ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สังโยชน์มัดจิต

๒๑ พ.ย. ๒๕๕๒

 

สังโยชน์มัดจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะพูดเรื่องสังโยชน์ว่าสังโยชน์มันมัดจิต เพราะถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าจะไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร แล้วจิตมันคืออะไร แล้วชีวิตนี้มาจากไหน ไม่มีใครรู้อะไรเลย แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วเพราะอะไร เพราะละสังโยชน์ทั้งหมด ปลดเปลื้องสังโยชน์ออกจากใจทั้งหมดก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่จิตทุกดวงมันมีสังโยชน์โดยธรรมชาติของมัน

คำว่าสังโยชน์มันเป็นบัญญัติ เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าที่บัญญัติไว้ว่าสังโยชน์ร้อยรัดจิตไว้ เพราะมีสังโยชน์ แต่เวลาเราแก้กันเราไม่ได้แก้ที่สังโยชน์ เราไปแก้กันที่กิเลสเห็นไหม สังโยชน์คือหนี้ แต่สิ่งที่เราจะมีหนี้ เราเป็นลูกหนี้แล้วเราก็เป็นเจ้าหนี้ มันมีเป็นทั้งลูกหนี้ เป็นทั้งเจ้าหนี้ ไม่มีใครเป็นลูกหนี้ทั้งหมด ไม่มีใครเป็นเจ้าหนี้ทั้งหมด กรรมดีเป็นเจ้าหนี้ กรรมชั่วเป็นลูกหนี้ ผลของการกระทำคือสังโยชน์คือหนี้ ผลของการกระทำเป็นกรรมใช่ไหม พอการกระทำ ผลของกรรมอันนั้นเป็นหนี้ แล้วเราไม่ได้ใช้หนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ทีนี้จิตทุกดวงๆ ที่สร้างมานี่กรรมดีเห็นไหม เป็นเจ้าหนี้ เจ้าหนี้หมายถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ทำคุณงามความดีตลอดไป ๔ อสงไขย ความดีต่อความดี ความดีต่อความดี เป็นจักรพรรดิ เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นต่างๆ นี่เกิดตลอดเวลา แต่มันเกิดดีเห็นไหม สังโยชน์มันก็ร้อยรัด เกิดชั่วสังโยชน์มันก็ร้อยรัด สังโยชน์มันรัดไว้หมด ถ้าไม่มีสังโยชน์คือไม่มีพลังงาน ตัวพลังงานเป็นอันหนึ่ง ตัวกิเลสเป็นอีกอันหนึ่ง นี่ตัวพลังงานมันเป็นสังโยชน์ มันเป็นหนี้ มันเป็นมูลหนี้ ทีนี้มูลหนี้ถ้าไม่ใช้มูลหนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้นจิตนี้มีสังโยชน์ สังโยชน์รัดที่จิต ทีนี้สังโยชน์รัดที่จิต แล้วจิตมันมีสังโยชน์มันปิดบังไว้หมดเลย ทีนี้พอสังโยชน์มันปิดบังไว้หมดแล้ว ตัวจิตเองมันก็ยังเป็นตัวภพ เป็นตัวกิเลสอีกเหมือนกัน ตัวจิตเองก็เป็นตัวกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส พลังงานตัวนั้นคือตัวภพ ฐีติจิตคือตัวภพใช่ไหม ตัวสังโยชน์เป็นมูลหนี้รัดไว้อีกทีหนึ่ง

ทีนี้ถ้าจิตมันมีสังโยชน์อยู่แล้วมันจะเวียนตายเวียนเกิดโดยธรรมชาติของมัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ถอดถอนองค์แรก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอดถอนองค์แรก จึงเห็นตามความเป็นจริงว่าถอดถอน พระอรหันต์ไม่มีสังโยชน์เลย แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา เพียงแต่สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว สังโยชน์ขาดไป ๕ ตัวเห็นไหม มันก็ยังเกิดอีก เพราะยังมีสังโยชน์อันละเอียด

นี่สังโยชน์มันมีอยู่ในธรรมชาติของมัน ไม่ใช่ว่าสังโยชน์ไม่มี ทีนี้คำว่าสังโยชน์มันมีอยู่แล้ว ถ้าว่าเด็กไม่มีสังโยชน์เป็นไปไม่ได้ อันนี้บอกเด็กไม่มีสังโยชน์ หนึ่ง สองเขาบอกว่าเด็กไม่มีสังโยชน์เพราะ ไอ้เพราะนี่สำคัญมากเลย เพราะว่าเด็กมันไม่รู้จักสังโยชน์ก็เลยไม่มีสังโยชน์ เด็กไม่มีการยึดมั่นถือมั่น คือเด็กเข้าใจไม่ได้คือไม่มี เด็กไม่มีความสงสัย เด็กไม่มีวิจิกิจฉา (วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ทีนี้ไม่มีสงสัยมันก็จะไม่มีสังโยชน์ไปได้อย่างไร

ถ้าไม่มีสงสัย ไม่มีสังโยชน์นะ ถ้าเราเป็นหนี้ใช่ไหม แล้วเราลืม แล้วเราไม่ยอมรับว่าเราเป็นหนี้ได้ไหม? เราเป็นหนี้เขาแล้วเราบอกว่าลืมไปเลยไม่เป็นหนี้ ไม่มีทาง! เราเป็นหนี้เขาจะจำได้หรือจำไม่ได้ก็คือหนี้ ถ้าจำไม่ได้มันก็เป็นหนี้เวรหนี้กรรม ถ้าเราจำได้เราใช้เขาไปมันก็หมดหนี้กันไป ถ้าเราใช้ไม่ได้หนี้มันจะมีตลอดไป

เขาบอกว่าเด็กไม่มีสังโยชน์เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ว่าสังโยชน์คืออะไร มันไม่รับรู้อะไร มันไร้เดียงสาเกินไป ไม่มีความลังเลสงสัย สังโยชน์ ๓ ไม่มี เขาบอกสังโยชน์มันเกิดดับ นี่มันจะไล่มาตลอด เด็กไม่มีสังโยชน์เพราะว่ามันไม่รู้จักสังโยชน์ มันไม่มีความลังเลสงสัย มันไม่มีสิ่งใดๆ เลยมันถึงไม่มีสังโยชน์

มันก็จะไปเข้ากับว่าเวลาเป็นพระโสดาบันของเขา พอพิจารณาดูกายดูจิตกันไป แล้ว พอจิตแว็บเห็นนิพพานปั๊บนี่เป็นพระโสดาบันทันทีเลย สังโยชน์ขาดไป นี่คำพูดมันขัดแย้งกัน มันขัดแย้งกันว่าเวลาถ้าเป็นพระโสดาบันสังโยชน์ขาดคือขาดเลย บางจุดเขาบอกขาดเลยนะ ขาดแบบไปเลย เพราะสังโยชน์ขาดแล้วคือขาดเลย แต่เขาบอกพอสังโยชน์ขาดไปแล้วนี่ มันก็กลับมากลบได้อีก บางจุดก็บอกสังโยชน์ขาดก็กลับมากลบได้อีก

มันก็เหมือนเด็ก ถ้าเด็กจับไม่ได้คือไม่มีสังโยชน์ พระโสดาบันเห็นนิพพานแว็บ พอได้เป็นพระโสดาบันปั๊บสังโยชน์ขาดไปแล้วสังโยชน์ก็กลับมากลบอีก คำว่ากลับมากลบอีกเพราะอะไร เพราะถ้าเราสังโยชน์ขาดใช่ไหม เวลาสังโยชน์เขาขาดๆ ไปเลย ดั่งแขนขาด ขาดแล้วไม่มีอีกเลย ถ้ามีก็มีตลอดไป ถ้าขาดแล้วก็ไม่มีอีกเลย

แต่นี่เด็กไม่มีสังโยชน์เพราะเด็กเข้าใจสังโยชน์ไม่ได้ ไม่มีสังโยชน์ ทีนี้พระโสดาบันเวลาขาดไปแล้วนี่ ขาดไปแล้วก็กลับมามีอีก เด็กนี่มันก็เหมือนกับพระโสดาบันของเขาเลย พระโสดาบันก็มีความรู้สึกเหมือนเด็กๆ นี้เลย เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มีไง พอขาดไปแล้วใช่ไหม เดี๋ยวก็กลับมากลบอีก นี่มันก็เหมือนมีกับไม่มี อันนี้ก็อีกอันหนึ่ง

แล้วเขาบอกว่าสังโยชน์จะไม่มี เขาเปรียบเหมือนเด็ก เขาบอกว่าตัวเขาเคยเข้าใจผิดว่าสังโยชน์มันมีตลอดไป ทีนี้ตอนหลังนี้เขาเข้าใจว่าสังโยชน์ไม่มีตลอดไป เพราะอะไร เพราะเวลาลงภวังค์ไง เขาบอกแม้แต่ลงภวังค์นี่สังโยชน์ก็ไม่มีแล้ว ถ้าอย่างนั้นนะฤๅษีชีไพรก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เวลาเขาทำสมาธิลงภวังค์เขายังไม่มีสังโยชน์เลยใช่ไหม

เขาบอกเวลาจิตลงภวังค์คือไม่มีสังโยชน์ เพราะสังโยชน์ไม่มี ถ้าเราเข้าสมาธิมันดีกว่าภวังค์นะ เพราะคุณสมบัติของสมาธิ มันลงสมาธิมันดีกว่าภวังค์อีก เพราะภวังค์คือความไม่รู้สึกตัวเลยเพราะเป็นภวังค์ แต่ถ้าเป็นสมาธินะจิตมันรู้ตลอดเวลาเลย รู้ตัวมันเอง แสดงว่าอย่างนี้มันต้องละสังโยชน์ขาดสิ มันก็ละไม่ได้ ละสังโยชน์ไม่ขาดเห็นไหม

นี่ขบวนการของมัน โลกทัศน์มันผิด นี่มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด พอความเห็นผิดปั๊บ พอความเห็นอันนี้มันก็จะไปต่อหน้ากับอะไร ไปต่อหน้ากับว่าจิตนี้มีนิพพานอยู่แล้ว จิตนี้มีนิพพานอยู่ซึ่งหน้าอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาเรากำหนดไป รู้ไป รู้ไป แบกไป แบกไป จะเข้าไปถึงนิพพาน เพราะนิพพานมีอยู่ซึ่งหน้าอยู่แล้ว ไม่มี! จิตนี้โดนสังโยชน์ครอบงำโดยธรรมชาติของมันเลย จิตนี้ไม่มีนิพพานอยู่หรอก

ถ้าจิตนี้มีนิพพานอยู่แล้วเราเข้าไป เขาจะเปรียบเทียบไง เวลาเปรียบเทียบเป็นบุคลาธิษฐาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า “ขุดดินลงไป ดินทุกตำแหน่งจะลงไปเจอน้ำ เพียงแต่ว่าดินบนภูเขา ดินบนดินดาน ดินของใครมันสูงมันต่ำ มันมีน้ำมากน้ำน้อย มันต้องขุดลึกขุดตื้นต่างกัน ขุดลงไปต้องมีน้ำ” พอขุดลงต้องมีน้ำใช่ไหม แต่น้ำมันอยู่ลึกขนาดไหน

อันนี้เป็นการเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่านิพพานมันมีอยู่แล้ว เปรียบเทียบว่าธรรมมะมันมี ความรู้สึกมันมี ข้อเท็จจริงมันทำได้ เหมือนกับในพระไตรปิฎก น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา เขาบอกว่าทำสมาธิไปนะ พอจิตใสแล้วจะเห็นกิเลส แล้วคนก็รอ นี่คนเข้าใจผิดมากเลย เป็นบุคลาธิษฐานเวลาสอนๆ คนหนึ่ง แต่คนตีความไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

พระพุทธเจ้าบอกว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ทำสมาธิไปจนจิตใสขนาดไหนแล้ว ในสระน้ำใสๆ นั้นจะมีปลา แต่ปลาเราต้องค้นหามันนะ ไม่ใช่ว่าเราบอกโดยธรรมชาติของเราใช่ไหม ในน้ำมีปลาใช่ไหม เราไปดักลอบดักไซปลาก็วิ่งเข้าลอบเข้าไซเราใช่ไหม นี่เหมือนกัน พอจิตสงบแล้วจะให้กิเลสวิ่งเข้ามาหาเรา ไม่มีทาง ถ้าทำจิตสงบแล้วนะ พยายามจะให้เป็นกิเลสขึ้นมาเอง โดยปัญญาเกิดเอง ไม่มีทาง ไม่มีทางเลย

นี่มันเป็นบุคลาธิษฐาน คือว่ามันเป็นข้อเปรียบเทียบ มันเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบให้เห็น อันนี้เพียงแต่ว่าธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมนี้มีอยู่แล้ว แต่จิตนี่ไม่มีนิพพานหรอก นิพพานไม่มี ถ้านิพพานมีนะ ทำไมพระพุทธเจ้าต้องมาตรัสรู้ล่ะ ถ้านิพพานมีนะถึงที่สุดแล้วต้องทำ ถ้านิพพานมีนะมันต้องเข้าไปเจอนิพพาน แต่ทำจิตให้เป็นนิพพานนี้มี ทำจิตให้เป็นนิพพานไม่ใช่ทำจิตเข้านิพพานนะ นิพพานหรือสิ่งต่างๆ เป็นสมมุติหมด เป็นคำเรียกทั้งหมด แต่ผลของมันไง ผลของมันเป็นความจริง แต่ชื่อนี่เป็นชื่อของมัน คำว่านิพพาน อรหัตตมรรคนี่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

มรรค ๔ ผล ๔ ยังเป็นสมมุติอยู่ สิ่งต่างๆ สมมุติละเอียดมันยังมีอยู่ มันต้องไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นว่าจิตมันมีนิพพานอยู่แล้ว เราจะบอกว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความเห็นว่านิพพานมีอยู่แล้ว ก็เหมือนกับเราเอาเพชรไปไว้ในตู้เซฟอยู่แล้ว ถ้าเราไปค้นหาขนาดไหน เราจะต้องไปเจอเพชรเม็ดนั้น เพราะเราซ่อนไว้ ถ้านิพพานมีอยู่แล้วมันจะเป็นรูปลักษณะอย่างนี้ แต่นี่มันไม่มี

เหมือนกับเราทำธุรกิจ เราไม่รู้เลยว่าข้างหน้าเราจะเจออะไร แล้วเราจะประสบความสำเร็จ หรือเราจะเจออุปสรรค หรือเราทำแล้วมันจะเกิดผลอย่างไร เรายังไม่รู้เลย แต่ถ้าไปถึงที่สุดแล้ว ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงนั้น มันจะไปรู้อย่างนั้น นี่นิพพานลักษณะมันจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเอาผลไปไว้ข้างหน้าเลย แล้วเราทำแล้วเราไปเจอตรงนั้นไง เพราะมีความคิดอย่างนี้ ถึงบอกสังโยชน์มันไม่มี

สังโยชน์มันมีเป็นครั้งเป็นคราว เพราะอะไร เพราะนิพพานมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าบอกจิตนี้โดนสังโยชน์รัดไว้ตายตัว รัดไว้เลย ไม่มีทางเลยที่มันจะไม่มี คิดดูเวลาเราไปเกิดนะ เวลาพระโสดาบัน พระสกิทาคามี เวลาไปเกิดเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาอริยบุคคล เทวดามันก็มีเทวดาอริยบุคคลกับเทวดาปุถุชน ในพรหมก็เหมือนกัน

ฉะนั้นผู้ที่ละสังโยชน์แล้ว ผู้ที่เป็นโสดาบันแล้ว เห็นไหม ไม่กลับมากลบอีกหรอก โสดาบันคือโสดาบัน ไปเกิดบนสวรรค์ก็เป็นเทวดาอริยภูมิ เป็นเทวดาอริยบุคคล ไปเกิดในชาติไหนก็เป็นเทวดาอริยบุคคลเห็นไหม นี่สังโยชน์มันแตกต่างกัน ทีนี้พอมันขาดไปแล้วมันจะไม่กลับมากลบอีกเลย มันจะกลับมากลบอีกไม่ได้ มันจะเป็นข้อเท็จจริงอยู่อย่างนั้นเลย

ทีนี้ข้อเท็จจริงอยู่อย่างนั้นแล้ว ทีนี้พระโสดาบัน พระสกิทาคามี มาเกิดเป็นมนุษย์มันก็มีสังโยชน์ เพราะสังโยชน์ทำให้เกิดอยู่แล้ว เด็กจะเด็กขนาดไหน จะไร้เดียงสา จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวมีสังโยชน์ตลอด สังโยชน์มันไม่ใช่กิริยาแสดงออกมาจากภายนอก

อย่างคำว่าผลของหนี้ คำพิพากษา ผลของคำพิพากษาเห็นไหม พิพากษาไปแล้ว มันพิพากษาจากอะไร จากเหตุจากผล ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติเราต้องประพฤติปฏิบัติจากทุกข์ของเรา จากประสบการณ์ของจิต จากการกระทำของจิตเห็นไหม อันนี้มันเหมือนกับขึ้นศาล พอขึ้นศาลแล้วมันต้องต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริง ด้วยแง่กฎหมาย

นี่ก็เหมือนกันเวลามันจะต่อสู้กับเรา มันเป็นผลของมัน แต่เวลาคำพิพากษาที่ตัดสินออกมาแล้ว นั่นน่ะสังโยชน์มันอยู่ที่โน่น สังโยชน์มันไม่ได้มาอยู่ที่การกระทำนี้ ทีนี้การกระทำนี้คำพิพากษายังไม่ตัดสิน ทีนี้คำพิพากษาตัดสินบอกว่าไม่มีสังโยชน์ไม่มีความผิด แต่ข้อเท็จจริงมันผิดของมัน ถ้ามันถูกมันก็ถูก ผิดก็ผิดของมันไปแล้ว แต่ผลที่ตัดสินนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วไปแก้ที่นั่นไม่ได้ บอกทุกคนจะไปแก้ที่สังโยชน์

สังเกตได้ไหมว่าครูบาอาจารย์ท่านบอกให้เราละสังโยชน์เลย ครูบาอาจารย์จะบอกว่าให้เราต่อสู้ ให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นการกระทำเหมือนกับว่าเราเอาตัวเราขึ้นศาล เอาผู้ต้องหาขึ้นศาล แล้วหาข้อเท็จจริงที่จะไปต่อสู้กันที่นั่น ผลคำตัดสินได้ตัดสินว่าเราผิด เราไม่ถูก เราไม่สามารถแก้ข้อเท็จจริงนั้นได้ สังโยชน์ก็ไม่ขาด สังโยชน์ขาดไม่ได้หรอก แม้แต่ในคำตัดสินเห็นไหม คำตัดสินแล้วแต่มันละสังโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราพิพากษา เราก็ต่อสู้ พิพากษาแล้วพิพากษาอีก จนถึงที่สุดเราถูก ผลมันก็ไปถอนคำพิพากษานั้นใช่ไหม พิพากษาว่าผิด มันผิดอยู่แล้ว มันผิดเพราะเราไม่เข้าใจอยู่แล้ว มันผิดเพราะสวากขาตธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสธรรมไว้โดยชอบ แต่เรามันเห็นไม่ชอบจากใจของเรา พื้นฐานของเรามันเห็นขัดแย้ง พื้นฐานของเรามีข้อมูลที่แตกต่าง พอพื้นฐานแตกต่างเราเห็นอย่างนั้นไม่ได้ เราพิจารณาให้ลงตามความจริงอย่างนั้นไม่ได้ พอไม่ลงตามความเป็นจริง แต่ด้วยทิฏฐิเห็นไหม มิจฉาทิฏฐิมันสร้างภาพอีกอันหนึ่ง สร้างภาพตั้งแต่สังโยชน์เกิดดับ สังโยชน์ไม่ตายตัว

เวลาเด็กมันไม่รับรู้ก็ว่าสังโยชน์ไม่มี แล้วพอผลของพระโสดาบัน ผลของพระสกิทาคามี ผลของพระอนาคามี ก็สังโยชน์แค่แว็บเดียว แว็บเห็นนิพพานเท่านั้นนะ ว่าเห็นนิพพานเป็นพระโสดาบัน แว็บเห็นนิพพานเป็นพระสกิทาคามี อันนี้เป็นมรรคไหม แล้วพอมาอธิบายผล ถ้ามันพอไปเป็นพระโสดาบัน ไปเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคา แล้วนี่สังโยชน์มัน... เวลาบอกก็บอกเป็นบางจุด บอกว่าขาดคือขาดเลย

เพราะคำว่าขาด ๆ เลย หลวงตาหรือว่าครูบาอาจารย์เทศน์ เทปของครูบาอาจารย์เราในท้องตลาดมันมีมาก ฉะนั้นถ้าจะพูดขัดกับอันนี้มันจะไม่ถูกต้อง ก็บอกว่าขาดเลย แต่เวลาไปอธิบายโดยมุมมองของตัวเอง สังโยชน์ขาด ขาดแล้วก็กลับมากลบอีกคือขาด เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี พระโสดาบันเป็นได้แค่นี้ไง แล้วขันธ์ก็เป็นทุกข์ คำว่าขันธ์เป็นทุกข์ ขันธ์เป็นทุกข์เฉยๆ เพราะว่าขันธ์กับจิตเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดเลย ขันธ์กับจิตเป็นทุกข์ เวลาแยกไปแล้วนี่ สิ่งที่แยกออกไปจากขันธ์คือนิพพาน

ถ้าอย่างนี้แล้วแสดงว่าจิตของคนที่พูดนี้ไม่เคยทำความสงบของใจเลย ถ้าจิตมันสงบ มันสงบเข้ามาจากอะไร แล้วจิตมันยืนตัวของมันได้อย่างไร แล้วความรู้สึกที่เป็นความรู้สึก นึกคิดที่เป็นขันธ์มันเป็นอย่างไร ถ้าจิตสงบเข้ามาจากขันธ์มันจะสงบเข้ามา จิตกับขันธ์เห็นไหม แล้วถ้าคนที่เป็น จิตเห็นอาการของจิต คำว่าจิตเห็นอาการของจิต คนๆนี้อธิบายไม่เป็นเลย อธิบายไม่ได้ จะไม่เคยอธิบายว่าจิตเห็นอาการของจิต จะไม่เคยเห็นว่าจิตกับขันธ์มันเป็นอย่างไร เพราะเขาไม่เคยสงบ ไม่เคยรวมเข้ามา

ฉะนั้นเขาเอาความรู้สึกความนึกคิดกับจิตเป็นอันเดียวกันหมด ความรู้สึกกับความนึกคิดเป็นจิตอันเดียวกันถึงบอกว่าขันธ์เป็นจิต จิตนี่เป็นขันธ์ ขันธ์นี้เป็นทุกข์ เวลาละทุกข์ก็นิพพานเลย เพราะนิพพานไปเลยเห็นไหม นิพพานมันมีอยู่แล้วไง คือของที่มันมีอยู่แล้ว เหมือนเพชรที่เราเอาไปซ่อนไว้แล้วเราไปขุดเจอ ก็นิพพานมันมีอยู่แล้ว

แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอย่างนั้น แล้วอย่างที่ว่านิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานซึ่งหน้านั้น มหายานเขาก็ไม่พูดอย่างนี้ เขาพูดเป็นบุคลาธิษฐาน เขาพูดเป็นสัญญาอารมณ์ พูดให้เรามุมานะ ให้มีการกระทำ ให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่นต่างหากล่ะ เขาพูดไม่ให้มีความยึดมั่นถือมั่นเห็นไหม

อย่างเช่นว่า ปัญญาเป็นอัตโนมัติ เขาว่าเป็นอัตโนมัติ หลวงตาท่านพูดอยู่แล้ว อัตโนมัติของท่านคือกิเลสมันเกิดโดยอัตโนมัติ เราก็ฝึกปัญญาขึ้นมาจนปัญญาเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติคือคำกิริยา คือกิริยาที่ปัญญามันหมุน มีการกระทำต่อสู้กัน พอต่อสู้กันแล้วผลของมันยังต่อเนื่องกันไปเห็นไหม เวลาสมุจเฉทมันขาดๆ อย่างไร

แต่นี่เวลาเขาพูด เพราะเขาใช้คำว่าอัตโนมัติเป็นผลสรุป ผลสรุปอะไร เพราะมันเป็นจินตนาการไง พอจินตนาการมันเหมือนกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ ผู้ที่ลงทุนทาง อุตสาหกรรมเขามีการลงทุน เขามีการผลิต เขามีการจ้างแรงงานใช่ไหม แล้วกับผู้ที่ลงทุนกับตลาดหุ้นมันไม่มีเม็ดเงิน มันไม่มีการลงทุนไง

นี่ก็เหมือนกัน คำว่าอัตโนมัติคือว่าเงินต่อเงิน พอมันเงินต่อเงินมันก็ได้เงินตอบแทนมา แต่ได้เพราะด้วยการคาดการณ์เห็นไหม เรื่องการลงทุนว่าสิ่งนั้นมันจะเกิดผลตอบแทน แต่มันไม่มีผลในการกระทำ นี่ไงถึงบอกว่าอัตโนมัติคือผลสรุป แต่ถ้าเป็นอัตโนมัติของครูบาอาจารย์เรา อัตโนมัติมันชำนาญ คำว่าชำนาญเห็นไหม มันไม่มีการกระทำเลย มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันไม่มีความเห็นของมัน มันถึงบอกว่าสิ่งที่ว่าสังโยชน์มันเกิดแล้วดับ สังโยชน์ไม่มี แล้วสังโยชน์มันเกิดดับ

คำว่าสังโยชน์มันเกิดดับ เด็กไร้เดียงสากับผู้ที่ปฏิบัติเป็นพระโสดาบันมันแตกต่างกันตรงไหน นี่ไงพระโสดาบันของเขานี่แว็บเห็น แว็บเป็นพระโสดาบันเลย สังโยชน์ขาดโดยขาดเลย แต่กลับมากลบอีกได้ กับเด็กที่มันไม่รับรู้มันก็ไม่มีสังโยชน์ ฉะนั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา มันก็เท่ากับเด็กไร้เดียงสา เพราะคำพูดมันจะวนกลับมาเอง เพราะคำพูดเวลาพูดออกไปมันไม่มีหลักใช่ไหม ก็เอาธรรมะของครูบาอาจารย์เป็นตัวตั้ง แล้วตัวเองก็ศึกษาตามทฤษฎี นี่ไงคนที่ไม่มีหลักเกณฑ์

คนที่ปฏิบัติไม่เป็นมันไม่เห็นของจริง ไม่รู้จริง เวลาพูด ก็พูดด้วยสัญญา พูดด้วยข้อมูลความสับสน พอสับสนขึ้นมามันก็สับสน สังโยชน์มันเกิดดับ พระโสดาบันเวลาขาดไปแล้วมันก็ยังเกิดดับ มันเกิดดับคือว่าเหมือนกับเราสร้างหลักฐานไว้อันหนึ่ง แล้วเราพยายามพูดของเราให้เข้ากับขบวนการนั้น มันเลยเป็นมิจฉาทิฏฐิ พอเป็นมิจฉาทิฏฐิขึ้นมามันเลยสับสน แล้วเวลาเราพูดไปนะ พูดทีหนึ่งไปอย่างหนึ่ง พูดที่หนึ่งไปอย่างหนึ่ง แต่จากประเด็นทั้งหมดแล้วมันก็คือความสับสนของตัวเอง เพราะตัวเองไม่เข้าใจตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเขาเข้าใจตามความจริง มันจะมีมากมีน้อย อย่างขิปปาภิญญานี่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย มันก็มีพื้นฐานอย่างนี้มา แล้วเวลาปฏิบัติไปมันถึงที่สุดของมันได้ พูดถึงถ้าไม่มีสิ่งใดเลย เราก็ต้องเริ่มต้นไปเห็นไหม เริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานไปเลย ทำความสงบของใจ หาใจให้เจอ พอหาใจเจอแล้วใจก็ออกวิปัสสนา พอใจออกรับรู้แล้วมันก็ถอดถอนขึ้นมาเห็นไหม

เวลามันถอดถอนขึ้นมามันขาด ขาดอย่างไร มันมีการกระทำเหมือนกันกับทางอุตสาหกรรม เรามีการกระทำ เรามีต้นทุน เรามีผลตอบแทน ผลตอบแทนแล้วผลตอบแทนเล่า เวลาปฏิบัติไปแล้วมันปล่อยวางขนาดไหน เราต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดเวลามันขาดขึ้นมาแล้วนี่มันดั่งแขนขาดเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

หลวงตาท่านพูดไว้ชัดมาก เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านเน้นย้ำเลยว่าเวลากิเลสขาดมันขาดไป ๓ ทวีปเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันหมดเลย พอแยกแล้วแยกด้วยความเป็นจริง มันเป็นความจริงแล้ว พอจริงก็จิตอันหนึ่งเห็นไหม พอความจริงอย่างนี้มันจะกลับเข้ามาประสานกันอีกไม่ได้เลย นี่เวลาความจริง หลวงตาท่านย้ำเลย

แต่นี่เวลาบอกขาดๆ แค่เห็นนิพพาน พอเห็นนิพพานมันก็ไม่มีการกระทำสิ พอเห็นนิพพานแว็บ โห่ เห็นนิพพานแว็บนะ เห็นคนในวงกรรมฐานเรานะ บางคนเวลาจิตมันสงบ โอ้โฮ มันสว่างหมดเลย บางคนสงบเฉยๆ บางคนแว็บมา อย่างที่ว่าแว็บๆ นั่นนะ เวลาคำพูดแว็บๆ เหมือนกับเวลาทำสมาธินี่ เวลาทำสมาธินะ พอจิตมันสงบใช่ไหม เห็นเป็นดวงต่างๆ เห็นเป็นแสงสีต่างๆ แล้วอะไรคือนิพพาน คือแว็บที่นิพพานแล้วล่ะ อะไรที่เป็นแว็บนิพพานนั้น แล้วถ้าเป็นนิพพานอย่างนั้น มันก็อยู่ที่ใครจะแว็บๆ เห็นแสงได้มาก เห็นแสงได้น้อยใช่ไหม

ถ้าเห็นแสง นี่เวลาเขาอธิบายถึงปัญญานะ แต่เวลาพูดถึงธรรมะทั่วไป พุทโธนี่ พุทโธๆ นี่จิตมันจะเป็นฌาน มันจะตัวแข็ง ดูถูกเหยียดหยามมาก เพราะดูถูกเหยียดหยามแล้วทำไม่ได้ แต่เวลาคนเขาไปทำ ถ้าจิตเขาสงบขึ้นมาเขาเห็นแสงเห็นสีขึ้นมา อันนั้นเพราะอะไร เพราะคนที่ทำไม่ได้ใช่ไหม

อย่างเรา ดูสิ อย่างคนทำงานจะมีผลตอบแทนมากเลย แล้วอย่างเราทำงานไม่มีผลตอบแทน ผลตอบแทนมันแตกต่างกัน แล้วเอาอะไรเป็นตัวบรรทัดฐานล่ะว่าจะเห็นนิพพาน แล้วนิพพานเห็นอย่างไร เห็นแว็บๆ ตอนไหนถึงจะเป็นนิพพาน แล้วพอเป็นนิพพานแล้ว มันเป็นพระโสดาบัน มันไม่มีการกระทำ มันไม่เป็นความจริง เพราะพื้นฐานอย่างนี้

พูดถึงสังโยชน์บอกว่าเด็กไม่มีสังโยชน์ สังโยชน์เกิดดับ แล้วจิตมันมีพื้นฐานของมันอยู่แล้ว คำว่าจิตมีพื้นฐานของมันอยู่แล้ว จิตนี้มันไม่เคยตาย ทุกดวงจิตไม่เคยตาย ดูสิ ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เกิดเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นเล็กที่สุดคือนกแขกเต้า อย่างพวกเราเกิดเป็นเลนเป็นไรเลย จิตเกิดเป็นเลน พระในสมัยพุทธกาลเห็นไหม เรื่องผ้านี่ไปเกิดเป็นเลนในผ้านั้นเลย เวลาจิตมันหมุนเวียนของมัน แล้วพอจิตมันเป็นเลนเป็นไร เป็นได้ทุกอย่างเลย นี่แหละตัวนี้ที่มันหมุนไป จิตนี้ไม่เคยตาย

ตัวจิตนี่หลวงตาบอกว่า สิ่งที่สัมผัสธรรมะได้คือหัวใจของสัตว์โลก คือความรู้สึกสัมผัสกับธรรมะ แล้วสัมผัสในแง่มุมใด ถ้าแง่มุมที่มันสัมผัสด้วยความลึกซึ้งมาก มันจะพูดว่านี่ไง มันจะย้อนกลับไปที่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันละเอียดลึกซึ้งจนแบบว่าจะสอนคนได้อย่างไรหนอ คำว่าจะสอนได้อย่างไรหนอนี่ ดูสิปัญญาระดับพระพุทธเจ้านะ เตรียมมาพร้อมขนาดนั้น ความลึกตื้นหยาบละเอียดพระพุทธเจ้าต้องชำนาญมากเลย ขนาดชำนาญขนาดนี้ยังจะอธิบายให้พวกเราเข้าใจแทบไม่ได้เลย จนท้อใจนะ

เหมือนเรานี่ เรารู้อะไรขึ้นมาแล้วเราจะบอกต่อ ไอ้คนฟังมันจะเชื่อเราไหม เราจะบอกต่อเขาไปนี่ เราจะยืนยันอย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้เราเห็น เราจะสามารถบอกให้คนเขารู้ตามเราได้ นี่ขนาดความรู้ระดับพวกเราใช่ไหม แล้วขนาดพระพุทธเจ้าท่านเตรียมมาขนาดนั้น มันลึกซึ้งขนาดไหน ทีนี้พอมันลึกซึ้งขนาดไหน เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติตามหลักความเป็นจริงนี่ มันจะเป็นอย่างที่เราคิดกันไหม อย่างที่เขาพูดไหม มันไม่เป็นอย่างนั้นเลย

ทีนี้ถ้ามันลึกซึ้งขนาดนั้น เวลาถ้าจิตมันลงนะ จิตมันเป็นไปแล้วจิตมันออกรู้ อันนั้นมันถึงว่าเวลามีครูบาอาจารย์นะ เวลาปฏิบัติ เวลาถามครูบาอาจารย์ ถามเลยจิตเราลงขนาดไหน มีปัญญาขนาดไหน ถามท่านเลย ท่านตอบเราได้ไหม ถ้าท่านตอบเราได้นะ แล้วท่านชี้นำเราได้นะ

โธ่ ครูบาอาจารย์สังเกตได้ไหม เวลาผู้ที่ปฏิบัติ ทุกคนมานะ ถ้าไม่เคยออกปัญญาเลยก็ยังเงอะๆ งะๆ อยู่ แต่พอใครเริ่มออกเดินปัญญานะ จะกลับมาทุกทีเลย “อื้อหือ มันละเอียด อื้อหือ มันละเอียด” บอกเออ เดี๋ยวมึงรู้ เดี๋ยวมึงจะรู้ละเอียดหรือไม่ละเอียด มึงทำไปเถอะ จะละเอียดขนาดไหนก็แล้วแต่นะ มันขั้นเป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าขั้นต่อไปเป็นขั้นสกิทาคามิมรรคละเอียดกว่านี้อีก แล้วไปขั้นอนาคามิมรรคนะ มันเป็นมหาสติมหาปัญญา มันลึกลับซับซ้อนกว่านี้อีกหลายเท่า แล้วยังไปขั้นอรหัตตมรรคนะ มันจะพูดกันไม่ได้เลยล่ะ พูดออกมาสื่อจะให้เห็นภาพอย่างนั้นไม่ได้เลย แต่คนที่เข้าไปสัมผัสคุยกันรู้เรื่อง คุยกันได้

ถ้ามันคุยกันได้อย่างนั้น เวลาเรามาปฏิบัติกัน มันถึงได้ทุกข์ได้ยาก มันถึงได้จริงได้จัง แล้วครูบาอาจารย์ท่านที่ปฏิบัติมีพื้นฐานมาแล้ว ท่านห่วงมาก ห่วงว่าพวกเรานี่ อื้อหือ มันละเอียดนัก เพราะเราไม่เคยเห็น เหมือนสามล้อถูกหวยจริงๆ นะ เพราะสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น พอไปรู้เข้ามันก็ว่าละเอียดแล้ว เพราะเราเคยหยาบๆ อยู่ใช่ไหม พอไปเจอของละเอียดมันก็ตื่นเต้น พอตื่นเต้นแล้วมันไม่เดินไปข้างหน้า แต่ถ้าเราไปเห็นแล้วทำจนเป็นความชำนาญ จนเป็นเรื่องปกติแล้ว จนมันตั้งมั่น พอเราไปเจอปัญญา ปัญญาจะออกก้าวเดินแล้วเห็นไหม

หลวงตาบอกว่าเราต้องหัดฝึกปัญญา เวลาขั้นของปัญญามันก้าวเดินแล้ว ข่ายของปัญญาไม่มีขอบเขต ระดับของสมาธิ ระดับของความสงบ มันมีขอบเขต มันมีน้ำล้นฝั่ง มันมีขอบมีเขตของมัน มันมีภาชนะที่จะใส่น้ำนั้นได้ แต่ขั้นของปัญญานั้นมันเหมือนตาข่าย มันเหมือนเรดาร์ที่จะจับ มันไม่มีขอบเขตเพราะเราไม่รู้ว่าเครื่องบินจะมาทางไหน เราไม่รู้ว่าวัตถุแปลกปลอมมันจะมาทางไหน เรดาร์มันจะหาวัตถุแปลกปลอมตลอดเวลา

พอจิตมันเริ่มสงบแล้วมันจะหาสิ่งที่มันผุดขึ้นมาจากใจ คือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ปัญญามันจะครอบงำหมด มันจะหมุนเข้าไปหมด แล้วพอมันหมุนเข้าไปแล้ว พอมันไปเห็นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งแปลกปลอมมาจากจิต ความแปลกปลอมมาจากธรรมชาติของใจที่มันเป็นสัมมาสมาธิ

ความแปลกปลอมนั้นเห็นไหม น้ำใสจะเห็นตัวปลา ความแปลกปลอมคืออวิชชา คือความละโมบโลภมากของใจ มันแสดงออกโดยธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เพราะความละโมบโลภมาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันแสดงออกโดยตัวมันเองไม่ได้ มันเป็นนามธรรม พอนามธรรมมันแสดงออกผ่านความคิดไง เพราะออกจากความคิด มันออกเป็นการกระทำ ออกการแสวงหา แล้วข่ายของปัญญามันเข้าไปจับตรงนี้ได้ มันจะผ่านอะไรล่ะ เพราะมันเป็นนามธรรมใช่ไหม เวลามันออกใช้งานมันออกใช้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม

กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นเครื่องมือของนามธรรม ของจิตที่มันออกมาใช้งาน พอจิตที่ออกมาใช้งานมันมีความโลภมาก มันก็ออกไปหาเหยื่อ ฉะนั้นเวลาจะย้อนกลับ เราจะจับต้องตัวมัน จิตสงบแล้วเราต้องจับ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะกาย เวทนา จิต ธรรมเหมือนไฟฟ้า ไฟฟ้ามันไปตามสายใช่ไหม ดูสิไฟฟ้าสถิตบนฟ้า เรารู้มันมีไฟฟ้าอยู่ แล้วเราจะเอาไปใช้ประโยชน์เอาไปใช้งานอย่างไร แต่พอไฟฟ้ามันเข้าสู่สื่อ สายไฟฟ้าที่มันมาเห็นไหม เราสามารถตั้งคัตเอาท์ได้ เราสามารถสับหลีกให้ไฟเดินไปทางอื่นได้

จิตถ้ามันจับ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่กิเลสมันเอาออกมาใช้งานเห็นไหม กิเลสเป็นนามธรรม นามธรรมจับต้องไม่ได้ นามธรรมมันออกมาจากพลังงานความคิด แล้วอาศัยความคิดออกไปหาเหยื่อ เพราะคิดแล้วมันบวกใช่ไหม แม้แต่คิดเรื่องดีมันก็อยากมีการกระทำ ก็กระทำไปมันก็เป็นปัญหาซ้อนปัญหา มันก็ว่ากันไป

มันต้องฝึกไปก่อน พอมันทำไป พอมันมีความคิด มันมีการกระทำแล้ว อ๋อ ถ้าทำอย่างนี้แล้วไม่ได้ผล ถ้าทำโดยข้อเท็จจริง แล้วถ้ามันสมดุลมันลงของมันเอง ถ้ามันสมดุลนั่นคือสัมมาสมาธิ แล้วสมาธิที่มันออกหาความแปลกปลอมนั้น มันทำด้วยความเหมาะสม มรรคสามัคคีรวมตัวด้วยความเหมาะสม ความแปลกปลอมนั้นมันถึงถูกกำจัดออกไป เห็นไหมนี่กิเลส

กิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่อวิชชา แล้วออกใช้ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ออกไปหาเหยื่อเห็นไหม ขันธ์ ๕ นี่ เวลาพระอรหันต์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วขันธ์ ๕ เป็นภาระ ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ แต่ขันธ์ ๕ มันจะเป็นทุกข์ต่อเมื่อมันมีมาร ขันธมารเห็นไหม ขันธ์ ๕ มันเป็นมาร อย่างพลังงานธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันมีกิเลสใช่ไหม กิเลสคืออะไร กิเลสคือมาร พอมารมันก็ใช้ขันธ์อันนี้ออกไปหาผลประโยชน์ของมัน สิ่งแปลกปลอมกับความคิด สิ่งแปลกปลอมกับสื่อ สิ่งแปลกปลอมกับธรรมชาติที่มันออกไปทำงานของมัน แล้วเราใช้ปัญญาไล่กลับเห็นไหม ไล่กลับๆ ไล่กลับ ขันธ์ ๕ ก็คือขันธ์ ๕

ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอกว่าเวลาเป็นพระโสดาบัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกเป็น ๓ ทวีป คำว่า ๓ ทวีป จริงตามความเป็นจริงของมัน จิตจริง ทุกอย่างจริงหมดเลยเห็นไหม จิตจริงโสดาบันก็จริง พอมันแยกจริงแล้วมันก็แยกจริงๆ เลย แล้วสังโยชน์มันขาดไปแล้วมันจะรวมกันอีกไม่ได้เลย เพราะความแปลกปลอมนั้นมันโดนกำจัดออกไป เพราะมันเป็นความจริงแล้ว ทีนี้พอความจริงแล้วขันธ์ ๕ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ เห็นไหม เหมือนกับอากาศก็คืออากาศ

ดูสิ เราเป็นชาวนา แล้วตอนนี้เราเกี่ยวข้าว เราเอาข้าวมาตาก เราก็ต้องการแดดใช่ไหม พอแดดไม่มีเราก็ทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะอะไร เพราะเราต้องการแสงแดดเพื่อมาลดความชื้นของข้าว แล้วพอแสงแดดไม่มี ทุกข์ไหม เราทุกข์แล้ว แล้วแสงแดดมันเกี่ยวอะไรกับเรา มึงจะทุกข์ทำไม ทุกข์เพราะว่าผลประโยชน์ไง เราอยากได้กับมันไง

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ ก็เหมือนพลังงาน แต่มันทุกข์เพราะอะไร เพราะมารไง ขันธ์เลยเป็นทุกข์ จริงๆ ขันธ์ไม่ได้ทุกข์ แต่มันเป็นทุกข์อยู่เพราะอะไร เพราะเรายังโง่อยู่ เราไปยึดมัน เพราะธรรมดามันเป็นเครื่องใช้ของพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็มีขันธ์ ๕ แต่เป็นภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์บริสุทธิ์ เห็นไหมมันเป็นกิริยาเฉยๆ

แต่ของเรามันไม่เป็นกิริยาสิ ถ้าคิดแล้วก็คือเราคิดเลย เราคิดเราทุกข์เลย ทีนี้เราคิดเราทุกข์ พอมันมีปัญญาเข้ามามันถึงย้อนกลับเข้ามา แล้วพอมันทำลายขึ้นมา เวลามันขาด เพราะจิตใต้สำนึกนะ ทุกคนจิตใต้สำนึกไม่ว่าเราจะศึกษาธรรมะขนาดไหน ในจิตใต้สำนึกมันก็เป็นเรา เป็นเราที่ไหนนะ เป็นเราที่ใจไม่ได้เป็นเราที่กาย ใจมันคิดว่าสิ่งนี้เป็นมัน สิ่งนี้เป็นมันๆ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ไม่ใช่ นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไง

เหมือนยืมเงินเขามาใช้ เงินเราก็คือเงินเรา เงินยืมก็คือเงินยืม เงินยืมเขามามีต้นทุนนะ ถ้าเงินของเราไม่มีต้นทุน เพราะเราหาของเรามา นี่ก็เหมือนกัน พอบอกว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายนี้ไม่ใช่เรานี่คือเงินยืม เงินยืมก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมะของเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราจนเป็นความจริงของเรา พอเรามารู้จริงขึ้นมาเห็นไหม นี่เงินเรา เพราะเรารู้จริง เงินเราเห็นไหม เราทำเอง เราใช้จ่ายเอง ไม่มีต้นทุน ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีต่างๆ มันเป็นปกติของเรา

แต่ถ้าเรายืมมาเห็นไหม นี่เหมือนกัน กายไม่ใช่เรา มันยืมมา มีต้นทุน มีดอกเบี้ย มีทุกอย่างเลย ทีนี้พอมันมีดอกเบี้ยขึ้นมามันก็ไม่ใช่ของเรา ทีนี้ไม่ใช่ของเรามันก็ฝังอยู่กับใจ กายไม่ใช่เรา สังโยชน์ไม่ใช่เรา แต่มันมี ในหัวใจนั้นมันมัดอยู่ นี่สังโยชน์มัดจิตไว้อย่างนี้ ทีนี้สังโยชน์มีตลอด เว้นไว้แต่ถ้ามันขาดตามความเป็นจริง โสดาบัน สกิทาคา อนาคา นั่นสังโยชน์ขาด ถ้าขาดแล้วก็ไม่มีอีกเลย ไม่กลับมาอีกเลย พระโสดาบันคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามีเป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามีเป็นพระอนาคามีอยู่อย่างนั้น ยิ่งเป็นพระอรหันต์แล้วจบเลย

สิ่งที่มีอยู่นี่เป็นกิริยาทั้งหมด คำว่ากิริยาเหมือนกับอากาศ เหมือนกับแร่ธาตุ มันจะอยู่ตามสภาวะของมัน นี่ก็เหมือนกัน ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์มันอยู่สภาวะของมัน จิตอันนี้ไม่มีการผูกพัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการ วางศาสนาไว้ ตัวจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ปรารถนามรรคผลหรือผลประโยชน์จากใครเลยเห็นไหม ไม่มีความผูกพันเลย

แต่เพราะด้วยสิ่งที่ผูกพันมาตั้งแต่อดีตชาติ สิ่งที่ปรารถนามาเป็นพระพุทธเจ้า มันได้สร้างสมบุญญาธิการมาด้วยกัน สหชาติ คนที่เกิดมาด้วยกันเห็นไหม แล้วสร้างสมมาถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่จบแล้ว เพราะใจของพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ จบแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเพิ่มเติมใจของพระพุทธเจ้าได้อีกแล้ว

นี่เพียงแต่บุญญาธิการที่ท่านสร้างของท่านมา สิ่งที่สร้างขึ้นมาจะวางรากฐานไว้ให้กับสังคมไง ผลที่ท่านสร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สิ่งที่สร้างมานั้นผลมันออกมาเบ่งบานเหมือนทำสวนดอกไม้ เรานี่ทำสวนดอกไม้เห็นไหม เราลงทุนลงแรงทำสวนดอกไม้ เวลาดอกไม้มันบานออกมา นี่สวนดอกไม้ใครเป็นคนทำมัน สวนดอกไม้เจ้าของสวนทำใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทำสวนดอกไม้ ทำเพื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วดอกไม้ที่มันบานหมดนี่ มันเป็นผลของใคร ดอกไม้ที่มันบานมันเป็นผลของผู้ที่อุทิศให้แก่สังคมเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ผลบุญที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ เหมือนดอกไม้ที่บาน สังคมไทยนี้ ศาสนาพุทธมันเบ่งบานขึ้นมา เพราะพระพุทธเจ้าวางไว้ แล้วเราเป็นคนไปชมสวนกัน ถ้าชมสวนแล้วได้ประโยชน์จากสวน ถ้าเราเป็นคนทำสวนก็เหมือนกัน เพราะว่าใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทำใช่ไหม เราไปเห็นดอกไม้ที่สวนดอกไม้ โอ้โฮ มันสวยงามไปหมดเลย นี่ไงพระพุทธศาสนาเหมือนดอกไม้บานไปหมดเลย

แต่สวนของเราล่ะ นี่ไง เงินยืม เงินยืมกับเงินจริง ถ้าเราทำจริงของเราขึ้นมา เราต้องพยายามปฏิบัติของเราขึ้นมาแล้วให้มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่ต้องไปบอกว่าสังโยชน์มีหรือไม่มี สังโยชน์เป็นหรือไม่เป็น ให้มันเห็นจริงขึ้นมาจะไม่พูดอย่างนั้น พอมันเรียงลำดับขึ้นมามันถึงได้เห็นภาพชัดมาตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าสมาธิไม่ต้องฝึก อะไรต่างๆ น่ะ สติมันก็ไม่ต้องทำ มันขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทั้งหมด

แล้วเวลาคำสอนเห็นไหม คำสอนมันก็รวบรัด อย่างเช่นคำว่าเผลอแล้วสติมาเอง มันขัดแย้งกันนะ เพราะเผลอกับสติมันตรงข้ามกันไหม แล้วเผลอปั๊บสติมาเองนี่ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

สภาวะของปัญญาก็พูดไม่เป็น สภาวะของปัญญาคือสภาวะจำ จำความคิด ความคิดเก่าๆ เพราะดวงเก่าใช่ไหม จำประสบการณ์ให้ได้ แล้วจำจนแม่น สัญญาก็คือสัญญา เขาบอกว่าเผลอคือสติ จำคือสัญญา สังโยชน์มันเกิดๆ ดับๆ ถ้าเข้าถึงนิพพานสังโยชน์ก็ไม่มี มันเป็นมิจฉาทิฏฐิมาโดยจิตใต้สำนึก แต่เวลาพูดธรรมะนะ แล้วอ้างบาลีนะ แล้วอ้างมรรคนะ ตอนนี้กำลังอะไรนะ ไอ้วิปัสสนายานิกอะไร จนไปโน่นแล้ว เป็นสมถยานิก วิปัสสนายานิก อะไรไปกัน มันเลยเป็นโวหาร

แบรนด์เนมมีแต่ชื่อ เอาแบรนด์เนมมาตั้งกันไว้แต่เนื้อหาสาระไม่มี ถ้าเนื้อหาสาระมีมันต้องพูดถึงเนื้อหาสาระ ธรรมของหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ พูดถึงเนื้อหาสาระ เพราะหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านค้นคว้าของท่านมา ท่านทำของท่านมา ท่านพูดถึงเนื้อหาสาระ

ถ้าพูดถึงเนื้อหาสาระแล้วนี่ พวกเราประพฤติปฏิบัติตามเนื้อหาสาระนั้น แล้วมันก็จะได้ผลมาตามความเป็นจริง แต่นี่มันไปเอายี่ห้อ ไปเอาแบรนด์เนมมา แล้วต้องทำอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แต่เนื้อหาสาระไม่มี พอเนื้อหาสาระไม่มีมันก็ออกมาเป็นรูปแบบนี้เห็นไหม ทุกอย่างมันเลื่อนลอย มันคัดค้านได้ มันไม่ปิดไม่รวบรัดเหมือนหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกต้องฝึก ต้องทำความสงบของใจ พอต้องทำความสงบของใจเป็นพื้นฐานแล้ว เวลาออกวิปัสสนาแล้วต้องทำตามนั้น แล้วผลจะตอบสนองมาเป็นอย่างที่ตามความเป็นจริง

ดูหลวงตาพูดสิ หลวงตาบอกว่าเวลาพระปฏิบัติไปแล้ว จะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ เพราะเราไปทำสิ่งใดแล้ว เราไปพบสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บอกไว้หมดแล้ว ในพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว แต่เราเข้าไม่ถึงเราก็ไม่ซึ้งใจ แต่ถ้าใครปฏิบัติถึงแล้วเขาไปอ่านพระไตรปิฎกนะ มันซึ้งใจมากเลย

ซึ้งใจเพราะอะไร เพราะเราจะไปเจอสิ่งใดก็แล้วแต่ เหมือนเราไปท่องเที่ยว ในแหล่งท่องเที่ยวก็ไกด์เขาไปทุกวันเขารู้หมด เดินเข้ามาถึงบันไดขั้นนี้จะเจอไอ้นั่น ไปอีก ๑๐ ขั้นจะไปเจออย่างนั้น เลี้ยวซ้ายจะไปเจออย่างนั้น เขาไปทุกวันเขาเห็นหมดแล้ว ไอ้เราไปเจอทีแรก โอ้โฮ มันสวย มันสวย โหย เพราะเราไม่เคยเจอไง แล้วถ้าคนไม่เคยไปล่ะ ฟังเขาว่าสวย พอเขาว่าสวยเราก็ว่าสวย แต่ไม่เคยเห็น

นี่ก็เหมือนกัน พออย่างนี้ปั๊บ มันย้อนกลับมาตรงนี้ ย้อนกลับมาสิ่งที่เขาพูด มันเป็นไปไม่ได้หรอกสังโยชน์มันรัดจิตน่ะ มันรัดอยู่อย่างนั้น สังโยชน์นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วมันไปละอะไร มันไปละผลของมันคือละสังโยชน์ สังโยชน์คือมันร้อยรัดจิตไว้ แต่ร้อยรัดจิตไว้ด้วยการกระทำ ด้วยเวรด้วยกรรม ด้วยจริตนิสัยของแต่ละบุคคลที่สร้างสมมา ผลตอบสนองแล้วเป็นสังโยชน์ สังโยชน์ถึงเป็นสิ่งที่เหมือนกันเห็นไหม

พระโสดาบันโดยจริตนิสัยหรือสิ่งใดก็แล้วแต่ ก็จะละสักกายทิฎฐิ วิกิจฉา สีลัพพตปรามาสเหมือนกัน จริตนิสัยเป็นส่วนจริตนิสัย แต่เวลาพระโสดาบันจะละสังโยชน์เหมือนกัน พระสกิทาคาจะละเหมือนกัน พระอนาคาจะละเหมือนกัน พระอรหันต์ละเหมือนกัน ละเหมือนกันหมดเลย

นี่ผลของหนี้ ผลของคำพิพากษา แต่เวลาคนทำความผิดมา ดูสิศาลมันมีศาลอยู่ตั้งกี่ศาล ศาลภาษี ศาลอาญา ศาลแพ่งเห็นไหม เพราะความผิดมันหลากหลาย นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยของคน การปฏิบัติมันหลากหลายมาก พอมันหลากหลายมากไม่ได้สอนอย่างเดียว ไม่ได้สอนโดยสูตรตายตัว มันต้องเป็นข้อเท็จจริงของจิตดวงนั้น แล้วพอผลตอบรับคือคำพิพากษา คือพอจบแล้วผลของคำพิพากษานั้นเป็นสังโยชน์ ไม่มีเหตุมีผล คำพิพากษาจะออกมาได้อย่างไร

คำพิพากษาจะออกมาด้วยข้อเท็จจริง ด้วยข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงคือการกระทำของเรา ข้อกฎหมายคือธรรมของพระพุทธเจ้า ข้อกฎหมายคืออริยสัจ นั่นคือข้อกฎหมายข้อเท็จจริงที่เราทำไง ข้อเท็จจริงเรามีไหม ข้อเท็จจริงที่เราทำ เราทำผิดหรือเปล่า เราทำความถูกต้องหรือเปล่า นี่ข้อเท็จจริง แล้วข้อกฎหมายล่ะ ข้อกฎหมายว่าอย่างไร

ถ้าทั้งข้อเท็จจริงทั้งข้อกฎหมาย ถ้ามันสรุปรวมตัวมันก็ลงอันเดียวกัน นี่มันลงอันเดียวกันนี่ คราวที่แล้วออกมาก็โน่นสังโยชน์ขาดอยู่โน่น ไม่ใช่ คำพิพากษาก็ไม่มี ข้อเท็จจริงก็ไม่มี ข้อกฎหมายก็อ้างแล้วอ้างอีก นี่ไงอ้างแต่ข้อกฎหมาย อ้างแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า อ้างแต่ชื่อ สังโยชน์ไม่มี ข้อกฎหมายไม่ผิดๆๆ แต่ข้อเท็จจริงนะเต็มตัว เพราะตัวเองไม่ทำอะไรเลย มันจะเอาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมาจากไหน แต่ว่าข้อกฎหมายก็ถูกหมดเลย กฎหมายก็คือกฎหมาย กฎหมายเขาเขียนไว้แล้ว กฎหมายมันมีอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่ทำมันเป็นอย่างไร แล้วผลตอบสนองมันเป็นอย่างไร

นี่พูดถึงสังโยชน์มันรัดจิต ไม่มีหรอกที่ว่าสังโยชน์มันเกิดๆ ดับๆ แล้วเด็กไม่มีสังโยชน์ก็เป็นไปไม่ได้ เด็กไม่มีสังโยชน์โดยที่ว่าเด็กมันไม่รับรู้ มันยิ่งกำปั้นทุบดินเข้าไปใหญ่ เด็กสังโยชน์มันไม่รับรู้นะ แต่มันร้องไห้ทั้งวันเลย มันจะเอาแต่ตังค์นะ มันออดอ้อนแม่มันตลอดเลย นี่สังโยชน์มันไม่มีหรอก แต่มันงอแงมันจะเอาให้ได้ดั่งใจมันตลอด สังโยชน์มันไม่มี พูดของมัน อย่างนี้มันเหมือนจินตนาการ แล้วหาเหตุผลมารองรับขณะที่พูดโดยที่เราไม่มีหลักเกณฑ์นะ ถ้าเราไม่มีหลักมันพูดออกนอกได้

ถ้ามีหลัก ดูนะคนที่มีหลัก เราฟังเทศน์มาเยอะ ฟังเทศน์หลวงตา ครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องนี่ ท่านจะเปรียบเทียบหลากหลายมากเลย แต่ไม่ทิ้งหลัก หลักคือหลัก หลักมันจะถูกตลอดเวลา แต่คำอธิบายมันพลิกแพลงได้ คนมีปัญญามากพูดได้กว้างขวาง คนเขาจะเข้าใจได้ คนมีปัญญาน้อย ต้องพูดรวบรัด ต้องพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ พูดไปแล้วนี่ เทศน์รอบ ๑ รอบ ๒ เห็นไหม รอบแรกอธิบายไปแล้วรอบหนึ่ง รอบต่อไปจะอธิบายอะไรให้มันกว้างขวางไปอีก แต่ก็หลักอันเดียวกันนั่นแหละ คนมีหลักมันจะไม่มีพลาด

แต่คนไม่มีหลักเห็นไหม เวลาพูดมันหลุดจากหลักไปเลยไง สังโยชน์เวลาขาดมันขาดเลยนะ ไม่กลับมาอีกเลย ไปพูดที่ใหม่เปลี่ยนไปแล้ว แล้วเหตุผลที่สังโยชน์ขาดก็ไม่มีอัตโนมัติ เวลาลงอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิคือฌาน ๔ เกิดขบวนการของมรรค แล้วเวลาบอกว่ามรรคเกิดอย่างไร เกิดจากสภาวะจำ จำสภาวะได้ แต่สภาวะนั้นเกิดปัญญา อ้าว แล้วเวลาบอกขบวนการมันเกิดสภาวะจำ สภาวะจำมันก็สัญญาที่เราจำ มันจะเกิดขบวนการของมันได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้สักอย่างหนึ่ง ของมันเป็นไปไม่ได้ มันขัดแย้งกันเองในตัวตลอด

พอขัดแย้งในตัวมันตลอด จะบอกว่ามันเป็นธรรมะของภาคปริยัติ มันฟังได้ เพราะปริยัติคือตำราสอนอย่างนั้น ปริยัติก็คือเราเป็นเครื่องโรเนียวนี่แหละ คือโรเนียว ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาโดยผ่านเรา เราเป็นเครื่องถ่ายเอกสารไง ถ่ายธรรมะของพระพุทธเจ้ามา แล้วก็แปะไว้ข้างหน้านี่ อ่านเอาเห็นไหม ถ้าเทศน์อย่างนี้ไม่มีผิด เพราะว่าเราเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรผิดหรืออะไรถูก

แต่ถ้าบอกว่าตัวเองมีมรรคมีผล มรรคผลมันเกิดจากอะไร ความรู้จริงมันเกิดจากอะไร แล้วอ้างทำไมว่า โสดาบัน สกิทาคา อนาคา แล้วพระอนาคา พระโสดาบันเป็นอะไร ก็เบื่อๆ พอมันเบื่อก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าเบื่อๆๆ เด็กๆ มันก็เบื่อ ก็เบื่อหมด เพราะมันพูดคำว่านิพพานอยู่ซึ่งหน้า นิพพานอยู่ตรงหน้า นิพพานไม่เคยดับไปไหน เราต่างหากที่จิตใจเราไม่สะอาดพอ ถึงเข้าถึงนิพพานไม่ได้ เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นคำว่านิพพานอยู่ซึ่งหน้า แต่เราต้องทำอย่างมหายานเห็นไหม นิพพานอยู่ซึ่งหน้า นิพพานอยู่ใกล้เรา นิพพานอยู่ไม่ไกลจากเรา แล้วเราต้องพยายามทำเข้าไปสู่ความเป็นอย่างนั้น การนั่งสมาธิ การภาวนา ปัญญามันจะเกิดตามความเป็นจริงนั้น ต้องปัญญาเกิดตามความเป็นจริง การปฏิบัติมันต้องมรรคญาณ ธรรมจักร ไม่ใช่กงจักร

ถ้าเป็นกงจักรเขาจะทำลายตัวเองตลอดเวลา ถ้าเป็นธรรมจักรมันจะเข้าไปชำระกิเลสของเราตลอดเวลา ถ้าชำระกิเลสถึงที่สุดนั่นแหละสังโยชน์ขาด ขาดดั่งแขนขาด แล้วขาดแล้วจะไม่กลับมาสมานกันได้อีกเลย แล้วถ้าตายโดยเป็นขั้นของอริยภูมิ มันจะไปเกิดเป็นเทวดาอริยบุคคล

มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะเพื่อนของพ่อพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี้พ่อตายแล้ว เพื่อนของพ่อเป็นเศรษฐีเหมือนกัน แล้วมาเป็นคนทุกข์คนยาก พระสารีบุตรปรารถนาไปโปรดเพื่อนของพ่อมาก แต่เพื่อนของพ่อก็อายพระสารีบุตรมาก ไม่เคยสู้หน้าพระสารีบุตรเลย หนีตลอดเวลา เพราะเป็นเศรษฐีแล้วกลับมาจน

สุดท้ายมีอยู่วันหนึ่ง ไปรับจ้างเขามาได้ก็ได้เงินมา ก็นิมนต์พระสารีบุตรมาฉัน พอทำบุญพระสารีบุตรก็เลี้ยงเต็มที่เลย พอทำเต็มที่เสร็จแล้ววันนั้นก็ตาย พอตายแล้วก็ไปเกิดในบ้านของผู้ที่อุปัฏฐากพระสารีบุตร ไปเกิดเป็นเด็กน้อยเลย พอเกิดเป็นเด็กน้อยเพราะได้บุญอันนี้มามาก เด็กมันรู้ของมัน พอรู้ของมัน ตระกูลนั้นก็นิมนต์พระสารีบุตรไปฉัน

นี่พอพระสารีบุตรไปฉัน เขาก็เอาผ้าใส่บนถาดมา แล้วให้เด็กน้อย พอเด็กเกิดก็จะทำบุญครบเดือน ประสาเหมือนเราเห็นไหม นิมนต์พระมาเลี้ยงพระเพื่อทำบุญวันเกิดเด็ก นี่เด็กไร้เดียงสามาก เด็กมันยังแบเบาะอยู่เลย เวลาเอาผ้ามาถวายพระสารีบุตร เด็กมันเอานิ้วเกี่ยวทำให้หลุดออกมาจากพานตกลงมาต่อหน้าพระสารีบุตร นี่พอตกหน้าพระสารีบุตรปั๊บ เขาบอกว่าคือถวายพระสารีบุตร คือจิตใจของเด็กมันรู้ เพราะว่าเพื่อนของพ่อทำบุญกับพระสารีบุตรแล้วได้มาเกิดในตระกูลเศรษฐี เพราะบุญอันนั้นมันซาบซึ้งบุญคุณของพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรพยายามจะมาโปรดอยู่ตลอดเวลา

อยู่ในพระไตรปิฎก พอถึงเวลาแล้วเขานิมนต์พระสารีบุตรมาฉัน เพราะในตระกูลนี้เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร พอเขาถวายผ้า มันก็เกี่ยวผ้าลง พอเกี่ยวผ้าก็ถวายพระสารีบุตรเพราะซึ้งบุญคุณนั้น แล้วพอโตขึ้นมาเป็นเด็กอยากขอบวช บวชก็มาบวชในสำนักพระสารีบุตร แล้วพระสารีบุตรก็สอนจนรู้สึกว่า ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์เลย นี่มันเป็นบุญต่อเนื่องมาเห็นไหม

จากเพื่อนของพ่อ เป็นเพื่อนกับพ่อ เราจำชื่อไม่ได้เท่านั้น เป็นเพื่อนกับพ่อ เพียงแต่ว่ามันทุกข์จนเข็ญใจ เพราะมันกลับมาจน แล้วสุดท้ายแล้วพระสารีบุตรก็พยายามจะไปโปรด เพราะพระสารีบุตรคิดถึงบุญคุณ เพราะเพื่อนของพ่อไง นั่นก็อาย หนีตลอดเวลา แต่พอมีเงินก็มาทำบุญหนหนึ่ง ก็มาเกิดในตระกูลนี้เพราะเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตรอยู่แล้ว แล้วพอเกิดแล้ว พอโตขึ้นมาก็ขอบวชด้วย แล้วบวชเสร็จแล้วเป็นพระอรหันต์ด้วย นี่คิดดูสิ เป็นเพื่อนของพ่อ แล้วมาเกิดในบ้านของลูกศิษย์ แล้วมาเป็นลูกศิษย์ของตัวเห็นไหม มันทันในวังวนนั้นเลย

นี่เวลาการกระทำ นี่พูดถึงการเวียนตายเวียนเกิด ในคำว่าสังโยชน์ คือว่าเด็กมันรู้หรือไม่รู้ไง แล้วเด็กรู้หรือไม่รู้มันอยู่ที่วุฒิภาวะของเด็ก ถ้าเด็กมันสร้างบุญมา บุญของคนมันไม่เท่ากัน จริตนิสัยของคนไม่เท่ากัน ธรรมะมันหลากหลาย จริตนิสัยมันหลากหลาย มันกว้างนัก ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ตายตัว แต่โดยข้อเท็จจริงเลยจิตมีสังโยชน์ สังโยชน์มัดจิตไว้ไม่มี ไม่มีจิตดวงไหนไม่มีสังโยชน์

คำว่าจิตหมายถึงว่า จิตเกิดตั้งแต่พรหมลงมามีสังโยชน์หมด แล้วสังโยชน์รัดที่จิต ไม่ใช่รัดที่สถานะของชาติ แล้วไม่ใช่รัดที่สถานะของเด็กหรือผู้ใหญ่ เด็กก็มีสังโยชน์ ผู้ใหญ่ก็มีสังโยชน์ เฒ่าแก่แค่ไหนก็มีสังโยชน์ เฒ่าจนคลานจนจะตายก็มีสังโยชน์ เด็กในท้องก็มีสังโยชน์ เพราะมันมัดที่จิต จิตนั้นมันเวียนตายเวียนเกิด มันมีสังโยชน์ที่ดวงจิต ไม่มีสังโยชน์ที่สถานะของมนุษย์ สังโยชน์มันอยู่ที่สถานะของมัน มัดอยู่ที่จิตนั้น นั้นสังโยชน์อยู่ที่จิต ไม่ใช่สังโยชน์อยู่ที่กาย ไม่ใช่สังโยชน์อยู่ในที่สาธารณะ อยู่ที่สถานะของคน อยู่ที่วัยวุฒิ สังโยชน์มันอยู่ที่จิตเลย

ฉะนั้นเวลามันขาดเห็นไหม ดูสิ เทวดามาฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า เทวดาเป็นพระอรหันต์นะ สังโยชน์มันขาดตรงไหนล่ะ ไม่มีร่างกายนะ เทวดา พรหม มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า มาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นเห็นไหม แล้วเวลาเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น สำเร็จกันเป็นล้านๆๆๆๆๆ แล้วสังโยชน์มันขาดที่ไหน สังโยชน์มันขาดที่จิต

เวลาวิปัสสนาเกิด ปัญญาเกิดขึ้น แล้วมันเกิดจากปัญญาเกิดขึ้น จิตภาวนามันเกิดจากจิต แล้วเวลามันขาดก็ขาดที่จิต ไม่ใช่ขาดที่สถานะของเด็กหรือผู้ใหญ่ ขาดเพราะมรรคญาณ ขาดเพราะธรรมจักรมันหมุน ขาดเพราะความเป็นจริง นี่จริงอย่างนี้ นี่พูดถึงสังโยชน์ เอวัง