เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ก.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วัตรในศาลาโรงฉัน ทำภัตกิจ นี่มันเป็นกิจ มันเป็นหน้าที่การงาน งานทางโลกเราทำอาบเหงื่อต่างน้ำ มันเป็นหน้าที่การงาน แต่เวลากิน เวลาฉันนี่ก็เป็นงานอันหนึ่ง เป็นภัตกิจ เป็นหน้าที่การงาน ก็มีกฎ มีกติกา

กฎกติกาเห็นไหม คนเราจะดีด้วยการฝึกฝน ธรรมะสอนนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก อยู่ในพระไตรปิฎก ช้างเขาต้องเอามาฝึก เอามาหัด สัตว์มันยังฝึกหัด ยังใช้งานได้ มนุษย์ก็มีสิทธิที่จะประพฤติปฏิบัติ จะดัดแปลงใจของตัวได้

ถ้ามนุษย์จะประพฤติปฏิบัติ จะดัดแปลงใจของตัว มันอยู่ที่การฝึกฝน ถ้าการฝึกฝน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะฝึกฝน สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ธรรมวินัยนี้ไม่มีนะ กฎกติกายังไม่มีเลย กฎต่างๆ ที่เขาทำผิดพลาด สิ่งต่างๆ ยังไม่มีเลย

แต่ผู้ที่ใฝ่ธรรมเห็นไหม พระยสะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เทศนาว่าการปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แล้วเดินจงกรมอยู่ เสวยวิมุตติสุขอยู่ พระยสะก็มีปราสาท ๓ หลังเหมือนกัน

“ที่นี่เดือดร้อนหนอ ! ที่นี่วุ่นวายหนอ !”

มันมีความอึดอัดออกมาจากบ้าน มันอึดอัดมาก มันทุกข์ยากมาก

“ที่นี่เดือดร้อนหนอ ! ที่นี่วุ่นวายหนอ !”

แต่มันไม่มีทางออกนะ ไม่มีทางไป ถ้าไม่มีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางไป แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่เห็นไหม

“ยสะ ! ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่วุ่นวาย มานี่ ! มานี่ !”

พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการให้ฟัง จนพระยสะเป็นพระโสดาบัน พ่อแม่มาตามหานะ เพราะมีลูกคนเดียว ก็บังพ่อแม่ไว้ เทศนาอีกทีพ่อแม่ได้เป็นพระอนาคามี แต่ลูกได้เป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอริยบุคคลแล้ว เปิดให้เห็นกันได้ สิ่งที่ฝึกหัดเห็นไหม เพราะอะไร เพราะท่านยังมีธรรมวินัยอยู่ แต่คนมีความใฝ่ฝัน คนมีความตั้งใจจริง ปรารถนาธรรมเหนือโลก ธรรมที่ให้จิตใจนี้พ้นจากกิเลสไปได้

แต่ในปัจจุบันนี้ พวกเราก็ปรารถนา แต่ปรารถนาครึ่งๆ กลางๆ นะ ปรารถนาไม่อุกฤษฏ์ ไม่เต็มที่ มันไม่กล้า นี่พอธรรมวินัยบัญญัติไว้ กฎกติกานี้บัญญัติไว้ พอกฎกติกาบัญญัติไว้เห็นไหม มันล่วงสมัย มันทำไม่ได้ คิดถึงเหมือนกฎหมาย ...

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพูดถึงพระอานนท์ไว้เห็นไหม ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าสิ่งใดวินัยเล็กน้อยนี่ ถ้าจะแก้ไขก็ให้แก้ไขได้ แต่เพราะว่าในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ มีลัทธิต่างๆ มหาศาลเลย

พระจุนทะไปเห็นศาสดาของลัทธิต่างๆ เขาเสียไป แล้วศาสนาของเขาล่มสลาย เขาอยู่กันไม่ได้ พระจุนทะมาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เพราะเหตุใด”

“เพราะไม่มีวินัย ไม่มีระเบียบข้อบังคับนี้”

นี้พอเวลามีพระทำผิดพลาดก็มีข้อวินัยต่างๆ มา พอต่างๆ มาเห็นไหม เพราะพระสมัยพุทธกาลเห็นความล่มสลายของลัทธิต่างๆ

พระกัสสปะถึงได้เวลาทำสังคายนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ นี่เถรวาท ! เถระ.. เถรวาทเป็นโอวาทของพระเถระ ๕๐๐ องค์ เป็นพระเถระ ๕๐๐ องค์ที่บัญญัติธรรมวินัยไว้ แล้วลงญัตติกันไว้ว่า ถ้าเป็นเถรวาท เป็นเถระ ๕๐๐ องค์นี้ เราจะไม่แก้ไข เพราะอะไร

เพราะเวลาประชุมกันแล้วถามพระอานนท์ว่า

“เล็กน้อยแค่ไหน... ต่อไปเล็กน้อยนี่ จะให้แก้ไขได้แค่ไหน”

พระอานนท์บอกว่า “พระพุทธเจ้าไม่บอกว่าได้แค่ไหน” เห็นไหม

เพราะไม่ได้บอกว่าแค่ไหน.. เวลาในสมัยปัจจุบัน กฎกติกาเพราะเราทำไม่ได้ ทุกอย่างเราทำไม่ได้ เพราะมันพ้นยุคพ้นสมัยแล้วทำไม่ได้ มันไม่เหมือนกฎหมายนะ กฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้ พอกฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้เพราะอะไร เพราะกฎหมายใครเป็นคนบัญญัติล่ะ เขาบอกว่า “หมู่ชนใดตั้งกติกา ก็เพื่อหมู่ชนนั้น”

นี่ก็เหมือนกัน ที่ใดถ้าไม่ใช่สัตบุรุษ ที่นั่นไม่ใช่สภา สภาคือคนที่เห็นความถูกผิด เห็นสังคมทั่วไป บัญญัติเพื่อสังคมนั้น แต่ถ้าที่ใดไม่ใช่สัตบุรุษ หมู่ชนใดบัญญัติกฎกติกาก็บัญญัติเพื่อหมู่ชนนั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปราศจากกิเลส ไม่ใช่เพื่อหมู่ชนใด เพียงแต่บัญญัติไว้เพื่อเป็นเครื่องมือ เพื่อเป็นธรรมและวินัยนี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องมือที่เราจะเข้าไปสู่ธรรม เป็นเครื่องมือที่เราจะดัดแปลงตัวเราเข้าไปสู่สัจจะความจริง

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่จริงจังของเรา กฎกติกาที่ล่วงสมัยปฏิบัติไม่ได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติ เช่นหลวงปู่มั่น ท่านทำของท่าน หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำว่า “เก็บหอมลอมลิบ”

หลวงปู่มั่นเป็นพระอะไร ในเมื่อลูกศิษย์ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ก็เชื่อมั่นว่าหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ นี่พระอรหันต์เห็นไหม ธรรมและวินัยนี้ยกเว้นภิกษุผู้เฒ่า ภิกษุผู้ป่วยไข้ เพราะเฒ่า เพราะป่วยไข้นี้ยกเว้น ยกเว้นเพราะมันทำไม่ได้ไง ที่ว่ากฎกติกามันบังคับไม่ได้ มันล่วงสมัย แต่ถ้าเราชราภาพ เราทำสิ่งนั้นไม่ได้

สิ่งที่ทำไม่ได้เห็นไหม เจตนาขนาดไหนมันก็ทำไม่ได้ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเก็บหอมลอมลิบ ครูบาอาจารย์ท่านบอก ท่านเก็บหอมลอมลิบของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ท่านทำของท่านตลอด ท่านรักษา เก็บหอมลอมลิบเพื่ออะไร เพราะว่าให้เป็นแบบอย่างไง ให้อนุชนรุ่นหลังได้เป็นแบบอย่าง

ตอนนี้เวลากฎกติกาว่าเราปฏิบัติไม่ได้ เราล่วงสมัย กติกาเห็นไหม เพราะกติกา ธรรมและวินัย กฎกติกาเราทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเราอ่อนแอ ทำไม่ได้เพราะเราไม่จริงใจ ถ้าความจริงใจของเราเห็นไหม ถ้าเราเห็นว่าเป็นเครื่องมือล่ะ

ดูสิ เราจะกินข้าว เรามีช้อน มีภาชนะที่จะใส่อาหาร นี่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรม เราไม่มีเครื่องมือสิ่งใดๆ เลย เราไม่มีอาวุธเลย เราไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะต้อนหน้ากิเลสเราเลย แล้วบอกว่าสิ่งนี้มันไม่จำเป็น มันล่วงสมัย เราทำไม่ได้.. ทำไม่ได้.. ทำไม่ได้เพราะกิเลสมันไม่ยอมทำไง ทำไม่ได้เพราะกิเลสมันจะปฏิเสธไง

แต่ถ้าทำได้ ในเมื่อหมู่ชน เวลาธรรมและวินัย ปรัมปร ภิกษุเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่คราวภิกษุมาก คราวเดินทาง คราวต่างๆ นี่มันมีความจำเป็น ในเมื่อกฎหมายบังคับนะ มันมีข้อยกเว้นต่อเมื่อมีความจำเป็น

คำว่ายกเว้น คือมันมีสิ่งที่ปฏิบัติแล้วมันขัดแย้ง เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติมาเพื่อฆ่าคน ไม่ได้บัญญัติมาเพื่อทำลายคน กฎหมายบัญญัติมาเพื่อคุณงามความดี ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติมาเพื่อการประพฤติปฏิบัติของเรา

ถ้าเราเห็นคุณประโยชน์ เราจะเอาสิ่งนี้มาเป็นคุณประโยชน์ แต่ถ้าเป็นกิเลสมันเห็นโทษ เพราะมันไม่มีความสะดวกสบาย มันขัดแย้งไปหมด เราทำอะไรมันมีแต่กฎกติกา ทำอะไรมันไม่มีความสะดวกสบายเลย มันก็จะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน นี่เพราะว่ามันไม่เห็นคุณค่า

ถ้าเราเห็นคุณค่านะ ว่าธรรมและวินัยนี้ประเสริฐมาก ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอปฏิบัติขึ้นมาถึงเป็นศาสดาของเรา เสวยวิมุตติสุขแล้วนะ “แล้วจะสอนอย่างไร จะสอนอย่างไร จะสอนใครได้หนอ” คำว่าจะสอนอย่างไร ดูในหมู่ชนเห็นไหม

ชาววัชชีบุตร เป็นภิกษุที่โหดร้ายมาก แล้วเวลาพระไปก็มีแต่ความเห็นของตัว ถึงว่าหยิบเงินได้ ต่างๆ ได้เห็นไหม พระมาก็บังคับจะให้ทำ มาฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอมาฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ให้พระสารีบุตรไปแก้ไข เป็นลัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรบวชให้ เขาโหดร้าย เขาทำอะไรไปนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้เอาพระไป พอเอาพระหมู่มากไปนี่ ให้ทำพรหมทัณฑ์ ให้ไล่ออกไปจากพื้นที่นั้น ไม่ให้อยู่ในพื้นที่นั้น นี่ผลประโยชน์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น นี่พูดถึงผู้ที่ปรารถนาทางโลกนะ

แต่เวลาปรารถนาทางธรรมล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระกัสสปะนะ “กัสสปะเอย ! เธอก็อายุปานเรา ๘๐ ปีแล้ว ทำไมต้องถือธุดงควัตรให้มันลำบาก เป็นพระอรหันต์ทำไมต้องลำบากขนาดนั้น”

นี่พระกัสสปะบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ถือเพื่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือธุดงควัตรเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติ ได้เป็นแบบอย่าง”

ได้เป็นแบบอย่างเห็นไหม ธรรมวินัยก็คือกฎหมาย กฎหมายก็เป็นตัวอักษร ตีความแล้วไม่เข้าใจแล้วจะทำสิ่งใด ถ้าไม่มีตัวอย่าง ไม่มีแบบอย่างเลย แต่ถ้ามีแบบอย่างขึ้นมาเห็นไหม ทำไว้เพื่อเป็นคติ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้มีแบบอย่าง

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุนะ ! ถึงแลกผ้าสังฆา นี่ถือผ้าบังสุกุล ไม่รับผ้าคฤหบดีจีวร ไม่รับผ้าที่โยมเอามาถวาย เก็บเอาที่ซากศพ ห่อศพ ผ้าได้ตามความปรารถนามันก็ไม่มี ถ้าผ้าที่ได้ตามความปรารถนา ความต้องการมันก็ไม่มีใช่ไหม ถ้ามันขาดแค่ไหนก็ปะชุน.. ปะชุน ปะชุนถึง ๗ ชั้น !

พระภิกษุผู้เฒ่า อายุ ๘๐ ปี แล้วใช้ผ้าสังฆาหนาถึง ๗ ชั้น พาดอยู่บนไหล่ แล้วเวลาห่มผ้าซ้อนออกบิณฑบาต มันจะเทอะทะขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอแลกนะ ขอแลกด้วยผ้าสังฆาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระกัสสปะ

นี่ผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ เห็นสิ่งต่างๆ ว่าเป็นคุณประโยชน์ของตน พระกัสสปะก็ทำถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว แล้วยังเห็นคุณประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังเห็นไหม ผู้ที่เห็นคุณประโยชน์จะทรงธรรม ทรงวินัยไว้ เป็นประโยชน์กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป

ผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ ! มันล่วงสมัย มันไม่มีความจำเป็น มันทำไม่ได้.. ทำไม่ได้.. ทำไม่ได้เพราะมันไม่ทำ ! ถ้ามันทำได้มันทำทั้งนั้นล่ะ คนเราถึงที่สุดแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วนี่ ถ้ากิเลสมันจะมีอำนาจขึ้นมาก็แค่ตายเท่านั้นล่ะ

ถ้ามันตาย อะไรตายก่อน อ้าว.. สละตายเลยนี่ เพราะสละตายแล้วจบ ! ไม่มีอะไรเลยที่จะขัดขวางได้ แต่เพราะเราไปเห็นใช่ไหม โน่นก็ลำบาก นี่ก็ลำบาก เราไปเห็นแต่ความลำบากลำบนไปหมดเลย แต่เวลากิเลสมันขี่หัวแล้วไม่มอง เพราะกลัวความลำบาก กิเลสมันถึงได้ใจไง กิเลสถึงบอกว่า ไอ้นี่มันอยู่ในโอวาทตลอดล่ะ เพราะมันไม่กล้าทำสิ่งใดเลย ไม่กล้าฝืน

ฝืนใจของตัวเองคือฝืนกิเลส กิเลสมันกลัวความรู้สึกเรานะ กิเลสมันอยากดู อยากเห็น อยากเป็น อยากไปนี่.. ไม่ไป ! อยากจะกิน.. ไม่ ! ไม่ ! ไม่ ! การกระทำอย่างนี้ไม่ใช่พูดแต่ปากนะ

หลวงตาท่านเล่าประจำ หลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อนี่ ไปบิณฑบาตมา บิณฑบาตในป่าในเขา ไม่ได้บิณฑบาตในเมืองนะ ได้สิ่งใดมา นี่คนพื้นถิ่น ได้อาหารมา สิ่งใดที่ไปตกอาหารขึ้นมานี่ จับโยนทิ้งเข้าป่านะ อาหารที่ตกมาใส่..

สมัยโบราณมันยังไม่มีถุง ไม่มีพลาสติกหรอก เขาก็ห่อใส่ใบตอง เห็นอะไรที่เราคุ้นชิน เคยกิน เคยฉัน แล้วมันถูกจริต มันพอใจนี่ อันไหนมันพอใจ จับอันนั้นทิ้งเข้าป่า.. จับอันนั้นโยนเข้าป่า.. แล้วพอไปถึงวัด มีอะไรเหลือในก้นบาตรล่ะ ก็มีเหลือแต่สิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการทั้งนั้นเลย ฝืนฉันมันไป !! ฝืนกินมันไป !

เห็นไหม ผู้ที่จะฝืนมัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านทำของท่านมาอย่างนี้ แล้วท่านทำของท่านมาจริงๆ นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่านมาเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างมันมีเห็นไหม นี่พอแบบอย่างมันมีนี่ แล้วทำไมเราทำไม่ได้

ถ้าเราทำของเราได้เห็นไหม เราทำของเราได้ เราจะแก้ไขของเรา เราจะฝืนมัน เราจะฝืนกิเลสของเรา ถ้าเราฝืนกิเลสของเรา แต่นี้เราไม่ฝืนกิเลสของเรา เราตามกิเลสของเราไป เพราะตามกิเลสของเราไปมันก็เห็นแล้วล่ะ

กติกานี้มันล่วงสมัย มันพ้นสมัยทั้งนั้นล่ะ ธรรมวินัยนี้มันปฏิบัติไม่ได้ หมดยุคหมดสมัยปฏิบัติไม่ได้แล้ว ! ทำแต่ความพอใจของตัว

โลกเดี๋ยวนี้มันแคบไง มหายานเขาเป็นอย่างนั้น อาจริยวาท เรื่องศีล เรื่องอะไร เขาบอกว่าเขาถือสัจจะของเขา เขาตั้งสัจจะแล้วถือสัจจะ เขาไม่ผิดสัจจะของเขา นี่เขาว่าอาจริยวาท ฉะนั้นธรรมวินัยนี้มันก็เลยแตกต่างกัน แล้วสังคมมันแคบ ไปเห็นเข้ารู้เข้าไง

แต่รู้เข้า เราก็ต้องเคารพ.. เคารพความเห็นต่าง ถ้าเคารพความเห็นต่าง ในเมื่อมหายานเขาเป็นอย่างนั้น ก็ต้องให้เขาเป็นอย่างนั้น

ในเถรวาทเราเป็นของเราอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างนี้ เพราะในเถรวาทของเรา มันก็มีหลักมีเกณฑ์ของเรา นี่พูดถึงโลกมันแคบไง ถ้าพูดอย่างนี้เขาจะบอกว่ามันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ยึดมั่นถือมั่นแต่จิตใจคับแคบ จิตใจไม่ยอมรับความเห็น เรายอมรับความเห็นของเขา ความเห็นต่าง..

กฎหมาย ! กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสากลต่างๆ ของเขาน่ะมันเรื่องของเขา แต่ถ้ามันไม่ทำผิดก็เรื่องของเขา แต่ในเมื่อกฎหมายของเรา ในเมื่อเราเป็นเถรวาท ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราบวชในเถรวาท เราก็ต้องยอมรับกฎหมายของเรา

ถ้าเราไม่ยอมรับกฎหมายในถิ่นเกิดของเรา แล้วเราจะยอมรับกฎหมายของใคร เห็นเขาทำก็ทำตามเขานะ แต่เวลากิเลสของเรามันเห็นตามใครล่ะ มันก็เห็นความสะดวกสบายใช่ไหม นี่พูดถึงคนจะฝึก ถ้าคนจะฝึกนะมันเห็นคุณค่า.. เห็นคุณค่าของเครื่องไม้เครื่องมือ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ จะบอกว่าท่านคอยบอกกล่าว แต่ถ้าเป็นประสาโลก ท่านคอยติคอยเตียน คอยบอก

หลวงตาท่านพูดประจำ เหมือนตบมือเลย มือของคนเรานี่ จะไปหยิบสารพิษ ไปหยิบของเป็นภัยนี่ จะตบมือไว้ ตบมือไว้ ใจของเรานี่มันไปคว้าไปหยิบสิ่งต่างๆ มันไม่รู้หรอก แล้วครูบาอาจารย์ท่านตบมือไว้ นั่นอย่า ! นั่นอย่านะ !

พออย่า ! นั่นล่ะข้อบังคับ เราก็ฝืนไปหมดเลย มันไม่ได้ดังใจ ไม่มีความพอใจต่างๆ เลย มันก็ย้อนกลับมาในนวโกวาท ภิกษุบวชใหม่ ทนไม่ได้กับคำสอน ภิกษุบวชใหม่ ภัยของภิกษุบวชใหม่มีอะไรบ้าง

ภัยของภิกษุบวชใหม่นะ ! ทนคำสอนไม่ได้ ทนคำบอกกล่าวไม่ได้ ทนอะไรไม่ได้สักอย่างเลย ! ประชาธิปไตย นี่สิทธิเสมอภาค ! แล้วก็เอามาอ้างกัน แล้วครูบาอาจารย์สอนเพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าเห็นเรื่องของกิเลสไง กิเลสของคนมันถือตัวตนมันเป็นใหญ่ แล้วความรู้สึก ยิ่งปัญญาชนยิ่งศึกษามากยิ่งรู้มาก ยิ่งศึกษามากก็รู้แต่เรื่องโลกนะ แต่ไม่รู้จักตัวเองเลย

แต่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มันศึกษาตัวเองไง ทิ้งให้หมด คำว่า “ทิ้งให้หมด” ก็สร้างภาพ ว่างๆ ว่างๆ ทิ้งแล้ว.. มันไม่ได้ทิ้งอะไรเลย มันไปยึดมั่นถือมั่นอีกชั้นหนึ่ง แล้วบอกว่ามันทิ้งแล้ว แต่ถ้ามันทิ้งของมันเองนะ มันทิ้งนะ ดูสิ ความทิ้งของมันนะ มันจะมีความสุข

จะไม่ถามว่า “ว่างๆ นี้มันคืออะไร ! ว่างๆ นี้มันคืออะไร !” กินข้าวมาแล้วมาถามว่ากินข้าวกับอะไร ก็เอ็งกินมากับมือ แล้วมาถามคนอื่นว่ากินข้าวกับอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ แล้วมันคืออะไร... มันคือความไม่จริงไง คือไม่ได้กิน ความเป็นอยู่ของเรา สามัญสำนึกของคนมันมี นี้พอมันมีมันก็ว่ากันตามนั้น แต่เป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงมันเป็นปัจจัตตัง ผู้นั้นรู้ก่อน เห็นไหม ครูบาอาจารย์เวลาไปถามปัญหาท่านน่ะ ท่านบอกว่า “พูดมาเลย เราเป็นผู้ฟังเฉยๆ” สิ่งที่เขาทำมาน่ะ ข้อเท็จจริงมันอยู่ที่นั่น แล้วถ้าข้อเท็จจริงถูกต้อง ก็คือถูกต้องในความเป็นจริงแล้ว ตั้งแต่เขาถามหรือไม่ถาม มันก็ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว

แต่ถ้ามันไม่ถูกต้อง มันก็ผิดมาตั้งแต่ตามความเป็นจริงแล้ว จะมาถามขนาดไหนมันก็ผิด พอมันก็ผิดนะ “หลวงพ่อนี่ ! อะไรก็ผิดทุกอย่างเลย.. ผิดทุกอย่างเลย”

เราไม่มีสิทธิไปบอกว่า ถูกหรือผิดในข้อเท็จจริงนั้น ! แต่เราบอกว่าผิดตามความเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมมันผิด มันก็คือผิด !

ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริงนะ ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น เงินในกระเป๋าของคนมีเท่าไรก็มีเท่านั้นล่ะ เราจะบอกว่า มีเพิ่มขึ้น-ลดลง เราไม่สามารถไปเพิ่มเงินในกระเป๋า หรือลดเงินในกระเป๋าของบุคคลคนอื่นได้ เงินในกระเป๋าของคนๆ นั้น มันก็เป็นเงินในกระเป๋าของคนๆ นั้นเท่านั้น ก็พูดตามความเป็นจริงว่าเงินในกระเป๋านั้น แต่ผู้ที่มีเงินในกระเป๋านั้นมีความเห็นผิดว่าเงินในกระเป๋าของตัวมีเท่านี้ แต่ให้ค่ามันมากกว่านั้น

เราก็บอกว่า ต้องย้อนกลับมาสู่ความจริงว่า เงินในกระเป๋ามีค่าเท่าไรก็เป็นค่าเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน วุฒิภาวะของคน วุฒิภาวะของการปฏิบัติมันแตกต่าง มันหลากหลายขึ้นมา ครูบาอาจารย์มีหน้าที่อย่างนี้เห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเราถึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูองค์แรกของโลก แล้วก็ฝึกฝนศาสนทายาท ธรรมทายาทมา เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ

ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราไปอ่านกฎ เราก็ไปตีความกฎว่ากฎล่วงสมัย กฎพ้นสมัย เราจะไม่ยอมฝึก เราจะฝึกด้วยความเห็นของเรา เราจะปฏิบัติด้วยความเห็นของเรา เราจะปฏิบัติด้วยความสะดวกสบายของเรา อันนี้เป็นธรรม ! เป็นธรรม ! เพราะเป็นความสุข กิเลสมันพอใจ ถ้ามีกฎกติกาขึ้นมา อันนี้เป็นกิเลส ! กิเลส ! กิเลส ! เพราะกิเลสมันไม่พอใจนี่ไง ถ้าเราอ่านเอง เราศึกษาเอง ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้

แต่มีผู้ที่ศึกษาเองแล้วเป็นธรรมก็มี แต่มีส่วนน้อย ส่วนน้อยหมายถึงวุฒิภาวะของเขา เขาสร้างของเขามาดี แต่พวกเรานี่จิตใจอ่อนแอ จิตใจที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราจะต้องพึ่งครูบาอาจารย์ด้วย แล้วศึกษาด้วย

ในธรรมบอกว่า “ห้ามพึ่งบุคคล ให้พึ่งธรรมะเถิด !” แต่ธรรมะอยู่ในใจของครูบาอาจารย์ท่านเป็นบุคคลด้วย ท่านเป็นธรรมด้วย สุดยอด ! เพราะเป็นธรรมะที่พูดได้ ธรรมะที่สื่อสารได้ ธรรมะในหนังสือเป็นธรรมะที่เราตีความโดยกิเลสของเรา เราจะสื่อสารไม่ได้นะ

นี่พูดถึงกฎกติกาที่จะมีคุณค่า ถ้าเราเห็นคุณ เราจะสาธุ ! แต่ถ้าเราเห็นโทษ เราจะยกเลิก แล้วเราจะทำตามความพอใจของเรา แต่ถ้าเราเห็นคุณของมัน เห็นคุณของธรรม เห็นคุณของกฎกติกา แล้วเราศึกษา ทำไมถึงทำอย่างนี้ เหตุผลเขามีนะ มันมีที่มาที่ไป

กฎหมายทุกข้อ เขาบัญญัติขึ้นมา เขามีนิยามของเขา เพื่ออะไร ประโยชน์อะไร ผลมันคืออะไร แต่นี่เราไม่เข้าใจ เริ่มต้นก็ ผิด ! ผิด ! ผิด ! ไม่เอา ! ไม่ต้องการ ! แต่ไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย ศึกษาด้วยกิเลส ศึกษาด้วยธรรมจะได้ธรรม ปฏิบัติของเราให้ตามความเป็นจริง แล้วเราจะมีคุณธรรมในหัวใจของเรา เอวัง