติมันก็ส่งออกไง แต่ถ้ามันมีอรหัตตมรรคล่ะ
อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นญาณหยั่งรู้ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญามันเกิดจากการกระทบนะ ต้องมีพลังงานกับ ขันธ์ ๕ กับสังขาร มันถึงเกิดปัญญา แล้วการเกิดที่มันละเอียดลึกซึ้งจนมันกระทบกันกับสิ่งใดไม่ได้ เพราะมันละออกมาหมดแล้ว มันเป็นพลังงานเพียวๆ พลังงานเฉยๆ พลังงานเปล่าๆ พลังงานนี่คือธาตุ สักแต่ว่า ธาตุรู้ ธาตุรู้มันเคลื่อนไปในอากาศ แล้วมันจะไปรู้กับใครล่ะ สัตว์เซลล์เดียว ไม่มีอะไรกระทบ แล้วอะไรจะจับต้องมัน
นี่ไง จุดเริ่มต้นการแผดเผานะ ดูสิ ไฟมันมาจากไหน ดูพลังงานที่มันมา มันมาอย่างไร ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็ว่า โอ้ นี่ล่ะนิพพาน นี่สิ้นสุดกระบวนการแล้ว นี่ล่ะการปฏิบัติแล้ว นี่แหละคือตัวกิเลส นี่คือตัวสุดวิสัย ตัวที่การกระทำ เวลาปฏิบัติเข้าไปอย่างนี้เหมือนกับสุดวิสัยเลย เพราะมันมีอะไรถึงสืบต่อเข้าไปถึงจุดนี้ได้ แต่เพราะมันมี
สิ่งที่ว่า โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามรรค เราก็ว่ากันไป เวลาอรหัตตมรรคขึ้นมา แล้วอรหัตตมรรคเป็นอย่างไร แล้วอรหัตตมรรคมันอยู่ที่ไหน แล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นมา ตัวจิตคือตัวอวิชชา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ข้ามพ้นกิเลส เพราะอะไร ถ้ามันไม่มีอรหัตตมรรคมันจะข้ามพ้นไปได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีอรหัตตมรรคเห็นไหม
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส ถ้าไม่มีอรหัตตมรรค มันก็ผ่องใส แล้วมันก็เป็นกิเลสของมัน ตัวผ่องใสคือตัวกิเลส ตัวผ่องใสคือตัวจิตเดิมแท้ ตัวจิตเดิมแท้ที่เป็นนามธรรม ถ้ามันจะผ่องใส มันก็คู่กับเศร้าหมอง ถ้ามันจะว่าง มันก็คู่กับไม่ว่าง มันมีความรู้ของมันอยู่คนเดียวที่มันไม่มีอะไรไปขัดแย้งกับมัน ไม่มีสิ่งใดไปกระทบกระเทือนกับมัน แล้วจะรู้ได้อย่างไร
ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยเตือน แล้วย้อนกลับเห็นไหม พลังงานที่ย้อนกลับ น้ำไหลขึ้นสู่ที่สูง น้ำที่มันจะขึ้นสู่ที่สูงได้เพราะเขาทดขึ้น มันถึงจะขึ้นสู่ที่สูงได้ น้ำต้องไหลลงต่ำ โดยธรรมชาติของจิตคือมันส่งออก แล้วมันจะย้อนกลับได้อย่างไร มันย้อนกลับไม่ได้ แต่เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์นี้มันถึงมีของคู่ควรกัน
เพราะมีอรหัตตมรรค มีความคู่ควรกันของธรรม เพราะมีธรรม!!! เพราะมีสัจธรรม เพราะมันมีความจริง เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันถึงมีสัจธรรม แล้วสัจธรรมนี้มันสร้างตัวขึ้นมา การสร้างตัว การรับรู้ของมันขึ้นมา แล้วมันจะขึ้นมาถึงตัวนั้น แล้วทำลายตัวมันเอง ทำลายด้วยตัวของเขาเอง ด้วยตัวของจิตเอง จิตทำลายจิตนะ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป อาสวะกับจิต ทำลายตัวจิต ตัวกระบวนการของจิตทำจนสิ้นไปจนหมดกระบวนการของมัน ไม่มีสิ่งใดๆ เลย เป็นธรรมธาตุ สิ่งที่เป็นสัจธรรม ธาตุรู้คือธาตุของกิเลส ถ้าเป็นธรรมล่ะ สิ่งที่สิ้นกระบวนการ จิตที่ไม่เคยตาย พอทำสิ้นกระบวนการของเขาแล้ว ทำลายจิตแล้วมันเหลืออะไร
มนุษย์เพราะมีจิต เพราะมีการกระทำของมันไปใช่ไหม พอทำลายแล้ว แผดเผาหมดแล้ว นี่ไฟดับไฟ เอาไฟคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตบะธรรม ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เป็นมงคลชีวิตที่เข้าไปทำลายถึงที่สุดแล้ว แล้วมันเหลือสิ่งใดล่ะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นี่เวลาสนทนาธรรม ครูบาอาจารย์สนทนาธรรมกัน ธรรมที่เป็นธรรมขึ้นมามันสื่อสารกัน
ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้ามันมีความจริง ความจริงก็คือความจริง ความจริงกับความจริงจะเข้ากัน แต่ถ้าไม่จริง สิ่งที่ไม่จริงคือสิ่งที่โกหดมดเท็จ ความโกหดมดเท็จมันจะเข้าอยู่กับความโกหดมดเท็จ มันจะเป็นความจริงได้อย่างไร ถ้าความจริงมันต้องมีข้อเท็จจริง มันต้องมีองค์ความรู้ของความจริง ความจริงต้องมีการกระทำของมันขึ้นมา ไม่ใช่ความจริงจากความจำ ความจริงของการจำ จำธรรมะของพระพุทธเจ้ามา ธรรมของครูบาอาจารย์มา เป็นความจำขึ้นมา พูดคำเดียวกันเพราะจำมาพูด แต่ไม่มีข้อเท็จจริงของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นไม่มีข้อเท็จจริงขึ้นมา เพื่อให้มันเป็นกระบวนการขึ้นมา มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร
แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เป็นความจริง มีการกระทำขึ้นมา นี่มันถึงบอกว่า ในวงของกรรมฐาน ในวงของครูบาอาจารย์เรา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นลงมา มันมีหลักมีเกณฑ์ มีความจริงในหมู่ในคณะ ในวงกรรมฐาน ในวงพระป่าของครูบาอาจารย์เรา มีหลักมีเกณฑ์ให้พวกเราเป็นธรรมเจดีย์ ให้เราได้พึ่งได้อาศัย เป็นเจดีย์ เป็นยอดแห่งธรรม ให้พวกเรานักปฏิบัติมีครูมีอาจารย์ มีกตัญญูกตเวที ให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ให้เคารพครูบาอาจารย์
ถ้าเราเคารพครูบาอาจารย์ ก็เท่ากับเคารพตัวเราเอง ถ้าเราไม่เคารพครูบาอาจารย์ เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากคือคนหยาบคนหนา เห็นแต่ความสะดวกสบาย เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่ศักยภาพ หลวงปู่มั่นบอกไว้ มันจะเอาเยี่ยง ไม่เอาอย่าง เอาเยี่ยงคือเอาเกียรติศัพท์เกียรติคุณของครูบาอาจารย์ไปหาอยู่หากิน มันไม่เอาอย่าง มันไม่ประพฤติปฏิบัติ มันไม่ทำตาม มันไม่กตัญญูกตเวที มันไม่ทำตามครูบาอาจารย์ มันจะเอาเยี่ยง เอาชื่อ เอาเสียง เอาสิ่งต่างๆ ของหลักของเกณฑ์ของกรรมฐาน มันเลยจำเอา จำคำพูดไปพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีสิ่งใดในหัวใจ
ถ้ามีสิ่งใดในหัวใจมันชำระกิเลสไปแล้ว มันจะต้องการสิ่งใด เพราะสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ชื่อเสียงลาภสักการะต่างๆ มันเป็นเรื่องของขี้! มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะจิตใจมันมีกิเลส มันถึงต้องการเหยื่อ แต่ถ้าจิตใจเป็นธรรม สิ่งนี้มันเห็นเป็นขี้
คนกินขี้ คนนั้นโง่มาก คนฉลาดเขาไม่กินขี้ เอวัง