เทศน์เช้า

กฐินหัวหิน

๔ พ.ย. ๒๕๔๓

 

กฐินหัวหิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาอนุญาตให้ทอดกฐินเพราะว่าพระสมัยพุทธกาลไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกพรรษาแล้ว พอไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ไปด้วยผ้ารุ่งริ่งเลย ผ้าขาด ผ้าอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่า “ให้บัญญัติวินัยให้ทอดกฐินขึ้นมา” ทอดกฐินขึ้นมานี้เป็นเพราะผ้าไง เพราะปัจจัย ๔ การทำบุญตักบาตรเราทำบุญตักบาตรอยู่ทุกวัน เราทำเมื่อไหร่ก็ได้ การทำบุญตักบาตร การทำบุญกุศลนี่ เรานึกพอใจเมื่อไรเราก็ทำได้

แต่กฐินนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้เพียง ๑ เดือน เดือนเดียวเท่านั้น เพราะว่า ๑ เดือนนั้นแล้วยังบัญญัติขึ้นมาอีก ให้ทอดภายใน ๑ เดือน มันถึงเป็นการว่ามันทำได้ยาก ถ้าบุญกฐินนี่ปีหนึ่งมีแค่เดือนเดียว แล้วกฐินแล้วไม่ใช่ว่าเราอยากจะทำเหมือนทำบุญกุศลก็ทำไม่ได้ ถ้าพระไม่ครบสงฆ์ เราจะมีความปรารถนาขนาดไหนเราก็ทำไม่ได้ ถ้าพระครบสงฆ์เราไม่มีความสามารถ ไม่มีความพอใจ เราก็ทำไม่ได้

มันเป็นการบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ความสามัคคีในสังคมในศาสนาพุทธเรา ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ ธรรมและวินัยนี้เป็นหัวใจ ธรรมและวินัยนี้เป็นผู้ที่บัญญัติให้มีการทอดกฐิน ทอดกฐินตามธรรมตามวินัยไง เราพร้อมแล้วต้องมีพระครบ ๕ องค์ขึ้นไป ๔ องค์นี่เป็นสงฆ์ สงฆ์ ๔ องค์ต้องลงอุโบสถ นี่เป็นสงฆ์ แต่กฐินต้องมี ๕ เพราะสงฆ์นั้นเป็นผู้ที่อุปโลกน์กฐิน จะให้ผู้ใดเป็นผู้รับกฐิน ๕ ขึ้นมาถึงรับกฐินได้ ถ้าต่ำจาก ๕ ขึ้นมาทำอย่างใดมันก็ไม่ครบองค์ ไม่เป็นขึ้นมา เป็นโมฆะ

ถึงสำคัญที่หมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์กับคณะศรัทธา คณะศรัทธามีความพอใจ มีความเต็มใจอยากทำบุญกุศลขึ้นมา ทำบุญกุศลแล้ว ทำบุญทั่วไปมันก็ได้บุญทั่วไป แต่ถ้าทำบุญกฐินนี้ เพราะว่าทำครบตามธรรมวินัยแล้วจะไปอนุญาตให้ผ่อนวินัยได้ ๕ ข้อ ภิกษุจะไปโดยไม่ต้องบอกลา ภิกษุจะครองผ้าจีวรต้องถือครอง เว้นผืนใดผืนหนึ่ง นี่ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า

“เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เอาอะไรเป็นที่พึ่ง?”

“ธรรมและวินัยเป็นที่พึ่ง”

ธรรมและวินัยคือวินัยไง แล้วยกขึ้นมานี่ เราทำบุญกุศลขึ้นมา บุญกุศลนี้เข้าไปผ่อนคลาย ผ่อนวินัย ๕ ข้อนั้น ทำให้เราเข้าถึงเนื้อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทำบุญกฐินนี่บุญกุศลเข้าไปถึงเนื้อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเข้าถึงธรรมวินัย ไปผ่อนธรรมวินัย เราเป็นส่วนหนึ่ง เราเป็นคนคนหนึ่งที่มีโอกาสทำขึ้นมาเพื่อให้พระรับสิ่งนั้นขึ้นไป

แล้วบุญกุศลนั้นครบ ของโยมใช่ไหม โยมนี้เป็นส่วนย่อย ส่วนย่อยคือความสามัคคี ความสามัคคีของโยมพร้อมกัน แล้วถวายผ้านั้นขึ้นมา ภิกษุสงฆ์ผู้จะรับกฐินต้องเป็นผู้ที่ฉลาด ผู้ที่ไม่ฉลาดทำมาติกา ๘ ไม่ได้ ไม่สามารถกะผ้า ตัดผ้า ย้อมผ้า เย็บผ้า ถ้าทำไม่ได้ อันนั้นไม่เกิดมาติกา ๘ อานิสงส์นั้นไม่เกิด กฐินนั้นเหมือนกฐินเดาะ กฐินเดาะหมายถึงว่ารับผ้าขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรเลย

การทำ เห็นไหม เมื่อก่อนสมัยพุทธกาลเขาต้องเย็บด้วยมือ ผ้านี้ไม่มีจักร เย็บด้วยมือ แล้วผ้านี่ต้องตัดให้เสร็จในวันนี้ เดี๋ยวมีการทอดกฐินเสร็จแล้วโยมกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว ธุระของโยมจบสิ้น ธุระของพระพึ่งเริ่มขึ้น ต้องเอาผ้านี่ไปกะ ไปตัด ไปเนา ไปเย็บ ไปย้อม ให้เสร็จภายในวันนี้ อันนี้คือกรานกฐิน กรานกฐินนี้คือความสามัคคีในสงฆ์ ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีก็ทำสิ่งนี้ไม่ได้ นี่ความสามัคคีในสงฆ์นั้นเกิดขึ้นมา สงฆ์ต้องทำให้เสร็จขึ้นมาภายในวันนี้ แล้วกรานกฐินขึ้นมา

นี่ความสามัคคี มันซุกซ่อนอยู่ในกฐินนั้นไง กฐินนั้นทำให้สามัคคี ทำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถจรรโลงศาสนาของพระพุทธเจ้าไป ๕,๐๐๐ ปี ศาสนาของเรานี่มันจะอยู่ได้เพราะความเข้าใจเรื่องของศาสนา เรื่องของหลักที่เราจะทรงธรรมและทรงวินัย พอทรงธรรมทรงวินัยแล้ว พระได้รับกฐินแล้ว เย็บผ้าแล้ว ตัดผ้าแล้ว เปลี่ยนผ้าแล้ว ถึงได้ออกธุดงค์ต่อไป

การออกธุดงค์เหมือนกับเรา พวกเรานี่เข้าป่ากัน เรามนุษย์นี่นายพรานใหญ่ เวลาจะเข้าป่านี่เอาปืนเข้าไป ปืนผาหน้าไม้เข้าไป ป้องกันทุกอย่างให้เราพ้นจากภัยของสัตว์ เราคิดว่าเราป้องภัยของสัตว์ โดนลบออกไปด้วยความเป็นพระธุดงค์ พระธุดงค์เข้าป่าไปมีบริขาร ๘ เข้าไป สัตว์ป่าจะดุร้ายขนาดไหน ด้วยธรรม ด้วยวินัย ด้วยศีลที่ปกป้องอยู่

ทำไมเอาชีวิตนี้เข้าไปแลกล่ะ? ไปแลกค้นคว้าหาอะไร? เข้าป่าไปเพื่อค้นคว้าหาอะไร? ไม่มีอาวุธสิ่งใด ๆ ป้องกันตัวเลย เห็นไหม ไปแต่ตัวเปล่า ๆ มีแต่ศีลนี่คุ้มครองตัวเองไป ไปอยู่ในป่า เพื่ออะไร? ก็เพื่อค้นหาหลักเข้ามา ศาสนาอยู่ที่ไหน? ศาสนาอยู่ได้ในพระไตรปิฎก ในตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นตู้พระไตรปิฎก เป็นคำกิริยาของศาสนา หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ตรัสรู้ธรรม แล้วบอกวิธีการออกมา วิธีการมาก็ออกมาในพระไตรปิฎก

แล้วพระไตรปิฎกนี้เราก็ศึกษาเข้าไป เราศึกษาที่เปลือกไง แล้วเราเข้าไม่ถึงเนื้อ ทุกข์คืออะไร? ใครสัมผัสทุกข์? หัวใจอยู่ที่ไหน? หัวใจนี้เป็นสัมผัสทุกข์ ศาสนานี้ทุกข์อยู่ที่ใจ ทุกข์นี้หลุดออกไปจากใจ ใจนี้สัมผัสศาสนา เข้าป่าไปก็เพื่อค้นหาตัวเอง ค้นหาใจของตัวเอง มันกลัว มันระแวงทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นไหม

พอมันกลัวขึ้นมานี่ มันก็มาคิด เราถ้าอยู่ในที่รโหฐาน อยู่ในที่ปลอดภัย หัวใจนี้จะเร่ร่อนไปตลอด เราไปอยู่ในที่ที่เราระแวง เรากลัว กลัวภัยของตัวเองนี่ มันไม่กล้าไปไหน มันต้องหาที่พึ่ง ที่พึ่งอยู่ที่ไหน? ที่พึ่งแล้วหาพุทโธ พุทโธเป็นที่พึ่ง จิตนี้สงบเข้ามา หาหลักของใจ หัวใจนี้เป็นผู้ที่จรรโลงศาสนา ศาสนาอยู่ในหัวใจของชาวพุทธ

ถ้าชาวพุทธเข้าถึงหลักของศาสนานี่ หัวใจดวงนั้นมันทำผิดไม่ได้ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เห็นไหม พระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร มารเกิดจากความดำริ ความคิด พอเราคิดขึ้นมานี่ มารมันแทรกออกมา มันคิด ความชั่วต่าง ๆ ในโลกนี้เกิดจากความคิดความตรึกทั้งนั้น ทุกคนจะทำความชั่วหรือทำความดีต้องใช้ความคิดนั้น แล้วเรากำจัดความคิดอันนั้น ความดำริก่อนจะคิดขึ้นมานี่ “มารเอย เธอเกิดจากตรงนี้ บัดนี้เราเห็นเธอแล้ว เธอจะเกิดอีกไม่ได้เลย” ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วพวกเรามันยังทำไม่ได้ พอมันทำไม่ได้มันก็ต้องอาศัยตรงนี้ อาศัยธรรมและวินัยนี้เป็นที่พึ่งของเราชาวพุทธ เป็นที่พึ่งของเราเข้ามา เราก็อาศัยกัน บุญกุศลนี้เกิดขึ้น การทอดกฐินกันนี่ จรรโลงศาสนา พิธีกรรมจะถูกต้องก็ให้มันถูกต้อง ถึงเวลาพิธีกรรมต้องเป็นพิธีกรรม จริงตามสมมุติ สมมุติเขามีจริงกันอยู่ พ่อ แม่ ลูกนี่มีจริงกันอยู่ แต่ตามปรมัตถ์ไม่มี ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน เกิดมาต้องตายทั้งหมด ไม่มีใครเลยจะช่วยเหลือใครได้ ด้วยหลักของสมมุติ ตายแทนกันก็ไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยแทนกันก็ไม่ได้ นี่คือปรมัตถ์

แต่ถ้าสมมุติล่ะ สมมุติคือพ่อแม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเห็นโทษของกาม ไปหาพระพุทธเจ้าว่า

“กามนี้มีโทษมากเลย”

“โมคคัลลานะ เธอพูดอย่างนั้นไม่ถูก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากกาม”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาจากนางสิริมหามายา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เกิดมาจากกาม แต่เอากามนั้นมาทำคุณงามความดี เราเกิดมาจากกามแล้วเราก็หลงกัน หลงไปในกามต่อไป หลงไปในวัฏฏะ หลงไปทั้งหมด นี่ย้อนกลับมา วนกลับมา จริงตามสมมุติ ถ้าเป็นสมมุติเราคุยกันรู้เรื่องตามสมมุติ

แต่สมมุติมันก็เป็นสมมุติ สมมุติเป็นความจริงชั่วคราว ความจริงก็เป็นพ่อแม่ในชาตินี้ พอตายไปแล้วก็พ้นออกไปเป็นของใครก็ไม่รู้ มันเป็นชั่วคราว ๆ ถึงว่าสมมุติ สมมุติคือความจริงระหว่างชั่วคราว แต่ปรมัตถ์มันความจริงจริง ๆ ความจริงจริง ๆ ถึงแก้ไขหัวใจได้จริง ๆ หัวใจนี้ไม่เคยตาย หัวใจของสัตว์โลกไม่เคยตาย สัตว์โลกเกิดตาย ๆ นี่เกิดเฉพาะสภาวะของเนื้อ แต่หัวใจนี่เกิดตลอด ๆ เห็นไหม มันจะไปเข้ากับหลักความจริงปรมัตถ์อันนั้นไง

นี่คือหัวใจเป็นผู้สัมผัสธรรม ที่ว่าหัวใจเท่านั้นที่เป็นภาชนะบรรจุธรรมได้ พระไตรปิฎกนั้นเป็นกระดาษ พิมพ์มาเป็นตัวหนังสือ เราศึกษามา เราก็ศึกษาเข้ามาแล้วเราทำตาม อย่างเช่นกฐินนี่ก็เกิดขึ้นมาจากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกบัญญัติไว้ให้เราทำตามขึ้นมา เราทำตามความถูกต้องเข้ามา กุศลมันเกิดเกิดตรงนี้ไง เกิดเราทำถูกต้อง แล้วรักษาของเรากันไป รักษาของเราไป

สิ่งต่าง ๆ เห็นไหม อย่างทอดกฐินนี่ เรื่องผ้านี่สำคัญ เพราะว่าผ้านี่โยมเป็นคนหามา พระหามาไม่ได้ เพราะพระไปซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ได้ หามาแล้วพระนี่เป็นผู้ตัด เนา เย็บ ย้อม มันสมาน เห็นไหม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าสามัคคีกันศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง ภิกษุ ภิกษุณี ศาสนานี่เสื่อมเสื่อมเพราะลูกตถาคตเท่านั้น ศาสนาจะเสื่อมเสื่อมเพราะภิกษุนี่ตัวสำคัญ ภิกษุถ้าไม่เข้าถึงหลักของศาสนา ภิกษุมันก็เป็นไปตามโลก

กระแสโลกโยมสังเกตไหม กระแสโลกคือข่าวลือ ข่าวโคมลอย ข่าวที่เขาพูดไป เราก็ตามกันไป ๆ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณา ให้ใช้ความคิดเราไตร่ตรองว่าจริงหรือเท็จ” ข่าวที่เกิดขึ้นเขาใส่สีใส่อะไรเข้าไปอีกมากมาย อันนั้นเป็นมงคลตื่นข่าว ไม่เชื่อสิ่งนั้น

แล้วเรากลับมาเป็นชาวพุทธของเรา หัวใจของเราสำคัญที่สุด ในเมื่อมันมีทุกข์ในหัวใจ เราสามารถดับทุกข์ในหัวใจของเราได้ ในเมื่อเราว้าเหว่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “โลกนี้ร้อนไปด้วยไฟ” แล้วเราชาวพุทธ ทำไมหลงใหลได้ปลื้มหาแต่ฟืนแต่ไฟมาใส่ใจของตัว แม้แต่ในสโมสรสันนิบาตนั้นทุกดวงใจก็ว้าเหว่ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจการเลี้ยงอยู่นั้นหัวใจว้าเหว่หมด หัวใจของสัตว์โลกเหงาโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของใจเหงาอยู่ในหัวใจลึก ๆ นะ อารมณ์ความคิดมีแต่ทำให้เป็นความทุกข์ ไม่คิดอะไรเลยมันก็ว้าเหว่ มันว้าเหว่อยู่ในดวงใจดวงนั้น

แล้วทำไมไม่หาที่พึ่ง จะหาที่พึ่งก็ไม่ไว้ใจ จะทำอะไรลงไปก็ไม่กล้าทำ พระก็เป็นอย่างนั้น เราก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นของคนอื่น อาหารตอนเช้ามากมาย เห็นไหม ของใครเอามาคนนั้นก็ได้บุญกุศลไป เพราะเขาใช้เรี่ยวแรง เขาใช้พลังงานของเขาหามา เราไม่เอาอะไรของเรามา เราก็ไม่ได้อะไร เห็นไหม อยู่ที่เรากระทำ ถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราทำบุญกุศลของเรา เราตั้งใจทำของเรา สิ่งที่เขาทำความผิดพลาดไป นั่นเป็นเรื่องของเขา

เรื่องของบุคคลอื่นมันอยู่ข้างนอก เราไปถือมงคลตื่นข่าวมาไว้ในใจของเราทำไม ทำไมเราไม่ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ใจของเราจะผ่องแผ้วได้เพราะอาศัยอย่างนี้ เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา มีทานขึ้นมาถึงเกิดฟังธรรมนี่ไง ขณะปัจจุบันนี่คือการฟังธรรม ฟังสิ่งที่ถูกต้อง ฟังสิ่งที่เราได้คิด แล้วเราย้อนกลับเข้ามา จริงหรือไม่จริง สิ่งที่เขาทำ เขาทำจริงของเขาก็ได้ ก็เป็นบุญหรือเป็นบาปของเขา เป็นของเราคือเป็นของเรา เราต้องทำของเราขึ้นมา

นี่ถึงว่าศาสนาจะเจริญตรงนี้ เพราะโยมก็เข้าใจ พระก็เข้าใจ พอเข้าใจมันตรวจสอบกันได้ การตรวจสอบของเรา กิริยาเคลื่อนไหวมามันบอกหมดล่ะ มาด้วยความบริสุทธิ์หรือมาด้วยความโลภ มันจะบอกไปเอง ถ้าสิ่งที่บริสุทธิ์แสดงออกมาเป็นความบริสุทธิ์ ถ้าสิ่งที่เป็นโทษมันแสดงออกมาเป็นโทษ ในใจดวงนั้นมันทันกัน โลกนี้เรียนทันกันได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ๒,๕๔๓ ปี เห็นไหม อกาลิโก อริยมรรคในอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคยังเหมือนเก่า โลกนี้จะเจริญรุ่งเรืองไปขนาดไหนเจริญแต่วัตถุ แต่หัวใจของคนทุกข์เหมือนกัน

แล้วธรรมโอสถ มรรค ๘ ธรรมโอสถทำไมไม่สามารถชำระได้ โรคเดียวกัน โรคของทุกข์ แล้วยาแก้โรคของทุกข์ แก้หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเสียก่อน แก้ของอริยสาวกตาม ๆ กันไป แล้วทำไมมันจะแก้ไขไม่ได้ เพียงแต่เราชาวพุทธลูบคลำไง ทำไม่จริง ทำไม่จัง ทำจริงต้องถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องถึงแน่นอน ผู้ใดปฏิบัติสม่ำเสมอ ต้องสมควรแก่ธรรม”

ปฏิบัติสม่ำเสมอแต่ไม่ตรงทางไง เห็นแต่ความคิดของตัวว่าอะไรสะดวก อะไรมาก อะไรง่าย มันคิดแต่จะเอาสะดวกเอาสบาย เอาสะดวกสบายก็เอาเข้าไปติดกับ เห็นไหม เอาความลำบาก ถึงว่าเราลำบาก มันลำบากลำบากกิเลส ลำบากความไม่ยอมทำ มันลำบากความเห็นผิดของเรา มันทำลายความมักง่ายของใจ มันเข้าธรรม “ผู้ใดเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม ใจดวงนั้นจะมีธรรมในหัวใจ”

ฉะนั้นเราตั้งใจทำกุศลของเรา วันนี้เห็นว่าเป็นกฐิน เราตั้งใจกฐิน ทำไมเราตั้งใจมากัน ทุกคนอยากหาความสุข ทุกคนอยากหาความสงบ ทุกคนอยากหาความเจริญรุ่งเรืองให้ตัวเราเอง ความเจริญรุ่งเรืองต้องเกิดจากตรงนี้ ผู้ใดสละออกไป...ผู้นั้นได้ ผู้ใดทำออกไป...ผู้นั้นได้ ผู้ใดมีแต่คิด...มันก็ได้แค่ความคิด

ผู้ใดมีแต่คิด คิดว่าอย่างไรมันเป็นความเห็นของใจดวงนั้น ปิดตัวเองไม่ได้ ความลับไม่มีในโลก ปิดผู้กระทำไม่ได้ ผู้ที่กระทำผู้นั้นรู้เต็มหัวใจ ปิดไม่ได้เลย ความลับไม่มี พระพุทธเจ้าบอก “ไม่มีความลับในโลก” เพราะเราทำดีหรือทำชั่วขนาดไหน เราตายไปผู้ที่กระทำนั้นต้องได้รับผลอย่างนั้น ปิดไว้มิดขนาดไหนมันก็ได้ผลใจดวงนั้นต้องเป็นไป เราทำดีของเราให้พอใจกับเรา แล้วเราจะมีความสุขของเราไปข้างหน้า