ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใบไม้ในป่า

๒๒ พ.ย. ๒๕๕๒

 

ใบไม้ในป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


มันพูดถึงธรรมะนะ เพราะตีความกัน เริ่มต้นก็ตั้งเป้ากันผิด แล้วเป้าหมายก็แตกต่างกัน แต่ถ้าความจริงในธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้ามันเป็นแบบที่เราเข้าใจได้เนี่ย พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้เองว่าเป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ ปฏิเวธ แล้วแบ่งไว้ด้วยนะ จะแบ่งไว้ด้วย ธรรมกถึกกับวินัยธร

ธรรมกถึก พวกธรรมกถึกกับวินัยธรที่มันมีปัญหากันในสมัยพุทธกาลเรื่องวินัย เพราะตีวินัยผิดพลาดแตกต่างกัน แล้วเวลามีปัญหากัน พระพุทธเจ้าให้มาสมานซะแล้วมีปัญหากัน เนี่ยมุมมองแบบนี้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ เป็นผู้ปฏิบัติเองเป็นผู้วางธรรมวินัยไว้เอง จะเข้าใจว่าความรู้สึกความเข้าใจของคนมีมากได้ขนาดไหนไง

ทีนี้เวลาบอกว่า เวลาพระป่าเรา พระปฏิบัติ เวลาหลวงปู่ฝั้นพูด ท่านเทศน์ไว้เองท่านบอกว่า ปริยัตินะพระป่าเราเรียนมาแล้ว เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ กับอุปัชฌาย์นะ อุปัชฌาย์สอนปริยัติแล้ว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ปิดบังตาพวกเราตลอดมา แล้วถ้าใครสามารถแทงทะลุ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังไปได้ ทะลุเข้าไปด้วยปัญญาญาณนะ มันจะไปชำระกิเลส มันจะไปถอดถอนไอ้ความยึดมั่นถือมั่นของใจได้ แต่ถ้ายังเรียนปริยัติกันอยู่อย่างนี้ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ทุกคนบวชมาแล้วมีอุปัชฌาย์หมด อุปัชฌาย์ก็สอนแล้ว เวลาไปบวชแล้วก็ศึกษาปริยัติ ไปศึกษามา

แม้แต่พระที่นี่นะเขารับเราไม่ได้ ตอนที่ในพรรษาเขาบวช เขาเข้ามา พวกปริยัติเขาบอกรับเราไม่ได้เลย คำที่เวลาเราพูดบอกว่า หลวงตาท่านเรียนถึงมหา แล้วหลวงปู่มั่นเนี่ยด้วยอนาคตังสญาณของหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเล่าเองว่า ต่อไปจะมีพระหนุ่มอยู่ ๒ องค์ที่จะมาสืบทอดศาสนาต่อจากหลวงปู่มั่น และท่านบอกว่าพระองค์นี้มาหาเราแล้วที่วัดเจดีย์หลวง มาหาเราแล้วแต่ยังไม่เข้ามา เขามาหาเราแล้ว

แล้วหลวงตาท่านบอกว่า ท่านไปหาหลวงปู่มั่นก็ด้วยความดูดดื่มของใจ มันเป็นสายบุญสายกรรมไง ได้ยินชื่อเสียงของท่านมานาน อยากเห็นหลวงปู่มั่นมาก แล้วท่านบอกว่าท่านแอบดูอยู่ที่รอยแตกของกุฏิ เห็นหลวงปู่มั่นท่านดีใจว่า ชาตินี้ตายก็ไม่ตายเปล่าแล้ว ได้เห็นพระอรหันต์แล้ว ด้วยความผูกพันของใจนะ แล้วหลวงปู่มั่นก็ได้พยากรณ์ไว้เหมือนกัน หลวงปู่มั่นพูดนะ หลวงปู่เจี๊ยะเป็นผู้เล่าเอง บอกว่ามันมาหาเราแล้ว แต่มันยังไม่เข้ามา มาหาเราแล้วมาเห็นกันแล้วแต่ยังไม่เข้ามา พระองค์นี้จะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์มหาศาลเลย นี่เราจะปูพื้นก่อนให้เห็นนะ ปูพื้นมานะ สุดท้ายแล้วหลวงปู่มั่นท่านมารับหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่อ่อนเข้าป่าไปปฏิบัติ

หลวงตาท่านเรียนปริยัติ ท่านเรียนอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านได้มหาจากวัดเจดีย์หลวง พอได้ก็กลับมากรุงเทพนี้ท่านก็ออกปฏิบัติ ท่านก็ปฏิบัติของท่านไป หลวงปู่มั่นท่านกลับจากเชียงใหม่ท่านก็มาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ ๒ ปี อุดร ๒ ปี เห็นไหม แล้วท่านก็ไปอยู่ที่หนองผือ ไปอยู่บ้านโคก หลวงตาตามไป พอหลวงตาไปกราบครั้งแรก

เนี่ยมหา จะมาขึ้นเป็นมหา คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดใส่หัวไว้ เทิดบูชาไว้บนศีรษะ แล้วเก็บใส่ลิ้นชักไว้แล้วลั่นกุญแจมันไว้ ลั่นกุญแจมันไว้นะ ถ้าปฏิบัติพร้อมกับปริยัติไป มันจะเตะมันจะถีบกัน คือความมุ่งหมาย เป้าหมายการตีความมันจะหลากหลาย มันจะทำให้คนที่ปฏิบัตินี่ปฏิบัติได้ยากขึ้น แต่ถ้าเราวางทฤษฎีเอาไว้ก่อน แล้วปฏิบัติไปโดยข้อเท็จจริง

ทีนี้ข้อเท็จจริงกับความสงสัยของเรามันก็มีอยู่แล้วใช่ไหม มันก็ยากอยู่แล้ว แล้วยังไปเอาทฤษฎีของพระพุทธเจ้ามาเทียบเคียงกันอีก มันยากขึ้นเป็น ๒ ชั้นเห็นไหม ด้วยความเมตตาของครูบาอาจารย์ จะให้เราประพฤติปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ท่านจึงบอกว่าทฤษฎีที่เรียนมาที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทิดใส่ศีรษะเทิดใส่หัวไว้ บูชาใส่เหนือเกล้า แล้วเก็บใส่ลิ้นชักไว้ ลั่นกุญแจมันไว้ก่อน แล้วประพฤติปฏิบัติไป ตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้าประพฤติปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริงนั้น เดี๋ยวปริยัติกับปฏิบัติจะมาประสานกัน คือ ความเห็นจริงตามทฤษฎีมันจริงอยู่แล้ว แต่เพราะกิเลสของเรา เพราะความเห็นในหัวใจของเรามันขัดแย้งอยู่ มันสร้างภาพของมันอยู่ มันพยายามตีความ ตีความให้เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น มันเองมันเป็นกิเลสอยู่แล้ว แล้วปฏิบัติไปมันยังสร้างภาพขึ้นมาอีก โอ้โฮ นิพพานวันหนึ่งร้อยหนพันหนเลย คำว่านิพพานเนี่ย

ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน ธรรมะของพระพุทธเจ้าเทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วลั่นไว้ในลิ้นชักก่อน แล้วปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนั้น เวลาปฏิบัติไปถ้าเป็นความจริงมันจะวิ่งมาประสานกันเลย ทฤษฎีกับความจริงมันจะหนีกันไปไหนล่ะ ทฤษฎีกับความจริงมันจะเข้ากันได้เลย แต่นี่มีทฤษฎีแต่ไม่มีความจริง พอไม่มี ทฤษฎีมันมีอยู่แล้วเพราะเราเรียนมาเอง แต่ความจริงมันไม่มี มันก็สร้างทฤษฎีให้เป็นจริงขึ้นมามันยากไหมละ

พอมันยากขึ้นมา หลวงปู่มั่นบอกว่าเทิดใส่ศีรษะไว้ ใส่ลิ้นชักไว้ก่อนแล้วลั่นกุญแจมันไว้ แล้วปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงนี้ก็ลากเลือดแล้วนะ ทำใจสงบนะจะทำให้เกิดปัญญาเราก็ลากเลือดอยู่แล้ว แล้วเรายังไปเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาจินตนาการ มาเป็นเป้าหมายดึงให้เราตกลงไปถลำลึกเข้าไปในความเห็นในทฤษฎีนั้นอีก มันทุกข์ ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ ไอ้ที่พูดเนี่ย หลวงปู่มั่นหรือครูบาอาจารย์เรา ไม่ได้พูดด้วยความอคติหรือว่า… โทษนะไม่ได้พูดเพราะความอยากดังกว่าพระพุทธเจ้าหรอก ไม่ได้ว่าศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว มึงฟังกู ไม่ใช่… เพียงแต่ไอ้คนทำมันจะทุกข์มันจะยาก ไอ้คนทำมันจะลำบาก ถึงบอกว่าให้เทิดใส่ศีรษะไว้แล้วเก็บมันเอาไว้ก่อน แล้วพอเราปฏิบัติไปก็จะไปรู้ธรรมของพระพุทธเจ้านั่นล่ะ

เพราะในสมัยพุทธกาลพระพุทธศาสนาจะมีใครที่รู้นอกเหนือคำของพระพุทธเจ้าไปไม่มีหรอก แล้วเราเกิดมา เราเคารพบูชาพระพุทธเจ้าขนาดไหน เราบวชมา เราปฏิบัติมา เนี่ยบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ เราได้สมบัติอันนี้มาจากใคร ก็ได้สมบัติของพระพุทธเจ้ามาทั้งนั้น ใครมันจะเนรคุณ ใครมันจะไม่ยอมรับ

เพียงแต่ว่า เหมือนกับลูก พ่อแม่มันขับรถนะ แต่ลูกมันขับรถเด็กเล่น พ่อแม่ขับ รถยนต์แล้วให้ลูกมันขับอย่างเราได้ไหม เรามีกันคนละคัน แล้วลูกมันเกิดมาก็ถอยให้ลูกคันหนึ่งได้ไหม ลูกขับรถเด็กเล่นไปก่อนใช่ไหม ลูกก็ต้องเล่นรถพลาสติกไปก่อนใช่ไหม

ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนรถคันหนึ่งสุดยอดเลย แล้วพวกเราเหมือนเด็กจะขับรถอย่างนั้นออกไปก็ตายละสิ ขับรถก็ไม่เป็น บังคับรถก็ไม่เป็นออกไปจราจร มันก็เละน่ะสิ พวกที่ปฏิบัติใหม่มันต้องมีกาลเวลาของมัน ไม่ใช่ว่าสิทธิเสมอภาค พ่อแม่ก็รถคันหนึ่ง ลูกเกิดมาก็รถคันหนึ่งสิทธิเสมอภาค ไอ้ลูกก็เอารถไป ไปไม่รอดหรอกเด็กมันต้องไปเจออุบัติเหตุแน่นอน เพราะเด็กมันทำไม่เป็น เหมือนเราใหม่ๆ หัดปฏิบัติใหม่ๆ มันเหมือนกับเด็กอ่อน หัวใจนะไม่เคยโตมาก่อน หัวใจของมันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นสุดยอด แต่เราไม่รู้อะไร

ดูสิ ปืน อาวุธในบ้านต้องเก็บให้พ้นมือเด็กนะ พ่อแม่เขาเอาอาวุธมาไว้ป้องกันตัว ป้องกันโจรขโมย ไปวางไว้ไม่ดีเด็กมันเล่น มันไปทำให้เกิดอุบัติเหตุตายกี่คนแล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันสุดยอด แต่เมื่อเราใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้น่ะ เอามาใช้นะ มันเป็นโทษกับเราทั้งนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันเป็นโทษทั้งนั้น เนี่ย…เราสะเทือนใจ

เพราะคำนี้เราพูดบ่อย เวลาหลวงปู่มั่นพูดกับหลวงตา แล้วหลวงตาก็พูดเองเพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ของหลวงตากับหลวงปู่มั่นที่ท่านคุยกัน ๒ คน ที่ท่านสั่งสอนกัน แล้วหลวงตาก็เอาคำนี้มาเตือนพวกเราตลอด เราก็จำขี้ปากของหลวงตามาพูดประจำ พระที่มาบวชเขาบอกว่ารับไม่ได้ รับไม่ได้ เพราะว่าปฏิเสธพระพุทธเจ้า รับไม่ได้เพราะว่าไม่เคารพพระพุทธเจ้า โอ้โฮ เนี่ยมันมุมมองไปอีกเรื่องหนึ่งเลย แต่ถ้าพูดถึงเคารพพระพุทธเจ้าเราเคารพด้วยอะไร เราเคารพด้วยความจริง ปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น ศีลก็ศีลจริงๆ สมาธิก็สมาธิจริงๆ ปัญญาก็ปัญญาจริงๆ

กรณีอย่างนี้เขาก็คิดกันอยู่แล้วเนี่ย พุทธพจน์ๆ พุทธพจน์นะก็สาธุ พุทธพจน์ก็เป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงของเรามันต้องมีสิ ธรรมะส่วนบุคคลมันต้องมีสิ ธรรมะส่วนบุคคลในการประพฤติปฏิบัติมันต้องมีสิ เห็นไหม

ว่าเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับหลวงตาก็พูด หลวงปู่มั่นก็พูดใครก็พูดว่าสิ่งต่างๆ นี้มันเกิดดับทั้งนั้น แต่มันเกิดดับ มันรู้มันเห็นการเกิดดับ มันมีข้อเท็จจริงรองรับความเกิดดับ มันเห็นว่าสิ่งนี้เกิดดับ แล้วมันสาวไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดดับ มันคืออะไร อะไรมันทำให้เกิด ตัณหามันทำให้เกิด แล้วสิ่งที่ดับอะไรมันทำให้ดับ แต่ถ้ามันไม่มีเหตุ ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับมันก็เกิดดับ เกิดดับมันก็ธรรมชาติใช่ไหม

ดูสิ เราทุกข์เกือบเป็นเกือบตายนะ เรามีความเสียใจขนาดไหนก็แล้วแต่ กาลเวลามันจะสมานให้เราหายเสียใจนั้น ทุกคนที่มีความกระทบกระเทือนในหัวใจ นี่มันทุกข์ร้อนมากนะ แล้วถ้าไม่มีเหตุผลมาแก้ไขมัน ถึงเวลานั้นความทุกข์มันก็จะจางไป มันเกิด ดับ โดยธรรมชาติของมันเห็นไหม การเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วมันไม่ได้เป็นประโยชน์สิ่งใดกับเรา

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเรามา แล้วเราเห็นสิ่งที่มันเร่งเร้าให้เกิด รูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียงนี่เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นสิ่งล่อ เป็นสิ่งเร้า เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความฟุ้งซ่าน เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความยึดมั่นถือมั่น มันมีเหตุให้เกิดก็มี เหตุให้ดับ ให้ดับโดยมรรคญาณ มรรคญาณที่มันจับสิ่งนั้นไว้ แล้วพิจารณาแล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง ไม่ใช่มันเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเกิด ดับก็เหมือนไฟฟ้าไง

เราบอกว่าเสาไฟฟ้าเห็นไหม เวลาแสงมันน้อยมันก็ติด พอมันมีแสงสว่างขึ้นมามันก็ดับ มันเกิดดับตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เนี่ยมันก็เกิดดับของมัน มันเกิด ดับแล้วมันได้อะไร แต่การเกิดดับของหัวใจมันต้องเห็นสิ่งที่เร้าให้เกิด มันจะเกิดเองไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดเกิดเอง มันต้องมีสิ่งทำให้เกิด

ดูสิ ดูอย่างพืชผล ดูอย่างหญ้ามันต้องมีเชื้อของมัน ต้องมีดิน มีน้ำ มันถึงเกิดได้ แต่หินทับหญ้าไว้มันก็ไม่เกิด ทั้งที่มันก็มีเมล็ดของมัน แต่เอาหินทับมันไว้มันก็ไม่เกิด แต่ถ้าเอาหินออกมันก็เกิด นี่ก็เหมือนกัน มันต้องมีเหตุ มีปัจจัยมีความสมดุลของมัน มันถึงเกิด ไม่มีอะไรเกิดมาลอยๆ หรอก ไม่มี แล้วนี่มาเกิดดับ เกิดดับ นู่นก็เกิดนี่ก็ดับ แล้วเราพูดไปก็ไม่กล้าพูด ก็บอกว่า… เราฟังนะ คนที่พูดโดยมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงรองรับ การปฏิบัติก็มีข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ แต่ไปศึกษามานี่ มันไปจำเขามา ไปจำของพระพุทธเจ้ามาไม่ได้ปฏิเสธนะ ไม่ได้ปฏิเสธปริยัติเลย ถ้าปฏิเสธนะ เราจะเป็นพระไม่ได้

ในการบวช ในญัติจตุตถกรรมนั่นก็ปริยัติ นั่นก็ธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เองว่า ฆราวาสจะบวช บวชอย่างไร และสังฆกรรมในการยกสงฆ์เข้าหมู่นั้นยกอย่างไร นั่นก็ปริยัติ แล้วเราก็ผ่านปริยัติกันมาอยู่แล้ว เราถึงไม่ปฏิเสธ แต่ถ้าปริยัติมันจะเป็นปฏิบัติไปไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันก็อย่างหนึ่ง ปริยัติแล้วมันต้องมีปฏิบัติ

การปฏิบัติเป็นการรู้จริง ดูสิ พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อใครเลย ไม่เชื่อ จนล่ำลือไปว่าพระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็นิมนต์พระสารีบุตรมาเลย เธอไม่เชื่อเราหรือ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ เห็นไหม เนี่ยความจริงกับความจริง ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะความเชื่อฆ่ากิเลสไม่ได้

ความเชื่อ ความศรัทธา นี่มันทำให้เราศึกษา เห็นไหมเราศรัทธาในพระพุทธศาสนา เรามีความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เรารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงหรือเปล่า ไม่มีใครรู้จักจริงเลย แต่มีความเชื่อใช่ไหม พอมีความเชื่อ เราก็พิสูจน์โดยพยายามทำจากใจของเรา หลวงตาท่านปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมเป็นหนึ่งลงที่ใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพุทธะผู้รู้ ความรู้สึกอันนี้เป็นหัวใจของเราไง ธาตุรู้ของเราไง มันเป็นพุทโธอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จักมัน พอเราทำความสงบของใจเข้ามา จนมันเป็นพุทโธของมัน มาเป็นพุทโธ พุทโธ จนมาเป็นตัวจริงของมัน นึกพุทโธไม่ได้เลย เพราะตัวมันกลายเป็นพุทโธ

แล้วพุทโธ ศึกษาในอะไร ศึกษาในสัจธรรม พุทธ ธรรม สงฆ์ พอจิตมันรู้เท่า เห็นไหม พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมลงที่ใจ พุทธ ธรรม สงฆ์รวมเป็นหนึ่งที่ใจ พุทโธ พุทโธ นี้ทำจิตให้มันสงบเข้ามา ถ้ามันสงบขึ้นมา มาศึกษาอะไร ศึกษาสัจธรรม พุทโธ ใช่ไหม แล้วมันรู้ขึ้นมามันเป็นอะไร มันเป็นสังฆะ สังฆะมันเกิดจากใจที่มันรู้ขึ้นมา ถ้ามันรู้ พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมเป็นหนึ่งที่ใจมันรวมกันแล้วมันเป็นอย่างไร แล้วมันอยู่ที่ไหน นี่ปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วในปริยัติหรือในพระไตรปิฎกก็พูดไว้อย่างหนึ่ง มันเป็นแง่มุมนะ

คำว่า แง่มุม พูดในแง่มุมของใคร เหมือนกฎหมาย ดูสิ กฎหมายรัฐธรรมนูญตีความกัน ถ้าเราเอาสัมมาทิฏฐิ เอาความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงของเรา แล้วเราตีความรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขาเขียนมาเพื่ออะไร เขียนมาเพื่อสังคม เขียนมาเพื่อมนุษย์ กฎหมายทุกกฎหมาย รัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญาต่างๆ ก็บังคับใช้กับมนุษย์นี่แหละ เขาเขียนมาเพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เขาเขียนมาเพื่อให้มันเจริญงอกงามขึ้นมา พระไตรปิฎกก็เป็นอย่างนั้น

ทีนี้ถ้าคนมันตะแบง คนมันเจ้าเล่ห์ คนมันแสนกล ก็บอกว่าในรัฐธรรมนูญ… ดูสิ ผู้ใดบวชพระขึ้นมา พระต้องดีหมด แล้วดูพระสิ หาเงิน หาทอง หาทุกอย่างกัน พระทำธุรกิจยิ่งกว่าโยมอีก โยมทำธุรกิจกันก็เพื่อปัจจัย ๔ เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย พระไปบวชกันเป็นหัวโล้นๆ ดูสิ เขาทำธุรกิจกัน เขาค้าขายกัน ด้วยใต้ดิน บนดิน นั่นทำเพื่ออะไร เนี่ยรัฐธรรมนูญเขียนมาเพื่ออะไร

นี่ไง การศึกษาธรรม ถ้าจิตใจของคนเป็นธรรมนะ มันจะตีความเป็นธรรม แล้วถ้าตีความแล้วเรายังเข้าใจไม่ได้ เราเข้าใจในสิ่งนั้นไม่ได้ เราเข้าใจไม่ได้หรอกเพราะอะไร เพราะในทางปริยัติในทางวิชาการตอนที่เขาทำสังคายนา เห็นไหม สุตมยปัญญา เนี่ยทำความเข้าใจได้ จินตามยปัญญาก็ทำความเข้าใจได้ แต่ภาวนามยปัญญาเขาทำความเข้าใจไม่ได้ เขาบอกว่าต้องตัดทิ้ง ต้องตัดทิ้งเพราะอะไร เพราะมันเป็นส่วนเกินมาในพระไตรปิฎก มันเป็นส่วนเกินมานะ ตอนทำสังคายนาตอน ๒๕๐๐ ทางวิชาการเขาจะตัดภาวนามยปัญญาออกไปเลย เขาบอกว่ามันเป็นส่วนเกินของพระไตรปิฎกเพราะมันไม่มีจริง ใครเติมเข้ามาก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่มันเป็นหัวใจเลย

มันเป็นหัวใจเพราะอะไร มันเป็นหัวใจเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันถึงมีธรรมวินัย มันถึงมีศาสนา แล้วถ้าไปตัดภาวนามยปัญญาที่พระพุทธเจ้าบรรลุธรรมเนี่ย แล้วศาสนามันจะเกิดได้อย่างไร แล้วผู้ปฏิบัติที่จะเข้าถึงธรรมจะเอาอะไรมาเข้า เพราะอะไร เพราะมันทำความเข้าใจไม่ได้

ทางวิชาการ… คิดดูสิ นักปราชญ์ในเมืองไทยเขาต้องค้นหา เขาต้องคัดเลือก ใช่ไหมเลือกสุดยอดของเมืองไทยทั้งหมดเลย แล้วมาทำสังคายนา แม้แต่ตรงนี้ ตอนนั้นเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านพูดอยู่ว่าจะตัดออก เพราะข่าวมันเข้าไป ไปฟ้องอาจารย์ อาจารย์พอมีปัญหากระทบก็จะมาเทศน์ให้ฟัง เขาจะตัดทิ้งเลยเพราะเข้าไม่ถึง เพราะความเข้าไม่ถึง

นี่อ้างพระไตรปิฎก สาธุ พระไตรปิฎกนะสาธุ แต่ไอ้คนอ้าง ไอ้คนทำความเข้าใจพระไตรปิฎกน่ะมันทำความเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน มันเข้าใจพระไตรปิฎกได้แค่ไหน นี่ไงธรรมวินัยมันเกิดขึ้นมากับเราก่อน ธรรมมันเกิดขึ้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม แล้วพระจุนทะเป็นน้องของพระสารีบุตร เห็นศาสนาอื่นเวลาศาสดาตายมีปัญหากันหมดเลย ก็มาฟ้องพระพุทธเจ้าว่าศาสดาองค์นั้นตาย สัทธิวิหาริกของเขาก็มีปัญหากัน

แล้วพระพุทธศาสนาจะทำอย่างไร มันต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องมีวินัย พระจุนทะก็อาราธนาให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ทำเหตุอย่างใดดักหน้าสิ่งใดไว้ มันต้องเกิดเหตุเกิดปัจจัยขึ้นมาพระพุทธเจ้าถึงจะบัญญัติ แล้วสิ่งที่บัญญัติที่เป็นธรรมวินัยนี่บัญญัติเพราะมีพระทำผิดมาทั้งนั้นเลย พระทำผิดแล้วพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติขึ้นมาเป็นธรรมวินัย แล้วบอกไว้เป็นมหาปเทส ๔

สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ แต่มาลงได้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติแล้ว มาลงได้หมายถึงว่าเอามาวิเคราะห์วิจัยแล้วเป็นทางเดียวกันได้แล้ว ให้ถือว่าบัญญัติ สิ่งใดที่มันขัดแย้งที่มันลงไม่ได้กับบัญญัติ ลงไม่ได้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วให้ถือว่าไม่ให้บัญญัติ เนี่ยดูอย่างกฎหมายล้าสมัยอะไรต่างๆ เขายังต้องแก้ไขกันตลอดเวลา แล้วทำไมบอกว่าธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ล้าสมัย

พระพุทธเจ้านะมองการณ์ไกลมาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะเห็นหมดว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรถึงได้บัญญัติไว้เป็นมหาปเทส ๔ เป็นสิ่งต่างๆ ไว้กับธรรมวินัยนี้ และธรรมวินัยนี้ถ้ามันต้องย้อนกลับเข้ามา มันต้องไปดูตรงนี้ก่อน ดูตรงที่ว่าเรามีเจตนาดีแค่ไหน มีความเจ้าเล่ห์ไหม ถ้าเราเจ้าเล่ห์แสนกลมันตีความไปทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่ว่าตีความเนี่ย แล้วยิ่งตีความอยู่ในอภิธรรม อยู่ในพระไตรปิฎกแล้วตีความไม่ออกไง พอตีความไม่ออกมันก็เหมือนกับเถรส่องบาตร เห็นอาจารย์เอาบาตรขึ้นส่อง โอ้ เขาส่อง กูก็ส่องด้วย เขาส่องเพื่อดูว่าบาตรมีรอยรั่วรอยร้าวไหม แต่อันนี้ส่องเอาท่าเอาเท่ห์ ส่อง อ้อ.. ส่อง

พระไตรปิฎกตีความอย่างนั้นหรือ ถ้าตีความเข้าไปได้มันจะรู้ซึ้งแล้วจะกราบพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ แล้วสิ่งที่ว่าเหมือนพระไตรปิฎกหรือไม่เหมือนพระไตรปิฎก โปฐิละ เห็นไหม ใบลานเปล่าไม่รู้สิ่งใดเลย ขณะที่ว่าใบลานเปล่า พระพุทธเจ้าเห็นว่ามันมีโอกาสนะ ถึงบอกว่าใบลานเปล่าๆ ก็น้อยใจ โปฐิละนี่น้อยใจมาก เพราะจำพระไตรปิฎกได้หมด เวลาพูดไปเหมือนเทศน์แทนพระพุทธเจ้าได้เลย แต่ไม่รู้อะไรเลย พระพุทธเจ้าพูดเองว่า ใบลานเปล่า ใบลานเปล่า

เราก็พูดได้เองแต่ไม่รู้เนื้อหาสาระ จนโปฐิละได้สตินะ เอ๊ะ เราต้องได้รับคำชมเชยบ้าง เพราะเราก็เผยแผ่ศาสนา เพราะเราพูดไปก็มีคนมาศึกษาเยอะ เอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่เห็นคุณค่าของเราเลย ใบลานเปล่า ใบลานเปล่า ก็เลยมีความฉุกคิดเห็นไหม ถึงได้วางคำสอนไว้หมดเลย แล้วไปศึกษา ไปศึกษากับสามเณรน้อย แล้วพอสามเณรสอนถึงที่สุดแล้วพาไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการก็บรรลุธรรมต่อหน้าพระพุทธเจ้าเลย ตรัสรู้ธรรมต่อหน้าพระพุทธเจ้าแล้วมันก็หมดปัญหาไป ทีนี้พูดได้ตามข้อเท็จจริงเลย

ถ้าคนพูดได้ตามข้อเท็จจริง มันจะไม่ขัดแย้งกัน ทีนี้อ้างพระไตรปิฎก สิ่งที่พระไตรปิฎก ถ้าเป็นเนื้อหาสาระธรรมที่พูดไป เวลาพระพุทธเจ้าสอนนั้นสอนใคร แล้วพูดกับใคร เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับเด็ก เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับคฤหัสถ์ เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับพระ กับผู้ที่ปฏิบัติ เห็นไหม ธรรมะมันคนละชั้นกัน

พระสารีบุตร เราดูในพระไตรปิฎกนะน่าจะเป็น.... พระพุทธเจ้าพอไปเทศน์แล้วเขากำลังจะตายไง พอไปพูด พระพุทธเจ้าไปเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ ว่าอนิจจัง มันเป็นสิ่งอนิจจังมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ขณะเขาฟังนะน้ำตาไหล เพราะจิตมันรวมไง จิตมันมีหลักแล้วพอมันฟังธรรมะขึ้นไปมันรู้ตลอด พอพระสารีบุตรเทศน์จบ โยมนั้น ได้เป็นพระอนาคา พอได้เป็นพระอนาคา พระสารีบุตรไปรายงานพระพุทธเจ้า บอกว่าวันนี้ไปเทศน์สอนคฤหัสถ์จนได้เป็นพระอนาคา

ถ้าเป็นประสาเราก็ว่าอยากจะเอารางวัลไง พระสารีบุตรก็ไปรายงานพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้าตอบในพระไตรปิฎกนะ ทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น โอ้โฮ ไปดูในพระไตรปิฎกน่ะ ช็อกเลยนะ เทศน์สอนจนได้เป็นพระอนาคา พระพุทธเจ้าบอกว่าทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น ทำไมเธอไม่บอกเขาให้ถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปเลย โอ้โฮ ขนาดเป็นพระอนาคานะ

นี่ถ้าประสาเรานะ โสดาบันเรายังไม่กล้าคิดกันเลย อย่าว่าแต่พระอนาคา โสดาบันเนี่ย พอเราคิดจะเอาโสดาบันเนี่ย ขาสั่นเลยจะสู้ได้ขนาดไหน แต่นี่พระสารีบุตร เวลาสอนให้ได้เป็นถึงพระอนาคาไปบอกพระพุทธเจ้า จะเอารางวัลไง พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอทำไมสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น นี่ ให้เห็นว่า วุฒิภาวะของคนมันหลากหลาย ขนาดสอนจนเป็นพระอนาคา เพราะเวลาพระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์เป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้ที่เป็นเอตทัคคะทางปัญญา มีปัญญาสูงสุด รองจากพระพุทธเจ้า ฉะนั้นคำพูดมันต้องละเอียดลึกซึ้งไง ขนาดพระสารีบุตรคิดว่าอนาคาเขาก็สุดยอดของเขาแล้ว ไปรายงานพระพุทธเจ้าว่าสอนเขาจนได้เป็นพระอนาคา พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น เพราะในวุฒิภาวะของพระสารีบุตรมันสูงส่ง มันสูงเด่นมาก มันเห็นว่าสิ่งใดที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วพระอนาคานะละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ นี่พระอนาคา พระอรหันต์นะสังโยชน์ที่มันละเอียด พระอนาคาละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว สังโยชน์เบื้องต่ำ

สังโยชน์เบื้องสูงที่พระอรหันต์จะละได้คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันยิ่งเป็นนามธรรมเข้าไปใหญ่เลย มันไม่ใช่กามราคะไม่ใช่ปฏิฆะ มันเป็นรูปราคะ อรูปราคะ รูปฌาน อรูปฌาน ความว่างที่มีรูปกับความว่างที่ไม่มีรูป มานะ มานะคือความถือตัวมันเอง อุทธัจจะคือความเพลินในตัวมัน อวิชชา

ถ้ามันพ้นนี่ไปเห็นไหม ถึงบอกว่าทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น ทำไมเธอไม่สอนเขาให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ไปเลย เพราะผู้ที่มีวุฒิภาวะสูง พระอรหันต์กับพระอรหันต์ด้วยกัน เวลาพูดถึงธรรมะ มันรู้เท่าเทียมกัน เวลาพูดมันเห็นผลว่าอันไหนต่ำ อันไหนสูง อันไหนเห็นว่าควร อันไหนเห็นว่าไม่ควร ความรู้ของโยมได้แค่ไหน ความรู้ของผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ภิกษุบวชใหม่จะทนคำสอนได้ยาก ภิกษุที่บวชเก่าแล้วทนคำสอนได้ แล้วภิกษุที่บวชเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา เนี่ย เวลาพูดธรรมะไปเขาจะรับรู้ของเขา พระโสดาบันนะจะไม่ถือนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระธรรมคือ คุยธรรมะกันด้วยสัลเลขธรรม ด้วยธรรมในหัวใจ ธรรมะอันละเอียด มันพูดแล้วมันเข้าใจไง แล้วยิ่งพระอรหันต์กับพระอรหันต์คุยกันนี่ อู้หู สุดยอดเลย เพราะมันรู้มันเห็นมาด้วยกัน มันเห็นการต่อสู้กิเลสที่มันละมาเป็นชั้นๆ มาด้วยกัน ดังนั้นที่ว่าธรรมะมันละเอียด ถ้าพูดอย่างนี้ทุกคนก็ว่า… ท่านก็เข้าใจด้วยกันได้สิ อนาคาละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว อนาคายังมีสังโยชน์อันละเอียดอีก ๕ ตัว

ทำไมเวลาหลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่บัวที่หลวงตาไปแก้เห็นไหม ตรงไหน มันติดตรงนี้ ก็ไปแก้ตรงนี้ไง นี่ไง ทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามอย่างนั้น ทำไมเธอไม่สอนเขาให้ถึงที่สุด นี่พระไตรปิฎกพูดตั้งแต่เริ่มต้น เอวัม เม สุตัง… เห็นไหมข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้าพูดกับใคร พระพุทธเจ้าพูดกับพระ หรือพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจกับผู้ที่ปฏิบัติถึงที่สุด

อันนั้นธรรมะอย่างนั้นมันถึงเป็นธรรมะภาคปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไปสอนคฤหัสถ์สอนให้เขาทำทาน สอนให้เขาศรัทธาในศาสนา พระพุทธเจ้าสอนใคร นี่ ถ้าพระพุทธเจ้าสอนใคร มันต้องดูที่มาว่าพระพุทธเจ้าพูดกับใคร พูดธรรมะขั้นตอนใด พูดธรรมะขั้นศรัทธา ขั้นพื้นฐานหรือขั้นทำความสงบของใจ หรือว่าขั้นเริ่มเดินวิปัสสนา หรือขั้นที่ว่าได้มรรคได้ผลขึ้นมาแล้ว จะสูงไปขนาดไหน มันยังต้องดูอีกนะ

โธ่ พระพุทธเจ้าสอน ดูสิ ในพระไตรปิฎก จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ยังไปเถียงกันตาดำตาแดงนะ นักวิชาการทั้งนั้นน่ะ ว่าจิตผ่องใสคือนิพพาน จิตผ่องใสแล้วมันก็ไม่เกิดอีก แล้วไม่เกิดอีกมันคืออะไร นี่ตามวิชาการไง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์…. ลองไปดูในธรรมะชุดเตรียมพร้อมของหลวงตาสิ จิตผ่องใสคืออวิชชา จิตผ่องใสคืออวิชชาเลย ไอ้ใสๆ นะพวกปฏิบัติน่ะพอมันปฏิบัติผ่านมาแล้วนะ ไอ้เรื่องนี้มันรู้หมด มันเป็นเบสิก

มันเป็นเรื่องของจิตที่มันต้องเป็นไป อย่างเช่นทำความสงบของใจ ใจมันจะสงบอย่างไร แล้วถ้ามันสงบเข้ามาแล้วมันจะมีความผ่องใส มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมันแค่ไหน จิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอย่างไร แล้วจิตที่ตั้งมั่นแล้ว คนที่ตั้งมั่นโดยที่มันไม่ผ่องใส ที่มันตั้งมั่นด้วยตัวของมันเอง แล้วถ้ามันตั้งมั่นแล้วมันผ่องใสล่ะ ถ้าจิตมันคึกมันคะนอง เวลาจิตมันสงบแล้วมันจะดำดิน มันจะดำเมฆขึ้นไปบนอากาศมันจะเป็นอย่างไรมันมีอีกร้อยแปดพันเก้า

พระไตรปิฎกบอกว่าให้ทำจิตสงบ ทำสมาธินะ แต่เวลาทำสมาธิไปแล้วจิตที่เป็นสมาธิไปแล้วมันยังมีข้อเท็จจริง มันยังมี… โอ้ มันยังมีอีกมหาศาลเลย… พระไตรปิฎกมันจะครอบคลุมตรงไหนวะ (หัวเราะ) มันจะไปรู้อะไร พระไตรปิฎกเขาไม่ได้สอนคนนะ พระไตรปิฎกเขาให้คนไปศึกษาไปค้นคว้ามัน แต่ถ้าพูดถึงข้อเท็จจริง แค่จิตสงบเท่านั้นนะมันยังรู้ถึงความแตกต่าง ก็ไอ้พวกที่รู้ๆ พวกที่เข้าไปสงบมันนิพพานๆ นี้ไง โอ้ นิพพานจิตจะเข้าหรือ.. เพราะจิตมันมีนิพพานอยู่แล้ว พอไปรู้เห็นเข้ามันก็จะไปถึงนิพพาน ก็เหมือนกับเราเอาของไปซ่อนไว้ สุดท้ายแล้วเหมือนเราเล่นซ่อนหากัน แล้วสมัครเล่นซ่อนหาเว้ย เอาของไปซ่อนไว้ แล้วถ้าใครหาเจอได้เป็นนิพพาน นี่ไงจิตมันเป็นนิพพานอยู่แล้วไง พอดูไปๆ มันก็จะเข้าถึงนิพพาน เข้าถึงก็เป็นโสดาบัน ไม่มีนะ ไม่มี ถ้าเอาของไปซ่อนไว้ ซ่อนไว้ในภพชาติใด

องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาเข้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ปฐมยามเนี่ย ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะเป็นแค่ปฐมยาม นั่งแค่หัวค่ำ ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ย้อนอดีตชาติไป ตั้งแต่พระเวสสันดรไป ๑๐ ชาติ แล้วก็ย้อนไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันเอานิพพานไปซ่อนไว้ที่ไหน เอานิพพานที่อยู่ซึ่งหน้าไปซ่อนไว้ที่ไหน แล้วจะไปเจอกันตรงไหนละ เอ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไป แล้วนิพพานไปซ่อนไว้ที่ไหน

นิพพานมันซึ่งๆ หน้าชาติไหน นิพพานมันอยู่ตรงหน้าชาติไหน ชาติไหนเป็นคนเอาไปซ่อน ชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือว่าชาติที่เป็นพระเวสสันดร ชาติไหนที่เอานิพพานไปซ่อนไว้ แล้วดูไปๆ จะไปเจอนิพพานน่ะ ไปเจอตรงไหน ไม่มี นิพพานอยู่ซึ่งๆ หน้าเหมือนกับเอาไปซ่อนไว้ ถึงเวลาก็ไปเจอ แล้วซ่อนไว้ชาติไหนละ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปเนี่ย แล้วจุตูปปาตญาณมันก็จะไปอีก ถ้านิพพานเห็นไม่ได้ก็ไปซ่อนไว้ชาติต่อไปใช่ไหม เพราะมันยังมีแรงขับไป ก็ไปซ่อนไว้ชาติหน้าอีก เนี่ย นิพพานมีอยู่ซึ่งๆ หน้า

จิตมันสงบ จิตผ่องใสจิตมันสว่างขนาดไหน ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก อ่านพระไตรปิฎกเข้าใจหรือเปล่า เขาบอกว่าพระสงบได้ดูพระไตรปิฎกหรือเปล่า เข้าใจพระไตรปิฎกหรือเปล่า เราก็ถามกลับว่า แล้วพวกเอ็งอ่านแล้วเข้าใจหรือเปล่า พวกเอ็งเข้าใจจริงหรือเปล่า ถ้าเขาเข้าใจตามพระไตรปิฎกจริง อย่างเช่นหลวงปู่มั่นพูด เขาก็อ้างกัน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เราจะอ้างในแง่บวก ในประวัติหลวงปู่มั่นไปดูสิ นาย……เขียนโต้แย้งว่า หลวงปู่มั่นสอนให้โง่หรือสอนให้ฉลาด เพราะหลวงปู่มั่นสอนว่า พระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น นาย……เขาบอกว่า… ในพระไตรปิฎก นิพพานสูญ นิพพานไม่มี แล้วพระพุทธเจ้าพระอรหันต์มาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นได้อย่างไร

เนี่ย มันได้อย่างไร หลวงตาท่านก็ตอบว่า ถ้าจะปฏิเสธว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วมาอนุโมทนาไม่ได้ เราจะต้องปฏิเสธก่อนว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่มี ถ้าบอก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มี สิ่งที่มีอยู่ ฟังสิ สิ่งที่มีอยู่แสดงตัวได้ไหม แต่จะแสดงตัวอย่างไรเท่านั้น ตรงนี้ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายกัน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็พูดบ่อย หลวงปู่มั่นบอกว่า ใบไม้ในกำมือ กับใบไม้ในป่า ถ้าใบไม้ในกำมือคือ ตู้พระไตรปิฎก ใบไม้ในป่า คือความเป็นจริงข้อเท็จจริงที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติไว้อีกมหาศาล แต่คำว่ามหาศาลมันต้องบัญญัติในแง่บวก ในแง่ของธรรมวินัย ในแง่ของธรรม ไม่ใช่ในแง่ของกิเลส ในแง่ของการฉ้อฉล

แต่ในปัจจุบันนี้มันมีอีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็บอกว่าในพระไตรปิฎกนี่ใบไม้ในกำมือ ถ้าใบไม้ในป่าของเขานะ ถ้าใบไม้ในป่าคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ คือพระอรหันต์ต้องกลับมาเกิดอีกได้ พระอรหันต์ยังไม่ตายก็ได้ พระอรหันต์จะเกิดอีกกี่รอบก็ได้ เขาบอกนี่คือใบไม้ในป่า มันไม่บอกว่าใบไม้ในป่านี่มันเป็นข้อเท็จจริง

พระอรหันต์กลับมาเกิดอีกไม่ได้ พระอรหันต์ไม่มีเชื้อไขแล้วไม่มีสมมติแล้ว จะกลับมาอยู่โลกสมมติไม่ได้ ไม่ได้ พระอรหันต์ไม่กลับมาเกิด แต่พระอรหันต์ที่กลับมาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น อันนั้นเพราะจิตของหลวงปู่มั่นมันระดับไหน เราเข้าสมาธิ เราเข้าถึงจิตที่ละเอียด จิตที่ละเอียดคือจิตที่เป็นหนึ่งอยู่ มะโนวิญญาเณปิ นิพพินทะติ มะโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ มโนคือ พระอรหันต์ไม่มีจิต พระอรหันต์ทำได้หมด แต่ในอาหาร ๔ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร วิญญาณาหาร มโน มโน มโนเจตนาหาร มะโนวิญญาเณปิ นิพพินทะติ มะโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ มโนคือตัวจิต เราทำลายจิต ทำลายมโน ทำลายทุกอย่างหมดแล้ว

ทีนี้มโนเจตนาหาร มโนคือสิ่งที่มันไม่มี แต่มันเป็นอาหารเป็นทางเกี่ยวเนื่องกันระหว่างที่จิตที่พ้นออกไป เพราะอาหารของสัมผัส สิ่งที่สัมผัสมาเพื่อสิ่งที่เป็นการดำรงชีพ เพราะฉะนั้นอาหารนี่ไง ที่มาได้นี่ก็เป็นใบไม้ในป่า ความรู้ความเห็นของจิตที่เข้าไปสัมผัสเห็น จิตที่เข้าไปรู้นั้นมันเป็นข้อเท็จจริง มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราบอกว่าใบไม้ในป่าแล้วเราจะใช้ความฉ้อฉล ความขี้โกงของเรา ถ้าใบไม้ในป่าคือเราจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ คือใบไม้ในป่า แต่ครูบาอาจารย์เขาไม่ทำอย่างนั้น คือการปรับปรุงตัวเอง การปรับปรุงใจของตัวเองเข้าสู่ข้อเท็จจริงแล้วเราไปรู้ เห็นไหม

อย่างเช่นที่ว่าเราทำความสงบของใจ คนเรานะสงบแบบเฉยๆ ก็มีนะ สงบแบบเรียบๆ สงบแบบว่ามีอุปสรรคบ้าง สงบแล้วพอจิตมันจะเข้านี่มันจะคึกคะนอง มันจะเห็นของมัน มีมากนะ เพราะในวงกรรมฐาน ในวงปฏิบัติ คือผู้ปฏิบัติเหมือนทหารออกรบ ทหารออกต่อสู้กับข้าศึก มันจะมีเทคนิค ในสนามรบทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ในสนามรบ ทุกคนต้องเอาชีวิตรอด ไม่มีกติกาใดๆ ที่จะมาเป็นเส้นขีดคั่นว่าต้องทำอย่างนั้น ฉะนั้นในสนามรบมันจะมีสิ่งเหนือความคาดหมายได้ทั้งนั้นเลย การประพฤติปฏิบัติไปของจิตแต่ละดวงมันก็เหมือนกัน

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาตามเวรตามกรรม สิ่งนั้นนะ มันไม่มีสิ่งใดจะไปบังคับ หรือไปขีดจำกัดว่าควรจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นไปตามข้อเท็จจริง เป็นเวรเป็นกรรม เป็นสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น ถ้าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเป็นไปตามพระไตรปิฎกตามจริตนิสัยที่ขีดขึ้นไว้ไหมละ แต่ถ้าคนรู้จริง คนที่เคยผ่านประสบการณ์มา ถ้ามันจะมีอย่างนั้นมันก็แก้ไขได้ มันแก้ได้ ได้เพราะความจริงก็คือความจริง ผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว มันมีความจริงอันนั้นแล้วมันแก้ไขสิ่งนั้นได้ ถ้าแก้สิ่งนั้นได้มันจะกลับมาทำความสงบของใจได้ มันจะคึกคะนองมาจากไหน มันก็คึกคะนองมาจากใจ

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันเกิดมาจากไหน มันเกิดจากใจดวงนั้นที่มันแสดงออกมันคึกคะนองที่มันแสดงออกไป เห็นไหม ดูสิ ในวงพระป่าเรา ในวงกรรมฐานเราที่บอกว่าพอสงบแล้วเห็นเป็นดวงนะ แล้วดวงนั้นเคลื่อนไป ตามดวงนั้นขึ้นไปแล้วเลื่อนสูงขึ้นไป ปีนตามต้นไม้ขึ้นไปนะ ขณะเราปีนเราออกกำลังไหม ขณะเราออกกำลังความรู้สึกจากจิตนี่มันจะออกมา มันหยาบไหม ขณะปีนต้นไม้อยู่นะยังเห็นดวงนั้นอยู่เลย แต่พอขึ้นไปสูงแล้วเนี่ย ดวงมันลอยสูงขึ้นไป เลยไปถึงปลายไม้แล้วความรับรู้ออกมากขึ้น พอออกมากขึ้นมันก็ออกมาเป็นปกติไง พอออกมาเป็นปกติมันก็ได้สติไง ไม่งั้นมันจะตามไปเรื่อยๆ เลย นี่สิ่งที่เห็น แล้วสิ่งที่เห็นขนาดที่ว่าปีนก็ได้ แล้วถ้าดวงนั้นมันเคลื่อนไปหน้าผา แล้วทำให้เราตกหน้าผาไปล่ะ

เนี่ยสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตที่มันสงบแล้ว มันยังมีอุปสรรค มันมีข้อเท็จจริงอีกมหาศาลเลย ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยเป็นของท่าน ท่านรู้ของท่านแล้วตั้งสติ แล้วเตือนให้กลับมาที่ตัวจิต สิ่งใดๆ มันเกิดจากจิต ถ้าจิตมันกลับมาถึงฐานของมันถึงที่ของมัน สิ่งนั้นมันจะหยุดของมันเองได้ แล้วพอหยุดของมันเองได้ พลังงานที่ไม่ได้ใช้ออกไป พลังงานนั้นมันจะสะสมลงที่จิตอีกด้วย จิตมันจะมีพลังงานเกิดขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าจิตมันส่งออกไป จิตมันจะเป็นขนาดไหนมันก็เป็นไปจากจิตนี่แหละ มันก็เห็นจากจิตนี่แหละ แต่จิตมันไม่รู้จักตัวมันเอง เห็นสิ่งที่มันรู้ว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า มันตามสิ่งนั้นไป เนี่ยขนาดแค่ทำความเห็นนะ จริตนิสัยของจิตมันก็ไม่เหมือนกัน

ทีนี้พอปฏิบัติไปแล้วใครเห็นใครรู้มันจะรู้ของมันนะ แล้วถ้ามันรู้จริงเห็นจริงมันจะถอดถอน การทำความสงบของใจการเกิดเป็นปัญญานี่ มันจะเกิดความสุขของมันนะ แล้วถ้ามันเกิดวิปัสสนา จิตมันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจธรรม มันจะถอด มันจะถอนมันจะดึงอุปาทานออก ถอดถอนอุปาทานออกนะ พระไตรปิฎกนะ สาธุ สาธุจริงๆ นะ เพราะอะไร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งต่างๆ ที่เราเกิดขึ้นมานี่พุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสาวก สาวกะ เป็นผู้อาศัย พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ ว่าเป็นเจ้าของศาสนาก็ถูกต้อง แต่พระพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมาแล้วฝากเราเอาไว้ ไม่ใช่เป็นเจ้าของแล้วเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา คำว่าเป็นเจ้าของคือ เรามีส่วนในพระพุทธศาสนา ถ้าเรามีส่วนในพุทธศาสนา เราจะเชิดชูพระพุทธศาสนาไว้เหนือเกล้า เหนือเกล้าจริงๆ นะ

เพราะอะไร เพราะจิตเรามันทุกข์มันยาก เราอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเราไม่เห็นคุณค่านะ เราไม่เห็นคุณค่าของธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นเป็นของดาษดื่น เห็นเป็นของย่ำอยู่กับพื้น แล้วเหยียบย่ำไปเพื่อเป็นวิชาชีพ เพื่อเอามาเป็นประโยชน์กับชีวิต

เราจะพ้นจากทุกข์ไปไหม เพราะจิตใจมันหยาบ จิตใจมันด้าน จิตใจมันเอาศาสนามาเพื่อเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงชีพ แต่เราเลี้ยงชีพของเราด้วยกำลังของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อจะให้ได้ธรรมอันนั้น เพราะธรรมอันนั้นมันจะชำระความสกปรกโสมมในใจของคนเรา ถ้ามันชำระความสกปรกโสมมในใจของเรา เราจะเข้าถึงธรรม เราจะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนี้ต่างหากล่ะ คือจิตใจมันลงธรรมะ ลงพระไตรปิฎก โดยไม่ต้องอ้างว่าพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกไง แต่ว่าคนที่อ้างพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนะ ก็เหมือนกับผู้มีอำนาจ กูมาจากการเลือกตั้ง กูมาจากการเลือกตั้ง มึงต้องฟังกูนะ กูมาจากการเลือกตั้ง แล้วมันเป็นโจร หรือมันเป็นเปรตล่ะ แล้วมันบอกว่ามาจากการเลือกตั้ง

นี่ก็เหมือนกัน อ้างว่าเอามาจากพระไตรปิฎกนะ มันมีที่มาที่ไป พระไตรปิฎกท่านพูดถึงสัตว์เลยนะ เวลาท่านสอนนะ มันเป็นอุปกรณ์การสอน มนุษย์ถ้าเห็นภัยแล้วต้องให้ทำเหมือนเต่า เวลาเต่าเห็นภัยแล้วมันจะหดตัวเข้ามา กระดองมันจะปกครองมันไว้ มนุษย์ต้องทำตัวเหมือนไก่ ไก่มันขันแต่เช้า มันออกหากินแต่เช้า มันขยันหมั่นเพียร ท่านก็เอาสัตว์เอาสิ่งต่างๆ มาเป็นบุคคลาธิษฐาน มาสั่งสอนมนุษย์มหาศาลเลย พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนั้น อยู่ในสุตตันตปิฎก วินัยปิฎกก็เป็นเหมือนกฎหมาย สุตตันตปิฎกมันเป็นเนื้อหาสาระ เป็นข้อความ ถ้าอภิธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต จิตกี่ดวงๆ เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต เหมือนกับการเคลื่อนที่ของแสง ความไวของแสง แสงเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเสียง แล้วเราเห็นด้วยตาเปล่าไหม เราต้องมีเครื่องวัดใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน บอกจิตมี ๑๐๘ ดวง จิตมีดวงเดียวเท่านั้นแหละ ทุกอย่างเกิดจากจิต จิตมีดวงเดียว คนภาวนาแล้วจะรู้จริงเห็นจริง แต่พระพุทธเจ้าพูดไว้เป็นทางวิชาการ เห็นไหม ปัจจยาการของใจ อิทัปปัจยตา ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะมีสิ่งนี้ถึงมีสิ่งนั้น เพราะมีสิ่งนั้นถึงมีสิ่งนั้น เราก็รอ รอสิ่งนั้นจะมา เหมือนกับก่ออิฐเอาอิฐมาทับๆ กัน กว่ามันจะเป็นบ้านไง พอเป็นบ้านเสร็จแล้วเนี่ย อิฐก้อนไหนทับอิฐก้อนไหน ไม่มีใครเห็นหรอกเพราะเขาฉาบ เขาทาสีด้วย ไม่มีใครเห็นเลย ไม่มีใครเห็นหรอก แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้หมดละ เวลาศึกษาธรรมน่ะไปศึกษาอะไรกัน ถ้าคนรู้จริงเห็นจริงนะ สาธุ พระไตรปิฎกเนี่ยสาธุจริงๆ นะ ไม่เคยคิดเหยียบย่ำ ไม่เคยคิดเอารัดเอาเปรียบเลย ถ้าบอกว่าพระไตรปิฎกโง่กว่ากู กูดีกว่าพระไตรปิฎกอันนั้นกิเลสทั้งนั้นนะ

เราเกิดมาจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดมาในพระพุทธศาสนา ความตกผลึกของพระพุทธศาสนามันเป็นวัฒนธรรมให้เราเกิดมา เราเกิดมาในวัฒธรรมที่ร่มเย็นเป็นสุข แค่ประเพณีวัฒนธรรมที่พระพุทธเจ้าวางเป็นวัฒนธรรม อันนี้คือบุญคุณเหนือเกล้าแล้ว แล้วยังได้บวช เราเป็นชาวพุทธ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บวชเป็นพระขึ้นมาเนี่ย หาอยู่หากินขึ้นมา บิณฑบาตทุกวันจากพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกให้คนใส่บาตรพระก็บิณฑบาตมา

นี่พระพุทธเจ้าให้มรดกเราไว้ พระพุทธเจ้าให้ชีวิตเราไว้ มีบาตรใบเดียวบิณฑบาตกินได้ตลอดชีวิตเลย สึกไปนะเป็นฆราวาสเอาบาตรไปบิณฑบาตจะมีใครใส่บาตรให้กิน ไม่มีใครใส่บาตรให้กินหรอก อย่างนี้แล้วบอกว่าเราไม่ซาบซึ้งในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ ซาบซึ้งมาก แล้วก็ซาบซึ้งตามความเป็นจริง ไม่เกาะ ไม่หน่วง ไม่โหนพระไตรปิฎกเอามาหากิน ไปเกาะพระไตรปิฎก อ้างพระไตรปิฎกแล้วเอาพระไตรปิฎกมาเป็นสินค้า มาเป็นยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก พิมพ์หนังสือยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกเลย ใครท่องอย่างนี้เป็นพระอรหันต์เลย แล้วพระป่ามันไม่เรียนหนังสือ มันไม่ศึกษาพระไตรปิฎกมันจะรู้ได้อย่างไร อ้าว พระพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ พระพุทธเจ้าไปศึกษาพระไตรปิฎกมาจากไหน

หลวงปู่มั่นท่านอยู่โคนต้นไม้เหมือนกัน หลวงตาท่านอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ หลวงปู่ขาวท่านอยู่ที่โรงขอด ท่านตรัสรู้ที่ไหน ท่านตรัสรู้ในตู้พระไตรปิฎกหรือ ท่านตรัสรู้ในหัวใจของท่านเห็นไหม เนี่ย ใครจะไปเหยียบย่ำ ไอ้พวกที่อ้างพระไตรปิฎกนั่นแหละเหยียบย่ำ ฉันมาจากการเลือกตั้ง ฉันมาจากการเลือกตั้งแล้วนะ มันจะเหยียบย่ำพระไตรปิฎก แล้วเอาพระไตรปิฎกมากดขี่กัน

แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริงนะ เราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรามีแต่จะไปเลือกตั้งเขา เรามีแต่จะไปหย่อนบัตรว่าจะไปเลือกใคร หย่อนบัตรเพราะเป็นหน้าที่ของประชาชน แล้วเราก็หย่อนบัตรแล้ว นี่ก็เหมือนกัน เรากำลังนั่งสมาธิภาวนาเราหย่อนบัตรเพื่อตัวเราเองนะ เราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราเป็นผู้เลือกตั้ง เรามีสิทธิจะเลือกตั้งเขา เราเป็นชาวพุทธ เรามีสิทธิจะภาวนา เรามีสิทธิที่จะคิด เรามีสิทธิที่จะทำ พระไตรปิฎกก็สาธุ ถ้าเรายังไม่รู้จริงเราก็ต้องศึกษาเพื่อให้รู้จริงขึ้นมา เราเอาพระไตรปิฎกมาครอบหัวใจเรา เอาพระไตรปิฎกมาต้มน้ำกินเราก็ไม่รู้

หลวงตาบอกว่าปลวกนะ ไอ้พวกแทะกระดาษมันเป็นปลวก ปลวกมันกินไปหมดทั้งเล่มมันยังไม่รู้อะไรเลย แล้วเราศึกษาเราปฏิบัติขึ้นมาให้มันรู้จริงขึ้นมาจากเราเห็นไหม พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมลงที่ใจ ความรู้จริงจะรวมลงที่ใจ ความรู้จริงจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง